bloggang.com mainmenu search
ผ่าตัดแผลเล็ก คืนดวงตาชัดใส มองเห็นทุกระยะ

นวัตกรรมนำสมัยเอาใจคนสายตาผิดปกติ อาทิ สั้น ยาว เอียง ให้กลับมามีสายตาชัดเป๊ะ ด้วยการผ่าตัดรูปแบบใหม่ แผลผ่าตัดขนาดเล็ก แม่นยำ และปลอดภัยกว่า...

เป็นเวลานานกว่าศตวรรษ ที่จักษุแพทย์พยายามที่จะแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติด้วยการผ่าตัด นับตั้งแต่มีการผ่าตัดกรีดกระจกตา เพื่อที่จะแก้ไขภาวะสายตาเอียงในปลายศตวรรษที่ 19 และหลังจากนั้น ก็ได้มีการพัฒนาการผ่าตัดกรีดกระจกตาเป็นแฉก เรียกว่า Redial Keratotomy หรือ RK เพื่อแก้ไขภาวะสายตาสั้น เป็นการผ่าตัดที่นิยมแพร่หลายในประเทศสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ในระหว่างปี ค.ศ.1970 ถึง 1990

ในประเทศไทย ได้มีการศึกษาผลการผ่าตัด Radial Keratotomy (RK) ในช่วงประมาณ พ.ศ.2529 ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ Refractive Surgery ในประเทศไทย ในปี พ.ศ.2538 ได้มีการเริ่มใช้ Microkeratome เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในการผ่าตัด ALK โดย 'นายแพทย์เอกเทศ ชันซื่อ' ในปีเดียวกันนั้น นพ.เอกเทศ ได้ใช้ Microkeratome ในการผ่าตัด Laser In-Situ Keratomileusis หรือ LASIK เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปัจจุบัน ประมาณได้ว่า มีการผ่าตัด LASIK มากกว่า 10,000 ตาต่อปีในประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่เป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูงและได้ผลดีมาก ผู้เข้ารับการรักษาเกือบ 100% สามารถเห็นได้ดีโดยไม่ต้องใช้แว่น ในระยะหลังได้มีการพัฒนา Femtosecond Laser มาแทนเครื่องแยกชั้นกระจกตาที่เป็นใบมีด เกิดเป็นการผ่าตัด FemtoLASIK หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า BLADELESS LASIK หรือเลสิคไร้ใบมีด ซึ่งกำลังกลายเป็นมาตรฐาน ในการผ่าตัดรักษาสายตาสั้นในปัจจุบัน

นพ.เอกเทศ กล่าวว่า LASIK เป็นการผ่าตัดที่ใช้หลักการ Law of Thickness โดยที่การเปลี่ยนแปลงความหนา (และความโค้ง) เกิดขึ้น โดยใช้เลเซอร์ที่เรียกว่า Excimer Laser ซึ่งเป็นเลเซอร์ที่มีความสามารถ ทำให้พื้นผิวที่ถูกตกกระทบระเหิดไปด้วยความละเอียดสูงมาก เมื่อนำมาใช้ที่กระจกตา สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง (ความโค้ง) ของกระจกตาด้วยความแม่นยำ

แต่ถ้าจะมองอย่างวิเคราะห์ก็จะเห็นว่า LASIK เกิดขึ้นมาจากพยายามแก้ปัญหาในการใช้ Excimer Laser กับผิวกระจกตา ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของ Excimer Laser เองที่ไม่สามารถทำการรักษา โดยไม่ทำร้ายเซลล์ผิวของกระจกตาได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ใบมีด (Microkeratome) หรือการใช้ Femtosecond Laser (Bladeless หรือเลสิคไร้ใบมีด) เพื่อที่จะลดความจำเป็นในการแยกชั้นกระจกตา (FLAP) นี้ ได้มีการพัฒนา Femtosecond Laser จนถึงระดับความละเอียดที่สามารถแยกเนื้อกระจกตาเป็นชิ้นอยู่ภายใน โดยไม่ทำอันตรายต่อผิวกระจกตา ข้อดีของวิธีการนี้คือ สามารถจะนำเนื้อกระจกตาส่วนเกินนั้นออกไป โดยผ่านแผลเล็กๆ ขนาดเพียง  2-3 mm. โดยไม่จำเป็นต้องตัดกระจกตาเป็นแผ่นเหมือนในการผ่าตัด LASIK ทำให้เกิดการผ่าตัดใหม่ที่เรียกว่า Refractive Lenticule Extraction (ReLEx)

เนื่องจาก Femtosecond Laser สามารถจะทำการแยกชั้นกระจกตาได้โดยไม่ทำอันตรายเซลล์ผิวของกระจกตา การผ่าตัด ReLEx จึงสามารถทำได้ โดยไม่ต้องมีการผ่าตัดที่ขอบของการแยกชั้นกระจกตาให้เปิดเป็นแผ่น แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถจะนำชิ้นเนื้อกระจกตา (Lenticule) ซึ่งถูกแยกไว้โดยเครื่องเลเซอร์ออกมาได้ โดยผ่านแผลเป็นเส้นสั้นๆ ที่บริเวณขอบของกระจกตา แผลซึ่งมีขนาดเล็กนี้ สามารถจะสมานตัวได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด

ในประเทศไทยได้มีการผ่าตัด ReLEx เป็นเวลาประมาณ 3 ปี รวมจำนวนตาถึงขณะนี้กว่า 3,000 ตา จากการติดตามผลการรักษา พบว่ามีความแม่นยำและความปลอดภัยในระดับดีเยี่ยม เช่นเดียวกับการผ่าตัด LASIK โดยมีการรบกวนกระจกตาน้อยกว่า นอกเหนือจากนั้น ผลระยะยาวบ่งว่า ผู้เข้ารับการรักษาด้วยวิธี ReLEx มีแนวโน้มที่จะมีการมองเห็นในที่สว่างน้อยดีกว่าผู้เข้ารับการรักษาด้วย FemtoLASIK (เลสิคไร้ใบมีด) ในระดับการรักษาสายตาที่เทียบเท่ากัน

อย่างไรก็ตาม ผลสำเร็จของการรักษาในผู้เข้ารับการรักษาอาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น การเข้ารับการตรวจวิเคราะห์สภาพตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์ จะสามารถประเมินโอกาสสำเร็จของการรักษาสำหรับดวงตาของแต่ละ 8o ได้.

Create Date :17 กรกฎาคม 2556 Last Update :17 กรกฎาคม 2556 1:03:09 น. Counter : 1544 Pageviews. Comments :0