bloggang.com mainmenu search
อย.เพิกถอนยากว่า 100 ชนิด โรคลำไส้ ข้อเสื่อม แก้ปวด ดื้อใช้ถึงตาย "แพทยสภา"โวยเกาไม่ถูกที่คัน

อย.สั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาทั้งแผนปัจจุบัน- แผนโบราณนับร้อยรายการ ที่ใช้แล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ขณะที่ แพทย์ - เภสัชกร - ร้านขายยา ติง อย.ออกคำสั่ง "ครอบจักรวาล"ระบุจัดการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด ทั้งที่ยาบางชนิดมีความจำเป็นต้องใช้กับผู้ป่วย ล่าสุดเพิกถอนยาแก้โรคลำไส้ ข้อเสื่อม และแก้ปวด

การสั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)และที่ผ่านมา อย.ได้มีมติเพิกถอนทะเบียนตำรับยาไปแล้วมากมาย แต่ในการเพิกถอนทะเบียนยาของ อย.นั้นได้สร้างความมึนงงสงสัยให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย อาทิ แพทย์ เภสัชกร ร้านขายยา และผู้ป่วยที่ต้องการยาบางชนิดมาใช้รักษาตัวเองด้วยเช่นกัน

จากรายงานของกองควบคุมเรื่องการเฝ้าระวังด้านยาและยาปลอม โดยศูนย์ข้อมูลกำกับระบบยา เพื่อป้องกัน การแพร่ระบาดของยาปลอม และยาผิดกฎหมายต่างๆพบว่าปัจจุบันได้มีการรวบรวมข้อมูลต่างๆเพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนได้รับทราบ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่มากมาย

อย.สั่งเพิกถอนยาแบบครบจักรวาล

จากการสืบค้นข้อมูลพบว่ามีข้อมูลยาเพิกถอนทะเบียนตำรับยาแล้วในปี 2550 ถึง 63 รายการ โดยยาล่าสุดที่มีโอกาสถูกเพิกถอนทะเบียนยาคือ zelmax เป็นยารักษาโรคลำไส้โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ(US FDA)รายงานว่าผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวนั้นเกิดอาการไม่พึงประสงค์เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง

"ตอนนี้ อย.ของไทยก็ได้มีประกาศระงับการจำหน่ายยาชนิดนี้เป็นการชั่วคราวและมีแนวโน้มว่ายาชนิดนี้จะต้องถูกเพิกถอนตำรับยาอย่างแน่นอน" ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา บอกกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"โดยอธิบายต่อว่า ที่ผ่านมาการเพิกถอนตำรับยาของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ทำได้ง่ายและบ่อยอยู่แล้วและหลายๆครั้งก็เกิดผลกระทบต่อแพทย์ที่รักษาคนไข้ เภสัชกรและร้านขายยาทั่วไป เนื่องจากการพิจารณาเพิกถอนตำรับยานั้น อย.มักจะออกคำสั่งแบบ "ครอบจักรวาล"มากกว่าที่จะจัดการกับปัญหาให้ตรงจุด

"มีตัวอย่างให้เห็นเรื่องการออกคำสั่งที่สร้างความปั่นป่วนให้กับวงการแพทย์คือการยกเลิกให้ใช้ยาฆ่าเชื้อกับโรคบางชนิดทั่วประเทศเพียงเพราะว่า มีคนนำเอายาฆ่าเชื้อนั้นไปใช้กับสัตว์ที่ผลิตเพื่อการส่งออกเมื่อส่งออกเนื้อสัตว์ไปแล้วประเทศคู่ค้าไม่ให้ผ่านเพราะมีสารตกค้าง อย.ก็ออกคำสั่งไม่ให้มีการใช้ยาฆ่าเชื้อนนั้นทันทีทั้งๆที่คนที่เขาป่วยด้วยเชื้อโรคที่ต้องใช้ยาชนิดนี้ยังต้องการยาตัวนั้นอยู่"

นอกจากนี้ยังมียาแก้ไอหลายๆตัวที่มีส่วนผสมของโคอีดีน ที่คนป่วยต้องใช้และไม่เป็นอันตรายแต่ อย.ออกคำสั่งเพิกถอนเพราะมีคนหัวใสบางกลุ่มนำยาแก้ไอนั้นมาใช้แทนยาเสพติด ซึ่งคนที่เขาใช้ยาผิดประเภทมีน้อยกว่าคนที่ต้องการยารักษาตัวเองซึ่งแสดงให้เห็นว่า อย.นั้นไม่ได้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุดแต่ใช้วิธีง่ายๆคือออกคำสั่งไม่ให้ขายเลยทั้งประเทศ

