|
ว่าด้วยประเทศสยามในจดหมายเหตุจีน
 คัดจาก หนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม ๔ (ภาค ๔ ตอนปลาย และภาค ๕) องค์การค้าของคุรุสภา ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ถ.ราชดำเนิน พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ๓,๐๐๐ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๖ ปกอ่อนราคา ๑๐ บาท
...............................................................................................................................................
ว่าด้วยสยามประเทศในจดหมายเหตุจีน คัดจากหนังสือ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๕ คำนำภาคที่ ๕ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนี้
หนังสือจดหมายเหตุจีนว่าด้วยสยามประเทศ ได้ตรวจสอบในหนังสือจีนมี ๕ เรื่อง คือ ๑. หนังสือฮ่วงฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า ๒. หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่ ๓. หนังสือยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลียดต้วน ๔. หนังสือคิมเตี้ยซกทงเตี้ยน ๕. หนังสือกึงตังทงจี่
จดหมายเหตุจีนเหล่านี้ หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) พนักงานหอพระสมุดฯ ได้แปลเป็นภาษาไทยเฉพาะตอนที่กล่าวด้วยประเทศสยาม เรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีระกาเอกศก พ.ศ. ๒๔๕๓ เจ้าพระยายมราชได้พิมพ์ช่วยในงานศพพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต เป็นครั้งแรก เมื่อปีฉลูเบญจศก พ.ศ. ๒๔๕๖
ผู้ที่ได้อ่านพากันชอบ ด้วยได้ความรู้เรื่องพงศาวดารตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงสุโขทัย และครั้งกรุงเก่าแปลกๆ อีกหลายอย่าง แต่หนังสือเรื่องนี้เมื่อพิมพ์ครั้งแรกไปแจกไว้ตามหัวเมืองมาก เพราะทำศพพระยารัษฎรนุประดิษฐที่เมืองระนอง ที่ในกรุงเทพฯ ไม่ใคร่จะมีใครได้อ่าน มีผู้มาสืบหาที่หอพระสมุดฯ อยู่เนืองๆ ไม่ขาด อีกประการ ๑ เมื่อพิมพ์ครั้งแรกนั้น ยังไม่ได้สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่าได้แน่นอน จดหมายเหตุจีนมักเรียกพระเจ้าแผ่นดินสยามแต่ว่า เสี้ยมหลอก๊กอ๋อง รู้ไม่ใคร่ได้ว่าความที่กล่าวตรงไหนจะเป็นในแผ่นดินไหนแน่
บัดนี้ได้สอบศักราชรัชกาลครั้งกรุงเก่ารู้ได้เกือบจะไม่ผิดแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้บอกรัชกาลและได้ทำคำอธิบายเพิ่มเติมลงไว้ในฉบับที่พิมพ์เล่มนี้ เชื่อว่าทำให้ดีขึ้นกว่าที่พิมพ์ครั้งแรกเป็นอันมาก ถึงผู้ที่มีฉบับพิมพ์ครั้งแรกอยู่แล้ว ก็คงจะพอใจอ่านฉบับนี้อีก
........................................................................................................
อธิบายเบื้องต้น พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
หนังสือเรื่องทางพระราชไมตรีระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยามนี้ หลวงเจนจีนอักษร (สุดใจ) พนักงานหอพระสมุดวชิรญาณ แปลถวายในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แปลจากหนังสือจีน ๓ เรื่อง คือ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่เรื่อง ๑ หนังสือหวงเฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้าเรื่อง ๑ หนังสือยี่จั๋บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลียดต้วนเรื่อง ๑ เป็นจดหมายเหตุกล่าวถึงทางพระราชไมตรีที่กรุงสยามได้มีมากับกรุงจีน ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระร่วงตั้งราชธานีอยู่ที่นครสุโขทัย ตลอดเวลากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ลงมาจนครั้งกรุงธนบุรี
หนังสือจีนทั้ง ๓ เรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นหนังสือหลวงซึ่งพระเจ้ากรุงจีนราชวงศ์ไต้เชง แผ่นดินเขียนหลง ให้กรรมการข้าราชการตรวจจดหมายเหตุของเก่าในเมืองจีนมาเรียบเรียง (ตรงกับเมื่อครั้งธนบุรี) ว่าด้วยเมืองต่างประเทศที่เคยมีไมตรีกับกรุงจีน หนังสือเหล่านี้จึงมีเนื้อเรื่องเมืองไทยด้วย
ได้ตรวจดูเรื่องที่แปลนี้ เห็นว่าจดหมายเหตุจีนมีหลักฐานหลายอย่าง ควรเป็นเรื่องประกอบพงศาวดารของเมืองไทยได้เรื่อง ๑ แต่ผู้อ่านจำต้องอ่านด้วยไม่ลืมความจริง ๓ ข้อ
ข้อที่ ๑. คือ ต้องไม่ลืมว่าเมื่อจีนมีอำนาจแผ่อาณาเขตออกมาถึงเมืองต่างประเทศทางตะวันตก เช่นในครั้งพระเจ้ากรุงจีนวงศ์หงวนเป็นต้น อันพงศาวดารปรากฏว่า ได้เคยรบพุ่งชนะเมืองพม่า เมืองญวน กรุงจีนไม่เคยชนะและไม่เคยรบพุ่งกับกรุงสยาม เพราะเหตุที่ราชธานีทั้งสองฝ่ายอยู่ห่างไกลกันมาก เขตแดนก็ไม่ต่อติดกันยืดยาวเหมือนเช่นเมืองพม่าและเมืองญวน เพราะฉะนั้น การเกี่ยวข้องในระหว่างกรุงจีนกับกรุงสยามแต่โบราณมา เคยมีแต่เป็นมิตรไมตรีอย่างบ้านพี่เมืองน้อง ไทยไม่ได้เคยยอมเป็นเมืองขึ้นจีน
