Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ


 
กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้ากระดูกสะโพกหัก

• ผู้ป่วยที่มีกระดูกสะโพกหัก ต้องอยู่ในโรงพยาบาล เฉลี่ยประมาณ 2 อาทิตย์

• ผู้ป่วยร้อยละ 7 - 27 จะเสียชีวิตภายใน 3 เดือนหลังจากมีกระดูกสะโพกหัก เนื่องจากภาวะแทรกซ้อน

• ผู้ป่วยร้อยละ 50 จะต้องใช้ไม้เท้าช่วยในการเดินเมื่ออยู่ที่บ้าน



ปัจจัยเสี่ยง ที่จะเกิดกระดูกสะโพกหัก ซึ่งมักจะมีโรคกระดูกพรุน (กระดูกโปร่งบาง) ร่วมด้วยเสมอ

• อายุ โดยเฉพาะ ในผู้หญิงเมื่อมีอายุประมาณ 45 ปี จะมีโอกาสเกิดกระดูกสะโพกหัก เพิ่มสูงขึ้นมาก และ ถ้าอายุมากกว่า 65 ปี ผู้สูงอายุทุก ๆ 1 ใน 5 คนจะเกิดกระดูกสะโพกหัก ซึ่งมักเกิดจากการล้มเพียงเบา ๆ

• เพศ ผู้หญิงจะเสี่ยงต่อกระดูกสะโพกหักมากกว่าผู้ชายถึง 3 เท่า

• ลักษณะทางพันธุกรรม เช่น เคยมีประวัติคนในครอบครัวกระดูกสะโพกหัก ผู้ที่มีโครงร่างเล็ก และ ผอม

• อาหาร โดยเฉพาะผู้ที่รับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมน้อย หรือ ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมแคลเซี่ยมได้ หรือ ผู้ที่ได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอ ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุที่ไม่ได้ออกไปสัมผัสกับแสงแดดในช่วงเช้า-เย็น

• สูบบุหรี่ หรือ ดื่มสุรา

• ผู้ที่มีปัญหาทางกาย เช่น ปวดข้อ ข้ออักเสบ ตามองเห็นไม่ชัด สมองเสื่อม เป็นต้น

• ผู้ที่มีอาการอ่อนแรง หรือ มึนงง ซึ่งอาจพบได้ในผู้สูงอายุทั่วไป หรือ จากผลข้างเคียงของยาที่รับประทานอยู่

• ขาดการออกกำลังกายที่มีการแบกรับน้ำหนักอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน วิ่งเหยาะ ๆ ยกน้ำหนัก



จะเลือกวิธีการรักษาวิธีไหนดี … ?

แพทย์จะต้องพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ก่อนที่จะเลือกวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

• อายุเท่าไร สภาพร่างกายแข็งแรงดีหรือไม่ มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรงหรือไม่

• กระดูกหักที่ตำแหน่งไหนแตกเข้าข้อหรือไม่

• หักมากหรือน้อยอย่างไร แล้วมีการเคลื่อนที่ไปจากเดิมมากหรือน้อยขนาดไหน

• มีโรคกระดูกพรุน (กระดูกโปร่งบาง) ร่วมด้วยหรือไม่ ถ้ามีร่วมด้วยอาจต้องรักษาไปพร้อมกันเลย

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=27-02-2008&group=4&gblog=15





ทางเลือกวิธีรักษา

1 ใส่ลวดดึงกระดูกและถ่วงน้ำหนักไว้จนกระดูกเริ่มติดจึงเริ่มเดิน วิธีนี้ไม่นิยมเพราะต้องนอนพักนาน

2 ผ่าตัดใส่เหล็กดามกระดูก ซึ่งมีหลายชนิด เช่น แผ่นเหล็ก แท่งเหล็ก หรือ ข้อสะโพกเทียม เป็นต้น



หลังรักษาต้องทำอย่างไร …

นอกจากการรักษาโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำกายภาพบำบัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นเช่น ข้อเข่าหรือข้อเท้าเคลื่อนไหวได้น้อย กล้ามเนื้อลีบ กระดูกไม่ติด ซึ่งจะต้องเริ่มทำทันทีหลังผ่าตัด แม้ว่าจะปวดบ้างก็ต้องพยายามทำเพราะถ้ารอให้หายปวด ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

