กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

เทศาภิบาล ตอนที่ ๖ ตั้งมณฑลเทศาภิบาล


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๖ ตั้งมณฑลเทศาภิบาล

พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริตั้งแต่เริ่มทรงปรารภจะจัดการปกครองพระราช อาณาเขตให้มั่นคง เห็นว่าที่หัวเมืองแยกกันขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยบ้าง ในกระทรวงกลาโหมบ้าง และกรมท่า (เมื่อก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงการต่างประเทศ) บ้าง บังคับบัญชาหัวเมืองถึง ๓ กระทรวง ยากที่จะจัดการปกครองให้เป็นระเบียบแบบแผนเรียบร้อยเหมือนกันได้ทั่วทั้ง พระราชอาณาจักร

ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะรวมการบังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวง ให้ขึ้นอยู่แต่ในกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเดียว และรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีผู้ปกครองมณฑลขึ้นต่อกระทรวงมหาดไทยอีกชั้นหนึ่ง จึงจะจัดการปกครองได้สะดวก แต่ยังทรงหาตัวคนที่จะเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้จัดการตามพระราชประสงค์ ไม่ได้ จึงรอมาดังเล่าแล้วข้างต้นนิทานเรื่องนี้ ถึงกระนั้นก็ได้โปรดฯ ให้เริ่มรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่อยู่ประจำหลายมณฑล

เมื่อทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หัวเมืองขึ้นกระทรวงมหาดไทยมี “มณฑลลาวเฉียง” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น มณฑลพายัพ เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม ศรีไชยันต์) เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพลเทพ ว่าที่สมุหกลาโหม เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ที่เมืองเชียงใหม่ มณฑลหนึ่ง


เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม ศรีไชยันต์)
เจ้า พระยาพลเทพ ว่าที่ สมุหพระกลาโหม



“มณฑลลาวพวน” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดรกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เมื่อยังเป็นกรมหมื่นและเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองหนองคาย มณฑลหนึ่ง


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
เสนาบดีกรมวัง และข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวพวน



“มณฑลลาวกาว” ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอีสาน กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองนครจำปาศักดิ์ มณฑลหนึ่ง


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าคัดณางยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร
ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกาว



“มณฑลลาวกลาง” คือเหล่าหัวเมืองซึ่งยังถือกันมาจนสมัยนั้นว่าเป็นเมืองลาว อันอยู่ในระหว่างเมืองนครราชสีมากับแดนมณฑลลาวพวนและลาวกาว กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เมื่อยังเป็นกรมหมื่น เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองนครราชสีมา มณฑลหนึ่ง ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทยทั้ง ๕ มณฑล(๑)


พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๔ พระองค์เจ้าชุมพลสมโภช กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
ข้าหลวงใหญ่มณฑลลาวกลาง



หัวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม ก็ได้รวมหัวเมืองทางฝ่ายทะเลตะวันตกเข้าเป็นอย่างมณฑล เพื่อการเก็บผลประโยชน์แผ่นดินอีกมณฑลหนึ่ง เวลาเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) เป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ที่เมืองภูเก็ต และขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม

แต่ข้าหลวงใหญ่ที่ประจำมณฑลชั้นนั้น มีหน้าที่รักษาพระราชอาณาเขตเป็นสำคัญ ไม่ได้โปรดฯ ให้จัดระเบียบแบบแผนการปกครองภายในบ้านเมืองด้วย เพราะฉะนั้นมีพระราชประสงค์จะเริ่มจัดหัวเมืองชั้นในก่อน แล้วจึงจะขยายแบบแผนให้เป็นอย่างเดียวกันให้แพร่หลายออกไปจนถึงตลอดชายพระ ราชอาณาเขต แม้เมื่อทรงตั้งข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแล้ว ก็ยังไม่โปรดฯ ให้โอนหัวเมืองที่ขึ้นกลาโหม กรมท่า มารวมอยู่ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว อยู่ถึง ๓ ปี คงเป็นเพราะจะรอให้แน่พระราชหฤทัยเสียก่อน ว่าข้าพเจ้าจะจัดการสำเร็จได้ดังพระราชประสงค์ จึงจะให้บังคับบัญชาหัวเมืองทั่วทั้งพระราชอาณาเขต

ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง เมื่อไปตรวจหัวเมืองครั้งแรกดังเล่ามาแล้วในภาคต้น ไปเห็นความขัดข้องขึ้นก่อนอย่างอื่น ด้วยหัวเมืองมาก แม้แต่หัวเมืองชั้นในก็หลายสิบเมือง ทางคมนาคมกับกรุงเทพฯ จะไปมาถึงกันก็ยังช้า ยกตัวอย่างดังจะไปเมืองพิษณุโลกต้องเดินทางกว่า ๑๐ วันจึงจะถึง หัวเมืองก็อยู่หลายทิศหลายทาง จะจัดการอันใดพ้นวิสัยที่เสนาบดีจะออกไปจัดหรือตรวจการงานได้เอง ได้แต่มีท้องตราสั่งข้อบังคับและแบบแผนส่งออกไปในแผ่นกระดาษ ให้เจ้าเมืองจัดการ

ก็เจ้าเมืองมีหลายสิบคนด้วยกัน จะเข้าใจคำสั่งต่างกันอย่างไร และใครจะทำการซึ่งสั่งไปนั้นอย่างไร เสนาบดีอยู่ในกรุงเทพฯ ก็ยากที่จะรู้ เห็นว่าวิธีสั่งเป็นรายเมืองอย่างนั้น การงานคงไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ จึงคิดที่จะแก้ความขัดข้องก่อน


ขบวนช้างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เดินทางไปตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ. ๒๔๔๙



คิดไปก็เห็นทางแก้ตรงกับโครงการซึ่งพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดำริ คือที่รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลนั้น เห็นว่าเป็นหัวเมืองชั้นในก็ควรรวมเข้าเป็นมณฑลละ ๕ เมืองหรือ ๖ เมือง เอาขนาดท้องที่ที่ผู้บังคับบัญชามณฑลอาจจะจัดการและตรวจตราได้เองตลอด อาณาเขตเป็นประมาณ และให้มีเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่อันชั้นยศอยู่ในระหว่างเสนาบดีกับเจ้า เมือง ไปอยู่ประจำบัญชาการมณฑลละคน เป็นพนักงานจัดการต่างๆ ในอาณาเขตของตนตามคำสั่งของเสนาบดี ทั้งเป็นหูเป็นตาและเป็นที่ปรึกษาหารือของเสนาบดีด้วย

ถ้าว่าโดยย่อ ก็คือแยกหน้าที่จัดการต่างๆ ตามหัวเมือง ไปให้ผู้บัญชาการมณฑลเป็นผู้ทำ เสนาบดีเป็นผู้คิดแบบแผนและตรวจการที่ทำนั้นประกอบกัน จึงจะจักการปกครองหัวเมืองให้ดีได้ดังพระราชประสงค์ ข้าพเจ้าคิดเห็นเรื่องนี้เป็นข้อแรกเมื่อไปตรวจราชการหัวเมือง

ยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นแตกแรกว่าจะเป็นความลำบากใหญ่หลวง คือที่จะไม่มีเงินพอใช้ในการจัดหัวเมือง ข้อนี้ใครๆ ก็เห็นว่าจะต้องเลิกวิธีปกครองอย่าง “กินเมือง” ดังเช่นพรรณนาไว้ในภาคต้น จะต้องห้ามมิให้เจ้าเมืองกรมการหากินในหน้าที่ราชการ และต่อไปจะต้องใช้แต่ผู้ซึ่งทรงคุณวุฒิสมกับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองกรมการ ซึ่งโดยมากภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างถิ่น เช่น เป็นชาวกรุงเทพฯ เป็นต้น เพราะเหตุทั้ง ๒ อย่างนี้ รัฐบาลจำจะต้องให้เงินเดือนข้าราชการหัวเมืองให้พอเลี้ยงชีพ มิฉะนั้นก็ไม่มีใครเป็นเจ้าเมืองกรมการ

ใช่แต่เท่านั้น ยังสถานที่ว่าราชการเมืองก็ดี บ้านเรือนที่อยู่ของเจ้าเมืองกรมการก็ดี ล้วนเป็นสมบัติส่วนตัวของเจ้าเมืองกรมการทั้งนั้น ดังกล่าวมาแล้ว ความจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินหลวงเพิ่มขึ้น มีต่อออกไปจนถึงค่าสร้างศาลารัฐบาล และสถานที่ทำราชการอย่างอื่นขึ้นใหม่ ทั้งสร้างเรือนให้ข้าราชการผู้ไปจากต่างถิ่นอยู่อาศัยให้พอกัน ถ้าจะว่าต้องสร้างเมืองใหม่หมดทุกเมืองก็ไม่ผิดกับความจริง ซึ่งพึงเห็นในปัจจุบันนี้ แต่ในสมัยนั้นปรารภเพียงแต่จำเป็นในชั้นนั้นก็จะเป็นจำนวนเงินมากมิใช่น้อย น่ากลัวการที่จัดจะติดขัด เพราะไม่ได้เงินพอใช้ด้วยอีกอย่างหนึ่ง

ข้าพเจ้ากลับลงมาถึงกรุงเทพฯ ถวายรายงานและกราบทูลความคิดเห็นดังกล่าวมาแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้รวมหัวเมืองเป็นมณฑลดังข้าพเจ้าคิด และให้ข้าพเจ้าพิจารณาดู เห็นใครควรจะเป็นผู้บัญชาการมณฑลไหนก็ให้กราบบังคมทูล ส่วนเรื่องเงินที่จะต้องใช้นั้น จะทรงสั่งกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เวลานั้นยังไม่ได้รับกรม แต่เป็นตำแหน่งรองอธิบดีบัญชาการกระทรวงพระคลังฯ ให้ปรึกษาหาทางที่จะแก้ไขความลำบากด้วยกันกับข้าพเจ้า


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
รองอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ



ข้าพเจ้าได้รับสั่งเช่นนั้นแล้ว ก็มาคิดการที่จะจัดตั้งมณฑลก่อน เห็นควรเอาลำน้ำอันเป็นทางคมนาคม เป็นหลักอาณาเขตมณฑล จึงกำหนดหัวเมืองข้าตอนใต้ คือ กรุงศรีอยุธยา ๑ เมืองลพบุรี ๑ เมืองสระบุรี ๑ เมืองอ่างทอง ๑ เมืองสิงห์บุรี ๑ เมืองพรหมบุรี ๑ เมืองอินทบุรี ๑ รวม ๗ หัวเมือง เป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ พระนครศรีอยุธยา เรียกว่า “มณฑลกรุงเก่า” (ตามชื่อซึ่งเรียกกันในเวลานั้น จนรัชกาลที่ ๖ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอยุธยา)

รวมหัวเมืองทางลำแม่น้ำบางปะกง คือ เมืองปราจีนบุรี ๑ เมืองนครนายก ๑ เมืองพนมสารคาม ๑ เมืองฉะเชิงเทรา ๑ รวม ๔ เมือง เป็นมณฑล ๑ เรียกว่า “มณฑลปราจีน” ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองปราจีนบุรี (ต่อเมื่อโอนหัวเมืองในกรมท่ามาขึ้นกระทรวงมหาดไทย จึงย้ายที่ว่าการมณฑลลงมาตั้งที่เมืองฉะเชิงเทรา เพราะขยายอาณาเขตมณฑลต่อลงไปทางชายทะเล รวมเมืองพนัสนิคม เมืองชลบุรี และเมืองบางละมุง เพิ่มให้อีก ๓ เมือง รวมเป็น ๗ เมืองด้วยกัน แต่คงเรียกชื่อว่า มณฑลปราจีน อยู่ตามเดิม)
รวมหัวเมืองทางแม่น้ำเจ้าพระยาตอนเหนือขึ้นไปจนถึงแม่น้ำพิง คือ เมืองชัยนาท ๑ เมืองสรรค์บุรี ๑ เมืองมโนรมย์ ๑ เมืองอุทัยธานี ๑ เมืองพยุหคีรี ๑ เมืองนครสวรรค์ ๑ เมืองกำแพงเพชร ๑ เมืองตาก ๑ รวม ๘ เมือง เป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองนครสวรรค์ เรียกว่า “มณฑลนครสวรรค์”

รวมหัวเมืองเหนือทางแม่น้ำน่าน และ แม่น้ำยม คือ เมืองพิจิตร๑ เมืองพิษณุโลก ๑ เมืองพิชัย ๑ เมืองสวรรคโลก ๑ เมืองสุโขทัย ๑ รวม ๕ เมืองเข้าเป็นมณฑล ๑ ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมืองพิษณุโลก เรียกว่า “มณฑลพิษณุโลก” รวมเป็น ๔ มณฑลด้วยกัน

แม้เพียง ๔ มณฑลเท่านั้น ก็ตั้งได้ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ แต่ ๒ มณฑล เพราะหาตัวคนซึ่งจะเป็นผู้บัญชาการมณฑลให้เหมาะแก่ตำแหน่งได้ยาก ด้วยจะต้องเลือกหาในข้าราชการบรรดาศักดิ์สูง ที่มีปัญญาสามารถอาจจะทำการได้ดังประสงค์ และเป็นผู้ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงรังเกียจ ประกอบกันทุกสถาน


พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพินิจประชานาถ



ในชั้นแรกข้าพเจ้าเห็นแต่ ๒ คน คือ เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) เวลานั้นยังเป็นพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิชัย ซึ่งข้าพเจ้าได้วิสาสะเมื่อขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ เห็นลาดเลาเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถมาตั้งครั้งนั้นคน ๑


เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร)
พระยา ศรีสุริยราชวรานุวัตร ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล พิษณุโลก



กับนายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) ซึ่งข้าพเจ้าได้เคยวิสาสะเห็นคุณวุฒิมาแต่เป็นนายทหารมหาดเล็กด้วยกัน อีกคน ๑ ทูลเสนอพระเจ้าอยู่หัวก็โปรด จึงทรงตั้งพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตรเป็นผู้บัญชาการมณฑลพิษณุโลก ให้พระยาฤทธิรงค์รณเฉทเป็นผู้บัญชาการมณฑลปราจีน และขนานนามตำแหน่งผู้บัญชาการมณฑลให้เรียกว่า “ข้าหลวงเทศาภิบาล” ให้ผิดกับคำ “ข้าหลวง” ซึ่งไปทำการชั่วคราว และให้เรียกได้ทั้งเจ้านายและขุนนางผู้เป็นตำแหน่งนั้น (ถึงรัชกาลที่ ๖ จึงเปลี่ยนเป็น “สมุหเทศาภิบาล”)


นายพลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต)
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลปราจีน



พอตั้งมณฑลได้ไม่ช้า ถึง ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) ไทยก็เกิดวิวาทกับฝรั่งเศส เทศาภิบาลมณฑลปราจีนจัดส่งกำลังและเครื่องยุทธภัณฑ์ ไปยังมณฑลชายแดนทางตะวันออกแข็งแรงรวดเร็วกว่าคนทั้งหลายคาด ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ของการตั้งมณฑล ถึงออกปากชมกันเป็นครั้งแรก แต่ปีนั้นยุ่งอยู่ด้วยเรื่องฝรั่งเศส ไม่สามารถจัดการอื่นตามหัวเมือง

จนถึงปลาย พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ (๒) เมื่อยังไม่ได้รับกรม เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๔ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงษศิริพัฒน์
ทหารมหาดเล็กราชวัลลภ ราชองครักษ ผู้บัญชาการกรมทหารรักษาพระองค์
อัครราชทูตวิเศษ ณ กรุงปารีส ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า
และผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๕ ตำบลเกาะลอย พระนครศรีอยุธยา



