กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๕ ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช มีรเหตุการณ์สำคัญๆ หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่องหนึ่งคือหม่อมไกรสรต้องโทษประหาร ซึ่งเกิดเป็นกระทู้ในพันทิปหลายครั้งมาแล้ว เรื่องนี้ในกระทู้นี้จะแสดงความตามหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

เหตุการณ์ที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองอีกเรื่อง เป็นเรื่องราชทูตฝรั่งเข้ามาขอทำสัญญา ซึ่งจะเกี่ยวเนื่องต่อไปถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ ที่แสดงถึงพระสติปัญญา ปรีชาสามารถ ความสุขุมลุ่มลึกของพระองค์ท่านในการแก้ไขปัญหาอย่างละมุ่มละม่อม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่อง "ความทรงจำ" ในตอนนี้ว่า

".... เมื่อเขียนถึงตรงนี้นึกขึ้นถึงคำราชทูตฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเอาใจใส่ศึกษาพงศาวดารประเทศทางตะวันออกนี้ เคยแสดงความเห็นแก่ฉันว่า สังเกตตามเรื่องที่ฝรั่งมาทำหนังสือสัญญาเมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้น เมืองไทยใกล้จะเป็นอันตรายมากที่เดียว ถ้าหากไม่ได้อาศัยพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไข ประเทศสยามก็อาจจะไม่เป็นอิสระสืบมาได้ คำที่เขาว่านี้พิเคราะห์ในพงศาวดารก็สมจริง ในชั้นนั้นมีประเทศที่เป็นอิสระอยู่ทางตะวันออกนี้ ๕ ประเทศด้วยกันคือ พม่า ไทย ญวน จีน และญี่ปุ่น นอกจากเมืองไทยแล้ว ต้องยอมทำหนังสือสัญญาด้วยถูกฝรั่งเอากำลังบังคับทั้งนั้น ที่เป็นประเทศเล็กเช่นพม่าและญวนก็เลยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเมื่อปลายมือ ที่เป็นประเทศใหญ่หลวง เช่นเมืองจีนก็จลาจลและลำบากยากเข็ญสืบมาจนทุกวันนี้ กลับเอาตัวรอดได้แต่ประเทศญี่ปุ่นเพราะเขามีคนดีมากและมีทุนมากด้วย ถึงกระนั้นก็ต้องรบราฆ่าฟันกันเองแล้วจึงตั้งตัวได้ มีประเทศสยามประเทศเดีวที่ได้ทำหนังสือสัญญากับฝรั่งโดยฐานมิตร และบ้านเมืองมิได้เกิดจลาจลเพราะทำหนังสือสัญญา ...."



....................................................................................................................................................................................


ถึงปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๑๐ พุทธศักราช ๒๓๙๑ เป็นปีที่ ๒๕ ในรัชกาลนี้ ครั้นมาถึงเดือนอ้าย พระยาธนูจักรรามัญทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย กล่าวโทษกรมหลวงรักษรณเรศว่า ชำระความไม่ยุติธรรม กดขี่บุตรชายว่าเป็นผู้ร้ายย่องเบาลักเอาเงินทองสมิงพิทักษ์เทวาไป สมิงพิทักษ์เทวาเป็นโจทก์ จึ่งโปรดให้ประชุมเสนาบดีชำระความใหม่ ก็ได้ความจริงว่าบุตรพระยาธนูจักรมิได้เป็นผู้ร้าย ผู้ร้ายนั้นคือบุตรเขยของสมิงพิทักษฺเทวาเอง ทรงขัดเคืองกรมหลวงรักษรณเรศเป็นอันมาก ตรัสบริภาษว่า ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงให้เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หวังจะให้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยปฏิบัติราชกิจการต่างพระเนตรพระกรรณ ก็ไม่ได้ตั้งอยู่ในยุติธรรมกดขี่หักหาญถ้อยความให้วิปริตผิดๆ เช่นนี้คงหลายเรื่องหลายคราวมาแล้ว ก็เพราะด้วยอ้ายพวกละครชักพาให้เสียคน

จึงโปรดฯ เกล้าให้ตุลาการค้นหาความอื่นขึ้นมาชำระอีกต่อไป ได้ความว่า กรมหลวงรักษรณเรศชำระความของราษฎรมิได้เป็นยุติธรรมสมกับที่ไว้วางพระราชหฤทัย ด้วยพวกละครและข้าในกรมรับสินทั้งฝ่ายโจทย์ฝ่ายจำเลย แล้วหักความเอาชนะจงได้ ในกรมเองก็เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูง ลอยกระทงก็ขึ้นไปลอยถึงกรุงเก่าบ้าง เมืองนครเขื่อนขันธ์บ้าง ทำเลียนธรรมเนียมในหลวงทรงลอย พวกละครก็ให้ห่มแพรสีทับทิมใส่แหวนเพชรเลียนหม่อมห้าม อีกทั้งเกลี้ยกล่อมขุนนางและกองรามัญไว้เป็นพวกพ้องก็มาก ผู้ใดไม่มาเข้าฝากตัวก็พยาบาทเคียดแค้น ตั้งแต่ริเล่นละคร ก็ไม่ได้บรรทมข้างใน อยู่แต่ที่เก๋งข้างท้องพระโรงด้วยพวกละคร จึงรับสั่งให้เอาพวกละครมาแยกกันไต่ถามค้นความ ก็ได้ความสมพ้องว่าได้เป็นสวาทไม่ถึงชำเรา แต่เอามือคนละครและพระหัตถ์ท่านกำคุยหฐานด้วยกันทั้งสองฝ่าย ให้สำเร็จภาวะธาตุเคลื่อนพร้อมกัน เท่านั้น

แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตุลาการถามกรมหลวง ว่าเป็นทรงชุบเลี้ยงเจ้าใหญ่นายโตถึงเพียงนี้ เล่นการเช่นนี้สมควรอยู่หรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่า การที่ไม่อยู่กับลูกเมียนั้นหาเกี่ยวข้องแก่การแผ่นดินไม่ ตุลการถามอีกข้อ ๑ ว่า ที่เกลี้ยกล่อมเจ้านายขุนนางไว้เป็นพรรคพวกมากนั้นจะคิดกบฏหรือ กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่าไม่ได้คิกกบฏ จึงถามต่อไปว่า ถ้าไม่ได้คิดกบฏก็แล้วเกลี้ยกล่อมหาพรรคพวกไว้เหตุใด กรมหลวงรักษรณเรศจึงตอบว่า คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไปแล้ว ก็จะไม่ยอมเป็นข้าของใคร ตุลาการถามอีกข้อ ๑ ว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วจะเอาเจ้านายพระองค์ใดเป็นวังหน้า กรมหลวงรักษรณเรศให้การว่าคิดอยู่ว่าจะเอากรมขุนพิพิธภูเบนทร์ จึงจดคำถามตุลาการแลคำให้การของกรมหลวงรักษรณเรศขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงวินิจฉัยต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริปรึกษาด้วยพระราชวงศานุวงศ์เสนาบดีว่า กรมหลวงรักษรณเรศมีความผิดหลายอย่าง ทั้งบังเอาเงินเบี้ยหวัดและเงินวัดพระพุทธบาทปีหนึ่งหลายสิบชั่งไปเป็นอาณาประโยชน์ ครั้นจะเลี้ยงไว้ต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เห็นควรอย่างไรดี พระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีกราบทูลว่า แม้จะไม่เอาโทษปล่อยไปเสีย ด้วยจะชุบเลี้ยงไว้ต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เหมือนตีอสรพิษให้หลังหักระแวดระวังยาก

ถึงวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ปีวอกสัมฤทธิศกนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ตุลาการทำกระทู้ซักถามกรมหลวงรักษรณเรศว่า ที่ตัวได้เป็นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้ยิ่งกว่าเจ้านายทุกๆ พระองค์ จึงได้คิดกำเริบใจขึ้น แต่ก่อนนั้นยังกำเริบน้อยๆ เดี๋ยวนี้มากขึ้นๆ จนกระทั่งทุกวันนี้ได้ ๒๕ ปีแล้ว บัดนี้ก็ปรารถนาถึงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ตัวระลึกถึงความหลังดู แต่ก่อนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และกรมหมื่นสุรินทรรักษ์กับตัวก็ได้ทำราชการมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ สมเด็จพระบรมชนกนาถ จนถูกหนังสือทิ้งฟ้องกล่าวหามาด้วยกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนี้สำคัญพระราชหฤทัยว่าได้เป็นเพื่อนทุกข์เพื่อนยากกันมา ฝ่ายกรมหมื่นสุรินทรรักษ์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ยังอยู่แต่ตัว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงไว้วางพระราชหฤทัยให้ช่วยราชการแผ่นดินต่อมา ตัวประพฤติการคดๆ โกงๆ เอาสินบนในการชำระถ้อยความและตั้งขุนนาง ก็ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่บ้าง ได้ทรงเตือนสติหลายครั้งหลายคราว ว่าอย่าทำให้ราษฎรเขาติฉินนินทาหมิ่นประมาทได้ อย่าให้ชื่อชั่วช้าตราตรึงอยู่กับแผ่นดิน เหมือนตัวประพฤติการที่ไม่อยู่กับเมียดังนี้ ก็มีผู้มาพูดว่าทั้งผู้ชายผู้หญิง ข้างผู้ชายนั้นกรมขุนรามอิศเรศเป็นต้น จนกระทั่งมหาดเล็กเด็กชา ฝ่ายผู้หญิงนั้นเมียของตัวที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดก็มาเล่าให้ฟังออกเซ็งแซ่ ว่าตัวไม่อินังขังข้อกับลูกเมีย ไปหลงรักอ้ายคนโขนคนละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่าจะชอบใจอย่างเจ้าปักกิ่งเตากวางรักงิ้ว จะซ่องเสพผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้างกระมัง ครั้นจะทรงห้ามปรามว่ากล่าวให้รู้สึกตัวว่า กระทำดังนี้ไม่ดีไม่งามความก็จะอื้ออึงออกไป เหมือนจะแกล้งประจานให้ญาติได้รับอัปยศ แล้วทรงพระราชดำริว่า แต่ก่อนกรมหลวงเทพพลภักดิ์ก็ประพฤติไม่อยู่กับลูกเหมือนกัน สมเด็จพระบรมวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ก็ทรงทราบทุกพระองค์ ก็หาได้ว่ากล่าวกรมหลวงเทพพลภักดิ์ประการใดไม่ คราวนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมิได้เอาพระราชหฤทัยเป็นธุระ ด้วยสำคัญว่าเขาประพฤติให้เหมือนพี่ชาย เป็นพืชพันธุ์ลูกอียายเดนเกือก เป็นคนอุบาทว์บ้านอุบาทว์เมือง แล้วมิหนำซ้ำกระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนไปทุกเส้นหญ้าใบไม้ ด้วยโลภเจตนา ให้ขายใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระเดชพระคุณเป็นล้นพ้นของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง ทั้งขายหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สมณชีพราหมณ์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ด้วยความชั่วของตัวฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไปทั่วนานาประเทศทั้งปวง หาควรไม่เลย ต่างคนต่างมีใจโกรธแค้นยิ่งนัก แล้วยังมาคิดทักใหญ่ใฝ่สูงจะเป็นวังหน้าบ้าง เป็นเจ้าแผ่นดินบ้าง อย่างว่าแต่มนุษย์เขาจะยอมให้เป็นเลย แต่สัตว์เดรัจฉานมันก็ไม่ยอมให้ตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดให้ถอดเสียจากกรมหลวง ให้เรียกว่าหม่อมไกรสร ลงพระราชอาญาแล้วให้ไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทร์ที่วัดปทุมคงคา ณ วันพุธเดือนอ้าย แรม ๓ ค่ำนี้ บ่าว ๓ คน กับขุนวุทธามาตย์ขุนศาลคน ๑ เป็น ๔ คนด้วยกัน เอาไปประหารชีวิตที่สำเหร่ในวันเดียวกัน

ความผิดข้อใหญ่ของหม่อมไกรสรอยู่ที่หมายจะเอาราชสมบัติ เมื่อสิ้นแผ่นดินแล้ว เมื่อพิจารณาดูก็เหมือนจะทรงป้องกันอันตรายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่ารัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ให้แผ่นดินร่มเย็นเป็นสุขต่อไปนั้น คงมีแต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นเท่านั้น มีเหตุหลายอย่างที่ส่อให้เห็นพระจำนงในพระราชหฤทัยจะให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อไป เช่นโปรดฯ ให้กระบวนแห่เสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจัดอย่างแห่เสด็จกรมพระราชวังบวรฯ เมื่อย้ายมาทรงครองวัดนิเวศฯ ดังที่กล่าวมาแล้ว และเมื่อครั้งทรงบูรณะพระปรางวัดอรุณาชวราราม พระปรางค์เดิมเป็นของโบราณสูง ๘ วา โปรดให้ก่อหุ้มขึ้นใหม่สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว เดิมทำเป็นยอดนภศูลตามแบบพระปรางค์ที่เคยสร้างกันมา ครั้นใกล้ถึงถึงวันฤกษ์จะยกยอดพระปรางค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ไปยืมมงกุฎที่หล่อไว้สำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดบนยอดนภศูล ทรงพระราชดำริอย่างไรจึงทำเช่นนี้ หาได้ตรัสให้ใครทราบไม่ และการเอามงกุฎขึ้นต่อยอดนภศูลก็ไม่เคยมีแบบอย่างมาแต่ก่อน คนในสมัยจึงพากันสันนิษฐานว่า มีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า “มงกุฎ” จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไปข้างหน้า



ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเมื่อทรงเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ฯ ก็ทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษต่อมิชชันนารีอเมริกัน พวกมิชชันนารีอเมริกันกับพวกบาทหลวงฝรั่งเศส แม้มีเจตนาจะมาสั่งสอนเผยแพร่คริสต์ศาสนาเหมือนกันก็ตาม แต่วิธีปฏิบัติต่างกันเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง พวกบาทหลวงโรมันคาทอลิกวางตัวเป็น “พระ” พยายามบำรุงศาสนาตั้งวัด และอุปถัมภ์บำรุงการฝึกสอนผู้คนให้เข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาเป็นสำคัญ ส่วนพวกมิชชันนารีอเมริกันถือโปรเตสตันส์ วางตัวเป็น “ครู” ใช้วิธีทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆ เช่นรักษาความเจ็บไข้และสอนวิชาความรู้อารยธรรม ให้คนทั้งหลายเลื่อมใสเสียก่อน จึงสอนศาสนาต่อไป เพราะฉะนั้นพวกมิชชันารีอเมริกันจึงเข้ากับไทยได้สะดวกกว่าพวกบาทหลวง ในครั้งนั้นมีพวกคนชั้นสูงสมัยใหม่ ปรารถนาจะศึกษาวิชาอย่างฝรั่งหลายคน เช่น พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้านวม กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท ใคร่จะทรงศึกษาวิชาแพทย์อย่างฝรั่งพระองค์ ๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ใคร่จะทรงศึกษาวิชาทหารพระองค์ ๑ หลวงนายสิทธิ (ช่วง) ใคร่จะศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นคน ๑ ได้ศึกษาวิชาตามประสงค์ต่อพวกมิชชันนารีอเมริกัน ส่วนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงคุ้นเคยกับพวกมิชชันนารีตั้งแต่เสด็จประทับอยู่วัดสมอรายแล้ว แต่ไม่ปรากฏชัดว่าได้ทรงศึกษาวิชาอันใดจากพวกมิชชันนารีในชั้นนั้น

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงปรารภถึงการบ้านเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๕ จีนรบแพ้อังกฤษและต้องทำหนังสือสัญญายอมให้อังกฤษกับฝรั่งชาติอื่นเข้าไปมีอำนาจในเมืองจีน เวลานั้นในบ้านเมืองไทยโดยมากยังเชื่อตามคำพวกจีนที่กล่าวกันว่าที่แพ้สงครามอังกฤษเพราะไม่ทันได้เตรียมตัว รัฐบาลจีนจึงต้องยอมทำหนังสือสัญญาพอให้มีเวลาตระเตรียมที่จะสู้รบต่อไป แต่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงพิเคราะห์แล้วทรงพระดำริเห็นว่าถึงคราวโลกวิสัยจะต้องเปลี่ยนแปลงไป ฝรั่งจะมามีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้ และประเทศอาจจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากยิ่งขึ้นในวันหน้า จึงเริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอร์ แคสเวลมิชชันนารีอเมริกัน หรือที่คนไทยในสมัยนั้นเรียกท่านว่า หมอหัศกัน มิสเตอร์แคสเวลไม่ยอมรับค่าจ้าง แต่ทูลขอโอกาสให้สอนคริสต์ศาสนาได้ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ เป็นทำนองท้าพิสูจน์ความศรัทธาของพุทธบริษัทวัดบวรนิเวศน์ฯ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณก็ประทานอนุญาตให้สอนได้ตามประสงค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอร์แคสเวล จนทรงสามารถจะอ่านเขียนและตรัสเป็นภาษาอังกฤษได้ดียิ่งกว่าใครๆ ที่เป็นชาวไทยด้วยกันในสมัยนั้น

การที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงศึกษาภาษาอังกฤษในครั้งนั้น ทำให้ฝรั่งชาวต่างชาติเข้าใจว่าพระองค์ทรงเลื่อมใสในการฝรั่งไปด้วย ถึงกับชักชวนพระองค์ให้ทรงเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนา ดังปรากฏในหนังสือจดหมายโต้ตอบที่พระองค์ทรงมีไปถึงพระสหาย เป็นเค้าความดังนี้


Dated a place of sea surface 130 261 N. latitude
And 1010 31 E. longitude in Gulf of Siam
18th November Anbo Christi 1849
In touring or voyage of the undersigned

To Mr. & Ms Eddy of New York, Unite States
Sri & Madam


I have the honour to acknowledge the cheerfully receipt of your kind letter which was finest manuscript of the latter or lady, dated Waterford Sar Co. state of New York October 6th 1848 from the hand of my & your friend Doctor S.R. House on the 19th June inst, in which time there was the most awful & dangerious fatal disease of Cholera or “Jala sandy” just visiting our country & abating our people of Bangkok during four weeks or one month commencing 16th & 17th June inst.

For this consequence of the distress I beg to confess myself that I could do no attention to reply your address and farther forgot until the present date completely four months ago. Now I am however in my happy voyage to deliver my letters & some presents suitable to be forwarded for my foreign friends on board exporting ship ready to be sailing away from the anchor place of our Gulf, I just saw your letter remaining in my writing box from which your letter has led me in recollection to write you here myself very soon without hesitation.

I observed certainly by your letter’s content of this date that my second letter accompanied some triffing articles of this country (I had sent to be presented to you for showing of foolish manufacture of our poor & ignorant people according to direction of my friend Dr. S.R.House) committed on board ship bounding to Canton to be forwarded to America via China where we hear that the vessels of America are frequently visiting, was not yet reached your hand, as it (my second letter together some presents) was just put away on June or July ultimo, before your letter’s date about three months, and I trust you would write me again on its receipt.

Allow me to say truly without any near case of falsehood or anigma1 &c. as the truth is most important subject of all religion in the world, though many sinners whoever are thinking themselves to be skilful, think it (the truth) that useless some time, yet it is indeed the highest head of holy morality. Therefore I beg to say truly what in my mind. Your letter’s content is generally regarding the surpriseble & admirable qualities & conducts of Missrs Mattoon & S.R.House for introduction to astonishment of my mind which may be fore way to be easily converted to Christianity. But such the words were much more said & related here by every one of Missionaries many while so that it is now very common, as the Siamese people did know certainly that such influence of opparation of the Christian countrymen was just occurred by the ways by which they accustomed to introduce this Christianity to savage & barburious countries very easily according to the late system of Columbus &c then this Missionaries who were learned of such knowledges of religion having no situation for their life by their knowledges in their mother country as there were many most preachers & teacher of the same system got their rooms in churches of all Christian countries so that the progresses of search their lives support by gethering money from gentle & induligent2 Pious people in hands of their employers who let the people be glad to pay for spreaching of their most respected religion to other country which they think very benighted. But the wiseman like myself and other learned have had know that this religion of Christ was but ancient superstition of the Jew who were near of Barburious, but it war introduced to Europe before these lights of undoubtable knowledge of wonderful sciences were shoned there on, so that it was the verneetical3 system of Europians until the present days. We communicate whit English and American friend for knowledge of sciences & arts, not for any least admiration or astonishment of vulgar religion as we know that there are very plenty of the men of knowledge who were learned & profissers of various sciences Astronomy Geography Grammartical navigation &cc. abusing & refusing all content of Bible & stated that they do not believe at all. Be not trouble for such introductory writing, if I would believe such system I would be converted to Christianity very long are before you have heard my name perhaps. Besides the conversation concerning religion, it will be your displeasure for more word. My many Christian friends generally think that I communicating with Eurian4 & American friends for being wonderful for their all conducts every ways for this evidence they think that they may introduce me to their religion every easier that other rather that if I were converted to it then afterward many more of noblemen & people of this country might be converted & introduced to Christianity very soon & easily as I am hight priest of Buddhist & conductor of this nation to the system of the action of merits for eternal happiness. The people might follow me like in the account of Sandawed Island &c. Such vulgar desire of those my friends was for they accustomed to do to the savage & Barburious nation like those occanican of Sandawed Island &c. But our country is not like those nation as here were longly some knowledges of morality & civility bearing legible wonderful accurate system & believable consequences more admirable than the same Jewish system though this was corrupted & mixed with most reproveable superstitions of Brahmines & forest &cc.

I beg to say truly that I was thankful to you much for you wish my happiness both internal & eternal.5 So that you wrote all your mind that the undoubtable way saving the lives of all creatures to eternal happiness. But I not receive you such advice as my faith is but that the moreality & virtues of action & mind which were subjects of all religions of whole world is to be proper course for obtain eternal happiness. What is the Christ who was appeared to us not more than an extraordinary person in whom the wonder of the same superstitious ignorant people had placed on the same period & respected foolishly by other nation from the shilly presumption which carried in due course. I beg to return only man thouson thank to you for your kindness & mercy upon me even for my for my eternal life.

Here are many gentlemen who formerly believed in the cosmogony & cosmography according to Brahmanical work which the old ancient Buddhist authors of book have adopted to their system without hesitation. They took contrary contest with many subjects of Europian or enlightened Geography astronomy Horology navigation chemistry &c. On their first hearing or receipt. They thought that such the system & knoeledges were but the inflences of imagination of heathen or propounded subject from the Christ and his disciples. Afterward they have examined accurately & exemplified with many reason, arguments & circumstands. Now the skilful gentlemen & wise men of our country generally believed all foresaid sciences & pleased with them much so that a few of them including myself endevoured to study language of English proposing the knowledge of reading & perusing their book of scientific action or arts to be immated6 & introduce to our country whatever would come under their power. But no one of such learned personages is doubting that lest Christianity might be best system or religion or lest Jesus might be genueut7 or real son of God or saviour of liar to the same ignorant nation where he has met with his borth. His prediction from the words of profets &c. All in disbelieve of these wisemen. Be not trouble to lead us in such system, we have heard most words of here missionaries both old & modern saying in various ways the Bible and it various Elements or commentaries are accustomed to read much. I beg to say but the importance which may be useful between you & me.

I am sorry to say that I could not get opportunity to be out of our kindom owing to the reprovable custom & police8 of our country which were enacted by our Goverments both ancient & Modern who were deeped in most profound darkness of ignorant pleasures & desires from which we think we will not be able to lead them out during their life & our time. On hearing of your desire that I may pay visit New York &c. I was most sorry for I know the opportunity would not be to me during my life for arrival the same with my body. The exact description of New York I have read in some books & heard frequently from mouth of my teacher and friend so that I was desirious long are to visit, my whealth or property is as much as enough or sufficient for let me meet9 all countries of the Europes America but how shall I do to our governments but I am glad that my manuscript has some time opportunity to visit the same state.

I was very glad to hear that you power to do many branches of businesses. I beg therefore to offer myself to you to be your true friend as I am longly desirious of obtaining some extraordinary faithful and grateful person of your country to be my agent, to whom I might order some needable articles to be shipped from America to Siam & I should do to him in such a way or case but have no one before now I am glad to have yourself to be my agent.

I have heard from my agents of Singapore who stated to me that at least 30 ships of America visit the same port. But I am sorry that the American vessels do not visit Siam sometime. Therefore I beg to ask you for my a single purpose. I desire to have one Lithographic press (instrument of printing on stone) with all its compliment10 or implement. Will you please to obtain for me one from your country? Please write me soon by overland let me know how much prices would required for it if less that $200 Dollars then I must request or solicite you to advance for me & take it & put in certain ship which you know that would be bounded to Singapore and you write information to me with the values of articles. Than I will return my order to me agent of Singapore to wait upon the same ship of America & accept the same & pay the prices immediately as soon as the ship would sail away safely without any delay or detain for money. Will you please to comfort me in China where American ships visit continually I cannot pay for things that were said but the names that were lost by piraters of China as I know that all ships have the securities or assurints who might pay for lost at ocean wherefore do not send me articles which I order you by hand of Missionaries or other who would land on China or Chinese shore as I know that there are many more piraters who spoil foreign vessels very often but in Singapore there will be not any calamity for protection of English government & I have faithful agents thereon too wherefore I wish you to send me ordered things to the same port. I beg to denote the names of my care your letters for me or deliver your articles to be present or sell to me per ship visiting the same port.

My Chinese agent of Singapore named thus Tan Tock Sing Esquire or kongsee.

My English agent named thus Messrs. Hamilton & Grey & Co. Singapore.

Please write answer to me for this me reqest as very soon as possible. I am earnestly desirious of obtaining the Lithograghic press which have heard that is cheaper than that of England.

Be not sorry or angry to me for the foresaid religious subject, I said so for I am uwilling your thouble in your endevvouring which would be not furnished at all. Please pardon me for those words if they displeased you, but be graceful11 to me as I am native of poor country and be glad for my kindness & respect to you who offer your infriendship upon me firstly by sending me the printing Ink.

Remember me your friend have the honour to be your agent here if some things which lies in my power may required


Prince T.Y. Chaufa Mongkut
The High priest & head of the church
named Wat Pawaraniwes in Bangkok
modern capital of Siam



P.S. Please read carefully and overlook all mistaken in writing as I was most hurried in
my manuscripts in this letter T.Y.M.

………………………………….