เวลานอน ให้ใช้หมอนรองขาข้างที่ผ่าตัดให้ยกสูงกว่าระดับหัวใจ เพื่อลดอาการบวมและอาการปวดที่ขาและเท้า

วันแรกหลังผ่าตัด อาจจะต้องใช้ผ้าดึงถ่วงขาไว้ก่อน เมื่ออาการปวดทุเลาลงจึงค่อยเริ่มบริหาร โดย

1. เกร็งกล้ามเนื้อต้นขา ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยตามสบาย ทำ 10 ครั้ง สลับกันทั้งสองข้าง

2. กระดกข้อเท้าขึ้น-ลง หมุนเข้า-หมุนออก

วันที่สอง ลุกนั่งได้ โดยวางหมอนไว้ระหว่าขา เพื่อป้องกันไม่ให้ขาหุบเข้ามาชิดกันมากเกินไป และอาจเริ่มหัดเดินโดยใช้ไม้ค้ำยัน หรือ วอคเกอร์(ไม้เท้าสี่ขา) ลงน้ำหนักบนขาข้างที่ผ่าเล็กน้อย ซึ่งถ้าสามารถเดินได้ดี แผลแห้งไม่มีไข้ แพทย์ก็จะอนุญาตให้กลับบ้านได้

ในช่วง 10 – 14 วันหลังการผ่าตัด จะต้องทำแผลวันละครั้ง และหมั่นดูแลลักษณะของแผล ถ้าพบว่าผิดปกติ เช่น แผลอักเสบ บวม แดง ปวดแผลมากขึ้น ให้รีบมาพบแพทย์ เมื่อกลับไปอยู่บ้านควรหลีกเลี่ยงการนั่งกับพื้น หรือ นั่งเก้าอี้ที่อยู่ต่ำกว่าระดับหัวเข่า เพราะอาจทำให้เกิดข้อสะโพกหลุดได้

ประมาณ 2 อาทิตย์ หลังผ่าตัด แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำ เพื่อดูอาการต่าง ๆ ดูการเคลื่อนไหวของข้อ-สะโพก แนะนำการบริหาร และ ตัดไหม หลังจากนั้นแพทย์ก็จะนัดมาตรวจซ้ำทุก 1-2 เดือนเพื่อเอ็กซเรย์กระดูก

ในระยะแรก ๆ อาจต้องใช้ไม้ค้ำยัน หรือ วอร์คเกอร์ (ไม้เท้าสี่ขา ) ช่วยพยุงเดินไปก่อน เมื่อเอ็กซเรย์แล้วพบว่ากระดูกติดดี ไม่ค่อยปวด และ กล้ามเนื้อสะโพกแข็งแรงดีขึ้นแล้ว แพทย์จึงจะให้เปลี่ยนเป็นไม้เท้าถือข้างเดียวแทน โดยให้ถือในมือด้านตรงข้ามกับสะโพกที่กระดูกหัก ซึ่งควรถือไม้เท้าไว้ตลอดเพื่อป้องกันการหกล้ม เพราะกว่าที่กล้ามเนื้อสะโพกจะกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมอาจต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี

ผู้ป่วยที่ผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียม ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก การนั่งหรือนอนกับพื้น การนั่งเก้าอี้ที่อยู่ต่ำกว่าเข่า หรือ การเล่นกีฬาที่มีแรงกระแทกต่อข้อสะโพก เช่น การกระโดด การวิ่งเร็ว การยกน้ำหนัก เป็นต้น และต้องมาตรวจเป็นระยะโดยในปีแรกอาจต้องมาเอ็กซเรย์ทุก 3-6 เดือน หลังจากนั้นก็ควรมาเอ็กซเรย์ทุก 1 ปี เพื่อดูว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ เช่น ข้อสะโพกเทียมหลวม หรือ แตก ซึ่งในระยะแรกอาจพบความผิดปกติในเอ็กซเรย์โดยไม่มีอาการก็ได้

