มนต์เสน่ห์ ลับแล ชมงานประเพณีค้างบูยา สัมผัสวิถีชาวบ้าน ตอนที่ 2 วิธีทำค้างบูยา
ขออภัยที่กว่าจะมาโพสตอนที่สองก็เนิ่นนานพอสมควร มีธุระปะปังที่จะต้องจัดการผัดผ่อนไม่ได้อีกแล้ว
มาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่านะคะ
-----
จากตอนที่แล้วหลังจากทานอาหารค่ำกันเสร็จเรียบร้อย คุณรัศมี เสือน้อย ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.ฝายหลวง
ไกด์กิตติมศักดิ์ของเรา นำทางเราไปยังบ้านที่มีเตรียมทำค้างบูยา เราไปชมกันค่ะว่าค้างที่เขาจัดเตรียมมีอะไรกันบ้าง
การทำค้างบูยา
1. นำกระถังมา 1 ใบ จะเป็นกระเบื้องหรือพลาสติกก็ได้
2. ตัดไม้ไผ่ลำเล็ก ๆ สูงตั้งแต่ 1 2 เมตร มาปักลงในกระถังแล้วนำสิ่งของที่หนัก ใส่ลงไป เช่น ข้าวสาร
น้ำตาลทราย นม ผลไม้ เพื่อที่จะทับไม้ไม่ให้ล้มไปข้างใดข้างหนึ่ง
3. นำไม้ไผ่มาเหลา ขูดเปลือกสีเขียวออกทำค้างจะทำเป็นค้างวงกลม คล้ายฉัตรเป็นชั้น ๆ หรือทำเป็นรูปอื่น ๆ
เช่น รูปหงส์สำหรับประดับค้างบูยา
4. แล้วนำใบตาวหรือใบลานมาสานเป็นรูปดาวติดกับไม้ไผ่เป็นชั้น มีทั้ง 3 ชั้น 7 ชั้น แล้วแต่
ความสวยงาม จากดาวใหญ่ไปหาดาวเล็ก
5. นำยาสูบพื้นเมือง (ยาเส้น) มามวนด้วยกระดาษอย่างดี ห้อยไว้ตามค้างที่เป็น วงกลม
6. แล้วนำของที่เตรียมไว้ เช่น สมุด ดินสอขนม พริก ไม้ขีดไฟ ยาสีฟัน ปัจจัย
(เงิน) และเครื่องใช้อื่น ๆ ไปแขวนไว้ที่ ค้าง (ต้น) จึงเรียกว่า ค้างบูยา
7. นำกระดาษสีมาประดับตกแต่ง รอบๆ กระถางและค้างอย่างสวยงาม
หมายเหตุ ค้าง คือกิ่งไม้ บูยา คือ ยาสูบพื้นเมือง (ยาเส้น)
//etourguide.fix.gs/index.php?topic=85.0

ตกแต่งด้วยพวงมะโหด (กระดาษสีตัดเป็นตาข่ายสำหรับห้อยประดับเพื่อความสวยงาม)
ส่วนกระบะมีคานหาม ที่ใส่ค้างเรียกว่าแฮ

กลุ่มนี้เขาตกแต่งกันไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณรัศมีจึงนำพวกเราไปชมที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1
ผู้ใหญ่สวัสดิ์ ถายา กำลังล้อมวงจัดทำกันอยู่ ไปชมกันค่ะว่ามีอะไรบ้าง

พร้อมทั้งนำขนมแหนบมาให้พวกเราชิม เป็นขนมที่ใช้เป็นส่วนประกอบของค้างบูยา
หน้าตาคล้ายขนมเทียนของทางจีน ส่วนในกรอบเล็กคือขนมแหนบที่ผสมดอกดินลงไปด้วย
ย่าลองชิมทั้งสองแบบ อร่อยดีค่ะ ย่าสอบถามว่าดอกดินนี่หายากไหมตอนนี้ คุณป้าบอกว่าก็ไม่ยาก
และก็ไม่ง่าย เพราะต้องขึ้นไปเอาบนภูเขาสูง ต้องเสาะหาเอาอยู่เหมือนกันค่ะ
ย่าเคยเห็นเจ้าดอกดินนี้ครั้งหนึ่งนานแล้วสมัยไปเที่ยวภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ ยังรู้สึกตื่นเต้น
เพราะเป็นการเห็นครั้งแรกและครั้งเดียว ความพิเศษของมันคือเป็นต้นไม้ที่ไม่มีลำต้นมีเพียง
ก้านดอกและดอกโผล่มาจากใต้ตินเท่านั้น