ข้อที่ ๒. นั้นต้องไม่ลืมว่าวิสัยพระเจ้าแผ่นดินจีนชอบยกย่องเกียรติยศของตนเองแต่ไรๆ มา บรรดาเมืองต่างประเทศที่ไปมาค้าขายหรือแต่งราชทูตไปเมืองจีน จีนจดหมายเหตุตีขลุมเอาว่าไปอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อกรุงจีน ไม่เลือกหน้าว่าประเทศไหนๆ พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศไม่ว่ายุโรปหรือเอเชีย จดหมายเหตุจีนไม่ยอมยกเกียรติยศให้ใครเป็น ฮ่องเต้ ให้เป็นเพียง อ๋อง ทุกประเทศ ต่างประเทศที่ไปมาค้าขายหรือเกี่ยวข้องกับจีน เมื่อยังไม่รู้หนังสือและภาษาจีน ก็ไม่รู้เท่าจีน การเป็นดังนี้มาหลายร้อยปี จนที่สุดเมื่ออังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามชนะจีน ฝรั่งเล่ากันว่าเมื่อจะเดินทัพเข้าเมืองปักกิ่ง จีนยังทำธงเขียนตัวหนังสือจีนนำหน้า ว่าฝรั่งจะเข้าไปคำนับอ่อนน้อม ฝรั่งพึ่งมารู้ตัวว่าถูกจีนหลอกในเรื่องเหล่านี้ เมื่อฝรั่งมาเรียนรู้หนังสือและภาษาจีน จนต้องมีในข้อหนังสือสัญญาให้จีนยอมรับว่า พระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศเป็นฮ่องเต้เหมือนกับจีน การเป็นมาดังนี้ บรรดาจดหมายตุของจีนในชั้นเก่าๆ จึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศว่าอ๋อง และเหมาเอาการที่ทูตไปเมืองจีนว่าไปยอมเป็นเมืองขึ้นทั้งนั้น ไม่ว่าฝรั่ง หรือแขก หรือไทย
ข้อที่ ๓. เหตุที่เมืองไทยจะเป็นไมตรีกับกรุงจีนนั้น เกิดแต่ด้วยเรื่องไปมาค้าขายถึงกันทางทะเล เมืองไทยมีสินค้าหลายอย่าง ซึ่งเป็นของต้องการในเมืองจีนแต่โบราณมาเหมือนกันทุกวันนี้ และเมืองจีนก็มีสินค้าหลายอย่างที่ไทยต้องการเหมือนกัน การไปมาค้าขายกับเมืองจีน ไทยได้ผลประโยชน์มาก แต่ประเพณีจีนในครั้งนั้น ถ้าเมืองต่างประเทศไปค้าขาย ต้องมีเครื่องบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงจะปล่อยให้ค้าขายโดยสะดวก เพราะเหตุนี้จึงมีประเพณีที่ถวายบรรณาการแก่พระเจ้ากรุงจีน ไม่แต่ประเทศไทยเรา ถึงประเทศอื่นก็อย่างเดียวกัน
ผู้อ่านจะต้องเข้าใจความจริงทั้ง ๓ ข้อนี้ จึงจะไม่ประหลาดใจและไม่เข้าใจผิด เมื่อเวลาอ่านจดหมายเหตุของจีน ซึ่งกล่าวเป็นโวหารดุจว่ากรุงสยามเป็นเมืองขึ้นของกรุงจีน การที่แต่งหนังสือใช้โวหารเช่นนั้น จะโทษแต่จีนก็ไม่ได้ ถึงไทยเราก็เอาบ้าง ท่านผู้ใดได้อ่านหนังสือพงศาวดารเหนือ คงจะได้พบในเรื่องหนังสือนั้น ๒ แห่ง แห่ง ๑ ว่าเมื่อสมเด็จพระร่วงจะลบศักราช พระเจ้ากรุงจีนไม่มาช่วย สมเด็จพระร่วงขัดเคืองยกออกไปเมืองจีน พระเจ้ากรุงจีนต้องถวายพระราชธิดา และได้พวกจีนบริวารเข้ามาคราวนั้น จึงได้มาทำถ้วยชามสังคโลกขึ้นเป็นปฐม อีกแห่ง ๑ เมื่อพระเจ้าสายน้ำผึ้งครองเมืองอโยธยา ก็ว่าได้ราชธิดาของพระเจ้ากรุงจีนชื่อนางสร้อยดอกหมากมาเป็นพระมเหสี ถ้าเทียบเรื่องที่ไทยเราแต่งไว้แต่ก่อน ก็จะไม่พอกระไรกับที่จีนเขาแต่งนัก
ความจริงบุคคลต่างชาติกัน จะมีชาติใดที่รักชอบกันยืดยาวมายิ่งกว่าไทยกับจีนนี้ไม่เห็นมี ด้วยไม่เคยเป็นศัตรูกัน เคยแต่ไปมาค้าขายและประโยชน์ต่อกันมาได้หลายร้อยปี ความรู้สึกทั้งสองชาติจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ตั้งแต่โบราณจนตราบเท่าทุกวันนี้ ซึ่งควรจะหวังว่าจะเป็นอย่างเดียวกันต่อไปในวันหน้า
การไปมาค้าขายในระหว่างจีนกับไทยในครั้งกรุงเก่า ไม่ใช่แต่เป็นประโยชน์เฉพาะแต่แก่จีนและไทยเท่านั้น ฝรั่งก็ต้องมาอาศัยค้าขายกับจีนทางเมืองไทย ความปรากฏในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งว่า เมื่อฝรั่งรู้ทางเรือที่จะมาจากยุโรปถึงประเทศทางตะวันออกได้ พวกโปรตุเกตเป็นผู้มาค้าขายก่อน พวกโปรตุเกตเป็นคนใจร้ายถือว่ามีปืนไฟ ใช้เรือรบเที่ยวปล้นสะดมขู่กรรโชกตามเมืองที่ไปค้าขาย เป็นเหตุให้จีนเกลียดฝรั่งขึ้น ครั้นต่อมามีพวกฝรั่ง วิลันดา อังกฤษ ออกมาค้าขายทางประเทศนี้ จะไปเมืองจีนไม่ได้สะดวก ต้องมาอาศัยเมืองไทยเป็นที่พักสินค้า ทำการค้าขายกับเมืองจีนและเมืองญี่ปุ่นอยู่นาน ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การค้าขายไปมาในระหว่างเมืองจีนกับเมืองไทยก็ยิ่งเจริญขึ้นโดยลำดับสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
........................................................................................................
พรรณนาว่าด้วยกรุงสยาม
หนังสือเรื่องกรุงสยามได้เป็นพระราชไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้าขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือ หวงฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า เล่ม ๓๔ หน้า ๔๐ หน้า ๔๑ หนังสือหวงฉียวบุ๋นเหี่ยนทงเค้า นี้เป็นหนังสือหลวง ขุนนาง ๖๖ นายเป็นเจ้าพนักงานเรียบเรียงในราชวงศ์ไต้เชง เมื่อแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๔๒ เตงอีว (ตรงปีระกา จุลศักราช ๑๑๓๙ ปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ในครั้งกรุงธนบุรี)
เสี้ยมหลอก๊ก
เสี้ยมหลอก๊กอยู่ฝ่ายตะวันออกเมืองก้วงหลำ เฉียงหัวนอน(เฉียงใต้) มืองกั้งพู้จ้าย(กัมพูชา) ครั้งโบราณมี ๒ ก๊ก เสี้ยม(สยาม คือ สุโขทัย)ก๊กหนึ่ง หลอฮก(ละโว้)ก๊กหนึ่ง อาณาเขตพันลี้เศษ (นับก้าวเท้าแต่ ๑ ถึง ๒๖๐ กว้าเท้าจึงเรียกว่า ลี้) ปลายแดนมีภูเขาล้อมตลอด ในอาณาเขตแบ่งเป็นกุ๋น(เมือง) กุ้ย(อำเภอ) กุ้ยขึ้นฮู้(ขึ้นเมือง) ฮู้ขึ้นต๋าคูสือ (แปลว่าเจ้าพนักงานคลังมณฑล คือ เมืองที่มีข้าหลวงคลังกำกับ คงจะหมายความเป็นเมืองที่ตั้งมณฑล ด้วยแบบราชการวงศ์เชงมีข้าหลวงคลังกำกับแต่เมืองที่ตั้งมณฑล
