เภสัช มช. ช่วยไขข้อข้องใจ 5 ประการ ว่าด้วย “น้ำหมักชีวภาพ” ....

//www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9530000016372

เภสัช มช. ช่วยไขข้อข้องใจ 5 ประการ ว่าด้วย “น้ำหมักชีวภาพ”

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 กุมภาพันธ์ 2553 17:21 น.



ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต ผู้อำนวยการชุดโครงการวิจัยน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค ภาควิชาวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไขข้อข้องใจ 5 ประการสำคัญ เพื่อความกระจ่างให้กับประชาชน จากข่าวกรณีน้ำหมักชีวภาพ “มหาบำบัด” ที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิต ซึ่งเป็นทั้งผู้จำหน่ายและผู้โฆษณาด้วย

ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต กล่าวว่า น้ำหมักชีวภาพมีบทบาทเป็นทางเลือกในการส่งเสริมสุขภาพ แต่ขณะเดียวกันก็มีปัญหาหลายด้าน เช่น เรื่องคุณภาพมาตรฐาน รูปแบบการจำหน่าย และการโฆษณา กรณีข่าวที่เกิดขึ้น มีประชาชนจำนวนมากติดตามข่าว และมีข้อสงสัยหลายประการ ดังนั้นการแยกแยะประเด็นจากข่าวเรื่องน้ำหมักชีวภาพจึงมีความจำเป็นทั้งต่อ ผู้ผลิตและผู้บริโภค

น้ำหมักชีวภาพ ใช้กับคน พืชหรือสัตว์ กันแน่

น้ำหมักชีวภาพโดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ

(1)น้ำหมักชีวภาพที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์

(2 ) น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค


ทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่าง คือ ความความแตกต่างในเรื่อง วัตถุดิบ และ กระบวนการผลิต เช่น น้ำหมักชีวภาพที่ใช้สำหรับพืชและสัตว์ มักใช้วัตถุดิบที่มาจากขยะ, สิ่งเหลือใช้ทั้งจากพืชจากสัตว์ หรือบางสูตรอาจใช้พืช ผัก และผลไม้ ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ในพืชหรือสัตว์แต่ละชนิด

โดยกระบวนการผลิตจะทำอย่างง่ายเพื่อใช้ในภาคเกษตร

ส่วนน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค จะต้องคัดเลือกวัตถุดิบ เช่น พืช ผัก ผลไม้ โดยวัตถุดิบแต่ละชนิดจะมีกระบวนการคัดเลือกตามคุณสมบัติเพื่อการบริโภคทั้ง ด้านโภชนาการ และสรรพคุณของพืชนั้นๆ

ที่สำคัญคือกระบวนการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็น สำคัญ ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายทั้งจากวัตถุดิบหรือที่เกิดขึ้นในกระบวน การหมัก และต้องผลิตให้ได้ตามมาตรฐานน้ำหมักสำหรับการบริโภค

ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาใช้ต้นเชื้อจุลินทรีย์ในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งต้นเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ในการผลิตนั้นอาจเป็นได้ทั้งรูปแบบอย่างง่าย คือ ต้นเชื้อผักดอง ซึ่งเป็นต้นเชื้อที่ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และต้นเชื้อบริสุทธิ์ที่สามารถควบคุมทั้งความปลอดภัยของน้ำหมัก และยังสามารถทำให้ได้คุณภาพ และประสิทธิผลต่อสุขภาพจากต้นเชื้อและสารเมทาบอไลต์ที่ได้จากต้นเชื้อ

ซึ่งต้นเชื้อบริสุทธิ์นี้จะต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก ให้ได้ต้นเชื้อบริสุทธิ์ และศึกษาถึงคุณสมบัติของการส่งเสริมสุขภาพ ที่เรียกว่า โปรไบโอติกหรือจุลินทรีย์เสริมชีวนะ ซึ่งจะต้องคัดสรรและศึกษาคุณสมบัติต่างๆดังกล่าวในห้องปฏิบัติการทางวิทยา ศาสตร์ ดังนั้นในการจะผลิตน้ำหมักชีวภาพให้ปลอดภัยในการบริโภค จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ มาประกอบพอสมควร



