กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

นำนักเรียนราชินีเที่ยวห้องดำรง


โต๊ะทรงพระอักษร



นำนักเรียนราชินีเที่ยวห้องดำรง
เมื่อวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๑

นำนักเรียนเที่ยวห้องดำรงนี้ สมาคมศิษย์เก่าได้พิมพ์ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่ทั่วถึงกัน ดังนั้นท่านหญิงพูนจึงประทานมาลงในราชินีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อว่าใครต้องการจะไปเที่ยวห้องดำรง จะได้อาศัยเอาเรื่องนี้ Guide นำไป

ฉันขอขอบใจผู้ที่มาในวันนี้ทุกคน ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจในคำว่า “หอสมุด” กันเสียก่อน คำว่าหอสมุดถ้าฟังดูเผินๆ ก็เข้าใจว่าเป็นที่เก็บหนังสือเท่านั้น แต่ที่จริงเขามีความมุ่งหมายต่างๆ กัน เช่นหอโน้นเป็นหอสมุดของชาติ National Library เป็นที่เก็บหนังสือทุกประเภทที่ชาติจะพึ่งมี สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงตั้งพระทัยว่าจะพยายามให้มีหนังสือที่เกี่ยวกับไทยทุกพวกไว้ในหอนั้น โดยเฉพาะ Dictionary เป็นต้น แต่เราก็ยังหามาได้แต่ของไทยอาหมพวกเดียว ไทยอาหมนี้อยู่ในอาแซม Arsam ระหว่างอินเดียกับพม่า และได้สูญเป็นภาษาที่ตายแล้ว เพราะไม่มีใครใช้ในที่นั้น แต่ก็ยังมีผู้ที่อุตส่าห์ทำ Dictionary ไวให้เรารู้ได้ว่าเป็นพวกเดียวกัน เพราะมีหลายคำที่เรายังใช้อยู่จนบัดนี้ เราก็เป็นไทยพวกหนึ่ง อย่างไรเราก็จะไม่สูญไปได้เช่นเขาเหมือนกัน

คราวนี้กลับมาพูดถึงหอสมุดดำรงฯ นี้ หอนี้เป็นที่เก็บหนังสือของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ใช่เพราะท่านเป็นคนใหญ่คนโต หรือเป็นเจ้าเป็นนาย แต่ขอให้ดูบนฝาผนัง ๒ ข้าง นี่คือประกาศนียบัตรที่ต่างประเทศถวายด้วยยอมยกให้ท่านเป็นนักปราชญ์ ถ้าเรานึกว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นคนไทยคนหนึ่งของเราทุกคนแล้ว เราก็น่ายินดีว่าเราได้มีคนคนหนึ่งที่โลกยอมรับว่าเป็นนักปราชญ์เช่นพวกเขามีกัน

ทำไมโลกจึงยอมให้ท่านเป็นนักปราชญ์ พระองค์ท่านเองท่านตรัสเสมอว่า “พ่อไม่ใช่เทวดา พ่อก็คนเรานี่แหละ แต่พ่อรักเรียน รักรู้ และพยายามอ่านหนังสืออยู่เสมอเท่านั้น” อีกประการหนึ่ง ท่านได้ทรงมีโอกาสทันพบเจ้านายรุ่นเก่า มีสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๒ ซึ่งจะต้องทรงทราบเรื่องราวในรัชกาลที่ ๑ ได้ดี เพราะพวกเราที่อยู่ในที่นี้ ๒ – ๓ คน มีตัวฉันเองเป็นต้น เป็นคนเกิดในตอนหลัง รัชกาลที่ ๕ แต่ก็ยังได้รู้เรื่องในรัชกาลที่ ๔ และจำเรื่องในรัชกาลที่ ๕ และที่ ๖ ได้อย่างแจ่มใส

ส่วนในพงศาวดาร สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เอง และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ได้ทรงเรียนจากสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ถึง ๔ นั้น ท่านทรงทันได้พบกันทั้ง ๔ พระองค์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงเล่าว่า เมื่อทรงมีพระชันษาได้ ๕ ปี สมเด็จพระชนกของพระองค์ได้ทรงพาไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ที่วัดพระแก้ว ทรงจำได้ว่าสมเด็จพระอัยยกาธิราชทรงอุ้มขึ้นประทับบนพระเพลา แล้วตรัสเรียกกรมหมื่นรักษ์รณเรศว่า “เอ้า อุ้มหลานไปดูภาพรามเกียรติ์ที” ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่เป็นองค์ที่ ๔ ในวัดโพธิ์ จึงมีพระราชดำรัสไว้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินต่อไปไม่ต้องสร้างเดิมอีก ขอให้ทิ้งไว้เป็นอนุสรณ์ว่า ๔ พระองค์นี้ ท่านได้ทรงทันรู้จักกัน”

น่าจะนึกว่า เป็นบุญของเราที่เผอิฐให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่แรกจัดอย่างใหม่ เพราะเดิมเราปกครองตามระบอบกรุงศรีอยุธยา มี ๔ เสนาบดี แยกกันปกครองเป็นส่วนๆ คือ ใต้ เหนือ ตะวันออก ตะวันตก ครั้นถึงสมัยเรามีเรื่องยุ่งๆ กับชาวตะวันตก การแบ่งกันปกครองก็ไม่สะดวกรวดเร็วได้ทันเวลา เพราะการคมนาคมของเราก็ยังไม่ดีพอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เสด็จมาจัดแบบใหม่ เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ฯลฯ อย่างปัจจุบัน เนื่องแต่ได้มีโอกาสจัดการปกครองท้องที่ทั่วพระราชอาณาจักรนี้ จึงทรงมีเวลาขุดค้นไปด้วย

ฉันได้เคยตามเสด็จและได้เคยเห็นท่านทรงทำงานในตอนเช้าราว ๙ นาฬิกา ท่านเสด็จกับพวกข้าราชการมีตั้งแต่เทศาฯ ไปจนนายอำเภอ ออกไปตรวจศาลากลางและสถานที่ต่างๆ รวมทั้งคุกด้วย เราพวกผู้หญิงไม่ต้องไป เพราะเป็นเรื่องราชการอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งต้องอยู่ทำกับข้าวเตรียมจัดโต๊ะไว้ให้พร้อม พอท่านเสด็จกลับมาก็เข้าโต๊ะพร้อมกับข้าราชการด้วย สนทนากันไปจนราวบ่าย ๒ โมงก็ต่างแยกกันพัก พอบ่าย ๔ โมงก็ตั้งต้นออกใหม่ คราวนี้เราได้ไปด้วยเพราะเป็นเรื่องขุดค้น วิธีค้นของท่านคือประกาศกับพวกเดินทางทั้งพวกพรานและพวกราษฎรสามัญว่า ถ้าใครพบวัตถุสถานหรือสิ่งของโบราณให้มานำเจ้าหน้าที่ไปดู จะให้รางวัลตามค่าของสิ่งที่พบ ถ้าเป็นศิลาจารึกก็ต้องล้างถูเอากระดาษว่าวปะทาหมึก แห้งแล้วเอาออกมาม้วนใส่กล่องกลับมาแปล

เราออกจากหอสมุดนี้แล้ว จะไปดูพิพิธภัณฑ์ วันนี้เป็นวันเปิดให้คนดูคงจะแน่นและไม่สะดวกที่จะไปอธิบายกันที่โน่น ฉะนั้นขอให้เราทำความเข้าใจกันที่นี่ก่อน ฉันขอให้ทุกคนเข้าใจว่า ของในพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นของพิสูจน์ว่าเราได้เจริญมาแล้วอย่างไร ไม่ใช่ของที่ตายแล้วและไม่ควรเอาใจใส่ ไทยเราเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่ารู้น่าเรียน แต่เผอิญหอพระสมุดอันเป็นแหล่งที่รวมความรู้ของเรา ได้ถูกเผาเสียเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๕ เราจึงควรจะช่วยกันตั้งต้นทำใหม่อยู่เสมอ และต้องทำด้วยมีหลักฐานพร้อมด้วยเหตุและผล ถ้าเราจะทำกันจริงๆ แล้ว ยังมีงานอีกมากมายที่จะทำ โดยเฉพาะหนังสือเรียน ฉันขอชวนเธอทุกคนให้เอาใจใส่ในทางนี้

