กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ว่าด้วยตำนานเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน

ตำนานเสภา
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ประเพณีการขับเสภามีแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะมีขึ้นเมื่อใด และเหตุใดจึงเอาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนขับเสภา ทั้ง ๒ ข้อนี้ยังไม่พบอธิบายปรากฏเป็นแน่ชัด แม้แต่คำที่เรียกว่า “เสภา” คำนี้ มูลศัพท์จะเป็นภาษาใด และแปลว่ากระไร ก็ยังสืบไม่ได้ความ คำ “เสภา” นี้ นอกจากจะเรียกการขับร้องเรื่องขุนช้างขุนแผนอย่างเราเข้าใจกัน มีที่ใช้อย่างอื่นแต่เป็นชื่อเพลงปี่พาทย์ เรียกว่า “เสภานอก” เพลง ๑ “เสภาใน” เพลง ๑ “เสภากลาง” เพลง ๑ ชวนให้สันนิษฐานว่า “เสภา” จะเป็นชื่อลำนำที่เอามาใช้เป็นทำนองขับเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่ผู้ชำนาญดนตรีกล่าวยืนยันว่า ลำนำที่ขับเสภาไม่ได้ใกล้กับเพลงเสภาเลย

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอันยังแปลไม่ออกว่า คำว่า “เสภา” นี้จะแปลความกระไร แต่มีเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ บ้าง ข้าพเจ้าเคยได้สดับคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ามาบ้าง สังเกตเห็นในกระบวนกลอน และถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเสภาบ้าง ประกอบกับความสันนิษฐาน เห็นมีเค้าเงื่อนพอจะคาดคะเนตำนานของเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนได้อยู่ ข้าพเจ้าจะลองเก็บเนื้อความมาร้อยกรองแสดงโดยอัตโนมัติ ประกอบด้วยเหตุผลซึ่งจะชี้แจงไว้ให้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลาย



...................................................................................................................................................................


ว่าด้วยมูลเหตุของการขับเสภา

ถ้าว่าโดยประเพณีของการขับเสภา ถึงไม่ปรากฏเหตุเดิมแน่นอนก็พอสันนิษฐานได้ว่า มูลเหตุคงเนื่องมาแต่เล่านิทานให้คนฟัง อันเป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว แม้ในคัมภีร์สารัตถสมุจจัยซึ่งแต่งมากว่า ๗๐๐ ปี ยังกล่าวในตอนอธิบายเหตุแห่งมงคลสูตรว่า ในครั้งพระพุทธกาลนั้น ตามเมืองในมัชฌิมประเทศมักมีคนไปรับจ้างเล่านิทานให้ฟังกันในที่ชุมนุมชน เช่นที่ศาลาพักคนเดินทางเป็นต้น เกิดแต่คนทั้งหลายได้ฟังนิทานจึงโจษเป็นปัญหากันขึ้นว่าอะไรเป็นมงคล เป็นปัญหาแพร่หลายไปจนถึงเทวดาไปทูลถาม พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงมงคลสูตร

ประเพณีการรับจ้างเล่านิทานให้คนฟังดังกล่าวมานี้ แม้ในสยามประเทศก็มีมาแต่โบราณ จนนับเป็นการมหรสพอย่างหนึ่งซึ่งมักมีในการงาน เช่น งานโกนจุก ในตอนค่ำเมื่อพระสวดมนต์แล้ว ก็หาคนไปเล่านิทานให้แขกฟังเป็นประเพณีมาเก่าแก่ และยังมีลงมาจนถึงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ขับเสภาก็คือเล่านิทานนั้นเอง และประเพณีมีเสภาก็มีในงานอย่างเดียวกับที่เล่านิทานนั้น จึงเห็นว่าเนื่องมาจากเล่านิทาน ขับเสภาผิดกับเล่านิทานแต่เอามาผูกเป็นกลอน สำเนียงที่เล่าใช้ขับเป็นลำนำ และขับกันเฉพาะเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว เสภาผิดกับเล่านิทานที่เป็นสามัญอยู่แต่เท่านี้

ถ้าจะลองสันนิษฐานว่าเหตุใดจึงมีคนคิดขับเสภาขึ้นแทนเล่านิทาน ก็ดูเหมือนพอจะเห็นเหตุได้คือ เพราะเล่านิทานฟังกันมานานๆ เข้าออกจะจืด จึงมีคนคิดจะเล่าให้แปลก โดยกระบวนแต่เป็นบทกลอน ว่าให้คล้องกันให้น่าฟังกว่าที่เล่านิทานอย่างสามัญประการหนึ่ง เมืองเป็นบทกลอนจึงว่าเป็นทำนองลำนำตามวิสัยการว่าบทกลอน ให้ไพเราะขึ้นกว่าเล่านิทาน

อีกประการหนึ่งข้อที่ขับแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียวนั้น คงจะเป็นด้วยนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องที่ชอบกันแพร่หลายในครั้งกรุงเก่ายิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ ด้วยเป็นเรื่องสนุกจับใจ และถือกันว่าเป็นเรื่องจริง จึงเกิดขับเสภาขึ้นด้วยประการฉะนี้


ว่าด้วยเรื่องขุนช้างขุนแผน

เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นในกรุงเก่า เนื้อความปรากฏจดไว้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า นับเป็นเรื่องในพระราชพงศาวดาร มีอยู่ดังนี้ว่า

“ในลำดับนั้นต่อไป พระราชบุตร พระราชนัดดา เชื้อพระราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี ได้ครองราชย์สมบัติในกรุงเทพทวาราวดีเป็นลำดับไปหลายพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระพันวษา ภาษาพม่าเรียกว่าพระเจ้าวาตะถ่อง แปลว่าสำลีพันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระราชประวัติพิสดาร แต่กล่าวไว้โดยเอกเทศ พระองค์มีพระมเหสีทรงพระนามว่า สุริยวงษาเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระมเหสีมีพระนามว่า พระบรมกุมาร”

“ครั้นอยู่มา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง มุ่งหมายจะเป็นสัมพันธมิตรสนิทสนมกับกรุงเทพทวาราวดี จึงส่งพระราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีพระรูปลักษณะงามเลิศ พึ่งเจริญพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พร้อมด้วยข้าหลวงสาวใช้ข้าทาสบริวาร กับเครื่องราชบรรณาการเป็นอันมาก มีราชทูตเชิญพระราชสาสน์ พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์คุมโยธาทวยหาญ เชิญพระราชธิดามาถวายพระพันวษา ณ กรุงเทพทวาราวดี ครั้นมาถึงในกลางทาง ข่าวนี้รู้ขึ้นไปถึงนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารราชกุมาร ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนครเชียงใหม่ในเวลานั้น ไม่ชอบให้กรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง มาเป็นมิตรไมตรีกับกรุงเทพทวาราวดี อยากจะให้กรุงศรีสัตนาคนหุตไปเป็นสัมพันธมิตรสนิทกับนครเชียงใหม่ จึงคุมกองทัพลงมาซุ่มอยู่ ยกเข้าแย่งพระราชธิดานั้นไปได้ ฝ่ายพวกพลกรุงศรีสัตนาคนหุตที่พ่ายแตกหนี ก็รีบกลีบไปทูลแจ้งเหตุแก่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างให้ทรงทราบทุกประการ”

“ครั้นประพฤติเหตุเช่นนี้ ทราบเข้ามาถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงตรัสแก่เสนาอำมาตย์ทั้งปวงว่า เจ้านครเชียงใหม่ดูหมิ่นเดชานุภาพของเรา เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม มาแย่งชิงนางผู้ที่เขาจำนงใจจะมาให้แก่เราดังนี้ ก็ผิดต่อกรรมบถมนุษวินัย จำจะยกขึ้นไปปราบปรามเจ้านครเชียงใหม่ให้ยำเกรงฝีมือไทย ไม่ให้ประพฤติพาลทุจริตดูหมิ่นต่อเราสืบไป จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เตรียมทัพ และตรัสสั่งพระหมื่นศรีมหาดเล็กผู้เป็นขุนนางข้าหลวงเดิมคนสนิทไว้พระทัย ให้เลือกจัดหาทหารที่มีฝีมือกล้าศึกสงครามเข้ามาถวาย”

“พระหมื่นศรีจึงกราบทูลว่า ในทหารไทยในเวลานี้ ผู้ใดจะเป็นทหารเอกยอดดีไปกว่าขุนแผนนั้นไม่มี ด้วยขุนแผนเป็นผู้รู้เวทมนต์ เชี่ยวชาญ ใจกล้าหาญ เป็นยอดเสนา และมีใจกตัญญูกตเวที รู้พระเดชพระคุณเจ้าหาตัวเปรียบได้ยาก บัดนี้ขุนแผนเป็นโทษต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก ถ้าโปรดให้ขุนแผนเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ คงจะมีชัยชนะโดยง่าย ไม่ต้องร้อนถึงทัพหลวงและทัพหลังเพียงปานใด”

“สมเด็จพระพันวษาก็ทรงระลึกได้ถึงขุนแผน ด้วยทรงทราบว่าเป็นทหารมีฝีมือมาแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนแผนพ้นโทษ มีรับสั่งให้พระหมื่นศรีนำขุนแผนเข้ามาเฝ้าโดยเร็ว พระหมื่นศรีได้รับสั่งแล้วก็ไปบอกนครบาลให้ถอดขุนแผนจากเรือนจำ นำตัวเข้ามาหมอบเฝ้าถวายบังคมต่อหน้าพระที่นั่งในท้องพระโรง”

“ในขณะนั้นสมเด็จพระพันวษาจึงมีพระราชโองการตรัสถามขุนแผนว่า เฮ้ยอ้ายขุนแผน เอ็งจะอาสากูยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ปราบปรามเจ้าโยนกอันธพาล ให้เห็นฝีมือทหารไทย รับนางคืนมาให้กูจะได้หรือมิได้ประการใด ขุนแผนจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระบาทผู้เป็นข้าทหาร ชีวิตอยู่ในใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้ทรงพระเดชพระคุณปกเกล้ามาแต่ปู่และบิดา ข้าพระองค์ขอรับอาสาขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ปราบเจ้าโยนกให้กลัวเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์ รับพระราชธิดาพระเจ้าลานช้างคืนมาถวายจงได้ ถ้าตีนครเชียงใหม่ไม่ได้แล้วขอถวายชีวิต สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังขุนแผนกราบทูลรับอาสาแข็งแรงดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดตั้งขุนแผนเป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพทหารไทยยกขึ้นไปตีนครเชียงใหม่”

“ขุนแผนจึงกราบถวายบังคมลายกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร จึงแวะเข้าหาพระพิจิตรเจ้าเมือง ขอให้ส่งดาบวิเศษกับม้าวิเศษที่ฝากไว้แต่ก่อนคืนมาให้ จะไปใช้ในการรบศึก ดาบวิเศษของขุนแผนนั้น ในภายหลังต่อๆ มามีผู้เรียกว่า ดาบฟ้าฟื้น มีฤทธิ์เดชนัก ม้าวิเศษนั้นเรียกว่า ม้าสีหมอก ขับขี่เข้าสู่สงครามหลบหลีกข้าศึกได้คล่องแคล่วว่องไวนัก ขุนแผนได้ดาบเวทวิเศษและม้าวิเศษแล้วก็ลาเจ้าเมืองพิจิตรรีบยกขึ้นไปถึงแดนนครเชียงใหม่”

“ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมา จึงแต่งกองทัพให้ยกออกมาสู้รบต้านทาน ขุนแผนแม่ทัพก็ขับพลทหารไทยเข้าต่อตีพลลาวยวนเชียงใหม่โดยสามารถ กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายแพ้หนีกลับเข้าเมือง จะปิดประตูลงเขื่อนก็ไม่ทัน ขุนแผนก็ยกติดตามรบรุกบุกบั่นเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันพลลาวล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่เห็นข้าศึกเข้าเมืองได้ก็ตกใจไม่มีขวัญ จึงขึ้นม้าหนีออกนอกเมืองไป”

“ขุนแผนจึงคุมทหารเข้าล้อมวัง ไปจับอัครสาธุเทวีมเหสีพระเจ้าเชียงใหม่ กับราชธิดาอันมีนามว่าเจ้าแว่นฟ้าทอง กับนางสนมน้อยใหญ่ของพระเจ้านครเชียงใหม่ให้รวบรวมไว้พร้อมด้วยกัน และให้เชิญนางสร้อยทองราชธิดาพระเจ้านครลานช้างที่เจ้าเชียงใหม่ไปแย่งชิงมาไว้ให้ออกมาจากหอคำ จึงเชิญนางสร้อยทองพระราชธิดาพระเจ้าลานช้าง กับพระมเหสีราชธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ที่จับไว้ได้ เลิกกองทัพกลับลงมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และกราบทูลข้อราชการทัพที่มีชัยชนะนั้นให้ทรงทราบทุกประการ”

“สมเด็จพระพันวษาก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงพระราชดำริถึงทศพิศราชธรรมตรัสว่า ซึ่งเจ้านครเชียงใหม่สู้ฝีมือกองทัพไทยไม่ได้ หนีออกจากเมืองไป ทิ้งเมืองให้ว่างเปล่าไว้ไม่มีเจ้าปกครองดังนั้นไม่ควร สมณชีพราหมณ์ราษฎรจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ให้เป็นข้าหลวง ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองเชียงใหม่ ไม่ให้แตกตื่นวุ่นวาย ให้เสนาข้าราชการชาวเมืองเชียงใหม่นั้นไปติดตามเชิญพระเจ้าเชียงใหม่ กลับเข้ามาปกครองบ้านเมืองอยู่เป็นปรกติตามเดิมดั่งเก่า”

“ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัล เป็นต้นว่าเงินทอง สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ขุนแผนผู้เป็นแม่ทัพ และนายทัพนายกองตลอดจนโยธาทวยหาญ ผู้ไปรบศึกมีชัยชนะมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงตั้งนางสร้อยทอง ราชธิดาพระเจ้าศรีสัตนาคนหุตลานช้างเป็นพระมเหสีซ้าย ตั้งนางแว่นฟ้าทองราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่เป็นพระสนมเอก แต่มเหสีเจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นมารดาของนางแว่นฟ้าทองพระสนมเอกนั้น โปรดแต่งข้าหลวงพร้อมด้วยพวกพลพาขึ้นไปส่งต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ โดยพระทับทรงพระกรุณาฝ่ายข้าคนชายหญิงชาวนครลานช้างและชาวนครเชียงใหม่นั้น ก็ทรงโปรดให้ตั้งทำมาหากินอยู่ตามภูมิลำเนาในกรุงศรีอยุธยา”

“ฝ่ายขุนแผนซึ่งเป็นทหารเอกยอดดี มีชื่อเสียงปรากฏในกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น เมื่อคิดเห็นว่าตนแก่ชราแล้ว จึงนำดาบวิเศษของตนเข้าถวายสมเด็จพระพันวษา เพื่อเป็นพระแสงดาบทรงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระแสงทรงสำหรับพระองค์ แล้วจึงทรงประสิทธิ์ประสาทนามว่า พระแสงปราบศัตรู และทรงตั้งนามพระแสงขรรค์แต่ครั้งพระยาแกรกนั้นว่า พระขรรค์ชัยศรี โปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวา และรับสั่งให้เชิญพระรูปพระยาแกรก กับมงกุฎของพระยาแกรกเข้าไว้ในหอพระที่นมัสการในพระราชวัง พระรูปพระยาแกรกกับมงกุฎทรง ยังมีปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้”

“พระพันวษาครองราชย์สมบัติมาได้ ๒๕ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๔๐ พรรษา เสด็จสวรรคต”

ในคำให้การชาวกรุงเก่า มีเรื่องขุนช้างขุนแผนปรากฏอยู่เท่านี้ นอกจากคำให้การชาวกรุงเก่า หนังสือเรื่องอื่นที่แต่งครั้งกรุงเก่ากล่าวถึงเสภามีบ้าง แต่ยังไม่พบที่เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีในหนังสือพงศาวดารเหนือก็กล่าวเพียงว่า สมเด็จพระพันวษาได้เสวยราชย์เมื่อนั้นๆ

อันพระนามที่เรียกว่า “พระพันวษา” น่าจะเป็นแต่พระนามประกอบพระเกียรติยศ สำหรับเรียกสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในสมัยอันหนึ่ง ดังเราเรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มิใช่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์หนึ่งพระองค์ใด เพราะคำเดียวกันนี้ในชั้นหลังต่อมา มาใช้เป็นพระนามสำหรับพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” และที่เรียกสมเด็จพระอัครมเหสีว่า “สมเด็จพระพันวษา” ก็มีในบางรัชกาล เช่นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครั้งกรุงเก่า และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายก็เรียกว่า “สมเด็จพระพันวษา” จึงเห็นว่ามิใช่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งพระองค์ใดแต่ก่อนมา

เรื่องขุนช้างขุนแผนที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ มีหลักฐานที่จะเทียบให้รู้ศักราชได้ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนเกิดมีขึ้นเมื่อใด คือในหนังสือนั้นแห่งหนึ่งกล่าวว่า สมเด็จพระพันวษาเป็นพระราชบิดาของพระบรมกุมาร ต่อมากล่าวว่า พระบรมกุมารได้เสวยราชสมบัติ มีมเหสีชื่อศรีสุดาจันทร์ และนางนี้เมื่อพระราชสามีสวรรคตแล้วชิงราชสมบัติให้แก่ชู้ เทียบกับพระราชพงศาวดาร พระบรมกุมารก็คือสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมเด็จพระพันวษานั้นก็คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยหลักฐานอันนี้ประมาณว่า ขุนแผนมีตัวอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่างจุลศักราช ๘๕๓ จน ๘๙๑ ปี และมีเนื้อความประกอบในพงศาวดารเชียงใหม่ว่า ในยุคนั้นพระเมืองแก้วเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายคราว

และยังมีเนื้อความประกอบชอบกลอีกอย่างหนึ่ง ที่ในต้นหนังสือเสภาเอง ลงศักราชไว้ว่า “ร้อยสี่สิบเจ็ดปี” ถ้าสันนิษฐานว่าเดิมเขียนเป็นตัวหนังสือว่า “แปดร้อยสี่สิบเจ็ดปี” ภายหลังตกคำ แปด ไปเสีย ถ้าวางจุลศักราช ๘๔๗ เป็นปีขุนแผนเกิด ขุนแผนเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อายุได้ ๖ ขวบสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผ่านพิภพ จึงได้รับราชการในแผ่นดินนั้น ดูก็เข้ากันได้

แต่ที่ในคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวอีกแห่งหนึ่งว่า ท้าวโพธิสารเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น ท้าวโพธิสารนี้ที่จริงเป็นเจ้าล้านช้าง เป็นแต่ราชบุตรเขยพระเจ้าเชียงใหม่ และเป็นพระชนกของพระไชยเชษฐาที่ขอพระเทพกษัตรี คราวทำสงครามกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ลงมาตรงราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะเอาชื่อโพธิสารมาใส่ผิด ฟังไม่ได้

ควรฟังเป็นหลักฐานแต่ว่า มีเค้าเงื่อนว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นเรื่องเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔ กับ ๒๐๗๒ และอนุโลมต่อมาได้ อีกอย่างหนึ่งเสภาคงจะเกิดมีขึ้นภายหลังรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นับด้วยร้อยปี เมื่อเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่ากันจนกลายเป็นนิทานไปแล้ว ถ้าประมาณว่า เสภาเพิ่งเกิดมามีขึ้นในตอนหลัง ไม่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เห็นจะไม่ผิด

ตัวเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เล่าในคำให้การชาวกรุงเก่าแม้สังเขปเพียงนั้น ยังเห็นได้ว่าไม่ตรงกับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราขับเสภากัน ความข้อนี้ไม่อัศจรรย์อันใด ด้วยเรื่องขุนช้างขุนแผนเอามาเล่าเป็นนิทานกันเสียช้านานหลายร้อยปี และซ้ำมาแต่งเป็นกลอนเสภาในชั้นหลังอีก คงตกแต่งเรื่องให้พิลึกกึกก้องสนุกสนานขึ้น และต่อเติมยืดยาวออกทุกที เชื่อได้ว่าเรื่องในเสภาคงคลาดเคลื่อนจากเรื่องเดิมเสียมาก

แต่คงจะยังมีเค้ามูลเรื่องเดิมอยู่บ้าง ถ้าจะลองประมาณเค้าเรื่องเดิมเท่าที่ยุติต้องด้วยเหตุผล เรื่องข้างตอนต้นเห็นจะตรงที่ปรากฏในเสภา คือขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง สามคนนี้เป็นชาวสุพรรณ นางวันทองเป็นชู้กับขุนแผนแต่เมื่อยังเป็นพลายแก้ว แล้วทำนองจะขอสู่กันไว้ แต่ยังไม่ทันแต่งงาน ในระยะนี้พลายแก้วต้องเกณฑ์ไปทัพ (ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ทัพ) หายไปเสียนาน ทางนี้ขุนช้างพยายามจนได้นางวันทองไปเป็นเมีย พลายแก้วกลับจากทัพได้เป็นที่ขุนแผนสะท้าน ตำแหน่งปลัดซ้ายกรมตำรวจภูบาล จึงลักนางวันทองไป ขุนช้างติดตาม ขุนแผนทำร้ายขุนช้างอย่างไรอย่างหนึ่ง ขุนช้างจึงเข้ามากล่าวโทษขุนแผน

