โรงพยาบาลเอกชน "แพง" .. ข้อมูลที่ยังไม่รู้ หรือว่า แกล้งไม่รู้ ? ( ฟังความอีกข้าง ^_^ )




ช่วงนี้ มีกระแสเกี่ยวกับ ค่ารักษาของ รพ.เอกชน ที่แพง ( เกินเหตุ ? ) ซึ่งก็เป็นความจริง ที่ ค่ารักษาของ รพ.เอกชน สูงกว่า รพ.รัฐบาล และ รพ.เอกชนบางแห่ง แพงม๊ากกกกก  แต่ก็ยังมีข้อมูล อีกหลายประเด็นที่ หลายคนยังไม่รู้ และ บางคน อาจ "แกล้งไม่รู้ "  ...

ผมได้อ่าน บทความวิชาการ ของ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จึงอยากจะนำมาฝากกัน ถือว่า เป้นการฟังความอีกข้าง ส่วนจะคิดเห็นอย่างไร ก็ไม่ว่ากัน

ปล. ผมเคยทำงาน รพ.รัฐ ๑๕ ปี ขณะนี้ลาออกมาเปิดคลินิกส่วนตัว  แจ้งไว้ก่อน เผื่อคนสงสัย ^_^

.......................

ข้อเท็จจริง-ความสำคัญรพ.เอกชนไทย(1)

3มิ.ย. 58,11.20 น.

https://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=67627&t=news

เพราะ“จำเป็น” ...จึงต้องมี “โรงพยาบาลเอกชน”

นับเป็นโชคดีของคนไทยที่ปัจจุบันรัฐบาลได้วางรากฐานและจัดสรรการรักษาพยาบาลไว้อย่างเป็นระบบ ทั้งสิทธิ์“หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” (บัตรทอง/บัตร 30 บาท)ที่ครอบคลุมการรักษาคนไทยทั่วประเทศ 48-49 ล้านคน ส่วนคนทำงาน 13 ล้านคนก็สามารถใช้สิทธิ์ “ประกันสังคม” ด้าน “ข้าราชการและครอบครัว” กว่า 100 กรม ใน 20 กระทรวงก็มีสิทธิ์การรักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลาง จนอาจกล่าวได้ว่า “ทุกคน”มีพื้นที่สำหรับรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน

ขณะที่ประชาชนและบริษัทเอกชนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มพรีเมียมและกลุ่มไฮพรีเมียมแม้สามารถเลือกรักษากับสถานพยาบาลตามสิทธิที่รัฐบาลพึงให้ แต่ “โรงพยาบาลเอกชน” กลับเป็น “ทางเลือก”ของคนส่วนใหญ่ ที่มักหลีกเลี่ยงความแออัดไม่สะดวกสบายจากโรงพยาบาลของรัฐ หรืออยากคุยกับแพทย์ผู้รักษาจนคลายความสงสัยโดยที่ไม่กังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ...เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุผลในปัจจุบัน

แต่หากย้อนไปในอดีตอาจกล่าวได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนเกิดขึ้นมาเพราะความจำเป็นที่โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถให้บริการรักษาพยาบาลได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง

จากเดิมโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยเป็นแค่สถานพยาบาลขนาดเล็กมีเจ้าของเพียงคนเดียว การบริหารงานเป็นแบบครอบครัวแพทย์และบุคลากรทำงานเฉพาะช่วงนอกเวลางาน ไม่มีระบบควบคุมคุณภาพและเปิดให้บริการเพียงบางเวลา

ทว่าทุกวันนี้โรงพยาบาลเอกชนพัฒนาจนกลายเป็นโรงพยาบาลหลายระดับตามความต้องการของผู้มาใช้บริการทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2557 ระบุว่ามีโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยทั้งสิ้น 329 แห่ง จำนวนเตียงให้บริการรวม 34,319เตียง เจ้าของเป็นนิติบุคคลหรือบริษัทมหาชนที่บริหารแบบมืออาชีพแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพทำงานเต็มเวลาด้วยความเชี่ยวชาญแม่นยำย่นระยะเวลาในการวินิจฉัยรักษาและฟื้นฟูพรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถให้บริการรักษาพยาบาลโรคและโรคเฉพาะทางที่ซับซ้อนได้ตลอด 24 ชั่วโมงคิดเป็นสัดส่วนการให้บริการด้านการรักษาพยาบาลร้อยละ 20-30 ของประเทศ

ทั้งยังได้รับมาตรฐานในประเทศอย่างHospitalAccreditation หรือ HA โดยมีโรงพยาบาลเอกชนระดับ 2 และ 3 จำนวน 91 แห่งได้รับมาตรฐานดังกล่าว ขณะที่ ในปี 2558 มีโรงพยาบาลเอกชนของไทย 44 แห่งได้รับมาตรฐานระดับสากลที่เน้นเรื่องการจัดการบริหารเพื่อปลอดภัยจากนานาชาติ หรือ JCIAccredited Organizations

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าในปี 2555 โรงพยาบาลเอกชนมีการจ้างงานบุคลากรถึง 200,000 คนต่อปีก่อให้เกิดรายได้ในอุตสาหกรรมประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปีให้บริการผู้ป่วยนอกประมาณ 55 ล้านครั้งต่อปี ผู้ป่วยในมากถึง 1.5 ล้านครั้ง และส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยระดับไฮ พรีเมียมที่เคยเดินทางออกไปรักษายังต่างประเทศ

สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่านับตั้งแต่ปี 2555 มีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารักษากับโรงพยาบาลเอกชนเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปีเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อังกฤษ ไอร์แลนด์เหนือ เยอรมนี ออสเตรเลีย จีน เมียนมา กัมพูชา อินเดีย และลาว

จากการสำรวจยังพบอีกว่าในแง่ศักยภาพการรักษาพยาบาลเชิงปริมาณของโรงพยาบาลเอกชนไทยสามารถดึงดูดให้มีผู้มาใช้บริการมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ยิ่งในระยะ 10 ปีให้หลังผลงานและชื่อเสียงของโรงพยาบาลเอกชนไทยกระจายไปทั่วโลกจนชาวต่างชาตินิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นอันดับ 1 ของโลกเช่นกัน(อ้างอิงมาจากนิตยสาร Forbes เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม2014) เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลถูกกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเมียนมาและกัมพูชาก็ยังเดินทางมารักษากับโรงพยาบาลเอกชนของไทยด้วยเพราะมาตรฐานและเทคโนโลยีที่ดีกว่า

โรงพยาบาลเอกชนจึงกลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อระบบบริการสุขภาพและการพัฒนาของประเทศ โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษีจากรัฐเข้ามาอุดหนุนดังนั้น ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่สามารถเทียบโรงพยาบาลของรัฐได้

ในอีกด้านหนึ่งโรงพยาบาลเอกชนยังช่วยรัฐบาลประหยัดงบประมาณในการลงทุนด้านสาธารณสุขของประเทศได้กว่า2.26 แสนล้านบาท พร้อมกันนั้นยังจ่ายภาษีกลับคือไปให้รัฐในรูปภาษีนิติบุคคลภาษีเงินได้พนักงาน และภาษีเงินได้ของแพทย์และพยาบาล ต่อปีไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาทเพื่อนำไปอุดหนุนพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศในอีกทอดหนึ่ง

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเสรีนิยมโรงพยาบาลเอกชนนับเป็นธุรกิจที่จำเป็นต่อประชาชนที่เจ็บป่วยและยังมีบทบาทสำคัญในการการจ้างงานจำนวนมาก เกิดรายได้จากอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องการลงทุนภาคเอกชนยังช่วยลดภาระการลงทุนของรัฐในหลาย ๆ ด้านจึงเป็นธุรกิจที่รัฐพึงให้การส่งเสริมอย่างยิ่งเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีและมีประสิทธิภาพ

.....................................................................



