คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง ... ( นำมาฝาก )




คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง

pantip.com/topic/33686093

สืบเนื่องจากช่วงนี้มีปัญหาเรื่องโรงพยาบาลเอกชนกันมากจึงขอเสนอแนะแนวทางหลีกเลี่ยงค่ารักษาแสนแพง ดังนี้

1. เริ่มต้นตรวจสอบสิทธิการรักษาของท่านตั้งแต่วันนี้
สิทธิ30บาท: //www.nhso.go.th/FrontEnd/page-forpeople_check.aspx หรือ เบอร์1330
สิทธิประกันสังคม: //www.sso.go.th/wpr/home.jsp หรือเบอร์1506
สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายตรง: //welcgd.cgd.go.th/wel/login.jsp

2. หากท่านต้องย้ายที่อยู่ไปทำงาน เรียน หรือใดๆก็ตาม ที่ไม่ใช่การไปเพียงชั่วคราวกรุณาย้ายสิทธิการรักษาของท่านไปยังที่อยู่ใหม่ด้วย

3. หากท่านเจ็บป่วยกรุณาเลือกไปยังโรงพยาบาลที่ท่านมีสิทธิการรักษาอยู่เพื่อที่จะได้ใช้สิทธิและเสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด หากเป็นการเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีฉุกเฉินกรุณาไปในเวลาทำการจะดีมาก เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์นอกเวลาราชการที่มีจำนวนน้อยสามารถให้การรักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินได้อย่างเต็มที่(คำจำกัดความของ"กรณี เจ็บป่วยฉุกเฉินจะกล่าวถึงไว้ด้านล่าง)

4. หากไปรักษาตามสิทธิแล้วพบว่าใช้เวลาในการรอคอยนาน ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควรให้พิจารณาเวลาที่เสียไป ว่าคิดเป็นรายได้เท่าไหร่ และคำนวณว่าคุ้มค่าหรือไม่หากเทียบกับราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชน

5. โรงพยาบาลเอกชนควรทำรายการแจ้งค่ารักษาพยาบาล หัตถการ ยา วัสดุทางการแพทย์อย่างละเอียดเช่น gauze แต่ละขนาดมีราคาชิ้นละเท่าไหร่ ติดประกาศอย่างชัดเจนไว้หน้าโรงพยาบาลและบนwebsiteโรงพยาบาล เพื่อผู้ป่วยจะได้นำไปคำนวณประกอบการตัดสินใจในข้อที่4

6. หากท่านคิดว่าราคาตามข้อที่5ยังแพงเกินไปให้พิจารณาเรื่องความคุ้มค่าของการทำประกันสุขภาพเพื่อประกอบการตัดสินใจในข้อที่4

7. หากท่านตัดสินใจรับบริการโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีหลายระดับราคา กรุณาศึกษาข้อมูลข้อที่5ของแต่ละโรงพยาบาลอย่างละเอียด(ถ้าศึกษาเตรียมไว้ ก่อนจะช่วยให้ท่านสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเมื่อเจ็บป่วย)

8. หากท่านสงสัยว่าการเจ็บป่วยของตนเองเป็น"กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน"กรุณาศึกษารายละเอียดต่อไปนี้

      “การเจ็บป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤตและต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ทันที สังเกตได้จาก 6 อาการ ดังนี้ 1. หัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ ไม่ตอบสนองต่อการเรียกหรือกระตุ้นจำเป็นต้องได้รับการกู้ชีพทันที 2. การรับรู้ สติเปลี่ยนไปบอกเวลา สถานที่ คนที่คุ้นเคยผิดอย่างเฉียบพลัน 3. ระบบหายใจมีอาการดังนี้ ไม่สามารถหายใจได้ปกติ หายใจเร็ว แรง และลึก หายใจมีเสียงดังผิดปกติพูดได้แค่สั้นๆ หรือร้องไม่ออก ออกเสียงไม่ได้ สำลักอุดทางเดินหายใจกับมีอาการเขียวคล้ำ4. ระบบไหลเวียนเลือดวิกฤตอย่างน้อย 2 ข้อคือ ตัวเย็นและซีด เหงื่อแตกจนท่วมตัว หมดสติชั่ววูบ หรือวูบเมื่อลุกยืนขึ้น 5.อวัยวะฉีกขาด เสียเลือดมาก เสี่ยงต่อการพิการ และ 6.อาการอื่นๆ ที่มีภาวะเสี่ยงต่อชีวิตสูง เช่น เจ็บหน้าอกรุนแรงแขนขาอ่อนแรงทันทีทันใด ชักเกร็ง เป็นต้น”