และให้ พระยาดัสกรปลาศ (อยู่) ซึ่งเคยเป็นข้าหลวงใหญ่อยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง เป็นข้าหลวงมณฑลนครสวรรค์ แต่พระยาดัสกรฯ อยู่ในตำแหน่งไม่ช้า รู้สึกตัวว่าเคยรับราชการทหารมาแต่ก่อน จะไม่สามารถรับราชการในตำแหน่งสำคัญฝ่ายพลเรือนให้ดีได้ จึงกราบทูลขอเวนคืนตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลโดยความซื่อ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์


พระยาดัสกรปลาศ (อยู่ โรหิตเสถียร)
ข้าหลวงใหญ่ ณ หลวงพระบาง
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์
ราชองครักษ์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อจากคุณ NickyNick)



และทรงตั้ง พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (แฉ่ บุนนาค) เมื่อยังเป็นพระยาราชพงศานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์


พระยาไกรเพชรรัตนสงคราม (แฉ่ บุนนาค)
พระยาราช พงศานุรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคราม
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์



และต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๓๖ นั้น เมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เลื่อนเป็นข้าหลวงใหญ่มณฑลอีสานแล้ว โปรดฯ ให้รวมเมืองนครราชสีมา เมืองบุรีรัมย์ เมืองนางรอง(๓) เมืองชัยภูมิ รวม ๔ เมือง เข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาลอีกมณฑลหนึ่ง ตั้งที่ว่าการมณฑล ณ เมือง นครราชสีมา เรียกชื่อว่า “มณฑลนครราชสีมา” และทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) เมื่อยังเป็นพระยาประสิทธิศัลยการ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลบัญชาการมณฑลนั้น ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงมีมณฑลหัวเมืองชั้นในขึ้นเป็น ๕ มณฑลด้วยกัน


พระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี)
พระยาประสิทธิ ศัลยการ
ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครราชสีมา (ลาวกลาง)



เรื่องเงินซึ่งโปรดฯ ให้ข้าพเจ้าปรึกษากับกรมพระนราฯ นั้น ข้าพเจ้าเคยทูลท่านตั้งแต่แรกเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ว่าจัดหัวเมืองต้องใช้เงินมาก ถ้ากระทรวงพระคลังฯ ไม่ให้เงินพอแก่การก็จัดไม่สำเร็จ ท่านตรัสว่าได้ทรงคิดคาดอยู่แล้ว แต่เงินรายได้แผ่นดินยังน้อยนัก ถ้ารายได้ไม่มีเพิ่มขึ้นก็ยากที่จะจ่ายเงินให้พอแก่การกระทรวงมหาดไทยได้ เพราะฉะนั้นเมื่อข้าพเจ้าจัดการปกครองหัวเมือง ขอให้คิดบำรุงผลประโยชน์แผ่นดินไปด้วยกัน ถ้าสามารถทำให้เงินรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใด จะจ่ายให้กระทรวงมหาดไทยใช้มากกว่ากระทรวงอื่นๆ ข้าพเจ้าก็รับจะช่วยคิดหาผลประโยชน์แผ่นดินด้วยตามพระประสงค์

ครั้นเมื่อข้าพเจ้าจะขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ กรมพระนราฯ ตรัสแก่ข้าพเจ้า ว่าตามหัวเมืองเหล่านั้นเงินส่วยค้างอยู่มาก ถ้าข้าพเจ้าช่วยเร่งเงินส่วยลงมาได้บ้างก็จะดี

ข้าพเจ้าได้ฟังตรัสออกลำบากใจ ด้วยขึ้นไปครั้งนั้นข้าพเจ้าประสงค์แต่จะไปศึกษาหาความรู้ ไม่ได้คิดว่าจะไปจัดการอันใด อีกประการหนึ่ง ตัวข้าพเจ้าจะไปตรวจหัวเมืองในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นครั้งแรกเหมือนอย่างว่า ประเดิมโรง ชาวหัวเมืองยังไม่รู้จักอยู่โดยมาก ตั้งแต่เจ้าเมืองกรมการตลอดจนราษฎรพลเรือน คงพากันคอยดูว่านิสัยใจคอของข้าพเจ้าจะเป็นอย่างไร

ก็ธรรมดาของการเร่งเงินสมัยนั้น ย่อมต้องเอาตัวพวกลูกหนี้มาบังคับเรียกเอาเงิน บางทีก็ถึงต้องกักขังควบคุม คงต้องทำให้คนเดือดร้อนมากบ้างน้อยบ้างทุกเมืองที่ข้าพเจ้าไป คนทั้งหลายก็จะเลยเข้าใจว่าข้าพเจ้าดุร้ายไม่มีความเมตตากรุณา ถึงจะได้เงินก็เสียความเลื่อมใส พาให้ลำบากแก่กาลภายหน้า แต่จะไม่รับช่วยกระทรวงพระคลังฯ ตามพระประสงค์ของกรมพระนราฯ ก็ไม่สมกับที่ได้ทูลท่านไว้แต่แรก กระทรวงพระคลังฯ จะเลยไม่เชื่อถือ

ข้าพเจ้าทูลให้ทรงทราบความลำบากใจ แต่จะตริตรองหาทางแก้ไขดูก่อน แล้วจึงมาปรึกษาพระวรพุฒิโภคัย เจ้ากรมเงินส่วย ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาเมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กระทรวงมหาดไทยแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นคนเก่าได้รับสัญญาบัตรเป็นพันพุฒอนุราชแต่ในรัชกาลที่ ๔ รู้การงานมาก

พระวรพุฒิฯ ว่าข้าราชการที่เป็นหนี้เงินส่วยอยู่ตามหัวเมืองนั้น เป็นคนมั่งมีก็มี เป็นคนจนก็มี ประเพณีที่เร่งเรียกเงินส่วยบังคับเรียกเหมือนกันหมด ถ้าผ่อนผันให้คนจนอย่างไรก็ต้องผ่อนผันให้คนมั่งมีเหมือนกันหมด ที่จริงลูกหนี้ที่มีเงินพอจะส่งได้มีอยู่ไม่น้อย ถ้าข้าพเจ้าอยากได้เงินโดยไม่ต้องเร่งรัดให้เดือดร้อน เห็นทางที่จะได้อย่างนั้นแต่เอาส่วนลดล่อ คือเปิดโอกาสให้แก่พวกเจ้าหมู่นายกอง ว่าถ้าใครส่งเงินชำระหนี้หลวงได้สิ้นเชิง จะลดจำนวนเงินให้เท่านั้นส่วน กะส่วนให้เขาพอเห็นเป็นประโยชน์ ก็เห็นจะมีคนขอชำระหนี้หลวงด้วยใจสมัครมากด้วยกัน พวกที่ไม่มีเงินจะส่งก็ไม่ต้องถูกเร่งรัดให้ได้ความเดือดร้อน


กระบวนแห่ชาวพม่าที่มาต้อนรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ



ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย และไปทูลถามกรมพระนราฯ ว่ากระทรวงพระคลังฯ จะให้ส่วนลดแก่ลูกหนี้สักเท่าใด ท่านตรัสว่าเงินส่วยที่ค้างตามหัวเมืองทับถมกันอยู่เสมอ เร่งได้เงินปีเก่าปีใหม่ก็ค้างต่อไป จำนวนเงินค้างมีแต่เพิ่มขึ้นทุกปี ถ้าเจ้าหมู่นายกองล้มตาย เงินที่ติดค้างก็เลยสูญ เงินส่วยมีมากแต่ในบัญชี ทิ้งไว้อย่างนั้นยิ่งนานตัวเงินก็ยิ่งสูญมากขึ้น จึงอยากได้เป็นเงินสด ถ้าข้าพเจ้าคิดอ่านให้มีผู้ส่งเงินชำระล้างหนี้ได้เช่นว่า ลดให้ครึ่งหนึ่งก็ยอม

จึงให้พระยาวรพุฒิฯ ขึ้นไปกับข้าพเจ้า และเอาบัญชีเงินส่วยค้างขึ้นไปด้วย ไปถึงเมืองไหนก็ให้พระยาวรพุฒิฯ บอกแก่ลูกหนี้เมืองนั้น ว่าเมื่อข้าพเจ้าจะไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น กระทรวงพระคลังฯ ขอให้ช่วยเร่งเรียกเงินส่วยที่ค้างอยู่ตามหัวเมือง ข้าพเจ้าขอให้กระทรวงพระคลังฯ ผ่อนผันบ้าง อย่าให้ได้ความเดือดร้อนกันนัก กระทรวงพระคลังฯ ได้อนุญาต ว่าถ้าลูกหนี้คนใดชำระเงินหมดจำนวนที่ค้างในเวลาข้าพเจ้าขึ้นไปนั้น ข้าพเจ้าจะลดเงินให้ครึ่งหนึ่งก็ได้ เป็นโอกาสพิเศษซึ่งยากจะมีอีก ถ้าใครอยากจะพ้นหนี้หลวงก็ให้เอาเงินมาชำระเสียให้สิ้นเชิง ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าให้ยอมลดหนี้ให้ครึ่งหนึ่งตามอนุญาตของกระทรวงพระคลังฯ

ก็มีผลอย่างพระยาวรพุฒิฯคาด ด้วยลูกหนี้ที่มีเงินพากันสมัครจะชำระหนี้หลวงให้สิ้นเชิง ด้วยเห็นแก่ส่วนลด บางคนตัวเงินมีไม่พอถึงไปเที่ยวกู้ยืมเงินผู้อื่นมาเพิ่มเติมจนพอชำระหนี้ ก็มี ได้เงินสดกว่า ๒๐๐,๐๐๐ บาท เวลานั้นยังไม่ใช้ธรบัตร ได้เป็นเงินบาททั้งนั้น ข้าพเจ้าต้องให้หาเรือลำหนึ่งบรรทุกเงินลงมาถวายกรมพระนราฯ ก็ทรงยินดี


สมเด็จฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ครั้งเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร



เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ท่านมาปรึกษากับข้าพเจ้าในเรื่องเงินที่จะ จ่ายให้พอจัดการหัวเมืองจึงไม่ลำบาก ท่านตรัสขอแต่ให้ข้าพเจ้าประหยัดเงินช่วยกระทรวงพระคลังฯ บ้าง เป็นต้นว่า ตำแหน่งข้าราชการที่รับเงินเดือนขอให้ตั้งขึ้นแต่น้อยก่อน อัตราเงินเดือนขอให้กำหนดเป็นอย่างต่ำแต่พอหาคนสมัครทำการได้ อีกประการหนึ่งอย่าเพ่อคิดก่อสร้างอะไรให้สิ้นเปลืองมากนัก สถานที่ทำการหรือที่พักอันจำเป็นจะต้องมี ถ้าไม่มีของเดิมขอให้ทำอย่างถูกๆ หรือเช่าเขาแต่พอใช้ชั่วคราวก่อน เมื่อจำนวนเงินแผ่นดินรายได้มีมากขึ้นจึงค่อยขยายรายการเหล่านั้นให้กว้าง ขวางออกไป ถ้าวงการเป็นเช่นที่ท่านตรัสแล้ว จะหาเงินให้ๆพอการ

ข้าพเจ้าก็รับจะทำตามพระประสงค์ และทูลว่าข้าพเจ้าคะเนดูว่าการที่จะจัดในชั้นแรกก็เห็นจะไม่ต้องใช้เงินมาก มายนัก ด้วยตั้งมณฑลขึ้นใหม่เพียง ๔ มณฑล (เวลานั้นยังไม่ได้ตั้งมณฑลนครราชสีมา) ในชั้นแรกก็จะมีคนรับเงินเดือนแต่ในกองข้าหลวงเทศาภิบาลสำหรับบังคับการ มณฑล ซึ่งจะต้องตั้งขึ้นก่อน ตั้งแล้วยังต้องให้เวลาพอที่ข้าหลวงเทศาภิบาลไปเที่ยวตรวจให้รู้การงานตาม หัวเมืองในมณฑลของตนเสียก่อนด้วย ในปีแรกก็เห็นจะต้องจ่ายเงินเดือนเพียงกองข้าหลวงเทศาภิบาล ๔ มณฑล

ต่อชั้นนั้นไปจึงจะถึงจัดการปกครองเมือง เพิ่มคนรับเงินเดือนต่อลงไปถึงเจ้าเมืองกรมการ ซึ่งเป็นพนักงานปกครองเมืองและอำเภอ แต่จัดการปกครองก็คงต้องจัดในเมืองหลวงของมณฑล ที่ข้าหลวงเทศาภิบาลอยู่แต่เมืองเดียวก่อน จะมีคนรับเงินเดือนเพิ่มจำนวนขึ้นแต่ ๔ เมืองก่อน แล้วจึงขยายให้แพร่หลายต่อออกไป เพราะฉะนั้นโดยการที่กำหนดว่าจะจัดก็จะต้องการเงินเพิ่มขึ้นเป็นระยะไป พอจะเข้ากับความสามารถของกระทรวงพระคลังฯ ได้

เมื่อปรึกษาเข้าใจกันกับกระทรวงพระคลังฯ แล้ว ข้าเจ้าก็สิ้นวิตก ตั้งหน้าคิดจัดการหัวเมืองต่อไป




......................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) ยังมีมณฑลเขมรอีกมณฑลหนึ่ง ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลบูรพา มณฑลนี้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) เป็นข้าหลวงใหญ่ ตั้งที่ว่าการอยู่ ณ เมืองพระตะบอง

(๒) พลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์

(๓) เมืองบุรีรัมย์ กับ เมืองนางรอง นี้ แต่ก่อนมารวมเป็นบริเวณเดียว ตั้งศาลากลางที่เมืองบุรีรัมย์ และเรียกบริเวณนางรอง มีฐานะเท่าจังหวัดหนึ่งในสมัยนั้น ต่อมาไดเปลี่ยนชื่อบริเวณนั้นเป็นเมืองบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ ส่วนเมืองนางรองนั้นยุบเป็นอำเภอขึ้นจังหวัดบุรีรัมย์




 

Create Date : 27 เมษายน 2553   
Last Update : 27 เมษายน 2553 2:45:49 น.   
Counter : 14243 Pageviews.  