กระเทาะเปลือกวิธีคิด"ค่ารักษา"รพ.เอกชน(2)

4 มิ.ย. 58, 06.00 น.

https://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=67689&t=news

ปัญหา“ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน” โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการเก็บค่ารักษาเกินจริงการโก่งราคาค่ายา รวมถึงการเข้าใจว่าแพทย์เลี้ยงไข้เพื่อเก็บค่ารักษาแพงเพราะเมื่อเข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่กลับเจอโรคอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วยเพราะพยาธิของโรคแฝงในแต่ละคนกลับไม่เหมือนกันทำให้ค่ารักษาสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว

เรื่องเหล่านี้มักปรากฏเป็นข่าวร้องเรียนบนพื้นที่สื่ออยู่เป็นประจำจนเกิดการเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่าง “สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการ” รวมถึง “กรมการค้าภายใน” เข้ามาตรวจสอบและกำหนดแนวทางเพื่อควบคุมราคายาตลอดจนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนให้ลดระดับลงมาใกล้เคียงกับอัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลรัฐ

หากในความเป็นจริงมีปัจจัยอื่น ๆ แฝงอยู่ในการกำหนดอัตราราคายาและค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเป็นผลให้ค่ารักษาและราคายาของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐแตกต่างกันซึ่งเป็นที่มาของ “ข้อสงสัย” ว่าทำไม โรงพยาบาลเอกชนถึงไม่สามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้อยู่ในอัตราเดียวกับโรงพยาบาลของรัฐ

โดยทั่วไปการก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาแห่งหนึ่งล้วนมีเงินลงทุนสูงและมีค่าใช้จ่ายพื้นฐานในการดำเนินการต่างกันไปตามขนาดและระดับมาตรฐานของแต่ละแห่งต้นทุนแต่ละหมวดแบ่งเป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ เงินเดือนแพทย์ พยาบาล บุคลากรของโรงพยาบาลเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งหากโรงพยาบาลนำเข้ายาจากต่างประเทศเน้นแพทย์ที่เชี่ยวชาญ บุคลากรมีประสบการณ์หรือใช้เครื่องมือที่ทันสมัยในการรักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายย่อมสูงขึ้นตามเป็นปกติ

นอกเหนือจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น มูลค่าที่ดินตามทำเลที่ตั้งของโรงพยาบาล ต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสถานที่การกู้ยืมเงินมาลงทุน เงินปันผลตอบแทนผู้ลงทุน ฯลฯที่นับรวมเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนและกลายเป็นปัจจัยสำคัญสร้างความแตกต่างให้กับค่ารักษาพยาบาลซึ่งแม้เป็นโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันก็ตาม

ส่วนกรณีโรงพยาบาลเอกชนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นเหตุให้คิดค่ารักษาพยาบาลแพงนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใดเพราะการเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นการบริหารความเสี่ยงของโรงพยาบาลในรูปแบบหนึ่งเนื่องจากการบริหารงานโรงพยาบาลเอกชนในอดีตเสี่ยงต่อการขาดทุนการรวมกลุ่มจะของผู้ลงทุนจะช่วยให้โรงพยาบาลพัฒนาก้าวไปข้างหน้าได้ เช่นโรงพยาบาลเอกชนในประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น

อีกทั้งโรงพยาบาลของรัฐได้รับการยกเว้นไม่ต้องอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และกฎหมายอีกหลายฉบับ ในกระบวนการรักษา และวินิจฉัยของโรงพยาบาลเอกชน ต้องใช้แพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นไม่สามารถใช้บุคคลระดับอื่นได้ ส่งผลให้เอกชนมีต้นทุนสูงกว่า

ขณะที่เป้าหมายในการรักษาโรคของโรงพยาบาลเอกชนยังมีความแตกต่างโดยจะทำการตรวจอย่างละเอียดเพื่อแยกแยะหาสาเหตุของโรคซึ่งหากพบปัจจัยเสี่ยงหรือการเจ็บป่วยร่วม ก็จะให้ข้อมูลแนะนำและดำเนินการรักษาอย่างครอบคลุมเพื่อให้ผู้ป่วยกลับไปมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนมิได้เป็นการรักษาที่มุ่งเน้นไปยังโรคที่พบเพียงโรคเดียวหรือรักษาเพียงให้อาการป่วยทุเลา ทั้งนี้รายละเอียดค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนทุกโรง “ผู้ป่วย”และ “ญาติผู้ป่วย” สามารถรับทราบและตรวจสอบได้ณ จุดตรวจเช็คภายในสถานบริการตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาลพ.ศ. 2541 มาตรา 32 วรรค 3 และมาตรา 33 วรรค 1

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ทำให้ค่ารักษาของแต่ละโรงพยาบาลเอกชนแตกต่างกัน เช่นแม้จะป่วยเป็นโรคเดียวกันแต่มีภาวะซับซ้อนของโรคต่างกัน เช่นป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบแบบแตกหรือไม่แตกรวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการวินิจฉัยและรักษาที่ไม่เหมือนกัน เช่น การทำ CT สแกน หรืออัลตร้าซาวด์ เป็นต้น

หากกล่าวโดยสรุปโรงพยาบาลเอกชนเป็น “โรงพยาบาลทางเลือก” ในระบบการรักษาพยาบาลของประเทศ ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระโรงพยาบาลของรัฐในแง่ลดความแออัดและกระจายโอกาสการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรัฐไม่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล

...ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของตัวเลขบนใบเสร็จที่ทำให้โรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐถึง 2-3 เท่า เป็นอย่างน้อย.

......................................



เฉลยที่มา...”ราคายาโรงพยาบาลเอกชน” แพง? (3)

5 มิ.ย. 58, 06.00 น.

https://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=67691&t=news

ประเด็นสำคัญที่สังคมให้ความสนใจและจับตามองอยู่ในขณะนี้คงไม่พ้นเรื่อง “การควบคุมราคายา”หลังมีเสียงสะท้อนว่า ทำไม?ยาและเวชภัณฑ์ใน “โรงพยาบาลเอกชน” จึงมีราคาสูงกว่า “โรงพยาบาลของรัฐ” หลายเท่า และหากนำไปเปรียบเทียบกับ “ร้านขายยา” ทั่วไป ก็ยิ่งเห็นความแตกต่างมากขึ้น

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สามารถอธิบายถึงขั้นตอนทั้งหมดซึ่งเป็นที่มาของ“ราคายาในโรงพยาบาลเอกชน” ที่ไม่อาจหยิบยกแค่ค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตยามากำหนดกรอบราคาได้

โดยภายใต้การลงมือเขียนใบสั่งยาจากแพทย์ผู้รักษาจนยานั้นเดินทางถึงมือผู้ป่วยโครงสร้างต้นทุนราคายาของโรงพยาบาลเอกชนประกอบด้วยปัจจัยหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ “ต้นทุนของผลิตภัณฑ์ยา” ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่เน้นเลือกยาให้ประสิทธิภาพทางการรักษาดีเยี่ยมซึ่งมักเป็นยามีสิทธิบัตรนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูง

ขณะเดียวกันก็มี“ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน” ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกยาที่ต้องทดสอบถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของยาก่อนนำเข้ามาใช้ในโรงพยาบาลการจ้างแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ สามารถสั่งยาไม่ให้เกิดผลกระทบข้างเคียงต่อผู้ป่วยเภสัชกรที่มีประสบการณ์ บุคลากรเวชระเบียนที่ชำนาญงานหรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่มีความแม่นยำในการจ่ายยา เช่นซอฟแวร์การบริหารจัดการยา บาร์โค้ดยา หรือหุ่นยนต์จ่ายยา Smart DispensingRobot ที่มูลค่านับสิบล้านบาทการดูแลสต็อกยาให้เพียงพอต่อการใช้ในทุกวัน พื้นที่จัดเก็บยาที่ต้องดูแลพิเศษในด้านอุณหภูมิและความชื้นรวมไปถึงการดูแลให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ฯลฯ

ซึ่งทุกขั้นตอนในกระบวนการดังกล่าวโรงพยาบาลเอกชนได้ทำ “ประกันความเสี่ยง” ที่อาจเกิดความผิดพลาดจากกระบวนการจ่ายยาให้คนไข้โดยวงเงินประกันดังกล่าวมีมูลค่าไม่น้อย

