bloggang.com mainmenu search
ลมหายใจไร้มะเร็ง แนะ3วิธีดูแลปอด

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พ.ค. หน่วยงานต่างๆ ได้รณรงค์ให้ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ เพราะไม่ใช่เพียงแค่ก่อโรคร้ายให้ตัวเอง แต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง และเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งปอด



รศ.นพ.นรินทร์ วรวุฒิ หน่วยมะเร็งวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า มะเร็งปอด เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งตับและยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ ผู้ป่วยเพศหญิงก็พบสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ส่วนใหญ่จะมีอาการที่โรคลุกลามแล้ว



ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดส่วนใหญ่มักจะมีประวัติการสูบบุหรี่ โดยทั่วไปพบว่าผู้ที่สูบบุหรี่จัด 1 ซองขึ้นไปต่อวัน หรือผู้ที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปจะมีอายุสั้นกว่าคนปกติทั่วไป 7-10 ปี และผู้ที่สูบบุหรี่ติดต่อกันยาวนานตั้งแต่ 10-20 ปี เสี่ยงสูงต่อโรคมะเร็งปอด รวมถึงการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน



สาเหตุอื่นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่น บุหรี่มือสอง มลพิษทางอากาศ รวมทั้งสารบางชนิด เช่น แร่ใยหิน สารหนู โครเมียม นิกเกิล น้ำมันดิน สารไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น ควันไฟจากการเผาขยะ เผาป่า หรือกิจการทางการเกษตร ควันจากธูป การประกอบอาหาร และยาลูกกลอน หรือในสมุนไพรจีนบางชนิดที่มีสารหนูปนเปื้อนควรหลีกเลี่ยง



สัญญาณอันตรายของโรคมะเร็งปอด คือ ไอเป็นเวลานาน อาการไม่ทุเลา หายใจเหนื่อยหอบ หายใจสั้น เสียงแหบ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก หัวไหล่ หลัง และแขนเป็นประจำ (อาจเพราะก้อนเนื้อเบียดกดอยู่) น้ำหนักลด ใบหน้า ลำคอ หรือแขนบวม รวมถึงเป็นโรคปอดบวม หรือหลอดลมอักเสบบ่อย



ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งปอดในระยะที่ 2 และ 3 เมื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สามารถหายเป็นปกติได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาภายในเวลา 3-6 เดือนผู้ป่วยจะเสียชีวิต



การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดทำได้โดยการเอกซเรย์ การเจาะเลือดตรวจหามะเร็ง ตรวจปัสสาวะ อัลตราซาวด์ ถอด รหัสดีเอ็นเอ เพื่อแยกสายพันธุ์มะเร็งปอดในระดับโมเลกุล ส่วนการรักษาโดยการผ่าตัด ฉายแสง ใช้เคมีบำบัด และการใช้ยายับยั้งยีนเพื่อการรักษาตามเป้าหมาย



วิธีป้องกันให้ลมหายใจ ไร้มะเร็งปอด คือ 1.การป้องกันขั้นปฐมภูมิ หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง 2.การป้องกันขั้นทุติยภูมิ หรือเมื่อร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งแล้ว ควรออกกำลังกายเพิ่มภูมิคุ้มกัน บริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และ 3.การป้องกันขั้นตติยภูมิ ด้วยการตรวจสุขภาพสม่ำเสมอ โดยเฉพาะการตรวจคัดกรอง



การป้องกันโรคมะเร็งปอด ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็งต่างๆ และตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี การรักษาจะช่วยลดความทรมานของผู้ป่วย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Create Date :30 พฤษภาคม 2557 Last Update :30 พฤษภาคม 2557 10:38:20 น. Counter : 1320 Pageviews. Comments :0