ต๋าคูสือมี ๙ (๑) เสี้ยมหลอ (จะหมายความว่ากรุงศรีอยุธยา) (๒) ค้อเล้าสี้ม้า (นครราชสีมา) (๓) จุกเช่าปั้น (๔) พี่สี่ลก (พิษณุโลก) (๕) สกก๊อตท้าย (สุโขทัย) (๖) โกวผินพี้ (กำแพงเพชร) (๗) ต๋าวน้าวสี้ (ตะนาวศรี) (๘) ท้าวพี้ (๙) ลกบี๊
ฮู้มี ๑๔ (๑) ไช้นะ (ชัยนาท) (๒) บู้เล้า (๓) บี๊ไช้ (พิชัย) (๔) ตงปั๊น (เข้าใจว่าชุมพร) (๕) ลูโซ่ง (เข้าใจว่าหลังสวน) (๖) พีพี่ (พริบพรี คือ เพชรบุรี) (๗) พีลี้ (น่าจะเป็นราดพรี คือ ราชบุรี) (๘) ไช้เอี้ย (ไชยา) (๙) โตเอี้ยว (๑๐) กันบู้ลี้ (กาญจนบุรี) (๑๑) สี้หลวงอ๊วด (ศรีสวัสดิ์) (๑๒) ไช้ย็อก (ไทรโยค) (๑๓) ฟั้นสี้วัน (นครสวรรค์) (๑๔) เจี่ยมปันคอซัง
กุ้ยมี ๗๒ พื้นแผ่นดินข้างฝ่ายทิศตะวันตกเฉียงปลายตีนหรือเฉียงเหนือมีหินกรวด ด้วยเป็นอาณาเขตเสี้ยมก๊ก อาณาเขตหลอฮกก๊กอยู่ฝ่ายทิศตะวันออกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ พื้นแผ่นดินราบและชุมชื้น
เมืองหลวงมีแปดประตู กำแพงเมืองก่อด้วยอิฐ เลียบรอบกำแพงเมืองประมาณสิบลี้เศษ ในเมืองมีคลองน้ำเล็กเรือไปมาได้ นอกเมืองข้างทิศตะวันตกเฉียงหัวนอนหรือเฉียงใต้ราษฎรอยู่หนาแน่น
ก๊กอ๋อง (พระเจ้าแผ่นดิน) อยู่ในเมืองข้างฝ่ายทิศตะวันตก ที่อยู่สร้างเป็นเมืองเลียบรอบกำแพงประมาณสามลี้เศษ เต้ย(พระที่นั่ง)เขียนถาพลายทอง หลังคาเต้ยมุงกระเบื้องทองเหลือง ซิด(ตำหนักและเรือน)มุงกระเบื้องตะกั่ว เกย(ฐานบัตร)เอาตะกั่วหุ้มอิฐ ลูกกรงเอาทองเหลืองหุ้มไม้
ก๊กอ๋องชุดเสงกิมจึงไช้เกีย (พระเจ้าแผ่นดินเสด็จตำบลใดก็ทรงราชยาน) บางครั้งก็ทรงช้างที่มีกูบ สั่ว(พระกลดและร่ม)ที่กั้นทำด้วยผ้าแดง
ก๊กอ๋องหมวยต่างเตงเต้ย (พระเจ้าแผ่นดินเสด็จออกท้องพระโรงทุกเวลาเช้า) พวกขุนนางอยู่ที่พื้นปูพรม นั่งพับเข่าตามลพดับ แล้วยกมือประนมขึ้นถึงศีรษะ ถวายดอกไม้สดคนละหลายช่อ มีกิจก็เอาบุ๋นจือ (หนังสือ) อ่านขึ้นถวายด้วยเสียงอันดัง คอยก๊กอ๋องวินิจฉัยแล้วจึงกลับ
เสี้ยมหลอก๊กมีขุนนาง ๙ ตำแหน่ง (๑) อกอาอว้าง (ออกญา) (๒) อกบู้ล้า (ออกพระ) (๓) อกหมัง (ออกเมือง) (๔) อกควน (ออกขุน) (๕) อกมู้น (ออกหมื่น) (๖) อกบุ่น (๗) อกปั้ง (ออกพัน) (๘) อกล้ง (ออกหลวง) (๙) อกคิว
การตั้งแต่งขุนนาง ให้เจ้าพนักงานไปเลือกเอาราษฎรตามหมู่บ้านมอบให้ต๋าคูสือ ต๋าคูสือให้ผู้ที่จะเป็นขุนนางนำหนังสือมาถวายอ๋อง อ๋องก็สอบตามวิธีที่เคย และสอบไล่ข้อปกครองราษฎรด้วย แม้ผู้ที่มาสอบไล่ตอบถูกต้อง อ๋องก็ตั้งให้เป็นขุนนางเข้ารับราชการตามตำแหน่ง ที่ตอบไม่ถูกต้องก็ไม่ได้เป็นขุนนาง วิธีสอบไล่นั้นสามปีครั้งหนึ่ง แต่หนังสือชาวเสี้ยมหลอก๊กเขียนไปทางข้าง ด้วยไม่ได้เล่าเรียนห่างยี่ (หนังสือจีน)
แต่ก๊กอ๋องนั้นหลีวฮวด (ไว้พระเกศายาว) ฮกเซก(เครื่องแต่งพระองค์) มงกุฎทำด้วยทองคำประดับป๊อเจียะ(เพชรนิลจินดาที่เกิดจากหิน) รูปคล้ายต๋าวหมง(หมวกยอดแหลมสำหรับนายทหารใส่เมื่อเวลาออกรบศึก) เสี่ยงอี(ภูษาเฉียง)ยาวสามเชียะ(นับนิ้ว ๑ ถึง ๑๐ เรียกว่าเชียะ) ใช้แพรตึ้งห้าสี เหียอี้(ภูษาทรง)ทำด้วยด้ายห้าสี เอ๋ย,บ๋วย(ฉลองพระบาท ถุงพระบาท)ทำด้วยแพรตึ้งสีแดง
ขุนนางและราษฎรไว้ผมยาวเกล้ามวย ใช้ปิ่นปักและใช้ผ้าขาวพันศีรษะ ขุนนางตำแหน่งที่ ๑ ถึงที่ ๔ ใช้หมวกทองคำประดับป๊อเจิยะ (พลอย) ตำแหน่งที่ ๕ ถึง ๙ ใช้หมวกทำด้วยแพรตึ้งและทำด้วยกำมะหยี่ นุ่งห่มใช้ผ้าสองผืน รองเท้าทำด้วยหนังโค ผู้หญิงใส่ก่วย (รัดเกล้า) ค่อนไปข้างหลัง เครื่องปักผมใช้เข็มเงินเข็มทอง หน้าปักแป้ง นิ้วมือนั้นใส่แหวน รัดเกล้าและแหวนของคนจนทำด้วยทองเหลือง ผ้าห่มทำด้วยด้ายห้าสียกดอก ผ้านุ่งก็ทำด้วยด้ายห้าสีแต่เอาไหมทองยกดอก นุ่งผ้าสูงพ้นดินสองสามนิ้ว ใส่รองเท้าคีบทำด้วยหนังสีดำสีแดง
ฤดูปีเดือนในเสี้ยมหลอก๊กไม่เที่ยง พื้นแผ่นดินก็เปียกแฉะ ชาวชนต้องอยู่เรือนหอสูง (เรือนโบราณที่มีชั้นบนชั้นล่าง ชั้นบนเรียกว่าหอ) หลังคามุงด้วยไม้หมากเอาหวายผูก ทีมุงด้วยกระเบื้องก็มี เครื่องใช้ไม่มีโต๊ะ , เก้าอี้ และม้านั่ง ใช้แต่พรมกับเสื่อหวายปูพื้น ประชาชนนับถือเซกก่า (พุทธศาสนา) ผู้ชายบวชเป็นเจง (พระภิกษุ) ผู้หญิงบวชเป็นหนี (ชี) ไปอยู่ตามวัด ผู้ที่มียศศักดิ์และมั่งมีนั้นเคารพหุด (นับถือพระภิกษุที่สำเร็จ) มีเงินทองถึงร้อยก็ทำทานกึ่งหนึ่งด้วยไม่มีความเสียดาย
แม้ชาวชนถึงแก่ความตาย ก็เอาน้ำปรอทกรอกปากแล้วจึงเอาไปฝัง ศพคนจนเอาไปทิ้งไว้ที่ฝั่งทะเล ในทันใดก็มีกาหมู่หนึ่งมาจิกกิน บัดเดี๋ยวหนึ่งก็สูญสิ้น ญาติพี่น้องของผู้ตายร้องไห้เอากระดูกทิ้งลงในทะเล เรียกว่า เนี้ยวจึ่ง(ฝังศพกับกา) การซื้อขายใช้เบี้ยแทนตั้งจี๋(กะแปะทองเหลือง) ปีใดไม่ใช้เบี้ยแล้วความไข้ก็เกิดชุกชุม