1 enigma
2 indulgent
3 veneratical เห็นจะหมายความว่า system of Veneration
4 Europian
5 external
6 intimated
7 genuine
8 policy
9 visit
10 complement
11 “graceful” ในที่นี้หมายความว่า indulgent



มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้คำแปลพระราชหัตถเลขาฉบับนี้ ดังนี้


แห่งหนึ่งในทเล ๑๓-๒๖- แล๊ดติจู๊ดเหนือ
แล ๑๐๑-๓- ลองติจุ๊ดตะวันออก ในอ่าวสยาม
วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๔๙ (พ.ศ. ๒๓๙๒)
ในระหว่างเที่ยวหรือเดินทางของผู้เซ็นนามข้างท้าย

จดหมายมายัง มิสเตอร์แลมิสซิซ เอ๊ดดี แห่งนิยอร์ก ยูไนเตตเสตต ให้ทราบ


ข้าพเจ้ามีเกียรติได้รับโดยปิติซึ่งจดหมายกอปรด้วยเมตตาของท่าน เป็นลายมืองามที่สุดของมิสซิซเอ๊ดดี เขียนที่เมืองวอร์เตอฟอร์ด ซาร์.โค. เสตตแห่งนิวยอร์ก เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ (พ.ศ. ๒๓๙๑) จดหมายฉบับนั้น ข้าพเจ้าได้รับจากมือมิตรของท่านแลของข้าพเจ้า ดอกเตอร์ เอส.อาร์.เฮาส์. เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ปีนี้ ในขณะที่กำลังเกิดอหิวาตกโรค หรือ “ชลสันดี”1อย่างร้ายแรง ซึ่งพึ่งจะมาเยี่ยมประเทศเรา แลลดจำนวนราษฎรในกรุงเทพฯ ลงไปภายใน ๔ อาทิตย์หรือ ๑ เดือน ตั้งแต่วันที่ ๑๖ แลที่ ๑๗ เดือนมิถุนายนปีนี้

เพราะความเดือดร้อนนั้นเป็นเหตุ ข้าพเจ้าจึงต้องขอสารภาพว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนหนังสือตอบจดหมายท่านได้ แลซ้ำลืมมาจนวันนี้ รวมเวลา ๔ เดือนบริบูรณ์ แต่ในบัดนี้ข้าพเจ้ากำลังอยู่ในการเดินทางอย่างสุขสบาย เพื่อจะพาจดหมายของให้ซึ่งเหมาะสมแก่การที่จะส่งไปให้มิตรชาวต่างประเทศของข้าพเจ้าไปฝากเรือซึ่งจะพาออกนอกประเทศ เรือนั้นพร้อมจะออกแล่นจากที่ทอดสมอในอ่าวของเรา ข้าพเจ้าพึ่งเห็นจดหมายของท่านในหีบเขียนหนังสือของข้าพเจ้า จดหมายนั้นเป็นเครื่องเตือนให้ข้าพเจ้ารีบเขียนมาถึงท่านจากที่นี่โดยเร็วปราศจากความรั้งรอ

ข้าพเจ้าสังเกตถ่องแท้จากเค้าความในจดหมายท่านลงวันที่ ๖ ตุลาคมนี้ว่า จดหมายฉบับที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าส่งไปพร้อมกับของบางอย่างในประเทศนี้ (ข้าพเจ้าได้ส่งไปกำนัลท่านเพื่อให้เห็นฝีมือโง่เขลาของราษฎรเราผู้ต่ำต้อยแลอับความรู้ ตามคำแนะนำแห่งมิตรของข้าพเจ้าคือ ดอกเตอร์ เอส.อาร์.เฮาส์) จดหมายแลของเหล่านั้นได้มอบไปกับเรือซึ่งจะออกไปเมืองกวางตุ้ง แล้วเลยไปอเมริกาผ่านไปทางเมืองจีน อันเป็นที่ซึ่งเราได้ยินว่ากำปั่นของประเทศอเมริกาเคยมาเสมอๆ แต่จดหมายแลของเหล่านั้นยังไม่ถึงมือท่าน เพราะจดหมายนั้น (คือฉบับที่ ๒ ของข้าพเจ้าพร้อมด้วยของให้บางอย่าง) พึ่งจะส่งลงเรือเมื่อเดือนมิถุนายน หรือ กรกฎาคมปีก่อน ก่อนวันซึ่งท่านลงไว้ในจดหมายของท่านประมาณ ๓ เดือน ข้าพเจ้าหวังว่าเมื่อท่านรับจดหมายฉบับนี้แล้ว ท่านคงจะเขียนตอบมาอีก

ท่านจงอนุญาตให้ข้าพเจ้าพูดจริงปราศจากข้อความใดๆ ซึ่งใกล้กับความเท็จ หรือเคลือบคลุมเป็นต้น เพราะความสัตย์ย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในศาสนาทั้งสิ้นในโลก แม้ผู้ทำบาปเป็นอันมากซึ่งทะนงตนว่าเฉลียวฉลาด นึกว่าสิ่งนั้น (ความสัตย์) เป็นของซึ่งบางทีก็หาประโยชน์มิได้ ถึงกระนั้นความสัตย์ก็ยังเป็นยอดแห่งธรรมะบริสุทธิ์2 เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอกล่าวตามความจริงที่อยู่ในใจข้าพเจ้า ข้อความในจดหมายของท่านนั้น มักกล่าวถึงความน่าพิศวงแลน่าชมแห่งคุณสมบัติของมิสเตอร์แมตตูน แลมิสเตอร์ เอส.อาร์.เฮ้าส์ เพื่อให้เป็นเครื่องนำความมหัศจรรย์ใจให้เกิดแก่ข้าพเจ้า ซึ่งอาจเป็นทางเบื้องต้นชักจูงให้ข้าพเจ้าเปลี่ยนไปถือคริสต์ศาสนาโดยง่าย แต่คำพูดเช่นนั้นมิชชันนารีทุกคนได้พูดแลบรรยาย ณ ที่นี้มามากแล้ว กว่าที่ท่านกล่าวพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นของชินหู เพราะไทยเรารู้แน่แล้วว่าการเผยแพร่ศาสนาของชาวเมืองคริสเตียนนั้น ได้กระทำโดยประการที่เคยนำคริสต์ศาสนาไปสั่งสอนชาวป่า แลชาวประเทศมิลักขะได้ง่ายดายตามวิธีของโคลัมบัสเป็นต้น อนึ่งพวกมิชชันนารีผู้มีความรู้ทางศาสนาดังได้กล่าวแล้ว ไม่มีตำแหน่งที่จะหาเลี้ยงชีพในเมืองมารดาของตนโดยวิชาที่มีอยู่ เพราะว่ามีนักเทศน์แลครูสอนศาสนาวิธีเดียวกันมากเกินกว่าจำนวนวัดที่มีในประเทศคริสเตียนทั้งหมด จึงต้องดำเนินการหาเลี้ยงชีพด้วยอาศัยรับเงินของผู้มีใจกอปรด้วยปรานี ยอมสละง่าย ซึ่งผู้จ้าง (ของมิชชันนารี) บันดาลให้มีความยินดียอมเสียเงิน เพื่อให้มีผู้นำศาสนาที่นับถือของตนไปเทศน์สั่งสอนในเมืองอื่นๆ ซึ่งตนเห็นว่าราษฎรอยู่ในความมืดมนไร้ปัญญาคือความสว่าง แต่คนมีปัญญาเช่นข้าพเจ้าแลคนอื่นที่มีความรู้ทราบดีแล้วว่า คริสตศาสนาเป็นเพียงแต่การงมงานเชื่อลัทธิโบราณของพวกยิวผู้ใกล้จะเป็นมิลักขะ แต่ว่าได้มีผู้นำเข้าไปแพร่หลายในยุโรปก่อนแสงสว่างแห่งความรู้อันไม่มีข้อสงสัย คือวิทยาศาสตร์อันมหัศจรรย์ ได้เกิดขึ้นในยุโรป ดังนั้นคริสต์ศาสนาจึงเป็นลัทธิที่นับถือของชาวยุโรปมาจนทุกวันนี้ เราติดต่อกับมิตรชาวอังกฤษแลอเมริกันนั้นก็เพื่อความรู้ในทางวิทยาศาสตร์แลศิลปะศาสตร์ หาใช่ติดต่อเพราะชื่นชมแลอัศจรรย์ใจในศาสนาสามานย์นั้นไม่ เพราะเราทราบแล้วว่ามีคนเป็นอันมากซึ่งรอบรู้วิชา แลเป็นอาจารย์ในวิทยาศาสตร์ต่างๆ เช่นดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ไวยากรณ์ แลการเดินเรือเป็นต้น พวกนี้ติฉินแลปฏิเสธทุกข้อที่กล่าวไว้ในไบเบอล แลแสดงว่าไม่เชื่อถือเลย ขอท่านอย่ามัวกังวลเขียนแนะนำมาในเรื่องเช่นนั้น ถ้าข้าพเจ้าเชื่อลัทธินั้น ข้าพเจ้าก็คงจะเข้าอยู่ในศาสนาคริสเตียนเสียก่อนที่ท่านได้ยินนามข้าพเจ้านานแล้วกระมัง นอกจากนั้นการสนทนาซึ่งเกี่ยวกับศาสนา อาจเป็นเครื่องเดือดร้อนแก่ท่านโดยข้อคำที่อาจกล่าวแก่กันต่อไป มิตรข้าพเจ้าหลายคนที่เป็นคริสเตียนมักคิดกันว่า ข้าพเจ้ามีความติดต่อกับกับมิตรชาวยุโรปแลชาวอเมริกัน ก็เพราะพิศวงในความประพฤติของผู้นั้นๆ ไปทุกๆ ทาง ข้อนี้เป็นเหตุให้พากันคิดว่าอาจชักจูงข้าพเจ้าไปเข้าศาสนาของเขาได้ง่ายกว่าคนอื่น และถ้าข้าพเจ้าเป็นคริสเตียนแล้ว ภายหลังพวกขุนนางแลราษฎรประเทศนี้อีกเป็นอันมาก ก็จะพากันเลื่อมใสตาม แลอาจชักนำไปเป็นคริสเตียนได้โดยเร็วอย่างสะดวก ทั้งนี้เพราะข้าพเจ้ามีสมณศักดิ์สูงในพุทธศาสนา เป็นผู้นำหน้าชาติในการบุญเพื่อสู่ความสุขนิรันดร เพราะฉะนั้นราษฎรก็คงทำตามข้าพเจ้า เหมือนกับเรื่องเกาะแซนดอเวดเป็นตัวอย่าง ความปรารถนาอันสามานย์ของพวกมิตรข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ โดยที่พวกนั้นๆ เคยกระทำกับพวกชาวป่าแลชาติมิลักขะ เช่นเดียวกับทำแก่ชาวแซนดอเวดเป็นต้นมาแล้ว แต่คนในประเทศของเราไม่เหมือนกับคนเหล่านั้น เพราะได้มีความรู้ในเรื่องธรรมะแลจรรยามานานแล้ว ธรรมะแลจรรยาของเรานั้น แม้ว่าได้มีลัทธิพราหมณ์แลลัทธิชาวป่าเป็นต้นมาปะปน ทำให้เสียไปบ้าง ก็ยังเป็นลัทธิอันแจ่มแจ้งถูกต้องอย่างน่าพิศวง มีผลน่าเชื่อแลชื่นชมยิ่งกว่าลัทธิของชาติยิวที่ได้กล่าวมาแล้ว

ข้าพเจ้าขอกล่าวโดยจริงใจว่า ข้าพเจ้าขอบใจท่านในการที่ท่านปรารถนาให้ข้าพเจ้ามีความสุขทั้งภายในแลภายนอก ท่านจึงได้เขียนแนะนำมาในสิ่งซึ่งท่านเชื่อมั่นแล้วเต็มความคิด ว่าเป็นหนทางอันปราศจากข้อสงสัย ที่จะช่วยชีวิตสัตว์โลกให้มีความสุขนิรันดร แต่ข้าพเจ้ารับทำตามคำแนะนำของท่านไม่ได้ เพราะความเชื่อของข้าพเจ้ามีว่า ธรรมะแลคุณความดีโดยกิริยาแลใจ อันเป็นน้ำเนื้อของศาสนาทั้งปวงในโลกนั้น เป็นทางถูกต้องที่จะได้รับความสุขนิรันดร ใครคือไครสต์ผู้ปรากฏแก่เราว่าไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลแปลประหลาดคนหนึ่ง ผู้ซึ่งความพิศวงของฝูงชนไร้ปัญญา มัวเชื่อลัทธิงมงายได้ยกย่องขึ้นในสมัยโน้น แลชนชาติอื่นก็ได้นับถือตามๆ กันไปโดยความเขลา จนความเชื่อโดยเดาเอาอย่างโง่ๆ ก็ได้ส่งสืบกันมา ข้าพเจ้าแสดงความขอบใจมายังท่านสักพันครั้ง ตอบแทนความเมตตากรุณาของท่าน แม้ความเมตตากรุณานั้นจะเป็นไปเพื่อชีวิตนิรันดรของข้าพเจ้า

ที่นี่มีผู้ดีหลายคนซึ่งแต่ก่อนได้เชื่อในเรื่องสร้างโลก แลโลกสัณฐานตามตำราพราหมณ์ ซึ่งคนแต่งหนังสือเรื่องพุทธศาสนาครั้งโบราณได้นำเข้ามาไว้เป็นลัทธิในพุทธศาสนาโดยไม่รั้งรอผู้รู้อย่างเก่าของเรานั้น เมื่อแรกได้ยินหรือรับความรู้ของชาวยุโรป ก็ได้โต้เถียงคัดค้านวิชานั้นๆ เช่นภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ วิชาวัดเวลา วิชาเดินเรือ แลเคมีสตรีเป็นต้น พวกนั้นพากันคิดไปเสียว่า ลักษณะแลความรู้เรื่องวิทยานั้นๆ คือปัญญาเดาๆ ของชนชาติมิจฉาทิษฐิชักจูงให้เป็นไป หรือเป็นข้อความซึ่งได้รับอธิบายมาจากไครสต์แลจากสานุศิษย์ของไครตส์ ครั้นภายหลังได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ แลคิดค้นหาตัวอย่างด้วยเหตุผลด้วยคำชี้แจง แลด้วยรูปการอย่างอื่นๆ บัดนี้ผู้มีความเฉลียวฉลาดแลผู้มีปัญญาในประเทศเรา มีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์อันกล่าวมาแล้ว แลมีความยินดีในวิชานั้นๆ เป็นอันมาก กระทั่งบางคนรวมทั้งข้าพเจ้าด้วย ได้พากันพยายามศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อจะได้มีความรู้ อ่านตำราภาษาอังกฤษในเรื่องวิทยาศาสตร์แลศิลปะศาสตร์ต่างๆ เพื่อให้คุ้นเคยแลชักนำความรู้นั้นๆ มาสู่ประเทศของเรา ตามแต่จะสามารถนำมาได้ แต่ไม่มีใครเลยสักคนเดียวในพวกที่มีความรู้เช่นที่กล่าวนั้น จะระแวงว่าคริสต์ศาสนาอาจเป็นลัทธิหรือศาสนาดีที่สุด หรือว่าเยซูเป็นบุตรจริงๆ ของพระเจ้า หรือผู้ช่วยมนุษยชาติได้ พวกนั้นเป็นแต่ลงความเห็นว่าเยซูเผอิญไปมีกำเนิดในชาติโง่เขลาเบาปัญญา จึงเป็นเครื่องใช้ล่อลวงกันในชาตินั้น การทำนายในเรื่องเยซูตามคำกล่าวของผู้ทายทั้งสิ้นนั้น ผู้มีความรู้เหล่านี้ไม่มีใครเชื่อเลย โปรดอย่างต้องลำบากเพื่อชักจูงเราให้เชื่อในลัทธินั้น เราได้ฟังคำบรรยายเป็นอันมากจากพวกมิชชันนารีซึ่งอยู่ที่นี่ ทั้งพวกเก่าแลพวกใหม่กล่าวชี้แจงโดยทำนองต่างๆ กัน คัมภีร์ไบเบอลแลอรรถกถาต่างๆ นั้นก็ได้เคยอ่านมามากแล้ว ข้าพเจ้าขอกล่าวแต่ข้อความสำคัญซึ่งอาจเป็นประโยชน์ระหว่างท่านกับข้าพเจ้าเท่านั้น

ข้าพเจ้าเสียใจที่จะกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่สามารถหาโอกาสออกนอกพระราชอาณาจักรได้ เพราะขัดกับประเพณีหรืออุบายอันน่าติเตียนของประเทศเรา ซึ่งรัฐบาลของเราทั้งสมัยเก่าแลสมัยใหม่ได้บัญญัติไว้ รัฐบาลนั้นเป็นผู้ซึ่งจมลึกอยู่ในความชอบใจแลความปรารถนาอันมืดไปด้วยความไม่รู้ อันเราคิดว่าเราไม่สามารถจะนำให้ออกมาพ้นได้ตลอดชีวิตของท่านนั้นๆ แลในสมัยของเราเมื่อได้ยินว่าท่านแสดงปรารถนาให้ข้าพเจ้าไปเยี่ยมกรุงนิวยอร์กแลกรุงอื่นๆ ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นที่สุด เพราะทราบว่าข้าพเจ้าจะไม่มีโอกาสตลอดชีวิตที่จะไปถึงนิวยอร์กด้วยร่างกายของข้าพเจ้าได้ เรื่องที่กล่าวถึงนิวยอร์กโดยละเอียดนั้น ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วในหนังสือบางเล่ม แลได้ยินเสมอๆ จากปากครูแลมิตรข้าพเจ้าทางนี้ เหตุดังนั้นข้าพเจ้าจึงปรารถนามานานแล้วที่จะไปเยี่ยมเยียนกรุงนั้น ทรัพย์สมบัติของข้าพเจ้าก็พอที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมประเทศต่างๆ ในยุโรปแลอเมริกาได้ แต่จะทำประการใดกับรัฐบาลของเราได้เล่า แต่ข้าพเจ้ายินดีอยู่ว่า ลายมือของข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมประเทศอเมริกาได้บ้างบางคราว

ข้าพเจ้ายินดีหนักหนาที่ได้ยินว่า ท่านสามารถกระทำธุระได้หลายสาขา เหตุฉะนั้นข้าพเจ้าขอมอบตัวข้าพเจ้าต่อท่านเพื่อเป็นมิตรอันแท้จริงของท่าน เพราะข้าพเจ้าต้องการมานานแล้วที่จะมีบุคคลในเมืองท่านผู้กอปรด้วยความซื่อตรงแลเห็นแก่ข้าพเจ้าโดยแท้เที่ยง เพื่อให้เป็นเอเย่นต์ของข้าพเจ้า ผู้ซึ่งข้าพเจ้าได้สั่งให้หาสิ่งของที่ต้องการส่งบรรทุกเรือจากอเมริกามาถึงสยาม แลถ้ามีความต้องการเมื่อไร ข้าพเจ้าจะได้สั่งผู้นั้นให้จัดการเช่นที่ว่า แต่ยังหามีใครก่อนนี้ไม่ บัดนี้ข้าพเจ้ายินดีที่จะได้ท่านเปนเอเย่นต์ของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าได้ทราบจากเอเย่นต์ทางสิงคโปร์บอกเข้ามาว่า กำปั่นแห่งประเทศอเมริกาอย่างน้อย ๒๐ ลำมาเยี่ยมท่าเมืองสิงคโปร์ แต่ข้าพเจ้าเสียใจที่กำปั่นอเมริกาไม่เข้ามาเยี่ยมสยามบ้าง ดังนั้นขอให้ท่านช่วยให้สมประสงค์ข้าพเจ้าสักอย่างเถิด คือข้าพเจ้าต้องการจะมีเครื่องพิมพ์หินสักเครื่องหนึ่ง (เครื่องสำหรับตีพิมพ์ด้วยแผ่นหิน) พร้อมทั้งเครื่องประกอบให้ครบชุด ขอท่านจงช่วยหาซื้อให้ข้าพเจ้าสักเครื่องหนึ่งจากประเทศของท่าน ท่านจงเขียนถึงข้าพเจ้าโดยเร็วทางบก3 เพื่อให้ทราบว่าเครื่องพิมพ์นั้นราคาเครื่องละเท่าไร ถ้าราคาต่ำกว่า ๒๐๐ เหรียญแล้ว ข้าพเจ้าต้องขอให้ท่านออกเงินรองไปก่อน แลจัดส่งบรรทุกกำปั่นลำใดลำหนึ่งซึ่งท่านทราบว่าจะมาแวะสิงคโปร์ แล้วท่านจงแจ้งข่าวมายังข้าพเจ้าล่วงหน้า บอกชื่อเรือชื่อกัปตัน ทั้งบอกราคาสิ่งของมาด้วย ข้าพเจ้าจะได้มีคำสั่งไปถึงเอเย่นต์ของข้าพเจ้าที่อยู่เมืองสิงคโปร์ ให้คอยเรือชื่อนั้นๆ ของประเทศอเมริกา แลให้คอยรับแลใช้เงินค่าสิ่งของทันที ก่อนเวลาเรือจะออกแล่นไปโดยปลอดภัย ไม่มีความเนิ่นช้าหรือผัดผ่อนในเรื่องเงินเลย ขอท่านจงช่วยให้สมประสงค์ของข้าพเจ้าในเรื่องนี้ แต่ว่าข้าพเจ้าไม่เอเย่นต์สักคนในเมืองจีน ซึ่งกำปั่นอเมริกันมาเสมอๆ ข้าพเจ้าจะใช้เงินค่าสิ่งของที่บอกมาแต่ชื่อ แต่สิ่งของได้หายเสียแล้วเพราะถูกจีนสลัดชิงไปนั้นไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าทราบว่ากำปั่นทั้งสิ้นมีประกันภัย จะมีผู้ใช้ค่าเสียหายกลางทะเลให้ เหตุฉะนั้นท่านอย่างส่งสิ่งของที่ข้าพเจ้าสั่งฝากมากับพวกมิชชันนารี หรือผู้ใดที่จะขึ้นบกที่เมืองจีน หรือผู้ขึ้นที่ฝั่งทะเลเมืองจีนเลย ด้วยข้าพเจ้าทราบว่ายังมีพวกสลัดอีกมาก ซึ่งมักทำลายกำปั่นชาวต่างประเทศบ่อยๆ นัก แต่ที่สิงคโปร์จะไม่มีเหตุอันตรายเช่นนั้น เพราะได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลอังกฤษ แลทั้งข้าพเจ้าก็มีเอเย่นต์ซื่อตรงอยู่ที่นั่นแล้วด้วย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าประสงค์ให้ท่านส่งของซึ่งข้าพเจ้าสั่ง มาที่ท่าเมืองสิงคโปร์ ข้าพเจ้าขอบอกชื่อเอเย่นต์ที่สิงคโปร์ ผู้ซึ่งท่านควรสลักกลังส่งหนังสือที่มีมาถึงข้าพเจ้า หรือมอบให้ส่งของที่ท่านส่งมากำนัลหรือขายให้ข้าพเจ้า อันจะส่งมาโดยกำปั่นที่จะมาสู่ท่าเมืองสิงคโปร์

เอเย่นต์จีนของข้าพเจ้าที่สิงคโปร์ ชื่อดังนี้ ตันต๊อกเสง เอส ไควร์ หรือกงสี

เอเย่นต์ชาวอังกฤษของข้าพเจ้า ชื่อดังนี้ เมสเยอร์ แฮมิลตัน แล เกรแลกัมปนี สิงคโปร์

โปรดเขียนตอบเรื่องที่ข้าพเจ้าวานนี้โดยเร็วที่สุด ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะได้เครื่องพิมพ์หิน ซึ่งได้ยินว่าราคาถูกกว่าที่ขายกันในเมืองอังกฤษ

ท่านอย่างเสียใจหรือโกรธข้าพเจ้าในเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว ถึงข้อความในเรื่องศาสนา ข้าพเจ้ากล่าวเช่นนั้นเพราะข้าพเจ้าไม่เต็มใจให้ท่านลำบากในการพยายามชักชวน ซึ่งคงไม่เป็นผลสำเร็จได้เลย ถ้าถ้อยคำที่ข้าพเจ้าเขียนนั้นทำให้ท่านขุ่นใจ ท่านจงให้อภัยแก่ข้าพเจ้า จงเห็นแก่ข้าพเจ้าในฐานที่เป็นเพียงชาวประเทศซึ่งต่ำต้อย แลจงยินดีในความเมตตาแลความนับถือของข้าพเจ้าที่มีต่อท่าน ผู้แสดงมิตรจิตมายังข้าพเจ้าก่อน โดยประการที่ส่งหมึกสำหรับตีพิมพ์มาให้

ท่านจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นมิตรของท่านผู้มีเกียรติจะเป็นเอเย่นต์ของท่านในประเทศนี้ ถ้ามีสิ่งใดอยู่ในความสามารถของข้าพเจ้า ซึ่งท่านต้องการ


(พระอภิธัย) ปรินซ์ ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ
ผู้ทรงสมณศักดิ์เป็นอธิการแห่งอาราม ซึ่งมีนามว่า
วัดบวรนิเวศน์ ในกรุงเทพฯ อันเป็นนครหลวงปัจจุบัน
แห่งสยาม



ป.ล. โปรดอ่านด้วยความระมัดระวัง แลให้อภัยที่เขียนผิดในหนังสือนี้ทั้งสิ้น เพราะข้าพเจ้าเขียน
ด้วยความรีบร้อนที่สุด (พระอภิธัย) ท.ญ.ม.

.........................................................

1 “ชลสันดี” คำนี้ผู้แปลไม่เคยพบ แลพบใครที่พบ ครั้นจะเขียนว่า ชลสันธี ก็เกรงจะเป็นการเดาเกินไป
2 “HOLY” คำนี้ความเดิมแปลว่าหมด ซึ่งอาจแปลว่าสมบูรณ์ แต่ไกลกว่าอัตถะที่เข้าใจกันโดยมากในสมัยนี้ ในที่นี้จึงแปลว่า บริสุทธิ์ ซึ่งดูใกล้กับความหมาย
3 “ทางบก” เห็นจะทรงหมายความว่าส่งมาทางยุโรป





 

Create Date : 08 เมษายน 2551   
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:51:32 น.   
Counter : 4430 Pageviews.  


พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๔ ประกาศพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาถือกำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย เจริญรุ่งเรืองจนถึงที่สุด จนกระทั่งศาสนาอิสลามเข้าสู่ประเทศนี้และเจริญรุ่งเรืองขึ้น จะด้วยเหตุที่เกิดจากพุทธบริษัทเองหรือเหตุจากภายนอก หรือจะเป็นเพราะทั้งสองอย่างก็ตาม พระพุทธศาสนาก็มาเจริญรุ่งเรืองในประเทศลังกาต่อมา จนกระทั่งล้มสลายไปอีกจนถึงไม่มีพระสงฆ์ที่จะอุปสมบทแก่ราษฎรได้อีกต่อไป ในพงศาวดารกล่าวว่าได้มีสมณทูตเข้ามาในเมืองไทยเพื่อขอพระสงฆ์ออกไปอุปสมบทให้ ครั้งนั้นพระอุบาลีและคณะได้ออกไปทำการสืบอายุพระพุทธศาสนาในลังกา ทำการอุปสมบทราษฎรให้ เกิดเป็นวงศ์ที่เรียกว่า "อุบาลีวงศ์" ต่อมา และด้วยเหตุหลายอย่างก็ทำให้เกิดนิกายมอญขึ้นในลังกาด้วยอีกวงศ์หนึ่ง

ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกจากอินเดีย เลื่อนมาเป็นลังกา และพม่า (โดยมีทุ่งพระเจดีย์เป็นหลักฐาน) ตามลำดับ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ การศึกษาพระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองมากในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งนิกายธรรมยุติขึ้นใหม่ ปรับปรุงการศึกษาเล่าเรียนให้ได้ผลดียิ่งขึ้นดังได้กล่าวแล้วในตอนที่ ๓ อีกประการหนึ่งที่สำคัญที่เกิดขึ้นในแผ่นดินนี้ คือ การประกาศพระพุทธศาสนา จนถึงลังกาส่งสมณทูตเข้ามาขอให้ตั้งนิกายธรรมยุติในแผ่นดินลังกา และจากเหตุที่ได้ติดต่อสัมพันธ์กับลังกานั้น เป็นผลให้มีการสืบค้นพระไตรปิฎกที่ยังขาดพร่องในเมืองไทย และพระไตรปิฎกในเมืองไทยนี้ก็ถึงบริบูรณ์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง



....................................................................................................................................................