Ref: //www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000037668

9. หากการเจ็บป่วยของท่านเข้าได้กับข้อที่8 กรุณาไปรับการรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดหรือโทรเบอร์1669 ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน กรุณาแจ้งทางโรงพยาบาลว่าท่านต้องการย้ายกลับไปโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาของท่านเมื่อพ้นภาวะฉุกเฉินทันที ทางเอกชนจะได้ติดต่อกับโรงพยาบาลตามสิทธิไว้ก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเตียงเต็มและค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากสิทธิฉุกเฉิน

หากโรงพยาบาลเอกชนพยายามเรียกเก็บเงินจากท่านในกรณีฉุกเฉิน ให้ท่านขอเหตุผลและหลักฐานและโทรไปติดต่อยังเบอร์ในข้อที่ 1 (ในกรณีนี้การย้ายสิทธิตามข้อที่2 จะมี ประโยชน์ เพราะถ้าโรงพยาบาลตามสิทธิอยู่ไม่ไกลนัก ระยะเวลาในการส่งตัวจะน้อยเมื่ออาการท่านคงที่ระดับหนึ่งก็สามารถย้ายไปตามสิทธิได้เลย แต่หากท่านไม่ย้ายสิทธิตามการย้ายถิ่นฐานเช่น สิทธิอยู่แม่ฮ่องสอน มาทำงานกรุงเทพ เจ็บป่วยที่กรุงเทพ ก็ต้องรอให้อาการคงที่มากพอที่จะเดินทางระยะหลายร้อยกิโลเมตรได้จึงจะสามารถส่งตัวกลับตามสิทธิได้ ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายนอกสิทธิฉุกเฉินที่มากขึ้น)

แต่หากอาการของท่านไม่เข้ากับข้อที่8 กรุณาไปพบแพทย์ตามสิทธิการรักษาของท่านในวันรุ่งขึ้นในเวลาทำการ

10. หากท่านตัดสินรับการรักษาที่โรงพยาบาลในการเจ็บป่วยที่ไม่เข้ากับข้อที่8และต้องมีหัตถการหรือการรักษาต่อเนื่องคำนวณแล้วไม่คุ้มค่าตามข้อที่4และ5 รวมทั้งไม่มีประกันสุขภาพตามข้อที่6กรุณาแจ้งความประสงค์ขอไปรักษาตามสิทธิของท่าน

เครดิต One Hundred Years of Solitude

....................

สำรวจราคาห้องพักโรงพยาบาลไหนแพงสุด 68,000 บาท/คืน

//thaipublica.org/2017/03/room-rates-hospital-in-bangkok/


จากการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชนปี 2555 (จัดทำทุก 5 ปี) ระบุว่า สถานพยาบาลเอกชนประเทศไทยมีจำนวนเตียงรวม 30,880 เตียง จากโรงพยาบาลรวม 321 แห่ง และมีอัตราค่าห้องพักผู้ป่วยไม่รวมค่าอาหารเฉลี่ยทั้งประเทศต่อคืน ดังนี้ ห้องเดี่ยวพิเศษ 2,792 บาท ห้องเดี่ยวปรับอากาศ 1,666 บาท ห้องเดี่ยวพัดลม 706 บาท ห้องเตียงรวมปรับอากาศ 939 บาท ห้องเตียงรวมพัดลม 448 บาท และห้องผู้ป่วยหนักทุกประเภท 2,258 บาท

จากข้อมูลเครือโรงพยาบาลกลุ่มบมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ(BDMS) เฉพาะในประเทศไทยมีทั้งหมด 45 แห่ง มีจำนวนเตียงรวม 8,927 เตียง โดยกลุ่ม BDMS มีจำนวนเตียงประมาณร้อยละ 29 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย สำหรับ BDMS เป็นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนแบบครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ถือหุ้นใหญ่โดยนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ในสัดส่วนร้อยละ 18.26 ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจหลักๆ คือ กลุ่มธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และเป็นเศรษฐีหุ้นที่รวยอันดับหนึ่งของประเทศในปี 2559