ขุนนางและราษฎรที่มีเงิน จะใช้จ่ายแต่ลำพังนั้นไม่ได้ ต้องเอาเงินส่งไปเมืองหลวงให้เจ้าพนักงานหลอมหล่อเป็นเมล็ด เอาตราเหล็กตีอักษรอยู่ข้างบนแล้วจึงใช้จ่ายได้ เงินร้อยตำลึงต้องเสียค่าภาษีให้หลวงหกสลึง ถ้าเงินที่ใช้จ่ายไม่มีอักษรตราก็จับผู้เจ้าของเงินลงโทษว่าทำเงินปลอม จับได้ครั้งแรกตัดนิ้วมือขวา ครั้งสองงตัดนิ้วมือซ้าย ครั้งสามโทษถึงตาย การใช้จ่ายเงินทองสุดแล้วแต่ผู้หญิง ด้วยผู้หญิงมีสติปัญญา ผู้ชายที่เป็นสามีก็ต้องเชื่อฟัง
ชาวชนเสี้ยมหลอก๊กมีชื่อไม่มีแซ่ ถ้าเป็นขุนนางเรียกว่าอกม้ง (ม้งแปลว่านั้น หมายความว่าออกนั้น) ผู้ที่มั่งมีเรียกว่านายม้ง ยากจนเรียกว่าอ้ายม้ง ขนบธรรมเนียมของชาวชนนั้นแข็งกระด้าง การรบศึกสงครามชำนาญทางเรือ ไต๊เจี่ยง(นายทหารใหญ่)เอาเซ่งทิ(เครื่องราง)พันกาย สำหรับป้องกันหอกดาบและจี่(จี่แปลว่าลูกธนู) เซ่งทินั้นกระดูกศีรษะผี ว่ายิงแทงไม่เป็นอันตราย
สิ่งของที่มีในประเทศ อำพันทองที่หอม ไม้หอมสีทอง ไม้หอมสีเงิน เนื้อไม้ ไม้ฝาง ไม้แก่นดำ งาช้าง หอกระดาน กระวาน พริกไทย ไต๊ปึงจื่อ(ผลไม้) เฉียงหมุยโล่ว(น้ำลูกไม้กลั่น) ไซรเอี๋ยเซี้ยม(แพรมาจากเมืองพุทเกด) แพรลายทอง สิ่งของงที่กล่าวนี้เคยเอามาถวายเป็นเครื่องยรรณาการ
ทองคำและหินสีต่างๆ ที่มีในประเทศ ทองคำก้อน ทองคำทราย ป๊อเจียะ(พลอยหินต่างๆ) ตะกั่วแข็ง
สัตว์สี่เท้า สัตว์สองเท้า สัตว์มีเกล็ด ที่มีในประเทศ แรด ช้าง นกยูง นกแก้วห้าสี ลกจูกกู (เต่าหกเท้า)
ผลไม้และต้นไม้ที่มีในประเทศ ไม้ไผ่ใหญ่ ไม่ไผ่สีสุก ไม้ไผ่เลี้ยง ผลทับทิม แตง ฟัก
สิ่งของที่มีกลิ่นหอม กฤษณา ไม้หอม กานพลู หลอฮก(เครื่องยา) แต่หลอฮกนั้นกลิ่นหอมคล้ายกฤษณา นามประเทศคงจะตั้งตามชื่อของสิ่งนี้ (๑)
........................................................................................................
(๑) ตอนพรรณนาว่าด้วยสยามประเทศนี้ จีนเห็นจะเอาจดหมายเหตุบรรดามีจดไว้เรื่องเมืองไทย ตั้งแต่เก่าที่สุดลงมาจนถึงเวลาที่แต่งหนังสือนี้ มาเก็บเนื้อความรวบรวมลงในที่อันเดียวกัน ไม่ได้แก้ไขตัดทอนการที่เปลี่ยนแปลงในบ้านเมือง เช่นพรรณาว่าไทยไว้ผมยาวเกล้ามวยเป็นต้น
........................................................................................................
ว่าด้วยทางพระราชไมตรี
หนังสือเรื่องเสี้ยมก๊ก หลอฮกก๊ก เป็นพระราชไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือ คิมเตี้ยซกทงจี่เล่ม ๕ หน้า ๓๔ หน้า ๓๕ หน้า ๓๖ หน้า ๓๗ หน้า ๓๙ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่นี้เป็นหนังสือหลวง ด้วยขุนนาง ๖๖ นาย เป็นเจ้าพนักงานเรียงหนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่ เมื่อแผ่นดินเขียนหลง ปีที่ ๓๒ เตงหาย (ตรงกับปีกุจุลศักราช ๑๑๒๙ ปี) ในราชวงศ์เชงนี้ ต่อมาถึงแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๕๐ อิจจี๋ (ตรงกับปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๑๔๗ ปี ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์) ขุนนางจ๋อโตวหงือซื้อ ชื่อกีก๊ก (เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายขวา) กับขุนนางต๋ายลี้ยี่เคง ชื่อเล็กเซียะหิม (ต๋ายลี้ยี่เคงเป็นกรมขึ้นอยู่ในกระทรวงเมือง) ได้ชำระหนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่นี้อีกครั้งหนึ่ง
ครั้งสมเด็จพระร่วงรามคำแหงครองนครสุโขทัย
พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้ (ครั้งนั้นเป็นปงโกลได้ราชสมบัติในกรุงจีน เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงหงวน นามแผ่นดินเรียกว่า จี่หงวน) แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๑๙ หยิบโหงวลักหง้วย (ตรงกับ ณ เดือนแปด ปีมะเมีย จุลศักราช ๖๔๔ ปี) พระเจ้าหงวนสีจ๊วฮ่องเต้ รับสั่งให้ขุนนางก๊วนกุนโหว ชื่อหอจือจี่เป็นราชทูตไปเกลี้ยกล่อมเสี้ยมก๊ก(๑)
แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๒๖ กี๊ทิ้วจับหง้วย (ตรงกับ ณ เดือน ๑๒ ปีฉลู จุลศักราช ๖๕๑ ปี) หลอฮกก๊กให้ราชทูตนำเครื่องบรรณาการมาถวาย(๒)
แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๒๘ ซินเบ๊าจับหง้วย (ตรงกับ ณ เดือน ๑๒ ปีเถาะจุลศักราช ๖๕๓ ปี) หลอฮกก๊กอ๋องให้ราชทูตนำราชสาส์นอักษรเขียนด้วยน้ำทอง กับเครื่องบรรณาการ คือทองคำ งาช้าง นกกระเรียน นกแก้วห้าสี ขนนกกระเต็น นอระมาด อำพันทอง มาถวาย
แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๐ กุ๋ยจี๋สี่หง้วย (ตรงกับ ณ เดือนหก ปีมะเส็ง จุลศักราช ๖๕๕ ปี) พระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้ราชทูตไปทำพระราชไมตรีด้วยพระเจ้าเสี้ยมก๊ก(๓)
แผ่นดินจี่หงวนปีที่ ๓๑ กะโหงวชิดหง้วย (ตรงกับ ณ วันเดือนเก้า ปีมะเมีย จุลศักราช ๖๕๖ ปี) ในปีนั้นพระเจ้าหงวนสี่โจ๊วฮ่องเต้สวรรคต พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ขึ้นเสวยราชสมบัติ แต่ยังไม่ได้เปลี่ยนนามแผ่นดิน สี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งมาเฝ้า(๔) พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้รับสั่งกับเสี้ยมก๊กอ๋องกังมกติ๋งว่า แม้ท่านคิดว่าเป็นไมตรีกันแล้ว ก็ควรให้ลูกชายหรือขุนนางมาเป็นจำนำไว้บ้าง