เราเกิดมาในเวลาที่ลำบาก เพราะการคมนาคมของโลกเปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ที่จะหวังเอาว่าต่างคนต่างอยู่นั้นไม่ได้เสียแล้ว เรามีแต่จะพบกันเร็วขึ้นและมากยิ่งขึ้นทุกที ยิ่งเราเกิดมาทีหลังเราก็ยิ่งมีเรื่องที่จะเรียนรู้มากขึ้นเป็นลำดับ เพราะวานนี้ วันนี้ และพรุ่งนี้จะตัดออกจากกันไม่ได้ เราต้องได้รับความเห็นความรู้ใหม่ๆ จากที่อื่นให้พอเหมาะด้วย เพื่อการสมาคม แต่เราจะรับเอามาหมดจนลืมตัวเองนั้นก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีใครนิยมผู้ที่ไม่รู้จักตัวเอง คิดดูง่ายๆ ว่าถ้าท่านไปพบคนอเมริกาคนหนึ่ง ท่านถามเขาว่าเรื่องอเมริกาเป็นอย่างไร ถ้าคนๆนั้นตอบว่าไม่รู้แล้ว ท่านจะนึกว่าคนๆนั้นเป็นอย่างไร ท่านจะชอบเขาสักเพียงไหน ท่านจะไม่นับถือเขาได้เลย

แต่มีข้อสำคัญอยู่อย่างหนึ่งที่เราจะลืมเสียมิได้ ว่าชาวต่างประเทศนั้นเขาเรียนเขารู้มากกว่าที่เราเข้าใจ ฉะนั้นจะตอบอะไรเขาแล้ว ถ้าไม่รู้ก็บอกว่าไม่รู้ แล้วไปเรียนเสียให้รู้ อย่าเดาเป็นอันขาด อย่างลืมว่าเขามีหนังสืออ่าน ถ้าเขาจับได้ว่าเรารู้ไม่จริงแล้ว เขาจะนึกอย่างไร ในเวลาที่ฉันไปยุโรป ไม่มีใครถามเลยว่าเมืองไทยใหญ่โตเท่าไหน มีราษฎรเท่าใด นอกจากคนเดียว นอกจากนั้นมักจะถามว่า ศาสนาพุทธของท่านผิดกับของจีนและญี่ปุ่นอย่างไร พงศาวดารของท่านเป็นอย่างไรในสมัยนั้น ซึ่งแสดงว่าเขารู้เราอยู่แล้ว

คราวนี้กลับมาพูดกันถึงห้องนี้ต่อไป เรารู้แล้วว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ท่านเรียนรู้มาจากไหน เราก็ควรรู้ต่อไปอีกว่าท่านเป็นอย่างไร มีอะไร ใช้อะไรบ้าง จึงเป็นนักปราชญ์ได้

นั่นคือพระรูปหินอ่อน ทำในประเทศอิตาลีเมื่อเสด็จยุโรปครั้งแรก พระชันษา ๒๙ ปี
๒ ข้างพระพุทธรูปนี้คือต้นไม้แก้ว กรมขุนวรจักรธรานุภาพทรงทำ แสดงให้เห็นว่าคนไทยทำแก้วได้ดีเท่าถึงที่ทำในเมืองเวนิช
ตู้ด้านขวาพระรูป ใส่ของที่ระลึกต่างๆ ในการเสด็จไปยุโรป ๒ ครั้ง
ตู้ด้านซ้าย ของที่ระลึกเสด็จตรวจราชการครั้งแรก เพราะเป็นเสนาบดีกระทรงมหาดไทยคนแรกที่ออกตรวจราชการเอง
งาช้างคู่นี้ เป็นงาพลายทองคำ ซึ่งเคยทรงเมื่อตรวจท้องที่ที่เมืองนครสวรรค์ เพราะเวลานั้นไม่มีรถยนต์ ช้างตัวนี้ตกมันเข้าไปเหยียบคนในตลาดตาย ตำรวจจึงยิงตาย พระครูที่วัดพยุหคิรีเป็นเจ้าของช้าง จึงนำงานี้มาถวายว่าเพราะเคยทรงเขามา
โต๊ะทรงพระอักษรนี้ จัดไว้ตามที่ทรงใช้อยู่ทุกวันไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย แม้ปฏิทินก็ทรงเปิดไว้เองถึงวันนั้นก่อนสิ้นพระชนม์ ๒ วัน
อานม้า เก้าอี้ผ้าใบ หีบอาหาร ฯลฯ เหล่านี้ เป็นของทรงใช้ในเวลาตรวจราชการทั่วพระราชอาณาจักรทุกๆ ปี

ต่อจากนี้ควรดูหนังสือเป็นตู้ๆ ไป หนังสือที่ทรงมีอาจไม่มากหรือแปลกไปจากที่อื่นๆ แต่ที่อื่นไม่มีหนังสือที่ทรงโน้ตไว้ด้วยพระองค์เองเช่นในหอนี้ โดยเฉพาะตู้พงศาวดาร ท่านจะไปเที่ยวต่างประเทศหรือในเมืองไทย หอนี้มีรูปและหนังสือนำเที่ยวให้ท่านดูได้ทุกแห่ง

คนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน ถ้าพูดตามทางศาสนาก็ว่าบุญแต่งกรรมแต่ง ฉะนั้น เราจักเหมือนกันไปทุกอย่างไม่ได้ เวลาเราเป็นนักเรียน เราก็เรียนไปตามสมุดด้วยความนึกคิด ครั้นออกไปพบชีวิตจริงๆ เข้าแล้ว ก็มักจะพบกับสิ่งที่ไม่เคยคิดขึ้นอีกมาก เพราะฉะนั้นการที่นักเรียนเก่ากับนักเรียนใหม่ได้พบกันนั้น ควรจะยินดีที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชีวิตของเพื่อผู้หญิงด้วยกัน

ก่อนจะจบ ฉันอยากบอกว่า ฉันแน่ใจว่าเวลานี้เสด็จพ่อกำลังทรงยิ้มด้วยความพอพระทัย ที่ได้ทรงเห็นว่ามีผู้เอาใจใส่มาศึกษาดังพระประสงค์ และคงจะทรงขอบใจและประทานพรท่านทุกคนให้มีความสำเร็จรุ่งเรืองในสติปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างรอบคอบ ให้สมชื่อกับสำนักนี้ – ราชินี คือ ยอดของหญิง.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 10:28:34 น.   
Counter : 2039 Pageviews.  


ห้องดำรง


อาคารเดิมหอสมุดดำรงราชานุภาพ



ห้องดำรง

การให้ของมีค่าเป็นสมบัติแก่ชาตินั้น ถ้าเป็นเรื่องในประเทศยุโรปหรืออเมริกา ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอันใดเลย เพราะเขาทำกันอยู่เสมอแล้ว แม้การให้แก่โลกโดยไม่เลือกชาติศาสนา เขาก็ทำกันได้และถือว่าเป็นยอดของจิตมนุษย์ด้วย ในเมืองไทยก็ได้มีผู้บริจาคมาแล้วมากมายเหมือนกัน เช่นโรงเรียน โรงพยาบาลและสิ่งของในพิพิธภัณฑ์เป็นต้น ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นแปลกประหลาดอันใดที่จะให้ห้องดำรงนี้แก่ชาติ แต่ได้มีเพื่อนฝูงหลายคนมาซักถามว่าเหตุใดจึงคิดให้ดังนี้ และในที่สุดรุ่งอรุณก็ขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องนี้ให้ ข้าพเจ้าลังเลใจว่าจะเขียนดีหรือไม่ดี แต่แล้วก็นึกได้ว่าการจดความจริงไว้ดีกว่าปล่อยให้เป็น “พระอินทร์สร้าง” ในภายหน้า แล้วก็ลงมือเขียนเล่าดังต่อไปนี้

ในสมัยเมื่อข้าพเจ้ามีชีวิตอยู่ในวงสมาคม พวกเพื่อนตามสถานทูตเคยถามว่า “พรินเซส ท่านเคยนึกถึงงานพ่อท่านที่ได้ทำไว้บ้างหรือเปล่า” ข้าพเจ้าถามว่า “ทำไมจะต้องนึกถึงเล่า” เขาตอบว่า “ฉันหมายความว่าต่อไปภายหน้าเมื่อไม่มีพระองค์ท่านแล้ว” ข้าพเจ้าสะดุ้งมองดูด้วยคำว่า “ไม่มีพระองค์ท่านแล้ว” แล้วก็ตอบไปว่า “ยังไม่คิดละ” แต่..แล้วก็ทำให้ข้าพเจ้าคิดจริงๆ แต่นั้นมา เป็นแต่ยังไม่เห็นทางว่าจะทำอย่างไรดี

ถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ โชคชะจาเดาะเราไปสู่ยุโรปประเทศโดยมิได้นึกฝัน แล้วข้าพเจ้าก็เริ่มละเมอเพ้อพกไปตามความรู้เห็นใหม่ๆ นั้นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เมื่อข้าพเจ้าโผล่ขึ้นไปบนบันไดโรงออปราที่กรุงปารีส ได้เห็นท่านวากเนอร์ ท่านปูจินี และท่านโมซาต ฯลฯ ยืนถือโน้ตเป็นสง่าอยู่ ตัวโตใหญ่ และมีรูปหินอ่อนครึ่งตัวของผู้แต่งเพลงที่มีชื่อเสียงไว้เป็นระยะๆ ไปทั้งสองฟากโรงออปราที่มีชื่อเสียงนั้น ข้าพเจ้าร้องว่า “อ้อหน้าตาเป็นอย่างนี้เอง” แล้วก็ตื่นเต้นดูอื่นต่อไป ครั้นข้ามทะเลไปถึงเมืองอังกฤษ เราก็ได้เข้าเฝ้าควีนอลิสซาเบธทรงฉลองพระองค์ของท่านประทับอยู่บนเก้าอี้ในห้องโบสถ์ เวมินสเตอร์ ถามผู้นำว่า “เหมือนหรือ” เขาตอบว่าพิมพ์จากพระพักตร์เมื่อสิ้นพะชนม์” เราได้พบท่านลอร์ดเนลซันใส่เสื้อและวิกของท่านอยู่หลังหมอนกำมะหยี่ที่วางดาบของนโปเลียนที่ ๑ ไว้ และมีเศษกระดาษลายพระหัตถ์ของนโปเลียนที่ ๑ เขียนไว้ว่า “ข้าพเจ้ายอมแพ้และยอมเรียกชาติของท่านว่าผู้ครองทะเล”

ต่อมาเราไปดูพระราชวังวินเซอร์ พอก้าวขึ้นอัฒจันทร์ใหญ่ก็เห็นรูปเกราะยืนอยู่ตรงกลาง ข้าพเจ้าร้องทักออกไปทันทีว่า “แน่ เฮอรี่ที่ ๘” ราชบรรณารักษ์ผู้นำหันมาก้มหัวรับและอมยิ้ม แล้วเขาก็พาไปแวะดูกรอบกระจกติดไว้ที่ฝา มีหมวกและถุงตีนเด็กอ่อนและคอลเลอร์จีบซึ่งมีรอยจุดดำๆ ติดอยู่ในกรอบนั้น และมีการ์ดจดไว้ว่า “ของพระเจ้าชาร์ลที่ ๑” วันที่ลอร์ดแมร์เชิญเราไปกินกลางวันที่กรุงลอนดอน (City of London) เครื่องทองที่ตั้งอยู่กลางโต๊ะก็ล้วนแต่แกะสลักบอกเรื่องไว้ว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้นๆ พระราชทานแก่กรุงลอนดอน เมื่อวันที่และปีนั้นๆ ซึ่งย้อนหลังขึ้นไปตั้ง ๑๐๐ – ๒๐๐ ปี ท่านแมร์ก็ยินดีหยิบอวดให้เราดูเป็นชิ้นๆ ข้าพเจ้าอ้าปากว่า “ที่นี่ไม่มีใครตาย”

เมื่อกลับมาแล้ว ข้าพเจ้าก็เริ่มคุยกับเสด็จพ่อว่า “แหมอยากเป็นคนไม่ตายบ้างจริง ทำไมเราไม่ทำอย่างนี้บ้าง มันหนุนกำลังดีพิลึก” ท่านทรงยิ้มอย่างสมเพชแล้วตรัสถามว่า “ทำยังไง” ข้าพเจ้าวางโตตอบว่า “ก็พระระเบียงวัดพระแก้มีถมไป ตั้งเข้าให้เป็นแถวก็จะดีจริงๆ” ท่านย้อนถามว่า “ใครจะเป็นคนเลือกว่าจะทำรูปใคร” ข้าพเจ้าดันต่อไปว่า “ก็เอางานที่ทำเป็นเครื่องตัดสินไม่ได้หรือ” ท่านทรงยิ้มแล้วตอบว่า “เธอมันยังรู้จักเมืองไทยน้อยนัก ถ้าเลือกผิดไปแม้คนเดียวมันก็หมดค่า แล้วจะเป็นประโยชน์อะไร นอกจากรกและรำคาญตา” ข้าพเจ้าหมดท่าตรงนี้เองเพราะเห็นว่าจริง

ครั้นเที่ยวต่อไปถึงเมืองแฮมเบิร์กพรินส์บิลมาร์ค หลานปู่ท่านบิสมาร์คเป็นผู้ใหญ่รวมอาณาจักรของเยอรมันนีได้เป็นปึกแผ่น เชิญเราไปเลี้ยงน้ำชาที่บ้าน แล้วพาดูห้องที่ท่านบิสมาร์ค เชิญเราไปเลี้ยงน้ำชาที่บ้าน แล้วพาดูห้องที่ท่าบิสมาร์คอยู่ เขาทิ้งไว้อย่างเวลามีชีวิตอยู่ทุกสิ่ง แม้กล้องยาสูบที่เป็นไม้เลวๆ ก็วางไว้ตรงที่เดิม เราดูแล้วก็รู้จักเจ้าของห้องได้ทันทีว่าเป็นคนชนิดไร ห้องนี้ทำให้ข้าพเจ้านึกได้ว่า วามจนเป็นของไม่น่าอายเลย เราก็น่าจะทำได้เช่นห้องนี้ แล้วก็ลองพูดกับเพื่อนๆ ฝรั่งดูว่าอยากทำบ้าง เขาก็พากันเห็นชอบและหนุนว่าควรทำ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้ทูลเสด็จพ่อ เพราะข้าพเจ้ายังพูดเรื่องตายกับเสด็จพ่อไม่ได้เวลานั้น

ครั้นไปถึงเมืองแอมสเตอร์แดมด์ในฮอลแลนด์ มิสเตอร์ซาเดอแมนกงสุลเจนเนอราลของเรา ลุกขึ้นยืนสปีคด้วยอย่างหน้าแดง เมื่อลุกจากโต๊ะแล้ว มิสเตอร์ซาเดอแมนก็เดินมาหาข้าพเจ้าบอกว่า “พรินเซส นี่คือสปีคครั้งแรกของฉัน ความยินดีที่ได้รู้จักกับพ่อท่านให้ลืมอาย” ครั้นเห็นข้าพเจ้าขอบใจพอเป็นพิธี มิสเตอร์ซาเดอแมนก็พูดอย่างเคร่งขรึมต่อไปว่า “จริงๆ นะพรินเซส ท่านมีสิทธิเต็มที่ที่จะภาคภูมิใจในพ่อท่าน คนชนิดนี้เกิดมาเพื่อโลก เจาเป็นคนของโลกจริงๆ โลกเรามีคนชนิดนี้อยู่เพียง ๔ – ๕ คนเท่านั้น เผอิญคนหนึ่งใน ๔ – ๕ คนนี้ไปเกิดอยู่ในเมืองไทย” ข้าพเจ้าหัวเราะตอบว่า “ถ้าเช่นนั้นคนไทยก็ควรจะภูมิใจซี ไม่ใช่ฉันคนเดียว” ทุกคนที่รู้จักมิสเตอร์ซาเดอแมนจะรับรอบได้ว่าเขาเป็นคนชั้น ๑ ทั้งรูปร่าง หน้าตา กิริยา และความสามารถ ไม่มีเกลียวหลวม (Screw loose) แต่อย่างไรแม้แต่น้อย ฉะนั้นข้าพเจ้าก็ตัวลอยกลับมาบ้าน และนึกอยู่ว่าเรามีสิทธิเต็มที่ที่จะภาคภูมิใจในพ่อของเรา

แต่...โลกย่อมหมุนไปสู่มืดและสว่างอยู่ทุกวินาที ไม่มีอะไรแน่นอนตามธรรมชาติ ฉะนั้นในเวลา ๒๐ เดือนต่อมาเสด็จพ่อของข้าพเจ้าก็หมุนไปตกชาตาเป็นคนขายชาติ หนังสือพิมพ์รายวันลงเรื่องต่างๆ ล้วนไม่มีดี ข้าพเจ้านึกปลอบใจตัวเองว่าเป็นคราวเคราะห์ แต่แล้วก็ได้พบเพื่อนคนหนึ่งซึ่งมียศเป็นถึงชั้นพระยา บอกข้าพเจ้าว่า “เรื่องขาย ๔ รัฐนี้ ใครๆ ก็เชื่อ คนที่มีอายุ ๓๐ ปีแล้วเชื่อทั้งนั้น กระหม่อมเองก็เชื่อเพราะเคยได้ยินเจ้านายท่านรับสั่งกัน” ข้าพเจ้าหัวเราะแล้วถามว่า “เอขายยังไงถึงไม่ถูกถอดเสียนานแล้ว” เจ้าคุณหัวเราะตอบว่า “ไม่รู้เลย” ถ้อยคำของเจ้าคุณผู้นี้บวกกับคำของมิสเตอร์ซาเดอแมน ชกตีกันยุ่งอยู่ในหูของข้าพเจ้า แล้วก็ทำให้ตกลงใจแน่นอนว่า จะต้องทำให้โลกรู้จักเสด็จพ่อจริงๆ ให้จงได้ ข้าพเจ้าเริ่มคิดถึงห้องดำรงแต่นั้นมา แต่ยังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรและที่ไหน

ถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ เสด็จพ่อทรงตั้งต้นคิดทำพินัยกรรมใหม่ ท่านตรัสว่าจะต้องทำให้เหมาะแก่เวลา ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ทูลตอบว่าอย่างไร จนเช้าวันหนึ่งในปีนัง เสวยกาแฟแล้วตรัสกับข้าพเจ้าว่า “พ่อตั้งเธอเป็นกรรมการคนหนึ่งในพินัยกรรม นั่งลงฟังเหตุผลก่อน” ข้าพเจ้ากำลังจะลุกไปทำงานก็กลับนั่งด้วยอาการไม่สบายใจ เพราะกลัวคำว่าพินัยกรรม ท่านตรัสต่อไปว่า “เพราะแม่เธอต้องทำขนมขายเมื่อแรกเข้ามาอยู่กับพ่อ” แล้วท่านทรงมองดูข้าพเจ้าด้วยน้ำพระเนตรเต็มพระเนตร ข้าพเจ้านั่งงงกลั้นหายใจแล้วรีบทูลตอบไปว่า “ขอประทานอย่าให้หม่อมฉันต้องฟังเรื่องพินัยกรรมเลย หม่อมฉันอยู่กับเสด็จพ่อด้วยความตั้งใจจะเป็นลูกดีและบูชาพระคุณที่ไม่เห็นมีใครเหมือน หม่อมฉันไม่อยากได้อะไรตอบแทน ถ้านึกถึงพินัยกรรมแล้ว หม่อมฉันก็จะมีราคาเท่าบ่าวคนหนึ่งเท่านั้น” ข้าพเจ้าพูดแล้วก็รีบลุกหนี ก่อนจะร้องไห้ออกมา ท่านก็ไม่ว่าหรือเรียกให้หยุด

รุ่งขึ้นอีก ๒ – ๓ วัน เราขึ้นรถเล่นเย็นๆ ตามหมอสั่ง ผ่านตึกหลังหนึ่งริมทะเล ท่านตรัสขึ้นว่า “ในพินัยกรรมพ่อสั่งไว้ว่า” คราวนี้ข้าพเจ้าหนีไม่ได้เพราะรถกำลังแล่น ข้าพเจ้ารีบทูลบ่ายเบี่ยงเปลี่ยนเรื่องขึ้นว่า “เออ ที่หม่อมฉันทูลว่าไม่อยากได้อะไรนั้น ดูเหมือนผิดเสียแล้ว มีของสิ่งหนึ่งที่หม่อมฉันอยากได้ และเชื่อว่าจะไม่ต้องแย่งกับใครด้วย” ท่านหันมาถามว่า “อะไร” ข้าพเจ้าทูลตอบว่า “หนังสือ เพราะหม่อมฉันต้องไปเห็นลายพระหัตถ์เสด็จพ่ออยู่ตามเวิ้งเขษมเล่มละ ๒๕ สตางค์ ละก็จะร้องไห้งอทีเดียว” ท่านถามว่า “จะเอาไปทำอะไร” ทูลตอบว่า “จะทำห้องดำรง เชื่อว่าคงจะมีใครรับรักษาไว้ให้สักแห่งหนึ่งเป็นแน่” ท่านทรงยิ้มแล้วถามว่า “จริงๆ หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “จริง” ท่านก็ตอบว่า “เอาซี แล้วพ่อจะบอกเขาให้” ต่อมาพี่น้องข้าพเจ้าทุกคนก็รู้กันว่าเสด็จพ่อประทานหนังสือและรูปเก่าๆ ทั้งหมดให้ข้าพเจ้าแต่ผู้เดียว

ถึง พ.ศ. ๒๔๘๕ เราได้กลับมาจากปีนัง เพราะเสด็จพ่อไม่ทรงสบายเป็นโรคพระทัยพิการ เช้าขึ้นท่านก็ทรงแต่งหนังสือตามเคย แต่คราวนี้เติมทรงจัดห้องสมุดของท่าน ให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเป็นหมวดๆ ด้วย บ่ายวันหนึ่งท่านกำลังเสวยน้ำมะนาวเมื่อบรรทมตื่นจากทรงพักแล้ว หญิงเหลือเดินมาตามข้าพเจ้าว่า “เจ้าพี่ เสด็จพ่อให้ไปเฝ้าแน่ะ ทำใจเสียให้ดี ฉันคิดว่าท่านจะพูดอะไรด้วย เพราะดูท่านนั่งคิดอะไรอยู่ก็ไม่รู้” ข้าพเจ้าเดินเข้าไปเฝ้าในห้องหนังสือ ท่านชี้เก้าอี้ข้างพระองค์ “นั่งลงก่อน” แล้วท่านก็มองหนังสือรอบๆ ห้อง แล้วก้มลงมองพระบาทของท่านที่กำลังบวมอยู่ สักครู่ก็ตรัสถามว่า “เธอจะทำอย่างไรกับหนังสือของพ่อ” ข้าพเจ้าทูลว่าจัดเป็นห้องสำหรับค้นต่อที่ทรงทำไว้ แต่ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะรับหรือไม่ และทำอย่างไรถึงจะไม่ให้หายได้ แต่ไม่เป็นไรถ้าทำที่นี่ก็ยังไม่ได้ หม่อมฉันก็จะให้หอสมุดในยุโรปหรืออเมริกาไปก่อน เมื่อคนไทยเราเห็นคุณค่าเมื่อไร เขาก็ไปจัดการเอามาก็แล้วกัน” ท่านมองดูข้าพเจ้าแล้วตรัสว่า “อย่าลืมซีว่าเราเกิดมาเป็นไทย” ข้าพเจ้าทูลว่า “ก็ถูกแล้ว แต่ถ้าเขาไม่ต้องการ หม่อมฉันก็จะยัดเยียดให้ไม่ได้ อย่างไรก็ตามหม่อมฉันจะมีชีวิตอยู่เพื่อทำงานอันนี้ถวายให้จงได้” ท่านหันมาจ้องถามว่า “แน่หรือ” ข้าพเจ้าทูลว่า “แน่” แล้วก็ร้องไห้โฮอย่างกลั้นไม่อยู่ ท่านก็น้ำพระเนตรไหลเป็นทาง เรานิ่งกันอยู่ครู่ใหญ่แล้วข้าพเจ้าก็ลุกมา

แต่วันนั้นแล้วก็ไม่ได้พูดอะไรกันอีกในเรื่องนี้ สังเกตดูเห็นว่าท่านหมดกังวล แม้เมื่อได้ของที่ญี่ปุ่นริบไว้ในปีนังคืนมาท่านก็ทรงมองดูเฉยๆ เป็นแต่หยิบซองบุหรี่พระราชทานใน พ.ศ. ๒๔๔๐ มาทอดพระเนตร แล้วตรัสแต่ว่า “หมดเรื่องคนรู้แล้ว” เท่านั้น ต่อมาพระอาการประชวรดีขึ้นถึงทรงรถเที่ยวได้ วันหนึ่งเสด็จไปเยี่ยมหอพระสมุดพิพิธภัณฑสถานกลับมาถึงวัง ตรัสถามข้าพเจ้าว่า “ลูกพูนเห็นหลักก่อฤกษ์ที่หอพระสมุดหรือเปล่า” ข้าพเจ้าทูลว่า “เห็น” ตรัสถามว่า “นึกอะไรหรือเปล่า” “นึก” ท่านทรงยิ้มแล้วตรัสว่า “เหมาะสำหรับห้องหนึ่งนะลูกนะ” ข้าพเจ้าก็หัวเราะ

ถึงวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ เสด็จพ่อก็ทรงทิ้งข้าพเจ้าไว้ให้นั่งอยู่กับพระโกศตลอดวัน เสียงบอมบ์ เสียอพยพกันทั่วกรุงเทพฯ เราก็คอยนั่งยกพระโกศและคอยดับระเบิดไฟในเวลาจำเป็นอยู่เช่นนั้น ในระยะนี้เอง น้องชายข้าพเจ้ากลับมาจากทำงานบอกว่า “มิสเตอร์มัซซุโมโต (คนสถานทูต) มาถามว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั่นจะทำอย่างไรกัน” เธอได้บอกไปแล้วว่า เป็นของพี่สาวเขาคนเดียว อีก ๒ – ๓ วันมาบอกอีกว่า รัฐบาลญี่ปุ่นร้องออกไปว่า “เอ ถ้าเขาขอซื้อห้องสมุดโคโนเนบ้างจะขายไหมเล่า” ต่อมาน้องชายกลับมาบอกอีกว่า ได้ตอบไปแล้วว่าเข้าใจเจ้าพี่จะทำห้องดำรง ต่อมาน้องชายกลับมาบอกอีกว่า “วันนี้พบมัซซุโมโตอีก เขาขอโทษว่าเขาเสียใจที่ได้มาพูดเรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อ เขาไม่มีเจตนาจะดูถูกเลย”

