Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และ การบล็อกหลัง




บทความเรื่องนี้ ผมไม่ได้เขียนเอง .. แต่ก็จำไม่ได้ว่า นำต้นฉบับ มาจากที่ไหน ถ้าใครทราบ หรือ เคยเห็น กรุณาแจ้งให้ผมทราบด้วยนะครับ ...


ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และ การบล็อกหลัง

การดมยาสลบ หรือ General anesthesia

โดยวิธีนี้ วิสัญญีแพทย์ จะทำให้ผู้ป่วยสลบ ( สลบ มีระดับที่ลึกกว่า"หลับ" อยู่มาก เพราะว่า"หลับ"สามารถปลุกได้ แต่"สลบ"จะไม่มีการตอบสนองต่อการเรียก และไม่มีการรับรู้ )

โดยการฉีดยานำสลบเข้าไปในหลอดเลือดดำ จากนั้นจะให้ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นอัมพาต แล้วจะสอดท่อช่วยหายใจ ผ่านปาก เข้าไปผ่านกล่องเสียง และเข้าไปอยู่ในหลอดลม เพื่อที่จะช่วยหายใจในระหว่างผ่าตัด เพราะระหว่างผ่าตัดนั้น กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะเป็นอัมพาตจากยาหย่อนกล้ามเนื้อ ทำให้หายใจเองไม่ได้

การดมยาสลบนั้นจะอาศัยยาหลายตัว เช่น ยานำสลบ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยาดมสลบในรูปของไอระเหย เมื่อสิ้นสุดการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะให้ยาแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ และรอคอยให้ยาดมสลบหมดฤทธิ์ ผู้ป่วยจะค่อย ๆ ฟื้นคืนสติ และเริ่มหายใจเอง จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะถอดท่อช่วยหายใจออกมาจากหลอดลม

ข้อดี

1. ผู้ป่วยไม่ต้องรับรู้ต่อเหตุการณ์ต่างๆในห้องผ่าตัด

2. วิสัญญีแพทย์สามารถควบคุมการหายใจ และระบบไหลเวียนได้ จึงเหมาะสมสำหรับการผ่าตัดในช่องท้อง หรือในช่องอก

ข้อเสีย

ข้อเสียของการวางยาสลบ จะมีมาก เนื่องจากการใช้ยาหลายตัว และกรรมวิธีมากมาย จึงมีผลข้างเคียงได้บ่อย แต่มักไม่อันตราย จะหายได้เองในเวลาอันสั้น ได้แก่

1. อาการเจ็บคอ ระคายคอ หรือ เสียงแหบ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการสอดใส่ท่อช่วยหายใจผ่านเข้าไปในหลอดลม อาการนี้อาจจะพบในบางราย แต่จะไม่นานเกินกว่า 24-48 ชม. ก็จะหายไปได้เอง

2. อาการคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน มึนงง ในช่วงพักฟื้นหลังการผ่าตัด อันเป็นผลโดยตรงจากยาแก้ปวด และยาดมสลบ

3. มีความต้องการยาแก้ปวดในช่วงหลังการผ่าตัดสูงกว่าการใช้วิธีฉีดยาชาบล็อกไขสันหลัง

4. มีความเสี่ยงในเรื่องของการสำลักเศษอาหารที่ขย้อนออกมาจากกระเพาะอาหารในระหว่างที่กำลังจะเริ่มดมยาสลบ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าผู้ป่วยงดน้ำงดอาหารมานานพอหรือไม่ ในทางปฏิบัติจะต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชม. ก่อนได้รับการวางยาสลบ เพื่ออาหารที่รับประทานเข้าไป จะได้เคลื่อนออกไปจากกระเพาะอาหารให้หมดก่อน


การบล็อกหลัง (การให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่) หรือ Regional anesthesia


วิธีที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัดบริเวณขาหรือสะโพก หรือ แม้แต่การผ่าตัดช่องท้องส่วนล่าง เช่นการผ่าคลอด ผ่าตัดไส้ติ่ง ก็สามารถทำได้ แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

