bloggang.com mainmenu search
หุ่นยนต์อัจฉริยะ ช่วยผู้ป่วยอัมพาต

นพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล, ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผอ.รพ.พญาไท 1 และ พญ.วรรณวดี ลักษณ์สุรพันธุ์ ร่วมเปิดตัวหุ่นยนต์เทรนเนอร์.

เปิดตัวนวัตกรรมใหม่ในการดูแลผู้ป่วยจากภาวะอ่อนแรงตามแขนขาจากอาการอัมพาต โดย โรงพยาบาลพญาไท 1 ได้เปิดตัว “หุ่นยนต์อัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกเดินและการเคลื่อนไหวของมือ และแขน” ซึ่งนับเป็นโรง-พยาบาลเอกชนรายแรกของไทยที่นำเทคโน-โลยีนี้เข้ามาใช้

ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผอ.รพ.พญาไท 1 กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยที่มีภาวการณ์อ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดจากสมองขาดเลือด การกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้เริ่มหัดเดินอย่างรวดเร็ว นุ่มนวลและต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสอันเป็นบทบาทที่สำคัญในการฟื้นฟูผู้ป่วยที่มีความผิดปกติให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งจุดนี้หุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบ คือ หุ่นยนต์ช่วยฝึกเดินและหุ่นยนต์ช่วยในการฝึกการเคลื่อนไหวของมือและแขน สามารถตอบโจทย์ได้มากในการฟื้นฟูสมรรถภาพของทั้งแขนและขา โรงพยาบาลพญาไทจึงนำเข้าหุ่นยนต์ทั้ง 2 แบบนี้ มาช่วยในการฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยอัมพาตหลังการรักษา


ด้าน พญ.วรรณวดี ลักษณ์สุรพันธุ์ แพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู รพ.พญาไท 1 กล่าวว่า ในอดีตแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะอ่อนแรงตามแขนขา ผู้ป่วยต้องฝึกเดินโดยมีนักกายภาพบำบัดคอยช่วยพยุงเดิน แต่เนื่องจากการฝึกเดินนั้นต้องใช้เวลาฝึกนานพอสมควร เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้และพัฒนาทักษะในการเดิน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเมื่อยล้า และเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจไม่มีความสม่ำเสมอในการฝึกแต่ละครั้ง หุ่นยนต์ฝึกเดินนี้จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยเดินนานขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ และกำหนดความเร็ว แรงพยุงตัวที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้เกิดความสม่ำเสมอ ซึ่งหุ่นยนต์ช่วยเดินนี้ ตัวเครื่องจะมีสายพยุงตัว ที่รับน้ำหนักได้กว่า 100 กิโลและส่วนขาที่เป็นหุ่นยนต์จะช่วยให้คนไข้เดินได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังมีระบบคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลในการฝึกเดินของผู้ป่วยแต่ละครั้งด้วย เพื่อนำไปใช้ในการรักษาต่อไป เครื่องหุ่นยนต์นี้สามารถฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ที่ปัญหาของระบบประสาทที่มีสภาวะอ่อนแรง เช่น ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง, กลุ่มผู้ป่วยที่ประสาทไขสันหลังบาดเจ็บหรือถูกกดทับ, โรคกล้ามเนื้อเสื่อม โดยคนไข้ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ก่อนว่า ไม่มีโรคอันตราย เช่น โรคหัวใจ หรือโรคปอดรุนแรง ภาวะข้อติดแข็ง เป็นต้น ก่อนที่จะเข้ารับการฟื้นฟูด้วยวิธีนี้.

Create Date :28 พฤศจิกายน 2556 Last Update :28 พฤศจิกายน 2556 6:57:31 น. Counter : 1444 Pageviews. Comments :0