สมเด็จพระพันวษาให้ข้าหลวงออกติดตาม ขุนแผนฆ่าข้าหลวงเสีย แล้วจึงหนีขึ้นไปเมืองเหนือ แต่ลงปลายเข้าหาพระพิจิตรโดยดี พระพิจิตรจึงบอกส่งลงมากรุงฯ น่าสงสัยว่าจะเป็นในตอนนี้เองที่มีรับสั่งให้ฆ่านางวันทองฐานเป็นหญิงสองใจ แล้วเอาขุนแผนจำคุกไว้ โดยโทษที่ฆ่าข้าหลวง แต่ลดหย่อนเพราะเจ้ามาลุแก่โทษ อยู่มาเกิดศึกเชียงใหม่ เวลาเสาะหาทหาร จมื่นศรีฯ ทูลยกย่องขุนแผน ขุนแผนจึงพ้นโทษด้วยจะให้ไปทำการศึก ขุนแผนไปรบพุ่งมีชัยชนะ จึงเลยมีชื่อเสียงเป็นคนสำคัญ น่าเข้าใจว่าทำนองเรื่องขุนช้างขุนแผนเดิมจะมีเท่านี้เอง นอกจากนี้เห็นจะเป็นของแต่งประกอบขึ้นในตอนเมื่อเป็นนิทาน และเป็นเสภาในภายหลัง


ว่าด้วยหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

หนังสือกลอนของโบราณ ที่เกิดขึ้นด้วยเอานิทานมาแต่งเป็นกลอนสำหรับขับลำนำ ไม่ใช่มีแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว หนังสือเรื่องตำนานและชาดกต่างๆ ที่แต่งเป็นกลอนสำหรับสวดก็เป็นของเกิดขึ้นโดยนัยเดียวกัน คือเอาเรื่องนิทานที่สำหรับเล่ามาแต่งเป็นกลอนสำหรับอ่าน เมื่ออ่านก็ทำทำนองเป็นลำนำเช่น อ่านตามศาลาและวิหาร อันเป็นเหตุให้เรียกว่า “โอ้เอ้วิหารราย” นั้นเป็นต้น ก็คือเล่านิทานให้คนฟังนั้นเอง หนังสือสวดนั้นเชื่อไว้ว่า มีมาก่อนหนังสือเสภาช้านาน และมีแพร่หลาย จนถึงเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือ ก็เอานิทานและชาดกมาแต่งเป็นหนังสือสำหรับแอ่วโดยทำนองเดียวกัน เมื่อพิเคราะห์ดูว่า การที่เอาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนเสภา จะเอาแบบอย่างมาจากหนังสือสวดหรืออย่างไร สันนิษฐานเห็นว่า น่าจะเป็นการเกิดขึ้นทางหนึ่งต่างหากไม่ได้เอาอย่างจากหนังสือสวด เกิดขึ้นแต่การเล่านิทานกันตามบ้านนั้นเอง

ลักษณะนิทานที่เล่ากันแต่โบราณ หรือแม้ตลอดลงมาจนในปัจจุบันทุกวันนี้ ผิดกับชาดกอันเป็นต้นเค้าของหนังสือสวด ในข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่นิทานมักหยาบและโลน ข้อนี้ไม่ใช่เพราะคนเล่าและคนฟังนิทานมีอัชฌาสัยชอบหยาบและโลนทั่วไป ความจริงน่าจะเกิดแต่ในคติในทางอาถรรพ์มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ที่ถือว่า ถ้าปีศาจเอ็นดูอยากได้ผู้ใด ก็อาจบันดาลให้ล้มตาย เอาตัวไปเลี้ยงดูใช้สอยในเมืองผี จึงเกิดวิธีแก้โดยอาการที่กระทำให้ปีศาจเห็นว่าเป็นคนหยาบคนโลน ไม่ควรปีศาจจะเอาไปเลี้ยงดู

คติอันนี้เป็นเหตุให้เกิดความประพฤติหลายอย่าง ที่ยังถือลงมาใช้ในชั้นหลัง เป็นต้นว่าทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าลูกเจ้าหลานนายเกิดมักใช้ชื่อ ๒ ชื่อ ชื่อหนึ่งเป็นสามัญสำหรับตัว อีกชื่อหนึ่งสำหรับเรียกให้ผีเกลียดเช่น ชื่อว่า “อึ่ง” บ้าง “กบ” บ้าง “เขียด” บ้าง ลักษณะที่คนเล่นเพลงปรบไก่ก็ดี เทพทองก็ดี ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากเกี้ยวกันโดยกระบวนหยาบช้า ถึงขุดโคตรเค้าเหล่ากอด่ากันเล่นต่อหน้าธารกำนัล ก็เชื่อว่ามาแต่คติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ปีศาจรังเกียจบุคคลหรือวัตถุที่เป็นเหตุแห่งมหรสพ ด้วยเหตุนี้ ในงานสมโภชพระยาช้างเผือกมาถึงพระนคร จึงต้องมีเทพทองเป็นของขาดไม่ได้มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ยังมีอีกอย่างหนึ่งเช่น เด็กผูกขุนเพ็ดก็ดี หรือที่คนทำขุนเพ็ดไปถวายเจ้าก็ดี ก็น่าจะมาโดยคติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ผีชังเด็กนั้น และให้เจ้าชังคนที่เอาขุนเพ็ดถวาย ไม่ต้องการเอาไปเมืองผี มิใช่ถวายพระเจ้าจะชอบพอขุนเพ็ดอย่างไร

การเล่านิทานเป็นมหรสพโดยเฉพาะในงานเรียกขวัญเช่นงานโกนจุก ที่เล่านิทานเรื่องหยาบๆ ก็จะเนื่องด้วยเรื่องจะให้ผีรังเกียจเด็กที่โกนจุกนั้น อยู่ในคติอันเดียวกัน นิทานที่เล่ากันจึงมักจะกลาย และจึงให้อภัยกันโดยประเพณีที่กล่าวมาแล้ว ครั้นเคยชินกันมาก็เลยเป็นธรรมเนียมจนกลายเป็นของขบขัน ถึงเรื่องขุนช้างขุนแผนเมื่อยังเล่ากันเป็นนิทาน ก็คงเล่าอย่างหยาบๆ ข้อนี้ยังเห็นได้แม้จนบทเสภาที่ขับกันในพื้นบ้านเมืองก็อยู่ข้างหยาบ แต่ไม่หยาบอย่างสามหาวเหมือนนิทานเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ้น เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้ จึงได้นิยมแต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว

ในชั้นแรกที่จะเกิดเสภา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะแต่งเป็นกลอนแต่บทสำคัญในเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่นบทสังวาส บทพ้อ บทชมโฉม และชมดง เป็นต้น เมื่อเล่านิทานไปถึงตรงนั้น จึงว่ากลอนแทรกเป็นทำนองนิทานทรงเครื่อง เหตุใดจึงเห็นดังนั้น อธิบายว่าเพราะแต่เดิมเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่าเป็นนิทาน และธรรมดาเล่านิทานนั้น จะเล่าคนเดียวก็ตาม หรือผลัดกันเล่าหลายคนก็ตาม คงต้องเล่าแต่ต้นจนจบเรื่องนิทานทุกเรื่อง นิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องยืดยาวที่จะแต่งเป็นกลอนให้จบเรื่องในคราวเดียวยาวนัก แม้แต่งได้ก็จะเล่าให้จบเรื่องในคืนเดียวไม่ได้ จึงสันนิษฐานในชั้นแรกเมื่อจะเกิดเสภาเห็นจะแต่งเป็นกลอนเพียงบทสำหรับว่าสลับแต่ในตอนที่สำคัญ แล้วเล่านิทานต่อไปจนจบเรื่องขุนช้างขุนแผน กลอนที่แต่งชั้นนี้อาจจะเป็นกลอนสดคิดขึ้นว่าในเวลาเล่านิทานนั้น

ครั้นเมื่อคนฟังชอบต่อมาอีกชั้นหนึ่ง จึงมีกวีคิดแต่งเป็นกลอนทั้งตัวนิทานเอาไปขับเป็นเสภา จึงเกิดหนังสือเสภามาแต่นั้น แต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องยาวดังกล่าวมาแล้ว เมื่อแต่งเป็นกลอนและขับเป็นลำนำด้วย ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะขับให้ตลอดเรื่องได้ในคืนเดียว บทเสภาที่แต่งขึ้นจึงแต่งแต่เป็นตอนพอขับคืนหนึ่ง เมื่อเอาอย่างกันแพร่หลายแต่งกันขึ้นหลายคน ใครชอบใจจะขับตอนไหน ก็แต่งเป็นกลอนเฉพาะตอนที่ขับนั้น ด้วยเหตุนี้ บทเสภาเดิมทั้งที่แต่งครั้งกรุงเก่า หรือแม้ที่แต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่าจึงเป็นท่อนเป็นตอน ไม่เป็นเรื่องติดต่อกันเหมือนกับบทละคร การที่เอาบทเสภามารวมติดต่อกันให้เป็นเรื่องอย่างหนังสือเสถาที่ลงพิมพ์มีหลักฐานที่รู้ได้ว่า พึ่งเอามารวมกันในชั้นหลังเมื่อราวรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

หนังสือเสภาที่แต่งเมื่อครั้งกรุงเก่าเห็นจะสูญเสียแทบหมด ด้วยหนังสือเสภาผิดกับหนังสือบทละครและหนังสือสวด เพราะลักษณะการเล่นละครและสวดต้องอาศัยหนังสือ ใครเล่นละครก็จำต้องมีหนังสือบทสำหรับโรง ถ้าไม่มีหนังสือก็เล่นละครไม่ได้ หนังสือสวดก็ต้องมใช้ในเวลาสวดโดยทำนองเดียวกัน แต่หนังสือเสภาไม่เช่นนั้น แต่งขึ้นสำหรับให้คนขับท่องพอจำได้ จำได้แล้วก็ไม่ต้องใช้หนังสือ ใช่แต่เท่านั้น ใครแต่งหนังสือเสภาขึ้นสำหรับขับหากินน่าจะปิดหนังสือด้วยซ้ำไป เพราะกลัวผู้อื่นจะได้ไปขับแข่งตน จะให้อ่านท่องก็เห็นจะเฉพาะที่เป็นศิษย์หา หนังสือเสภาย่อมจะมีน้อยและเป็นของปกปิดกันจึงสาบสูญง่าย ไม่เหลือลงมามากเหมือนหนังสือบทละคร และหนังสือสวดครั้งกรุงเก่า

บทเสภาครั้งกรุงเก่าที่ได้มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้มาด้วยมีคนขับเสภาครั้งกรุงเก่าเหลือมาบ้าง แต่บทที่คนเสภาเหล่านั้นจะได้หนังสือมาหรือจำมาได้ก็ไม่กี่ตอน สักว่าได้มาพอเป็นเชื้อ บทเสภาที่ขับกันในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้ในชั้นสำนวนเก่า ได้สังเกตสำนวนดู เชื่อได้ว่าเป็นของที่มาคิดแต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งนั้น

ตำนานเสภาชั้นกรุงรัตนโกสินทร์มีหลักฐานพอที่จะรู้เรื่องราวได้ถ้วนถี่ดีกว่าครั้งกรุงเก่าหลายอย่าง ข้าพเจ้าได้พบหนังสือซึ่งนับว่าเป็นจดหมายเหตุในเรื่องเสถามีอยู่ ๒ ฉบับ คือกลอนสุนทรภู่แต่งไว้ในบทเสภาตอนโกนจุกพลายงามแห่งหนึ่ง กลอนท้ายไหว้ครูเสถาใครแต่งก็หาทราบไม่ นายอยู่ เสภาชาวอ่างทองว่าให้ข้าพเจ้าฟังได้ให้จดไว้อีกฉบับหนึ่ง หนังสือกลอน ๒ ฉบับนี้ ให้เค้าเงื่อนทางวินิจฉัยตำนานเสภาหลายข้อ ดังจะอธิบายต่อไป




ชื่อครูเสภาที่ปรากฏในกลอนทั้ง ๒ ฉบับนี้ ที่ปรากฏชื่อในกลอนของสุนทรภู่ เป็นคนเสภามีชื่อเสียงในครั้งรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เคยฟังคนเหล่านั้นขับ จึงรู้ทำนองของใครเป็นอย่างไร ส่วนชื่อครูเสภาที่ปรากฏในกลอนไหว้ครูนั้น เห็นได้ว่ารวบรวมชื่อคนเสภาเก่าใหม่บรรดาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ทั้งที่มีตัวอยู่และที่ตายไปเสียแล้วมาระบุไว้ ที่ซ้ำกันในบัญชีของสุนทรภู่ก็หลานคน และรู้ได้ว่าแต่งทีหลังกลอนของสุนทรภู่ เพราะอ้างถึงครูเสภาร่วมกับสุนทรภู่ เช่นนายมาพระยานนท์ เป็นต้น แต่ในฉบับไหว้ครูบอกว่าตายเสียแล้ว จึงรู้ว่าแต่งทีหลัง

ในกลอนทั้ง ๒ ฉบับ มีชื่อครูเสภา ๑๔ คน ครูปี่พาทย์ ๕ คน ได้ลองสืบประวัติได้แต่บางคน(๒)

๑. ครูทองอยู่ มีทั้งชื่อในกลอนสุนทรภู่และการไหว้ครู คนนี้ได้ความว่าเป็นคนสำคัญทีเดียว เดิมเป็นตัวละครพระเอกของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์แต่ในรัชกาลที่ ๑ ครั้นเมื่อหัดละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นครูนายโรงละครหลวงรุ่นใหญ่ เช่น เจ้าจอมมารดาแย้มอิเหนา เป็นต้น และว่าเป็นที่ปรึกษาหารือของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพพิทักษมนตรี ในการคิดแบบใช้บทรำละคร ที่ใช้รำกันมาจนทุกวันนี้ นัยว่าครั้งนั้นเมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครแล้ว พระราชทานออกไปที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเอาพระฉายบานใหญ่มาตั้ง ทรงลองจัดวิธีรำให้เข้ากับบทกับครูทองอยู่ด้วยกัน เมื่อเห็นว่าอย่างไรเรียบร้อยดีแล้ว จึงมอบให้ครูทองอยู่ถ่ายมาฝึกหัดละคร ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ครูทองอยู่นี้ได้เป็นครูละครที่ฝึกหัดขึ้นตามวังเจ้านายเกือบจะทุกแห่ง เรียกได้ว่าเป็นครูละครทั้งเมือง ถึงมีชื่อบูชากันในคำไหว้ครูละครจนตราบเท่าทุกวันนี้ มีครูนางอีกคนหนึ่งชื่อว่าครูรุ่ง เป็นคู่กับครูทองอยู่ แต่เห็นจะขับเสภาไม่เป็น ส่วนครูทองอยู่นั้นยังดีในทางเสภาด้วยอีกคนหนึ่ง จึงมีในพวกครูเสภาด้วย

๒. ครูแจ้ง คนนี้เป็นรุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพนางวันทอง ว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครูแจ้งกับยายมานี้เป็นคนเพลงที่เลื่องลือกันในรัชกาลที่ ๓ อยู่มาไปเล่นเพลงครั้งหนึ่ง ยายมาด่ามาถึงมารดาครูแจ้งด้วยข้อความอย่างไรอย่างหนึ่ง ซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลง หันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน ดังจะปรากฏบางตอนในเสถาฉบับนี้ ด้วยแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่ ถึงลำสวดที่สวดกันมาในชั้นหลัง ว่าเป็นลำของครูแจ้งประดิษฐ์ขึ้นก็มี จึงนับว่าครูแจ้งเป็นครูเสภาสำคัญอีกคนหนึ่ง

๓. ครูปี่พาทย์ชื่อว่าครูมีแขกนั้น คือเป็นเชื้อแขก ชื่อมี ว่าเล่นเครื่องดุริยดนตรีได้เกือบทุกอย่าง เป็นคนฉลาด สามารถแต่งเพลงดนตรีด้วยมีชื่อร่ำลือ เพลงของครูมีนี้ คือ ทยอยในทยอยนอก ๓ ชั้น เป็นต้น ยังเล่นกันอยู่จนทุกวันนี้ทั่วทุกวงแทบจะถือกันว่า ถ้าใครเล่น ๒ เพลงนี้ไม่ได้ นับว่ายังไม่เป็น ครูมีนี้ทำนองจะถนัดปี่ จึงปรากฏในคำไหว้ครูว่า “ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ” แต่ทยอยซึ่งว่าในที่นี้ เป็นอีกเพลงหนึ่งไม่ใช่ทยอยนอกทยอยในที่กล่าวมาแล้ว ปี่เป่าแต่เลาเดียว พวกปี่พาทย์เรียกกันว่า “ทยอยเดียว” เป็นเพลงครูมีแต่งเหมือนกัน ครูมีนี้ดีมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เจ้านายหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระเทเวศร์ฯ กรมหลวงวงศาฯ เป็นต้น ทรงรวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน ครูมีคนนี้ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประดิษฐ์ไพเราะ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นครูมโหรีของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ที่นี้จะอธิบายตำนานเสภาที่วินิจฉัยได้ความจากกลอนทั้ง ๒ ฉบับนั้นต่อไป คือ ได้ความว่า ครูเสภาที่เก่าก่อนคนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ชื่อนายสน เป็นนายประตู อาจจะเป็นเสภามาแต่ครั้งกรุงเก่า มาเป็นครูเสภาในครั้งรัชกาลที่ ๑ ตายเสียก่อนสุนทรภู่แต่งกลอน จึงมิได้กล่าวถึงชื่อ จึงรู้ได้ว่าเป็นครูเสภาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ข้อนี้เป็นเหตุให้เห็นว่า มีคนเสภากรุงเก่าเป็นเชื้อลงมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ครูเสภาที่สุนทรออกชื่อ ๖ คนนั้น เป็นครูเสภาครั้งรัชกาลที่ ๒ คนเหล่านี้ประมาณอายุดู เห็นว่าเกิดไม่ทันที่จะเป็นเสภาครั้งกรุงเก่า คงเป็นคนเสภารุ่นแรกที่หัดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อลงมายังมีครูเสภารุ่นหลังที่ดีขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏชื่อในกลอนไหว้ครูก็หลายคน

ครูเสภาทั้งปวงนี้ มิใช่แต่ขับเสภาได้อย่างเดียว อาจจะแต่งบทเสภาได้ด้วย จึงจะยกย่องว่าเป็นครูเสภา หนังสือเสภารุ่นแรกที่เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ คงเป็นครูเสภาเหล่านี้แต่งขึ้นโดยมาก มีตัวอย่างสำนวนที่ยังจะสังเกตเห็นได้ ในหนังสือเสภาที่พิมพ์หลายแห่ง เช่น ตอนที่ ๑ ในหนังสือเล่มนี้ (ทั้งมีสำนวนใหม่ซ่อมเสียบ้างแล้ว) ยังสังเกตได้ว่า คล้ายกลอนครั้งกรุงเก่า ไม่สู้ถือสัมผัสเป็นสำคัญ ความที่ว่าก็อยู่ข้างจะเร่อร่า เสภาสำนวนเดิมในกรุงรัตนโกสินทร์ที่กล่าวนี้ ก็คงแต่งกันเป็นตอนๆ เหมือนอย่างครั้งกรุงเก่า จะมีเนื้อความกล่าวไว้ในกลอนว่า

“ท่านตามีช่างประทัดถนัดรบ” หมายความว่า ชอบขับตอนพลายแก้วไปตีเมืองเชียงใหม่ หรือตอนขุนแผนตีเมืองเชียงใหม่

“ตาทองอยู่รู้ว่าภาษาลาว” หมายความว่า ชอบขับตอนนางลาวทอง หรือตอนนางสร้อยฟ้าศรีมาลา

“ครูอ่อนว่าพิมระบือชื่อขจร” หมายความว่า ชอบขับตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม ดังนี้

หนังสือเสภาเพิ่งมาเป็นหนังสือวิเศษขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ความข้อนี้มีหลักฐานรู้ได้แน่นอน แม้ในกลอนไหว้ครูที่ว่ามาแล้วยังกล่าวถึงว่า