ทั้งนี้ที่ต้องเน้นกระบวนการด้วยความรัดกุม เพราะในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯมีการสำรวจแล้วว่าหากป้องกันความผิดพลาดจากการสั่งยาจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้โดยในแต่ละปีสหรัฐฯ สามารถป้องกันผลข้างเคียงของยาที่ไม่พึงประสงค์อันมาจากความผิดพลาดในการสั่งยา ได้ถึง 1.5 ล้านคน (Bateset al, 1995)

เมื่อเทียบกับประเทศไทยจากจำนวนประชากรทั้งหมดในปัจจุบัน โดยกรมการปกครองระบุ ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2557 ว่ามีอยู่กว่า 65 ล้านคน และคาดการณ์กันว่าราว 1 ใน 4 อาจได้รับผลกระทบจากความผิดพลาดของกระบวนการจ่ายยา อาทิเภสัชกรจ่ายยาไม่ครบ ขวดยาติดฉลากผิด แพทย์สั่งยาชนิดที่คนไข้มีอาการแพ้ยาหรือแพทย์คำนวณขนาดยาผิดพลาด ที่ล้วนนำความเสียหายมาสู่ผู้ป่วยตั้งแต่ในระดับเล็กน้อยอย่างการแพ้ยาไปจนถึงความสูญเสียทำให้ร่างกายพิการ และมีอันตรายถึงชีวิต

จึงเป็นเรื่องน่ากังวลและอันตรายไม่น้อยหากต้องแก้ไขปัญหาราคายาโรงพยาบาลเอกชนแพง ด้วยการให้แพทย์ออกใบสั่งยาแล้วให้ผู้ป่วยไปซื้อยาจากร้านขายยาเองเนื่องจากไม่สามารถการันตีความถูกต้อง คุณภาพ และผลข้างเคียงของยาได้ซึ่งจะมีผลต่อความรับผิดชอบของแพทย์และโรงพยาบาลต่อผู้ป่วยต่างกับกรณีรับยาในโรงพยาบาลตามแพทย์สั่งจ่าย

เรื่องของ“ยา” จึงเปรียบได้กับ “ราคาชีวิต”หน่วยงานรับผิดชอบที่ออกแบบระบบและผลักดันให้ผู้ป่วยต้องไปรับยานอกโรงพยาบาลจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบหากเกิดผลข้างเคียงจากยาที่ไร้ประสิทธิภาพ และ หากผู้ป่วยไม่หายจากโรคหรือต้องสิ้นเปลืองเพิ่มรวมถึงเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากการใช้ยานอกโรงพยาบาล ก็ควรมีหน่วยงานที่ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

ทั้งหมดนี้กลายเป็นที่มาของ“ต้นทุนทางตรงของระบบยา” ซึ่งมีมูลค่ากว่าร้อยละ 30-50 ของต้นทุนตัวยา ที่โรงพยาบาลเอกชนหลายระดับต้องแบกรับและเป็นสาเหตุหนึ่งของการกำหนดราคายาที่มีอัตราแตกต่างกันของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงในการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่มากตามไปด้วย

ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐได้รับการชดเชยงบประมาณต้นทุนยาจากภาษีของประชาชนส่วนร้านขายยาทั่วไปดำเนินงานด้วยระบบที่ไม่ซับซ้อน มีความรับผิดชอบที่จำกัดเฉพาะและใช้ต้นทุนไม่มากนัก



บทความวิชาการโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน

“โรงพยาบาลเอกชน” คุณค่าคู่สังคม…ที่ถูกมองข้าม


...........................................


แถม เรื่องที่เกี่ยวข้อง ..

infographic9 ข้อควรรู้เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-06-2017&group=7&gblog=216

นพ.ธีระ วรธนารัตน์ : เจ็บป่วยฉุกเฉินเมื่อนโยบายยังไม่ชัด ต้องคิดก่อนเข้า

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=21-02-2017&group=7&gblog=212

เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว นโยบายดีแต่การปฏิบัติล้มเหลว ?...

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=14-10-2014&group=7&gblog=185

สพฉ. จับมือ สธ.พัฒนาการให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ดีทุกสิทธิ์”

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=02-04-2015&group=7&gblog=186

คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแสนแพง... ( นำมาฝาก )

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=28-05-2015&group=7&gblog=189

โรงพยาบาลเอกชน "แพง" ..ข้อมูลที่ยังไม่รู้ หรือว่า แกล้งไม่รู้ ? ( ฟังความอีกข้าง ^_^ )

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=08-06-2015&group=7&gblog=190

ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล Online ได้ที่https://www.hospitalprice.org หรือ สายด่วนสุขภาพ 02 193 7999





Create Date : 08 มิถุนายน 2558
Last Update : 2 กุมภาพันธ์ 2562 20:42:29 น.
Counter : 10629 Pageviews.

7 comments
มัทฉะกรีนที: เครื่องดื่มแห่งสุขภาพที่มากกว่าแค่รสชาติ สมาชิกหมายเลข 8540341
(4 ก.ค. 2568 16:50:00 น.)
นอนให้พอดี ชีวิตจะดีทั้งกายและใจ สุดท้ายที่ปลายฟ้า
(1 ก.ค. 2568 13:56:39 น.)
Day..14 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(26 มิ.ย. 2568 08:37:37 น.)
ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจที่โรงพยาบาล Mount Sinai ได้นำเสนอผลเบื้องต้นของ Sofiya ซึ่งเป็นผู้ช่วย..... newyorknurse
(25 มิ.ย. 2568 06:26:23 น.)
  
มุมมอง "หนุน-ต้าน" คุมเข้มค่ารักษา รพ.เอกชน

//www.hfocus.org/content/2015/05/10034

Sun, 2015-05-24 17:53 -- hfocus

ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา “เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม การท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่ทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้"

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ “เปรียบเทียบกับ รพ.รัฐไม่ได้ เอกชนลงทุนเองทั้งหมด ส่วน รพ.รัฐ เงินเดือน 60% ก็เอามาจากภาษีประชาชน ปัจจุบันค่ารักษา รพ.เอกชนในไทยยังถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 25-35% และอย่าลืมว่า รพ.เอกชนเป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะไปหรือไม่่"

ประเด็นค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนราคาสูงเกินจริง ถูกจุดขึ้นโดยเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่เข้ารักษาในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กลับถูกเรียกเก็บเงินในราคาสูงหลักแสนหลักล้าน โดยมีการเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน และล่ารายชื่อผ่านทาง //www.change.org ซึ่งปรากฎว่ามีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 33,000 คนในเวลาเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

การเคลื่อนไหวในช่วงแรกไม่ได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานภาครัฐมากนัก แต่พลันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา ทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ก็เข้ามาแทคแอคชั่นอย่างแข็งขัน

แน่นอนว่าการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลและค่ายา ย่อมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย Hfocus จึงได้รวบรวมความเห็นจากฝ่ายต่างๆ ว่ามีเหตุผลในการสนับสนุนหรือคัดค้านอย่างไร



สำหรับฝ่ายเรียกร้องให้ควบคุมค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ให้ความเห็นว่าประเทศไทยไม่มีหน่วยงานทำหน้าที่ควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนโดยตรง มีเพียง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่กำหนดให้โรงพยาบาลต้องแจ้งราคาค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น จึงควรให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา อย่างน้อยก็ปรับแก้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรม ซึ่ง รพ.เอกชนที่ดีก็ควรสนับสนุนเรื่องนี้ไม่ควรต่อต้าน และควรมีหน่วยงานหรือคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบเพื่อดูว่าค่ารักษาสมเหตุสมผลหรือไม่

“เราไม่ได้ขอให้ รพ.เอกชนลดราคา คิดแพงได้แต่ห้ามโกง ห้ามโก่งราคา ห้ามค้ากำไรเกินควร แค่ขอให้ทำธุรกิจตรงไปตรงมา โปร่งใสตรวจสอบได้ และรับผิดชอบต่อสังคม แต่ที่ผ่านมากลับไม่เคยมีใครพูดว่าจะจัดการกับการโกงอย่างไร มีแต่ท้าทายประชาชนว่าถ้าแพงก็อย่าเข้า มันไม่ใช่การหาทางออกที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้” ปรียนันท์ กล่าว