วิธีทำกายบริหาร
ควรทำบ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดย อาจให้ผู้ป่วยทำเอง หรือ ให้ญาติช่วยทำให้ก็ได้

3.1 นอนหงาย งอข้อสะโพก ให้เข่า-เหยียด 10 ครั้ง กางขา-หุบขา 10 ครั้ง

3.2 นอนหงาย ยกขาขึ้น ค้างไว้ นับ 1-10 ทำ 10 ครั้ง ทำสลับกันทั้งสองข้าง

3.3 นอนคว่ำ ยกขาขึ้น ค้างไว้ นับ 1-10 ทำ 10 ครั้ง ทำสลับกันทั้งสองข้าง

3.4 นอนตะแคง กางขาออก ยกขาขึ้น ค้างไว้ นับ 1-10 ทำ 10 ครั้ง ทำสลับกันทั้งสองข้าง

3.5 นั่งห้อยขาบนเก้าอี้ หรือ ข้างเตียง เหยียดข้อเข่าให้มากที่สุด ค้างไว้ นับหนึ่งถึงสิบ แล้วงอเข่าลงให้มากที่สุด ค้างไว้นับหนึ่งถึงสิบ ถ้าปวดมากอาจใช้ข้อเท้าขาข้างดีซ้อนใต้ข้อเท้าของขาข้างที่หักเพื่อช่วยยกขึ้นและงอลง

3.6 นั่งห้อยขาบนเก้าอี้ หรือ ข้างเตียง ขยับข้อเท้า ขึ้น-ลง หมุนเข้า-หมุนออก

ถ้าไม่รู้สึกปวดมาก อาจใช้น้ำหนักประมาณ 1-4 กิโลกรัมถ่วงไว้ที่บริเวณข้อเท้าแล้วบริหาร เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ของกล้ามเนื้อให้มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้หายได้เร็วขึ้นและใกล้เคียงกับปกติมากที่สุด …

ถ้ามีข้อสงสัย หรือ มีอาการผิดปกติ ควรปรึกษากับศัลยแพทย์กระดูกและข้อที่ให้การรักษาท่านอยู่ อีกครั้ง

แถม ..

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก (Total Hip Replacement)
https://goo.gl/07QhC7
https://www.jointdee.info

โรคของข้อสะโพกที่พบบ่อย / การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมทั้งข้อ
https://www.phraehospital.go.th/or/THA.html

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยผ่ำตัดเปลี่ยน. ผิวข้อสะโพกเทียม.
https://med.tu.ac.th/orthotu/images/pdf/peoplepdf/advisethr.pdf

วิดิทัศน์ การดูแลตนเองหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมและสำหรับญาติผู้ดูแล
https://youtu.be/6YluQcaGc38

 


Create Date : 08 มีนาคม 2551
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2563 17:03:15 น. 6 comments
Counter : 29159 Pageviews.  

 
มีประโยชน์มากเลยครับ
คุณแม่เพิ่งล้ม กระดูกสะโพกหัก
ตอนนี้ตรวจร่างกาย รอกำหนดวันผ่าตัด
อ่านแล้วทำให้คลายกังวลลงเยอะเลย
ขอบคุณครับ


โดย: RichEno (RichEno ) วันที่: 23 ตุลาคม 2551 เวลา:17:05:01 น.  

 

กระดูกหัก รักษาอย่างไรดี

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-12-2007&group=6&gblog=1

กระดูกหักเมื่อไรจะหาย

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-01-2008&group=6&gblog=4

การรักษาด้วยวิธีใส่เฝือก

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=01-02-2008&group=6&gblog=5

กระดูกหัก ผ่า - ไม่ผ่า อย่างไหนดีกว่ากัน

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=05-01-2008&group=6&gblog=2

กระดูกหัก ต้องผ่าเอาเหล็กออกหรือไม่ ???

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=08-04-2009&group=6&gblog=28

การดูแล หลังผ่าตัดกระดูกหัก

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=09-01-2008&group=6&gblog=3



โดย: หมอหมู วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:15:00:58 น.  

