กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระจอมเกล้า - พระจอมปราชญ์ ตอนที่ ๑ เมื่อทรงพระเยาว์



....................................................................................................................................................


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทร์มหามงกุฎ สุทธิสมมุติเทพยพงศ วงศาดิศรกษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนารถอดิศวรราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุคุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศลวิมลปรีชา มหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสารสยามทิโลกดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร มหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดม บรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหาราชาธิราชวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวดฉศก จุลศักราช ๑๑๖๖ ตรงกับวันที่ ๑๘ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๓๔๗ ณ พระราชวังเดิม ในขณะนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี พระธิดาสมเด็จพระพี่นางเธอในรัชกาลที่ ๑ (เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์) เป็นสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระราชชนนีทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นตรี ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงดำรงสกุลยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพมา จนพระชนมพรรษา ๖ พรรษาก็สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงมีพระราชโอรสด้วยสมเด็จพระศรีสุริเยนทรา บรมราชินี รวม ๓ พระองค์

๑. เจ้าฟ้าชาย (ยังไม่ได้เฉลิมพระนาม) เป็นลำดับที่ ๓๖ ในบรรดาพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ยี่ แรม ๔ ค่ำ ปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๓๔๔ และสิ้นพระชนม์ในวันประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้เรียกพระนามว่า “เจ้าฟ้าราชกุมาร”

๒. เจ้าฟ้าชายมงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศรกระษัตริย์ขัตติยราชกุมาร คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓. เจ้าฟ้าชายจุฑามณี พระราชสมภพเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๗๐ ตรงกับวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๑ สวรรคตในรัชกาลที่ ๔ เมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๑๑๒๗ ตรงกับวันที่ ๗ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๐๘ พระชนพรรษา ๕๘ พรรษา ซึ่งจะกล่าวถึงพระราชประวัติต่อไปข้างหน้า

ในปีกุนเบญจศก พุทธศักราช ๒๓๔๖ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จสวรรคต ต่อมาอีก ๓ ปี ในปีขาลอัฐศก พุทธศักราช ๒๓๔๙ กรมพระราชวังหลัง เสด็จทิวงคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีอุปราชาภิเษกเต็มตามตำ เป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรสุนทร ให้ดำรงพระยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าว่า คุณเสือหรือเจ้าจอมแว่นบาทบริจาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กราบทูลว่า พระราชวังบวรฯ ร้างไม่มีเจ้าของ ทรุดโทรมยับเยินไปมาก ขอพระราชทานให้เชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรฯ พระองค์ใหม่ขึ้นไปครองจึงจะสมควร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกไม่ทรงโปรดดำรัสว่า “ไปอยู่บ้านช่องของเขาทำไม เขารักแต่ลูกของเขา เขาแช่งเขาชักไว้เป็นนักหนา” และทรงรับสั่งว่า พระองค์ก็ทรงพระชรามากอยู่แล้ว คอยเสด็จมาอยู่พระบรมราชวังทีเดียวเถิด อย่าต้องประดักประเดิดยักแล้วย้ายเล่าเลย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถจึงยังคงประทับอยู่ที่พระราชวังเดิมต่อมา จนปีมะเส็งเอกศก พุทธศักราช ๒๓๕๒ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๑



ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จเถลิงถวัลยราชย์ราชสมบัติ สมเด็จพระชนนีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้ง ๒ พระองค์ก็โดยเสด็จเข้ามาพระบรมมหาราชวังและประทับที่ตำหนักแดง อันเป็นพระตำหนักเดิมที่สมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์กับสมเด็จพระชนนีเคยเสด็จอยู่แต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะนั้นทรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คนทั้งหลายเรียกกันว่า “ทูลกระหม่อมฟ้าองค์ใหญ่” หรือ “ทูลกระหม่อมใหญ่” กันตามสะดวกปาก มิฉะนั้นก็เรียกว่า “เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่” หรือ “เจ้าฟ้าใหญ่” เรียกกันอย่างนี้จนกระทั่งเสด็จเสวยราชย์สมบัติ ในเรื่องพระนามที่เรียกกันนี้ ปรากฏพระบรมราชาธิบายในลายพระราชหัตถเลขาภาษาอังกฤษที่ทรงมีไปถึงนาย G.W. Eddy เมื่อครั้งยังทรงผนวชดังนี้