น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อมีการหมักจะต้องมีจุลินทรีย์เกิดขึ้น ซึ่งที่จริงแล้วไม่เพียงแต่มีจุลินทรีย์ หากแต่มีหลายสิ่งที่ปนเปื้อนซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ต้องการ เช่น เกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้มี เมทาทอล เอทานอล และกลุ่มฟูเซลล์ออยล์ (Butanol, Propanol) ซึ่งหากรับประทานจะทำให้มึนหัว ดังนั้น เราต้องมีการควบคุมคุณภาพให้ได้น้ำหมักที่ดีคือ ไม่พบสิ่งปลอมปน เอทานอลต้องไม่เกินร้อยละ 3 เมทานอลต้องไม่เกิน 240 มิลลิกรัมต่อลิตร

ส่วนจุลินทรีย์นั้นในการหมักอาจพบจุลินทรีย์ได้ 2 กลุ่มคือ กลุ่มก่อโรคและกลุ่มเสริมสุขภาพ จุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคที่ต้องควบคุม คือ ซาลโมเนลลา ต้องไม่พบในตัวอย่าง 50 กรัม สตาฟิโลค็อกคัส ออเรียส ต้องไม่พบในตัวอย่าง 1 มิลลิกรัม คลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ต้องไม่พบในตัวอย่าง 0.1 กรัม เอสเชอริเชีย โคไลต้องน้อยกว่า 2.2 ต่อตัวอย่าง 100 มิลลิลิตร ยีสต์และราต้องไม่เกิน 100 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 มิลลิลิตร

ส่วน จุลินทรีย์ที่ดี คือ จุลินทรีย์เสริมชีวนะหรือโปรไบโอติก (probiotic) เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดกรดแลกติก (กรดน้ำนม) จุลินทรีย์ชนิดนี้ ถูกนำใช้ในการผลิตโยเกิร์ต นมเปรี้ยว มีประโยชน์ คือ ช่วยไม่ให้เชื้อก่อโรคเจริญได้ ปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหาร ช่วยในการเหนี่ยวนำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล นอกจากนี้ยังพบคุณสมบัติของจุลินทรีย์เสริมชีวนะในการช่วยลดการเกิดสารก่อ มะเร็ง และกลไกที่ชักนำให้เกิดมะเร็งจากการสามารถย่อยและจับสารก่อมะเร็งเอาไว้ได้ รวมถึง การลดการทำงานของเอนไซม์ที่มีกิจกรรมก่อให้เกิดสารพลอยได้ที่เป็นสารก่อ มะเร็ง เป็นต้น ยกตัวอย่างจุลินทรีย์กลุ่มนี้ คือ แบคทีเรีย แลกโตบาซิลลัส เคซิอิ (Lactobacillus casei) แลกโตบาซิลลัส อะซิโดฟิลุส (Lactobacillus acidophilus) แลกโตบาซิลลัส แพลนทารัม (Lactobacillus plantarum) เป็นต้น

การควบคุมอีกเรื่องที่สำคัญซึ่งเกิดขึ้นในการหมัก คือ กรด ซึ่ง โดยทั่วไปกรดที่เกิดในกระบวนการหมักถือเป็นการถนอมอาหารไปในตัว ความเป็นกรดของน้ำหมักเพื่อการบริโภคต้องมีค่าความเป็นกรดด่าง หรือค่าพีเอช (pH) ต่ำกว่า 4.3 จึงจะควบคุมการเจริญของเชื้อก่อโรคได้

ในกรณีที่เป็นข่าวว่านำน้ำหมักไปใช้หยอดตานั้น โดยทั่วไปผลิตภัณฑ์สำหรับตานั้นต้องไม่มีจุลินทรีย์ รวมทั้งต้องปรับสภาพความเป็นกรดด่างให้มีค่า 7.4 เพื่อไม่ให้ระคายเคืองต่อตา การนำน้ำหมักที่ยังไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ ไปหยอดตาถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร

ประโยชน์ ของน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคคือได้จากจุลินทรีย์ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับว่าต้นเชื้อเป็นจุลินทรีย์สายพันธุ์ใด และประโยชน์จากคุณค่าสารสำคัญตามชนิดของพืชผักผลไม้ที่นำมาใช้หมัก เพราะการหมักเป็นการแปรรูปที่เป็นการสกัดสารสำคัญในพืชผักผลไม้ ซึ่งในประเทศไทยเรามี พืชวัตถุดิบมากมายที่นำมาใช้ เช่น ลูกยอ มะขามป้อม ผลไม้ชนิดต่าง ๆตามฤดูกาล ดังนั้น น้ำหมักชีวภาพที่ดี ก็ต้องมีสารสำคัญของพืชผักผลไม้ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งในการหมักจะมีสารสำคัญออกมา สารสำคัญนี้แหละที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสุขภาพ นอกเหนือจากโปรไบโอติก ดังนั้นในวัตถุดิบที่เราหมัก จะใช้เวลาแตกต่างกันที่จะสกัดสารสำคัญออกมา



หมักยิ่งนานยิ่งดีจริงหรือ

การหมักแต่ละชนิดจะมีระยะเวลาที่เหมาะสม 2 องค์ประกอบ คือ ระยะเวลาของการเจริญของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ ซึ่งหากมีการหมักนานกว่า 2 ปี จุลินทรีย์กลุ่มนี้ จะตายหรือหมดไป

อีกประการหนึ่งคือ การหมักจะทำให้เราได้สารสำคัญออกมา เพราะเมื่อสารสำคัญออกมาหมดแล้ว กระบวนการสกัดก็สิ้นสุดลง ดังนั้นหากหมักนานเกินไปอาจจะไม่มีประโยชน์ ในแง่ที่ว่า สารสำคัญของพืชที่ถูกสกัดออกมานั้น ไม่มีความคงสภาพในน้ำหมักชีวภาพ แต่ก็มีประเด็นว่าผู้ผลิตบางรายต้องการหมักให้นานๆ เพื่อหวังผลให้เกิดพลังงานมากๆนั้น คงต้องศึกษาวิจัยกันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณสมบัติของน้ำหมัก คือเมื่อมีการหมักจะทำให้ วิตามินซีสลายตัวไป โดยปกติคนเราจะคิดว่ารสเปรี้ยวแสดงว่ามีวิตามินซี ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิด สำหรับน้ำหมักจะมีรสเปรี้ยวเพราะเกิดจากจุลินทรีย์กลุ่มแลกติกที่อยู่ใน กระบวนการหมัก ส่วน ภาชนะบรรจุ แสง อุณหภูมิ และ อากาศ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คุณสมบัติของน้ำหมักไม่คงตัว ดังนั้นการควบคุมคุณภาพของน้ำหมักเพื่อการบริโภคจึงต้องดูปัจจัยที่เกี่ยว ข้องเหล่านี้ด้วย




น้ำหมักชีวภาพใช้ได้ครอบจักรวาลหรือไม่

ประเด็นนี้เกิดปัญหาโฆษณาเกินจริง เพราะมีการเหมารวม ซึ่งไม่ถูกต้อง
ประการแรก น้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคเป็นการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร (พืช ผัก ผลไม้) เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ไม่ใช่เป็นยา

ประการที่สอง น้ำหมักแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติต่างกัน จากวัตถุดิบที่ต่างกันและต้นเชื้อจุลินทรีย์ต่างกัน ดังนั้นน้ำหมักแต่ละชนิดไม่สามารถดูแลสุขภาพได้ครอบจักรวาล