ครั้นถึงปีวอกอัฐศก จุลศักราช ๑๑๙๘ พุทธศักราช ๒๓๗๙ การที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรณาญทรงทำความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นกับวัดสมอราย และในพระพุทธศาสนาอย่างนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเหตุให้พวกที่ยังถือมิจฉาทิฐิมีจิตริษยายิ่ง ถึงตั้งข้อสังเกตสงสัยว่า คนพอใจไปประชุมที่วัดสมอรายกันมากขึ้นโดยลำดับนั้น เพราะประสงค์จะยกย่องสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นในทางการเมือง ขืนปล่อยไว้ชะรอยจะเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินต่อไป ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราช ก็ไม่ทรงระแวงสงสัยในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นแต่อย่างใด แต่ทรงรำคาญพระราชหฤทัยที่เกิดกล่าวข่าวลือแพร่กระจายอออกไปอย่างนั้น



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่จึงตรัสปรึกษาพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ถึงหนทางแก้ไขให้การว่ากล่าวนั้นระงับได้โดยเร็ว พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) กราบทูลความเห็นว่า ถ้าหากโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จมาประทับอยู่ใกล้ๆ เสีย ความสงสัยที่เลื่องลือนั้นจะระงับไปเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริเห็นชอบในอุบายของพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ประกอบกับมีเหตุพอเหมาะแก่การจัดการให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ครั้งนี้ ด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณซึ่งโปรดฯ ให้เป็นพระราชาคณะแล้ว แต่ยังไม่ได้ทรงครองวัดให้เหมาะกับฐานานุรูป และในเวลานั้นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวสน์ฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพทรงสร้างใหม่ที่ในพระนครยังว่างอยู่ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง มีฐานานุกรม ๗ รูป ตั้งกระบวนแห่อย่างธรรมเนียมแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วเชิญเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ฯ ตั้งแต่นั้น เวลานั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเพระชันษาได้ ๓๒ ปี ทรงผนวชได้ ๑๒ พรรษา ทรงผนวชแปลได้ ๑๑ พรรษา ถึงเกณฑ์ที่จะทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ได้แล้ว



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เมื่อโปรดฯ ให้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ นั้น ทรงระวังที่จะมิให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอโทมนัสน้องพระหฤทัยอย่างมาก เป็นต้นว่า เมื่อแห่เสด็จตามประเพณีแห่พระราชาคณะไปครองวัดจากวัดสมอรายนั้น โปรดฯ ให้จัดกระบวนตามแบบกระบวนแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯ ให้สร้างพระตำหนักกับท้องพระโรงให้เสด็จประทับ และทรงทำนุบำรุงด้วยประการอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณก็ทรงพอพระหฤทัยที่ได้เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ ด้วยเมื่อประทับอยู่วัดสมอรายนั้น วัดนั้นมีพระราชาคณะและพระสงฆ์มหานิกายปกครองแต่เดิมมา ทรงจัดวางระเบียบธรรมยุติกาได้แต่เพียงวัตรปฏิบัติส่วนตัวพระภิกษุ แต่จะจัดต่อไปถึงระเบียบสงฆ์ เช่นทำสังฆกรรมยังขัดข้องอยู่ เพราะอยู่ปะปนกับพระสงฆ์ต่างสังวาสกัน และข้อที่สุดคือวัดสมอรายมีเสนาสนะไม่พอที่จะสามารถรับพระสงฆ์ธรรมยุติกาได้หมด ยังต้องแยกกันอาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ

การที่เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ จึงแก้ไขข้อขัดข้องต่างๆ ลงได้ วัดบวรนิเวศน์ฯสามารถรับพระสงฆ์ธรรมยุติกามาอยู่ในวัดเดียวกันได้ ทั้งพระบวชใหม่ก็ได้บวชเป็นธรรมยุติกาทั้งนั้น ในไม่ช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศน์ฯ ก็เป็นธรรมยุติทั้งนั้น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจึงทรงจัดวางระเบียบการคณะสงฆ์และการปกครองวัด ตลอดจนการสั่งสอนสัปบุรุษราษฎรทั่วไปตามคติธรรมยุติกาได้ตามพระประสงค์ แอละด้วยทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราชพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ จึงทรงแสดงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุติกาได้อย่างสะดวกเปิดเผย ตั้งแต่เสด็จมาครองวัดบวรนิเวศน์ฯ และทรงจัดวางระเบียบนิกายสำเร็จแล้ว ก็ทรงอุตสาหะคิดค้นวิธีศึกษาพระปริยัติธรรมต่อมา ทรงพระราชดำริวิธีแก้ไขวิธีเรียน ซึ่งแบบเดิมให้เรียนภาษามคธควบคู่กับพระธรรมวินัยตามคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักสูตรในการสอบไล่ปริยัติธรรมเป็นลำดับขึ้นไป ทรงดำริเห็นว่าไม่ได้ผลเท่าที่ควรใช้ ทรงเปลี่ยนเป็นให้เรียนที่ละชั้นแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นแรกเรียนแต่ไวยากรณ์ภาษามคธขึ้นไปจนจบคัมภีร์มงคลทีปนี กวดขันให้มีความรู้ในภาษามคธให้แตกฉานเป็นปัจจัยเสียก่อน ตามแบบอย่างที่พระองค์ทรงศึกษาด้วยพระองค์เอง แล้วจึงให้ศึกษาพระธรรมวินัยด้วยการอ่านคัมภีร์ต่างๆ ต่อไป

ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในวัดบวรนิเวศน์มีขึ้นเป็นลำดับ พระเกียรติคุณสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ว่าทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกจะทรงฟื้นพระพุทธศาสนาเลื่องลือแพร่ออกไปจนถึงเมืองลังกา จนกระทั่งปีชวดโทศก จุลศักราช ๑๒๐๒ พุทธศักราช ๒๓๘๓ มีพระภิกษุลังกานามว่ากกุธะภิกษุ กับคฤหัสถ์ชาวลังกาอีกคน ๑ เข้ามาถึงกรุงเทพฯ ว่าจะมาเที่ยวนมัสการพระมหาเจดียสถานในประเทศนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้มีรับสั่งไต่ถาม ก็ได้ทูลชี้แจงวัตรปฏิบัติแม่นยำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ทรงรับทำนุบำรุงไว้ที่วัดบวรนิเวศน์ฯ ต่อมามีพระลังกา ๓ รูป สามเณร ๑ รูปตามเข้ามาอีก รวมทั้งสิ้น ๕ รูปเที่ยวบูชามหาเจดียสถานอยู่ในประเทศไทยนี้ ๒ ปี

ถึงปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ พุทธศักราช ๒๓๘๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานพระกฐินวัดบวรนิเวศน์ฯ พวกพระลังกานี้ถวายพระพรลาจะกลับไปบ้านเมือง แลขอรับพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ได้กลับไปโดยสะดวก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจึงทรงพระราชดำริเห็นพร้อมกันกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ว่าการพระศาสนาในลังกาจะเป็นเช่นไร ไม่ได้ไปสืบสวนให้ทราบช้านานหลายปีแล้ว และอีกประการหนึ่ง หนังสือพระไตรปิฎกของไทยยังบกพร่องอยู่ ควรจะสอบสวนกับฉบับที่มีในลังกา ถ้าแต่งพระภิกษุสงฆ์เป็นสมณทูตไปลังกาสักความหนึ่ง เห็นจะดี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเลือกพระภิกษุที่จะส่งไปเป็นสมณทูต และโปรดให้มีสมณลิขิตไปถึงสังฆนายกเมืองลังกา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเลือกได้พระภิกษุธรรมยุติกา ๕ รูป คือ

๑. พระพุทธญาณ
๒. พระอมโร (ภายหลังเป็นที่พระอมราภิรักขิต ชื่อเกิด)
๓. พระสุภูติ (ภายหลังเป็นที่พระสมุทมุนี ชื่อสังข์)
๔. พระคัมภีร์
๕. พระพุทธวีร

แล้วทรงโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงแต่งสมณลิขิตเป็นภาษามคธ เมื่อทรงแต่งเสร็จและทรงแปลถวาย ได้ให้พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็กอ่านทูลเกล้าฯ ถวายหน้าพระที่นั่งจนสิ้นข้อความ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงรับสั่ง “ว่าดีแล้ว ให้เอาตามร่างนี้เถิด”

สมณลิขิตมีไปจากกรุงเทพฯ

ลิขิตพระเถระราชาคณะฐานานุกรม อันสถิตอยู่ ณ วัดบวรนิเวศพระอารามหลวง อันตั้งอยู่ในทิศอีสานแห่งพระราชวังสมเด็จพระบรมบพิตรธรรมิกราชาธิราช อันเสด็จถวัลยราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทรเทพมหานครบวรราชธานี แว่นแคว้นสยามรัฐชนบท ขอเจริญเมตตามายังประชุมชนชาวสิงหฬทวีป บรรดาที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็นบัณฑิตมีปัญญาควรจะได้รู้ลิขิตนี้ มีพระเถรานุถระที่ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ ณ ที่นั้นเป็นประธานให้ทราบ

ด้วยเมื่อพระพุทธศาสนกาลล่วงแล้ว ๒๓๘๓ พระวัสสา กาละครั้นจิตรมาสสุกปักษ์ (ข้างขึ้นเดือน ๕) มีภิกษุองค์ ๑ ชื่อ กกุสนธะ กับคฤหัสถ์คน ๑ ชื่อกรามบุกวนบันดะ โดยสารเรือข้ามมาจากเมืองเกาะหมาก ขึ้นที่ท่าปเหลียน แขวงเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นเมืองขึ้นกรุงเทพฯ แจ้งความกับพระยาพัทลุงว่า จะใคร่เข้ามาถวายนมัสการพระเจดียฐาน แลฟังข่าวคราวพระบวรพุทธศาสนาในสยามประเทศนี้ จะใคร่เข้ามาให้ถึงกรุงเทพฯ จึงพระยาพัทลุงส่งตัวภิกษุกับอุบาสกสิงหฬนั้นมายังเมืองสงขลา พระยาสงขลารับพาเข้ามายังกรุงเทพฯ กราบทูลพระกรุณาสมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราชให้ทรงทราบ จึงทรงพระราชดำริว่า อันชาวสิงหฬทวีปนี้ ก็ได้ทรงสดับมาแต่ก่อนว่าเป็นนับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกันกับชาวสยามประเทศนี้ แต่บัดนี้ก็ไม่ได้ไปมาถึงกันนานแล้ว จะดีร้ายประการใดหารู้แจ้งถนัดไม่ ภิกษุองค์นี้เล่า จะเป็นคนมีศีลอัธยาศัยบริสุทธิ์หรือๆจะมีความเศร้าหมองประการใด อยู่ในทวีปของตนมิได้จึงมา ก็ไม่รู้ชัด แต่ทว่าเมื่อมีปฏิญาณว่าเป็นภิกษุแล้ว ยังมิได้เห็นความผิดก็ควรอนุเคราะห์ด้วยอาคันตุทานโดยสมควร ตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน จึงมีพระราชดำรัสให้เจ้าพนักงานไต่ถามลัทธิข้อปฏิบัติ ภิกษุสิงหฬก็ให้การข้อพระวินัยสิกขาบทถูกต้องอยู่ แลคติปฏิบัติเล็กน้อยก็ร่วมกันกับเราทั้งปวงซึ่งอยู่ในวัดบวรนิเวศพระอารามหลวงโดยมาก จึงมีพระราชดำรัสให้ราชบุรุษนำมามอบไว้อยู่ในที่สภาคฐาน พระราชทานอาคันตุกภัตรตามธรรมเนียมที่เคยพระราชทานแต่ภิกษุอันมาแต่ต่างประเทศ

กกุสนธะภิกษุกับกรามบุกบันดะ วิงวอนแก่เราว่า ภิกษุชาวสิงหฬ ๓ รูป กับสามเณร ๑ คฤหัสถ์ ๒ คน มาด้วยกันแต่สิงหฬทวีป ยังตกค้างอยู่ ณ เมืองเกาะหมาก จะใคร่เข้ามา ณ กรุงเทพฯ ยังหาได้เรือซึ่งจะเข้ามาไม่ จะขอพึ่งพระบารมีให้พวกนั้นได้มาถึงพร้อมกัน เราจึงได้เอาความนั้นขึ้นมาถวายพระพรสมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราชให้ทรงทราบ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เสนาบดีมีท้องตราออกไปให้ขุนนาง ณ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพังงา ๒ เมือง จัดแจงเรือให้รับภิกษุสามเณรคฤหัสถ์ชาวสิงหฬเหล่านั้นเข้าไปถึงกรุงเทพฯ ในเดือนภัทรบท กาฬปักษ์ (ข้างแรมเดือน ๑๒) ในปีนั้น มีพระราชดำรัสให้พาเอามาอยู่ในอารามนี้พร้อมกัน แต่คฤหัสถ์สิงหฬคน ๑ชื่อ เลกำมะหะมะยะ ป่วยหนักมาแต่กลางทางแล้ว มาถึงกรุงเทพฯ อยู่ได้ประมาณ ๑๕ วันถึงแก่ความตาย แลเมื่อคนชาวสิงหฬอยู่ในพระอารามนี้ ก็ปฏิบัติสม่ำเสมอถ้วนถี่เรียบร้อยอยู่ ไม่เห็นโทษอันหนึ่งอันใด ถึงข้อวัตรปฏิบัติในธรรมวินัย ซึ่งยักเยื้องผิดกันอยู่บ้าง ครั้นเมื่อว่ากล่าวด้วยเหตุผลก็เห็นด้วย ก็อ่อนน้อมประพฤติตามอยู่บ้าง วิงวอนให้เราพาไปนมัสการพระเจดียฐานในกรุง มีพระปฏิมากรแก้วมรกตเป็นต้น นอกรุงมีพระปฐมเจดีย์และพระพุทธบาทเป็นต้น หลายตำบล ตามอัชฌาสัยมิได้ขัดขวาง แต่เที่ยวนมัสการที่ต่างๆ อยู่ถึง ๒ เดือนเศษ แล้วกลับมาอยู่ในพระอารามหลวงนี้ อำลาจะใคร่กลับไปแต่ปีหลังยังหาโอกาสที่จะส่งไปไม่ สิทธิธัตถะสามเณรนั้นวิงวอนแก่เราว่า จะใคร่คืนอุปสมบทเข้าเป็นภิกษุอีก เราเห็นว่าเป็นคนลาสิกขามาแต่ประเทศอื่น หารู้ว่าจะต้องออกจากความเป็นภิกษุด้วยเหตุไรไม่ จะสืบสาวดูให้แน่นอนสิ้นรังเกียจของพระสงฆ์ทั้งปวงก่อน จึงจะอุปสมบทได้ ครั้นมาวิสาขมาส (เดือน ๖) กกุสนธะกับสามเณรสิทธัตถะนั้นป่วยเป็นโรควสูริกาพาธ (คือออกฝีดาษ) เราได้ให้แพทย์มารักษา สิทธัตถะสามเณรออกเม็ดยอดหนามาก เป็นไข้ตัดแพทย์รักษามิได้ อยู่ได้ ๗ วันถึงแก่ความตาย แต่กกุสนธะภิกษุนั้น แพทย์พยาบาลหายเป็นปรกติ ในระหว่างนี้ภิกษุแลคฤหัสถ์ชาวสิงหฬซึ่งมานี้ ป่วยไข้คนละเล็กละน้อย เราก็ได้รักษาพยาบาล ก็คลายหายขึ้นได้เป็นปรกติ อนึ่ง เมื่อพระภิกษุชาวสิงหฬจะประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นของมีในประเทศนี้ เราก็ได้สงเคราะห์หาให้ตามสมควรโดยทางธรรม แลความซึ่งเราทั้งหลายได้ปฏิบัติในธรรมแลอามิสทั้งปวงประการใดๆ ก็เห็นอยู่กับตาแจ้งอยู่กับใจของภิกษุชาวสิงหฬซึ่งได้มาอยู่นั้นแล้ว

ครั้นมา ณ อัสสะยุชมาส กาฬปักษ์ (ข้างแรมเดือน ๑๑) ดิถี ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราชเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพระกฐินทานในพระอารามนี้ พระสงฆ์สิงหฬได้ไปอยู่ในที่ประชุมพร้อมกันด้วย มีพระราชปฏิสันถารปราศรัยไต่ถามพระสงฆ์สิงหฬโดยสมควร พระสงฆ์สิงหฬทั้ง ๔ รูปถวายพระพรว่าจะขอพึ่งพระบารมีให้ได้กลับไปโดยสะดวก จึงทรงพระราชดำริว่า จะให้ภิกษุสิงหฬเหล่านี้โดยสารเรือแขกฝรั่งอังกฤษไป ก็จะไม่สบายเพราะเป็นคนถือทิฐิต่างกัน ถ้าได้ไปกับกำปั่นกรุงเทพฯ เห็นจะได้ความสุขสมควร อนึ่งเล่า ข่าวคราวพระพุทธศาสนาในเกาะลังกาก็นานแล้วหาได้ทรงสดับไม่ ถ้าหากว่าพระพุทธศาสนายังเป็นปรกติมีอยู่ พระสงฆ์ข้างโน้นจะมา พระสงฆ์ข้างนี้จะไป ให้เป็นสมณไมตรีรู้ข่าวดีร้ายถึงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะสมควรนักหนา จึงมีพระราชดำรัสโปรดว่า พระสงฆ์ชาวสิงหฬจะกลับไปก็ไปเถิด ให้ไปกับกำปั่นหลวงซึ่งจะไปจำหน่ายสินค้าเมืองบัมใบ อนึ่งพระสงฆ์ไทยองค์ใดที่มีจิตศรัทธา จะไปนมัสการเจดีย์แลสืบข่าวพระพุทธศาสนาบ้าง ก็ให้โดยสารเรือกำปั่นหลวงไปด้วยตามปรารถนาเถิด บัดนี้กำปั่นหลวงชื่อจินดารัตนคุลิกา (แปลว่าจินดาดวงแก้ว) จะไปจำหน่ายสินค้า ณ เมืองบัมใบ เราทั้งหลายจึงได้ไปคิดอ่านกับจมื่นไวยวรนาถอำมาตย์ พนักงานแต่งเรือกำปั่น ทำให้โอกาสแก่พระสงฆ์ซึ่งจะไปนั้นเสร็จแล้ว เราทั้งหลายได้พาพระสิงหฬเข้าถวายพระพรลาสมเด็จบรมธรรมมิกราชาธิราชในพระราชนิเวศน์ ได้ทรงถวายไทยธรรมไตรจีวรบริขาร แลปาไถยทานเสบียงอาหาร สมควรแก่คมิกภิกษุตามธรรมเนียม แลพระราชทานเสื้อผ้าเงินตรากับคฤหัสถ์สิงหฬที่เป็นศิษย์ตามมาด้วยตามราชประเพณีแล้ว ก็มีพระราชดำรัสโปรดให้ลงกำปั่นไป พวกภิกษุสิงหฬว่าแก่เราจะใคร่ได้สมณสาส์นออกไปเป็นสำคัญ เราทั้งหลายเห็นว่าเมื่อภิกษุสิงหฬเข้ามานั้นหาได้สมณสาส์นของพระสังฆนายกในลังกาเข้ามาไม่ เป็นแต่มาเองตามลำพัง ครั้นจะจัดแจงให้มีสมณสาส์นสมเด็จพระสังฆราชเป็นการใหญ่ออกไปยังไม่ควร เพราะมิได้รู้ว่าภิกษุซึ่งมานี้เป็นภิกษุชั่วหรือดีของชาวลังกาไม่ ภิกษุเหล่านี้อ้อนวอนขอแต่หนังสือสำคัญของเจ้าคณะมาเป็นพยาน เราจึงให้ลิขิตอันนี้มาโดยมิได้จำเพาะต่อผู้ใด

อนึ่ง ภิกษุชาวลังกาเมื่อมาอยู่ที่นี่ มาวิสาสะคุ้นเคยกับภิกษุในอารามนี้หลายรูป ได้ชักชวนภิกษุที่คุ้นเคยชอบอัชฌาสัย ว่าถ้ามิเชื่อข่าวคราวพระพุทธศาสนาในลังกาก็ให้ไปด้วยกัน ถ้าพระสงฆ์ไทยไปถึงประเทศนั้น ก็จะมีผู้นับถืออยู่ดอก ครั้งนี้ภิกษุ ๕ รูป คือ พระพุทธญาณภิกษุ ๑ พระอมรภิกษุ ๑ พระสุภูติภิกษุ ๑ พระคัมภีร์ภิกษุ ๑ พระพุทธวีรภิกษุ ๑ สมัครจะใคร่ออกไปนมัสการพระเจดียฐานในสิงหฬทวีป ด้วยภิกษุสิงหฬที่จะออกไปครั้งนี้ กับอุบาสก ๕ คนรับเป็นไวยาวัจกรปฏิบัติพระสงฆ์ออกไปด้วย เมื่อจะออกไปนั้น พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศบ้าง ทายกอุบาสกอุบาสิกาบ้าง ได้จัดแจงเครื่องสักการบูชาต่างๆ เป็นกัปปิยภัณฑ์บ้าง อกัปปิยภัณฑ์บ้าง มอบให้ในมือกัปปิยการก ๕ คนนำไปถวายนมัสการพระเจดียฐานในเกาะลังกา มีพระทันตธาตุเป็นต้น ก็เมื่อภิกษุแลคนกัปปิยการกไปถึง ท่านทั้งปวงชาวสิงหฬผู้ควรจะอนุเคราะห์แล้ว ขอท่านทั้งหลายช่วยอนุเคราะห์ทำนุบำรุงให้ภิกษุเหล่านี้ได้ถวายนมัสการพระทันตธาตุ เจดียฐานตามปรารถนา ถ้าที่ใดอยู่ไกลภิกษุเหล่านี้จะไมมิได้ จะฝากของไว้ให้เอาไปบูชา ก็ช่วยอนุเคราะห์รับเอาไว้นำไปให้ถึงด้วย

อนึ่ง ในกรุงเทพฯ นี้ สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช แลพระราชวงศานุวงศ์กับทั้งอำมาตย์มนตรีเศรษฐีคหบดีที่มีทรัพย์สมบัติแลมีศรัทธาปัญญา ย่อมพิจารณาเห็นว่า พระปริยัติธรรมเป็นมูลรากแก้วอย่างยิ่งแห่งพระพุทธศาสนา จึงได้มีอุตสาหะบริจาคทรัพย์สร้างพระคัมภีร์บาลีอรรถกถาฎีกาแลศรัทธาวิเศษไว้เป็นอันมาก แลการที่จะชำระหนังสือนั้น เป็นธุระของเราพวกภิกษุพหุสูตได้ช่วยชำระดูแลเป็นอุปการอยู่ เมื่อสร้างจนสิ้นฉบับในแว่นแคว้นสยามประเทศแล้ว เราทั้งหลายก็ได้ส่งภิกษุแลคฤหัสถ์ซึ่งไปชนบทจาริกในประเทศอื่น ให้ช่วยหาฉบับคัมภีร์ที่ไม่มีในประเทศนี้ ยืมมาทำฉบับจำลองไว้แล้ว ต้นฉบับก็ส่งคืนไปยังประเทศเดิม จนครั้งนี้ภิกษุสิงหฬเข่าไป ณ กรุงเทพฯ ได้เห็นคัมภีร์โยชนาฎีกาสังคหะ ฎีกาอภิธาน มงคลทีปนี ฎีกาคัณฐาภรณ บอกแก่เราว่าในสิงหฬทวีปหามีไม่ จะใคร่ได้ฉบับไป เราก็ได้สร้างคัมภีร์ทั้งปวงนั้นมอบให้ไปเป็นฉบับกลาง ตามแต่จะลอกคัดต่อไปทั่วทั้งทวีปอย่าให้ใครหวงห้าม แต่ในกรุงเทพฯ นั้น คัมภีร์ที่ขาดอยู่ส่วนหนึ่งสองส่วน ไม่บริบูรณ์ก็หลายคัมภีร์ ที่มีแต่ชื่อจดไว้แต่โบราณ ไม่มีตัวเลยนั้นก็มี ชื่อคัมภีร์เหล่านั้นได้จดหมายให้พระสงฆ์สิงหฬแลพระสงฆ์ไทยที่ออกมานี้รู้อยู่ทุกรูปแล้ว คัมภีร์ใดที่แต่งไว้เป็นมคธภาษาประหลาดกว่าฉบับที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ เราทั้งหลายก็ต้องการจะใคร่ยืมมาลอกทั้งสิ้น เมื่อภิกษุไทยเหล่านี้ออกไปถึงเที่ยวสืบหา ขอท่านทั้งปวงจงได้เห็นแก่พระพุทธศาสนาด้วยช่วยอนุเคราะห์แนะนำหาให้ ว่าคัมภีร์นั้นคัมภีร์นี้มีอยู่ที่นั่นที่นี่ อย่าหวงแหนกำบังด้วยความรังเกียจเลย เมื่อมาคัดลอกแล้ว ๑ ปี ๒ ปี จะฝากฉบับคืนไปคงตามเดิม ถ้าท่านทั้งหลายจะมิเชื่อ ก็ให้ภิกษุสิงหฬที่มีอุตสาหะกำกับฉบับเข้ามาด้วยเถิด ภิกษุชาวสิงหฬองค์ใดๆ จะใคร่สมัครเข้ามานมัสการเจดียฐาน แลชนบทจาริกเพื่อผาสุกวิหารประการใดในสยามประเทศนี้ ก็อย่าให้มีความรังเกียจใจเลย ให้เข้ามาตามสบายในเรือกำปั่นหลวงซึ่งมานี้เถิด ไม่ต้องเสียค่าเช่าระวาง เมื่อมาถึงกรุงเทพฯ แล้วก็จะได้การสงเคราะห์ด้วยธรรมแลอามิส สมควรแก่อาคันตุกะเหมือนอย่างภิกษุซึ่งมาก่อน เมื่อจะกลับไปก็คงจะไปได้โดยสะดวกอย่างนี้ แลข้อความทั้งนี้ก็ได้มีหนังสือเจ้าพนักงานมาถึงอังกฤษเจ้าเมืองที่ ๑ ที่ ๒ ให้ทราบด้วยแล้ว

เราทั้งหลายพระเถรานุเถระ แลพระภิกษุสงฆ์ในวัดบวรนิเวศแลอารามซึ่งเป็นวัดขึ้นทั้งปวง ได้ประพฤติพระพุทธศาสนาตามพระธรรมวินัย เล่าเรียนคันถธุระ วิปัสสนาธุระ บำเพ็ญอยู่ต่างๆ อย่างเช่นภิกษุสิงหฬซึ่งเข้ามาได้จดหมายออกไปนั้น ได้บุญกุศลประการใดๆ ตามสติกำลัง ขอแผ่ส่วนกุศลไปถึงพระเถรานุเถระ อุบาสกอุบาสิกาหมู่คฤหัสถ์ แลมนุษย์เทพยดาในสิงหฬทวีป ให้อนุโมทนาจงเจริญสุขสวัสดิ์ สำเร็จความปรารถนาอันปราศจากโทษในชั่วนี้ชั่วหน้าจงทุกประการเถิด ความที่ได้เกิดประสบพบพระพุทธศาสนาอันนี้เป็นบุญลาภอันยิ่งหาสิ่งเสมอมิได้ ขอท่านทั้งปวงจงประกอบไปด้วยความไม่ประมาทในกุศลธรรมทุกเมื่อเถิด ลิขิตมา ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๒๐๔ (พุทธศักราช ๒๓๘๕)


สมณทูตออกไปครั้งนี้ได้กลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปีเถาะเบญจศก จ.ศ. ๑๒๐๕ พุทธศักราช ๒๓๘๖ สมณทูตที่กลับมาคราวนี้ยังมีสมณสันเทศกลับมาด้วยหลายฉบับ ต้นหนังสือเป็นภาษามคธ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ทรงแปลเป็นภาษาไทยพร้อมด้วยพระอมรโมฬี (คือสมเด็จพระสังฆราช (สา)) และพระศรีวิสุทธิวงศ์ (คือพระยาศรีสุนทรโวหาร (ฟัก สาลักษณ์)) ขอแสดงตัวอย่างฉบับที่สำคัญๆ ต่อพงศาวดารเพียง ๒ ฉบับ ดังนี้


สมณสันเทศ ของสังฆนายก วัดบุบผารามแลอุโบสถาราม เมืองสิงขัณฑนคร

พระมหากษัตริย์ผู้ประเสริฐกว่ากษัตริย์ทั้งหลาย คือ องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งปวงนี้ พระองค์เป็นนายกผู้หนึ่งผู้เดียวแห่งสัตว์โลกทั้งปวง พระองค์เสด็จทรงนั่ง ณ บัลลังก์ภายใต้ไม้พระมหาโพธิ แล้วได้ถึงพระโพธิญาณอันอุดม พระองค์ทรงพิจารณาแล้วรู้ว่า นานไปข้างหน้า ศาสนาของพระองค์จะมาตั้งอยู่ในลังกาทวีปนี้ นานประมาณ ๕๐๐๐ ปี พระองค์ทรงทราบดังนี้แล้ว จึงได้เสด็จมายังเกาะลังกานี้ในเดือนที่ ๙ แต่กาลเมื่อพระองค์ได้ตรัสมา ได้เสด็จทรงนั่ง ณ ที่ตั้งมหิยังคณเจดีย์ ทรงทรมานยักษ์แลเสนายักษ์ให้พ่ายแพ้หนีไปเสียแล้ว จึงทำประเทศอันนี้ให้ควรเป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนาของพระองค์ ครั้นภายหลังพระองค์ทรงพระมหากรุณาเสด็จมายังสิงหฬทวีปนี้อีก เสด็จทรงนั่งเข้าสมาบัติในที่กัลยาณีเจดีย์ แลทีฆวาปีเจดีย์ แลมุติงคณเจดีย์แล้ว ๆได้เหยียบพระบาทไปเหนือยอดเขาสุมนกูฏ แลได้เสด็จประทับบรรทมกลางวันในถ้ำทิวาคูหา แล้วได้เสด็จมานั่ง ณ ที่เจดีย์ในดิสสมหาวิหาร แล้วมายังที่เมืองอนุราธเสด็จทรงนั่งในที่พระมหาโพธิ์แลที่มริจิวัฏฏิยเจดีย์ แลที่เหมมาฬิกเจดีย์แลที่ถูปารามเจดีย์แลที่เชตะวันเจดีย์แลที่เสลเจดีย์แลที่ขีรสถูป แล้วเสด็จไปนั่งที่เจดีย์นาคทวีป สิริเป็นที่ประเทศพระองค์ได้ทรงบริโภคประทับนั่ง ๑๖ แห่งด้วยกัน ยังเป็นเจดียฐานปรากฏอยู่จนเท่าทุกวันนี้ พระองค์เสด็จนั่งสักครู่หนึ่งในที่แห่งหนึ่ง ทรงเข้าสมาบัติต่างๆ แล้วก็เสด็จกลับไปชมพูทวีป พระองค์ทรงทรมานอยู่กระทำพุทธกิจทั้งปวงให้สำเร็จแล้ว พระองค์ทรงบรรทมเหนือพระแท่นที่นิพพานในระหว่างไม้รังทั้งคู่อันอยู่ในป่ารังใกล้เมืองกุสินาราย เป็นของกษัตริย์มลราชทั้งหลาย เวลานั้นพระองค์ได้ตรัสเรียกท้าวสุชัมบดีเทวราชตรัสฝากพระศาสนาของพระองค์ กับทั้งเกาะลังกาอันนี้ด้วย ว่าท่านจงรักษาไว้ให้ดีทุกเมื่อเถิด ท้าวเทวราชได้รับคำของพระองค์นั้นแล้ว จึงได้มอบกิจอันนี้ให้แก่เทวบุตรผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่ออุปะละวัณณะเทวบุตร ช่วยระบธุระรักษาสืบไปด้วยอานุภาพของตนนั้น พระราชบุตรเป็นเชื้อกษัตริย์ชื่อวิชัยจึงมาถึงเกาะลังกานี้ ได้ฆ่ายักษ์เสียเป็นอันมาก ได้เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต้นในเกาะลังกาอันนี้ ได้ทำการสงเคราะห์แก่คน สร้างเมืองขึ้นในเกาะลังกาอันนี้แล้วเสวยราชสมบัติ เมืองนั้นชื่อเมืองอนุราธ สร้างขึ้นก่อนเมืองทั้งปวงในเกาะลังกา สนุกนักหนาดังเมืองอาฬกมัณฑาในชั้นจตุมหาราช