ตรงนี้หมายความว่า เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๒ เสภายังขับกันอย่างเล่านิทานไม่มีส่งปี่พาทย์ ลักษณะขับเสภาในขั้นนั้น เข้าใจว่าเห็นจะขับแต่ ๒ คนขึ้นไป วิธีขับผลัดกันคนละตอน ให้คนหนึ่งได้มีเวลาพัก หรือมิฉะนั้น ถ้าเป็นคนเสภาเก่งๆ เจ้าของงานเลือกเรื่องให้ว่าตอนใดตอนหนึ่ง ให้แต่งกลอนสดโต้กันอย่างเพลงปรบไก่ อย่างนี้เรียกว่าเสภาต้น เคยได้ยินว่ามีกันแต่ก่อน ครั้งเมื่อมีวิธีส่งปี่พาทย์แล้ว จึงขับแต่คนเดียวเป็นพื้น ด้วยเวลาที่ปี่พาทย์ทำผู้ขับเสภาได้พัก

แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงกระบวนเสภาแต่ให้มีวิธีส่งปี่พาทย์ขึ้นเท่านั้น ถึงบทเสภาเองก็แต่งใหม่ในสมัยนั้น โดยมากบทเสภาที่นับถือกันว่าวิเศษในทุกวันนี้ เป็นบทแต่งครั้งรัชกาลที่ ๒ แทบทั้งนั้น ที่เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเองก็มี ความข้อนี้ข้าพเจ้าได้เคยทูลถามสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า “ได้ยินเขาพูดกันว่าบทเสภานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์จริงหรืออย่างไร”

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ มีรับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า “ทรงพระราชนิพนธ์จริง ไม่ทรงอย่างเปิดเผย แต่ช่วยกันแต่งหลายคน” ข้าพเจ้าได้สดับกระแสรับสั่งมาดังนี้ ยังนึกเสียดายว่า ครั้งนั้นหนักปากไปเสีย ถ้าได้ทูลถามชื่อผู้แต่งไว้ให้ได้มาก และรู้ว่าใครแต่งตอนไหนด้วยก็จะดีทีเดียว

เมื่อมาอยากรู้ขึ้นเวลานี้ ได้แต่สังเกตสำนวนกลอน เข้าใจว่าจะมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อยังเป็นกรม ได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง แต่ที่จำสำนวนได้แน่นอนนั้นคือสุนทรภู่อีกคนหนึ่ง แต่ตอนกำเนิดพลายงาม ตั้งแต่พลายงามเกิดจนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เป็นกลอนสำนวนสุนทรภู่เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย

ส่วนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ นั้น กล่าวกันมาว่า ทรงตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม อยู่ในตอนที่ ๔ เล่ม ๑ นี้ตอนหนึ่ง กับตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างและเข้าห้องนางแก้วกิริยา อยู่ตอนที่ ๑๗ ในเล่ม ๒ ฉบับนี้อีกตอนหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าสังเกตสำนวนกลอนเห็นว่าตอนนางวันทองหึงนางลาวทองเมื่อขุนแผนกลับมาถึงบ้าน อยู่ในตอนที่ ๑๓ ในเล่ม ๑ นี้ ดูเหมือนจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ อีกตอนหนึ่ง



ส่วนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เข้าใจว่าจะเป็นตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี อยู่ต่อพระราชนิพนธ์ทั้ง ๒ ตอน

ผู้ที่แต่งเสภาครั้งรัชกาลที่ ๒ ถึงไม่รู้จักตัวได้หมด ก็เชื่อได้ว่าคงอยู่ในพวกกวีที่มีชื่อเสียงในรัชกาลนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงหารือเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือพวกกวีชุดเดียวกันกับที่แต่งหนังสือบทละครในรัชกาลที่ ๒ มีเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์เป็นต้น นั้นเองที่แต่งบทเสภา ถ้าสังเกตดูทำนองกลอนก็จะเห็นได้ว่า กลอนเสภาที่ตอนดีๆ คล้ายๆ กันกับบทละครในรัชกาลที่ ๒ ไม่ห่างไกลกันนัก

ผิดแต่ในข้อสำคัญที่เสภาไม่มีบังคับเหมือนอย่างบทละคร ที่จะต้องแต่งให้เข้ากับกระบวนคนรำ แต่เสถาบทจะยาวสั้นอย่างไรแล้วแต่จุใจของผู้แต่ง อยากจะว่าอย่างไรก็ว่าได้สิ้นกระแสความ อีกประการหนึ่ง สำนวนเสภาแต่งเป็นอย่างเล่านิทาน ถือเป็นข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องแต่งให้เห็นเป็นเรื่องจริงจัง เป็นต้นว่า ถ้อยคำสำนวนที่พูดจากันในเสภา แต่งคำคนชนิดไรก็ให้เหมือนถ้อยคำคนชนิดนั้น และพูดจาตามวิสัยของคนชนิดนั้น

แม้กล่าวถึงที่ทางไปมาในเรื่องเสภาก็ว่าให้ถูกแผนที่สมจริง ข้อนี้ข้าพเจ้าเคยไปตามท้องที่ที่อ้างในเสภาหลายแห่ง ได้ลองสอบสวนเห็นกล่าวถูกต้องโดยมาก ดูเหมือนแต่งบทเสภาจะถึงต้องสอบถามแผนที่กันมิใช่น้อย ว่าโดยย่อการแต่งบทเสภามีกระบวนที่จะแต่งได้กว้างขวางกว่าบทละคร ทั้งเนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนเองก็เป็นเรื่องสนุก มีท่าทางที่จะแต่งเล่นได้หลายอย่าง ประกอบกับที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้แต่งให้ปรากฏ ผู้แต่งได้อิสระเต็มที่

ด้วยเหตุเล่านี้ พวกกวีที่แต่งบทเสภาจึงแต่งประกวดกันเต็มฝีปาก ว่าเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจ เป็นหนังสือซึ่งให้เห็นสำนวนกวีต่างๆ กันเป็นอย่างดี หนังสือเสภาจึงวิเศษในกระบวนหนังสือกลอน ผิดกับหนังสือเรื่องอื่นที่แต่งมาก่อน หรือที่แต่งในยุคเดียวกันนั้น จะเปรียบเทียบกับเสภาไม่ได้สักเรื่องเดียว หนังสือเสภาจึงเป็นเสน่ห์ ใครอ่านแล้วย่อมชอบติดใจตั้งแต่เดิมมาจนกาลบัดนี้

หนังสือเสภาที่แต่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็แต่งเป็นตอนๆ แล้วแต่กวีคนใดจะพอใจแต่งเรื่องตรงไหน ก็รับไปแต่งตอนหนึ่งเหมือนจะกะพอขับคืนหนึ่ง ประมาณราว ๒ เล่มสมุดไทย ข้อนี้รู้ได้โดยสังเกตสำนวนหนังสือ และได้ทราบว่า เมื่อแต่งแล้วเอาเข้ามาขับถวายตัวเวลาทรงเครื่องใหญ่ จึงเป็นประเพณีมีขับเสภาถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่ มีในรัชกาลหลังๆ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพ ก็ทรงเจริญแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ขอแรงกวีแต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับขับเวลาทรงเครื่องใหญ่ ใครจะแต่งบ้างหาทราบไม่ แต่สุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่ได้แต่งด้วย เสียดายที่หนังสือเสภาพระราชพงศาวดารแต่งคราวนั้น ฉบับสูญหายเสียหมด มีแต่ที่จำกันไว้ได้เป็นตอนๆ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นคราวหนึ่ง แต่อ่านสู้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนไม่ได้ ด้วยเนื้อเรื่องหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ชวนแต่งเสภาเหมือนเรื่องขุนช้างขุนแผน

นอกจากเรื่องพระราชพงศาวดาร ยังมีเสภาเรื่องเชียงเมี่ยง คือเรื่องศรีธนญไชยอีกเรื่องหนึ่ง เข้าใจว่าแต่งขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เหมือนกัน แต่จะแต่งขึ้นเมื่อไร และใครจะแต่งหาทราบไม่ มีแต่ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ สังเกตสำนวนกลอนและลายมืออาลักษณ์ที่เขียน เป็นครั้งรัชกาลที่ ๔ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขอแรงกวีแต่งเสภาเรื่องนิทราชาคริตอีกเรื่องหนึ่ง โดยทำนองเดียวกับที่แต่งเสภามาในครั้งรัชกาลที่ ๒ และที่ ๔ ปรากฏตัวผู้แต่ง ๑๑ คน คือ

ตอนที่ ๑ หลวงพิศณุเสนย์ (ทองอยู่ ครูเสภา) ภายหลังเป็นพระราชมนู
ตอนที่ ๒ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น)
ตอนที่ ๓ ขุนวิสูตรเสนี (จาง)
ตอนที่ ๔ ขุนวินิจัย (อยู่) ภายหลังเป็นหลวงภิรมย์โกษา
ตอนที่ ๕ หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด) ภายหลังเป็นพระภิรมย์ราชา
ตอนที่ ๖ ขุนวิสุทธากร (ม.ร.ว. หนู)
ตอนที่ ๗ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)
ตอนที่ ๘ ขุนท่องสื่อ (ช่วง) ภายหลังเป็นหลวงมงคลรัตน์
ตอนที่ ๙ หลวงเสนีพิทักษ์ (อ่วม) ภายหลังเป็นพระยาราชวรานุกุล
ตอนที่ ๑๐ หลวงสโมสรพลการ (ทัด) เดี๋ยวนี้เป็นพระยาสโมสรสรรพการ
ตอนที่ ๑๑ หลวงจักรปาณี (ฤกษ์เปรียญ) ที่แต่งนิราศพระปฐมเจดีย์

หนังสือที่เรียกว่าเสภาหลวง จึงมี ๔ เรื่องด้วยกันดังแสดงมานี้ แต่เสภาเรื่องนิทราชาคริตที่ในหอพระสมุดฯ มีฉบับอยู่เพียง ๕ ตอนข้างต้น ถ้าตอนอื่นของท่านผู้ใดมี และยอมให้หอพระสมุดฯ คัดลอกรักษาไว้จะขอบคุณเป็นอันมาก

หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราอ่านกันทุกวันนี้ ไม่ได้แต่งแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทั้งหมด บทที่แต่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ก็มีหลายตอน ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในตัวความที่กล่าวในเรื่องเสภานั้น จะยกตัวอย่างเช่นตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม ในตอนที่ ๗ เล่ม ๑ นี้

กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว ในเสภาว่า “คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า ยกทองของพระยาละครให้” ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล

ต่อมาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ก็สังเกตได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยชมเรือนขุนช้างว่า “เครื่องแก้วแพรวพรรณอยู่ก่ายกอง ฉากสองชั้นม่านมุลี่มี” เพราะเล่นเครื่องแก้วกันเมื่อในรัชกาลที่ ๒

ส่วนตอนที่รู้ได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น เช่นตอนทำศพนางวันทอง มีกล่าวว่า “นายแจ้งก็มาเล่นต้นปรบไก่ ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า รำแต้แก้ไขกับยายมา เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป” นายแจ้งนี้คือเสภาชั้นหลัง ที่มีอายุอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ เป็นคนต้นเพลงที่ดีมีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓ จึงรู้ว่าเสภาตอนนี้แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓

ตอนอื่นที่มีที่สังเกตอย่างนี้ก็มีอีก แต่ได้ลองตรวจ จะให้รู้ชัดให้ตลอดเรื่องว่าตอนไหนแต่งในรัชกาลที่ ๒ ตอนไหนแต่งในรัชกาลที่ ๓ รู้ไม่ได้ ด้วยไม่มีที่สังเกตเสียมาก ลำพังสำนวนกลอนในรัชกาลที่ ๒ นั้นไม่ผิดกัน ด้วยกวีครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังอยู่มาในรัชกาลที่ ๓ โดยมาก กวีที่มีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ที่แต่งดีถึงกวีครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็มีมาก

จึงได้แต่สันนิษฐานโดยตำนาน คือในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการฟ้อนรำขับร้องก็จริง แต่ก็ไม่ทรงขัดขวางห้ามปรามมิให้ผู้อื่นเล่น การเหล่านั้น เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เล่นกันขึ้นหลายแห่ง เล่นละครบ้าง มโหรีปี่พาทย์บ้าง เสภานับว่าเป็นส่วนอันหนึ่งของปี่พาทย์ เพราะเป็นต้นบทส่งลำ จึงเล่นเสภากันแพร่หลายต่อมา บทเสภาสำนวนหลวงที่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เห็นจะได้มาขับให้คนฟังแพร่หลายในตอนนี้ เป็นเหตุให้เกิดนิยมบทเสภาที่แต่งใหม่มาก จึงมีผู้ขวนขวายให้แต่งบทเสภาตอนอื่นๆ ซึ่งยังมิได้แต่งในรัชกาลที่ ๒ เพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีกหลายตอน

ผู้ที่แต่งเสภาในชั้นหลังนี้ จะเป็นใครบ้างๆไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่าคุณดั่นคนหนึ่ง คุณดั่นนี้เป็นลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำราชกาลทราบว่าได้เป็นที่หลวงมงคลรัตน์ เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเล่นหนังว่าพากย์และเจรจาดีนัก เพราะเหตุที่เป็นกวีแต่งถ้อยคำได้เอง นอกจากคุณดั่น ผู้ที่แต่งกลอนดีในเวลานั้นยังมีมาก เช่นพวกที่มีชื่อเป็นผู้แต่งเพลงยาววัดพระเชตุพนฯ นั้นเป็นต้น

บทเสภาสำนวนหลวงนับว่าบริบูรณ์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่งขึ้นแทนบทเดิมเกือบจะตลอดเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อมีบทสำนวนหลวงบริบูรณ์แล้ว เห็นจะมีเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรือขุนนางผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง ที่เล่นเสภาและปี่พาทย์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ คิดอ่านให้รวบรวมเสภาเข้าเรียบเรียงเป็นเรื่องติดต่อกัน อย่างฉบับที่เราได้อ่านกันในทุกวันนี้

เหตุซึ่งรู้ว่าพึ่งเอาเสภามาเรียบเรียงกันเข้าเป็นเรื่องต่อภายหลังนั้น เพราะสำนวนเสภาที่แต่งต่างยุคสมัย มีหลักฐานที่จะรู้ได้บ้าง ดังกล่าวมาแล้ว คือมีสำนวนเดิมที่แต่งก่อนในรัชกาลที่ ๒ สำนวนหนึ่ง สำนวนที่แต่งในรัชกาลที่ ๒ สำนวนหนึ่ง สำนวนที่แต่งในรัชกาลที่ ๓ สำนวนหนึ่ง ในหนังสือเสภาเอาสำนวนเหล่านี้เรียบเรียงคละกัน สำนวนยุคหลังอยู่หน้าสำนวนยุคก่อนก็มี ดังเช่นสำนวนสุนทรภูแต่งตอนกำเนิดพลายงาม อยู่หน้าสำนวนเดิมที่แต่งตอนเจ้าเชียงใหม่ขอนางสร้อยทองนั้นเป็นต้น ถ้าได้เรียบเรียงเข้าเป็นเรื่องมาแต่ก่อน สำนวนกลอนคงจะต่อกันตามยุค โดยฐานที่แต่งกันต่อมาโดยลำดับ

ยังอีกสถานหนึ่ง ถ้าพิเคราะห์ดูหนังสือเสภาที่รวบรวมเป็นเรื่องแล้วนี้ ก็เห็นได้ว่าของเดิมเป็นท่อนเป็นตอน ผู้แต่งต่างคนต่างแต่งตามเรื่องนิทานที่ตนจำได้ ไม่ได้สอบสวนรู้เห็นกัน เรื่องที่กล่าวยังแตกต่างกันอยู่หลายแห่ง แม้ชื่อคนที่เรียกในเสภา เรียกผิดกันไปก็มี จะยกตัวอย่างเช่น เถ้าแก่ที่ขอนางวันทองให้ขุนช้าง ในตอนแรกเรียกชื่อว่า ยายกลอยยายสาย ครั้นต่อมาในตอนหลังๆ เรียกว่ายายกลอยยายสา หลักฐานมีอยู่ดังกล่าวมานี้ จึงเชื่อได้แน่ว่าบทเสภาแต่เดิมแต่งเป็นท่อนเป็นตอนไม่ติดต่อกัน และเชื่อได้ว่าพึ่งเอามารวมกันเข้าต่อชั้นหลัง

ที่ข้าพเจ้าประมาณว่าจะรวมเสภาเรียบเรียงเข้าเป็นเรื่องในรัชกาลที่ ๓ นั้น เพราะในบทเสภาที่เรียบเรียงเข้าไว้ มีบ้างตอนที่รู้ได้ว่าแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๓ นี้ประการหนึ่ง ยังอีกประมารหนึ่ง หนังสือเสภาที่รวมไว้ได้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีต่างกันถึง ๘ ฉบับ ยังฉบับปลีกต่างหากเป็นเล่มสมุดไทยราว ๒๐๐๐ เล่ม ได้ตรวจดูลายมือเขียน ไม่พบฝีมือเก่าถึงเขียนในรัชกาลที่ ๒ เลยสักเล่มเดียว ฉบับเก่าที่สุดมีเพียงฝีมืออาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๓ ฉบับนี้ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ๒ เล่มสมุดไทย แต่เขียนเป็นเส้นดินสิขาว ถ้ามิใช่ฉบับหลวงคงเป็นฉบับของเจ้านาย เช่นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏว่าโปรดหนังสือ

ด้วยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าการรวบรวมหนังสือเสภาเข้าติดต่อเป็นเรื่อง เห็นจะมารวมแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ว่านี้ประมาณเป็นอย่างสูง อาจจะมารวมต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ และเชื่อว่ารวมเรื่องในต้นรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ และเชื่อว่ารวมเรื่องในครั้งแรกนั้นจบเพียง ๓๘ เล่มสมุดไทย คือตั้งแต่ขึ้นต้นเรื่องมาจนถึงขับนางสร้อยฟ้ากลับไปถึงเมืองเชียงใหม่ ด้วยเห็นสำนวนกลอนเป็นยุติมาเพียงเท่านั้น

เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงหนังสือเสภาได้รวบรวมเข้าเป็นเรื่องแล้วดังกล่าวมา เมื่อหนังสือเสภายังมิได้ลงพิมพ์ ฉบับที่รวบรวมก็มีน้อย และคงอยู่แต่ของผู้มีบรรดาศักดิ์ ด้วยเหตุนี้ เสภาที่เล่นกันในพื้นเมืองในสมัยนั้น ยังขับเป็น ๒ สำนวน คนเสภาโดยมากยังขับได้แต่สำนวนเดิม มีที่ขับเสภาสำนวนหลวงได้น้อย ในสมัยนั้นจึงยังมีกวีที่ถือคติเนื่องมาแต่รัชกาลที่ ๓ คิดบทเสภาเพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อีกหลายตอน คือตอนจระเข้เถรขวาด และตอนพลายเพชรพลายบัว เป็นต้น เสภาที่ครูแจ้งแต่งหลายตอนก็แต่งในสมัยนี้

ข้อนี้รู้ด้วยสำนวนกลอนผิดกัน กลอนแต่งชั้นหลังมักชอบเล่นสัมผัสในเอาอย่างสุนทรภู่ และกระบวนแผนที่ก็ไม่แม่นยำเหมือนแต่งรุ่นก่อน เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ คงจะมีใครรวมหนังสือเสภาอีกครั้งหนึ่ง จึงสำเร็จรูปอย่างฉบับที่ตีพิมพ์ มีถึงตอนพลายแก้วพลายบัว คือต่อเรื่องเข้าอีก ๕ เล่มสมุดไทย รวมทั้งเก่าใหม่เป็น ๔๒ เล่ม

ครูเสภาที่มีชื่อเสียงปรากฏในรัชกาลที่ ๔ ก็มีหลายคน คือ

๑. ครูแจ้งที่กล่าวมาแล้ว ที่จริงในรัชกาลที่ ๓ เป็นแต่ร่ำลือกระบวนเพลง มาเป็นครูเสภามีชื่อเสียงเมื่อในรัชกาลที่ ๔

๒. ครูสิง เป็นบิดาของนายสัง จีนปี่พาทย์ที่ออกไปตายที่เมืองลอนดอนคราวไปกับปี่พาทย์ในเมื่อรัชกาลที่ ๕ และนายทองดีที่ได้เป็นหลวงเสนาะดุริยางค์เมื่อภายหลัง ครูสิงนี้ว่าขับตอนจระเข้ขวาดไม่มีตัวสู้เมื่อในรัชกาลที่ ๔

๓. หลวงพิศนุเสนี (ทองอยู่ เรียกกันว่าหลวงเพ็ดฉลู) ว่าดีหลายอย่าง ขับก็ดี แต่งเสภาก็ได้ และรู้ลำมากถึงบอกปี่พาทย์ได้ด้วย ถนัดขับตอนขุนแผนรบเมืองเชียงใหม่ หลวงพิศนุเสนีอยู่มาเป็นครูใหญ่อยู่ในรัชกาลที่ ๕

๔. ครูอินอู ว่าเสียงเพราะนัก ชอบขับตอนสังวาส เป็นคู่ขับกับหลวงพิศนุเสนี (ทองอยู่)

๕. ครูเมือง คนเสภาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ชมกันว่ากระบวนขยับกรับเข้ากับวิธีขับ ไม่มีตัวสู้(๓)

แต่การเล่นเสภาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ กลายมาเป็นเล่นคู่กับปี่พาทย์ด้วย เล่นกันขึ้นแพร่หลาย พอใจจะฟังเพลงปี่พาทย์กับเสภาเท่าๆ กัน ไม่ฟังเสภาเป็นคนสำคัญเหมือนกันอย่างแต่ก่อน

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ หมอสมิธพิมพ์บทเสภาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ (พ.ศ. ๒๔๑๕) เมื่อมีบทเสภาพิมพ์แล้ว ใครๆก็อาจจะหาซื้อบทเสภาสำนวนหลวงได้โดยง่าย แต่นั้นมาพวกเสภาก็หันเข้าขับสำนวนหลวง คนขับสำนวนนอกมีน้อยลงทุกที บทเสภาก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดแต่งขึ้นใหม่




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2551   
Last Update : 31 ตุลาคม 2551 20:06:16 น.   
Counter : 41743 Pageviews.  


