bloggang.com mainmenu search
คลื่นความร้อนบำบัด นวัตกรรมช่วยหอบหืด

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



300 ล้าน คือ จำนวนของผู้ป่วยโรคหอบหืดจากทั่วโลก โดยมีผู้ป่วยที่เป็นคนไทยรวมอยู่กว่า 3 ล้านคน และมีคนไทยที่เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณปีละ 1,000 คน อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ไว้ว่า อีกประมาณสิบปีข้างหน้า โรคหืดจะกลายเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของโลก เนื่องจากจะมีผู้ป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้นเป็น 400 ล้านคน และสาเหตุของโรคยังเกิดจากปัจจัยใกล้ตัวอย่างการสูบบุหรี่ และการได้รับควันบุหรี่มือสอง

เนื่องจากโรคหอบหืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นนวัตกรรมเครื่องขยายหลอดลมด้วยคลื่นความร้อนสำหรับบำบัดผู้ป่วยหลอดลมตีบ โดยความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในการเป็นต้นแบบผลิตเครื่องมืออันทันสมัยโดยฝีมือคนไทยเป็นครั้งแรก

ผศ.ดร.สุพันธุ์ ตั้งจิตกุศลมั่น อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า สภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษรอบตัว ภัยจากควันบุหรี่ ที่มีสารพิษกว่า 4,000 ชนิด ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ และเกิดภาวะหลอดลมตีบได้

โดยปกติผู้ป่วยโรคหอบหืดจะต้องพกยาพ่นสำหรับขยายหลอดลมติดตัวไว้ตลอดเวลา แต่หากมีอาการรุนแรงมาก การใช้ยาขยายหลอดลมเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถลดการตีบแคบลงของกล้ามเนื้อหลอดลมได้

วิธีการบำบัดโรคหืดด้วยเครื่องมือขยายหลอดลมด้วยคลื่นความร้อน จะถูกนำมาบำบัดผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมาก ซึ่งหลักการทำงานของเครื่องมือจะเป็นการอาศัยความร้อนจากพลังงานคลื่นความถี่วิทยุ ในย่านความถี่ 375-500 กิโลเฮิร์ตซ์ และ ใช้อุณหภูมิ 55-65 องศาเซลเซียส โดยส่งความร้อนผ่านเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นเข็ม ซึ่งปลายเข็มสามารถกางออกได้คล้ายกับร่ม จึงช่วยแพร่ความร้อนไปยังจุดต่างๆ ของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม และลดการตีบได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล้ายคลึงกับหลักการบำบัดก้อนมะเร็งโดยใช้ความร้อน

จากผลการวิจัยพบว่า วิธีนี้ช่วยลดการบวมของกล้ามเนื้อที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดลมตีบได้ถึงร้อยละ 50 จึงช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการหอบน้อยลง และสิ่งที่ตามมา คือ คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วย

การสร้างสรรค์นวัตกรรมชิ้นนี้ยังสามารถช่วยลดต้นทุนของค่าเครื่องมือทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ และยังช่วยลดภาระ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคหอบหืดได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยเพื่อพัฒนาอุปกรณ์ให้ได้มาตรฐานและความปลอดภัยสูงสุด สนใจสอบถามโทร. 0-2329-8111 หรือ pr.kmitl.ac.th
Create Date :11 มิถุนายน 2557 Last Update :11 มิถุนายน 2557 14:04:49 น. Counter : 1211 Pageviews. Comments :0