" เบื้องหลัง " .... พรบคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฯ ... โดย นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ ![]() เบื้องหลัง พรบคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (พ.บ., ประสาทศัลยศาสตร์., น.บ.) //www.medicalprogress-cme.com/Voice/VoiceV9N10.pdf มาจาก :- Medical Progress CME / October 2010 //www.medicalprogress-cme.com/index.asp ณ เวลานี้ ข่าวเรื่องการพยายามผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ถูกรณรงค์โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีแพทย์น้อยคนนักที่จะไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ฟางเส้นสุดท้ายของความอดทนของบุคลากรสาธารณสุขหลายภาคส่วนหมดลงทันที และก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็คงนึกไม่ถึงเช่นกันว่าบุคลากรสาธารณสุขโดยเฉพาะกลุ่มแพทย์ที่แต่ไหนแต่ไรมาเปรียบเหมือนลูกไก่ในกำมือในสายตาของมูลนิธิ กลับกระโดดออกมาต่อต้านร่างกฎหมายนี้อย่างถึงที่สุด บุคลากรที่ไม่เคยรวมตัวกัน กลับสามารถรวมตัวกันได้ (แม้จะยังไม่เหนียวแน่นอย่างถึงที่สุด) และแสดงพลังออกมาให้เห็น สุภาษิตที่ว่า รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย หรือ สามัคคีคือพลัง ดูจะใช้ได้ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้ ตลอดสามปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเข้าไปรับรู้เรื่องการร่างกฎหมายนี้ตั้งแต่แรกๆ และมีส่วนเข้าไปร่วมร่างและชี้แจงต่อผู้เกี่ยวข้องทั้ง สวรส. สช. สปสช. คณะกรรมาธิการสาธารณสุขของรัฐสภา คณะกรรมการกฤษฎีกา หลายต่อหลายครั้ง ไม่น่าจะต่ำกว่าห้าสิบครั้ง เรียกว่าไปจนเบื่อ ความรู้สึกกระตือรือร้นในการพยายามให้กฎหมายออกมามีหน้าตาดี ทำงานได้ กลายเป็นท้อแท้และสิ้นหวังกับกฎหมายนี้ หลายคนถามว่าทำไมกฎหมายถึงมีหน้าตาแบบนี้ แรกปฏิสนธิ วันแรกที่ถูกตามตัวทางโทรศัพท์จากกระทรวงสาธารณสุขให้ไปดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมายโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนและผู้ให้บริการสาธารณสุขให้สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการฟ้องร้อง ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีพื้นฐานหรือความรู้ในการร่างกฎหมายมาก่อนแม้จะจบปริญญาทางด้านกฎหมายมา แต่ในการเรียนการสอนไม่เคยมีตำรา หรือวิชาใดที่พูดถึง เทคนิคและหลักเกณฑ์การร่างกฎหมาย ความรู้สึกแรกคือหนักใจและไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ไม่ลองไม่รู้ คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมามีทั้งตัวแทนจากสภาทนายความ แพทยสภา อัยการ วันแรกที่เจอหน้าคณะกรรมการ ความรู้สึกแรกคือเราอ่อนอาวุโสที่สุด บางคนเป็นผู้อาวุโสจากสภาทนายความ (ซึ่งภายหลังมีส่วนในการว่าความเอาผิดอดีตนายกรัฐมนตรี) บางคนเคยเป็น สนช. สสร. ในการร่างรัฐธรรมนูญ หลายคนมีตำแหน่งเป็นทางการที่ค่อนข้างใหญ่โตในองค์กรของตนเอง โจทย์ตอนแรกคือ การจัดทำประมวลวิธีพิจารณาความที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องร้องในมูลละเมิดและอาญาทางด้านสาธารณสุข เมื่อประชุมกันก็ได้รับคำแนะนำจากผู้อาวุโสที่เคยมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายสบัญญัติ (ประมวลวิธีพิจารณาความ) เป็นเรื่องยุ่งยากและมักไม่ได้รับความเห็นชอบ ดังนั้นให้มุ่งไปในเรื่องกฎหมายอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันนั้นเอง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้กำลังจัดทำกฎหมายในลักษณะเดียวกันโดยใช้ชื่อว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งมี สวรส.