2.1 Epidural block เป็นการฉีดยาชาเข้าไปช่องเหนือ ช่องน้ำไขสันหลัง

2.2 Spinal block เป็นการฉีดยาชาเข้าไปในช่องน้ำไขสันหลัง

ส่วนจะเลือกแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความชำนาญของวิสัญญีแพทย์ แต่โดยทั่วไป การฉีดยาชาทางช่องน้ำไขสันหลัง หรือ Spinal block จะเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากกว่า เพราะว่าใช้เวลาในการทำสั้นกว่า ออกฤทธิ์เร็วและแน่นอนกว่า

กรรมวิธีในการทำ ก็จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคง ก้มหน้าเอาคางชิดออก งอสะโพก งอเข่า เอาเข่าชิดท้อง หลังงอเหมือนกุ้ง เพื่อที่จะให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังเปิดกว้างที่สุด วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่จะฉีดยา เพื่อลดอาการเจ็บในขณะที่แทงเข็มที่จะใช้ทำการบล็อก แต่สำหรับวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญบางท่าน อาจจะเลือกที่จะแทงเข็มบล็อกไปในทีเดียว ไม่ฉีดยาชาก่อน เพราะว่าเจ็บเพียงครั้งเดียวเหมือนๆกัน นอกจากนั้น เข็มที่ใช้ในการบล็อกจะมีขนาดที่เล็กมาก ทำให้บางครั้ง เจ็บน้อยกว่าการแทงน้ำเกลือ หรือ เจาะเลือดด้วยซ้ำไป

ข้อดี

1. กล้ามเนื้อของขาจะหย่อนตัวได้ดีกว่าการวางยาสลบ ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดได้สะดวกกว่า

2. ความต้องการยาแก้ปวดในช่วงหลังผ่าตัดจะน้อยกว่าการวางยาสลบ เนื่องจากระบบประสาทถูกสกัดจากยาชาก่อนที่จะเกิดบาดแผล ผิดกับการวางยาสลบ ซึ่งยาสลบจะไปกดสมองไม่ให้รับรู้ความเจ็บปวด แต่ ระบบประสาทไขสันหลัง และระบบประสาททั่วร่างกายยังทำงานของมันอยู่ ทำให้เมื่อยาสลบหมดฤทธิ์ ก็จะปวดมาก

3. หากผู้ป่วยกลัว หรือ กังวลมาก ก็อาจจะให้ยานอนหลับ (คนละชนิดกับยาสลบ) ให้หลับ เพื่อลดความกลัว ลดความกังวล

ข้อเสีย

1. หลังผ่าตัดจะขยับขาไม่ได้อยู่ประมาณ 2-4 ชม (นับจากเริ่มวางยาชา) ในบางรายอาจจะรู้สึกรำคาญ หรือ เมื่อยขา โดยเฉพาะในช่วงที่ยาชากำลังจะหมดฤทธิ์ หรืออาจรู้สึกเหมือนกับขาที่ยังงออยู่ หรือ ยกลอย แต่ไม่สามารถขยับขาได้

2. อาการปัสสาวะไม่ออก ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในช่วง 12 ชม.แรก ซึ่งมักจะได้รับการสวนสายปัสสาวะช่วย

3. อาการปวดหลัง หรือ เมื่อยหลัง อาจจะเป็นได้ในช่วงวันแรก


โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเป็นไปได้ แพทย์จะเลือกวิธี บล็อกไขสันหลัง เนื่องจาก ทำได้ง่ายกว่า และ ปลอดภัยที่สูงกว่า มีความเสี่ยงต่อการสำลักน้อยกว่า และต้องการดูแลหลังการผ่าตัดในห้องพักฟื้นสั้นกว่า รวมไปถึงผู้ป่วยเองก็ต้องการยาแก้ปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าอีกด้วย ...