เทศาภิบาล ตอนที่ ๕ กรมขึ้นมหาดไทย


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๕ กรมขึ้นมหาดไทย

ข้าพเจ้ากลับจากหัวเมือง ก็ตั้งต้นเปลี่ยนแปลงการงานในกระทรวงมหาดไทย เริ่มด้วยจัดระเบียบการรับสั่งร่างเขียน และเก็บจดหมายในสำนักงานก่อน

การส่วนนี้เจ้าพระยาพระเสด็จฯ ซึ่งได้เลื่อนที่จากหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ ขึ้นเป็นพระมนตรีพจนกิจ เป็นประโยชน์มาก เพราะรู้วิธีจดหมายราชการแบบใหม่ของสมเด็จ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้ถ่ายไปใช้ในกระทรวงธรรมการ ชำนาญมาแต่เมื่ออยู่ในกระทรวงนั้นแล้ว ตัวเจ้าพระยาพระเสด็จฯ ก็มีอัชฌาสัยสัมมาคาระเข้ากับพวกข้าราชการกระทรวงมหาดไทยได้เร็ว สามารถชี้แจงให้คนเก่าทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และผู้น้อยให้แก้ไขการงานเข้าระเบียบใหม่ได้โดยง่าย ตัวข้าพเจ้าไม่สู้ต้องเป็นธุระมากนัก


เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)


และในตอนนี้ได้ผู้ซึ่งมาเป็นคนสำคัญในกระทรวงมหาดไทยเมื่อภายหลังเข้ามาอีกคนหนึ่ง คือพระยามหาอำมาตย์ (เสง วิริยศิริ) เดิมเป็นนักเรียนในโรงเรียนนันทอุทยาน รู้ภาษาอังกฤษถึงชั้นสูงในโรงเรียนนั้น เมื่อออกจากโรงเรียนมาอยู่กับข้าพเจ้า ประจวบเวลาพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ข้าพเจ้าจัดกรมแผนที่ขึ้นในกรมมหาดเล็ก ข้าพเจ้าจึงมอบให้เป็นศิษย์และเป็นล่ามของพระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมกคาที) ไปอยู่ในกรมทำแผนที่หลายปี ได้เรียนรู้วิชาทำแผนที่ และเคยไปเที่ยวทำแผนที่ตามหัวเมืองต่างๆ ทางชายพระราชอาณาเขต มีความสามารถจนได้เป็นที่หลวงเทศาจิตพิจารณ์


พระยามหาอำมาตย์ (เสง วิริยศิริ)
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อคุณ NickyNick)



พระวิภาคภูวดล (เจมส์ เอฟ แมกคาที)


เมื่อเวลาข้าเจ้าย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย หลวงเทศาจิตฯ ไปทำแผนที่อยู่ทางเมืองหลวงพระบาง พอกลับมาก็ขอสมัครมาอยู่กระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าเห็นว่าในกระทรวงมหาดไทยยังไม่มีใครรู้ภาษาฝรั่งดี นอกจากตัวข้าพเจ้าคนเดียว และหลวงเทศาจิตฯ เคยเที่ยวทำแผนที่ทางชายแดน รู้ภูมิลำเนาบ้านเมืองชายพระราชอาณาเขตมาก จึงทูลขอมาเป็นที่พระสฤษพจนกร อีกคนหนึ่ง เป็นคู่กับเจ้าพระยาพระเสด็จฯ เมื่อเป็นพระมนตรีพจนกิจ สองคนนี้เป็นแรกที่ข้าพเจ้าเอาบุคคลภายนอกเข้ามารับราชการในกระทรวงมหาดไทย แต่เจ้าพระยาพระเสด็จฯ อยู่ไม่นาน สมเด็จพระศรีพัชรินทร์ฯ ตรัสขอไปเป็นพระครูหนังสือไทยของสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประทับอยู่ในยุโรป ดังกล่าวในนิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง(๑) จึงไปได้ดีทางกระทรวงอื่น แต่หลวงเทศาจิตฯ อยู่ต่อมาจนได้เป็นพระยาศรีสหเทพ ปลัดทูลฉลอง แล้วเลื่อนเป็นพระยามหาอำมาตย์ ตำแหน่งรองเสนาบดี อยู่จนข้าพเจ้าออกจากกระทรวงมหาดไทย

ส่วนพวกข้าราชการเก่าที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยมาแต่ก่อนนั้น ข้าพเจ้าก็เลือกสรรเอาเข้าตำแหน่งในระเบียบใหม่ตามเห็นความสามารถ บางคนให้ไปรับราชการในตำแหน่งสูงขึ้นตามหัวเมืองก็มี บางคนก็เลื่อนตำแหน่งขึ้นคงทำงานอยู่ในกระทรวง ปลดออกแต่ที่แก่ชราเกินกับการไม่กี่คน ความที่หวาดหวั่นกันในพวกข้าราชการเก่า ด้วยเห็นข้าพเจ้าเป็นคนสมัยใหม่ เกรงว่าจะเอาคนสมัยใหม่ด้วยกันเข้าไปเปลี่ยนคนเก่าให้ต้องออกจากราชการก็สงบไป

ส่วนระเบียบการในกระทรวงที่จัดแก้เป็นระเบียบใหม่นั้น แบบจดหมายราชการได้อาศัยแบบอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์ฯ ทรงตั้งขึ้น แต่ลักษณะที่จัดหน้าที่ต่างๆ ต้องเอาราชการในกระทรวงมหาดไทยขึ้นตั้งเป็นหลัก ข้าพเจ้าตรวจดูทำเนียบเก่าซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมาย “ลักษณะศักดินาข้าราชการพลเรือน” เห็นฝ่ายธุรการในกระทรวงมหาดไทยแบ่งเป็นกรมใหญ่ ๓ กรม คือ กรมมหาดไทยกลาง (แต่ในกระทรวงมหาดไทยเรียกกันว่า “กรมหมู่ใหญ่” ) ปลัดทูลฉลองเป็นหัวหน้ากรม ๑ กรมมหาดไทยฝ่ายเหนือ พระยามหาอำมาตย์เป็นหัวหน้ากรม ๑ กรมพลัมพัง พระยาจ่าแสนยบดีฯ เป็นหัวหน้ากรม ๑ ทางกระทรวงกลาโหมมีกรมกลาโหมกลาง กับกรมกลาโหมฝ่ายเหนือ และกรมพลัมพัง อย่างเดียวกัน พิจารณาดูเห็นว่าเดิมทีเดียวน่าจะมีแต่กรมกลาง ทั้งมหาดไทยและกลาโหม กรมฝ่ายเหนือจะมาสมทบเพิ่มขึ้นต่อภายหลัง ถึงกรมพลัมพังก็เกิดขึ้นต่อภายหลัง


สมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ


ตรงนี้ จะแทรกวินิจฉัยของข้าเจ้าลงสักหน่อย ตามที่คิดเห็นว่ากรมมหาดไทยและกลาโหมฝ่ายเหนือจะมีมาแต่เมื่อใด ด้วยตรวจดูในเรื่องพงศาวดาร เห็นมีเค้ามูลว่าน่าจะเกิดขึ้นเมืองครั้งราชโอรสของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) พระองค์ ๑ ครองเมืองเหนืออยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเชษฐา พระองค์ ๑ ครั้งนั้นเมืองไทยมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์(๒) อยู่ ๓ ปีในระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๑ จน พ.ศ. ๒๐๓๔ คงตั้งทำเนียบข้าราชการเมืองพิษณุโลกขึ้นอีกสำรับ

ครั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชสวรรคต สมเด็จพระเชษฐาได้รับรัชทายาทครองเมืองไทยทั่วทั้งหมด เปลี่ยนพระนามเป็น สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒) เสด็จลงมาประทับ ณ พระนครศรีอยุธยา ข้าราชการเมืองพิษณุโลกก็ลงมาสมทบกับข้าราชในพระนครศรีอยุธยาแต่นั้นมา ข้อนี้พึงเห็นหลักฐานได้ในคำที่เรียกข้างท้ายชื่อกรมว่า “ฝ่ายเหนือ” กับที่ตำแหน่งต่างๆ ในกรมฝ่ายใต้กับฝ่ายเหนือมีเหมือนกัน ตั้งแต่ปลัดทูลฉลอง ปลัดบัญชี ตลอดจนหัวพันนายเวร

แต่กรมพลัมพังนั้นเห็นจะตั้งขึ้นเมื่อใด และหน้าที่เดิมเป็นอย่างไร กล่าวกันแต่ว่าเกี่ยวกับปืนใหญ่ อาจจะเป็นพนักงานขนปืนใหญ่ในกองทัพหลวงก็เป็นได้ แต่ข้าราชการในกรมฝ่ายเหนือกับกรมพลัมพังทำราชการคละกันกับกรมกลางมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ หรือตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงไม่มีใครรู้ว่าหน้าที่เดิมเป็นอย่างไร(๓)

ยังมีกรมขึ้นของกระทรวงมหาดไทยอยู่ตามทำเนียบเดิมอีก ๒ กรม เรียกว่า กรมตำรวจภูธร เจ้ากรมเป็นหลวงวาสุเทพ กรม ๑ เรียกว่า กรมตำรวจภูบาล เจ้ากรมเป็นหลวงพิษณุเทพ กรม ๑ แต่โบราณ ๒ กรมนี้จะมีหน้าทำราชการอย่างใดก็ไม่มีใครรู้ เมื่อข้าพเจ้าไปอยู่กระทรวงมหาดไทยเป็นแต่คุมเลกไพร่หลวง เจ้ากรม ปลัดกรมก็รับราชการเหมือนกับขุนนางกระทรวงมหาดไทยพวกรับเบี้ยหวัด เช่นให้เป็นข้าหลวงไปทำการชั่วครั้งชั่วคราว


การฝึกแถวของตำรวจสมัยรัชกาลที่ ๕ การตำรวจที่เป็นแบบอย่างยุโรปเริ่มจัดตั้งสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยว่าจ้าง
ชาว อังกฤษชื่อซัมมวลเอมส์มาเป็นผู้บังคับบัญชา ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัฐยาภิบาลบัญชา
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อคุณ เพ็ญชมพู)


แต่พิจารณาเห็นเค้าหน้าที่เดิมมีอยู่ ด้วยชื่อว่า “ตำรวจ” นั้นหมายความว่าเป็นพนักงานตรวจ อีกประการ ๑ ชื่อปลัดกรมทั้ง ๒ นั้นมีสัมผัสคล้องกันว่า ขุนเพชรอินทรา ขุนมหาวิชัย ขุนพิษณุแสน ขุนแผนสะท้าน ในเรื่องเสภาที่ว่าพลายแก้วได้เป็นที่ ขุนแผนสะท้าน ก็คือเป็นปลัดกรมตำรวจภูบานนั้นเอง ปรากฏว่ามีหน้าที่ตรวจตระเวนด่านทางทางเมืองกาญจนบุรี

ความยุติต้องกัน จึงเห็นว่า ๒ กรมนั้น หน้าที่เดิมน่าจะเป็นพนักงานตรวจด่านทางปลายแดน ซึ่งภายหลังเมื่อมีมอญอพยพเข้ามาสามิภักดิ์อยู่ในเมืองไทยมาก ให้พวกมอญเป็นพนักงานตรวจตระเวนทางต่อแดนเข้าไปได้จนถึงในเมืองพม่า จึงโอนการตรวจตระเวนชายแดนจากกรมตำรวจทั้ง ๒ นั้นไปเป็นหน้าที่ของพวกมอญ ซึ่งตั้งขึ้นเป็นกรมหนึ่งเรียกว่า กรมอาทมาต กรมตำรวจภูธรกับกรมตำรวจภูบาลจึงเป็นแต่คุมไพร่ขึ้นอยู่ในกระทรวงมหาดไทย ที่เอาหน้าที่เดิมของกรมตำรวจทั้ง ๒ มากล่าวในที่นี้ เพราะในสมัยเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีกรมตั้งขึ้นใหม่ ๒ กรม โอนมาจากกระทรวงอื่น ๒ กรม รวมเป็น ๔ กรมด้วยกัน จะเล่าถึงที่ตั้งและที่โอนมาขึ้นของกรมเหล่านั้นไว้ด้วย

ตามหัวเมืองแต่ก่อนมา นอกจากกรมอาทมาตที่กล่าวมาแล้ว ไม่มีพนักงานตรวจจับโจรผู้ร้าย กรมอาทมาตก็เป็นแต่สำหรับสืบข่าวทางเมืองพม่า เมื่อจัดการปกครองหัวเมือง พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เอาแบบ “ยองดามส์” ของฝรั่ง ซึ่งควบคุมและใช้ปืนเหมือนอย่างทหาร มาจัดขึ้นเป็นพนักงานตรวจจับโจรผู้ร้ายตามหัวเมือง เพราะเหมาะแก่การตรวจตระเวนท้องที่กว้างใหญ่ ด้วยไม่ต้องใช้คนมากนัก แต่ชื่อที่จะเรียกยองดามส์ว่ากระไรในภาษาไทย ยังไม่มี ข้าพเจ้าจึงเอาชื่อ ตำรวจภูธร มาให้เรียกยองดามส์ที่จัดขึ้นใหม่ เพราะเห็นว่าหน้าที่เป็นทำนองเดียวกันแต่โบราณ จึงมีกรมตำรวจภูธรอย่างใหม่ตั้งขึ้นแต่นั้นมา

ต่อมาภายหลัง ข้าพเจ้าคิดจะจัดกรมตำรวจภูบาลเป็นกรมนักสืบ C.I.D. (ซี.ไอ.ดี.) ขึ้นอีกกรมหนึ่ง แต่ไม่สำเร็จ เพราะหาผู้เชี่ยวชาญเป็นครูไม่ได้(๔) มาจนถึงรัชกาลที่ ๗ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงทรงจัดขึ้น เมื่อกรมตำรวจภูธรกับกรมตำรวจภูบาลรวมเป็นกรมเดียวกันเสียแล้ว จึงเรียกว่า กรมตำรวจกลาง(๕)


Officers of Police Department สมัยเริ่มก่อตั้ง
(ไฟล์ภาพโดยความเอื้อเฟื้อคุณ Navarat.C)


กรมป่าไม้ เป็นกรมซึ่งตั้งขึ้นใหม่อีกกรมหนึ่ง เหตุที่จะตั้งกรมป่าไม้นั้นทีเรื่องมายืดยาว ด้วยป่าไม้สักมีในเมืองพม่ากับเมืองไทยมากกว่าที่ไหนๆ หมด เมื่ออังกฤษได้หัวเมืองมอญไปจากพม่า พวกอังกฤษตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่เมืองเมาะลำเลิง (มระแหม่ง) ตัดต้นสักทางลุ่มน้ำสาละวินในแดนเมืองมอญ เอาลงไปเลื่อยทำเป็นไม้เหลี่ยมและไม้กระดานส่งไปขายต่างประเทศ เป็นสินค้าเกิดขึ้นทางนั้นก่อน

ส่วนป่าไม้ในเมืองไทยมีมากแต่ในมณฑลพายัพลงมาถึงแขวงเมืองตาก เมืองกำแพงเพชร และเมืองอุทัยธานี เดิมชาวเมืองตัดแต่ไม้สักใน ๓ เมืองนั้นลงมาขายในกรุงเทพฯ แต่มักเป็นไม้ขนาดย่อม มักเอามาใช้ปักเป็นหลักสำหรับผูกแพที่คนอยู่ในแม่น้ำ จึงเรียกกันว่า เสาหลักแพ เป็นพื้น ที่เป็นไม้ซุงขนาดใหญ่ยังมีน้อย ถึงกระนั้น ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว ก็มีฝรั่งเข้ามาตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นในกรุงเทพฯ หมายจะเอาไม้สักเมืองไทยเลื่อยส่งไปขายต่างประเทศ จึงเริ่มเกิดสินค้าไม้สักเมืองไทยส่งไปขายต่างประเทศมาแต่รัชกาลที่ ๔ การทำป่าไม้สักก็เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมาทั้งในเมืองไทยและเมืองมอญ

ถึงรัชกาลที่ ๕ พวกทำป่าไม้ในแดนมอญ อยากจะตัดไม้สักต่อเข้ามาในแดนเมืองเชียงใหม่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวิน จึงเข้ามาคิดอ่านกับพวกพ่อค้าพม่าที่ฝากตัวอยู่กับพระเจ้าเชียงใหม่ ขออนุญาตตัดไม้สัก โดยจะยอมให้เงิน ค่าตอ ทุกต้นสักที่ตัดลง