To The Gentlemen G.W. Eddy &C &C &C

Sir,


The names by which the common people of Siam call me are “Thun Kramom Fa Yai.” By these two names I find I am generally known in foreign countries. The former is a title expressive of great respect, and is chiefly used by those who are, in law and custom, my inferiors and dependents; as younger brothers and sisters, children, servants and people. The latter is used by those who are nominally my superiors and those who do not feel themselves particularly dependent on me, or accountable to me. The word ‘Thun’ means to put in a high place: ‘kramom’ is the middle of the top or crow of the head: ‘chau’ corresponds to the English word Lord, or the Latin Dominus: ‘Fa’ is sky: but when used in a person’s name, it is merely an adjective of exaltation, and is equivalent to the phrase ‘ as high as the sky.’ The remaining word ‘Yai’ means great, or elder; and I am so called to distinguish me from my brother

But the name which my father, who prededed His Majisty the present king of Siam, gave me and caused to be engraved in a plate of Gold is “Chau Fa Mongkut Sammatt Wongs.” Only the first three of these words, however, are commonly used in public Documents at the present time. ‘Mongkut’ means Crow. The name ‘Chau Fa Mongkut’ means “The high Prince of the Crown” or “His Royal Highness the Crown prince.” I prefer that my friends, when the write me letters, or send parcels to me, will use this name, with the letters ‘T.Y’ prefixed as being that by which I am Known in the Laws and Public Documents of Siam.

But some of my friends at Ceylon who are Mugadhists, have called my name “Wajiranneano” which my preceptor had given me to be used in Budhism: it means thus “he has lightness of skill like a diamond.” Therefore the Singallese generall address me thus “Makuto Wajiraneano Thero.” Makuto is changed from a Siamese name to mugadhism: ‘Thero’ is a term for Chief Priest who are venerable in religious knowledge.

I have the honour to be,
Your sincere friend,
T.Y. Chau Fa Mongkut.



Wat Pawarnives
Northern King Street, Bangkok, Siam
July 14th. A. Ch. 1848


ซึ่งมหามงกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ แปลและจัดพิมพ์ ในงานฉลองครบ ๘๔ ปี มหามงกุฎราชวิทยาลัย เมื่อ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๑ ดังนี้


จดหมายมายังนาย ยี. ดับลยู. เอ๊ดดี ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ ให้ทราบ

นามซึ่งคนธรรมดาในสยามเรียกข้าพเจ้านั้นคือ “ทูลกระหม่อมฟ้าใหญ่” แล “เจ้าฟ้าใหญ่” ทั้งสองนามนี้ข้าพเจ้าทราบว่ามักใช้เรียกข้าพเจ้าในต่างประเทศ นามต้นเป็นคำแสดงความนับถืออย่างสูง แลใช้กันโดยมากในพวกที่มียศต่ำกว่า แลผู้ที่พึ่งพำนักข้าพเจ้าตามกฎหมายแลประเพณี เช่นอนุชา ขนิษฐา โอรส มหาดเล็ก แลราษฎรเป็นต้น นามท้ายเป็นนามใช้กันตามพวกที่สมมติว่ามียศสูงกว่าข้าพเจ้า แลผู้ที่ไม่สู้รู้สำนึกตนว่าต้องพึ่งพำนักข้าพเจ้า หรือผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อข้าพเจ้า คำว่า ทูล แปลว่าวางไว้ที่สูง กระหม่อม แปลว่ากลางยอดแห่งศีรษะ คำว่า เจ้า นั้นตรงกับคำอังกฤษว่า ลอร์ด หรือคำลาตินว่า โดมินัส ฟ้า คือ สไก แต่ถ้าใช้กับชื่อบุคคลก็เป็นคุณศัพท์เพื่อแสดงบรรดาศักดิ์สูง แลมีใจความเท่ากับประโยคว่า สูงเท่าฟ้า คำอีกคำหนึ่งคือ ใหญ่ แปลว่าโตหรือแก่กว่า แลการที่เขาเรียกข้าพเจ้าเช่นนั้น ก็เพราะจะให้ผิดกับพระอนุชาผู้มีชนมายุอ่อนกว่าข้าพเจ้า