ทั้งสองวิธี ก็มีข้อดีข้อเสีย ...ส่วนจะเลือกใช้วิธีไหนนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะการผ่าตัด และ สภาพของผู้ป่วย

แต่ไม่ว่า วิธีไหน ก็ยังมีความเสี่ยง เสี่ยงมากเสี่ยงน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ซึ่งแพทย์ผู้ผ่าตัด และ แพทย์ดมยา (วิสัญญีแพทย์) จะเป็นผู้ประเมิน ความเสี่ยงอีกครั้ง ..


..................................

สรุปภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการให้ยาระงับความรู้สึกทุกชนิด

https://www.nkp-hospital.go.th/institute/unconsciousness/p6-4.php

 พบได้บ่อย (1/10-1/100)

       - คลื่นไส้ อาเจียน  การผ่าตัดและยาสลบบางชนิดมีผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน  อาการอาจเป็นช่วงสั้นๆหรือหลายวันหลังการผ่าตัด  สามารถรักษาด้วยยาแก้คลื่นไส้ อาเจียน
       - อาการเจ็บคอ  ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรืออุปกรณ์ช่วยหายใจบางชนิดอาจมีอาการเจ็บคอหลังการผ่าตัดสามารถรักษาด้วยการให้ยาอมแก้เจ็บคอ
       - วิงเวียน ตาลาย ยาสลบและการเสียเลือดระหว่างการผ่าตัดมีผลทำให้ความดันโลหิตต่ำลงทำให้เกิดอาการวิงเวียน ตาลาย  การให้น้ำเกลือและยาสามารถบรรเทาอาการได้
       - อาการหนาว-ตัวสั่น เกิดจาก ภาวะเครียด ยา อากาศเย็นในห้องผ่าตัด ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลให้ความอบอุ่นโดยผ้าห่มไฟฟ้าและยา
       - ปวดศีรษะ  เป็นผลจากยาสลบ การผ่าตัด การขาดน้ำ ความเครียด อาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงอาจเกิดหลังการฉีดยาเข้าไขสันหลัง อาการมักจะดีขึ้นในช่วงสั้นๆหลังผ่าตัดหรือโดยการให้ยาระงับความปวด
       - อาการผืนคัน  เป็นผลจากยาแก้ปวด ยาสลบ สารน้ำ รักษาได้ด้วยยา
       - อาการปวดหลัง  การจัดท่าผ่าตัดการนอนท่าเดียวกันเป็นระยะเวลานานๆ แม้ว่าจะมีการดูแลอย่างดีในระหว่างการผ่าตัด
       - การปวดบริเวณเข็มแทงน้ำเกลือ ยาสลบยาแก้อักเสบหรือยาอื่นๆทำให้เกิดอาการปวดระหว่างการให้ได้ การรเคลื่อนไหวการอักเสบบริเวณเข็มแทงน้ำเกลือส่งผลทำให้มีอาการปวดบริเวณดังกล่าว
       - ภาวะสับสนหรือการสูญเสียความทรงจำช่วงสั้นๆ  มักพบได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการวางยาสลบหรือผู้ป่วยที่สูงอายุสาเหตุไม่แน่ชัด มักจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆและเป็นแบบชั่วคราว

พบไม่บ่อย (1/1000)


       - การติดเชื้อที่ปอด  มักเกิดกับผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ทำให้เกิดอาการเหนื่อย จึงควรหยุดสูบบุหรี่ให้นานที่สุดก่อนการผ่าตัด
       - ปัสสาวะยาก  โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาเข้าไขสันหลังในบางครั้งอาจต้องได้รับการสวนปัสสาวะ อาการปวดกล้ามเนื้อ ยาหย่อนกล้ามเนื้อบางชนิดมีผลทำให้เกิดอาการดังกล่าว
       - การกดการหายใจ(หายใจช้าหรือน้อยกว่าปกติ)ยาสลบทุกชนิดมีผลต่อการกดหายใจดังนั้นผู้ที่ได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกจึงต้องได้รับออกซิเจนและการดูแลหลังการผ่าตัด
       - บาดเจ็บต่อฟัน ริมฝีปาก ลิ้นในผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจยาก  มีปัญหากรามแข็งหรือช่องปากแคบ อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่ออวัยวะดังกล่าว
       - อาการกำเริบของโรคประจำตัว โดยปกติผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคอัมพฤกษ์  โรคเบาหวาน จะต้องได้รับการควบคุมก่อนผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามโดยปกติโรคดังกล่าวก็สามารถกำเริบได้โดยตัวโรคเองแม้จะไม่ได้เข้ารับการผ่าตัด
       - ภาวะรู้สึกตัวระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึก(สลบ) ภาวะเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยและ ชนิดของการผ่าตัดเช่น ผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง วิสัญญีแพทย์อาจไม่สามารถให้ยาสลบที่ลึกมากได้เนื่องจากยาสลบที่มาก อาจจะกดระบบการทำงานของร่างกายมากเกินไปทำให้เกิดผลเสียได  ้อย่างไรก็ตามโดยปกติวิสัญญีแพทย์จะพยายามควบคุมระดับยาสลบให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว

 พบได้น้อยมาก (1/10,000-1/200,000)

       - อาการบาดเจ็บต่อนัยน์ตา ทีมวิสัญญีจะพยายามป้องกันการบาดเจ็บต่อตาของผู้ป่วย โดยใช้พลาสเตอร์ปิดตาระหว่างที่ผู้ป่วยสลบ
       - -ภาวการณ์แพ้ยา  เป็นภาวะที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อุบัติการณ์ดังกล่าวประมาณ1/10,000-1/13,000 ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาหรือมีญาติหรือบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตระหว่างการผ่าตัดจะต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาก่อนผ่าตัด
       - การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทอาจเกิดจากการฉีดยาเข้าไขสันหลังหรือการกดต่อเส้นประสาทในผู้ป่วยที่นอนอยู่ในท่าเดียวเป็นระยะเวลานานๆ อาจการมักเป็นแบบชั่วคราวและหายได้ใน 2-3 เดือน
       - การเสียชีวิตระหว่างผ่าตัด ที่มีสาเหตุหลักจากการให้ยาระงับความรู้สึกพบได้น้อยมาก ประมาณ4-5 รายในผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึก 1,000,000 ราย
       - ความผิดพลาดจากเครื่องมืออุปกรณ์ เช่นระบบก๊าซ หรือเครื่องช่วยหายใจ แม้พบได้แต่เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ทำให้มีระบบเครื่องมือติดตามเตือนภัยระหว่างการให้ยาระงับความรู้สึกทำให้ทีมวิสัญญีทราบความผิดปกติดังกล่าวได้ ทำให้ความผิดพลาดแม้จะรุนแรงแต่ก็พบได้น้อยมาก


อัตราการการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดและการให้ยาระงับความรู้สึกใน รพ.นครพิงค์ จำแนกตาม
ความแข็งแรงของผู้ป่วย


ASA class

อัตราการเสียชีวิต

ในต่างประเทศ (%)

ในโรงพยาบาลนครพิงค์ (%)

1

0-0.3

0

2

0.3-1.4

0.02

3

1.8-5.4

0.24

4

7.8-25.9

4.02

5

9.4-57.8

44.44

ที่มา : ปัจจัยเสี่ยงและอุบัติการณ์การเสียชีวิตระหว่างและหลังการให้ยาระงับความรู้สึกในโรงพยาบาลนครพิงค์
วารสารวิชาการ สาธารณสุขปีที่ 17 ฉบับเพิ่มเติม 2