เป็นแกนกลาง ส่วนคณะจัดทำมาจากภาคประชาชนเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในช่วงแรกของการจัดทำจึงมีคณะทำงานอยู่สองชุด แต่จุดประสงค์คล้ายๆ กัน ระหว่างนั้นก็มีการประชุมข้ามคณะกันเป็นบางครั้ง โดยทางฝั่งของกระทรวงสาธารณสุขจะมีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นแกนกลาง ฝ่ายของมูลนิธิจะมาใช้ที่ประชุมของ สวรส. หรือบางครั้งก็เป็น สช. เป็นหลัก ทำให้ดูเหมือนว่ามีจุดกำเนิดมาจากกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองร่าง (ซึ่งผู้เขียนก็เข้าใจเช่นนั้น) ระหว่างการประชุมเมื่อถึงมาตราสำคัญๆ ทางฝั่งมูลนิธิจะมีการนำผู้ที่เคยพบเห็นหน้าทางสื่อสาธารณะบ่อยๆ เข้ามาร่วมประชุม ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าไม่เหมาะสมเพราะผู้เข้าร่วมประชุมมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการบีบให้ร่างเป็นไปตามความต้องการ เนื้อหาของกฎหมาย ร่างที่มาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจะเน้นไปในเรื่องการเยียวยาผู้ป่วยในกรณีที่มีการกระทำทุรเวชปฏิบัติของแพทย์และอาจมีการเยียวยาในกรณีเหตุการณ์สุดวิสัยแต่เป็นเรื่องรุนแรง เช่น น้ำคร่ำหลุดเข้ากระแสเลือด หรือแพ้ยารุนแรงโดยไม่ทราบมาก่อน แนวทางการยื่นคำขอคือการเพิ่มช่องทางให้เลือกรับเงินจากกองทุน และต้องยุติสิทธิในการฟ้องร้องทั้งหมดเมื่อผู้ฟ้องร้องได้รับเงิน เมื่อยื่นเรื่องรับเงินแล้วห้ามไปใช้ช่องทางศาลอีก เพราะต้องการส่งเสริมให้ใช้ช่องนี้เป็นหลัก แต่ก็ไม่ตัดสิทธิการฟ้อง เพียงแต่เมื่อฟ้องแล้วห้ามกลับมายื่นเรื่องขอรับเงินจากกองทุนอีก การพิสูจน์ว่าควรช่วยเหลือหรือไม่ ก็ดูว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ (มิได้เรียกว่า ผู้เสียหาย) เพียงแต่ไม่เน้นการพิสูจน์ว่าใครเป็นคนทำผิด (พิสูจน์ผิดถูก แต่ไม่พิสูจน์ทราบคนกระทำ) ส่วนร่างที่คลอดออกมาจาก สวรส. นั้นเน้นการเยียวยาให้รวมไปถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานแล้วแต่เกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น ผ่าตัดช่องท้องที่มีพังผืดมากมายแล้วระหว่างผ่าตัดมีความเสียหายกับลำไส้หรือท่อไต หรือการจ่ายเงินให้หากผ่าตัดแล้วมีการติดเชื้อ ซึ่งทางการแพทย์ไม่ได้เรียกว่าการกระทำให้เกิดความเสียหายแต่เรียกว่า adverse effect ซึ่งเกิดได้ภายใต้การรักษาตามมาตรฐาน ความแตกต่างที่สำคัญอีกประการคือ ร่างนี้เปิดให้ผู้ที่เรียกตนเองว่าผู้เสียหายสามารถรับเงินแล้วไปฟ้องต่อได้อีก เมื่อฟ้องแล้วแพ้คดีไม่จำเป็นต้องคืนเงินและยังอาจได้รับเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่ฟ้องแล้วชนะทางกองทุนก็ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติม ห้ามตัดสิทธิการฟ้องทุกรูปแบบ คดีอาญาก็ห้ามเว้น ถึงแม้จะทราบว่าแพทย์ไม่ได้เจตนา แต่ต้องคงไว้เพราะจะเป็นการรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งต้องเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยขยายอายุความทางแพ่งด้วยการฟ้องอาญา ถึงเวลารวมร่างแปลงกายและปัญหาเรื่องประชาพิจารณ์ กฎหมายที่ได้ออกมาทั้งสองฉบับในที่สุดก็ถูกสั่งให้รวมกันเป็นร่างเดียวกันโดยคำสั่งของรัฐมนตรีสาธารณสุขในขณะนั้น ทั้งนี้เพื่อให้กฎหมายออกเป็นฉบับเดียวในนามของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ออกกฎหมาย เนื้อหาในกฎหมายทั้งสองมีหลายมาตราต่างกันแบบ ขมิ้นกับปูน เพราะต่างฝ่ายต่างต้องการในสิ่งที่ขัดกันอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นการรวมร่างในชั้นกฤษฎีกาจึงเป็นเรื่องน่าเวียนหัว ประเด็นเรื่องการประชาพิจารณ์นั้นเป็นที่โต้เถียงมาตลอดว่า กฎหมายนี้ของทางมูลนิธิผ่านการประชาพิจารณ์มาแล้ว ผู้เขียนยอมรับว่าไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายหรือข้อบังคับการทำประชาพิจารณ์ แต่สิ่งที่พบเห็นคือมีการจัดสัมมนาตามโรงแรมหรือสภาวิจัยแห่งชาติ (ตรงสถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท) เป็นครั้งคราว สิ่งที่พบเห็นในขณะนั้นคือ ผู้ร่วมประชุมจะเป็นคนหน้าเดิม ทั้งจากกระทรวง แพทยสภาบางท่าน (ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งตรงนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นความบกพร่องของแพทยสภาที่ไม่สื่อเรื่องนี้ออกไปให้กว้างขวางเหมือนกับที่สมาพันธ์วิชาชีพแพทย์หรือชมรมรพ.