กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ว่าด้วยมูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยาม





พระปฐมเจดีย์



....................................................................................................................................................


มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยาม


๑. เมื่อข้าพเจ้ามาแสดงปาฐกถาในสมัคยาจารย์สถานคราวก่อน ได้แสดงลักษณะการปกครองไทยแต่โบราณ ปาฐกถานั้นข้างตอนท้ายกล่าวถึงประเพณีการปกครองคณะสงฆ์ ข้าพเจ้าได้คิดใคร่จะแสดงถึงเรื่องสร้างวัดด้วย แต่ในเวลานั้นยังไม่สะดวกใจ ด้วยข้อสงสัยในมูลแห่งการสร้าววัดอยู่บางข้อ คิดค้นหาอธิบายยังไม่ได้ จึงต้องระงับไว้ ครั้นถึงฤดูแล้งเมื่อตอนปลายปีที่ล่วงมา ข้าพเจ้าได้มีโอกาสขึ้นไปถึงเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย อีกครั้งหนึ่งนับว่าเป็นครั้งที่ ๓ ไปคราวนี้ประจวบเวลาเขาถางที่โบราณสถานต่างๆไว้อย่างเกลี้ยงเกลา ตั้งแต่เตรียมรับเสด็จฯ อาจตรวจตราพิจารณาดูได้ถนัดกว่าเมื่อไปแต่หนหลัง เป็นเหตุให้เข้าใจว่าได้ความรู้ข้อซึ่งสงสัยอยู่แต่ก่อน พอจะประกอบอธิบายมูลเหตุการสร้างวัดในประเทศไทยได้ตลอดเรื่อง คิดว่าจะแต่งวหนังสือเรื่องนี้เสนอต่อเพื่อนนักเรียนโบราณคดี ก็พอพระองค์เจ้าธานีนิวัติเสด็จมาชวนข้าพเจ้าให้แสดงปาฐกถาที่สามัคยาจารย์ในปีนี้อีก เห็นเป็นโอกาสอันสมควรจึงได้นำเรื่องสร้างวัดในประเทศไทยมาแสดงเป็นปาฐกถาให้ท่านทั้งหลายฟังในวันนี้


๒. ตามตำนานของพระพุทธศาสนา ว่าในสมัยพุทธกาล เมื่อสมเด็จพระสักยมุนีศรีสรรเพชญ์พุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนา แล้วทรงสั่งสอนเวไนยสัตว์ในมัชฌิมประเทศอยู่นั้น ผู้ที่ถือพระพุทธศาสนานับถือวัตุทั้ง ๓ ว่าเป็นหลักของพระศาสนา คือ พระพุทธเจ้า ๑ พระธรรม ๑ และพระสงฆ์ ๑ เพราะวัตถุทั้ง ๓ นี้ประกอบกัน ถ้าขาดแต่อย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่มีพระพุทธศาสนาได้ พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมนำมาสั่งสอนแก่คนทั้งหลาย ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้าก็ไม่มีใครพบพระธรรม หรือแม้ในปัจจุบันนี้ถ้าพากันลืมพระพุทธเจ้าเสีย พระธรรมก็จะตกต่ำไม่เป็นศาสนา ถ้าไม่มีพระธรรม พระพุทธเจ้าก็ไม่มีขึ้นได้ หรือแม้ในปัจจุบันนี้ถ้าพากันเลิกนับถือพระธรรมเสีย พุทธเจดีย์ทั้งหลายก็จะกลายเป็นอย่างศาลเจ้า พระสงฆ์ก็จะผิดกับบุคคลสามัญเพียงนุ่งห่มผ้าเหลือ หาเป็นศาสนาไม่ ถ้าขาดพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมก็จะได้ประโยชน์แต่พระองค์ ไม่สามารถจะประกาศตั้งศาสนาให้เป็นประโยชน์แก่เวไนยสัตว์ทั้งหลาย หรือถ้าว่าอย่างทุกวันนี้ ถ้าไม่มีพระสงฆ์รักษาพระศาสนาสืบมาแล้ว ชาวเราก็จะหารู้จักพระพุทธศาสนาไม่ วัตถุทั้ง ๓ อาศัยกันดังกล่าวมา จึงเรียกรวมกันว่า "พระไตรสรณคมณ์" แปลว่าวัตถุที่ควรระลึกถึง ๓ อย่าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "พระรัตนตรัย" แปลว่าดวงแก้วทั้ง ๓ เพราะเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังอธิบายมา


๓. ก็แต่วัตถุทั้ง ๓ นั้นมีสถาพผิดกัน พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพานแล้วไม่มีบุคคลผู้อื่นจะเป็นแทนได้ พระธรรมนั้นเล่าถ้าไม่มีผู้ศึกษาทรงจำไว้ได้ก็เป็นอันตรธานไป ส่วนพระสงฆ์นั้นก็คงอยู่มาได้ด้วยมีผู้บวชสืบสมณวงศ์ต่อมา เพราะสภาพต่างกันอย่างว่ามานี้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน จึงเกิดมีเจดีย์วัตถุในพระพุทธศาสนาสำหรับสักการบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้าขึ้นก่อน พุทธเจดีย์มีหลายอย่าง จะกล่าวแต่ที่เป็นตัวมูลเหตุแห่งการสร้างวัด คือตามประเพณีอันมีมาในอินเดียตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ถ้าผู้ทรงคุณธรรมในศาสนาถึงมรณภาพลง เมื่อเผาแล้วย่อมเก็บอัฐิธาตุบรรจุไว้ในสถูป (ที่เรามักเรียกกันว่า พระเจดีย์) สร้างขึ้นตามกำลังของเจ้าภาพ มีตั้งแต่เพียงเป็นกองดินขึ้นไปจนถึงสร้างเป็นปึกแผ่นแน่นหนาโดยประณีตบรรจง

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าพระนิพพาน ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว กษัตริย์และพราหมณ์อันเป็นเจ้าเมืองต่างๆ ซึ่งนับถือพระพุทธเจ้าขอแบ่งพระบรมธาตุไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ให้มหาชนในเมืองขอตนสักการบูชา ๘ แห่งด้วยกัน ครั้งต่อมาเมื่อถึงสมัยพระเจ้าอโศกได้เป็นพระเจ้าราชาธิราช ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองแพร่หลายในอินเดียตลอดจนถึงนานาประเทศ พระเจ้าอโศกมหาราชให้รวบรวมพระบรมธาตุมาจากที่ซึ่งบรรจุไว้แต่เดิมเอามาแบ่งเป็นส่วนละน้อยๆ แจกประทานให้สร้างพระสถูปบรรจุไว้เป็นที่สักการบูชาตามบรรดาบ้านเมืองและประเทศที่นับถือพุทธศาสนา ในตำนานกล่าวว่าถึง ๘๔,๐๐๐ แห่ง ซึ่งควรสันนิษฐานแต่ว่ามากจนนับไม่ถ้วนว่ากี่แห่ง และพึงสันนิษฐานได้ต่อไป ว่าเมื่อเกิดมีพระเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้น ณ ที่แห่งใด ที่แห่งนั้นพวกพุทธศาสนิกชนก็ย่อมพากันไปสักการบูชา และช่วยกันพิทักษ์รักษาอยู่เนืองนิจ ทั้งมีผู้เลื่อมใสศรัทธาก่อสร้างเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มพูนขึ้นตามกำลังของประชุมชน ณ ที่แห่งนั้นๆ จึงเริ่มเกิดวัดขึ้น ณ ที่ต่างๆด้วยประการฉะนี้ วัดชั้นเก่าที่สุดที่ปรากฏในประเทศไทยนี้ เช่นพระปฐมเจดีนย์เป็นต้นก็เกิดขึ้นโดยปริยายอย่างแสดงมา

ส่วนประวัติของพระธรรมนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์พุทธสาวกที่เป็นผู้ใหญ่ชวนกันประชุมทำการ "สังคายนา" รวบรวมร้อยกรองพระวินัยและพระธรรมซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติตรัสสอน ท่องบ่นทรงจำไว้แล้วสั่งสอนสานุศิษย์ให้ทรงจำต่อกันมา ก็แต่การรักษาพระธรรมนั้น เพราะชั้นเดิมใช้วิธีท่องจำมิได้จดลงเป็นตัวอักษร ท่านผู้เป็นพุทธสาวกที่ได้เคยฟังพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนย่อมเข้าใจพระบรมพุทธาธิบายอยู่ การท่องจำและการสวดสาธยายพระธรรมวินัย เป็นแต่เหมือนอย่างจำหัวข้อไว้มิให้ลืม

ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อท่านผู้เคยเป็นพุทธสาวกหมดตัวไป พระสงฆ์ชั้นสานุศิษย์ได้เป็นคณาจารย์สั่งสอนสืบต่อกันหลายชั่วบุรุษมา ความเข้าใจในอธิบายพระธรรมวินัยก็เกิดแตกต่างกัน ได้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง ความเห็นก็ไม่ปรองดองกันได้ พระสงฆ์ในอินเดียจึงเกิดถือคติต่างกันเป็น ๒ จำพวก คติพวกหนึ่งได้นามว่า "เถรวาท" คือถือลัทธิแต่ที่เชื่อว่าพระเถรผู้เป็นพุทธสาวกได้ทำสังคายนาเมื่อครั้งแรก ไม่ยอมถืออธิบายของคณาจารย์ในชั้นหลัง คติของแกจำพวกหนึ่งได้นามว่า "อาจริยวาท" คือถือทั้งลัทธิเดิมและอธิบายของอาจารย์ ด้วยพระสงฆ์จำพวกหลังมีหลายคณะจำนวนมากกว่าพวกก่อน จึงได้นามว่า "มหาสังฆิกะ" อีกอย่างหนึ่ง

เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนานั้น ทรงเลื่อมใสพระสงฆ์ที่ถือลัทธิเถรวาท มีพระราชประสงค์จะกำจัดพวกถือลัทธิอาจริยวาทเสีย แต่จำกัดไม่ได้หมดด้วยมีมากนัก พระเจ้าอโศกจึงให้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัย ตามลัทธิเถรวาทอีกครั้ง ๑ นับเป็นครั้งที่ ๓ ซึ่งพระสงฆ์ท่องบ่นทรงจำไว้ในภาษาบาลี ครั้นเมื่อล่วงรัชสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชมาประมาณ ๖๐๐ ปี มีพระเจ้าแผ่นดินครองคันธารราฐข้างฝ่ายเหนือแห่งประเทศอินเดีย ทรงพระนามว่าพระเจ้ากนิษกะได้เป็นพระเจ้าราชาธิราช และอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนาคล้ายกับพระเจ้าอโศกมมหาราช แต่ไปทรงเลื่อมใสพระงสฆ์ซึ่งถือลัทธิอาจริยวาท ให้ชุมนุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยอีกครั้ง ๑ แล้วให้แปลงพระธรรมวินัยจากภาษาบาลีเป็นภาษาสันสกฤต

ด้วยการถือพระพุทธศาสนาในอินเดียจึงแยกกันเป็น ๒ ลัทธิเด็ดขาดแต่นั้นมา ลัทธิซึ่งเกิดขึ้นทางฝ่ายเหนือได้นามว่า "มหายาน" ถือตามคติอาจริยวาท และรักษาพระธรรมวินัยไว้เป็นภาษาสันสกฤต ลัทธิเดิมซึ่งเกิดขึ้นข้างฝ่ายใต้ได้นามว่า "สาวกยาน" หรือ "หินยาน" ถือลัทธิอย่างครั้งพระเจ้าอโศก และคงรักษาพระธรรมวินัยในภาษาบาลี ครั้นต่อมาพระสงฆ์ทั้ง ๒ จำพวกต่างเขียนพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษรจัดเป็น ๓ ปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร และพระปรมัตถ์ เรียกรวมกันว่า "พระไตรปิฎก" มีทั้งภาษาสันสกฤต และภาษาบาลีสืบมา

ส่วนประวัติพระสงฆ์ เมื่อครั้งพุทธกาลบรรดาผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ล้วนจะบวชอยู่จนตลอดชีวิตทั้งนั้น ที่ประสงค์จะออกบวชแต่ชั่วคราวหามีไม่ การที่สึกลาพรตในชั้นพุทธกาลล้วนแต่เกิดเหตุให้จำเป็น นานๆจึงมีสักครั้งหนึ่ง วัตตปฏิบัติของพระสงฆ์ในครั้งพุทธกาลนั้นก็อนุวัติตามพุทธประเพณี คือไม่อยู่ประจำ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ในฤดูแล้งเวลาเดินทางได้สะดวกก็ชวนกันแยกย้ายไปเที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามบ้านเมืองน้อยใหญ่ หรือมิฉะนั้นก็หลีกไปเที่ยวหาที่สงัด บำเพ็ญวิปัสสนาญาณชำระจิตของตนให้ผ่องใสพ้นกิเลส ต่อถึงฤดูฝนจะเดินทางไท่ได้สะดวก จึงรวมกันเข้าวัสสาหยุกพักอยู่ในบ้านในเมืองจนกว่าจะถึงฤดูแล้งก็เที่ยวไปใหม่ อาศัยประเพณีเช่นว่ามาจึงมีผู้ศรัทธาถวายที่ "อาราม" (แปลว่าสวน) เช่นที่เรียกว่า "เชตวนาราม" และ "บุพพาราม" เป็นต้น ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์พุทธสาวกสำหรับจะได้ยับยั้งอยู่ในบ้านในเมืองเมื่อฤดูฝน หาเป็นที่อยู่ประจำของพระสงฆ์เหมือนอย่างวัดในประเทศของเราทุกวันนี้ไม่

อันวัดเป็นที่พระสงฆ์อยู่ประจำเกิดมีขึ้นในอินเดียต่อชั้นหลัง ว่าตามโบราณวัตถุที่ตรวจพบ มักสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นในบริเวณมหาพุทธเจดียสถาน ดังเช่นที่ในบริเวณพระธรรมิกะเจดีย์ ณ ตำบลมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ซึ่งเป็นที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนานั้นเป็นต้น หรือมิฉะนั้นก็ทำเป็นที่สำหรับบำเพ็ญสมณธรรมไว้ในถ้ำ เช่นที่ถ้ำแอลลอรา ในแขวงไฮดาระบัดเป็นต้น ในที่เช่นกล่าวมามีรอยรากกุฏิและห้องที่สำนักสงฆ์ปรากฏอยู่เป็นอันมาก ในประเทศไทยนี้ก็ทีคล้ายกัน เช่นที่ลานพระปฐมเจดีย์ ข้าพเจ้าได้ลองขุดเนินดินดูแห่งหนึ่งที่ริมถนนขวาพระ ก็พบรากกุฏิพระสงฆ์แต่โบราณ ถ้ำสำหรับบำเพ็ญสมณธรรมก็มีในประเทศนี้ เช่นที่ถ้ำเขางู จังหวัดราชบุรี และถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ำเขาอกทะลุในจังหวักพัทลุงเป็นต้น

