ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือก .... โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
ค้นโน่นนี่ไปเจอโดยบังเอิญ อ่านแล้วน่าสนใจดี เลยนำมาฝากกัน
https://www.pramarn.com/pramarn/modules.php?name=AvantGo&op=ReadStory&sid=87
ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือก (Lisa ฉ.24/2551)
วัน: เสาร์ 27 มิ.ย. 09@ 23:05:36 ICT
หัวข้อ: ความรู้ คู่คิด คือความรู้ทางกฏหมาย
โดย อ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
น.บ. , น.บ.ท. , น.ม. (กฎหมายมหาชน)
วิถีชีวิตของผู้คนปัจจุบัน โดยเฉพาะในสังคมเมืองอย่างเช่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ฯลฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันแทบทุกด้านครับ ทั้งต้องวิ่งให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้น้ำจิตน้ำใจเริ่มเหือดหายหรือแทบไม่มีให้เห็นแล้ว หันมามองด้านเศรษฐกิจแค่รับมือกับราคาน้ำมันรถยนต์ที่พุ่งปรี้ดจนแทบจะเดินไปทำงานอยู่แล้วครับ (ติดก็แค่บ้านอยู่ไกลจากที่ทำงาน ถ้าต้องเดินก็คงออกจากบ้านตั้งแต่เที่ยงคืน) หรือมองทางด้านการเมืองก็รู้สึกได้ว่าช่างอยู่ห่างไกลจากวิถุชีวิตของคนธรรมดาสามัญอย่างเราจริง ๆ ครับ
เมื่อชีวิตผู้คนเครียดกันขนาดนี้ คุณผู้อ่าน Lisa ก็คงจะสังเกตเห็นว่าบุคคชทั่วไปก็มักมีอาการป่วยหรือมีอาการต่าง ๆ นา ๆ จนต้องไปให้หมอวินิจฉัยรักษาโรค ซึ่งก็เยอะแยะมากมายจนแทบไม่มีที่ยืนในโรงพยาบาล (ของรัฐ) บางทีก็เป็นปัญหาในการวินิจฉัยของหมอถึงสาเหตุการเจ็บป่วยว่าที่แท้จริงเกิดจากอะไร อาทิช่นปัญหาในพฤติกรรรมของการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ การพักผ่อน ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั้งนั้นครับ
โรคภัยปัจจุบัน...มาจากพฤติกรรม
อย่างที่ผมคุยกับคุณผู้อ่านไปว่าบางทีสาเหตุของการเจ็บป่วยไม่ได้เกิดจากอาการผิดปกติในร่างกายของผู้ป่วย แต่เกิดจากความผิดปกติในพฤติกรรมการใช้ชีวิตต่าง ๆ เช่นไม่กินข้าวเช้า เพราะต้องรีบออกจากบ้านไปทำงานหรือเรียนหนังสือ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เพราะใช้เวลาไปกับการเรียน การทำงานหรือพักผ่อนจนละเลยการออกกำลังกาย หรือแม้แต่นอนหลับแค่ 2 – 3 ชั่วโมง ทั้งที่เวลาอีก 22 – 23 ชั่วโมงในแต่ละวันกลับถูกนำไปใช้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งเขาว่ากันว่าทำแบบนั้นเหมือนการเร่งอายุขัยของคุณให้เพิ่มมากขึ้นกว่าอายุจริงครับ (คุณผู้อ่านผู้หญิงต้องระวังเรื่องนี้ให้มากนะครับ)
การแก้ปัญหาสุขภาพจากการพฤติกรรมที่ผิด ๆ ก็เลยเป็นที่มาของคำพูดคุณหมอที่มักพูดกับคนไข้ประเภทนี้ว่า “อย่าเครียด พักผ่อนเยอะ ๆ ทานอาหารให้ตรงเวลา ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์…”
การแพทย์ทางเลือก...รักษาคู่ขนาน
ผู้ป่วยบางคนในสังคมยุคนี้เพียงแค่รักษาแบบตะวันตกที่วินิจฉัยหาสาเหตุในร่างกายแล้วแก้ไขที่เหตุนั้นไม่เพียงพอครับ หรือบางครั้งอาการที่ปรากฏไม่จำเป็นต้องใช้การรักษาแบบตะวันตก จนนำมาซึ่งการรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีทั้งการใช้การรักษาแบบตะวันตกควบคู่ไปกับการแพทย์ทางเลือก เช่น การเล่นโยคะหรือการรำไทเก็กร่วมกับการจ่ายยาคลายเครียด หรือรักษาพยาบาลโดยใช้การแพทย์ทางเลือกอย่างเดียวเลยครับ เช่นฝังเข็มหรือจัดกระดูกเพื่อรักษาอาการปวดหลัง
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนคุณผู้อ่านก็ต้องพิจารณาสถานพยาบาลนั้นด้วยนะครับว่า มีการขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเปิดสถานพยาบาลแพทย์ทางเลือกหรือไม่ โดยเฉพาะมีใบประกอบโรคศิลปะ ตาม พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 หรือไม่
ต้องมีใบอนุญาต...เฉพาะทาง
รายละเอียดของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทางเลือกนั้น เขามีรายละเอียดของแต่ละสาขาตามเงื่อนไขของประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขครับ เช่น