ศูนย์ ทำได้ในขณะนี้) ตัวแทนจากกระทรวงก็มีทั้งผู้เขียน (ซึ่งมีโอกาสพูดไม่มาก) และผู้หลักผู้ใหญ่บางท่านที่ทุ่มเทเวลาในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนแพทย์และพยาบาล (แต่ติดขัดหลายอย่างที่ไม่อาจกล่าวได้) การสัมมนาในสายตาของผู้เขียนโดยเฉพาะที่เกิดขึ้นที่สภาวิจัยแห่งชาติ เป็นการสัมมนาหรือการประชาพิจารณ์ที่น่ากระอักกระอ่วนชนิดที่หากไม่ถูกบังคับหรือขอร้องให้ไปก็ไม่อยากไป นอกจากจะเสียเวลาแล้วยังอาจโดนเชือดคาเวทีง่ายๆ เพราะผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องการร่างกฎหมายน้อยมาก หลายท่านเป็นชาวบ้านที่ยังไม่เคยอ่านกฎหมายนี้ทั้งฉบับ เพียงแต่รับทราบว่าจะมีกฎหมายที่ให้เงินเมื่อเกิดความไม่พอใจในผลการรักษา หลายท่านเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดีในการเข้าไปรับการรักษา ซึ่งอาจมีทั้งที่ถูกและผิด แต่สิ่งที่อยู่ในใจของผู้ร่วมสัมมนาคือ ความรู้สึกเป็นลบต่อบุคลากรทางการแพทย์ ราวกับว่ากำลังจะออกกฎหมายเพื่อประหัตประหารหรือจัดการโจรในชุดขาว ทำให้ระยะหลังผู้เขียนได้แต่ไปเซ็นชื่อแล้วเดินออก เพราะประธานไม่เปิดโอกาสมากนัก คนที่ขึ้นเวทีส่วนใหญ่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะให้ใครพูดได้มากได้น้อย แต่ไม่ว่าอย่างไรสิ่งที่รู้สึกคือแบบนี้ไม่น่าเรียกประชาพิจารณ์ (ยกเว้นกฎหมายบัญญัติไว้ว่าใช่) แต่น่าจะเรียกว่าการสัมมนาในกลุ่มที่เป็นฝ่ายเดียวกับตน แต่มีการเชิญคนนอกเข้ามาร่วมเพื่อให้ดูว่ามีสีอื่นเข้าไปปะปน ประธานในที่ประชุมหลายครั้งเป็นคนที่มีชื่อเสียง แต่เกือบทุกครั้งจะมาแค่เปิดประชุมแล้วไปงานอื่นต่อแต่ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นเรื่องเป็นราว ราวกับว่าอยู่รับฟังทุกความเห็นในห้องประชุม บางครั้งการจัดประชาพิจารณ์หรือรับฟังความเห็นก็จัดขึ้นโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยการเมืองที่ติดแม่น้ำซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับมูลนิธิ ประเด็นเรื่องการประชาพิจารณ์นั้น ผู้เขียนไม่ทราบว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไร แต่สิ่งที่เห็นคือเป็นการสัมมนาในกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม รู้จักกันมาก่อน บางครั้งมีการประชุมกันไปมาระหว่างหน่วยงานของแต่ละคนมีการรับเบี้ยประชุมกันไปมา คนในกลุ่มหลายคนได้รับการผลักดันให้ไปมีตำแหน่งในแต่ละหน่วยงานของแต่ละกลุ่ม เช่น กทช. สภาวิจัยฯ สสส. สวรส. สช. ลักษณะนี้ไม่น่าจะเรียกว่าประชาพิจารณ์ที่ควรเป็นกลาง และกลุ่มตัวอย่างน่าจะกว้างขวางกว่านี้มาก รวมทั้งไม่ควรมีความสัมพันธ์ในลักษณะนี้มาก่อน ห้องประชุมติดแม่น้ำเจ้าพระยาทิวทัศน์ดี แต่บรรยากาศเครียด ที่สำนักงานกฤษฎีกา มีการตั้งคณะกรรมการเป็นกรณีพิเศษเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้ โดยมีอดีตประธานศาลฎีกาเป็นประธาน มีอดีตอัยการสูงสุด มีผู้พิพากษาศาลสูง มีอาจารย์แพทย์ที่มีคุณวุฒิทั้งทางด้านนิติเวชและกฎหมาย มาเป็นองค์ประชุม มีการเชิญตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข สปสช. อัยการ สำนักงานไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาท กระทรวงยุติธรรม มาเป็นหลัก ที่เหลือเข้ามาร่วมเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลัง (ใช้เวลาเป็นปี) ตัวแทนแพทยสภาไม่ได้เข้ามา นัยว่าไม่เห็นด้วยกับการทำหน้าที่ของท่านประธาน อีกทั้งมีภารกิจที่สำคัญอื่น บรรยากาศวันแรกก็เคร่งเครียดแล้วเพราะเนื้อหาของสองร่างต่างกันมากจนการรวมให้เป็นเนื้อเดียวกันทำได้ยาก แค่ชื่อกฎหมายก็ต้องเรียกว่า ทะเลาะกันแล้ว เพราะทางมูลนิธิยืนยันว่า เขาและคนไข้ทั่วประเทศเป็นผู้เสียหายอันเกิดจากการกระทำของบุคลากร (ทำให้ผู้เขียนนึกในใจว่า เราเป็นแพทย์หรือเป็นโจรที่มีเจตนามาดร้ายประชาชนคนไทย) บางมาตราทางคณะกรรมการก็เห็นด้วยกับเรา (แต่น้อยมากๆๆ แสดงว่าคนส่วนใหญ่มองบุคลากรสาธารณสุขในภาพลบ) หลายมาตราคณะกรรมการก็ไม่เห็นด้วยกับทางมูลนิธิ แต่สิ่งที่รู้สึกตลอดระยะเวลาเป็นปีที่สำนักงานกฤษฎีกาคือ นี่น่าจะเป็นการโต้วาทีระหว่างตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขกับมูลนิธิโดยตรง แทนที่จะเป็นการโต้วาทีระหว่างบุคลากรกับประชาชนทั่วประเทศ เพราะตลอดเวลาทางมูลนิธิทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเขาเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ ยิ่งกว่าสส.ที่เป็นเฉพาะเขตที่ได้รับเลือกตั้ง หลายครั้งก็มีการโต้เถียงกับท่านประธานอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการไกล่เกลี่ยที่ตัวแทนมูลนิธิยืนยันหนักแน่นว่า ไม่ต้องมี ไม่ต้องไกล่เกลี่ยใดๆ เพราะกฎหมายนี้เขียนเพื่อจ่ายเงิน ห้ามมาต่อรองราคา แต่ท่านประธานยืนยันหนักแน่นว่า .....