แต่นามซึ่งสมเด็จพระชนกนาถของข้าพเจ้า คือพระเจ้าแผ่นดินสยามก่อนพระองค์เดี๋ยวนี้ พระราชทานข้าพเจ้า แลได้จารึกลงไว้ในแผ่นทองคำนั้นคือ “เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติวงษ์” คำทั้งหมดนี้ คำต้นสามคำเท่านั้น เป็นคำซึ่งในเวลานี้มักใช้กันในหนังสือสำคัญทางราชการ มงกุฎ แปลว่า เคราน์ นามซึ่งเรียกว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ จึ่งแปลว่า “เจ้าชายทรงยศสูงแห่งมงกุฎ” หรือ “เจ้าฟ้าผู้เป็นรัชทายาท” เมื่อมิตรของข้าพเจ้าเขียนจดหมายหรือส่งห่อของมายังข้าพเจ้า ๆ ชอบให้ใช้นามนี้ แลให้มีอักษร ท.ญ. นำหน้าเป็นที่หมายดั่งซึ่งเขาย่อมเรียกข้าพเจ้าอยู่แล้วตามกฎหมาย แลตามหนังสือสำคัญทางราชการแห่งสยาม

แต่มิตรของข้าพเจ้าบางคนซึ่งอยู่ประเทศลังกาผู้รู้ภาษามคธ เรียกนามข้าพเจ้าว่า “วชิรญาโณ” อันเป็นนามซึ่งพระอุปัชฌาย์ให้ข้าพเจ้าใช้ในพุทธศาสนา คำนั้นแปลว่า “ผู้มีความสามารถอันสว่างประดุจเพ็ชร” เหตุฉะนั้นชาวสิงหลจึงออกนามข้าพเจ้าดังนี้ “มกุโฎ วชิรญาโณ เถโร” มกุโฎ นั้นเปลี่ยนจากนามภาษาสยามเป็นภาษามคธ เถโร เป็นคำใช้เรียกหัวหน้าพระสงฆ์ผู้บุคคลพึงนับถือโดยความรู้ทางศาสนา

ข้าพเจ้ามีเกียรติเป็น
มิตรอันมีความจริงต่อท่าน
(พระอภิธัย) ท.ญ. เจ้าฟ้ามงกุฎ



วัดบวรนิเวศ
ถนนหลวงด้านเหนือ กรุงเทพฯ สยาม
วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ (พุทธศักราช ๒๓๙๑)


การศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มทรงศึกษาอักขรสมัยในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ชุน) วัดโมฬีโลกฯ ร่วมพระอาจารย์กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อยังเสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิม ครั้นเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังเมื่อดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแล้ว ก็ทรงได้ศึกษาวิชาความรู้อันซึ่งคตินิยมสมัยนั้นว่าควรแก่พระราชกุมารอันสูงศักดิ์ครบถ้วนสมบูรณ์