ถ้าเขาได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตให้เป็นผู้รักษาตามหลักการแพทย์แผนไทย แต่กลับข้ามไปรักษาด้วยวิธีการจัดกระดูกหรือฝังเข็มด้วย แบบนี้มีความผิดตาม พระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ
ส่วนผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตและไม่ขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะ แต่กลับเปิดการรักษา (หมอเถื่อนไงครับ) แบบนี้มีโทษเพิ่มขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อยกเว้น...ถ้าไม่มีใบอนุญาต
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีข้อยกเว้นในการรักษาโดยไม่มีใบประกอบโรคศิลปะนะครับ หากเรารักษาตัวเองหรือเป็นหมอพื้นบ้านที่ช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ป่วยตามหน้าที่ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน หรือเป็นอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักเรียนนักศึกษา หรือผู้รับการฝึกอบรม ซึ่งทำการฝึกหัดหรืออบรมในการควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวิชาชีพกำหนดครับ
แพทย์แผนจีน ...ก็ต้องมีใบอนุญาต
สำหรับคุณผู้อ่านที่นิยมใช้บริการแพทย์แผนจีน เช่น การใช้สมุนไพรและตำรับยาจีน การฝังเข็มและรมยา การฝึกลมปราณ ก็ต้องได้รับการรักษาจากคุณหมอที่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งคุณสมบัติของบุคคลที่จะขออนุญาตจดขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนจะต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติอื่นที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 3 ปี อายุไม่ต่ำกว่า 21 ปี และสำเร็จการศึกษาหลักสูตรแพทย์จีนจากสถาบันการศึกษาในหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 5 ปี ของประเทศนั้นและต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะในประเทศที่สำเร็จการศึกษา รวมทั้งผ่านการประเมินความรู้และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพจากคณะกรรมการประกอบโรคศิลปะแล้วครับ
คุณสมบัตินี้จะรวมไปถึงผู้ที่เรียนรู้การแพทย์แผนจีนจากบรรพบุรุษ ซึ่งเขาก็ต้องผ่านการฝึกงานในสถานพยาบาลที่มีการรักษาแบบแพทย์แผนจีนมาไม่น้อยกว่า 1 ปี และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลรับรองว่ามีความรู้การแพทย์แผนจีนจริง
ส่วนแพทย์แผนปัจจุบันและผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาอื่น ๆ ที่มีความรู้การแพทย์แผนจีนและผ่านการประเมินที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการแพทย์แผนจีนกำหนด ก็มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะมีระยะเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 2 ปี (ไม่ใช่ใบอนุญาตตลอดชีวิตนะครับ)
ดังนั้น พิจารณาใบอนุญาตที่ติดข้างฝาตามสถานพยาบาลด้วยนะครับ
สมุนไพร...สุดฮิตของยาทางเลือก
ปี 2550 ที่ผ่านมามีการวิจัยขององค์การอนามัยโลก (WHO) เลยนะครับว่ากระแสนิยมสมุนไพรของผู้คนทางโลกตะวันตกเติบโตเร็วมาก มีมูลค่าการบริโภคสูงถึงปีละ 2 ล้านล้านบาททีเดียว และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนตลาดในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการขยายตัวของสมุนไพรร้อยละ 20 ต่อปี ในปี 2548 มีมูลค่าการซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นยาจากสมุนไพร 8,810 ล้านบาท ซึ่งข้อควรระมัดระวังของการใช้สมุนไพรก็คือความปลอดภัยในการเลือกซื้อ เลือกใช้ว่าต้องมีการสั่งยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และน่ายินดีครับที่ทุกวันนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสานต่อการฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรในสถานบริการสาธารณสุขให้มากขึ้น
ส่วนใครที่เลือกซื้อสมุนไพรประเภทที่ไม่มีการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าสามารถรักษาโรคได้ แต่กลับนำมาโฆษณาว่ารับประทานไปแล้วสามารถรักษา บรรเทา บำบัด หรืออ้างว่าสามารถมีผลต่อโครงสร้าง หรือการทำหน้าที่ต่าง ๆ ของร่างกาย แบบนี้คุณผู้ใช้ต้องระมัดระวังเลยนะครับว่าจะก่อให้เกิดอันตรายกับคุณไหม