ต่อมาไม่ช้ามีคนเดินเข้ามาที่พระศพเสด็จพ่อ ส่งการ์ดชื่อเลียว ผู้แทนหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ ขอพบท่านหญิงพูนฯ เพื่อถามว่าห้องสมุดของสมเด็จจะทำอย่างไรต่อไป ข้าพเจ้าถามว่า “ทำไมจึงอยากรู้นัก” นายเลียวบอกว่า “พวกญี่ปุ่นเขาอยากรู้กันมาก เพราะเขาอยากได้ไปเมืองโตเกียว” ข้าพเจ้าถามว่า “เอาไปทำไมกันถึงโตเกียว” เขาตอบว่า “เข้าใจว่าเขาจะเอาไปทำหนังสือเรียนมาให้คนไทยเอง” ข้าพเจ้าหัวเราะตอบว่า “บอกเขาเถิดว่าฉันจะให้ชาติของฉัน ถ้าญี่ปุ่นต้องการเรียนก็มาเรียนที่นี่ได้ แต่เวลานี้ยังคิดทำอะไรไม่ได้เพราะบอมบ์ยังอึกทึกนัก” คุยกันสักครู่เขาก็กลับไป

๒ – ๓ วันต่อมา ท่านปรีดีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ในเวลานั้น) ให้คนมาบอกข้าพเจ้าว่า เรื่องห้องสมุดของเสด็จพ่อนั้น ท่านปรีดีเห็นว่าควรเป็นของของชาติ ขอให้ข้าพเจ้าตริตรองให้ดี และอยากให้ข้าพเจ้าทำเป็นเล่มๆ ออกเป็นรายเดือนด้วย ข้าพเจ้าตอบขอบคุณแล้วบอกว่าจะเอาไว้บอกกับท่านเองเมื่อได้พบกัน

ครั้นถวายพระเพลิงพระศพเสด็จพ่อแล้ว ข้าพเจ้าก็ขนหนังสือที่หาไม่ได้แล้ว ใส่หีบไปอยู่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติกับพระอังคาร เผอิญท่านปรีดีเชิญเสด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและพระราชวงศ์ ให้อพยพไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน และตัวท่านก็ออกไปเฝ้าเยี่ยมทุกวันเสาร์ เช้าวันอาทิตย์หนึ่ง ท่านปรีดีกับคุณหญิงข้ามฟากไปเฝ้าเยี่ยมพระอังคารเสด็จพ่อ แล้วแวะเยี่ยมข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าจึงมีโอกาสได้ขอบคุณท่านปรีดีที่ได้แนะนำเรื่องหนังสือของเสด็จพ่อ ตรงกับความตั้งใจของข้าพเจ้า เพราะข้าพเจ้าก็กำลังลำบากใจที่ไม่รู้จะตั้งต้นบอกกับใครว่า หนังสือของพ่อฉันนั้นดีถึงควรเป็นของชาติ ท่านปรีดีรับว่าจะช่วยเมื่อถึงเวลาที่ควรทำ แล้วก็ได้ช่วยจริงๆ ตั้งแต่บอกรัฐบาลจนสำเร็จเป็นรูปขึ้นได้ดังนี้

ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกๆ ท่านๆ ที่ได้มีส่วนช่วยในเรื่องห้องดำรงนี้จนเป็นผลสำเร็จ แม้ผู้ที่มีช่วยทางน้ำใจเพียงเห็นว่าดี ข้าพเจ้าก็ขอขอบคุณด้วย บัดนี้ห้องดำรงกำลังจะแล้วเสร็จ เปิดได้ในวันประสูติของเสด็จพ่อ คือวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ข้าพเจ้าจึงยินดีที่ห้องดำรงนี้จะได้เกิดมาแทนพระองค์ และจะได้อยู่กับชาติซึ่งท่านได้อุทิศพระชนม์ชีพให้แล้วมาตลอดพระชนมายุของพระองค์ท่าน เมื่อห้องดำรงได้เปิดเป็นของชาติแล้ว ข้าพเจ้าก็จะได้รับความสุขใจว่าได้ทำหน้าที่ลูกดีแล้วโดยสิ้นเชิง ต่อไปก็จะเป็นหน้าที่ของชาติ คือไทยทุกคนที่จะพิสูจน์ให้โลกเห็นเองว่ารู้จักรักษาสมบัติของตัวเองหรือไม่ ข้าพเจ้าเชื่อถือว่าถ้าเรารักษาได้ ก็คงจะมีผู้เต็มใจให้ต่อไปอีก และเมืองไทยก็ได้มีสิ่งพิสูจน์แก่โลกได้ว่า เราเป็นพวกที่มีวัฒนธรรมและศีลธรรมมาแล้วอย่างวิเศษ.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 10:23:27 น.   
Counter : 1407 Pageviews.  


๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เมื่อแผ่นดินสยามร้องไห้


พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
รูปประกอบ โดยความเอื้อเฟื้อของคลังภาพประจำห้องสมุดปริยวาที



๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ เมื่อแผ่นดินสยามร้องไห้

๒๕ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ คือ วันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในพระมหาบรมราชวงศ์จักรี

งานประจำปีมีพระราชพิธีฉัตรมงคล คือวันเสด็จขึ้นเสวยราชย์นั้น ในรัชกาลที่ ๖ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน และในพระราชพิธีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่งและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในเป็นประจำปี

ข้าพเจ้าได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า ชั้นที่ ๓ ในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ ฉะนั้นรุ่งขึ้นจึงเข้าไปงานตามตำแหน่ง และเป็นปีที่ฝ่ายในได้ห่มผ้าแพรปักตามยศเป็นครั้งสุดท้าย เพราะขึ้นรัชกาลใหม่ก็โปรดเลิกแพรปักนั้น ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองโดยมิจำเป็น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระราชทานยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ฝ่ายหน้า ในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเสร็จแล้ว เวลาราวเที่ยงเศษ ก็เสด็จขึ้นประทับพระราชอาสน์ในพระที่นั่งพิมานรัตยา และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ฝ่ายในตามลำดับยศ เมื่อเสร็จแล้วก็ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานพร และทรงชวนให้สมาชิกใหม่ไปถวายบังคมพระเทพบิดร ผู้ทรงสร้างราชอิสริยศักดิ์นั้นขึ้น เพื่อเป็นสิริสวัสดิมงคลแก่เหล่าสมาชิกของราชอิสริยาภรณ์นั้นโดยทั่วกัน

วันนั้นข้าพเจ้ากลับมาถึงบ้านเวลาราวบ่าย ๒ โมงเศษ ได้พูกับพี่น้องว่า “วันนี้พระสุรเสียงในหลวงเบาผิดปกติ รู้สึกว่าท่านทรงเพลียๆ อย่างไรชอบกล” แต่ก็ไม่มีใครนึกคิดว่าอะไรต่อไป ตกดึกในวันนั้นเองที่ทรงพระประชวรมาก ด้วยปวดพระนาถี เนื่องแต่ Appendicitis เป็นพิษ (ไส้ตัน) รุ่งขึ้นเป็นวันที่มี Reception ทางฝ่ายต่างประเทศเฝ้าถวายพระพรชัยที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในท้องพระโรงกลาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไม่ได้ในวันนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ผู้ทรงเป็นรัชทายาท เสด็จออกรับชาวต่างประเทศแทนพระองค์

ในคืนนั้นฝนตกหนักจนน้ำท่วมเจิ่งตรงหน้าอัฒจันทร์พระที่นั่งจักรี ถึงพวกสามีต้องอุ้มภรรยาลงจากรถไปขึ้นพระที่นั่ง เพราะรองเท้าของเจ้าหล่อนแบบบางเกินกว่าที่จะบุกน้ำได้ คณะทูตคนหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเมื่อสวรรคตแล้ว “ฉันไม่เคยเชื่อลางเลย แต่คราวนี้ต้องเชื่อ คืนวันนั้นเราขึ้นไปพร้อมกันในพระที่นั่งทั้งๆ ที่ฝนกำลังตกหนักและไฟฟ้าดับมืด ในห้องพระมหาเศวตฉัตรมีแต่แสงไฟเทียนแวมๆ เห็นพระเศวตฉัตรขาวถนัด มีแสงทองตรงขอบเข้ากับแสงเทียนแต่ - - - ฝนจำเพาะรั่วตรงพระมหาเศวตฉัตรนั้น ไหลเป็นทางราวกับน้ำตา ทั้งเมื่อเราทุกคนรู้ว่าประชวรเสด็จออกไม่ได้ด้วยแล้ว เรารู้สึกชอบกลอย่างบอกไม่ถูก ความมืดขมุกขมัวกับความรู้สึกของคนในที่นั้นมันแลดูเหงาไปหมด”