 
ข้อดี ข้อเสีย ของ การดมยา และ การบล็อกหลัง

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=17

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยที่จะมารับยาสลบ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-06-2008&group=6&gblog=18

ควรบอก หรือ ถามอะไร แพทย์ก่อนที่จะผ่าตัด ???

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-01-2008&group=4&gblog=7

คำถามที่ควรถามแพทย์ของท่านก่อนที่จะผ่าตัด

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=12-01-2008&group=4&gblog=6

ผ่าตัด เสี่ยงหรือเปล่าครับหมอ ??? .... " หมอรับรองหรือเปล่าว่าจะหาย ???" ....

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-09-2009&group=7&gblog=35


โดย: หมอหมู วันที่: 4 มกราคม 2559 เวลา:15:00:54 น.  

 
‘กระดูกสะโพกหัก’ ต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุด ลดเสี่ยงโรคแทรกซ้อน-ลดอัตราเสียชีวิต
https://www.hfocus.org/content/2017/02/13398
Sun, 2017-02-05 19:53 -- hfocus

เปิดโมเดลโรงพยาบาลแพร่ จัดระบบผ่าตัดเร็ว Fast track กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุ ช่วยลดอัตราโรคแทรกซ้อนได้ถึง 10 เท่า แพทย์ ระบุ 1 ใน 3ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัด จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี

นพ.ลักษณ์ ชุติธรรมานันท์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลแพร่ จ.แพร่ เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้มีคนไข้ในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนไข้กระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเทียบเคียงจากอดีตที่พบเพียงวันละ 1 ราย หรือวันเว้นวัน ปัจจุบันกลับพบไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ราย

นพ.ลักษณ์ กล่าวว่า คนไข้กระดูกสะโพกหักจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร็วที่สุด โดยประเทศอังกฤษซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุก่อนประเทศไทยได้ตั้งกลุ่มศึกษาเรื่องนี้โดยตรง และพบว่าหากไม่รีบรักษาคนไข้กระดูกสะโพกหัก จะส่งผลต่อภาระงบประมาณและความทุกข์ทรมานแก่คนไข้และญาติ ที่สำคัญคือคนไข้มีโอกาสพิการและอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ ผลการวิจัยของประเทศอังกฤษพบว่า วิธีที่รักษากระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุที่ดีที่สุดคือการผ่าตัด ที่สำคัญคือจะต้องผ่าตัดให้เร็วที่สุดคือภายใน 24-48 ชั่วโมงเท่านั้น เพราะหากผ่าตัดหลังจากช่วงเวลานั้นจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนกับคนไข้จำนวนมาก อาทิ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะติดเชื้อ ข้อติดข้อยึด เดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีแผลกดทับ และนำไปสู่การเสียชีวิต

“มีงานวิจัยระบุว่าถ้าคนไข้ได้รับการผ่าตัดช้าจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่าคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดเร็วถึง 10 เท่า และยังพบอีกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการผ่าตัดจำนวน 10% จะเสียชีวิตภายใน 1 เดือน และอัตราการเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด ภายในระยะเวลา 1 ปี” นพ.ลักษณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีการศึกษาต่อไปอีกว่าหากคนไข้เป็นผู้สูงอายุมากๆ และมีโรคแทรกซ้อนเยอะ ยิ่งต้องกระตุ้นให้ได้รับการผ่าตัดให้เร็วขึ้นอีก คือภายใน 6 ชั่วโมงหลังจากกระดูกสะโพกหัก ซึ่งจะลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้นไปอีก ฉะนั้นแนวโน้มหลังจากนี้คือจะผ่าตัดเร็วขึ้น

นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า เมื่อประเทศอังกฤษศึกษาและออกแบบแนวทางการรักษามาแล้ว โรงพยาบาลแพร่จึงได้นำโมเดลเดียวกันนี้มาใช้ โดยได้จัดระบบ Fast track ให้กับผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหักให้ได้รับการผ่าตัดอย่างรวดเร็วที่สุด ซึ่งจากการดำเนินโครงการมาระยะเวลาร่วม 10 ปี พบว่าสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนได้จำนวนมาก