ส่วนเจ้าของหรือผู้ประกอบการที่ทำเช่นนี้ก็มีความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคในข้อหาโฆษณาข้อความเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยนะครับ
ตัวอย่างคดี...โฆษณาเกินจริง
เมื่อหลายปีก่อนมีการโฆษณาสรรพคุณของยาน้ำสมุนไพรโหย่งเหิงโดยการขายตรง ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากหวังรายได้จากการขายตรง จึงชวนกันสมัครเป็นผู้จำหน่ายกับบริษัทเจริญโอสถ จำกัดแต่จากการตรวจค้นของเจ้าหน้าที่หลังจากถูกร้องเรียน ก็พบเอกสารการโฆษณาขายยาที่แสดงสรรพคุณเกินจริง มีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น และแสดงสรรพคุณยารักษาโรคที่ห้ามโฆษณา ตามพระราชบัญญัติยา 2510 โดยเจ้าหน้าที่ได้ยึดสิ่งของที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 จำนวน 5 รายการ ได้แก่ แผ่นโฆษณา เอกสารแผ่นพับโฆษณา กล่องหีบห่อยาน้ำ เอกสารโฆษณายา โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวโทษร้องทุกข์ดำเนินคดีกับบริษัท เจริญโอสถ จำกัดผู้ผลิตใน 4 ข้อหา คือ โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต โฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินความจริง โฆษณาขายยาโดยมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณยาโดยบุคคลอื่น และโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศห้าม เช่น เบาหวาน มะเร็ง อัมพาต อัมพฤกษ์ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 4 ข้อหานี้ จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้ อย.เห็นว่าการกระทำของบริษัทเจริญโอสถ เป็นการกระทำผิดที่มีผลเสียหายต่อผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง เพราะได้รับการแจ้งร้องเรียนจากประชาชนต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการบรรเทาความเสียหายต่อผู้บริโภค อย.จะได้เสนอคณะกรรมการยาเพื่อพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตบริษัทนี้ด้วยครับ
ระวังสปาหู...อันตราย ผิดกฎหมาย
ช่วงที่ผมเขียนต้นฉบับคอลัมน์ฉบับนี้คือสิ้นเดือน พ.ค.2551 มีข่าวน่าตกใจจาก เลขาธิการราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่าขณะนี้การทำสปาหู ซึ่งเขาจะใช้เทียนที่ตรงกลางกลวงใส่ในช่องหู แล้วจุดไฟเพื่อให้เกิดการเผาไหม้ โดยหวังจะให้ควันเทียนและขี้ผึ้งช่วยรักษาโรคต่าง ๆ (ทำไปได้) แต่จากการเปิดเผยของทางการแพทย์นั้น ไม่เป็นความจริงครับ และยังไม่ได้รับการยอมรับว่าสามารถรักษาโรคตามที่มีการอวดอ้างสรรพคุณ ได้แก่ โรคไซนัส หวัด ไมเกรน และภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน เนื่องจากยังไม่มีรายงานทางวิชาการสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ องค์การอาหารและยาทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และแคนาดาเขาก็ยังไม่ยอมรับการทำสปาหู โดยวารสารชั้นนำด้านโสต ศอ นาสิกในต่างประเทศมีการตีพิมพ์ ระบุว่า การทำสปาหูไม่มีข้อดีมีแต่ข้อเสีย เพราะจะทำให้ช่องหูและแก้วหูถูกเผาไหม้ครับ
ในเรื่องการทำสปาหูนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสถานประกอบธุรกิจบริการสุขภาพทั้งสปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพ และนวดเพื่อเสริมสวย ที่ผ่านและได้รับสัญลักษณ์ตรารับรองมาตรฐานและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สบส.จำนวน 1,076 แห่งทั่วประเทศว่ามีการให้บริการสปาหูหรือไม่ หากพบมีการให้บริการสปาหู จะเพิกถอนการรับรองและไม่ต่ออายุใบรับรอง ซึ่งจะส่งผลให้สถานบริการกลายเป็นสถานบริการเถื่อนทันทีครับ และหากยังคงให้บริการต่อไปอีกผู้ประกอบการก็จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท และตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทครับ
ทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ แม้แต่เรื่องการรักษาพยาบาลด้วยวิธีธรรมชาติ หรือความพยายามที่จะกลับคืนสู่ธรรมชาติตามกระแสของโลก ดังนั้นยึดหลักทางสายกลางไว้ จะทำอะไรก็อย่าให้ตึงหรือหย่อนเกินไป ถ้าเป็นไปได้ก็รักษาควบคู่อย่างสมดุลทั้งการแพทย์ทั่วไปกับการแพทย์ทางเลือก แต่ถ้าจะให้ดีคุณผู้อ่าน Lisa ก็ต้องป้องกันอย่าให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บจะดีกว่าครับ ท่องตามหมอความอย่างผมไว้ว่า “ไม่เครียด กินผักปลาให้มาก ออกกำลังกายและหลับให้สนิท” ก็ถือว่าป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ระดับหนึ่งแล้ว
@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@
ข้อสังเกตคลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
๑.มีป้ายชื่อสถานพยาบาลและเลขที่ใบอนุญาต ๑๑ หลัก ติดไว้หน้าคลินิก
๒.แสดงใบอนุญาต ให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
๓.แสดงใบอนุญาต ให้ดำเนินการสถานพยาบาล
๔.แสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมประจำปี ของปีปัจจุบัน
๕.แสดงรูปถ่ายของผู้ประกอบวิชาชีพ พร้อม ชื่อและเลขที่ใบประกอบวิชาชีพ
๖.แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล และ สามารถสอบถามอัตราค่ารักษาได้
๗.แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ สิทธิผู้ป่วย ในที่เปิดเผยและเห็นง่าย
อ้างอิง:
คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข
โทร02 193 7000 ต่อ 18416 - 7
www.mrd.go.th
FB@สารวัตรสถานพยาบาลOnline
https://www.facebook.com/สารวัตรสถานพยาบาล-Online-1502055683387990/
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
คู่มือประชาชนในการเลือก คลินิก ที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=07-07-2017&group=15&gblog=80
ช่องทางร้องเรียนเกี่ยวกับ ...ยา ....หมอ ....คลินิก .....โรงพยาบาล ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=23-02-2009&group=7&gblog=18
ไปคลินิกแล้ว จะดูอย่างไรว่า ผู้ที่ตรวจรักษา เป็น หมอจริง ?
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=10-07-2020&group=7&gblog=238
แขวนป้ายแขวน ใบว. ถ้ารู้แล้วยืนยันจะเสี่ยงก็ไม่ว่ากัน
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=12-11-2015&group=7&gblog=193
ข้อแนะนำก่อนจะพบแพทย์กระดูกและข้อ
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=04-07-2008&group=7&gblog=3
ข้อแนะนำเมื่อต้องรับการรักษา
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-12-2007&group=4&gblog=2
คำถาม..ที่ควรรู้..คำตอบ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=03-01-2008&group=4&gblog=3
เคล็ดลับ20 ประการ ที่จะช่วยคุณ "ป้องกันความผิดพลาดทางการแพทย์ในการเข้ารับบริการสุขภาพ "...
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=10-2010&date=19&group=27&gblog=52
หมอคนไหนดี“ ??? .... คำถามสั้น ๆ ง่ายๆ แต่ ไม่รู้จะตอบอย่างไร ..
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=14-01-2012&group=15&gblog=42
ผลของการรักษาโรค
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=01-2008&date=05&group=27&gblog=22
ข้อเท็จจริงในการดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บโดยแพทย์
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=cmu2807&month=06-2013&date=11&group=27&gblog=12
ฉลาดเลือกใช้...การแพทย์ทางเลือกโดยอ.ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=25-09-2011&group=7&gblog=149
หน้าที่อันพึ่งปฏิบัติของผู้ป่วย(มิย.๖๓) สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย(สค.๕๘) สิทธิผู้ป่วย(เมย.๔๑)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=23-12-2007&group=4&gblog=1
ความรู้เกี่ยวกับใบรับรองแพทย์
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=06-01-2008&group=4&gblog=5
ขอเอาไปแชที่กลุ่มบล๊อกแก๊งค์ ฯ นะคะ