ในอินเดียมีที่พระสงฆ์อยู่รวมกันแต่โบราณอีกอย่างหนึ่ง (เห็นจะเกิดขึ้นเมื่อชั้นเขียนพระไตรปิฎกลงเป็นตัวอักษรแล้ว) เป็นทำนองมหาวิทยาลัยสำหรับเรียนธุระในพระพุทธศาสนา เช่นที่เรียกว่าสำนักนาลันทะ อยู่ในแขวงเมืองปาฏลีบุตรเป็นต้น ถึงกระนั้นก็สันนิษฐายว่าเป็นแต่ที่พระสงฆ์อาศัยสำนักอยู่ชั่วคราวทุกแห่ง ที่จะอยู่ประจำในที่แห่งนั้นตั้งแต่บวช หรือว่ามาจากที่อื่นแล้วเลยอยู่ประจำในที่แห่งนั้นตลอดจนอายุหามีไม่ พระสงฆ์ยังคงถือวัตตปฏิบัติอย่างในครั้งพุทธกาล คือ เที่ยวจาริกไปสอนพระพุทธศาสนา หรือแสวงหาโมกขธรรมไม่อยู่ประจำที่ต่อมาอีกช้านาน


๔. การที่พระพุทธศาสนามาประดิษฐานยังประเทศไทยนี้ มีหลักฐานปรากฎว่ามาหลายคราว ชั้นเดิมประมาณว่าเมื่อพุทธศักราชก่อน ๕๐๐ ปี พวกชาวมัชฌิมประเทศ (คืออินเดียตอนกลาง) ได้เชิญพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างครั้งสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชมาเป็นประถม ความข้อนี้รู้ได้ด้วยภาษาที่จารึกพระธรรม เช่น ปรากฎอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ใช้ภาษาบาลี แต่เจดีย์วัตถุเช่นพระพุทธรูปและพระธรรมจักรก็เป็นแบบอย่างในมคธราฐอันเป็นที่ตั้งลัทธินั้นต่อมาเมื่อเกิดลัทธิมหายานขึ้นในคันธารราฐเมื่อครั้งพระเจ้ากนิษกะ แล้วเจริญแพร่หลายในอินเดียเมื่อราว พ.ศง ๙๔๒ ก็มีชาวอินเดียเชิญพระพุทธศาสนาอย่างลัทธิมหายานมาสั่งสอนทางประเทศเหล่านี้ มีหลักฐานปรากฎว่า ลัทธิมหายานเข้ามาสู่ประเทศไทย ๒ ทาง คือ มาจากกรุงกัมพูชาทาง ๑ มาจากกรุงศรีวิชัยในเกาะสมาตราแผ่มาเมืองนครศรีธรรมราชทาง ๑ ข้อที่กล่าวนี้มีจารึกพระธรรมเป็นภาษาสันสกฤตและรูปโพธิสัตว์ ซึ่งเกิดขึ้นลัทธิมหายานปรากฏอยู่เป็นหลักฐาน ชาวประเทศไทยดูเหมือนจะนับถือทั้ง ๒ ลัทธิด้วยกัน หรือนับถือลัทธิมหายานเป็นสำคัญยิ่งกว่าลัทธิหินยานซึ่งมาก่อนอยู่ช้านานหลายร้อยปี ข้อนี้มีหลักฐานที่พุทธเจดีย์ต่างๆซึ่งสร้างในประเทศนี้เมื่อสมัยที่กล่าวมา สร้างตามคติมหายานแทบทั้งนั้น พระธรรมก็ใช้อรรถภาษาสันสกฤตจนแพร่หลาย

ครั้นถึงสมัยเมื่อพระพุทธศานาที่ในอินเดียเสื่อมทรามลง ด้วยแผ่นดินตกอยู่ในอำนาจพวกถือศาสนาอื่น นานาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาก็เริ่มขาดการคมนาคมในกิจศาสนากับประเทศอินเดียซึ่งเป็นครูเดิม ใช่แต่เท่านั้น เหล่าประเทศทางตะวันออกอันตั้งอยู่ริมทะเล ตั้งแต่แหลมมลายูข้างตอนใต้จนเกาะสุมาตรา เกาะชวา ตลอดจนเมืองจามซึ่งเคยถือพระพุทธศาสนามาแต่ก่อน ก็ถูกพวกแขกอาหรับมาบังคับให้ไปเข้ารีตนับถือศาสนาอิสลามเสียโดยมาก ประเทศที่ถือพระพุทธศาสนาในแถวนี้จึงยังเหลืออยู่แต่ประเทศลังกา พม่า มอญ ถือลัทธิอย่างหินยาน ส่วนประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาถือลัทธิอย่างมหายาน ต่างพวกต่างถือมาตามลำพังตน มาจนราว พ.ศ. ๑๖๙๖ พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชได้ครองประเทศลังกา ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ให้ประชุมพระสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยเฟื่องฟูขึ้น เกียรติคุณอันนั้นเลื่องลือมาถึงประเทศทางนี้ มีพระภิกษุสงฆ์ทั้งเขมร ไทย มอญ พม่า พากันไปศึกษาพระศาสนาในลังกาทวีป แล้วบวชแปลงเป็นลังกาวงศ์ นำลัทธิหินยานอย่างลังกามาประดิษฐานยังประเทศเดิมของตน เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๐๐ แต่นั้นมาประเทศไทยและกัมพูชาก็นับถือพระพุทธศษสนาอย่างลัทธิหินยานลังกาวงศ์ กลับใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นหลักพระธรรมวินัยสืบมาจนทุกวันนี้


๕. ได้กล่าวถึงตำนานการที่พระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศไทย ที่นี้จะว่าถึงเรื่องวัดในประเทศไทยต่อไป มีความสำคัญข้อ ๑ ซึ่งผู้แต่งหนังสือแต่โบราณมิใคร่จะเอาใจใส่ คือข้อที่มนุษย์พูดภาษาผิดกัน หนังสือที่แต่งแต่โบราณมักจะสมมติว่ามนุษย์ แม้จะต่างชาติต่างเมืองกันก็พูดจาเข้าใจกันได้ จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่นเรื่องตำนานว่าด้วยการที่พระพุทธศาสนามาประดิษฐานในประเทศนี้ดังปรากฎอยู่ในหนังสือเรื่องศาสนวงศ์ กล่าวว่าเมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชให้เที่ยวสั่งสอนพระพุทธศาสนาตามนานาประเทศนั้น ทรงอาราธนาให้พระเถระ ๒ องค์ ชื่อว่า พระโสณะองค์ ๑ พระอุตตระองค์ ๑ มาสอนพระศาสนาทางประเทศเหล่านี้ พระเถระ ๒ องค์นั้น เมื่อมาถึงมาแสดงพรหมชาลสูตรแก่ชาวประเทศนี้ ก็พากันเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ข้อนี้เมื่อมาคิดดูว่าพระมหาเถระทั้ง ๒ ท่านเป็นชาวอินเดีย (อุปมาเหมือนอย่างแขกแรกเข้ามายังพูดภาษาไทยไม่ได้) จะมาแสดงเทศนาแก่ชาวประเทศนี้ด้วยภาษาอันใด คิดดูเท่านี้ก็จะเห็นได้ว่าเรื่องเช่นกล่าวในหนังสือศาสนวงศ์ไม่เป็นแก่นสาร

ก็แต่หลักฐานมีอยู่อีกฝ่าย ๑ ด้วยโบราณวัตถุมีอยู่เป็นหลักฐาน ว่าชาวอินเดียได้มาสอนพระพุทธศาสนาในประเทศนี้ แต่ในกาลใกล้ต่อสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เช่นปรากฎอยู่ที่พระปฐมเจดีย์ดังกล่าวแล้ว จึงน่าสันนิษฐานว่าเมื่อก่อนรัชสมัยของพระเจ้าอโศกนั้นจะมีชาวอินเดียมาตั้งภูมิลำเนา หรือประกอบการค้าขายอยู่ในประเทศไทยนี้มากอยู่แล้ว ทูตที่มาสอนพระพุทธศานาคงมาสอนพวกชาวอินเดียก่อน ด้วยพูดเข้าใจภาษากัน พวกชาวอินเดียเหล่านั้นรู้ภาษาไทย เมื่อเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาแล้วจึงสอนหรือเป็นล่ามในการสอนพระพุทธศาสนาแก่ชาวไทยในสมัยนั้นต่อมา