น้ำหมักชีวภาพแบบภูมิปัญญาชาวบ้านใช้ได้หรือไม่

เรื่องนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งของประเทศไทย ที่มีภูมิปัญญาดั้งเดิมสำคัญคือ (1) กระบวนการหมักของชุมชน (2) วัตถุดิบพืชผักผลไม้ไทยที่หลากหลาย และ (3) ภูมิปัญญาการนำพืชไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งสามประการนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของน้ำหมักชีวภาพ

แต่ประเด็นที่อยากทำความเข้าใจคือ แต่เดิมมาการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้เป็นลักษณะพื้นบ้าน ผลิตกันเองในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน ไม่ได้ทำจำนวนมาก ไม่มีการขาย ไม่มีการเห่อตามกระแส แต่ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อการจำหน่ายมากขึ้น การควบคุมคุณภาพมาตรฐานจึงต้องมีการพัฒนา เพื่อความปลอดภัย และเพื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพ

ปัจจุบันมีความพยายามพัฒนาน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคในชุมชนตลอดมา และขณะเดียวกันก็มีการต่อยอดการวิจัยมากมาย เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีคุณภาพมาตรฐาน จึงมีการวิจัยร่วมกับชุมชน เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ต้นเชื้อผักดอง

ทั้งนี้ ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (ศพช.อย.) ได้เข้ามามีบทบาทในแง่ของการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยในเรื่องดังกล่าว โดยจะมีการจัดถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภคขึ้นอีก ในระหว่าง วันที่ 13-14 มีนาคม 2553 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2553 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. ติดต่อเข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้ที่ฝ่ายชุมชนและผู้ด้อยโอกาส ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช. โทร. 0-2564-8000 หรือคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร 08-6448-8073 และติดต่อบทเรียนอิเลคโทรนิคส์ได้ที่ ศูนย์หนังสือสวทช.โทร. 0-2564-7000

“หาก ชุมชนหรือผู้ประกอบการต้องการที่จะผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อการบริโภค ควรเพิ่มเติมความรู้เพื่อการผลิตที่ดี และพึงตระหนักว่าน้ำหมักชีวภาพไม่ใช่ยา แต่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่มีคุณสมบัติแตกต่างกัน จึงไม่ควรหลงเชื่อการโฆษณาเกินจริง” ผศ.ดร.ไชยวัฒน์ ไชยสุต กล่าวทิ้งท้าย




แถม ..

การแพทย์ทางเลือก ป้าเช็ง และสิ่งที่จะตามหลอกหลอนคนไทยไปอีกนาน

//www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X8808641/X8808641.html


FW mail ... รวมสินค้า (แหกตา) โดนแล้วจะตาแหก....

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8754230/L8754230.html


//www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-01-2010&group=7&gblog=46




ปล. เอาไว้เป็นข้อมูล ส่วนว่า ใครจะเชื่ออย่างไร ตัดสินใจอย่างไร ก็ไม่ว่ากัน ..



Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2553 16:13:30 น.
Counter : 10120 Pageviews.

2 comments
  
ไปพบความเห็นของคุณ อะธีราส น่าสนใจดี .. เลยยกมาแปะไว้ด้วย ...


หลักการขายของพวกนี้เหมือนๆ กัน คือ

1. discredit การแพทย์เสียก่อน (หมอไม่ได้รู้ทุกอย่าง มีอะไรอีกมากที่เรายังไม่รู้ การแพทย์สมัยใหม่ไม่ดี ฯลฯ)

2. อ้างหลักการวิทยาศาสตร์ มั่วๆ จับเอาเรื่องที่ไม่เกี่ยวกัน มาเป็นเหตุเป็นผลกัน บางทีก็บิดเบือน หรือสร้างข้อมูลขึ้นมา แล้วบอกว่าเป็นวิทยาศาสตร์

3. สร้างแหล่งอ้างอิงเทียม อาจจะสร้างเว็บไซท์ หรือเป็นหนังสืออะไรสักอย่าง (ลิงที่ไหนก็ทำหนังสือหรือเว็บไซท์ได้ ถ้ามีตังค์) บางทีก็เป็นรูปเหมือนงานวิจัย แต่เป็นข้อมูลเทียม