จากข้อมูลเว็บไซต์ของตัวแทนบริษัทประกันเอไอเอ ระบุข้อมูลค่าห้องพัก ค่าอาหาร และบริการพยาบาลต่อคืน ของโรงพยาบาลเอกชนบางส่วนในกรุงเทพมหานคร พบว่า ห้องพักของโรงพยาบาลแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ห้องวีไอพี ราคาเริ่มต้นที่ 3,200-68,000 บาท ห้องเตียงเดี่ยว ราคาเริ่มต้นที่ 2,100-12,000 บาท และห้องเตียงคู่ ราคาเริ่มต้นที่ 700-4,200 บาท โดยโรงพยาบาลกรุงเทพมีราคาห้องพักสูงที่สุด คือ เตียงเดี่ยว 7,300 บาทต่อคืน และวีไอพี เริ่มต้นที่ 48,000-68,000 บาทต่อคืน

ในขณะที่โรงพยาบาลในเครือ BDMS เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลสมิติเวช ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีค่าบริการห้องพักสูงในอันดับต้นๆ ด้วย(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สำรวจเฉพาะราคาห้องพัก ไม่รวมการบริการอื่นๆ ของโรงพยาบาลชื่อดังในกรุงเทพมหานครจำนวน 11 แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลเครือ BDMS 6 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลเปาโล โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลพญาไท 1 และโรงพยาบาลรามคำแหง และโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ 5 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ โรงพยาบาลวิภาวดี โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน โรงพยาบาลเวชธานี และโรงพยาบาลพระราม 9

พบว่า โรงพยาบาลที่มีราคาห้องพักสูงที่สุด 5 อันดับคือ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เริ่มต้นที่ 7,080-16,790 บาทต่อคืน โรงพยาบาลกรุงเทพ เริ่มต้นที่ 3,700-15,000 บาทต่อคืน และโรงพยาบาลพระราม 9 เริ่มต้นที่ 3,800-18,000 บาทต่อคืน โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เริ่มต้นที่ 3,200-12,000 บาทต่อคืน และโรงพยาบาลพญาไท 1 เริ่มต้นที่ 2,700-15,200 บาทต่อคืน ตามลำดับ จากข้อมูลเครือ BDMS ติดอันดับโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาห้องพักแพงที่สุดถึง 4 แห่ง อย่างไรก็ตามเมื่อดูราคาห้องพักของโรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลรามคำแหงแล้วก็พบว่า มีราคาห้องพักสูงกว่า หรือใกล้เคียงกับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำอื่นๆ ด้านโรงพยาบาลเกษมราษฎร์มีราคาห้องพักเริ่มต้นที่ 1,400- 4,500 บาทต่อคืน

ทั้งนี้ ในปี 2555 โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ หรือ SiPH หนึ่งในโรงพยาบาลสุดหรูของไทยในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เปิดให้บริการโดยมีค่าห้องพักรวมค่าบริการทางการแพทย์และค่าอาหาร แบ่งเป็นห้องดีลักซ์ราคา 6,700 บาทต่อคืน ห้องวีไอพีราคา 13,200 บาทต่อคืน ห้องเอ็กเซ็กคิวทีฟราคา 18,700 บาทต่อคืน และห้องรอยัลราคา 47,000 บาทต่อคืน

อย่างไรก็ตามหากต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่มากกว่าค่าบริการห้องพัก เช่น ค่าบริการทางการแพทย์และพยาบาล ค่าอาหาร ค่ายาและเวชภัณฑ์ในการรักษาพยาบาล ฯลฯ ซึ่งจะทำค่าใช้จ่ายต่อวันของผู้ป่วยนั้นสูงเพิ่มขึ้นอีกประมาณอย่างน้อย 1 เท่าตัว(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

นี่คือราคาห้องพักในการรักษาพยาบาลกรณีนอนพักในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ

....................

แถม เรื่องที่เกี่ยวข้อง ..

infographic9 ข้อควรรู้เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-06-2017&group=7&gblog=216

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เจ็บป่วยฉุกเฉินเมื่อนโยบายยังไม่ชัด ต้องคิดก่อนเข้า

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-02-2017&group=7&gblog=212

เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว นโยบายดีแต่การปฏิบัติล้มเหลว ?...