แผ่นดินไต๋เต็ก (นามแผ่นดินของพระเจ้าหงวยเสงจงฮ่องเต้) ปีที่ ๔ แกจื๊อลักหง้วย (ตรงกับ ณ เดือนแปดปีชวด จุลศักราช ๖๖๒ ปี) เสี้ยมก๊กอ๋องมาเฝ้า(๕)
เรื่องเสี้ยมก๊กเป็นไมตรีกับกรุงจีน ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) แปลออกจากหนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่เล่ม ๔๐ หน้า๕๕ หนังสือคิมเตี้ยซกทงจี่เป็นหนังสือหลวง ขุนนางวงศ์ไต้เชง ๖๖ คน เป็นเจ้าพนักงานเรียบเรียง เมื่อแผ่นดินเขียนหลงปีที่ ๓๒ เตงหาย (ตรงกับปีกุน จุลศักราช ๑๑๒๙) (๖)
เสี้ยมก๊ก
เมื่อครั้งวงศ์หงวน (ตรั้งนั้นมงโกลได้ราชสมบัติในกรุงจีน) ในแผ่นดินพระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ (พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้กษัตริย์ที่ ๒ วงศ์หงวนขึ้นครองราชสมบัติปีอิดบี๊ ตรงกับปีมะแม จุลศักราช ๖๕๗ ขนานนามแผ่นดินว่าเจงหงวน) เสี้ยมก๊กให้ราชทูตนำราชสาส์นอักษรเขียนด้วยย้ำทองมาถวาย ด้วยเสี้ยมก๊กกับม่าลี้อี๋เอ้อก๊ก(๗) ทำสงครามโดยสาเหตุความอาฆาตกัน เฉียงเถง(รัฐบาล)แต่งให้ราชทูตนำหนังสือตอบราชสาส์นไปถึงเสี้ยมก๊ก ว่ากล่าวประนีประนอมให้เลิกสงครามกันเสียทั้งสองฝ่าย
ในแผ่นดินไต๊เต็ก (นามแผ่นดินที่เรียกเจงหงวนนั้นยกเลิกเมื่อปีเปียซิน ตรงกับปีวอก จุลศักราช ๖๕๘ นามแผ่นดินที่เรียกไต๊เต๊กนี้ ขนานขึ้นเมื่อปีเต็กอิ๊ว ตรงวกับปีระกา จุลศักราช ๖๕๙ แผ่นดินไต๊เต็กมี ๑๑ ปี) เสี้ยมก๊กให้ราชทูตมาขอม้า พระเจ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ประทานเสื้อกิมหลูอี(เสื้อยศลายทอง)ให้ไป
........................................................................................................
(๑) เมื่อครั้งราชวงศ์หงวนเป็นใหญ่ในเมืองจีน ยกกองทัพมาปราบปรามตีได้ทั้งเมืองญวนและเมืองพม่า ส่วนเมืองไทยจีนคงจะได้ความว่า พระเจ้าขุนรามคำแหงเข้มแข็งในการศึกสงคราม ทั้งภูมิประเทศก็อยู่ห่าง จึงแต่งทูตมาเกลี้ยกล่อมให้เป็นไมตรี
(๒) ควรจะสังเกตว่า ครั้งพระเจ้ารามคำแหงครองกรุงสุโขทัยนั้น เสี้ยมก๊กกับหลอฮกก๊กยังแยกกันอยู่ ข้อนี้มีเนื้อความในจารึกพ่อขุนรามคำแหงประกอบ ด้วยในจารึกนั้นชื่อเมืองขึ้นนครสุโขทัย ไม่มีชื่อเมืองอโยธยาเมืองละโว้และเมืองอื่นๆ ซึ่งต่อไปทางตะวันออก จนนครราชสีมา อาจจะยังมีผู้ปกครองเมืองละโว้เป็นอาณาจักร ๑ ต่างหาก ซึ่งเรียกในที่นี้ว่า หลอฮกก๊ก แต่เป็นไมตรีกับจีนมาก่อนแล้ว
(๓) ตรงนี้ทำให้เข้าใจว่า ทูตจีนมาครั้งแรกเป็นแต่มาฟังลาดเลา พึ่งมาทำไมตรีกันในคราวนี้
(๔) ที่จีนเรียกพระนามเสียก๊กอ๋องว่ากังมกติ๋ง จะมาแต่อะไรยังคิดไม่เห็น แต่ศักราชนั้นตรงกับแผ่นดินพระเจ้ารามคำแหง (กังมกติ๋ง ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้ ท่านว่าคือ กมรเต็ญ(อัญ) - กัมม์)
(๕) พระเจ้ารามคำแหงเสด็จไปเมืองจีน ๒ ครั้งนี้ ที่ไปเอาจีนเข้ามาทำเครื่องถ้วยสังคโลก (ผมคิดว่าคงไม่ได้เสด็จไปถึงเมืองหลวงหรอกครับ คงเสด็จประพาสที่ใกล้ๆ มากกว่า ที่เข้าเฝ้าหงวนเสงจงฮ่องเต้ก็คงเป็นราชทูต - กัมม์)
(๖) ความตอนนี้ศักราชก็อยู่ในแผ่นดินพระเจ้ารามคำแหง เป็นแต่คัดมาจากหนังสือเรื่องอื่น
(๗) ม่าลี้อี๋เอ้อก๊ก นี้ เข้าใจว่า มลายู
.........................................................................................................
Create Date : 28 กันยายน 2550 |
Last Update : 28 กันยายน 2550 11:29:56 น. |
|
4 comments
|
Counter : 9610 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: กัมม์ วันที่: 28 กันยายน 2550 เวลา:9:42:29 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 28 กันยายน 2550 เวลา:9:45:12 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 28 กันยายน 2550 เวลา:9:46:58 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 28 กันยายน 2550 เวลา:13:38:20 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี อู่ทอง
ข้าพระพุทธเจ้า ขุนเจนจีนอักษร (สุดใจ) เลือกคัดแปลเรื่องพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงจีน ออกจากหนังสือยี่จั๊บสี่ซื้อ ตอนเหม็งซื้องั่วก๊กเลียดต้วน (เรื่องนานาประเทศในรัชกาลวงศ์เหม็ง) เล่ม ๘๒๘ หน้า ๓๕ถึงหน้า ๔๐ มีข้อความดังนี้
เสี้ยมหลอฮกก๊ก
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๓ แกชุด (ตรงปีจอ จุลศักราช ๗๓๒) พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ (จูหงวนเจียงได้ราชสมบัติ เป็นพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์วงศ์เหม็ง ครองราชสมบัติปีโบ้วซิน ตรงปีวอก จุลศักราช ๗๓๐ ขนานนามแผ่นดินว่าหงบู๊ อยู่ในรัชกาล ๓๑ ปี วงศ์เหม็งตั้งกรุงที่น่างกิง สมัยนี้เรียกว่าเมืองเกียงลิ่งฟู้ แขวงมณฑลเกียงซู) รับสั่งให้หลุยจงจุ่นเป็นราชทูต ถือหนังสือรับสั่งไปชวนเสี้ยมหลอฮกก๊กให้เป็นไมตรี(๑)
........................................................................................................