เช่นเดียวกับ สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มองว่า การรักษาพยาบาลเป็นสินค้าผูกขาด โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉินที่ผู้ป่วยไม่มีสิทธิเลือกเพราะต้องนำส่งยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อรับการรักษาโดยเร็ว จึงไม่มีสิทธิเปรียบเทียบราคาหรือเลือกที่จะไปโรงพยาบาลอื่นแทน ดังนั้นจึงต้องมีกลไกดูแลและควรมีราคากลางควบคุม เพราะเรื่องฉุกเฉินเป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตจึงต้องไม่หากำไรจนเกินไป

สารี ยังเรียกร้องให้ รพ.เอกชนยอมรับเกณฑ์การจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะเชื่อว่าเป็นราคาที่เป็นบรรทัดฐานและ รพ.เอกชนยอมรับได้ เพียงแต่อาจกำไรไม่มาก ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สธ. โดยเฉพาะกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) น่าจะเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีข้อมูลหรือหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับปัญหาจากค่ารักษาของ รพ.เอกชนอยู่บ้างว่าเป็นการจัดเก็บที่แพงเกินไป ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวผลักดันกันเอง

ขณะที่ ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) มองว่า การควบคุมราคารักษาพยาบาลต้องแยกให้ชัด ปัญหาการเก็บค่ารักษาพยาบาลแพง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคายาสูงกว่าท้องตลาดจำนวนมาก ที่ผ่านมาได้เรียกร้องให้ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ บรรจุเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายาลงไปด้วยเพื่อให้ทราบต้นทุนที่แท้จริง แต่ถูกขัดขวางโดยอ้างว่าเหตุที่ยาแพงเป็นเพราะการลงทุนศึกษาวิจัย แต่ที่จริงมีการศึกษาพบว่าเหตุที่ยามีราคาแพงเป็นเพราะลงทุนส่งเสริมการขายมากกว่า ดังนั้นขอให้เร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยเน้นในเรื่องการเปิดเผยโครงสร้างราคายา

นอกจากนี้แล้ว ปัญหาอีกส่วนหนึ่งยังมาจากปลายเหตุ เพราะหากพูดถึงค่ายา เป็นอำนาจของกรมการค้าภายใน เนื่องจากมี พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 กำหนดให้ยาเป็นวัตถุควบคุม แต่ที่ผ่านมา พณ.ไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจัง ละเลยต่อสิทธิของผู้บริโภค อีกทั้งการกำหนดให้ผู้ผลิตยาต้องแจ้งราคา แต่ก็ไม่เคยมีการตรวจสอบว่าราคาที่แจ้งกับต้นทุนเหมาะสมหรือไม่

ภญ.นิยดา กล่าวด้วยว่า ในส่วนของมาตรการให้ รพ.เอกชนแจ้งอัตราค่ารักษา ก็จะเกิดช่องโหว่ว่าเรื่องราคามีการกำหนดเป็นความจริงแค่ไหน เพราะต้องพิจารณาเทียบต้นทุน รวมทั้งต้องพิจารณาไปถึงบริษัทยาว่าราคาที่แจ้งจำหน่าย มีการคิดต้นทุนและบวกกำไรมากน้อยแค่ไหน ต้องบอกโครงสร้างราคายาที่แท้จริงและมีระบบตรวจสอบที่ดีด้วย

ด้าน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีกฎหมายและกลไกตรวจสอบควบคุมค่าใช้จ่ายในสถานพยาบาลเอกชนอย่างพอเหมาะ ไม่เกินเลยแบบที่เห็นในปัจจุบัน คนไข้ตกเป็นเหยื่อกับการตรวจรักษาที่เกินความจำเป็นมานาน ตั้งแต่ยา การส่งตรวจเลือด ปัสสาวะ เอกซเรย์ต่างๆ เพราะนายทุนต้องการหากำไรให้มากที่สุด ขณะที่หมอก็ตกเป็นจำเลย ถูกมองว่าทำให้ค่าใช้จ่ายสูง ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว ค่าตรวจนั้นไม่ได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ค่ายา ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าบริการเสริมความสะดวกสบายต่างๆซึ่งโขกราคาเกินต้นทุนไปถึง 3-5 เท่าโดยที่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน

ผศ.นพ.ธีระ ให้ความเห็นต่อวาทกรรมที่ว่า รพ.เอกชนเป็นทางเลือกเท่านั้นเพราะไม่ได้งบจากรัฐ แต่คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รพ.เอกชนได้รับการดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐานในการใช้ชีวิตจากรัฐและสังคมไม่มากก็น้อย จึงปฏิเสธไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว และเชื่อว่าหากมีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลเกิดขึ้น ปฏิกิริยาของ รพ.เอกชนจะออกมาใน 2 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าบริการอำนวยความสะดวกต่างๆ ตั้งแต่ค่าโทรศัพท์ ค่าชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้า ค่าเก็บขยะ ค่าไว-ไฟ ฯลฯ และ 2.ขึ้นค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ

อีกคนหนึ่งที่ออกมาตอกย้ำเรื่องค่าบริการแพง คือ ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน รพ.รามาธิบดี ซึ่งโพสต์เฟสบุ๊คเกี่ยวกับข้อมูลรายงานวิจัยพัฒนารูปแบบและอัตราการจ่ายเงินชดเชย การให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตร่วม 3 กองทุน ภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน” ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2555- 30 ก.ย. 2556 โดยเก็บข้อมูลจาก รพ.เอกชน 353 แห่ง คนไข้ กว่า 22,000 ราย พบว่ารายการยาแพงกว่าโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ตั้งแต่ 60-400 เท่า อาทิ ไวตามินบีคอมเพล็กใน รพศ.หลอดละ 1.50 บาท ใน รพ.เอกชนกลายเป็น 600 บาท ยาฉีดแก้ปวดขนาด 50 มก.ใน รพศ.ราคา 6.50 บาท ใน รพ.เอกชนแพงถึง 450 บาท หรือรายการเวชภัณฑ์ก็มีราคาต่างกัน 16-44 เท่า เช่น ราคาท่อดูดเสมหะใน รพศ.ชิ้นละ 10 บาท เป็น 440 บาทใน รพ.เอกชน หรือ ไหมเย็บแผลสีดำใน รพศ.ชุดละ 28.5 บาท เป็น 460 บาทใน รพ.เอกชน

นอกจากราคาแพงกว่าแล้ว ยังมีข้อบ่งชี้การให้บริการเกินจำเป็น โดยในตัวอย่างคนไข้ 80 ราย พบว่า มีการให้เลือดในคนไข้ที่ไม่จำเป็นต้องได้รับเลือด มีการตรวจวินิจฉัยเกินจำเป็น เช่น คนไข้มีอาการนิ่วเฉียบพลันแต่ส่งตรวจการทำหน้าที่ของต่อมไทรอยด์และตรวจองค์ประกอบดีเอ็นเอ คนไข้เป็นปอดบวมจำเป็นต้องได้รับการรักษาด่วน แต่ส่งตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมาก คนไข้เป็นถุงลมพองกำเริบฉุกเฉินแต่มีการเรียกเก็บค่าสายสวนปัสสาวะ เป็นต้น

( ต่อ )
โดย: หมอหมู วันที่: 11 มิถุนายน 2558 เวลา:15:31:58 น.
  