ตำนานการสอบพระปริยัติธรรม


ภาพทรงศีล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(หรือสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเถระ)


................................................................................................................................................................


อธิบายเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม

การศึกษาของพระภิกษุสามเณรกำหนดเห็น ๒ อย่างมาแต่ครั้งพุทธกาล เรียกว่า คันธุระ คือ ศึกษาพระธรรมวินับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ขึ้นปากเจนใจอย่าง ๑ เรียกว่า วิปัสสนาธุระ คือ เรียนวิธีฝึกหัดของตนเองให้ปราศจากกิเลสอย่าง ๑ ครั้นพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระสงฆ์พุทธสาวกจึงประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาได้ตรัสสั่งสอน กำหนดว่ามีจำนวน ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดไว้เป็น ๓ หมวด คือพระสูตรหมวด ๑ พระวินัยหมวด ๑ พระปรมัตถ์หมวด ๑ เรียกรวมกันว่า พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกจึงเป็นตำราของพระพุทธศาสนาสืบมา

พระไตรปิฎกนั้นเป็นภาษาบาลีมาแต่เดิม เพราะเหตุที่ภาษาบาลีเป็นภาษาของชาวมัชฌิมประเทศที่พระสงฆ์พุทธสาวกทำสังคายนา ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลายออกไปถึงนานประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ชาวประเทศนั้นๆ ไม่รู้ภาษาบาลีเรียนพระไตรปิฎกลำบาก จึงเกิดความคิดขึ้นต่างกันประเทศทางข้างเหนือมีธิเบตและจีนเป็นต้น แปลพระไตรปิฎกจากภาษาบาลีไปเป็นภาษาของตนโดยประสงค์จะให้เล่าเรียนรู้ได้ง่าย จะได้มีคนเลื่อมใสศรัทธามาก ครั้นพระไตรปิฎกเดิมไม่มีใครเล่าเรียนก็เลยสูญ สิ้นหลักที่จะสอบสวนพระธรรมวินัยให้ถ่องแท้ ลัทธิพระศาสนาในประเทศฝ่ายเหนือเหล่านั้นก็ผันแปรวิปลาสไป

แต่ส่วนประเทศข้างใต้ มีลังกาทวีปเป็นต้น ตลอดจนประเทศพม่า มอญ ไทย ลาว และเขมร เหล่านี้ คิดเห็นมาแต่เดิมว่า ถ้าแปลพระไตรปิฎกไปเป็นภาษาอื่นทิ้งของเดิมเสียแล้ว พระธรรมวินัยก็คงคลาดเคลื่อน จึงรักษาพระไตรปิฎกไว้ในภาษาบาลี การเล่าเรียนคันธุระ อุสาหะเรียนภาษาบาลีให้เข้าใจเสียชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเรียนพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎกต่อไป อาศัยวิธีนี้ ประเทศที่ถือพระพุทธศาสนาข้างฝ่ายใต้จึงสามารถรักษาลัทธิของพระพุทธสาวกยั่งยืนสืบมาได้ นำเรื่องเบื้องต้นมากล่าวพอให้แลเห็น ว่าเหตุใดพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนพระปริยัติจึงต้องเรียนภาษาบาลี

แท้จริงการเรียนภาษาบาลีเป็นข้อสำคัญสำหรับสืบอายุพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่มีผู้รู้บาลี ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้พระพุทธวัจนะในพระไตรปิฎก ถ้าสิ้นความรู้พระไตรปิฎกเสียแล้ว พระพุทธศาสนาก็จะต้องเสื่อมทรามสูญไป เพราะเหตุนี้ พระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภกตั้งแต่โบราณมา จึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้ให้มีฐานันดร พระราชทานราชูปการต่างๆ มีนิตยภัตรเป็นต้น จึงเกิดมีวิธีสอบพระปริยัติธรรม เพื่อจะให้ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้เพียงใด เมื่อปรากฏว่ารูปใดรอบรู้ถึงที่กำหนด สมเด็จพระรามาธิบดีทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปนั้นให้เป็นมหาบาเรียน ครั้นพรรษาอายุถึงเถรภูมิ ก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามสมควรแก่คุณธรรมและความรอบรู้ เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมสืบๆ กันมาจนกาลบัดนี้

เพราะการเล่าเรียนพระปริยัติธรรมเป็นการเรียนทั้งภาษาบาลี และคัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยเหตุดังแสดงมา การสอบความรู้พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม จึงสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วยกัน คือให้นักเรียนที่เข้าสอบความรู้ อ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลีแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกอภิธานและทางไวยากรณ์ภาษาบาลี และรู้ความในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “แปลหนังสือ” หรือ “แปลพระปริยัติธรรม” มีหลักสูตรตั้งไว้ แต่โบราณกำหนดเป็น ๙ ประโยค คือ

ประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบท ต้องสอบได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค จึงนับว่าเป็นเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีบั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เปรียญชั้นสูงนับแต่ประโยค ๔ นี้เป็นต้นไป
ประโยคที่ ๕ ได้ยินว่า เดิมสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมถีร์สารัตถสังคหะ ครั้นภายหลังกลับสอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยฯ อีก สอบได้นับเป็นเปรียญโท
ประโยคที่ ๖ สอบมังคลัตทีปนีบั้นปลาย สอบได้คงนับเปรียญโทอยู่เหมือนเปรียญ ๕ ประโยค เพราะฉะนั้นพวกนักเรียนจึงกล่าวว่าเป็นประโยคแปลบูชาพระ
ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา ที่เรียกกันโดยย่อว่า สามน สอบได้เป็น เปรียญเอก ส หมายความว่าชั้นเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็น เปรียญเอก ม หมายความว่าชั้นเอกมัชฌิมา
ประโยคที่ ๙ เดิมสอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ภายหลังเปลี่ยนเป็นคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้นับเป็น เปรียญเอก อุ หมายความว่าชั้นเอกอุดม

ยังมีหลักสูตรสำหรับสอบเปรียญมอญอีกอย่างหนึ่ง จะอนุโลมตามหลักสูตรซึ่งมีในรามัญประเทศแต่โบราณ หรือมากำหนดขึ้นใหม่ในประเทศนี้ ข้อนี้หาทราบไม่ กำหนดโดยนิยมว่าพระมอญนั้นศึกษาพระวินัยเป็นสำคัญ จึงสอบแต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก เดิมกำหนดเป็น ๓ ประโยค ภายหลังเพิ่มประโยค ๔ ขึ้นอีกประโยค ๑ จึงรวมเป็น ๔ ประโยค

ประโยคที่ ๑ สอบคัมภีร์อาทิกรรม หรือปาจิตตีย์ แล้วแต่นักเรียนจะเลือก เข้าใจว่าแต่เดิมถ้าแปลได้ประโยค ๑ ก็ได้เป็นเปรียญ ครั้นตั้งประโยค ๔ ขึ้น จึงกำหนดว่าต้องสอบประโยคที่ ๒ ได้ด้วย จึงนับเป็นเปรียญ
ประโยคที่ ๒ สอบคัมภีร์มหาวรรค หรือจุลวรรค แล้วแต่นักเรียนจะเลือก สอบได้นับเป็นเปรียญจัตวา เหมือนเปรียญไทย ๓ ประโยค
ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์บาลีมุตวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่า บาลีมุต สอบได้นับเป็นเปรียญตรี เสมอเปรียญไทย ๔ ประโยค
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา สอบได้เป็นเปรียญโท เสมอเปรียญไทย ๕ ประโยค

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรนับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้นต่อมีรับสั่ง สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกันสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแลตามตำแหน่งจนสำเร็จการ

เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ การสอบพระปริยัติธรรมยังหามีกำหนดปีเป็นยุติไม่ เพราะในสมัยนั้นเป็นเวลาแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ เพิ่มเริ่มบำรุงการเล่าเรียน บ้านเมืองก็ยังมีศึกสงครามเนืองๆ เมื่อใดเป็นเวลาว่าง ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนถุงภูมิรู้จะเป็นเปรียญได้มีมาก จึงโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เพราะฉะนั้นนานๆ จึงได้มีการสอบพระปริยัติธรรมครั้งหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชดำริเห็นว่าการเล่าเรียนเจริญขึ้น จึงโปรดให้กำหนดการสอบพระปริยัติธรรม ๓ ปีครั้งหนึ่งเป็นยุติ ใช้เป็นแบบต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จนถึงในรัชกาลที่ ๕

ที่สอบพระปริยัติธรรมแต่เดิม โดยปรกติสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ต่อทรงพระราชศรัทธาจะทรงฟัง จึงโปรดให้เข้ามาประชุมสอบที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษเป็นครั้งเป็นคราว เพราะฉะนั้นชั้นเดิมจึงประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่วัดระฆัง แล้วย้ายมาที่วัดมหาธาตุ สอบที่วัดมหาธาตุตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มา จนตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เมื่อรื้อโบสถ์วิหารและสถานที่ต่างๆ ในวัดนั้นลงทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ จึงโปรดให้ย้ายมาสอบพระปริยัติธรรมที่วัดพระเชตุพน

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงชำนาญพระไตรปิฎก ได้เป็นประธานในการสอบพระปริยัติธรรมเมื่อครั้งยังทรงผนวช มีพระราชประสงค์จะทรงฟังแปลพระไตรปิฎก จึงโปรดให้ประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่ในพระบรมมหาราชวังทุกคราวเป็นนิตย์ ประชุมสอบที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์บ้าง ที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามบ้าง เสด็จออกทรงฟังจนตลอดรัชกาล ถึงรัชกาลที่ ๕ ประเพณีสอบพระปริยัติธรรมคงทำตามแบบแผนครั้งรัชกาลที่ ๔ สืบมาช้านาน พึ่งมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงต่อในชั้นหลัง แต่ในหนังสือนี้จะกล่าวแต่เฉพาะลักษณการชั้นแรกเสียก่อน ส่วนชั้นหลังจะของดไว้อธิบายในตอนอื่นต่อไป

ฤดูสอบพระปริยัติธรรมมักสอบเมื่อออกพรรษาแล้ว ต่อบางคราวจึงสอบในพรรษา โดยปรกติปีใดจะสอบพระปริยัติธรรม เจ้ากระทรวงธรรมการก็รับสั่งหมายบอกไปยังเจ้าคณะสงฆ์แต่ต้นปี ว่าในปีนี้เมื่อออกพรรษาจะโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร ฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ทั้งคณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง คณะธรรมยุติ และคณะรามัญ เมื่อได้รับทราบหมาย ก็บอกไปยังเจ้าอาวาสตามพระอารามใหญ่น้อยอันขึ้นอยู่ในคณะนั้นให้ทราบทั่วกัน เพื่อจะได้สอบซ้อมพระภิกษุสามเณร ซึ่งจะเข้าสอบพระปริยัติธรรม

ฝ่ายเจ้าอาวาสซึ่งครองพระอารามหลวงเมื่อทราบว่าจะมีการสอบพระปริยัติ ที่เป็นวัดมีนักเรียนมากก็ให้สอบซ้อม แล้วเลือกสรรผู้ซึ่งจะให้เข้าสนามเอาชื่อบัญชีส่งเจ้าคณะ วัดใดไม่มีนักเรียนทรงภูมิรู้ถึงจะเข้าสนามได้ เจ้าอาวาสก็ขวนขวายหานักเรียนวัดอื่นมาสำหรับจะได้เข้าสอบเป็นเปรียญของวัดนั้น เพราะมีคติถือกันมาแต่โบราณว่า บรรดาพระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามหลวง ได้อยู่เสนาสนะของหลวง และได้พระราชทานนิตยภัตรเป็นค่าอาหารที่จะบริโภคทั่วทุกรูป คือว่าทรงอุปการะมิให้ต้องอนาทรร้อนใจในการอยู่กิน จะได้ตั้งหน้าเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระศาสนาเฉลิมพระราชศรัทธา ถ้าไม่มีเปรียญในวัดใดย่อมเป็นการเสียเกียรติยศสงฆ์วัดนั้น เพราะเหมือนไม่สนองพระราชศรัทธา จึงต้องขวนขวายที่จะให้ได้เปรียญ หรือแม้อย่างต่ำก็ให้มีพระภิกษุสามเณรในวัดนั้นเข้าสอบพระปริยัติธรรม ให้ปรากฏว่าเอื้อเฟื้อต่อพระราชศรัทธามิได้ละเลย

ก็แต่ความสามารถในการฝึกสอนไม่เสมอกันทุกพระอาราม ผู้รู้และนักเรียนมักมีมากแต่ในวัดสำคัญ คือที่วัดใหญ่ๆ หรือวัดซึ่งเจ้าอาวาสเป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกจึงเป็นสำนักที่เล่าเรียนแข็งแรง ถ้ามิใช่วัดที่เป็นสำนักเล่าเรียนเช่นนั้น นักเรียนที่คงวามรู้ถึงภูมิเปรียญก็หายาก เพราะแต่ก่อนมีความเข้าใจกันในพวกนักเรียนอย่างหนึ่ง จะเท็จจริงเพียงใดข้าพเจ้าหาทราบไม่ เข้าใจกันว่าพระราชาคณะซึ่งเป็นผู้ไล่หนังสือ ท่านมักจะให้ได้เปรียญแต่พอสมควรแก่บรรดาศักดิ์ของวัด คือถ้าเป็นวัดใหญ่ คราวหนึ่งก็ให้ได้เปรียญ ๓ รูป ๔ รูป ที่เป็นวัดเล็กก็ให้ได้เปรียญแต่รูปหนึ่งสองรูป เพราะเข้าใจกันอย่างว่านี้ วัดใดมีนักเรียนมากด้วยกัน เกรงว่าถ้าเข้าไปสอบมากเกินจำนวนที่พระราชาคณะท่านต้องการ ก็จะไม่ได้เป็นเปรียญ จึงมีผู้สมัครไปเข้าบัญชีในวัดที่ไม่มีนักเรียน ด้วยเห็นท่วงทีจะได้เป็นเปรียญเพราะเหตุที่พระราชาคณะท่านคงอยากจะให้มีเปรียญสำหรับวัดนั้นดังนี้

ข้างฝ่ายเจ้าอาวาสอันเป็นสำนักเล่าเรียนในวัดนั้นเข้าสอบน้อยไป ดูจะเป็นที่เสียหายเหมือนหนึ่งไม่เอาใจใส่บำรุงการเล่าเรียน บางวัดมีนักเรียนความรู้ถึงภูมิเปรียญแต่ ๒ รูป ๓ รูป ก็มักจัดนักเรียนที่มีความรู้พอดีพอร้ายเพิ่มเติมเข้าบัญชีอีก ๔ รูป ๕ รูป ให้ได้จำนวนว่ามีนักเรียนวัดนั้นเข้าสอบถึง ๖ รูป ๗ รูป ดังนี้ก็มี พวกนักเรียนที่อยู่ในบัญชีเพิ่มเติมนี้มักเรียกกันว่า “พวกทัพผี” แต่ก็มีผู้สมัครเป็น เพราะบางทีพวกทัพผีถูกโชคดีได้เป็นเปรียญก็มี ถึงจะไม่ได้เป็นเปรียญก็ถือกันว่า เป็นประโยชน์ที่ได้คุ้นเคยสนาม รู้ว่าพระราชาคณะผู้ไล่หนังสือท่านทักท้วงอย่างนั้นๆ จะได้เตรียมตัวไว้สำหรับคราวหน้าต่อไป

เจ้าอาวาสหานักเรียนซึ่งจะเข้าสอบเป็นเปรียญสำหรับพระอารามได้แล้ว ก็ลงมือเตรียมการให้สอบซ้อม ลักษณะการสอบซ้อมเป็น ๒ อย่าง คือ ซ้อมประโยคอย่างหนึ่ง ซ้อมวิธีสนามอย่างหนึ่ง การซ้อมประโยคนั้น ผู้ที่เป็นอาจารย์เลือกคัดความในคัมภีร์เฉพาะตอนที่มักใช้เป็นประโยคสอบในสนามมาให้นักเรียนแปลซ้อม การซ้อมวิธีสนามนั้น ผู้เป็นเจ้าของมักพากไปฝากพระราชาคณะนั้นจึงได้โอกาสซ้อม นับถือกันว่าเป็นประโยชน์แก่ตัวนักเรียนมาก

การสอบซ้อมทั้ง ๒ อย่างที่กล่าวมานี้ สอบซ้อมกันมากแต่เมื่อแปลคัมภีร์พระธรรมบท และคัมภีร์มังคลัตถทีปนี คือชั้นแรกที่จะเป็นเปรียญ เพราะนักเรียนยังใหม่ไม่เคยสนาม และความรู้ก็ยังต่ำ ครั้นเมื่อได้เป็นเปรียญแล้ว ถึงแปลประโยค ๕ ประโยค ๖ การที่ต้องสอบซ้อมกับครูบาอาจารย์ก็น้อยลง ยิ่งถึงชั้นเปรียญเอกซึ่งอาจจะดูหนังสือเอาเองได้แล้ว ก็มักจะสอบซ้อมแต่กับท่านผู้ใหญ่ เพราะเปรียญเอกมีน้อยไม่กี่รูป

เมื่อเจ้าอาวาสทำบัญชีพระภิกษุสามเณรที่จะเข้าแปลพระปริยัติธรรมยื่นต่อเจ้าคณะ เจ้าคณะรวมส่งมาให้กระทรวงธรรมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว ก็โปรดให้ลงมือสอบพระปริยัติธรรม มีหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ คราวสอบพระปริยัติธรรมเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ยังปรากฏอยู่ ได้คัดสำเนามาลงไว้ต่อไปนี้พอให้เห็นลักษณะการ


หมายรับสั่ง


พระยาประสิทธิศุภการรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่า พระสงฆ์สามเณรเปรียญเอก โท ตรี จัตวา ซึ่งได้รับพระราชทานนิตยภัตไตรปีอยู่นั้น เลื่อนที่ขึ้นเป็นพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรม และสึกจากพระพุทธศาสนา ถึงแก่กรรมก็มีบ้าง พระสงฆ์สามเณรเปรียญน้อยไป ทรงพระราชศรัทธาให้กรมหมื่นบวรรังสีและพระราชาคณะผู้ใหญ่ ๒๓ รูป สอบไล่พระคัมภีร์พระสงฆ์สามเณร ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรยปราสาท กำหนด ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีวอกโทศก เพลาเพลแล้วจะได้เสด็จทรงฟังด้วย ให้กรมวังจัดที่มาทอดและสั่งเจ้าพนักงานกระบวนเสด็จ เหมือนอย่างเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ให้พร้อมทุกพนักงานนั้น

สั่งให้สังฆการีเชิญเสด็จกรมหมื่นบวรรังสีนิมนต์หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระพิมลธรรม พระธรรมวโรดม พระเทพกระวี พระธรรมไตรโลก พระพรหมมุนี พระเทพมุนี พระเทพโมลี พระอมรโมลี พระอโนมมุนี พระสาสนโสภณ พระอมราภิรักขิต พระรามัญมุนี พระวินัยมุนี พระประสิทธิสุตคุณ พระวิสุทธิโสภณ พระพินิจวินัย พระกระวีวงศ์ พระปริยัติบัณฑิต พระเมธาธรรมรส พระวรญาณมุนี พระปิฎกโกศล เป็นผู้สอบไล่ นิมนต์พระสงฆ์สามเณรมารับประโยคแปลวันละ ๕ รูป

วันแรกนั้นให้นิมนต์หม่อมเจ้าเฉิดฉายเปรียญ ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระหนูเปรียญ ๔ ประโยค วัดบรมนิวาสรูป ๑ หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆังรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรขาว วัดราชบูรณะรูป ๑ หม่อมเจ้าเณรเวียน วัดบพิตรพิมุขรูป ๑ มารับประโยคต่อพระราชาคณะ

และให้สังฆการีรับหมากรับพลูต่อวิเศษถวายพระราชาคณะผู้ไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๒๘ ซอง จัดขุนหมื่นให้อยู่ปรนนิบัติ กว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้พระยาพุทธภูมิภักดีมากำกับเมื่อเวลารับประโยคจนเลิกไล่ทุกวัน ให้ขุนหมื่นกรมธรรมการกำกับพระสงฆ์สามเณรผู้แปล เมื่อรับประโยคแล้ว อย่าให้ไปซักซ้อมต่อท่านผู้รู้ได้