(๑) ตรงนี้ควรสังเกตว่า ในปลายแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี อู่ทอง จีนเรียกประเทศสยามว่า เสี้ยมหลอฮกก๊ก เหมือนหนึ่งว่าได้รวมเสี้ยมก๊กข้างเหนือกับหลอฮกก๊กข้างใต้ เข้าเป็นอันเดียวกันแล้ว ตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร พึ่งรวมกันต่อในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ บางทีตรงนี้ผู้เขียนจดหมายเหตุจีนชั้นหลังจะเรียกรวมกันเร็วไป
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๔ ซินหาย (ตรงปีกุน จุลศักราช ๗๓๓) เสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง เซียนเลียดเจี่ยวปีเองีย(๑) ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นและพาช้างกับเต่าหกเท้า และสิ่งของในพื้นประเทศมาเจริญทางพระราชไมตรี พร้อมกันกับหลุ่งจงจุ่น พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้เจ้านักงานเอาแพรม้วนประทานไปให้อ๋อง กับประทานผ้าม้วนให้ราชทูตด้วย
ในปีนั้นเสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง ให้ราชทูตกลับมาถวายชัยมงคลในการขึ้นปีใหม่ พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาพงศาวดารเรื่องได้ราชสมบัติ หับแพรม้วนผ้าม้วนประทานไปให้อ๋อง
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๕ หยิมจื๊อ (ตรงปีชวด จุลศักราช ๗๓๔) เสี้ยมหลอก๊กอ๋องให้ราชทูตพาหมี ชะนีเผือก กับสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๖ กุ่ยทิ้ว (ตรงปีฉลู จุลศักราช ๗๓๕) ราชทูตเสี้ยมหลอฮกก๊กนำสิ่งของมาถวาย
ในปีนั้นนางเซียนเลียะซือลิ่ง ซึ่งเป็นพระพี่นางของเสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋อง(๒) ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นซึ่งจารึกอักษรในแผ่นทองคำ กับสิ่งของในพื้นประเทศมาถวายตงกง(พระมเหสี) ตงกงไม่รับ
นางเซียนเลียะซือลิ่งให้ราชทูตนำสิ่งของกลับมาถวายอีก พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ก็ไม่ทรงรับ เป็นแต่โปรดให้เลี้ยงโต๊ะราชทูต
ครั้งนั้นเสี้ยมหลอฮกก๊กไม่ปรีชาสามารถ ชาวปีระเทศก็เชิญเซียนเลียะเปาปี๊เองียสือลี่ตอล่อหลก(๓) ลุงของเสี้ยมหลอฮกก๊กอ๋องขึ้นครองราชสมบัติ แล้วจัดให้ราชทูตมาทูลข้อความเรื่องนี้ กับเอาสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย เจ้าพนักงานก็เลี้ยงดูราชทูต และจัดสิ่งของพระราชทานตอบแทนตามธรรมเนียม
อ๋องที่ขึ้นครองราชสมบัติใหม่ ให้ราชทูตเอาสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย และถวายชัยมงคลในการขึ้นปีใหม่ กับถวายแผนที่เสี้ยมหลอฮกก๊กด้วย ราชทูตที่มาต่างก็มีสิ่งของถวาย พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ไม่ทรงรับสิ่งของราชทูต
แผ่นดินหงบู้ปีที่ ๗ กะอิ๋น (ตรงปีขาล จุลศักราช ๗๓๖) ราชทูตเสี้ยมหลอฮกก๊กชื่อ ซาลี้ปะ นำสิ่งของมาถวายที่เมืองกวางตง และบอกเล่าแก่เจ้าพนักงานว่า เรือบรรทุกเครื่องราชบรรณาการคราวนี้ มาถึงทะเลอูชีถูกลมคลื่นซัดไปถึงทะเลหน้าเมืองงไฮ้น่าง(ไหหลำ) เดชะบุญได้เจ้าเมืองและขุนนางช่วยจึงได้แต่ฝ้าย ไม้ฝาง ไม้หอมมาถวาย ที่เหลือลมคลื่นซัดไป
เทศาภิบาลมณฑลกวางตงตอบราชทูตว่า พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ไม่ทรงเชื่อว่าสิ่งของที่เอามานี้เป็นเครื่องบรรณาการ เพราะไม่มีพระราชสาส์นกำกับมา ซึ่งราชทูตว่าเรือถูกลมคลื่นซัดแต่สิ่งของยังเหลืออยู่ ทรงเห็นว่าคงจะเป็นพวกพาณิชเสี้ยมหลอฮกก๊กปลอมมา มีรับสั่งไม่ให้รับเครื่องบรรณาการไว้
พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งแก่จงซู(ขุนนางในที่ว่าการอุปราช) กับพนักงานลี้ปู้(กระทรวงแบบธรรมเนียม) ว่าเมื่อครั้งโบราณพวกจูโฮว(เจ้าเมืองเอก) มาเฝ้าเถียนจื๊อ(พระมหากษัตราธิราช) นั้น ปีหนึ่งนำสิ่งของมาถวายแต่เล็กน้อยครั้งหนึ่ง ถึงสามปีจึงมีสิ่งของมาถวายมากๆ เพราเป็นการประชุมใหญ่ ประเทศที่อยู่นอกเขตหัวเมืองทั้งเก้านั้น (หัวเมืองทั้งเก้านั้น คือสิบแปดมณฑลเดิมของประเทศจีน) สีหนึ่ง(สี่หนึ่งนั้นสามสิบปี)จึงมาเฝ้าครั้งหนึ่ง และมีสิ่งของในประเทศมาถวายเพื่อให้เห็นว่าซื่อสัตย์สุจริต แต่เกาหลีก๊กนั้นรู้แบบธรรมเนียมอยู่บ้าง จึงอนุญาตให้สามปีมาจินก้ง(๔) ประเทศทั้งหลายที่อยู่ไกลนั้นคือ เจียมเสีย(ประเทศจามปา) งังน่าง(ญวน) ซีเอี้ยง(โปรตุเกต) ซอลี้(ประเทศซอลี้นั้นอยู่ใกล้เคียงโปรตุเกต เข้าใจว่าสเปญ) เอี๋ยวอวา(ชวา) ปะหนี(ปัตตานี) ซำฟัดฉิ(ประเทศซามฟัดฉินั้น เคยขึ้นชวา) เสี้ยมหลอฮก(สยาม) จินละ(คือละแวก สมัยนี้จีนเรียกกังฟู้จ้าย คือกัมพูชา) เคยมาถวายของเสมอ ฝ่ายเราต้องใช้จ่ายมาก ตั้งแต่นี้ต่อไปจงห้ามประเทศทั้งหลายเหล่านั้นเสีย ว่าไม่ต้องมาถวายของทุกปี เพราะเป็นการลำบากเจ้าพนักงาน จงมีราชสาส์นไปให้ประเทศทั้งหลายทราบทั่วกัน(๕)
เมื่อมีพระราชสาส์นไปห้ามแล้ว ประเทศทั้งหลายก็ยังมาถวายของเสมอ ในปีนั้นสี่จื๊อ (บุตรขุนนางผู้ใหญ่หรือบุตรเจ้าประเทศราช ซึ่งจะได้รับทายาทของบิดา จีนเรียกว่า สี่จื๊อ) ของซูมั่นบังอ๋องชื่อ เจียวหลกควานอิน(๖) เป็นราชทูตถือหนังสือมาถวายฮ่องไทจื๊อ (พระราชโอรส) และมีสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้เจ้าพนักงานนำราชทูตเข้าเฝ้าตงกง(พระมเหสี)แล้ว ก็ให้เลี้ยงดูราชทูต กับประทานสิ่งของตอบแทนให้ราชทูตนำกลับไปให้สี่จื๊อ