ปาก เพราะไม่ได้บังคับให้มาไกล่เกลี่ย คุณไม่อยากไกล่เกลี่ยก็ไม่ต้อง แต่ประชาชนคนอื่นอาจต้องการ ไม่ต้องมาพูดแทน อีกทั้งในกระบวนการทางศาลปกติก็มีการบังคับให้ไกล่เกลี่ยทุกรายอยู่แล้ว วันนั้นเล่นเอาบรรยากาศอึมครึมเพราะนานๆ จะเห็นท่านประธานฟิวส์ขาด จนระยะหลังเลขาธิการมูลนิธิต้องเข้ามาคุมเกมเองเวลาพิจารณามาตราสำคัญๆ เช่น สิทธิการฟ้องต่อ ประเด็นที่นับเป็นเรื่องร้อนอีกอย่างคือ การระงับคดีอาญา ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้เขียนต้องการมาก แต่ดูเหมือนว่ามีน้อยคนมากที่สนับสนุน ส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าแพทย์ที่เข้าไปช่วยผู้ป่วยด้วยเจตนาสุจริตแล้วเกิดพลาดพลั้งต้องมีสิทธิถูกฟ้องอาญาได้ ตัวแทนแพทยสภาถกประเด็นเรื่องนี้อย่างหนักจนแทบจะเรียกได้ว่าเกิดอาการไม่กินเส้นกัน ที่น่าเสียใจคือคณะกรรมการที่เป็นแพทย์ก็เห็นด้วยว่าแพทย์ที่มีเจตนาไปช่วยผู้ป่วยย่อมสามารถถูกฟ้องได้ ให้ไปแก้ต่างในศาล หลายคนในนั้นมองว่าการขึ้นไปแก้ต่างในฐานะจำเลยในศาลเป็นเรื่องปกติที่สุดแล้วหากแน่ใจว่าตนไม่ผิดเดี๋ยวศาลก็ยกฟ้องเอง ฟังแล้วท้อใจมาก ส่วนตัวผู้เขียนน่าจะเป็นคนแรกที่หยิบยกคำว่า ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือ Gross negligence มาใช้ในคดีทางการแพทย์เพราะในต่างประเทศก็มีบัญญัติคำนี้ แต่ ณ เวลานั้นส่วนใหญ่เห็นว่ากฎหมายไทยไม่มีคำนี้ มีแต่ ประมาท หรือ ordinary negligence เท่านั้น เมื่อแพทย์ประมาทก็ต้องโดนฟ้องได้ (แต่ ณ เวลาที่พิมพ์บทความนี้คือ เดือนสิงหาคม พ.ศ.2553 ประเทศไทยมีบัญญัติคำว่า ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไว้แล้วในกฎหมายอย่างน้อยสองฉบับคือ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะถึงเวลาหยิบยกคำๆ นี้มาใช้บัญญัติเรื่องความรับผิดทางอาญาอันมีมูลเหตุมาจากการรักษาพยาบาล ให้แยกความผิดออกเป็นสองฐานคือ ประมาทธรรมดาและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ได้แล้ว) อีกประเด็นที่ถกเถียงกันหนักคือการรับเงินแล้วฟ้องต่อได้หรือไม่ได้ ที่สุดแล้วก็ออกมาค่อนไปทางความต้องการของมูลนิธิ ประเด็นเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการเป็นอีกประเด็นที่เราแพ้คนของมูลนิธิ เพราะท่านประธานมองเรื่องนี้ในลักษณะเสียงข้างมาก และคนของมูลนิธิก็ยืนยันว่าไม่ต้องมีสภาวิชาชีพหรือแพทย์เฉพาะทางมาตัดสินแต่ให้ใช้เสียงข้างมาก (ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ผู้เขียนไม่เข้าใจว่า ทำไมตอนนี้ทางมูลนิธิถึงเปลี่ยนคำพูดว่าไม่ติดใจเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการ บอกว่ายินยอมให้ไปแก้ในชั้นกรรมาธิการ แต่ในห้องประชุมกฤษฎีกากลับคัดค้านอย่างมาก) ลูกที่พ่อจำไม่ได้ ที่สุดแล้วกฎหมายนี้ก็คลอดออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เปลี่ยนชื่อเป็น พ.ร.บ.สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข กฎหมายทั้งฉบับออกมาในลักษณะที่พ่อจำหน้าลูกไม่ได้ว่านี่ใช่ลูกเราหรือเปล่า หลายมาตราขัดกันเอง หลายมาตราจะส่งผลเสียต่อระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรง เกิดการกลายพันธุ์ (mutation) อย่างมากชนิดที่อาจจะเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกินระบบสาธารณสุขในระยะยาว จนหากใครเป็นพ่ออาจเกิดความรู้สึกอยากทำ criminal abortion เป็นแน่ ถึงที่สุด ณ ขณะนี้กว่าที่บทความนี้จะตีพิมพ์ คงพอเห็นทางออกกันบ้างแล้วจากการรวมกลุ่มกันของบุคลากรหลายวิชาชีพมาจัดตั้งและทำงานร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปฏิรูประบบสาธารณสุขโดยไม่ต้องอาศัยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคหรือกระทรวงสาธารณสุข ในอนาคตเชื่อว่าหากยังรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นอยู่คงได้เห็นกฎหมายที่บัญญัติให้คุ้มครองบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอย่างสุจริตตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 80(2) บัญญัติไว้ ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() แถม... ปุจฉาวิสัชนา พรบฯ .. ความเห็นของ "หมอ+นักกฎหมาย" ผู้ร่วมร่าง พรบ.นี้ ตั้งแต่เริ่ม (อ่านแล้วจะ อืมมม) //www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=06-08-2010&group=7&gblog=70 เบื้องหลังที่ถูกตัดออกไปจาก Prototype (ร่างแรก) ...ความเห็นของ "หมอ+นักกฎหมาย" ผู้ร่วมร่าง พรบ.