ครั้นมีพุทธศาสนิกชนขึ้นเป็นอันมากแล้ว จึงไปขอพระบรมธาตุและคณะสงฆ์มาจากอินเดีย แล้วสร้างพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ และผู้ที่มีศรัทธาจะบวชก็ขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระสงฆ์ซึ่งมาจากอินเดีย จึงเกิดวัดและพระสงฆมณฑลขึ้นในประเทศไทยด้วยประการฉะนี้ ชั้นเดิมพระพุทธศาสนาคงจะรุ่งเรืองแต่ที่ในบ้านเมืองก่อน แล้วจึงแผ่ออกไปถึงที่อื่นโดยลำดับด้วยเหตุนี้วัดในชั้นดึกดำบรรพ์ซึ่งยังปรากฎอยู่ จึงมักอยู่ในท้องถิ่นอันเป็นเมืองเก่าและในเมืองอันเคยเป็นราชธานีโดยเฉพาะ ห่างออกไปหาใคร่จะมีไม่ จะยกเป็นอุทาหรณ์ดังเช่นที่เมืองนครปฐม ยอกจากพระปฐมเจดีย์ยังปรากฏวัดซึ่งมีพระเจดีย์ใหญ่ๆสร้างไว้อีกหลายแห่ง ว่าแต่ที่พอจะเห็นได้ง่ายๆในเวลานี้ เช่นวัดพระงาม และวัดพระประโทนเป็นต้น

ข้าพเจ้าได้เคยสงสัยว่า พระปฐมเจดีย์ก็เป็นที่สักการบูชาแทนพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว เหตุใดจึงมีผู้สร้างพระเจดีย์องค์อื่นๆต่อออกไปในที่ใกล้ๆกันแต่เพียงนั้น เมื่อได้ตรวจดูตามเมืองอื่น ประกอบกับอ่านเรื่องตำนานพระพุทธศาสนาในอินเดีย จึงคิดเห็นว่ามูลเหตุที่สร้างวัดเห็นจะมีเป็น ๒ อย่างต่างกันแต่ดึกดำบรรพ์มา คือ อย่าง ๑ สร้างเป็นพุทธเจดีย์ที่บรรจุพระธาตุ ถือว่าเป็นหลักพระพุทธศาสนาในที่แห่งนั้น อีกอย่าง ๑ นั้น คือในเวลาท่านผู้ทรงคุณธรรมในพระศาสนา เช่นชั้นครูบาอาจารย์ที่นับถือกันว่าเป็นบุรุษพิเศษถึงมรณภาพลง เผาศพแล้ว ผู้ที่นับถือก็ช่วยกันก่อสถูปบรรจุอัฐิธาตุตามประเพณีในอินเดีย แต่อุทิศให้เป็นเรือนพระพุทธศาสนาด้วย จึงเกิดมีวัดอื่นๆอยู่ในที่ใกล้ๆกัน วัด ๒ อย่างดังกล่าวมาเป็นต้นของเจตนาในการสร้างวัดชั้นหลังสืบมา จะสมมตเรียกโดยย่อต่อไปในอธิบายว่าวัดพระเจดีย์อย่าง ๑ วัดอนุสาวรีย์อย่าง ๑


๖. วัดในสมัยทวาราวดี คือ เมื่อเมืองนครปฐมเป็นราชธานีของประเทศไทยนั้น ดูเหมือนจะมีแต่พระสถูปเจดีย์เป็นสิ่งสำคัญ บางทีจะมีวิหารสำหรับเป็นที่ประชุมสงฆ์และสัปบุรุษด้วยอีกอย่าง ๑ แต่โบสถ์หาปรากฎว่ามีไม่ เพราะพระสงฆ์ยังมีน้อย การทำสังฆกรรมไม่ขัดข้องด้วยเขตสีมา กุฎีพระก็ดูเหมือนจะมีแต่ที่วัดพระพุทธเจดีย์ แต่พระสงฆ์ก็มิได้อยู่ประจำวัด ยังถือประเพณีอย่างพุทธสาวก เที่ยวสอยพระพุทธศาสนาไปในที่ต่างๆเป็นกิจวัตร์ไม่อยู่ประจำ ณ ที่แห่งใด ข้อนี้ยังมีเค้าเงื่อนสืบมาจนทุกวันนี้ ในใบพระราชทานที่ผูกพัทธสีมาวัดยังมีคำว่าให้เป็นที่ทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ "อันมาแต่จาตุรทิศ" ดังนี้

ถึงสมัยเมื่อชาวประเทศนี้ถือลัทธิมหายาน พิเคราะห์ดูเจดีย์สถานที่สร้างทางฝ่ายตะวันออก เนื่องมาจนตอนกลางประเทศไทย เช่นโบราณวัตถุที่ปรากฎอยู่ ณ เมืองพิมายและเมืองลพบุรีเป็นต้น ได้แบบอย่างมาจากประเทศกัมพูชา พึงเห็นได้เช่นทำพระปรางค์แทนทำพระสถูปเจดีย์ และมักมีพระระเบียงล้อมรอบ โบราณวัตถุที่สร้างทางข้างใต้ เช่นที่เมืองไชยาเก่ามักทำเป็นรูปมณฑป ทำรูปพระเจดีย์เป็นยอดเช่นเดียวกับพวกมหายานสร้างทางเกาะชวา สันนิษฐานว่ามาถึงสมัยชั้นนี้พระบรมธาตุจะหายากกว่าแต่ก่อน ประกอบด้วยเกิดมีพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์สำหรับบูชากันแพร่หลาย จึงเปลี่ยนความนิยมสร้างพระพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุไปเป็นปรางค์และมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและรูปโพธิสัตว์เป็นหลักสำหรับวัด

นอกจากนั้นสังเกตดูไม่เห็นมีอันใดแปลก เป็นต้นว่าโบสถ์ก็ยังไม่มี ด้วยพระสงฆ์ฝ่ายมหายานก็เห็นจะมีจำนวนน้อย เช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่ถือลัทธิหินยานมาแต่ก่อน ถ้าจะผิดกันก็ที่ข้อวัตตปฏิบัติไม่เสื่อมทรามเหมือนพระสงฆ์สัทธิหินยาน จึงเป็นเหตุให้มีผู้คนนับถือมาก แต่มีหลักฐานปรากฏเป็นข้อสำคัญอีกอย่าง ๑ ว่าการที่ถือลัทธิมหายานในประเทศนี้แผ่ขึ้นไปเพียงเมืองสวรรคโลกเป็นที่สุดข้างฝ่ายเหนือ แต่ในมณฑลพายัพหามีเค้าเงื่อนว่าศาสนาลัทธิมหายานได้เคยไปตั้งไม่ คงถือลัทธิหินยานอย่างเดียวกับเมืองมอญ เมืองพม่า มาจึงถึงลัทธิลังกาวงศ์เข้ามาถึง


๗. วัดในประเทศไทยทุกวันนี้ เค้ามูลเกิดขึ้นแต่เมื่อรับพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานอย่างลังกาวงศ์มาถือมีหลายอย่าง อย่าง ๑ คือกลับสร้างพระสถูปที่บรรจุพระบรมธาตุเป็นหลักวัดตามเดิม ด้วยพวกลังกาตั้งตำราพระธาตุ ว่าอาจจะรู้ได้ด้วยลักษณะ และพึงหาได้ในลังกาทวีป เป็นเหตุให้กลับหาพระบรมธาตุได้ง่ายขึ้นก็เกิดนิยมกันแพร่หลาย อีกอย่าง ๑ เกิดมีโบสถ์และมีพัทธสีมา เหตุด้วยพระสงฆ์ก็มีหลายหมู่คณะ และถือลัทธิต่างๆกันเป็นข้อรังเกียจที่จะทำสังฆกรรมร่วมกัน