ให้ศุภรัตน์จัดพรมเจียมผ้าขาวลาดเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน หมอนอิงไปแต่งที่ถวายกรมหมื่นบวรรังสี และพระราชาคณะผู้สอบไล่พระสงฆ์สามเณรผู้แปลให้พอ

ให้ราชบัณฑิตจัดพระคัมภีร์ไปตั้งวันละ ๙ ฉบับให้พอ ให้มีผ้าห่อพระคัมภีร์เทียนกากะเยียด้วย แล้วให้รับเทียนต่อท่านข้างในวันละ ๕ เล่ม มาถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลดูหนังสือเหมือนเพลาค่ำ

ให้สนมพลเรือนจัดพานหมากกระโถนขันน้ำเครื่องมาตั้งถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเพลา เบิกขี้ผึ้งต่อพระคลังในซ้ายไปส่งม่านข้างในฟั่นเทียนถวายพระราชาคณะผู้สอบไล่ พระสงฆ์สามเณรผู้แปลหนังสือ วันละ ๕ เล่ม เล่มหนึ่งหนัก ๒ บาท เป็นขึ้นผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท

ให้มหาดเล็กจัดที่ชาเครื่องถวายกรมหมื่นบวรรังสีเสมอทุกเวลา

ให้เจ้ากรมปลัดกรมโรงทานจัดที่ชาไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะ ๒๓ รูป พระสงฆ์สามเณรผู้แปล ๕ รูปเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ เบิกน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อต่อพระคลังในซ้าย เบิกถ่านต่อพระคลังมหาสมบัติวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวาไปเบิกยืมอ่างเขียว ๕ ใบ ที่พระคลังในซ้ายมาตั้ง แล้วตักน้ำใส่ให้เต็มอ่างเสมอทุกวันกว่าจะเลิกไล่พระคัมภีร์ แล้วให้เอาอ่างเขียว ๕ ใบไปส่งคืนพระคลังในซ้าย

พระคลังในซ้ายจ่ายขี้ผึ้งให้สนมพลเรือนไปส่งท่านข้างในฟั่นเทียนดูหนังสือวันละ ๕ เล่ม เป็นขี้ผึ้งวันละ ๒ ตำลึง ๒ บาท ให้จ่ายน้ำตาลทรายวันละ ๕ ตำลึงไทย ใบชาวันละห่อ ให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระราชาคณะพระสงฆ์สามเณรผู้ไล่ ผู้แปล จ่ายอ่างเขียว ๕ ใบ ให้ล้อมพระราชวังซ้ายขวายืมไปตักน้ำถวายพระสงฆ์สามเณร เลิกไล่พระคัมภีร์แล้วให้เรียกอ่างเขียว ๕ ใบคืน

ให้พระคลังราชการจ่ายเสื่ออ่อน ๒ ชั้น ๕ ผืน ให้ศุภรัตน์ไปแต่งที่ถวายพระสงฆ์สามเณรผู้แปล

ให้พระคลังมหาสมบัติจัดกระโถน ขันน้ำ ไปตั้งถวายพระราชคณะพระสงฆ์สามเณรผู้แปลวันละ ๑๐ สำรับ จ่ายถ่านให้โรงทานไปต้มน้ำร้อนน้ำชาถวายพระสงฆ์สามเณรวันละ ๓ ชั่งไทย

ให้คลังพิมานอากาศเอาโคมตั้งมาใส่เทียนให้พระราชาคณะดูหนังสือวันละ ๔ ใบ

ให้รักษาพระองค์ซ้ายขวาจัดตะเกียงมาตั้งวันละ ๔ ตะเกียง

ให้หลวงสิทธิสาร หลวงทิพจักร จัดหมอยามาประจำวันละคน หลวงราโชวาท หลวงราชรักษา จัดหมอนวดมาประจำวันละคน

ให้เจ้ากรม ปลัดกรม ให้กรมพระอาลักษณ์ กรมสังฆการี กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต มาพร้อมกันเมื่อเพลาแปลพระคัมภีร์เสมอทุกวัน

ให้ผู้ต้องเกณฑ์ทั้งนี้จัดการให้พร้อมทุกพนักงาน ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ปราสาทตั้งแต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๙ ค่ำ เพลาเพลแล้วเสมอทุกวันไป กว่าจะสั่งให้เลิกพระคัมภีร์ ถ้าสงสัยประการใดก็ให้ไปทูลถวายพระเจ้าราชวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรังสี อย่าให้ขาดได้ทุกพนักงานตามรับสั่ง จบหมายรับสั่งเพียงนี้

…………………………………………….


หมายรับสั่งฉบับนี้ คิดเวลาล่วงมาจนบัดนี้ได้ถึง ๖๐ ปี พระราชาคณะผู้ไล่ และภิกษุสามเณรผู้แปลซึ่งปรากฏนามในหมายรับสั่งล่วงลับไปหมดแล้ว แต่ยังพอสืบทราบได้โดยมาก จึงได้จัดอธิบายไว้ต่อไป

พระราชาคณะผู้สอบไล่ครั้งปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓

๑. กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ วัดบวรนิเวศ เป็นประธาน คือสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงชำนาญพระไตรปิฎก แต่หาได้เข้าสอบไล่
๒. หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์ ๙ ประโยค นามเดิมว่า หม่อมเจ้ารอง ในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ศุขวัฒนวิไชย ครองวัดบพิตรพิมุข
๓. สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี) ๙ ประโยค วัดประยุรวงศาวาส
๔. พระพิมลธรรม (ยิ้ม) ๖ ประโยค วัดพระเชตุพน
๕. พระธรรมวโรดม (สมบูรณ์) ๔ ประโยค วัดราชบูรณะ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จพระวันรัต ครองวัดพระเชตุพน
๖. พระเทพกระวี (โต) วัดระฆัง ชำนาญพระไตรปิฎกแต่ไม่ได้เข้าสอบเปรียญ ต่อมาได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์
๗. พระธรรมไตรโลก (รอด) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดโมลีโลก
๘. พระพรหมมุนี (ทับ) ๙ ประโยค วัดโสมนัสวิหาร ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นพระพิมลธรรม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระวันรัต
๙. พระเทพมุนี (กัน) ๗ ประโยค ครองวัดสุวรรณาราม
๑๐. พระเทพโมลี (เนียม) ๘ ประโยค ครองวัดกัลยาณมิตร ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์
๑๑. พระอมรโมลี (นพ) ๙ ประโยค ครองวัดบุปผาราม
๑๒. พระอโนมมุนี (ศรี) ๙ ประโยค ครองวัดปทุมคงคา ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระพรหมมุนี แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์
๑๓. พระสาสนโสภณ (สา) ๙ ประโยค วัดบวรนิเวศ ต่อมาครองวัดราชปะดิษฐ์ ถึงรัชกาลที่ ๕ เลื่อนสมณศักดิ์เทียบที่พระธรรมวโรดม แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และเป็นสมเด็จพระอริยวงศษคตญาณ เจ้าคณะเหนือ แล้วเป็นสมเด็จพระสังฆราช
๑๔. พระอมราภิรักขิต (เกิด) ๙ ประโยค ครองวัดบรมนิวาส
๑๕. พระรามัญมุนี (ยิ้ม) ๘ ประโยค ครองวัดบวรมงคล
๑๖. พระวินัยมุนี (บัว) ๘ ประโยค ครองวัดอมรินทราราม
๑๗. พระประสิทธิสุตคุณ (อ้น) ๘ ประโยค ครองวัดสุทัศน์ ภายหลังเป็นพระเทพกระวี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมไตรโลก แล้วเลื่อนเป็นพระพิมลธรรม มาครองวัดพระเชตุพน
๑๘. พระวิสุทธิโสภณ (เหมือน) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ ครองวัดมหรรณพาราม
๑๙. พระวินิจวินัย (จีน) ๗ ประโยค วัดราชโอรส ต่อมาเป็นพระธรรมไตรโลก ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์
๒๐. พระกระวีวงศ์ (ทอง) ๘ ประโยค วัดราชนัดดา ต่อมาเป็นพระเทพมุนี ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นพระธรรมเจดีย์ ไปครองวัดอรุณ ต่อมาต้องลดลงเป็นพระเทพมุนีคราวหนึ่ง แล้วเป็นพระธรรมไตรโลก
๒๑. พระเมธาธรรมรส (ถิน) ..... ประโยค ครองวัดพิชัยญาติการาม
๒๒. พระปริยัติบัณฑิต (ครุฑ) ๗ ประโยค อยู่วัดกัลยาณมิตร
๒๓. พระวรญาณมุนี (น้อย) ๙ ประโยค ครองวัดจักรวรรดิราชาวาส
๒๔. พระปิฎกโกศล (ฉิม) เป็นเปรียญกี่ประโยคสืบไม่ได้ความ อยู่วัดราชบูรณะ


หม่อมเจ้าราชวงศ์ผู้ที่เข้าแปลหนังสือ

๑. หม่อมเจ้าพระฉายเฉิด ๕ ประโยค วัดบวรนิเวศ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยค รวมเป็น ๘ ประโยค แล้วลาผนวช ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็น พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉายเฉิด และเลื่อนเป็นกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์
๒. หม่อมราชวงศ์พระหนู ๔ ประโยค วัดบรมนิวาส เป็นบุตรหม่อมเจ้าโสภณ ในเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ คราวนี้แปลได้อีก ๓ ประโยครวมเป็น ๗ ประโยค แล้วลาสิขา ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นขุนวิสุทธากร แล้วเลื่อนเป็นพระผดุงศุลกกฤตษ์ ต่อมาเป็นพระยาอิศรพันธ์โสภณ
๓. หม่อมราชวงศ์พระถมยา วัดระฆัง เป็นบุตรหม่อมเจ้าน้อย ในกรมหมื่นนราเทเวศร์ ได้เป็นเปรียญ ๖ ประโยค แต่จะได้คราวนี้กี่ประโยคไม่ทราบแน่
๔. หม่อมเจ้าสามเณรขาว วัดราชบูรณะ เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ แปลตกไม่ได้เป็นเปรียญ แล้วลาผนวชมารับราชการ ถึงรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าวัชรีวงศ์
๕. หม่อมเจ้าสามเณรเวียน วัดบพิตรพิมุข เป็นหม่อมเจ้าในกรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิ์ แปลได้ ๓ ประโยค


ผู้อื่นที่ปรากฏในหมายรับสั่ง

๑. กรมหมื่นอุดมรังสี เวลานั้นได้ทรงกำกับกรมสังฆการีและธรรมการ
๒. พระยาพุทธภูมิภักดี สืบได้ความว่าชื่อใย เดิมเป็นเปรียญ แล้วลาสิกขาออกมาได้ภรรยาอยู่ทางโรงวิเสท แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงผนวช เสด็จทรงบิณฑบาตมาถึงบ้าน มหาใยตักบาตรถวายแล้วอธิฐานว่า “ขอให้เป็นปัจจัยได้ถึงพุทธภูมิ” ดังนี้ คราวหลังเสด็จไปบิณฑบาตอีก แกตักบาตรถวายแล้วก็อธิฐานอย่างนั้นอีกทุกคราวจนทรงคุ้นเคย ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงตั้งให้เป็นหลวงทานาธิบดี เจ้ากรมโรงทาน ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระทานาธิบดี รับราชการอยู่จนแก่ชรา จึงทรงตั้งเป็นพระยาพุทธภูมิภักดี ตำแหน่งผู้กำกับถือน้ำ ที่โปรดให้เป็นผู้เปิดประโยคสอบพระปริยัติธรรม ดังปรากฏในหมายรับสั่งเห็นจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นเปรียญ และเป็นผู้ละอายต่อบาป คงจะไม่ลำเอียงแก่นักเรียน


ความที่ปรากฏในหมายรับสั่งว่า ให้พระภิกษุสามเณรผู้จะแปลพระปริยัติธรรมมาจับประโยค ข้อนี้เป็นเบื้องต้นของการสอบพระปริยัติธรรม คือพระราชาคณะผู้อำนวยการรูปหนึ่ง ชั้นเดิมจะเป็นตำแหน่งใดหาทราบไม่ แต่ในชั้นปลายรัชกาลที่ ๔ และต่อมาในรัชกาลที่ ๕ เป็นหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช วัดราชประดิษฐ์ มาตั้งแต่ท่านยังเป็นที่พระสาสนโสภณ เป็นผู้กะประโยคสอบพระปริยัติธรรมในคัมภีร์บทหนึ่ง จะเอาความตรงไหนเป็นประโยคสอบบ้าง ท่านเลือกแล้วให้เขียนเป็นฉลากบอกว่าคัมภีร์นั้น วัตถุนั้น ขึ้นตรงนั้นจบประโยคตรงนั้น แล้วพักใส่ซองผนึกไว้ จัดฉลากเหล่านี้ไว้เป็นประโยคๆ เช่นฉลากคัมภีร์พระธรรมบท จัดเป็นประโยคหนึ่งส่วย ๑ ประโยคสองส่วน ๑ ประโยคสามส่วน ๑

วันไหนถึงกำหนดพระภิกษุสามเณรรูปใดจะแปลประโยคไหน เวลาเช้าวันนั้นก็ไปจับฉลากประโยคนั้นที่วัดราชประดิษฐ์ แล้วถือฉลากของตนเข้ามายังสถานที่แปลพระปริยัติธรรมราวเวลา ๙ นาฬิกาก่อนเที่ยง ที่นั้นเจ้าคณะสงฆ์ผู้เป็นนายด้านกับพนักงานกรมสังฆการีสำหรับกำกับและราชบัณฑิตอยู่พร้อมกัน สังฆการีกับราชบัณฑิตพร้อมกันเปิดผนึกดูฉลากประโยคที่จะแปลจดลงบัญชีแล้ว แล้วเจ้าคณะนายด้านกับสังฆการีก็ควบคุมนักเรียนแต่เวลานั้นไป มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดลอบเข้ามาบอกใบ้ หรือให้เลศนัยอย่างหนึ่งอย่างใด ให้นักเรียนดูหนังสือเตรียมแปลแต่โดยลำพัง ครั้นถึงเวลาเพลมีสำรับของหลวงเลี้ยงทั้งนายด้านและผู้แปลด้วยกัน

การควบคุมตอนนี้ แต่ก่อนเห็นจะไม่สู้กวดขัน ปรากฏว่ามีเหตุเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ เห็นจะเป็นในเวลาเมื่อกรมหมื่นอุดมรัตนราษีสิ้นพระชนม์แล้ว พระธรรมการ (ศุข) เป็นหัวหน้าในเจ้าพนักงานประจำการแปลพระปริยัติธรรม พระธรรมการ (ศุข) นั้นชำนาญพระปริยัติธรรม มีชื่อเสียงว่าหนังสือดีมาแต่เมื่อบวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เป็นเปรียญ ๙ ประโยค และเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต ครั้นลาสิกขามารับราชการในรัชกาลที่ ๔ จึงได้เป็นที่พระธรรมการ มีเรื่องเล่ากันมาว่า เปรียญองค์ใดเป็นที่ชอบพอของพระธรรมการแล้ว พระธรรมการลอบซ้อมหนังสือให้ในเวลาที่คุมอยู่เนื่องๆ จนความทราบถึงพระราชาคณะผู้ไล่ แต่สิ้นรัชกาลที่ ๔ เสีย หาทันจะได้ว่ากล่าวกันอย่างไรไม่

มาถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ โปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระราชาคณะหวังจะแก้การที่ลอบซ้อมไล่หนังสืออย่างกวดขัน พระภิกษุสามเณรที่เข้าแปลพระปริยัติธรรมคราวนั้นตกเสียโดยมาก แล้วโปรดให้ประกาศสงฆ์ซ้ำลงมาเมื่อจะแปลประโยค ๔ อีกชั้นหนึ่ง ดังสำเนาที่จะปรากฏต่อไปข้างหน้า สอบพระปริยัติธรรมคราวนั้นได้แต่เปรียญ ๓ ประโยค ๑๒ รูป ชั้นประโยค ๔ ขึ้นไปตกหมด ไม่มีผู้ใดแปลได้สักรูปเดียว เลยเป็นเรื่องเลื่องลือกันมาช้านาน การควบคุมคงกวดขันมาแต่ครั้งนั้น

จำนวนพระภิกษุสามเณรเข้าแปลพระปริยัติธรรมแต่เดิมมา กำหนดวัน ๕ รูป ดังปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น มาลดลงเป็นวันละ ๔ รูปเมื่อในรัชกาลที่ ๕ แต่จะลดมาแต่คราวแรกหรือจะมาลดเมื่อแปลคราวที่ ๑ หาทราบแน่ไม่ จัดลำดับให้เข้าสอบเป็นคณะๆ ไป ตั้งต้นสอบคณะกลางกับคณะธรรมยุติกา แล้วถึงคณะเหนือและคณะใต้ สังฆการีเป็นผู้วางฎีกากะให้รูปใดเข้าแปลวันใด พระภิกษุเข้าแปลก่อนแล้วถึงสามเณร จนหมดในคณะหนึ่ง แล้วก็วางฎีกาคณะอื่นต่อไป ในชั้นแรกให้พระภิกษุสามเณรที่ยังไม่ได้เป็นเปรียญเข้าแปลคัมภีร์พระธรรมบทก่อน กำหนดแปลวันละประโยค รูปใดแปลได้ประโยค ๑ วันแรก รุ่งขึ้นให้เข้าแปลประโยค ๒ ถ้าได้ประโยค ๒ ก็แปลประโยค ๓ ในวันต่อไป เมื่อแปลได้ครบ ๓ ประโยค นับว่าเป็นเปรียญชั้นสามัญแล้ว ให้พักเสียคราวหนึ่ง เผื่อรูปใดจะเข้าสอบประโยค ๔ ต่อไป จะได้มีเวลาฝึกซ้อมประโยค ๔

เมื่อสอบผู้แปลคัมภีร์ธรรมบทแล้ว แต่นี้ถึงเวลาสอบเปรียญชั้นสูง ตั้งแต่ประโยค ๔ เป็นต้นไป เปรียญที่มีประโยคแล้วจำนวนน้อย ไม่มากเหมือนนักเรียนที่แปลใหม่ จึงวางฎีกาคละกันทุกคณะ เป็นแต่กำหนดลำดับตามประโยค คือ ให้เปรียญเก่าชั้น ๓ ประโยค ที่สอบได้ในคราวก่อนๆ เข้าสอบประโยค ๔ ก่อน เมื่อเปรียญเก่าสอบประโยค ๔ หมดแล้ว ถ้ามีนักเรียนซึ่งสอบได้ ๓ ประโยคในคราวนั้นสมัครจะเข้าสอบประโยค ๔ ก็ให้เข้าสอบต่อไปจนหมดจำนวน แล้วตั้งต้นสอบประโยค ๕ ให้เปรียญเก่าเข้าสอบก่อนเปรียญใหม่ เป็นทำนองเดียวกันทุกประโยคไป เมื่อสอบเปรียญไทยหมดแล้วจึงถึงเวลาสอบเปรียญมอญ ก็จัดโดยทำนองเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว

เวลาสอบพระปริยัติธรรม ลงมือประมาณบ่าย ๓ โมงทุกวัน แต่เวลาเลิกไม่เป็นยุติ แล้วแต่ผู้แปลจะได้หรือจะหนีเร็วช้าอย่างไร แต่คงได้เลิกในระหว่างเวลาตั้งแต่ ๑๙.๐๐ ถึง ๒๐.๐๐ นาฬิกาเป็นพื้น ถึงวันพระวันโกนหยุดพักรวมเดือนละ ๘ วัน การสอบพระปริยัติธรรมคราวหนึ่ง แต่เริ่มต้นจนเสร็จกินเวลาประมาณ ๒ เดือน

พระราชาคณะที่มาประชุมสอบพระปริยัติธรรม กำหนดเฉพาะพระราชาคณะผู้ใหญ่ และพระราชาคณะที่ชำนาญพระไตรปิฎก มีหมายรับสั่งกำหนดนามผู้เป็นประธานและรายนามพระราชาคณะที่ให้นอมนต์มาประชุมทุกคราว ทำนองอย่างปรากฏในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๔ นั้น รวมพระราชาคณะประมาณ ๒๕ ไปหา ๓๐ รูปเป็นเกณฑ์ ผู้เป็นประธานมีหน้าที่สำหรับตัดสินปัญหาและข้อขัดข้องที่จะเกิดขึ้น ส่วนพระราชาคณะองค์อื่นนั้น ที่เป็นผู้สอบไล่เฉพาะท่านผู้ใหญ่ ๓ องค์ ๔ องค์ นอกจากนั้นเป็นแต่ผู้นั่งฟัง มีคำกล่าวกันมาว่า ที่ให้พระราชาคณะมาประชุมในการสอบพระปริยัติธรรมมากด้วยกันนั้น ที่จริงประสงค์จะให้มาฟัง เพื่อประโยชน์ในทางความรู้ของพระราชาคณะนั้นๆ เอง จะได้ฝึกสอนสานุศิษย์ หาใช่มาเป็นผู้สอบไล่ทั้งหมดไม่ เพราะฉะนั้นต่อพระราชาคณะผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้สอบไล่มาถึง จึงได้ลงมือสอบเสมอทุกวัน

