Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

กระดูกต้นขาหัก





กระดูกต้นขาหัก

จุดมุ่งหมายของการรักษากระดูกหัก …

ทำให้กระดูกที่หักเมื่อหายแล้ว กลับมาอยู่ในสภาพที่ ใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด

เกิดผลข้างเคียง น้อยที่สุด

ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตเหมือนปกติได้ เร็วที่สุด


จะเลือกวิธีการรักษาวิธีไหนดี …

แพทย์จะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

• อายุเท่าไร สภาพร่างกายแข็งแรงดีหรือไม่ มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงหรือไม่

• กระดูกหักที่ตำแหน่งไหนแตกเข้าข้อหรือไม่

• หักมากหรือน้อยอย่างไร แล้วมีการเคลื่อนที่ไปจากเดิมมากหรือน้อยขนาดไหน

• มีแผลที่บริเวณกระดูกที่หักด้วยหรือไม่



ต้องผ่าตัดหรือไม่ …

1. ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 6 ปี

มักจะรักษาด้วยวิธีใส่เฝือก โดยช่วงแรกจะใช้ผ้าพันขาดึงถ่วงน้ำหนักไว้ แล้วใส่เฝือก ตั้งแต่ระดับเอวจนถึงปลายเท้า ขณะใส่เฝือกต้องฉีดยาสลบด้วยจะได้ไม่ปวด เมื่อใส่เฝือกและเอ๊กซเรย์แล้วพบว่ากระดูกอยู่ในแนวที่ใกล้เคียงกับปกติ ก็กลับบ้านได้ ส่วนใหญ่จะนอนโรงพยาบาล 2-3 วัน แต่จะใส่เฝือกไว้ประมาณ 4-6 อาทิตย์

หลังใส่เฝือก กระดูกต้นขาจะไม่เข้าที่ (กระดูกซ้อนกัน) ทำให้ขาสั้นลงกว่าข้างปกติ แต่เมื่อเด็กอายุมากขึ้น กระดูกต้นขาข้างที่หัก ก็จะค่อย ๆ ยาวขึ้นจนเท่ากับข้างปกติ

2. ผู้ป่วยอายุ 6 - 10 ปี มีทางเลือกในการรักษา หลายอย่าง เช่น

2.1 ใส่เฝือก แต่อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ โดยเฉพาะ ถ้าเด็กตัวใหญ่ หรือ กระดูกเคลื่อนที่มาก

2.2 ใส่ลวดดึงกระดูกและถ่วงน้ำหนักไว้จนกระดูกเริ่มติดจึงใส่เฝือก วิธีนี้ไม่นิยมเพราะต้องนอนพักนาน

2.3 ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ลวด แผ่นเหล็ก แท่งเหล็ก เป็นต้น

3. ผู้ป่วยอายุมากกว่า 10 ปี

วิธีรักษาที่ดีที่สุดคือ ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก เช่น แผ่นเหล็ก แท่งเหล็ก เป็นต้น



ถ้าแพทย์แนะนำให้ผ่า แต่ถ้าไม่ผ่าตัดจะเป็นอย่างไร …

• กระดูกไม่ติดหรือติดผิดรูป ทำให้ขาสั้นลงกว่าเดิม

• ขาลีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะต้องพักนาน ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้เต็มที่

• เดินไม่ได้ หรือ เดินกระเผลก เพราะขาสั้นลง หรือ กระดูกไม่ติด


หลังผ่าตัด แล้วแพทย์จะนัดมาตรวจซ้ำ เมื่อไร …

นัดครั้งแรก หลังผ่าตัดประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อ ตัดไหมที่แผล ดูการเคลื่อนไหวของข้อและการเดิน

นัดครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน เพื่อแนะนำวิธีทำกายภาพบำบัด และ เอ๊กซเรย์ เพื่อดูว่ากระดูกเคลื่อนที่ไปจากเดิมหรือไม่ มีการสร้างกระดูกขึ้นใหม่หรือไม่ เหล็กที่ใส่ไว้เป็นอย่างไร

นัดครั้งต่อไป ทุก 1-2 เดือน เพื่อ เอ๊กซเรย์กระดูก จนกว่ากระดูกติดสนิทดี ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4- 6 เดือน



แนวทางการรักษาด้วยวิธี ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูกต้นขา …


ช่วงที่หนึ่ง ระยะดึงถ่วงน้ำหนัก

เพื่อทำให้กล้ามเนื้อต้นขายืดออก และ กระดูกที่หักไม่เคลื่อนไหว ซึ่งจะดึงไว้จนถึงวันผ่าตัด มีวิธีดึง 2 แบบคือ

1.แบบผ้าพันขาแล้วถ่วงน้ำหนัก ใช้ในเด็ก เพราะสามารถใช้น้ำหนักถ่วงได้แค่ 1 - 3 กิโลกรัมเท่านั้น

2.แบบใส่ลวดที่กระดูกหน้าแข้ง ใช้ในผู้ใหญ่ โดยแพทย์จะฉีดยาชา แล้วใส่ลวด จะถ่วงน้ำหนักได้ 5 -10 กิโลกรัม

ช่วงที่สอง ระยะผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก

ก่อนวันผ่าตัด เจาะเลือดผู้ป่วย เพื่อตรวจเลือดและจองเลือด 1-2 ถุงเผื่อจำเป็นต้องใช้หลังผ่าตัดและให้น้ำเกลือ

หลังเที่ยงคืนต้อง งดอาหารและน้ำ เพื่อป้องกันการอาเจียนขณะดมยาสลบ

วันผ่าตัด ผู้ป่วยจะถูกพาไปที่ห้องผ่าตัด ได้รับการฉีดยาสลบ และ ใส่ท่อช่วยหายใจ

แพทย์ผ่าตัดเพื่อจัดแนวกระดูกให้เข้าที่และใส่เหล็กดามกระดูก เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้ว แพทย์จะใส่สายสำหรับดูดเลือดที่ค้างในแผลผ่าตัดมาใส่ไว้ในขวด

หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะกลับมาพักฟื้นที่หอผู้ป่วย ถ้าปวดมากก็ขอยาฉีดหรือยากินแก้ปวดได้ ถ้าเสียเลือดมากก็จะได้รับเลือดทดแทน

ช่วงที่สาม ระยะพักฟื้นและทำกายภาพบำบัด

วันแรกหลังการผ่าตัด จะทำความสะอาดแผล และดึงสายสำหรับดูดเลือดที่ใส่ไว้ออก ผู้ป่วยต้องลุกนั่งบ่อย ๆ

วันที่สอง จะได้รับการสอนและทำกายภาพบำบัด เช่น วิธีบริหารกล้ามเนื้อต้นขา ข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า การนั่ง ยืน และ วิธีเดิน โดยใช้ไม้ค้ำยันช่วยเดินโดยลงน้ำหนักบางส่วน


หลังรักษาต้องทำอย่างไร … ?

นอกจากรักษาโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ข้อเข่าหรือข้อเท้าเคลื่อนไหวได้น้อย กล้ามเนื้อลีบ กระดูกไม่ติด กระดูกติดช้า เป็นต้น ซึ่งต้องเริ่มทำทันทีหลังผ่าตัด แม้ว่าจะปวดบ้างก็ต้องพยายามทำเพราะถ้ารอให้หายปวดก็เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

เวลายืนหรือเดิน ต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงและลงน้ำหนักบนขาที่หักพอสมควร จะต้องใช้ไม้ค้ำยันช่วยพยุงเดินจนกว่าแพทย์จะบอกให้เลิกใช้ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 เดือน (เมื่อเอ๊กซเรย์แล้วกระดูกติดสนิท มองไม่เห็นรอยกระดูกที่หัก) ถ้าไม่เช่นนั้น กระดูกที่พึ่งเริ่มติดและเหล็กที่ใส่ไว้อาจจะหัก ทำให้ต้องมาผ่าตัดใหม่ซ้ำอีกครั้ง

เวลานอน ใช้หมอนรองขาข้างที่ผ่าตัดให้ยกสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมและอาการปวด ที่ขาและเท้า

ทำกายบริหาร ควรทำบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย

3.1 นอนหงาย เกร็งกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อขา ให้เกร็งค้างไว้นานสิบวินาที แล้วพัก (นับ 1 – 10 ดัง ๆ )

3.2 นอนหงาย ขยับข้อสะโพก งอ-เหยียด กาง-หุบ

3.2 นั่งห้อยขา ขยับข้อเท้า ขึ้น-ลง หมุนเข้า-หมุนออก

3.3 นั่งห้อยขา ขยับข้อเข่า เหยียดเข่าขึ้นให้มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วงอเข่าลงให้มากที่สุด ค้างไว้ นับ 1-10ถ้าปวดมากอาจใช้ข้อเท้าขาข้างดีซ้อนใต้ข้อเท้าของขาข้างที่หักเพื่อช่วยยกขาขึ้น และ กดบนข้อเท้าข้างที่หักเพื่อให้งอลง

ถ้าไม่รู้สึกว่าปวดมาก ก็อาจจะใช้น้ำหนัก ประมาณ 1 - 5 กิโลกรัมถ่วงไว้ที่บริเวณข้อเท้า แล้วบริหารซ้ำ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น และหายอย่างใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด …




Create Date : 18 มีนาคม 2551
Last Update : 29 กรกฎาคม 2561 21:20:01 น. 3 comments
Counter : 47925 Pageviews.  

 
หมอหมูคะ
จิ๊บรบกวนนิดนึงค่ะ
คือไปเต้นแอดรบิคมาค่ะ
แล้วปวดเข่า
ปวดๆหายๆ
เต้นก็ปวด
เลิกเต้นกลับหาย
เป็นเพราะกระดูกหรือเปล่าคะ
เคยไปหาหมอ เค้าให้ยาคลายกล้ามเนื้อมาน่ะค่ะ

รบกวนถามนะคะ
เพราะนู๋อยากเป็นครูเต้นแอ
ไม่อยากเลิกเต้นแต่ไม่รู้จะทำไงค่ะ

ขอบคุณค่า


โดย: มดน้อยในไร่ส้ม จิ๊บๆ วันที่: 18 มีนาคม 2551 เวลา:20:54:54 น.  

 

ที่พบบ่อยๆ จะเป็น กระดูกอ่อนลูกสะบ้าอักเสบ ( chondromalacia patella ) นะครับ ..

ลองไปตรวจกับหมอกระดูกและข้อ อีกครั้งนะครับ .. จะได้รู้แน่ ๆ ว่าเป็นอะไร และต้องรักษาอย่างไร ..


โดย: หมอหมู วันที่: 20 มีนาคม 2551 เวลา:15:58:32 น.  

 

กระดูกหัก รักษาอย่างไรดี

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-12-2007&group=6&gblog=1

กระดูกหักเมื่อไรจะหาย

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-01-2008&group=6&gblog=4

การรักษาด้วยวิธีใส่เฝือก

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-02-2008&group=6&gblog=5

กระดูกหัก ผ่า - ไม่ผ่า อย่างไหนดีกว่ากัน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-01-2008&group=6&gblog=2

กระดูกหัก ต้องผ่าเอาเหล็กออกหรือไม่ ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2009&group=6&gblog=28

การดูแล หลังผ่าตัดกระดูกหัก

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-01-2008&group=6&gblog=3



โดย: หมอหมู วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:15:01:37 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]