“การรักษาของประเทศไทยที่ผ่านมายังไม่ได้ตระหนักในเรื่องนี้ ส่วนใหญ่ใช้วิธีดึงขาถ่วงไว้ บางครั้งก็ไม่ผ่าตัด หรือแพทย์เองก็ไม่เชียร์คนไข้ให้ผ่าตัด ทั้งๆ ที่ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทำให้บาดเจ็บเนื้อเยื่อน้อย ใช้เวลาผ่าไม่เกิน 30 นาที หรือบางรายเพียง 12-15 นาที เพราะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อน และแพทย์กระดูกทุกรายมีความสามารถในด้านนี้” นพ.ลักษณ์ กล่าว

สำหรับขั้นตอนการดำเนินโครงการ Fast track hip (กระดูกสะโพก) ของโรงพยาบาลแพร่ เริ่มจากการประสานความร่วมมือกับโรงพยาบาลชุมชนที่กระจายตัวอยู่ใน จ.แพร่ เมื่อโรงพยาบาลชุมชนพบคนไข้และวินิจฉัยแล้วว่าคนไข้กระดูกสะโพกหัก แพทย์ก็จะอธิบายถึงความเสี่ยง แนวทางการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ข้อดีข้อเสียของการผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

หลังจากนั้นเมื่อคนไข้และญาติยินยอมผ่าตัด ทางโรงพยาบาลชุมชนก็จะเตรียมตัวคนไข้ให้พร้อมผ่าตัดตั้งแต่ต้นทาง เช่น ให้งดน้ำงดอาหาร จากนั้นก็จะส่งต่อคนไข้มายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแพร่ ซึ่งทางโรงพยาบาลแพร่ก็จะมีกระบวนการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะ มีเจ้าหน้าที่ไปทำการเจาะตรวจ เอ็กซเรย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัด

ทั้งนี้ เมื่อเตรียมความพร้อมครบถ้วน ทางห้องฉุกเฉินก็จะส่งตัวคนไข้มาที่ตึกเพื่อรอการผ่าตัด ที่ตึกก็จะมีการเตรียมพร้อมห้องพักเพื่อป้องกันแผลกดทับ จากนั้นก็เข้าสู่ระบบการผ่าตัดให้เร็วที่สุด ซึ่งหากผลการประเมินยืนยันว่าคนไข้พร้อมผ่าตัด ก็จะได้รับการผ่าตัดภายในคืนเดียวกันนั้นเลย และเช้าวันรุ่งขึ้นแพทย์ก็จะไปจับคนไข้ลุก นั่ง ยืน เดิน และให้กลับบ้านได้ภายในเที่ยงวันของวันถัดมา

“หากปล่อยเอาไว้หลายวัน ผู้สูงอายุจะกล้ามเนื้ออ่อนแรงและฟื้นตัวช้า ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนไข้ 80-90% จะได้รับการผ่าตัดภายในคืนที่ส่งตัวมา และตอนเช้าก็จะสามารถเดินได้ และกลับบ้านได้” นพ.ลักษณ์ กล่าว

หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ กล่าวอีกว่า การทำงานของโรงพยาบาลแพร่จะทำงานเป็นทีม คือใช้งานวิชาการและหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นตัวนำ ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายก็จะเข้าใจตรงกันว่ากระดูกสะโพกหักเป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ทั้งแพทย์ผู้ผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ รวมถึงอายุรแพทย์ที่ร่วมประเมินคนไข้ในรายที่มีความซับซ้อน จะรู้สึกร่วมและภูมิใจที่ได้รักษาคนไข้

“เมื่อผมผ่าตัดเสร็จแล้วก็จะรายงานทุกคนให้ทราบทั้งหมดว่าคนไข้เดินกลับบ้านได้แล้วนะ ทั้งคุณหมอดมยาและอายุรแพทย์ ก็จะรับรู้ทุกครั้ง เขาก็ดีใจว่าได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมที่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้แล้ว" นพ.ลักษณ์ กล่าว