ในเวลานั้นพระเจ้าเชียงใหม่ยังมีอำนาจสิทธิ์ขาดในบ้านเมืองอย่างประเทศราชแต่โบราณ เห็นแก่ผลประโยชน์ที่จะได้จากป่าไม้ ก็อนุญาตให้พวกพม่าทำป่าไม้ทางแม่น้ำสาละวินหลายแห่ง ด้วยสำคัญว่าจะบังคับบัญชาได้ เหมือนอย่างเคยบังคับบัญชาพวกพม่าที่มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่ แต่พวกทำป่าไม้ต้องกู้เงินเขามาทำเป็นทุน ทำการหมายแต่จะหากำไร บางคนไม่ยอมทำตามบังคับบัญชาของพระเจ้าเชียงใหม่ ในเมื่อเห็นว่าจะเสื่อมเสียประโยชน์ของตน พระเจ้าเชียงใหม่ให้ลงอาญา เช่น ห้ามมิให้ตัดไม้ เป็นต้น

พม่าพวกทำป่านั้น ไปได้คำแนะนำของพวกเนติบัณฑิตในเมืองพม่า เข้ามาร้องทุกข์ต่อกงสุลอังกฤษกรุงเทพฯ กงสุลก็อุดหนุนรับธุระให้ร้องขอต่อรัฐบาล ให้เรียกค่าสินไหมจากพระเจ้าเชียงใหม่ให้แก่ตน ในชั้นแรกมีการฟ้องร้องน้อย โปรดฯ ให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม) เมื่อยังเป็นพระยาเทพอรชุน เป็นข้าหลวงขึ้นๆไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ก็ว่ากล่าวเปรียบเทียบให้เสร็จไปได้ แต่ทางเมืองเชียงใหม่ยังให้อนุญาตป่าไม้อยู่ไม่หยุด ถ้อยความเรื่องป่าไม้ก็กลับมากขึ้น และเจือไปเป็นการเมือง ด้วยกงสุลเข้ามาเกี่ยวข้องอุดหนุนคนในบังคับอังกฤษ พวกนั้นก็เลยได้ใจ จนรัฐบาลไทยกับอังกฤษต้องทำหนังสือสัญญากันให้ตั้งศาลต่างประเทศ และมีข้าหลวงและไวส์กงสุลอังกฤษตั้งประจำอยู่ที่เชียงใหม่



เจ้าพระยารัตนาธิเบศ (พุ่ม)


ส่วนการทำป่าไม้สักในเมืองไทย ถึงรัชกาลที่ ๕ ก็มีบริษัทฝรั่งเข้ามาตั้งค้าไม้สักขึ้นหลายห้าง พวกบริษัทขึ้นไปขอทำป่าไม้ในมณฑลพายัพเอาลงมาเลื่อยขายในกรุงเทพฯ ก็มักเกิดถ้อยความที่รัฐบาลต้องโต้เถียงกับกงสุล เกิดความรำคาญขึ้นอีกทางหนึ่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงปรึกษากับเจ้าพระยาอภัยราชา (โรลังยัคมินส์)(๖) เห็นว่าถ้าตั้งกรมป่าไม้ให้มีขึ้นในเมืองไทย สำหรับควบคุมการป่าไม้ตามแบบอย่างที่รัฐบาลอังกฤษจัดในเมืองพม่า และชั้นแรกขอยืมผู้เชี่ยวชาญจากรัฐบาลอังกฤษที่เมืองพม่า มาเป็นครูฝึกหัดไทยที่จะเป็นพนักงานป่าไม้ต่อไป จะเป็นประโยชน์หลายอย่าง เพราะมีกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว พวกทำป่าไม้ก็จะไปติดต่อขอความสงเคราะห์ของกรมป่าไม้เหมือนแบบอย่างอังกฤษที่เมืองพม่า ไม่ต้องพึ่งกงสุล ก็จะพรากการอันเนื่องด้วยป่าไม้ออกจากการเมืองได้ และจะเป็นคุณต่อไปถึงการสงวนป่าไม้สักในเมืองไทย ทั้งอาจจะได้ผลประโยชน์ของรัฐบาลจากป่าไม้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย พระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งให้ข้าพเจ้าจัดตั้งกรมป่าไม้ขึ้นในกระทรวงมหาดไทย


เจ้าพระยาอภัยราชา (Rolinjacquemyns)


เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ก็ตัดความรำคาญได้สมพระราชประสงค์ เพราะลักษณะการที่คนในบังคับต่างประเทศร้องทุกข์ หรือจะขอร้องอันใดจากรัฐบาลไทย แต่ก่อนมาเคยขอให้กงสุลว่ากล่าวกับรัฐบาล กงสุลมีจดหมายส่งคำร้องขอมายังกระทรวงการต่างประเทศ ถ้าแลการนั้นเกี่ยวด้วยกระทรวงใด กระทรวงการต่างประเทศก็มีจดหมายถามไปยังกระทรวงนั้น เจ้ากระทรวงว่ากระไรก็เขียนจดหมายตอบไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศก็มีจดหมายตอบไปยังกงสุล จะพูดกันแต่ละครั้งหลายวันจึงจะแล้ว

เมื่อตั้งกรมป่าไม้ขึ้นแล้ว ถ้าพวกทำป่าไม้เป็นคนในบังคับต่างประเทศ ขอร้องมาทางกงสุล ข้าพเจ้าก็ทำตามแบบเดิมซึ่งมีจดหมายถึงกันหลายทอดดังว่ามาแล้ว ถ้าพวกทำป่าไม้มาร้องขอต่อพวกทำป่าไม้เอง จะเป็นคนในบังคับต่างประเทศหรือในบังคับไทย ข้าพเจ้าก็ให้กรมป่าไม้สงเคราะห์เสมอหน้ากัน ในไม้ช้าเท่าใด พวกชาวต่างประเทศก็เลิกร้องขอทางกงสุล สมัครมาว่ากล่าวตรงต่อกรมป่าไม้หมด กงสุลจะว่าก็ไม่ได้ ด้วยพวกทำป่าไม้อ้างว่าเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง ทำแต่การค้าขาย อย่างไรสะดวกแก่กิจธุระของเขา เขาก็ทำอย่างนั้น การส่วนสงวนป่าไม้และเพิ่มผลประโยชน์แก่แผ่นดิน ก็ได้ดังพระราชประสงค์ทั้ง ๒ อย่าง จึงมีกรมป่าไม้สืบมา(๗)

กรมแร่นั้น ชื่อหลวงขนานว่า “กรมราชโลหกิจภูมิพิทยา” แต่เรียกกันโดยย่อตามสะดวกปากว่า “กรมแร่” เป็นกรมตั้งขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ แต่ก่อนข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

เหตุที่จะตั้งกรมแร่ เกิดด้วยฝรั่งชาวอิตาลีคนหนึ่ง ชื่อลุชาตี ได้รับสัมปทานบัตรทำบ่อแร่ทองคำที่บางสะพาน ฝรั่งคนนั้นไปหาคนเข้าทุนในยุโรป เที่ยวโฆษณาว่าในเมืองไทยมีบ่อแร่ทองคำเนื้อดีมาก ข่าวแพร่หลายก็มีฝรั่งต่างชาติพากันตื่นมาขอสัมปทานจะทำบ่อทองที่แห่งอื่นๆ ในเมืองไทยยังไม่มีกฎหมายและผู้ชำนาญที่จะเป็นพนักงานในการทำแร่ จึงโปรดฯ ให้หาฝรั่งซึ่งเชี่ยวชาญการแร่มาเป็นครู ตั้งกรมแร่ขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ แต่พวกกรมแร่ไม่รู้ขนบธรรมเนียมในบ้านเมือง ไปทำการตามหัวเมืองมักไม่ปรองดองกับเจ้าเมือง

ถึงสมัยข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จึงโปรดฯ ให้โอนกรมแร่จากกระทรวงเกษตราธิการมาเป็นกรมขึ้นกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ปรับกิจการที่เกี่ยวข้องกับหัวเมืองให้เรียบร้อย ครั้นถึงปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงตั้งเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์เป็นเสนาบดี(๘) ก็โอนกลับคืนไปกระทรวงเกษตรฯ ตามเดิม กรมแร่จึงมาขึ้นกระทรวงมหาดไทยอยู่เพียงชั่วคราว


เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์)


ตัวศาลาลูกขุนในฝ่ายซ้าย ซึ่งเป็นสำนักงานกระทรวงมหาดไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เพราะเมื่อจัดห้องที่ทำงานเป็นระเรียบเรียบร้อยแล้ว ที่ก็ไม่พอ เมื่อข้าพเจ้ากลับจากตรวจหัวเมือง พูดกับกระทรวงกลาโหมตกลงกันแล้ว จึงไปบอกระทรวงวัง ว่ากระทรวงกลาโหมยอมให้ห้องกลางในศาลาลูกขุนแก่กระทรวงมหาดไทย เพราะฉะนั้นขอให้ย้ายคลังวรอาสน์ไปเสียที่อื่น ก็ได้ห้องกลางมาใช้เป็นห้องประชุม และสำหรับการพิธี และโดยปรกติใช้เป็นห้องรับแขกด้วย

ต่อมาอีกปีหนึ่ง เมื่อกระทรวงกลาโหมบัญชาแต่ราชการทหาร ย้ายสำนักงานออกไปอยู่ที่ตึกกระทรวงกลาโหมเดี๋ยวนี้ ศาลาลูกขุนในทางฝ่ายขวาก็ตกเป็นสำนักงานกระทรวงมหาดไทย รวมอยู่ในกระทรวงเดียวหมดทั้งหมู่ ถึงกระนั้นที่ก็ไม่พอกับกรมขึ้น จึงให้มาทำงานร่วมสำนักกับกระทรวงมหาดไทยแต่กรมสรรพากรนอกกรมเดียว(๙) นอกจากนั้นกรมตำรวจภูธรกับกรมป่าไม้ต้องให้หาที่ตั้งสำนักงานใหม่ ส่วนกรมแร่คงทำงานอยู่ที่สำนักงานเดิมในกระทรวงเกษตรฯ




.....................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) นิทานโบราณคดี นิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แผ่นดินทอง – โรงเรียนมหาดเล็กหลวง


(๒) แผ่นดินทอง – เมื่อแผ่นดินทรงสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๒ พระองค์


(๓) พระวินิจฉัยความหมาย มหาดไทย กลาโหม ประทานพระยาอินทรมนตรี
(สำเนาคำตอบปัญหา) จากกระทู้คุณ เพ็ญชมพู

คำถามที่ ๕ ว่า คำ "กลาโหม" กับคำ "พลัมภัง" ที่เรียกเป็นชื่อกรมนั้น มาแต่อะไร

ตอบคำถามที่ ๕ ต้องเพิ่มคำ "มหาดไทย" เข้าอีกคำ ๑ เพราะใช้เป็นชื่อกรมคู่กับ กลาโหม อันคำ กลาโหม มหาดไทย และพลัมภัง ทั้ง ๓ คำนี้ มิใช่ภาษาไทย คงเป็นคำมาแต่ภาษาสันสกฤตหรือภาษามคธ (ฝรั่งเรียกว่าภาษา "บาลี")ได้ลองค้นดูในหนังสือพจนานุกรมภาษาบาลีของอาจารย์ซิลเดอร์พบคำ "กลโห" Kalaho มีอยู่ในนั้นแปลความว่า "วิวาท" Quarrel อย่าง ๑ ว่า "วุ่นวาย" Strife อย่าง ๑ ว่า "รบประจัญบาน" Battle อย่าง ๑ ดูสมกับที่เอามาใช้ชื่อกรมฝ่ายทหาร ในพจนานุกรมนั้นมีอีกคำหนึ่งว่า "มหทย Mahadaya แปลความว่า "เมตตายิ่ง" Very Compassionate อย่าง ๑ "กรุณายิ่ง" Very Merciful อย่าง ๑ ดูก็สมกับที่เอามาใช้เป็นชื่อกรมฝ่ายพลเรือน แต่คำพลัมภังมีเพียงเค้าเงื่อนในพจนานุกรมเป็น ๒ ศัพท์ คือว่า "พลัม" แปลว่า Strength, Power, Force ล้วนหมายความว่ากำลังอย่าง ๑ อีกนัยหนึ่งแปลว่า "ทหารบก" Army หรือ "กองทหาร" Troop และในพจนานุกรมมีอีกคำหนี่งว่า "อัมโภ" Ambho แปลว่า "ก้อนกรวด" Pebble ถ้าเอา ๒ คำนี้เข้าสนธิกันเป็น "พลัมโภ" ดูใกล้กับคำพลัมภัง ประหลาดอยู่ที่ตามกฎหมายทำเนียบศักดินามีกรมพลัมภังอยู่ทั้งในกระทรวงมหาดไทย และในกระทรวงกลาโหม เจ้ากรมพลัมภังมหาดไทยเป็นที่พระยาจ่าแสนยบดี และเจ้ากรมพลัมภังกลาโหมเป็นที่พระยาศรีเสาวราชภักดี ฉันได้เคยสืบถามพวกข้าราชการชั้นเก่าในกระทรวงมหาดไทยว่า กรมพลัมภังนั้นแต่เดิมมีหน้าที่อย่างไร เขาบอกว่ากรมพลัมภังนั้นกล่าวกันมาว่า แต่โบราณเป็นเจ้าหน้าที่สำหรับคุมปืนใหญ่ ถ้าเช่นนั้นชื่อกรมพลัมภังก็อาจจะมาแต่คำ "พลัมโภ" ที่ในพจนานุกรมแปลคำ "อัมโภ" ว่า "ก้อนกรวด" อาจหมายถึงวัตถุที่ใช้เป็นกระสุนของปืนใหญ่ชั้นเดิมก็เป็นได้ ความที่สันนิษฐานมาเป็นวินิจฉัยของคำ "กลาโหม" "มหาดไทย" และ "พลัมภัง" ว่ามาแต่อะไร

ยังมีวินิจฉัยที่ควรกล่าวต่อไปถึงเหตุที่เอาคำ "กลาโหม" กับ "มหาดไทย" มาใช้เป็นชื่อกรม อธิบายข้อนี้ มีอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา กับในกฎหมายทำเนียบศักดินาประกอบกันว่า เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้กำหนดข้าราชการเป็น "ฝ่ายทหาร" และ "ฝ่ายพลเรือน" ทรงตั้งตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีขึ้น ๒ คน คือ เจ้าพระยามหาเสนาบดี ให้เป็นหัวหน้าข้าราชการฝ่ายทหารคน ๑ เจ้าพระยาจักรี ให้เป็นหัวหน้าราชการฝ่ายพลเรือน คน ๑ ผู้ช่วย Staff ของอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายทหารรวมเข้าเป็นกรม ให้เรียก "กรมกลาโหม" ผู้ช่วยของอัครมหาเสนาบดี ฝ่ายพลเรือนก็รวมเป็นกรมเช่นเดียวกัน ให้เรียกว่า กรมมหาดไทย จึงมีกรมกลาโหมและกรมมหาดไทยเกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้ เพิ่งมาบัญญัติให้เรียกกรมที่มีเสนาบดีเป็นผู้บัญชาการว่า "กระทรวง" (ตรงกับ Ministry) เมื่อรัชกาลที่ ๕ เป็นอันว่า "มหาดไทย" น่าจะมาจาก "มหทย" (Mahadaya) ซึ่งแปลว่า เมตตายิ่ง หรือ กรุณายิ่ง ตรงกับงานและหน้าที่ของมหาดไทยเป็นที่สุด การที่เราเขียน มหทย เป็น มหาดไทย จะเป็นด้วยเขียนตามสำเนียงที่เปล่งออกมา หรืออักขระกลายรูป อย่างไรอย่างหนึ่งก็เป็นได้

นอกจากพระวินิจฉัยในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว ยังมีความเห็นอีกหลายท่านประกอบพิจารณาครับ


(๔) ในรัชกาลที่ ๖ ได้จัดกรมตำรวจภูบาลขึ้นอีกกรมหนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๖ แต่ครั้นเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมตำรวจภูธรกับกรมพลตระเวนเป็นกรมเดียวแล้ว ก็โปรดให้ยกเลิกกรมตำรวจภูบาลเสีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗


(๕) ในระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงจัดตั้งกรมตำรวจขึ้นอีกกรมหนึ่ง สำหรับเป็นกำลังส่งไปช่วยปราบปรามโจรผู้ร้ายในเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น เหลือกำลังตำรวจท้องที่จะปราบได้ แต่เมื่อประกาศตั้งกรมนี้ขึ้นเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ แล้ว จึงกลับเรียกว่าตำรวจภูบาลอีกครั้งหนึ่ง


(๖) เป็นชาวเบลเยี่ยม ชื่อ Rolinjacquemyns เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดินของรัฐบาลไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๕
เพชรพระมหามงกุฎ – เจ้าพระยาอภัยราชา (Rolinjacquemyns)


(๗) ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้โอนกรมป่าไม้จากกระทรวงมหาดไทย ไปสังกัดกระทรวงเกษตราธิการ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔


(๘) เจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ ในหนังสือตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์ มีอธิบายว่า

เจ้าพระยาวงศานุพัทธ (ม.ร.ว.สท้าน สนิทวงศ์)

เจ้าพระยาวงศ์นุประพัทธ นามเดิม หม่อมราชวงศ์ สท้าน สนิทวงศ์ เป็นบุตรพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ออกไปเรียนวิชาได้เป็นนายทหารบกในประเทศเดนมาร์ก กลับเข้ามารับราชการในทหารบก เมื่อในรัชกาลที่ ๕ พระราชทางสัญญาบัตร เป็นหม่อมชาติเดชอุดม หม่อมราชนิกูล รับราชการทหารจนมียศเป็นนายพล พระราชทานสัญญาบัตรเป็นพระยาวงศานุประพัทธ วิบูลปริวัตรเกษตราธิบดี รับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ถึงรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้เป็นเจ้าพระยา

ท่านเจ้าพระยาผู้นี้ได้รับพระราชทานทินนามใหม่ว่า เจ้าพระยานุประพัทธรัตนพลเทพฯ

ในสมัยที่ปกครองแบบจตุสดมภ์ เจ้าพระยาพลเทพ เป็นเสนาบดีกรมนา


(๙) กรมสรรพากรนอก เดิมขึ้นกระทรวงพระคลัง ตั้งที่ทำการอยู่ที่มณฑลปราจีน ปรากฏในรายงานการประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ว่าโปรดเกล้าฯ ให้มาสังกัดกระทรวงมหาดไทย




 

Create Date : 19 เมษายน 2553   
Last Update : 19 เมษายน 2553 17:33:14 น.   
Counter : 6588 Pageviews.  


เทศาภิบาล ตอนที่ ๔ ราชการหัวเมือง


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๔ ราชการหัวเมือง

ข้าพเจ้าไปตรวจหัวเมืองครั้งนั้น ได้เห็นประเพณีการปกครองหัวเมืองอย่างโบราณที่ยังใช้อยู่หลายอย่าง ควรจะเล่าเข้าในโบราณคดีได้ แต่ต้องเล่าประกอบวินิจฉัยอันเป็นความรู้ซึ่งข้าพเจ้าได้ต่อเมื่อภายหลัง ด้วย จึงจะเข้าใจชัดเจน

การปกครองตามหัวเมืองในสมัยนั้น ยังใช้วิธีเรียกในกฎหมายเก่าว่า “กินเมือง” อันเป็นแบบเดิม ดูเหมือนจะใช้เช่นเดียวกันทุกประเทศทางตะวันออกนี้ ในเมืองจีนก็ยังเรียกว่ากินเมืองตามภาษาจีน แต่ในเมืองไทยมาถึงชั้นหลังเรียกเปลี่ยนเป็น “ว่าราชการเมือง” ถึงกระนั้นคำว่า “กินเมือง” ก็ยังใช้กันในคำพูด และยังมีอยู่ในหนังสือเก่าเช่นกฎมนเทียรบาล เป็นต้น

วิธีปกครองที่เรียกว่ากินเมืองนั้น หลักเดิมคงมาแต่ถือว่าผู้เป็นเจ้าเมือง ต้องทิ้งธุระของตนมาประจำทำการปกครองบ้านเมือง ให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากภัยอันตราย ราษฎรก็ต้องตอบแทนคุณเจ้าเมืองด้วยการออกแรงช่วยทำการงานให้บ้าง หรือแบ่งสิ่งของซึ่งทำมาหาได้ เช่นข้าวปลาอาหาร เป็นต้น อันมีเหลือใช้ให้เป็นของกำนัล ช่วยอุปการะมิให้เจ้าเมืองต้องเป็นห่วงในการหาเลี้ยงชีพ ราษฎรมากด้วยกันช่วยคนละเล็กละน้อย เจ้าเมืองก็เป็นสุขสบาย รัฐบาลในราชธานีไม่ต้องเลี้ยงดู จึงให้ค่าธรรมเนียมในการต่างๆ ที่ทำในหน้าที่เป็นตัวเงินสำหรับใช้สอย กรมการซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าเมือง ก็ได้รับผลประโยชน์ทำนองเดียวกัน เป็นแต่ลดลงตามศักดิ์


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองน่าน มณฑลพายัพ พ.ศ. ๒๔๔๑
แถวยืน
๑. เจ้าราชวงศ์
๒. เจ้าอุปราช
แถวนั่ง
๑. เจ้าอุปราช (คนเก่า)
๒. กรมพระยาดำรงราชานภาพ
๓. ม.จ. ทรงวุฒิภาพ ดิศกุล
๔. เจ้านครเมืองน่าน
๕. กรมหลวงปราจิณกิติบดี
๖. พระยาพุทธนุรักษ์


ครั้นจำเนียรกาลนานมาความเปลี่ยนแปลงในโลกียวิสัย ทำให้การเลี้ยงชีพต้องอาศัยเงินตรามากขึ้นโดยลำดับ ผลประโยชน์ที่เจ้าเมืองกรมการได้รับอย่างโบราณไม่พอเลี้ยงชีพ จึงต้องคิดหาผลประโยชน์เพิ่มพูนขึ้นในทางอื่น เช่น ทำไร่นาค้าขาย เป็นต้น ให้มีเงินพอใช้สอยกินอยู่เป็นสุขสบาย เจ้าเมืองกรมการมีอำนาจที่จะบังคับบัญชาการต่างๆ ตามตำแหน่ง และเคยได้รับอุปการะของราษฎรเป็นประเพณีมาแล้ว ครั้นทำมาหากิน ก็อาศัยตำแหน่งในราชการเป็นปัจจัยให้ได้ผลประโยชน์สะดวกดีกว่าบุคคลภายนอก เปรียบดังเช่นทำนาก็ได้อาศัยบอกแขกของแรงราษฎรมาช่วย หรือจะค้าขายเข้าหุ้นกับผู้ใด ก็อาจสงเคราะห์ผู้เป็นหุ้นให้ซื้อง่ายขายคล่องได้กำไรมากขึ้น แม้จนเจ้าภาษีนายอากรได้รับผูกขายไปจากกรุงเทพฯ ถ้าให้เจ้าเมืองกรมการมีส่วน ก็ได้รับความสงเคราะห์ให้เก็บภาษีอากรสะดวกขึ้น

จึงเกิดประเพณีหากินด้วยอาศัยตำแหน่งในราชการแทบทั่วไป เจ้าเมืองกรมการที่เกรงความผิด ก็ระวังไม่หากินด้วยเบียดเบียนผู้อื่น ต่อเป็นคนโลภจึงเอาทุกอย่างสุดแต่จะได้ ก็มักมีภัยแก่ตัว ดังเช่นผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งได้เล่าไว้ในนิทานที่ ๔ เรื่องห้ามเจ้ามิให้ไปเมืองสุพรรณ(๑)

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองเหนือครั้งนั้น เจ้าเมืองที่ข้าพเจ้าไปพบโดยมากเป็นผู้ดีมีตระกูล แต่มักเป็นชาวเมืองนั้นเอง ด้วยเป็นเทือกเถาเหล่ากอเจ้าเมืองคนก่อนๆ ซึ่งได้ทำราชการประกอบกับทำมาหากิน จนตั้งถิ่นฐานได้ในเมืองนั้น มีลูกถวายตัวเป็นมหาดเล็กก่อนแล้วขอออกไปรับราชการบ้าง หรือฝึกหัดให้ทำราชการในเมืองนั้นเองบ้าง จนได้รับสัญญาบัตรเป็นผู้ช่วยราชการ เป็นยกกระบัตร เป็นปลัด ใครดีก็ได้เป็นเจ้าเมือง ในที่สุดเป็นแล้วก็อยู่ในเมืองนั้นตลอดชีวิต ลูกหลานจึงมีกำลังพาหนะรับราชการสืบกันมา
ข้าราชการที่ถิ่นฐานอยู่ในกรุงเทพฯ หาใคร่มีใครสมัครออกไปรับราชการหัวเมืองไม่ เพราะเกรงความลำบากในการหาเลี้ยงตัวดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเป็นผู้ไปจากที่อื่นก็ต้องมีทุนรอนของตัวไป หรือมิฉะนั้นก็ต้องได้เป็นเขยสู่ขอผู้มีกำลังพาหนะในเมืองนั้นจึงจะไปอยู่ ได้ ยิ่งถึงชั้นกรมการชั้นรองลงไปต้องเลือกหาแต่ในพวกคฤหบดีในเมืองนั้นเองทั้ง นั้น เพราะหาคนต่างถิ่นยาก

ตามหัวเมืองสมัยนั้น ประหลาดอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ศาลารัฐบาลตั้งประจำ สำหรับว่าราชการบ้านเมืองอย่างทุกวันนี้ เจ้าเมืองตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็ว่าราชการบ้านเมืองที่บ้านของตน เหมือนอย่างเสนาบดีเจ้ากระทรวงในราชธานีว่าราชการที่บ้านตามประเพณีเดิม บ้านเจ้าเมืองผิดกับบ้านคนอื่นเพียงที่เรียกกันว่า “จวน” เพราะมีศาลาโถงปลูกไว้นอกรั้วข้างหน้าบ้านหลังหนึ่ง เรียกว่า “ศาลากลาง” เป็นที่ประชุมกรมการเวลามีการงาน เช่นรับท้องตราหรือปรึกษาราชการ เป็นต้น

เวลาไม่มีการงานก็ใช้ศาลากลางเป็นศาลชำระความ เห็นได้ว่าศาลากลางเป็นเค้าเดียวกับศาลาลูกขุนในราชธานีนั้นเอง เรือนจำสำหรับขังนักโทษก็อยู่ในบริเวณจวนอีกอย่างหนึ่ง แต่คงเป็นเพราะคุมขังได้มั่นคงกว่าที่อื่น ไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับจวนเหมือนกับศาลากลาง


ที่อยู่ของเจ้าเมืองสกลนคร
ใช้ในการต้อนรับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร


มีเรื่องปรากฏมาแต่ก่อน ว่าครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปเมืองเหนือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๙ ทอดพระเนตรเห็นศาลากลางตามหัวเมืองซอมซ่อ จนสังเวชพระราชหฤทัย ทรงพระกรุณาโปรดฯ พระราชทานเงินส่วนพระองค์ให้ซ่อมแซม เมืองละ ๑๐ ชั่ง (๘๐๐ บาท) เมืองไหนทำสำเร็จแล้ว พระราชทานป้ายจำหลักปิดทองประดับกระจก ทำเป็นรูปเหรียญเงินรัชกาลที่ ๔ ลายเป็นรูปพระมหามงกุฎแผ่น ๑ รูปช้างในวงจักรแผ่น ๑ พระราชทานให้ไปติดไว้ ณ ศาลากลางซึ่งได้ทรงปฏิสังขรณ์ เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปยังมีอยู่หลายแห่ง ข้าพเจ้าได้ยืมมาจำลองรักษาแบบไว้ เดี๋ยวนี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่มาภายหลังศาลากลางก็กลับทรุดโทรมน่าทุเรศอย่างเก่า หามีที่ใดสง่าผ่าเผยไม่

เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเจ้าเมืองต้องสร้างจวนและศาลกกลางด้วยทุนของตน เอง แม้แต่แผ่นดินซึ่งจะสร้างจวน ถ้ามิได้อยู่ภายในเมืองมีปราการ เช่น เมืองพิษณุโลก เป็นต้น เจ้าเมืองก็ต้องหาซื้อที่ดินเหมือนกับคนทั้งหลาย จวนกับศาลากลางจึงเป็นทรัพย์ส่วนตัวของเจ้าเมือง เมื่อสิ้นตัวเจ้าเมืองก็เป็นมรดกตกแก่ลูกหลาน ใครได้เป็นเจ้าเมืองคนใหม่ ถ้ามิได้เป็นผู้รับมรดกของเจ้าเมืองคนเก่า ก็ต้องหาที่สร้างจวนและศาลากลางขึ้นใหม่ตามกำลังที่จะสร้างได้ บางทีก็ย้ายไปสร้างห่างจวนเดิมต่างฟากแม่น้ำ หรือแม้จนต่างตำบลก็มี จวนเจ้าเมืองไปตั้งอยู่ที่ไหนก็ย้ายที่ว่าราชการไปอยู่ที่นั่นชั่วสมัยของ เจ้าเมืองคนนั้น ตามหัวเมืองจึงไม่มีที่ว่าราชการเมืองตั้งประจำอยู่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นนิจ เหมือนอย่างทุกวันนี้ อันเพิ่งมีขึ้นเมื่อจัดมณฑลเทศาภิบาลแล้ว


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


ส่วนพวกกรมการนั้น เพราะมักเป็นคฤหบดีอยู่ในเมืองนั้นแล้วจึงได้เป็นกรมการ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ไหนก็คงอยู่ที่นั้น เป็นแต่เวลามีการงานจะต้องทำตามหน้าที่ จวนเจ้าเมืองอยู่ที่ไหนก็ตามไปฟังคำสั่งที่นั่น บางคนตั้งบ้านเรือนอยู่ห่างถึงต่างอำเภอก็มี ด้วยเคยเป็นคฤหบดีอยู่ที่แห่งนั้นมาก่อน เจ้าเมืองประสงค์จะให้เป็นผู้รักษาสันติสุขในท้องถิ่นนั้นเหมือนอย่างนาย อำเภอ ซึ่งมีขึ้นในสมัยเทศาภิบาล จึงขอให้คฤหบดีคนนั้นเป็นกรมการ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งคือ ตั้งนักเลงโตซึ่งมีพรรคพวกมากให้เป็นกรมการ เพื่อจะให้โจรผู้ร้ายยำเกรงไม่กล้าปล้นสะดมในถิ่นนั้น

แต่บางทีก็กลับให้ผลร้าย ดังเคยมีเรื่องปรากฏเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ผู้รักษากรุงศรีอยุธยาตั้งคฤหบดีคนหนึ่งชื่อ ช้าง เป็นที่หลวงบรรเทาทุกข์อยู่ที่เกาะใหญ่ ด้วยแม่น้ำตอนเกาะใหญ่ลานเท เป็นย่านเปลี่ยวมักมีโจรตีปล้นเรือที่ขึ้นล่อง หลวงบรรเทาฯ คนนั้นขึ้นชื่อคนชมในการรับรองผู้มีบรรดาศักดิ์ซึ่งผ่านไปมา แม้จนชาวเรือขึ้นล่อง ถ้าใครไปพึ่งพำนักหลวงบรรเทาฯ โจรผู้ร้ายก็ไม่กล้าย่ำยี ดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นมาแต่ปลายรัชกาลที่ ๔