นี้ ฯ //www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-08-2010&group=7&gblog=71 พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 //www.thailawtoday.com/component/content/article/60-april/247-2009-03-12-07-06-02.html พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 Attention: open in a new window. PDFPrintE-mail Written by Administrator | Thursday, 12 March 2009 07:02 พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นปีที่ ๕๖ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พระ ราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของ บุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๑ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้ มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔” มาตรา ๒[๑] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ “ผู้ เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจเนื่องจากการ กระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น “จำเลย” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำความผิดอาญา “ค่า ตอบแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับ เพื่อตอบแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากหรือเนื่องจากมีการกระทำความผิดอาญา ของผู้อื่น “ค่าทดแทน” หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่จำเลยมีสิทธิได้รับเนื่องจากการตกเป็นจำเลยในคดีอาญา และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี และปรากฏว่าคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนั้นฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด “สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา “กรรมการ” หมายความว่า กรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายในคดีอาญา “พนักงานอัยการ” หมายความว่า พนักงานอัยการตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการหรืออัยการทหารตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร “พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการ ตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ หมวด ๑ บททั่วไป มาตรา ๕ การเรียกร้องหรือการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้เสียหายหรือจำเลยพึงได้ตามกฎหมายอื่น มาตรา ๖ ในกรณีที่ผู้เสียหายหรือจำเลยถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย แล้วแต่กรณี ให้สิทธิในการเรียกร้องและการรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตกแก่ทายาทซึ่งได้รับความเสียหายของผู้เสียหายหรือจำเลยนั้น ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด หมวด ๒ คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา มาตรา ๗ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกรมพระธรรมนูญ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ ผู้แทนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้แทนสภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีอีกห้าคน เป็นกรรมการ ในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ด้านสังคมสงเคราะห์ และด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์อย่างน้อยด้านละ หนึ่งคน ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นเลขานุการ และอาจแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการจำนวนไม่เกินสองคน ก็ได้ มาตรา ๘ คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) พิจารณาอนุมัติค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ (๒) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาญา ตลอดจนการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ (๓) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมา เพื่อประกอบการพิจารณา (๔) ปฏิบัติการอื่นใดเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงานเป็นผู้ปฏิบัติแทนได้ มาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ มาตรา ๑๐ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๙ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีเพราะบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ (๔) เป็นบุคคลล้มละลาย (๕) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๖) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ มาตรา ๑๑ ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการผู้ทรง คุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วนั้น มาตรา ๑๒ ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว แต่ยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ มาตรา ๑๓ การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม ใน การประชุมคราวใด ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการ ที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม มติ ในที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด มาตรา ๑๔ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการมอบหมายก็ได้ ในการประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๑๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม หมวด ๓ สำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา มาตรา ๑๕ ให้จัดตั้งสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาขึ้น ในกระทรวงยุติธรรม และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (๑) ปฏิบัติงานธุรการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ (๒) รับคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งทำความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการ (๓) ประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่นหรือบุคคลใด ๆ เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงหรือความเห็นเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย (๔) เก็บ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย (๕) กระทำกิจการตามที่รัฐมนตรี คณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการมอบหมาย มาตรา ๑๖ ในกรณีที่สำนักงานเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติ นี้ กระทรวงยุติธรรมอาจแต่งตั้งข้าราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีคุณวุฒิ ไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เพื่อให้มีอำนาจดำเนินคดีหรือดำเนินการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีตามที่กระทรวงยุติธรรมมอบหมายก็ได้ และให้แจ้งศาลทราบ การดำเนินคดีตามมาตรานี้ ให้ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หมวด ๔ การจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา มาตรา ๑๗ ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายอันอาจขอรับค่าตอบแทนได้ต้องเป็นความผิดตามรายการที่ระบุไว้ท้ายพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๘ ค่าตอบแทนตามมาตรา ๑๗ ได้แก่ (๑) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถพภาพทางร่างกายและจิตใจ (๒) ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย จำนวนไม่เกินที่กำหนดในกฎกระทรวง (๓) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ (๔) ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง คณะ กรรมการจะกำหนดให้ผู้เสียหายได้รับค่าตอบแทนเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิด และสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย มาตรา ๑๙ หากปรากฏในภายหลังว่าการกระทำที่ผู้เสียหายอาศัยเป็นเหตุในการขอรับค่าตอบ แทนนั้นไม่เป็นความผิดอาญาหรือไม่มีการกระทำเช่นว่านั้น ให้คณะกรรมการมีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียหายคืนค่าตอบแทนที่ได้รับไปแก่กระทรวง ยุติธรรมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง หมวด ๕ การจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา มาตรา ๒๐ จำเลยที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ต้อง (๑) เป็นจำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ (๒) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ (๓) ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดและมีการถอนฟ้องใน ระหว่างดำเนินคดี หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ใน คดีที่มีจำเลยหลายคน จำเลยคนใดถึงแก่ความตายก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด และคณะกรรมการเห็นสมควรจ่ายค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้แก่จำเลยอื่นที่ยังมี ชีวิตอยู่ถ้าเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดี จำเลยที่ถึงแก่ความตายนั้นมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราช บัญญัตินี้ได้ด้วย มาตรา ๒๑ การกำหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๒๐ ให้กำหนดตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ (๑) ค่าทดแทนการถูกคุมขัง ให้คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขังในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา (๒) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ หากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี (๓) ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย และความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี จำนวนไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง (๔) ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี (๕) ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง เว้นแต่ที่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว ใน กรณีที่มีคำขอให้ได้รับสิทธิที่เสียไปอันเป็นผลโดยตรงจากคำพิพากษานั้นคืน การสั่งให้ได้รับสิทธิคืนตามคำขอดังกล่าว ถ้าไม่สามารถคืนสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นว่านั้นได้ ให้คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนเพื่อสิทธินั้นให้ตามที่เห็นสมควร คณะ กรรมการอาจกำหนดให้จำเลยได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายเพียงใดหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แห่งคดี ความเดือดร้อนที่จำเลยได้รับและโอกาสที่จำเลยจะได้รับการชดเชยความเสียหาย จากทางอื่นด้วย หมวด ๖ การยื่นคำขอ การพิจารณาคำขอ และการอุทธรณ์ มาตรา ๒๒ ให้ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายที่มีสิทธิขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ ยื่นคำขอต่อคณะกรรมการ ณ สำนักงาน ตามแบบที่สำนักงานกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายได้รู้ถึงการ กระทำความผิด หรือวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องเพราะปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิ ได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือวันที่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด แล้วแต่กรณี มาตรา ๒๓ ในกรณีที่ผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหายเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือไม่สามารถยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย จำเลย หรือทายาทซึ่งได้รับความเสียหาย แล้วแต่กรณี อาจยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายแทนได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด มาตรา ๒๔ หลักเกณฑ์ วิธีการยื่นคำขอ และวิธีพิจารณาคำขอ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มาตรา ๒๕ ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำ วินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด การ ยื่นอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ผู้อุทธรณ์จะยื่นต่อสำนักงานหรือศาลจังหวัดที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขต เพื่อส่งให้แก่ ศาลอุทธรณ์ก็ได้ และให้ถือว่าเป็นการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ใน การวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจไต่สวนหลักฐานเพิ่มเติมโดยสืบพยานเอง หรืออาจแต่งตั้งให้ศาลชั้นต้นตามที่เห็นสมควรทำแทนก็ได้ หมวด ๗ พนักงานเจ้าหน้าที่ มาตรา ๒๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) สอบปากคำผู้ยื่นคำขอเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามคำขอ (๒) มีหนังสือสอบถามหรือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นมา เพื่อประกอบการพิจารณา มาตรา ๒๗ ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด ๘ บทกำหนดโทษ มาตรา ๒๘ ผู้ใดยื่นคำขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่าย โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๒๙ ผู้ใดให้ถ้อยคำหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการขอรับค่าตอบแทน