นพ.ลักษณ์ กล่าวอีกว่า ในประเทศไทยมีคนนำโมเดลนี้มาใช้น้อยมาก ที่ทำจริงจังก็มีเพียงโรงพยาบาลเอกชนที่มีจุดขายคือการให้บริการที่รวดเร็ว อย่างโรงพยาบาลกรุงเทพก็เพิ่งทำเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ส่วนตัวคิดว่าโรงพยาบาลของรัฐอื่นๆ ก็สามารถดำเนินการเช่นเดียวกันนี้ได้ เพียงแค่ตระหนักและเห็นความสำคัญ ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจที่โรงพยาบาลแพร่เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่รักษาคนไข้ฟรีตามสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง และได้ช่วยเหลือคนไข้มาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี


โดย: หมอหมู วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:14:59:17 น.  

 
กระทู้บอกเล่าเรื่องราวของการดูแลผู้ป่วยสะโพกหัก ..

เมื่อคุณย่าหกล้ม...


ความรู้สึกและผลกระทบหลังคุณย่าล้มกระดูกสะโพกหัก

สวัสดีค่ะ เราอยากมาแชร์ประสบการณ์และความรู้สึกจากเหตุการณ์ที่คุณย่าของเรา ล้มและทำให้กระดูกสะโพกหัก ในวัย 80 ปี ครั้งนี้เป็นการล้มรอบที่สองของคุณย่า ใจเราก็คิดว่าท่านคงไม่บาดเจ็บอะไรมาก เพราะครั้งแรกคุณย่าของเราล้มมีเพียงแผลถลอก ปวดเมื่อยตามตัวเท่านั้น แต่ครั้งนี้ต่างออกไปมาก จากที่คิดว่ารักษาที่โรงพยาบาลเดิมเป็นโรงพยาบาลเอกชน เพื่อความสะดวกแต่กลับกลายเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อคุณหมอแจ้งว่า คุณย่าของเรากระดูกสะโพกหักด้วยสาเหตุการล้ม หลังการเอกซเรย์ ต้องผ่าตัดโดยด่วนและไม่รับประกันผลหลังการผ่าตัด

เราคิดไปถึงเพื่อนเราที่คุณพ่อของเขากระดูกสะโพกหักติดเตียง ความกังวลถาโถมเข้ามา ที่บ้านเราจะทำยังไง คุณย่าจะช่วยเหลือตัวเองได้มากแค่ไหน แล้วถ้าหากผ่าตัดจะมีโอกาสเสี่ยงมากน้อยยังไง แล้วใครจะเป็นคนดูแลตอนเราไปทำงาน ตัวเราเองที่ต้องทำงานเข้าเช้าเลิกเย็น แทบจะไม่มีเวลาพอจะดูแลได้เลย แต่ความเครียดก็ยังไม่จบลง ด้วยเพราะยาและโรคประจำตัวที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทั้งความดัน โรคแทรกซ้อน และยาละลายลิ่มเลือดที่คุณย่าทานประจำทำให้คุณย่าไม่สามารถผ่าตัดได้เลยในทันที ย่าต้องงดทานยาละลายลิ่มเลือดไปพักหนึ่ง