ตรงนี้จะกล่าวความเป็นอธิยาบแทรกลงด้วยเรื่องสังฆกรรม ซึ่งน่าพิศวงด้วยเป็นอย่างเดียวกับการตั้งสมาคมในปัจจุบันนี้เอง กล่าวคือบรรดาผู้ซึ่งได้รับอุปสมบทเป็นพระภิกษุ นับว่าเป็นสมาชิกในสงฆสมาคม เมื่อจะทำการอันใดในนามของสงฆสมาคมทั่วไป เช่นว่าจะรับผู้สมัครเข้าบวชเป็นพระภิกษุเป็นต้น ก็ต้องประชุมพระสงฆ์ทั้งหมดให้เลือกเหมือนอย่างการเลือกสมาชิกแห่งสมาคมในปัจจุบันนี้ ต่อเห็นชอบพร้อมกันจึงรับได้ สังฆกรรมอย่างอื่นเช่นทำอุโบสถ์ หรือแม้จนรับกฐินก็ต้องประชุมทำนองเดียวกันน

เมื่อมีจำนวนพระภิกษุสงฆ์มากขึ้นตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล จะเรียกมาประชุมพร้อมกันให้ได้หมดเป็นการลำบาก จึงได้เกิดกำหนดสีมาเช่น เอาท้องที่อำเภอหนึ่งเป็นเขต เวลามีการเรียกประชุมก็เรียกแต่พระสงฆ์ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอนั้นประชุมพร้อมกัน พระสงฆ์ที่ไปอยู่ในอำเภออื่นใด ก็ประชุมพร้อมกันในอำเภอนั้นๆ ครั้นพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมีจำนวนพระสงฆ์มากขึ้น ก็ต้องร่นเขตสีมาให้เล็กเข้าเพื่อสะดวกแก่การประชุม จนถึงกำหนดเขตสีมาในวัดอันหนึ่งอันเดียว สร้างโบสถ์เป็นที่ทำสังฆกรรมดังนี้

อีกอย่าง ๑ กลับใช้ประเพณีสร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุผู้ทรงคุณธรรมในศาสนา ทั้งที่เป็นบรรพชิตและต่อออกไปจนถึงคฤหัสที่มีคุณแก่พระศาสนา วัดโบราณในประเทศนี้ซึ่งสร้างในสมัยเมื่อแรกถือลัทธิลังกาวงศ์ก็มีมากอยู่ในที่อันเป็นเมืองใหญ่และเป็นราชธานี นับแต่ข้างเหนือลงมาเช่นเมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย เมืองกำแพงเพชร เมืองลพบุรี พระนครศรีอยุธยา และเมืองนครศรีธรรมราช เหล่านี้เป็นสำคัญ ว่าถึงลักษณะวัดโบราณที่สร้างในสมัยนี้ พิเคราะห์ดูก็เป็นลักษณะเดียวกับอย่างเดิม คือเป็นวัดพุทธเจดีย์อย่าง ๑ วัดอนุสาวรีย์อย่าง ๑ ต่อบางวัดจึงมีโบสถ์ ชั้นแรกมักทำเป็นหลังเล็กๆเหมือนอย่างว่าอาศัยปลูกไว้ในที่ซึ่งไม่กีดขวาง สิ่งสำคัญของวัดมีแต่พระสถูปเจดีย์กับวิหาร วัดเช่นพรรณนามานี้จะพึงเห็นเป็นตัวอย่างได้เป็นอย่างดี ยังมีอยู่ที่วัดพระฝางเมืองสวางคบุรี มีพระสถูปเป็นศูนย์กลาง ข้างหน้ามีพระวิหารหลวงหลังใหญ่ ๙ ห้อง ส่วนโบสถ์นั้นไปสร้างไว้ที่มุมกำแพงข้างหลังวัด เป็นหลังน้อยดูเหมือนพระสงฆ์จะนั่งได้เพียงสัก ๑๐ รูปเป็นอย่างมาก

แต่ต่อมาในสมัยเมื่อกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้นเอง ชอบทำโบสถ์ขยายใหญ่ขึ้น และถือเป็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งที่ในวัด สันนิษฐานว่าจะเป็นเพราะเกิดมีพวกผู้ดีบวชมากขึ้น ญาติโยมใคร่จะเห็นพระสงฆ์ทำอุปสมบทกรรมให้ชื่นใจ หรืออีกอย่างหนึ่งเพราะประเพณีการทอดกฐินถือเป็นสิ่งสำคัญขึ้น ถึงพระเจ้าแผ่นดินเสด็จโดยกระบวนแห่ ดังปรากฎอยู่ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ผู้ที่สร้างและปฏิสังขรณ์วัดจึงถือเอาการสร้างพระอุโบสถเป็นสำคัญขึ้นอีกอย่าง ๑

ยังมีข้อสำคัญในการสร้างวัดเกิดขึ้นในสมัยที่กล่าวนี้ ด้วยเกิดนิยมในฝ่ายคฤหัสถ์ว่าที่บรรจุอัฐิของวงศ์ตระกูลควรจะสร้างเป็นเจดีย์วัตถุอุทิศต่อพระศาสนา เวลาผู้ต้นตระกูลถึงมรณภาพเผาศพแล้วจึงมักสร้างพระสถูปแล้วบรรตุเจดีย์วัตถุ เช่น พระพุทธรูปหรือพระธาตุไว้เบื้องบน ใต้นั้นทำเป็นกรุบรรจุอัฐิธาตุของผู้มรณภาพนั้น และสำหรับบรรจุอัฐิของเชื้อสายในวงศ์ตระกูลต่อมา ข้างหน้าพระสถูปสร้างวิหารไว้หลัง ๑ เป็นที่สำหรับทำบุญ จึงเกิดมีวัดอนุสาวรีย์ขึ้นมากมาย ตั้งแต่ขนาดเล็กๆขึ้นไปจนขนาดใหญ่ตามกำลังของตระกูลที่จะสร้างได้ ส่วนราชตระกูลนั้นสร้างเป็นวัดขนาดใหญ่ และสร้างพระเจดีย์ที่บรรจุเรียงรายไปในวัดเดียนั้นก็มี ที่สร้างเป็นวัดต่างหากก็มี ในวัดจำพวกซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์ดังกล่าวมา ที่ปรากฏอยู่ในเมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยหามีอุโบสถ และหามีที่สำหรับพระสงฆ์อยู่ไม่ ความที่กล่าวข้อนี้มีตัวอย่างซึ่งจะเห็นได้ถนัดดีอยู่ที่กลางเมืองสวรรคโลกเก่ามีวัดหลวงใหญ่ๆสร้างไว้ถึง ๕ วัด มีเขตที่สร้างกุฎีพระสงฆ์อยู่แต่วัดเดียวเท่านั้น ที่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัยมีวัดเล็กๆน้อยๆ ซึ่งสร้างเป็นวัดอนุสาวรีย์มีเรี่ยรายไปตามระยะทางมากกว่ามาก ล้วนมีแต่พระเจดีย์องค์ ๑ กับวิหารหลัง ๑ แทบทุกวัด ความที่กล่าวมานี้เป็นอธิบายแก้สงสัยข้อที่ว่าทำไมคนแต่โบราณจึงสร้างวัดได้มากกว่ามากนัก