ครั้นสืบๆ มากษัตริย์องค์หนึ่งเป็นบุจนพระเจ้ามุตตะสิวะ ชื่อว่าเทวานัมปิยดิส เมื่อบิดาล่วงแล้วได้อภิเษกในลังกา กษัตริย์องค์นี้เธอมีบุญมาก ในกาลพระเจ้าเทวนัมปิยดิสนั้น สาวกพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งชื่อมหามหินทเถระ ท่านออกจากชมพูทวีปมายังเกาะลังกานี้ ได้มาส่องสว่างแก่ฝูงคนๆ ได้เห็นคุณพระพุทธศาสนา ครั้นสืบมาในกาลกษัตริย์องค์นั้น กิ่งไม้มหาโพธิ์เป็นที่ได้ตรัสแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กษัตริย์อโศกมหาราชได้ตัดส่งมาประดิษฐานไว้ในเกาะลังกาทวีปนี้ ครั้นกาลสืบมานานโดยลำดับกษัตริย์ต่อมาหลายชั่ว กษัตริย์องค์หนึ่งชื่อกิตติศิริเมฆได้เสวยราชสมบัติในเกาะลังกา ครั้งนั้นพระทันตธาตุมาแต่เมืองกลิงคราฐ มาประดิษฐานไว้ในเกาะลังกานี้ด้วย อันหนึ่งเล่าพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อวสภเถระ เป็นศิษย์พระสารีบุตร ได้เชิญเอาพระศิวาธาตุมายังเกาะลังกานี้ เอาบรรจุในพระสถูปแก้วอินทนิลที่เทวดาทำถวายในที่มหิยังคณะเจดีย์ แล้วกลบเสียด้วยศิลาแลปูน เพื่อจะมิให้เป็นอันตรายทำให้เป็นสถูปสูงขึ้น ภายหลังมากษัตริย์องค์หนึ่งชื่อกากวัณณดิส ได้พระนลาตธาตุมาก่อพระเจดีย์ไว้ที่ริมสระชื่อเสรุ กษัตริย์อีกองค์หนึ่งชื่อทุฏฐคามินีอภัย ได้พระธาตุมาประมาณโทณะหนึ่ง จึงได้สร้างเหมมาฬิกเจดีย์ อนึ่ง พระรากขวัญเบื้องขาวกับพระธาตุอื่นๆ เป็นอันมาก กษัตริย์เทวนัมปิยดิสได้เชิญมาบรรจุสร้างมหาเจดีย์ชื่อถูปารามดังนี้ แลที่พระเจดียฐานในเกาะลังกานี้ มีขึ้นหลายตำบลเป็นที่อันประเสริฐใหญ่ๆ กษัตริย์ในลังกาแต่ก่อนๆ นับถือรักใคร่ทำนุบำรุงพระสัมมาสัมพุทธศาสนานี้ด้วยดีนักหนา อุตส่าห์รักษาดังหนึ่งพระชนมชีพของพระองค์

ครั้นกาลสืบมาภายหลัง กษัตริย์ในเกาะลังกานี้เองที่ประมาท ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม ปฏิบัติมิดีทำให้พระพุทธศาสนาทรุดโทรมเสื่อเสียไปจนถึงเชื้อสายพระสงฆ์สิ้นเสีย จะอุปสมบทกันต่อๆ ไปมิได้ มาถึงกษัตริย์ทรงพระนามชื่อว่ากิตติศิริราชสีหะได้เสวยราชสมบัติ ชาวเมืองทั้งปวงให้พระองค์ทรงราชอุตสาหะ ให้ทูตไปรับเอาพระภิกษุสงฆ์มาจากสยามประเทศ เป็นอาณาเขตพระเจ้าสาเมนทราธิบดี ครั้งนั้นพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก มีพระอุบาลีเถระเป็นประธาน มาจากสยามประเทศถึงเกาะลังกาอันนี้แล้ว จึงให้อุปสมบทแก่กุลบุตร มีพระสังฆราชองค์เดิมเป็นต้น พระอุบาลีมหาเถระเจ้าองค์นั้น ท่านได้ให้พวกเราชาวลังกาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ให้ได้ทำศาสนกิจทั้งปวง พร้อมมูลทุกอย่างตามคติของท่าน เบื้องหน้าแต่นั้นมาจนเท่าทุกวันนี้ เราทั้งหลาย พระเถรานุเถระ เป็นศิษย์ของท่านนั้นได้บำเพ็ญข้อปฏิบัติสืบๆ มา ตั้งอยู่ในเกาะสิงหฬสมัครสโมสรพร้อมเพรียงกันดีอยู่

เดี๋ยวนี้เราทั้งหลายได้พึ่งความเมตตากรุณาแห่งท่านพระยาอังกฤษผู้เป็นอิสระในลังกาทวีปนี้ ท่านช่วยทำนุบำรุงเกื้อหนุนมิได้ลำบากด้วยจตุปัจจัย ได้อยู่ตามสุขสบายยิ่งนัก อันท่านผู้รักษาแผ่นดินคนนี้ท่านเกิดในเกาะอิงเกลนดา เจ้านายของท่านให้มาเป็นใหญ่อยู่ในที่นี้ ท่านเป็นคนดีนัก ย่อมปฏิบัติให้เจริญแก่โลกแลพระศาสนาทุกเมื่อ อนึ่ง ขุนนางคนใช้ทั้งปวงนั้น ก็เฉลียวฉลาดในราชกำหนดกฎหมาย ขนบธรรมเนียมมั่นคงนักหนา ย่อมปฏิบัติบำรุงพระศาสนาแลโลกด้วยดีโดยยุติธรรมทีเดียว บัดนี้คนชาวลังกาทั้งปวงที่ได้เคยนับถือพระพุทธศาสนามานั้น ก็ได้มีความศรัทธาเลื่อมใสปฏิบัติยินดีในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญบุญต่างๆ อยู่ทุกเมื่อดอก ในลังกาทวีปเดี๋ยวนี้พระพุทธศาสนายังคงเป็นไปดีโดยปกติทุกแห่งทุกตำบล ไม่เสื่อมเศร้าหมอง ฝูงชนในสยามประเทศทั้งปวงจงรู้ดังเราบอกไปนี้เถิด ถ้าเชื่อแล้วจงวางใจอย่างคลางแคลงเลย

แต่ปรินิพพานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้ามา ๒๓๘๕ ปี ถึงฤดูร้อนเดือนผคุณมาส วันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ เวลาประมาณสัก ๑๘ ชั่วโมง คือเวลาย่ำค่ำแล้ว พระสงฆ์สยาม ๕ องค์ พระพุทธญาณองค์ ๑ พระอมรองค์ ๑ พระสุภูติอันเป็นบ่อเกิดแห่งคุณองค์ ๑ พระคัมภีระองค์ ๑ พระพุทธวีระองค์ ๑ มาแต่สยามประเทศกับคฤหัสถ์ไวยาวัจกร ๕ คน มาถึงเมืองนี้อันเป็นเมืองศิริวัฒนะ คือสิงขัณฑเสละอันนี้ ประดับปราสาทอันแวดล้อมด้วยกำแพงอันหนาแลป้อมแลเชิงเทินแลศาลาเป็นที่มาชื่นชมยินดี มีถ้องแถวตึกกว้านร้านเรือนประดับด้วยวิหารใหญ่ทั้งสอง อันงามด้วยเครื่องประดับอาราม คือเรือนปฏิมาเจดีย์แลกุฎีพระสงฆ์ สนุกสนานดังชั้นจาตุมหาราชิกา มีหมู่ผู้คนไปมามั่งคั่งเกลื่อนกล่นด้วยสมบัติมีประการต่างๆ คนปฏิบัติพระพุทธศาสนานับถือพระรัตนตรัยว่าเป็นของตัว มีศรัทธาเลื่อมใสอยู่ในเมืองนั้นมากมายหนักหนา

ครั้นได้รู้ว่าภิกษุชาวสยามมาถึงที่ใกล้แห่งเมืองอันนี้แล้ว ก็ชวนกันชื่นชมยินดีรีบเร็วพลัน ปูลาดถนนหนทางเดินด้วยผืนผ้า แล้วป่าวร้องคนประโคมให้ตีเครื่องพิณพาทย์พร้อมกัน ทั้งภิกษุแลทายกชาวเมืองเป็นอันมากออกมาต้อนรับภิกษุ ๕ องค์ แวดล้อมด้วยหมู่มหาชนแห่แห่นนำเข้าไปในเมืองโดยท้องถนนทางใหญ่ ได้ให้ไปอยู่บุบผารามวิหารที่เป็นของพระเจ้ากิตติศิริราชสีหะทรงสร้างไว้ ได้เป็นที่อยู่แห่งพระอุบาลีมหาเถระมาแต่ก่อน ในบุบผารามวิหารนั้น พระมหาเถระชื่อสุมังคละเป็นพระมหาสังฆนายกทรงพระคุณดังต้นกัลปพฤกษ์ให้สำเร็จสมบัติทั้งปวงแก่ชาวสิงหฬ พระมหาเถระอีกองค์หนึ่งชื่อศิรินิวาส มีจิตอันสงบสงัดอยู่วัดโปราณุโปสถาราม เป็นพระอนุสังฆนายก ยังพระมหาเถระอีกองค์หนึ่งชื่อวิปัสสี ย่อมยินดีในประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง อยู่วัดบุบผาราม เป็นพระอนุนายกรองลงมา ภิกษุสยามประเทศ ๕ องค์นั้น ได้พบปะพระมหาสังฆนายกสุมังคละมหาเถระองค์นั้นแล้ว ท่านจัดแจงให้อยู่ที่นั้นสบายดี ครั้นแล้วพระสงฆ?ทั้งปวง คือมหานายกที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในวัดบุบผารามแลอุโบสถาราม แลในไหยคีรีวิหาร ทั้ง ๓ แห่ง ก็ได้พบปะพูดจากันด้วยภิกษุสยาม ๕ องค์นี้ คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี ได้ปฏิบัติภิกษุ ๕ องค์นี้ตามกำลัง พวกเราพระเถรานุเถระภิกษุหนุ่มแก่ปานกลางทั้งปวง ครั้งนี้ได้เห็นภิกษุสยามมีข้อปฏิบัติงามเป็นที่เลื่อมใส ก็มีความชื่นชมยินดียิ่งนักทุกองค์ด้วยกัน

อนึ่ง เราทั้งปวงได้รับหนังสือข่าวสาส์นที่ท่านให้นำไปแต่สยามประเทศนั้น มาชุมนุมกันอ่านฟังแล้ว ก็ได้ชื่นชมยินดีรับคำสั่งของท่านทุกประการ อนึ่ง ส่วนบุญที่ท่านพระเถรานุเถระในสยามประเทศอุทิศให้ไปในหนังสือนั้น พวกเราทั้งปวงได้ฟังก็มีใจเต็มไปด้วยปีติปราโมทย์อนุโมทนาแล้ว เราพระเถรานุเถระทั้งปวงปรึกษาพร้อมกัน นำเอาความทั้งปวงเข้าไปแจ้งแก่ท่านพระยาอังกฤษผู้รักษาแผ่นดินให้ทราบทุกประการแล้ว ท่านก็ให้รับรองให้สงเคราะห์แก่พระสงฆ์สยาม ๕ รูปนั้นตามน้ำใจไม่ขัดขวาง ในเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนะนี้ อลงกตงามดีดังมณเฑียรทิพแห่งเทพยดา มีที่สำคัญอันหนึ่งคือพระทันตธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประดิษฐานไว้ในห้องสุวรรณปทุม อันตั้งอยู่ในผอบประดับแก้ว ๗ ชั้น ตั้งอยู่บนพุทธอาสน์อันประเสริฐกุก่องด้วยแก้วต่างๆ อันนายช่างนิรมิตด้วยดี ด้วยสุวรรณมณีมุกดามีราคาจะนับมิได้ อยู่ในภายในห้องอันประเสริฐแห่งปราสาท ๒ ยอด อันพระทันตธาตุองค์นี้เดี๋ยวนี้ชาวสิงหฬนับถือนัก ดังอง๕พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันทรงพระชนม์อยู่กับเราเป็นนิตย์เหมือนกัน เราทั้งปวงกับท่านพระยาอังกฤษเจ้าแผ่นดินพร้อมใจกัน ยอมให้ภิกษุสยาม ๕ องค์กับทั้งคฤหัสถ์ไวยาวัจกร ๕ คน ได้เห็นได้ชมถนัดแลให้นมัสการตามสบาย อนึ่ง เครื่องบูชาทั้งปวงคือ ดอกไม้ทอง ดอกไม้เงิน และประทีปธูปเทียนสิ่งของต่างๆ ที่ส่งออกมาแต่สยามประเทศ เพื่อจะให้บูชาพระทันตธาตุนั้น ก็แต่ล้วนงามดีมีราคาจะนับมิได้ เมื่อยังมิได้บูชาตราบใด ท่านพระยาอังกฤษผู้รักษาแผ่นดิน ให้ช่วยกันรักษาไว้ให้ดีมิให้มีอันตราย ครั้นถึงวันเปิดพระทันตธาตุออก ก็ให้นำเอาของทั้งปวงนั้นไปให้แก่ภิกษุสยามให้บูชา ณ เรือนพระทันตธาตุเสร็จแล้ว ในวันอื่นๆ ภิกษุแลคฤหัสถ์ที่มาแต่สยามประเทศเหล่านั้น ก็ได้ไปนมัสการบูชาหลายเวลา

ภิกษุชาวสยามประเทศไปอยู่ในเมืองสิงขัณฑะนี้ไม่ช้า อยู่ได้ ๑๕ วันเท่านั้น จะใคร่กลับ พวกเราอ้อนวอนให้อยู่ช้าๆ ก็หายอมอยู่ไม่ พวกเราพระเถรานุเถระทั้งปวงได้เอาเนื้อความนั้นไปแจ้งแก่ท่านพระยาอังกฤษเจ้าเมืองให้ทราบ ท่านพระยาอังกฤษก็ยอมตามใจพระภิกษุสยามให้มาตามปรารถนา พวกเราทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตที่มีศรัทธา ก็ได้จัดแจงไทยธรรมบูชาปฏิบัติตามกำลัง แล้วจัดแจงเครื่องธรรมบรรณาการ คือ ผอบพระบรมธาตุ แลพระพุทธรูปถวายเข้ามาในพระเจ้าสาเมนทราธิบดี แลพระมหาเถระผู้ใหญ่ ๒ พระองค์ตามกำหนดในของที่ส่งเข้ามาแล้วนั้น แลเมื่อจัดแจงของทั้งนี้ก็ได้แจ้งแก่ท่านพระยาอังกฤษให้ทราบด้วยแล้ว จึงมอบให้ในมือภิกษุสยามนำเข้ามา แลเครื่องธรรมบรรณาการเหล่านี้เป็นแต่พระสังฆนายกพระอนุนายก ๓ อง๕ข้างบุบผารามฝ่ายเดียวได้ส่งมา แล้วพวกเราได้จัดแจงกันส่งเสียลงมาตามหนทางทุกตำบล ให้ปฏิบัติถวายอาหารทานแลที่พักแรมในที่นั้นๆ ตามมีตามได้ตลอดถึงท่า

ข้อหนึ่งซึ่งมีมาในลิขิตของพระเถรานุเถระเจ้าทั้งหลาย ว่าจะต้องประสงค์หนังสือคัมภีร์ฉบับแปลกประหลาดกว่าที่มีในสยามประเทศนั้น พวกเราทั้งปวงได้ทราบสิ้นแล้ว แต่ว่าครั้งนี้ภิกษุสยามด่วนไปเร็วนัก การเป็นโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวหาหนังสือนั้นไม่มี เพราะว่าบัดนี้หนังสือพระคัมภีร์เป็นอันมาก หาได้อยู่ในเมืองสิงขัณฑะไม่ ท่านผู้อื่นท่านเอารักษาไว้ในชนบทบ้านนอกต่างๆ หลายแห่งหลายตำบลแยกย้ายกันอยู่ จะต้องไปประมวลเอามาให้พร้อมมูลแล้ว จึงจะดูชื่อตามบัญชีที่จดหมายไปแต่สยามประเทศนั้นสอบสวนดู ถ้าเห็นคัมภีร์แปลกประหลาดจึงจะค่อยจัดแจงส่งเข้ามาให้ได้ต่อครั้งหลัง แลการจะจัดแจงอย่างนี้ก็เป็นธรรมอยู่ดอก พวกเราทั้งปวงปรารถนาอยู่จะรับเอาเป็นธุระอย่างวิตกเลย

ครั้งนี้โคผู้ผู้สำรวม คือภิกษุสิงหฬองค์หนึ่งชื่อสิทธัตถะ มีความรักใคร่ชอบใจ จะใคร่ไปมาด้วยภิกษุสยามให้ถึงสยามประเทศให้จงได้ เมื่อภิกษุองค์นั้นไปถึงประเทศโน้นแล้ว ขอท่านพระเถรานุเถระทั้งปวงอันอยู่ในสยามประเทศจงได้เป็นที่พึ่งแก่เธอนั้นด้วย ทุกอย่างทุกประการเถิด ด้วยว่าในประเทศโน้นคนเชื้อชาติเดียวกันไม่มี เว้นไว้แต่สพรหมจารีใครจะมาเป็นที่พึ่งเล่า แต่ทว่าเมื่อไรเธอจะใคร่กลับไป การที่จะส่งคืนกลับไปนั้นก็คงเป็นธุระของท่านทั้งปวงด้วย ขอให้เธอได้ไปแลมาได้โดยสะดวกเถิด ฯ

อนึ่ง บุญทั้งปวงพวกเราภิกษุผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งหลายทั้งปวง ได้กระทำแลสะสมด้วยการที่ปราศจากอามิส มีปฏิบัติวินัยแลเล่าเรียนเป็นต้นก็ดี ด้วยการประกอบด้วยอามิสมีให้ทานบูชาเป็นต้นก็ดี บุญทั้งปวงนี้เราได้ทำเนืองๆ เป็นนิตย์ไป เราขออุทิศส่วนกุศลแต่บุญทั้งปวงนั้นให้แก่ท่านทั้งหลายชาวประเทศไกล ขอเชิญท่านทั้งปวงจงปราศจากทุกข์โรคพิบัติอันตรายทุกเมื่อ นานไปข้างหน้าพระโลกนาถชื่อเมตไตรยบังเกิดในโลกนี้แล้ว ขอท่านทั้งปวงจงได้พบได้เห็นแล้ว แลได้ฟังธรรมมีศรัทธาเลื่อมใสออกบรรพชาในพระศาสนานั้นแล้ว แลปฏิบัติจนบรรลุถึงพระอรหันต์พ้นทุกข์ทั้งปวงด้วยกันเถิด

อนึ่ง สมเด็จพระบรมธรรมิกราชาธิราช พระเจ้าสาเมนทราธิบดีผู้ทรงอุปการเกื้อหนุนแก่พระบวรพุทธศาสนา จึงมีพระเดชานุภาพราชสิริอิสริยยศเหมือนพระเจ้าธรรมาโศกราช จงทรงพระชนม์ยืนอยู่นานด้วยดี อนึ่ง ขอชัยมงคลจงบังเกิดมีแก่หมู่อำมาตย์มุขมนตรีแลประชาชนชาวสยามประเทศทั้งปวงเถิด

หนังสือสันเทศฉบับนี้ เราทั้งหลายคือพระสังฆนายกอนุนายก ๓ องค์กับพระสงฆ์ทั้งปวง อันอยู่ในบุบผารามแลอุโบสถาราม ๒ อารามด้วยกัน พร้อมกันจัดแจงแต่งฝากมายังสยามประเทศ ท่านทั้งหลายจงรู้เนื้อความตามในหนังสือนี้เถิด ถ้าว่าเชื่อแล้วจงยินดีให้สำเร็จการทั้งปวงด้วย

หนังสือสันเทศฉบับนี้ มา ณ วันพฤหัสบดี แรม ๑๕ ค่ำ เดือนผคุณมาสต้นฤดูคิมหันต์ พระพุทธศาสนกาล ๒๓๘๕ พรรษา ภิกษุสิงหฬได้ฝากมากับภิกษุสยามแล้ว


สมณทูตที่ส่งออกไปคราวนี้มีวัตรปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ประกอบกับคำเล่าลือในข้อปฏิบัติของพระสงฆ์ในคณะธรรมยุติและวัดบวรนิเวศน์ฯ ทำให้ภิกษุสงฆ์ในเมืองโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาเกิดความนิยมเลื่อมใสศรัทธา ได้มีหนังสือสมณสันเทศเข้ามาขอสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณส่งพระเถระออกไปเป็นพระอุปัชฌาย์จัดการบรรพชาอุปสมบทตั้งวงศ์ธรรมยุติกา ดังเช่นสมณสันเทศต่อไปนี้


สมณสันเทศของพระสงฆ์ชาวเมืองโคลัมโบ ขอให้ตั้งวงศ์ธรรมยุติกา

หนังสือข้าพเจ้าภิกษุสงฆ์ชาวกุลุมพูในเกาะลังกาประชุมกันมากกว่า ๒๐ องค์ มีพระโสภิตะศิริธรรมเถระอันเป็นอธิบดีในบริเวณทั้ง ๕ มีวัดกิลุตุเป็นต้น ขอเขียนถวายฝากข่าวคราวมายังท่านผู้มีอายุ พระวชิรญาณเถระอันเป็นอธิบดีแก่นิกายอันน้อยอยู่ในสยามประเทศที่อยู่แห่งพระเจ้าสาเมนทาธิบดี อันบรรทุกเต็มด้วยถาระ คือคุณมีศรัทธาแลศีลแลธุดงค์แลความมักน้อยสันโดษเป็นต้น อันประเสริฐยิ่งวิเศษแลปราศจากมลทินแลไพบูลย์ ให้ทราบ

ด้วยกาลบัดนี้ในสิงหฬทวีปมีสมณนิกายเป็น ๒ หมู่มานานแล้ว คือว่าก่อนแต่นี้ไป กษัตริย์สิงหฬผู้บำรุงพระศาสนา ได้ไปนิมนต์เอาพระสงฆ์เป็นวงศ์สยามภิกษุ มีพระอุบาลีมหาเถระเป็นประธานมาแต่สยามประเทศแล้ว จึงได้มาอุปสมบทแลสั่งสอนศาสนประเวณีแก่คฤหัสถ์บรรพชิตชาวสิงหฬทั้งปวงสืบๆ มาจนถึงทุกวันนี้ วงศ์อันนั้นได้เรียกว่าอุบาลีวงศ์เป็นนิกายอันหนึ่ง ครั้นมาภายหลังเล่า มีคนพวกหนึ่งเป็นชาติเปสะการะสกุลต่ำช้า ไม่ควรจะบวชเป็นภิกษุให้คนมีชาติมีตระกูลกราบไหว้บูชา หลายคนด้วยกัน เป็นอุบาสกบ้าง เป็นสามเณรแก่บ้าง ด้วยอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ไพล่พลัดไปได้ถึงเมืองอัมมะระบุระอันเป็นราชธานีของพม่า แล้วถือเพศแห่งภิกษุคืนมายังเกาะสิงหฬทวีปนี้ แล้วปฏิญาณตัวว่าเป็นภิกษุ มีผู้คนเข้านับถือด้วยเป็นอันมาก เป็นนิกายอันหนึ่งชื่อมะรัมมะวงศ์ แลนิกายทั้งสองนี้ไม่ชอบพอกันเข้าเลย ย่อมเป็นข้าศึกแก่กันแลกันอยู่เป็นนิจ ไม่ได้ร่วมสามัคคีในสังฆกรรมเป็นอันเดียวกันแต่เดิมมาคุมเท่าบัดนี้ แลหมู่นิกายทั้งสองนั้นมีมานะต่อกัน ถือเราถือเขาไม่ใคร่จะอ่อนน้อมตามบัญญัติที่มีในบาลีแลอรรถกถา

ฝ่ายพวกข้าพเจ้าทั้งหลายถึงบวชในนิกายอุบาลีวงศ์แล้ว พิจารณาดูเป็นกลางๆ ไม่เข้าข้างใคร ก็เห็นว่านิกายทั้งสองนี้ปฏิบัติผิดๆ ถูกๆ อยู่ด้วยกัน ข้าโน้นผิดอย่างนั้น ข้างนี้ผิดอย่างนี้ จะหาดีกว่ากันไปไม่ เรื่องที่ผิดอยู่นั้นก็ดูเป็นน่าสงสัยรำคาญแก่ผู้ปฏิบัติจะให้เห็นบุญจริงๆ ครั้นจะทำไปตามเห็นในหนังสือ เพื่อนฝูงพวกเดียวกันที่ไม่ปรารถนาต้องร่วมกันก็กล่าวติเตียนนินทาเพราะไม่มีที่พึ่งพาคติเป็นที่อ้าง ทั้งพวกอุบาลีวงศ์ที่ได้เป็นใหญ่ในเมืองสิงขัณฑะ ให้บรรพชาอุปสมบททั่วทุกแห่งทุกตำบลในวงศ์เดียวกันกาลบัดนี้เล่า ก็ปฏิบัติพานจะจืดจางหาเหมือนท่านแต่ก่อนไม่ มีเหตุต่างๆ น่ารำคาญน่าสงสัยไม่สู้สบาย

บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลาย ได้พบพระสงฆ์ลังกาที่ท่านเข้าไปอยู่ในสยามประเทศถึง ๒ ปี ข่าวคราวอย่างไรของพระสงฆ์แลคฤหัสถ์ที่ปฏิบัติพระพุทธศาสนาในเมืองโน้น ท่านเล่าให้ข้าพเจ้าทั้งปวงฟังได้ทราบทุกอย่างทุกประการแล้ว แลข้าพเจ้าทั้งปวงได้ได้ฟังข้อกิจการสัมมาปฏิบัติต่างๆ ในพวกพ้องของท่านที่อยู่ในวัด ๒ – ๓ แห่งมีวัดบวรนิเวศเป็นต้น ข้าพเจ้าทั้งปวงชอบใจนัก ทั้งได้เห็นได้พบภิกษุ ๕ องค์ที่ออกมาครั้งนี้ด้วย ได้พูดจาสังสนทนากันแล้ว พวกข้าพเจ้า ๒๐ เศษ จึงได้พร้อมกันปรึกษาว่า แม้ไฉนหนอเราทั้งหลายจะได้ปฏิบัติในจารีตศีลแลการวินัยกิจทั้งปวงให้เหมือนพระสงฆ์พวกนี้จงทุกประการ ถ้าได้ดังนั้นแล้วจะดีนัก ข้าพเจ้าทั้งปวงเกิดจิตศรัทธาเลื่อมใสยิ่งนักทีเดียว เป็นความจริงด้วยความบาลีอรรถกถาอย่างไรพวกท่านก็ว่าอย่างนั้น มิได้ดื้อดึงถือคติอาจารย์มากกว่าอรรถาธิบายในพระคัมภีร์

เหตุดังนั้นข้าพเจ้าทั้งหลายอ้อนวอนมาถึงท่านผู้มีอายุ พระวชิรญาณเถระ จงได้มีความเอ็นดูกรุณาแก่ชาวสิงหฬ ที่ถือพระพุทธศาสนาโดยใจซื่อสัตย์สุจริตเหมือนอย่างพวกข้าพเจ้า ๒๐ เศษนี้เถิด ขอโปรดได้จัดพระเถระองค์หนึ่งซึ่งฉลาดในพระธรรมวินัย อาจเป็นอาจารย์อุปัชฌาย์ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรต่อไปให้เป็นประธาน มีภิกษุสัก ๑๐ องค์เศษเป็นบริวารออกมายังลังกานี้ ให้มาตั้งปฏิบัติประเวณีอย่างพวกท่านปฏิบัติ อยู่ในที่นี้อีกสักเหล่าหนึ่งก็จะดีนักหนา จะดีกว่านิกายทั้งสอง คือ อุบาลีวงศ์แลมะรัมมะวงศ์ ที่มีอยู่เดี๋ยวนี้อีกเป็นแท้ จะมีผู้นับถือตามด้วยมากอยู่ ครั้งนี้ผู้เห็นผู้รู้ในสิงหฬที่ได้ฟังข่าวคราวที่ภิกษุเข้าไปยังสยามประเทศเล่าให้ฟังแล้ว ก็พากันซ้องสาธุการสรรเสริญแต่พวกหมู่คณะของท่านมีมากนัก ด้วยการรู้การเรียนด้วยข้อปฏิบัติศาสนกิจทั้งปวง ข้าพเจ้าทั้งหลายขอเชิญท่านช่วยคิดอ่านตามประทีปคือสติปัญญาของท่าน ให้มาส่องสว่างให้คนได้เห็นดวงแก้วทั้งหลายอันบรรทุกอยู่ในภาระ คือพระศาสนาแห่งพระทศพลในเกาะลังกานี้เถิด หนังสือข่าวคราวทั้งปวงอันนี้ พระโสภิตะศิริธรรมเถระ ขอถวายพระบรมธาตุแก่พระวชิรญาณเถระ ๖ พระองค์ใส่เจดีย์งาฝากมาด้วยแล้ว


สมณทูตซึ่งออกไปเมื่อครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ยังไม่ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกกลับเข้า เนื่องจากเหตุที่แจ้งไว้ในสมณสันเทศ ของสังฆนายก วัดบุบผารามแลอุโบสถาราม เมืองสิงขัณฑนคร นั้นแล้ว ต่อมาในปีพ.ศ. ๒๓๘๗ พระปลัดสังข์ วัดบวรนิเวศฯ (คือพระสุภูติ)ออกไปหาพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง ได้คัมภีร์ที่ยังขาดฉบับจากเมืองลังกามาเพิ่มเติมหลายคัมภีร์ พระไตรปิฎกในประเทศนี้จึงบริบูรณ์แต่ในรัชกาลนั้นเป็นต้นมา และตั้งแต่นั้นต่อมาก็มีชาวลังกาทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ไปมาติดต่อกับวัดบวรนิเวศฯ มิได้ขาด

มีคำกล่าวแต่โบราณมาว่า ในรัชกาลที่ ๑ แม้ใครมีฝีมือรบพุ่งการศึกก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๒ แม้ใครมีฝีปากในโคลงกลอนกาพย์ฉันท์ก็เป็นคนโปรด ในรัชกาลที่ ๓ แม้ใครมีจิตศรัทธาการบุญการกุศลสร้างวัดวาอารามก็เป็นคนโปรด หากคำกล่าวนี้เป็นจริงดังว่า ลองพิจารณาในเรื่องสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงฟื้นพระพุทธศาสนาและการบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างไม่เคยปรากฏมาแต่ก่อนเช่นนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชจะทรงรักใคร่ทรงเมตตากรุณาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้สักปานใด



เจ้าสัว (พระบาทสมเด็จ ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)


....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 08 เมษายน 2551   
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:49:37 น.   
Counter : 2571 Pageviews.  


พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๓ สมเด็จพระมหาธรรมราชา และธรรมยุติ

กระทู้ก่อนหน้านี้แสดงถึงพระบารมีในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไปแล้ว ในกระทู้นี้จะวกเข้าพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่งนะครับ

ตามคติโบราณซึ่งมาจากชมพูทวีปนั้น ในการถวายพระเกียรติยศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย คือ "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ" ซึ่งถวายแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทางฝ่ายอาณาจักรอย่างหนึ่ง และ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทางฝ่ายพุทธจักรอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่นพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นทั้งพระมหาจักรพรรดิและพระมหาธรรมราชา พระองค์ได้ทรงรับพระนามพิเศษว่า "ปิยะทัสสี" ซึ่งแปลว่าอันเป็นที่รักของเทพยดา และในสมัยเดียวกันนั้น พระเจ้าดิส ครองอนุราชบุรีในลังกาทวีป ผู้ทรงรับพระพุทธศาสนาประดิษฐานในประเทศลังกาเป็นปฐม ก็ได้รับพระนามพิเศษว่า "เทวานัมปิยะดิส" ซึ่งมาความหมายอย่างเดียวกัน

สำหรับในเมืองไทยนี้ การถวายพระนามพิเศษแด่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงบำเพ็ญพระบารมีฝ่ายพุทธจักรมีขึ้นครั้งแรกเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทย พระเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงพระราชศรัทธาสละราชสมบัติออกทรงผนวชคราวหนึ่ง เมื่อลาผนวชแล้วพระมหาสวามีสังฆราช ซึ่งมาแต่ลังกา ถวายพระนามว่า "พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชิต สุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช" นับว่าเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระองค์แรก แต่ต่อมาพระนาม "พระมหาธรรมราชา" กลายเป็นชื่อตำแหน่งไปเสีย ไม่ได้ยึดตามคติโบราณเดิม จึงเกิดพระมหาธรรมราชาขึ้นหลายองค์โดยไม่ปรากฏในพงศาวดารว่าทรงบำเพ็ญพระบารมีทางฝ่ายพุทธจักรแต่อย่างใด

ตามเรื่องในพงศาวดารที่มีมาในเมืองไทยนี้ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงรอบรู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก ได้แก่สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าลิไทย) มีพระราชนิพนธ์เรื่องไตรภูมิกถา หรือพระเจ้าติโลกราช พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำสังคายนาพระไตรปิฎก เป็นต้น ก็เป็นการสาธยายพระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีมาแต่ก่อน

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระบารมีฝ่ายพุทธจักรนั้นผิดกับทั้งสองพระองค์ซึ่งเคยบำเพ็ญมา ทรงทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นจนเลื่องลือไปยังนานาประเทศ ความคิดเห็นของผมเองเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงถึงที่ "สมเด็จพระมหาธรรมราชา" ตามคตินิยมโบราณ จึงขออนุญาตใช้เป็นชื่อกระทู้ตอนที่ ๓ นี้นะครับ ในอันดับแรกจะขอเล่าถึงวิธีการศึกษา ตลอดไปจนถึงทรงนิกายธรรมยุติขึ้นในประเทศนี้เสียก่อนนะครับ



....................................................................................................................................................


ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ เมื่อแรกทรงผนวชก็เป็นไปตามคตินิยมในสมัยนั้น ตามประเพณีมีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ระเบียบการศึกษาของพระราชกุมาร เมื่อศึกษาอักษรสมัยเบื้องต้นจบแล้ว พอพระชันษาถึงเกณฑ์ ๑๔ ปีก็ทรงผนวชเป็นสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรมเบื้องต้นครั้งหนึ่งก่อน เมื่อทรงพระเจริญถึง ๒๑ ปี ก็ทรงผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาพระศาสนาและวิชาขั้นสูงอีกครั้ง จึงจะเป็นการสำเร็จการศึกษา การศึกษาเล่าเรียนในพระพุทธศาสนามีเป็น ๒ อย่าง คือเรียนคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยศึกษาพระไตรปิฎกให้รอบรู้พระธรรมวินัยเรียกว่า “คันธุระ” อย่าง ๑ เรียนวิธีที่จะพยายามชำระจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ด้วยวิธีวิปัสสนากรรมฐานเรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” อย่าง ๑ การเรียนคันธุระต้องใช้เวลาหลายปีเพราะต้องเริ่มจากศึกษาภาษามคธก่อน ต่อเมื่อรู้แล้วจึงค่อยอ่านพระไตรปิฎกได้เข้าใจ เจ้านายทรงผนวชส่วนมากตั้งพระทัยจะผนวชแต่พรรษาเดียว จึงไม่มีเวลาพอที่จะศึกษาคันธุระ จึงมักเรียนวิปัสสนาธุระซึ่งอาจเรียนได้ด้วยไม่ต้องศึกษาภาษามคธก็ได้ และถือกันกันว่า ถ้าเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้ว อาจจะทรงคุณวิเศษในทางวิทยาคมเป็นประโยชน์ในชาติขัตติยะตลอดจนวิชาพิชัยสงคราม จึงนับถือกันมาเช่นนี้แต่กรุงศรีอยุธยา ถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า สมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงผนวชโดยเลือกศึกษาวิปัสสนาธุระ ครั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวช สมเด็จพระบรมชนกนาถจึงโปรดฯ ให้ทำตามเยี่ยงอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวช ทรงรับอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักในวัดมหาธาตุฯ ปรนนิบัติทำอุปัชฌายวัตร ๓ วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษาทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย และตั้งพระทัยจะทรงผนวชอยู่พรรษาเดียว ตามเยี่ยงอย่างที่เคยมีมา

แต่เมื่อเกิดเหตุสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต และราชสมบัติได้แก่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ส่วนพระองค์ก็จะต้องทรงเพศสมณะต่อไปไม่มีกำหนด ตามมูลเหตุที่เป็นมาดังนั้นแล้ว จึงทรงพระดำริเห็นว่าฐานะของพระองค์หากทรงเกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง จะเป็นที่กีดขวาง ด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชที่นิยมในพระองค์ก็ยังมีอยู่ จึงทรงพระดำริว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมืองอีกต่อไป และทรงเปลี่ยนพระสงค์ที่จะศึกษาพระพุทธศาสนาให้รอบรู้ตามสมควรแก่หน้าที่ของสมณะเพศ ในเวลานั้นได้ทรงเริ่มศึกษาวิปัสสนาธุระมาแล้วบ้าง จึงตั้งพระหฤทัยขะมักเขม้นเรียนให้ได้ความรู้วิปัสสนาธุระอย่างถ่องแท้ ไม่ช้าก็ทรงทราบสิ้นตำราที่พระอาจารย์สอน ความข้อใดที่ทรงสงสัย ตรัสถามพระอาจารย์ก็ไม่สามารถชี้แจงถวายให้กระจ่างสิ้นทรงสงสัยได้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณก็เกิดท้อพระหฤทัยในการศึกษาวิปัสสนาธุระ พอออกพรรษาจึงเสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ ตั้งต้นทรงศึกษาคันธุระหมายพระหฤทัยจะให้สามารถอ่านพระไตรปิฎกหาความรู้ที่ทรงสงสัยในความข้อต่างๆ ให้ได้ด้วยพระองค์เอง พระวิชาปรีชา (ภู่) เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญในภาษามคธอย่างยิ่งในตอนนั้น เป็นพระอาจารย์สอนภาษามคธถวาย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ซึ่งตั้งพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะทรงศึกษาอยู่แล้ว กอรปกับพระสติปัญญา และพระอาจารย์ซึ่งเชี่ยวชาญ ทรง ๓ ปีก็รอบรู้ภาษามคธถ่องแท้ผิดกับผู้อื่นเป็นที่อัศจรรย์

จนกิตติศัพท์เลื่องลือถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ครั้งหนึ่งทรงตรัสถามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ว่าจะแปลพระปริยัติธรรมถวายทรงฟังได้หรือไม่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณถวายพระพรรับว่าจะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์

การเรียนภาษาบาลีเป็นข้อสำคัญในการสืบอายุพระพุทธศาสนา หากไม่มีผู้รู้ภาษาบาลี ก็ไม่มีผู้สามารถล่วงรู้พระพุทธวจนะในพระไตรปิฎก ถ้าสิ้นความรู้ในพระไตรปิฎกแล้ว พระพุทธศาสนาย่อมเสื่อมสูญไปในที่สุด ด้วยเหตุนี้พระราชาธิบดีผู้เป็นองค์พุทธศาสนูปถัมภกแต่โบราณมา ไม่ว่าจะแห่งใดที่นับถือศาสนาพุทธ จึงทรงทำนุบำรุงการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรที่เรียนรู้พระบาลีในพระไตรปิฎกให้มีฐานันดร พระราชทานอุปการะด้วยประการต่างๆ จึงเกิดวิธีสอบพระปริยัติธรรมเพื่อให้ปรากฏว่าพระภิกษุสามเณรรูปใดมีความรู้เพียงใด เมื่อปรากฏว่ารูปใดมีความรู้ถึงเกณฑ์กำหนด ก็จะทรงยกย่องพระภิกษุสามเณรรูปนั้นให้เป็นมหาบาเรียน ครั้นต่อมาพรรษาอายุถึงภูมิเถระก็ทรงตั้งให้มีสมณศักดิ์ในสังฆมณฑลตามสมควรแก่คุณธรรมและความรู้ เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมสืบๆ กันมา

ประเพณีการสอบพระปริยัติธรรมแต่เดิมนั้น กำหนดว่าถ้าแปลพระสุตตันตปิฎกได้ ได้เป็นเปรียญตรี ถ้าแปลพระวินัยได้ด้วย ได้เป็นเปรียญโท ถ้าแปลได้ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัย และพระปรมัตถ์ได้ ได้เป็นเปรียญเอก ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระสังฆราช (มี) ปรารภว่าวิธีสอบพระปริยัติธรรมอย่างเดิมหละหลวม ผู้มีความรู้ต่ำก็อาจจะเป็นเปรียญเอกได้ จึงจัดหลักหลักสูตรให้กวดขันขึ้น แก้วิธีสอนพระปริยัติธรรมเป็น ๙ ประโยค และผู้เข้าแปลต้องแปลได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญ การสอบพระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนพระปริยัติธรรม เป็นการสอบทั้งความรู้ภาษาบาลี และความรู้คัมภีร์พระไตรปิฎกด้วย คือให้พระภิกษุสามเณรที่เข้าแปลอ่านคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาบาลี แล้วแปลเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องอภิธานและในทางไวยากรณ์ภาษาบาลี จึงมักเรียกกันเป็นสามัญว่า “แปลหนังสือ” หรือ “แปลพระปริยัติธรรม” กำหนดเป็น ๙ ประโยคคือ

ประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สอบคัมภีร์พระธรรมบท ต้องสอบให้ได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค เมื่อสอบได้จึงนับว่าเป็นเปรียญชั้นจัตวา หรือเปรียญสามัญ
ประโยคที่ ๔ สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนีบั้นต้น สอบได้นับเป็นเปรียญตรี และเปรียญชั้นสูงนับตั้งแต่ประโยค ๔ นี้เป็นต้นขึ้นไป
ประโยคที่ ๕ สอบคัมภีร์บาลีมุตกวินัยวินิจฉัยสังคหะ เรียกกันโดยย่อว่าบาลีมุต ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมภีร์สารัตถสังคหะ ครั้นภายหลังกลับไปสอบคัมภีร์บาลีมุตกวินัยวินิจฉัยสังคหะเช่นเดิมอีก สอบได้นับเป็นเปรียญโท
ประโยคที่ ๖ สอบมังคลัตถทีปนีบั้นปลาย สอบได้ยังคงนับว่าเป็นเปรียญโทอยู่เหมือนเปรียญ ๕ ประโยค จึงเรียกกันอย่างสามัญว่าเป็นประโยคแปลบูชาพระ
ประโยคที่ ๗ สอบคัมภีร์ปฐมสมันตัปปาสาทิกา เรียกกันโดยย่อว่า สามน สอบได้เป็น เปรียญเอก ส หมายความว่าเปรียญชั้นเอกสามัญ
ประโยคที่ ๘ สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค สอบได้นับเป็น เปรียญเอก ม หมายความว่าเปรียญชั้นเอกมัชฌิมา
ประโยคที่ ๙ เดิมสอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ภายหลังเปลี่ยนมาสอบคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ สอบได้ได้เป็น เปรียญเอก อุ หมายความว่าเปรียญชั้นเอกอุดม

การสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณรจึงนับว่าเป็นราชการแผ่นดินที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทรงบำเพ็ญด้วยอยู่ในพระราชกิจของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย การสอบพระปริยัติยังหามีกำหนดปีเป็นยุติไม่ เพราะเป็นสมัยเมื่อแรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ บ้านเมืองยังมีศึกสงครามเนืองๆ ต่อเมื่อเป็นเวลาว่างการทัพศึกสงครามบ้านเมืองสงบสุข ทรงพระราชดำริเห็นว่าพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนมีความรู้ถึงภูมิจะเป็นเปรียญได้มีมาก จึงโปรดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม เมื่อมีรับสั่งแล้ว สังฆนายกทั้งปวงจึงประชุมกันสอบพระปริยัติธรรมพระภิกษุสามเณร และมีเจ้าพนักงานฝ่ายพระราชอาณาจักรฉลองพระเดชพระคุณราชการแผ่นดินปฏิบัติดูแลตามตำแหน่ง ฉะนั้นในสองแผ่นดินต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นานๆ จึงมีการสอบพระปริยัติธรรมสักครั้งหนึ่ง ครั้นถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา และทรงพระราชดำริเห็นว่าการเล่าเรียนเจริญขึ้นมาก จึงโปรดให้กำหนดการสอบพระปริยัติธรรม ๓ ปีครั้งหนึ่ง และได้ใช้เป็นเกณฑ์ในแผ่นดินต่อๆ มา

แต่เดิมการสอบพระปริยัติธรรมสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ต่อทรงมีพระราชศรัทธาจะทรงฟัง จึงโปรดให้เข้ามาประชุมสอบพระปริยัติธรรมที่ในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ ฤดูสอบพระปริยัติธรรมโดยปรกติมักจะสอบเมื่อออกพรรษแล้ว ปีใดจะสอบพระปริยัติธรรม เจ้ากรมธรรมการก็รับสั่งสั่งหมายบอกไปยังเจ้าคณะสงฆ์แต่ต้นปี ฝ่ายเจ้าคณะสงฆ์ทั้งคณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะรามัญ เมื่อทราบหมายรับสั่งก็บอกไปยังเจ้าอาวาสผู้ครองพระอารามใหญ่น้อยให้ทราบ ฝ่ายเจ้าอาวาสเมื่อทราบว่าจะมีการสอบพระปริยัติในปีนั้นก็ให้สอบซ้อม แล้วเลือกสรรผู้ซึ่งจะให้เข้าสนามเอาชื่อส่งเจ้าคณะ มีคติถือกันมาแต่โบราณว่า พระภิกษุสามเณรซึ่งอยู่ในพระอารามหลวงซึ่งเป็นเสนะสนะของหลวง ได้รับพระราชทานนิตยภัตรทั่วทุกรูป ได้พระราชทานราชูปถัมภ์ด้วยประการต่างๆ มิให้เป็นที่อนาทรร้อนใจในการกินอยู่ ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์สามเณรก็มีหน้าที่เฉลิมพระราชศรัทธา ขวนขวายศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยสืบอายุพระพุทธศาสนา

เหตุที่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงตรัสชวนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ เข้าสอบความรู้เป็นเปรียญพระปริยัติธรรมนั้น เมื่อคิดดู แต่ก่อนนั้นเจ้านายที่ทรงผนวชอยู่นานๆ และเล่าเรียนทางคันธุระ อย่างเช่นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นต้น ก็หาเคยได้เข้าสอบพระปริยัติธรรมในสนามไม่ นี่หากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไม่ตรัสชวน ก็เชื่อแน่ว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ จะไม่ทรงเข้าสอบพระปริยัติธรรมในสนามเช่นเดียวกัน เหตุที่เข้าสอบ คงเพราะสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณใฝ่พระหฤทัยทรงศึกษาพระพุทธศาสนานั้นเป็นความดีสมควรจะทรงอุดหนุน เพื่อให้เป็นกำลังช่วยทำนุบำรุงทางฝ่ายพุทธจักร และเป็นเกียรติยศแก่พระราชวงศ์ให้ปรากฏในพระปรีชาสามารถเป็นที่นับถือในสังฆมณฑลโดยไม่ขัดขวางทางฝ่ายอาณาจักร ข้างฝ่ายพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอก็เห็นจะทรงพระดำริเป็นทำนองเดียวกัน จึงทรงรับเข้าแปลพระปริยัติธรรมในครั้งนั้น

เมื่อคราวสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงพระราชศรัทธาโปรดให้ประชุมคณะพระมหาเถระผู้สอบในพระที่นั่งอัมรินทราวินิจฉัย และเสด็จออกทรงฟังแปลทุกวัน วันแรกเป็นการสอบแปลคัมภีร์ธรรมบทซึ่งเป็นการสอบความรู้ชั้นประโยคที่ ๑ ประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงแปลพักเดียวได้ตลอดประโยคที่ ๑ ไม่มีที่พลั้งพลาดให้พระมหาเถระคณะผู้สอบต้องทักท้วงเลย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฟังแปลดังนั้นก็ทรงยินดี ดำรัสว่าเห็นความรู้เชี่ยวชาญในคัมภีร์ธรรมบทแล้ว ไม่ต้องแปลประโยคที่ ๒ ประโยคที่ ๓ ก็ได้ ให้แปลคัมภีร์มงคลทีปนีบั้นต้นสำหรับประโยคที่ ๔ ทีเดียวเถิด ในวันที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จเข้าแปลประโยคที่ ๔ และวันที่ ๓ แปลคัมภีร์บาลีมุตสำหรับประโยคที่ ๕ ก็ทรงแปลได้โดยสะดวกไม่มีที่ขัดขวางพลั้งพลาดให้พระมหาเถระได้ทักท้วงทั้ง ๒ ประโยคเช่นกัน

แต่เมื่อเสร็จการแปลในวันที่ ๓ นั้น ปรากฏว่าผู้กำกับกรมธรรมการ กรมหมื่นรักษรณเรศ ตรัสถามพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ ผู้สอบซึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรม ว่า “นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน” สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณได้ทรงทราบก็ทรงน้อยพระหฤทัย ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันนั้น ว่าที่เข้าทรงแปลพระปริยัติธรรมนั้น ทรงเจตนาแต่สนองพระเดชพระคุณ มิได้ปรารถนาลาภยศสักการประการใด ได้แปลทรงฟัง ๓ วันแล้ว เห็นว่าพอจะเฉลิมพระราชศรัทธาแล้ว ขออย่าให้ต้องแปลต่อไปเลย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชได้ทรงทราบความขุ่นข้องที่เกิดขึ้น ก็ทรงบัญชาตามพระหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ และพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค ให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา

กรมหมื่นรักษรณเรศอยู่ในฝ่ายที่ประสงค์จะให้ราชสมบัติได้แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ แสดงเจตจำนงจะอยู่ในสมณเพศต่อไป และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระบรมวงศานุวงศ์ก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันอย่างเดิม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ไม่ทรงรังเกียจกินแหนงในพระราชหฤทัยในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงอุดหนุนเพื่อให้เจริญพระเกียรติยศทางฝ่ายพระพุทธจักรดังกล่าวมาแล้ว และยังได้พระราชทานวอประเวศวังแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณซึ่งเคยทรงเมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยา กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แต่กรมหมื่นรักษรณเรศยังถือทิษฐิ ทรงแคลงพระทัยว่าสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจะทรงเป็นเสี้ยนหนามต่อราชบัลลังก์ คอยกลั่นแกล้งด้วยอุบายต่างๆ เพื่อมิให้ผู้คนนับถือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณจึงถูกกรมหมื่นรักษรณเรศให้ร้ายด้วยประการต่างๆ จนกระทั่งผลกรรมที่ก่อไว้ย้อนมาสู่ตัวเองต้องราชภัยเป็นอันตรายลงไป ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

เมื่อเสร็จการแปลพระปริยัติธรรมแล้ว สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิญาณก็เสด็จกลับไปประทับวัดมหาธาตุฯ ตามเดิม ทรงศึกษาคันธุระด้วยตั้งพระหฤทัยจะเรียนพระพุทธศาสนาให้รอบรู้อย่างถ่องแท้ มิได้ทรงหมายฐานันดรยศในสังฆมณฑลแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเมื่อทรงแตกฉานในภาษาบาลีถึงสามารถจะอ่านพระไตรปิฎกเข้าพระหฤทัยได้โดยพระเองแล้ว ก็ทรงพยายามพิจารณาหลักฐานพระพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกต่อมา เมื่อทรงพิจารณาถึงพระวินัยปิฎกก็ปรากฏแก่พระญาณว่า วัตรปฏิบัติเช่นที่พระสงฆ์ทั่วไปประพฤติกันอยู่นี้ ผิดแบบผิดแผนในพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติในพระไตรปิฎกอยู่มากหลายประการ เมื่อจะทรงอุปสมบทก็ได้สมาทานว่าจะประพฤติตามธรรมพระวินัยของสมเด็จพระพุทธเจ้า เมื่อไม่เป็นไปได้ดังนั้นก็ทรงเห็นว่าลาผนวชออกเป็นอุบาสกจะดีกว่า

วัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยในสมัยนั้น มีเรื่องเล่ากันมาแต่โบราณ ว่าเมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์เชิญพระไตรปิฎกมาแต่ลังกาทวีปนั้น เรือมาถูกพายุพักพลัดกันไป เรือลำที่ทรงพระวินัยปิฎกพลัดไปเมืองมอญ พระสงฆ์ในเมืองมอญจึงถือพระวินัยปิฎกเป็นสำคัญ ส่วนเรือที่ทรงพระสุตตันตปิฎกพลัดมาเมืองไทย พระสงฆ์ฝ่ายไทยจึงถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ แต่มิใคร่เอาใจใส่ในพระวินัยเคร่งครัดนัก เรื่องเล่าตามตำนานนี้ไม่มีเค้ามูลทางประวัติโบราณคดีแต่ความจริงก็ปรากฏเช่นนั้น เป็นเช่นนี้มาแต่โบราณ ใช่ว่าพระสงฆ์ไทยจะเป็นอลัชชีหรือหาความรู้มิได้ แต่พระสงฆ์ไทยเชื่อถือคติปัญจอันตรธารในบริเฉจท้าวคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่แต่งในลังกาทวีปมากเกินไป ในบริเฉทนั้นอ้างว่าพระพุทธองค์ได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่า เมื่อถึงกลียุค (คือยุคปัจจุบันนี้) พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ สติปัญญาและความศรัทธาอุตสาหะของคนทั้งหลายก็จะเลวลงทุกที จนไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ที่สุดเมื่อพุทธกาลใกล้จะถึงห้าพันปี แม้พระสงฆ์ก็จะมีแต่ผ้าเหลืองคล้องคอ หรือผูกข้อมือไว้พอรู้ว่าเป็นพระเท่านั้น ตามคติคัมภีร์นี้เป็นเหตุให้เชื่อกันว่า พระพุทธศาสนาที่เราถือกันมีแต่จะเสื่อมทรามลงเป็นธรรมดา พ้นวิสัยที่ใครจะแก้ไขให้คืนดีได้

ในขณะที่ทรงวิตกและยังไม่เห็นหนทางแก้ไขได้ดังนั้น ก็ทรงได้ยินกิตติศัพท์ทราบว่ามีพระราชาคณะที่พระสุเมธมุนี (ซาย พุทธวงศ์) พระเถระฝ่ายรามัญบวชมาแต่เมืองมอญคณะกัลยานี ซึ่งมาอยู่ที่วัดบวรมงคล เป็นผู้ชำนาญในพระวินัยปิฎก และประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงสนทนาธรรมกับพระสุเมธมุนี พระสุเมธมุนีก็ทูลอธิบายระเบียบวัตรปฏิบัติของพระมอญคณะกัลป์ยานีที่ท่านอุปสมบทให้ทรงทราบโดยละเอียดพิสดาร สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงพิจารณาสิ่งที่พระสุเมธมุนีทูลอธิบายวัตรปฏิบัติเทียบกับพระวินัยปิฎกทรงทรงศึกษาด้วยพระองค์เองมาแล้ว เห็นว่าไม่ห่างไกลจากพระพุทธบัญญัติก็ทรงยินดี ทรงตระหนักในพระหฤทัยว่าสมณวงศ์มีทางที่จะรอดไม่เสื่อมสูญเสียอย่างที่ทรงพระวิตกอยู่แต่ก่อนแล้ว จึงเกิดความเลื่อมใสใคร่จะประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ

แต่ยังมีความขัดข้องด้วยเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จะทรงประพฤติให้ผิดกับระเบียบแบบแผนของพระสงฆ์ในวัดนั้นก็เป็นการละเมิด และคนทั้งหลายจะเกิดความเข้าใจผิดได้ต่อไป ครั้นถึงปีฉลูเอกศก จุลศักราช ๑๑๙๑ พุทธศักราช ๒๓๗๒ เหมือนพรรษาแรกที่ทรงผนวช เวลานั้นมีพระภิกษุหนุ่มเป็นลูกผู้ดีบ้าง ที่ได้เคยถวายตัวเป็นสานุศิษย์ศึกษาอยู่ในวัดมหาธาตุ และเลื่อมใสในพระดำริสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ได้ตามเสด็จมาอยู่วัดสมอรายก็มี อยู่วัดอื่นแต่ไปประชุมศึกษาวัตรปฏิบัติในพระองค์ที่วัดสมอรายก็มี จึงเริ่มเกิดเป็นคณะสงฆ์ผู้แสวงหาสัมมาปฏิบัติตามธรรมบัญญัติขึ้นแต่นั้นมา

