ประชาชนต้องการความปลอดภัยในการไปโรงพยาบาล หรือต้องการได้รับเงินชดเชยความเสียหาย?
ประชาชนต้องการความปลอดภัยในการไปโรงพยาบาล หรือ ต้องการได้รับเงินชดเชยความเสียหาย?
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1299060365&grpid=&catid=02&subcatid=0200
ได้อ่านบทความเรื่อง “เปิดความในใจประชาชนผู้เสนอร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข วันที่ 2 มีนาคม 2554 แล้ว คุณสารี อ๋องสมหวัง ได้กล่าวถึงความเป็นมาของการเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับเจ้าปัญหานี้แล้ว มีข้อความทั้งจริงและเท็จปนอยู่มากมาย ตามสำนวนไทยที่ต้องแยกแยะว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ
ความจริงก็คือ กระบวนการร่างกฎหมายและเสนอกฎหมาย ก็เป็นไปตามปกติของการเสนอกฎหมายใหม่จริง ผ่านไปถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาจริง มีกรรมการฝ่ายแพทย์ไปประชุมด้วยจริง แต่อาจจะเป็นเสียงข้างน้อย และไม่ได้บันทึกไว้ หรือคณะกรรมการกฤษฎีกามีการสรุปความเห็นจริง แต่ผู้ผลักดันกฎหมายได้ใช้สิทธิไปผลักดันให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก้กฎหมายจากที่คณะกรรมการกฤษฏีกาเสนอ ให้กลับคืนมาเป็นตามแบบที่กลุ่มเครือข่ายผู้เสียหายต้องการ โดยการนำเอาผู้พิการไปเป็นผู้เรียกร้องด้วย
ส่วนความเท็จที่คุณสารีอ้างก็คือ การกล่าวหาว่าฝ่ายผู้ต่อต้าน มีการ “ปล่อยข่าว”ว่ามีผู้ต้องการหาผลประโยชน์
............. เรื่องนี้ถ้าสอบสวนวิเคราะห์ให้ดี จะพบว่า “ไม่ใช่การปล่อยข่าว” แต่อย่างใด ในบทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.ฉบับเสนอโดยรัฐบาล เขียนไว้ว่า NGO ด้านสาธารณสุขจะเป็นกรรมการในบทเฉพาะกาลไว้มากถึง 6 ใน 11 คน (ถามเด็กอนุบาลก็รู้ว่าเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ที่จะไปออกกฎระเบียบต่างๆ และระเบียบการใช้เงินกองทุนต่อไป และกำหนดผลประโยชน์ของคณะกรรมการได้ด้วย)
และถ้าไปไล่เรียงรายชื่อผู้ออกหน้ามาสนับสนุนพ.ร.บ.นี้ ก็จะเห็นว่า บุคคลต่างๆเหล่านี้ต่างก็มีชื่อเป็นกรรมการในสปสช. สสส. สช. และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซ้ำกันไปมา จนดูเหมือนว่า ประเทศไทยมีคนเก่งและรอบรู้ มีความสามารถผูกขาดอยู่ไม่กี่คน
ส่วนประเด็นคดีอาญานั้น คุณสารีจะมาอ้างว่าพ.ร.บ.นี้จะให้ประโยชน์แก่แพทย์นั้น แพทย์ไม่เห็นด้วย เพราะแพทย์ตั้งใจมา “ช่วยชีวิต” ผู้ป่วย ไม่ได้ตั้งใจมา “ฆ่าคน” จึงปราศจาก “เจตนาในการฆ่า” เหมือนกับการขับรถชนคนตายโดยประมาท ถึงแม้จะปราศจาก “เจตนาฆ่า” แต่พฤติกรรมที่ประมาทเลินเล่อ” ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต “ ศาลก็ย่อมต้องใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมในการพิจารณาพิพากษาคดีอยู่แล้ว
................ การมาบัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อลดโทษในพ.ร.บ.นี้ จึงไม่น่าจะมีผลที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมกับแพทย์แต่อย่างใด