ฝนและพายุในคืนนั้นเองทำให้สิ่งก่อสร้างในสวนลุมพินีหักพังไปด้วยหลายแหล่ง แต่เราก็มิได้คิดอะไรกันในเวลานั้น รุ่งขึ้นก็รู้กันว่าทรงพระประชวนตามเคยที่เป็นมาแล้วเมื่อเร็วๆ นั้น ครั้นเช้าวันหนึ่งราววันที่ ๑๙ – ๒๐ เสด็จพ่อทรงรับแขกอยู่ที่ตำหนักใหญ่ราว ๙ น. ข้าพเจ้าก็ไปทำธุระที่เรือนพิสมัย เห็นรถไปจอดที่พระตำหนักก็ไม่แปลกใจ เพราะเป็นเวลาที่ท่านจะเสด็จไปหอสมุดและมิวเซียมอยู่แล้ว สักครู่ใหญ่ๆ เจ้าคุณศรีเสนา ผู้เป็นเลขานุการของเสด็จพ่ออยู่ในเวลานั้น เดินมาที่เรือนแล้วเรียกข้าพเจ้าไปกระซิบที่หน้าต่างว่า “ในหลวงทรงเป็นอะไรก็ไม่รู้ กระทรวงวังเขามาตามในกรมเข้าไปแล้ว ดูดินฟ้าอากาศซี ใบไม้ไม่ไหวสักใบเดียว”

ข้าพเจ้าแหงนหน้าขึ้นดูอากาศ ซึ่งไม่มีแดดไม่มีลมไม่มีเสียงอะไรเลยสักสิ่งเดียว รู้สึกเหมือนโลกหยุดไปเพียง ๑ – ๒ นาที แล้วตกใจนิดหน่อย แต่ก็ยังเชื่อว่าคงไม่ทรงเป็นอะไรเกินกว่าที่จะรักษาได้ พอเที่ยงเศษเสด็จพ่อกลับมาเสวยกลางวันก็ตรัสบอกว่า “ในหลวงประชวรมาก เขาเข้าไปฟังพระอาการกันแล้ว เธอจะเข้าไปกับพ่อก็ได้”

แต่วันนั้นมา เราก็เข้าไปฟังพระอาการที่พระปรัศว์ซ้าย ซึ่งเป็นที่เจ้านายฝ่ายในไปประทับพักอยู่ด้วยกัน การที่เข้าไปนั่งๆ อยู่นั้นไม่มีประโยชน์ก็จริง แต่ความรู้สึกของเรามีว่า เราได้เข้ามาด้วยความกตัญญูกตเวที แลพร้อมที่จะรับงานทุกชนิดที่จะถวายได้ เราไม่ได้รู้อะไรจากผู้ใด เพราะไม่มีใครเขาพูดอะไรกับใคร มองกันไปมองกันมาแล้วก็กลับบ้านตามที่นัดเวลากันไว้กับเสด็จพ่อ และพอขึ้นรถเราแล้วก็ได้รู้พระอาการว่าดีขึ้นหรือเลวลงจากเสด็จพ่อของเรานั่นเอง

วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ตอนค่ำ เราก็เข้าวังและนั่งตามระเบียบอยู่เช่นนั้นอีก วันนี้คนมากระซิบว่า “ท่านไม่ไหวแล้ว เข้าโคม่าแล้ว ไม่เชื่อเข้าไปฟังตรงนั้นซิ ได้ยินถนัดทีเดียว” (ชี้ไปทางพระบัญชร) ข้าพเจ้าใจหาย ตอบไปว่า “ไม่เอา ไม่ฟัง” แล้วก็กลับบ้านในค่ำวันนั้น

รุ่งขึ้นเช้า หมายกำหนดการสรงพระบรมศพก็มาถึงวัง เราจัดแจงเครื่องแต่งพระองค์เสด็จพ่อแล้ว ก็ไม่ได้คิดจะเข้าไปในวังสรงพระบรมศพ เพราะรู้อยู่แล้วว่า ยศหม่อมเจ้าไม่สูงพอจะได้สรงพระบรมพระเจ้าแผ่นดิน แต่เสด็จพ่อตรัสว่า “เข้าไปเถิด ถ้าไม่ได้สรงก็ตามไปพระมหาปราสาทเฝ้าแล้วก็กลับบ้าน” ฉะนั้นเราจึงเข้าไปพร้อมเสด็จพ่อ ไปนั่งอยู่ที่เดิมโดยไม่รู้ว่ากระไร จนเห็นเจ้านายทรงเครื่องขาวขึ้นไปบนพระที่นั่ง และเสียงประโคมเวลาสรงอย่างโอดครวญ และเสียงปืนใหญ่ดังสนั่นกึกก้องเป็นระยะๆ ทำให้รู้สึกทันทีว่า ในหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว แล้วความรู้สึกคุ้นเคย เคารพรักในพระองค์มาตั้งแต่เด็กก็เกิดขึ้น ทำให้ข้าพเจ้าร้องไห้สะอึกสะอื้นอยู่ช้านาน

กระบวนพระบรมศพเดินทางฝ่ายหน้า เจ้านายและข้าราชการฝ่ายในเดินลัดไปทางข้างในพระบรมมหาราชวัง ไปคอยรับพระบรมศพอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่เสด็จขึ้นแล้ว เราออกไปเฝ้าพระบรมศพแล้วกลับบ้าน

เป็นอันว่า ข้าพเจ้าได้มีชีวิตอยู่มาจนได้รู้เห็นการสวรรคตถึง ๔ ครั้งแล้ว หวังว่าจะไม่ต้องได้เห็นอีกต่อไป



.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 10:19:19 น.   
Counter : 1681 Pageviews.  


๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เมื่อแผ่นดินสยามร้องไห้


พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รูปประกอบ โดยความเอือเฟื้อของคลังภาพประจำห้องสมุดปริยวาที



๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เมื่อแผ่นดินสยามร้องไห้

เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ ข้าพเจ้าเจ็บเป็นบิดมีไข้ขึ้นอยู่ที่วังประตูสามยอด (วังเชิงสะพานดำรงสถิต ปัจจุบันเป็นอาคารพานิช) กำลังนอนหลับสนิท และสะดุ้งตื่นขึ้นด้วยได้ยินเสียผู้ชายร้องไห้อย่างเต็มเสียง ข้าพเจ้าตกใจเพราะไม่เคยได้ยินเสียงผู้ชายร้องไห้ แล้วก็นึกว่าฝันไป สักครู่ได้ยินเสียงนั้นอีก และคราวนี้จำได้ว่าเป็นสุรเสียงของเสด็จพ่อ ข้าพเจ้าก็ยิ่งตกใจมากขึ้น จึงหันไปปลุกแม่นมของข้าพเจ้าซึ่งนอนอยู่ข้างๆ ถามเขาว่า "ได้ยินอะไรไหม" พอดีเห็นเสด็จพ่อทรงยืนอยู่ทางปลายมุ้ง ตรัสว่า "พระเจ้าอยู่หัวสวรรคตเสียแล้วลูก" แล้วก็ทรงพระกันแสงโฮใหญ่ ข้าพเจ้าก็ร้องไห้ตามไปด้วย แล้วท่านก็เสด็จกลับไปทางท้องพระโรง ทรงพระดำเนินไปช้าๆเหมือนคนหมดแรง

รุ่งขึ้นเช้ามืดทุกคนตื่นด้วยนอนไม่หลับ มีพวกข้าราชมาเฝ้าเสด็จพ่ออยู่ตลอกเวลา บางคนมาฟังว่าสวรรคตจริงๆหรือ เพราะไม่มีใครทราบข่าวว่าทรงประชวรมากแต่อย่างไร แม้เสด็จพ่อเองก็เพิ่งทรงทราบว่าทรงประชวรมากเมื่อวันศุกร์ ก่อนเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว เสด็จพ่อทรงเล่าว่าพระองค์ท่านเสด็จไปตรวจราชการทางใต้เสียวันหนึ่ง กลับมากรุงเทพฯบ่ายวันอาทิตย์จึงเลยไปเฝ้าที่พญาไท ซึ่งเป็นที่เสด็จประพาสและทรงทำนากันอยู่ในเวลานั้นทุกๆเย็น เมื่อเสด็จไปถึงก็เสด็จขึ้นเสียแล้วไม่ทันได้เฝ้า เขาทูลว่าเสด็จขึ้นเร็วเพราะไม่ทรงสบายพระนาภี เสด็จพ่อจึงเสด็จตามเข้าไปฟังพระอาการที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ได้ความว่าพระนาภีเสียและเสวยยาถ่ายแล้ว ไม่มีอาการมากมายอันใด ก็เป็นอันเบาพระทัย และเสด็จกลับวัง