4. สร้างแหล่งข่าวว่าใช้แล้วได้ผล พอไปถามหาผู้ป่วยตัวจริงก็บอกว่าคนนั้นบอกมา คนนู้นบอกมาอีกต่อหนึ่ง

5. เตรียมคำแก้ตัวเอาไว้ว่าทำไมไม่ได้ผล ตัวอย่างคลาสสิคคือ เพราะไปรักษาแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อน เพราะอาการหนักเกินไป มารักษากับเราช้าเกินไป ต้องใช้เวลาสักระยะกว่าจะเห็นผล (ป่านนั้นมันก็โกยเงินไปไม่รู้เท่าไหร่)

6. อ้าง อย. ทั้งๆ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งแค่กินแล้วไม่ตายก็ขึ้นทะเบียนได้แล้ว ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยา (ซึ่งจะรับประกันว่าใช้ได้ผล) อย. ไทยให้ขึ้นทะเบียนยาได้ยากกว่าอเมริกา หรือยุโรปอีก

จากคุณ : อะธีลาส - [ 29 ต.ค. 51 07:45:12 ]


แถม ... กระทู้ในห้องคลังกระทู้ ...

FW mail ... รวมสินค้า (แหกตา) โดนแล้วจะตาแหก....

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2010/01/L8754230/L8754230.html


*** Oil Pulling จริงหรือแหกตา ? ลองมาวิเคาระห์กันดูค่ะ***

//topicstock.pantip.com/lumpini/topicstock/2010/01/L8762536/L8762536.html




โดย: หมอหมู วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:9:49:34 น.
  
//www.thaihealth.or.th/node/13894

มหัศจรรย์ “น้ำหมักชีวภาพ” รักษาโรคได้จริงหรือ???

อดีตใช้เพื่อการเกษตร

บูม!!! ขึ้นมากันอีกครั้งสำหรับ “น้ำหมักชีวภาพ” หลังตกเป็นข่าวโฆษณาอวดอ้าง รักษาได้สารพัดโรคร้าย แต่นั่นต้องรอผลพิสูจน์จากกระทรวงสาธารณสุขให้แน่ชัดว่า “น้ำหมักชีวภาพ” ที่ว่านี้ หากใช้บริโภคมันมีผลต่อร่างกายคนเราหรือไม่...??? แต่การที่คุณหลงเชื่อ ซื้อมาใช้หวังจะรักษาโรคต่างๆนาๆ ได้นั้น คุณรู้หรือไม่ว่า “น้ำหมักชีวภาพ” นั้นจริงๆ แล้วมันคืออะไร ใช้ทำอะไร...

ซึ่ง “น้ำหมักชีวภาพ” ที่ว่านี้ เดิมมีผู้คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเท่านั้น โดยการนำเอาพืช ผัก ผลไม้ สัตว์ชนิดต่างๆ มาหมักกับน้ำตาลทำให้เกิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์จำนวนมาก ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้จะไปช่วยสลายธาตุอาหารต่าง ๆ ที่อยู่ในพืช มีคุณค่าในแง่ของธาตุอาหารพืชเมื่อถูกย่อยสลายโดยกระบวนการย่อยสลายของ แบคทีเรียหรือจุลินทรีย์สารต่างๆจะถูกปลดปล่อยออกมา เช่น โปรตีน กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง จุลธาตุ ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เอนไซม์ วิตามิน ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ด้วยกัน คือ น้ำหมักชีวภาพจากพืช ทำได้โดยการนำเศษพืชสด ผสมกันน้ำตาลทรายแดง หรือกากน้ำตาล อัตราส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน พืชผัก 3 ส่วน หมักรวมกันในถังปิดฝา หมักทิ้งไว้ประมาณ 3-7 วัน เราจะได้ของเหลวข้น ๆ สีน้ำตาล ซึ่งเราเรียกว่า น้ำหมักชีวภาพจากพืชและน้ำหมักชีวภาพจากสัตว์ มีขั้นตอนทำคล้ายกับน้ำหมักจากพืช แตกต่างกันตรงวัตถุดิบจากสัตว์ เช่น หัวปลา ก้างปลา หอยเชอรี่ เป็นต้น

