bloggang.com mainmenu search
ศิริราชพัฒนาสเต็มเซลล์รักษาโรคจอตาเสื่อมชนิด RP

นพ.สมชาย แสงกิจพร และ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร จากศิริราชพยาบาล ร่วมเผยผลสำเร็จการใช้สเต็มเซลล์รักษาผู้ป่วยจอตาเสื่อม RP.

ความก้าวหน้าและความสามารถของแพทย์ไทย ไม่น้อยหน้านานาชาติ โดยความสำเร็จล่าสุดของ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำโครงการ “วิจัยใช้สเต็มเซลล์รักษาผู้ป่วยจอตาเสื่อมชนิด RP” เป็นครั้งแรกของไทย พร้อมกับได้นำผลออกแถลงที่ รพ.ศิริราช เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่ง ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า นับเป็นความร่วมมือแบบครบวงจร ระหว่างศิริราชและกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมวิทยาศาตร์ฯได้ทำวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์มานานแล้ว และทางภาควิชาจักษุ รพ.ศิริราชก็ได้นำมาวิจัยพัฒนาต่อยอดรักษาโรคจอตาเสื่อมชนิด RP ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โรคนี้จะค่อยๆ ทำลายจอตาอย่างช้าๆ จน ตาบอดในที่สุด สเต็มเซลล์เป็นบิ๊กเทรนด์ ทางด้านการแพทย์ มีประโยชน์เยอะจริง แต่ต้องมีการพิสูจน์อย่างแท้ จริงก่อนว่า นำไปใช้ประโยชน์ แก่คนไข้ได้

จอตาปกติ.

จอตาปกติ.


ด้าน นพ.นิพนธ์ โพธ์ิพัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์ นับเป็นหนึ่งในสาขาที่มีความก้าวหน้าที่สุดทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์ฯได้เริ่มการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิดตั้งแต่ปี 2549 สำหรับความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด มารักษาโรคจอตาเสื่อม ชนิด RP ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่สามารถรักษาให้หายได้ ทำได้เพียงชะลออาการเสื่อมของจอประสาทตาเท่านั้น ทางกรมวิทยาศาสตร์ฯ รับหน้าที่ในการเตรียมเซลล์ชนิด DMSc Stem Pro เพื่อให้ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล นำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการวิจัยทางคลินิก
จอตาในโรค RP.

จอตาในโรค RP.


ส่วน ศ.พญ.ละอองศรี  อัชชนียะสกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาสเต็มเซลล์เพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยจอตาเสื่อม ชนิด RP กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการทดลองในขั้นตอนที่ 1 ซึ่งเป็นขั้นตอนการทดลองในเรื่องของความปลอดภัย ผลการฉีดเซลล์ต้นกำเนิดเข้าวุ้นตาแก่ผู้ป่วย 2 ราย ไม่พบภาวะแทรกซ้อนแต่ประการใด การดำเนินการวิจัยทางคลินิกทุกขั้นตอนปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี และได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และปฏิบัติตามข้อบังคับของแพทยสภาอย่างเคร่งครัด และจะมีการทดสอบในผู้ป่วยอาสาสมัครอีก 3 ราย ให้ครบ 5 ราย ภายใน 6 เดือนนี้ และหากไม่พบความผิดปกติ จะมีการทดสอบในขั้นที่ 2 กับผู้ป่วยอาสาสมัครอีก 10 ราย เพื่อดูประสิทธิภาพของการรักษา ซึ่งหากได้รับผลดี คิดว่าใน 3-5 ปี จะสามารถนำมาพัฒนาการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคจอตาเสื่อม ชนิด RP ซึ่งยังไม่สูญเสียการมองเห็นอย่างมาก เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมของจอตา โดยโรคนี้พบได้ทั้งหญิงและชายตั้งแต่แรกเกิด อุบัติการณ์ของโรค 1 ต่อ 3,000 คน และยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้.
Create Date :09 กรกฎาคม 2556 Last Update :9 กรกฎาคม 2556 3:19:33 น. Counter : 1569 Pageviews. Comments :0