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-10-2014&group=7&gblog=185

สพฉ. จับมือ สธ.พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ดีทุกสิทธิ์”

//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=02-04-2015&group=7&gblog=186

คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง... ( นำมาฝาก )

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=28-05-2015&group=7&gblog=189

โรงพยาบาลเอกชน "แพง" ..ข้อมูลที่ยังไม่รู้ หรือว่า แกล้งไม่รู้ ? ( ฟังความอีกข้าง ^_^ )

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-06-2015&group=7&gblog=190

ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล Online ได้ที่//www.hospitalprice.org หรือ สายด่วนสุขภาพ 02 193 7999




Create Date : 28 พฤษภาคม 2558
Last Update : 6 มิถุนายน 2560 22:04:11 น.
Counter : 14545 Pageviews.

5 comments
  
รพ.เอกชนดีกว่าภาครัฐจริงหรือไม่ ?

//www.hfocus.org/content/2015/06/10112
Fri, 2015-06-05 14:15 -- hfocus

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

บทความจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ นำเสนอผลการวิจัยจากต่างประเทศว่า ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางนั้น ระบบบริการการแพทย์ภาคเอกชนดีกว่ารัฐบาลจริงหรือไม่ ? ซึ่งผลที่ได้จากการวิจัยก็ขัดแย้งกับความเชื่อนี้ เมื่อพบว่า การดูแลรักษาที่ รพ.เอกชนมีจำนวนการผิดมาตรฐานการรักษา และผลการรักษาที่แย่กว่ารัฐบาล แต่มีความตรงต่อเวลา และการต้อนรับขับสู้ที่ดีกว่า ซึ่ง นพ.ธีระ ได้ชี้ว่า จะเห็นว่าได้ว่า กากเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย รพ.รัฐ ยังคงเป็นที่พึ่งได้เสมอ เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ตั้งต้นด้วย "ใจ" และมีประสบการณ์ที่มากมาย แม้ทรัพยากรไม่ได้เลิศหรูฟู่ฟ่า ไม่ได้มีความสะดวกสบาย ไม่ได้มีคำหวานๆ แต่เชื่อเถิดว่า เค้าเหล่านั้นไม่ได้คิดเป็นอื่น นอกจากช่วยเหลือผู้คน

รพ.เอกชนดีกว่าภาครัฐจริงหรือไม่ ?

นพ.ธีระ วรธนารัตน์
“Comparative Performance of Private and Public Healthcare Systems in Low- and Middle-Income Countries : A Systematic Review” เป็นงานวิจัยที่ทำการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างเป็นระบบ หรือเราเรียกในภาษาวิจัยว่า "Systematic review" ดำเนินการโดย Sanjay Basu, Jason Andrews, Sandeep Kishore, Rajesh Panjabi, David Stuckler

ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการแพทย์ชื่อดังคือ Plos Medicine เมื่อ 19 มิถุนายน 2555

งานวิจัยนี้ต้องการตอบคำถามว่า ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางนั้น ระบบบริการทางการแพทย์ในภาคเอกชนดีกว่ารัฐบาลจริงหรือไม่ ?

คณะผู้วิจัยทำการประเมินข้อมูลตามปัจจัยหลักในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ได้แก่
การเข้าถึงบริการและการตอบสนองต่อปัญหา (accessibility and responsiveness); คุณภาพ (quality); ผลการรักษาพยาบาล (outcomes); การตรวจสอบได้ (accountability), ความโปร่งใส (transparency),การมีกฎระเบียบรองรับ (regulation); ความยุติธรรม (fairness and equity) และความคุ้มค่า(efficiency)

จากงานวิจัย 1,178 เรื่อง ได้ทำการกลั่นกรองคัดเลือกได้งานวิจัยที่เข้าข่ายในการนำมาวิเคราะห์ทั้งสิ้น 102 เรื่อง

ผลการวิจัยพบว่า การดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนการผิดมาตรฐานการรักษา และผลการรักษาที่แย่กว่ารัฐบาล แต่มีความตรงต่อเวลา และการต้อนรับขับสู้ที่ดีกว่า

