bloggang.com mainmenu search
ชี้คนไทยป่วยตับอักเสบเรื้อรังสูง แพทย์แนะดูแลตัวเอง-ฉีดวัคซีนกัน

รายงานพิเศษ



ร.พ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ จัดกิจกรรม "อาสาสมัครใจ บริจาคโลหิต ครั้งที่ 2" รณรงค์ให้ผู้สนใจ และ บุคลากรของร.พ. เป็นอาสาสมัครบริจาคโลหิตให้แก่ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล พร้อมเสวนาหัวข้อ "ล้วงลับ เรื่องตับ" เพื่อเป็นแนวทางป้องกันโรค



รศ.นพ.ทวีศักดิ์ แทนวันดี อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ ร.พ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ (SiPH) เปิดเผยว่า ตับเป็นอวัยวะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดภายในร่างกาย ทำหน้าที่ควบคุมสภาพร่างกายให้อยู่ดีมีสุข อาทิ ขจัดยาหรือสารพิษออกจากร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันบางอย่างขึ้นมาเพื่อต่อสู้โรคติดเชื้อ กำจัดเชื้อโรคต่างๆ เป็นต้น




โรคที่เกิดกับตับมีหลายโรค ได้แก่ ไวรัสตับอักเสบเรื้อรังบีและซี พบได้กว่าร้อยละ 5 ของประชากร หมายถึงมีผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังในไทยถึงประมาณ 3 ล้านคน การเปลี่ยนวิถีชีวิตทำให้คนรับประทานอาหารมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลง นำมาด้วยโรคไขมันพอกตับ ปัจจุบันพบได้ทุกเพศทุกวัยและน่าจะเป็นโรคตับที่พบบ่อยที่สุดในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเกือบร้อยละ 20 ของประชากรกำลังถูกคุกคามด้วยภาวะนี้



รศ.นพ.ทวีศักดิ์กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคตับส่วนใหญ่ไม่มีอาการ กว่าจะเริ่มมีอาการ เช่น เท้าบวม ท้องมาน ก็มักจะเป็นตับแข็งระยะสุดท้ายแล้ว ในการตรวจแพทย์จะประเมินภาวะของไวรัสตับอักเสบ และจะประเมินความรุนแรงของโรคตับ
ทวีศักดิ์ แทนวันดี - ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร





ข้อควรระวังเมื่อเป็นโรคตับแข็ง หลีกเลี่ยงอาหารทะเลที่ไม่สุก ถั่วลิสงป่น พริกป่น เพราะส่งเสริมมะเร็งตับ และยังไม่มีสมุนไพรใดๆ ที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยา ศาสตร์ว่าเกิดประโยชน์ต่อตับ ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่ยังไม่มีภูมิต่อไวรัสตับอักเสบเอและบี ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน



รศ.ดร.นพ.ยงยุทธ ศิริวัฒนอักษร ศัลย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ เผยว่า หากมีพี่น้องมารดาเดียวกันเป็นไวรัสตับอักเสบบี เคยได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดก่อนปี 2538 ก็มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีสูง และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ ก็ควรได้รับการตรวจด้วย โดยผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอและบี หรือหากมีญาติพี่น้องเป็นไวรัสตับอักเสบบี ควรได้รับวัคซีนป้องกัน



การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ เพื่อรักษาตับแข็งหรือมะเร็งตับ ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้แข็งแรง ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยที่รอรับการผ่าตัดปลูกถ่ายตับประมาณ 200 รายต่อปี ซึ่งจำนวนผู้ป่วยลงทะเบียนจะพอๆ กับจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตก่อนที่จะได้รับตับ เนื่องจากจำนวนผู้บริจาคอวัยวะในไทยมีน้อยมาก ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยที่รอรับบริจาค
Create Date :07 สิงหาคม 2557 Last Update :7 สิงหาคม 2557 2:43:32 น. Counter : 1625 Pageviews. Comments :0