สลากชะลอม ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ และเจ้ากรรมนายเวร
แต่ละบ้านจะจัดชะลอมขนาดเล็กๆ เท่ากับจำนวนคนในบ้าน บ้านไหนมีเยอะคน ก็จะมีชะลอมเยอะ
บ้านไหนมีคนน้อย ก็จะมีชะลอมน้อย ภายในชะลอมซึ่งจะกรุด้วยใบตองเพื่อไม่ให้มองเห็นของข้างใน
ซึ่งจะใส่ข้าวปลาอาหารแห้ง ผลไม้ ขนม หมากพลู อย่างละนิดละหน่อยแต่มีครบทุกอย่าง การสาน
ชะลอมก็จะต่างจากชะลอมทั่วไป โดยสลากชะลอมจะใช้ตอกคู่ แต่ชะลอมทั่วไปจะใช้ตอกเส้นเดียว

สตางค์ตกแต่งด้วยข้าวเปลือกที่มัดล้อมรอบเหรียญด้วยไหมพรมสีสด สำหรับไหว้พระ
วิธีทำนำเอาไหมพรมสองเส้นขึงกับไม้ไผ่โค้งลักษณะเหมืองคันธนู ใส่เมล็ดข้าวเปลือกลงที่ช่องกลางแล้ว
นำไหมพรมอีกเส้นสอดสลับชายดึงให้ตึงทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆจนได้ความยาว พอดีกับรอบเหรียญ จากนั้น
ก็ผูกติดโดยรอบตกแต่งด้วยไหมพรมเป็นอันเสร็จ
ขอบคุณคุณป้าใจดีมอบให้พวกเราคนละเหรียญกลับไปเป็นที่ระลึก

เงินที่ชาวบ้านนำมาร่วมทำบุญมาติดที่ค้าง คุณป้าบอกว่าเสียดายพวกเรามาไม่ทันตอนเงินเต็มขัน

ในถาดมีไม้สีเสียด น้ำยาทาใบพลู(ในขวดสีขาว) ใบพลู,พริก ,หอม และกระเทียม นำมา
บรรจุลงในฉลากชะลอม อันนี้แล้วแต่ค่ะว่าเราจะใส่อะไรลงไป บางบ้านใส่ขาวเหนียวหนึ่ง
พร้อมหมูคลั่วกลิ้ง แถมมีน้ำปลาร้า ด้วย ถุงเล็กๆพอคำ (จากชะลมอที่ย่าได้รับเป็นของฝากกลับบ้าน)
เรียกว่าแล้วแต่เราจะใส่ค่ะ

ระหว่างเหล่าบรรดาเด็กๆ และแม่บ้านจัดเตรียมสลากชะลอม และค้างบูยา เหล่าพ่อบ้านก็ตั้งวง
สนทนากันอย่างครื้นเครง

ขันรับเงินทำบุญมีธูปและดอกไม้ ในที่นี้ใช้เป็นดอกทองดอกบวบ เข้าใจว่าคงใช้เป็นดอกอะไรก็ได้
ที่มีปลูกอยู่รอบบ้านตัวเอง นำมาใช้ประกอบพิธีได้ทั้งนั้น

พริก,มะเขือ พืชผักสวนครัวสามัญประจำบ้านก็เป็นของตกแต่งค้างได้เหมือนกัน

โชคดีมีลูกบ้านนำเงินมาทำบุญ ย่าจึงได้เก็บช๊อตมาฝาก อธิฐานก่อน...