ค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา ๓๐ ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งหนังสือตอบหนังสือสอบถาม เอกสาร หลักฐาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นที่จำเป็นตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ บทเฉพาะกาล มาตรา ๓๑ ในวาระเริ่มแรก ให้กระทรวงยุติธรรมกำหนดให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานจนกว่าจะตั้งสำนักงานแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายการท้ายพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ความผิดที่กระทำต่อผู้เสียหายซึ่งทำให้ผู้เสียหายอาจขอรับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา ๑๗ ได้แก่ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ความผิด ลักษณะ ๙ ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา ๒๗๖ ถึงมาตรา ๒๘๗ ลักษณะ ๑๐ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด ๑ ความผิดต่อชีวิต มาตรา ๒๘๘ ถึงมาตรา ๒๙๔ หมวด ๒ ความผิดต่อร่างกาย มาตรา ๒๙๕ ถึงมาตรา ๓๐๐ หมวด ๓ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก มาตรา ๓๐๑ ถึงมาตรา ๓๐๕ หมวด ๔ ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บ หรือคนชรา มาตรา ๓๐๖ ถึงมาตรา ๓๐๘ หมาย เหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๒๔๕ และมาตรา ๒๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐของบุคคล ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นโดยตนมิได้มี ส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น และไม่มีโอกาสได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่น รวมทั้งการรับรองสิทธิในการได้รับค่าทดแทนในกรณีของบุคคลซึ่งตกเป็นจำเลยใน คดีอาญาและถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี หากปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นที่ยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ดังนั้น เพื่อให้การรับรองสิทธิดังกล่าวเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๘/ตอนที่ ๑๐๔ ก/หน้า ๒๓/๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดย: หมอหมู
![]() ![]() ใครสนใจก็ลองแวะไปโหลดมาอ่านกันนะครับ ... ร่างใหม่ จาก สภาทนายความ //www.mediafire.com/?4lyz3rpl37pa8xc เปรียบเทียบ ๓ ร่าง พรบฯ //www.mediafire.com/?slodsosamvks28e รวมบทความ พรบฯ //www.mediafire.com/?p7r6az6gk19ot โดย: หมอหมู
![]() ![]() |
บทความทั้งหมด
|
หลักการของ พรบ.นี้ดีครับ .. แล้วผมก็คิดว่า น่าจะมี กองทุนที่จะมาช่วยเหลือผู้ป่วย(ญาติ) ที่ได้รับผลกระทบจากการรักษา .. เหมือนกับ ของกระทรวงยุติธรรม ฯ
ถ้าเผื่อมีเวลา ก็ลองแวะไปอ่าน และ ลองเปรียบเทียบ ว่า คล้ายคลึง หรือ แตกต่างกันอย่างไร ..
พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544
//www.thailawtoday.com/component/content/article/60-april/247-2009-03-12-07-06-02.html
ส่วนร่าง พรบ. มีทั้งหมด ๗ ร่าง อ่านเฉพาะร่าง 1 ก่อนก็ได้ครับ แล้วถ้ามีเวลาก็ค่อยอ่านร่าง 7 ต่อไป..
1. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ)
//www.tmc.or.th/download/d051253-05.pdf
2. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นายเจริญ จรรย์โกมล กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
//www.tmc.or.th/download/d051253-08.pdf
3. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
//www.tmc.or.th/download/d051253-09.pdf
4. ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นายบรรพต ต้นธีรวงศ์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
//www.tmc.or.th/download/d051253-10.pdf
5. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ กับคณะ เป็นผู้เสนอ)
//www.tmc.or.th/download/d051253-11.pdf
6. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นายสุทัศน์ เงินหมื่น กับคณะ เป็นผู้เสนอ
//www.tmc.or.th/download/d051253-12.pdf
7. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
(นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 10,631 คน เป็นผู้เสนอ)
//www.tmc.or.th/download/d051253-13.pdf