bloggang.com mainmenu search
บริจาคโลหิตสุขภาพดี ลดกล้ามเนื้อหัวใจตาย

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



"โลหิต"สิ่งสำคัญและจำเป็นมากในการช่วยรักษาชีวิตผู้เจ็บป่วยหรือประสบอุบัติเหตุให้รอดจากความตาย

นาวาโทหญิง พญ.อุบลวัณณ์ จรูญเรืองฤทธิ์ รองผอ.ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์มีเป้าหมายในการจัดหาโลหิตในเขตกทม. และปริมณฑล 600,000 ยูนิตต่อปี และในส่วนจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ รวมแล้วต้องจัดหาโลหิตให้ได้ 1,950,000 ยูนิตต่อปี จึงจะเพียงพอต่อความต้องการ และปริมาณการใช้โลหิตยังมีปริมาณเพิ่มขึ้น 8-10 เปอร์เซ็นต์ทุกปี



โครงการ "แบรนด์...พลังเพื่อเลือดใหม่"หรือ BRAND'S Young Blood ตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิตเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์ โดยมีการรณรงค์เชิญชวนร่วมบริจาคโลหิต สร้างจิตสำนึกในการเป็น "ผู้ให้"อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นรณรงค์ ในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่



นายบุญเลิศ สุขเสรีทรัพย์ ผอ.ฝ่ายการตลาด บริษัท เซเรบอส (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ปี"56 โครงการมุ่งรณรงค์ให้ร่วมบริจาคโลหิตในวาระพิเศษถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมราชูปถัมภ์สภากาชาดไทย ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา โดยตั้งเป้าหมายโลหิตที่ได้รับบริจาคจำนวน 86,000 ยูนิต หรือไม่ต่ำกว่า 34,400,000 ซีซี ระหว่างเดือนก.ย.56-พ.ค.57



"ทั้งนี้ได้จัดกิจกรรมประกวดวิดีโอ คลิปรณรงค์การบริจาค โลหิต ชิงทุนการศึกษาและโล่พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตน ราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกา ผอ.สภากาชาดไทย กระตุ้นให้มีผู้บริจาคโลหิตหน้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และรณรงค์ส่งเสริมให้มีการบริจาคโลหิตทุกๆ 3 เดือน"



ทั้งนี้ยังมีความเข้าใจผิดเรื่องการบริจาคโลหิตว่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการบริจาคโลหิตนอกจากจะเป็นการช่วยชีวิตผู้อื่นแล้ว ยังเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพผู้บริจาค โดยข้อมูลจากศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ระบุว่า ในโลหิตประกอบด้วยพลาสมา (น้ำเหลือง) และเม็ดโลหิต 8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว หรือประมาณ 17-18 แก้วน้ำ



ปริมาณโลหิตที่มีในร่างกายถูกสร้างขึ้นมาให้เกินกว่าความต้องการใช้ที่แท้จริง การบริจาคโลหิต ซึ่งนำโลหิตออกจากร่างกาย 350-450 มิลลิเมตร จึงเป็นการนำโลหิตสำรองออกมาโดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ทั้งยังเกิดประโยชน์กับผู้บริจาค อาทิ ร่างกายจะได้สร้างเม็ดเลือดใหม่ๆ ซึ่งแข็งแรงและทำงานได้มีประสิทธิภาพกว่า เม็ดเลือดขาวทำลายสิ่งแปลกปลอมได้ดีขึ้น กระตุ้นการทำงานของไขกระดูกดีขึ้น ลดความเสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน 
Create Date :04 พฤศจิกายน 2556 Last Update :4 พฤศจิกายน 2556 11:26:29 น. Counter : 955 Pageviews. Comments :0