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๘ อิดเบ๊า (ตรงปีเถาะ จุลศักราช ๗๓๗) ราชทูตเสี้ยมหลอฮกก๊กนำสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย และสี่จื้อ (บุตรที่จะได้รับสมบัติ) ของมี่นถ้ายอ๋ององค์เก่า (องค์เก่านั้นคือองค์ที่ออกจากราชการ) ชื่อเจี่ยวปะล่อกยก(๗) ให้ราชทูตนำราชสาส์นกับสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย เจ้าพนักงานก็ตอบแทนสิ่งของและเลี้ยงดูราชทูตเหมือนกันกับราชทูลอ๋ององค์ที่ยังอยู่ในราชสมบัติ
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๑๐ เตงจี๋ (ตรงปีมะเส็ง จุลศักราช ๗๓๙) ซูมั่นบังอ๋องให้สี่จื้อชื่อเจี่ยวหลกความนอินมาเผ้า(๘) พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้มีความยินดี รับสั่งให้อยงไวล่าง (ขุนนางในกระทรวงแบบธรรมเนียม) ชื่ออองหัง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในลีปู๋ (กระทรวงแบบธรรมเนียม) ตอบราชสาส์น กับตราไปให้อ๋องดวงหนึ่ง อักษรในดวงตรามีว่า เสี้ยมหลอก๊กอ๋องจืออิ๋น (ตราของเสี้ยมหลอก๊กอ๋อง) และประทานเครื่องยศกับค่าใช้จ่ายในระหว่างไปมาให้แก่สี่จื้อเจี่ยวหลกควานอิน ตั้งแต่นั้นต่อไปก็เรียกชื่อประเทศตามอักษรในดวงตราว่า เสี้ยมหลอก๊ก และเคยมาถวายบรรณาการเจริญพระราชไมตรีเสมอ ปีละครั้งก็มี สามปีสองครั้งก็มี ครั้นพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้จัดราชการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว ต่อหลายปีเสี้ยมหลอก๊กจึงมาเจริญทางพระราชไมตรีครั้งหนึ่ง(๙)
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๑๖ กุ่ยหาย (ตรงปีกุน จุลศักราช ๗๔๕) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กมาถวายของ พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ ประทานแพรม้วนกับเครื่องถ้วยชามให้ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กนำไปให้ก๊กอ๋องเหมือนกันกับจินละก๊ก(ละแวก)
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๐ เตงเบ๊า (ตรงปีเถาะ จุลศักราช ๗๔๙) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กนำพริกไทยหมื่นชั่ง ไม้ฝางหมื่นชั่ง (ชั่งหนึ่งหนักสี่สิบบาท) มาถวาย พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้เจ้าพนักงานเอาสิ่งของตอบแทนให้เป็นอันมาก ขณะนั้นราษฎรเมืองอวันเจียวซื้อไม้กฤษณากับสิ่งของต่างๆ ของพวกราชทูต ผู้รักษาเมืองหาว่าผู้ซื้อสิ่งของไว้นั้น คบคิดกันกับพวกต่างประเทศ ก็เอาตัวผู้ซื้อสิ่งของมาขังไว้ ลงโทษประจานมิให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง ครั้นพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ทรงทราบ ก็รับสั่งแก่เจ้าพนักงานว่า ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กมาเจริญทางพระราชไมตรี ต้องเดินผ่านมาทางเมืองอวันเจียว พวกราษฎรเห็นมีสิ่งขิงมาขายก็ซื้อไว้ มิใช่จะคบคิดกันกับพวกต่างประเทศ ให้ปล่อยราษฎรเหล่านั้นเสีย
........................................................................................................
(๑) คำ เซียนเลียดเจี่ยวปีเองีย ดูเสียงตรงกับสมเด็จเจ้าพระยามากกว่าคำอื่น หรือจะใช้ยศอย่างนั้นในสมัยนั้น ข้อนี้รู้ไม่ได้
(๒) ที่เรียกว่า นางเซียนเลียะซือลิ่ง เซียนเลียะนั้นตรงกับสมเด็จเป็นแน่ แต่ซือลิ่งเหลือที่จะเดา ที่ว่าเป็นพระพี่นางนั้นก็ตรงกัน แต่พระราชพงศาวดารว่าเป็นน้องนาง คือพระราชมารดาของสมเด็จพระราเมศวร
(๓) ตรงนี้เรื่องก็ตรงกับพระราชพงศาวดาร ที่จีนเรียกว่า เซียนเลียะเป๋าปี๊เองียสือลี่ตอล่อหลก นี้ ถ้าจะเดาตามเสียง ที่เห็นใกล้ก็คือ สมเด็จเจ้าพระยาสุรินทรารักษ์ แต่หมายความว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ นั้นเป็นแน่ ตรงนี้ว่าเป็นพระเจ้าลุงตรงตามพระราชพงศาวดาร
(๔) ประเพณีจิงก้ง หรือจิ้มก้องนี้ เป็นการที่เข้าใจผิดในข้อสำคัญเรื่องทางพระราชไมตรีในระหว่างจีนกับประเทศอื่น ไม่ใช่แต่กับไทยเท่านั้น จีนตั้งประเพณีว่า ชาวต่างประเทศที่ไปมาค้าขายเมืองจีนนั้น ต่อมีเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน จึงให้ไปมาค้าขาย ต่างประเทศต้องการประโยชน์ในทางค้าขาย จึงจัดเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ถึงต่างประเทศที่มาค้าขายเมืองไทย ก็มีราชบรรณาการมาถวายเช่นนั้น แต่จีนตีขลุมเอาว่า ประเทศที่ถวายเครื่องราชบรรณาการนั้นยอมขึ้นเมืองจีน เครื่องราชบรรณาการเป็นทำนองของส่วย เช่นถวายต้นไม้ทองเงิน แต่ประเพณีทั้ง ๒ อย่างผิดกันมาก ว่าโดยย่อ เครื่องราชบรรณาการจิ้มก้องไม่จำกัด แต่ของส่วยถวายกับต้นไม้ทองเงินจำกัดจะขาดไม่ได้
(๕) จะเห็นได้ในความตอนนี้ ว่าจีนจะตีขลุมเอาเมืองต่างประเทศที่เป็นไมตรี ให้แลเห็นว่าเป็นประเทศราชขึ้นเมืองจีน ที่ว่าไปถวายของทุกปีนั้น คือถึงฤดูมรสุมที่เรือเมืองต่างประเทศไปค้าขายเมืองจีน ก็ส่งราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีนปีละครั้ง ๑ เพื่อประโยชน์แก่การค้าขาย จีนเห็นไม่ตรงกับแบบส่งส่วย จึงแก้กำหนดให้ถวาย ๓ ปีครั้ง ๑ มิใช่เพราะความกรุณา ดังจะแลเห็นผลได้ในความต่อไปข้างหน้า ว่าประเทศเหล่านั้นก็ยังถวายปีละครั้งเสมอ
(๖) ที่จีนเรียก ซูมั่นบังอ๋อง คือพระเจ้าสุพรรณบุรีเป็นแน่ ที่เรียก เจียวหลกควานอิน นั้น ก็คือเจ้านครอินทร์ ตรงกับในพระราชพงศาวดาร พระราชพงศาวดารว่า เจ้านครอินทร์เป็นหลานเธอของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ได้ความในจดหมายเหตุแจ่มแจ้งว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชให้น้องยาเธอพระองค์ ๑ ครองเมืองสุพรรณบุรี ที่เป็นพระบิดาของเจ้านครอินทร์
