bloggang.com mainmenu search
ผงะ"แคดเมียม"ในหอยแมลงภู่ ตัวอย่างที่อ่างศิลาปนเปื้อนสูงกว่ามาบตาพุด



น.ส.วราพร ชลอำไพ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง "ระดับแคดเมียมในหอยแมลงภู่ที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มบริเวณชายฝั่งทะเลเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เปรียบเทียบกับบริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลา จ.ชลบุรี ปี 2555-2557" ในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ครั้งที่ 22 ประจำปี 2557 เมื่อเร็วๆ นี้



การศึกษาดังกล่าวได้เก็บตัวอย่างหอยแมลงภู่ที่เพาะเลี้ยงในฟาร์มบริเวณชายฝั่งทะเลที่ศึกษา 2 แหล่ง เป็นเวลา 3 ปี จำนวนทั้งสิ้น 240 ตัวอย่าง โดยในแต่ละปีแต่ละบริเวณเก็บตัวย่างหอยแมลงภู่ขนาดเล็กความยาวเปลือกน้อยกว่า 6 ซ.ม. และขนาดใหญ่ความยาวเปลือก มากกว่า 6 ซ.ม. ขนาดละ 20 ตัวอย่าง แล้วนำไปตรวจวิเคราะห์ระดับสารแคดเมียมด้วยเครื่องอะตอมมิกแอบวอพชั่นเทคนิคกราไฟต์



น.ส.วราพรกล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า ระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อหอยแมลงภู่บริเวณชายฝั่งทะเลเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีค่าเฉลี่ยในปี"55 เท่ากับ 0.0099 ปี"56 เท่ากับ 0.0120 และปี"57 จำนวน 0.0114 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก ส่วนที่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลา มีค่าเฉลี่ยปี"55 เท่ากับ 0.1086 ปี"56 เท่ากับ 0.0499 และปี"57 เท่ากับ 0.0705 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก ซึ่งค่าระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อหอยแมลงภู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลา มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าชายฝั่งทะเลนิคมมาบตาพุดทั้ง 3 ปี โดยในปี"55, 56 และ 57 มีค่าสูงกว่า 11, 4 และ 6 เท่าตามลำดับ



"ในปี 255, 2556 และ 2557 ระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อหอยแมลงภู่จากบริเวณนิคมฯมาบตาพุด และชายฝั่งทะเลอ่างศิลา มีค่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 (พ.ศ.2529) ซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม น้ำหนักเปียก อย่างไรก็ตาม ระดับแคดเมียมในเนื้อเยื่อหอยแมลงภู่จากบริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลาที่มีค่าสูงกว่าเขตมาบตาพุดทั้ง 3 ปี บ่งชี้ว่า บริเวณชายฝั่งทะเลอ่างศิลาควรจะศึกษาแหล่งที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียม" น.ส.วราพรกล่าว
Create Date :08 กรกฎาคม 2557 Last Update :8 กรกฎาคม 2557 0:47:49 น. Counter : 1377 Pageviews. Comments :0