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งก็มีมุมมองจากฝ่ายที่กังวลต่อการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาล โดย นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา มองว่า เรื่องค่ารักษาพยาบาลแพงอาจสามารถตกลงว่าให้อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่ถ้าจะบังคับทุกอย่างนั้น คงไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ รพ.เอกชนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารสถานที่ ค่าเครื่องมือแพทย์และเวชภัณฑ์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบุคลากร ต้องเข้าใจว่าการดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน เป็นไปโดยไม่มีงบประมาณสนับสนุนภาษีจากรัฐมาสนับสนุนแบบเดียวกับ รพ.รัฐ ซ้ำในการลงทุนยังต้องแบกรับภาระหนี้ ดังนั้นจึงมีต้นทุนที่ต้องรวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาล

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีระบบการรักษาฟรีอยู่แล้ว รพ.เอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งซึ่งประชาชนมีสิทธิ์เลือกว่าจะรับบริการหรือไม่ และ รพ.เอกชนยังช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐให้ไม่ต้องลงทุนเองมาก คนที่มีฐานะสามารถเลือกมารักษา ไม่ต้องไปแย่งสิทธิของคนอื่นใน รพ.รัฐ ดังนั้นการคุมทั้งหมดอาจจะลำบาก

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าค่ารักษาที่สูงนั้น ส่วนใหญ่มาจากค่ายา เวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์เป็นหลัก โดยเฉพาะค่ายา พบว่า รพ.เอกชนบางแห่งสูงกว่าราคาท้องตลาด 100-200% ในกรณีนี้ยอมรับว่าควรทำให้มีมาตรฐานการคำนวณที่ไม่ค้ากำไรจนเกินควร แต่ต้องให้รพ.เอกชนอยู่ได้ด้วย

“ยอมรับว่าราคายาใน รพ.เอกชนมีราคาแพง เพราะต้องแฝงต้นทุนในการบริการต่างๆ สมมติ ในกรณียาแอสไพริน แม้ต้นทุนจะอยู่เม็ดละ 10 สตางค์ เมื่อจ่ายยาให้กับผู้ป่วย 10 เม็ด ก็ไม่สามารถคิดราคา 1 บาทได้ เพราะมีต้นทุนตั้งแต่ค่าซองยา ค่าเภสัชกรที่ต้องคิดรวม แต่ในกรณีที่มีการคิดค่ายาถึงเม็ดละ 200-500 บาท ยอมรับว่าเป็นราคาที่เกินไป”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

“ส่วนค่าหัตการต่างๆ อาจจะคุมลำบาก เพราะแต่ละคน แต่ละโรค ดูแลไม่เหมือนกัน คนเราไอเหมือนกัน แต่เป็นคนละโรค การผ่าตัดโรคเดียวกัน แต่ใช้เครื่องมือแตกต่างกัน หรือห้องพักมีหลายระดับ จะบังคับให้คิดอัตราเดียวกันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก โดยหลักเกณฑ์แล้ว โรงพยาบาลจะต้องแจ้งราคาค่ารักษาให้กับประชาชนทราบก่อนการรักษา และแพทย์ต้องอธิบายให้คนไข้ทราบเรื่องค่ารักษา สอบถามความสมัครใจก่อน ส่วนตัวเห็นว่าที่เป็นปัญหาจริงๆ คือราคายาที่แพงมาก จึงเห็นด้วยในการทำเกณฑ์ควบคุมราคายา” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ รพ.เอกชนเก็บค่าบริการจากผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยว่า หากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายตามราคาต้นทุนของ รพ.เอกชนก็ไม่เป็นปัญหา แต่ที่ผ่านมาเป็นการจ่ายในราคาเดียวกับ รพ.รัฐ ซึ่ง รพ.เอกชนคงรับไม่ได้เพราะถูกคิดราคาจ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุนอยู่มาก เรื่องนี้คงต้องพูดคุยให้ได้ราคาจ่ายค่ารักษาฉุกเฉินที่เหมาะสม ไม่เป็นการบีบ รพ.เอกชนจนเกินไป ส่วนที่เรียกร้องให้ รพ.เอกชน CSR ทำกุศลมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม ถามว่าหากให้ รพ.เอกชนดำเนินการ รัฐบาลจะยกเว้นภาษีได้บ้างหรือไม่

“การควบคุมราคาค่ารักษา รพ.เอกชน ต้องเป็นการควบคุมที่เหมาะสมตามต้นทุน เพราะไม่เช่นนั้น รพ.เอกชนก็จะอยู่ไม่ได้ เจ๊งต้องปิดกิจการหมด”นพ.นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ผู้ประสานงานคลินิกชุมชนอบอุ่น เขตกรุงเทพมหานคร มองว่า การดำเนินกิจการของ รพ.เอกชน นอกจากเรื่องต้นทุนแล้วยังต้องผูกกับเรื่องกำไรขาดทุนและตลาด อีกทั้งธุรกิจโรงพยาบาลยังต่างกับธุรกิจอื่น เพราะเมื่อผู้ป่วยเดินเข้ารับบริการรักษาโรค ไม่ใช่ว่าคนไข้จะเป็นผู้สั่ง แต่ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ต้องรักษาตามความเหมาะสมกับภาวะโรค

ปัญหาคือเมื่อมีการแทรกแซงควบคุมราคาค่ารักษา จะส่งผลให้ รพ.เอกชน ต้องควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาตามมาเพื่อไม่ให้เกินราคาที่กำหนด ส่วนแพทย์เองก็อาจไม่สั่งตรวจวินิจฉัยภาวะอาการที่สงสัยเพิ่มเติมเพื่อควบคุมค่ารักษา

“อย่างกรณีคนไข้ปวดท้อง ในหลักการแพทย์ต้องแยกอาการปวดที่เกิดจากโรคกระเพาะอาหารและโรคนิ่ว และหากผู้ป่วยปวดท้องขวาบนต้องทำอัลตร้าซาวด์ แต่ต้องบวกค่าใช้จ่ายเพิ่ม 3,500 บาท แต่เมื่อควบคุมค่ารักษาไม่ให้สูงเกินไป ผู้ป่วยอาจไม่ได้รับบริการตรวจวินิจฉัยเพื่อค้นหาโรคตรงนี้ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ป่วยเอง จึงควรปล่อยให้การรักษาเป็นไปตามหลักวิชาการแพทย์โดยเสรี” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ หากจะดูว่าค่ารักษาแพงไปหรือไม่ ควรเปรียบเทียบกับ รพ.ภาครัฐที่ออกนอกระบบและบริหารแบบเอกชน เช่น รพ.บ้านแพ้ว และ รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ว่าราคาบริการต่างกันหรือไม่ ส่วนการกำหนดราคากลางค่ารักษามีได้ แต่ไม่ควรบังคับหรือควบคุม แต่ควรปล่อยให้เป็นทางเลือกของประชาชน บางคนเลือกที่จะจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวก นัดพบแพทย์ได้เลยและไม่ต้องรอคอย ดังนั้นแทนที่รัฐจะทำเรื่องนี้ ควรหันเพิ่มประสิทธิภาพในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากกว่า

ในฝั่งของผู้บริหารรพ.เอกชน อย่าง ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท รพ.วิภาวดี จำกัด (มหาชน) ก็ให้ความเห็นว่า ประชาชนและหน่วยงานหลายแห่งยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการทำธุรกิจของโรงพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เช่น ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าบำรุงรักษา และค่าบุคลากรค่อนข้างสูง ซึ่งกำไรส่วนใหญ่จะมาจากค่ายา ค่าห้อง และค่าแล็บ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก และโรงพยาบาลพยายามควบคุมกำไรในส่วนนี้ให้ไม่เกิน 10%

ขณะที่ นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาราม กล่าวว่า เรื่องการแจ้งอัตราค่าบริการนั้นเป็นกฎหมายที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว อย่างการตั้งจุดสอบถามค่าบริการจัดทำแล้วเช่นกัน ส่วนจะให้แจ้งค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือจากค่ายาต่างๆ นั้น อาจแจ้งอัตราได้ไม่ละเอียดมากนัก เพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีภาวะแทรกซ้อนแตกต่างกัน และต้นทุนแต่ละแห่งก็จะต่างกันอีก

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์

ปิดท้ายที่ความเห็นของ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า รพ.เอกชนมีหลายระดับทำให้ค่ารักษาและค่ายาแตกต่างกัน ที่สำคัญจะเอาไปเปรียบเทียบกับ รพ.รัฐไม่ได้ เพราะเอกชนลงทุนเองทั้งหมด ส่วน รพ.รัฐ เงินเดือนบุคลากร 60% ก็เอามาจากภาษีประชาชน นอกจากนี้ ปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลของ รพ.เอกชนในประเทศไทยยังถูกกว่าสิงคโปร์ถึง 25-35% และอย่าลืมว่า รพ.เอกชนเป็นเพียงทางเลือกที่ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะไปรับบริการหรือไม่

ส่วนกรณีที่จะตั้งราคายาโดยให้บวกกำไรเพิ่มได้ไม่เกินเปอร์เซ็นต์ที่กำหนดนั้น นพ.เฉลิมมองว่าโรงพยาบาลมีการประกอบโรคศิลปะ ไม่ใช่ร้านขายยา การจ่ายยามีความเสี่ยง ดังนั้นต้องมีมาตรการกำกับควบคุมเฝ้าระวังการแพ้ยาอย่างเข้มงวด ตรงนี้ถือเป็นต้นทุนที่มีผลต่อราคายาทั้งสิ้นไม่ใช่แค่เอาราคากลางมาขีดเส้นกำหนด

ขณะเดียวกัน ในส่วนของโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็ต้องออกระเบียบวิธีปฏิบัติให้ชัดเจนว่าฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตหมายถึงอะไร เพราะหมอกับผู้ป่วยเข้าใจไม่ตรงกัน ที่สำคัญต้องพัฒนาระบบรองรับการส่งตัวผู้ป่วยกลับไปรักษาตามสิทธิด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องเตียงเต็มตลอด

โดย: หมอหมู วันที่: 11 มิถุนายน 2558 เวลา:15:32:30 น.
  
สบส.แสดงอัตราค่ารักษารพ.เอกชน ทางเว็บไซต์กลาง 86 รายการ
//www.hfocus.org/content/2015/12/11330

Thu, 2015-12-03 13:46 -- hfocus

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยความคืบหน้าแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลเอกชนแพง ขณะนี้ได้แสดงอัตราค่ารักษาโรคที่จำเป็นและป่วยกันมาก โดยประมาณของโรงพยาลเอกชนในกทม.และต่างจังหวัด ทางเว็บไซต์กลาง 86 รายการ เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชน อาทิการผ่าตัดต้อหิน การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และรับข้อเสนอแนะค่ารักษาแพงจากประชาชน เพื่อนำเข้าที่ประชุมกำหนดเป็นมาตรการระยะยาว

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงของสถานพยาบาลเอกชนว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งดำเนินการสนองตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการอย่างเป็นธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรมการค้าภายใน กรมบัญชีกลาง สมาคมประกันชีวิต เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการในระยะต้นนี้ มีความคืบหน้า โดยกรม สบส. ได้รวบรวมอัตราค่าผ่าตัดรักษาโรคที่พบบ่อย ซึ่งเป็นราคาโดยประมาณของโรงพยาบาลเอกชนทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทุกภาค เป็นข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชน รวม 86 รายการ เผยแพร่ทางเว็บไซต์กลางคือ //www.hospitalprice.org ซึ่งถือว่าเป็นโรคจำเป็นและป่วยกันมาก ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการใช้บริการได้ศึกษาเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวต่อว่า อัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งแตกต่างกัน อาทิ การผ่าตัดแก้ไขข้อเข่าเทียม ราคาตั้งแต่ 50,000-300,000 บาท การผ่าตัดต้อหินอัตราตั้งแต่ 15,000 -90,000 บาทการผ่าตัดลิ้นหัวใจแบบเปิดอัตราตั้งแต่ 250,000 - 1 ล้านกว่าบาท เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวันนอน เวชภัณฑ์ที่ใช้เพิ่มเติม หรือภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วย โดยประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดกับโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 โรงพยาบาลจะต้องแสดงอัตราค่ารักษา

สำหรับเว็บไซต์กลางที่ให้ข้อมูลนี้ ได้เปิดให้บริการมา 5 เดือนแล้ว มีประชาชนเข้าชมประมาณ 10,000 ครั้ง นอกจากจะแสดงอัตราค่ารักษาแล้ว ยังให้ความรู้ คำแนะนำ แนวทางการรักษาโรคต่างๆแก่ประชาชนด้วย เช่น โรคตาต้อกระจก โรคข้อเข่าเสื่อม การผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านทางกล้อง และเปิดรับข้อเสนอแนะ หรือข้อมูลการแก้ไขค่ารักษาพยาบาลแพงได้ด้วย โดยกรมสบส. จะรวบรวมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ซึ่งมีนายแพทย์ธงชัย กีรติหัตยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นประธาน เพื่อให้ได้มาตรการแก้ไขปัญหาเชิงระบบในระยะยาวอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้กรม สบส. ยังได้เปิดสายด่วนรับร้องเรียนเรื่องค่ารักษาแพง ทางหมายเลข 02 193 7999 ตลอด 24 ชั่วโมง ในปีงบประมาณ 2558 ได้รับแจ้งรวม 58 ราย ประกอบด้วยในพื้นที่ กทม. 38 ราย ที่เหลือจากต่างจังหวัด ส่วนในปีงบประมาณ 2559 ได้รับแจ้งแล้ว 8 ราย โดยจะนำเข้าที่ประชุมในเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตามขณะนี้กรม สบส. ได้ร่วมกับสภาเภสัชกรรม วางแผน และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบของการปิดป้ายราคายาทุกชนิดจากโรงงานผู้ผลิตหรือผู้จำหน่าย ซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ และจะรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ดังกล่าวต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเพื่อพิจารณาการดำเนินการต่อไป

.............................


เพิ่มเติมความเห็นของ อ. Thira Woratanarat

วันก่อนโทรให้สัมภาษณ์สื่อเรื่องมาตรการจัดการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลของเอกชน...

ป๊าแจ้งไปดังนี้

หนึ่ง คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อครึ่งปีก่อน ดูคล้ายจะเป็นปาหี่ของนักการเมืองและนักบริหารหรือไม่ เพราะกรรมการหลายคนไม่ทราบข้อมูลและความคืบหน้าอะไรเลยนอกจากผ่านทางข่าวของสื่อมวลชน

สอง การปิดฉลากราคายาไม่ใช่เรื่องด่วนหรือเรื่องสำคัญที่จะแก้ไขและบรรเทาปัญหา

สาม เรื่องที่ประชาชนกังวลคือ เวลาฉุกเฉินแล้วไปรักษาเอกชนแต่ถูกบังคับลงนามรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่กลไกรัฐควรช่วยดูแล แต่เอกชนเกี่ยงเรื่องราคากลางที่ตั้งไว้ว่าต่ำไป และอ้างว่าต้องลงทุนด้านบุคลากร อุปกรณ์ และตึก ทั้งๆ ที่บุคลากรส่วนใหญ่รัฐเป็นผู้ลงทุนผลิต แม้บางส่วนจะเรียนจากเอกชนบ้าง แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ล้วนเสียสละร่างกายให้ร่ำเรียน เหตุใดเอกชนจึงไม่ช่วยลดการคำนึงถึงกำไรยามคนเจ็บป่วยฉุกเฉินบ้าง

สี่ ราคาการผ่าตัดและหัตถการราคาแพงต่างๆ ที่สำแดงในเว็บไซต์ที่กรมสบส.จัดทำนั้นค่อนข้างฉาบฉวย มิได้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจหรือช่วยในการตัดสินใจได้เลย เพราะพิสัยที่กว้าง และรายละเอียดไม่ชัดเจน มีศัพท์เทคนิคที่บ่งถึงความไม่ใส่ใจที่จะสื่อแก่สาธารณะ

ห้า รัฐควรแสดงความจริงใจต่อประชาชน โดยชี้แจงให้สาธารณะได้ทราบว่ากลไกที่เคยตั้งนั้นไม่ได้ทำงานอย่างมีส่วนร่วมจริง และควรแจ้งว่าสถานการณ์ปัจจุบันใครทำอะไรที่ไหนอย่างไรและจะได้รับการตรวจสอบจากประชาชนอย่างไร