แต่...ปัจจุบัน “น้ำหมักชีวภาพ” สามารถพัฒนาการให้ใช้ประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ด้านปศุสัตว์ เพื่อ ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากฟาร์มสัตว์ ไก่ สุกร ช่วยกำจัดน้ำเสียจากฟาร์ม ช่วยป้องกันโรคอหิวาห์และโรคระบาดต่างๆ ในสัตว์แทนยาปฏิชีวนะ ช่วยกำจัดแมลงวัน ด้วยการตัดวงจรชีวิตของหนอนแมลงวัน ไม่ให้เข้าดักแด้เกิดเป็นตัวแมลงวัน ช่วยเสริมสุขภาพสัตว์เลี้ยง ทำให้สัตว์แข็งแรง มีความต้านทานโรค ให้ผลผลิตสูงและอัตราการรอดสูง

ด้านการประมง ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำได้ ช่วยแก้ปัญหาโรคพยาธิในน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ ช่วยรักษาโรคแผลต่างๆในปลา กบ จระเข้ได้ ช่วยลดปริมาณขี้เลนในบ่อ ช่วยให้เลนไม่เน่าเหม็น สามารถนำไปผสมเป็นปุ๋ยหมัก ใช้กับพืชต่างๆได้ดี ด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยบำบัดน้ำเสียจากการเกษตร ปศุสัตว์ การประมง โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชน และสถาน-ประกอบการทั่วไป ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็นจากกองขยะ การเลี้ยงสัตว์ โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนต่างๆ ปรับสภาพของเสีย เช่น เศษอาหารจากครัวเรือนให้เป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์ และการเพาะ-ปลูกพืช กำจัดขยะด้วยการย่อยสลายให้มีจำนวนลดน้อยลง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ช่วยปรับสภาพอากาศที่เสียให้สดชื่น และมีสภาพดีขึ้น

ส่วนวิธีทำนั้น ก็ง่ายแสนจะง่าย โดยการนำ ผลไม้หรือพืชผักหรือเศษอาหาร 3 ส่วน น้ำตาล 1ส่วน น้ำ 10 ส่วน ใส่รวมกัน ในภาชนะ (ขวด, ถัง) ที่มีฝาปิดสนิท อย่าให้อากาศเข้า โดยเว้นที่ว่างไว้ประมาณ 1 ใน 5 ของขวด/ถัง หมั่นเปิดฝา คลายแก๊สออก และ ปิดกลับให้สนิททันที วางไว้ในที่ร่ม อย่าให้ถูกแสงแดด หมักไว้ 3 เดือน เพียงเท่านี้ เราก็จะได้ “น้ำหมักชีวภาพ” ซึ่งมีจุลินทรีย์ สารอินทรีย์ ธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ทำปุ๋ยสะอาด(แทนปุ๋ยเคมี) ใช้ในการเพาะปลูกกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ ใช้ในการซักล้างทำความสะอาด(แทนสบู่ ผงซักฟอก แชมพู น้ำยาล้างจาน) ใช้ดับกลิ่นในห้องน้ำ โถส้วม ท่อระบายน้ำ

นอกจากนี้...หากหมักได้ 3 เดือนแล้ว น้ำหมักชีวภาพที่ได้จะมีส่วนที่เป็นน้ำใสๆ ถ้าใช้สายยางดูดออกมา เฉพาะน้ำใส ส่วนนี้เรียกว่า หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพ แล้วนำส่วนนั้นไปผสมอีกครั้ง หมักไว้ 2 เดือน เราก็จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพอายุ 5 เดือน ขยายต่อทุก 2 เดือน เราก็จะได้หัวเชื้อน้ำหมักชีวภาพที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