และกลายเป็นคนนอนติดเตียงอยู่หนึ่งเดือนที่โรงพยาบาลใหม่ ในห้องรวมเพราะค่าใช้จ่ายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด เราทำได้แค่ให้ท่านนอนห้องรวม ขอเตียงที่อยู่ใกล้พยาบาลมากที่สุด เพราะด้วยอายุแล้วอยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลคงดีที่สุด ตลอดระยะหนึ่งเดือน เราพยายามทำหน้าที่หลานให้ดีที่สุด โดยที่เวลาทำงานของเรายังคงเท่าเดิม เข้างานช่วงเช้าและเลิกช่วงเย็น ในพื้นที่กรุงเทพ กับสภาพจาจรที่ติดขัดมาก… แต่ในความโชคไม่ดีเท่าไหร่ ก็ยังมีโอกาสดีอยู่บ้าง เพราะในช่วงเวลานั้น โรงเรียนอยู่ในช่วงปิดเทอม เรายังสามารถไปหาท่านได้ในเวลา เจ็ดโมงบ้าง เจ็ดโมงครึ่งบ้าง ไปป้อนอาหารเช้า พูดคุยและทักทายท่านได้ในทุกวัน ทางโรงพยาบาลให้เวลาเข้าเยี่ยมได้ถึงแค่แปดโมงเท่านั้น เลิกงานเราก็ยังคงทำเหมือนกันกับตอนเช้า ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม กับความเครียดในใจที่ไม่สามารถจะพูดออกมาได้ เพราะเราเองก็ไม่อยากให้คุณย่าเครียดไปมากกว่านี้

ในที่สุดคุณย่าก็ได้เข้ารับการผ่าตัด........
หลังจากผ่าตัดทุกอย่างราบรื่นเป็นไปด้วยดี ความรู้สึกเราที่คล้ายกับพายุที่สาดลงมาในใจตลอดระยะหนึ่งเดือนได้เบาลงบ้าง หลังจากผ่าตัดคุณย่าต้องทำกายภาพต่อเพราะยังไม่สามารถเดินเองได้ตามปกติ มีนักโภชนาการมาอธิบายให้เราฟังว่าต้องทำยังไงบ้าง คุณย่าของเราต้องกายภาพในท่านั่ง เพราะว่าท่านยังทรงตัวไม่ได้ หลังจากการนอนนานมาเป็นเดือน ส่งผลกระทบให้มีอาการปอดแฟบ ความเครียดที่เพิ่งจะเบาบางลงกับสาดพายุถาโถมเข้ามาหนักกว่าเดิม… แต่ทุกอย่างที่เล่ามายังไม่จบลง การเจ็บป่วยที่มาพร้อมกับการนอนเป็นเวลานาน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และ แผลกดทับเพราะการนอน แต่ทุกอย่างก็เหมือนกำลังจะดีขึ้น คุณย่าของเราเริ่มขยับตัวนั่งได้แล้ว คุณหมอแจ้งกับเราว่าในความจริงแล้วการล้มที่ให้เกิดกระดูกสะโพกหัก หากได้รับการผ่าตัดเร็วภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะทำให้ร่างการฟื้นตัวเร็วมาก แต่ด้วยโรคแทรกซ่อนของคุณย่า เลยทำให้ไม่สามารถผ่าตัดได้ในเวลา24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังหกล้ม

การกลับมาอยู่บ้าน… พ่อเราต้องทำห้องน้ำเพิ่มจากเดิมในชั้นล่าง เพื่อให้ใกล้ห้องนอนของคุณย่ามากที่สุด ให้ท่านเดินน้อยที่สุด หรือเข็นพาท่านไป พ่อเราใช้เก้าอี้ปัสสาวะสำหรับผู้สูงอายุตัดขาออกและต่อล้อเพื่อให้เข็นแบบรถเข็นได้ ต่อจากนั้น เราซื้อเตียงลม โถปัสสาวะ แต่คุณย่าก็ยังขับถ่ายไม่ออก เราต้องเปลี่ยนเป็นแพมเพิสให้ท่านแทน เพราะด้วยการผ่าตัดทำให้คุณย่าของเรายังขยับตัวลุกเดินเองไม่ได้ ทำได้แค่นั่งเท่านั้น เราต้องขยับตัวท่านทุกสามชั่วโมงเพื่อลดการเป็นแผลกดทับ และด้วยค่าใช้จ่ายที่ผ่านมา เราทำได้แค่จ้างญาติมาช่วยดูแลเบื้องต้นเท่านั้น เขาทำหน้าที่ได้แค่ช่วงเช้าถึงเย็นเท่านั้น ตกกลางคืนเราต้องตื่นทุกสามชั่วโมง เพื่อมาขยับตัวให้ท่าน มันเหนื่อยและกังวล เครียดทั้งอาการที่ยังไม่ดีขึ้น ค่ารักษา และการทำงาน
การเข้าห้องน้ำหรือแม้แต่ขยับตัวต้องใช้คนถึงสองคนช่วยขยับ ช่วยดึง สุดท้ายญาติที่มาช่วยดูแลเขาก็ทำต่อไม่ไหว เพราะอาการปวดหลังที่เขาเป็นอยู่ก่อนแล้ว สุดท้ายเราต้องจ้างเด็กมาดูแลผู้ป่วย เพราะเราเองก็เริ่มเหนื่อยและร่างกายเริ่มไม่ไหว แต่ในช่วงเวลานั้น เรายังคงต้องจ้างนักกายภาพมาสัปดาห์ละ สองถึงสามครั้ง ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เราซื้อทุกอย่างที่คนอื่นแนะนำให้ใช้ ผ้าดึงตัว สนับเข่า เพื่อแก้ปวดให้ท่าน