แต่ก่อนนั้นประเพณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองห่างไกลถึงต้องเสด็จประทับแรมนั้น แม้เพียงเสด็จไปทรงบูชาพระพุทธบาท หรือเสด็จทรงทอดกฐินหลวงถึงเพียงพระนครศรีอยุธยา หยุดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี เมื่อไม่มีการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายและขุนนางก็ไม่มีใครเสด็จออกไปเที่ยวตามหัวเมือง นอกจากจะมีราชการจำเป็นจริงๆ เพราะเห็นเป็นการฝ่าฝืนพระราชปฏิบัติ เกรงจะทรงระแวงผิดทางราชการบ้านเมือง จึงอยู่กันแต่ในกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ เมื่อเสด็จประทับอยู่วัดสมอรายนั้น ทรงฟื้นพระศาสนากำหนดวัตรปฏิบัติขึ้นสำหรับคณะสงฆ์ผู้แสวงสัมมาปฏิบัติแล้ว ใครจะทรงศึกษาธุดงควัตรให้บริบูรณ์ตามพระวินัยที่บัญญัติไว้พระไตรปิฎก ทรงดำริว่าพระองค์ทรงสมณะเพศมิได้ยุ่งเกี่ยวกับทางการเมือง จึงถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จธุดงค์ตามหัวเมืองห่างไกล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพิจารณาแล้วก็โปรดเกล้าฯ พระราชบรมราชานุญาตไม่ขัดขวาง จึงเสด็จไปทรงบูชาพระมหาเจดีย์ตามหัวเมือง

ปรากฏในพงศาวดารว่าเสด็จไปทรงบูชาพระปฐมเจดีย์ ครั้งนั้นพระปฐมเจดีย์เป็นพระมหาเจดีย์ที่สำคัญของบ้านเมืองแต่ปรักหักพังมาก จะขอพระราชทานปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ให้บริบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระดำริเห็นว่า บ้านเมืองยังไม่บริบูรณ์และในแขวงจังหวัดนั้นก็ยังเป็นป่าเป็นดงรกชัฏ ถึงปฏิสังขรณ์ให้ดีขึ้น ก็ไม่อาจจะรักษาไว้ให้ดีได้ จึงทูลห้ามปรามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณไว้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงเห็นชอบ แต่ก็ตั้งพระปณิธานไว้ว่าถ้าหากพระองค์ทรงมีกำลังเมื่อไรจะบำรุงบ้านเมืองและปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์นี้ให้จงได้

ในระหว่างปีนี้เที่ยวเสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ เช่นมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลนครสวรรคต ครั้งนี้ในพุทธศักราช ๒๓๗๖ เสด็จธุดงค์ถึงเมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นปรากฏในพงศาวดารว่าจะโปรดสมโภชพระพุทธชินราช เครื่องมหรสพก็ไม่แต่ตัวหนังที่วัดอยู่ในวัด คนเล่นหามีไม่ พวกมหาดเล็กที่ตามเสด็จครั้งนั้นจึงชวนกันรับเล่นหนังถวายเป็นการสมโภช และพระองค์ก็ทรงอำนวยการ จึงกลายเป็นประเพณีสืบมาในรัชกาลต่อมาๆ

การเสด็จธุดงควัตรตามหัวเมืองของพระองค์ท่าน ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนาสถานที่ต่างๆ และทำให้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ ความทุกข์ความสุขของราษฎรในหัวเมืองเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้ทรงตระหนักมาแต่ครั้งนั้นว่าทางราชการในพระนครไม่ค่อยทราบความเป็นไปในบ้านเมืองตามความเป็นจริง เมื่อได้ทราบอัธยาศัยความคิดอ่านของราษฎรตามหัวเมืองที่ทรงธุดงค์ไปถึงนั้น ครั้นได้สมัครสมาคมคุ้นเคยกันแล้ว ฝ่ายราษฎรก็พากันชอบพระอัธยาศัย เกิดความนิยมรักใคร่นับถือกันแพร่หลายกันมาแต่ครั้งนั้น

อีกประการหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ไทย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จไปธุดงค์ตามที่ต่างได้ทอดเห็นโบราณสถานหลายแห่งที่ทีแบบอย่างต่างๆ กันมาสมัย และยังได้โบราณวัตถุเป็นต้นว่าศิลาจารึกจากเมืองสุโขทัย ก็ทรงเกิดใฝ่พระหฤทัยในการศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทยมาตั้งแต่นั้น เหมือนอย่างทรงนำทางให้ผู้อื่นทั้งไทยและชาวต่างชาติศึกษาตามเสด็จต่อมา ความรู้เรื่องโบราณคดีของประเทศไทยจึงได้เจริญแพร่หลาย แม้จนทุกวันนี้หากใครจะศึกษาโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของไทย ก็ยังได้อาศัยพระบรมราชาธิบายของพระองค์ท่านซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นแนวทางแทบทุกคน

ถึงปีมะโรงจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๙๔ พุทธศักราช ๒๓๗๕ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคต ข้าในกรมเจ้านายต่างกรมหลายพระองค์เข้าใจว่าเจ้านายของตนจะได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต่อจากกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ พากันเตรียมตัวจะเป็นขุนนางวังหน้าจนเกิดกิตติศัพท์ขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงปรึกษาพระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) ในการนั้น พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต) กราบบังคมทูลว่าถ้าเช่นนั้นควรโปรดเกล้าให้เลื่อนกรมเจ้านายขึ้นตามราชประเพณีในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ให้ปรากฏเสียว่าจะได้เป็นเพียงนั้น ข้าในกรมจะได้ไม่มักใหญ่ใฝ่สูงและการณ์ที่เลื่องลือวุ่นวายก็จะสงบลงเอง


พระยาศรีพิพัฒน์ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ)


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบด้วยทรงเจตนาจะไม่ตั้งเจ้านายเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมเจ้านายขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุนหลายพระองค์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี ก็ทรงรับกรมเป็น กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ในครั้งนี้ด้วย แต่ได้ทรงเว้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ ไว้ จะว่าขัดข้องด้วยทรงพระผนวชเป็นภิกษุอยู่ก็มิใช่ เพราะเมื่อกรมหมื่นนุชิตชิโนรสทรงรับกรมก็ทรงสมณเพศมีเป็นตัวอย่างอยู่ สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชทรงพระราชดำริว่า ตำแหน่งพระมหาอุปราชรัชทายาย ไม่สมควรแก่เจ้านายพระองค์อื่น นอกจากสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระวชิรญาณ แต่ติดอยู่ด้วยทรงผนวชอยู่จะตั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่รัชทายาทก็ขัดข้องด้วยทางฝ่ายพระศาสนา จะให้ทรงรับกรมก็ไม่เข้ากับสาเหตุที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมเจ้านายในครั้งนั้น จึงให้งดเสีย


สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์
(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)


วัดสมอรายที่ทรงประทับอยู่นี้ เขตวัดติดต่อกับวัดคอนเซปชั่น (Immaculate Conception Church) ของโรมันคาทอลิก เวลานั้นสังฆราชปาลกัวต์ยังเป็นบาทหลวงเจ้าอธิการของวัด ท่านบาทหลวงชอบไปเฝ้าทูลถามความรู้เรื่องภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยเนืองๆ จนทรงคุ้นเคย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณ จึงโปรดฯ ให้สอนภาษาละตินถวายเป็นการแลกเปลี่ยนวิชาความรู้กัน เป็นมูลเหตุที่ทรงศึกษาภาษาต่างประเทศนับแต่นี้ไป จะได้ทรงศึกษาอยู่เท่าไรไม่ปรากฏ แต่สังเกตได้จากพระราชหัตถเลขาเมื่อเสวยราชย์แล้ว มักทรงใช้ภาษาละตินเนืองๆ เห็นได้ว่าจะทรงทราบไวยากรณ์ของภาษาละตินพอสมควร

เมื่อทรงประทับอยู่วัดสมอนั้นแต่แรกเริ่มนั้น มีพระสงฆ์ซึ่งถือวัติปฏิบัติตามเสด็จราวสัก ๒๐ รูป ตามเสด็จมาอยู่วัดสมอรายบ้าง คงอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯบ้าง หรืออยู่วัดอื่นๆ บ้าง มาประชุมทำสังฆกรรมที่วัดสมอราย และตั้งเป็นธรรมยุติกนิกายขึ้น เมื่อกิตติศัพท์พระเกียรติคุณที่ทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก และพระปฏิภาณในการแสดงธรรมเทศนาเลื่องลือแพร่หลายออกไป ก็มีพระภิกษุสามรเณรพากันมาถวายตัวเป็นศิษย์ และบวชแปลงเป็นธรรมยุติกามากขึ้น พวกคฤหัสถ์ก็พากันเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติและการแสดงธรรมของพระองค์ ไปถือศีลฟังธรรม ตลอดจากจนนำบุตรหลานมาฝากฝังให้เล่าเรียนเป็นลูกศิษย์มากขึ้นโดยลำดับ จนวัดสมอรายเกิดเป็นสำนักคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงสำนักหนึ่ง ปรากฏกิตติศัพท์เลื่องลือถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเชษฐาธิราช วันหนึ่งไม่ทราบว่าเป็นปีใดแน่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณเสด็จเข้าไปถวายเทศนาพระธรรมในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสร็จสิ้นพระธรรมเทศนาแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชตรัสว่า “ชีต้นบวชมานานแล้ว ควรเป็นพระราชาคณะได้” แล้วพระราชทานพัดแฉกพื้นตาดให้ทรงถือเป็นพัดยศต่อมา

....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 08 เมษายน 2551   
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:49:28 น.   
Counter : 3062 Pageviews.  


พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๒ ราชสมบัติสมควรกับพระบารมีในกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

คำว่า "บารมี" หนังสือหลายเล่ม ความคิดเห็นของหลายท่านมักคิดถึงเรื่อง ลึกลับเหนือธรรมชาติ เกินจริง เพราะฉะนั้นเรามาทำความเข้าใจกับคำว่า "บารมี" กันเสียก่อนนะครับ

"บารมี" แปลว่า ความดีที่พึ่งกระทำ หรือ ความดีที่ได้กระทำมาแล้ว
"บารมี" เรียกอีกนัยหนึ่งว่า "ทศพล" (กำลังทั้งสิบ) ประกอบด้วยสิบอย่างด้วยกัน ได้แก่

๑. ทาน
๒. ศีล
๓. เนกขัม
๔. ปัญญา
๕. วิริยะ
๖. ขันติ
๗. สัจจะ
๘. อธิษฐาน
๙. เมตตา
๑๐. อุเบกขา

สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "บารมี" ผู้มีบารมีจึงหมายถึง ผู้ที่ได้บำเพ็ญความดีดังกล่าวมาแล้ว "บารมี" จึงไม่ใช่เรื่องที่ลึกลับเหนือธรรมชาติ เกินจริงแต่อย่างใด ผู้บำเพ็ญบารมีเป็นที่ยิ่งจึงจะพบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ดังเช่นพระพุทธเจ้าดังเราเคยได้ยินจากในทศชาติชาดกนั้นเอง

กระทู้นี้จะกล่าวถึง พระบารมีในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ก่อนที่จะได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ซึ่งเกี่ยวเนื่องเป็นข้อสำคัญในพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



....................................................................................................................................................


จริงอยู่ว่าเรามีกฎมณเฑียรบาลซึ่งตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ ซึ่งกำหนดว่า “พระราชกุมารอันเกิดด้วยอัครมเหสีเป็นสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า” หมายความว่าเป็นตำแหน่งรัชทายาทผู้มีสิทธิ์สืบราชบัลลังก์ คือ หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า แต่เมื่อพิจารณาการเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแต่ละพระองค์ซึ่งมีสืบมาในสมัยโบราณที่ผ่านมา เห็นได้ว่าย่อมยึดถือความเหมาะสม กำลัง และความสามารถของแต่พระองค์ว่าจะเป็นที่พึ่งของแผ่นดินได้หรือไม่ มากกว่าจะยึดถือกฎมณเฑียรบาลที่ตั้งไว้

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสู่สวรรคต สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงดำรงพระยศอยู่ในตำแหน่งสมเด็จหน่อพระพุทธเจ้า แต่ขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง ๒๑ ปี และความรู้ความสามารถไม่ได้ทรงมีมากไปกว่าเจ้านายพระองค์อื่น ตั้งแต่สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ สวรรคต สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศก็ไม่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเจ้านายพระองค์ใดอีกจนสิ้นรัชกาล และเมื่อจะเสด็จสวรรคตก็ไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้ เมื่อเหตุเป็นเช่นนี้แล้ว พระบรมราชวงศ์นุวงศ์และเสนาบดีหัวหน้าราชการทั้งปวง จึงต้องประชุมปรึกษากันตามธรรมเนียมบ้านเมืองโบราณ ว่าควรจะเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ครอบครองบ้านเมือง ให้เป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินสืบต่อไปได้

อย่างที่กล่าวไว้อันเจ้านายซึ่งเป็นกำลังแผ่นดินที่สำคัญในรัชกาลที่ ๒ มีด้วยกัน ๓ พระองค์ คือกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีพระองค์ ๑ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรพระองค์ ๑ เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในบรรดา ๓ พระองค์ที่กล่าวมานี้มีแต่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์เดียวที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษามากกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎถึง ๑๗ ปี และภายหลังเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จสวรรคต และเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว พระองค์ก็ได้ทรงบัญชาราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระบรมชนกนาถตลอดมา ทั้งข้าทูลละอองธุลีพระบาทก็มีความจงรักสวามิภักดิ์ในพระองค์ เป็นที่ นับถือ รักใคร่ ยำเกรงของเหล่าข้าราชการและราษฎรทั่วไปเป็นอันมาก ที่ประชุมเห็นว่าควรถวายพระราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ บ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปรกติสุข อีกทั้งยังทรงเป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินได้ด้วยพระกำลัง พระบารมี พระปรีชาสามารถ และพระสติปัญญาเฉลียวฉลาด

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าชายทับ พระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๐ เป็นปีที่ ๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปีมะแมนพศกนี้ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริ จะเสด็จพระราชดำเนินทัพหลวงไปตีเมืองทวาย” ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินราชการสงครามครั้งนี้ด้วย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ในสาส์นสมเด็จ ทูล สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ฉบับลงวันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๔ ว่า “เวลาเขียนเรื่องให้ชื่อที่ทูลมานี้ พบอะไรแปลกอย่างหนึ่ง หม่อมฉันนึกๆ ขึ้นว่าอะไรจะเป็นนิมิตที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้พระนามว่า “ทับ” ลองไปเปิดดูหนังสือราชสกุลวงศ์ได้ความว่า ประสูติเมื่อปีมะแมนพศก พุทธศักราช ๒๓๓๐ ไปเปิดดูพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ ได้ความว่าในปีมะแมนพศกนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เสด็จไปตีเมืองทวาย และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เป็นตำแหน่งยกกระบัตรทัพ ครั้งแรกที่เสด็จออกสงคราม เห็นจะเอาการทัพครั้งนี้เป็นนิมิตพระนาม”

เจ้าจอมมารดาเรียมในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระราชชนนี พระชนกของเจ้าจอมมารดาเรียมมีนามว่า บุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน มีเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้ทรงสถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ เมืองนนทบุรีในปัจจุบันนี้ ปรากฏในหนังสือราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ ว่า

ราชินิกูลในรัชชกาลที่ ๓ ชั้นที่ ๑

บุรพชนทางพระชนก (ของสมเด็จพระศรีสุราลัย) ชนกและชนนีขององค์พระชนกซึ่งเปนราชินิกุลชั้น ๑ นั้น ว่าเป็นใครและนามใด บุตร์ (ทราบแต่องค์พระชนกองค์เดียว) นามว่า "จัน" มีบรรดาศักดิ์เปนพระยานนทบุรี เป็นราชินิกุลชั้น ๒ เมื่อพระชนกจันได้เปนผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรีแล้วไปตั้งเคหะสถานอยู่ณะจังหวัดนั้น สืบสกูลต่อมาฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า "สกูลเมืองนนท์" ภายหลังในตำบลนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างพระอารามถวายสมเด็จพระศรีสุราไลย พระบรมราชชนี อันมีนามปรากฏว่า "วัดเฉลิมพระเกียรติ์" ซึ่งเป็นเครื่องหมายสำคัญอยู่จนทุกวันนี้

บุรพชนทางชนนีฝ่ายชนก (คือบิดาของมารดาของสมเด็จพระศรีสุราลัย) ซึ่งเปนเชื้อสายแขกสุนีนั้น กล่าวกันว่ามาแต่สกูลเจ้าพระยาจักรี ครั้งกรุงธนบุรี (ทราบว่าชื่อ "หมุด") ซึ่งเดิมเป็นหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็ก ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือผู้ที่ปรากฏชื่อในพงศาวดารว่า "เจ้าพระยาจักรีแขก" นั้น เจ้าพระยาจักรีแขกมีบุตร์ที่ควรกล่าว ๒ คน คน ๑ ทราบว่าชื่อ "หมัด" เดิมเปนพระยาราชบังสัน แล้วเลื่อนที่เป็นพระยายมราช สมญาปรากฏว่า "เจ้าพระยายมราชแขก" อีกคนหนึ่งชื่อไรไม่ปรากฏ เข้าใจว่าชื่อ "หวัง" เดิมเป็นพระชลบุรีอยู่ก่อน ครั้นถึงรัชชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ แรกเถลิงถวัลยราชสมบัติ โปรดเกล้าให้เปนพระยาราชวังสัน เข้ามารับราชการอยู่ในกรุง ....

.... ผู้น้องคงเป็น "พระยาราชวังสัน" ถ้าจะให้เข้าใจชัดเจน ก็คือแปลว่า "พระยาราช (สกูลมาแต่) หวังหะสัน" พระยาราชวังสันผู้นี้ ตั้งเคหะสถานอยู่ที่ริมวัดหงส์รัตนาราม ในคลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรีใต้ และเคหะสถานนี้จะตั้งใหม่ หรือจะเป็นสถานที่เดิมของสกูลแต่ครั้งเจ้าพระยาจักรี (แขก) ผู้บิดาก็เปนได้ เมื่อนามเดิมของพระยาราชวังสันผู้นี้ไม่ทราบแน่ จึงเปนแต่เรียกว่า "พระยาราชวังสัน บ้านริมวัดหงส์" เพราะฉะนั้นต่อไปนี้จักเรียกว่า "พระยาราชวังสัน (หวัง)" ท่านผู้นี้นับว่าเป็น ราชินิกูลชั้น ๑ เพราะเป็นชนกของชนนีในสมเด็จพระศรีสุราไลย ...

ฝ่ายชนนีของพระชนนี (คือมารดาของมารดาของสมเด็จพระศรีสุราลัย) ซึ่งเป็นไทยสกูลชาวสวนวัดหนัง ผู้เปนภรรยาของพระยาราชวังสัน (หวัง) ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น มีนามว่า "ชู" นับว่าเป็นราชินิกูลชั้น ๑ เหมือนกัน เดิมก็ย่อมอยู่ณะเคหะสถานแห่งบุรพชนในสกูลชาวสวนวัดหนัง ถึงแม้ว่าภายหลังจักต้องย้ายสถานที่ใหม่มาอยู่กับสามีก็ดี สถานที่เดิมของบุรพชนยังมีสำคัญอยู่ คือต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดหนังในคลองบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรีใต้ เปนเครื่องหมายสำหรับสกูลชาวสวนวัดหนัง อันเปนบุรพชนของพระชนนีฝ่ายชนนี ดังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

เจ้าจอมมารดาเรียมเป็นธิดาองค์เดียวในพระชนนีเพ็ง เจ้าจอมมารดาเรียมได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร และเมื่อทรงประทับอยู่พระราชวังเดิม เจ้าจอมมารดาเรียมทรงให้ประสูติพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ

๑. พระองค์เจ้าทับ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นี้

๒. พระองค์เจ้าป้อม ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีจอโทศก จุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๓๓ สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ พุทธศักราช ๒๓๓๖ พระชันษา ๓ ปี

๓. พระองค์เจ้าหนูดำ ประสูติเมื่อเดือน ๔ ปีชวดจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๕๔ พุทธศักราช ๒๓๓๕ สิ้นพระชนม์ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปีฉลูเบญจศก จุลศักราช ๑๑๕๕ พุทธศักราช ๒๓๓๖ พระชันษา ๑ ปี

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เจ้าจอมมารดาเรียมและพระราชโอรสก็ได้โดยเสด็จมาประทับในพระบรมมหาราชวังตามโบราณราชประเพณี เจ้าจอมมารดาเรียมได้รับราชการที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง

พระองค์เจ้าทับทรงพระเจริญมาโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาและพระเมตตา จากสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมาแต่ทรงพระเยาว์ ถึงเกณฑ์กำหนดโสกันต์ ในขณะนั้นยังหามีธรรมเนียมพระโอรสเจ้าฟ้าต่างกรมโสกันต์ไม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชทรงพระมหากรุณาในพระราชนัดดาพระองค์นี้ จึงโปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ ครั้นถึงกำหนดทรงบรรพชาและอุปสมบท สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ในทำพระราชพิธีเฉพาะพระพักตร์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสองคราวด้วย

ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จดำรงพระยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในท้ายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น พระองค์เจ้าทับก็ได้ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ ได้รับราชการในสมเด็จพระบรมชนกนาถทั่วไป เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต ทรงมอบเวนสิริราชสมบัติพระราชแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถแล้ว เกิดเหตุด้วยมีหนังสือทิ้งกล่าวโทษเจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสให้สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะคิดประทุษร้ายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เมื่อทรงทราบก็ทรงพระราชดำริว่า ถ้าจะให้ผู้อื่นชำระความคดีนี้เนื้อความจะยืดยาว หรือคลาดเคลื่อนไป หากทำการไม่รอบคอบมั่นคงก็จะเป็นเหตุให้เกิดเสี้ยนศึกศัตรูลุกลามออกไป ด้วยเหตุที่ว่าในเวลานั้นข้าราชการซึ่งเป็นคนเก่าแก่ได้ทำราชการมาแต่ครั้งกรุงธนบุรียังมีอยู่มาก ที่ยังนิยมยินดีต่อพระบารมีของเชื้อวงศ์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีมากอยู่ ที่มีความนิยมยกย่องจงรักสวามิภักดิ์ในสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และที่นิยมยินดีสวามิภักดิ์ต่อพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระองค์ก็มีมาก ทั้งสองฝักสองฝ่ายก็มีอยู่โดยมากที่คิดเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนที่จะได้โอกาสคิดทุจริตทำการเป็นความชอบต่อพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่นี้ อาจเกิดเหตุอุบาทว์กลางเมืองขึ้นได้

ดังนั้นผู้ที่จะรับสนองพระราชกิจครั้งนี้ต้องเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ประกอบด้วยสติปัญญา ความกล้าหาญ และจงรักภักดี จึงจะชำระเสี้ยนศึกศัตรูระงับการจลาจล ซึ่งจะเกิดขึ้นในพระนครในเวลาที่ตั้งราชธานีใหม่และผลัดแผ่นดินใหม่ครั้งนี้ ยังไม่มั่นคงบริบูรณ์ ดังนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่แผ่นดินทั้งปวง อีกทั้งไม่เป็นที่หมิ่นประมาณแก่อริราชศัตรูภายนอกจะพลอยซ้ำเติมเอาได้ พระองค์ตระหนักในพระราชหฤทัยว่าผู้ซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติดังกล่าว เห็นจะมีแต่พระราชโอรสพระองค์โต พระองค์เจ้าทับ จึงทรงมอบให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นั้นชำระความเรื่องทิ้งหนังสือกล่าวโทษนี้ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับในขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง ๒๓ ปี แต่ด้วยพระสติปัญญา ความกล้าหาญ พระองค์ได้ทรงพิจารณาความ ค้นคว้าหาเรื่องเรื่องราวชำระได้ตัวผู้มีความผิดทั่วทุกตัวคน แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้ลงโทษระงับเหตุทั้งปวงได้โดยเร็ว เหตุการณ์ก็สงบเรียบร้อยมีได้ลุกลามเกิดเหตุอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยขึ้นอย่างใดอย่างหนึ่งอีก ด้วยความยุติธรรมในการชำระความของพระเจ้าลูกเธอพระองค์นั้น

ครั้นเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถได้เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเษกแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนพระเกียรติยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับขึ้นเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ และทรงพระกรุณาพระราชทานที่วังและเครื่องอุปโภคบริโภคทรัพย์ศฤงคารบริวารของกรมขุนกษัตรานุชิตผู้เป็นโทษต้องประหารให้เป็นบำเหน็จ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ปกครองบริวารเหล่านั้นเป็นสุขสืบมา

ในรัชกาลสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้ทรงบำเพ็ญราชกิจใหญ่น้อยให้สำเร็จลุล่วงเป็นอันมาก เมื่อต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นช่วงเวลาที่เพิ่งตั้งราชธานีใหม่ พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายใช้การแผ่นดินก็ได้แต่ค่านาอากรสมพักสรในพื้นเมืองเป็นหลัก ซึ่งก็เพียงเล็กน้อยไม่พอที่จะจ่ายราชการ พระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงตกแต่งสำเภาหลวงบรรทุกสินค้าในพื้นเมืองออกไปค้าขายยังประเทศจีน พระราชกิจนี้ก็ตกเป็นหน้าที่ในพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ด้วยทรงรับบังคับบัญชาราชการในกรมท่าขณะนั้น พระองค์จึงต้องขวนขวายหาพระราชทรัพย์ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ ที่จะได้ทรงใช้จ่ายในราชการแผ่นดินทั้งปวงซึ่งมีมากในช่วงเวลาที่ตั้งราชธานีใหม่ พระราชทรัพย์ซึ่งได้จากส่วนของกำไรการแต่งสำเภาหลวงออกไปค้าขาย ยังไม่บริบูรณ์พอจะใช้จ่ายในราชการแผ่นดิน พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงตกแต่งสำเภาในส่วนพระองค์ออกไปค้าขายอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ได้ผลประโยชน์กำไรมาก็ทูลเกล้าฯ ถวายไว้ในสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทรัพย์ที่จะทรงจับจ่ายในราชการแผ่นดินจึงถึงที่บริบูรณ์เพียงพอ มิได้เป็นที่ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาทอีกต่อไป สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ยิ่ง ตรัสประพาสออกพระนามว่า “เจ้าสัว” เสมอมา

การโยธาก่อสร้างสิ่งต่างเพื่อเป็นศรีพระนครแห่งใหม่นั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรได้ทรงทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมชนกนาถหลายอย่าง ทั้งการการโยธาที่จะการป้องกันพระนครและการโยธาซึ่งเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เกื้อกูลแก่ความปิติสุขความยินดีในสมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองประการพร้อมกัน พระองค์ทรงรับหน้าที่เป็นแม่กองในการสร้างป้อมประโคนชัยแห่ง ๑ ป้อมนารายณ์ปราบศึกแห่ง ๑ ป้อมปราการแห่ง ๑ ป้อมกายสิทธิ์แห่ง ๑ ป้อมผีเสื้อสมุทรซึ่งตั้งบนเกาะกลางลำแม่น้ำเจ้าพระยาแห่ง ๑ และป้อมนาคราชซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตก พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรเสด็จลงไปประทับอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ ทรงบังคับบัญชาจัดการก่อสร้างป้อมทั้งปวงอยู่มิได้ขาด เป็นพระราชกิจที่ติดอยู่กับพระองค์จนตลอดแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ ส่วนการโยธาซึ่งจะเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรได้ทรงรับเป็นแม่กองขุดสระ ทำสวน สร้างเก๋งน้อยใหญ่ในพระราชอุทยานซึ่งเรียกกันว่า สวนขวา ให้เป็นที่เสด็จประพาสรื่นรมย์สำราญพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถ และเป็นเกียรติเป็นศรีสำหรับพระนครเป็นอันมาก

ในราชการสงครามซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในช่วงเวลาตั้งราชธานีและผลัดแผ่นดินใหม่นั้น เมื่อปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ มีพระจากแดนพม่ารูป ๑ ชื่อสมีเคียนอู่เข้ามาถึงพระนคร โปรดให้เจ้าพนักงานถามคำให้การ ได้ความว่าพระเจ้าอังวะปะดุงสิ้นพระชนม์ ถึงเดือน ๑๑ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พุทธศักราช ๒๓๖๓ พระยาภักดีสงครามสมิงอาทมาตกองตระเวน ออกไปลาดตระเวนสืบข่าวทางชายแดนพม่า จับได้อ้ายเยละนายด่านบ้านโป่ง อ้ายงะจันตนะ อ้ายงะโค ซึ่งเจ้าเมืองเมาะตะมะให้คุมไพร่เข้ามาสืบราชการ ณ ตำบลด่านลุมช้าง ส่งตัวเข้ามายังพระนคร โปรดให้ถามคำให้การได้ความว่าเมื่อพระเจ้าอังวะปะดุงมินสิ้นพระชนม์ ราชสมบัติได้แก่พระเจ้าอังวะจักกายมิน ปราบปรามเมืองมณีบุระซึ่งแข็งเมืองไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นตั้งแต่รัชสมัยจิงกูมินมหาธรรมราชาธิราชได้สำเร็จ แล้วคิดจะยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทย เพื่อจะให้เป็นเกียรติยศว่าทำการซึ่งพระอัยกาปะดุงมินทำไม่สำเร็จนั้นได้ จักกายมินให้หาเจ้าเมืองทวาย เจ้าเมืองเชียง เจ้าเมืองเมาะลำเลิงขึ้นไปคิดราชการสงครามจะเข้ามาตีเมืองไทย และให้การว่าเมื่อเดือน ๙ สมิงหาญหักค่ายรามัญหนีออกไปเมืองมฤท บอกข่าวว่า ในเดือน ๗ ปีมะโรงโทศกนั้น เกิดไข้อหิวาตกโรคในกรุงเทพฯ ผู้คนล้มตายมาก ศพคนตายทั้งชายหญิงทิ้งเกลื่อนวัดก่ายกันเหมือนกองฟืน ถึงมีศพลอยในแม่น้ำลำคลองเกลื่อนกลาดติดต่อกันไปทุกคุ้งแคว พระสงฆ์ไม่อยู่วัด คฤหัสถ์ทิ้งบ้าน ย่านถนนหนทางไม่มีคนเดิน ต่างคนต่างกินปลาแห้งกับพริกเกลือด้วยกลัวห่า ราษฎรพากันหวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อมหันตภัยไปทั่วพระนคร ระส่ำระสายเป็นอันมาก เจ้าเมืองเมาะตะมะจึงแต่งให้เจ้าเมืองพังดารนายไพร่เข้าจับไทยทางท่าดินแดงไปสอบ ถ้าได้ความตามนั้นจะนำทูลพระเจ้าอังวะให้ยกกองทัพมาทางเอาเมืองไทย ฝ่ายพระยาถลางข้างใต้แต่งคนไปสืบราชการทางเมืองมฤท เมืองตะนาวศรี ก็ได้ความว่าพม่าเตรียมต่อเรือขึ้นเป็นมาก

เมื่อทราบทราบข่าวสงครามต้องกันทั้ง ๒ ทางดังนี้แล้ว จึงทรงปรึกษาพระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อย เห็นพร้อมกันว่าพม่าเตรียมการใหญ่ครั้งนี้ ข้างฝ่ายเราจะนิ่งประมาทอยู่ไม่ได้ ควรให้มีกองทัพไปตั้งขัดตาทัพไว้ หากพม่ารู้ว่าไทยรู้ตัวให้กองทัพไปตั้งสกัดไว้ก็คงจะไม่ยกมา หากแม้จะยกมาจริงกองทัพที่ยกไปก็จะได้ปะทะปะทังถ่วงไว้ พอตระเตรียมกองทัพใหญ่รับศึกพม่าได้ทัน ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพไปตั้งขัดตาทัพที่เมืองเพชรบุรีกอง ๑ และโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นแม่ทัพคุมคนหมื่นหนึ่งไปตั้งขัดตาทัพทางด่านเมืองราชบุรี เมืองกาญจนบุรีอีกทาง ๑ ด้วยทรงเห็นถึงสติปัญญา ปฏิภาณความเฉลียวฉลาด กล้าหาญ ชำนาญพิชัยสงครามทั้ง ๒ พระองค์พอจะสนองพระราชกิจครั้งนี้ได้ โปรดยกจากพระนครพร้อมกัน ณ วันศุกร์ เดือน ๑ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีมะโรงโทศกนั้น


ส่วนหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกนั้น โปรดให้พระยากลาโหมราชเสนา (ทองอิน) คุมพลไปตั้งรักษาเมืองถลางกอง ๑ พระยาศรสำแดงไปรักษาเมืองพัทลุงกอง ๑ พระยาพิไชยสงครามไปรักษาเมืองพัทลุงกอง ๑ และให้เกณฑ์พลเมืองสงขลาเมืองพัทลุงรวมกันยกออกไปตั้งต่อเรือสำหรับบรรทุกทหารที่เมืองสตูล ส่วนที่เมืองนครศรีธรรมราชเวลานั้นพระยานคร (น้อย) ป่วย โปรดให้พระยาวิชิตณรงค์คุมกำลังลงไปช่วยรักษาเมืองนคร และให้พระพงษ์นรินทร์ราชบุตรพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งรับราชการเป็นหมอหลวงอยู่ ลงไปรักษาเมืองนครด้วย มีท้องตราสั่งไปว่า ถ้าเกิดศึกพม่าจริงแล้ว ให้พระยานคร (น้อย) เป็นแม่ทัพ พระยาวิชิตณรงค์เป็นปลัดทัพ พระพงษ์นรินทร์เป็นยกบัตรทัพ

พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จไปตั้งทัพหลวงที่แม่น้ำน้อย เมืองกาญจนบุรี แต่งให้พระยารัตนจักรไปสืบราชการ จับได้พม่าที่ด่านมองละแขวงเมืองทวาย ๘ คน ให้การว่า เจ้าเมืองทวายให้ปลูกฉางขึ้น ๓ ฉางจะขนข้าวเมืองยะไข่มาไว้ เดือน ๖ เดือน ๗ จะตั้งกองทำนาที่เมืองทะวายสะสมเสบียง ปีมะเส็งตรีศกจะยกเข้ามาตีกรุงเทพฯ กองทัพหลวงตั้งขัดตาทัพจนเข้าฤดูฝนไม่มีกองทัพพม่ายกมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่าพม่าให้ปลูกฉางลำเลียงเสบียงอาหารสำรองไว้ดังนั้น เห็นจะคิดทำการติดปีหน้า ในเวลานั้นเข้าฤดูฝนพ้นฤดูศึกสงครามแล้ว เห็นจะไม่มีศึกสงครามในฤดูฝนนั้นเป็นแน่ จึงโปรดให้มีท้องตราให้หากองทัพพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ และพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กลับคืนพระนครทั้ง ๒ ทัพ ให้เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) พระยามหาโยธา คุมพลอยู่รักษาราชการ แลให้หาพระยากลาโหมราชเสนากลับเข้ามาคุมทัพ ๘,๒๐๐ ไปตั้งขัดตาทัพที่เมืองราชบุรี

อนึ่ง เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงยกไปตั้งขัดตาทัพนั้น ก็มิได้เฉยอยู่ ยังคำนึงถึงหน้าที่แม่กองโยธาการก่อสร้างสวนขวาในพระนคร โปรดให้เลือกเฟ้นศิลาก้อนใหญ่ๆ จัดส่งเข้ามาก่อเขาก่อถ้ำในพระราชอุทยานอยู่เสมอมิได้ขาด

ในส่วนการพระกุศลในพระพุทธศาสนานั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงพระศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นที่ยิ่ง ทรงสร้างพระพุทธปฏิมากรหลายพระองค์ และทรงจัดสร้างพระไตรปิฎกทั้งคำอรรถคำแปลมีมงคลลัตถทีปนีแปลที่ปรากฏอยู่สืบต่อมา เป็นต้น ทรงบำเพ็ญพระกุศลปฏิบัติเลี้ยงสงฆ์และมีพระธรรมเทศนาจาระไนพระพุทธวจนะที่วังของพระองค์ทุกวันมิได้ขาด ทั้งประทานเงินเดือนให้แก่อาจารย์ที่บอกพระคัมภีร์แก่พระสงฆ์สามเณรเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี้ยงอาหารยาจกวนิพกราษฎรทั่วหน้า ถึงวันพระก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงินแก่คนชราคนพิการคนยากจนเป็นนิจ ส่วนการพระกุศลซึ่งเป็นการจรตามกาลสมัย พระองค์ก็ได้ทำทรงบำเพ็ญอยู่เนืองๆ คราวที่ปรากฏเป็นการใหญ่นั้นได้แก่ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชสามเณร พระองค์ได้เชิญมาทรงเทศนาพระเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี และพระองค์ได้แต่งกระจาดใหญ่เป็นเครื่องบูชากัณฑ์เทศน์ ครั้งนั้นพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและราษฎรทั้งปวง ก็พากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาพระกุศลเป็นการเอิกเกริกยิ่งใหญ่ ดังที่เล่ามาแล้ว

การพระราชกุศลในบวรพระพุทธศาสนาทั้งปวงที่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงบำเพ็ญนั้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ก็ทรงอนุโมทนาและสรรเสริญเป็นอันมาก ทรงพระราชดำริว่า แต่พระเจ้าลูกยาเธอยังทำทานบำเพ็ญพระกุศลอยู่เป็นนิจดังนี้ พระองค์ทรงเป็นถึงพระเจ้าแผ่นดินควรที่พระองค์จะบำเพ็ญทานให้เป็นที่ยิ่งกว่านั้นบ้าง จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงทานหลวงเลี้ยงพระสงฆ์และยาจกวนิพกทั้งราษฎรทั่วไปทั้งปวง แล้วโปรดให้มีเทศนาพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแจกเงินแก่คนชราคนพิการคนยากจน เป็นแบบอย่างสืบต่อมาในรัชกาลภายหลัง

ในด้านพระอัธยาศัยพระจริตสันดาน พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ปราศจากความมัจฉริยะตระหนี่ถี่เหนียว ทรงโอบอ้อมอารีเกื้อกูลเจือจานทั่วหน้า ไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการ บรรดาซึ่งมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และที่อยู่ประจำราชการในพระราชวัง พระองค์ก็โปรดให้ทำอาหารการกินเลี้ยงที่วังทั่วหน้าทุกวันทุกเวลามิได้ขาด เป็นที่สรรเสริญนิยมรักใคร่ในพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ เป็นที่นิยมรักใคร่เคารพนับถือในบรรดาข้าราชการทั้งปวงทุกคน

ขณะเมื่อสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น เสด็จลงมาประทับพิพากษาชำระคดีใหญ่ และความรับสั่ง ณ โรงละครใกล้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ได้เสด็จในที่ประชุมพิพากษาชำระคดี เป็นประธานด้วยพระองค์หนึ่งมิได้ขาดหน้าที่ราชการ ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตแล้ว พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรจึงทรงรับตำแหน่งบังคับบัญชาสิทธิ์ขาดในกรมพระตำรวจ ว่าความรับสั่งทั้งปวง ด้วยอาศัยพระเมตตาพระกรุณาของพระองค์ต่อราษฎร และพระสติปัญญาปรีชาสามารถ อีกทั้งพระเดชานุภาพซึ่งมีมูลจากความนิยมรักใคร่มีใจสวามิภักดิ์ของข้าราชการและราษฎรนั้น ทรงพิจารณาไต่สวนข้อความคดีให้แล้วให้ลุล่วงไปด้วยความยุติธรรมโดยเร็ว เป็นที่ชื่นชมนิยมยินดีของอาณาประชาราษฎรทั้งปวง ยิ่งเพิ่มจิตคิดสวามิภักดิ์ถวายในพระองค์เป็นอันมาก อีกทั้งเป็นที่เบาพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถ มิได้มีพระราชกังวลหม่นหมองเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยเลย

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงพระอุตสาหะเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเวลาเสด็จพระราชดำเนินว่าราชกิจการต่างๆ ตามตำแหน่งหน้าที่ของพระองค์เป็นนิจทุกเวลามิได้ขาดทั้งค่ำเช้า ถึงเมื่อจะเป็นเวลาที่ฝนตกมากน้อยเท่าใด พระองค์ก็มิได้รั้งรอให้ฝนหานเคลื่อนคลายเวลาราชการ ทรงพระอุตสาหะเสด็จมาเฝ้าจนได้ พระองค์ทรงพระดำริแปลงแคร่กันยา ซึ่งเป็นของข้าราชใช้ในตอนนั้น ให้เป็นพระวอขนาดน้อยหุ้มด้วยผ้าขี้ผึ้ง สำหรับทรงเวลาเสด็จเข้ามาทำราชการในพระราชวังเวลาที่มีฝน พระวอนั้นต่อมาเมื่อเถลิงราชสมบัติแล้ว จึงพระราชทานนามว่า วอประเวศวัง เป็นแบบอย่างสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งทรงกรมทรงทำตาม สำหรับทรงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสืบมา

พระองค์ทรงพระราชกิจน้อยใหญ่ถึงเพียงนี้ จึงเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมชนกนาถยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่น ได้ทรงบัญชาราชกิจทั้งปวงเกือบจะทั่วไปในครั้งนั้น เป็นที่นิยมรักใคร่ยินดีมีจิตสวามิภักดิ์ในพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ภิกษุสงฆ์สมณชีพราหมณ์ และบรรดาไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎรทั้งปวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต โดยมิได้มอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดเช่นนี้ จึงต้องปฏิบัติตามพระราชประเพณีโบราณ พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการใหญ่น้อยจึงปรึกษาพร้อมใจกันเห็นว่าพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงพระสติปัญญาพระปรีชาสามารถในราชกิจใหญ่น้อยที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นที่ประจักษ์ มีน้ำพระทัยเมตตากรุณาโอบอ้อมอารีแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พระภิกษุสงฆ์สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราษฎรทั้งปวง มิได้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินได้

จึงอาศัยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ สละเพศคฤหัสถ์ทรงผนวชตามราชประเพณีนั้น ให้ไปทูลถามว่าพระองค์จะทรงปรารถนาในราชสมบัติหรือจะทรงผนวชอยู่ต่อไป ฝ่ายพระภิกษุสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระ วชิรญาณทรงทราบกิติศัพท์นี้อยู่แล้ว ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์พระเจ้าน้าพระองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามสิทธิ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระ วชิรญาณ เมื่อทรงพิจารณามูลเหตุปัจจัยด้วยพระสติปัญญาแล้ว ทรงไม่เห็นด้วย ว่าถ้าหากพระองค์ทรงปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์และบรรดาข้าราชการคงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมืองเป็นอัปมงคลได้ จึงไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาและพระอาจารย์ซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งไปทูลปรึกษากรมหมื่นเดชอดิศรพระเชษฐาซึ่งทรงเคารพนับถือ และทั้งสองพระองค์นี้เป็นที่เคารพนับถือในพระบรมวงศานุวงศ์เป็นที่ยิ่ง ทั้งสองพระองค์ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระวชิรญาณทรงพิจารณาแล้วเห็นจริงตามนั้น หากพระองค์ทรงลาสิกขาออกครองเพศคฤหัสถ์จะเป็นที่กีดขวางแก่ราชการแผ่นดิน ยังให้เกิดความแตกแยก จึงให้ไปทูลที่ประชุมว่า พระองค์มีพระประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นสิ้นความลำบากในการที่จะปรึกษาถวายราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ การตัดสินพระทัยด้วยพระสติปัญญาอันอยู่เหนือโลภาคติดังนั้น ยังความสมัครสามานสมัคคีในระหว่างพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการให้กลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว จึงนิยมยินดีพร้อมใจถวายพระราชสมบัติทั้งปวงแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร ให้เป็นที่พึ่งแก่แผ่นดินทั้งปวงสืบต่อไป

ในเรื่องถวายพระราชสมบัติแด่พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นี้ ปรากฏกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือ ความทรงจำ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกอย่างหนึ่งว่า “...เคยตรัสปรารภว่าซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงรับราชสมบัติในครั้งนั้น ที่จริงกลับเป็นคุณแก่ประเทศสยาม เพราะในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาความรู้แต่ตามแบบโบราณ การงานบ้านเมืองก็ทรงทราบเพียงเท่ากับเจ้านายพระองค์อื่น ถ้าได้รับราชสมบัติในเวลานั้น พระบรมราโชบายในการปกครองบ้านเมือง ก็น่าจะเป็นทางเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง ที่ทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ ได้มีโอกาสเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศและทรงทราบความสุขทุกข์ของราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง กับทั้งได้โอกาสทรงศึกษาวิชาความรู้และภาษาฝรั่ง พอทันเวลาที่ฝรั่งจะเริ่มแผ่อำนาจมาถึงประเทศสยาม พิเคราะห์ดูราวกับชาตาบ้านเมืองบันดาลให้เสด็จรอมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อเมื่อมีความสามารถจะอำนวยรัฏฐาภิปาลโนบายได้ตามความต้องการของบ้านเมือง...” หากได้พิจารณาศึกษาพระราชพงศาวดารในรัชกาลที่ ๔ คงจะเห็นเป็นอัศจรรย์จริงดังกระแสพระราชดำริ

วันพฤหัสบดีเดือน ๙ ขึ้น ๔ ค่ำ พระสงฆ์เจริญพระปริตรพุทธมนต์ ๓ วัน ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือนเก้า ขึ้น ๗ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ ได้ฤกษ์สรงน้ำปัญจมหานทีมุรธาภิเษก ทรงผลัดเครื่องทรงสีแดงแล้วเสด็จขึ้นยังพระที่นั่งภัทรบิฐรับพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามตามโบราณราชประเพณีว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนกาศภาสกรวงศ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชาชาติอาชาวไสย สมุไทยดโรมน สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐฤทธิราเมศวร ธรรมมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศรโลกเชษฐวิสุทธิ มกุฎประเทศคตามหาพุทธางกูร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัยราชสมบัติ กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน” ต้องกันกับสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช สมเด็จพระบรมปฐมกษัตริย์ และสมเด็จพระบรมชนกนารถ พระพุทธเจ้าหลวง และทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เจษฎาวุธ



เสร็จแล้วเสด็จขึ้นพระมหามณเฑียรปรนนิบัติพระสงฆ์ฉัน ถวายไทยธรรมแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร ข้าราชการเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมพร้อมกัน เจ้าพระยาที่สมุหนายกสมุหกลาโหมและเจ้าพระยาจตุสดมภ์ทั้ง ๔ กราบทูลถวายสิ่งทั้งปวงตามที่ในตำแหน่ง ทรงปฏิสันถารแล้วเสด็จขึ้นข้างใน ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเฝ้าถวายบังคม ท้าวสมศักดิ์ทูลถวายสิบสองพระกำนัลและสรรพสิ่งฝ่ายในแล้ว เสด็จขึ้นพระมหามณเฑียร พระบรมวงศ์เธอผู้ใหญ่ถวายดอกหมากทองคำ ท้าวทรงกันดารถวายลูกกุญแจ จากนั้นก็เสวยพระกระยาหารเสร็จเสด็จพระราชดำเนินไปตามทางข้างใน ทรงโปรยดอกพิกุลทองเงินและเงินสลึงตามทางเสด็จ จนถึงพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ถวายบังคมพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สดับปกรณ์แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงโปรยดอกพิกุลทองเงินมาตามทางข้างใน เสด็จขึ้นยังพระมหามณเฑียร แล้วจึงเวียนเทียนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน

รุ่งขึ้น พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ถวายตัวเป็นข้าทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบต่อไป แล้วจึงจัดการตั้งกระบวนแห่เสด็จเลียบพระนคร เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุได้ ๓๘ พรรษา คิดอายุโหรได้ ๓๖ ปี ๔ เดือน ๑๒ วัน

และโปรดเกล้าฯ สถาปนากรมหมื่นศักดิพลเสพย์ พระบิตุจฉาธิราชขึ้นทรงที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ศกนั้น

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ เมื่อทรงพระเยาว์ออกพระนามกันว่าพระองค์ช้าง ต่อมาเมื่อทรงพระเจริญขึ้นได้พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าอรุโณทัย ประสูติในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อ ณ วันศุกร์เดือน ๑๑ แรม ๓ ค่ำ ปีมะเส็งสัปตศก จุลศักราช ๑๑๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๒๘ เป็นพระเจ้าลูกเธอลำดับที่ ๑๗ ในจำนวนพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ ธิดาเจ้าพระยานคร (พัฒน์) เป็นเจ้าจอมมารดา

ถึงปีเถาะนพศก จ.ศ. ๑๑๖๙ พุทธศักราช ๒๓๕๐ เนื่องในงานอุปราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฉิม กรมหลวงอิศรสุนทร เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น โปรดให้ตั้งพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย เป็นกรมหมื่นศักดิพลเสพด้วยพระองค์ ๑ ทรงกรมอยู่ ๓ ปีก็สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๗ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒ นั้น

พอเปลี่ยนแผ่นดินไม่ช้านัก พม่าก็ยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ในต้นปีมะเส็งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชโปรดฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นจอมพล เสด็จยกทัพไปปราบปราม เมื่อเสร็จศึกพม่าคราวนั้นแล้ว ในปีมะเมียโทศก จ.ศ. ๑๑๗๒ พุทธศักราช ๒๓๕๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายมีหน้าที่กำกับราชการกระทรวงต่างๆ เป็นคราวแรกในพงศาวดาร พระเจ้าลูกยาเธอเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้สำเร็จราชการกรมท่า และปรากฏว่ากรมหมื่นศักดิพลเสพได้ทรงกำกับราชการกลาโหมในคราวนี้ด้วย กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงมาพระชนมายุแก่กว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ๒ ปี จึงเป็นที่รักใคร่สนิทสนมกันมา และทรงทำราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยกันมาทั้ง ๒ พระองค์

ในจดหมายเหตุเก่าว่า ราวปีจอ จ.ศ. ๑๑๗๓ พุทธศักราช ๒๓๕๔ เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพทรงบัญชาการกลาโหมแล้ว ครั้งนั้นเจ้าพระนคร (พัฒน์) ชราทุพพลภาพ กราบถวายบังคมลาออกจากที่เจ้าพระยานคร และโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวางผู้กำกับราชการ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแมตรีศก จ.ศ. ๑๑๗๓ เสด็จออก ณ พระชาลาพลับพลาน้อยริมท้องพระโรง พระราชทานท้องสารตรา โปรดเกล้าฯให้พระบริรักษ์ภูเบศร์ (น้อย) บุตรเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) เป็นที่พระยานครศรีธรรมโศกราชฯ พระยานครศรีธรรมราช กรมหมื่นศักดิ์พลเสพซึ่งทรงกำกับราชการกลาโหมได้กราบบังคมทูลเรื่องตำแหน่งการกรมการเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยหัวเมืองปักษ์ใต้ในสมัยนั้นขึ้นต่อกลาโหม ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะแมตรีศกนั้น พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) กลับออกไปถึงเมืองแล้ว จึงให้เชิญพระอัยการตำแหน่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในบรมโกศทรงชำระใหม่ กับสมุดทำเนียบตำแหน่งกรมการเมืองนคร ครั้งพระยาไชยาธิเบศร์ออกมาเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราช เมื่อปีจอจัตวาศก จ.ศ. ๑๑๐๔ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กรุงศรีอยุธยา มาสอบกัน ในพระอัยการที่ทรงชำระใหม่มีแต่ตำแหน่งกรมการผู้ใหญ่ แต่ทำเนียบเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยามีตำแหน่งกรมการผู้น้อยด้วย จึงเป็นพระอัยการทำเนียบทั้ง ๒ นั้นมาบรรจบกันเป็นทำเนียบใหม่

หัวเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่ก่อนมากำหนดเป็น ๔ ชั้น เรียกว่า เมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา หัวเมืองชั้นเอกแต่เดิมมี ๒ เมือง ฝ่ายเหนือได้แก่เมืองพิษณุโลก ฝ่ายใต้ได้แก่เมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็นราชธานีมีอิสระ ทั้งเป็นเมืองใหญ่อยู่หน้าด่าน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า เจ้าพระยาสุรสีห์ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก แลเจ้าพระยาศรีธรรมโศการาชผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช ๒ ตำแหน่งนี้ แต่โบราณมีบรรดาศักดิ์รองอัครมหาเสนาบดี แต่สูงกว่าจตุสดมภ์ จะพึงเห็นตัวอย่างได้ ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท เมืองครั้งกรุงธนบุรี เป็นตำแหน่งพระยายมราชอยู่ก่อน แล้วจึงเลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก ซึ่งหมายถึงเจ้าพระยายมราชในตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์กรมเมือง เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ในทำเนียบตำแหน่งกรมการซึ่งปรากฏอยู่ในกฎหมายลักษณะศักดินา กรมการเมืองเอกมีครบกระทรวงจตุสดมภ์ และยังมีตำรวจด้วย กรมการเมืองโทเมืองตรี มีตำแหน่งน้อยลงมา แต่ยังครบกระทรวง ส่วนเมืองจัตวานั้น ไม่มีตำแหน่งจตุสดมภ์เลย

กรมหมื่นศักดิพลเสพทรงชำระและจัดทำเนียบเมืองนครศรีธรรมราช แสดงถึงพระสติปัญญาสามารถ และเป็นความชอบในกรมหมื่นศักดิ์พลเสพครั้ง ๑ ซึ่งมีความพิสดารในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชำระนั้นแล้ว

ต่อมาราวปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ พุทธศักราช ๒๓๕๗ เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พัฒน์) จางวางเมืองนครศรีธรรมราชถึงแก่อสัญกรรม จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพเสด็จออกไปเมืองนครศรีธรรมราชในการปลงศพเจ้าคุณตา เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวาง และเป็นโอกาสเสด็จไปทรงตรวจระเบียบทำเนียบที่ได้ทรงจัดไว้นั้น (ในสมัยไม่มีประเพณีที่เจ้านายจะเสด็จออกไปถึงหัวเมืองทางไกล เช่นเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากมีราชการสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเสด็จไปในราชการทัพศึก) เมื่อเสด็จไปปลงศพเจ้าคุณตาครั้งนี้ ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองตลอดลงไปจนกำหนดเขตแขวงสำหรับการปกครองส่วนท้องที่ แสดงถึงพระสติปัญญาสามารถอีกครั้ง ๑

ถึงปีเถาะเอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ พุทธศักราช ๒๓๖๒ ได้ข่าวศึกพม่า ดังได้เล่าไว้แล้วในพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอซ้ำเพียงสั้นๆ ในเรื่องพระประวัติกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์นี้ เพียงแสดงถึงการทำราชการสนองพระเดชพระคุณของทั้ง ๒ พระองค์ร่วมกันมา ครั้งนั้นได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ผู้สำเร็จกำกับกลาโหมเป็นแม่ทัพคุมพลไปตั้งขัดตาทัพอยู่ที่เมืองเพชรบุรีกอง ๑ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ผู้สำเร็จราชการกรมท่าเป็นแม่ทัพคุมพลไปตั้งขัดตาทัพทางด่านเมืองราชบุรีและกาญจนบุรีทาง ๑ จนเข้าฤดูฝนไม่มีกองทัพพม่ายกมาพ้นฤดูทัพศึกแล้ว จึงโปรดให้มีตราให้หากองทัพทั้ง ๒ กอง กลับคืนพระนคร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต มิได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแด่พระราชวงศ์พระองค์ใด พระราชวงศานุวงศ์และเสนาบดีข้าราชการปรึกษาพร้อมกัน ถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เมื่อบรมราชาภิเษกแล้วจึงทรงพระราชทานอุปราชาภิเษกกรมหมื่นศักดิพลเสพ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ด้วยเหตุที่อ้างถึงในพระวัติข้างต้นนี้ ทั้งยังทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และอีกประการหนึ่งทรงพระราชปรารถว่า พระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งสร้างในรัชกาลที่ ๑ นั้นถึงกาลชำรุดทรุดโทรม กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ เป็นพระราชบุตรเขยในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ด้วยทรงได้พระองค์เจ้าดาราวดีเป็นพระชายา เมื่อพระราชทานอุปราชาภิเษกจึงโปรดฯให้เสด็จไปเฉลิมพระราชมณเฑียรประทับอยู่ที่พระราชวังบวรฯ จะได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ต่อไป

ตั้งแต่ได้รับอุปราชาภิเษกแล้ว กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้เป็นกำลังแผ่นดินรับราชการสนองพระเดชพระคุณตลอดมา ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือที่ได้ทรงดำรงตำแหน่งจอมพล ยกทัพไปปราบเจ้าอนุเวียงจันทน์เมื่อเป็นขบถ และราชการอื่น เช่นจัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราชดังได้กล่าวแล้วเป็นต้น

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์พระราชวังบวรฯ ให้คืนดีทั้งวัง สิ่งสำคัญที่กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงสร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังบวรฯ คือ วัดพระแก้ววังหน้า ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๔ โปรดพระราชทานนามว่า วัดบวรพุทธาวาศ ทรงอุทิศที่สวนกระต่ายเดิมสร้างวัดถวายเป็นพุทธบูชา กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพทรงพระพุทธรูปยืนองค์หนึ่ง สำหรับจะประดิษฐานในพระอุโบสถ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จ พอประชวรหนักใกล้จะสวรรคต ทรงจบพระหัตถ์ผ้าห่มประทานไว้แก่พระองค์เจ้าดาราวดี ดำรัสสั่งว่า ต่อไปถ้าท่านผู้ใดเป็นใหญ่ได้ทรงบูรณะวัดนั้น ให้ถวายผ้าผืนนี้ ทูลขอให้ทรงพระแทนพระองค์ด้วย รัชกาลต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงรับผืนนั้นทรงพระพุทธรูปถวายดังพระราชอุทิศของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ กับทั้งทรงสร้างพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยต่อจากมุขเด็จหมู่พระวิมานด้านตะวันออกของเดิมขึ้นอีกองค์ ๑

การภายนอกนั้น ได้ทรงสร้างวัดบวรนิเวศฯ และวัดไพชยนต์พลเสพย์ ที่เมืองนครเขื่อนขันธ์ กับเมื่อครั้งเสด็จกลับจากทัพเวียงจันทน์เมื่อคราวปราบเจ้าอนุ ได้โปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์กำแพงเมืองนครราชสีมาที่พวกขบถเวียงจันทน์ได้รื้อทำลายเสียด้านหนึ่ง ให้คืนดีดังเก่า อีกทั้งยังโปรดให้ขุดคูรอบนอกกำแพงเมืองนครราชสีมา กับทรงพระราชศรัทธาโปรดให้สถาปนาพระอารามขึ้นในเมืองนครราชสีมาอีก ๒ พระอาราม

กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ๘ ปี ประชวรโรคมานน้ำ สวรรคตเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะโรง จุลศักราช ๑๑๙๔ พุทธศักราช ๒๓๗๕ พระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา ประดิษฐานพระศพไว้ที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ถึงเดือน ๕ ปีมะเส็ง เชิญพระศพแห่ออกพระเมรุที่ท้องสนามหลวง มีมหรสพ ๕ วัน พระราชทานเพลิงเมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ แล้วอัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานในพระราชวังบวรฯ แต่นั้นพระราชวังบวรฯ ก็ว่างลงถึง ๑๘ ปี ด้วยไม่ทรงโปรดสถาปนาเจ้านายพระองค์ใดเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจนตลอดรัชกาล

....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 08 เมษายน 2551   
Last Update : 8 เมษายน 2551 9:49:22 น.   
Counter : 3992 Pageviews.  


พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๑ เมื่อทรงพระเยาว์



....................................................................................................................................................


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร์มหามงกุฎ สุทธิสมมุติเทพยพงศ วงศาดิศรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถอดิศวรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศลวิมลปรีชา มหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสารสยามทิโลกดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหาราชาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๔๗ ณ พระราชวังเดิม ในขณะนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระธิดาสมเด็จพระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ (เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์) เป็นสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระราชชนนีทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นตรี ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำรงสกุลยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพมา จนพระชนมพรรษา ๖ พรรษาก็สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมีพระราชโอรสด้วยสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี รวม ๓ พระองค์

๑. เจ้าฟ้าชาย (ยังไม่ได้เฉลิมพระนาม) เป็นลำดับที่ ๓๖ ในบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ยี่ แรม ๔ ค่ำ ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๔๔ และสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เรียกพระนามว่า “เจ้าฟ้าราชกุมาร”

๒. เจ้าฟ้าชายมงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓. เจ้าฟ้าชายจุฑามณี พระราชสมภพเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๑ สวรรคตในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๑๑๒๗ ตรงกับวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๐๘ พระชนพรรษา ๕๘ พรรษา ซึ่งจะกล่าวถึงพระราชประวัติต่อไปข้างหน้า

ในปีกุนเบญจศก พุทธศักราช ๒๓๔๖ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จสวรรคต ต่อมาอีก ๓ ปี ในปีขาลอัฐศก พุทธศักราช ๒๓๔๙ กรมพระราชวังหลัง เสด็จทิวงคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเต็มตามตำ เป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ให้ดำรงพระยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าว่า คุณเสือหรือเจ้าจอมแว่นบาทบริจาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กราบทูลว่า พระราชวังบวรฯ ร้างไม่มีเจ้าของ ทรุดโทรมยับเยินไปมาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ขึ้นไปครองจึงจะสมควร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงโปรดดำรัสว่า “ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักหนา” และทรงรับสั่งว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว คอยเสด็จมาอยู่พระบรมราชวังทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถจึงยังคงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมต่อมา จนปีมะเส็งเอกศก พุทธศักราช ๒๓๕๒ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑



ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จเถลิงถวัลยราชย์ราชสมบัติ สมเด็จพระชนนีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ก็โดยเสด็จเข้ามาพระบรมมหาราชวังและประทับที่ตำหนักแดง อันเป็นพระตำหนักเดิมที่สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์กับสมเด็จพระชนนีเคยเสด็จอยู่แต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นทรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คนทั้งหลายเรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าองค์ใหญ่” หรือ “ทูลกระหม่อมใหญ่” กันตามสะดวกปาก มิฉะนั้นก็เรียกว่า “เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่” หรือ “เจ้าฟ้าใหญ่” เรียกกันอย่างนี้จนกระทั่งเสด็จเสวยราชย์สมบัติ ในเรื่องพระนามที่เรียกกันนี้ ปรากฏพระบรมราชาธิบายในลายพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษที่ทรงมีไปถึงนาย G.W. Eddy เมื่อครั้งยังทรงผนวชดังนี้


To The Gentlemen G.W. Eddy &C &C &C

Sir,


The names by which the common people of Siam call me are “Thun Kramom Fa Yai.” By these two names I find I am generally known in foreign countries. The former is a title expressive of great respect, and is chiefly used by those who are, in law and custom, my inferiors and dependents; as younger brothers and sisters, children, servants and people. The latter is used by those who are nominally my superiors and those who do not feel themselves particularly dependent on me, or accountable to me. The word ‘Thun’ means to put in a high place: ‘kramom’ is the middle of the top or crow of the head: ‘chau’ corresponds to the English word Lord, or the Latin Dominus: ‘Fa’ is sky: but when used in a person’s name, it is merely an adjective of exaltation, and is equivalent to the phrase ‘ as high as the sky.’ The remaining word ‘Yai’ means great, or elder; and I am so called to distinguish me from my brother

But the name which my father, who prededed His Majisty the present king of Siam, gave me and caused to be engraved in a plate of Gold is “Chau Fa Mongkut Sammatt Wongs.” Only the first three of these words, however, are commonly used in public Documents at the present time. ‘Mongkut’ means Crow. The name ‘Chau Fa Mongkut’ means “The high Prince of the Crown” or “His Royal Highness the Crown prince.” I prefer that my friends, when the write me letters, or send parcels to me, will use this name, with the letters ‘T.Y’ prefixed as being that by which I am Known in the Laws and Public Documents of Siam.

But some of my friends at Ceylon who are Mugadhists, have called my name “Wajiranneano” which my preceptor had given me to be used in Budhism: it means thus “he has lightness of skill like a diamond.” Therefore the Singallese generall address me thus “Makuto Wajiraneano Thero.” Makuto is changed from a Siamese name to mugadhism: ‘Thero’ is a term for Chief Priest who are venerable in religious knowledge.

I have the honour to be,
Your sincere friend,
T.Y. Chau Fa Mongkut.



Wat Pawarnives
Northern King Street, Bangkok, Siam
July 14th. A. Ch. 1848


ซึ่งมหามงกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ แปลและจัดพิมพ์ ในงานฉลองครบ ๘๔ ปี มหามงกุฎราชวิทยาลัย เมื่อ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ดังนี้


จดหมายมายังนาย ยี. ดับลยู. เอ๊ดดี ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ให้ทราบ

นามซึ่งคนธรรมดาในสยามเรียกข้าพเจ้านั้นคือ “ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่” แล “เจ้าฟ้าใหญ่” ทั้งสองนามนี้ข้าพเจ้าทราบว่ามักใช้เรียกข้าพเจ้าในต่างประเทศ นามต้นเป็นคำแสดงความนับถืออย่างสูง แลใช้กันโดยมากในพวกที่มียศต่ำกว่า แลผู้ที่พึ่งพำนักข้าพเจ้าตามกฎหมายแลประเพณี เช่นอนุชา ขนิษฐา โอรส มหาดเล็ก แลราษฎรเป็นต้น นามท้ายเป็นนามใช้กันตามพวกที่สมมติว่ามียศสูงกว่าข้าพเจ้า แลผู้ที่ไม่สู้รู้สำนึกตนว่าต้องพึ่งพำนักข้าพเจ้า หรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อข้าพเจ้า คำว่า ทูล แปลว่าวางไว้ที่สูง กระหม่อม แปลว่ากลางยอดแห่งศีรษะ คำว่า เจ้า นั้นตรงกับคำอังกฤษว่า ลอร์ด หรือคำลาตินว่า โดมินัส ฟ้า คือ สไก แต่ถ้าใช้กับชื่อบุคคลก็เป็นคุณศัพท์เพื่อแสดงบรรดาศักดิ์สูง แลมีใจความเท่ากับประโยคว่า สูงเท่าฟ้า คำอีกคำหนึ่งคือ ใหญ่ แปลว่าโตหรือแก่กว่า แลการที่เขาเรียกข้าพเจ้าเช่นนั้น ก็เพราะจะให้ผิดกับพระอนุชาผู้มีชนมายุอ่อนกว่าข้าพเจ้า

แต่นามซึ่งสมเด็จพระชนกนาถของข้าพเจ้า คือพระเจ้าแผ่นดินสยามก่อนพระองค์เดี๋ยวนี้ พระราชทานข้าพเจ้า แลได้จารึกลงไว้ในแผ่นทองคำนั้นคือ “เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติวงษ์” คำทั้งหมดนี้ คำต้นสามคำเท่านั้น เป็นคำซึ่งในเวลานี้มักใช้กันในหนังสือสำคัญทางราชการ มงกุฎ แปลว่า เคราน์ นามซึ่งเรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ จึ่งแปลว่า “เจ้าชายทรงยศสูงแห่งมงกุฎ” หรือ “เจ้าฟ้าผู้เป็นรัชทายาท” เมื่อมิตรของข้าพเจ้าเขียนจดหมายหรือส่งห่อของมายังข้าพเจ้า ๆ ชอบให้ใช้นามนี้ แลให้มีอักษร ท.ญ. นำหน้าเป็นที่หมายดั่งซึ่งเขาย่อมเรียกข้าพเจ้าอยู่แล้วตามกฎหมาย แลตามหนังสือสำคัญทางราชการแห่งสยาม

แต่มิตรของข้าพเจ้าบางคนซึ่งอยู่ประเทศลังกาผู้รู้ภาษามคธ เรียกนามข้าพเจ้าว่า “วชิรญาโณ” อันเป็นนามซึ่งพระอุปัชฌาย์ให้ข้าพเจ้าใช้ในพุทธศาสนา คำนั้นแปลว่า “ผู้มีความสามารถอันสว่างประดุจเพ็ชร” เหตุฉะนั้นชาวสิงหลจึงออกนามข้าพเจ้าดังนี้ “มกุโฎ วชิรญาโณ เถโร” มกุโฎ นั้นเปลี่ยนจากนามภาษาสยามเป็นภาษามคธ เถโร เป็นคำใช้เรียกหัวหน้าพระสงฆ์ผู้บุคคลพึงนับถือโดยความรู้ทางศาสนา

ข้าพเจ้ามีเกียรติเป็น
มิตรอันมีความจริงต่อท่าน
(พระอภิธัย) ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ



วัดบวรนิเวศ
ถนนหลวงด้านเหนือ กรุงเทพฯ สยาม
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ (พุทธศักราช ๒๓๙๑)


การศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มทรงศึกษาอักขรสมัยในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ชุน) วัดโมฬีโลกฯ ร่วมพระอาจารย์กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อยังเสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ครั้นเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังเมื่อดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแล้ว ก็ทรงได้ศึกษาวิชาความรู้อันซึ่งคตินิยมสมัยนั้นว่าควรแก่พระราชกุมารอันสูงศักดิ์ครบถ้วนสมบูรณ์

ถึงเดือน ๔ ปีวอกยังเป็นตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าเต็มตำราตามอย่างกรุงศรีอยุธยาได้ทำเป็นแบบแผนสำหรับแผ่นดินแล้วในรัชกาลที่ ๑ แต่การพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระนามเจ้าฟ้าตามตำราเก่า ยังหาได้ทำให้เป็นแบบอย่างไม่ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เคยเห็นก็แก่ชราจะหมดตัวไป แบบแผนพระราชพิธีอันนี้จะสูญไปเสีย ควรทำให้เป็นแบบอย่างสำหรับแผ่นดินไว้ จึงโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิทักษมนตรี กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นผู้รับรับสั่งอำนวยการจัดตั้งการพระราชพิธี และพระราชสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ์ พงษ์อิศรกษัตริย์ ขัติยราชกุมาร”

ต่อมีอีก ๒ ปี ถึงเดือน ๑๑ ปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๗ พระยากาญจนบุรีมีใบบอกส่งหนังสือลับสมิงสอดเบาเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดฯ ให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือลับตอบสมิงสอดเบาว่า ถ้ามอญเดือดร้อนก็ให้อพยพเข้ามาเถิด จะทรงพระกรุณาโปรดรับเป็นที่พึ่ง ให้มอญได้อาศัยพึ่งพิงในพระราชอาณาจักรโดยร่มเย็น เหตุที่มอญจะอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อพระเจ้าอลองพญาทำสงครามชนะมอญ ได้เป็นใหญ่ในดินแดนพม่า มอญถูกพม่ากดขี่ข่มเหงต่างๆ ไม่มีกำลังพอจะต่อสู้พม่า จึงอพยพเข้ามาเพิ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พุทธศักราช ๒๓๑๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือพวกมอญเจ้าพระยามหาโยธา (พระยาเจ่ง) อพยพเข้ามา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าปะดุงตั้งพม่าลงมาเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ เจ้าเมืองพม่าคนนี้ก็เบียดเบียนพวกมอญให้ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ พวกมอญไม่มีกำลังพอจะต่อสู้ได้ สมิงสอดเบามอญและเจ้าเมืองขึ้น กรมการหลายคนปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระราชอาณาจักร จึงมีหนังสือลับดังกล่าวมาถึงพระยากาญจนบุรี

ครั้นถึงปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๘ พวกมอญที่เมืองเมาะตะมะถูกพม่ากดขี่หนักเข้า จึงพร้อมใจกันจับเจ้าเมืองกรมการพม่าฆ่าเสีย แล้วอพยพครอบครัวเข้ามาสู้พระราชอาณาจักรด้วยกันหลายทาง ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบข้อราชการแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จไปตั้งเมืองปทุมธานีเป็นที่อยู่ของมอญที่จะอพยพมาคราวนี้ และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายก คุมกำลังและเสบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองตาก ส่วนทางด่านพระเจดีย์สามองค์นั้น โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เวลานั้นพระชันษา ๑๒ ปี เสด็จคุมกำลังและเสบียงอาหารไปรับครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี โดยโปรดฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเป็นพระอภิบาลเสด็จกำกับไปด้วย ครัวมอญมาถึง ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พุทธศักราช ๒๓๕๘ ตัวสมิงสอดเบานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระยารัตนจักร มอญตัวนายที่มียศอยู่ในบ้านเมืองเดิมก็โปรดฯ ตั้งให้เป็นพระยาทุกคน

การที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จเป็นนายกไปรับครัวมอญทางด่านพระเจดีย์สามองค์ครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎได้มีโอกาสศึกษากระบวนทัพศึก ทำนองเดียวกับที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในราชการสงครามเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ อีกประการหนึ่งจะได้เป็นที่ครั่นคร้ามแก่ราชศัตรูให้กิติศัพท์ปรากฏไปถึงเมืองพม่า และพวกมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์จะเป็นที่อุ่นใจ ด้วยโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ เสด็จออกไปด้วยพระองค์เองเช่นนี้

ต่อมาอีกปีหนึ่งในปีชวดอัฐศก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงพระเจริญพระชันษา ๑๓ ปีถึงเกณฑ์โสกันต์ สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ตามแบบการโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ซึ่งได้ทำเป็นแบบในรัชกาลที่ ๑ เมื่อคราวพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในเดือนแปดอุตราสารท ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักทางต้นโพธิลังกา ณ วัดมหาธาตุ มุมวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประเพณีเมื่อเจ้านายทรงผนวชย่อมหัดเทศน์มหาชาติ เพื่อจะได้เทศน์ถวายพระราชกุศล สามเณรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็เช่นกันทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี และได้เทศน์ถวายในพระบาทสมเด็จพระบรมนารถ ถึงเดือน ๑๒ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีเทศน์มหาชาติที่วังที่ประทับ ทรงทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์มัทรี และเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มาประทานเทศนา เป็นงานครึกครื้นใหญ่โตกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชอยู่เจ็ดเดือนจึงลาผนวช

เมื่อลาผนวชสามเณรแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาประทับที่พระตำหนักด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใกล้ประตูสุวรรณภิบาล สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดฯ ให้ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็ก ทั้งรับราชการอื่นๆ อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนราชศาสตร์พระราชทานด้วยพระองค์เอง และในตอนนี้คงทรงศึกษาวิชาวิสามัญต่างๆ สำหรับพระราชกุมารด้วย

ในเดือน ๘ อุตราสาธ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ พุทธศักราช ๒๓๖๐ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมงคลสถาน ประชวรเป็นพระยอดตรงพระที่นั่งทับ ให้ผ่าพระยอดนั้นเลยกลายเป็นพิษพระอาการมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปเยี่ยมพระอาการทุกวันมิได้ขาด พระอาการกรมพระราชวังบวรฯ ทรุดหนักลง จึงเสด็จไปประทับแรมพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่ในพระราชวังบวรฯ ครั้งนั้นมีข้าราชการผู้ใหญ่ตามเสด็จไปจุกช่องตั้งกองรักษาการณ์หลายท่าน

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระองค์ที่ ๗ ตามลำดับเจ้าฟ้าสมเด็จพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีเป็นสมเด็จพระราชชนนี ประสูติก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก ซึ่งเรียกตามสำนวนอีกนัยหนึ่งว่า “ประสูตินอกเศวตรฉัตร” เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ยมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ต่อมาราวปีพุทธศักราช ๒๓๓๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานกรมเจ้าฟ้าลูกเธอหลานเธอ ๔ พระองค์ คือเจ้าฟ้าหญิง ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าชาย ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าชายทั้งสองพระองค์มีพระนามพ้องกันว่า จุ้ย พระองค์ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมขุนเสนานุรักษ์ อีกพระองค์ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมขุนพิทักษ์มนตรี

ต่อมาถึงปีขาลอัฐศก พุทธศักราช ๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑ นั้น เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต และกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรรับพระราชทานอุปราชาภิเษก ถึงปีเถาะนพศก พุทธศักราช ๒๓๔๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ขึ้นเป็นกรมหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้รับพระบัณฑูรน้อยด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อยขึ้นเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ที่พระมหาอุปราช

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงเป็นกำลังหลักของแผ่นดินพระองค์หนึ่ง เสด็จราชการสงครามหลายครั้ง ในด้านพระราชอัธยาศัยก็ทรงสนิทชิดชอบในพระบาทสมเด็จพระเชษฐาธิราชมาแต่ยังทรงพระเยาว์มาด้วยกัน เมื่อทรงรับอุปราชาภิเษกแล้ว ก็ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชอัธยาศัย เสด็จลงไปรับราชการในพระราชวังหลวงมิขาด พระบาทสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงพระเมตตาอยู่มิเสื่อมคลาย ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จลงไปพระราชวังหลวงตอนเช้า ประทับที่โรงละครข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก ทรงตรวจตราบัญชาราชการต่างๆ แล้วจึงเสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นปรกติ

ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ อุตราสาธ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ ตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๐ เวลาเช้า ๕ โมงกับ ๗ บาท กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จสู่สวรรคต ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศร์ พระชนมพรรษาได้ ๓๗ ปี เสด็จดำรงอยู่ในที่พระมหาอุปราชได้ ๗ ปีกับ ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพร้อมด้วยวงศานุวงศ์ สรงน้ำพระศพแล้ว เจ้าพนักงานทรงเครื่องเชิญพระศพเข้าสู่พระโกศ เชิญพระโกศขึ้นพระเสลี่ยงแว่นฟ้าออกประตูพรหมภักตร์ ประตูวังหน้าชั้นในด้านหลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เมื่อถึงข้างหน้าแล้ว เชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ ๓ ลำคาน ประกอบพระลองแล้วแห่พระศพมาประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

ในเดือน ๕ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พุทธศักราช ๒๓๖๑ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ พระเมรุที่โปรดให้ปลูกที่ท้องสนามหลวง สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สำเร็จแล้วตามแบบงานพระเมรุใหญ่ในครั้งรัชกาลที่ ๑ วันแรกเชิญพระบรมสารีริกธาตุแห่ไปประดิษฐานที่พระเมรุ มีงานมหรสพสมโภชหนึ่งวันหนึ่งคืนก่อน เชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับคืนเข้าพระบรมมหาราชวังแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระโกศพระศพกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ขึ้นพระยานุมาศ ๓ ลำคานแห่กระบวนน้อยออกประตูพรหมทวาร จนถึงวัดพระเชตุพน เชิญพระโกศพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่กระบวนใหญ่ขึ้นสู่พระเมรุทางสนามชัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ พระราชทานเพลิง แล้วมีงานสมโภชพระอัฐิอีกหนึ่งวันหนึ่งคืน ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ จึงแห่พระอัฐิมาประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง

ถึง ณ เดือน ๓ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พุทธศักราช ๒๓๖๔ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีประชวรเป็นพระยอดในพระศอ ถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ เวลาเช้า ๕ โมง ๔ บาท ก็สิ้นพระชนม์ พระชันษาได้ ๕๐ ปี งานพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี โปรดฯ ให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อ ณ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๖๕

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เป็นพระโอรสสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ และเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ นี้ ทรงเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังสำหรับสำหรับแผ่นดินพระองค์ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยทรงปรึกษาข้อราชการทั่วไปทุกอย่าง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงชำนาญในศาสตร์หลายด้าน เป็นต้นว่า เป็นจิตกวี และชำนาญในการนาฏศาสตร์ มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงเป็นผู้คิดท่ารำให้ถูกกับบท แม้ในรัชกาลต่อๆ มา เวลาไหว้ครู พวกครูละครยังไหว้นบเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีด้วยพระองค์ ๑ ตลอดจนการช่างต่างๆ ก็ทรงชำนาญอย่างยิ่ง จะขอยกตัวอย่างแสดงให้เห็น

ในงานพระบรมศพ พระศพแต่โบราณมา หาได้มีเกรินบันไดนาคไม่ ใช้เป็นไม้ล้มลุกและต้องเปลื้องเครื่องประกอบพระโกศ การใช้เกรินเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๒ นี้ ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าหลวง (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เมื่ออัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิไชยราชรถทรงยานุมาศเข้าสู่พระเมรุด้านบูรพาทิศ แห่เวียนพระเมรุโดยอุตราวัฏ ๓ รอบ จึงเชิญพระบรมโกศขึ้นบนเกรินบันไดนาค ซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เมื่อพระบรมโกศตั้งบนเกริ่นแล้วจึงขันช่อกว้านเกรินเลื่อนขึ้นไปตามบันไดนากจนสุด จึงเจ้าพนักงานกรมภูษามาลาเลื่อนพระบรมโกศไปประดิษฐานเหนือพระเบญจาทองภายใต้พระมหาเศวตฉัตรในพระเมรุมาศ โดยไม่ต้องเปลื้องเครื่องประกอบพระบรมโกศแต่อย่างใด แต่นั้นมาในการพระศพ พระบรมศพ ก็ใช้เกรินบันไดนากสืบต่อมา

ในรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายมีหน้าที่กำกับราชการกระทรวงต่างๆ หลายพระองค์ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงกำกับราชการสงคราม และช่วยดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีพระราชทานพระวังเดิมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่ประทับ และเป็นผู้กำกับราชการมหาดไทย และกรมวัง เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสู่สวรรคต จึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณสืบต่อมา ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้สำเร็จราชการกรมท่า เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงได้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณแทน ส่วนหน้าที่กำกับราชการมหาดไทยโปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นผู้สำเร็จราชการ ควบกับทรงกำกับราชการกลาโหมด้วย ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพก็โปรดให้ช่วยเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์กำกับราชการกลาโหมอีกพระองค์ ๑ ด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า กรมหมื่นเทพพลภักดิกับกรมหมื่นรักรณเรศ แต่ยังไม่ได้รับกรม ได้ทรงกำกับกรมคชบาลด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ และกรมหมื่นพิพิธภูเบนทรได้ทรงกำกับกรมเมือง

เหตุที่กล่าวถึงต้องกล่าวถึงประวัติเจ้านายทั้งสองพระองค์ คือ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ กับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีนี้ และเรื่องเจ้านายทรงสำเร็จราชการกระทรวงต่างๆ นี้ ก็เพราะเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องการเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในรัชกาลต่อไป ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป การที่โปรดให้เจ้านายทรงกำกับราชการกระทรวงต่างๆ นี้ ก็เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลก่อนหน้านี้หาปรากฏไม่

เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ขณะนั้นพระชันษาได้ ๑๘ ปี ทรงครอบครองพระราชวังเดิมได้ไม่ถึง ๓ ปี พอปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พุทธศักราช ๒๓๖๗ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มีพระชันษา ๒๑ ปี ถึงเกณฑ์เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามราชประเพณี แต่เป็นเวลาพระเคราะห์ร้าย พระยาเศวตไอยราล้มเมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ถึงแรม ๘ ค่ำ พระยาเศวตคชลักษณ์ล้มอีกช้าง ๑ ช้างเผือกอันเป็นศรีนคร และเป็นคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยล้มคราวเดียวกันถึง ๒ ช้าง เป็นเหตุให้เกิดรู้สึกกันทั่วไปว่าเป็นอุปัทวเหตุสำคัญ จนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงสบายพระราชหฤทัย ถึงเดือน ๘ เป็นกำหนดทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ จึงโปรดให้ทำพอสังเขป ไม่ต้องแห่แหนเป็นการใหญ่ตามประเพณีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งเคยทำมาแต่ก่อน

วันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ โปรดให้มีงานเวียนเทียนสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รุ่งขึ้นทรงพระเสลี่ยง มีกระบวนช้าง ม้า และพลเดินเท้า เครื่องสูง กลองชนะ แห่พอสมควร ออกประตูวิเศษไชยศรีเข้าประตูสวัสดิโสภา ประทับเกยพลับพลาเปลื้องเครื่องหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงโปรยทานแล้วเปลื้องเครื่องเข้าสู่ที่สรง แล้วทรงพระภูษาจีบเขียนทอง ทรงฉลองพระองค์ครุยเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระฉายาในพุทธศาสนาว่า “วชิรญาณ” ทรงผนวชในที่ประชุมสงฆ์ บ่ายวันนั้นมีการสวดมนต์ฉลอง ผนวชแล้วประทับอยู่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคืน ๑ รุ่งขึ้นเลี้ยงพระแล้วจึงเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ

เพียง ๗ วันหลังจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชพระภิกษุ ถึงวันพุธ เดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระประชวร มีพระอาการให้มึนและเหมื่อยพระองค์ จึงเรียกพระโอสถข้างที่ชื่อ จรไนเพ็ชร ซึ่งเคยเสวยมาแต่ก่อนนั้นมาเสวย ครั้นเสวยพระโอสถจรไนเพ็ชรแล้วเกิดพระอาการให้ร้อนเหลือกำลัง จึงรับสั่งเรียกพระโอสถชื่อว่า ทิพโอสถ มาเสวยอีกขนาน ๑ พระอาการก็ไม่คลาย กลับเชื่อมซึมไปและมิได้ตรัสสิ่งใด แพทย์หลวงปรึกษากันประกอบพระโอสถถวาย ก็เสวยไม่ได้อีกต่อไป ประชวรอยู่เพียง ๘ วัน ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ เวลาย่ำค่ำแล้ว ๕ บาท ก็เสด็จสู่สวรรคตโดยมิได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งราชการบ้านเมืองแต่อย่างใด สิริพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติอยู่ ๑๖ พรรษา สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเพียงเท่านี้



....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ




 

Create Date : 08 เมษายน 2551   
Last Update : 8 เมษายน 2551 8:40:51 น.   
Counter : 2447 Pageviews.  



กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com