ลงขันทำบุญ(ขวาผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ผู้ใหญ่สวัสดิ์ ถายา)
ย่าเพิ่งถึงบางอ้อ อย่างงี้นี่เองเขาถึงเรียกการทำบุญว่าลงขัน อิอิ

พวกเราได้ชิมทุเรียนพันธุ์หลงลับแล พันธุ์ที่มีชื่อเสียงของที่นี่ ลูกเล็กกำลังทานลูกละประมาณ 2 กิโล
ย่าจับคุณนิดมาเป็นพรีเซนต์เตอร์ซะเลย 555

แป้งพันนุ่มอร่อย อาหารขึ้นชื่อของที่นี่

นอกจากพวกเราจะได้ทานลางสาด,ทุเรียนมังคุดแล้ว ยังมีขนมแหนบ,ทุเรียนทอด แป้งพัน ลำเลียงมาให้พวกเรา
ลองทานกัน แถมมีเมนูพิเศษแป้งพันสุกี้ (ขวามือบน)ทริปนี้เล่นเอาน้ำหนักย่าขึ้นเป็นกิโลเลย

คุณป้าใจดีบอกว่าลูกสาวกำลังทำอยู่ไปดูวิธีทำกันไหม พวกเรามีหรือจะขัดกระวีกระวาดพุ่งไปทันที
นี่ค่ะหม้อที่สำหรับทำแป้งพัน หน้าตาคล้ายหม้อข้าวเกรียบปากหม้อ

ขั้นตอนแรก ตั้งแป้งเทลงแล้วไล้รอบๆเป็นแผ่น

ถ้าจะทำแป้งพันเฉยๆ ก็ครอบฝากรอแป้งสุขแล้วใช้ไม้กรีตตลบเป็นม้วนเส้นยาวๆก็เป็นอันเสร็จ
หากจะทำแป้งพันสุกี้ ก็เริ่มขั้นตอนต่อไปโดยตอกไข่ใส่ลงบนแป้งที่เริ่มสุข

จากนั้นก็ใส่ผัก ต่างๆลงบนแผ่นแป้ง

ใส่หมู

จากนั้นก็ครอบฝารอสุก

สุกแล้วเปิดฝากรีดแป้งด้านริมโดยรอบจากนั้นตักเข้าไปลึกหน่อยเตรียมจานมารอไว้ดึงแผ่นแป้งลงจาน

แซะใส่จานที่รอไว้

ใส่ซอสสุกี้สูตรพิเศษแสนอร่อยที่ปรุงเอง สูตรลับเฉพาะเหมือนกับแป้งพันที่นี่ก็เป็นสูตรลับเฉพาะเหมือนกันค่ะ
จะอร่่อยนุ่มกว่าของที่อื่น

เสร็จแล้วค่ะ อร่อยล้ำ ทั้งแป้งพัน และแป้งพันสุกี้

อยากกลับไปทานอีกจัง ..

มัวทำหน้าที่ย่าดาพาชิมไปซะแล้ว กระทู้นี้จึงยังไม่ถึงขบวนแห่ค้างบูยาสักที ขออภัยจริงๆค่ะ
ตอนหน้าคงพาชมตลาดก่อน ไหนๆมาลับแลทั้งทีพาเที่ยวให้ทั่วๆหน่อย หมายถึงในตลาดหน่ะนะ
ส่วนตามป่าตามเขาที่นี่มอบหน้าที่ให้คุณชาลี แห่งโอเค.เนชั่นเป็นผู้นำเที่ยวก็แล้วกัน
---- ขอบคุณ คุณกัญญาวีร์ ศิริกาญจนารักษ์ คุณธีรภาพ โลหิตกุล และ คุณรัศ เสือน้อย เป็นอย่างยิ่งที่เปิดโลกทัศน์ให้ได้เห็นแง่มุมงามๆ ณที่แห่งนี้

ลิ้งก์ที่เกี่ยวข้อง
//www.oknation.net/blog/pasalarksee/2012/09/13/entry-1
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=dada&month=13-09-2012&group=3&gblog=181
//www.oknation.net/blog/pasalarksee/2012/09/14/entry-1
Create Date : 17 กันยายน 2555 |
Last Update : 20 กันยายน 2555 16:26:19 น. |
|
0 comments
|
Counter : 4300 Pageviews. |
 |
|