หก รัฐควรกำหนดนโยบายให้เก็บภาษีเพิ่มเติมจากสถานพยาบาลเอกชน แยกจากที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ด้วยเหตุผลข้างต้น เพื่อนำมาช่วยพัฒนาระบบสุขภาพภาครัฐ นอกจากนี้ยังนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขที่รับความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจรักษาพยาบาลที่รับดูแลผู้ป่วยต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากผลกระทบจากโรคเมอร์ส ที่ทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งประเทศต้องเสียทรัพยากรมากมายเพื่อจัดการโรคติดต่อนั้น

เจ็ด การคุมราคาค่ารักษาพยาบาลนั้นเป็นไปได้ยากและไม่น่ากระทำ ทั้งนี้เพราะวิชาชีพสุขภาพอาศัยทักษะเฉพาะบุคคล และแปรผันตามประสบการณ์ คนเราย่อมอยากไปรับการดูแลรักษาจากคนที่เก่งหรือประสบการณ์สูง รัฐควรช่วยได้เพียงการจัดการระบบเวชภัณฑ์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศให้มีราคาเป็นธรรม มิใช่ให้เป็นช่องทางที่รพ.เอกชนหวังฟันกำไรจนเกินควร กำไรได้แต่ควรสมน้ำสมเนื้อ พูดคุยตกลงกันให้เกิดฉันทามติ

สิ่งที่ต้องทำแต่รัฐไม่จริงจังและไม่จริงใจคือ เรื่องการเจ็บป่วยฉุกเฉินครับ...ในสายตาป๊า!!!

โดย: หมอหมู วันที่: 3 ธันวาคม 2558 เวลา:14:22:24 น.
  
ตรวจสอบค่ารักษาพยาบาล Online ได้ที่ //www.hospitalprice.org
สายด่วนสุขภาพ 02 193 7999
โดย: หมอหมู วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา:21:28:20 น.
  
Utai Sukviwatsirikul อยู่ที่ PharmaTree Villa Market Sukhumvit Soi 49
26 ธันวาคม 2018 เวลา 18:41 น. · กรุงเทพมหานคร ·

#ทำไมยาโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ???

ประเด็นสำคัญที่สังคมให้ความสนใจและจับตามองอยู่ในขณะนี้ คงไม่พ้นเรื่อง“#การควบคุมราคายาและการรักษา” หลังมีเสียงสะท้อนว่า ทำไม? ยาและเวชภัณฑ์ใน “โรงพยาบาลเอกชน” จึงมีราคาสูงกว่า “โรงพยาบาลของรัฐ” หลายเท่า และหากนำไปเปรียบเทียบกับ“ร้านขายยา”ทั่วไปยิ่งสูงปริ้ด ล่าสุดมีความพยายามจากภาครัฐ ที่จะนำมาใช้ควบคุมราคา

เรามีคำตอบว่า ทำไมราคายาเอกชนในโรงพยาบาลจึง (โคตร) แพง และภาครัฐจะคุมราคาได้ จริงๆหรือ??

คำตอบมาจาก guru สองท่าน คือ ท่านนายก Wirun Wetsiri และ อาจารย์หล่อ พนมกร หมอหมู ดิษฐสุวรรณ์

#ราคาต้นทุนที่แท้จริง
เรามาพูดกันอย่างไม่อายเลยว่า โรงพยาบาลเอกชนคือธุรกิจ ไม่ใช่บริการภาครัฐที่มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ (ซึ่งต้นทุนจริงๆเหล่านี้ก้อคือ ภาษีที่คุณต้องจ่ายไปให้ภาครัฐ แล้วนำมาจ่ายให้ รพ.รัฐ น่านแหละ)

เมื่อเป็นบริการทางการแพทย์ คุณอยากได้ความสดวกสบายในการรักษา ไปหาหมอได้ง่ายๆ ไม่ต้องรอคิวนานๆ
ไป รพ. ที่สวยงาม พนักงานยิ้มแย้มแจ่มใสตั้งแต่เหยียบพรมเข้าไปใน ตึก รพ. หรูสง่า แอร์เย็นฉ่ำ

หากคุณไป "ซื้อบริการ" ธรรมชาติของการขาย ราคาจะผันแปรตามปริมาณซื้ออยู่แล้วครับ ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว รพ.รัฐมักจะซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า รพ.เอกชน แต่อย่างไรก็ไม่ต่างเกินหลายสิบเปอร์เซนต์หรอก

.... ปัญหาของ รพ.เอกชนตอนนี้คือ เรื่องการคิดต้นทุนค่าบริการ เพราะ #นำต้นทุนอื่นๆไปบวกกับค่ายา เช่นค่าที่ดินใจกลางเมืองที่คุณไปหาหมอสะดวก, ค่าที่จอดรถ, ค่ายาม, ค่าบริการแสนสบายต่างๆ ไม่ได้มีการคิดแยกส่วน ทำให้ราคายาสูงขึ้นกว่าภาครัฐเป็นหลายร้อยเปอร์เซนต์ พูดง่ายๆ #ผลักภาระต้นทุนอื่นๆไปเอากำไรรวมจากค่ายาน่านเอง ค่ายาที่แพงจึงเป็นไปตามสัดส่วนต้นทุนแฝงที่บวกเข้าไปน่านเองนิ

#ทำไมยาเอกชนจึงแพง
ทางออกของราคา รพ.เอกชน ... ทาง รพ.เอกชนเองต้องมีรูปแบบวิธีการคิดค่าบริการใหม่ให้ชัดเจน จะหมกเม็ดไปอยู่ในค่ายาหนักๆ ไม่ได้เหมือนเดิม ...

เคยถามเพื่อนหมอที่เป็นผู้บริหาร รพ เอกชน ชื่อดังที่ภูเก็ต เพื่อนหมอบอกว่า #ขายราคาธรรมดาก็ได้ คือ plus % Gross Margin Profit ตามต้นทุนแท้จริงก้อได้นะ แต่คงต้องเพิ่มส่วน "ค่าบริการโรงพยาบาล" เข้าไปแทน จะกี่ร้อยกี่พัน ก็คำนวณบวกเพิ่มไปในบิล ตอนนี้ รพ. ก้อเริ่มแล้ว เช่น ค่าตรวจของหมอ Doctor Fee, ค่าบริการของพยาบาลเช่นวัดความดัน Nurse Fee ไม่เชื่อลองดูบิลก้อได้ ระบบเดิมๆนี้ ที่ยาราคาสูงๆ มันก้อดีนะ ใครได้ยามากๆก็จ่ายส่วนนี้มาก ยาน้อยๆ ก็จ่ายน้อย ก้อที่พวกคุณมาบ่นเรื่องราคาแพงนี่แหละ

แต่หากเปลี่ยนระบบ ต้นทุนเหล่านี้ จะโดนผลักภาระ กลายไปเป็น จ่ายเท่าๆกันหมดทุกคน ป่วยน้อยก้อจ่ายแพง ป่วยมากก้อจ่ายแพง คือแค่ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" หากคุณเดินเข้าไปในตึกรพ. ก็ต้องจ่ายส่วนนี้แล้วน่ะ จะยอมกันได้รึเปล่า??

#ยาคือสินค้าควบคุม
ตามกฏหมาย ยา โดยปกติ ก็เป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้วครับ แต่ยังไม่ได้คุมราคา (ยกเว้น ยาบางตัวที่มีราคา sticker price พิมฑ์ติดอยู่ หากเป็นยาร้านยา ต้องขายตามราคาที่ระบุเท่านั้น) ....แต่ หากเป็น รพ. มีกฏหมาย เพียงระบุว่าให้แสดงราคา ภาครัฐเองคงไม่สามารถสั่งให้คุมราคายาได้เพราะรัฐเองก็ไม่ได้มีกำลังผลิตยาได้เองในทุกประเภท ทำได้แค่เพียงออกมาตรการราคากลางยา ซึ่งบังคับได้เฉพาะแต่เพียงภาครัฐเท่านั้น ไปคุมราคาเค้ามากๆ บริษัทยาข้ามชาติเค้าก้อไม่นำเข้ามาขาย ใครจะไปขายขาดทุน พวกคุณจะยอมรับกันได้หรือเปล่า??