ในแง่ของประสิทธิภาพ หรือความคุ้มค่า (Efficiency) นั้นน่าสนใจ ผลการวิเคราะห์ พบว่าภาคเอกชนมีการดูแลรักษาที่คุ้มค่าน้อยกว่าภาครัฐ ทั้งนี้เพราะมีหลักฐานบ่งชี้ว่าน่าจะเกิดจากการส่งตรวจ และการรักษาต่างๆ ที่ไม่จำเป็น อันเป็นผลมาจากเรื่องรายได้ที่ได้จากการส่งตรวจหรือสั่งการรักษาที่ไม่จำเป็นเหล่านั้น

คณะผู้วิจัยสรุปผลการศึกษาไว้ว่า ผลที่ได้จากการทบทวนอย่างเป็นระบบนี้บอกได้ว่า หลักฐานที่มีอยู่ขัดแย้งกับความเชื่อของผู้คนว่า เอกชนจะดีกว่ารัฐบาล...

ดังนั้นจึงต้องขอบอกตรงๆ ว่า...เมื่อใดที่มี "เงิน" มาเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักในการดูแลรักษาชีวิตคน เมื่อนั้น เราจะพบว่า ความตรงไปตรงมา ความเป็นธรรม มาตรฐานการดูแลรักษา ก็จะมีโอกาสเสื่อมถอยด้อยค่าลงไปตามลำดับ

หากเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย โรงพยาบาลรัฐ ยังคงเป็นที่พึ่งได้เสมอ เพราะบุคลากรส่วนใหญ่ตั้งต้นด้วย "ใจ" และมีประสบการณ์ที่มากมาย แม้ทรัพยากรไม่ได้เลิศหรูฟู่ฟ่า ไม่ได้มีความสะดวกสบาย ไม่ได้มีคำหวานๆ แต่เชื่อเถิดว่า เค้าเหล่านั้นไม่ได้คิดเป็นอื่น นอกจากช่วยเหลือผู้คน..

แน่นอนว่า หากเราเข้าใจบุคลากรภาครัฐ เอื้ออาทรกันและกัน เข้าอกเข้าใจกัน คนทำงานก็จะมีกำลังใจ แม้จะท้อใจกับงานหนักเงินน้อยเป็นช่วงๆ แต่จะกลับคืนสู่สภาพที่กายใจแข็งแรงมาดูแลประชาชนได้ในที่สุด

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง
//www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2754001/
โดย: หมอหมู วันที่: 7 มิถุนายน 2558 เวลา:22:27:17 น.
  
สบส.แสดงอัตราค่ารักษารพ.เอกชน ทางเว็บไซต์กลาง 86 รายการ
//www.hfocus.org/content/2015/12/11330

Thu, 2015-12-03 13:46 -- hfocus

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยความคืบหน้าแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลเอกชนแพง ขณะนี้ได้แสดงอัตราค่ารักษาโรคที่จำเป็นและป่วยกันมาก โดยประมาณของโรงพยาลเอกชนในกทม.และต่างจังหวัด ทางเว็บไซต์กลาง 86 รายการ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชน อาทิการผ่าตัดต้อหิน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และรับข้อเสนอแนะค่ารักษาแพงจากประชาชน เพื่อนำเข้าที่ประชุมกำหนดเป็นมาตรการระยะยาว

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงของสถานพยาบาลเอกชนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการสนองตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน กรมบัญชีกลาง สมาคมประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในระยะต้นนี้ มีความคืบหน้า โดยกรม สบส. ได้รวบรวมอัตราค่าผ่าตัดรักษาโรคที่พบบ่อย ซึ่งเป็นราคาโดยประมาณของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทุกภาค เป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชน รวม 86 รายการ เผยแพร่ทางเว็บไซต์กลางคือ //www.hospitalprice.org ซึ่งถือว่าเป็นโรคจำเป็นและป่วยกันมาก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้บริการได้ศึกษาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า อัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งแตกต่างกัน อาทิ การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม ราคาตั้งแต่ 50,000-300,000 บาท การผ่าตัดต้อหินอัตราตั้งแต่ 15,000 -90,000 บาทการผ่าตัดลิ้นหัวใจแบบเปิดอัตราตั้งแต่ 250,000 - 1 ล้านกว่าบาท เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวันนอน เวชภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มเติม หรือภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดกับโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โรงพยาบาลจะต้องแสดงอัตราค่ารักษา