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ความปรากฏขึ้นจากคำให้การของโจรผู้ร้ายที่จับได้หลายราย ว่าเป็นพรรคพวกของหลวงบรรเทาฯ โปรดฯ ให้ข้าหลวงชำระก็ได้ความ ว่าหลวงบรรเทาฯ เป็นนายซ่องโจรผู้ร้าย เป็นแต่ให้ไปทำการโจรกรรมเสียให้เขตแขวงอื่น ภายนอกถิ่นที่ตนปกครอง หลวงบรรเทาฯ จึงถูกประหารชีวิต เป็นเรื่องเลื่องลือกันอื้อฉาวอยู่คราวหนึ่ง ในเวลาข้าพเจ้าแรกรับราชการ


ภาพการประหารชีวิตในอดีต


เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปเมืองเหนือ ยังมีกรมการที่เคยเป็นนักเลงโตอยู่หลายเมือง เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีโปลิศหรือตำรวจภูธรที่เป็นพนักงานสำหรับตรวจจับ ผู้ร้าย เจ้าเมืองต้องปราบปรามตามปัญญาของตน จึงเกิดความคิดที่จะหานักเลงโตมีพรรคพวก ตั้งเป็นกรมการไว้สำหรับปราบปรามโจรผู้ร้าย ที่จริงกรมการชนิดนั้นก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายไปทุกคน โดยมากมักไปตั้งบ้านเรือนทำมาหากินอยู่ตามบ้านนอก เมื่อได้เป็นกรมการก็มักหาประโยชน์ด้วยทดรองทุนตกข้าวจากราษฎร และขอแรงราษฎรช่วยทำนาของตน แลกกับคุ้มโจรผู้ร้ายให้ราษฎร ต่อบางคนจึงเลยหากินไปในทางทุจริต ถึงเป็นใจให้พรรคพวกไปเที่ยวลักควายหรือปล้นทรัพย์ เพื่อจะได้ส่วนแบ่งเป็นผลประโยชน์

เมื่อข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจหัวเมืองครั้งแรก ได้พบกรมการซึ่งสงสัยกันว่าหากินอย่างนั้น ๒ คน เรียกกันว่า “ขุนโลกจับ” อยู่ที่เมืองพยุหคีรีคน ๑ แต่เมื่อข้าพเจ้าพบนั้นแก่ชรามากแล้ว ต่อมาได้ยินว่าออกบวชแล้วก็ตาย อีกคนหนึ่งเป็นที่หลวงศรีมงคล อยู่ที่เมืองอ่างทอง เจ้าเมืองใช้สอยอย่างว่าเป็น มือขวา กล่าวกันว่าเพราะจับโจรผู้ร้ายเข้มแข็งนัก เมื่อข้าพเจ้าจะเดินบกจากเมืองอ่างทองไปเมืองสุพรรณบุรี เจ้าเมืองให้หลวงศรีมงคลคนนั้นเป็นผู้จัดพาหนะ ในวันเดียวหาม้าและผู้คนสำหรับหาบหามสิ่งของได้พอต้องการหมด แล้วตัวเองอาสาขี่ม้านำข้าพเจ้าแต่เมืองอ่างทองไปจนเมืองสุพรรณฯ ข้าพเจ้าจึงได้ชอบมาสมัยนั้น

ครั้นถึงสมัยเมื่อตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ความปรากฏว่าหลวงศรีมงคลปล่อยให้พรรคพวกไปเที่ยวปล้นในเมืองอื่น แล้วรับของที่โจรได้มาเป็นประโยชน์ แต่แรกกรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาล ก็ไม่ทรงเชื่อ เพราะทรงใช้สอยหลวงศรีมงคลจนโปรดเหมือนกัน แต่ไต่สวนได้หลักฐาน จึงต้องฟ้องศาลข้าหลวงพิเศษ ศาลพิพากษาให้จำคุกหลวงศรีมงคลหลายปี กรมขุนมรุพงศ์ฯ จึงออกพระโอษฐ์ว่า “วิธี เลี้ยงขโมยไว้จับขโมยนั้นใช้ไม่ได้” แต่เมื่อถึงสมัยเทศาภิบาล มีกรมการอำเภอตั้งประจำอยู่ตามบ้านนอกและมีตำรวจภูธรแล้ว ก็ไม่อาศัยกรมการบ้านนอกเหมือนอย่างแต่ก่อน


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์


มีกรมการอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “กรมการจีน” เพราะเป็นจีนหรือลูกจีน ซึ่งยังไว้ผมเปียทั้งนั้น พวกนี้ขึ้นจากจีนนอกที่ไปตั้งทำมาหากินตามหัวเมือง บางคนไปตั้งตัวได้เป็นหลักฐาน แล้วเข้ารับผูกภาษีอากร

ก็ตามกฎหมายแต่ก่อนนั้น ต่อบุคคลถือศักดินาแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป เป็นความในโรงศาลจึงแต่ทนายว่าความแทนตัวได้ การเก็บภาษี การเก็บภาษีอากรมักต้องเป็นถ้อยความกับราษฎรเนืองๆ ถ้าเจ้าภาษีนายอากรต้องไปติดว่าความเสียในโรงศาล ก็ไม่สามารถจะเก็บภาษีอากรได้ เพื่อจะแก้ไขความขัดข้องข้อนี้ เมื่อรัฐบาลตั้งใครเป็นเจ้าภาษีนายอากรจึงนับว่าเป็นข้าราชการ ให้มียศเป็นขุนนางชั้นขุนถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ เมื่อทำราชการต่อมาได้เลื่อนเป็นหลวงเป็นพระก็มี พวกที่อยู่ในกรุงเทพฯ เรียกกันว่า “ขุนนางเจ้าภาษีนายอากร” พวกที่อยู่ตามหัวเมืองเรียกกันว่า “กรมการจีน” เป็นถึงตำแหน่งปลัดเมืองก็มี ดังกล่าวมาในนิทานที่ ๑๕ เรื่องอั้งยี่(๒)นั้น พวกกรมการจีนโดยปรกติตั้งหน้าทำมาหากิน แสวงหาทรัพย์สมบัติ ไม่แสวงหาอำนาจ และมักบริจาคทรัพย์ ช่วยอุดหนุนกิจการต่างๆ ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น จึงเข้ากับชาวเมืองได้ทุกชั้น ตั้งแต่เจ้าเมือง กรมการ ตลอดจนราษฎร

ที่ข้าพเจ้าไปทางเรือครั้งนั้น นอกจากได้เห็นหัวเมืองรายทางทั่วหมด ยังมีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเวลาเดินทางต้องนั่งกับนอนไปในเรือวันละหลายๆ ชั่วโมง ได้มีเวลาอ่านหนังสือต่างๆ เช่น กฎหมาย เป็นต้น ศึกษาหาความรู้วิธีปกครองอย่างโบราณ อันมีอยู่ในหนังสือเก่าไปด้วยตลอดทาง อาศัยความรู้ที่ได้ในในครั้งนั้น ทำให้ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าความมุ่งหมายของการปกครองทั้งอย่างใหม่และอย่าง เก่า ก็อยู่ในที่จะให้ “บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข” ด้วยกัน แต่เข้าใจอธิบายคำ “อยู่เย็นเป็นสุข” นั้นผิดกัน

อย่างเก่าถือว่าถ้าบ้านเมืองปราศจากภัยต่างๆ เช่น โจรผู้ร้าย เป็นต้น ก็เป็นสุข ข้อนี้สังเกตได้ในบานแผนกที่แก้กฎหมายในการปกครองแต่โบราณ มักอ้างเหตุที่เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมแทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นตามหัวเมือง เจ้าเมืองกรมการก็มุ่งหมายจะรักษาความเรียบร้อยในพื้นเมืองไม่ให้มีโจร ผู้ร้ายเป็นที่ตั้ง ตลอดจนถึงเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ เมื่อเห็นว่าเมืองใดสงบเงียบไม่มีเหตุร้าย ก็ยกย่องว่าปกครองดี ต่อเมืองใดไม่เรียบร้อย โจรผู้ร้ายชุกชุมหรือราษฎรเดือดร้อนด้วยเหตุอื่น จึงให้ข้าหลวงออกไประงับ หรือเหตุการณ์ใหญ่โต เช่น เกิดทัพศึก เสนาบดีก็ออกไปเอง จึงไม่มีการตรวจหัวเมืองในเวลาเมื่อเป็นปรกติ

ความคิดที่ว่าจะให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข ต้องจัดการทำนุบำรุงในเวลาบ้านเมืองเป็นปรกติ เป็นคติเกิดขึ้นใหม่ ดูเหมือนจะเริ่มเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ และมาถือเป็นข้อสำคัญในรัฏฐาภิปาลโนบายต่อรัชกาลที่ ๕ ต่อมา


บำบัดทุกข์ บำรุงสุข
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
- สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



......................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) ในเรื่องนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

(๒) ในเรื่องนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
แผ่นดินทอง - อั้งยี่




 

Create Date : 17 เมษายน 2553   
Last Update : 17 เมษายน 2553 11:35:58 น.   
Counter : 6549 Pageviews.  


เทศาภิบาล ตอนที่ ๓ ปรับราชการมหาดไทย


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



ตอนที่ ๓ ปรับปรุงราชการมหาดไทย

เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ดูเหมือนคนทั้งหลาย ทั้งที่อยู่ในกระทรวงมหาดไทยและอยู่นอกกระทรวงมหาดไทย จะคอยดูกันมากว่าข้าพเจ้าจะไปทำอย่างไร บางทีจะมีมากที่คาดกันว่า พอข้าพเจ้าไปถึงคงจัดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในทันทีตามประสาคนหนุ่ม และได้เคยจัดการอย่างใหม่มาหลายแห่งแล้ว แต่ตัวข้าพเจ้าเองมีความวิตกมากด้วยยังไม่รู้ราชการกระทรวงมหาดไทย และยังไม่รู้จักข้าราชการกระทรวงมหาดไทยทั้งที่ในกรุงฯ และตามหัวเมืองอยู่โดยมาก เห็นว่าจะต้องศึกษาหาความรู้ราชการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน เมื่อรู้แล้วจึงค่อยคิดอ่านจัดการต่อไป

ก็และการศึกษาหาความรู้นั้น จำจะต้องอาศัยไต่ถามข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวง ที่เคยทำงานชำนิชำนาญมาแต่ก่อน ในเวลานั้นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยรองแต่เสนาบดีลงมา มี พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ) สมุหมหาดไทยฝ่ายเหนือ กับ เจ้าพระยาศรีธรรมธิราช (เวก บุญยรัตพันธุ์) เมื่อยังเป็นพระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลอง แต่ปลดออกรับบำนาญแล้วทั้ง ๒ คน คงแต่ พระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เมื่อยังเป็นพระยาศรีสิงหเทพ ปลัดบัญชีว่าที่ปลัดทูลฉลอง เป็นหัวหน้าราชการกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าจึงได้อาศัยไต่ถามแบบแผนกระบวนราชการกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่แรก


พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธุ์) ปลัดทูลฉลอง
ต่อมาเลื่อนเป็น เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช ในกระทรวงวัง


ตรงนี้อยากจะพรรณนาคุณของพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) ซึ่งได้มีต่อตัวข้าพเจ้าลงไว้ให้ปรากฏ ตัวท่านกับข้าพเจ้าได้คุ้นเคยจนชอบกันอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนข้าพเจ้าเป็น เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แต่จะเป็นเพราะความอารีโดยเคยมีไมตรีจิตในส่วนตัวก็ตาม หรือเพราะท่านมีความภักดีต่อราชการบ้านเมืองก็ตาม สังเกตเห็นได้ว่าท่านเต็มใจช่วยจริงๆ เหมือนอย่างว่าตั้งใจประคับประคองข้าพเจ้ามาตั้งแต่แรก

เป็นต้นว่า ในเวลาข้าพเจ้าปรึกษาหารือการงาน ถ้าท่านไม่เห็นชอบด้วยก็ทักท้วงและชี้แจงให้เห็นข้อขัดข้องตามความคิดของ ท่าน ไม่คล้อยตามด้วยเกรงใจข้าพเจ้า เวลาข้าพเจ้าถามแบบแผนหรือราชการซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ท่านก็พยายามชี้แจงให้ข้าพเจ้าเข้าใจ ไม่ปกปิดความรู้ความเห็นของท่าน เพราะฉะนั้นจึงได้รับความนับถือของข้าพเจ้า และทำการงานด้วยกันสนิทสนมยิ่งขึ้นด้วยโดยลำดับมา

มื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้พระยาราชวรานุกูล (เวก บุญยรัตพันธุ์) เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชในกระทรวงวัง ท่านก็ได้เลื่อนจากที่พระยาศรีสิงหเทพขึ้นเป็น พระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลองเต็มตำแหน่ง ทำราชการอยู่ด้วยกันกับข้าพเจ้า และเป็นผู้รักษาราชการแทนในเวลาข้าพเจ้าไปตามเสด็จ หรือไปตรวจราชการหัวเมืองต่อมาอีกหลายปี จนท่านแก่ชราจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งปลัดทูลฉลองไปรับบำนาญ ถึงเมื่อออกไปแล้ว เวลามีการงานอันใดซึ่งจะช่วยข้าพเจ้าได้ ท่านก็ยังอุตส่าห์เข้ามาช่วยอยู่เสมอจนตลอดอายุ ข้าพเจ้ายังคิดถึงคุณของพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) อยู่ไม่ลืม


พระยาศรีสิงหเทพ (อ่วม) ปลัดบัญชีว่าที่ปลัดทูลฉลอง
เลื่อนเป็น พระยาราชวรานุกูล ปลัดทูลฉลองเต็มตำแหน่ง


แต่ก็ที่ข้าพเจ้าคิดว่ายังไม่จัดการงานอย่างไร จนเรียนรู้ราชการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อนนั้น ไม่เป็นได้ดังคิด เพราะมีการบางอย่างซึ่งจำเป็นต้องจัดตั้งแต่แรก ตามระเบียบกระทรวงเสนาบดีที่ทรงจัดใหม่ ตัวข้าพเจ้าเป็นแต่เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ไม่ได้เป็นสมุหนายก จึงต้องปลดการในหน้าที่สมุหนายกส่งไปกระทรวงอื่น คือส่งการหมายสั่งราชการฝ่ายพลเรือนโอนไปยังกระทรวงวัง ซึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่หมายสั่งราชการทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือนต่อไปอย่าง หนึ่ง ส่งศาลอุทธรณ์ความหัวเมืองกับทั้งเรือนจำโอนไปยังกระทรวงยุติธรรมที่ตั้ง ขึ้นใหม่อย่างหนึ่ง

ระเบียบการในกระทรวงมหาดไทยเองก็ต้องแก้ตั้งแต่แรกอย่างหนึ่ง คือสั่งให้เลิกประเพณีที่เจ้าหน้าที่ต้องไปเสนอราชการที่บ้านเสนาบดี เพราะตัวข้าพเจ้าจะเข้าไปประจำทำงานที่ศาลาลูกขุนทุกวันเหมือนกับคนอื่น และให้จัดห้องประชุมขึ้นที่ในศาลาลูกขุนห้อง ๑ ถึงเวลากลางวันให้เจ้าหน้าที่นำหนังสือราชการ ไปเสนอต่อข้าพเจ้าในที่ประชุมพร้อมกันวันละครั้งทุกวัน