ถึงเดือน ๔ ปีวอกยังเป็นตรีศก จุลศักราช ๑๑๗๓ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงพระราชดำริว่า การพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าเต็มตำราตามอย่างกรุงศรีอยุธยาได้ทำเป็นแบบแผนสำหรับแผ่นดินแล้วในรัชกาลที่ ๑ แต่การพระราชพิธีลงสรงเฉลิมพระนามเจ้าฟ้าตามตำราเก่า ยังหาได้ทำให้เป็นแบบอย่างไม่ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่เคยเห็นก็แก่ชราจะหมดตัวไป แบบแผนพระราชพิธีอันนี้จะสูญไปเสีย ควรทำให้เป็นแบบอย่างสำหรับแผ่นดินไว้ จึงโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิทักษมนตรี กับเจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช เป็นผู้รับรับสั่งอำนวยการจัดตั้งการพระราชพิธี และพระราชสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมุติเทวาวงษ์ พงษ์อิศรกษัตริย์ ขัติยราชกุมาร”

ต่อมีอีก ๒ ปี ถึงเดือน ๑๑ ปีจอฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๗ พระยากาญจนบุรีมีใบบอกส่งหนังสือลับสมิงสอดเบาเข้ามายังกรุงเทพฯ จึงโปรดฯ ให้พระยากาญจนบุรีมีหนังสือลับตอบสมิงสอดเบาว่า ถ้ามอญเดือดร้อนก็ให้อพยพเข้ามาเถิด จะทรงพระกรุณาโปรดรับเป็นที่พึ่ง ให้มอญได้อาศัยพึ่งพิงในพระราชอาณาจักรโดยร่มเย็น เหตุที่มอญจะอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะเมื่อพระเจ้าอลองพญาทำสงครามชนะมอญ ได้เป็นใหญ่ในดินแดนพม่า มอญถูกพม่ากดขี่ข่มเหงต่างๆ ไม่มีกำลังพอจะต่อสู้พม่า จึงอพยพเข้ามาเพิ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อปีมะเมียฉศก จุลศักราช ๑๑๓๖ พุทธศักราช ๒๓๑๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี คือพวกมอญเจ้าพระยามหาโยธา (พระยาเจ่ง) อพยพเข้ามา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าปะดุงตั้งพม่าลงมาเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ เจ้าเมืองพม่าคนนี้ก็เบียดเบียนพวกมอญให้ได้รับความเดือดร้อนต่างๆ พวกมอญไม่มีกำลังพอจะต่อสู้ได้ สมิงสอดเบามอญและเจ้าเมืองขึ้น กรมการหลายคนปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระราชอาณาจักร จึงมีหนังสือลับดังกล่าวมาถึงพระยากาญจนบุรี

ครั้นถึงปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๕๘ พวกมอญที่เมืองเมาะตะมะถูกพม่ากดขี่หนักเข้า จึงพร้อมใจกันจับเจ้าเมืองกรมการพม่าฆ่าเสีย แล้วอพยพครอบครัวเข้ามาสู้พระราชอาณาจักรด้วยกันหลายทาง ครั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงทราบข้อราชการแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จไปตั้งเมืองปทุมธานีเป็นที่อยู่ของมอญที่จะอพยพมาคราวนี้ และโปรดฯ ให้เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ที่สมุหนายก คุมกำลังและเสบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองตาก ส่วนทางด่านพระเจดีย์สามองค์นั้น โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เวลานั้นพระชันษา ๑๒ ปี เสด็จคุมกำลังและเสบียงอาหารไปรับครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี โดยโปรดฯ ให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเป็นพระอภิบาลเสด็จกำกับไปด้วย ครัวมอญมาถึง ณ วันพุธ เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีกุนสัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พุทธศักราช ๒๓๕๘ ตัวสมิงสอดเบานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระยารัตนจักร มอญตัวนายที่มียศอยู่ในบ้านเมืองเดิมก็โปรดฯ ตั้งให้เป็นพระยาทุกคน

การที่สมเด็จพระบรมชนกนาถ โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จเป็นนายกไปรับครัวมอญทางด่านพระเจดีย์สามองค์ครั้งนี้ ดูเหมือนจะมีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎได้มีโอกาสศึกษากระบวนทัพศึก ทำนองเดียวกับที่พระองค์ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกในราชการสงครามเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ อีกประการหนึ่งจะได้เป็นที่ครั่นคร้ามแก่ราชศัตรูให้กิติศัพท์ปรากฏไปถึงเมืองพม่า และพวกมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์จะเป็นที่อุ่นใจ ด้วยโปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ เสด็จออกไปด้วยพระองค์เองเช่นนี้