"ถามหน่อยทำอย่างนี้คนที่ได้รับผลกระทบคือใคร ใช่แพทย์ผู้รักษาและผู้ป่วยหรือไม่เพราะโดยธรรมชาติของหมอนั้นไม่มีใครสั่งจ่ายยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตให้คนไข้อย่างแน่นอน"นายกแพทยสภาบอก
สำหรับตำรับยาที่ อย.ออกคำสั่งเพิกถอนล่าสุดคือ ทะเบียนตำรับยาไดไพโรน (Dipyrone) ซึ่งยาไดไพโรนเป็นยาแก้ปวด และยาต้านการอักเสบที่มีผลข้างเคียงสูงต่อการสร้างเม็ดเลือดขาวในไขกระดูก
นอกจากนี้ยังได้มีมติ เพิกถอนทะเบียนตำรับยา Vioxx ซึ่งเป็นยาใช้รักษาอาการโรคข้อเสื่อม(osteoarthritis) ทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง บรรเทาอาการปวดเฉียบพลันในผู้ใหญ่ได้แก่ ปวดภายหลังการทำทันตศัลยกรรม ปวดภายหลังการผ่าตัดกระดูกและข้อต่อ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน เพราะรายงานการวิจัยนั้นบ่งชี้ว่าผู้ใช้มีความเสี่ยงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจวายและภาวะโรคหลอดเลือดสมอง

ติงอย.ต้องดูผู้ป่วยเป็นหลัก

ด้าน ภก.ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภาเภสัชกรรม ระบุว่า การเพิกถอนทะเบียนตำรับยานั้นส่วนใหญ่จะมีปัจจัย 3 ประการคือ ประการแรก ยาที่ใช้อยู่ในท้องตลาดนั้นเป็นยาเก่าและบริษัทผู้ผลิตสามารถผลิตยาตัวใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าออกมาได้ก็จะเพิกถอนยาตัวเก่า ประการที่สองเมื่อยาที่ใช้อยู่นั้นมีความเสี่ยงสูงและเมื่อมีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยจำนวนมาก และประการสุดท้ายคือเมื่อใช้ยานั้นๆมาถึงระดับหนึ่งเกิดผลเสียกับผู้ป่วยมากกว่าผลของการรักษาที่ดีก็จะยกเลิกใช้ไป

ที่ผ่านมา อย.ได้ประกาศยกเลิกตำรับยาที่ค้านกับความเห็นของแพทย์ผู้รักษาโรคมาแล้วหลายๆครั้งที่เห็นชัดเจนที่สุดคือการยกเลิกยาแก้หวัดที่ผสม PPA ซึ่งตอนนั้นได้รับการคัดค้านมาแต่ที่สุด อย.ก็เพิกถอนไปสำเร็จ

"เรื่องการยกเลิกทะเบียนตำรับยานั้นมีปัญหาตรงที่ อย.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบนั้นจะอาศัยข้อมูลการวิจัยจากต่างประเทศเมื่อมีงานวิจัยระบุว่ายาตัวนั้นตัวนี้มีผลข้างเคียงกับผู้ใช้ก็สามารถที่จะยกเลิกได้แต่ในบางครั้งก็ควรมองถึงความจำเป็นในการนำตัวยานั้นมาใช้กับผู้ป่วยซึ่งเป็นคนไทยด้วย"

หวั่นคนไข้ใช้มีสิทธิตายได้

ด้านวีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า การสั่งยกเลิกตำรับยาของ อย.นั้นจะกระทำต่อเมื่อคณะกรรมการเห็นว่าหากปล่อยให้มีการจำหน่าย หรือใช้กับผู้ป่วยแล้วจะเกิดผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเองซึ่งอาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตทีเดียว
นอกเหนือจากการยกเลิกตำรับยาที่มีนับร้อยชนิดแล้วแล้ว อย.ยังได้การเรียกเก็บยาคืนจากท้องตลาดโดยส่วนใหญ่เป็นยาแผนโบราณอีกมากกว่า 28รายการ ขณะที่ยาแผนปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดอันตรายหากมีการใช้อย่างคลาดเคลื่อนซึ่งยาประเภทนี้จะเกิดความคลาดเคลื่อนในการใช้ไม่บ่อยนักอีก 13 ชนิด