แต่ด้วยพัฒนาการที่ทันสมัยในยุคปัจจุบัน ทำให้มีการคิดค้น “น้ำหมักชีวิภาพ” ที่ใช้บริโภค ดื่มกินขึ้น โดยกระแสความนิยมการบริโภคนั้น เริ่มจากผลิตภัณฑ์ “น้ำลูกยอ” เมื่อมีธุรกิจเอกชนนำเข้าน้ำลูกยอมาจำหน่ายในราคาสูง และอ้างสรรพคุณที่มีต่อสุขภาพไว้มากมาย การบอกกล่าวสรรพคุณปากต่อปาก ทำให้เครือข่ายเกษตรกรและกลุ่มชุมชน นำน้ำหมักชีวภาพไปใช้เพื่อดูแลสุขภาพ ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ภูมิแพ้ มะเร็ง โรคเรื้อรังต่างๆ เช่น ปวดเมื่อย ไขมันในเลือดสูง และผู้ติดเชื้อ HIV

ก่อ ให้เกิดกระแสความนิยมทั้งในการบริโภคและการผลิตอย่างแพร่หลาย ส่งผลถึงน้ำหมักสมุนไพรชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น น้ำพลูคาว และน้ำมะขามป้อม รวมทั้งน้ำสมุนไพรรวม ซึ่งกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์นี้ในท้องตลาดผลิตโดยผ่านกระบวนการหมักด้วยวิธีธรรมชาติ มีวิธีการผลิตอย่างง่าย มีสูตรการหมักหลากหลาย แต่ที่เป็นหลักสำคัญคือ “น้ำหมักชีวิภาพ” ที่ ใช้ดื่ม กินนั้น ยังขาดข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์รองรับ จึงยากต่อการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย ซึ่งถือว่าอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้

จาก โครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำหมักชีวภาพ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการสำรวจแหล่งผลิตและเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ไทยกว่า 70 ผลิตภัณฑ์มาวิเคราะห์ พบว่ามีความปลอดภัยทางกายภาพ ไม่มีการปนเปื้อนของโลหะ เศษไม้ เศษดิน แต่พบปัญหาสำคัญ คือพบการปนเปื้อนของยีสต์ รา และการปนเปื้อนของ มีเมทานอล (เมทิลแอลกอฮอล์) และเอทานอล (เอทิลแอลกอฮอล์) ซึ่งส่งผลต่อตับ ระบบประสาท และสายตา โดยเฉพาะเมทานอล พบว่าผลิตภัณฑ์ร้อยละ 30 มีปริมาณของเมทานอลเกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอาหารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์

ที่สำคัญ “น้ำหมักชีวภาพ” ยังส่งผลทำให้ฟันผุกร่อน เนื้อฟันบาง เพราะน้ำหมักชีวภาพ นั้นมีสภาพเป็นกรดสูง วัดค่า pH ได้ 3-4 ซึ่งกรดจะกัดกร่อนเนื้อฟัน (แคลเซียม) ทำให้ฟันเสียได้ ฉะนั้นการดื่มกินน้ำหมักชีวภาพ แบบเข้มข้นจึงควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อคุณรู้จัก “น้ำหมักชีวภาพ” กันดีแล้ว ...จากนี้ก่อนหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ ก็ควรพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของผู้ผลิตและแหล่ง และที่สำคัญผลิตภัณฑ์ นั้น ต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา พร้อมทั้งมีเอกสารแสดงผลการวิเคราะห์คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์นั้นๆอีกด้วย ...เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของตัวคุณเอง

แต่ทางที่ดีที่สุด ที่จะช่วยให้เราหายจากโรคภัยต่างๆได้นั่นคือ การออกกำลังกายนั่นเอง...


เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content //www.thaihealth.or.th



โดย: หมอหมู วันที่: 6 มีนาคม 2553 เวลา:11:37:08 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]

บทความทั้งหมด