ต่อมาอีกปีหนึ่งในปีชวดอัฐศก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงพระเจริญพระชันษา ๑๓ ปีถึงเกณฑ์โสกันต์ สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีโสกันต์ตามแบบการโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ซึ่งได้ทำเป็นแบบในรัชกาลที่ ๑ เมื่อคราวพระราชพิธีโสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ในเดือนแปดอุตราสารท ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๐ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่พระตำหนักทางต้นโพธิลังกา ณ วัดมหาธาตุ มุมวัดด้านตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นประเพณีเมื่อเจ้านายทรงผนวชย่อมหัดเทศน์มหาชาติ เพื่อจะได้เทศน์ถวายพระราชกุศล สามเณรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ก็เช่นกันทรงหัดเทศน์กัณฑ์มัทรี และได้เทศน์ถวายในพระบาทสมเด็จพระบรมนารถ ถึงเดือน ๑๒ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทับ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีเทศน์มหาชาติที่วังที่ประทับ ทรงทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์มัทรี และเชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มาประทานเทศนา เป็นงานครึกครื้นใหญ่โตกว่าที่เคยมีมาแต่ก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชอยู่เจ็ดเดือนจึงลาผนวช

เมื่อลาผนวชสามเณรแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จมาประทับที่พระตำหนักด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใกล้ประตูสุวรรณภิบาล สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดฯ ให้ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็ก ทั้งรับราชการอื่นๆ อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงฝึกสอนราชศาสตร์พระราชทานด้วยพระองค์เอง และในตอนนี้คงทรงศึกษาวิชาวิสามัญต่างๆ สำหรับพระราชกุมารด้วย

ในเดือน ๘ อุตราสาธ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ พุทธศักราช ๒๓๖๐ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมงคลสถาน ประชวรเป็นพระยอดตรงพระที่นั่งทับ ให้ผ่าพระยอดนั้นเลยกลายเป็นพิษพระอาการมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จไปเยี่ยมพระอาการทุกวันมิได้ขาด พระอาการกรมพระราชวังบวรฯ ทรุดหนักลง จึงเสด็จไปประทับแรมพยาบาลสมเด็จพระอนุชาธิราชอยู่ในพระราชวังบวรฯ ครั้งนั้นมีข้าราชการผู้ใหญ่ตามเสด็จไปจุกช่องตั้งกองรักษาการณ์หลายท่าน

สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ มีพระนามเดิมว่า จุ้ย เป็นพระองค์ที่ ๗ ตามลำดับเจ้าฟ้าสมเด็จพระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีเป็นสมเด็จพระราชชนนี ประสูติก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก ซึ่งเรียกตามสำนวนอีกนัยหนึ่งว่า “ประสูตินอกเศวตรฉัตร” เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ยมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ต่อมาราวปีพุทธศักราช ๒๓๓๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานกรมเจ้าฟ้าลูกเธอหลานเธอ ๔ พระองค์ คือเจ้าฟ้าหญิง ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าชาย ๒ พระองค์ เจ้าฟ้าชายทั้งสองพระองค์มีพระนามพ้องกันว่า จุ้ย พระองค์ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมขุนเสนานุรักษ์ อีกพระองค์ ๑ คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมขุนพิทักษ์มนตรี

ต่อมาถึงปีขาลอัฐศก พุทธศักราช ๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑ นั้น เมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคต และกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรรับพระราชทานอุปราชาภิเษก ถึงปีเถาะนพศก พุทธศักราช ๒๓๔๐ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ขึ้นเป็นกรมหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้รับพระบัณฑูรน้อยด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่อเสร็จงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีอุปราชาภิเษก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ พระบัณฑูรน้อยขึ้นเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวร ที่พระมหาอุปราช

กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ทรงเป็นกำลังหลักของแผ่นดินพระองค์หนึ่ง เสด็จราชการสงครามหลายครั้ง ในด้านพระราชอัธยาศัยก็ทรงสนิทชิดชอบในพระบาทสมเด็จพระเชษฐาธิราชมาแต่ยังทรงพระเยาว์มาด้วยกัน เมื่อทรงรับอุปราชาภิเษกแล้ว ก็ไม่ทรงเปลี่ยนแปลงพระราชอัธยาศัย เสด็จลงไปรับราชการในพระราชวังหลวงมิขาด พระบาทสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงพระเมตตาอยู่มิเสื่อมคลาย ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จลงไปพระราชวังหลวงตอนเช้า ประทับที่โรงละครข้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านตะวันตก ทรงตรวจตราบัญชาราชการต่างๆ แล้วจึงเสด็จขึ้นเฝ้าสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นปรกติ

ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ อุตราสาธ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ ตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๐ เวลาเช้า ๕ โมงกับ ๗ บาท กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จสู่สวรรคต ณ พระที่นั่งวายุสถานอมเรศร์ พระชนมพรรษาได้ ๓๗ ปี เสด็จดำรงอยู่ในที่พระมหาอุปราชได้ ๗ ปีกับ ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยพร้อมด้วยวงศานุวงศ์ สรงน้ำพระศพแล้ว เจ้าพนักงานทรงเครื่องเชิญพระศพเข้าสู่พระโกศ เชิญพระโกศขึ้นพระเสลี่ยงแว่นฟ้าออกประตูพรหมภักตร์ ประตูวังหน้าชั้นในด้านหลังพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เมื่อถึงข้างหน้าแล้ว เชิญขึ้นตั้งบนพระยานุมาศ ๓ ลำคาน ประกอบพระลองแล้วแห่พระศพมาประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

ในเดือน ๕ ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๐ พุทธศักราช ๒๓๖๑ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ พระเมรุที่โปรดให้ปลูกที่ท้องสนามหลวง สำหรับพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล สำเร็จแล้วตามแบบงานพระเมรุใหญ่ในครั้งรัชกาลที่ ๑ วันแรกเชิญพระบรมสารีริกธาตุแห่ไปประดิษฐานที่พระเมรุ มีงานมหรสพสมโภชหนึ่งวันหนึ่งคืนก่อน เชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับคืนเข้าพระบรมมหาราชวังแล้ว รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระโกศพระศพกรมพระราชวังบวรสถานมงคลจากพระที่นั่งสุทธาสวรรย์ ขึ้นพระยานุมาศ ๓ ลำคานแห่กระบวนน้อยออกประตูพรหมทวาร จนถึงวัดพระเชตุพน เชิญพระโกศพระศพขึ้นพระมหาพิชัยราชรถแห่กระบวนใหญ่ขึ้นสู่พระเมรุทางสนามชัย ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๗ วัน ๗ คืน ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ พระราชทานเพลิง แล้วมีงานสมโภชพระอัฐิอีกหนึ่งวันหนึ่งคืน ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ จึงแห่พระอัฐิมาประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง

ถึง ณ เดือน ๓ ปีมะเส็งตรีศก จุลศักราช ๑๑๘๓ พุทธศักราช ๒๓๖๔ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีประชวรเป็นพระยอดในพระศอ ถึง ณ วันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๑๘๔ เวลาเช้า ๕ โมง ๔ บาท ก็สิ้นพระชนม์ พระชันษาได้ ๕๐ ปี งานพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี โปรดฯ ให้ทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อ ณ เดือน ๓ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๓๖๕

เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เป็นพระโอรสสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์ และเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระราชชนนีในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ นี้ ทรงเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังสำหรับสำหรับแผ่นดินพระองค์ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยทรงปรึกษาข้อราชการทั่วไปทุกอย่าง เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงชำนาญในศาสตร์หลายด้าน เป็นต้นว่า เป็นจิตกวี และชำนาญในการนาฏศาสตร์ มีเรื่องเล่ากันว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงเป็นผู้คิดท่ารำให้ถูกกับบท แม้ในรัชกาลต่อๆ มา เวลาไหว้ครู พวกครูละครยังไหว้นบเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีด้วยพระองค์ ๑ ตลอดจนการช่างต่างๆ ก็ทรงชำนาญอย่างยิ่ง จะขอยกตัวอย่างแสดงให้เห็น

ในงานพระบรมศพ พระศพแต่โบราณมา หาได้มีเกรินบันไดนาคไม่ ใช้เป็นไม้ล้มลุกและต้องเปลื้องเครื่องประกอบพระโกศ การใช้เกรินเกิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ ๒ นี้ ในงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าหลวง (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก) เมื่ออัญเชิญพระบรมโกศลงจากพระมหาพิไชยราชรถทรงยานุมาศเข้าสู่พระเมรุด้านบูรพาทิศ แห่เวียนพระเมรุโดยอุตราวัฏ ๓ รอบ จึงเชิญพระบรมโกศขึ้นบนเกรินบันไดนาค ซึ่งเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีทรงคิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เมื่อพระบรมโกศตั้งบนเกริ่นแล้วจึงขันช่อกว้านเกรินเลื่อนขึ้นไปตามบันไดนากจนสุด จึงเจ้าพนักงานกรมภูษามาลาเลื่อนพระบรมโกศไปประดิษฐานเหนือพระเบญจาทองภายใต้พระมหาเศวตฉัตรในพระเมรุมาศ โดยไม่ต้องเปลื้องเครื่องประกอบพระบรมโกศแต่อย่างใด แต่นั้นมาในการพระศพ พระบรมศพ ก็ใช้เกรินบันไดนากสืบต่อมา

ในรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายมีหน้าที่กำกับราชการกระทรวงต่างๆ หลายพระองค์ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงกำกับราชการสงคราม และช่วยดูแลราชการต่างพระเนตรพระกรรณ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีพระราชทานพระวังเดิมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่ประทับ และเป็นผู้กำกับราชการมหาดไทย และกรมวัง เมื่อกรมพระราชวังบวรฯ เสด็จสู่สวรรคต จึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณสืบต่อมา ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เป็นผู้สำเร็จราชการกรมท่า เมื่อเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์จึงได้สำเร็จราชการต่างพระเนตรพระกรรณแทน ส่วนหน้าที่กำกับราชการมหาดไทยโปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นผู้สำเร็จราชการ ควบกับทรงกำกับราชการกลาโหมด้วย ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพก็โปรดให้ช่วยเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์กำกับราชการกลาโหมอีกพระองค์ ๑ ด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า กรมหมื่นเทพพลภักดิกับกรมหมื่นรักรณเรศ แต่ยังไม่ได้รับกรม ได้ทรงกำกับกรมคชบาลด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์ และกรมหมื่นพิพิธภูเบนทรได้ทรงกำกับกรมเมือง

เหตุที่กล่าวถึงต้องกล่าวถึงประวัติเจ้านายทั้งสองพระองค์ คือ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ กับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีนี้ และเรื่องเจ้านายทรงสำเร็จราชการกระทรวงต่างๆ นี้ ก็เพราะเป็นเรื่องสำคัญในเรื่องการเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในรัชกาลต่อไป ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป การที่โปรดให้เจ้านายทรงกำกับราชการกระทรวงต่างๆ นี้ ก็เพิ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒ รัชกาลก่อนหน้านี้หาปรากฏไม่

