bloggang.com mainmenu search
ผ่าตัดสันหลังสามมิติ เทคนิคแม่นยำ-ลดรังสี

รายงานพิเศษ



หลังประสบความสำเร็จจากการพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยีการรักษาผู้ป่วยกระดูกสันหลัง ด้วยความร่วมมือระหว่างร.พ.บำรุงราษฎร์ ร.พ.เซนต์แอนนา และบริษัทริชาร์ด วูล์ฟ ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์ระดับสูงจากเยอรมนี ช่วยเหลือคนไข้ปวดหลังเรื้อรังได้ถึงปีละกว่าพันราย ล่าสุดได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกันอีกครั้ง



นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผอ.สถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ บอกว่า การรักษาอาการปวดหลัง ปัจจุบันแบ่งเป็น 3 วิธีการหลัก คือ การให้ยาและทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเข้าโพรงประสาท และการผ่าตัด



"หากผู้ป่วยมาพร้อมอาการปวดหลังรุนแรง ซึ่งอาจมีสาเหตุจากหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือโพรงประสาทตีบแคบ หรือปวดหลังร้าวลงขาจากการกดทับหรืออักเสบของเส้นประสาทเนื่องจากกระดูกสันหลังเสื่อมหรือเคลื่อน คนไข้กลุ่มนี้จะมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดสูง"



การผ่าตัดจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ การผ่าตัดแบบไม่ดามกระดูก และการผ่าตัดแบบที่ต้องดามเชื่อมข้อกระดูกในกรณีพบข้อต่อกระดูกเคลื่อนหรือทรุดตัว



"การผ่าตัดแบบไม่ต้องดามกระดูก ทุกวันนี้เรามีเทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องเอ็นโดสโคป ซึ่งยังมีข้อจำกัดในกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาจากโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ จึงมีการคิดค้นพัฒนาร่วมกันระหว่างสถาบันกระดูกสันหลังบำรุงราษฎร์ ดร.เซบัสเตียน รุทเทิ่น ร.พ.เซนต์แอนนา และบริษัท ริชาร์ด วูล์ฟ จนได้กล้องเอ็นโดสโคปที่พัฒนาไปอีกขั้น ด้วยขนาด 10.5 มิลลิเมตร เพิ่มศักยภาพในการผ่าตัดกระดูกสันหลังหลากหลายและดียิ่งขึ้น"
นพ.วีระพันธ์ ควรทรงธรรม





ส่วนการผ่าตัดแบบดามเหล็กเชื่อมข้อกระดูก ราว 10 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นผู้ป่วยที่มีปัญหาการปวดหลังรุนแรงแต่ไม่มีอาการร้าวลงขา มีวิธีการผ่าตัด 3 วิธี ได้แก่ ALIF (Anterior Lumbar Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดเข้าทางด้านหน้า OLIF (Oblique Lumbar Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดเข้าด้านข้างค่อนไปทางด้านหน้า และ DLIF (Direct Lateral Interbody Fusion) คือ การผ่าตัดเข้าทางด้านข้างของลำตัว



สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังรุนแรงและร้าวลงขาจากกระดูกที่เคลื่อนและเกิดการกดทับเส้นประสาท ซึ่งคิดเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ แพทย์ไม่สามารถใช้ 3 วิธีที่กล่าวมาได้ แพทย์ต้องผ่าตัดเปิดจากด้านหลัง ด้วยวิธี TLIF (Transforaminal Lumbar Interbody Fusion) และ PLF (Posterior Lumbar Interbody Fusion)



ปัจจุบัน ร.พ.บำรุงราษฎร์ ได้พัฒนาเทคนิคการผ่าตัดด้วยวิธี TLIF ด้วยกล้องจุลทรรศน์ผ่านอุโมงค์ขนาดเล็กเพื่อดามเหล็กผ่านผิวหนังโดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ได้สำเร็จ นอกจากนี้ มีการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติ (O-Arm) มาใช้ร่วมกับเครื่องผ่าตัดนำวิถี (Navigation System) สร้างภาพสามมิติบนมอนิเตอร์ มาใช้แทนเครื่องเอกซเรย์แบบเก่า การผ่าตัดจึงแม่นยำ ลดปริมาณรังสีที่แพทย์และคนไข้จะได้รับด้วย

หน้า 28
Create Date :07 ตุลาคม 2556 Last Update :7 ตุลาคม 2556 1:06:03 น. Counter : 2004 Pageviews. Comments :0