ครั้นรุ่งขึ้นเป็นวันพุธ พอเสด็จเข้าไปถึงพระที่นั่งก็ได้ทรงทราบว่า ไม่ทรงสบายเพราะยาถ่ายเดินมากไป จนทรงเพลียถึงต้องบรรทมในพระที่ และมีพระราชดำรัสในตาม พระบรมราชินีนาถเสาวภาผ่องศรี ขึ้นมาถวายการพยาบาล เป็นอันเสด็จพ่อก็ไม่ได้ขึ้นไปเฝ้าและเลยเสด็จอยู่ในพระที่นั่งชั้นล่างกับเจ้านายผู้ใหญ่ มีสมเด็จวังบูรพาภิรมย์ และกรมหลวงนเรศวร์ฯ กรมหลวงเทววงศ์ฯ เป็นต้น เพื่อควบคุมหมอและคอยฟังพระอาการ

ถึงเช้าวันศุกร์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสาวภาผ่องศรีเชิญเสด็จพ่อให้เข้าไปเฝ้าที่หน้าม่าน (ข้างหน้าและข้างในต่อกัน) แล้วตรัสบอกว่า "พระอาการอื่นๆดีขึ้นหมดทุกอย่าง แต่หม่อมฉันไม่ชอบเรื่องลงพระบังคนเบา วานนี้ตลอดวันมีราว ๑ ช้อนโต๊ะ จึงเชิญเสด็จท่านมาทูล จะได้คิดแก้ไข" เสด็จพ่อตกพระทัยเป็นครั้งแรก รีบทูลลาว่าจะต้องเรียกประชุมหมอ แล้วก็กลับไปทูลเจ้านายที่ห้องแป๊ะเต๋ง จัดการเรียกหมอที่ว่าดีในเวลานั้นหมดมาประชุม

ตกลงกันว่าถวายยาฉีดถวายสวน ทุกอย่างที่จะพึงทำได้ในเวลานั้นแต่ไม่มีผล คงได้พระบังคนเบาราว ๑ ช้อนกาแฟ ซึ่งน้อยลงไปอีก พอถึงเวลาค่ำ หมอก็พร้อมกันทูลเจ้านายว่าถ้ามีราชการอันใดที่จะต้องกราบทูล ก็ให้กราบทูลเสียในตอนเช้าพรุ่งนี้ เพราะถ้าถึงเย็นจะเข้าโคม่า(ซึม) ที่ประชุมปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า ไม่มีเหตุอันใดที่จะต้องกราบบังคมทูลรบกวนแล้ว สมเด็จวังบูรพาภิรมย์ก็ตรัสสั่งให้เสด็จพ่อไปเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้ามายังพระราชฐานแต่เช้า

รุ่งขึ้นวันเสาร์ราว ๗ น. เสด็จพ่อเสด็จตรงไปยังวังสราญรมย์ จรัสเล่าว่าสมเด็จพระบรมฯยังไม่บรรทมตื่น ทรงพบหม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ จึงตรัสบอกให้ปลุกพระบรรทมเดี๋ยวนั้น แล้วก็พากันเสด็จเข้าไปยังพระราชวังดุสิต ถึงตอนบ่ายข่าวประชวรมากก็รู้กันไปทั่วแล้ว และแทบทุกคนก็พากันไปฟังพระอาการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เวลาราวบ่าย ๔ โมง พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ (ซึ่งทรงเป็นหมอพระองค์หนึ่ง) ขอเข้าไปดูพระอาการ พอถึงพระองค์ท่านก็ยกพระหัตถ์ขึ้นจับพระชีพจรที่พระบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงหลับพระเนตรอยู่ ตรัสถามว่า "นั่นหมอหรือ" เป็นคำหลังแล้วมิได้ตรัสต่อไปอีกเลย ค่อยๆทรงบรรทมหลับไปๆจนหมดพระอัสสาสะเมื่อเวลา ๒๔.๔๕ นาฬิกา พระบรมศพมิได้ซูบซีดปกติประการใด

กำหนดสรงน้ำพระบรมศพที่พระที่นั่งอัมพรสถานในที่พระบรรทม แล้วเชิญพระบรมศพลงพระโกศทอง เชิญเสด็จขึ้นพระยานุมาศ เคลื่อนกระบวนจากพระราชวังดุสิตไปสู่พระมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเวลาค่ำ ๗ น.เศษ

เสด็จพ่อทรงสั่งราชการพลางทรงพระกันแสงพลางอยู่ที่วังตอนเช้าวันอาทิตย์ พวกพี่น้องของข้าพเจ้าเขาก็พากันกลับเข้าวังหมดแทบทุกคน ข้าพเจ้ายังมีไข้เข้าไปช่วยทำงานในวังไม่ได้ พอเสด็จพ่อทรงเครื่องเต็มยศใหญ่เข้าไปสวนดุสิตแล้ว ข้าพเจ้าก็ไปคอยเฝ้าพระบรมศพที่ริมถนนราชดำเนิน แถวโรงเรียนนายร้อยทหารบก

พวกราษฎรเอาเสื่อไปปูนั่งกันเป็นแถวตลอดสองข้างทาง จะหาหน้าใครที่มีแม้แต่ยิ้มก็ไม่มีสักผู้เดียวทุกคนแต่งดำน้ำตาไหลอย่างตกอกตกใจด้วยไม่เคยรู้รส อากาศมืดคุ้มมีหมอขาวลงจัดเกือบถึงหัวคนเดินทั่วไป ผู้ใหญ่เขาบอกว่านี่แหละหมอกธุมเกตุ(๑)ที่ในตำราเขากล่าวถึง ว่ามักจะมีในเวลาที่มีเหตุใหญ่ๆเกิดขึ้น ไม่ช้าก็ได้ยินเสียงปี่ในกระบวน เสียงเย็นใสจับใจมาแต่ไกลๆ แล้วได้ยินเสียงกลองรับเป็นจังหวะใกล้าเข้ามาๆในความมืดเงียบสงัด ที่มืดเพราะต้องตัดสายไฟฟ้าบางตอนให้พระบรมโกศผ่านได้ และที่เงียบก็เพราะไม่มีใครพูดจากันว่ากระไร ข้าพเจ้าเคยได้ยินเสียงปี่เสียงกลองมาแล้ว เคยได้เห็นพระศพเจ้านายมาแล้วหลายองค์ แต่คราวนี้ตกใจสะดุ้งทั้งตัวเมืองเห็นพระเศวตฉัตรกั้นมาบนพระบรมโกศสีขาวกับสีทองเป็นสง่า ทำให้รู้ทันทีว่าพระบรมศพ แล้วก็ร้องไห้ออกมาโดยไม่ทันรู้ตัว

เหลียวไปดูทางอื่นเห็นแต่เเสงไฟจากเทียนที่จุดถวายสักการะอยู่ข้างถนนแวมๆไปตลอด ในแสงเทียนนั้นมีหน้าเศร้าๆหรือปิดหน้าอยู่ เราหมอบลงกราบกับพื้นปฐพี พอเงยหน้าก็เห็นทหารที่ยืนถือปืนเอาปลายลงดิน ก้มหน้าลงบนปืน อยู่ข้างหน้าเราเป็นระยะไปตลอด ๒ ข้างถนนนั้น น้ำตาของเขากำลังหยดลงแปะๆอยู่บนหลังมือของเขาเอง ทหารผู้อยู่ในยูนิฟอร์มอันแสดงว่ากล้าหาญ ยังร้องไห้เพราะเสียดายประมุขอันเลิศของเขา

เสด็จพ่อตรัสเล่าว่าได้โทรเลขไปตามหัวเมืองให้ระวังเหตุการณ์ในตอนเปลี่ยนแผ่นดิน ได้ตอบมาทุกทางว่า ภายใน ๗ วันแต่สวรรคตนั้น ไม่มีเหตุการณ์โจรผู้ร้ายเกิดขึ้นเลยสักแห่งเดียวในพระราชอาณาจักร

ฉะนั้น จึงจะต้องเข้าใจว่าแม้แต่โจรก็ยังเสียใจหรือตกใจในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราชของเรา



.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล






 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 10:14:54 น.   
Counter : 2383 Pageviews.  