ในเวลาประชุมนั้น ข้าพเจ้าเชิญพระยาราชวรานุกูลให้มานั่งอยู่ข้างตัวข้าพเจ้า เมื่อฟังข้อราชการที่จะมีคำสั่ง ข้าพเจ้าถามท่านก่อน ว่าการเช่นนี้เคยสั่งกันมาอย่างไร หรือถ้าข้าพเจ้าสงสัยไม่รู้เค้ามูลของการนั้น ก็ถามให้ท่านชี้แจงจนเข้าใจเสียก่อน ถ้าเป็นการสามัญ ข้าพเจ้าเห็นว่าทำตามเดิมได้ไม่มีโทษ ก็สั่งให้ทำไปอย่างเดิม ถ้าเห็นว่าอาจจะมีได้มีเสีย ซึ่งจะต้องเลือกหาทางที่ถูก ข้าพเจ้าปรึกษาพระยาราชฯ ก่อน ถ้าเห็นพ้องกันก็สั่งตามนั้น ถ้าเห็นต่างกันก็ปรึกษาชี้แจงต่อไปจนตกลง ถ้าไม่ตกลงกันหรือเห็นว่าเป็นการสำคัญ ไม่ควรจะสั่งโดยพลการ ก็ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ “ขอเรียนพระราชปฏิบัติ” หรือกราบทูลหารือเป็นเรื่องส่วนตัวตามที่เห็นสมควร

แต่ลักษณะขอเรียนพระราชปฏิบัตินั้น ข้าพเจ้าสั่งให้เลิกวิธีเขียนบันทึกในสมุดดำอย่างแต่ก่อน เปลี่ยนเป็นจดหมายซึ่งข้าพเจ้าร่างเองเป็นนิจ กราบทูลอย่างเล่าเรื่องคดีที่มีขึ้น แล้วกราบทูลวินิจฉัยตามความคิดของข้าพเจ้า และที่สุดกราบทูลว่าเห็นควรจะทำอย่างไรในจดหมายนำ ถ้าในใบบอกมีถ้อยคำควรพิจารณาก็ให้คัดสำเนาใบบอกถวายด้วย ไม่ให้ทรงลำบากเหมือนแต่ก่อน ก็ชอบพระราชอัธยาศัย


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อแรกข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ด้วยในวันแรกข้าพเจ้าไปนั่งว่าการ เจ้าพระยารัตนบดินทร์ท่านให้เสมียนตราเชิญตราจักรกับตราพระราชสีห์ สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มาส่งให้ข้าพเจ้าที่ศาลาลูกขุน ดวงตรารวมกันอยู่ในกล่องเงินใบหนึ่ง ดูเป็นของทำที่เชียงใหม่ไม่วิเศษอันใด แต่เสมียนตราบอกว่ากล่องใส่ดวงตรานั้นเป็นของเสนาบดีต้องหามาเมื่อแรกรับ ดวงตรา และครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ทรงใช้กล่องกระ (หรือกล่องถมข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่) ครั้นเจ้าพระยารัตนบดินทร์เป็นตำแหน่ง เอากล่องเงินใบนี้มารับตราไปแต่แรก ขอให้ข้าพเจ้าหาอะไรมาใส่ดวงตรา จะได้คืนกล่องเงินให้เจ้าพระยารัตนบดินทร์

ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าเสนาบดีจะต้องหาอะไรมาใส่ตรา ไม่ได้เตรียมไว้ จะทำอย่างไรดี ก็ขอยืมกล่องเงินของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ไว้ก่อนไม่ได้หรือ เสมียนตราจึงบอกว่ามีเตียบมุกของเก่าอยู่บนเพดานใบ ๑ ดูเหมือนจะเป็นของเดิมที่สำหรับใส่ตรา ข้าพเจ้าให้ไปหยิบลงมาดู เห็นลวดลายประดับมุกเป็นแบบเก่า ถึงชั้นรัชกาลที่ ๑ หรือที่ ๒ ก็ตระหนักใจว่าจริงดังว่า จึงสั่งให้กลับใช้เตียบใบนั้นใส่ตราตามเดิม แล้วสั่งเสมียนตราหากำปั่นเหล็กมาเก็บตราไว้ในศาลาลูกขุน จึงเป็นอันเลิกประเพณีที่เสนาบดีเอาตราตำแหน่งไปไว้ที่บ้านอีกอย่างหนึ่ง


ตราราชสีห์ ประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


นอกจากการบางอย่างที่ได้กล่าวมา ข้าพเจ้าไม่เปลี่ยนแปลงอันใด ข้าราชการคนใดเคยมีหน้าที่ทำการอย่างใด ก็ให้คงทำอยู่อย่างเดิม ระเบียบการงานที่เคยทำมาอย่างใด เช่นทำการผลัดกันเป็นเวรเป็นต้น ก็ให้คงทำอยู่ตามเดิม เป็นแต่ข้าพเจ้าไปเที่ยวตรวจดูการและไต่ถามเจ้าหน้าที่ตามห้องที่ทำงาน เนืองๆ ในไม่ช้าก็คุ้นกับข้าราชการในกระทรวงหมดทั้งผู้ใหญ่ตลอดจนผู้น้อย ข้าพเจ้าศึกษาหาความรู้กับทั้งบัญชาการมาด้วยกันราวสัก ๖ เดือน จนเห็นว่ามีความรู้ราชการมหาดไทยในกรุงเทพฯ สันทัดพอจะบัญชาการได้โดยลำพังตัวแล้ว จึงเริ่มคิดศึกษาหาความรู้การปกครองหัวเมืองต่อไป แต่เห็นจำเป็นจะต้องออกไปเที่ยวดูตามหัวเมืองเอง ข้าพเจ้ากราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย

ถึงเดือนตุลาคม ข้าพเจ้าขึ้นไปตรวจหัวเมืองเหนือ ในสมัยนั้นยังไม่มีรถไฟสายเหนือ ต้องลงเรือเก๋งพ่วงเรือไฟไปตั้งแต่ออกจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปทางเรือจนถึงอุตรดิตถ์ แล้วเดินบกไปเมืองสวรรคโลกลงเรือมาสุโขทัย แล้วเดินบกไปเมืองตาก ลงเรือล่องจากเมืองตากกลับลงมาจนถึงเมืองอ่างทอง ขึ้นเดินบกไปเมืองสุพรรณบุรีเป็นที่สุด แล้วกลับทางเรือมาถึงกรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม


ราษฎรเฝ้ารอรับเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คราวเสด็จตรวจราชการมณฑลพายัพ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑





 

Create Date : 15 เมษายน 2553   
Last Update : 15 เมษายน 2553 10:31:25 น.   
Counter : 4150 Pageviews.  


เทศาภิบาล ตอนที่ ๒ ราชการมหาดไทย


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระปิยมหาราช



เทศาภิบาล ตอนที่ ๒ ราชการมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทยเป็นอย่างไรในเวลาเมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดี ก็น่าเล่าเข้าในเรื่องโบราณคดี จะเล่าเรื่องศาลาลูกขุนอันเป็นสำนักงานของกระทรวงมหาดไทยก่อน แล้วจะเล่าถึงพนักงานประจำการในศาลาลูกขุน และกระบวนที่ทำการงานในกระทรวงมหาดไทยตามแบบเก่าต่อไปโดยลำดับ

สถานที่เรียกว่า “ศาลาลูกขุน”นั้น แต่เดิมมี ๓ หลัง ตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา หลังหนึ่งอยู่นอกพระราชวัง (ว่าอยู่ใกล้ๆ กับหลักเมือง) เป็นสถานที่สำหรับประชุมข้าราชการฝ่ายตุลาการชั้นสูง ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลหลวง” นั่งพิพากษาคดีเป็นทำนองอย่างศาลสถิตยุติธรรม ศาลาลูกขุนอีก ๒ หลังอยู่ในพระราชวัง จึงเป็นเหตุให้เรียกต่างกันว่า “ศาลาลูกขุนนอก” และ “ศาลาลูกขุนใน” ศาลาลูกขุนในเป็นสถานที่สำหรับประชุมข้าราชการชั้นสูงฝ่ายธุรการ ซึ่งเรียกรวมกันว่า “ลูกขุน ณ ศาลา”

หลังหนึ่งซึ่งอยู่ข้างซ้ายสำหรับประชุมข้าราชการพลเรือน ซึ่งอยู่ในปกครองของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ด้วยเป็นสมุหนายกหัวหน้าข้าราชการพลเรือน อีกหลังหนึ่งอยู่ข้างขวา สำหรับประชุมข้าราชการทหาร ก็อยู่ในปกครองของเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ด้วยเป็นหัวหน้าข้าราชการทหาร เช่นเดียวกัน

ตัวศาลาลูกขุนเป็นศาลาใหญ่ชั้นเดียว ได้ยินว่าเมื่อแรกสร้างในรัชกาลที่ ๑ เป็นเครื่องไม้ มาเปลี่ยนเป็นก่ออิฐถือปูนในรัชกาลที่ ๓ ทั้ง ๒ หลัง ในศาลาลูกขุนตอนข้างหน้าทางฝ่ายเหนือเปิดโถงเป็นที่ประชุมข้าราชการ และใช้เป็นที่แขกเมืองประเทศราชหรือแขกเมืองต่างประเทศพักเมื่อก่อนเข้า เฝ้า และเลี้ยงแขกเมืองที่นั้นด้วย แต่มีฝาไม้ประจันห้องกั้นสกัดกลางเอาตอนข้าง หลังศาลาทางฝ่ายใต้เป็นห้องสำนักงานกระทรวงมหาดไทยหลัง ๑ กระทรวงกลาโหมหลัง ๑ อย่างเดียวกัน แต่ไม่ได้เป็นสำนักงานทุกอย่างของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เพราะหน้าที่สองกระทรวงนั้นมี ๓ แผนก

แผนกที่ ๑ คือหน้าที่อัครมหาเสนาบดี ที่ต้องสั่งการงานต่างๆ แก่กรมอื่นให้ทันราชการ อันนี้เป็นมูลที่ต้องมีสำนักงานและมีพนักงานประจำอยู่ในพระราชวังเสมอ ทั้งกลางวันกลางคืน

แผนกที่ ๒ การบังคับบัญชาหัวเมือง ที่จริงโดยลำพังงานไม่จำเป็นต้องทำที่ศาลาลูกขุน แต่หากการบังคับบัญชาหัวเมืองต้องใช้ผู้ชำนาญหนังสือ สำหรับพิจารณาใบบอกและเขียนท้องตราสั่งราชการหัวเมืองกระทรวงมหาดไทยและ กระทรวงกลาโหม มีหัวพันนายเวรและเสมียนซึ่งชำนาญหนังสือสำหรับเขียนบัตรหมายประจำอยู่ที่ ศาลาลูกขุน จึงให้พวกที่ชำนาญหนังสือนั้นทำการงานในแผนกบังคับบัญชาการหัวเมืองด้วย

แผนกที่ ๓ เป็นฝ่ายตุลาการ ด้วยกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมเป็นศาลอุทธรณ์ความหัวเมืองซึ่งอยู่ในบังคับ บัญชา มีขุนศาลตุลาการตลอดจนเรือนจำสำหรับการแผนกนั้นต่างหาก จึงต้องตั้งศาลที่บ้านเสนาบดี และหาที่ตั้งเรือนจำแห่งใดแห่งหนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เรือนจำของกระทรวงนั้นตั้งอยู่ริมกำแพงหน้าพระราชวัง ตรงหลังหอรัษฎากรพิพัฒน์ออกไป แต่จะตั้งที่ตรงนั้นมาแต่เมื่อใดหาทราบไม่

ถึงกระทรวงอื่นๆ แต่ก่อนก็มีหน้าที่ทางตุลาการต้องชำระคดีอันเนื่องต่อกระทรวงนั้นๆ แต่ตั้งทั้งศาลและสำนักงานกระทรวงที่บ้านเสนาบดีด้วยกัน เพราะฉะนั้นแต่ก่อนมา เสนาบดีจึงบัญชาการกระทรวงที่บ้าน แม้มีสำนักงานอยู่ที่อื่น เช่นกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม ก็ไม่ไปนั่งบัญชาการที่สำนักงาน เจ้าหน้าที่ในกระทรวงต้องไปเสนอราชการและรับคำสั่งเสนาบดีที่บ้านเป็นนิจ

แต่ตามประเพณีเดิม ข้าราชการกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่เสนาบดีลงมา ได้รับเบี้ยหวัดประจำปีกับค่าธรรมเนียมต่างๆ ในการที่ทำ เป็นผลประโยชน์ในตำแหน่ง หาได้รับเงินเดือนไม่

อนึ่ง แต่ก่อนมาการพระคลังกับการที่เกี่ยวกับการต่างประเทศ (อันเรียกว่ากรมท่า) รวมอยู่ในกระทรวงเดียวกัน เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีจตุสดมภ์เป็นหัวหน้า

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ โปรดฯ ให้แยกการพระคลังจากกรมท่า มาจัดเหมือนเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหาก ตั้งสำนักงาน ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ จัดระเบียบในสำนักงานตามแบบออฟฟิศอย่างฝรั่งขึ้นเป็นกระทรวงแรก คือให้บรรดาผู้มีตำแหน่งในหอรัษฎากรพิพัฒน์รับเงินเดือนแทนค่าธรรมเนียม อย่างแต่ก่อน และต้องมาทำงาน ณ สำนักงานตามเวลาเสมอทุกวันทั้งผู้ใหญ่ผู้น้อย

ยกเว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ เวลายังดำรงพระยศเป็นกรมพระ ซึ่งเป็นอธิบดีพระองค์เดียว เห็นจะเป็นเพราะทรงพระราชดำริว่าท่านทรงบัญชาการอยู่ทั้งกระทรวงวังและ กระทรวงพระคลัง โปรดฯ อนุญาตให้ทรงบัญชาการที่วังอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นระเบียบสำนักงานที่ใช้ในหอรัษฎาฯ จึงยังเป็นอย่างเก่าเจืออยู่บ้าง


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์


จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๘ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น เป็นเสนาบดีกรมท่า ท่านหกราบทูลขอให้มีสำนักงานกระทรวง อย่าให้ต้องว่าราชการที่วัง จึงขอพระราชทานวังสราญรมย์ให้เป็นสำนักงานกระทรวง ให้เรียกว่า กระทรวงว่าการต่างประเทศ แต่นั้นมา สมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์ฯ เป็นเสนาบดีแรกที่ได้รับแต่เงินเดือนเหมือนกับคนอื่นอันมีหน้าที่ในสำนักงานกระทรวง


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ
เสนาบดี กระทรวงว่าการต่างประเทศ


ต่อนั้นมาอีกสักกี่ปีข้าพเจ้าจำไม่ได้และไม่มีอะไรจะสอบเมื่อเขียนนิทานนี้ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้จัดกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็น แบบใหม่ เหมือนเช่นได้จัดกระทรวงพระคลังกับกระทรวงต่างประเทศมาแล้ว จึงโปรดฯ ให้รื้อศาลาลูกขุนในทั้ง ๒ หลังลงสร้างใหม่ ทำเป็นตึก ๒ ชั้น ๓ หลังเรียงกัน มีมุขกระสันทั้งข้างหน้าข้างหลังเชื่อมตึก ๓ หลังนั้นให้เป็นหมู่เดียวกันดังปรากฏอยู่บัดนี้ ตึกหลังข้างซ้ายที่ริมประตูสุวรรณบริบาล สร้างตรงศาลาลูกขุนเดิมของกระทรวงมหาดไทย ตึกหลังข้างขวาก็สร้างตรงศาลาลูกขุนเดิมของกระทรวงกระกลาโหม มีประตูเข้าทางด้านหน้าร่วมกันตรงตึกหลังกลางซึ่งสร้างขึ้นใหม่สำหรับเป็น ที่ประชุม และมีประตูเข้าแยกกันทางด้านหลังอีกทางหนึ่ง