วิธีสอบพระปริยัติธรรมนั้น ให้นักเรียนเข้าไปแปลในที่ประชุมพระราชาคณะทีละรูป ชั้นนักเรียนแปลคัมภีร์พระธรรมบท แต่เดิมกำหนดให้แปลหนังสือ ๓ ลาย คือ ๓๐ บรรทัด ทีหลังเห็นว่ายากนัก ถ้าสอบอย่างกวดขัน นักเรียนไม่ใคร่สามารถจะแปลจบประโยคได้ทันกำหนดเวลา ในรัชกาลที่ ๕ จึงลดลง ๑๐ บรรทัด คงให้แปลแต่ ๒ บรรทัดเป็นจบประโยค (เริ่มลดแค่คราวแปลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามคราวแรก เมือง พ.ศ. ๒๔๒๗) แปลคัมภีร์อื่นตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไป คงให้แปล ๒๐ บรรทัด และประโยค ๙ แปล ๓๐ บรรทัดตามเดิม

การที่แปล นักเรียนบางรูปเข้าไปแปลพักเดียวจบประโยคก็มี แต่บางรูปเข้าไปแปลไปติดศัพท์แปลไม่ถูกบ้าง เรียงความเข้าประโยคไม่ถูกบ้าง แก้ไขไม่ไหวเห็นเหลือกำลังของดไม่แปลต่อไป เช่นนี้เรียกว่า “หนี” ก็มี บางรูปพยายามแก้ไขอยู่จนหมดเวลากำหนด ก็ไม่จบประโยคได้ เช่นนี้เรียกว่า “ตก” ก็มี เป็นอันแปลไม่สำเร็จทั้ง ๒ พวก แต่ท่านผู้ไล่มักสงเคราะห์นักเรียนโดยกรุณา เป็นต้นว่า ถ้าเห็นนักเรียนติดศัพท์แปลไม่ถูก ท่านมักให้วิเคราะห์ คือบอกให้เป็นภาษาบาลี ว่าศัพท์นั้นคือกิริยาอาการอย่างนั้นๆ หรือเป็นชื่อของนั้นๆ ถ้านักเรียนรู้ภาษาบาลีก็อาจจะแปลศัพท์นั้นถูกได้ แต่ถ้าความรู้ไม่พอจะเข้าใจอธิบายในภาษาบาลีก็เปล่าไป ถ้ารูปใดเข้าไปติดทางประโยคแปลไม่ถูกความเห็นจะแก้ไขให้ตลอดไปในขณะนั้นไม่ได้ ท่านก็ยอมให้กลับออกมาพักตริตรองเสียคราวหนึ่ง ถึงรูปที่ท่านให้วิเคราะห์แปลศัพท์ ถ้าเห็นยังฉงนก็ยอมให้กลับออกมาพักพิจารณาวิเคราะห์เสียคราวหนึ่งเหมือนกัน ในระหว่างนั้นให้นักเรียนรูปอื่นที่เป็นเวรแปลวันเดียวกันเข้าไปแปล ถ้านักเรียนรูปนั้นแปลจบ หรือเข้าไปติดต้องกลับออกมาแก้ ก็เรียกนักเรียนอื่นอีก จนบรรจบรอบจึงถึงวาระนักเรียนที่ออกมาแก้ทีแรกต้องกลับเข้าไปแปลอีก เป็นทางที่ท่านผ่อนผันให้นักเรียนมีเวลาพักพอตริตรองได้บ้างดังกล่าวมานี้

เวลาซึ่งกำหนดให้นักเรียนแปลหนังสือนั้น ประเพณีเดิมไม่ได้กำหนดด้วยนาฬิกา ใช้เทียนสัญญาณเป็นกำหนด คือลงมือแปลแต่เวลาบ่าย ๑๕.๐๐ นาฬิกาไปจนมืดค่ำ ก็จุดเทียนสัญญาณตั้งไว้ในสนาม พอเทียนหมดเป็นเลิกสอบพระปริยัติธรรมในวันนั้น ถ้ายังมีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่กี่รูปก็เป็นตกหมด วิธีใช้เทียนสัญญาณอย่างว่านี้ มักเกิดลำบากแก่ผู้แปลและผู้ไล่เนืองๆ ที่ลำบากแก่ผู้แปลนั้น คือในวันที่มีพระภิกษุสามเณรแปลค้างอยู่จนค่ำหลายรูปด้วยกัน บางรูปจวนจบประโยค แต่บางรูปแปลหนังสือไปได้น้อย รูปที่ยังแปลได้น้อยก็ตั้งหน้าพยายามจะแปลให้จบประโยคก่อนเทียนหมด ฝ่ายรูปที่แปลได้มากก็ไม่มีโอกาสจะเข้าแปล จนเทียนหมดก็พากันตกทั้งหมด ดังนี้มีเนืองๆ ผู้แปลต้องผ่อนผันกันเอง บางทีถ้าเกิดคั่งกันเช่นว่า นักเรียนที่ใจอารีต้องยอมหนีเสีย ให้เพื่อนกันได้โอกาสจึงแปลได้จบประโยค

แต่บางทีก็เกิดลำบากตรงกันข้าม เช่นวันใดนักเรียนที่เข้าแปล แปลจบไปเสียบ้าง หนีไปเสียบ้าง เหลืออยู่จนเวลาค่ำ แต่ผู้ที่แปลปลกเปลี้ยรูปเดียว จะแปลให้จบก็ติด แปลไปไม่ได้ จะออกแก้ไขตริตรองก็ไม่ได้ด้วยไม่มีตัวเปลี่ยน ถ้าผู้แปลไม่หนี ผู้ไล่ก็เลิกไม่ได้ ด้วยเทียนยังไม่หมด บางทีในวันนั้นต้องเสียเวลาเปล่านานๆ ทีเดียว ต่อมา (ในคราวแปลที่พระที่นั่งสุทไธศวรรย์คราวที่ ๒ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๕) จึงเลิกวิธีใช้เทียนสัญญาณ เปลี่ยนเป็นใช้นาฬิกาแทน กำหนดเวลาให้แก่นักเรียนแปลพระธรรมบทรูปละ ๖๐ นาที ถ้าแปลประโยคสูงขึ้นไปให้รูปละ ๙๐ นาทีเป็นกำหนด ถ้ารูปใดถูกประโยคยาก บางทีท่านผู้ไล่ยอมเพิ่มเวลาให้อีก ๓๐ นาทีก็มีบ้าง เวลาที่กำหนดนี้ นับเฉพาะแต่เวลาที่เข้าแปล ถ้าออกมาพักไม่นับเวลา อย่างนี้นักเรียนได้โอกาสเสมอกันทุกรูปไม่มีคั่งเหมือนแต่ก่อน

คงมีแต่ทางที่จะช่วยกัน ดังเช่นบางวันผู้แปลเหลืออยู่ด้วยกัน ๒ รูป รูป ๑ จวนจะจบประโยค อีกรูป ๑ หนังสือยังอยู่มากเช่นนี้ รูปที่แปลจวนจบอาจจะช่วยได้โดยทำติด แล้วขอออกมาแก้ คอยผลัดกันแปลกับรูปที่หนังสือยังอยู่มาก พอให้ผู้แปลรูปนั้นได้มีเวลาตริตรองมากขึ้น จนแปลได้จบประโยคด้วยกันทั้ง ๒ รูป วิธีผ่อนผันอย่างนี้บางทีท่านผู้ไล่ก็สั่งเอง ด้วยสงสารนักเรียนที่หนังสือยังเหลือมาก เพราะถ้าเหลือแปลอยู่แต่รูปเดียว ก็ไม่มีโอกาสที่จะได้พักตริตรองแก้ไข ขืนแปลตะบันไปก็หมดเวลาเปล่า

วิธีสอบพระปริยัติธรรมเป็นดังว่ามานี้เหมือนกันทุกประโยค แต่ประโยคสูงถึงชั้นเปรียญเอกนั้น ยอมให้ดูหนังสือซึ่งสำหรับแก้ความในคัมภีร์ที่สอบได้ คือถ้าแปลคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสิทิกาประโยค ๗ ยอมให้ดูหนังสือคัมถีร์โยชนาและคัมถีร์ฎีกาปฐมสมันตัปปาสาทิกาอีก ๒ คัมภีร์ ถ้าแปลคัมภีร์วิสุทธิมรรคประโยค ๘ ยอมให้ดูคัมภีร์มหาฎีกา คัมถีร์จุลฎีกาวิสุทธมรรค และคัมภีร์วิสุทธิมรรคคันถีด้วยอีก ๓ คัมภีร์ คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะประโยค ๙ ยอมให้ดูฎีกาอภิธัมมัตถสังคหะได้ฉะนี้

วิธีสอบเปรียญมอญนั้นผิดกับสอบเปรียญไทย เหตุด้วยพระราชาคณะไทยไม่รู้ภาษามอญ แต่ฟังสำเนียงมอญอ่านภาษาบาลีเข้าใจได้ เพราะฉะนั้นวิธีสอบ เมื่อพระมอญแปลภาษาบาลีเป็นภาษามอญ พระราชาคณะมอญเป็นผู้ไล่ แล้วผู้แปลต้องบอกสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ภาษบาลี สำหรับพระราชาคณะไทยสอบความรู้ อีกชั้นหนึ่ง ได้ทั้ง ๒ อย่างจึงนับว่าเป็นสำเร็จ




 

Create Date : 22 ธันวาคม 2550   
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 7:57:56 น.   
Counter : 2874 Pageviews.  


ตำนานพระแก้วมรกต




ตำนานพระแก้วมรกต

พระพุทธปฏิมากรแก้วมรกตพระองค์นี้ มีเรื่องในหนังสือตำนานโบราณแต่งเป็นภาษามคธไว้ เรียกชื่อว่า “รัตนพิมพวงศ์” เล่าเรื่องเดิมของพระพุทธรูปแก้วพระองค์นี้สืบมา มีใจความในเบื้องต้นว่า พระมหามณีรัตนปฏิมากรองค์นี้เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนามว่า พระนาคเสนเถระ ในเมืองปาฏลิบุตร จึงพระนาคเสนเถระเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ อันมีฤทธิ์สำเร็จด้วยอภิญญา ได้อธิฏฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรถึง ๗ พระองค์ คือในพระโมลีพระองค์ ๑ ในพระนลาฏพระองค์ ๑ ในพระอุระพระองค์ ๑ ในพระอังสาทั้ง ๒ ข้าง ๒ พระองค์ ในพระชานุทั้ง ๒ ข้าง ๒ พระองค์ เป็น ๗ พระองค์ เนื้อแก้วก็ปิดสนิทติดเป็นเนื้อเดียวดังเดิมไม่มีแผลมีช่อง แลเห็นตลอดเข้าไปเลย พระมหามณีรัตนปฏิมากรอยู่เมืองปาฏลิบุตร แล้วตกไปเมืองลังกาทวีป แล้วตกมาเมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร แล้วภายหลังตกไปอยู่เมืองเชียงราย เจ้าเมืองเชียงรายหวังจะซ่อนแก่ศัตรู จึงเอาปูนทาลงรักปิดทองบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงรายนั้น

ข้อความตามตำนานในพงศาวดารมีต่อมาว่า เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ ปี พระแก้วมรกตพระองค์นี้อยู่ในพระสถูปใหญ่เก่าองค์หนึ่ง ณ เมืองเชียงราย ครั้นพระสถูปเจดีย์นั้นต้องอสนีบาตพังลงแล้ว ชาวเมืองเชียงรายได้เห็นเป็นองค์พระพุทธรูปปิดทองคำทึบทั่วทั้งพระองค์ ก็สำคัญว่าพระพุทธรูปศิลาสามัญ จึงเชิญไปไว้ในวิหารที่ไว้พระพุทธรูปในวัดแห่งหนึ่ง แต่นั้นไป ๒ เดือน ๓ เดือน ปูนที่ลงรักปิดทองหุ้มทั่วพระองค์นี้กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เจ้าอธิการในอารามนั้นได้เห็นเป็นแก้วสีเขียวงาม จึงแกะต่อออกไปทั้งพระองค์ คนทั้งปวงจึงได้เห็นและทราบความว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งแท่งบริสุทธิ์ดี ไม่บุบสลาย คนชาวเชียงรายและเมืองลาวอื่นๆ ก็ตื่นกันไปบูชานมัสการมากมาย ท้าวเพี้ยผู้รักษาเมืองจึงได้มีใบบอกลงไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่

เจ้าเมืองเชียงใหม่เกณฑ์กระบวนช้างไปแห่รับเสด็จพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมาโดยหลังช้าง ครั้นถึงทางแยกซึ่งจะไปเมืองลำปาง ช้างรับเสด็จพระมหารัตนปฏิมากรแก้วมา ก็วิ่งตื่นไปทางเมืองลำปาง เมื่อหมอควาญเล้าโลมช้างให้สงบแล้วพามาถึงทางที่จะไปเมืองเชียงใหม่ ช้างก็ตื่นไปทางเมืองนครลำปางอีก จนภายหลังเมื่อเอาช้างเชื่อรับเสด็จพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ช้างนั้นเมื่อมาถึงที่นั้นก็ตื่นคืนไปทางเมืองนครลำปางอีก ด้วยเหตุนั้นท้าวพระยาผู้ไปรับก็ได้มีใบบอกไปถึงเจ้าเมืองเชียงใหม่ ครั้งนั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่นับถือผีสางมากนัก จึงวิตกว่าชะรอยผีซึ่งรักษาองค์พระจะไม่ยอมมาเมืองเชียงใหม่ จึงยอมให้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปประดิษฐานไว้ในเมืองลำปาง คนทั้งปวงจึงได้เชิญไปไว้ในวัดที่คนเป็นอันมากมีศรัทธาสร้างถวาย ในเมืองนครลำปางนานถึง ๓๒ ปี และวัดนั้นยังเรียกว่าวัดพระแก้วมาจนทุกวันนี้

ครั้นจุลศักราช ๘๓๐ เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์อื่นได้แผ่นดินเชียงใหม่แล้ว ดำริว่าเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ล่วงแล้วยอมให้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไปประดิษฐานอยู่เมืองลำปางนั้นไม่ควรเลย ควรจะไปอาราธนามาไว้ในเมืองเชียงใหม่ คิดแล้วจึ่งไปอาราธนาแห่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมา สร้างพระอารามวิหารถวายแล้วประดิษฐานไว้ในเมืองเชียงใหม่ และเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้พยายามจะทำพระวิหารที่ไว้พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้ว ให้เป็นปราสาทมียอดให้สมควร แต่หาสมประสงค์ไม่ อสนีบาตต้องทำลายยอดที่ตั้งสร้างขึ้นหลายครั้ง จึงได้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วไว้ในพระวิหารมีซุ้มจระนำอยู่ในผนังด้านหลังสำหรับเป็นที่ตั้งพระมหารัตนปฏิมากรแก้ว กับทั้งเครื่องประดับอาภรณ์บูชาต่างๆ มีบานปิดดังตู้ เก็บรักษาไว้ เปิดออกให้คนทั้งปวงนมัสการเป็นคราวๆ แต่พระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วได้ประดิษฐานอยู่ในเมืองเชียงใหม่นานได้ ๘๔ ปี

ครั้นลุจุลศักราช ๙๑๓ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์หนึ่งซึ่งครองเมืองในครั้งนั้น ชื่อเจ้าไชยเสรษฐาธิราช เป็นบุตรพระเจ้าโพธิสารซึ่งเป็นเจ้าเมืองเซ่า (คือเมืองหลวงพระบาง) เพราะเหตุที่แต่ก่อนนั้นไปเจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ก่อนได้ยกราชธิดาชื่อ นางยอดคำ ให้ไปเป็นมเหสีพระเจ้าโพธิสาร จึ่งมีราชบุตรคือเจ้าไชยเสรษฐ์องค์นี้ เมื่อเจ้าไชยเสรษฐ์มีอายุได้ ๑๕ ปี เจ้าเมืองเชียงใหม่ผู้เป็นอัยกาธิบดีถึงแก่ชีพิตักษัยไป ไม่มีผู้อื่นจะรับที่เจ้าเมืองเชียงใหม่ ท้าวพระยากับพระสงฆ์ผู้ใหญ่ทั้งปวงจึงพร้อมกันไปขอเจ้าไชยเสรษฐ์ผู้บุตรใหญ่ของพระเจ้าโพธิสาร และเป็นนัดดาของเจ้าเชียงใหม่นั้นมาเป็นเจ้าเชียงใหม่ แถมนามเข้าว่าเจ้าไชยเสรษฐาธิราช

ครั้นได้เป็นเจ้าเชียงใหม่แล้วไม่นาน ได้ฟังข่าวว่าพระเจ้าโพธิสารผู้บิดาสิ้นชีพวายชนม์แล้ว เจ้าน้องชายต่างมารดาได้เป็นเจ้าในเมืองเซ่า เจ้าเชียงใหม่ไชยเสรษฐาธิราชจะใคร่ไปทำบุญในการศพบิดาและจะใคร่ได้ส่วนมรดกด้วย แต่ยังไม่แน่ใจลงว่าจะต้องเป็นเจ้าเมืองเซ่าเสีย ไม่ได้กลับมาเมืองเชียงใหม่ หรือจะต้องกลับมาเมืองเชียงใหม่เพราะเมืองเซ่ามีเจ้าแล้ว หรือเมื่อไม่อยู่ฝ่ายข้างเมืองเชียงใหม่จะเป็นประการใด ภวังค์หน้าภวังค์หลังอยู่ จึงได้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วนั้นไปด้วย อ้างว่าจะรับไปทำบุญและให้เจ้านายญาติวงศ์ในเมืองเซ่าได้บูชาทำบุญด้วยกัน แล้วก็ยกครอบครัวไปหมด เมื่อพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วออกไปจากเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้เป็นปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๙๑๔ ปี

เจ้าไชยเสรษฐาธิราชไปถึงเมืองเซ่าแล้ว ก็ประนีประนอมพร้อมกับเจ้าน้องและญาติวงศ์ฝ่ายบิดา เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วขึ้นประดิษฐานไว้ในปราสาท แล้วก็ฉลองพระและทำการกุศลส่งบิดาเป็นอันมาก แล้วก็ปรึกษาหารือกันตามญาติวงศ์พี่น้องด้วยมรดกบิดา แบ่งทรัพย์สิ่งของผู้คนช้างม้าพาหนะช้าอยู่ กาลล่วงไปถึง ๓ ปี

ฝ่ายพระยาท้าวแสนผู้รักษาเมืองเชียงใหม่เห็นว่า เจ้าไชยเสรษฐาธิราชไปเมืองเซ่าเสียนานแล้วไม่กลับ การงานบ้านเมืองค้างขัดอยู่มาก ถ้ามีข้าศึกศัตรูก็จะไม่มีผู้ชี้การสิทธิ์ขาดได้ จึ่งได้พร้อมกันปรึกษาเลือกหาได้ภิกษุรูปหนึ่งซึ่งชื่อเมกุฏิ เป็นเชื้อวงศ์เจ้าเชียงใหม่ที่ล่วงแล้วมาแต่ก่อนนั้น เวลานั้นมีสติปัญญาสามารถสมควร จึ่งพร้อมกันเชิญเจ้าเมกุฏิให้คืนผนวชออกมา แล้วก็ยอมยกให้เป็นเจ้าเชียงใหม่ พระแก้วมรกตจึ่งค้างอยู่เมืองเซ่า ๑๒ ปี จนเมื่อเจ้าไชยเสรษฐาธิราชลงไปตั้งเมืองเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวง จึงเชิญพระแก้วมรกตลงไปไว้ที่เมืองเวียงจันทน์

ครั้นเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๐ ปี จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่ยังดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เป็นจอมพลเสด็จขึ้นไปหัวเมืองลาวได้ตลอดจนเมืองเวียงจันทน์ จึงเชิญพระแก้วมรกตมากรุงธนบุรี


......................................................................................................................................................


คัดจาก พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เรียบเรียงจากหนังสือเก่า




 

Create Date : 26 พฤศจิกายน 2550   
Last Update : 26 พฤศจิกายน 2550 18:44:33 น.   
Counter : 5016 Pageviews.  


เรื่องทรงเที่ยวกลางคืน พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช


...............................................................................................................................................