การที่แพทย์ส่วนหนึ่งมาคัดค้าน จนมีการรวมตัวกันเป็นสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ก็เนื่องจากได้อ่านรายละเอียดของร่างพ.ร.บ.ฉบับรัฐบาลแล้ว เห็นว่า เป็นพ.ร.บ.ที่ไม่ “เที่ยงธรรม” กล่าวคือให้สิทธิประชาชน 9 ในสิบส่วน แต่ให้สิทธิบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพียง 1 ในสิบส่วนเท่านั้น ทั้งๆที่ประชาชนเป็นฝ่ายมาให้แพทย์รักษา แพทย์มิได้ออกไปขอให้ประชาชนมารักษากับตน และแพทย์ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาประชาชนได้ ไม่สามารถเลือกผู้ป่วยได้ โดยที่แพทย์ต้องถูกควบคุมกำกับโดยผู้บังคับบัญชาในกระทรวงสาธารณสุข สภาวิชาชีพ กฎหมายสถานพยาบาล กฎหมายแพ่ง อาญา กฎหมายปกครอง และจริยธรรมวิชาชีพ อยู่มากมายหลายฉบับแล้ว และจะต้องมาถูกควบคุมจากฎหมายฉบับนี้ " โดยกรรมการที่ไม่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติความรู้ ความสามารถและตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อน หรือจริยธรรมใดๆ "
ทั้งๆที่ในการทำงานตรวจรักษาผู้ป่วยของบุคลากรทางการแพทย์นั้น บุคลากรส่วนมากมีความตั้งใจที่จะทำงานให้ดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยไม่หายจากอาการเจ็บป่วย มีความพิการ หรือเป็นโรคเรื้อรังนั้น ก็อาจจะเกิดจากอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา โรคแทรกซ้อน สังขารของผู้ป่วยเอง และความรุนแรงของโรค ที่มนุษย์ปุถุชนเช่นแพทย์ไม่มีการรักษาที่จะสามารถหยุดยั้งความรุนแรงของโรคได้ และมีส่วนน้อยที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อ ปล่อยปละละเลย หรือความผิดพลาดในการรักษาจากผู้ทำการรักษา
และพ.ร.บ.นี้ อ้างว่าจะช่วย “เสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี” ระหว่างประชาชนและแพทย์ ก็ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ความจริงที่เห็นชัดในพ.ร.บ.นี้ ที่ฝ่ายสนับสนุนต้องการ คืออยากได้เงินชดเชยเมื่อเกิดความเสียหาย เพิ่มจากขีดจำกัดที่เคยได้รับจากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือสูงสุดเพียง 200,000 บาท ทำให้ฝ่ายผู้เสียหายบอกว่า เงินไม่พอใช้ ต้องการเงินมากกว่านี้
ถ้าอ่านพ.ร.บ.นี้ให้เข้าใจทุกบททุกมาตราแล้ว จะเห็นว่า ผู้ที่รู้ตัวว่าได้รับความเสียหายทางการแพทย์นั้น จะได้รับเงินช่วยเหลือและชดเชยก็ต่อเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ทำผิดมาตรฐานเท่านั้น
............. ถ้าเป็นอาการอันไม่พึงประสงค์เช่นแพ้ยาจนตาบอด ก็จะไม่ได้เงินช่วยเหลือและชดเชยจากกองทุนนี้ ยกเว้นคณะอนุกรรมการและกรรมการจะตัดสินว่าแพทย์ทำผิดมาตรฐานจึงจะได้เงินช่วยเหลือและชดเชย ซึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินครั้งใด จะหมายความว่าแพทย์ทำผิดประการเดียวเท่านั้น จะหมายความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ซึ่งผู้เสียหายจะไม่ได้เงินง่ายๆเหมือนมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
แต่การตัดสินการทำงานของแพทย์ผู้ต้องใช้ความรู้และทักษะทางวิชาการเฉพาะ แต่จะถูกตัดสินโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่มีความรู้และทักษะในวิชาการไม่เท่าเทียมกัน จึงถือว่าเป็นพ.ร.บ.ที่ไม่ยุติธรรม เหมือนเอาคนตัดสินฟุตบอลโรงเรียนประถม ไปตัดสินการแข่งฟุตบอลโลก
ทำไมผู้คัดค้านส่วนมากจึงเป็นแพทย์ที่ทำงานหรือเคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข?
................ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ การทำงานบริการทางการแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขนั้น ส่วนมากเป็นการทำงานที่ไม่ได้มาตรฐานที่แพทย์เองพึงพอใจ เนื่องจากความขาดแคลนบุคลากร ขาดเตียง ขาดอาคารสถานที่ ขาดเงินงบประมาณในการซื้อยา เครื่องมือแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ได้มาตรฐาน แต่จำนวนผู้ป่วยมากมายเกินกำลังคน และอุปกรณ์ที่มีอยู่ บุคลากรต้องทำงานติดต่อกันไม่มีเวลาพักจนเหนื่อยล้า ประชาชนเสี่ยงต่อความผิดพลาดหรืออันตราย เสี่ยงต่อความเข้าใจผิด เนื่องจากมีความคาดหวังสูงเกินไป ไม่ยอมรับในความสูญเสีย ทั้งๆที่ความสูญเสียนั้นอาจจะเกิดจากอาการป่วยที่ทรุดหนักตามสังขารและความรุนแรงของโรค หรืออาการอันไม่พึงประสงค์ของการใช้ยา แต่ประชาชนไม่เข้าใจ และฟ้องร้องแพทย์ว่าเป็นสาเหตุแห่ง “ความเสียหาย”เสมอ
ที่จริงแล้วแพทย์ต้องการให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ได้ “ป้องกัน” ไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข
การป้องกันความเสียหายเหล่านี้ สามารถทำได้โดยการพัฒนาสถานพยาบาลทุกระดับ ให้มีบุคลากร อาคารสถานที่ งบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์ เทคโนโลยีและเวชภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐานการบริการทางการแพทย์ที่ดี เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยจากการรับบริการสาธารณสุข
และเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ก็สามารถใช้มาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาช่วยเหลือประชาชนได้ และถ้าความเสียหายเกิดจากความผิดพลาดหรือประมาทเลินเล่อ กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้บังคับบัญชาต้องรีบมาให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและให้ความเป็นธรรมแก่บุคลากร มิใช่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลป้องกันหรือแก้ไขปัญหาในสถานพยาบาลที่ตนต้องรับผิดชอบ ปล่อยให้บุคลากรทำงานในสภาพที่ตกต่ำจากมาตรฐาน ประชาชนเสี่ยงอันตราย โดยไม่ป้องกันอันตราย ไม่พัฒนาบริการเช่นนี้
หรือประชาชนยอมรับต่อการเสี่ยงอันตราย แต่พอใจจะรอรับเงินช่วยเหลือหลังจากเกิดความพิการหรือเพื่อชดเชยชีวิตเท่านั้น?
ตอนท้ายบทความคุณสารีขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่รับปากว่าจะผลักดันร่างกฎหมายนี้แน่นอน
ทางสผพท.ก็ขอขอบคุณนายวิทยา แก้วภราดัยที่ยืนยันว่า จะนำร่างพ.ร.บ.นี้เข้าพิจารณา ก็ต่อเมื่อกระทรวงสาธารณสุขได้ทำประชาพิจารณ์ในวงกว้าง
และขอขอบคุณนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยให้สัญญาลูกผู้ชายว่า จะยอมถอนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ออกจากสภาฯถ้าแพทยสภาสามารถรวบรวมรายชื่อบุคลากรสาธารณสุขถึง 80% ว่าไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.นี้