เรื่องอำแดงเทียบ


พระราชวังบ้านปืน



เรื่องอำแดงเทียบ

เมื่อเร็วๆ นี้ ข้าพเจ้าผ่านเขาบันไดอิฐ เมืองเพชรบุรีไปหัวหิน ทำให้นึกถึงเหตุการณ์เรื่องที่ทำให้ข้าพเจ้าใจเต้นสุดเหวี่ยง ดังจะเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๑ – ๒๔๔๒ นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ ๕ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ที่พระราชวังบ้านปืน ซึ่งเป็นกรมทหารในบัดนี้ นั้นยังกำลังก่อสร้าง จึงเสด็จประทับอยู่ในพลับพลาไม่ริมแม่น้ำ และสะพานยาวเดินถึงกันตลอดไปตามริมฝั่ง ตามสะพานนั้นมีศาลาโถงเป็นที่จอดเรือพระประเทียบ (คือฝ่ายใน) เป็นหมู่ๆ ไป เรือผู้ที่มีหน้าที่จะต้องขึ้นไปทำราชการก็จอดอยู่ใกล้เรือพระที่นั่ง ข้าพเจ้าจำได้เพราะเรือสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงนิภานภดล ผู้ทรงเป็นราชเลขานุการิณีจอดอยู่ใกล้ๆ พลับพลา และข้าเจ้าตามเสด็จอยู่ในเรือลำนั้นด้วยเสมอ พอหมดกระบวนข้างใน ก็มีรั้วกั้นเป็นฝ่ายหน้าเรียกว่า ฉนวน แล้วก็ถึงตำหนักไม้รวกของเจ้านายฝ่ายหน้า มีเสด็จพ่อผู้ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นต้น

ข้าพเจ้าและน้องๆ จึงออกไปเฝ้าเสด็จพ่อได้ทุกวัน และท่านก็โปรดให้พวกนายตำรวจภูธรสอนให้พวกเราขี่ม้าทุกๆ เช้า ข้าพเจ้าจึงมีครูเป็นนายตำรวจหลายคน มีเจ้าคุณบริหารฯ เจ้าคุณพิทักษ์ฯ คุณสะอาดฯ หลายคน ทุกคนไม่ค่อยปราณีข้าพเจ้าเลย เพราะข้าพเจ้าไม่เคยตก ถ้าถึงเวลาเลือกม้าแล้ว พวกครูมักจะตะโกนว่า “เอาเจ้าผ่านปากแข็งใส่ ๔ เส้น ให้ท่านหญิงพูนไป” และข้าพเจ้าก็ไปได้จริงๆ ถ้าจะเล่าเรื่องขี่ม้าก็เห็นจะต้องเล่าอีกวันหนึ่งต่างหาก เพราะสนุกนัก

อย่างไรก็ดี เช้าวันหนึ่งที่เพชรบุรี ใน พ.ศ. ๒๔๕๒ นั้น เราก็ออกขี่ม้ากันตามเคย วันนั้นเลยไปถึงเขาบันไดอิฐ แล้วลงจากม้าขึ้นไปเที่ยวบนเขานั้นอยู่นาน จนจะกลับก็วิ่งลงเขามา ข้าพเจ้าลงมาข้างหลัง พอถึงเชิงเขาก็และเห็นหญิงบันดาลฯ น้องสาววิ่งกลับมาหน้าซีดเป็นกระดาษ ตะโกนบอกว่า “คนหัวขาดๆ อยู่ตรงนั้นแน่ะ” เท่านั้น บางคนก็กระโจนวิ่งตามมือชี้ไปดู แต่ข้าพเจ้าวิ่งไม่ออกใจเต้นตูมๆ ลงนั่งแปะอยู่กับที่ ๒ – ๓ คน จนพวกตำรวจเขาไปตรวจกันพักใหญ่ แล้วเขาก็กลับไปยังตำหนักเสด็จพ่อ พอเราไปถึง เราก็โจษกันเสียงดังลั่น ต่างคนเล่าโดยไม่ต้องรู้สึกว่าผู้ใหญ่เขายุ่งกันอย่างไรบ้าง

จนตกค่ำพวกทีไปดูมาก็นอนละเมอกันอึงคะนึง เพราะพวกเราไม่มีใครมีอายุเกิน ๑๒ – ๑๓ พอรุ่งขึ้นก็เลยไม่ได้ไปขี่ม้าอีก เพราะพวกตำรวจอาจารย์ม้าของเราหายไปหมด มีคุณจำรัสแวะมาหาคนหนึ่งสั่งว่า “ถ้าพบครูที่ไหนในหมู่นี้ไม่ต้องทักไม่ต้องรู้จักนะ” แต่เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไม จนตอนสายแล้วจึงเห็นเสด็จพ่อพระพักตร์บึ้ง ตรัสกับเจ้าเมืองเสียงลั่นว่า “ถ้าไม่ได้ใน ๗ วันนี้ เราต้องออกหมด เพราะเห็นแล้วว่าเราไม่มีความสามารถปกครองได้ ฉันจะสั่งปลดนายนายตำรวจเจ้าเมืองเทศา แล้วฉันก็จะกราบถวายบังคมลงออกด้วย” เราจึงค่อยๆ เข้าใจเหตุการณ์ขึ้นว่ามันไม่สนุกเท่าที่เราตื่นเต้นโจษกันเลย และก็เลยได้แต่อยู่เงียบๆ ด้วยความสงสารพวกครูเต็มที ทั้งกลัวเสด็จพ่อด้วย เพราะท่านไม่ยิ้มแย้มดังเคย และมีคนมาเฝ้าและเสด็จออกไปข้างนอกบ่อยๆ เราก็รู้แต่ว่าเขากำลังตามจับผู้ร้ายกันอยู่

พอถึงวันที่ ๖ ก็ได้ตัว เพราะรู้ว่าผู้ตายคือนายคุ่ยชู้ของอำแดงเทียบ อำแดงเทียบโกรธนายคุ้ยว่าจะไปแต่งงานกับหญิงสาว จึงให้นายแดงผู้เป็นหลานไปจัดการตีกระบาลเสียให้หายแค้น เผอิญนายคุ่ยเกิดสู้นายแดงซึ่งหนุ่มกว่า นายแดงก็ตีกระบาลเสียจนดับ เมื่อทำการรุนแรงลงไปแล้ว นายแดงก็กลัวจะจับได้ จึงตัดหัวนายคุ่ยผู้ตายไปฝังไว้เสียทางหนึ่ง ตำรวจสืบเข้าไปจนถึงตัวนายแดง แล้วเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพเพื่อโทษจะได้เบาลง นายแดงจึงพาไปขุดหัวนายคุ่ยมาให้ พร้อมกับคำสารภาพ พอรู้เรื่องกันว่าจับผู้ร้ายได้แล้ว ก็ไม่มีใครเชื่อกันสักคน หาว่าเจ้าพนักงานสมรู้กันให้คนอื่นสารภาพขึ้น เสนาบดีมหาดไทยต้องทรงขอศาลให้มีการไต่สวนคดีนี้เป็นการเปิดเผยพิเศษ และให้ผู้สงสัยเสนอข้อท้วงติงได้ จึงเป็นคดีหนึ่งที่คนแน่นศาลทุกๆ ครั้งที่มีการพิจารณา ที่จริงถ้าเป็นผู้อื่นมาสมรู้ยอมเป็นจำเลยแล้ว ทำไมจึงจะรู้ที่ฝังหัวนายคุ่ยเล่า ส่วนอำแดงเทียบเมื่อนายแดงรับแล้ว แกก็รับด้วยโดยดี จึงเป็นอันถูกจำคุกตลอดชีวิตทั้ง ๒ คน ในฐานสารภาพผิด

ฝ่ายพวกเราเด็กๆ นั้นอยากเห็นยายเทียบนั้นเป็นกำลัง อ้อนวอนให้ผู้ใหญ่พาไปดูที่ศาลจนได้วันหนึ่ง พอเห็นแล้วก็ร้องพิโธ่กันทุกคน เพราะนึกว่าแกคงเป็นสาวสวย ที่ไหนได้อายุก็ราว ๓๐ – ๔๐ แล้ว หน้าตาก็ไม่สวยซ้ำฟันยังเยินด้วย ใครไปดูก็ไปซักเรื่องราวแกทุกคน จนลงท้ายยายเทียบเห็นใครไป ก็เล่าเรื่องของตัวเองเสียคล่องโดยไม่ต้องซักถาม เสร็จการพิจารณาพิพากษาแล้ว เขาก็ส่งนักโทษทั้ง ๒ คนนี้ไปไว้คุกราชบุรี พวกครูม้าของเราก็เป็นอันสิ้นเคราะห์ไปที.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก "สารคดีที่น่ารู้" พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 23 กรกฎาคม 2550 10:08:52 น.   
Counter : 1565 Pageviews.  


1  2  3  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com