๘. มาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คติการถือพระศาสนาก็เหมือนอย่างเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย มีพระอารามหลวงที่สำคัญ คือ วัดพระศรีสรรเพชญ์สร้างขึ้นในบริเวญพระราชวังเหมือนอย่างวัดมหาธาตุที่เมืองสุโขทัย เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุของพระเจ้าแผ่นดินและเจ้านายในราชสกุล และมีวัดอื่นทั้งของหลวงและของราษฎร์สร้างไว้อีกมากมาย จนเป็นคำกล่าวกันในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ว่า "เมื่อครั้งบ้านเมืองดีเขาสร้างวัดให้ลูกเล่น" ที่จริงนั้นคือใครตั้งวงศ์สกุลได้เป็นหลักฐานก็สร้างวัดเป็นอนุสาวรีย์สำหรับบรรจุอัฐิธาตุของวงศ์สกุล มักสร้างเจดีย์ขนาดเขื่อง ๒ องค์ไว้ข้างหน้าโบสถ์ เป็นที่บรรจุอัฐิธาตุ หรืออุทิศต่อบิดาองค์ ๑ มารดาองค์ ๑ ส่วนสมาชิกในสกุลนั้นเมื่อใครตายลง เผาศพแล้วก็สร้างสถูปเจดีย์ขนาดย่อมลงมาเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุรายไปรอบโบสถ์ เรียกกันว่าพระเจดีย์ราย ครั้นถึงเวลานักขัตฤกษ์ เช่นตรุษสงกรานต์ ก็พากันออกไปทำบุญให้ทานอุทิศเปตพลีที่วัดของสกุล พวกชั้นเด็กๆได้โอกาสออกไปด้วย ก็ไปวิ่งเล่นในลานวัด เมื่อเวลานักขัตฤกษ์เช่นนั้น จึงเกิดคำที่กล่าวว่าสร้างวัดให้ลูกเล่น

แต่การสร้างวัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาสังเกตดูเห็นว่า ผิดกับเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยบางอย่าง คือ อย่าง ๑ ในบรรดาวัดดูเหมือนจะมีโบสถ์แทบทั้งนั้น เพราะในสมัยกรุงศรีอยุธยาการที่บวชเรียนมาถือเป็นประเพณีว่าผู้ชายทุกคนควรจะต้องบวช เป็นเหตุให้มีจำนวนพระสงฆ์มากมายขึ้นหลายเท่า จึงต้องมีโบสถ์และกุฎีที่พระสงฆ์อยู่ตามวัดโดยมาก อีกอย่าง ๑ นั้น ในเรื่องบรรจุอัฐิวงศ์สกุลมักสร้างเป็นสถูปเจดีย์รายในลานวัดดังกล่าวมาแล้ว แทนบรรจุรวมกันในกรุใต้พระเจดีย์ใหญ่อย่างสุโขทัย อีกประการ ๑ เมื่อประเพณีที่บวชเรียนแพร่หลายย่อมมีผู้บวชชั่วคราวโดยมาก ถือเอาการศึกษาเป็นสำคัญของการที่บวช การเล่าเรียนจึงเจริญขึ้นตามวัด วัดจึงได้เป็นที่ศึกษาสถาน ผู้ปกครองมักพาเด็กไปฝากเพื่อให้เล่าเรียนทำนองเดียวกับโรงเรียนประชาบาลทุกวันนี้


๙. มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในเรื่องราวสร้างวัดศาสนาก็ถือตามแบบครั้งกรุงศรีอยุธยาต่อมา แต่มามีข้อสำคัญที่แปลกเปลี่ยนบางอย่าง เป็นต้นว่ากรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้นในมัยเมื่อพม่าทำลายกรุงศรีอยุธยาราชธานีเดิมและบ้านเมืองเป็นจลาจล พึงพยายามก่อร่างสร้างตัวขึ้นใหม่ ได้ยินว่าท่านผู้เป็นบุพการีของเราทั้งหลาย ปรารภถึงภัยอันตรายซึ่งอาจมีแก่บ้านเมืองในเวลาเมื่อยังตั้งไม่ได้มั่นคง จึงงดประเพณีที่บรรจุอัฐิไว้ในวัดเสียชั่วคราว มักรักษาอัฐิวงศ์สกุลไว้ที่บ้านเรือน ยังเป็นประเพณีอยู่แพร่หลายจนทุกวันนี้ การที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ก็มีน้อยลง เพราะเหตุนั้นแม้วัดหลวงในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงสร้างวัดขึ้นใหม่แต่ ๒ วัด คือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างพร้อมกับกรุงรัตนโกสินทร์วัด ๑ ถึงปลายรัชกาลทรงเริ่มสร้างวัดสุทัศน์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ใหญ่ซึ่งเชิญลงมาจากเมืองสุโขทัยอีกวัด ๑

นอกจากนั้นบรรดาวัดที่ทรงสร้างในรัชกาลที่ ๑ เช่นวัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดสุวรรณารามเป็นต้น และวัดที่พระมหาอุปราชทรงสร้างเช่น วัดมหาธาตุ วัดชนะสงครามเป็นต้น แม้จนวัดที่ผู้อื่นสร้างเช่นวัดราษฎร์บูรณะนี้ ที่โปรดฯให้เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษทรงสร้าง ก็บูรณะวัดเก่าที่มีมาแล้วแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงสร้างวัดอรุณฯก็เป็นวัดเก่าที่มีมาแล้ว ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุดหนุนในการสร้างวัดมาก ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้กรุงรัตนโกสินทร์รุ่งเรืองอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมักเรียกกันว่า "ครั้งบ้านเมืองดี" แต่เมื่อพิเคราะห์ดูก็เป็นการปฏิสังขรณ์วัดเก่ามากกว่าที่สร้างขึ้นใหม่ การสร้างวัดขึ้นใหม่ถือกันว่าต่อมีเหตุจำเป็นจึงสร้าง จำนวนวัดที่ในกรุงรัตนโกสินทร์จึงน้อยกว่าราชธานีแต่ก่อน


๑๐. วัดที่สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็คงเป็น ๒ อย่างดังกล่าวมาข้างต้น คือสร้างเป็นวัดพุทธเจดีย์อย่าง ๑ แต่ลักษณะวัดที่สร้างในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถ้าเป็นวัดภายนอกพระราชวังย่อมมีพระสงฆ์อยู่ทั้งนั้น วัดพุทธเจดีย์ซึ่งสร้างขึ้นตามตำบลบ้ารที่ตั้งใหม่ เมื่อราษฎรปรารภกันจะใคร่มีวัดก็มักไปเที่ยวเลือกหาพระภิกษุแล้วอาราธนามาให้อำนวยการสร้างวัด จึงมักเริ่มสร้างกุฎีพระสงฆ์อยู่ก่อน แล้วสร้างศาลาการเปรียญเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป และให้ราษฎรประชุมกันฟังเทศน์ทำบุญในแห่งเดียวกันนั้น ต่อมาจึงสร้างสิ่งอื่นๆขึ้นตามกำลังเป็นลำดับมา โบสถ์มักสร้างต่อภายหลังสิ่งอื่น เว้นแต่เป็นวัดอนุสาวรีย์ซึ่งผู้มีทรัพย์สร้างจึงคิดสร้างโบสถ์ขึ้นแต่แรก ส่วนพระสถูปเจดีย์และวิหารซึ่งตามโบราณถือว่า เป็นหลักของการสร้างวัดนั้น ชั้นหลังมาหาถือว่าจำเป็นจะต้องสร้างไม่ น่าจะเป็นเพราะคิดเห็นว่าพระสถูปเจดีย์สร้างไว้แต่โบราณก็มีอยู่มากมายหลายแห่ง (แทบเหลือกำลังที่จะรักษา) อยู่แล้ว ส่วนวิหารอันแบบเดิมเป็นที่สำหรับประชุมทำบุญ เมื่อมาใช้ศาลาการเปรียญแทนก็หาจำเป็นจะสร้างวิหารไม่ แต่กิจที่จะสร้างพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุอัฐิบุคคลที่ตายยังมีอยู่ จึงมักสร้างเป็นแต่พระเจดีย์ราย ถึงกระนั้นก็สร้างน้อยลง ด้วยมักรักษาอัฐิไว้ที่บ้านเรือนดังกล่าวมาแล้ว