สั่งเก็บยา 28 ชนิดจากตลาด

สำหรับรายชื่อยาแผนโบราณที่ อย.เรียกเก็บจากท้องตลาด 27 ชนิดโดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค เกินมาตรฐาน ได้รับรายงานจากสำนักงานประเมินคุณภาพยาแห่งสหภาพยุโรปว่า มีการปนเปื้อน Methane Sulfonic Acid Ethylester ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในระดับสูงผิดปกติอันอาจเป็นอันตรายได้ และยาผิดมาตรฐานด้าน ปริมาณตัวยาสำคัญ ประกอบด้วย

1.ยาเขียวชนิดผง ตราใบห่อ
2.Pharnazine injection (Fluphenazine)
3.Viracept (Nelfinavir)
4. Berfarin 5 (Wafarin Sodium
5.ยาประดง (เบอร์ 108 เดิม) ตราราชสีห์
6. SCF Tablets (Sucralfate)
7. Sucrafen (Sucralfate)
8.ยาถ่ายชนิดแคปซูล
9.ยาขิงชนิดแคปซูล
10. Bisacodyl
11. Calcigard-5 (Nifedipine)
12. Intraglobin F
13. Tylosin 20 %
14.ยาเม็ดเทียวกิงตัน
15.ยากระษัยเส้นศรเทพ ตรานารายณ์ทอง 499
16.ยาธาตุบรรจบแสงรัสมี
17.ยาถ่ายตรานายพล
18.ยาขมิ้นแคปซูล ตราโกร่งทอง
19. Getamic(Gentamicin Sulfate injection)
20. Sulidine Tablets
21.ยาหอมตรามังกรลูกโลก
22.ยาหอมดรุณ (ยาเม็ด)
23.ยาหอมอินทโอสถ (ยาเม็ด)
24. Amikin Sulfate Injection
25. Conazole
26. Winagin
27.ยาฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล

ยาที่มีความเสี่ยง 13ชนิด

ขณะที่ยาที่มีความเสี่ยงสูงและมีอันตรายหากใช้อย่างคลาดเคลื่อนมี 13 ชนิดคือ

1 Adrenaline (Epinephrine) injection เป็นยารักษาภาวะหัวใจหยุดเต้น รักษาอาการหอบหืด
2 Calcium gluconate injection ใช้รักษาภาวะแคลเซียมในหลอดเลือดต่ำ
3 Digoxin injection ใช้ในผู้ป่วย heart failure ที่มี atrial fibrillation
4 Dobutamine injection ใช้เพิ่ม cardiac output ในผู้ป่วยหัวใจวาย
5 Dopamine injection ใช้เพิ่มความดันในผู้ป่วยช็อก
6 Heparin sodium injection ป้องกันและรักษาthromboembolic disorders
7 Magnesium sulfate injection ใช้รักษาภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ ใช้ป้องกันอาการชักในผู้ป่วย
8 Morphine sulfate injection ใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง
9 Parenteral Chemotherapeutic agent กลุ่มยาเคมีบำบัด
10 Pethidine (Meperidine) injection ใช้บรรเทาอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง
11 Potassium chloride injection ใช้ป้องกันและรักษาภาวะโปรแตสเซียมในเลือดต่ำ
12 Regular insulin injection รักษาภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมาก ควบคุมน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยวิกฤต
13 Vancomycin injection ใช้สำหรับการติดเชื้อ MRSA

อย่างไรก็ดี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำว่า ในฐานะ อย.กำกับดูแลเรื่องนี้และเชื่อว่ายาใดๆที่คณะกรรมการอย.เห็นว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ก็จะมีการประชุมเพื่อบทบทวนและในบางครั้งก็จะยกเลิกการใช้ไปซึ่งผู้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือตัวผู้ป่วย

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์ 26 กรกฎาคม 2550 08:48 น.
Create Date :10 กรกฎาคม 2555 Last Update :10 กรกฎาคม 2555 11:23:54 น. Counter : 19201 Pageviews. Comments :0