         ASA 1   ผู้ป่วยสุขภาพดี ไม่มีความผิดปกติทางสรีรวิทยา, สุขภาพจิตดีและโรคที่มารับการผ่าตัดไม่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของระบบอื่น เช่น การผ่าตัดไส้เลื่อน, ผ่าตัดไส้ติ่ง หรือเนื้องอกไม่ร้ายแรงของเต้านม
         ASA 2   ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของร่างกายเล็กน้อย เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ, โรคหัวใจหรือความดันเลือดสูงระยะเริ่มแรก, โรคเบาหวาน และผู้ป่วยอ้วน
         ASA 3   ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพขั้นรุนแรงขึ้นและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยโรคปอดขณะพักยังมีอาการหอบ โรคเบาหวานที่มีผลแทรกซ้อน เช่น โรคไตหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด/ตายและอาการเจ็บหน้าอกยังรักษาไม่ดีขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวจะเป็นปัญหามากในการเลือกใช้ยา , ขนาดยา, และเทคนิคของการให้ยาระงับความรู้สึก  รวมทั้งต้องการการดูแลและการใช้เครื่องมือตรวจผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้น
         ASA 4   ผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของร่างกายรุนแรงมากและไม่สามารถรักษาให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยยาหรือการผ่าตัด เช่น โรคของต่อมไร้ท่อที่สูญเสียหน้าที่อย่างมาก,โรคไต,โรคตับหรือโรคหัวใจที่มีพยาธิสภาพและสูญเสียหน้าที่มาก
         ASA 5   ผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่ได้เพียง 24 ชั่วโมงว่าจะได้รับการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด


ภาวะแทรกซ้อนทางวิสัญญีในโครงการ THAI Study

ภาวะแทรกซ้อน

อุบัติการณ์ต่อ 10,000 ราย

การสำลักอาหารเข้าปอด (Pulmonary Aspiration)
ใส่ท่อช่วยหายใจผิดตำแหน่งเข้าหลอดอาหาร (Esophageal Intubation)
ระดับออกซิเจนต่ำ (Desaturation)
ภาวการณ์ใส่ท่อช่วยหายใจซ้ำในห้องพักฟื้น (Re-intubation)
ภาวการณ์ใส่ท่อช่วยหายใจยาก (Difficult Intubation)
ไม่สามารถใส่ท่อช่วยหายใจได้ (Failed Intubation)
ระดับยาชาเกิน (Total Spinal Block)
รู้สึกตัวระหว่างดมยาสลบ (Awareness (during GA))
ภาวะแทรกซ้อนทางสมอง (Coma/CVA/Convulsion)
บาดเจ็บต่อเส้นประสาท (Nerve Injuries)
การให้เลือดผิดกลุ่ม (Transfusion Mismatch)
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือตาย (Suspected MI / Ischemia)
หัวใจหยุดเต้น (Cardiac Arrest)
ตาย (Death)
แพ้ยา (Anaphylaxis/Anaphylactoid reaction)
ความผิดพลาดในการให้ยา (Drug Error)
ความผิดปกติของอุปกรณ์ (Equipment Malfunction/Failure)
(Anesthesia Personnel Hazard)
การนอนโรงพยาบาลโดยไม่ได้วางแผน (Unplanned Hospital Admission)
การเข้า ICU โดยไม่ได้วางแผน (Unplanned ICU Admission)

2.7*
4.1*
31.9
19.4*
22.5*
3.1*
1.3**
3.8*
4.8
2.0
0.18
2.7
30.8
28.3
2.1
1.3
3.4
1.5
1.0
7.2

ที่มา : ตำราวิสัญญีวิทยา : การให้ยาระงับความรู้สึกเพื่อคุณภาพและความปลอดภัย,สมรัตน์ จารุลักษรานันท์ 2548


ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ???.... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???"

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35

ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และการบล็อกหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=17

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=18





Create Date : 23 มิถุนายน 2551
Last Update : 22 มกราคม 2562 21:54:48 น. 1 comments
Counter : 114275 Pageviews.  

 
ไปเจอเวบของ กลุ่มงานวิสัญญี รพ. นครพิงค์ มีข้อมูลแน่นปึ๊ก ถ้าสนใจก็แวะไปชมได้ครับ ..



การให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไปหรือการวางยาสลบ

//www.nkp-hospital.go.th/institute/unconsciousness/p6-2.php


การให้ยาระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วนหรือการฉีดยาชาแบบเฉพาะส่วน

//www.nkp-hospital.go.th/institute/unconsciousness/p6-3.php


สรุปภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากการให้ยาระงับความรู้สึกทุกชนิด

//www.nkp-hospital.go.th/institute/unconsciousness/p6-4.php




โดย: หมอหมู วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:0:06:56 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]