เรื่องเที่ยวกลางคืน

การเที่ยวกลางคืนในเมืองปีนังและสิงคโปร์ เป็นที่ให้เกิดความสนุกสบายแก่เรามาก แต่ตามความจริงมันสบายครึ่งตัววิตกรำคาญครึ่งตัว ความสบายนั้นเกิดแต่การที่ “ไม่เคยรับ” คือไม่ได้เที่ยวเตร่โดยลำลองเช่นนี้ได้มาแต่เล็กคุ้มบัดนี้ การที่ได้ไปตามสบายใจไม่มีเครื่องกดขี่ คือผู้ใหญ่คอบขู่เขี้ยว หรือมีเครื่องสกัดกั้นกล่าว คือกลัวอันตรายเสื่อมศักดิ์เสียยศ และเป็นความลำบากแก่ผู้อื่นเป็นเครื่องห้ามหวงอยู่ ได้เที่ยวตามลำพังใจไม่ต้องคอยระวังตัวและผู้อื่นนับว่าเป็นความสนุกสบาย

ส่วนวิตกรำคาญนั้นไปเห็นบ้านเมืองเขาปรกติเรียบร้อย ไม่มีคนเมามายตามถนนหรือคนวิ่งราวฉกลัก จะเดินไปถนนใดทางใดเหมือนเดินไปในบ้าน จนได้เห็นในหนังสือพิมพ์มีข่าวคนตายกลางถนน และผู้ร้ายปล้นตีฟันกัน ฟังไม่น่าเชื่อ ครั้นกลับมานึกถึงบ้านเราได้ยินแต่วิ่งราวเมามายกันไม่ได้ขาดหู เป็นเหตุให้มีน้ำใจหดหู่ เอาความที่นึกเหล่านี้เข้าไปปนสนุกเสียกึ่งหนึ่ง จึงเป็นอันสนุกครึ่งหนึ่ง วิตกรำคาญครึ่งหนึ่ง

เมื่อคิดถึงการโตใหญ่ที่ต้องใช้สติปัญญาความรู้ความไหวพริบ ก็ได้เคยคิดและเคยปลงตกได้ ว่าเพราะเราไม่มีการเล่าเรียนสั่งสอนกันมาแต่ก่อน เมื่อพึ่งจะมาลงมือสอนตามหลัง ก็คงต้องต่ำกับเขาวันยังค่ำเป็นการแล้วไป มังยังห่างไกลกันอยู่มากนัก

ส่วนการที่ไม่ต้องอาศัยสติปัญญาความรู้อันใดนัก เป็นแต่ความอุตสาหเท่านั้นก็รักษาไปไม่ได้ ของก็มีแล้วใกล้ไม่ผิดกัน แต่ของเขารักษาได้ของเรารักษาไม่ได้ วางไปก็เหลวไปหมดทั้งนั้น

เป็นต้นว่าไฟตามถนน ของเราถี่กว่าเขาในบางที่บางแห่ง ในที่บ้างแห่ที่ควรจะมียังไม่มีบ้าง ข้างเขามีห่างๆ รายทั่วไปทั้งในหมู่ตลาดและที่นอกออกไป เว้นแต่ที่ไกลๆ มากๆ ก็ยังไม่มี เช่นที่ปีนังเห็นจะมีแต่ในหมู่เมืองเท่านั้น ไฟรายห่างๆกันไปไม่ถี่เหมือนบ้านเรา แต่ของเขาสว่างทั้งโคมแกสและโคมน้ำมัน ผิดกันกับบางกอกมันเปื้อนเปรอะโสโครกเต็มที เหมือนโปลิศของเรามีถี่กว่าเขาในที่บางแห่ง แต่บางแห่งไม่มีเลย ข้างเขามีรายๆ ห่างๆ มีถี่อยู่แต่ที่ประชุมคนบางแห่ง แต่เขารักษาการดีไม่มีเหตุผลอันใด ของเราไม่มีประโยชน์ในที่ควรจะได้ไป เป็นแต่เครื่องมือของคนที่ร้องให้จับกันเท่านั้น ถ้าไม่มีใครร้องให้จับก็เป็นอันไม่ต้องทำอะไร หรือกลับมีคนกล่าวซ้ำไปว่ามักจะเป็นขโมยเอง

ถึงถนนเล่าของเราโตบ้างแต่เล็กมาก แต่การรักษาไม่เสมอได้ ข้างเขาถนนใหญ่ก็ไม่ใหญ่กว่าเรานัก แต่เขาใหญ่ทั่วไปไม่เป็นซอกเป็นตรอก แต่เขารักษาดีเสมอทั่วไป การผิดกันเล็กน้อยเท่านี้ทำได้ แต่ไม่มีใครทำ จึงเป็นเหตุให้ท้อใจ เพราะคนเราขาดความอุตสาหเช่นนี้ จึงมีความสบายดีครึ่งหนึ่ง วุ่นวายใจไปครึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นเหตุทำให้ทึ่ง อยากเห็นอยากรู้มากเข้าอีกอย่างหนึ่งด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมารู้สึกชัดว่าคราวก่อนที่มาเที่ยวสนุกมากกว่าความสังเกตเทียบเคียง แต่ครั้งนี้มีความประสงค์จะดูจะรู้มากกว่าสนุก ถึงว่าความรู้ที่เรียนได้ในทางไม่ดี ก็ควรจดจำไว้พออย่าให้ลืมเสียดีกว่า จึงจดจำไว้ตามที่จำได้ และที่เขาใจเช่นนี้ ผิดหรือถูกจะเอาแน่นักไม่ได้

โรงคนชั่วที่ใน ๒ เมืองนี้มีเป็นคนละส่วน คือพวกจีนกวางตุ้งพวก ๑ ฝรั่งและญี่ปุ่นพวก ๑ เป็นคนหาเงินออกหน้า ที่สิงคโปร์แบ่งเป็นคนละถนน คือพวกจีนอยู่กำพงยาวา พวกฝรั่งพวกญี่ปุ่นอยู่ที่ถนนกำพงกะลำ คนละส่วนแห่งเมือง แต่ที่ปีนังอยู่ถนนเดียวกันแต่เป็นคนละตอน ยังมีพวกแขกที่หากินลับ เป็นเทือกคนเถื่อนอีกพวกหนึ่งต่างหาก

คนกวางตุ้งนั้นอยู่ตึกสูงๆ ๒ – ๓ ชั้นบ้าง คนโรงหนึ่งอยู่ตั้ง ๒๐ คนขึ้นไป การที่ตกแต่งนั้นชั้นล่างมีโต๊ะเครื่องบูชาติดโคมมีกระจกฉายข้างหลัง ดูสว่างแวววาวมาก ห้องที่อยู่ปันเป็นชั้นๆ ชั้นๆ บนเป็นคนชั้นที่ ๑ ชั้นรองลงมาเป็นชั้นที่ ๒ ชั้นต่ำเป็นชั้นที่ ๓ โรงที่เราไปดูนั้นที่ปีนังโรงเดียว เพราะเป็นตึกของเต๊กชุนให้เช่า ทั้งเขาเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงคนพวกนี้อยู่โดยมาก จึงได้ขึ้นไปดูได้ เพราะคนพวกนี้ไม่รับคนชาติใดนอกจากพวกเดียวกัน ถ้ารับพวกคนอื่นคือฝรั่งเป็นต้นแล้ว พวกจีนพากันรังเกียจเสียไม่มีใครไป เพราะฉะนั้นที่กำพงยาวาไม่เห็นมีคนอื่น มีแต่จีนเต็มไปทั้งถนน แต่ที่ปีนังอยู่ถนนเดียวกับชาติอื่น จึงเห็นแขกฝรั่งไปมาทางหน้าตึกนั้นบ้าง

ห้องที่กั้นนั้นใช้ฝาไม้กั้นตามยาวของตึกเพียงครึ่งผนัง เป็นห้องสองฟากทางเดินกลาง ไม่มีหน้าต่างอย่างอุดอู้ตามธรรมเนียมจีน ถ้าขึ้นกระไดแลลงไปได้ในห้อง ประตูก็มีแต่ผ้าแดงเป็นม่านห้อยลงมาแต่ผืนเดียวเท่านั้น ดูน่ารำคาญเต็มที แต่ดูมันนอนสบายไม่เดือดร้อนอย่างใด ในห้องเช่นนั้นมียกพื้นขึ้นไปสูงสักศอกหนึ่ง มีมุ้งผ้าขาวเก่าๆ หลังหนึ่ง หน้ามุ้งมีเสื่อห้องกับหมอนกำมะลอกับตะเกียงฝิ่น มีเครื่องอะไรรุงรังตั้งหรือกองอยู่ริมฝาบ้าง การที่รู้กันว่าคนอยู่ในนั้นคือ ปิดม่านแล้วก็เป็นอันไม่มีใครเปิดเข้าไป แต่ห้องชั้นที่ ๑ นั้นมีอยู่ ๓ ห้อง กั้นฝาไม้ประตูมีม่านเหมือนกัน แปลกแต่ข้างในไม่ได้ยกพื้นมีเตียงที่นอนมุ้งแพร มีที่ล้างหน้าโต๊ะแต่ตัวกับเอาอี้ ๒ ตัว แต่กี๋คั่นกลาง ตั้งริมฝาเป็นเครื่องอย่างจีนเท่านั้น มีเจ้าพวกเครื่องกินเล่นคือเม็ดแตงและถั่วสัก ๒ – ๓ จาน ใช้จานตะกั่วเล็กๆ มีตะเกียงอย่างกระทะตะกั่วตั้งดวง ๑

ที่ชั้นบนมีห้องกว้างกั้นฝาเฟี้ยมสามด้าน เป็นประตูออกไปเฉลียงหลังคาตัดด้านหนึ่ง เฟอร์นิเจอร์ในนั้นมีโต๊ะศาลเจ้าโต๊ะหนึ่งกับเก้าอี้ยาวตั้งริมฝารอบ ที่กลางมีโต๊ะกลมกินข้าว ๒ โต๊ะ โต๊ะนี้ทำเป็นอย่างฝรั่งแต่ที่กลางยกสูงขึ้นไปหมุนได้รอบๆ เพราะจีนกินกับข้าวทีละชาม เมื่อใครจะกินก็จับหมุนไปตรงหน้าคนนั้น ใช้เก้าอี้ไม้ถักหวายของฝรั่ง มีเก้าอี้อย่างเหยียดขาอ่านหนังสืออีกมากเป็นที่นั่งพัก

วิธีรับแขกนั้นคือ แรกขึ้นไป เจ้าพวกผู้ชายคนใช้กาหลกันอย่างยิ่ง ชักรอกผ้าระบายที่ใต้ส่าหร่ายกับม่านขึ้นแขวน ขนเครื่องดีดสีตีเป่าออกมาตั้ง และสั่งให้ไปทำกับข้าวที่เตี๊ยมใกลักับที่ตึกนั้น มีน้ำชามาเลี้ยงก่อน น้ำชานั้นใช้ถ้วยชงลายสี่ฤดูสีอย่างเลว มีจุ๊นกลมอย่างที่ไทยๆ เราเรียกว่าจุ๊นญี่ปุ่น ทำด้วยตะกั่ว ในนั้นมีใบชาอยู่ในก้นถ้วย แล้วเอาน้ำร้อนเปล่ามาริน เวลาจะกินขยับฝาให้เคลื่อนกันใบชา ซดทางช่องข้างฝาถลำลงไปนั้น

ในเวลาแรกนี้มีเด็กผู้หญิงอายุสัก ๑๓ – ๑๔ ปี ๒ คน ขวั้นผมเข้าไปครึ่งหัว ถักเปียผม ตีนไรไว้ยาวสัก ๒ นิ้วกริบเสมอ นุ่งกางเกงแพร สวมเสื้อแพรติดขลิบใหญ่อย่างผู้หญิง แต่รูปร่างตาหน้ามันเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง จนตกลงเรียกกันว่าอ้าย เด็ก ๒ คนนี้เป็นคนมาฝึกหัดการปฏิบัติ ตั้งแต่ดีดสีขับร้องเป็นต้นไป ใครจะเล่นหัวลูบคลำก็ได้ เว้นแต่ถ้าจะ “เปิด” ต้องเสียเงินมากในคราวแรก

มีผู้หญิงออกมารับหน้าอยู่ ๒ คน แต่ยังไม่ได้แต่งตัว คือสวมเสื้อและกางเกงผ้าดำ ต่อคนอื่นแต่งตัวมาเปลี่ยนแล้ว จึงได้กลับไปแต่งตัวใหม่ การที่แต่งตัวนั้น คือสวมกางเกงแพงสีหนึ่ง เสื้อสีหนึ่งเป็นสีเทาๆ ต่างๆ ไม่ฉูดฉาด เสื้อใช้แขนโตอย่างมาก ติดขลิบดำและลูกไม้โตรอบ ผมเกล้าอย่างจีนมีสไตลต่างๆ ดูไม่ใคร่เหมือนกัน สวมถุงเท้ารองเท้าอย่างจีน นางคน ๑ ตีนเล็กเหมือนตีนกวางแท้ แต่ดูมันเดินคล่องแคล่วไม่กระโผกกระเผลกเลย เสื้อชั้นในใช้รัดเชือกอย่างเสื้อละคร มีตุ้มหูทองเปล่าบ้างประดับหยกบ้าง ปิ่นที่ปักผมก็เหมือนกัน การปฏิบัติก็คือผลัดกันร้องและดีดสีต่างๆ และเอากล้องมรกู่มาบรรจุยาให้สูบบ้าง มีมานั่งให้หยอกเป็นพื้น คนมาในชั้นที่ ๑ กับที่ ๒ จนหมดโรง แต่วันที่ไปนี้เต๊กซุนพาคนโงอื่นมาด้วยประมาณสัก ๔๐ คน และไปพาคนญี่ปุ่นมาให้ดูด้วย แต่จะงดไว้กล่าวทีหลังต่อไป กว่าคนจะมาพร้อมกันได้เป็นการจะบอกพอใช้อยู่แล้วแหล่ แต่ยังไม่เหมือนกับข้าว กว่าจะมาได้ยืดยาวเต็มที

ครั้นเมื่อจัดโต๊ะพร้อมแล้วไปนั่งที่เก้าอี้ล้อมรอบ บรรดาผู้หญิงที่มาก็ปันกันเป็นผู้ปฏิบัติตามมากและน้อย บางคนก็มี ๓ คน ๒ คนจนคนเดียว ยกเก้าอี้มาตั้งข้างหลังล้อมรอบออกไปอีกชั้นหนึ่ง ที่ตรงหน้าคนที่นั่งโต๊ะ มีจานรองตะเกียบช้อนและถ้วยน้ำนมตักเหล้าคนละใบ จานน้ำปลาคนละใบ มีจานเม็ดแตงและถั่วรายไปด้วย เหล้าสำหรับที่จะจับจ่ายใช้รินลงถ้วยใบ ๑ ตั้งกลาง กับข้าวใช้ชามรูปต่างๆ ยกมาทีละชาม แต่กินแล้วไม่ได้ยกกลับ กินจ้ำต่อไปอีกเท่าใดก็ได้ แต่จะกินมีพิธีมาก คือต้องสมมตนางคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นที่หยอดกันว่าดีกว่าเพื่อน เป็นพนักงานสำหรับเชิญ แรกลงมือเชิญให้กินเหล้า คือเอาถ้วยน้ำนมกับถ้วยแก้วเหล้าถือเดินไปรอบๆ ตักเหล้าแล้วบอกเชิญกินเหล้าเอาป้อนให้ที่ปาก ผู้กินเอาเหล้าในถ้วยของตัวให้นางคนนั้นกินทีละคน จนรอบแล้ว หยุดนั่งรอกันนิ่งไปทีหนึ่ง คราวนี้ลุกขึ้นใหม่เอาตะเกียบคีบกับข้าวป้อนให้ทีละคนจนรอบ แล้วจึงร้องเชิญให้กินต่อไป คนที่กินจึงได้ลงมือกิน

กับข้าวเปลี่ยนไปทีละสิ่งจนหมด มีน้ำชามาให้ในระวางนั้นด้วย เมื่อถึงของหวาน นางผู้เชิญลุกขึ้นเอาตะเกียบคีบป้อนที่ละคนใหม่จนรอบ แล้วป้อนเหล้ารอบอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้นางคนอื่นบรรดาที่ล้อมอยู่นั้น ลุกขึ้นจับถ้วยเหล้าเที่ยวป้อนทุกๆ คน รอบโต๊ะทั้ง ๓๐ – ๔๐ คน ถ้าจะกินจริงๆ สัก ๔๐ ถ้วยจะเมาเกือบตาย แต่ไม่ต้องกินพอแจะๆ ปากก็เป็นใช้ได้ เวลานางคนใดมาป้อน ผู้กินต้องขอให้นางคนนั้นกินด้วยทุกครั้ง อนึ่งเมื่อกำลังกินนั้น จีนเขาเล่นทายนิ้วกันกับพวกผู้หญิง แต่พวกเราเล่นไม่เป็น เกณฑ์ให้มันเล่นกันเอง ถ้านางที่ปฏิบัติใครแพ้ มันมักขอให้ผู้ชายกินเหล้าแทน ถ้ากินให้ก็ดูเป็นการกระจู๋กระจี๋ขึ้น แต่ถ้าอืดเอามันเสียมันก็กินเองได้ ดูมันกินเหล่าจุๆ กันทุกคน เสียอยู่หน่อยหนึ่งแต่ไม่รู้ราคาว่าสิ้นมากน้อยเท่าใดในการมาเล่นเช่นนี้ เพราะเต๊กซุนจัดเป็นการรับรอง ถามก็ไม่บอก

การเลี้ยงแล้วเสร็จยังมีการที่ยืดยาวใหญ่อีกต่อไป คือการที่จะเปรียบคู่ ผู้ต้อนรับเขาอยากรู้ว่าเราจะชอบคนใด เราไม่มีความประสงค์จะทำไม ไม่รับก็ไม่ฟัง ใครๆ ก็ไม่ตกลงกันลงไปได้ เราเห็นจะเป็นเรามากีดเขาอยู่จึงต้องยอมรับเลือกสำหรับดูเล่นคน ๑ คือนางตีนเล็ก เขาว่ารัดตีนเพื่อจะให้ลั่นขึ้นไปข้างบน เราไม่เชื่อจึงใคร่จะเห็นว่าจริงหรือไม่อยู่บ้าง เรารับแล้วคนอื่นจึงเลือกกันต่อไป แต่เป็นการกาหลอันยิ่งใหญ่ เพราะมันไม่ใคร่ยอมรับคนต่างประเทศ ต้องทาวกันแล้วทาวกันเล่าอยู่เป็นเม่าหนึ่งเท่าใด อีตีนกวางยิ่งเล่นตัวยิ่งใหญ่ไปกว่าคนอื่น เขาแอบไปได้ยินว่ากันจนร้อยห้าสิบเหรียญแล้วยังไม่ตกลง เราเห็นเขาจะฉิบหายเพราะค่าดูเท่านั้น บอกเลิกเสียก็ไม่ยอม กลับมาบอกตกลง เป็นได้ไม่รู้ว่าจะเอาเท่าใด

แต่การที่จะอยู่ที่นี่สกปรกเต็มที เราลืมกล่าวถึงไป ที่ห้องเรือนนี้พื้นเต็มที ดูกลางถนนจะสะอาดกว่า มันนึกจะถ่มน้ำลายหรือเทน้ำลงที่ไหน ถ่มเทลงไปที่นั่น ที่ชลาหลังคาตัดนั้นเหม็นเยี่ยวออกคลุ้งไปทั้งนั้น ไม่มีที่ทางอันใดจะที่ไหนได้ที่นั่น เต๊กซุนจึงขวนไปที่บ้านสวน ต้องพาคนเหล่านั้นล่วงหน้าไปก่อน และไปรับคนที่อื่นมาอีกด้วย แต่การที่จะหารถจ้างในเวลากลางคืนนั้นหายาก เพราะตั้งแต่ยามหนึ่งไปในถนนไม่ใครมีรถเดินเลย มีแต่รถเจ๊กเดินจนดึก ต่อคนชำนาญเช่นเต๊กซุนจึงจะไปหาได้ แต่กระนั้นก็ช้ามาก เพราะ ๒ ยามแล้วรถหมดทีเดียว ทางที่ไปสวนนั้นไกลมาก เพราะอยู่ถึงที่ใกล้ไปข้างเขา ทางเดินผ่านป่าช้าจีนเก่า วันนั้นฝนตกเสมอถนนเกือบเดินไม่ได้ ที่นอกเมืองตามแถบนี้ไม่เห็นมีโปลิศรักษาเลย

ที่เรือนนี้ดูเป็นที่แต่งไว้พร้อมสรรพสำหรับรับคนมาเล่น มีห้องนอนชั้นบน ๔ ห้อง ชั้นล่าง ๔ ห้อง มีเตียงนอนที่ล้างหน้ามุ่งที่นอนพร้อม คนที่พามานั้นเป็นมลายู จะกล่าวในพวกนั้นต่อภายหลัง อีเด็กที่ว่ายังๆไม่ได้เปิดนั้นก็ไม่จริงไปคนหนึ่ง เข้าพามาด้วย ทีจะปิดกันกลัวเกิดความว่าเด็กครั้นเมื่อไปถึงใครๆ ก็พากันรอเรา เราเห็นมันไปกีดเขาอยู่ จึงตกลงยอมไปเข้าห้อง ดูนางตีนเล็กไม่เห็นจริงดังคำกล่าวนั้นเลย แต่เราไม่ได้มีธุระอันใดต่อไป นั่งเล่นอยู่ข้างนอกซึ่งเป็นที่ประชุม ต่อเวลาดึกมากจึงได้กลับมา




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2550   
Last Update : 29 ตุลาคม 2550 13:43:38 น.   
Counter : 2475 Pageviews.  


จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรจนถึงสวรรคต


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช



จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรจนถึงสวรรคต
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) บันทึกเรียบเรียง

เมื่อปลายปี ร.ศ.๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุได้ ๕๓ พรรษา บังเกิดพระโรคเบียดเบียน ไม่เป็นที่ทรงพระสำราญ ด็อกเตอร์เบอร์เมอร์ นายแพทย์ของกรมทหารเรือ ซึ่งเป็นผู้ถวายการอภิบาล ได้ตรวจพระอาการ ลงสันนิษฐานว่าพระโกฎฐาส ภายในพระวรกายไม่เป็นไปสม่ำเสมอ พระโรคเช่นนี้ ไม่ถูกกับอากาศชื้น เช่น ในฤดูฝนชุก และร้อนจัด เช่น ฤดูคิมหะ ประเทศที่จะรักษา พระโรคเช่นนี้ ได้เหมาะดีที่สุด ก็มีแต่ยุโรปเท่านั้น จึงกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำ เพื่อเสด็จประพาสยุโรป บำรุงพระวรกาย ให้คืนเป็นปกติ แต่ในเวลาที่พระโรคยังไม่ทันจะเจริญขึ้น

โดยคำแนะนำของนายแพทย์นี้ จึงได้เสด็จประพาสยุโรป ออกจากพระมหานคร เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เสด็จกลับมาถึงพระนคร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะประทับอยู่ที่เมืองซันเรโม ประเทศอิตาลี ได้มีนายแพทย์เยอรมัน และอังกฤษ ชั้นโปรเฟสเซอร์ รวม ๓ นาย ได้ประชุมตรวจพระอาการเห็นว่า พระอวัยวะทุกส่วนยังเป็นปรกติไม่มีสิ่งใดแสดงว่าจะเป็นไปในทางที่ร้ายแรง ได้ถวายคำแนะนำการเสวย และการบรรทมให้มากพอ และลดทรงการงานให้น้อย ให้งดการงานที่เป็นการหนักทุกอย่าง ได้มีการทำนายซึ่งทางลับว่า ถ้าพระอาการเป็นเช่นนี้ จะทรงพระชนม์ไปได้สัก ๓ ปี แต่หมอก็ถวายการรับรองต่อพระองค์ว่า ถ้าผ่อนงานให้น้อย และบรรทมให้มากขึ้นอีก จะดำรงพระชนมายุไปได้ถึง ๘๐ เว้นแต่ จะมีพระโรคอื่นใดมาแทรกแซง

เมื่อเสด็จกลับสู่พระมหานครแล้ว ดูทรงพระสำราญดีกว่าเมื่อก่อนเสด็จประพาสยุโรป จะมีที่ไม่ปรกติเล็กน้อย ก็ในเรื่องพระนาภี เพราะพระบังคนหนักไปไม่สะดวก ต้องทรงใช้พระโอสถระบายอยู่เสมอๆ แต่การประชวรที่เรียกกันว่า ถึงล้มหมอนนอนเสื่อนั้นไม่ปรากฏเลย ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ ๑๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) ในวันนั้นได้ทรงขับรถไฟฟ้าเสด็จออกประพาสทอดพระเนตร การเลี้ยงไก่พันธุ์ต่างประเทศที่พญาไท แต่มิได้เสด็จลงจากรถพระที่นั่ง มีรับสั่งว่า "ท้องไม่ค่อยจะสบายจะรีบกลับ" แล้วก็ทรงขับรถพระที่นั่ง กลับยังพระที่นั่งอัมพรทีเดียว

วันที่ ๑๗ – ๑๘ - ๑๙ ตุลาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลประจำปีถวายรัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวัง แต่เนื่องด้วยพระนาภียังไม่เป็นปรกติ จึงได้โปรดฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร เสด็จไปแทนพระองค์

วันที่ ๑๙ ตุลาคม เวลาค่ำมีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช และเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งอัมพรสถาน ชั้น ๓ ในที่พระบรรทม สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาทีหลังตามขึ้นไปเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังตรัสราชการ และตรัสเล่นกับผู้ไปเฝ้าเหมือนเวลาทรงพระสำราญ

วันที่ ๒๐ ตุลาคม เวลา ๓ โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีรับสั่งให้มหาดเล็ก ไปตามหมอเบอร์เกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวซ์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้เสด็จออกมารับสั่ง แก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ) ให้จัดอาหารเลี้ยงหมอ และจัดที่ให้หมออยู่ประจำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

เมื่อหมอมาเฝ้าตรวจพระอาการกลับลงมา ข้าพเจ้าได้ถามพระอาการ หมอไรเตอร์ตอบว่า เป็นเพราะพระบังคนหนักคั่งอยู่นาน เมื่อเสวยพระโอสถปัดพระบังคนหนักออกมา จึงอ่อนพระทัย พระกระเพาะอาหารอ่อนไม่มีแรงพอที่จะย่อยพระอาหารใหม่ ควรพักบรรทมนิ่งอย่าเสวยพระอาหาร สัก ๒๔ ชั่วโมง ก็จะเป็นปรกติ หมอฉีดมอร์ฟีนถวายหนหนึ่ง

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการมาฟังพระอาการมากด้วยกัน ตั้งแต่ ๕ ทุ่มได้บรรทมหลับเป็นปรกติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทย และมหาดเล็ก อยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดทุกเวลา

วันที่ ๒๑ ตุลาคม ย่ำรุ่ง บรรทมตื่นตรัสว่า พระศอแห้ง แล้วเสวยพระสุธารสเย็น คณะแพทย์ไทยถวายพระโอสถ แก้พระเสมหะแห้ง รับสั่งว่าอยากจะเสวยอะไรๆ ให้ชุ่มพระศอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถถวายน้ำผลเงาะคั้นผล ๑ พอเสวยได้สักครู่ ทรงพระอาเจียนออกมาหมด สมเด็จพระบรมราชินีนาถตกพระทัยเรียกหมอทั้ง ๓ คนขึ้นไปตรวจพระอาการ หมอกราบบังคมทูลว่าที่เสวยน้ำผลเงาะ หรือเสวยอะไรอื่นในเวลานี้ไม่ค่อยจะดี เพราะพระกระเพาะว่าง และยังอักเสบเป็นพิษอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อเสวยพระกระยาหาร หรือพระโอสถ จึงทำให้ทรงพระอาเจียนออกมาหมด และเสียพระกำลังด้วย สู้อยู่นิ่งๆ ดีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกริ้วหมอว่า อาหารก็ไม่ให้กิน ยาก็ไม่ให้กิน ให้นอนนิ่งอยู่เฉยๆ จะรักษาอย่างไรก็ไม่รักษา มันจะหายอย่างไรได้ และตรัสต่อไปว่า เชื่อถือหมอฝรั่งไม่ได้ ประเดี๋ยวพูดกลับไปอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นหลักฐานอะไรได้

เมื่อหมอกลับลงมาแล้ว มีรับสั่งกับสมเด็จพระบรมราชินีนาถว่า ให้ไปตามใครๆ เขามาพูดจาปรึกษากันดูเถิด สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมารับสั่งกับข้าพเจ้าให้มหาดเล็กไปเชิญ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนริศรานุวัดติวงศ์ ในเวลาย่ำรุ่งนั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จลงมาเล่าพระอาการให้เจ้านายทั้ง ๔ พระองค์ฟัง แล้วเจ้านายซักถามหมอๆ ก็ยืนยันว่าไม่เป็นอะไร บรรทมอยู่นิ่งๆ ดีกว่า เจ้านายพากันเห็นจริงตามหมอไปหมด รวมกันถวายความเห็นว่า ที่หมอรักษาอยู่เวลานี้ถูกต้องแล้ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จขึ้นไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านาย ๔ พระองค์เสด็จมาแล้ว ได้ซักถามหมอ และเห็นด้วยตามที่หมอชี้แจง ทรงนิ่งอยู่มิได้รับสั่งอะไร

เวลาที่เลี้ยงเครื่องอาหารเช้าเจ้านาย และหมอนั้น มีพระอาเจียนอีกครั้งหนึ่ง เป็นน้ำสีเขียวเหมือนข้าวยาคู ประมาณ ๑ จานซุบ หมอว่าสีเขียวนั้นเป็นน้ำดี ตั้งแต่นี้ต่อไปก็มีพระอาการซึม บรรทมหลับอยู่เสมอ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จลงมารับสั่งเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรัสว่า "การเจ็บครั้งนี้จะรักษากันอย่างไร ก็ให้รักษากันเถิด" ตามที่รับสั่งเช่นนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกใจหายให้หวั่นหวาดหนักใจไปเสียจริงๆ

ตอนเที่ยงเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ตามขึ้นไปด้วย กลับลงมาได้ความว่ามีแต่พระอาการเซื่องซึม บรรทมหลับอยู่ตลอดเวลา มีพระบังคนเบาครั้งหนึ่ง ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ สีเหลืองอ่อน สังเกตดูกิริยาอาการของหมอและเจ้านาย ยังไม่สู้ตกใจอะไรมากนัก สมเด็จพระบรมราชินีนาถรับสั่งให้เจ้านาย ผลัดเปลี่ยนกันประจำ ฟังพระอาการอยู่เสมอไป

ตอนบ่ายมีความร้อนในพระองค์ปรอท ๑๐๐ เศษ ๔ แต่เป็นเวลาทรงสร่าง เพราะมีพระเสโทตามพระองค์บ้าง มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๒ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟเหมือนคราวก่อน ในเรื่องพระบังคนเบาน้อยเป็นครั้งที่ ๒ นี้ เจ้านายออกจะสงสัยทรงถามหมอๆ ก็ให้การว่าเป็นเพราะไม่ได้เสวยอะไร เสวยแต่พระสุธารสชั่ว ๒-๓ ช้อนเท่านั้น ก็ซึมซาบไปตามพระองค์เสียหมด เพราะฉะนั้นพระบังคนเบาจึงน้อยไปไม่เป็นไร เมื่อเสวยพระกระยาหาร และพระสุธารสได้มากแล้ว พระบังคนเบาก็คงจะมีเป็นปรกติ แต่พระอาการเซื่องซึมบรรทมหลับยังมีอยู่เสมอ

ตอนเย็นเมื่อเจ้านายและหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ยินรับสั่ง กับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ ว่า "การรักษาเดี๋ยวนี้เป็นอย่างใหม่เสียแล้ว" แล้วก็ไม่ตรัสสั่งอะไรอีก เมื่อเจ้านายและหมอกลับลงมาคราวนี้ พากันรู้สึกพระอาการมาก ไม่ใช่ทางพระธาตุพิการอย่างเดียว เป็นทางพระวักกะ (คิดนี) เครื่องกรองพระบังคนเบาเสียด้วย มีพระบังคนเบาอีกเป็นครั้งที่ ๓ ประมาณ ๑ ช้อนกาแฟ ตอนนี้หมอและเจ้านาย แน่ใจทีเดียวว่าเป็น พระวักกะพิการ หมอได้รีบประชุมกัน ประกอบพระโอสถบำรุงพระบังคนเบา และเร่งให้มีพระบังคนเบาโดยเร็ว และในที่สุดใช้เครื่องสวนพระบังคนเบา แต่ไม่ได้ผล เพราะไม่มีพระบังคนเบาเลย

ตอนค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยเช่นเคย เห็นพระพักตร์แต่ห่างๆ เข้าไปใกล้พระแท่นไม่ได้ เพราะข้างในอยู่เต็มไปหมด ได้ยินเสียงหายพระทัยดังและยาวๆ มาก บรรทมหลับอยู่ ถ้าจะถวาย พระโอสถ พระอาหาร หรือพระสุธารสก็ต้องปลุกพระบรรทม หมอกลับลงมาได้ความว่า การหายพระทัย และพระชีพจรยังดีอยู่ ความร้อนในพระองค์ลดลงแล้ว เห็นจะไม่เป็นไร หมอประชุมกันตั้งพระโอสถแก้พระบังคนเบาอีก ประมาณ ๑ ทุ่มเศษ มีพระบังคนเบาเป็นครั้งที่ ๔ ประมาณ ๑ ช้อนเกลือ และเป็นครั้งสุดท้ายด้วย

ค่ำวันนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย มาฟังพระอาการเต็มไปทั้งพระที่นั่ง เจ้านายก็ยังเชื่อกันว่าพระบังคนเบา คงจะมีออกมามากแน่ ตั้งแต่ยามหนึ่งแล้ว มีพระบังคนหนัก ๓ ครั้ง เป็นน้ำสีดำๆ หมอฝรั่ง หมอไทย ตรวจดูก็ว่าดีขึ้นคงจะมีพระบังคนเบาปนอยู่ด้วย วันนี้เสวยน้ำซุบไก่เป็นพักๆ ละ ๓ ช้อนบ้าง ๔ ช้อนบ้าง พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ ชงน้ำโสมส่งขึ้นไปไว้ถวาย ให้ทรงจิบเพื่อบำรุงพระกำลัง หมอฝรั่ง หมอไทย ไม่คัดค้านอะไร คืนนี้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ กลับดึกกว่าคืนก่อนๆ

วันเสาร์ ที่ ๒๒ ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง ๓ คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยาท่าทางของหมอ และเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่าพระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึม ไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึมบรรทมหลับอยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวายเร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกที

พวกหมอฝรั่งประชุมกัน เขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านาย เสนาบดีว่าพระอาการมาก เหลือกำลังของหมอที่จะถวายการรักษาแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรรายงานพระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย ข้าพเจ้าจึงให้ นายฉันหุ้มแพร (ทิตย์ ณ สงขลา) รีบเอารถยนต์ไปรับมาทันที พระองค์เจ้าสายฯ ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว น้ำพระเนตรไหลแต่ไม่ตรัสว่าอะไร พระองค์เจ้าสายฯ กลับลงมายืนยันว่า พระอาการยังไม่เป็นไร เชื่อว่าที่บรรทมหลับเซื่องซึม อยู่นั้น เป็นด้วยฤทธิ์พระโอสถต่างๆ พอฤทธิ์พระโอสถหมดแล้ว ก็คงจะทรงสบายขึ้นเพราะพระชีพจรก็ยังเต้นเป็นปรกติดี พระองค์เจ้าสายฯ กลับไปนำพระโอสถมาตั้งถวาย แก้ทางพระศอแห้ง ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ตรัสทักว่า "หมอมาหรือ" ได้เท่านั้นแล้วก็ไม่ได้รับสั่งอะไรอีกต่อไป

พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนัก และเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงมาก ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วยและเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตร ไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้งของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า "ฮือ" แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้าย ที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตร คล้ายทรงพระกันแสง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวาย ช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้น

ตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกัน ประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยเบาลงๆ ทุกที พระอาการกระวนกระวายอย่างหนึ่งอย่างใดไม่มีเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๒ ยาม ๔๕ นาที

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และ พระเจ้าน้องยาเธอ พร้อมกันเสด็จขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมด้วยความเศร้าโศกอาลัย ทรงกรรณแสง คร่ำครวญสะอึกสะอื้นทั่วกัน ข้าพเจ้าก็อยู่ที่นั้นด้วย กราบถวายบังคมมีความเศร้าโศกอาลัยแสนสาหัส ร่ำร้องไห้มิได้หยุดหย่อนเลย

ในที่พระบรรทม และตามเฉลียงเต็มไปด้วยฝ่ายในและฝ่ายหน้า ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ระงม เซ็งแซ่และทุ่มทอดกายทั่วไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุใหญ่ พัดต้นและกิ่งก้านหักล้มราบไปฉันใด บรรดาฝ่ายในและฝ่ายหน้าทั้งหมด ล้มกลิ้งเป็นลมไปตามกันฉันนั้น ด้วยความเศร้าโศกาอาดูร เป็นอย่างล้นเหลือที่จะรำพันให้สิ้นสุดได้

ข้าพเจ้าต้องวิ่งลงไปตามหมอ ขึ้นไปแก้ท่านที่ประชวรพระวาโยกันเป็นการใหญ่ และต้องเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมราชินีนาถขึ้นพระเก้าอี้หามกลับไปส่งที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู เพราะประชวรพระวาโยและทรงชักกระตุกด้วย เจ้านายพระองค์อื่นและเจ้าจอมมารดาที่เป็นลม ก็มีผู้ช่วยพากันไปส่งตำหนักที่อยู่กันเรื่อยๆไป ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งประชวรพระวาโยบรรทมอยู่ที่เก้าอี้ปลายพระแท่นนั้น ก็ต้องใช้เก้าอี้หามเชิญเสด็จไปยังพระตำหนักของพระองค์ท่าน

เวลานั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช ทูลเชิญเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ให้เสด็จกลับลงไปชั้นล่าง ประทับห้องแป๊ะเต๋ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาผู้ใหญ่ องคมนตรี และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งทรงกรรณแสงและร้องไห้กันเสียงระงมเซ็งแซ่ทั่วไปทั้งพระที่นั่ง

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภานุพันธุวงศ์วรเดช ทรงคุกพระชงฆ์ลงกราบถวายบังคมสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ อัญเชิญเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สืบสนองพระองค์สมเด็จพระชนกาธิราชต่อไป พระบรมวงศานุวงศ์ เสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ก็กราบถวายบังคมทั่วกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเรียกประชุมพร้อมกันในเวลานั้น เพื่อหารือที่จะจัดการสรงน้ำพระบรมศพ และเชิญไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพรุ่งนี้ และออกประกาศข่าวการสวรรคต และอื่นๆ

ในระหว่างที่ประชุมกันอยู่นี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิ์ฯ และข้าพเจ้า พร้อมกับ เจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี (เพิ่ม ไกรฤกษ์) เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น นรพัลลภ) ขึ้นไปกราบถวายบังคม แล้วได้ฉลองพระเดชพระคุณ ช่วยกันเชิญพระองค์เลื่อนขึ้นไปหนุนพระเขนย จัดตกแต่งพระเขนย และผ้าลาดพระที่ ทั้งจัดแต่งพระองค์ให้เรียบร้อย แล้วพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิ์ฯ กับข้าพเจ้าถวายพระภูษา คลุมพระบรรทมคนละข้าง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ประทับเป็นประธานอยู่ด้วย ครั้นจัดเรียบร้อยปิดพระวิสูตรแล้วกราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่าง พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เพิ่งเสร็จการประชุม และกลับไปเมื่อจวนสว่าง ในคืนนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ประทับแรมอยู่ที่ห้องพระบรรทมขาว พระที่นั่งอัมพรสถาน มีตำรวจหลวงและทหารมหาดเล็กล้อมวงรักษาการ ตามราชประเพณีตลอดคืน

วันอาทิตย์ ที่ ๒๓ ตุลาคม เวลาเช้า ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปเฝ้ากราบถวายบังคมพระบรมศพอีกครั้งหนึ่ง พร้อมด้วยเจ้าหมื่นสรรพเพธภักดี เจ้าหมื่นเสมอใจราช และหลวงศักดิ์นายเวร (ม.ร.ว. ลภ อรุณวงศ์) พร้อมกันเชิญพระบรมศพจากพระแท่นที่พระบรรทม ไปประทับพระแท่นสำหรับสรง แล้วรื้อพระแท่นที่พระบรรทมออก สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวี ประทับเป็นประธาน ในการถวายน้ำสรงพระบรมศพเป็นส่วนฝ่ายใน ครั้นแล้วจึงเชิญพระบรมศพขึ้นพระแท่นที่จัดไว้ใหม่สำหรับพระเกียรติยศ เพื่อถวายน้ำสรงพระบรมศพ เป็นพระราชพิธีตอนบ่าย

ในเวลานี้ข้าพเจ้าได้กราบถวายบังคมที่พระบาทยุคลถวายน้ำหอมสรงพระบาท และซับพระบาทด้วยผ้าเช็ดหน้า ไว้เป็นที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเป็นที่สักการบูชา ได้พิศดูพระพักตร์ในเวลานี้เหมือนกำลังบรรทมหลับ พระพักตร์ยิ้มน้อยๆ ดูสง่างามเหลือเกิน กระทำให้ตื้นตันใจ ต้องร้องไห้ด้วยความอาลัยเศร้าทวียิ่งขึ้น มิใคร่จะจากพระบาทยุคลไปได้เลย ได้ทำหน้าที่ไปพลางร้องไห้คร่ำครวญไปพลางจนแล้วเสร็จ กราบถวายบังคมลากลับลงไปข้างล่าง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๖ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระชนมายุ ๕๘ พรรษา ดำรงสิริราชสมบัติมาได้ ๔๓ พรรษา


...............................................................................................................................................




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2550   
Last Update : 29 ตุลาคม 2550 13:38:01 น.   
Counter : 3007 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com