The Boy in the Striped Pyjamas แตกต่างในโลกเดียวกัน




The Boy in the Striped Pyjamas
แตกต่างในโลกเดียวกัน

พล พะยาบ
คอลัมน์อาทิตย์เธียเตอร์ มติชนรายวัน 15 มีนาคม 2552


*หนังว่าด้วยนาซีและโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวยังคงมีแง่มุมให้บอกเล่าไม่จบสิ้น ลักษณะที่เห็นได้ในช่วงหลังคือหนังหันมาพูดถึงหรือเล่าด้วยมุมมองจากฝั่ง “ผู้กระทำ” แทน “ผู้ถูกกระทำ” มากขึ้น ตัวอย่างในรอบปีที่ผ่านมา เช่น The Reader ของ สตีเฟน ดัลดรี้ Valkyrie ของ ไบรอัน ซิงเกอร์ และ Good ของ วิเซนเต อโมริม

The Boy in the Striped Pyjamas เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เล่าเรื่องราวจากฝั่งผู้กระทำ ที่พิเศษกว่าเรื่องอื่นคือตัวละครนำไม่ใช่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับนาซีโดยตรง แต่เป็นเพียงเด็กตัวเล็กๆ ซึ่งไม่รู้เรื่องราวใดๆ ไม่เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว กระทั่งคล้ายว่าเขาตกเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง

หนังสัญชาติสหรัฐ-อังกฤษเรื่องนี้กำกับฯและเขียนบทโดย มาร์ค เฮอร์แมน คนทำหนังชาวอังกฤษที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดจากเรื่อง Little Voice (1998) ดัดแปลงจากนิยายขายดีปี 2006 ของ จอห์น บอยน์ นักเขียนชาวไอริช เนื้อหาของหนังไม่แตกต่างจากนิยายนัก เล่าถึงเด็กชายลูกนายทหารนาซีผูกมิตรกับเด็กชายวัยเดียวกันผู้สวมชุดนอนลายทางซึ่งอาศัยอยู่อีกฝั่งหนึ่งของรั้วลวดหนาม

เปิดเรื่องในเบอร์ลินระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ราล์ฟ (เดวิด ธิวลิส) นายทหารนาซีระดับสูงได้รับการเลื่อนขั้น แต่ด้วยงานใหม่ที่เบื้องบนมอบหมายลงมาเขาและครอบครัวอันประกอบด้วยภรรยา เอลซา (เวรา ฟาร์มิกา) เกรเทล (แอมเบอร์ บีตตี้) ลูกสาววัย 12 ขวบ และบรูโน (เอซา บัตเตอร์ฟิลด์) ลูกชายวัย 8 ขวบ ต้องย้ายจากเบอร์ลินไปอยู่บ้านใหม่ในชนบท

สมาชิกที่ไม่มีความสุขกับการย้ายบ้านในครั้งนี้คือบรูโน เพราะเขาต้องจากกลุ่มเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน แย่กว่านั้นคือบ้านใหม่มีแต่ความเงียบเหงา ไม่มีเพื่อนบ้าน ไม่มีเด็กๆ ไม่มีโรงเรียน มีแต่ทหารหน้าตาเคร่งเครียดเดินเวรยามทั่วบริเวณ กระทั่งเด็กน้อยรู้สึกราวกับถูกปล่อยทิ้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว

อย่างไรก็ตาม จากหน้าต่างห้องนอนไม่ไกลเกินสายตามองเห็น บรูโนพบว่าละแวกนั้นยังมีกลุ่มคนอาศัยอยู่รวมกันในอาคารที่พักกลางพื้นที่โล่ง ที่พิเศษคือทุกคนสวมชุดนอนลายทางเหมือนกันหมด

ด้วยความไร้เดียงสา...บรูโนคิดว่าคนกลุ่มนั้นคือชาวไร่

นอกจากชาวไร่สูงวัยชื่อ พาเวล ที่มาทำงานรับใช้ในบ้านแล้ว ความสงสัยใคร่รู้ว่าคนสวมชุดนอนลายทางคนอื่นๆ คือใคร ประกอบกับความต้องการหาเพื่อนเล่นทำให้บรูโนคิดหาวิธีหลบออกจากบ้านโดยไม่ให้พ่อกับแม่รู้ เขาเดินลัดเลาะในป่าไปจนถึงสถานที่ที่มองเห็นจากหน้าต่างห้องนอน

เบื้องหลังรั้วลวดหนามแน่นหนาทอดยาวไกลสุดตา บรูโนได้พบและเป็นเพื่อนกับเด็กชายวัยเดียวกันท่าทางขี้โรค-ขี้กลัวสวมชุดนอนลายทางชื่อ ชมูล

ข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งไม่ได้ช่วยให้บรูโนเข้าใจอะไรมากขึ้นคือ ชมูลและคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานที่แห่งนี้ล้วนแต่เป็นชาวยิว

*ทุกวันบรูโนจะมายังจุดเดิมเพื่อพูดคุย เล่นเกม เล่นฟุตบอลกับชมูลโดยอยู่กันคนละฝั่งของรั้วลวดหนาม ทั้งยังไม่ลืมหยิบอาหารจากบ้านมาให้เพื่อนใหม่ มิตรภาพระหว่างเด็กทั้งสองค่อยๆ งอกเงยขึ้นเรื่อยๆ จนบรูโนไม่รู้สึกเหงาอีกต่อไป

กระนั้น โลกไร้เดียงสาของเด็กน้อยจะดำรงอยู่อย่างไรบนฟากฝั่งของความเป็นจริงอันโหดร้ายที่ค่อยๆ เปิดเผยตัวทุกขณะ