#คุมราคาได้ไหม?
มาตรการล่าสุดของภาครัฐ เกิดจากแรงกระหน่ำจาก NGO เสนอให้ตั้งเพดานราคายาและบริการทางการแพทย์ในลักษณะ Cost plus ... #น่าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะในเชิงปฏิบัติ บริษัทยาหนึ่งจะมียาหลายชนิด ความเก่าใหม่ก็หลากหลาย ยาใหม่อาจใช้ต้นทุนในการจ้างคนมาอธิบายยากับหมอเยอะกว่ายาเก่า ทำให้ต้นทุนต่างกัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการตลาดอื่นๆ ก็ต่างกันด้วย ทำให้การที่จะกำหนดราคาขายที่เกิดจากต้นทุนบวกเพิ่มแทบจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะให้ตีเหมาเฉลี่ยก็ยิ่งจะไม่ถูกหลักการบัญชีอีก .... คงจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพียงแต่เป็นได้แค่เพียงมาตรการกดดันให้ลดราคาไปเรื่อยๆ เท่านั้น

#อีกทางเลือกนึงของยาราคาถูก
จริงๆเป็นสิทธิ์ของคนไข้ อยู่แล้ว ที่จะไม่รับยาจากโรงพยาบาล แต่ไปหาซื้อยาเองข้างนอกจากร้านยา #ซึ่งราคายาถูกกว่าโรงพยาบาลแน่นวล แต่มาตรการนี้โรงพยาบาลเอกชนก้อมีมาตรบังคับทางอ้อมมากมาย บีบให้คนไข้ต้องรับยาจากโรงพยาบาลเท่านั้น

คำตอบของมาตรการคุมราคานี้ของทางภาครัฐก้อคือ "ไม่มีประโยชน์ใดๆ" ... ความจริงบางครั้งก้อเจ็บปวด ลองอ่านบทความนี้ดูอีกรอบนึง แล้วตัดสินใจเองว่า จะเลือกการรักษาพยาบาลแบบไหนตามความสบายใจและเงินในกระเป๋าของเราเอง

#เภสัชกรอุทัย #utaisuk #urx

รายละเอียดการวิจัยค่ายาและต้นทุนต่างๆ สามารถติดตามไปดูได้จาก แหล่งข้อมูล:

ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล, ค่ายารพ.เอกชนแพงถึง 400 เท่า
https://www.hfocus.org/content/2015/05/9942

ทำไมราคายาประเทศไทยแพงจัง? - กพย.
www.thaidrugwatch.org/download/series/series26.pd

หมอหมู, โรงพยาบาลเอกชน "แพง" .. ข้อมูลที่ยังไม่รู้ หรือว่า แกล้งไม่รู้ ?
https://www.bloggang.com/m/viewdiary.php…

เฉลยที่มา ...”ราคายาโรงพยาบาลเอกชน” แพง?https://www.posttoday.com/social/general/368682

กระเทาะเปลือกวิธีคิด “ค่ารักษา” เหตุผลที่ “โรงพยาบาลเอกชน” แพงกว่า
https://www.posttoday.com/social/general/368421

กระเทาะเปลือกวิธีคิด"ค่ารักษา"รพ.เอกชน
//www.tnnthailand.com/v1/news_detail.php…

ราคายาแพง - หมอชาวบ้าน
https://www.doctor.or.th/article/detail/5678

NANCHANOK WONGSAMUTH ,BANGKOK POST
We can prescribe it for you wholesale
https://www.bangkokpost.com/…/we-can-prescribe-it-for-you-w…?

สารี อ๋องสมหวัง : ผู้บริโภคกับ ‘ความไม่รู้’ เรื่องปัญหาบริการสุขภาพและสาธารณสุข
https://www.the101.world/saree-consumers-health-rights

หมอเอกชนแจงยิบค่ารักษาแพงเหตุค่าใช้จ่ายอื้อ | เดลินิวส์
https://www.dailynews.co.th/politics/676671

พาณิชย์ แก้โรงพยาบาลเอกชนโขกราคา เล็งดึงค่าหมอ-ยา สินค้าควบคุม
https://www.thairath.co.th/content/1455306?
โดย: หมอหมู วันที่: 11 มกราคม 2562 เวลา:7:26:30 น.
  
“พาณิชย์” เดินหน้าแก้ปัญหา “ค่ายาและเวชภัณฑ์-บริการทางการแพทย์” โรงพยาบาลเอกชนแพง จ่อออกประกาศ กกร.สั่งปิดป้ายแสดงราคาให้ผู้บริโภคได้รับรู้ก่อนตัดสินใจใช้บริการ ตั้งคณะทำงานดูโครงสร้างต้นทุนค่ารักษาขีดเส้น 60 วัน ก่อนชงคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการดูแล พร้อมมอบสาธารณสุขประกาศให้ผู้บริโภครับรู้สิทธิ์ตัวเองในการซื้อยาข้างนอก

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ว่า กรมการค้าภายใน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กำลังจะออกประกาศ กกร. กำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนปิดป้ายแสดงราคายาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ให้ชัดเจน ซึ่งเป็นมาตรการแรกที่จะนำมาใช้หลังจากได้กำหนดให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในสัปดาห์หน้า

“ในการปิดป้ายแสดงราคาจะต้องทำให้ดูได้ง่าย อาจทำเป็นสมุดให้ไปเปิดดู หรือเอาไปใส่ไว้ในคอมพิวเตอร์ ในเว็บไซต์หรือทำตู้คีออสก์ให้กดดู แต่ไม่ใช่ทำแล้วเอาไปแอบไว้ หรือเอาไปเก็บไว้หลังเคาน์เตอร์

เบื้องต้นในส่วนของยาให้เน้นรายการที่มีคนใช้เยอะๆ ก่อน อาจจะเริ่มที่ 1,000 รายการ แล้วค่อยขยับเพิ่มขึ้น เพราะยามีเป็นหมื่นรายการ รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ที่ต้องแสดงราคาให้ชัดเจนด้วยว่าเป็นค่าอะไรบ้าง ทั้งค่ารักษา และค่าบริการอื่นๆ”

นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า ยังได้แต่งตั้งคณะทำงาน มีนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน เพื่อพิจารณา โครงสร้างต้นทุนค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีระดับต่างกันตั้งแต่ 5 ดาว 4 ดาว ลงมาจนถึง 2-3 ดาว ต้นทุนการประกอบการก็อาจจะไม่เท่ากัน โดยให้เวลาในการพิจารณา ภายใน 60 วัน และนำให้รายละเอียดที่ได้ทั้งหมดเสนอให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณา เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมในการดูแลต่อไป

ทั้งนี้ ยังได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชน ประกาศสิทธิ์ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจนที่จะขอใบสั่งยาและไปซื้อยาข้างนอก ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหายามีราคาแพงลงได้

สำหรับกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ยังมีปัญหาในเรื่องการเข้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้ ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้ป่วยฉุกเฉินจะสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ในทุกโรงพยาบาลใน 72 ชั่วโมงแรก แต่ก็มีการกำหนดเงื่อนไข ต้องเป็นผู้ป่วยในระดับสีแดงเท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยในระดับสีเหลือง หรือสีเขียว ที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ถูกโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่รับรักษา หรือรักษา แต่ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้ป่วย

นอกจากนี้ ในการรักษาโรค โรงพยาบาลเอกชนจะต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนว่าจะได้รับการรักษาอย่างไร มีค่าใช้จ่ายขนาดไหน โดยมีการยกตัวอย่างกรณีมีดบาด ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

หรือกรณีที่เข้าไปรักษาโรคหนึ่ง แต่มีการตรวจสอบพบเจอโรคอื่นเพิ่มเติมก็จะต้องแจ้งรายละเอียดการรักษาและค่าใช้จ่ายให้ชัดเจนด้วย

โดย: หมอหมู วันที่: 1 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา:15:09:34 น.
  
ดีฮัฟ แมคเองก๊าปปป
โดย: gaopannakub วันที่: 4 กรกฎาคม 2568 เวลา:14:35:15 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด