ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการฯ...ใครได้ใครเสีย? ... จาก พญชัญวลี ศรีสุโข + นสพ.มติชน


ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข...ใครได้ใครเสีย?

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข(chanwaleesrisukho@hotmail.com)




มีความสงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขก็ร่างมาตั้งนานแล้ว ทำไมจึงเพิ่งมีการประท้วงจากบุคลากรสาธารณสุขเมื่อจะนำร่างฯบรรจุวาระนำเสนอการพิจารณาของสภา

คำตอบก็คือ แพทย์ทั่วไปเห็นด้วยกับการคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียดของร่างฯ พบว่าอาจจะเกิดผลกระทบทางลบต่อระบบสาธารณสุขโดยรวมจนทำให้ระบบสาธารณสุขในอนาคตล้มเหลวได้ จึงเกิดกระแสคัดค้านขึ้น


ข้อดี ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายฉบับที่จะนำเข้าสู่สภามีอะไรบ้าง

1. ผู้เสียหายมีสิทธิ์ได้รับเงินสองต่อ ทั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย โดยไม่ต้องพิสูจน์หาผู้กระทำผิด โดยเงินชดเชยนั้นประกอบด้วย เงินใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการรักษาพยาบาล, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้, ค่าชดเชยจากความทุกข์ทรมานทางด้านจิตใจ, ค่าชดเชยในกรณีพิการหรือทุพพลภาพ, ค่าชดเชยในกรณีที่ถึงแก่ความตาย,ค่าชดเชยการขาดไร้อุปการะกรณีที่ถึงแก่ความตายและมีทายาทที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู, ค่าใช้จ่ายอื่นๆที่คณะกรรมการกำหนด

2. การพิจารณาจ่ายเงินชดเชย ให้คำนึงถึงสภาพความเสียหาย สภาพจิตใจผู้เสียหายสิทธิประโยชน์ที่ได้รับตามกฎหมายอื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมแวดล้อมด้วย

3. ขยายระยะเวลาที่จะยื่นคำร้องความเสียหายจากการรับบริการฯ จากเดิม1ปีตามมาตรา41มาเป็นภายใน3ปี นับแต่วันที่ได้รู้ความเสียหาย อีกทั้งอายุความการเรียกร้องเพิ่มเติมให้นาน10ปี หากพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการรับบริการทางสาธารณสุข



ผลกระทบทางลบ ของร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายมีดังนี้


ประการที่1 ขาดน้ำใจ

ไม่มีบุคลากรทางสาธารณสุขคนไหนไม่กลัวการฟ้องร้อง แม้กระทั่งมาตรา41 ซึ่งพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่พิสูจน์ถูกผิดไม่ได้ขึ้นโรงขึ้นศาล ก็ทำให้บุคลากรทางสาธารณสุขผู้เกี่ยวข้องเป็นทุกข์แสนสาหัส

บุคลากรทางสาธารณสุขที่กลัวการฟ้องร้องส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาคนไข้จำนวนมากและอยู่เวรหนักทั้งคืน

ยิ่งร่างพรบ.ฯ ฉบับนี้ เปิดช่องเขียนเป็นกฎหมายให้ผู้เสียหายฟ้องร้องแพทย์ได้ทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งแม้ได้ค่าช่วยเหลือเบื้องต้นและค่าชดเชยไปแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยเปลี่ยนไป จากรักใคร่เห็นใจเอื้ออาทรต่อกัน จะกลายเป็นความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะกลัวจะถูกฟ้อง

บรรดาแพทย์ผู้รักษาพยาบาลอาจสั่งตรวจและให้การรักษาพยาบาลมากเกินไปเพื่อป้องกันความผิดพลาดตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นซึ่งเป็นภาระของโรงพยาบาลและของผู้ป่วยเอง หรือตรวจรักษาน้อยเกินไปไม่แน่ใจก็ส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่น ซึ่งทั้ง 2 กรณีผลกระทบจะเกิดกับคนไข้ยากจนด้อยโอกาส เพราะคนที่มีฐานะสามารถเลือกการรักษาพยาบาลตามที่ตนต้องการได้


ประการที่ 2 ขาดเงิน

เงินที่จ่ายให้ผู้เสียหายต้องจ่ายสองทบทั้งให้เบื้องต้นและชดเชย คาดการณ์ว่าเมื่อพรบ.นี้คลอดออกมาเงินจำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆอย่างไม่มีขีดจำกัด จากปีละหลายพันล้าน กลายเป็นหมื่นล้านในไม่กี่ปี เพราะใครก็อยากได้เงิน ยิ่งมีโมเดลตัวอย่างว่า หากเป็นกรณีนั้นกรณีนี้สามารถได้เงิน

ขณะที่ทุกสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องถูกบังคับให้จ่ายเงินสมทบเพื่อการนี้โดยสมทบมากขึ้นหากเกิดการฟ้องร้องมากขึ้นเหมือนการทำประกันภัยรถยนต์ มีบทบัญญัติให้ปรับ,ให้เสียดอกเบี้ย ถ้าจ่ายเงินไม่ทันตามกำหนด เป็นการซ้ำเติมสถานะทางการเงินของสถานพยาบาลทุกแห่ง เพราะเมื่อครบ8ปีของระบบประกันหลักสุขภาพถ้วนหน้า สถานพยาบาลล้วนต้องแบกภาระรักษาคนไข้จนหลังแอ่น, ขาดสภาพคล่องทางการเงิน, ไม่มีเงินที่จะลงทุนซื้อเครื่องไม้เครื่องมือฯลฯ

เมื่อไม่มีเงิน สถานพยาบาลอาจต้องลดการบริการ, ลดคุณภาพ, ลดการจ่ายยา, หรือเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ใช้บริการฯลฯ สร้างความเดือดร้อนต่อผู้รับบริการโดยถ้วนหน้า


ประการที่3 ขาดความเคารพไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันมีการช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา41ในคนไข้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมีผู้มีความรู้ทางการแพทย์เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ มีการเจรจาไกล่เกลี่ยอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังไว้เนื้อเชื่อใจระบบการแพทย์ แม้จะได้เงินหรือไม่ได้เงินค่าช่วยเหลือเบื้องต้น

ในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากความผิดของบุคลากรทางการแพทย์ การที่ผู้เสียหายฟ้องศาลเพื่อขอความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่หากการช่วยเหลือเบื้องต้นและการชดเชยตามร่างพรบ.ฯไม่อิงความรู้ทางการแพทย์เลย การตัดสินว่าควรจ่ายเงินทั้งเบื้องต้นและชดเชยจากเหตุผลความสงสารจะทำให้ระบบสาธารณสุขสุดท้ายล้มเหลว ขาดความเคารพไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพราะมีเหตุเสียหายมากมายที่เกิดจากการละเลยการดูแลสุขภาพตนเอง ไม่พักผ่อน,ไม่ออกกำลังกาย, เที่ยวกลางคืนเป็นนิจ, ดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, เสพสารเสพติด, เล่นพนัน, สำส่อนทางเพศ , ทำแท้ง ,ไม่เคารพกฎจราจร, ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์


ประการที่ 4 ขาดการตัดสินตามมาตรฐาน

การตัดสินให้เงินช่วยเหลือและเงินชดเชย จะใช้มาตรฐานอะไรมาวัด เนื่องด้วยความเป็นจริงของประเทศ มาตรฐานทางการแพทย์ของแต่ละสถาน พยาบาลไม่ว่า อนามัย, โรงพยาบาลชุมชน, โรงพยาบาลจังหวัด, โรงพยาบาลศูนย์, โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฯลฯ ไม่เท่ากัน บางสถานพยาบาลขาดแคลนบุคลากร, เครื่องมือทางการแพทย์, เทคโนโลยี ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวแปรของมาตรฐาน ขณะที่ทุกคนต้องใช้กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งอาจตามมาด้วยสมองไหลออกจากสถานพยาบาลของรัฐ


ประการที่5 ขาดผู้เรียนสาขาทางการแพทย์

ต่อไปจะไม่มีใครเลือกเรียนสาขาทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้อื่น เพราะความหวังดีต่อผู้อื่น การเสียสละประโยชน์สุขส่วนตน อาจทำให้ตนเองติดคุกได้



สรุป

ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรจะเป็น ต้องไม่กระทบทางลบต่อคนไข้ บุคลากรทางการแพทย์ และประเทศชาติทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ก่อนนำร่างเสนอสู่สภาควรมีการทำประชาพิจารณ์ให้รอบด้านเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทุกคน

การปล่อยร่างพรบ.ฯที่เป็นปัญหาให้เข้าสู่สภา ต่อมาเกิดผลในทางปฏิบัติ อาจทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวจนเกินแก้ เป็นแบบกว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้หมดแล้ว







ปล. เป็นอีกมุมมองหนึ่ง ที่สะท้อนความรู้สึก ของ แพทย์ที่ยังรับราชการ ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย อยู่ในปัจจุบัน ... ซึ่งผมเห็นด้วยเลยว่า ถ้าเรายังไม่แน่ใจ ยังสับสนกันอยู่แบบนี้ ทำไม ไม่มานั่งคุยกันให้เข้าใจกันก่อน ทำไมต้องรีบผลักดันให้เข้าสภาในตอนนี้ด้วยเล่า ???