เนื่องจากหน้าหนังที่เห็นผ่านใบปิดและเรื่องย่อทำให้ผู้เขียนหวั่นว่าจะได้ดูหนังว่าด้วยมิตรภาพซึ้ง-เศร้าเรียกน้ำตาตามสูตร แต่ผิดคาด...The Boy in the Striped Pyjamas ไม่ได้ดูประดิดประดอยอย่างที่ภาพบนใบปิดสื่อออกมา มิตรภาพของเด็กทั้งสองเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นจากความคืบหน้าของเรื่องราว ไม่ได้ถูกเน้นเป็นพิเศษเพื่อเรียกอารมณ์ผู้ชม

นอกจากนี้ แม้จะมีเด็กเป็นตัวละครนำ แต่หนังไม่ได้นำไปสู่การเติบโตทางความคิดจิตใจของเด็กอย่างที่เห็นกันเป็นประจำ ความพิเศษของหนังคือตั้งแต่ต้นจนจบไม่มีบทตอนที่เด็กน้อยอย่างบรูโนรับรู้อย่างกระจ่างชัดแจ้งว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวคืออะไร มุมมองแบบเด็กที่ไม่รู้อะไรนี่เองคือแนวทางที่หนังใช้เล่าเรื่องราวต่างๆ โดยเลือกละไว้ในฐานที่ผู้ชมทั่วไปเข้าใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไม่ว่าจะเป็นควันดำจากปล่องไฟ คนใช้หญิงขัดถูพื้นตรงจุดที่พาเวลถูกทหารลากตัวมา หรือคำบอกเล่าของชมูลที่ว่าพ่อของเขาถูกทหารพาไปแล้วไม่กลับมาอีก

สิ่งที่ไม่เห็นใช่ว่าจะไม่เกิดขึ้น...คือหนึ่งในร่องรอยความคิดที่หนังนำเสนอตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงฉากสุดท้าย

ความเป็นเด็กทำให้บรูโนยังสนุกอยู่กับโลกในจินตนาการ เขาชอบอ่านเรื่องแต่งเกี่ยวกับการผจญภัย แต่ครูที่พ่อจ้างมาสอนที่บ้านกลับตำหนิว่าบรูโนโตเกินกว่าจะอ่านเรื่องไร้สาระ ตำราที่ครูสอนจึงมีแต่บทเรียนการสร้างชาติและความยิ่งใหญ่ของเยอรมนี รวมไปถึงทฤษฎีต่อต้านยิวซึ่งบรูโนไม่อาจเข้าใจ แต่ระหว่างที่บรูโนต้องอ่านตำราน่าเบื่อซึ่งครูอ้างว่าเป็นเรื่องจริงนี่เอง พ่อ-แม่กลับไม่เคยพูดความจริงว่ามีค่ายกักกัน-สังหารชาวยิวอยู่ไม่ไกลจากบ้าน

เมื่อบรูโนต้องอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยการปิดบัง (คำพูดของพ่อ-แม่) ปิดกั้น (ประตู-หน้าต่างที่กั้นขวาง) บิดเบือน (ภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับค่ายกักกัน) แล้วตำราว่าด้วยความยิ่งใหญ่ของเยอรมนีและทฤษฎีต่อต้านยิวซึ่งบรูโนถูกบังคับให้อ่านจะมีความจริงสักเพียงใด หรือแท้แล้วเป็นเรื่องเหลวไหวเชื่อถือไม่ได้ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ รอบตัว

องค์ประกอบที่โดดเด่นอย่างหนึ่งคืองานออกแบบงานสร้าง โดยเฉพาะฉากบ้านที่ใส่ความแตกต่างเพื่อสื่อความหมายได้อย่างดี บ้านในเบอร์ลินจะเต็มไปด้วยเส้นโค้ง ดูอ่อนโยน ทั้งยังตกแต่งอย่างงดงามอบอุ่น แต่เมื่อย้ายมายังบ้านใหม่ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายกักกันและบรูโนคล้ายถูกกักกันเสียเอง บ้านกลับเต็มไปด้วยเส้นตั้งตรงราวกับกรงขัง ทั้งบ้านมีแต่ความแข็งกระด้าง มีสีดำเป็นส่วนประกอบหลัก เส้นตั้งตรงยังสอดคล้องกับลายทางบนเครื่องแต่งกายของชาวยิวในค่ายกักกันด้วย

หนังไม่มีฉากจบน่าประทับใจ ทั้งยังไม่มีทางออกที่ให้ความหวังใดๆ นอกจากบทลงท้ายที่กระชากความรู้สึกอย่างรุนแรง

พร้อมบทเรียนสำคัญทิ้งท้ายว่าชีวิตมนุษย์ไม่ว่าเป็นใครมาจากไหน...ล้วนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2552
3 comments
Last Update : 20 กรกฎาคม 2552 20:51:06 น.
Counter : 6563 Pageviews.

 

จบแบบทำร้ายใจกันสุดๆ เลย





 

โดย: renton_renton 20 กรกฎาคม 2552 23:57:50 น.  

 

ได้แผ่นมาแล้วครับ ว่าจะได้ดูเร็วๆนี้ ^^

 

โดย: Seam - C IP: 58.9.221.222 21 กรกฎาคม 2552 12:31:02 น.  

 

เพิ่งได้ดูวันนี้ค่ะ
ชอบเลย และเจ็บปวด

 

โดย: oatakira IP: 117.47.197.107 5 กันยายน 2552 14:05:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


แค่เพียงรู้สึกสุขใจ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




บทวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลกองทุน
ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ ปี 2549

..............................








พญาอินทรี




ศราทร @ wordpress
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2552
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
20 กรกฏาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แค่เพียงรู้สึกสุขใจ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.