เมื่อสร้างตึกสำเร็จแล้วกระทรวงมหาดไทยก็ขึ้นอยู่ติดมุขกระสันทางฝ่ายซ้าย เป็นสำนักงาน กระทรวงกลาโหมก็ขึ้นอยู่ทางฝ่ายขวาเป็นสำนักงานเช่นเดียวกัน แต่ขันอยู่ที่ตึกหลังกลางซึ่งเกิดขึ้นใหม่นั้น มหาดไทยกับกลาโหมมิรู้ที่จะแบ่งกันอย่างไร กระทรวงวังเลยขอเอาเป็นคลังกรมราชอาสน์ที่เก็บโต๊ะเก้าอี้สำหรับใช้ราชการ ลั่นกุญแจเสียทั้ง ๒ ชั้น

เมื่อกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหม ขึ้นอยู่ศาลาลูกขุนใหม่แล้ว ข้าราชการที่มีตำแหน่งประจำทำงานในศาลลูกขุนทั้ง ๒ กระทรวง ได้รับเงินเดือนเหมือนอย่างกระทรวงพระคลังและกระทรวงต่างประเทศ ข้าราชการกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมจึงได้ผลประโยชน์ต่างกันเป็น ๒ พวก พวกที่ประจำทำงานอยู่ในศาลาลูกขุนได้เงินเดือน แต่พวกที่ทำงานอยู่ที่อื่น เช่น ขุนศาล ตุลาการศาลอุทธรณ์ความหัวเมือง ซึ่งตั้งศาลอยู่ที่บ้านเสนาบดี คงได้ค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์อยู่อย่างเดิม แม้ตัวเสนาบดีทั้ง ๒ กระทรวงก็คงได้ค่าธรรมเนียมเป็นผลประโยชน์อยู่อย่างเดิม เพราะไม่ได้เข้ามานั่งประจำทำงานในศาลาลูกขุน

ตัวข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรกที่ได้รับแต่เงินเดือน ไม่ได้ค่าธรรมเนียมเหมือนท่านแต่ก่อน แต่เมื่อกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหมขึ้นทำงานบนศาลาลูกขุนใหม่แล้ว ไม่มีใครในกระทรวงทั้ง ๒ นั้น คิดหรือสามารถจะแก้ไขระเบียบให้เจริญทันสมัยได้ ก็คงทำการงานอยู่ตามแบบเดิม เหมือนเช่นเคยทำที่ศาลาลูกขุนเก่าสืบมา จนข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าจึงได้เห็นแบบเก่าว่าทำกันมาอย่างไร


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสนาบดี กระทรวงมหาดไทย


ข้าราชการที่เป็นพนักงานประจำทำการในศาลาลูกขุนนั้น ปลัดทูลฉลองหรือข้าราชการผู้ใหญ่ที่ได้ทำการในหน้าที่ปลัดทูลฉลองเป็นตัว หัวหน้า รองลงมามีข้าราชการชั้นสัญญาบัตรเป็นพระเป็นหลวงเป็นผู้ช่วยสักสามสี่คน ต่อนั้นลงมาถึงชั้นเสมียนพนักงาน

ในชั้นเสมียนพนักงานมีนายเวร ๔ คน รับประทวนเสนาบดีตั้งเป็นที่ “นายแกว่นคชสาร” คน ๑ “นายชำนาญกระบวน” คน ๑ “นายควรรู้อัศว” คน ๑ “นายรัดตรวจพล” คนหนึ่ง ได้ว่ากล่าวเสมียนทั้งปวง นายเวร ๔ คนนั้นกลางวันมาทำงานในศาลาลูกขุนด้วยกันทั้งหมด เวลากลางคืนต้องผลัดเปลี่ยนกันนอนค้างอยู่ที่ศาลลูกขุน สำหรับทำราชการที่จะมีมาในเวลาค่ำคราวละ ๑๕ วันเวียนกันไป เรียกว่า อยู่เวร ตำแหน่งหัวหน้าจึงได้ชื่อว่า นายเวร

แต่หน้าที่นายเวรไม่แต่สำหรับทำราชการที่มีมาในเวลาค่ำเท่านั้น บรรดาราชการที่มีมาถึงกระทรวงมหาดไทย จะมีมาในเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม ถ้ามาถึงกระทรวงในเวร ๑๕ วันของใคร นายเวรนั้นก็ต้องเป็นเจ้าหน้าที่ทำการเรื่องนั้นตั้งแต่ต้นไปจนสำเร็จ ดังจะพรรณนาให้เห็นเมื่อกล่าวถึงกระบวนทำงานต่อไปข้างหน้า

ยังมีพนักงานอีกกรมหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในศาลาลูกขุนเรียกว่า กรมเงินส่วย (หรืออะไรข้าพเจ้าจำไม่ได้แน่) แต่เป็นกรมตั้งขึ้นใหม่เมื่อก่อนข้าพเจ้าเป็นเสนาบดีไม่นานนัก เดิมในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหมมีตำแหน่งหัวพัน กระทรวงละ ๔ คน หัวพันมหาดไทยเป็น “พันพุฒอนุราช” คน ๑ “พันจันทนุมาศ” คน ๑ พันภานุราช” คน ๑ “พันเภาอัศวราช” คน ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ในการกะเกณฑ์คนเมื่อราชการเกิดขึ้น และเป็นผู้ตรวจการที่มหาดไทยสั่งให้กรมอื่นๆ ทำตามหมายกระทรวงวังดังกล่าวมาแล้ว

พันพุฒอนุราชเป็นเจ้าหน้าที่เกณฑ์คน หรือเรียกเงินข้าราชการมาจ้างคนไปทำการ ทางกระทรวงกลาโหมก็มี พันเทพราช เป็นเจ้าหน้าที่อย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้นเงินจึงผ่านมือพันพุฒฯ และพันเทพราชมาก เมื่อกรมพระนราธิปพันธ์พงศ์ แต่ยังไม่ได้รับกรม เป็นรองอธิบดีกระทรวงพระคลัง ทูลขอให้ตั้งกรมเงินส่วยขึ้นทั้งในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม พันพุฒอนุราชได้เลื่อนขึ้นเป็นพระวรพุฒิโภคัย ตำแหน่งเจ้ากรมในกระทรวงมหาดไทย พันเทพราชได้เลื่อนขึ้นพระอุทัยเทพธน ตำแหน่งเจ้ากรมในกระทรวงกลาโหม สำหรับเร่งเงินค่าส่วยตามหัวเมืองส่งพระคลัง ได้รับเงินเดือนทั้ง ๒ กรม

บรรดาข้าราชการที่มีหน้าที่ทำงานในศาลาลูกขุน ล้วนอยู่ในบุคคล ๒ จำพวก จำพวกหนึ่งเกิดในตระกูลของข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ได้เฝ้าแหนในท้องพระโรงจนรู้ราชการงานเมืองบ้างแล้ว ได้รับสัญญาบัตรเป็นขุนนางอยู่กรมอื่น ก่อนบ้าง ตรงมาเป็นขุนนางในกระทรวงมหาดไทยบ้าง ต่อไปได้เป็นเจ้าบ้านพานเมืองก็มี รับราชการอยู่ในกระทรวงมหาดไทยจนแก่เฒ่าก็มี

อีกจำพวกหนึ่งเป็นแต่ลูกคฤหบดีซึ่งสมัครเข้าฝึกหัดรับราชการในกระทรวง มหาดไทย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่ม ฝากตัวเป็นศิษย์ให้นายเวรใช้สอยและฝึกหัดเป็นเสมียนมาแต่ก่อน จนมีความรู้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับด้วยความสามารถ จนได้เป็นรองนายเวรและนายเวร นายเวรล้วนขึ้นจากคนจำพวกเสมียนทั้งนั้น จึงชำนิชำนาญกระบวนการในกระทรวงยิ่งกว่าพวกผู้ดีที่ได้เป็นขุนนางโดยสกุล แต่จำพวกนี้น้อยตัวที่จะได้สัญญาบัตรเป็นขุนนาง ถึงกระนั้นนายเวรบางคนได้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทยถึงชั้น พระยาพานทองก็มี จะยกตัวอย่างที่ฉันรู้จักตัว เช่นพระยาจ่าแสนยบดี (ขลิบ) และพระยาราชวรานุกูล (อ่วม) เป็นต้น พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย) ก็ขึ้นจากจำพวกเสมียน เคยเป็นนายเวรมาก่อนเหมือนกัน


พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย)


พิเคราะห์ดูเห็นจะเป็นวิธีมีมาแต่โบราณ ที่กระทรวงต่างๆ ต้องหัดใช้คนในกระทรวงเอง แม้กระทรวงอื่นก็คงเป็นเช่นเดียวกัน การที่รับคนแปลกหน้าเรียนมาจากที่อื่นเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมีกระทรวงเสนาบดี เป็น ๑๒ กระทรวงแล้ว ดังพรรณนามาในนิทานที่ ๑๔ เรื่องโรงเรียนมหาดเล็กหลวง(๑)

กระบวนทำงานในกระทรวงมหาดไทยตามแบบเก่านั้น ถ้าหนังสือราชการจะเป็นจดหมายในกรุงฯ ก็ดี หรือใบบอกหัวเมืองก็ดี มาถึงศาลาลูกขุนในเวลาเวรของใคร เปรียบว่าเป็นเวลาเวรนายแกว่นฯ นายแกว่นฯ ก็เป็นผู้รับหนังสือนั้น แม้เป็นหนังสือของตัวบุคคลเช่นสลักหลังซองถึงปลัดทูลฉลองเป็นต้น ก็ส่งไปให้ผู้นั้นทั้งผนึก ถ้าเป็นใบบอกถึงกระทรวง อันเรียกว่า “วางเวร กระทรวงมหาดไทย” นายแกว่นฯ ก็เปิดผนึกออกอ่าน แล้วนำขึ้นเสนอต่อปลัดทูลฉลองให้พิจารณาก่อน ถึงวันต่อมาเวลาเช้าปลัดทูลฉลองกับนายแกว่นฯ เอาใบบอกนั้น กับทั้งหนังสือซึ่งปลัดทูลฉลองเห็นว่าเสนาบดีจะต้องสอบประกอบกัน ไปยังบ้านเสนาบดี

เมื่อนายแกว่นคชสารอ่านใบบอกเสนอแล้ว เสนาบดีก็มีบัญชาสั่งให้ทำอย่างไรๆ ถ้าเป็นเรื่องเพียงจะต้องมีท้องตราตอบหรือสั่งราชการอันอยู่ในนาจเสนาบดี ก็ให้ปลัดทูลฉลองรับบัญชามาให้ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ซึ่งเป็นพนักงานร่างหนังสือร่างตรานั้น แล้วให้นายแกว่นฯ เอาไปเสนอเสนาบดีให้ตรวจแก้ไขก่อน ถ้าเป็นแต่ท้องตราสามัญมีแบบแผนอยู่แล้ว ก็ให้นายแกว่นฯ ร่างให้เสร็จไป ไม่ต้องเอาร่างไปอ่านเสนอ แล้วให้เสมียนเวรนายแกว่นฯ เขียนลงกระดาษ มอบให้เสมียนตราเอาไปประทับตราที่บ้านเสนาบดีและส่งไป

ต้นหนังสือทั้งปวงในเรื่องนั้น นายแกว่นฯ อันเป็นนายเวรที่ทำการเป็นพนักงาน รักษาไว้ในกระทรวงต่อไป มักเก็บไว้บนเพดานศาลาลูกขุนเป็นมัดๆ ไม่ได้เรียบเรียงเรื่องเป็นลำดับ ถึงกระนั้นเมื่อข้าพเจ้าเป็นเสนาบดี ตรวจพบใบบอกเก่าแต่ในรัชกาลที่ ๔ ยังอยู่เป็นอันมาก(๒)

ถ้าใบบอกฉบับใดที่จะต้องกราบบังคมทูล เสนาบดีก็สั่งให้ปลัดทูลฉลองคัดความขึ้นกราบบังคมทูล ลักษณะคัดความอย่างนั้นเรียกว่า “คัดทูลฉลอง” คือเก็บแต่เนื้อความใบบอก แต่ต้องระวังมิให้ผิดเพี้ยนบกพร่องขึ้นกราบบังคมทูล

วิธีกราบบังคมทูลนั้น ตามประเพณีโบราณซึ่งยังงใช้มาจนในรัชกาลที่ ๓ อันพึงเห็นได้ในหนังสือ “จดหมายเหตุหลวงอุดมสมบัติ” ซึ่งหอพระสมุดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ โดยปกติเจ้าแผ่นดินเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงวันละ ๒ ครั้งเป็นนิจ เสด็จออกเวลาเช้าทรงว่าราชการฝ่ายตุลาการ คือพิพากษาฎีกาของราษฎรเป็นต้น เสด็จออกเวลาค่ำทรงว่าราชการบ้านเมือง เสนาบดีต้องไปเฝ้าพร้อมกันหมด

มีใบบอกราชการอย่างไรมาแต่หัวเมือง เมื่อเสนาบดีเจ้ากระทรวงทูลเบิกแล้ว ปลัดทูลฉลแงอ่านใบบอกที่คัดนั้นถวายทรงฟัง เมื่อทรงฟังตลอดแล้วตรัสปรึกษาหารือกับเสนาบดีเป็นยุติแล้วตรัสสั่งให้ทำ อย่างไร ปลัดทูลฉลองก็เป็นผู้จดจำกระแสรับสั่งมาจัดการ ถ้าเป็นราชการสำคัญโปรดให้นำร่างตราขึ้นถวายทรงตรวจแก้ก่อน ก็เป็นหน้าที่ปลัดทูลฉลองที่จะนำร่างตราเข้าไปอ่านถวาย และแก้ไขตามรับสั่งในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนเมื่ออ่านใบบอก

ราชการแผ่นดินทำเป็นการเปิดเผยดังพรรณนามา จึงถือกันว่าท้องพระโรง เป็นที่ศึกษาราชการของข้าราชการทั้งปวงอันมีตำแหน่งเฝ้าในท้องพระโรง



ประชุมเทศาภิบาล กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๓๙
จากซ้ายไปขวา
แถวนั่ง
๑. พระยาสุรินทร์ฦๅไชย (เทศ บุนนาค) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์
๒. พระยาพงษาณุรักษ์ (แฉ่ บุนนาค) ต่อมาเป็นพระยาไกรเพชรสงคราม)
๓. กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์
๔. กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ
๕. กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย
๖. พระยาจ่าแสนยบดี (ไทย)
๗. หม่อมเจ้าอลังการ มาลากุล
แถวยืน
๑. พระยาสฤษดิ์พจนกร (เสง วิริยศิริ) ต่อมาเป็นพระยามหาอำมาตย์
๒. พระยาประสิทธิศัลยการ (สอาด สิงหเสนี)
๓. พระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร์ (เชย กัลยาณมิตร) ต่อมาเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐศักดิ์
๔. พระยาทิพยโกษา (โต โชติกเสถียร)



.............................................................................................................................................................

เชิงอรรถ

(๑) ดูในนิทานโบราณคดี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คัดไว้แล้ว แผ่นดินทอง – โรงเรียนมหาดเล็กหลวง

(๒) ดูในนิทานโบราณคดี เรื่องหนังสือหอหลวง ของกรมสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
คัดไว้แล้ว แผ่นดินทอง – หนังสือหอหลวง




 

Create Date : 14 เมษายน 2553   
Last Update : 14 เมษายน 2553 12:20:08 น.   
Counter : 4617 Pageviews.  


1  2  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com