(๗) ที่เรียกว่า เจี่ยวปะล่อกยก เดาได้แต่ว่า เจ้าพระ อะไรต่อไปเดาไม่ถูก แต่หมายความว่า พระรามราชา ที่เป็นพระราชโอรสของพระราเมศวรนั้นเป็นแน่ ควรจะสังเกตเห็นได้อีกอย่าง ๑ ว่าการถวายบรรณาการพระเจ้ากรุงจีนนั้น ในประเทศอัน ๑ เจ้านายเมืองไหนๆ จะไปถวายก็ได้ คือ พระองค์ไหนแต่งเรือไปค้าขายเมืองจีน ก็ฝากบรรณาการไปถวายพระเจ้ากรุงจีน ไม่เป็นบรรณาการของรัฐบาลนั้นตรงทีเดียว
(๘) เจ้านครอินทร์นี้ต่อมาได้ครองราชสมบัติ ต่อแผ่นดินสมเด็จพระรามราชา เพราะฉะนั้น เป็นพระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์ที่ ๒ รองแต่พระเจ้ารามคำแหงที่ได้เสด็จไปเมืองจีน
(๙) ควรสังเกตความตรงนี้ บรรณาการเมืองจีนไม่ได้ส่งเป็นกำหนดเสมอ ที่จีนว่านานๆ จึงไปเจริญทางพระราชไมตรีครั้ง ๑ ที่จริงแปลว่า ในตอนนั้นการค้าขายกับเมืองจีนซาไป
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระราเมศวร
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๑ โบ้วสิน (ตรงปีมะโรง จุลศักราช ๗๕๐) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กนำช้างสามสิบช้าง กับคนเลี้ยงช้างหกสิบคนมาถวาย
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๒ กี๊จี๋ (ตรงปีมะเส็ง จุลศักราช ๗๕๑) สี่จื้อเจี่ยวหลกควานอิน ให้ราชทูตนำสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๓ แกโหงว (ตรงปีมะเมีย จุลศักราช ๗๕๒) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กนำพริกไทย ไม้ฝาง ไม้หอม รวมน้ำหนักแสนเจ็ดหมื่นชั่ง (ชั่งหนึ่งนั้นหนักสี่สิบบาท) มาถวาย
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๔ ซินบี้ (ตรงปีมะแม จุลศักราช ๗๕๓) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กมาเจริญทางพระราชไมตรี ในปีนั้นชาวเจียมเสียก๊ก (ประเทศจามปา อยู่ตอนปากแม่น้ำโขง) แย่งชิงราชสมบัติซึ่งกันและกัน พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งไม่ให้เจ้าพนักงานรับเครื่องบรรณาการนานาประเทศ
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๒๘ อิดหาย (ตรงปีกุน จุลศักราช ๗๕๗) สี่จื้อเจี่ยวหลกควานอินให้ราชทูตนำราชสาส์นกับสิ่งของในพื้นประเทศมาถวาย ในราชสาส์นมีความว่า พระบิดาสิ้นพระชนม์ พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้รับสั่งให้จงกวาง (ขุนนางกรมขันที) ชื่อจ๋าวตะ นำราชสาส์นกับเครื่องสังเวยไปคำนับศพ และยกย่องสี่จื๊อเจี่ยวหลกควานอินเป็นอ๋อง กับพระราชทานสิ่งของไปให้เป็นอันมาก
ในพระราชสาส์นมีความว่า ตั้งแต่เรา (พระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้) ครองราชสมบัติมานี้ ได้แต่งให้ราชทูตออกไปนานาประเทศตามแบบธรรมเนียมวงศ์จิว (พระเจ้าบู๊อ๋องเป็นปฐมกษัตริย์วงศ์จิว ครองราชสมบัติปีกี่เบ๊า ตรงปีเถาะก่อนพุทธกาล ๕๗๘ ปี อยู่ในรัชกาล ๗ ปี วงศ์จิวตั้งกรุงที่เมืองลกเอี๋ยง สมัยนี้เรียกเมืองโฮ่น่างฟู้ ซึ่งตั้งเป็นที่ว่าการมณฑลโฮ่น่าง วงจิวลำดับ ๓๘ กษัตริย์ จำนวนปีในรัชกาล ๘๓๔ ปี) ด้วยวงศ์จิวให้ราชทูตไปนานาประเทศทั่วทั้งสี่ทิศ ราชทูตวงศ์จิวได้ไปถึงสามสิบหกประเทศ ภาษาพูดพ้องกันสามสิบเอ็ดประเทศ แต่แบบธรรมเนียมนั้นต่างกัน สมัยโน้นจึงมีประเทศใหญ่สิบแปดประเทศ ประเทศน้อยสี่สิบเก้าประเทศ มาขึ้นวงศ์จิว เป็นแบบธรรมเนียมเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ครั้งนี้ เสี้ยมหลอก๊กกับประเทศเราก็ไม่ใกล้กัน คราวนี้ราชทูตของท่านไปถึงเรา จึงทราบว่าเซยอ๋อง (อ๋ององค์ที่ล่วงลับ) ของท่านสิ้นพระชนม์ ขอให้อ๋องปกครองประเทศตามประเพณีของเซยอ๋องโดยความยุติธรรม ขุนนางและราษฎรก็คงจะชื่นชมยินดี
บัดนี้ เราจัดให้ขุนนางนำหนังสือยกย่องมาให้ท่าน(๑) ขอให้อ๋องปกครองประเทศอย่าให้ผิดแบบธรรมเนียม และอย่างได้เพลิดเพลินในกามคุณ แสวงหาความสำราญ ประเพณีของเซยอ๋องจึงจะเจริญ ขอท่านได้ประพฤติตามคำของเรานี้เถิด
........................................................................................................
(๑) อ๋ององค์ที่ล่วงลับไปนั้น คือพระเจ้านครสุพรรณบุรีที่เป็นพระบิดาของเจ้านครอินทร์ เจ้านครอินทร์ได้ครองเมืองสุพรรณบุรีต่อพระบิดา ก็สมด้วยพระราชพงศาวดาร แล้วจึงได้เข้ามาเสวยราชย์ในกรุงศรีอยุธยา ต่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราช
ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระรามราชาธิราช
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๓๐ เตงทิ้ว (ตรงปีฉลู จุลศักราช ๗๕๙) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กมาเจริญทางพระราชไมตรี
แผ่นดินหงบู๊ปีที่ ๓๑ โบ้วอิ๋น (ตรงปีขาล จุลศักราช ๗๖๐ ในปีนั้นพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้สวรรคต พระเจ้ากยหุยฮ่องเต้ครองราชสมบัติลำดับกษัตริย์ที่ ๒ วงศ์เหม็ง ต่อขึ้นปีใหม่จึงขนานนามแผ่นดินว่าเกียนบุ๋น) ราชทูตเสี้ยมหลอก๊กเจริญทางพระราชไมตรี
แผ่นดินเกียนบุ๋นปีที่ ๔ หยิมโหง้ว (ตรงปีมะเมีย จุลศักราช ๗๖๔ ในปีนั้นเอียนอ๋องราชบุตรที่ ๔ ของพระเจ้าไถ่โจ๊วฮ่องเต้ แย่งเอาราชสมบัติของกษัตริย์ที่ ๒ วงศ์เหม็งได้ เอียนอ๋องก็ขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระเจ้าเสงโจ๊วฮ่องเต้ลำดับกษัตริย์ที่ ๓ วงศ์เหม็ง ขนานนามแผ่นดินว่าอย้งลัก ย้ายไปตั้งราชธานีที่เมืองปักกิ่ง) ครั้นพระเจ้าเสงโจ๊วฮ่องเต้ครองราชสมบัติแล้ว ก็รับสั่งแก่ขุนนางคนหนึ่ง ให้เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นไปเสี้ยมหลอก๊ก