สำหรับเว็บไซต์กลางที่ให้ข้อมูลนี้ ได้เปิดให้บริการมา 5 เดือนแล้ว มีประชาชนเข้าชมประมาณ 10,000 ครั้ง นอกจากจะแสดงอัตราค่ารักษาแล้ว ยังให้ความรู้ คำแนะนำ แนวทางการรักษาโรคต่างๆแก่ประชาชนด้วย เช่น โรคตาต้อกระจก โรคข้อเข่าเสื่อม การผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านทางกล้อง และเปิดรับข้อเสนอแนะ หรือข้อมูลการแก้ไขค่ารักษาพยาบาลแพงได้ด้วย โดยกรมสบส. จะรวบรวมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ซึ่งมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน เพื่อให้ได้มาตรการแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาวอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้กรม สบส. ยังได้เปิดสายด่วนรับร้องเรียนเรื่องค่ารักษาแพง ทางหมายเลข 02 193 7999 ตลอด 24 ชั่วโมง ในปีงบประมาณ 2558 ได้รับแจ้งรวม 58 ราย ประกอบด้วยในพื้นที่ กทม. 38 ราย ที่เหลือจากต่างจังหวัด ส่วนในปีงบประมาณ 2559 ได้รับแจ้งแล้ว 8 ราย โดยจะนำเข้าที่ประชุมในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามขณะนี้กรม สบส. ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม วางแผน และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของการปิดป้ายราคายาทุกชนิดจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ และจะรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ดังกล่าวต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาการดำเนินการต่อไป

.............................


เพิ่มเติมความเห็นของ อ. Thira Woratanarat

วันก่อนโทรให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องมาตรการจัดการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของเอกชน...

ป๊าแจ้งไปดังนี้

หนึ่ง คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อครึ่งปีก่อน ดูคล้ายจะเป็นปาหี่ของนักการเมืองและนักบริหารหรือไม่ เพราะกรรมการหลายคนไม่ทราบข้อมูลและความคืบหน้าอะไรเลยนอกจากผ่านทางข่าวของสื่อมวลชน

สอง การปิดฉลากราคายาไม่ใช่เรื่องด่วนหรือเรื่องสำคัญที่จะแก้ไขและบรรเทาปัญหา

สาม เรื่องที่ประชาชนกังวลคือ เวลาฉุกเฉินแล้วไปรักษาเอกชนแต่ถูกบังคับลงนามรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่กลไกรัฐควรช่วยดูแล แต่เอกชนเกี่ยงเรื่องราคากลางที่ตั้งไว้ว่าต่ำไป และอ้างว่าต้องลงทุนด้านบุคลากร อุปกรณ์ และตึก ทั้งๆ ที่บุคลากรส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้ลงทุนผลิต แม้บางส่วนจะเรียนจากเอกชนบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ล้วนเสียสละร่างกายให้ร่ำเรียน เหตุใดเอกชนจึงไม่ช่วยลดการคำนึงถึงกำไรยามคนเจ็บป่วยฉุกเฉินบ้าง

สี่ ราคาการผ่าตัดและหัตถการราคาแพงต่างๆ ที่สำแดงในเว็บไซต์ที่กรมสบส.จัดทำนั้นค่อนข้างฉาบฉวย มิได้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจหรือช่วยในการตัดสินใจได้เลย เพราะพิสัยที่กว้าง และรายละเอียดไม่ชัดเจน มีศัพท์เทคนิคที่บ่งถึงความไม่ใส่ใจที่จะสื่อแก่สาธารณะ

ห้า รัฐควรแสดงความจริงใจต่อประชาชน โดยชี้แจงให้สาธารณะได้ทราบว่ากลไกที่เคยตั้งนั้นไม่ได้ทำงานอย่างมีส่วนร่วมจริง และควรแจ้งว่าสถานการณ์ปัจจุบันใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรและจะได้รับการตรวจสอบจากประชาชนอย่างไร

หก รัฐควรกำหนดนโยบายให้เก็บภาษีเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลเอกชน แยกจากที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วยเหตุผลข้างต้น เพื่อนำมาช่วยพัฒนาระบบสุขภาพภาครัฐ นอกจากนี้ยังนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขที่รับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจรักษาพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากผลกระทบจากโรคเมอร์ส ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งประเทศต้องเสียทรัพยากรมากมายเพื่อจัดการโรคติดต่อนั้น