Create Date : 07 สิงหาคม 2553
Last Update : 7 สิงหาคม 2553 12:11:44 น.
Counter : 2423 Pageviews.

1 comments
ห้องปฏิบัติการสวนหัวใจที่โรงพยาบาล Mount Sinai ได้นำเสนอผลเบื้องต้นของ Sofiya ซึ่งเป็นผู้ช่วย..... newyorknurse
(25 มิ.ย. 2568 06:26:23 น.)
วิ่งข้างบ้าน 15,17,18,19,21 มิ.ย.2568 สองแผ่นดิน
(24 มิ.ย. 2568 22:37:50 น.)
Day..11 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(18 มิ.ย. 2568 10:11:49 น.)
WRB10 Fighting Stroke สนามเจริญสุขมงคลจิต แมวเซาผู้น่าสงสาร
(14 มิ.ย. 2568 14:50:56 น.)
  


ร่างกฎหมายนี้มันแย่ตั้งแต่ชื่อร่างพ.ร.บ.ฯ เพราะ สำนักงบถามว่าทำไมหลวงต้องจ่ายให้ผู้เสียหาย ? ทำไมไม่เอาจาก "ผู้ก่อความเสียหาย" ?

ถามคนร่างว่าทำไมไม่ใช้คำว่า" ผลกระทบ" เพื่อจะได้รวมผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นพยาบาลที่ติดวัณโรค เป็นต้น เขาบอกว่าไม่เอาจะเอาเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย

ในเรื่องผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขนั้นไม่มี มีแต่ผู้ได้รับผลกระทบจากสิ่งไม่พึงประสงค์ในการบริการ

ไม่มีระบบสาธารณสุขหรือระบบริการสุขภาพใดจัดให้มีเพื่อทำความเสียหายให้ผู้ใช้บริการ ชื่อนี้เป็นชื่อที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ให้บริการ

ลำดับถัดไปก็เรื่องกรรมการพวกเขาเอาสภาวิชาชีพออกเพราะถือว่าเป็นศัตรู จะเอาไว้ทำไม? แต่ในที่ประชุมพูดหรูมาก ว่า เพราะไม่มีการพิสูจน์ถูกผิด ... เมื่อไม่มีแพทย์จะได้ไม่ต้องพูดเรื่องมาตรฐาน

ทำไมเอ็นจีโอ ๖ คนใน๑๑ คน เพราะเอ็นจีโอที่จะไปเป็นกรรมการคือคนกลุ่มนี้ และเป็นกลุ่มที่เป็นสมัชชาสุขภาพแห่งชาติชนิดถาวร เจอทุกเวทีที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติอ้างประชาชน

เมื่อ ปี๒๕๕๐ หมออำพลเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมงคล ณ สงขลา และเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ เป็นเลขานุการกรรมาธิการสาธารณสุข ได้ขอให้ครูแดงหรืออาจารย์เตือนใจ ดีเทศ เสนอกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า ร่างพ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ๒๕๕๐ แก้ไขให้เอ็นจีโอไปเป็นกรรมการแพทยสภา ภายหลังครูแดงทราบข้อเท็จจริงจึงถอนร่างกลางสภา ก็เอ็นจีโอและผู้ผลักดันกลุ่มเดียวกัน

นี้เป็นตัวอย่างHA(Hidden agenda)พอสังเขป ที่จริงมีอีกมากครับ

หากจะทดสอบร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ใช้วิธีแบบ สรพ.แนะนำก็ได้คือ การทำคลินิกคอลเทรเซอร์ ยกตัวอย่างเคสเพื่อทดสอบระบบ

สมมุติ ว่า มีคนอยากได้เงินใช้ แล้วเข้าไปรพ.หรือคลินิกบอกอาการปวดหัวตัวร้อนสะเปะสะปะแล้วได้ยามาถุงหนึ่ง ไปโวยวายกับกรรมการชุดนี้ จะได้เงินใช้สบายๆ เหตุผลคืออะไร? ลองคิดแก้โจทย์ข้อนี้ดูนะครับ ค่ำนี้ว่างๆจะมาเฉลยครับ


--------------------------------

หมอแต๋ง


โดย: หมอหมู วันที่: 9 สิงหาคม 2553 เวลา:9:52:43 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Cmu2807.BlogGang.com

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 763 คน [?]

บทความทั้งหมด