๑๑. ประเพณีการสร้างวัดดูประหลาดอยู่อย่าง ๑ คือที่วัดทั้งปวงมักไม่มีชื่อ เว้นแต่ที่เป็นพระอารามหลวง คำที่เรียกเป็นชื่อวัดมักเกิดจกคำคนทั้งหลายสมมติ เรียกตามนามตำบล เช่นว่า "วัดบางลำภู" หรือ "วัดปากน้ำ" เป็นต้นอย่าง ๑ หรือเรียกนามตามสิ่งสำคัญซึ่งมีอยู่ในวัด เช่นว่า "วัดโพธิ์" หรือ "วัดโบสถ์" เป็นต้นอย่าง ๑ เรียกตามนามของผู้สร้าง เช่นว่า "วัดพระยาไกร" หรือ "วัดจางวางพ่วง" เป็นต้นอย่าง ๑ เมื่อพิเคราะห์ดูก็ชอบกล แม้วัดที่ปรากฎชื่อในพุทธกาลก็ดูเหมือนจะเป็นชื่อตามที่คนทั้งหลายเรียก เช่นคำบาลีว่า เชตวัน เวฬุวัน อัมพวัน อโศการาม ปุปผาราม เหล่านี้ ถ้าเป็นในเมืองไทยก็คงเรียกว่า ป่า(เจ้า)เชต ป่าไผ่ ป่ามะม่วง สวน(อ)โศก สวนดอก(ไม้) ดังนี้ ว่าเฉพาะประเทศไทยนี้ พิเคราะห์ดูเหตุที่ไม่ตั้งชื่อวัดสันนิษฐานว่าเห็นจะเกิดแต่ไม่มีความจำเป็น คือเมื่อราษฎรไปรวบรวมกันตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นหลักแหล่งในตำบลใด แล้วชวนกันสร้างวัดขึ้น คนในตำบลนั้นก็คงเรียกเรียกกันว่า "วัด" เพราะมีวัดเดียวย่อมเข้าใจได้ แต่เมื่อวัดตำบลอื่น ก็จำต้องเอาชื่อตำบลเพิ่มเข้าด้วย เช่นเรียกวัดที่บางยี่เรือว่า "วัดบางยี่เรือ" จึงจะเข้าใจได้ อันนี้เป็นมูลที่จะเรียกวัดตามนามตำบล

ถ้าในตำบลอันเดียวกัน มีผู้สร้างวัดเพิ่มขึ้นเป็น ๒ วัด หรือ ๓ วัด ความจำเป็นจะต้องเรียกชื่อให้ผิดกันเกิดมีขึ้น ก็มักเรียกวัดซึ่งสร้างทีหลังว่า "วัดใหม่" บ้าง หรือมิฉะนั้นก็เรียกว่า "วัดเหนือแลวัดใต้" บ้าง ถ้าวัดใหม่ยังมีขึ้นอีกก็หาคำอื่นเรียกชื่อให้แปลกออกไป เอาสิ่งสำคัญอันมีในวัดนั้น เช่นต้นโพธิ์หรือโบสถ์ เรียกเป็นนามวัด "วัด(ต้น)โพธิ์" หรือ "วัดโบสถ์" ฉะนี้บ้าง มิฉะนั้นก็เอาชื่อผู้สร้างเติมลงไปเช่ยเรียกว่า "วัดใหม่เจ้าขรัวหง" และวัดใหม่พระพิเรนทร์" ดังนี้บ้าง ครั้นนามมาทิ้งคำต้นเสีย คงเรียกแต่คำปลายเป็นนามวัดเช่นเรียกว่า "วัดหงส์" และ "วัดพิเรนทร์" ดังนี้มีเป็นตัวอย่าง มีบางวัดก็ให้ชื่อวัดโดยอาศัยเหตุอื่น พระมักเป็นผู้ให้ เช่ยเรียกว่า "วัดช่องลม" และ "วัดสว่างอารมณ์" เป็นต้น

วัดหลวงแต่โบราณจะขนานนามโดยอาศัยหลักฐานอย่างใดบ้างทราบไม่ได้ ด้วยวัดใหญ่ๆในเมืองสวรรคโลก สุโขทัยก็ดี ในพระนครศรีอยุธยาก็ดีเป็นวัดร้างมาเสียช้านาน ราษฎรเรียกชื่อตามใจชอบ จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่นวัดที่มีพระปรางค์เป็นหลักอยู่เมืองสวรรคโลก(เก่า) ราษฎรเรียกว่า "วัดน้อย" หากพบนามในจารึกของพระเจ้ารามกำแหงมหาราชจึงได้ทราบว่าเดิมเรียกว่า "วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองเชลียง" ดังนี้ ยังมีวัดสำคัญอยู่ที่กลางเมืองสวรรคโลกเก่าอีก ๒ วัด วัด ๑ มีเรื่องตำนานปรากฏอยู่ในจารึกของพระเจ้ารามกำแหงมหาราช ว่าทรงสร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ทมี่กลางพระนคร แต่ทุกวันนี้ราษฎรเรียกชื่อว่า "วัดช้างล้อม" เพราะมีรูปช้างรายรอบพระสถูป อีกวัด ๑ อยู่ใกล้กัน มีพระเจดีย์ใหญ่น้อยมากมายหลายองค์ คงเป็นที่บรรจุพระอัฐิธาตุราชวงศ์พระร่วง แต่ราษฎรเรียกกันว่า "วัดเจดีย์เจ็ดแถว" พึงเห็นได้ว่าคงมีนานขนานทั้ง ๒ วัดแต่ศูนย์เสียแล้ว ถึงวัดในพระนครศรีอยุยาก็เป็นทำนองเดียวกัน แต่ยังมีจดหมายเหตุพอรู้นามเดิมได้มากกว่า พิเคราะห์ดูเกณฑ์ที่จะขนานนามวัดหลวงดูเหมือนจะเอาสิ่งสำคัญซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดนั้นเป็นนามอย่าง ๑ เช่น "วัดมหาธาตุ" เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุ "วัดพระศรีสรรเพชญ์" "วัดมงคลบพิตร" เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงพระนามอย่างนั้นเป็นตัวอย่าง

อีกอย่าง ๑ ใช้นามผู้สร้างหรือสร้างอุทิศต่อผู้ใดใช้นามผู้นั้นเป็นนามวัด เช่น วัดราษฎรบูรณะ วัดราษฎร์ประดิษฐาน วัดพระราม วัดวรเชษฐาราม เป็นตัวอย่าง อีกอย่าง ๑ เอาเหตุการณ์อันเป็นศุภนิมิตใช้เป็นชื่อวัด เช่น วัด(ใหญ่)ชัยมงคล วัดชัยวัฒนาราม วัดชุมพลนิกายาราม วัดชนะสงคราม เป็นตัวอย่าง เกณฑ์อีกอย่าง ๑ นั้น มักเอาชื่อวัดสำคัญอันเคยมีแต่โบราณมาใช้ เช่น วัดเชตุพน วัดมเหยงคณ์ วัดจักรวรรดิ์ วัดระฆัง วัดสระเกศ เป็นตัวอย่าง ที่เรียกวัดหลวงนั้นไม่ใช่หมายความว่าเป็นวัดพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างทั้งนั้น ถึงวัดผู้อื่นสร้าง ถ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงรับทำนุบำรุงก็เรียกว่าวัดหลวงมีตัวอย่างอยู่ในกรุงเทพฯนี้เป็นอันมาก เช่น "วัดประยูรวงศ์" "วัดพิชัยญาติ" และ "วัดกัลยาณมิตร์" เป็นต้น วัดหลวงจึงหมายความว่าวัดซึ่งตั้งมั่นคงสำหรับพระนคร หรือถ้าจะว่าอีกอย่าง ๑ คือเป็นวัดซึ่งรัฐบาลรับบำรุง เป็นประเพณีแต่เดิมมาจนกาลบัดนี้