พอค่าใช้จ่ายมากขึ้น การหาหมอตามนัดก็ทำได้น้อยลง เพราะทุกครั้งในการเดินทางเราต้องเรียกรถเพื่อมารับท่านไปส่ง ค่าใช้จ่ายต่อครั้งค่อนข้างมาก เพราะเราไม่สามารถจะพาท่านไปเองได้ บ้านของเราไม่อำนวยในการเคลื่อนย้ายเลย เพราะทางลงเป็นบันได ทำให้เราอุ้มท่านเองไม่ไหว เราไปโรงพยาบาลรัฐบาลแต่ละครั้งใช้เวลานาน ท่านน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะ เราไปพบหมออยู่สองสามครั้ง หลังจากนั้นเราเปลี่ยนคนกายภาพไปสองสามคนแล้ว เรากลับไปทำงานมากขึ้นเพราะจ้างผู้ดูแล และกายภาพมาสม่ำเสมอ ทุกครั้งกายภาพคุณย่าของเราจะบ่นเสมอว่า เอาอีกแล้ว มาอีกแล้ว

เวลาผ่านไป พอเรารู้ตัวอีกที คุณย่าของเรา…กลับมาเดินด้วยวอคเกอร์เองได้แล้ว โดยไม่ต้องมีคนช่วยจับ แม้ในระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โควิดทำให้จ้างนักกายภาพมาไม่ได้แล้ว แต่คุณย่าของเรากลับมาเดินเองได้อย่างปกติแล้ว แต่เราก็ยังกังวลการหกล้มที่จะเกิดขึ้นอีก ตอนนี้คุณย่าของเรารักษาต่อจนดีขึ้นตามลำดับ และเราคิดว่าเราพลาดเองที่ไม่ได้ป้องกันการหกล้มตั้งแต่แรก
เราอยากแชร์ประสบการณ์เหล่านี้เพื่อให้คนทั่วไปได้เข้าถึงข้อมูลที่สำคัญ เกี่ยวกับการดูแลหลังจากล้มในผู้สูงอายุ หวังว่าการเล่าเรื่องของเราจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขอบคุณทุกคนที่อ่านมาจนถึงตรงนี้… ขอบคุณค่ะ

สมาชิกหมายเลข 6758629

https://pantip.com/topic/41129213


โดย: หมอหมู วันที่: 5 ธันวาคม 2564 เวลา:15:46:20 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณหมอหมู
แวะมาอ่านเพราะคุณแม่ที่เมืองไทยอายุ 78 ปีเก้าอีพาล้มจนสะโพกหักนอนโรงพยาบาลเพื่อรอหมอวินิจฉันพรุ่งนี้เพราะแม่มีโรคประจำตัวหลายโรคมากตอนนี้ใช้ที่ถ่วงขาใว้ไม่รู้หักหรือแตกตรงใหนตามที่ดูเหมือนจะเป็นขาซ้าย อ่านข้อมูลหลาย ๆ ที่แล้วแ็เหนื่อยใจจังเลยค่ะคุณหมอ


โดย: Willkommen วันที่: 15 มกราคม 2566 เวลา:18:55:34 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]