เมื่อเสร็จงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ เสด็จไปประทับที่พระราชวังเดิม ขณะนั้นพระชันษาได้ ๑๘ ปี ทรงครอบครองพระราชวังเดิมได้ไม่ถึง ๓ ปี พอปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พุทธศักราช ๒๓๖๗ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มีพระชันษา ๒๑ ปี ถึงเกณฑ์เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามราชประเพณี แต่เป็นเวลาพระเคราะห์ร้าย พระยาเศวตไอยราล้มเมื่อเดือน ๗ ขึ้น ๗ ค่ำ ถึงแรม ๘ ค่ำ พระยาเศวตคชลักษณ์ล้มอีกช้าง ๑ ช้างเผือกอันเป็นศรีนคร และเป็นคู่พระบารมีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยล้มคราวเดียวกันถึง ๒ ช้าง เป็นเหตุให้เกิดรู้สึกกันทั่วไปว่าเป็นอุปัทวเหตุสำคัญ จนสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงสบายพระราชหฤทัย ถึงเดือน ๘ เป็นกำหนดทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ จึงโปรดให้ทำพอสังเขป ไม่ต้องแห่แหนเป็นการใหญ่ตามประเพณีทรงผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งเคยทำมาแต่ก่อน

วันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ โปรดให้มีงานเวียนเทียนสมโภชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน รุ่งขึ้นทรงพระเสลี่ยง มีกระบวนช้าง ม้า และพลเดินเท้า เครื่องสูง กลองชนะ แห่พอสมควร ออกประตูวิเศษไชยศรีเข้าประตูสวัสดิโสภา ประทับเกยพลับพลาเปลื้องเครื่องหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงโปรยทานแล้วเปลื้องเครื่องเข้าสู่ที่สรง แล้วทรงพระภูษาจีบเขียนทอง ทรงฉลองพระองค์ครุยเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระฉายาในพุทธศาสนาว่า “วชิรญาณ” ทรงผนวชในที่ประชุมสงฆ์ บ่ายวันนั้นมีการสวดมนต์ฉลอง ผนวชแล้วประทับอยู่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามคืน ๑ รุ่งขึ้นเลี้ยงพระแล้วจึงเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุ

เพียง ๗ วันหลังจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงผนวชพระภิกษุ ถึงวันพุธ เดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระประชวร มีพระอาการให้มึนและเหมื่อยพระองค์ จึงเรียกพระโอสถข้างที่ชื่อ จรไนเพ็ชร ซึ่งเคยเสวยมาแต่ก่อนนั้นมาเสวย ครั้นเสวยพระโอสถจรไนเพ็ชรแล้วเกิดพระอาการให้ร้อนเหลือกำลัง จึงรับสั่งเรียกพระโอสถชื่อว่า ทิพโอสถ มาเสวยอีกขนาน ๑ พระอาการก็ไม่คลาย กลับเชื่อมซึมไปและมิได้ตรัสสิ่งใด แพทย์หลวงปรึกษากันประกอบพระโอสถถวาย ก็เสวยไม่ได้อีกต่อไป ประชวรอยู่เพียง ๘ วัน ครั้นถึง ณ วันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗ เวลาย่ำค่ำแล้ว ๕ บาท ก็เสด็จสู่สวรรคตโดยมิได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งราชการบ้านเมืองแต่อย่างใด สิริพระชนมายุได้ ๕๘ พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติอยู่ ๑๖ พรรษา สิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระบรมชนกนาถเพียงเท่านี้



....................................................................................................................................................


อ้างอิง

๑. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๒. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๓. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และฉบับทรงชำระ
๔. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์
๕. พระราชพงศษวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๕ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๖. ชุมนุมพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๗. ชุมนุมประกาศในรัชกาลที่ ๔
๘. พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว - พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๙. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๑๓ ตำนานวังหน้า - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๐. พระบวรราชประวัติ - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๑. จดหมายเหตุความทรงจำ ของ กรมหลวงนรินทรเทวี
๑๒. ประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป - สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๑๓. ราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ - สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ
๑๔. และพระนิพนธ์เรื่องย่อยต่างๆ ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 08 เมษายน 2551
Last Update : 8 เมษายน 2551 8:40:51 น. 0 comments
Counter : 2447 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com