๑๒. การบำรุงรักษาวัดซึ่งสร้างขึ้นไว้ ถือว่าเป็นการสำคัญอย่างหนึ่งตั้งแต่โบราณมาพิเคราะห์ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกและจดหมายเหตุ ทั้งกฏหมายอย่างธรรมเนียมที่ปรากฏจนชั้นหลัง ลักษณะจัดการบำรุงมีเป็น ๓ อย่าง คือ

อย่าที่ ๑ ถวายกัลปนา คือพระเจ้าแผ่นดินทรงอุทิศผลประโยชน์ของหลวงซึ่งได้จากที่ดินแห่งหนึ่งหรือกหลายแห่งมีค่านาเป็นต้น ให้ใช้บำรุงพระอารามใดพระอารามหนึ่ง จะยกพอเป็นตัวอย่าง ดังเช่นเมื่อพบรอยพระพุทธบาทในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม ทรงพระราชอุทิศที่ดินโยชน์ ๑ โดยรอบพระพุทธบาทให้เป็นที่กัลปนา สำหรับบำรุงรักษาวัดพระพุทธบาท ดังนี้ ที่กัลปนายังมีอยู่บ้าง แต่ประเพณีถวายที่กัลปนาเลิกมาช้านานแล้ว

อย่างที่ ๒ ถวายข้าพระ คือพระเจ้าแผ่นดินโปรดฯให้ยกเว้นหน้าที่ราชการแก่บุคคลจำพวกใดจำพวกหนึ่ง ตลอดจนวงศ์วารของบุคคลจำพวกนั้น ให้ไปทำการบำรุงรักษาวัดใดวัดหนึ่ง บุคคลผู้มีศักดิ์สูง หรือมีทรัพย์มาก อุทิศทาสของตนถวายเป็นข้าพระสำหรับบำรุงวัดก็มี ประเพณีถวายข้าพระเลิกในรัชกาลที่ ๕ ด้วยเลิกประเพณีทาสกรรมกร

อย่างที่ ๓ ถวายธรณีสงฆ์ คือโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเช่นเรือกสวนไร่นา ถวายเป็นของสงฆ์วัดใดวัดหนึ่ง สำหรับเก็บผลประโยชน์บำรุงวัด อย่างนี้ยังมีมาก

ส่วนพนักงานจัดการบำรุงวัด ดูเหมือนจะช่วยกันเป็น ๒ ฝ่ายมาแต่โบราณ คือพระสงฆ์ซึ่งเป็นอธิการวัดเป็นผู้ดูแลและคิดอ่านการบำรุงรักษาวัด ฝ่ายคฤหัสถ์เป็นกำลังรับช่วยทำการให้สำเร็จ เพราะฉะนั้นความเจริญรุ่งเรืองของวัดจึงสำคัญอยู่ที่พระสงฆ์ผู้เป็นอธิการ ถ้าเป็นผู้ทรงคุณธรรมและเอาใจใส่บำรุงรักษาวัด ก็อาจชักชวนคฤหัสให้ศรัทธาหากำลังบำรุงวัดได้มาก ถ้าหากสมภารวัดเป็นผู้เกียจคร้านโลเลวัดก็ทรุดโทรม


๑๓. การสร้างวัดถ้าว่าตามคติที่นิยมกันอยู่ในเวลานี้ ทั้งรัฐบาลและเถรสมาคมมีความเห็นเป็นยุติต้องกันว่า การที่สร้างวัดขึ้นใหม่มีทั้งคุณและโทษ ที่เป็นคุณนั้นดังเช่นสร้างขึ้นในที่ประชุมชนอันตั้งหลักแหล่งที่เป็นตำบลบ้านขึ้นใหม่ ยกตัวอย่างเช่นแถวคลองรังสิตอันยังไม่มีวัด ถ้าสร้างวัดย่อมเป็นคุณฝ่ายเดียว เพราะราษฎรในที่นั้นจะได้ประพฤติกิจในพระศาสนา เช่นทำบุญให้ทานเป็นการกุศลและถือศีลเจริญธรรมปฏิบัติ ตลอดจนเป็นที่ศึกษาสถานสำหรับลูกหลานราษฎรในท้องที่นั้นๆ แต่ถ้าสร้างวัดขึ้นใหม่ในท้องที่อันมีวัดเดิมอยู่แล้วย่อมเกิดโทษมากกว่าคุณ เป็นต้นแต่พระสงฆ์นั้นย่อมต้องอาศัยเลี้ยงชีพด้วยปัจจัยทาน ซึ่งชาวบ้านในที่แห่งนั้นอุดหนุนเลี้ยงดู มีวัดเดียวพอขบฉัน ถ้าเป็น ๒ วัดก็พากันฝืดเคือง

ยังอีกสถาน ๑ วัดที่ส้รางใหม่ แม้ผู้สร้างจะเป็นเศรษฐีคฤหบดีมีทุนมาก อาจบำรุงรักษาให้รุ่งเรืองอยู่ได้ เมื่อสิ้นเจ้าของไปแล้ว กำลังที่จะบำรุงก็ลดลงโดยลำดับ จนถึงต้องเป็นภาระของพวกราษฎรชาวบ้านในที่แห่งนั้น เมื่อกำลังไม่พอจะบำรุงรักษาได้หลายวัด จะเป็นพระก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ทั้งที่ในกรุงเทพฯและตามหัวเมืองทุกวันนี้จึงมักนิยมปฏิสังขรณ์วัดเก่าซึ่งมีอยู่แล้วยิ่งกว่าที่จะสร้างวัดขึ้นใหม่ และมีพระราชบัญญัติด้วย ว่าการสร้างวัดขึ้นใหม่ ต่อวัดใดสร้างสมควรแก่ภูมิประเทศและเห็นว่าจะรุ่งเรืองอยู่ได้ถาวร จึงพระราชทานที่วิสุงคามสิมา ถ้าเป็นวัดสักแต่ว่าสร้างขึ้นให้เรียกว่า สำนักสงฆ์ อาจจะมีขึ้นและจะเลิกได้เมื่อใดๆเหมือนอย่างบ้านเรือนของราษฎรตามประสงค์อันเป็นสาธารณะ ในปัจจุบันนี้ไปข้างทางบำรุงการศึกษาและสั่งสอนพระธรรมวินัยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งฝ่ายพุทธจักรและอาณาจักรประกอบกัน ให้พระพุทธศาสนาสถิตสถาวรจิรัฐิติกาล ซึ่งเราทั้งหลายควรจะเห็นว่าเป็นกุศโลบาย และรัฏฐาภิปาลโนบายอันชอบอย่างยิ่ง


ทรงแสดงเป็นปาฐกถาที่สามัคยาจารย์ เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๑


....................................................................................................................................................


ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่อง มูลเหตุแห่งการสร้างวัดในประเทศสยาม


Create Date : 23 มีนาคม 2550
Last Update : 23 มีนาคม 2550 8:57:54 น. 2 comments
Counter : 4144 Pageviews.  
 
 
 
 
ไม่ได้ไปวัด มานานมากแล้วเรา
 
 

โดย: น้าวัชร (น้าวัชร-จัดให้ ) วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:9:36:13 น.  

 
 
 
สวัสดีครับน้าวัชร
เข้าไปเยี่ยม Blog ของน้ามาแล้วครับ
รู้สึกหิวขึ้นมาทันใด
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 28 มีนาคม 2550 เวลา:14:54:25 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com