เจ็ด การคุมราคาค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นไปได้ยากและไม่น่ากระทำ ทั้งนี้เพราะวิชาชีพสุขภาพอาศัยทักษะเฉพาะบุคคล และแปรผันตามประสบการณ์ คนเราย่อมอยากไปรับการดูแลรักษาจากคนที่เก่งหรือประสบการณ์สูง รัฐควรช่วยได้เพียงการจัดการระบบเวชภัณฑ์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศให้มีราคาเป็นธรรม มิใช่ให้เป็นช่องทางที่รพ.เอกชนหวังฟันกำไรจนเกินควร กำไรได้แต่ควรสมน้ำสมเนื้อ พูดคุยตกลงกันให้เกิดฉันทามติ

สิ่งที่ต้องทำแต่รัฐไม่จริงจังและไม่จริงใจคือ เรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินครับ...ในสายตาป๊า!!!
โดย: หมอหมู วันที่: 3 ธันวาคม 2558 เวลา:14:22:24 น.
  
เวบนี้เขารวบรวมค่าใช้จ่าย ของ รพ.ไว้ .. ตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ ราคาต่อวัน ต่างกันจาก สองพัน ไปจนแพงสุด หกหมื่นแปดพันบาท .. ย้ำ ราคา ต่อวัน เท่านั้น นะครับ

ค่าใช้จ่ายดังกล่าวของโรงพยาบาล โดยเฉพาะเมื่อลูกต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล รายจ่ายค่าห้องพัก ค่าอาหาร และค่าพยาบาลเป็นสิ่งที่คุณหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่นี้จึงขอเสนอดังกล่าวให้รู้และสามารถประมาณรายจ่ายได้ ดังนี้

//themoneytips.blogspot.com/2013/07/blog-post.html
โดย: หมอหมู วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:14:58:24 น.
  
ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล Online ได้ที่ //www.hospitalprice.org
สายด่วนสุขภาพ 02 193 7999
โดย: หมอหมู วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:21:28:48 น.
  
เตรียมคุมเข้มราคายาและค่ารักษา รพ. เอกชน เป็นสินค้าและบริการควบคุม

by thaksuthee, 10 มกราคม 2562

ที่ประชุม กกร. เห็นชอบให้เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ เป็นสินค้าและบริการควบคุม เพื่อดูแลค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนที่มีราคาแพง เตรียมเสนอ ครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ หลังกระทรวงพาณิชย์หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางดูแลราคายาและค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาแพง โดยเห็นตรงกันว่า จะเสนอให้ยา เวชภัณฑ์และค่าบริการโรงพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม และวันใน 9 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จะพิจารณาประเด็นนี้ว่า จะเห็นชอบตามที่กรมการค้าภายในเสนอหรือไม่

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร. ครั้งที่ 1 ของปีนี้ โดยวันนี้มีวาระสำคัญในการพิจารณาคือ เสนอให้ ยา เวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล โรงพยาบาลเอกชน เป็นสินค้าและบริการควบคุม เพื่อให้สามารถดูแลค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนที่มีราคาสูงได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีผู้ใช้บริการจำนวนมากได้ร้องเรียนเข้ามา

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุว่า จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนโรงพยาบาลเอกชน กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค เห็นตรงกันที่จะเสนอให้ ยา เวชภัณฑ์ รวมทั้ง ค่าบริการโรงพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม

เนื่องจากปัจจุบัน ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ มีสัดส่วนสูงในการรักษาพยาบาล และแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน จึงกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนไปดูต้นทุนยาและกำไรที่เหมาะสม เพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วย

ปัจจุบันคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ได้กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้ว แต่ไม่รวมเวชภัณฑ์ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเอกซเรย์ จึงต้องเสนอให้เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งในการประชุมวันนี้ ที่ประชุมยังเสนอตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการดูแลค่ารักษาพยาบาลระยะยาวร่วมกัน เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมประกันชีวิตด้วย

โดยก่อนหน้านี้ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนทำหนังสือคัดค้านไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่ยืนยันว่าไม่มีการทบทวน เพราะส่วนใหญ่เห็นตรงกัน

https://www.smartsme.co.th/content/111127?fbclid=IwAR1XjRzOulgh2JEbZzGPKoyHQzscrwMFTr3TKDKsruoAnU0fLnn4_RSrbr8


โดย: หมอหมู วันที่: 11 มกราคม 2562 เวลา:7:14:36 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด