กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๔ ระยะทางเสด็จกลับ อุตรดิตถ์ ลับแล ทุ่งยั้ง พิชัย พิษณุโลก สระหลวง


วัดพระแท่นศิลาอาสน์



....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ อุตรดิตถ์-ลับแล-ทุ่งยั้ง


การดูสถานที่ต่างๆที่เมืองสวรรคโลกเป็นอันแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ครั้นวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากที่พักริมวัดน้อยข้ามลำน้ำยมไปฝั่งเหนือ แล้วจึงขึ้นม้าเดินทางไปตามทางที่ราษฎรเดินขึ้นไปไหว้พระแท่นศิลาอาสน์ เดินไปจากฝั่งน้ำได้ ๔๐ เส้นเศษมีศาลาเล็กๆหลังหนึ่งปลูกไว้เป็นที่พักคนเดินขึ้นพระแท่น ที่ระยะ ๑๐๐ เส้นมีศาลาอีกหลังหนึ่งค่อนข้างจะเขื่อง ที่ระยะ ๒๐๐ เส้นมีศาลาแฝดกับสระน้ำเป็นทุ่งโถง ต่อไปนั้นอีก ๙๐ เส้นเศษถึงหนองไก่ฟุบ มีศาลหลังหนึ่งกับสระน้ำ ได้พักร้อนและกินกลางวันที่หนองไก่ฟุบ ทางที่เดินแต่ลำน้ำยมไปถึงที่นี้นับว่าอยู่ข้างจะสะดวก เพราะผ่านไปในป่าโดยมากแดดไม่ค่อยจะร้อน ม้าขี่วิ่งบ้างเดินบ้างชั่วโมงเศษเท่านั้นกินกลางวันแล้วขี่ช้าง เดินตามทางขึ้นพระแท่นต่อไปทาง ๒๕๐ เส้นถึงด่านแม่คำมัน พรมแดนเมืองสวรรคโลกกับเมืองพิชัยต่อกัน พักแรมที่นี้ซึ่งมีศาลาที่พักคนเดินขึ้นพระแท่นอยู่หลังหนึ่ง ในคลองแม่คำมันมีปลาชุม เพราะน้ำมีอยู่ตลอดปีไม่แห้งเลย ลำน้ำนี้ได้น้ำจากห้วยช้าง ซึ่งไหลมาจากเขาทางเมืองลับแล

รุ่งขึ้นวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงเศษออกจากด่านแม่คำมัน ขี่ม้าไปตามถนนไปพระแท่นอีก ทางไปในทุ่งโดยมาก การเดินทางอยู่ข้างจะร้อนกว่าวันก่อนนี้ ผ่านศาลาที่พักกลางทางหลังหนึ่ง เมื่อจวนถึงพระแท่นเดินไปบนถนนซึ่งถมเป็นคันสูงข้างทุ่ง เพราะตรงนี้เป็นที่ลุ่ม ไปหมดถนนเพียงบ่อหัวดุม ที่ใกล้บ่อมีศาลาที่พัก แต่ไม่พอกับคนที่มาไหว้พระแท่น เพราะฉะนั้นได้เห็นซุ้มปักเป็นที่พักชั่วคราวอยู่มาก

เวลาเช้า ๔ โมงเศษถึงวัดพระแท่นศิลาอาสน์ เป็นเคราะห์ดีที่ได้ไปพอเวลาเทศกาลราษฎรขึ้นไหว้พระแท่น กำหนดวันขึ้น ๑๓ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เดือนสาม วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์นี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ จึงได้เห็นคนอยู่มาก ที่ถนนตรงหน้าพระแท่นออกไปมีร้านตั้งขายของต่างๆ คนเดินไปมาเบียดกันแน่นคล้ายที่พระพุทธบาทในเวลาเทศกาล อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก ได้ฉายรูปหมู่คนไว้ดูเล่น แล้วจึงไปนมัสการพระแท่น พระแท่นศิลาอาสน์นี้ผู้ที่ไม่เคยไปมักอยากไปมาก แต่ครั้นเมื่อไปถึงแล้วคงรู้สึกเสียใจ ตัวพระแท่นเองก็ไม่เห็นเพราะมีเป็นพระแท่นทำด้วยไม้ครอบศิลานั้นอยู่ มีของดีอยู่แต่บานประตูซึ่งคล้ายบานประตูวิหารพระพุทธชินราชที่เมืองพิษณุโลกนั้นมาก(๑)

กินกลางวันที่ศาลาใกล้วัดพระแท่นนั้นแล้ว ขึ้นม้าขี่เข้าไปเมืองอุตรดิตถ์ทางถนนพระแท่น ที่พักตั้งอยู่ริมลำน้ำแควใหญ่ทางแถบที่ว่าการเมืองพิชัย

เมืองอุตรดิตถ์หรือที่เรียกตามที่ตั้งใหม่ว่าเมืองพิชัยนี้ เป็นเมืองใหม่แท้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องป่วยการเที่ยวหาของโบราณอะไร ดูแต่ของใหม่ๆมีดูหลายอย่าง ที่นี่เป็นเมืองสำคัญในมณฑลนี้แห่งหนึ่ง เพราะเป็นเมืองด่านที่พักสินค้าขึ้นล่องมาก เพราะฉะนั้นคนพ่อค้าพาณิชอยู่ข้างจะมีมาก ตลาดท่าอิฐมีร้านรวงอยู่มากครึกครื้น มีข้อเสียใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง คือตลาดท่าอิฐนี้ต้องน้ำท่วมทุกปีจึงไม่น่าจะเป็นที่ถาวรอยู่ได้ น่าจะขยับขยายตลาดเข้าไปเสียให้ห่างจากฝั่งแม่น้ำอีกสักหน่อย

ถ้าจะเล่าถึงเมืองอุตรดิตถ์ต่อไปอีกก็ได้อีกบ้าง แต่ความตั้งใจของข้าพเจ้ามีอยู่ว่า จะเล่าเรื่องของโบราณในเมืองเหนือ ซึ่งเป็นของที่มีคนได้เห็นน้อย ยิ่งกว่าที่จะเล่าถึงของที่มีและเป็นอยู่ในปัตยุบันนี้ จึงต้องของดไว้ไม่กล่าวถึงอุตรดิตถ์อีกต่อไปมากกว่านี้

แต่ถึงได้มาพ้นแดนเมืองสวรรคโลกแล้วก็ดี ยังมีที่พึงดูซึ่งเกี่ยวข้องในทางโบราณคดีอยู่บ้าง ในที่ใกล้ๆอุตรดิตถ์ขึ้น กล่าวคือตามแถบลับแลกับทุ่งยั้ง

เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่ลับแล ออกจากที่พักที่อุตรดิตถ์ขี่ม้าไปทางบ้านท่าอิฐ เดินตามถนนอินทใจมีไปเมืองลับแล พระศรีพนมมาศได้จัดแต่งที่พักไว้ที่ตำบลม่อมชิงช้า ที่ริมที่พักนี้พระศรีพนมมาศกับข้าราชการและราษฎรได้เรี่ยไรกันสร้างโรงเรียนขึ้นโรงหนึ่ง ซึ่งขอให้ข้าพเจ้าเปิด ข้าพเจ้าได้เปิดให้ในเวลาบ่าย วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์นั้น และให้นามว่า "โรงเรียนพนมมาศพิทยากร" แล้วได้เลยออกไปที่เขาม่อมจำศีล บนยอดเขานี้แลดูเห็นที่แผ่นดินโดยรอบได้ไกล มีทุ่งนาไปจนสุดสายตา แลเห็นเขาเป็นทิวเทือก ซ้อนสลับกันเป็นชั้นๆราวกับกำแพงน่าดูหนักหนา

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ข้าพเจ้ากับพวกที่ไปด้วยกัน ได้ช่วยกันเริ่มถมทำนบปิดลำน้ำอยู่ริมม่อนชิงช้า เป็นความคิดของพระศรีพนมมาศจับทำฝายต่อไป เหมืองฝายในเขตลับแลนี้พระศรีพนมมาศได้จัดทำขึ้นไว้มากแล้ว เป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกมากเพราะมีน้ำใช้ได้ตลอดปี ที่ลับแลบริบูรณ์มากทั้งไร่นาและสวนผลไม้ต่างๆหากินได้เสมอ นับว่าพระศรีพนมมาศเป็นนายอำเภอดีอย่างยิ่งคนหนึ่ง

เวลาบ่ายออกจากที่พักตำบลม่อนชิงช้า ขี่ม้าไปตามถนนพระแม่นเข้าเขตทุ่งยั้ง ซึ่งบัดนี้รวมอยู่ในอำเภอลับแลแล้ว ลัดเข้าไปในป่าไปดูที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะ ที่นี้เป็นที่ชอบกล ตอนนอกที่สุดมีเป็นเนินดินมีคูเล็กๆ หลังเนินแล้วถึงกำแพงเตี้ยๆก่อด้วยดินกับแลง หลังกำแพงนี้มีคูใหญ่กว้าง ๘ วา ๒ ศอกคืบ ลึกประมาณ ๒ วา ขุดลงไปในแลง เพราะฉะนั้นข้างคูแลเห็นและเรียบประดุจคลองซึ่งก่อเขื่อนแลงอย่างเรียบร้อย กลางคูมีเป็นคันซึ่งเข้าใจว่าคงจะใช้เป็นถนนสำหรับเดินตรวจรักษาหน้าที่เชิงเทินชั้นนอก บนสันคันนั้นกว้าง ๓ วา คันสูงพ้นพื้นคูขึ้นมา ๕ ศอก ๖ นิ้ว คันนี้ก็เป็นแลงทึบทั้งอัน ถนนนี้ปันเป็นคูเป็น ๒ ร่อง ร่องนอกกว้าง ๔ วา ร่องในกว้าง ๖ ศอกคืบ ในคูเข้าไปมีกำแพงก่อด้วยแลงตัดเป็นแผ่นอิฐ ซึ่งเข้าใจว่าคงจะขุดขึ้นมาจากในคูนั้นเอง

ถามดูในวันนั้นว่าเมืองนี้กว้างยาวเท่าใด รูปร่างเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ตรวจมานานแล้ว มีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านผู้หนึ่งบอกว่าเป็นรูปไข่ และถนนพระแท่นได้ทำข้ามไปตอนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้วานหลวงภูวสถานพินิจ พนักงานนายทะเบียนที่ดิน ให้ช่วยจัดการส่งพนักงานแผนที่ไปตรวจดู ภายหลังได้แผนที่มาดูก็เห็นว่ารูปนั้นไม่เชิงเป็นรูปไข่ แต่ได้ทำไปตามรูปของที่ และไม่เป็นเมืองใหญ่นัก ข้างในกำแพงมีเป็นเจดีย์อยู่แห่งหนึ่ง นอกจากนั้นก็ไม่เห็นมีอะไร

ตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าว่าเวียงเจ้าเงาะนี้เป็นเทือกป้อมหรือค่าย ซึ่งสร้างขึ้นเป็นที่รวบรวมครัวเข้าไว้เป็นที่มั่นในคราวมีศึก บางทีจะได้สร้างขึ้นครั้งที่ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนจะมาติด ตามพงศาวดารเหนือมีข้อความปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าพสุจราชเมืองศรีสัชนาลัยครั้นได้ทราบข่าวศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ก็ให้ตกแต่งพระนครไว้ท่า กับทั้งหัวเมืองทั้งปวงก็ให้เตรียมการที่จะออกสู้ข้าศึก "แล้วให้กำหนดกฎหมายไปถึงเมืองเมืองกัมโพชนครให้กำหนดกฎหมายสืบๆกันไปถึงเมืองคีรี เมืองสวางคบุรี เมืองยางคีรี เมืองนครคีรี เมืองขอยคีรี และเมืองเหล็ก เมืองสิงทา เมืองทั้งนี้ขึ้นแก่เมืองกัมโพชนคร ท้าวพระตกแต่งบ้านเมืองไว้ทุกแห่ง" ดังนี้

กัทโพชนครนี้ตามพงศาวดารเหนือว่าอยู่ที่ตำบลทุ่งยั้ง แต่ถ้าจะดูตามภูมิพื้นที่ น่าจะตั้งที่ลับแลมากกว่า เพราะที่ดินบริบูรณ์และมีเขาล้อมเกือบรอบเป็นชัยภูมิดี สมควรจะตั้งเมืองหน้าด่านได้ ข้าพเจ้าจะขอเดาต่อไปว่า เดิมเมืองที่ตั้งอยู่ตำบลทุ่งยั้งหรือลับแลนั้น คงจะไม่ได้เป็นเมืองที่มีกำแพงมั่นคง ต่อเมื่อตกใจเตรียมรับศึกเชียงแสน จึงได้คิดทำกำแพงและคูขึ้น การที่จะทำกำแพงต้องอาศัยศิลาแลงมาก จึงได้มาเลือกที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะทำเป็นเมืองมีกำแพงขึ้น คือมาอยู่กับบ่อแลงทีเดียว (ในเวลาเดี๋ยวนี้ที่เมืองแห่งหนึ่งตามริมที่นั้นยังมีแลงอ่อนๆขุดขึ้นมาได้) ครั้นศึกมาจวนตัว ก็อพยพเทครัวเข้าไปไว้กำแพง ข้อที่ว่าเมืองทุ่งยั้งเป็นนคร คือเป็นเมืองลูกหลวงนั้น ข้าพเจ้าไม่สู้เชื่อนัก เข้าใจว่าจะเป็นเรื่องที่แต่งประกอบขึ้นภายหลัง คือมีผู้ได้ไปเห็นที่ซึ่งเรียกว่าเวียงเจ้าเงาะเดี๋ยวนี้ เห็นมีกำแพงและคูดูเป็นที่มั่นคง ก็เอาเอาว่าเป็นเมืองใหญ่ จึงเลยแต่งเรื่องราวผสมขึ้น ให้เป็นนครลูกหลวงของศรีสัชนาลัย ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าได้เคยเป็นอะไร นอกจากเมืองด่าน

ส่วนเมืองอีก ๗ เมืองที่กล่าวว่าเป็นเมืองขึ้นกัมโพชนครนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่สู้เชื่อนักว่าจะมี ถ้าแม้จะมีก็เป็นด่านอยู่ตามเขาลับแล แต่ที่ว่ามีถึง ๗ แห่งนั้นเห็นจะมากเกินไป จะเป็นด้วยเอานามไปปนกันยุ่งก็ได้ เช่นเมืองคีรีกับนครคีรีนั้น น่าจะว่าเป็นเมืองเดียวกัน และยังสงสัยต่อไปอีกว่าเมืองขอนคีรีนั้น จะเป็นอันเดียวกับนครคีรีอีก คืออาจจัเรียกนครคีรีนั้นสั้นห้วนลงไปเป็น "คอนคีรี" แล้วต่อไปนี้อีกก้าวเดียวก็คลายเป็นขอนคีรีไปได้แล้ว จึงเข้าใจว่าสามชื่อนั้นคงจะเป็นเมืองๆเดียว แต่นี่ก็เป็นการเดาเล่นเปล่าๆหาหลักฐานมิได้ รวบรวมใจความว่าทางที่จะสันนิษฐานหมดเพียงเท่านี้

และมาภายหลังได้ทราบจากพระยาอุทัยมนตรี ว่าได้ไปตรวจค้นพบกำแพงเมืองมีต่อลงไปอีกจนถึงลำน้ำ แค่ก็เป็นคำบอกเล่า ข้าพเจ้าสันนิษฐานอย่างอื่นต่อไปอีกยังไม่ได้ จนกว่าจะได้ขึ้นไปเห็นด้วยตนเอง(๒)


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑


(๑) บานประตูวิหารพระแท่นศิลาอาสน์นั้น ต่อไปไฟไหม้เสียกับวิหาร น่าเสียดายยิ่งนัก ฝีมือจำหลักเป็นตัวกระหนกและรูปภาพเด่นออกมา ทำนองบานประตูวิหารพระศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ สันนิษฐานว่าเป็นบานเดิมของวิหารพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลก ครั้นเมื่อพระเจ้าบรมโกศทรงปฏิสังขรณ์วัดสำคัญทางเมืองเหนือ โปรดให้ถ่ายลายลงมาทำเป็นบานประดับมุขพระราชทานไปเปลี่ยน ส่วนบานเดิมโปรดฯให้ย้ายเอาไปเป็นบานวิหารพระแท่นศิลาอาสน์ ซึ่งทรงปฏิสังขรณ์ด้วยในคราวนั้น

(๒) เรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก จะอธิบายในที่อื่นต่อไปข้างหน้า ตรงนี้จะกล่าวอธิบายแต่เรื่องเมืองเจ้าเงาะกับเมืองทุ่งยั้งซึ่งได้ตรวจในชั้นหลังต่อมา เมื่อที่เรียกกันว่าเมืองเจ้าเงาะนั้นเป็นเมืองโบราณเก่าแก่ตั้งแต่ก่อนชนชาติไทยลงมาเป็นใหญ่ในประเทศสยาม ขุดพบของโบราณในสมัยที่กล่าวนั้น ในบริเวณเมืองเจ้าเงาะหลายอย่าง ส่วนเมืองทุ่งยั้งนั้น สร้างขึ้นเมื่อในสมัยสุโขทัยเป็นเมืองด่านแทนเมืองเจ้าเงาะ ปรากฏชื่อในบานแผนกกฎหมายลักษณะลักพาตั้งในรัชกาลพระเจ้าอู่ทอง เรียกว่าเมืองทุ่งยั้งเมืองบางยม (ซึ่งอยู่ริมลำน้ำยมเก่า) เป็นคู่กันดังนี้


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๒ ล่องลงแควใหญ่ - แวะดูพิชัยเก่า


เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ออกเรือล่องจากอุตรดิตถ์ และนับว่าออกจากตอนที่มีของดูสนุก ตั้งหน้ากลับบ้านเท่านั้น ที่จะกล่าวต่อไปก็มีแต่บอกระยะทางเป็นพื้น ที่ข้าพเจ้านำมาลงไว้ก็เพราะหวังจะให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่จะเดินทางต่อไปในกาลเบื้องหน้า ในวันแรกที่ล่องนั้นเวลาเที่ยงเศษถึงบ้านท่ายวน พักคนแจวเรือหน่อยหนึ่ง แล้วล่องต่อมา จนเวลาจวนบ่าย ๔ โมงถึงที่ว่าการอำเภอตรอน หยุดนอนคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๒ โมงเศษออกเรือ ต้องแจวบ้างเข็นบ้าง พักร้อนที่ตำบลบ้านเกาะ แล้วล่องตจ่อมาจนบ่าย ๔ โมงเศษ ถึงที่ว่าการอำเภอพิชัย(เมืองเก่า)

วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าขึ้นดูเมืองพิชัยเก่า ขึ้นจากเรือแล้วต้องเดินไปตามสะพานสิบวา จึงถึงที่เป็นหาดน้ำแห้ง เดินไปบนหาดอีกไกลจึงถึงที่เป็นตลิ่งแท้ ขึ้นตรงที่ว่าการอำเภอแล้วเลี้ยวไปทางเหนือ เดินไปตามถนนที่เลียบไปตามริมฝั่งแม่น้ำฝั่งตะวันออก ผ่านบ้านเรือนไร่สวนและวัดติดๆกันไปจนถึงกำแพงเมืองด้านใต้ เลี้ยวขึ้นไปทางทิศตะวันออก เดินเลียบกำแพงเมืองด้านใต้ไป เพื่อดูสถานต่างๆในเมืองพิชัยเก่า พระสวัสดิ์ภักดีกรมการพิเศษเป็นผู้นำทาง

กำแพงเมืองนี้เป็นอิฐกับดินเป็นต้น ตามพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิต มีข้อความอยู่ว่า เมื่อจุลศักราช ๘๓๔ ปีมะโรงจัตวาศก แผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย ในฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติว่าก่อกำแพงเมื่อศักราช ๘๕๒ ปีจอโทศก ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะใกล้ข้างถูกมากกว่าในฉบับโน้น จึงเข้าใจได้ว่าก่อนสมัยนี้เมืองพิชัยไม่มีกำแพงอิฐ แต่คงมีกำแพงค่ายระเนียด แต่เมืองพิชัยไม่ใช่เป็นเป็นเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) เมืองพิชัยเป็นเมืองประเทศราชอยู่แล้ว จึงต้องเข้าใจว่าไม่ใช่แต่เป็นเมืองเก่า ทั้งเป็นเมืองใหญ่อยู่ด้วย

ข้าพเจ้าได้ขอแรงพนักงานแผนที่ กองข้าหลวงเกษตรที่อุตรดิตถ์ให้ล่วงหน้าลงมาทำแผนที่ไว้ตรวจ ได้ความตามแผนที่นี้ว่า รูปเมืองเดิมเป็นสี่เหลี่ยรี กว้าง ๑๕ เส้น ยาว ๒๔ เส้น แต่ถูกสายน้ำแทงกำแพงพังไปเสียทางด้านตะวันตกเกือบหมด เหลืออยู่ยาวสัก ๒ เส้นเท่านั้น และด้านใต้ทางมุมตะวันตกเฉียงใต้พังเสียราว ๑๐ วา แต่ด้านตะวันออกกับด้านเหนือยังบริบูรณ์ จึงเห็นได้ว่าเมืองพิชัยไม่ใช่เมืองเล็กน้อย แต่ไม่มีตำนานปรากฏว่าสร้างขึ้นแต่เมื่อใด ในพงศาวดารเหนือไม่มีกล่าวถึงเมืองพิชัย แต่ถ้าจะลองเดาเล่นก็น่าจับให้เป็นบริบูรณ์นคร เมืองบริบูรณ์นครนั้น

ตามพงศาวดารเหนือกล่าวว่าได้สร้างขึ้นเมื่อครั้งบาธรรมราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ต่อจากตอนสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ไปแล้ว มีข้อความกล่าวไว้ว่า ได้ส่งลูกหลวงออกไปเที่ยวตั้งเมืองขึ้น ๓ แห่ง ตือตำบลบ้านปัญจมัชฌคามขึ้นเป็นเมืองหริภุญชัยให้เจ้าอโลกกุมารไปครองแห่งหนึ่ง ตั้งตำบลบ้านอุตรคามขึ้นเป็นเมืองกัมโพชนคร (คือทุ่งยั้ง) ให้เจ้าธรรมกุมารไปครองแห่งหนึ่ง ตั้งบ้านบุรคามขึ้นเป็นเมืองบริบูรณ์นครให้เจ้าสีหกุมารไปครองอีกแห่งหนึ่ง เมืองหริภุญชัยกับเมืองกัมโพชนครก็ได้ความแล้วอยู่ที่ไหน แต่บริบูรณ์นครนี้ไม่มีวี่แววอะไรเลยในหนังสือ แต่ตามความนิยมของชาวเหนือว่าตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควใหญ่หรือแม่น้ำน่านใกล้ๆเมืองตรอน แต่จะสืบเอาหลักฐานอะไรก็ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงอยากเดาว่าจะเป็นเมืองพิชัยนี้เอง ที่ตั้งของเมืองนี้ดูก็ดี ชัยภูมิควรเป็นเมืองด่านของศรีสัชนาลัยได้อีกแห่งหนึ่ง ทำนองเดียวกับเมืองทุ่งยั้งฉะนั้น

ภายในเมืองพิชัยเก่าในกาลบัดนี้รกเป็นพงเสียมาก แต่นายอำเภอได้จัดถางทางไว้ให้ไปดูสถานที่ต่างๆได้บ้าง ที่ได้ไปดูแรกคือที่ราษฎรเรียกว่าคูปราสาท คูนี้ขุดยาวยื่นเข้าไปกลางเมืองจากกำแพงเมืองด้านใต้ มีเป็นคันดินอยู่ทั้งสองฟากคู คูนั้นตรงข้ามไปจนเกือบกลางเมือง จึงไปเลี้ยววงกองดินสูงอันหนึ่ง ซึ่งนิยมกันว่าเป็นตัวปราสาท บนเนินนี้ตรวจดูเห็นก้อนศิลาแลงตัดเป็นรูปแปดเหลี่ยมกองอยู่เกลื่อนกลาด แต่พอเข้าใจได้ว่าเป็นก้อนแลงที่ใช้ก่อเสา บนนั้นมีกองดินย่อมๆซึ่งคุ้ยดูได้อิฐ จึงเดาว่าคงเป็นฐานตั้งพระ และบนเนินเนินนี้คงจะเป็นวิหารอยู่ ในคูที่ริมเนินนี้ยังมีน้ำขังอยู่ ถามได้ความว่าต่อเดือน ๕ น้ำจึงจะแห้งหมด จึงสันนิษฐานว่าเดิมคลองนี้คงจะไปต่อกับลำธารอะไรสักอันหนึ่ง ส่วนเนินที่เรียกว่าปราสาทนั้น ข้าพเจ้าสงสัยว่าไม่ใช่ปราสาท คงเป็นวัด แต่วังหรือที่อยู่ของเจ้าเมืองอาจจะอยู่ที่ริมๆนั้น และคลองนั้นอาจจะขุดเข้ามาสำหรับให้มีน้ำใช้เล่นในสวน เหมือนอย่างวังในเมืองสวรรคโลกนั้นก็เป็นได้

ต่อจากที่คูปราสาทไป ได้ไปดูที่ปรางค์อันหนึ่ง ซึ่งไม่มีผู้ใดบอกได้ว่าเป็นวัดอะไร ทำให้รู้สึกว่าขาดคนช่างรู้เช่นอย่างนายเทียนเมืองสวรรคโลก จึงจำเป็นต้องนึกเดาเอาเองตามชอบใจโดยมาก ปรางค์นั้นก่อด้วยอิฐ มีเหลี่ยมไม้สิบสองบริบูรณ์ดีอยู่มุมหนึ่ง ตัวปรางค์ฐานสี่เหลี่ยม ๖ ศอก ๗ นิ้วกึ่ง ด้านตะวันตกด้านเหนือด้านใต้มีซุ้มมีรูปอะไรรัวๆอยู่ทางด้านเหนือแลเห็นไม่สู้ถนัด เพราะเป็นรูปปั้นด้วยปูนพังเสียแล้ว ยังเห็นเป็นแต่รอยๆมีเค้ารูปคน ทางด้านตะวันออกมีบันไดขึ้นไป ๒ หรือ ๓ ขั้นแล้วถึงแท่น ตัวปรางค์นั้นถูกขุดค้นหาตรุทรัพย์เสียจนป่นแทบจะไม่เป็นรูป ทางด้านตะวันออกต่อปรางค์ออกมามีฐานสี่เหลี่ยมสูงพ้นดินหลายศอก ก่อด้วยอิฐเหมือนเช่นตัวปรางค์ ทางด้านตะวันตกของฐานนั้น มีผู้ขุดลงไปไว้ลึก จึงเห็นได้ว่าก่อรากด้วยอิฐแข็งแรง ซึ่งทำให้เจ้าใจว่าคงจะเป็นที่ตั้งของอะไรหนักๆบนฐานนั้น กับทางหน้าตะวันตกของฐานนั้นพบท่ออยู่อันหนึ่งก่อด้วยอิฐกับปูน เมื่อแรกเห็นเข้าใจว่าจะเป็นบัวปลายเสาเพราะเห็นเป็นรูปกลมปลายกลวง แต่ครั้นลองขุดคุ้ยดูจึงปรากฏว่าเป็นท่อซึ่งติดอยู่กับฐาน ท่อนี้กับรูปปรางค์ประกอบกันเข้าสองอย่างทำให้ข้าพเจ้าเดาไปว่า ที่แห่งนี้จะเป็นเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์ ฐานนั้นเดาว่าเป็นที่ตั้งเทวรป พอสรงน้ำเทวรูปน้ำก็จะได้ไหลลงทางท่อรองน้ำนั้นไปใช้เป็นน้ำมนต์ต่อไปดูก็เข้าทีดี ที่นี้ดูท่าทางไม่เป็นวัดพุทธศาสนา จะว่าฐานนั้นเป็นวิหารก็ย่อมไปและฐานชุกชีตั้งพระก็ไม่มี ทั้งทีภายในวงกำแพงแก้วที่มีล้อมอยู่นั้นก็ย่อม คือกว้าง ๑๕ วา ยาว ๒๑ วาเท่านั้น การที่จะมีโบสถ์พราหมณ์ในเมืองพิชัยนี้ไม่เป็นการเหลือเกิน เพราะรู้อยู่ว่าในเมืองเหนือมีพราหมณ์อยู่เป็นอันมาก พึ่งมาสูญวงศ์หายไปในไม่ช้านัก

นอกจากนี้ก็ไม่มีชิ้นอะไรที่ดี ภายในกำแพงเมืองที่ได้เห็นแต่นอกกำแพงเมืองออกไปทางทิศเหนือ และไม่ห่างจากกำแพงนักมีวัดที่ชาวเมืองพิชัยนับถือ เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งเรียกว่าวัดเสมา การก่อสร้างในที่นี้ดูอยู่ข้างจะมั่นคง ใช้ศิลาแลงเป็นพื้น แต่มีอิฐปนอยู่บ้าง มีวิหารแคบๆสูงๆอยู่หลังหนึ่ง ฐาน ๕ วา ๒ ศอกสี่หลี่ยม มีวิหารยาวต่อออกมาข้างหน้าทางทิศตะวันออก เข้าใจว่าคงจะวางแบบอย่างวัดศรีชุมหรือวัดสระปทุมนั้นเอง วัดนี้ที่นับถือกันว่าเป็นวัดสำคัญ เพราะขุดตรุได้พระพิมพ์ตะกั่ว เป็นรูปพระยืนและพระลีลา ซึ่งเรียกตามศัพท์สามัญว่า "พระกำแพงยืน" หรือ "พระกำแพงเขย่ง" นั้นอย่างหนึ่ง กับรูปพระมารวิชัยแบบพระพุทธชินราชอีกอย่างหนึ่ง พระชนิดยืนนับถือกันว่าเป็นเครื่องรางคุ้มกันภยันตรายได้ต่างๆ และผู้ที่ถือไว้เป็นผู้คงกะพัน

ออกจากวัดเสมากลับเข้าในเมือง เดินเลียบกำแพงด้านเหนือต่อไป จนถึงด้านที่กำแพงพัง ในเวลานี้มุมเมืองทิศตะวันตกเฉียงเหนืออยู่ห่างลำน้ำอยู่มาก ด้านที่กำแพงนั้นก็อยู่ที่ดอน จึงเห็นได้ว่าภายใน ๔๐๐ ปีเศษ ตั้งแต่ทำกำแพงเมืองพิชัยขึ้นใหม่นี้ แม่น้ำได้เปลี่ยนทางหลายครั้ง เมื่อแรกก่อกำแพงเมือง แม่น้ำคงอยู่ไม่ห่างกำแพงนัก แล้วสายน้ำเปลี่ยนแทงมาทางตะวันออก จนตลิ่งพังพาเอากำแพงเมืองด้านตะวันออกลงน้ำไปด้วย แล้วสายน้ำกลับเปลี่ยนไปทางทิศตะวันตกอีก ตลิ่งทางฝั่งตะวันออกก็งอกตามออกไป จนมุมเมืองด้านตะวันตกเฉียงเหนือมาอยู่บนดอนเช่นเดี๋ยวนี้

ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์นั้น ดูเมืองพิชัยแล้ว กินกลางวันที่วัดหน้าพระธาตุแล้วกลับไปลงเรือ นอนค้างที่นั้นอีกคืนหนึ่ง

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ล่องจากพิชัยเก่า ผ่านเข้าแดนเมืองพิษณุโลก หยุดนอนที่ตำบลท่างาม ระยะนี้อยู่ข้างใกล้ แต่ครั้นจะกะให้ยาวกว่านี้ก็เห็นว่าเรือไปด้วยกันมาก ถ้าไปติดเสียบ้างจะลำบาก วันที่ ๒๖ นอนที่หน้าที่ว่าการอำเภอพรหมพิราม วันที่ ๒๗ นอนที่ตำบลไผ่ขอ วันที่ ๒๘ ออกเรือจากไผ่ขอเวลาเช้า ๒ โมง พอเวลา ๕ โมงก็ถึงเมืองพิษณุโลก พักอยู่แพหน้าที่ว่าการมณฑล


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๓ พิษณุโลก


เป็นธรรมเนียมเจ้านายไปถึงเมืองพิษณุโลกแล้วก็ต้องกระทำการสมโภชพระพุทธชินราช เพราะฉะนั้น ในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ นั้นเอง ตอนเย็นข้าพเจ้าได้ข้ามฟากไปวัดมหาธาตุ ตรงเข้าไปนมัสการพระพุทธชินราช จุดเทียนนมัสการแล้วนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้วจุดดอกไม้เพลิงและดูละคร ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ เวลาเช้าถวายอาหารบิณฑบาตแด่พระสงฆ์แล้วเววียนเทียนสมโภชพระพุทธชินราชถูกต้องตามธรรมเนียม ตามธรรมดาที่ทำกันแต่เท่านี้

แต่ครั้งนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าควรจะทำอะไรเพิ่มเติมให้แปลกขึ้นอีกสักหน่อย เพราะการที่ได้ขึ้นมาเที่ยวในเมืองอยู่นานเรียบร้อยดี ปราศจากความไข้เจ็บต่างๆ ในเวลาบ่ายวันที่ ๒๙ นั้น จึ่งได้จัดการเล่นสรรพกีฬาที่สนามราชมาฬก มีรางวัลแจกให้แก่ผู้ที่แข่งขันประชันฝีเท้าและกำลังตามสมควร ครั้นเวลาค่ำมีการเลี้ยงข้าราชการที่ราชมาฬก รุ่งขึ้นวันที่ ๑ มีนาคม เวลาค่ำมีละครพูด พวกข้าราชการและข้าในกรมเล่นให้ข้าราชการดู

นอกจากสมโภชพระพุทธชินราช ยังมีสิ่งที่เป็นธรรมเนียมต้องกระทำอีกอย่างหนึ่ง คือไปบวงสรวงเทพารักษ์ที่วังจันทร์ เพราะฉะนั้นพอเสร็จการสมโภชแล้ว รุ่งขึ้นวันที่ ๒ มีนาคม เวลาเช้าได้ไปที่วังจันทร์ กระทำการบวงสรวงที่ศาลกลางวัน แล้วเที่ยวเดินดูวังต่อไป ในวังนี้มีสระอยู่แห่งหนึ่งเรียกว่าสระสองห้อง เพราะมีถนนเป็นคันคั่นอยู่ระหว่างกลาง เป็นสระเขื่องอยู่ และถ้าแม้มีน้ำขังอยู่เต็มก็ดูจะสบายดี วังนั้นมีกำแพงเป็นสองชั้น พื้นที่ไม่สู่ใหญ่นัก และเพราะเหตุที่ต้นไม้ขึ้นอยู่เป็นพงในนั้นจึงดูยาก แต่เห็นได้ว่าเป็นวังย่อมๆและปราสาทราชฐาน คงจะทำด้วยไม้จึงไม่มีร่องรอยเหลืออยู่เลย ทางด้านตะวันออกมีย่อกำแพงอยู่แห่งหนึ่ง เข้าใจว่าตรงนั้นจะมีพลับพลาสูง และต่อนั้นออกไปคงจะเป็นหน้าพระลาน การก่อสร้างใช้อิฐเหมือนเช่นที่กรุงเก่า

เมื่อวันที่ ๔ มีนาคม ข้าพเจ้าได้ไปดูวัดจุฬามณี ไปโดยทางเรือล่องลงไปจากมีเมืองไม่ไกลนักก็ถึงท่า ขึ้นเดินไปไม่กี่เส้นถึงวัด วัดจุฬามณีนี้ในชั้นแรกๆพากันหลงเที่ยวค้นหากันที่ทางกรุงเก่าก็หาไม่พบ ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตมีข้อความอยู่ว่า "ศักราช ๘๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี" ต่อลงมาอีกวรรคหนึ่งมีข้อความว่า "ศักราช ๘๑๑ ปีมะเส็งเอกศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าทรงผนวช ณ วัดจุฬามณีไดเปดเดือนแล้วลาผนวช" ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าเป็นวัดสำคัญ แต่เพราะไม่มีข้อความกล่าวชี้ไว้เป็นแน่นอน ว่าวัดจุฬามณีนั้นอยู่ในเขตแดนเมืองไหน ก็พากันเข้าใจเสียว่าอยู่ที่กรุงเก่า

ครั้นกลางปีรัตนโกสินทรศก๔๐ ๑๒๖ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ เสด็จขึ้นไปตรวจราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทรงพบวัดจุฬามณีนี้อยู่ที่เมืองพิษณุโลก ทรงพบศิลาจารึกข้อความเป็นหลักฐานเป็นพยานตรงตามข้อความในพระราชพงซศาวดาร ได้ทรงคัดอักษรจารึกแผ่นศิลาส่งลงมาประทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณ และสำเนาคำจารึกนั้นได้พิมพ์ไว้ต่อท้ายหนังสือพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติแล้ว

ตามข้อความที่จารึกไว้ในแผ่นศิลานั้น ศักราชผิดกับศักราชในพงศาวดารกรุงเก่าฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตอยู่หลายปี ตามคำจารึกว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้สร้างอารามวัดจุฬามณีเมื่อจุลศักราช ๘๒๖ ปีวอกฉอศก และได้เสด็จออกทรวงผนวชเมื่อศักราช ๘๒๗ ปีระกาสัปตศก เพราะฉะนั้นศักราชในพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตผิดอยู่ ๑๖ ปี สอบดูพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ศักราชตรงกับในคำจารึก และเมื่อรู้ตำแหน่งแห่งหนแห่งวัดจุฬามณีแล้ว ไปพลิกดูพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอีก ก็แลเห็นว่าถ้าได้อ่านพงศาวดารฉบับนี้ก่อนแล้ว บางทีจะมีผู้สันนิษฐานที่ตั้งวัดจุฬามณีได้เสียก่อนแล้ว ข้อความในพงศาวดารฉบับนี้มีกล่าวอยู่ว่า "ศักราช ๘๐๐ มะเมียศก ครั้งสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าสร้างวัดมเหยงคณ์เสวยราชสมบัติ และสมเด็จพระราเมศวร(เจ้าผู้เป็น)พระราชกุมารท่านเสด็จไปเมืองพิษณุโลก ครั้งนั้นเห็นน้ำพระเนตรพระพุทธชินราชตกออกมาเป็นโลหิต" ต่อลงมาอีกมีข้อความว่า "ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึ่งพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ" ดังนี้ เห็นได้ว่าพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตคลาดเคลื่อนไปหลายปี ปีที่ว่าทรงสร้างพระวิหารวัดจุฬามณีนั้น พึ่งเสวยราชสมบัติเท่านั้น และสักราชในเรื่องอื่นในแผ่นดินนี้ก็คลาดเคลื่อนกันต่อๆไปเป็นชั้นๆคือสูงเกิน ๑๖ ปีตลอด

กับมีข้อความสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งในพงศาวดารฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตไม่ได้กล่าวถึงเลย คือ "ศักราช ๘๒๕ มะแมศก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก แลตรัสให้พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา" ในปีนี้เองเสด็จยกทัพไปช่วยเมืองสุโขทัยกับพระอินทราชา ตีทัพพระเกียรติ์แตกแล้วชนช้างกับหมื่นนคร และพระอินทราชาต้องปืนที่พระพักตร์ ครั้นมหาราชเลิกทัพไปจากสุโขทัยแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าได้เสด็จกลับคืนเข้ากรุงศรีอยุธยา พอต่อไปอีกวรรคหนึ่งก็กล่าวถึงทรงสร้างพระวิหารวัดจุฬามณีทีเดียวในปีรุ่งขึ้น เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงได้กล่าวว่า ถ้าได้อ่านพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ และได้ทราบข้อความนี้แล้ว ก็พอจะมีทางเดาได้บ้างว่าวัดจุฬามณีนั้นอยู่ที่เมืองพิษณุโลกไม่ใช่ที่กรุงเก่า เพราะเมื่อปรากฏอยู่ว่าเมื่อเสด็จขึ้นไปอยู่พิษณุโลก และให้พระโอรสครองราชสมบัติที่กรุงศรีอยุธยาแทนพระองค์ ฉะนั้นแล้วก็คงต้องสันนิษฐานได้ต่อไปว่าถ้าจะทรงสร้างวัดและทรงออกผนวชที่ไหนแล้ว ก็คงต้องเป็นที่ใกล้ๆที่ประทับอยู่ แต่การปรารภภายหลังเหตุเช่นนี้เป็นของง่าย เมื่อการแล้วไปแล้วก็พูดง่ายว่าเมื่อแรกนั้นพลาดพลั้งที่ตรงไหน เป็นแต่ข้าพเจ้าอดนึกเสียใจไม่ได้เท่านั้นว่าไม่มีผู้ใดได้แลเห็นหนทางที่จะสันนิษฐานที่ตั้งวัดจุฬามณี จนได้มีผู้บังเอิญไปพบเข้าเองโดยมิได้ตั้งใจจะหาฉะนี้

ในเวลานี้ในวัดจุฬามณียังมีที่ดูได้มาก ของควรดูล้วนอยู่ในลานอันหนึ่ง กว้าง ๑ เส้น ๔ วา ยาว ๒ เส้น ๑๗ วา มีกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐสูงประมาณ ๒ ศอก กลางลานมีพระปรางค์ใหญ่ก่อด้วยแลง ทางด้านตะวันตกมีอุโบสถก่อด้วยอิฐ ด้านตะวันออกมีวิหารใหญ่ผนังอิฐฐานอิฐแต่เสาเป็นแลง ต่อวิหารออกไปทางมุมลานผนังหลังมณฑปมีแผ่นศิลาจารึกที่กล่าวถึงแล้วข้างบนนี้ มีซุ้มและกรอบสำหรับศิลานั้นด้วย สังเกตดูสันนิษฐานว่าวัดนี้เป็นวัดโบราณมีอยู่แต่ก่อนสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มาปฏิสังขรณ์ขึ้น และทำพระวิหารเพิ่มเติมขึ้น พระเจดีย์กลางนั้นคงเป็นของมีอยู่แต่เดิม

ทำเลที่ตั้งวัดนี้อยู่ข้างจะเหมาะ เพราะอยู่ใกล้ลำน้ำทางไปมาสะดวก สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาอยู่ที่พิษณุโลกนานย่อมจะได้เสด็จประพาสตามที่ต่างที่ใกล้ๆเมืองนี้ คงจะมาโปรดทำเลที่ตั้งวัดจุฬามณีจึงได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดนี้ขึ้น แล้วเลยเกิดทรงพระราชศรัทธาขึ้นมาเสด็จออกทรงผนวช วัดนี้เป็นที่สำราญดีกว่าวัดในเมืองเป็นแน่ การที่มาเตรียมการออกทรงผนวชน่าจะทำเป็นการใหญ่ บ่อและสระที่ขุดไว้ในเวลานั้นยังอยู่จนกาลบัดนี้ แต่ส่วนเสนาสนะหรือพลับพลาที่จะประทับนั้นไม่ต้องหาให้ป่วยการ คงทำด้วยไม้ทั้งนั้น ในเวลาที่ทรงผนวชอยู่นั้นก็ต้องเข้าใจว่าทรงสบายมาก จึงทรงผนวชอยู่ถึง ๘ เดือนกับ ๑๕ วัน ครั้งนั้นมีผู้บวชโดยเสด็จมาก ตามคำจารึกในแผ่นศิลามีอยู่ว่า "แลพระสงฆ์บวชโดยเสด็จทั้งสี่คณะ ๒๓๔๘ พระองค์" ท่านพระ ๒๓๔๘ องค์นี้เห็นจะไม่ได้อยู่ที่วัดจุฬามณีทั้งนั้นกระมัง ถ้าไปรวมกันอยู่ที่นั่นหมด เห็นจะมากเกินต้องการ

นอกจากสถานที่กล่าวถึงมาแล้วนี้ ก็ไม่มีอะไรที่แปลกน่าดูอีกในเมืองพิษณุโลก เมืองก็ใหญ่แต่ช่างมีชิ้นดีๆเหลืออยู่น้อยจริงๆ แต่มีชิ้นสำคัญอยู่พอจะแก้หน้าของเมืองได้ดีอย่างยิ่ง กล่าวคือพระพุทธชินราช ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้เห็นพระพุทธรูปมากนักแล้ว ไม่ได้เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งอยู่ก็ดูเหมาะสมหนักหนา วิหารพอเหมาะกับพระมีที่ดูได้ถนัด และองค์พระก็ตั้งต่ำพอดูได้ตลอดทั้งองค์ ไม่ต้องเข้าไปดูจอนจ่อเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า แลดูแต่พระนาสิกพระ ยิ่งพิศไปยิ่งรู้สึกยินดีว่าไม่เชิญลงมาเสียจากที่นั้น ถ้าพระพุทธชินราชยังคงอยู่ที่พิษณุโลกตราบใด เมืองพิษณุโลกจะเป็นเมืองที่ควรไปเที่ยวอยู่ตราบนั้น ถึงในเมืองพิษณุโลกจะไม่มีชิ้นอะไรเหลืออยู่อีกเลย ขอให้มีแต่พระพุทธชินราชเหลืออยู่แล้ว ยังคงจะอวดได้อยู่เสมอว่ามีของควรดูควรชมอย่างยิ่งอย่างหนึ่งในเมืองเหนือ หรือจะว่าในเมืองไทยทั้งหมดก็ได้(๑)


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมตอนที่ ๓

(๑) เมืองพิษณุโลกมีชื่อเดิมเรียกว่า "เมืองสองแคว" เพราะตั้งอยู่ในระหว่างลพน้ำแควใหญ่(น้ำน่าน) กับลำน้ำแควน้อย(คือลำน้ำที่ไหลมาแต่เมืองนครไทย) แต่เดิมผ่านมาทางหลังเมืองพิษณุโลก (ยังพอสังเกตเห็นแนวได้อยู่) ไปร่วมลำน้ำแควใหญ่ที่ท่าล่อ ครั้นขุดคลองจากลำน้ำแควน้อยมาออกข้างเหนือเมืองพิษณุโลก สายน้ำมาเดินทางใหม่ จึงทำให้ลำน้ำแควน้อยเดิมเขินไป

ในบรรดาศิลาจารึกสุโขทัยและหนังสือเก่าครั้งรัชกาลพระเจ้าอู่ทองเรียกว่าเมืองสองแควทั้งนั้น ชื่อที่เรียกว่าเมืองพิษณุโลกเห็นจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา คราวเดียวกับชื่อเมืองสวรรคโลกบางทีจะเป็นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ตัวเมืองสองแควครั้งพวกขอมปกครองตั้งอยู่ตรงวัดจุฬามณี จึงสร้างพระปรางค์วัดนั้นไว้เป็นสำคัญ เมืองพิษณุโลกเดี๋ยวนี้ย้ายขึ้นไปตั้งเมื่อสมัยสุโขทัย เรื่องตำนานการสร้างเมืองพิษณุโลกและสร้างพระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์นั้น สอบสวนหลักฐานเห็นว่ารูปเรื่องจะเป็นดังกล่าวในพงศาวดารเหนือ เป็นแต่พงศาวดารเหนือลงนามเมืองของพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกว่าเมืองเชียงแสนนั้นผิด ที่แท้พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกนั้นมิใช่ผู้อื่น คือพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทย ราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชนั้นเอง มีเรื่องในศิลาจารึกว่าเมื่อเป็นพระมหาราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ก่อนจะได้เสวยราชสมบัติมีศัตรูต้องยกกองทัพลงมาติดเมืองสุโขทัยในเวลาพระราชบิดาประชวรหนัก จึงได้ครองราชอาณาเขต ตรงกับที่ว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกยกกองทัพมาติดเมืองสวรรคโลก ได้ราชสมบัติเมืองนั้น และพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยทรงรอบรู้พระไตรปิฎก จึงทรงสามารถแต่งเรื่องไตรภูมิ ตรงกับที่เรียกว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกมีแต่พระองค์เดียวเท่านั้น อีกประการหนึ่งโบราณวัตถุที่สร้างไว้ ณ เมืองพิษณุโลกเป็นแบบอย่างครั้งสมัยสุโขทัยเมื่อรับลัทธิพระพุทธศานาลังกาวงศ์มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่นพระชินราช พระชินสีห์ ควรเชื่อได้ดังกล่าวในพงศาวดารเหนือว่าประชุมช่างอย่างวิเศษ ทั้งที่มณฑลพายัพและในอาณาเขตสุโขทัยมาให้ช่วยกันคิดแบบอย่าง แต่พึงสังเกตเห็นได้ที่ทำปลายนิ้วพระหัตถ์เท่ากันทั้ง ๔ นิ้ว เป็นความเกิดขึ้นด้วยวินิจฉัยคัมภีร์มหาปุริสลักขณะกันอย่างถี่ถ้วนในชั้นหลัง พระพุทธรูปชั้นก่อนหาทำนิ้วพระหัตถ์เช่นนี้ไม่ และที่สุดยังมีหลักฐานอีกอย่างหนึ่ง ด้วยในเรื่องพงศาวดารเมืองเชียงแสนมิได้ปรากฏว่ามีพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกหรือพระเจ้าเชียงแสนองค์ใด ได้ลงมาตีเมืองสวรรคโลกเหมือนอย่างกล่าวในพงศาวดารเหนือ ด้วยมีหลักฐานต่างๆดังกล่าวมา จึงสันนิษฐานว่าพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยเป็นผู้สร้างเมืองสองแควขึ้นเป็นเมืองลูกหลวง และหล่อพระพุทธชินราชพระพุทธชินสีห์ เมื่อราว พ.ศ. ๑๙๐๐


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๔ กลับบ้าน


วันที่ ๖ มีนาคม เวลาเช้า ๔ โมง ออกจากที่พักริมที่ว่าการมณฑลพิษณุโลก ลงเรือข้ามฟากไปขึ้นที่วัดบรมธาตุ ขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช แล้วไปที่พักรถไฟ ขึ้นรถไฟพิเศษออกจากเมืองพิษณุโลกเวลาเช้า ๔ โมง ๔๕ นาที ทางรถไฟผ่านไปทางสระแก้วซึ่งได้เคยเห็นเป็นบึงใหญ่มีน้ำเต็ม เห็นครั้งนี้น้ำแห้งหมด แต่ก่อนเคยเป็นที่งามแห่งหนึ่ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นที่สกปรก นี่แหละผลได้ทางหนึ่งก็คงเสียทางหนึ่ง ความเจริญมักเป็นศัตรูกับความงามของพื้นประเทศ และบางทีก็เป็นศัตรูของโบราณวัตถุ แต่ข้อนี้เป็นธรรมดาไม่เป็นแต่เมืองเรา ที่เมืองอื่นก็เหมือนกัน เช่นที่ประเทศอิยิปต์เป็นต้น มีตัวอย่างคือ เทวสถานที่เกาะไฟลีเหนือแก่งตำบลอัสวัน เดิมเป็นที่งามน่าดูและนักเลงโบราณคดีนิยมกันว่าเป็นที่สำคัญ มีอักษรเขียนไว้บอกเรื่องราวตำนานของชาติอิยิปต์โบราณเป็นอันมาก บัดนี้ได้สร้างทำนบใหญ่ขึ้นที่แก่ง น้ำท่วมเกาะและเทวสถานไฟลีเสียแล้ว

เมื่อจะต้องเลือกกันว่าจะเอาข้างไหน ความเจริญหรือรักษาของโบราณ ก็เป็นธรรมดาที่จะต้องคิดถึงความเจริญก่อน เพราะฉะนั้น ก็ต้องยอมเอาของโบราณแลกกับความเจริญ ถึงในเมืองเราก็เหมือนกัน รถไฟได้อิฐจากโบราณสถานกรุงเก่าไปถมทางเสียไม่รู้เท่าไร ยังหวังใจอยู่อย่างเดียวแต่ว่า ในเมืองไทยเรานี้จะไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องเอาโบราณวัตถุแลกกับความเจริญของเราบ่อยๆเท่านั้น

เวลาเที่ยง ๑๕ นาที รถไฟถึงสเตชั่นเมืองพิจิตร ลงจากรถไฟเดินไปไม่ไกลนักก็ถึงพิจิตรสโมสร ซึ่งเจ้าเมืองได้จัดไว้ให้เป็นที่พักอยู่ริมฝั่งตะวันออกของลำน้ำ ในเวลาบ่ายได้เที่ยวเดินดูสถานที่ต่างๆในเมืองพิจิตร

รุ่งขึ้นวันที่ ๗ มีนาคม ไปเที่ยวเมืองพิจิตรเก่า ออกจากที่พักข้ามไปฝั่งตะวันตก ขึ้นม้าขี่ไปทางเหนือเลียบตามริมฝั่งแม่น้ำ จนพ้นตลาดไปสักหน่อยหนึ่งถึงถนนแยก เลี้ยวถนนนี้ ทางใต้เลียบลำน้ำเก่าผ่านตำบลบ้านคลองคเชนทร์ มีบ้านช่องมาก เลี้ยว ตรงเรื่อยไปในป่าบางๆ ผ่านตำบลบ้านโรงช้าง มีบ้านผู้คนหนากว่าที่บ้านคลองคเชนทร์ตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งน้ำ แม่น้ำเก่าตอนนี้มีน้ำขังอยู่มาก ต่อบ้านโรงช้างไปหน่อยหนึ่ง ถึงกำแพงเมืองเก่า ทางเดินผ่านไปในเมือง แล้วจึงถึงบ้านเมืองเก่า ที่นี่บ้านช่องดูคับคั่งมาก มีเรือนดีๆฝากระแชงเป็นพื้น ดูบ้านช่องสะอาดดี มีผู้คนอยู่หนาแน่น สังเกตว่ามีผู้อันจะกินอยู่มากได้สนทนากับคนที่นี้บ้าง ก็สังเกตว่าทั้งกิริยามารยาทและวาจาเรียบร้อยดี เห็นได้ว่าเป็นคนชั้นที่ดีกว่าที่พบตามแถบเมืองใหม่(๑)

ส่วนในเมืองนั้นไม่สู้จะมีที่ดูมากนัก มีเกาะศรีมาลาแห่งหนึ่งกับวัดมหาธาตุแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน เกาะศรีมาลานั้นอยู่กลางสระ มีเป็นคันดินและคูล้อมสระนั้นอีกชั้นหนึ่ง ถ้าเวลามีน้ำเต็มๆเห็นจะงามดี นามเกาะนี้ไม่ต้องสงสัยว่าตั้งประกอบขึ้นภายหลังให้เข้ากับเรื่องขุมช้างขุนแผน

วัดมหาธาตุนั้นดูท่าทางจะเป็นวัดสำคัญในเมืองนี้เดิม มีเจดีย์องค์หนึ่งกับโบสถ์และวิหารก่อด้วยอิฐ ที่วัดนี้มีปล่องอันหนึ่งซึ่งเรียกว่าถ้ำชาลวัน ครั้นไปตรวจดูได้ความว่าเป็นปากท่อน้ำก่อด้วยอิฐช่องใหญ่พอคนคลานลอดเข้าไปได้ คงจะทำสำหรับน้ำเดินจากคูเข้าไปที่สระในวัด เดี๋ยวนี้ยังคงเหลือแต่ปากท่อที่อยู่ในคูเท่านั้น จึงแลดูคล้ายถ้ำ ดูในเมืองเสร็จแล้วไปกินข้าวกลางวันที่วัดนครชุม แล้วกลับเมืองใหม่ รวมทางทั้งไปทั้งกลับ ๖๐๐ เส้น

นึกดูก็น่าประหลาดใจที่ลำน้ำเก่าเขินเร็วจริงๆ เมื่อราว ๔๕ ปีมานี้เอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิจิตร เสด็จโดยเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช ขึ้นทางลำน้ำเก่าไปถึงเมืองพิจิตร จอดเรือพระที่นั่งราวๆหน้าวัดนครชุม ในกาลบัดนี้แม้ในฤดูน้ำก็ใช้เรือเดินไม่ได้ตลอด ถ้าจะนึกไปก็น่าเสียดาย เพราะที่เมืองเก่านี้เป็นทำเลดีมาก และบ้านช่องผู้คนก็อยู่ที่นี้มาก ถ้าแก้ไขเรื่องน้ำให้สะดวกได้แล้วน่าจะย้ายที่ว่าการมาตั้งไว้ที่เมืองเก่านี้ตามเดิม เชื่อว่าจะเป็นการสะดวกแก่การปกครองมาก

วันที่ ๘ มีนาคม ยังพักที่พิจิตรอีกวันหนึ่ง ได้ไปเที่ยวบึงสีไฟ

วันที่ ๙ มีนาคม ออกจากเมืองพิจิตร รถไฟพิเศษออกเวลาเช้า ๓ โมง ถึงปากน้ำโพ ๕ โมง ๓๕ นาที หยุดพักราว ๒๐ นาที แล้วออกเดินทางต่อมา ถึงสเตชั่นสามเสนเวลาบ่าย ๕ โมง ๕๔ นาที รวมเวลาที่ไปเที่ยวทั้งสิ้น ๖๕ วัน

ท่านผู้ที่ได้อ่านหนังสือนี้มาจนตลอดถึงแค่นี้แล้ว คงจะต้องรู้สึกมาแล้ว ว่าตอนกลางๆสนุกกว่าตอนท้ายเป็นอันมาก ตอนท้ายๆนี้จืดเต็มที ถ้าท่านรู้สึกเช่นนี้เมื่ออ่านหนังสือ ก็แปลว่าท่านรู้สึกอย่างเดียวกับตัวข้าพเจ้าเมื่อเดินทางนั้นเอง การไปเที่ยวเมืองเหนือที่สนุกมากก็อยู่ที่ตอนกลาง มาตอนปลายๆจืด ข้าพเจ้าเล่าไปตามความที่เป็นจริงจึงเป็นเช่นนั้น การที่จะแต่งให้ตอนปลายสนุกนั้น ถ้าจะกระทำจริงๆก็ได้ แต่ก็จะไม่ตรงกับความจริงเพราะฉะนั้น ความจริงจืดอย่างไร จึงต้องปล่อยให้จืดอยู่อย่างนั้น

การไปเที่ยวเมืองเหนือครั้งนี้ นอกจากความลำบากในส่วนการเดินทาง ยังลำบากในการค้นสถานที่ต่างๆนั้นเป็นอันมาก ความรู้สึกเหมือนไปในป่าดงทึบ ซึ่งยังไม่มีทางเดิน และต้องตัดถางทางเดินไปทุกฝีก้าว แต่ความลำบากในส่วนหักร้างถางพงนี้รู้สึกว่าสูญหายหรือลืมเสียสิ้น ในเวลาปีติเมื่อแลเห็นแสงสว่างอยู่ข้างหน้าฉันใด ความรู้สึกของข้าพเจ้าก็เช่นกัน ถ้าผู้ที่ยังไม่เคยไปทางเหนือนั้นๆได้อ่านหนังสือนี้ รู้สึกออกรสสนุกบ้างแม้แต่เล็กน้อยแล้ว ข้าพเจ้าจะรู้สึกในใจว่าการที่ได้ไปลำบากมาไม่เสียเวลาเปล่า


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๔


(๑) เมืองพิจิตรเก่า ชื่อเดิมเรียกว่าเมืองสระหลวง คู่กับเมืองสองแคว ในศิลาจารึกสุโขทัย และกฎหมายครั้งพระเจ้าอู่ทองเรียกอย่างนั้นทั้งนั้น เห็นจะตั้งชื่อใหม่คราวเดียวกับเมืองพิษณุโลก ผู้แต่งพงศาวดารเหนือ เอาคำมคธมาเรียกว่า โอฆบุรี ก็เห็นได้ว่าแปลงมาจากคำสระหลวงนั้นเอง แต่มาเกิดเข้าใจกันผิด ว่าเมืองโอฆบุรีอยู่ตรงเมืองพิษณุโลกเพียงข้ามฟากลำแม่น้ำ ที่จริงเมืองสระหลวงเป็นเมืองด่านทางด้านใต้ของกรุงสุโขทัย อย่างเดียวกับเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองด่านทางตะวันตก เมืองสวรรคโลกเป็นเมืองด่านทางเหนือ เมืองพิษณุโลกเป็นเมืองด่านทางตะวันออกฉันใด เมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็ตั้งเมืองด่านสี่ทิศทำนองเดียวกัน คือเมืองลพบุรีทิศเหนือ เมืองนครนายกทิศตะวันออก เมืองพระประแดงทิศใต้ เมืองสุพรรณทิศตะวันตก ส่วนเมืองพิจิตรเก่านั้น พิจารณาดูการก่อสร้างในอิฐเป็นพื้น จึงสันนิษฐานว่าเห็นจะสร้างเมื่อภายหลังเมืองพิษณุโลกลงมา เมื่อกรุงสุโขทัยหย่อนกำลังลงแล้ว


....................................................................................................................................................


เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๔




 

Create Date : 26 มีนาคม 2550   
Last Update : 26 มีนาคม 2550 14:30:29 น.   
Counter : 3627 Pageviews.  


เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๓ เชลียง ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย



....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ เดินทางไปสวรรคโลก


วันที่ ๓๑ มกราคม เวลาเช้า ๕ โมง ออกจากที่พักนอกเมืองสุโขทัยเก่า เข้าไปในเมืองทางประตูด้านตะวันออก บวงสรวงที่หลักเมืองและศาลเทพารักษ์(ศาลตาผ้าแดง) แล้วจึงขึ้นม้าออกเดินทางต่อไป ออกจากเมืองทางประตูด้านเหนือ เดินไปตามถนนโบราณที่ยังเรียกว่าถนนพระร่วงอีก ถนนแถบนี้ดูแน่นหนาดีกว่าทางที่มาจากเมืองกำแพงเพชร ที่ยังสูงเป็นค้นเห็นได้ถนัดอยู่ก็มี ที่ราบไปเสียยังคงเห็นแต่ทิวไม้ก็มี ที่ราบไปเสียนั้นสังเกตว่าเป็นที่ดอน เพราะฉะนั้นคงจะไม่ได้ตั้งใจถมให้สูงหรือให้แน่นหนาเหมือนในที่ลุ่ม ในแถบใกล้เมืองมีถนนตัดขวางข้ามไปหลายสาย ไปจากกำแพงเมืองประมาณ ๖๐ เส้น ข้ามลำแม่น้ำลำพันต้องทำสะพานข้าม เพราะลึกและกว้างพอประมาณ เวลาที่ข้ามไปนั้น น้ำแห้งหมด ตลิ่งชันมาก ทั้งสองฝั่งพื้นลำน้ำดูเป็นทราย ที่ตรงสะพานข้ามนั้นคะเนว่า ตั้งแต่พื้นลำน้ำขึ้นมาบนขอบตลิ่งประมาณ ๔ หรือ ๕ ศอก เพราะฉะนั้น ถ้าน้ำไม่เเห้งเสียแม่น้ำนี้ก็จะเป็นลำน้ำใหญ่อยู่ ถ้าทำทำนบกันลำน้ำนี้ และทำฝายมีเหมืองแบ่งน้ำเข้าไปตามทุ่ง บางทีตามแถบเมืองสุโขทัยเก่าจะบริบูรณ์ขึ้นอีกเหมือยอย่างเมื่อครั้งสมัย "พ่อขุนรามคำแหง" ยังเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอยู่นั้น ตามที่เข้าใจก็ดูเหมือนว่าขัดข้องอยู่ในเรื่องเงิน เทศาภิบาลจึงคิดจัดการทำฝายไม่ได้ และถ้าได้มีเจ้าพนักงานในกรมคลองไปตรวจตามแถบนี้สักคราวหนึ่ง น่าจะเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกอยู่บ้าง

เดินทางไปจากเมืองสุโขทัยเก่าได้ ๒๐๐ เส้น ถึงตำบลวังยอ พักกินกลางวันที่นั้น

เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ขึ้นช้างจากตำบลคลองวังยอ เดินเลียบตามถนนพระร่วงไปโดยมาก ถนนตั้งแต่วังยอไปแลเห็นได้ถนัดเป็นคันสูงและกว้างมาก มีแห่งหนึ่งเมื่อจวนจะถึงตำบลคลองสระเกษ พรมแดนอำเภอเมืองกับอำเภอศรีสำโรงต่อกัน ถนนกว้าง ๖ วากว่า แต่พอข้ามคลองสระเกษไปแล้วหน่อยหนึ่ง ถนนออกจะไม่สู้เรียบร้อยเป็นก้อนๆไป แล้วก็เลยราบหายไปจนแลไม่เห็นเป็นคันเลย ถนนนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นถนนระหว่างเมืองสุโขทัยกับศรีสัชนาลัย ที่กล่าวถึงในหลักศิลาที่ ๒ ครั้นเวลาย่ำค่ำเศษถึงตำบลหนองยาวพักนอนคืนหนึ่ง

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ขี่ช้างออกจากตำบลหนองยาวเวลาประมาณ ๔ โมงเช้าเดินเข้าในป่าประมาณ ๖๘ เส้น ผ่านวัดร้างวัดหนึ่ง ราษฎรเรียกชื่อว่าวัดป่าแดงใต้ โบสถ์ตั้งอยู่ริมทางที่ไป เป็นโบสถ์ย่อมๆก่อด้วยอิฐมีเสาแลง แต่เห็นไม่เป็นที่สำคัญ จึงมิได้แวะเข้าไปดู ต่อไปเดินทางไปได้ประมาณ ๑๑๐ เส้น ข้ามเข้าแดนเมืองสวรรคโลก เวลาเที่ยงถึงวัดร้างเรียกตามคำชาวบ้านว่าวัดโบสถ์ ถนนพระร่วงจากหนองยาวมาจนถึงวัดโบสถ์นี้เกือบจะไม่แลเห็นเลย แต่ยังมีทิวไม้มาพอสันนิษฐานเป็นเค้าได้ และเขาว่าที่ถนนนั้นดินยังรู้สึกได้ว่าแน่นกว่าที่ข้างๆถนน

ตัววัดโบสถ์เองนั้นก็เป็นที่น่าดูอยู่ ยังมีสิ่งที่เป็นชิ้นควรดูเหลืออยู่ชิ้นหนึ่ง คือมณฑปมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มณฑปนั้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ ๕ วา ในนั้นพิจารณาก็เห็นท่าทางจะมีพระพุทธรูปนั่ง มีพระเจดีย์เล็กๆก่อไว้ในลานรอบมณฑป กำแพงแก้วที่ล้อมลานนั้นทำด้วยแลง เป็นก้อนกลมหรือแปดเหลี่ยมปักยึดกันทำนองรั้วเพนียด แล้วมีแลงแท่งยาวๆพาดเป็นพนัก พนักทำเป็นรูปหลังเจียดตัดยอด คะเนว่าสูงประมาณ ๒ ศอก แต่เดี๋ยวนี้ดินสูงขึ้นมาเสียมากแล้ว ที่สังเกตได้ว่ากำแพงแก้วเคยสูงกว่าเดี๋ยวนี้คือดูประตู ซึ่งมีอยู่สองประตู ทางด้านหน้าวิหารกับด้านหลัง ด้านหน้าพังเสียแล้ว แต่ด้านหลังศิลาทับกรอบบนประตูยังวางอยู่ตามที่ ประตูด้านหลังนี้เวลานี้คนธรรมดาจะลอดต้องก้ม จึงต้องเข้าใจว่าแต่เดิมต้องสูงกว่านี้ ศิลาแลงก้อนที่ทับบนกรอบประนั้นใหญ่พอใช้ เป็นรูปหลังเจียดตัดเหมือนที่พาดบนกำแพงแก้ว วัดดูได้ความว่าศิลาก้อนนั้นยาว ๖ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว กว้าง ๒ ศอก ๖ นิ้ว หนาแต่ล่างที่พาดอยู่กับเสาจนถึงยอดศอกคืบ หลังเจียดข้างๆกว้างข้างละ ๑ ศอก บนสันที่ตัดกว้าง ๑ ศอก เสาที่รับแท่งศิลาใหญ่นี้วัดโดยรอบ ๖ ศอก ทางสูงวัดไม่ได้แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าดินพูนขึ้นมาเสียไหร่ ศิลาเสาทั้งสองคู้นั้นเป็นแลงทั้งแท่งไม่ใช่ตั้งต่อกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องนับว่าแท่งใหญ่อยู่ลานภายในร่วมกำแพงแก้วนั้นนั้นประมาณ ๑๓ วา สี่เหลี่ยมจตุรัสมณฑปตั้งอยู่ที่ตรงกลาง ข้างหน้ามณฑปนอกกำแพงแก้วออกไปมีสระลึกและเขื่อนอยู่มีน้ำขัง พิจารณาดูก็เห็นว่าวัดนี้ไม่ใช่วัดเล็ก จึงทำให้เป็นที่พิศวงว่าเหตุไฉนวัดที่ทำด้วยฝีมือดีและซึ่งเข้าใจว่าต้องใช้กำลังคนมากเช่นนี้ จึงมาตั้งอยู่ในกลางป่า สืบดูก็ได้ความว่าทางทิศตะวันออกของวัดนี้ ที่ริมลำน้ำฝากระดานมีตำบลหนึ่งเรียกว่าเมืองบางขัง ห่างจากวัดโบสถ์ระยะประมาณ ๗๐ เส้น แต่ไม่มีคูมีเทินอะไรเหลืออยู่เลย

จากที่วัดโบสถ์นี้ได้ขี่ม้าไปทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ถึงวัดที่ราษฎรเรียกว่าวัดใหญ่ ที่นี้มีกำแพงแลงล้อมรอบ ทำเช่นเดียวกับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปวัดโบสถ์ในร่วมกำแพงเป็นลานกว้างยาวประมาณเส้น ๑๐ วา สี่เหลี่ยม กลางลานนั้นมีพระพระธาตุฐานสี่เหลี่ยม แต่ตัวพระธาตุพังลงมาเสียแล้ว รอบพระธาตุมีเจดีย์บริวารหลายองค์ การก่อสร้างใช้แลงก้อนน้อยกับอิฐแผ่นเขื่องๆ ดูเนื้อแน่นดีราวกับอิฐพิมพ์ในปัตยุบันนี้ ที่นี้ได้พบชิ้นเข้าที คือเป็นรูปดอกบัวตูมมีกลีบปั้นซับซ้อนกันงามดีมีเป็นรูปอยู่ที่โคน เข้าใจว่าคงจะเป็นยอดเจดีย์ บัวนั้นทำด้วยดินเผาอย่างหม้อ

วัดนี้ดูก็เป็นวัดใหญ่จริงอยู่ ทำให้เชื่อว่าต้องมีเมืองอยู่ตามแถบนี้ ภายหลังจึงได้ความจากพระยาอุทัยมนตรี ว่าในป่าระหว่างวัดโบสถ์กับวัดใหญ่นี้ มีบ่ออยู่หลายบ่อ ซึ่งเป็นพยานว่ามีบ้านเมืองอยู่ตามแถบนี้ แต่คงไม่ใช่เมืองด่านจึงไม่ได้มีคูหรือเทิน แม่น้ำเดิมมีเค้าอยู่ว่าได้เข้ามาจนเกือบถึงริมทางเดิน แต่เดี๋ยวนี้ลำน้ำฝากระดานออกไปอยู่ห่างมาก จึงพอสันนิษฐานได้ว่าเมืองที่แถบนี้ต้องย้ายไปเพราะลำน้ำเปลี่ยนร่อง ลำน้ำเก่าเขินแห้งไปไม่มีน้ำกินก็ต้องอพยพลงไปหาลำน้ำใหม่

การเดินทางตั้งแต่ออกจากวัดโบสถ์ไปสะดวก และโดยมากร่มสบายดี เพราะเดินไปในป่าเป็นพื้น ในป่าตามแถบนี้ได้เห็นต้นสักอยู่บ้าง แต่ต้นยางนั้นได้เห็นมากทางเดินเลียบถนนพระร่วงไปโดยมาก บางทีก็ได้เดินไปบนถนนนั้นทีเดียว ไปจากวัดโบสถ์ได้ประมาณ ๑๔๐ เส้น ข้ามลำน้ำฝากระดาน ลำน้ำนี้กว้างประมาณ ๔ วา ลึกประมาณ ๗ ศอก ต้นน้ำไหลมาจากเมืองเถินผ่านเมืองสวรรคโลก ไปตกแม่น้ำยมในเขตเมืองสุโขทัย มีน้ำไหลเสมอไม่ขาด เทศาภิบาลบอกว่าชาวบ้านแถบนั้นถือกันว่าความไข้ชุม จึงไม่ได้จัดไว้ให้พักที่นั้น

ต่อจากลำน้ำฝากระดานไป ทางเดินไปตามถนนพระร่วงหรือบนถนนนั้น ตลอดไปจนถึงหนองจิก ข้างถนนมีคลองหรือคูไปตลอด บางแห่งกว้างเกือบ ๘ ศอก เข้าใจว่าขุดดินในคลองนี้เองขึ้นไปถมที่ถนน เพราะฉะนั้นถนนก็กว้างและแน่หนาดี ถนนบางตอยกว้าง ๖ วา หรือว่าเป็นอย่างกว้างเสมอ ไปได้เป็นตอนยาวๆยิ่งกว่าที่ได้เคยเห็นมาแล้ว เดินทางไปได้ประมาณ ๒๗๐ เส้นถึงตำบลหนองจิกอยู่ริมถนนพระร่วง ได้พักนอนที่นั้นคืนหนึ่ง

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงออกจากตำบลหนองจิกใช้พาหนะม้าตลอด เดินตามถนนพระร่วง โดยมากเดินไปบนหลังถนนทีเดียว ในวันนี้ได้เห็นคลองที่ขุดไว้ริมถนนนั้นถนัด เพราะบางแห่งเดินเลียบไปริมคลองทีเดียว คลองนั้นคะเนด้วยนัยน์ตาว่ากว้างประมาณ ๘ ศอก ลึกประมาณ ๔ ศอก ส่วนถนนนั้นในตอนนี้อยู้ข้างจะดีมาก ดินเป็นลูกๆไม่สู้จะเสมอกันเสียบ้างก็มีจริงอยู่ แต่ดูแน่นแฟ้นดี และถนนกว้างราว ๖ วา

เดินไปตามถนนนั้นแต่หนองจิกประมาณ ๑๐๐ เส้นถึงสระมโนรา ถนนข้ามสระนี้ไปเป็นคันสูงและแน่นดี กว้างประมาณ ๕ วา สระนั้นกำหนดไม่ได้แน่ว่าใหญ่เท่าใด เพราะขอบพังและเขินขึ้นเสียจึงบอกว่าหมดเขตสระเพียงใด แต่คงคะเนได้ว่าโดยรอบประมาณ ๑๐๐ เส้น เพราะฉะนั้นพึงเข้าใจว่าไม่ใช่สระที่คนขุด คือตามความจริงก็เป็นบึงนั้นเอง ในสระมโนรานี้มีลำน้ำผ่านไปลำหนึ่ง เรียกว่าลำแม่กายาง ต่อจากคลองแม่ท่าแค ลำน้ำทั้งสองนี้มีน้ำไหลอยู่เสมอ ราษฎรตามแถบนี้ได้อาศัยใช้น้ำอยู่ตลอด จึงเข้าใจว่าเดิมเมื่อสระมโนรายังไม่เขินขึ้นมานั้น คงจะได้รับน้ำจากลำแม่กายาง และแม่ท่าแคนี้เองมาขังอยู่ นึกออกเสียดายที่สระนี้เขินมาเสียมากแล้ว มีน้ำขังอยู่ได้ แต่เป็นห้วงเล็กห้วงน้อย และมีต้นไม้ขึ้นเป็นพงเสียเกือบทั่วไป คิดดูว่าถ้าเป็นสระโล่งๆมีน้ำขังอยู่เต็ม จะเป็นที่สำราญน่าเที่ยวหาน้อยไม่ ครั้นได้เดินข้ามสระมโนราไปแล้วก็ได้หยุดพักกินข้าวที่ริมขอบสระในป่าไผ่ริมลำแม่กายาง รวมทางที่มาจากหนองจิกเบ็กเสร็จได้ ๒๐๐ เส้น

กินข้าวแล้วออกเดินจากสระมโนรา ไปได้ประมาณ ๗๐ เส้น ถึงหน้าเขาพระศรี เมื่อไปทุ่งหน้าเขานี้ถนนแลเห็นไม่ใคร่ได้ถนัด เพราะฉะนั้น คงจะไม่ได้ถมขึ้นมากแต่ในชั้นเดิม เพราะฉะนั้นมาในเวลานี้จนเกือบจะราบหายไปกับพื้นข้างถนนทางตัดข้ามไหล่เขาไป พอถึงทางที่ลงจากไหล่เขาแลเห็นถนนได้ถนัดขึ้นอีก คือทางข้างซ้ายมือแลเห็นเป็นคูแคบๆแต่ลึก ซึ่งเข้าใจว่าคงจะตั้งใจให้เป็นท่อสำหรับจ้ำตกจากถนน ริมถนนทางขวามือคือทางยอดเขานั้น มีเป็นก้อนศิลาแลงเรียงรายเป็นขอบถนน เป็นเช่นนี้ลงไปจนถึงเชิงเขาถนนจึงเป็นคันดินถมไปอย่างเดิม

ลงจากไหล่เขาได้ไม่ช้านักผ่านวัดสระปทุม ซึ่งมีวิหารรูปเดียวกับที่วัดศรีชุมเมืองสุโขทัย แต่วัดนี้หาได้แวะไปดูไม่ เดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงคูเมือง ถนนเลียบไปตามขอบคูด้านใต้ มีถนนแยกเลียบคูด้านตะวันตกเฉียงใต้ไปสายหนึ่ง คูเมืองนั้นสังเกตว่ากว้างและลึกอยู่ คะเนด้วยนัยน์ตาว่ากว้างกว่า ๑๐ วา ลึกหลายศอก แต่ในวันแรกที่เห็นนั้นมีต้นไม้ขึ้นรกเป็นพง เหลือที่จะทราบได้ว่าคูจะลึกเท่าใด เดินเข้าเมืองเก่าทางประตูด้านตะวันตกเฉียงใต้ เห็นกำแพงก่อด้วยแลงอย่างเช่นกำแพงเมืองกำแพงเพชร เดินผ่านไปในเมือง ผ่านวัดใหญ่ๆหลายแห่ง ไปจนถึงกำแพงด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพังลงมาเสียมากแล้ว เหลืออยู่แต่พอเป็นที่สังเกต มองแลเห็นแม่น้ำยม เดินเลียบตามแนวกำแพงด้านเหนือไปออกจากเมืองทางด้านตะวันออก เดินต่อไปอีกหน่อยถึงที่พักใกล้วัดน้อย คิดระยะทางจากสระมโนราได้ ๒๑๔ เส้น

คิดรวมระยะทางตั้งแต่ที่พักหน้าเมืองสุโขทัยเก่า จนถึงวัดน้อยเมืองสวรรคโลกเก่านี้เป็น ๑๓๐๕ เส้น ด็ก็ไม่ไกลนัก ถ้าจะขี่ม้าควบตะบึงมาตัวเปล่า ไม่มีเข้าของเป็นภาระ บางทีจะเดินทางจากสุโขทัยไปสวรรคโลกในวันเดียวได้ หรือถ้าจะให้สบายหน่อยก็นอนกลางทางคืนหนึ่ง ถนนพระร่วงนั้นที่จริงต้องนับว่ายังดีอยู่มาก ถ้าจะทำให้เป็นถนนดีขึ้นอีกก็ไม่ยากอันใด เพราะไม่ต้องการถม เป็นแต่เกลี่ยดินให้ราบตัดต้นไม้และถอนตอที่ขึ้นเกะกะอยู่บนนั้นเสีย กับทำสะพานข้ามลำน้ำลำห้วยเสียให้ดีแล้ว จะใช้เป็นถนนรถม้าหรือรถโมเตอร์ได้สบายอย่างเอก การที่จะทำถนนนี้เช่นกล่าวมาแล้ว ไม่เป็นการยากอันใดนัก แต่ถ้าทำขึ้นแล้วก็น่าจะเปลืองเงินเปลืองเวลาเปล่ากระมัง เพราะน่ากลัวจะไม่มีคนใช้ถนนนั้นเท่านั้น

อนึ่งที่พักที่วัดน้อยนั้น เทศาภิบาลเจ้าหน้าที่ในเมืองสวรรคโลกได้จัดเลือกที่ดีพอใช้ ได้ปลูกพลับพลาขึ้นที่ริมลำน้ำยมฝั่งใต้มองแลเห็นแก่งสัก ซึ่งอยู่เหนือน้ำขึ้นไปสักหน่อยหนึ่ง แม่น้ำตรงนี้ดูกว้างขวาง ตลิ่งสูงและชันน้ำไหลเชี่ยว ที่นี่ได้เปรียบสุโขทัยที่มีน้ำกินดีไม่อัตคัดเลย เพราะฉะนั้นจะอยู่กี่วันก็ได้

นึกๆก็ทำให้ประหลาดว่าเหตุใดจึงได้ทิ้งเมืองให้ร้าง ไม่ใช่เพราะกันดารน้ำเช่นสุโขทัย หรือเพราะเกิดห่าลงเช่นเมืองท้าวอู่ทองที่มีกล่าวถึงอยู่ในพงศาวดารเหนือนั้น เพราะว่าถ้าเป็นด้วยเหตุสองประการนี้แล้ว เมืองคงจะต้องอยู่ในป่าในดงห่างไกลบ้านคน แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น ตำบลบ้านเมืองเก่ามีเรือนหลายสิบหลังคาเรือน มีผู้คนอยู่มาก แต่ไม่มีอยู่ในกำแพงเลย อยู่นอกกำแพงทั้งนั้น ข้อนี้จะเป็นด้วยเหตุใดก็เดายาก บางทีจะเป็นด้วยกล้วเจ้าปีศาจอะไรๆต่างๆเช่นนั้นกระมัง แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็ดูน่าเสียดายที่ไม่กลัวเสียให้มาก ถ้าความกลัวนั้นครอบงำเสียให้ได้จริงๆ แล้วโบราณสถานและวัตถุต่างๆก็จะไม่หักพังไปเช่นที่ได้เห็นนั้น


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๒ เรื่องเมืองสวรรคโลก ในพงศาวดารเหนือ


เมืองสวรรคโลกนี้ จะหาหลักฐานให้ดีเท่าที่เมืองสุโขทัยยาก เพราะไม่ได้อาศัยข้อความจารึกในหลักศิลาเช่นที่สุโขทัย พระเจ้ารามคำแหง หรือก็อยู่เสียที่เมืองสุโขทัย จึงไม่ใคร่ได้เล่าเรื่องเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย ตามความที่สันนิษฐานประกอบจากข้อความในหลักศิลาเมืองสุโขทัยทั้งสองหลัก คงได้ความว่า ในสมัยที่ใกล้ๆกับอายุหลักศิลานั้น สุโขทัยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไทย คือราชาผู้เป็นใหญ่ในรัฐจังหวัด ซึ่งเราเรียกกันว่าเมืองเหนือบัดนี้ ได้สถิตอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ตามที่พอจะรู้ได้อยู่นั้น ๕ องค์ คือ

๑. พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ (พระราชบิดาพระเจ้ารามคำแหง
๒. พระเจ้าบานเมือง (พระเชษฐาพระเจ้ารามคำแหง)
๓. พระเจ้ารามคำแหง (ผู้สร้างศิลาจารึก)
๔. พระเจ้าลือไท หรือพระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตหฤทัยไชยเชฐสุริยวงศ์ (โอรสพระเจ้ารามคำแหง)
๕. พระเจ้าธรรมิกราช หรือพระบาทสมเด็จกมรเตญอัตศรีสุริยพงษ์รามมหาธรรมิกราชาธิราช (โอรสพระเจ้าลือไทย และผู้จารึกหลักศิลาที่ ๒ กับหลักศิลาเมืองกำแพงเพชร)(๑)

ส่วนเมืองสวรรคโลกในระหว่างนี้เข้าใจว่า มีเจ้าอยู่ครองเหมือนกัน แต่สุโขทัยเป็นเมืองใหญ่กว่าหรือจะเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย ในหลักศิลาที่ ๒ ปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าธรรมิกราชได้ไปครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ จนพระเจ้าลือไทประชวรหนัก ในเมืองสุโขทัยเกิดขบถขึ้น จึงได้ยกทัพไปสุโขทัยปราบพวกคิดมิชอบแล้วขึ้นครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา แต่ถึงเมื่อพระเจ้าธรรมิกราชมาครองสุโขทัยอยู่แล้วเช่นนั้นก็ดี ต้องเข้าใจว่าศรีสัชนาลัยหาได้ว่างอยู่เปล่าไม่ เพราะมีปรากฏอยู่ในข้อความที่จารึกหลักศิลาที่ ๒ นั้นว่า พระเจ้าธรรมิกราชทรงรำลึกถึงพระเชษฐาที่ครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ จึงเสด็จไปเยี่ยมดังนี้

จะต้องสันนิษฐานได้สองประการ ประการหนึ่งว่า พระเจ้าธรรมิกราชชิงเอาราชสมบัติในกรุงสุโขทัยแล้วไล่พระเชษฐาไปอยู่เมืองศรีสัชนาลัย หรืออีกประการหนึ่ง พระเจ้าธรรมิกราชตั้งแต่ยังเป็นมหาอุปราชกรุงสุโขทัยอยู่นั้น ได้ไปได้พระราชธิดาแห่งราชาเมืองศรีสัชนาลัยเป็นชายาจึงเลยไปอยู่ที่เมืองนั้น ครั้นเมื่อได้ราชสมบัติในกรุงสุโขทัยแล้ว พระราชโอรสแห่งพระราชาเมืองศรีสัชนาลัย ก็คงอยู่ครองเมืองสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามประเพณี และโดยเหตุที่ท่านผู้นี้เป็นพระเชษฐาแห่งชายา พระเจ้าธรรมิกราชก็เลยเรียกเชษฐาด้วย ซึ่งไม่ประหลาดอะไร เพราะถูกต้องตามพระราชประเพณีโบราณ ที่พระราชานับเนื่องเป็นญาติวงศ์กันหมด

สุโขทัยในเวลานั้นคงจะเป็นเมืองหลวงแห่งคณะไทยฝ่ายเหนือ อย่างเช่นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงแห่งคณะไทยฝ่ายใต้ และถ้าจะเปรียบเทียบกันต่อไปอีก ก็พึงจะกล่าวได้ว่า กรุงสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัยเกี่ยวข้องกันเท่าๆกับกรุงทวาราวดีกับเมืองสุพรรณเมื่อสมัยพระเจ้าอู่ทองฉะนั้น คือศรีสัชนาลัยก็ไม่ได้เป็นข้าสุโขทัย และสุพรรณก็ไม่ได้เป็นข้ากรุงทวาราวดี เป็นแต่ปรองดองเป็นพวกเดียวกันเพื่อประโยชน์แห่งกันและกัน แต่ธรรมดาเมือที่รวมกันเข้าเป็นก๊กเช่นนั้น จำจะต้องยกเมืองใดเมืองหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าก๊ก เพื่อจะได้มีความคิดให้ตรงกันเช่นนั้น ถ้าจะเปรียบกับการในสมัยใหม่นี้ ก็ต้องเปรียบกับประเทศเยอรมนี ซึ่งมีนครรวมกันอยู่หลายนคร ต่างนครก็มีเจ้ามีขุนปกครองอยู่ แต่เพื่อหาประโยชน์ที่จะป้องกันตัวให้แข็งแรงขึ้น ได้พร้อมใจกันสมมุติเลือกราชาแห่งกรุงปรุสเซียให้เป็นหัวหน้าก๊ก เรียกตามภาษาเยอรมนีว่า "ไกเซอร์" (อังกฤษเรียก "เอมเปเรอ") ดังนี้ การที่ได้สมมุติเลือกให้เป็นหัวหน้าก๊กเช่นนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าพระราชาแห่งปรุสเซียนั้น จะยกพระองค์เป็นราชาธิราชเช่นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ฉันใด เข้าใจว่าพระเจ้ากรุงสุโขทัยก็คงจะไม่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นกัน

พงศาวดารเหนือดูมีกล่าวถึงเรื่องสร้างเมืองสวรรคโลกละเอียดลออมาก แต่ไม่ได้มีกล่าวถึงเรื่องเมืองสุโขทัยเลย ไปมีกล่าวต่อเมื่อเล่าเรื่องพระร่วงแผลงอิทธิฤทธิ์ ตักน้ำใส่ชะลอมเท่านั้น ส่วนสวรรคโลกซิกล่าวเสียยืดยาว ว่าฤๅษีสัชนาลัยกับฤๅษีสิทธิมงคลเป็นผู้มาชี้ให้พวกพราหมณ์บุตรหลานสร้าง มีบาธรรมราชเป็นประธาน บาธรรมราชนี้ พระฤๅษีตั้งแต่งไว้ให้ครองเมืองสวรรคโลก ให้นามเรียกว่าพระยาธรรมราชา นับว่าเป็นต้นวงส์กษัตริย์ในเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนเมืองที่พระยาธรรมราชาสร้างขึ้นนั้น ว่ากว้าง ๕๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น กำแพงหนา ๘ ศอก สูง ๔ วา ภายหลังมีข่าวว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสน จะยกทัพลงมา พระเจ้าพสุจราชผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยในเวลานั้น ได้สั่งขุนไตรภพนาถจัดการเตรียมรับทัพเชียงราย ให้ย่อกำแพงเข้าไปเป็นป้อมให้รอบเมือง จึงเข้าใจว่าในสมัยนี้ได้แก้ไขเมืองแปลกไปกว่าที่เป็นอยู่เดิมไม่มากก็น้อย

แต่พงศาวดารเหนือนั้น ถ้าใครถือยึดมั่นเป็นตำราเป็นหลักคงต้องยุ่งเป็นแน่ ศักราชนั้นไม่ต้องป่วยกล่าว ถ้าจะไม่ลงไว้เสียเลยแทบจะดีกว่า ลงไว้ทำให้ยุ่งไม่เป็นท่า ถึงเรื่องราวต่างๆก็สับสน จับโน่นชนนี่ยุ่ง แต่จะปรับว่าเป็นเหลวไหลไปทั้งหมดนั้นไม่ได้ เพราะบางเรื่องก็มีมูล หากเล่ากันไปเล่ากันมาคลาดเคลื่อนเลอะเทอะไปเท่านั้น ลองจับตรวจดูแต่เรื่องพระร่วงเท่านั้น ก็จะพอเห็นเป็นตัวอย่างได้เก็บมาเป็นตอนๆ เฉพาะที่เกี่ยวแก่พระร่วงคงได้ความดังต่อไปนี้

๑. จุลศักราช ๘๖ ปีกุน พระยาอภัยคามมณี เจ้าเมืองหริภุญชัยนครออกไปจำศีลอยู่ในภูเขาใหญ่ ร้อนถึงอาสนนางนาคๆก็ขึ้นมาในภูเขาใหญ่ พบพระยาจำศีลอยู่ ก็มาเสพเมถุนด้วยกัน นางนาคอยู่ได้ ๗ วันก็ลากลับลงไป พระยาอภัยคามมณีจึงให้ผ้ารัตกัมพลและพระธำมรงค์ไปกับนางนาค อยู่มานางนาคมีครรภ์แก่ ขึ้นไปที่ภูเขาใหญ่ ประสูติกุมาร ผ้าและแหวนนั้นนางนาคก็ให้แก่ลูกตน แล้วก็หนีลงไปเมืองนาค มีพรานผู้หนึ่งมาพบกุมาร พรานก็เก็บเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุณธรรม ต่อมาพระยาอภัยคามมณีใช้ให้เสนาอำมาตย์สร้างปราสาท พรานนั้นต้องเกณฑ์มาทำงานด้วย จึงเอากุมารบุตรบุญธรรมเข้าไปด้วย ก็ไปเกิดมหัศจรรย์ต่างๆขึ้นจนพระยาอภัยคามมณีทรงทราบว่า กุมารนั้นเป็นพระราชโอรสของพระองค์ เพราะจำผ้าแลพแหวนได้ จึงเลยรับกุมารนั้นไว้ในวัง ให้นามว่าเจ้าอรุณราชกุมาร เลี้ยงไว้ด้วยกันกับเจ้าฤทธิกุมาร ซึ่งเป็นโอรสเกิดด้วยพระมเหสีมนุษย์

๒. "พระยาอภัยคามมณีมาคิดแต่ในพระทัยว่า เมืองใดจะสมควรแก่ลูกแห่งกูนี้ จึงเห็นแต่เมืองศรีสัชนาลัยยังแต่พระราชธิดาและพระราชบุตรหามิได้ และพระยาอภัยคามมณีจึงเอาเจ้าอรุณราชกุมารเป็นพระยาในเมืองศรีสัชนาลัย ก็ได้นามชื่อพระยาร่วง" ตามความข้อนี้ ถ้าอ่านแปลความในเข้าไปอีก ต้องแปลว่าเจ้าอรุณราชมาอ๓เษกกับนางพระยาในเมืองศรีสัชนาลัย และวงศ์กษัตริย์เดิมไม่มีใครสืบสันตติวงศ์ เจ้าอรุณจึงได้ครองเมืองสัชนาลัยต่อมา ส่วนนามที่เรียกว่าพระยาร่วงหรือพระร่วงนั้น พระยาประชากิจกรจักรได้กล่าวเดาไว้ในหนังสือเรื่องพงศาวดารโยนกว่าน่าจะมาแต่คำว่า พระเจ้าหลวงหรือพระยาหลวงเมืองสุโขทัย แต่หากจะเขียนอักษรผิดตัวเขียนหลวงเป็นรวงไป คนจะชื่อตกชื่อร่วงไม่เห็นมี ความเห็นของข้าพเจ้าเองไม่ตรงกับพระยาประชากิจ ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจจะชื่อร่วงได้ แต่ร่วงในที่นี้ไม่ใช่แปลว่าตก แปลว่าสว่าง คือคำเดียวกับรุ่งนั้นเอง ที่คิดเช่นนี้คือเห็นชื่อของพระร่วงนั้น ตามพงศาวดารเหนือก็ว่าชื่ออรุณราช แปลได้ว่ารุ่ง และในชินกาลมาลินีก็มีกล่าวนามราชาสุโขทัยไว้องค์หนึ่งว่าโรจนราช โรจน นี้ก็คือรุ่งอีก ภาษาเราเดี๋ยวนี้ยังมาใช้เป็นคำควบกันอยู่ว่ารุ่งโรจน์หรือรุ่งเรือง เพ่งเล็งความอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น การที่คนจะชื่อรุ่งนั้นดูไม่ขัดขวางอย่างไร ถ้าเป็นราชาเรียกว่าพระรุ่ง ดูจะออกดีๆเสียอีก

๓. พระร่วงนั้นต้องพุทธทำนาย "อายุพระองค์เจ้าได้ ๕๐ ปี พอคำรบพระพุทธศักราชได้ ๑๐๐๐ ปี จุลศักราช ๑๑๙ ปีมะโรงนพศก" จุลศักราชในที่นี้ไม่ใช่ที่เราใช้กันอยู่ในกาลบัดนี้ ปีมะโรงจึงเป็นนพศกได้ แต่ถ้าจะยอมหลับตาไม่ดูศักราชเสียทีหนึ่ง ก็อ่านได้ความว่า "จึงคนอันเป็นใหญ่กว่าทั้งหลาย นำเอาช้างเผือกงาดำกับเขี้ยวงูมาถวายแก่พระองค์ ด้วยบุญที่พระองค์ทำหุ่นช้างใส่ดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้าแต่ชาติก่อน และเมื่อพระองค์จะลบศักราช พระพุทธเจ้าจึงนิมนต์ให้พระอชิตเถรและพระอุปคุตเถร และพระเถรไลยลายคือพราหมณ์ เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพ (พราหมณ์พฤติบาศกระมัง) และพระอรหันตเจ้าทั้ง ๕๐๐ พระองค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคารามกลางเมืองศรีสัชนาลัย และท้าวพระยาในชมพูทวีป คือไทยและลาวมอญจีนพม่าลังกา พราหมณ์เทศเพศต่างพระองค์จ่าให้ทำหนังสือไทยเฉียงมอญพม่าไทย และขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น" เรื่องทำหนังสือนี้คงมีมูลเหตุอยู่ที่พระเจ้ารามคำแหงคิดทำหนังสือ ดังปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลาที่ ๑ ว่า "เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมแม พ่ขุนรามคํแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสืไทนี้ ลายสืไทนี้จึงมีเพื่อขนผู้น้นนใส่ไว้พ่อขุนรามคำแหงน้นน หาเปนท้าวเปนพรญาแก่ไททงงหลาย หาเปนครูอาจารย์ส่งงสอนไททงงหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้แต่คนอนนมีในเมืองไทย" ข้าพเจ้าอยากเดาต่อไปว่าสุภาษิตพระร่วงนั้น ได้เริ่มเก็บรวบรวมขึ้นในสมัยพระเจ้ารามคำแหงนี้เหมือนกัน แต่คงจะไม่ใช่เป็นของคนๆเดียวแต่ง คงจะได้แต่งกันหลายคน และไม่ใช่แล้วเสร็จในคราวเดียว แต่งเพิ่มเติมต่อกันหลายยุค จึงมีข้อความซ้ำกันอยู่บ้าง หากสำนวนผิดกันเท่านั้น

๔. "พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิมาช่วยลบศักราช มาเราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้าเราให้ได้" ต่อนี้ไปก็เล่าถึงเรื่องพระยาร่วงกับอนุชาลงเรือไปเมืองจีน พระยากรุงจีนกลัวบารมีให้คนออกมารับขึ้นไปบนเรือนหลวงรับเสด็จอย่างอ่อนน้อม แล้วยกนางราชธิดาให้แก่พระยาร่วง ผ่าตรามังกรออกเป็นสองภาค ข้างหางให้พระราชธิดา พระร่วงพานางพสุจเทวีชายานั้นลงงเรือ พร้อมด้วยเจ้าฤทธิกุมารและฝูงจีนทั้งหลาย ๕๐๐ เป็นบริวาร ใช้สำเภาไปได้เดือนหนึ่งถึงเมืองสัชนาลัย มีจีนมาทำถ้วยชามแต่นั้น เรื่องพระร่วงไปเมืองจีนนี้หาหลักฐานอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าแม้จะไปจริงก็ดูเหมือนจะได้ ไม่ขัดขวางอันใด แต่ที่ว่าจะไปต่อว่าเรื่องไม่มาลบศักราชนั้นดูกระไรอยู่ น่าจะไปเพื่อประสงค์ประโยชน์อย่างอื่น คือเมืองจีนในสมัยนั้น ต้องเข้าใจว่าไทยเรานับถือเป็นเมืองที่จะเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง น่าจะไปดูความเจริญและวิธีปกครองหรือการอื่นเพื่อเก็บจดจำมาใช้ในเมืองไทยบ้าง

๕. "เมืองพิชัยเชียงใหม่มีแต่พระราชธิดา และหาพระราชบุตรมิได้ อำมาตย์เมืองพิชัยเชียงใหม่จึงกราบทูลขอพระราชทานเจ้าฤทธิกุมาร จะให้ไปเสวยราชสมบัติสืบตระกูลมิให้ขาดเสียได้ และสมเด็จพระเจ้าอรุณราชจึงทรงพระราชทานเจ้าฤทธิกุมารผู้เป็นน้องเสด็จขึ้นไปด้วยกัน และให้เจ้าพสุจกุมารอยู่รักษาเมืองกับนางพสุจเทวี" เจ้าพสุจกุมารนี้มาแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ได้ยินชื่อเลย พึ่งมาโผล่ขึ้นเมื่อตอนต่อจากเรื่องกลับมาจากเมืองจีนแล้ว "จึงเอาพสุจกุมารผู้เป็นน้อง ตั้งพระราชวังอยู่นอกเมือง และเจ้าพสุจกุมาร เจ้าฤทมธิราชกุมาร เป็นอันรักใคร่กันเป็นหนักหนามิได้ฉันทาโทษาแก่กันไปมาด้วยกัน เข้าไปถวายบังคมด้วยกันมิได้ขาดในพระราชวัง" ดังนี้ จะพึงรู้ได้อย่างไร พสุจกุมารนี้เป็นน้องพระอรุณราชเอง หรือเป็นน้องพระมเหสีก็ดูไม่แจ่มแจ้งนัก แต่อย่างไรๆเห็นได้ว่าเป็นที่ไว้วางใจกันมาก จึงมอบให้รักษาพระนครเวลาเสด็จไม่อยู่ได้ ส่วนพระยาร่วงขึ้นไปส่งพระฤทธิกุมารน้องชายอภิเษกให้ครองเมือง เป็นพระยาลืออยู่กับนางมลิกาเทวี แล้วก็เสด็จกลับคืนมาเมืองพระองค์ดังเก่า

๖. "พระยาร่วงนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยและเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวเป็นพระยา เสด็จไปไหนก็ไปคนเดียว และพระองค์เจ้าก็รู้ทั้งบังเหลื่อมรู้จักเพททุกประการ ว่าให้ตายก็ตายเอง ว่าให้เป็นก็เป็นนเอง อันหนึ่งขอมผุดขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นหินแลง และขอมก็ขึ้นไม่ได้ด้วยวาจาสัจแห่งพระองค์ พระองค์ได้ทำบุญแต่ชาติก่อนมา และเดชะแก้วอุทกปราสาทพระยากรุงจีนหากให้มาแก่พระองค์ๆจะไปได้ ๗ วัน น้ำมิเสวยก็ได้" ในตอนนี้เห็นได้ถนัดยิ่งกว่าตอนอื่น ว่าจับโน่นชนนี่คละกันไปจนเชื่อมหัวต่อไม่ติด คนๆเดียวมีนิสัยได้สองอย่างเกือบตรงกันข้าม อย่างหนึ่งเป็นนักเลงกักขฬะต่างๆ หรือเพราะความอยากจะเชื่อวิทยาอาคมนั้นเอง ทำให้เป็นคนเก่งกักขฬะไป เหมือนเช่นคนเก่งๆในชั้นเรานี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ดูไม่ตรงกับที่กล่าวไว้ว่า "ตั้งแต่ทำบุญให้ทานรักษาศีล" เมื่อกลับมาจากเมืองจีนใหม่ๆ และก่อนหน้าที่จะขึ้นไปส่งพระฤทธิกุมารนั้น พระร่วงเป็นคนเรียบร้อยดี ครั้นกลับมาจากเมืองพิชัยเชียงใหม่แล้ว จึงมาเกิดเล่นเบี้ยเล่นว่าวและประพฤติตนกักขฬะขึ้น ถ้าเช่นนั้นมิต้องซัดหรือว่าใจไปแตกมาจากเหนือ ถ้าจะนึกดูตามเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อลบศักราชนั้นอายุพระร่วงก็ถึง ๕๐ ปีแล้ว คนที่อายุถึงเพียงนี้แล้วไม่น่าจะใจแตกไปได้ถึงเพียงนั้นเลย ส่วนเรื่องขอมกลายเป็นแลงที่แย้มขึ้นมานิดหนึ่งในที่นี้ ก็ซ้ำกับเรื่องพระร่วงที่ตักน้ำใส่ชะลอม ซึ่งตามพงศาวดารเองกล่าวว่าเป็นคนละคนกับท่านที่ลบศักราช ขอมจะดำดินมาให้ถูกสาปกลายเป็นหินไปถึง ๒ ครั้งทีเดียวหรือ

๗. ใช่ว่าจะหมดเรื่องราวอยู่เพียงเท่านั้น การเล่นว่าวของพระร่วงยังทำให้เกิดเหตุยุ่งใหญ่อีก คือว่าวขาดลอยไปตกที่เมืองตองอู ไปติดอยู่บนปราสาท พระร่วงตามว่าวไปถึงเมืองตองอู ครั้นเวลาค่ำก็ลอบเข้าไปทำชู้ด้วยธิดาพระยาตองอู เท่านี้ยังไม่พอ หนำซ้ำเมื่อจะขึ้นหยิบเอาว่าวนั้น ยังได้ให้พระยาตองอูยืนอยู่แล้วขึ้นเหยียบบ่า ครั้นเอื้อมไม่ถึงก็เหยียบขึ้นไปบนหัวอีกทีหนึ่ง ประพฤติเหมือนกับเด็กหนุ่มคะนองแท้ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อภายหลังพระยาตองอูสาวไส้ใส่พานทองไว้แล้วส่งตัวคืนไปนั้นดูเป็นการควรอยู่บ้าง เรื่องนี้ต้องกล่าวท้วงอย่างเช่นในข้อ ๖ นั้นอีก คือว่าความประพฤติพระร่วงไม่สมกับคนอายุเกินกว่า ๕๐ ปีขึ้นไปแล้วเลย เรื่องพระร่วงไปทำวุ่นวายในเมืองตองอูนี้ อ่านดูคล้ายเรื่องพระร่วงไปผิดเมียพระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา จนต้องไปเชิญพระยาเมงราชเมืองเชียงรายมาพิพากษา ซึ่งพระยาประชากิจกรจักรได้เล่าไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนก (หน้า ๗๐) นั้น จึงน่าสงสัยว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันนั้นเอง เลอะที่เวลาเท่านั้น

๘. "ครั้นพระร่วงเจ้ามาถึงเมืองสัชนาลัย และมายังพระอัครมเหสีและพระสนมทั้งหลายๆถวายบังคมแล้ว ก็เปลื้องอาภรณ์ออกจากพระองค์ไว้แล้ว และเจ้าพสุจกุมารก็เข้าไปถวายบังคม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพสุจกุมารว่า กูจะไปอาบน้ำ มิเห็นกูมา เจ้าเป็นพระยาแทนที่เถิด และเจ้าพสุจกุมารก็ไม่รู้และสำคัญว่าว่าเล่น ครั้นพระองค์ลงไปอาบน้ำที่แก่งกลางเมือง ก็อันตรธานหายไปไม่ปรากฏ ในพุทธศักราช ๑๒๐๐ พระร่วงสิ้นทิวงคต" ข้อที่ว่าพระร่วงจมน้ำทิวงคตนี้ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่ามีมูลอยู่บ้าง คือคงมีพระราชาเมืองสัชนาลัยองค์หนึ่งได้จมน้ำถึงทิวงคตจริง แต่ไม่ใช่องค์เดียวกับที่ลบศักราช ไม่ต้องไปหาข้อความที่อื่นมาเถียง เก็บข้อความในพงศาวดารเหนือนี้เองมาเถียงกันเองก็พอ คือพระร่วงเมื่อลบศักราชนั้นกล่าวว่าพระชนม์ได้ ๕๐ ปีแล้ว เวลานั้นพุทธศักราช ๑๐๐๐ ถ้วน เมื่อจมน้ำนั้นพุทธศักราช ๑๒๐๐ ถ้วน เพราะฉะนั้นอายุพระร่วงได้ ๒๕๐ ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งไม่จำเป็นจพต้องกวล่าวว่าเป็นไม่ได้เด็ดขาด แต่ที่กล่าวว่าอายุพระร่วงได้ ๕๐ ปีเมื่อลบศักราชนั้นก็ผิดเสียแล้ว เพราะตามคำทำนายของฤๅษีสัชนาลัยมีอยู่ว่า " ณ พฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะโรงโทศก ภายหน้าจะได้ลูกนาคมาเป็นพระยา ตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๕๐๐ ปี" ต่อมาเรื่องราวก็กล่าวว่าสมกับสมกับทำนายของฤๅษี เพราะฉะนั้นเมื่อลบศักราชอายุพระร่วงไม่ใช่ ๕๐ ปี แต่ ๕๐๐ ปี (ที่ว่า ๕๐ นั้นบางทีจะผิดเมื่อคัด) และเพราะฉะนั้นเมื่อจมน้ำอายุพระร่วงได้ ๗๐๐ ปี กลับร้ายไปกว่าเก่าอีก กล่าวแต่เพียงเท่านี้ก็พอแลเห็นได้แล้วว่าเลอะ

รวบรวมใจความว่าพงศาวดารเหนือนั้น ไม่เป็นตำนานอันควรยึดถือเป็นหลักฐานให้มั่นนัก ผู้แต่งคงจะได้เก็บเรื่องนิทานต่างๆมาผสมกันเข้าตามบุญตามกรรม เชื่อมหัวต่อกันเข้าก็ไม่ใคร่จะติด แต่ข้อที่เกณฑ์ให้พระร่วงเป็นลูกนาคนั้น ก็ไม่เป็นของประหลาด เพราะเป็นธรรมดาของผู้แต่งเรื่องราวพงศาวดารของผู้เป็นใหญ่ ต้องไม่อยากยอมว่าผู้เป็นใหญ่นั้นได้มีวงศ์สกุลอันต่ำมาก่อน จึงต้องคิดให้เป็นลูกนาคหรือมาจากสวรรค์ แต่พระเจ้าอู่ทองต้องให้เป็นลูกตาแสนปม หรือถ้าจะหาตัวอย่างให้ใกล้สมัยเราลงมาอีก คือขุนหลวงเสือยังต้องไปยกให้เป็นพระโอรสสมเด็จพระนารายณ์ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าใครมีชาติกำเนิดแปลกกว่ามนุษย์ธรรมดา แปลว่าผู้นั้นได้ตั้งวงศ์ขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นก็พึงเข้าใจได้ว่าพระร่วงนั้นเป็นผู้ตั้งตระกูลใหม่เหมือนกัน แต่ตามความจริงจะได้มาเป็นเจ้าขึ้นในเมืองสัชนาลัยเมื่อไรแน่ และจะมีอายุเท่าไรแน่ ตายเมื่อไรแน่ ล้วนเป็นสิ่งต้องงดไว้ เหลือที่จะเดาได้

ส่วนเรื่องพระร่วงบุตรนายคงเครานายส่วยน้ำ ที่ตักน้ำใส่ชะลอม และถายหลังได้เป็นขุนในเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๑๕๐๒ ปีนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวถึงมาเลย เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องนิทานเกร็ดเป็นพื้น ไม่น่าจะนับถือเป็นเรื่องพงศาวดารเลย

ตามที่ข้าพเจ้าได้เก็บเรื่อง พระเจ้าอรุณราชหรือพระร่วงจากพงศาวดารเหนือมาลงไว้แล้วนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่าพงศาวดารเหนือมีราคาเพียงไร ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าใครที่เริ่มจับเล่นในทางโบราณคดี ถ้ายึดพงศาวดารเหนือเป็นหลักแล้วจะไปไหนไม่รอด เปรียบเหมือนเรือที่ผูกแน่นไว้กับหลักเสียแล้ว จะแจวไปเท่าใดก็คงไม่แล่น แต่ที่จะทิ้งพงศาวดารเหนือเสียทีเดียวก็ไม่ควร เพราะบางทีก็มีข้อความที่ชักนำให้ความคิดแตกออกไปได้บ้าง คือเมื่อได้อ่านข้อความอะไรในหนังสือนั้น ที่เหลือเกินที่จะเชื่อได้ต่างๆ บางทีทำให้คิดไปว่าทำไมอยู่ดีๆ เขาจะคิดแต่งขึ้นเล่นเฉยๆได้อย่างนั้น จะไม่มีมูลอะไรบ้างเลยหรือ เมื่อมีความคิดเช่นนี้ขึ้นแล่วก็ทำให้พยายามพิจารณา และตรวจค้นเพื่อจะหาสิ่งไรมายืนยันว่าข้อนั้นผิดอย่างนั้น หรืออาจที่จะเป็นเช่นนั้นๆ บางทีไปถูกเหมาะเข้าก็ได้อะไรดีๆบ้าง ข้อนี้ได้เป็นมาแล้วแก่ตัวข้าพเจ้าเอง ดังจะเห็นปรากฏได้ในรายงานการตรวจค้นโบราณสถานและวัตถุต่างๆในเมืองสวรรคโลกซึ่งมีอยู่ต่อไปนี้

อนึ่ง ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะไปเมืองสวรรคโลก พระยาอุทัยมนตรีได้บอกว่า พระยาอุทัยมนตรีได้ข่าวจากนายเทียนชาวเมืองสวรรคโลก ว่านายเทียนได้เคยเห็นหนังสือเล่มหนึ่งเป็นสมุดดำตัวชุบรง เป็นเรื่องราวตำนานเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย ครั้นสอบสวนดูได้ความว่าพระภิกษุรูปหนึ่งได้ยืมสมุดนั้นไปอ่าน เผอิญไฟไหม้กุฎีพระรูปนั้น หนังสือก็อันตรธานไป ข้าพเจ้าออกเสียดาย แต่ที่จริงก็ไม่สู้เชื่อนักว่าจะมีเรื่องราวอะไรที่ดีไปกว่าที่มีอยู่ในพงศาวดารเหนือ บางทีจะพิสดารออกไปอีกหน่อยเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าได้เห็นหนังสือนั้นก็พอจะเดาถูกว่าเป็นหนังสือเก่าจริงหรือไม่ แต่เมื่อเขาจำหน่ายสูญเสียเช่นนั้นแล้วก็จนใจ


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๒


(๑) ลำดับกษัตริย์ซึ่งครองกรุงสุโขทัย ต่อมาศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ ได้ไปสอบศิลาจารึก และในบรรดาที่ปรากฏในหนังสือเก่าได้ความว่า

พระองค์ที่ ๑ พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นต้นวงศ์ เดิมปรากฏนามว่าพ่อขุนบางกลางทาว เป็นเจ้าเมืองราด แล้วได้เป็นเจ้าเมือง (เชลียง) ศรีสัชนาลัย รบพุ่งเมืองสุโขทัยได้จากพวกขอม จึงราชาภิเษกทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ (ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า คำที่เรียกกันว่า "พระร่วง" อันหมายความว่ารุ่งเรือง เห็นจะแปลคำไทยจากศรีอินทราทิตย์นั้นเอง) หนังสือเก่าซึ่งแต่งในภาษาบาลี เอาคำว่าพระร่วงไปแปลเป็นภาษาบาลีเรียกกันว่า โรจนราชบ้าง อรุณราชบ้าง หาคำบาลีซึ่งเสียงคล้ายกับพระร่วง เรียกว่ารังคราช สุรังคราช ไสยรังคราช บ้าง

พระองค์ที่ ๒ ปรากฏนามว่า พระยาบานเมือง เป็นราชโอรสขององค์ที่ ๑ (ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า พระบานเมือง นั้น เห็นจะมีมาแต่ยังเป็นลูกหลวง พระนามถวายเมื่อราชาภิเษกหาปรากฏไม่) หนังสือภาษาบาลีเรียกว่า "ปาลราช"

พระองค์ที่ ๓ เป็นพระราชอนุชาของพระองค์ที่ ๒ มีความชอบชนช้างชนะขุนสามชนที่เมืองตาก พระราชบิดาประทานนามว่า "พระรามคำแหง" คงใช้พระนามนี้ต่อมาในเวลาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หนังสือภาษาบาลีเรียกว่า "รามราช" นับเป็นมหาราชพระองค์ ๑ ในพงศาวดารสยาม

พระองค์ที่ ๔ ใช้พระนามในศิลาจารึกภาษาไทยว่า พญาเลอไทย ในจารึกภาษาเขมรเห็นจะใช้พระนามถวายเมื่อราชาภิเษกว่า หฤทัยชัยเชฐสุริวงศ์ ในหนังสือชินกาลมาลินีแต่ในภาษาบาลีใช้พระนามว่า อุทกโชตราช (แปลว่าพระยาจมน้ำ) เป็นราชโอรสของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช

พระองค์ที่ ๕ ทรงพระนามว่าพญาลิไทย หรือ ฤทัย เป็นราชโอรสของพระองค์ที่ ๔ เมื่อราชาภิเษกถวายพระนามว่า สุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช มักเรียกกันว่าพระเจ้าธรรมิกราชหรือพระมหาธรรมราชา นับเป็นองค์ที่ ๑ ในรัชกาลของพระองค์นี้ พระเจ้าอู่ทองตั้งเป็นอิสระขึ้น ณ กรุงศรีอยุธยา แล้วเป็นไมตรีกับกรุงสุโขทัยอย่างประเทศศักดิ์เสมอกัน

พระองค์ที่ ๖ ปรากฏพระนามว่าพระมหาธรรมราชาธิราช นับเป็นที่ ๒ เป็นราชโอรสพระองค์ที่ ๕ ทำสงครามแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงัว) ต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา แล้วย้ายมาครองเมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี

พระองค์ที่ ๗ ปรากฏพระนามว่า พระมหาธรรมราชา นับเป็นองค์ที่ ๓ เป็นราชโอรสพระองค์ที่ ๖ (สันนิษฐานว่าเสวยราชย์อยู่ไม่ช้า) เมื่อสิ้นพระชนม์เมืองเหนือเป็นจลาจลในรัชกาชสมเด็จพระนครินทราชา

พระองค์ที่ ๘ ปรากฏพระนามว่า พระมหาธรรมราชา นับเป็นพระองค์ที่ ๔ ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า พระยาบานเมือง เห็นจะเป็นราชอนุชาพระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระนครินทราชาทรงตั้งให้ครองเมืองเหนือ มีพระนามว่า ศรีสุริยพงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราช

ต่อนี้ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (สามพระยา) ก็ทรงตั้งพระราเมศวรราชโอรส (ซึ่งพระมารดาเห็นจะเป็นเชื้อราชวงศ์สุโขทัย) ขึ้นไปครองหัวเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๓ เมืองสวรรคโลก - ในพงศาวดารกรุงเก่า


เมื่อได้ครวจเรื่องเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารเหนือแล้ว ก็ควรต้องตรวจดูเรื่องราวของเมืองนั้น ที่มีอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสืบไป

จำเดิมที่จะกล่าวถึงเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารกรุงเก่า ก็มีอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ปรากฏอยู่ว่าในสมัยนั้นมีพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง และเมืองสวรรคโลกเป็นเมืองประเทศราชเมืองหนึ่ง ต่อมานามเมืองสวรรคโลกก็หายไปนั้น แต่ใช่ว่าตัวเมืองนั้นจะวิบัติสูญไป เป็นแต่เรียกชื่อแปลกไปจนจำไม่ได้เท่านั้น คือ ข้าพเจ้าเชื่อตามความเห็นของท่านนักเลงโบราณคดีบางท่าน ว่าเมืองชากังราวที่กล่าวถึงในพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลายครั้งนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือเมืองสวรรคโลกนั้นเอง(๑) ซึ่งมีอยู่ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงัว)ได้เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวถึง ๓ ครั้ง คือจุลศักราช ๗๓๕ ปีฉลูเบญจศก เสด็จขึ้นไปเมืองชากังราว พระยาชัยแก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบ พระยาชัยแก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็ยกกลับคืนพระนครนี่เป็นครั้งที่ ๑ จุลศักราช ๗๓๘ ปีมะโรงอัฐศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวได้ พระยากำแหงกับท้าวผากองคิดกันว่าจะยกตีทัพหลวงไม่สำเร็จเลิกหนีไป ทัพหลวงตีทัพผากองแตก ได้พระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วก้เลิกทัพหลวงกลับคืนพระนคร นี่เป็นครั้งที่ ๒ จุลศักราช ๗๔๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ไปเอาเมืองชากังราวอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม ตรวจดูกับพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้ความงอกออกไปอีกว่าขุนหลบวงพงัวได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวอีกครั้ง ๑ เป็นครั้งที่ ๔ เมื่อจุลศักราช ๗๕๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงัว) ทรงพระประชวรหนักต้องเสด็จกลับ ตามข้อความเหล่านี้ พึงเข้าใจได้อยู่แล้วว่าเมืองชากังราวมิใช่เมืองเล็กน้อย เป็นเมืองสำคัญอันหนึ่ง

แต่เมื่อก่อนได้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐมานั้น ไม่มีผู้ใดเดาได้เลยว่าเมืองชากังราวคือเมืองใดอยู่แห่งหนตำบลใด มาได้หนทางเดาในพงศาวดารฉบับที่กล่าวแล้วนั้น คือ แห่งหนึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่า "ศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลยยกทัพกลับคืน" ดังนี้ จึงเป็นเครื่งนำให้สันนิษฐานว่าเมืองชากังราวนั้น คือเมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่ามหาราช(เมืองเชียงใหม่) ได้ชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย ต้องเข้าใจว่าเป็นเมืองอยู่ใกล้เคียงกัน ถ้าจะนึกถึงทางที่เดินก็ดูถูกต้องดี แต่เหตุไฉนจึงเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราว ข้อนี้ยังแปลไม่ออก

เมืองสวรรคโลกนี้ ถึงเเม้เมื่อกรุงศรีอยุธยามีอำนาจขึ้นแล้ว ใช่ว่าจะเสียอิสรภาพ ยังคงเป็นเมืองมีกษัตริย์ครองเรื่อยมา แม้พระมหาธรรมราชาได้ออกมาถวายบังคมขุนหลวงพงัวแล้ว เมืองก็ยังคงเป็นเมืองมีอิสรภาพอยู่ เพราะในสมัยนั้นไม่สู้จะฝักใฝ่ในเรื่องอาณาเขตนัก ต้องการแต่เรื่องคนเท่านั้น แต่วงศ์กษัตริย์ครองสวรรคโลกจะได้สูญไปเมื่อใดแน่ก็ไม่ปรากฏ

มาจับกล่าวนามสวรรคโลกอีกครั้ง ๑ ก็คือเมื่อแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเป็นทุรยุค ขุนวรวงษาธิราชครองราชสมบัติ ขุนพิเรนทรเทพคิดกำจัดขุนวรวงษาธิราช คิดการเสร็จแล้วพอพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกลงมาจึงชวนเข้าด้วย ครั้นกำจัดขุนวรวงษาธิราชเสร็จแล้ว พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกได้รับบำเหน็จเป็นเจ้าพระยา ข้อความเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าสมัยนี้ที่สวรรคโลกหมดวงศ์กษัตริย์แล้ว

ต่อนั้นมาอีกก็มามีกล่าวถึงเมืองสวรรคโลกอีก คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อเสด็จไปถึงเมืองลแวก (จุลศักราช ๘๙๔ ปีมะโรงจัตวาศก) พระยาลแวกออกมาถวายบังคม ได้ตรัสขอนักพระสุโทนักพระสุทันบุตรพระยาลแวกมาเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม ครั้นกลับถึงพระนครแล้วทรงพระกรุณาให้นักพระสุทันขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก ข้อนี้เป็นพยานว่าในสมัยนั้นยังนิยมว่าเมืองสวรรคโลกเป็นเมืองสำคัญสมควรมีเจ้าครองได้ แต่พระองค์สวรรคโลกนั้นไม่ได้ครองเมืองอยู่นาน เมื่อจุลศักราช ๘๙๘ ปีวอกอัฐศก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชกำหนดให้พระองค์สวรรคโลกเป็นแม่ทัพ ยกไปรบนักพระสัทธา ซึ่งได้ชิงงสมบัติจากบิดาพระองค์สวรรคโลกนั้น ชนม์พรรษาพระองค์สวรรคโลกถึงฆาต พอเข้ารบทัพญวนก็ตายกับคอช้าง

พอสิ้นพระองค์สวรรคโลก(นักพระสุทัน)แล้ว เมืองสวรรคโลกก็กลับเป็นเมืองขึ้นพิษณุโลกไปตามเดิม มีกล่าวว่าพระมหาธรรมราชาได้เกณฑ์กองทัพเมืองสวรรคโลก เข้าประจบกับกองทัพเมืองเหนือไปงานสงครามหลายครั้ง แต่ไม่มีเรื่องอะไรสลักสำคัญอีกต่อไป จนถึงเรื่องพระยาพิชัยข้าหลวงเดิมเป็นขบถ ยกครอบครัวไปเมืองสวรรคโลก ซึ่ฝงข้าพเจ้าได้เริ่มกล่าวถึงไว้ในตอนที่กล่าวถึงเรื่อวัดศรีชุมเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว และในที่นี้จะได้จับกล่าวเรื่องนั้นต่อไป

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ครั้นได้ทรงจัดกระทำพิธีถือน้ำสัตยานุสัตย์ ณ ค่ายหลวงตำบลวัดฤๅษีชุมเมืองสุโขทัยแล้ว รุ่งขึ้นทัพหลวงก็เสด็จขึ้นไปทางเขาคับเมืองสวรรคโลก ณ วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ (ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๙๒๗) ตั้งทัพหลวงตั้งตำบลวัดไม้งาม สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงพระกรุณาแก่พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก ตรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปประกาศว่า ให้พระยาทั้งสองออกมาถวายบังคม จะทรงพระกรุณามิเอาโทษ พระยาทั้งสองกลับสั่งคนขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมืองไว้ และให้ตัดศีรษะหลวงปลัด ขุนยกกระบัตร ขุนนรนายกซึ่งไม่ยอมเข้าด้วยนั้น เอาศีรษะซัดออกมาให้ข้าหลวง

สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ครั้นเพลาค่ำตรัสให้ยกพลทหารเข้าปล้นเมืองตำบลประตูสามเกิดแห่งหนึ่ง ประตูหม้อแห่งหนึ่ง ประตูสะพานจันแห่งหนึ่ง ปล้นแต่ค่ำจนเที่ยงคืน และเผาป้อมชั้นนอกประตูสามเกิด ก็เข้ามิได้ ตรัสปรึกษาโหราจารย์ ทูลว่าจะปล้นประตูสามเกิดนี้จะได้ด้วยยาก ถ้าปล้นทางประตูดอนแหลมเห็นจะได้โดยง่าย เพราะทิศนั้นเป็นอริแก่เมือง ก็ตรัสสั่งตามโหร แต่ในวันนั้นก็ยังมิได้เมือง วันอาทิตย์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ยกทัพหลวงไปตั้งที่ประตูดอนแหลม ยกเข้าปล้นเมืองอีกครั้งหนึ่งยังไม่ได้

รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ เพลาชายแล้วสองนาฬิกาห้าบาท ยกพลเข้าเผาประตูดอนแหลมทำลายลง พลทหาตรูเข้าเมืองได้ พระยาสวรรคโลกหนีไปซ่อนอยู่ในกุฎีพระวัดไผ่จับตัวได้นำมาถวาย แต่พระยาพิชัยหนีได้จากเมืองเมืองสวรรคโลก คิดจะไปเชียงใหม่ ไปถึงแดนเกาะจุล ชาวด่านก็คุมเอาตัวพระยาพิชัยมาถวาย สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าดำรัสให้มัดพระยาพิชัยพระยาสวรรคโลก ตระเวณรอบทัพแล้วฆ่าเสีย จึงตรัสให้เทครัวอพยพทั้งปวงมายังเมืองพระพิษณุโลก และเชิญรูปพระยาร่วง พระยาลือ อันรจนาด้วยงาช้างเผือกนั้นมาด้วย รูปพระยาร่วงอันนี้คือตรงกับที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ว่าแกะด้วยงาช้างเผือกคู่บารมีของพระร่วง(อรุณราช) งาช้างนั้นว่าเป็นสีดำ

นอกจากที่ได้เก็บมาลงไว้ในที่นี้แล้ว ก็ไม่มีเรื่องราวอะไรเกี่ยวข้องกับเมืองสวรรคโลก ที่สลักสำคัญต่อไปอีก เมื่อได้ค้นดูหนังสือ พอมีหนทางเป็นลาดเลาแล้วดังนี้ ก็จะได้จับกล่าวถึงการตรวจค้นสถานและวัตถุต่อไป



..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๓


(๑) เรื่องตำนานเมืองสวรรคโลกแจ้งอยู่ในอธิบายเลข (๒) ข้างท้ายตอนที่ ๑๐ แล้ว (คือตอนสุดท้ายในตอนที่ว่าด้วยเมืองสุโขทัย) หนังสือพระราชพงศาวดารแต่งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเรียกเมืองสวรรคโลกตามนามขนานชั้นหลัง เมืองชากังราวนั้นตรวจต่อมาได้ความว่าอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ทางฟากตะวันตกแม่น้ำพิง


....................................................................................................................................................




 

Create Date : 26 มีนาคม 2550   
Last Update : 26 มีนาคม 2550 14:07:27 น.   
Counter : 3665 Pageviews.  


เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๒ ภูมิสถานกรุงสุโขทัย กับจารึกศิลา


อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย



....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ เมืองสุโขทัย - ตอนในกำแพง


การตรวจค้นดูสถานที่ต่างๆในเมืองสุโขทัยอยู่ข้างจะได้ความลำบากมาก รวมเบ็ดเสร็จได้มีเวลาตรวจค้นอยู่ ๘ วัน ที่เจ้าเมืองได้ถางไว้บ้างแล้วก็มี แต่ที่ต้องไปถางเข้าไปใหม่ก็มีเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การตรวจค้นจึงไม่ใคร่จะทั่วถึงนัก การที่ได้ทำครั้งนี้เปรียบเหมือนหักร้างถางพง ถ้าแม้นมีผู้มีความรู้ในทางโบราณคดีขึ้นไปดูเมืองสุโขทัยอีกคราวหนึ่ง เชื่อว่าคงจะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก และคงจะได้เค้าเงื่อนประกอบเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่มีอยู่ในหนังสือเป็นแน่ ที่จะได้กล่าวต่อไปนี้เล่าไปตามที่ได้เห็นและตามความคิดความสันนิษฐานประกอบบ้าง พอเป็นโครงให้ผู้ชำนาญในทางโบราณคดีตริตรองวินิจฉัยต่อไป

เมืองสุโขทัยนี้ วัดตามกำแพงเมืองชั้นในคงได้ความว่า ด้านเหนือและด้านใต้ ๔๔ เส้น ๑๕ วาเท่ากัน ด้านตะวันออกและตะวันตก ๓๗ เส้น ๕ วาเท่ากัน ถ้าจะวัดโดยรอบกำแพงรวมเป็น ๑๖๔ เส้น กำแพงชั้นในนี้ได้ตรวจสอบเป็นแน่นอนแล้ว แต่กำแพงชั้นกลางกับชั้นนอกหาได้มีเวลาวัดสอบไม่ แต่เมื่อได้ตรวจดูทั่วแล้วสันนิษฐานว่า กำแพงชั้นในเป็นกำแพงแท้ ยังมีแลงที่ก่อเหลืออยู่บ้างบางแห่ง ชั้นกลางกับชั้นนอกเป็นเทินดิน ตรวจดูในคำจารึกหลักศิลาของพระเจ้ารามคำแหงได้ความว่า "รอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีไปได้ ๓๔๐๐ วา" คิดลงเป็นเส้นได้ ๑๗๐ เส้น จึงสันนิษฐานว่ากำแพงชั้นในเป็นกำแพงเดิมครั้งพระเจ้ารามคำแหง ชั้นกลางชั้นนอกคงได้เพิ่มเติมขึ้นต่อภายหลัง

ประตูเมืองซึ่งกล่าวไว้ในหลักศิลาว่ามีสี่ช่องนั้น ก็ค้นพบทั้งสี่ช่อง แต่หน้าประตูออกไปที่แนวกำแพงชั้นกลาง มีป้อมบังประตูอยู่ทั้งสี่ด้าน ซึ่งทำให้เข้าใจว่า เชิงเทินและคูชั้นกลางกับชั้นนอกนั้นน่าจะได้ทำขึ้นเมื่อตั้งใจรับศึกคราวใดคราวหนึ่ง(๑) แล้วเห็นว่าเป็นการมั่นคงดีจึงเลยทิ้งไว้เช่นนั้น ถ้ามิฉะนั้นคงจะไม่ทำป้อมบังประตู ซึ่งไม่ทำให้เมืองงามขึ้นเลย แต่ทำให้มั่นขึ้นเป็นแน่ ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ถ้าจะต้องตีเมืองเช่นนี้ก็จะไม่ใช่ตีได้ง่ายนัก

ส่วนที่ต่างๆซึ่งได้ไปตรวจดูนั้นมีเป็นอันมาก และตามความจริงได้ข้ามไปข้ามมาตามแต่จะค้นพบ ครั้นจะเล่าไปตามที่ไปดูเป็นรายวันไปก็จะพาให้ยุ่งนัก จึงได้คิดแบ่งออกเป็นตอนๆเก็บเรื่องราวของสถานที่ซึ่งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกันไปรวมกันเข้าไว้กล่าวเป็นตอนในกำแพงเสียตอนหนึ่ง นอกกำแพงแยกออกไปตามทิศ พออ่านเข้าใจง่ายขึ้น จะได้จับกล่าวตอนในกำแพงเมืองก่อน

พอออกจากที่พักเข้าประตูเมืองด้านตะวันออกไปได้หน่อยถึงหมู่บ้านในเมือง (ซึ่งมีอยู่ ๓ หมู่บ้านด้วยกัน) บ้านนั้นตั้งอยู่ใกล้ตระพังทอง เป็นสระน้ำใหญ่อันหนึ่งในเมืองนี้ มีระหรือตระพังสามแห่ง คือตระพังทองอยู่ด้านตะวันออก ตระพังเงินอยู่ด้านตะวันตก สระพังสออยู่ด้านเหนือ วัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง ในคำจารึกหลักศิลาพระเจ้ารามคำแหงก็มีกล่าวไว้ว่า "ในเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำดรพงงโพยสีใสกินดีดงงกินน้ำโขงเมื่อแล้ง" ดังนี้ น่าจะกล่าวถึงตระพังเหล่านี้เอง แต่นอกจากตระพังทั้งสามนี้ นอกเมืองก็ยังมีอยู่อีกเป็นหลายแห่ง ซึ่งเห็นได้ว่าในเวลานั้นน้ำบริบูรณ์และถ้าแม้ได้รักษาการเรื่องน้ำนี้ไว้แต่เดิมมาแล้ว เมืองสุโขทัยจะไม่ต้องทิ้งร้างเลย

ที่ตระพังทองนั้นมีวัดเรียกว่า วัดตระพังทอง ทีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ กลางตระพังมีเกาะ บนเกาะนั้นมีพระเจดีย์ใหญ่อยู่กลางองค์หนึ่ง มีพระเจดีย์บริวารอีก ๘ องค์ พระเจดีย์ใหญ่ยังพอเป็นรูปร่างอยู่ คือเป็นรูประฆัง ข้างล่างเป็นแลงข้างบนเป็นอิฐ พระเจดีย์บริวารนั้นชำรุดเสียมากแล้ว ดูท่าทางบางทีจะเป็นวัดไม่สู้สำคัญนัก และน่าจะไม่สู้เก่านักด้วย ที่เกาะนี้พระยารณชัยชาญยุทธ(ครุธ) เจ้าเมืองสุโขทัยเก่า ซึ่งได้ออกบรรพชาเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้มาสร้างกุฏิอาศัยอยู่ และในเวลาที่ไปดูวัดนั้นก็ได้เห็นโบสถ์ ซึ่งสามเณรรณชัยได้จัดการเรื่ยรายและกำลังสร้างขึ้น

จากวัดตระพังทองไปดูวัดร้าง ซึ่งราษฎรเรียกกันว่าวัดใหม่ จะเป็นวัดใหม่มาครั้งไรก็ไม่ปรากฏ วัดนี้มีคูรอบ ภายในจังหวัดคูนั้นมีที่กว้าง ๑ เส้น ๘ วา ยาว ๓ เส้น คูนั้นคงจะเป็นสีมา (สังเกตว่าวัดโบราณมีคูทั้งนั้น คงจะถือสีมาน้ำเป็นของมั่นคง) ที่บนเกาะนั้นมีวิหารรูปร่างชอบกล ตั้งอยู่บนลานยกพื้นพ้นดินขึ้นไปประมาณ ๔ ศอก มีบันไดขึ้น ตัววิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี กว้าง ๖ วา ยาว ๑๕ วา มีเสาใหญ่ๆรูปกลมก่อด้วยแลงแผ่นเล็กๆทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีมุขเด็จทางด้านตะวันออกทลายเสียแล้ว แต่ทางด้านตะวันตกยังเป็นรูปร่างเรียบร้อยดี ยังแลเห็นบัวที่ฐาน บนมุขเด็จมีพระปรางค์ย่อมๆตั้งอยู่ หน้าตาเป็นมุขเด็จปราสาทที่วิหารด้านเหนือนอกแนวเสาออกมา มีผนังปูนเกลี้ยงๆ ที่ผนังมีหน้าต่างช่องใหญ่ๆรูปสี่เหลี่ยมเหมือนหน้าต่างโบสถ์สมัยปัจจุบันนี้ พอแลเห็นหน้าต่างก็เดาว่าเป็นชิ้นใหม่ ครั้นพิจารณาดูพอจะสังเกตได้ ว่าผนังวิหารตลอดถึงเสาบุษบกที่มุขเด็จ และพระปรางค์ที่เป็นมุขเด็จนั้น เป็นของเพิ่มเติมขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ เสริมขึ้นไปบนฐานแลงของเดิม ฐานชุกชีที่รองพระประธานก็เป็นชิ้นที่เติมขึ้นภายหลัง และเห็นได้ชัดเจนที่ตรงรอยต่อกับเสาเดิมไม่สนิท เป็นพยานอยู่ว่าทำคนละคราว

พอจะเดาต่อไปว่า วิหารนี้คงทิ้งร้างอยู่ แล้วมีผู้มาปฏิสังขรณ์ขึ้นคือตอนที่ทำอิฐด้วยนั้น และโดยเหตุที่ไม่รู้จักนามวัด จึงได้เลยเรียกว่าวัดใหม่ต่อมา วัดนี้พระยาอุทัยมนตรีได้แกความเห็นว่า จะเป็นที่วังเดิม และวิหารนั้นจะเป็นปราสาท การที่คิดเช่นนี้ก็เพราะเห็นเป็นมุขเด็จนั้นเอง แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะตั้งแต่ได้ดูวังในเมืองโบราณมาหลายแห่งแล้ว ยังไม่เคยพบปราสาทราชฐานทำด้วยแลงหรืออิฐเลย (ยกเสียแต่ที่กรุงทวาราวดี และลพบุรีซึ่งนับว่าเป็นสมัยใหม่กว่าเสียแล้ว) ข้าพเจ้าเชื่อว่าปราสาทราชฐานอะไรคงจะทำด้วยไม้ทั้งสิ้น(๒) วิหารวัดใหม่นั้นถ้าแม้จะเป็นปราสาทก็ดูซอมซ่อเต็มที ทั้งที่ทางก็ดูไม่สู้เหมาะแก่การที่จะทำเป็นวังนัก จึงเข้าใจว่าน่าจะได้ตั้งใจทำเป็นวัดมาแต่เดิม

จากวัดใหม่ได้ไปที่วัดซึ่งราษฎรเรียกกันว่า วัดตะกอนบ้าง วัดตาควนบ้าง สงสัยว่าบางที่ทีถูกจะเป็นวัดตระกวน(ผักบุ้ง) เรียกตามชื่อถาษาเขมรซึ่งปรากฏอยู่ว่าได้ใช้ในเมืองสุโขทัย สมัยพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราชนั้น ที่วัดตระกวนนี้มีพระเจดีย์ใหญ่ตั้งโดดองค์เดียว กับมีโบสถ์อยู่ทางทิศตะวันออกด้วยหลังหนึ่ง ที่นี้ไม่สู้มีอะไรประหลาดนักในส่วนพื้นที่ แต่ได้พบหัวมังกรทิ้งอยู่หัวหนึ่ง หน้าตาเป็นมังกรไทย ทำด้วยดินเผาเคลือบสีขาว มีลายดำอย่างชามสวรรคโลก เข้าใจว่าคงจะใช้ครอบปลายราวบันไดเป็นเช่นหัวบันไดนาค มีท่อนตัวต่อๆขึ้นไปจนถึงท่อนหางเป็นที่สุด ได้ความว่าหัวมังกรเช่นนี้มีทิ้งอยู่ตามวัดร้างๆ โดยมากมีขนาดต่างๆกัน จึงต้องเดาว่าคงจะใช้เป็นราวบันได้บ้าง เป็นเครื่องประดับบ้าง เช่นช่อฟ้า ในระกา เป็นต้น

ต่อจากวัดตระกวนไปทางด้านเหนือ ห่างประมาณ ๑๐ เส้น มีศาลเทพารักษ์ใหญ่ ราษฎรเรียกกันว่าศาลตาผ้าแดง เป็นรูปปราสาทก่อด้วยศิลาแลงก้อนเขื่องๆ เหทมือนปราสาทหินที่พิมายและลพบุรี เครื่องบนพังลงมาเสียหมดแล้ว แต่เห็นได้ตามรูปว่าคงทำเป็นยอกปรางค์ ก่อด้วยแลงล้วนไม่ได้ใช้เครื่องไม้เลย ด้านหน้ามีมุขยาวออกมา ด้านหลังทลายเสียแล้ว แต่สังเกตดูว่าคงมีมุขเหมือนกัน แต่ไม่ยาวเท่าด้านหน้า ตัวหลังกลางนั้นมีย่อมุมไม้สิบสองยังแลเห็นได้ชัดอยู่ ตรวจดูในที่ใกล้โดยรอบไม่พบชิ้นอะไรอื่นอยู่ใกล้เคียงจนชั้นระเบียงหรือคดก็ไม่มี จึงนึกเดาว่าคงจะไม่ใช่เทวสถานที่ใช้เป็นโบสถ์พราหมณ์ คงจะเป็นศาลเทพารักษ์เช่นศาลพระเสื้อเมืองทรงเมือง เชื่อว่าคงจะเป็นของสำคัญและเป็นที่นับถือในกรุงสุโขทัยโบราณ จึงได้ทำแน่นหนาและด้วยฝีมืออันปราณีตเช่นนี้(๓)

ต่อนี้ได้ไปที่วัดกลางเมือง ซึ่งเรียกกันว่าวัดใหญ่บ้าง วัดมหาธาตุบ้าง ที่วัดนี้ได้ตรวจเทียวไปเทียวมาหลายครั้ง กว่าจะจับเรื่องราวลงร่องรอยเรียบร้อยดี เพราะเป็นวัดใหญ่และมีการก่อสร้างอยู่ในนี้มาก พระเจดีย์วิหารต่างๆและกุฏิเล็กกุฏิน้อยนับไม่ถ้วน พระพุทธรูปก็มีทุกท่าทาง นั่งยืนนอน ชิ้นสำคัญที่สุดในวัดนี้คือพระมหาธาตุเจดีย์สูงตระหง่านอยู่กว่างสิ่งอื่น ทำยอดเป็นปรางค์ชะลูดเรียวงามดีและแปลกนัยตาหนักหนา(๔) มีฐานเป็นชั้นๆลงมาจนถึงลานบน ซึ่งมีบันไดขึ้นอย่างพระปรางค์วัดอรุณ แต่บันไดปรักหักพังเสียสิ้นแล้ว ที่ลานชั้นบนเป็นเช่นวิหารทิศทั้งสี่ด้าน มีซุ้มมีลายจำหลักงามๆมาก ทั้งที่ฐานพระมหาธาตุเองก็มีลวดลายจำหลักไว้อย่างวิจิตร ด้านตะวันออกแห่งพระมหาธาตุมีวิหารหลวงเก้าห้อง*ใหญ่ยาวมาก ขนาดวิหารพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก หรือจะเขื่องกว่าเสียอีก เสาทำด้วยแลงก้อนเขื่องๆมีเป็นสี่เเถว วิหารนี้เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งได้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดสุทัศน์อยู่จนทุกวันนี้

คิดดูว่าเมื่อพระศรีศากยมุนีประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงวัดมหาธาตุนี้ คงจะแลดูงามเป็นสง่ายิ่งนัก เพราะประการหนึ่งวิหารนั้นยาว พอที่จะพิศดูพระได้เต็มพระองค์ และอีกประการหนึ่งพระองค์จะตั้งอยู่เตี้ยๆ เพราะฉะนั้นคงจะดูได้ดีกว่าที่จะดูที่วัดสุทัศน์เดี๋ยวนี้ วิหารที่วัดสุทัศน์ส่วนยาวไม่พอประการหนึ่ง และพระก็ประดิษฐานไว้สูงนักอีกประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าไปดูทำให้เสียงามไปเป็นอันมาก

วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้น เห็นได้ว่าเป็นวัดสำคัญอย่างยิ่ง มีกำแพงและคูล้อมรอบ เขตวัดกว่าง ๕ เส้น ยาว ๕ เส้น ๔ วา มีสระใหญ่อยู่ ๓ สระ มีสระเล็กอีกหลายสระ ถ้าจะเปรียบกับกรุงทวาราวดีก็คงเป็นอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ ติดอยู่กับวังซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า วัดนี้เข้าใจว่าคงจะเป็นวัดเก่า ตรวจดูคำจารึกหลักศิลาพระเจ้ารามคำแหง มีข้อความอยู่ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหารมีพระพุทธทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอนนใหญ่มีพระพุทธรูปอนนราม มีพิหารอนนใหญ่มีพิหารอนนราม มีปู้ครูมีสังฆราช มีเถร มีมหาเถร" ดังนี้ ดูก็น่าจะสันนิษฐานว่ากล่าวถึงวัดมหาธาตุนี้ "พิหารมีพระพุทธรูปทอง" นั้น น่าจะเป็นวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานพระศรีศากยมุนี "พระอัฏฐารศ" นั้นแปลว่าพระยืนซึ่งมีอยู่ในวัดมหาธาตุหลายองค์ "พระพุทธรูปอนนใหญ่ พระพุทธรูปอนนราม(งาม)" หรือ "พิหารอนนใหญ่ พิหารอนนราม" นั้นก็มีอยู่มาก แต่ข้อที่ท่านพวกปู่ครูสังฆราช เถรและมหาเถร จะได้มีอยู่ในวัดดนี้บ้างหรือไม่นั้น เป็นอันเหลือเดา(๕)

ในหลักศิลาของพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราช มีกล่าวถึงการหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์เท่าพระองค์ ทรงกระทำมหกรรมการฉลองพระนั้นแล้ว ประดิษฐานไว้กลางเมืองสุโขทัยโดยบุรพทิศด้านพระมหาธาตุนั้น แต่ในเรื่องนี้จะได้งดไว้กล่าวถึงต่อเมื่อเล่าถึงวัดสังฆวาสต่อไป

อนึ่ง วัดมหาธาตุนี้ราษฎรนับถือกันว่าเป็นที่สำคัญนัก เพราะกล่าวว่าเป็นที่พระร่วง(นายส่วยน้ำ)ได้มาทรงผนวชอยู่ ยังมีสิ่งที่ชี้เป็นพยานกันอยู่ คือขอมดำดิน ซึ่งตามนิทานว่าดำดินมาแต่นครธม มาโผล่ขึ้นในลานวัดกลางเมืองสุโขทัยเพียงแค่อก เห็นพระร่วงซึ่งผนวชเป็นภิกษุกวาดลานวัดอยู่ ขอมไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วง พระร่วงก็บอกว่าให้ขอมคอยอยู่ก่อน จะไปตามพระร่วงมาให้ กายขุนขอมก็เลยกลายเป็นศิลาติดอยู่ที่ลานวัดนั้นเอง ก้อนศิลาซึ่งสมมติเรียกกันว่าขอมดำดินนี้ อยู่ในลานพระมหาธาตุข้างด้านใต้ ที่ยังแลเห็นได้นั้นเป็นรูปมนๆคล้ายหัวไหล่คน ถ้าแม้ต่อศีรษะเข้า ก็พอจะดูคล้ายรูปคนโผล่ขึ้นมาจากดินเพียงหน้าอกได้ ศิลานั้นเบียดอยู่กับฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง แต่บัดนี้พระเจดีย์นั้นพังเสียมากแล้ว ตึงเห็นศิลานั้นได้ถนัด

เมื่อแรกเห็นอยากจะใคร่เดาว่าเป็นศิลาจารึกอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจึงเห็นว่าเป็นศิลาเกลี้ยงๆอยู่ ยิ่งเป็นที่พิศวงยิ่งขึ้น ว่าเหตุไฉนจึงเอาก้อนศิลาเช่นนี้มาฝังไว้ในที่นี้ อย่างไรๆก็ชื่อว่าไม่ใช่ศิลาที่เกิดอยู่ในพื้นที่นั้นเอง เพราะที่อื่นๆก็ไม่เห็นมีก้อนศิลาเช่นนั้น จึงต้องเข้าใจว่ามีผู้นำมาปักไว้ จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่าเอามาปักไว้ทำไม นึกอยากจะเดาว่ามาปักไว้ทำหลักเมือง เพราะที่ตรงนั้นก็ดูเป็นที่เกือบจะกลางเมือง การที่เข้าไปอยู่ในเขตวัดเช่นนั้นก็มีหนทางที่อาจจะเป็นไปได้ทางหนึ่ง คือพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งจะใคร่สร้างวัดที่ไว้พระมหาธาตุเลือกได้ที่เหมาะกลางเมือง จึงสร้างลงไปริมหลักเมืองซึ่งไม่เป็นที่ขัดข้องประการใด เช่นที่เมืองเชียงใหม่หลักอินทขิลบัดนี้ก็อยู่ในเขตวัดเจดีย์หลวง แปลความว่าหลักตั้งอยู่ก่อน วัดตามไปภายหลัง ที่นี่ก็อาจจะเป็นได้เช่นเดียวกัน

แต่ทางทิศเหนือวัดมหาธาตุริมวัดที่เรียกกันว่าวัดชนะสงครามนั้น มีสถานอันหนึ่งซึ่งราษฎรเรียกว่าศาลกลางเมือง ได้แต่ให้พระวิเชียรปราการไปตรวจดูก่อน บอกว่าเข้าใจว่าจะเป็นหลักเมือง ครั้นไปดูเองภายหลังก็ลงเนื้อเห็นด้วย คือมีเป็นเนินอยู่เฉยๆก่อน แต่ครั้นให้ถางและขุดลงไป จึงได้เห็นท่าทางพอเดาได้ ว่ามีเสาแลงตั้งขึ้นไปทั้ง ๔ หลุม มีมุมละ ๒ เสาซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ที่ตรงกลางเนินมีหลุมซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นหลุมที่ฝังนิมิต ในหลุมนั้นมีศิลาแผ่นแบนทิ้งอยู่แผ่นหนึ่ง แต่แตกแยกเป็นสองชิ้น ตรวจดูศิลานั้นก็แลเห็นเป็นลายอะไรเลือนๆ จึงเหลือที่รู้ได้ว่าเป็นอะไร บางทีจะเป็นแผ่นศิลาที่ลงดวงของเมืองก็ได้ แต่ถูกขุดชำรุดและถูกฝนชะจนลายหรืออักษรลบเลือนไปเสียสิ้นแล้ว รูปร่างสถานที่นี้เดิมคงมีหลังคาเป็นสี่เหลี่ยม และมีเพิงรอบ ดังสันนิษฐานได้ตามเสาที่เหลืออยู่ ท่าทางก็ทีจะเป็นหลักเมืองได้

แต่ถึงแม้ที่นี้จะเป็นหลักเมือง ก็ยังไม่ลบล้างข้อความที่สันนิษฐานเรื่องศิลาขอมดำดิน คืออาจที่เดาต่อไปว่า ครั้นเมื่อได้สร้างวัดมหาธาตุลงที่ริมหลักเมืองเดิมแล้ว ท่านต้องการจะขยายลานให้กว้างออกไป และต้องการทำการโยธาต่างๆในวัดนั้น ท่านจะเกิดรู้สึกขึ้นมาว่าการที่หลักเมืองมาอยู่ตรงนั้นกีด จึงคิดอ่านย้ายไปไว้เสีแห่งอื่นให้พ้น แต่หลักศิลาที่ปักไว้เป็นเครื่องหมายเดิมนั้นท่านไม่ได้ย้ายไป เพราะตัวหลักไม่เป็นของสำคัญ สำคัญอยู่ที่นิมิตต่างหาก หลักเป็นเพียงเครื่องหมายให้ปรากฏว่าฝังนิมิตไว้ตรงไหนเท่านั้น เมื่อท่านได้ขุดเอานิมิตไปฝังไว้ที่แห่งอื่นแล้ว หลักนั้นก็เป็นหลักเหลวๆอยู่ลอยๆไม่เป็นหลักเมืองต่อไป การที่คิดไปว่าหลักเมือง คือหลักศิลาหรือไม้ปักให้แลเห็นปรากฏอยู่นั้นเห็นว่าเป็นการเข้าใจผิด เพราะได้ยินเรียกว่า "หลักเมือง ๆ" ก็เลยจับเอาคำหลักนั้นมาถือมั่นว่าหลักเมืองจำต้องเป็นหลักทำด้วยไม้หรือศิลาปักแต้อยู่ ตามความจริง "หลัก" ไม่ได้แปลได้เฉพาะแต่ว่าเสา "หลัก" จะแปลว่ามั่นก็ได้ เช่นคำที่เรียกผู้นั้นผู้นี้เป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นๆเป็นเสาเลย หมายความว่าเป็นคนสำคัญมั่นคงต่างหาก

ถ้าแม้จะเกิดปัญหาขึ้นว่า ไหนๆท่านจะย้ายเอาหลักเมืองสุโขทัยกันทั้งทีแล้ว ท่าจจะชะลอเอาศิลาที่หมายไปด้วยไม่ได้หรือ ต้องตอบว่าก็คงได้แต่ค่อนข้างจะลำบาก เพราะศิลาขอมดำดินนั้นไม่ใช่เล็ก โตกว่าอ้อม ที่ฝั่งอยู่ในดินเดี๋ยวนี้ราว ๒ ศอก ในกาลบัดนี้ปลายอยู่เพียงเสมอพื้นดิน แต่พิจารณาก็เห็นรอยถูกต่อยมาก พระยาอุทัยมนตรีสืบได้ความมาจากคนชราที่อยู่ใกล้ที่นั้นว่า ได้เคยเห็น "ขอม" นั้นสูงพ้นดินขึ้นมากกว่าศอก และได้ความว่าชาวเมืองพอใจต่อยเป็นชิ้นเล็กๆไปฝนเข้ากับยา นิยมกันว่าทีรสทั้งเปรี้ยวทั้งหวานทั้งเค็ม เป็นยาอย่างประเสริฐนัก ว่าแก้โรคภัยต่างๆได้สารพัด ได้นิยมกันมาเช่นนี้ช้านานแล้ว ยังมาตอนหลังผู้มาเที่ยวชอบต่อยชิ้น "ขอม" ไปเป็นที่ระลึกอีก และ "ขอม" นั้นก็เป็นศิลาแดงต่องง่าย เพราะฉะนั้น "ขอม" จึงเหลืออยู่น้อยเท่านี้ แต่บัดนี้ผู้ว่าราชการเมืองได้ประการห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งต่อยหรือทำอันตรายศิลานั้นอีกแล้ว จึงพอจะเป็นที่หวังได้ว่าคนที่จะไปเมืองสุโขทัยต่อๆไปในกาลเบื้องหน้าคงจะยังได้ดู "ขอมดำดิน" ศิลานี้เดิมจะสูงพ้นดินเท่าไรก็เหลือเดา เพราะไม่ทราบว่าได้ต่อยกันมาสักากี่สิบปีแล้ว แต่อย่างไรๆก็คงเป็นศิลาแท่งใหญ่มากอยู่ และการที่จะถอนขึ้นและชะลอไปจากที่นั้นน่าที่ท่านจะเห็นว่าความลำบากไม่สมกับเหตุ ท่านจึงทิ้งไว้ให้คนภายหลังแต่งเรื่องราวประกอบจนวิจิตรพิสดารหนักหนา

ยังมีเหตุอื่นๆอีกที่ทำให้สันนิษฐานว่า "ขอมเป็นเสาหลักเมืองเดิม คือพิจารณาดูรูปพรรณสัณฐานก็ดูสมควร นึกดูถึงเสาหลักเมืองอื่นๆที่ได้เห็นมาแล้วก็ดูขนาดๆกัน และการที่ชาวเมืองนับถือว่าศิลานั้นฝนกินเป็นยาวิเศษ ก็ดูยิ่งจะเป็นพยานขึ้นอีกประการหนึ่ง เพราะหลักเมืองที่เมืองอื่นๆก็มักนิยมว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ต่างๆ เช่นหลักเมืองนครราชสีมาเป็นต้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็เป็นแต่ความเห็นส่วนตัว แล้วแต่ท่านผู้ชำนาญในโบราณคดีจะวินิจฉัย(๖)

ที่ริมวัดมหาธาตุทางด้านตะวันออก มีที่ดินว่างเปล่าอยู่แปลงหนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ทางด้านเหนือกับด้านใต้มีเทินดินและมีคูต่อไปประจบกับคูวัดมหาธาตุเป็นอันเดียว ด้านตะวันตกที่ติดกับวัดมหาธาตุนั้น มีกำแพงแต่ไม่มีคู ด้านตะวันออกมีคู คูด้านเหนือและใต้นั้นยาวต่อไปจนจดคูวัดด้านตะวันตก เข้าใจว่าน้ำในตระพังทองด้านตะวันออก กับตระพังเงินด้านตะวันตก จะมีทางไขให้เดินเข้าคูวัดกับที่แปลงต่อนั้นได้ตลอด วัดกับที่แปลงตะวันออกนี้จึงเป็นเกาะอยู่ คูด้านสกัดตะวันออกตะวันตกยาว ๕ เส้น ๔ วาเท่ากัน ด้านเหนือด้านใต้ยาว ๑๒ เส้น อยู่ทางเขตวัด ๕ เส้น ทางต่อมาอีก ๗ เส้น เพราะฉะนั้นที่แปลงต่อวัดออกมานั้นกว้าง ๕ เส้น ๔ วา ยาว ๗ เส้นในนั้นมีสระใหญ่ถึง ๒ สระ และมีฐานสี่เหลี่ยมอยู่อันหนึ่ง กว้าง ๑๒ วา ๓ ศอก ยาว ๒๐ วา สูงพ้นดินประมาณ ๒ ศอกคืบหรือ ๓ ศอก ทางด้านเหนือยังแลเห็นบัวคว่ำบัวหงาย แต่ด้านอื่นๆดินพูนขึ้นมาเสียมาก แลทลายเสียแล้วด้วย นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรอีกเว้นแต่ที่แผ่นดินเกลี้ยงๆ

จึงสันนิษฐานว่าที่ดินแปลงนี้คงไม่ใช่ของวัดมหาธาตุ เพราะถ้าเป็นที่ในเขตวัด ที่ไหนจะเว้นมีพระเจดีย์วิหารอะไรสักอย่างหนึ่ง ถึงแม้แต่เดิมจะไม่มีอยู่ ก็น่าจะต้องมีผู้ใดมาสัปดนสร้างเพิ่มเติมขึ้นให้รกเช่นที่วัดโบราณอื่นๆ แม้ที่วัดมหาธาตุนั้นเองภายในพื้นที่แปลงตะวันตกนั้นก็มีเจดีวิหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยเรียงรายระกะไปจนเดินหลีกแทบไม่พ้น ถ้าแม้จะสันนิษฐานว่าในแปลงตะวันออกนั้นเป็นวิหาร ก็ควรที่จะมีสิ่งไรเป็นร่องรอยพอให้เป็นที่สังเกตบ้าง นี่ไม่มีอะไรเลย แนวผนังก็ไม่เห็นเสาดีหรือเสาทลายก็ไม่เห็น แม้แต่กองแลงหรืออิฐปนอะไรสักกองหนึ่งก็ไม่มี เป็นลายเกลี้ยงอยู่เฉยๆ จึงทำให้สันนิษฐานว่า ฐานนี้คือลานปราสาท และปราสาทนั้นทำด้วยไม้ ใช้เสาตั้งไม่ใช่ปักลงไปในดินจึงไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย และที่แปลงตะวันออกนั้นทั้งแปลงกว้าง ๕ เส้น ๔ วา ยาว ๗ เส้นนั้น คือพระราชวังของพระเจ้ากรุงสุโขทัย ถ้าไม่ใช่วังก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอะไรได้อีก

ยังมีสถานที่ภายในกำแพงเมืองซึ่งควรดูอยู่อีกแห่งหนึ่ง คือสถานที่ราษฎรเรียกว่าวัดศรีสวาย อยู่ใกล้วัดมหาธาตุไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่นี้มีคูรอบและกำแพงก่อด้วยแลงแท่งเขื่องๆ ในนั้นมีเป็นปรางค์อยู่ ๓ ยอด แต่แยกๆกันอยู่เป็น ๓ หลัง หลังกลางฐานสี่เหลี่ยม ด้านละ ๓ วา สูง ๑๐ วา หลลังข้างๆสองหลังเท่ากัน ฐานสี่เหลี่ยมด้านละ ๑๐ ศอก สูง ๖ วา รูปปรางค์นั้นเป็นอย่างเทวสถาน ๓ ยอดที่ลพบุรี มีลวดลายอย่างทำนองนั้น คือเป็นรูปพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ และรูปนารายณ์ปางต่างๆที่ช่องผนังข้างล่างเดิมมีรูปพระนารายณ์ปั้นไว้ แต่เมื่อไปดูนั้นหลุดทลายเสียแล้วยังคงเห็นได้แต่เป็นรูปเงาๆอยู่ที่พื้นผนัง ไม่แลเห็นเป็นสี่กร แต่เห็นได้ว่าถือจักรมือหนึ่ง ราษฎรผู้เฒ่าได้เล่าว่า ได้เคยเห็นเป็นรูปสี่กร

ต่อหน้าปรางค์ใหญ่มีเป็นโบสถ์มีผนังทึบเจาะช่องแสงสว่างเป็นรูปลูกกรงไว้เป็นช่องๆ มีประตูเข้าทางด้านตรงหน้า ๑ ประตู ด้านข้างๆละประตู รวม ๓ ช่อง กรอบประตูข้างบนทำด้วยศิลาดำทั้งแท่งแผ่นหนึ่งๆกว้าง ๑ ศอก ยาว ๓ ศอกคืบ หนาประมาณ ๖ นิ้ว ประตูด้านข้างมีแห่งละแผ่น แต่บนประตูด้านตรงหน้าพาดเรียงกันถึง ๔ แผ่น เมื่อเข้าไปในโบสถ์แล้วแลเห็นทางเข้าไปในปรางค์ได้มองเข้าไปเห็นหลักไม้ปักอยู่ ๒ หลัก ท่าทางดูเหมือนที่นั่งพระยายืนชิงช้า จึงสันนิษฐานว่าที่นี้คงเป็นโบสถ์พราหมณ์ และผู้เป็นตัวแทนพระเป็นเจ้าในพิธีรำเขนงและโล้ยัมพวายนั้น คงนั่งในปรางค์นั้นเอง ค้นไปค้นมาเผอิญไปพบศิลาทำเป็นรูปพระสยุมภูทิ้งอยู่อันหนึ่ง ซึ่งดูเป็นพยานขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ว่าวัดศรีสวายนี้คือโบสถ์พราหมณ์(๗)

นอกจากสถานที่ต่างๆซึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนนี้ ก็ไม่มีอะไรที่สลักสำคัญในเขตกำแพงเมืองสุโขทัยอีก ถ้าแม้จะยังมีอยู่ก็ต้องเข้าใจว่าอยู่ลึกลับมาก จึงยังไม่ได้ค้นเค้าเงื่อนบ้างเลย บัดนี้จะได้กล่าวถึงสถานที่ต่างๆนอกกำแพงเมืองต่อไป



..........................................................................


* สิบเอ็ดห้อง เป็นที่ตั้งพระหกห้อง เป็นที่คนนั่งห้าห้อง


.........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑


(๑) การที่ทำเชิงเทินด้วยดินนอกกำแพงเมืองอีกสองชั้น มีเค้าเงื่อนในเรื่องพงศาวดารที่จะสันนิษฐาน ว่าทำขึ้นต่อเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อเตรียมสู้ศึกหงสา ด้วยสมัยนี้เกิดมีปืนใหญ่ใช้รบพุ่งและมีฝรั่งโปรตุเกตรับราชการ จึงทำเชิงเทินดินกันทางปืน

(๒) พระราชมนเทียรที่พระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณเสด็จประทับอยู่ แม้ที่เมืองนครหลวงของขอมก็สร้างเป็นเครื่องไม้ทั้งนั้น ในพระนครศรีอยุธยาก็เช่นั้น ปราสาทสร้างด้วยศิลาหรือก่ออิฐเป็นแต่ที่ทำพระราชพิธี พระราชมนเทียรเป็นตึกก่ออิฐพึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

(๓) ปรางค์ศิลาแลงแห่งนี้ ตรวจต่อมาทราบว่าเป็นที่ประดิษฐานรูปพระอิศวรทางมุขหน้า รูปพระนารายณ์ทางมุขหลัง เทวรูปหล่อทั้ง ๒ องค์นั้นเห็นจะเชิญลงมากรุงเทพฯเมื่อรัชกาลที่ ๑ พร้อมกับพระพุทธรูปศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ เดิมเอาไว้ในเทวสถานที่ริมเสาชิงช้า ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ย้ายมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานคือองค์ใหญ่กว่าเพื่อนที่อยู่คู่ต้นในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พึงสังเกตได้ว่าลักษณะภาพเป็นแบบครั้งสมัยสุโขทัยทั้ง ๒ องค์

(๔) พระเจดีย์รูปทรงอย่างพระมหาธาตุเมืองสุโขทัย ชอบสร้างแต่ในสมัยสุโขทัยสมัยเดียว เมื่อมาถึงสมัยอยุธยาคิดเอาแบบพระสถูปลังกากับพระเจดีย์สุโขทัยนั้นประสมกัน จึงเกิดมีพระเจดีย์เหลี่ยมเช่นที่สร้างในวัดพระเชตุพนในกรุงเทพฯนี้ ผู้ศึกษาโบราณคดีได้คิดค้นกันมาช้านาน ว่ารูปทรงพระเจดีย์สุโขทัยนั้นจะได้แบบมาแต่ไหน พึ่งได้เค้าเงื่อนใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ด้วยเห็นรูปปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์อิลลัซเตรติดลอนดอน นิวส์ ว่ามาแต่แบบพระเจดีย์ในเมืองจีนซึ่งสร้างบรรจุอัฐิธาตุ จึงสันนิษฐานว่าชะรอยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช จะได้แบบพระเจดีย์จีนมาทรงพระราชดำริแก้ไขให้เข้ากับกระบวนช่างของไทย จึงเกิดแบบพระเจดีย์สุโขทัยขึ้น

(๕) ตรวจดูต่อมาก็ไม่พบที่สำหรับพระสงฆ์อยู่ในวัดมหาธาตุนี้ พระอุโบสถที่มีอยู่ก็เห็นได้ว่าเป็นของสร้างเพิ่มเติมขึ้นต่อชั้นหลัง สันนิษฐานว่าพระสงฆ์เห็นจะอยู่วัดต่างหาก ซึ่งสร้างขึ้นใกล้ๆวัดมหาธาตุเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช เดิมพระสงฆ์อยู่วัดต่างหาก มีทั้ง ๔ ทิศพระมหาธาตุ

(๖) ศิลาขอมดำดินนี้ ต่อมาต้องย้ายเอามารักษาไวว้ที่ศาลากลาง เพราะคนยังลักต่อยเอาไปทำยาหรือทำเครื่องราง เดี๋ยวนี้เหลืออยู่เล็กกว่าที่ทรงพรรณนาในพระราชนิพนธ์มาก

(๗) วัดศรีสวายเดิมเป็นเทวสถานเป็นแน่ นามเดิมเห็นจะเรียกว่า "ศรีศิวายะ"


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๒ เมืองสุโขทัย "เบื้องตวนนตก"


ก่อนที่จะออกตรวจสถานที่จำจะต้องอ่านหนังสือดูก่อน ว่ามีที่ใดบ้างควรจะต้องค้น จับค้นเป็นทิศๆต่อไป บัดนี้จะจับทางทิศตะวันตกก่อน ตามอย่างพระเจ้ารามคำแหง ในคำจารึกหลักศิลาของพระราชาองค์นี้ มีข้อความกล่าวไว้ว่า "เบื้องตวนนตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรญญิก(๑) พ่ขุนรามคำแหงกทำโอยทานแก่พระมหาเถรสังฆราชปราชญรยนจบปิฎกไตร หลวกกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคน ลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ในกลางอรญญิกมีพิหารอนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามมาก มีพระอฐฐารศอนนหนึ่งลุกยืน" ครั้นตรวจดูในคำแปลหลักศิลาสุโขทัยที่ ๒ คงได้ความต่อไปว่า วัดที่สร้างขึ้นให้เป็นที่พักพระมหาสามีสังฆราชนั้นได้สร้างขึ้นในป่ามะม่วงอันมีอยู่ทางทิศประจิมเมืองสุโขทัย ได้ความพอเป็นเค้าไว้เท่านี้ก่อน แล้วจึงได้ออกตรวจค้นสถานที่ต่างๆต่อไป จะได้เล่าตั้งแต่เมืองออกไปหาที่ห่าง

สถานที่ทางทิศตะวันตกที่อยู่ใกล้เมืองที่สุดคือวัดป่ามะม่วง ออกจากเมืองทางประตูตะวันตก พอพ้นคูเมืองชั้นนอกไปมีถนนถมขึ้นมาทำนองถนนพระร่วงไปตลอดจนถึงวัดป่ามะม่วง ถนนนี้คงจะได้ทำเมื่อครั้งพระสังฆราชมาอยู่ ที่วัดนั้นมีอุโบสถหลังหนึ่งเสาเป็นแท่งกลมๆซ้อนกันดูท่าทางแน่นหนา ต่ออุโบสถไปทางตะวันตกมีฐานยกสูงขึ้นมีบัวรอบตัว ฐานนั้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมราว ๓ วาจัตุรัส มีเสาตั้งขึ้นไปทั้งสี่มุม เป็นเสาสี่เหลี่ยมประมาณ ๒ ศอกจัตุรัส บนฐานนั้นมีกากอิฐปูนกองอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นมณฑปมีพระปรางค์อยู่ในกลางโบสถ์นั้นติดกับมณฑป เพราะที่ผนังนั้นยังแลเห็นหลังคาระเบียงอยู่ ทั้งสองข้างมณฑปนั้นก่อด้วยอิฐ แต่โบสถ์ใช้แลง เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าไม่ได้ทำคราวเดียวกัน มณฑปนั้นคงได้ทำต่อเข้าไปภายหลัง แต่อย่างไรก็ดูน่าเชื่อว่าวัดป่ามะม่วงที่กล่าวถึงในหลักศิลาที่ ๒ นั้นคงจะอยู่ที่นี้ เพราะถ้าที่นี้ไม่ใช่ที่สำคัญ เหตุไฉนจะมีถนนมั่นคงตรงออกมาจากเมืองเช่นนั้น ต่อที่ตรงนั้นไปถนนก็หมด

ถามว่ายังมีมะม่วงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ได้ความว่าไม่มี จึงเข้าใจว่ามะม่วงเดิมนั้นก็คงจะเป็นมะม่วงบ้าน คือเอาไปปลูกที่นั้นคงจะได้ปลูกไว้แล้วแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหง เพราะในคำจารึกหลักที่ ๑ นั้น มีกล่าวถึงมะม่วงอยู่หลายแห่ง และคงจะได้ใช้ที่ป่ามะม่วงนี้เป็นที่ประพาสทรงพระสำราญของพระราชากรุงสุโขทัย ต่อมาจนถึงพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชก็โปรดปรานมาก เมื่อตรัสสั่งให้นายช่างหล่อรูปพระนเรศวร พระมเหศวร พระวิศณุกรรม รูปพระสุเมธวรดาบส พระศรีอาริย์ ทั้ง ๕ รูป ก็ได้ให้ไปประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน "เป็นที่พุทธบูชา ณ ตำบลป่ามะม่วง" เพราะฉะนั้นเมื่อได้ตรัสให้ไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชกับพระสงฆ์บริวารมาแต่นครจันทรเขตในลังกาทวีป จะจัดที่พักให้สำราญ จึงทรงพระราชดำริถึงป่ามะม่วง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่โปรดอยู่แล้วนั้นและมีรับสั่งให้สร้างกุฏิวิหารเสนาสนะขึ้นเรียบร้อย ภายหลังเมื่อสังฆราชมาจำพรรษาอยู่แล้ว เกิดทรงพระศรัทธาขึ้นมาเสด็จออกผนวช ก็ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามะม่วงนั้นเอง ดังมีข้อความแจ้งอยู่ในคำแปลหลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ ๒ นั้นแล้ว

มีปัญหาอยู่ข้อหนึ่งคือในคำแปลหลักศิลานั้นมีกล่าวไว้ว่า "พระองค์จึงรับสั่งให้ศิลปีนายช่าง ปลูกกุฏีวิหารระหว่างป่ามะม่วงอันมีในทิศประจิมเมืองสุโขทัย นายช่างได้ทำราบคาบปราบภูมิภาคเสมอแล้ว เททรายเกลี่ยตามที่ตามทางราวกับพระวิศณุกรรมมานฤมิตก็ปานกัน" ดังนี้ ดูตามข้อความนี้น่าจะเป็นวัดใหญ่โตมาก เหตุไฉนจึงมีชิ้นเหลืออยู่นิดเดียวแต่โบสถ์กับมณฑปเท่านั้น จะต้องตอบว่าเพราะไม่ได้ตั้งพระทัยให้เป็นวัดมั่นคง พระมหาสามีสังฆราชมาอยู่ก็เป็นการชั่วคราว การที่จะออกทรงผนวชก็เป็นการชั่วคราว เพราะฉะนั้นกุฎีและเสนาสนะคงจะทำด้วยไม้เป็นพื้น เพื่อจะได้รื้อถอนได้ง่าย และใช้ที่นั้นเป็นสวนสำหรับเที่ยวเล่นอย่างเดิม คงทิ้งไว้แต่โบสถ์สักหลังหนึ่งเป็นอนุสาวรีย์ต่อไป

ต่อจากนี้ไปในป่าทางประมาณ ๖ เส้น พบที่ซึ่งคนนำทางเรียกว่าวัดตึก ที่นี่มีเป็นเช่นวิหารตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ด้านละ ๕ วาเศษ มีเสา ๘ เสา คือที่มุมๆละเสา ระหว่างเสามุมอีกช่องละเสา เสาเหล่านี้เป็นแลงมีช่องเป็นสี่เหลี่ยมเจาะข้างๆซึ่งเข้าใจว่าสำหรับใส่กรอบลูกกรง ด้านหน้ามีประตูเข้าสองประตูรูปร่างที่นี่ชอบกลเป็นเหมือนบุษบกอะไรโปร่งๆ ส่วนกว้างไม่เท่าส่วนสูง ดูรูปร่างแปลกกับวิหารหรือมณฑปที่ได้เคยเห็นมาแล้ว พระวิเชียรปราการเดาว่าจะเป็นหอเทวาลัย อันเป็นที่ประดิษฐานรูปทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ พระวิเชียรปราการอ้างพยานคือ รูปของสถานนั้นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งว่าป่ามะม่วงนั้นเขตคงจะได้กินออกมาถึงที่ตรงนั้น และยังมิหนำซ้ำชี้ต้นมะม่วงให้อีก ว่ายังมีอยู่ข้างวิหารนั้น ๒ ต้น แต่หลักฐานดูยังน้อยอยู่ ข้อที่ว่าป่ามะม่วงเขตกินมาถึงแค่นั้น ก็อาจที่จะเป็นได้ ไม่น่าสงสัยเพราะห่างจากที่วัดป่ามะม่วงตั้งนั้นมาเพียง ๖ เส้นเท่านั้น อาจที่จะเป็นเขตวัดนั้นก็ได้เสียอีก แต่เขตวังยังยาวได้เป็น ๗ เส้นแล้ว แต่หอเทวาลัยนั้นข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ ว่าน่ากลัวจะทำด้วยไม้และจะสูญไปเสียนานแล้ว

ที่จริงทางด้านตะวันตกนี้ภูมิที่ดูน่าจะสนุก เพราะมีลำธารห้วยหนองและเนินเขาน่าเที่ยว "อรญญิก" ของ "พ่อขุนรามคำแหง" นั้น ที่จริงอยู่ข้างจะเป็นที่สำราญและน่าจะ "กทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญรยนจบปิฎกไตร" ที่ซึ่งยกให้มหาเถรสังฆราชนั้นคงจะเป็นที่ป่ามะม่วงนี้ด้วย เพราะฉะนั้น การที่พระเจ้าธรรมิกราชยกป่ามะม่วงให้เป็นที่อยู่พระมหาสามีสังฆราชนั้น ต้องเข้าใจว่าเดินตามแบบพระเจ้ารามคำแหงผู้เป็นปู่ แต่นอกจากที่ริมๆกำแพงเมืองยังมีที่ควรดูที่อยู่ห่างออกไปอีกหลายแห่ง

ที่ควรดูแห่งหนึ่งคือเขาพระบาทน้อย ซึ่งเป็นที่ราษฎรไปนมัสการกัน ทางไปในป่าและทุ่ง เลียบลำน้ำใหญ่ลำหนึ่งในฤดูแล้งแห้งหมด แลเห็นถนนตัดไปมาตามนี้หลายสาย คงจะได้ทำขึ้นครั้งพระเจ้ารามคำแหง เพราะมีข้อความปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลา "วันเดือนพีเดือนเตมท่านแต่งช้างเผือกกรพดดลยางท้ยนญ้อมทองงามทงงววาชื่อรูบาสี พ่ขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระพีหารอรญญิก" ดังนี้ ต้องเข้าใจว่าทางป่าแถบนี้เป็นที่เสด็จอยู่เนืองๆ ทางจากเมืองสุโขทัยไปถึงเขาพระบาทน้อยประมาณ ๑๐๐ เส้น เขานั้นไม่สู้สูงนัก ทางขึ้นก็ลาดสบายดีมีศิลาแดงเป็นแผ่นแบนๆวางเรียงกันเป็นถนนขึ้นไปถึงสันเขา มีเป็นลานก่อขึ้นไปมีบันไดขึ้น ๔ หรือ ๕ ขั้น บนนั้นมีพระเจดีย์ทรงจอมแห (คือชนิดที่มีอยู่ที่หน้าวัดชนะสงครามในกรุงเทพฯนี้) มีเป็นช่องกุฎี ๔ ทิศเหนือบัวกลุ่ม ทรวดทรงงามดี ควรถือเป็นแบบอันดีของพระเจดีย์ชนิดนี้ได้

ทางด้านตะวันออกของพระเจดีย์มีวิหารย่อมๆ หลังวิหารนี้มีเป็นแท่นติดกับฐานพระเจดีย์ ที่แท่นนี้มีศิลาแผ่นแบนแกะเป็นพระพุทธบาท ลวดลายลบเลือนเสียมาก เพราะหน้าผานั้นแตกชำรุด แต่พิจารณาดูตามลายเห็นได้ว่า ถึงแม้เมื่อยังไม่ชำรุด ลวดลายก็ดูเหมือนจะไม่สู้งามอะไรนัก ลงจากเนินที่ประดิษฐานพระเจดีย์ใหญ่น่าดูมาก เป็นรูปแปดเหลี่ยม เหลี่ยมหนึ่งถึง ๕ วา มุมมีย่อเป็นไม้สิบสอง ฐานนั้นมีบัวซ้อนเป็นชั้นๆขึ้นไป รูปพรรณสัณฐานงามมาก วัดจากพื้นดินขึ้นไปถึงบัวบน ๒ วา ๑ ศอก ต่อนี้ขึ้นไปพระเจดีย์ทลายเสียหมดแล้ว คงยังมีอยู่แต่กองดินปนกับแลงทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ แลเห็นทะลักทลายลงมา เห็นได้ชัดว่าจะได้มีผู้พยายามตั้งกองขุดกันอย่างสามารถ เพราะฉะนั้น รู้ไม่ได้แน่ว่าพระเจดีย์รูปจะเป็นอย่างไร พระยาอุทัยมนตรีสันนิษฐานว่าจะเป็นรูปทรงเตี้ยอย่างพระเจดีย์รามัญ ซึ่งชอบกลอยู่ เพราะสังเกตว่าถ้าเป็นรูปทรงที่มีทรงสูง น่าจะมีกองแลงที่ทำลายลงมากองอยู่กับดินนั้น เป็นกองใหญ่กว่าที่มีอยู่บัดนี้ อย่างไรๆพระเจดีย์นี้เห็นได้ว่าทำด้วยฝีมือประณีตบรรจงมาก รากก่อด้วยอิฐ แล้วต่อขึ้นไปเป็นแลงก้อนใหญ่ๆ ที่บัวและมุมก็ตัดแลงเป็นรูปให้เหมาะกับที่ต้องการ ไม่ใช่ประดับขึ้นแล้วปั้นบัวให้ถูกรูปด้วยปูน

ที่นี้คงจะเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยเสด็จมานมัสการแห่งหนึ่งเป็นแน่แท้ และพระเจดีย์องค์นี้นอกจากผู้มีอำนาจจะสร้างก็เห็นจะทำให้สำเร็จได้โดยยาก เพราะเฉพาะแต่ยกก้อนแลงเขื่องๆเท่านั้นซ้อนกันจนสูงได้เป็นหลายวาเช่นนั้น ก็ต้องใช้กำลังคนมากอยู่แล้ว ความประสงค์ของผู้สร้างคงจะให้พระเจดีย์นี้เป็นอนุสาวรีย์ เครื่องหมายแห่งความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยปรากฏอยู่ชั่วกาลนาน และทำก็แน่หนาพอที่จะหวังได้ว่าจะอยู่ไปได้หลายร้อยหลายพันปี การที่ทำลายลงครั้งนี้ก็มิใช่ทำลายลงเอง หากมีภัยอันร้ายยิ่งมาเบียดเบียน กล่าวคือความโลภของคน ฤทธิ์ของความโลภนั้นทำให้สิ้นความรู้สึกนับถือในพระสถูป ถึงกับทำลายสิ่งซึ่งเขาได้ทำไว้เป็นที่สักการะนั้นลง เพื่อค้นหาทรัพย์ซึ่งเข้าใจว่าได้ฝังบรรจุไว้ภายในนั้น ผู้ที่ได้ทำลายพระสถูปเช่นนี้ จะได้ทรัพย์สิ่งไรไปบ้างหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ แต่หวังใจว่าจะไม่ได้อะไรไปที่จะเป็นแก่นสารให้ได้ผลเพียงพอกับความลำบาก ถ้าคนเหล่านั้นได้ใช้ความเพียรพยายามและกำลังการที่ได้ใช้ทำลายโบราณวัตถุนั้นในทางที่ดีที่ควรแล้ว เมืองเราจะเจริญรุ่งเรืองหาน้อยไม่

กลับลงจากเข้าพระบาทน้อยแล้วได้เดินข้าไปดูวัดมังกร หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าวัดช้างล้อม ในนี้มีอุโบสถย่อมๆมีพระเจดีย์ย่อมๆรูประฆังมีรูปช้างแบกฐานเจดีย์ไว้โดยรอบ นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไร เข้าใจว่าคงจะมีผู้มาสร้างขึ้นในไม่สู้ช้านานมานัก

ออกจากวัดนี้เดินไปใน "อรญญิก" ของพระเจ้ารามคำแหง เลียบไปตามเชิงเขา ภูมิที่งามน่าเที่ยว เดินไปได้หน่อยก็เข้าป่ากาหลง ต้นกาหลงเต็มไปทั้งนั้น ตลอดไปจนถึงเชิงเขาวัดสะพานหิน จากเชิงเขาตรงลิ่วขึ้นไปจนถึงยอดมีถนนศิลาแผ่นบางบนถนนกว้าง ๓ ศอก ในตอนเชิงเขาก่อด้วยศิลา แผ่นแบนซ้อนกันหลายชั้นแน่นหนาเป็นค้นขึ้นไป สูงพ้นพื้นดินขึ้นไปถึง ๓ ศอกคืบ การที่ต้องเสริมถนนให้สูงเพียงนี้ คือประสงค์จะให้เดินไม่ชัน ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ต้องทำเป็นบันได เพราะที่เชิงเขาอยู่ข้างจะชันหักลงมาหาพื้นดินล่าง ถนนตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปที่ยังคงเหลืออยู่บัดนี้ยาว ๔ เส้น ๕ วา ๒ ศอก พวกที่ไปด้วยกันเดินบนถนนไม่ใคร่จะได้ เพราะสวมรองเท้าเหยียบกับศิลาลื่นชวนจะหกล้ม ที่ปลายถนนมีบันไดขึ้นไปบนลาน

บนยอดเขานั้นมีวิหารสูงมาก ในวิหารมีพระพุทธรูปยืน พระรัศมีหักเสียแล้ว แต่เช่นนี้ก็ดี วัดดูได้ความว่าสูงถึง ๖ วา คือสูงกว่าพระอัฏฐารศทศพลญาณที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯนี้ ๖ ศอก ส่วนวิหารนั้นก็สูงมิใช่เล่น และดูท่าทางจะสง่างามมาก เสาทำด้วยแลงแผ่นกลมซ้อนๆกัน แผ่นหนึ่งประมาณ ๑ ศอก วัดโดยรอบขอบนอกประมาณ ๕ ศอก วิหารนั้นไม่สู้ยาวนัก แต่เข้าใจว่าทำเปิดโปร่งๆไม่มีฝาทึบ มีผนังทึบแต่ที่หลังพระเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่จะดูพระคงไม่ต้องเข้าไปดูในที่ใกล้ๆจนแลไม่เห็นส่วน อย่างเช่นดูพระอัฏฐารศวัดสระเกศนั้น ที่นี้เข้าใจว่าตรงกับความที่กล่าวไว้ในคำจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า "ในกลางอรญญิกมีพีหารอนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามนัก มีพระอัฏฐารศอนนหนึ่งลุกยืน" เมื่อได้ไปดูแล้วก็ยอมว่าพระเจ้ารามคำแหงน่าจะอวดอยู่บ้าง(๒)

ออกจากวัดสะพานหินย้อนทางกลับไปดูวัดตระพังช้างเผือก ซึ่งอยู่ริมทางที่เดินไปเขาพระบาทน้อย วัดนี้ตั้งอยู่ข้างบึงหรือสระอันหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าตระพังช้างเผือก ในวัดมีอุโบสถย่อมๆอยู่หลังหนึ่ง แต่เสาเป็นแลงมีบัวปลายเสา ทำฝีมือพอดูได้ หลังอุโบสถออกไปทางตะวันตกมีเป็นฐานยกสูงพ้นดิน ฐานเป็นสองชั้น มีเสาแลงสี่มุมทั้งสองชั้น รวมเป็น ๘ เสาด้วยกัน ท่าทางชะรอยจะเป็นบุษบกโถงๆประดิษฐานพระปรางค์หรือพระพุทธรูป ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีพระเจดีย์เล็กๆองค์หนึ่ง กับมีเป็นกองๆอยู่อีก ซึ่งอาจเป็นเจดีย์แต่ทลายเสียหมดแล้ว ในเขตวัดนี้ได้พบศิลาจารึกแผ่นหนึ่งนอนทิ้งอยู่ในที่รก ยอดเป็นรูปมน ที่ฐานมีเป็นเดือยต่อลงไปสำหรับปัก แต่ไม่ปรากฏว่าได้เคยปักอยู่ตรงไหน วัดศิลานั้นดูได้ความว่า สูงแต่เดือยถึงยอด ๒ ศอกคืบเศษ กว้าง ๑ ศอก หนาประมาณ ๙ นิ้ว ส่วนเดือยนั้นยาวประมาณคืบกับ ๖ นิ้ว กว้างประมาณคืบกับ ๗ นิ้ว ศิลานี้ชำรุดแตกและตัวอักษรลบเลือนเสียมาก ได้จัดการให้ยกไปยังที่พักชำระล้างพอสะอาดแล้วตรวจดูอีกทีหนึ่ง

อักษรจารึกมีทั้ง ๒ หน้า เป็นอักษรขอมหน้าหนึ่ง อักษรไทยโบราณหน้าหนึ่ง ทางด้านอักษรขอมเป็นด้านที่จมอยู่ในดิน ตัวอักษรจึงไม่ใคร่จะลบเลือนยังอ่านได้ แต่ตัวอักษรขอมมีตัวที่แปลกๆนัยตาอยู่มาก จึงได้คัดตามตัวส่งเข้ามาถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรสเพื่อทรงอ่าน มาภายหลังท่านชี้แจงว่า คำจารึกนั้นเป็นคำนมัสการพระพุทธบาท ตัวอักษรที่ดูแปลกนัยตานั้นคือเขียนตามแบบอักษรรามัญ ทั้งตัวสะกดที่ใช้ในนั้นก็ผิดคลาดเคลื่อนอยู่หลายแห่ง เพราะฉะนั้น ทรงสันนิษฐานว่าผู้ที่จารึกไม่ใช่ผู้รู้หนังสือ เป็นแต่ได้คัดมาจากหนังสือฉบับใดฉบับหนึ่ง จึงได้คัดไปตามตำราของครูซึ่งอาจจะเป็นรามัญหรือเป็นผู้ได้ศึกษาในสำนักรามัญ เพราะในสมัยสุโขทัยโบราณนั้นนับถือพระรามัญกันมาก ว่าเป็นผู้ปฏิบัติใกล้อย่างพระในลังกาทวีป และยังสงสัยต่อไปอีกว่าพระมหาสามีสังฆราช ซึ่งกล่าวว่ไปจากลังกาทวีปนั้นน่าจะไม่ถูก น่าจะไปจากรามัญประเทศนั้นเอง

เมื่อคิดเทียบเข้าดูกับข้อความในพงศาวดารเหนือที่เล่าถึงเรื่องขุนการเวก และพระยาศรีธรรมราชาภูดาษราชวัตรเมืองอินทรภูดาษสินเมืองพรหม ยกกระบัตร นายเพลิงกำจาย นายชำนององครักษ์ นายหาญใจเพชร นายเผด็จสงคราม ทั้ง ๘ คนนี้เป็นข้าหลวงนำเครื่องบูชาไปถวายพระเมาลีเจดีย์ที่กรุงหงสาวดี "เมื่อจุลศักราช ๑๔๓ ปีชวดตรีศก" นั้น ก็ดูจะเป็นที่น่าเชื่ออยู่ว่าในสมัยนั้นไทยเราอยู่ข้างจะตื่นนิยมไปตามพวกรามัญมาก อย่างเช่นกรมหลวงวชิรญาณได้รับสั่งอธิบายนั้น

ส่วนคำจารึกในแผ่นศิลาวัดตระพังช้างเผือก ซึ่งเป็นอักษรไทยโบราณนั้นอ่านไม่ได้เรื่องราวติดต่อกันเลย เพราะหน้าศิลานั้นถูกฝนชะชำรุด ตัวอักษรที่จารึกลบๆเลือนๆไปเสียมาก ทั้งที่แตกหลุดเป็นชิ้นออกมาเสียบ้างก็มี ได้นั่งคลำอ่านกันอยู่เองเป็นนาน ทั้งพระครูเจ้าคณะเมืองสุโขทัย ผู้ได้เคยอักษรไทยโบราณอยู่มาก ก็ได้มาช่วยอ่านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ความอะไรกี่มากน้อย ที่ตอนต้นมีบอกวันเดือนและปี อ่านได้ความว่า "ศักราช ๑๒๙๖ ปีขาล" ต่อนั้นมาอยู่ข้างจะเลือนไม่เห็นถนัดว่าเดือนอะไรแน่ ไปอ่านออกต่ออีกว่า "๙ ค่ำ" แล้วก็เลยละลายไปอีก ในข้อความที่อ่านออกบ้างเป็นบางแห่งนั้นมีกล่าวถึง "ราชามหาธรรมม---(ชำรุด)---เสด็จสวรรคาไลยไปแล้ว---" ต่อไปอีกมีกล่าวถึง "หนางคำเมีย--" ไม่ปรากฏว่าเป็นเมียใคร อ่านไม่ออก แต่มีต่ำลงมาอีกว่า "วัดหนางคำ" อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเดาว่าเป็นวัดท่านผู้นี้สร้าง และน่าจะเป็นวัดตระพังช้างเผือกนั้นเอง นอกนั้นเลือนเหลือกำลัง ถ้าจะขืนอ่านให้ได้ความอีกก็จะต้องเสียเวลานานเกินกว่าที่จะยอมเสียให้ได้

แต่ศักราชกับข้อความที่กล่าวถึง "ราชามหาธรรมม" เสด็จสวรรคาไลยนั้น ทำให้เดาว่าคงจะกล่าวถึงพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิราช ซึ่งทรงพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตศรีสุริยพงษ์รามมหาธรรมิกราชาธิราช" หรืออีกนัยหนึ่งว่า "พระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตศรีตรีภพธรณีชิต สุริยโชติมหาธรรมิกราช" ดังนี้ เทียบดูศักราชปีที่พระมหาสามีสังฆราชมาจากลังกาทวีป มาอยู่ ณ วัดป่ามะม่วงเมืองสุโขทัยนั้น ผิดกับศักราชในแผ่นศิลาวัดตระพังช้างเผือกนี้ ๑๓ ปี จึงเห็นได้ว่าจารึกในสมัยเดียวกันกับหลักศิลาเมืองสุโขทัย ที่ ๒

แต่แผ่นศิลาวัดตระพังเผือกนี้ถึงแม้จะอ่านคำจารึกออกได้ยิ่งกว่าที่อ่านได้แล้ว ก็น่าจะไม่สู้มีข้อความอันใดที่จะเป็นเครื่องช่วยในการแต่งเรื่องราวของชาติไทยนัก สงสัยว่าจะกล่าวแต่ถึงเรื่องสร้าง "วัดหนางคำ" นั้นเป็นพื้น บางทีก็จะมีกล่าวแต่ถึงเรื่องเขาพระบาทน้อย และการก่อสร้างบนนั้นได้บ้าง คำนมัสการพระพุทธบาทที่จารึกไว้อีกหน้าหนึ่งนั้นทำให้นึกเดาต่อไปว่าจะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องไปถึงพระพุทธบาทบนเขา แต่จะถือเป็นหลักฐานนักไม่ได้ เพราะคำนมัสการนั้นอาจที่จะได้มีผู้ไปจารึกลงที่หน้าศิลาอันว่างอยู่ในการภายหลังก็เป็นได้

การตรวจค้นสถานที่ต่างๆใน "เบื้องตวนนตกเมืองสุโขทัย" ตามที่ได้เล่ามาแล้ว เห็นว่าดูได้ทุกประการตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพระเจ้ารามคำแหงนั้นแล้ว เป็นแต่สถานต่างที่สันนิษฐานไว้นั้นจะผิดไป เช่นนี้ก็เป็นอันจนใจอยู่เอง



..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๒


(๑) คำว่าอรัญญิก หมายความว่าท้องที่ที่ห่างบ้านผู้คนระยะทางพอพระเดินเข้าไปบิณฑบาตได้ ด้วยพระสงฆ์ถือธุระในพระศาสนาต่างกันเป็น ๒ พวก พวก ๑ ถือคันถธุระ คือเล่าเรียนพระไตรปิฎกและสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า มักอยู่ตามวัดในบ้านเมือง จึงเรียกว่า พระสงฆ์คามวาสี อีกพวก ๑ ถือวิปัสสนาธุระ คือบำเพ็ญภาวนา พอใจอยู่ที่สงัดห่างบ้านเรือนผู้คน มักอยู่ในวัดอรัญญิกข้างนอกเมือง จึงเรียกพระสงฆ์อรัญวาสี เมืองเชียงใหม่ก็มีที่อรัญญิกระหว่างเมืองกับเขาดอยสุเทพ แม้ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีวัดอรัญญิก เช่นวัดสระเกศ วัดราชาธิวาส และวัดราชสิทธิ์ เมื่อแรกสร้างกรุงฯก็ถือว่าเป็นวัดอรัญญิก

(๒) พระอัฏฐารศนั้นเอนไปข้างหลัง ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงพระศรัทธาให้ก่อกันล้ม และโปรดให้ปฏิสังขรณ์องค์พระที่ตรงชำรุดด้วย


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๓ เมืองสุโขทัย "เบื้องตวนนโอก"


พออ่านดูข้อความที่พระเจ้ารามคำแหงจารึกไว้ว่า "เบื้องตวนนโอกเมืองสุโขทัยนี้มีพีหาร มีปู่ครู มีทเลหลวง มีป่าหมาก มีป่าพูล มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าหมาก มีป่าขาม ดูงามดงงแกล้" ดังนี้ ก็ได้นึกอยู่ในใจว่าน่ากลัวจะหาชิ้นอะไรเก่งๆดูไม่ใคร่ได้ คงจะสู้ทาง "เบื้องตวนนตก" ไม่ได้เป็นแน่ อ่านดูถ้อยคำที่จารึกนั้นก็ปรากฏอยู่ว่า ทางตะวันออกนี้เป็นที่คนอยู่มาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ เชื่อได้ว่าเวลานั้นคงจะเป็นแถบที่คึกคักพอใช้ แต่ก็ยังไม่วายความเสียใจ ว่าในทางโบราณคดีจะไม่มีวัตถุใดซึ่งจะดูได้ให้เป็นประโยชน์ ถึงวัดวาอารามอะไรจะมีบ้างก็คงไม่สู้สำคัญนัก จึงได้กล่าวแต่รวมๆไว้ว่า "มีพีหาร มีปู่ครู" เท่านั้น ส่วนป่าหมากป่าพลูหรือไร่นาถิ่นถานบ้านใหญ่บ้านเล็กก็ดี หรือ "ป่าม่วง ป่าขาม" ถึงแม้ว่าในสมัยโน้นจะ "ดูงามดงงแกล้" หรืออย่างไรก็ดี ในเวลานี้เหลือที่จะค้นให้พบได้ แต่ครั้นว่าจะไม่ตรวจค้นเสียเลย ก็ดูเป็นการบกพร่องไป จึงได้ให้พระวิเชียรปราการเที่ยวตรวจค้นดูบ้าง เมื่อได้รายงานของพระวิเชียรเสียชั้นหนึ่งเเล้ว จึงได้พากันออกตรวจอีกคราวหนึ่ง

ทางเดินไปจากพลับพลาที่พัก(ออกนอกเมือง)ไปทางตะวันออกประมาณ ๒๐ เส้น มีเจดีย์สูงองค์หนึ่งกับวัดตระพังทองหลาง ที่เจดีย์สูงนั้นไม่มีอะไรนอกจากองค์พระเจดีย์ ซึ่งมีฐานก่อรูปย่อมุมไม้สิบสองรองกันขึ้นไปเป็นสามชั้น ประดุจฐานแว่นฟ้า บนฐานมีพระเจดีย์รูประฆังถูกขุดเจาะเสียเป็นช่องโตๆ ซึ่งเป็นของธรรมดาไม่แปลกกว่าแห่งอื่นๆที่ได้เห็นมาแล้ว ที่นี้ไม่มีอะไรที่จะชักนำให้สันนิษฐานต่อไป

แต่วัดตระพังทองหลางนั้น มีมณฑปกับวิหารแผนเดียวกับวัดศรีชุม ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนหน้าต่อไป แต่มณฑปกับวิหารที่วัดนี้ ย่อมกว่าที่วัดศรีชุมเป็นอันมาก ที่ผนังมณฑปข้างนอกมีเป็นซุ้มป้อมๆเช่นซุ้มหน้าต่างวัดเบญจมบพิตร มีลายกนกนาคบนครอบ ใต้ซุ้มในช่องคูหาตื้นๆปั้นเป็นรูปพระพุทธองค์ทรงสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ด้านใต้เสด็จลงบันไดจากดาวดึงส์ ด้านตะวันตกพระองค์ประทับยืนอยู่กลาง มีทวยเทพยนิกรแวดล้อมอยู่โดยรอบ ด้านเหนือเป็นรูปทรงพระดำเนินน มีอัครสาวกตามเสด็จองค์หนึ่ง(๑) ลวดลายและภาพอยู่ข้างจะดีอยู่ชะรอยจะเป็นวัดโบราณจริง เพราะฝีมือช่างยังไม่โทรม ถ้าเป็นวัดซึ่งทำขึ้นในชั้นหลังๆนี้ คงดูไม่ได้เป็นแน่ เพราะคนชั้นเราดูไม่รู้จัดของงามเสียแล้ว

ในระหว่างทางที่ไปจากเมืองสุโขทัย(เมืองเก่า) ไปเมืองธานี(เมืองใหม่)นั้น มีที่ตำบลหนึ่งเรียกว่าทุ่งหลวง เข้าใจว่าทุ่งหลวงนี้เองจะเป็นทะเลหลวงของพระเจ้ารามคำแหง(๒) คงมุ่งความว่าเป็นที่กว้างมีน้ำขังเป็นฤดูๆอย่างเช่นทุ่งเขางูที่ราชบุรี หรือท้องพรหมมาศที่ลพบุรีฉะนั้น ทั้งทุ่งหลวงนี้เเละทุ่งอื่นทางทิศตะวันออกแห่งเมืองเก่าและตลอดไปจนถึงเมืองใหม่ ยังมีไร่นาบริบูรณ์ดีอยู่ สมกับคำที่พระเจ้ารามคำแหงได้กล่าวไว้ แต่นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรจะดูอีกเลยในทิศตะวันออกนี้ ที่จะเป็นชิ้นอันเหลืออยู่ให้คนในกาลปัตยุบันนี้ดูต่อไป

แต่มีข้อควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือตามข้อความที่จารึกไว้ต้องเข้าใจว่าที่ตามแถบนี้มีน้ำบริบูรณ์ดี จนถึงมีทะเลหลวงได้ เดี๋ยวนี้น้ำกันดารเต็มที ถ้าในหน้าแล้งราษฎรที่อยู่ตามแถบทุ่งทะเลหลวงต้องเดินลงไปตักน้ำถึงที่ลำน้ำยมทางเกือบ ๓๐๐ เส้น นึกดูก็น่าเสียดาย ที่คนชั้นเก่าๆไม่ได้คิดเรื่องบำรุงน้ำเลย ถ้าได้จัดการทำทำนบและฝายเสียแล้ว เมืองสุโขทัยก็จะเป็นเมืองบริบูรณ์มั่งคั่งดีตั้งแต่พระเจ้ารามคำแหงตลอดมาจนกาลปัตยุบันนี้ได้



..........................................................................



อธิบายเพิ่มเติมในตอนที่ ๓


(๑) ลายปั้นที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง ต่อมาพิจารณาได้เรื่องภาพที่ปั้น คือด้านใต้นั้นเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาแล้วกลับจากดาวดึงส์สวรรค์ ด้านตะวันตกประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับพวกกษัตริย์ศักยราช ด้านเหนือเสด็จไปโปรดพระพิมพา

(๒) ทางด้านตะวันออกนี้ ตรวจพบสิ่งสำคัญเมื่อภายหลังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้อีกแห่ง ๑ เป็นรอยสระโตใหญ่รูปสัณฐานสี่เหลี่ยมรี มีพลับพลาที่ประทับอยู่ที่ริมสระเหมือนอย่าง "สระสรง" ที่นครธมเมืองเขมร ที่ในจารึกมิได้ระบุถึงสระนี้ จะมีชื่อเรียกว่า "ทะเลหลวง" ดอกกระมัง หรือมิฉะนั้นเมื่อในสมัยสุโขทัย (คือเมื่อ ๕๐๐ ปีมาแล้ว) ที่ลุ่มทางด้านนี้จะยังเป็นบึงใหญ่เรียกกันว่าทะเลหลวงก็เป็นได้


....................................................................................................................................................




 

Create Date : 26 มีนาคม 2550   
Last Update : 26 มีนาคม 2550 12:09:04 น.   
Counter : 2994 Pageviews.  


เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๑ ระยะทางเสด็จ และถนนพระร่วง

คำนำเมื่อพิมพ์ครั้งที่ ๒


หนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ แล้วโปรดฯให้พิมพ์เป็นพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ในเวลานั้นยังเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ได้เสด็จขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร เมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองอุตรดิตถ์ และเมืองพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงตรวจตราโบราณวัตถุสถานตามเมืองเหล่านี้อย่างถี่ถ้วน และสอบสวนเรื่องตำนานของเมืองเหล่านั้นอันปรากฏอยู่ในหนังสือเก่า มาทรงพระราชวินิจฉัยชี้แจงดังปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ ก่อนนั้นผู้อื่นมีน้อยตัวที่ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯในทางโบราณคดี พอหนังสือพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงพิมพ์ปรากฏ ก็เกิดความเห็นเป็นอันเดียวทั่วกันว่าทรงสามารถในการวินิจฉัยเรื่องโบราณคดีแต่นั้นมา และนับถือกันว่าหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงนี้ควรใช้เป็นตำรานำทางเที่ยวตรวจตราโบราณวัตถุที่เมืองพระร่วงดีกว่าหนังสือเรื่องอื่นๆอันมีมาแต่ก่อน และยังนับถือมาจนทุกวันนี้ ถ้าจะนับเวลาแต่แรกพิมพ์หนังสือเรื่องนี้ก็ได้ถึง ๒๐ ปี

บัดนี้พระยาอนุศาสน์จิตรกร(จันทร์ จิตรกร) จะปลงศพคุณหญิงชุ่ม อนุศาสน์จิตรกรผู้ภรรยา ปรารถนาใคร่จะพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง เป็นหนังสือแจกงานศพ ด้วยรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งยังเป็นหลวงบุรีนวราษฐ์ปลัดกรมข้าหลวงเดิม ได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งนั้นปรากฏนามอยู่ในพระราชนิพนธ์ตอนคำนำ ว่าได้ช่วยสนองพระเดชพระคุณเป็นผู้เขียนถ่ายแบบลวดลายของโบราณในเมืองพระร่วง พระยาอนุศาสน์จิตรกรมาหารือข้าพเจ้าๆอนุโมทนาทั้งในความรู้ส่วนโบราณคดี และส่วนตัวพระยาอนุศาสน์จิตรกร เพราะหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงยังใช้เป็นตำราของผู้ศึกษาโบราณคดีอยู่จนปัจจุบันนี้

แต่ว่าหนังสือนี้ได้พิมพ์มาช้านานถึง ๒๐ ปี ในระวางนั้นการตรวจตราโบราณคดีพบปะข้อความซึ่งควรจะเพิ่มเติม และควรจะอธิบายพระราชนิพนธ์ให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้นได้มีอยู่หลายอย่าง ข้อนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้แสดงพระราชประสงค์ไว้ในคำนำหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงว่า จะทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นโครงให้ผู้ตรวจตราภายหลังแก้ไขเพิ่มเติมตามความรู้ที่ได้พบเห็นขึ้นใหม่ให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าจึงรับธุระพระยาอนุศาสตร์จิตรกรที่จะตรวจและเพิ่มเติมความเรื่องนี้ตามพระราชประสงค์ ให้ใช้เป็นตำราต่อไปได้ดังที่เป็นมาแล้ว แต่ให้พระยาอนุศาสน์จิตรกรกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระบรมราชานุญาติเสียก่อน พระยาอนุศาสน์ฯจึงได้นำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตามประสงค์ ข้าพเจ้าจึงได้ตรวจตราทำอธิบาย แต่ลักษณะการตรวจข้าพเจ้าไม่อยากแก้ไขพระราชนิพนธ์โดยไม่จำเป็น จึงทำอธิบายหมายเลขเพิ่มเติมความไว้ข้างท้ายตอนดังปรากฏอยู่ในฉบับที่พิมพ์ใหม่

ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านทั้งหลายผู้ได้รับหนังสือเรื่องนี้ไปอ่านคงจะรู้สึกขอบพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งได้ทรงพระราชอุตสาหะตรวจตราและทรงพระราชนิพนธ์ จึงได้เกิดมีหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงให้เป็นประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ทั้งเชื่อว่าคงจะขอบคุณพระยาอนุศาสน์จิตรกร ซึ่งได้พิมพ์หนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วงฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ และอนุโมทนากุศลบุญราศีทักษิณานุประทาน ซึ่งพระยาอนุศาสน์จิตรกรบำเพ็ญนี้ด้วยทั่วกัน


(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ
นายกราชบัณฑิตยสภา
วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑




....................................................................................................................................................



พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อเสด็จประพาสหัวเมือง ท่ามกลางเหล่าข้าราชบริพาร ใกล้ชิดพระองค์




คำนำ (พระราชนิพนธ์)


ความประสงค์ในการพิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้น คือหวังจะให้เป็นหนทางที่ผู้ชำนาญในโบราณคดี จะได้มีโอกาสพิจารณาและสันนิษฐานข้อความเกี่ยวข้องด้วยเมืองสุโขทัย สวรรคโลก และกำแพงเพชร ต่อไป การสันนิษฐานโดยมิได้ตรวจพื้นที่หรือโบราณสถานนั้นย่อมเป็นการยากนัก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงหวังว่าหนังสือเล่มนี้อาจเป็นเครื่องช่วยในทางสันนิษฐานได้บ้างเล็กน้อย ข้าพเจ้าเองเคยรู้สึกอยู่ว่าที่แห่งใดไม่เคยไป ถ้าแม้ได้ฟังจากคืนอื่นซึ่งตังใจสังเกตมาเล่าให้ฟัง บางทีก็ทำให้เกิดความคิดขึ้นได้บ้าง ในหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าได้พยายามโดยเต็มสติปัญญาที่จะเล่าถึงสถานที่ต่างๆให้ละเอียดตามที่ได้เห็น

แต่ต้องขอแก้ตัวไว้ในที่นี้ว่าบางทีจะมีบกพร่องอยู่มาก เพราะประการหนึ่งเวลามีน้อยอยู่สักหน่อย เพราะฉะนั้นบางทีมาได้ข่าวถึงสถานที่สำคัญๆเมื่อเดินพ้นมาเสียแล้ว จะย้อนกลับไปก็ไม่มีเวลาเช่น เมืองเชียงทองพึ่งมาได้ข่าวมีเมื่อมาอยู่ที่สวรรคโลกแล้ว และถ้ำพระรามใกล้สุโขทัยซึ่งกล่าวถึงอยู่ในศิลาจารึก และซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่าจะไปแต่หาไม่พบ จนเมื่อมาอยู่ที่พิษณุโลกแล้วจึงได้ข่าวว่ามีดังนี้เป็นตัวอย่าง อีกประการหนึ่ง ตามสถานที่เหล่านี้ไม่ใคร่มีใครไป จึงเป็นการลำบากในการค้นหาเป็นอันมาก บางแห่งต้องหักร้างถางพงเข้าไป ไปกว่าจะถึงก็ยากนัก ซึ่งทำให้สงสัยอยู่ว่าตามในที่รกๆซึ่งยังเข้าไปไม่ถึงนั้นน่าจะมีสิ่งที่ควรดูอยู่อีกบ้าง

อนึ่งเมื่อก่อนจะไปนั้น ก็ไม่ใคร่ได้มีเวลาค้นหาหนังสือต่างๆที่เกี่ยวข้องในเรื่องเมืองสุโขทัย สวรรคโลก และกำแพงเพชรนี้มากนัก หนังสือที่ได้ใช้พอเป็นหลักอยู่ก็คือหนังสือคำจารึกหลักศิลาเมืองสุโขทัยหลักที่ ๑ (ของพระเจ้ารามคำแหง) หลักที่ ๒ (ของพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราช) หลักศิลาจารึกเมืองกำแพงเพชร กับหนังสือพงศาวดารเหนือ และพระราชพงศาวดารกรุงเทพทวารวาดีศรีอยุธยา ในจำพวกคำจารึกหลักศิลานั้น ในหลักที่ ๑ ได้แก่นสารมากที่สุด พระราชพงศาวดารกรุงเทพทวารวดีก็ช่วยได้บ้าง แต่พงศาวดารเหนือนั้น มีความเสียงใจที่จะต้องกล่าวว่าเลอะเทอะมากจนแทบจะไม่เป็นเครื่องอะไรได้เลย และเชื่อนักก็ชวนจะพาให้หลวงเสียด้วย แต่จะว่าไม่เป็นประโยชน์เลยนั้นไม่ได้ เพราะได้ความคิดจากพงศาวดารเหนือก็มากอยู่ เป็นแต่ต้องระวังไม่หลงเชื่อถือเป็นของมั่นคงหรือถูกต้องนักเท่านั้น

ข้าพเจ้าต้องขอกล่าวด้วยว่าข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะยกหนังสือนี้เป็นตำรับตำราอย่างใดเลย ประสงค์แต่จะตั้งโครงพอเป็นรูปขึ้นไว้ทีหนึ่ง เพื่อผู้ที่มีความรู้และพอใจในการตรวจค้นโบราณคดีต่างๆจะได้ตกแต่งแต้มเติมให้เป็นรูปอันงดงามดีขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าแม้ผู้ที่อ่านจะมีความเห็นไม่ตรงกับข้าพเจ้า ๆ จะไม่รู้สึกเสียใจเลย แต่ตรงกันข้าม ถ้าแม้ท่านผู้ใดมีความเห็นไม่ตรงกับข้าพเจ้าในข้อใด บอกชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบจะยินดีขอบคุณเป็นอันมาก และข้าพเจ้าจะรู้สึกว่าได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก

แต่นอกจากจะเล่าเรื่องไปดูโบราณสถานต่างๆให้นักเลงโบราณคดีฟังและออกความคิด หวังใจว่าหนังสือเล่มนี้จะมีผลอย่างอื่นบ้าง คือประการหนึ่งบางทีจะทำให้คนไทยรู้สึกขึ้นมาบ้างว่า ชาติไทยเราไม่ใช่ชาติใหม่ และไม่ใช่ชาติที่เป็นคนป่า หรือที่เรียกตามภาษาอังกฤษ "อันซิวิไลซ์" ชาติไทยเราได้เจริญรุ่งเรืองมามากแล้ว เพราะฉะนั้นควรที่จะรู้สึกอายแก่ใจว่า ในกาลปัตยุบันนี้อย่าว่าแต่จะสู้ผู้อื่น แม้แต่จะสู้คนที่เป็นต้นโคตรของเราเองก็ไม่ได้ ฝีมือช่างหรือความอุตสาหะของคนครั้งพระร่วงดีกว่าคนสมัยนี้ปานใด ถ้าอ่านหนังสือนี้แล้ว บางทีจะพอรู้สึกหรือเดาได้บ้างไม่มากก็น้อย ถ้าอ่านแล้วคงจะเห็นความเรียวของคนเราเพียงไร คนไทยโบราณมีแต่คิดและอุตสาหะทำสถานที่ใหญ่โตงดงามขึ้นไว้ให้มั่นคง คนไทยสมัยนี้มีแต่จะรื้อจะถอนของเก่าหรือทิ้งให้โทรม เพราะมัวหลงนิยมในของใหม่ไปตามแบบของชาวต่างประเทศ ไม่รู้จักเลือกสรรว่าสิ่งไรจะเหมาะจะควรใช้ในเมืองเรา สักแต่เขาใช้ก็ใช้บ้าง มีแต่ตามอย่างไปประดุจทารกฉะนั้น

อีกประการหนึ่งได้ยินอยู่มิได้หยุด ว่าคนไทยสมัยใหม่นี้พอมีเงินมีทองขึ้นสักหน่อยก็ต้องไปเที่ยว (เรียกว่าไปตากอากาศ) ในเมืองต่างประเทศ ถ้ายิ่งไปถึงยุโรปก็ยิ่งเป็นที่นิยมมาก แต่ถึงจะไปได้เพียงสิงคโปร์หรือปีนังหรือฮ่องกง ก็ดูออกจะพอๆคงมีเรื่องพูดอวดได้แล้ว ท่านเหล่านี้เห็นจะไม่ได้นึกเลยว่าในเมืองไทยของเราเองก็มีที่เที่ยวสนุกได้ เพราะฉะนั้นบางทีหนังสือนี้พอจะเป็นเครื่องเตือนได้บ้างกระมัง ว่าถ้าแม้อยากจะเที่ยวในเมืองไทยก็พอจะหาที่เที่ยวได้อยู่บ้าง

ยังในส่วนช่างของไทยเรา ซึ่งเวลานี้อยู่ข้างจะโทรมอยู่มากนั้น บางทีถ้าได้ดูรูปสถานที่และลวดลาย ซึ่งได้พยายามฉายรูปมาพิมพ์ไว้ในหนังสือนี้จะเกิดรู้สึกขึ้นได้บ้าง ว่าฝีมือช่างไทยเราได้เคยดีมาแต่โบราณแล้วหากมาทิ้งกันให้เลือนไปเองจึงได้โทรมหนัก และจึงได้พากันมัวหลงนึกไปเสียว่าวิชาช่างของเราเลวนัก ต้องใช้ตามแบบฝรั่งจึงจะงาม ที่จริงฝีมือและความคิดของเขากับของเราก็งามด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่งามไปคนละทาง ถ้าแม้จะใช้ของเขาก็ให้ใช้ทั้งหมด ใช้ของเราก็เป็นของเราทั้งหมด ที่น่ารำคาญนั้นคือใช้ปนกันเปรอะ เช่นมุงหลังคาโบสถ์ด้วยกระเบื้องสิเมนต์เป็นต้น ถ้านึกว่าฝรั่งเขาเห็นงามแล้วต้องแปลว่าเข้าใจผิดโดยแท้

ในที่สุดข้าพเจ้าขอขอบใจ ผู้ที่ได้ช่วยเหลือในส่วนตัวในระหว่างเวลาที่ตรวจค้นโบราณสถานต่างๆดังต่อไปนี้

พระยาอมรินทรฦๅไชย ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ พระยาอุทัยมนตรี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ท่านทั้งสองนี้ได้เอาใจใส่ช่วยตรวจค้นโบราณสถาน และวัตถุต่างๆ และได้สำแดงความเห็นหลายครั้ง พระวิเชียรปราการผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร ได้เป็นผู้ออกตรวจเป็นกองหน้า ซอกแซกค้นหาสถานต่างๆได้ดียิ่งกว่าผู้อื่น นับว่าเป็นกำลังมาก นายร้อยโทขุนวิจารณ์รัฐขันธ์ พนักงานแผนที่กรมเสนาธิการทหารบก ได้เป็นผู้ทำแผนที่ในเขตเมืองกำแพงเพชร สุโขทัย และสวรรคโลก กับถนนพระร่วงตลอด นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ขอขอบใจข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่ประจำอยู่ตามหัวเมืองในมณฑลนครสวรรค์ มณฑลพิษณุโลก กับหลวงภูวสถานพินิจ และพนักงานกองข้าหลวงเกษตรจัดการที่ดินมณฑลพิษณุโลก ในการที่ได้ช่วยเหลือในการตรวจค้นโบราณสถานและวัตถุต่างๆ และช่วยทำแผนที่สถานต่างๆที่ได้ไปดูครั้งนั้นด้วย

อนึ่งต้องต้องขอขอบใจพระศรีสุนทรโวหาร ในการที่จะได้ช่วยเป็นธุระในการพิมพ์แผนที่ต่างๆ ในสมุดนี้ และขอขอบใจนายจำนงราชกิจในการที่ได้เป็นผู้ช่วยจดข้อความต่างๆ และทั้งเป็นผู้อ่านตรวจที่พิมพ์ขึ้นนี้ ให้ถูกต้องตรงกับต้นร่างด้วย

ลายในที่ท้ายตอนในหนังสือเล่มนี้ หลวงบุรีนวราษฎร์ เป็นผู้เขียนถ่ายมาจากลวดลายต่างๆ ตามโบราณสถานที่ซึ่งยังมีเหลืออยู่แต่วัตถุต่างๆที่ได้ค้นหามาได้


(เซ็นพระปรมาภิไธย) ราม วชิราวุธ
สวนจิตรลดา
กันยายน ร.ศ.๔๑ ๑๒๗




..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในคำนำ

ตัวบุคคลที่ปรากฏนามในคำนำมีชื่อตัว และภายหลังได้เลื่อนบรรดาศักดิ์มีนามอื่นดังนี้

๑. พระยาอมรินทรฦๅไชย (จำรัส รัตนกุล) ภายหลังเลื่อนเป็น พระยารัตนกุลอดุลยภักดี
๒. พระยาอุทัยมนตรี (พร จารุจินดา) ภายหลังเลื่อนเป็น เจ้าพระยาสุรบดินทรฯ
๓. พระวิเชียรปราการ (ฉาย) ภายหลังเลื่อเป็นพระยาชันนฤนาท
๔. นายร้อยโทขุนวิจารณ์รัฐขันธ์ (นาค) ภายหลังเป็นหลวง
๕. หลวงภูวสถานพินิจ (ม.ร.ว. สนั่น)
๖. พระยาศรีสุนทรโวหาร (กมล สาลักษณ์) ปลัดทูลฉลองกระทรวงเกษตราธิการ (ซึ่งบัญชาการกรมทำแผนที่อยู่ในสมัยนั้น) ภายหลังเลื่อนเป็นพระยาศรีภูริปรีชา
๗. นายจำนงราชกิจ (บุญชู บุนนาค) ภายหลังเป็นพระยาอมรฤทธิธำรง
๘. หลวงบุรีนวราษฐ์ (จันทร์ จิตรกร) ภายหลังเป็นพระยาอนุศาสน์จิตรกร

....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ ที่ควรไปดูตามทางไปกำแพงเพชร

หนังสือนี้กล่าวถึงเรื่องไปเที่ยวเมืองพระร่วงก็จริง แต่ตามหนทางไปมามีที่ซึ่งควรดูหลายแห่ง ที่เหล่านี้ถึงแม้จะมิได้เป็นที่เกี่ยวข้องกับพระร่วงก็จริง แต่เป็นที่ควรดู เพราะมีเรื่องนับเนื่องเกี่ยวกันอยู่ในเรื่องของชาติไทย จึงเห็นว่าแม้จะกล่าวถึงบ้างก็ไม่สู้เสียเวลาอ่านมากนัก

ข้าพเจ้าออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ร.ศ.๔๐๑๒๖ โดยสารรถไฟไปจนถึงปากน้ำโพมิได้แวะแห่งใด ที่เมืองนครสวรรค์เองมีของโบราณที่ปรากฏอยู่คือค่ายสันคู ซึ่งมีแต่เทินดินและคูเหลือเป็นแนว ได้ทราบว่ายังพอเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ แต่หาเวลาตรวจตรานานไม่ได้ ทั้งไม่เชื่อว่าจะค้นพบอะไรที่เป็นหลักฐานหรือที่น่าดู จึงเลยไม่ได้พยายามต่อไป วันที่ ๖ มกราคม ออกจากนครสวรรค์ขึ้นทางแควน้อยโดยเรือแม่ปะ การเดินทางย่อมจะต้องช้าอยู่ เพราะจะต้องใช้ถ่อขึ้นไปตลอดทาง วันที่ ๘ จึงถึงที่ซึ่งมีของควรดู คือถึงบ้านหูกวาง จอดเรือที่ฝั่งตะวันตก

ของควรดูที่บ้านหูกวางนี้ ก็คือถนนที่ถมข้ามบึงหูกวาง เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเสด็จจับช้างที่นี้ ผู้ที่แม่นอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดีก็คงจะจำได้ว่า เมื่อปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๐๖๔ พระพุทธเจ้าเสือได้เสด็จโดยขบวนเรือขึ้นไปที่นครสวรรค์ ขึ้นตั้งตำหนักพลับพลาอยู่ตำบลบ้านหูกวาง แล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งค่ายปีกกาล้อมฝูงช้างเถื่อน ณ ป่ายางกองทอง และให้ตั้งค่ายมั่นสำหรับจะกันช้างเถื่อนเข้าจับนั้น ต่อนั้นมามีข้อความกล่าวไว้ว่า ในระหว่างค่ายหลวงที่ประทับ และค่ายล้อมช้างต่อกันนั้น มีบึงใหญ่หลวงขวางอยู่หว่างกลาง และทางเดินลัดตัดตรงไปค่ายล้อมนั้นต้องผ่าบึงใหญ่ไปจึงใกล้ ถ้าและจะเดินหลีกไปให้พ้นบึงนั้นจะมีระยะอ้อมวงไปไกลนัก จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ให้เป็นแม่กอง เกณฑ์คนถมถนนหลวงเป็นทางสถลมารคข้ามบึงใหญ่นั้นไปให้สำเร็จแต่ในเพลากลางคืน รุ่งสางขึ้นจะเสด็จพระราชดำเนินช้างพระที่นั่งข้ามไป ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นนั้น คือ ช้างพระที่นั่งไปตกหล่มกลางบึง และทรงพระพิโรธสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องราวที่คนโดยมากย่อมจำได้โดยแม่นยำ ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้

บ้านหูกวางนั้น ข้าพเจ้าทราบแล้วว่ายังมีอยู่ แต่ไม่เชื่อถนนข้ามบึงนั้นจะยังแลเห็นเป็นขอบคันอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ทราบข่าวจากพระยาอมรินทรฦๅไชยว่าได้ไปพบถนนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ตั้งใจที่จะไปดูให้จงได้ เพราะฉะนั้นพอมีโอกาสๆได้ขึ้นไปเที่ยวทางเมืองเหนือ จึงได้แวะที่ตำบลบ้านหูกวาง ขึ้นเดินจากฝั่งแม่น้ำไปประมาณ ๘ เส้นก็ถึงขอบบึงหูกวาง ถึงปลายถนนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเดินไปตามถนนเบ็ดเสร็จยาวประมาณ ๑๐ เส้น ยังพอเห็นเป็นคันได้ถนัด คะเนว่าถนนกว้างประมาณ ๑๐ วา ส่วนบึงนั้น ในเวลาที่ไปดูสังเกตยากว่าจะหมดเขตเพียงใดแน่เพราะเป็นเวลาน้ำแห้ง ในบึงเป็นดงแขมรกทั่วไป ทางด้านเหนือลุ่มมีน้ำขังอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ด้านใต้ดอนเสียหมด มีสิ่งที่พอจะเป็นเครื่องสังเกตได้ว่าแห่งใดเป็นบึง แห่งใดเป็นดอนนั้น คือในที่บึงมีแต่ต้นไม้ย่อมๆ ที่ดอนมีไม้เขื่องๆ คะเนว่าบึงนั้นทางยาวประมาณ ๑๐๐ เส้น กว้างประมาณ ๑๐ เส้น ตามขอบบึงด้านตะวันตกเฉียงใต้มีป่ายางสูง แลเห็นเป็นทิวไม้ตลอดไปจนต่อกับเนินทางทิศเหนือของบึง ซึ่งราษฎรเรียกชื่อว่า "เนินทอง" นี่คือกองทองที่กล่าวถึงในพงศาวดาร

ส่วนค่ายปีกกาซึ่งตั้งล้อมฝูงช้างเถื่อนครั้งนั้น น่าจะเดาว่าตั้งยาวไปตามขอบบึงทางตะวันตกเฉียงใต้ไปเนินกองทองทางด้านเหนือ ส่วนค่ายหลวงนั้นน่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของขอบบึง เพราะฉะนั้นจึงต้องทำถนนเป็นทางข้ามบึงลัดไปป่ายาง ถ้าค่ายตั้งทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเหนือของบึงคงจะไม่ต้องทำถนนลัด เพราะที่นั้นใกล้กองทอง เดินไปกองทองไม่ต้องอ้อมมากมายอะไร แต่ที่จะชี้ลงไปให้แน่นั้นย่อมเป็นการยากอยู่เอง เพราะค่ายคงจะทำด้วยไม้สำหรับใช้ชั่วคราวทั้งสิ้น

แต่ส่วนถนนนั้นถ้าจะพิจารณาดูก็เห็นว่า น่าจะสรรเสริญความอุตส่าห์ของผู้ทำ การที่ทำถนนกว้าง ๑๐ วา ยาว ๑๐ เส้นกว่า ให้แล้วเสร็จภายในคืนเดียวนั้น ถึงแม้ทำไปในที่ดอนและในฤดูแล้วก็ไม่ใช่การเล็กน้อยอยู่แล้ว นี่ยังต้องทำข้ามบึงและทำในฤดูฝน น้ำท่วมนองไปใช่แต่ในบึงทั้งในป่าด้วยฉะนั้น ทำให้เป็นงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า นึกดูก็น่าประหลาดที่ช้างพระที่นั่งไปตกหล่มลง ในพงศาวดารกล่าวว่าช้างพระที่นั่งไปตกหล่มที่กลางบึง ซึ่งเป็นที่ลุ่ม แต่เมื่อได้ไปดูถึงที่แล้ว จึงสังเกตได้ว่า ที่ตรงกลางบึงไม่ใช่เป็นลุ่มที่สุด ยังมีที่ลุ่มกว่านั้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าที่น้ำไหล เพราะในฤดูน้ำมีสายน้ำไหลข้ามที่ตรงนี้ ถึงในฤดูแล้วก็ยังเห็นว่าเป็นหล่มอยู่มากกว่าแห่งอื่น จึงทำให้คิดไปว่าบางทีจะเป็นแถบนี้เองกระมังที่ช้างพระที่นั่งมาตกหล่ม แต่ที่น้ำไหลนั้นไม่อยู่ที่ตรงกลางบึง อยู่ค่อนไปทางป่ายางทางปลายถนนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากขอบบึงทางประมาณ ๒ หรือ ๓ เส้น ตรวจค้นได้เท่านี้

เดินทางตั้งแต่บ้านหูกวางต่อขึ้นไป ก็ไม่มีอะไรที่จะพึงดูจนกระทั่งบ้านโคน ซึ่งได้ไปถึงเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม เวลาบ่าย ต่อเมื่อวันรุ่งขึ้น วันที่ ๑๔ มกราคม เวลาเช้าจึงได้ขึ้นบก ที่นี้มีปัญหาอยู่ว่า จะเป็นที่ตั้งเมืองเทพนครของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนหรือมิใช่ เพราะฉะนั้นจึงเห็นเป็นที่ควรขึ้นดูสักคราวหนึ่ง จากที่เรือจอดต้องเดินข้ามหาดทรายไปหน่อยหนึ่งก่อน แล้วจึงถึงที่ตลิ่งแท้ๆ บนตลิ่งมีหมู่บ้าน ดูแน่นหนาตา แต่ในชั้นต้นยังไม่ได้ดูหมู่บ้าน แต่ได้เดินเลยออกไปในป่า ซึ่งมิใช่ป่าสูง ต้นไม้ก็ไม่สู้ใหญ่นักพอเดินไปได้ร่มสบาย เดินไปได้ประมาณ ๒๐ เส้นก็ไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำขังอยู่เป็นห้วงๆ เมื่อแรกเข้าใจว่าจะเป็นคูเมือง แต่ถ้าเช่นนั้นแล้วหลังลำน้ำเข้าไปควรจะมีเทิน แต่เมื่อได้ข้ามคลองนั้นไปแล้วค้นดูไม่พบเทินหรือเนิน ที่รูปร่างพอจะเหยียดเป็นเทินได้เลย พระวิเชียรปราการชี้แจงว่าคลองนี้ออกไปต่อกับลำน้ำแควน้อย เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าเป็นลำน้ำเก่า ก็ดูชอบกลอยู่ เลยยอมเห็นตามด้วย

เดินต่อไปอีกถึงวัดซึ่งราษฎรเรียกว่า วัดกาทิ้ง ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงเรียกชื่อเช่นนั้น ทางตั้งแต่ท่าเรือมาประมาณ ๔๐ เส้น สังเกตว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าจริงและได้ซ่อมแซมหลายครั้ง มีอุโบสถย่อมก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ๆถูกขุดเสียป่นปี้แล้ว ที่พื้นอุโบสถซึ่งยกพื้นสูงเหนือพื้นดินราว ๒ ศอกนั้น ตรงกลางถูกขุดเสียจนเป็นบ่อลึกถนัด พระประธานก็พระเศียรหาย คงจะถูกทำลายเสียด้วยเหมือนกัน เสมาชัยหน้าโบสถ์ถูกถอนขึ้นมาล้มนอนอยู่ และที่ตรงที่ตั้งเสมานั้นเป็นหลุมลึก คงจะเป็นนักเลงเล่นพระพิมพ์ทำเสียเป็นแน่ ต่อโบสถ์ออกไปทางทิศตะวันออกมีวิหารกว้างขวางกว่าโบสถ์ตามแบบวัดโบราณ เสาระเบียงมีเหลืออยู่บ้าง และรักแร้ผนังยังอยู่มุมหนึ่ง วิหารนี้ในชั้นแรกใช้ก่ออิฐแผ่นใหญ่ กว้างยาวขนาดที่ก่อกำแพงกรุงทวาราวดี แต่จะบางกว่าสักหน่อยหนึ่ง แต่อิฐที่ใช้ซ่อมแซมในชั้นหลังนั้นเล็กเพียงขนาดที่ใช้ก่อตึกกันในบัดนี้ ส่วนเสาระเบียงนั้นใช้ก่อด้วยแลง พระประธานที่วิหารยังอยู่พอเห็นได้ พระพักตร์ยาวๆเช่นอย่างพวกพระกำแพงเพชร ไม่ห่างจากวิหารนักมีสระเล็กๆอยู่สระหนึ่งยังมีเสาปักอยู่ ๔ ต้น ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นเสาหอไตร เสานั้นยังบริบูรณ์ดีอยู่ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าที่วัดนี้น่าจะพึ่งร้างไปในไม่สู้ช้านัก คงจะพึ่งทิ้งเมื่อลำน้ำเก่าซึ่งผ่านไปริมวัดนี้เขินแห้งขึ้นมานั้นเอง

ออกจากวัดเดินต่อไป ข้ามลำน้ำเก่าบ่ายหน้าลงไปทางลำน้ำใหม่ มีหมู่บ้านซึ่งเรียกว่าบ้านโคนนั้น ตั้งแต่ริมน้ำเก่าตลอดลงไปจนถึงฝั่งน้ำแควน้อย สังเกตว่าบ้านเรือนตามแถบนี้แน่นหนา และปลูกไว้เป็นแถวสองข้างถนน ดูท่วงทีเป็นบ้านเป็นเมือง ทางที่ลึกเข้ามาจากลำน้ำแควน้อยมีบ้านเรือนห่างๆกัน แต่ยิ่งใกล้ลำน้ำลงไปบ้านเรือนยิ่งหนาเข้า มีสวนมีไร่ติดอยู่กับเรือนดูท่าทางมั่นคง ทั้งราษฎรในบ้านโคนนี้ก็ดูกิริยาเป็นชาวเมือง จะเปรียบกับกำแพงเพชรก็คล้ายกัน แลเห็นผิดกับราษฎรที่ได้พบแล้วตามทางที่ไปมาก ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ที่บ้านโคนนี้คงจะเป็นเมืองมาแต่โบราณกาล แต่หาคูหรือเทินและกำแพงไม่ได้เลย จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นเมืองชั่วคราว ซึ่งเจ้าแผ่นดินได้มาตั้งพักอยู่ในระหว่างที่จะเที่ยวหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ จึงทำแต่ค่ายระเนียดขึ้นไว้เป็นขอบเขต เมื่อสร้างเมืองใหม่แล้วยกราชสำนักไป ค่ายตรงนั้นก็รื้อหรือทิ้งให้โทรมไปเองโดยมิได้ซ่อมแซมอีก เพราะมิได้ตั้งใจให้เป็นที่ตั้งรับศัตรูต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะกินกับข้อความที่กล่าวในเรื่องต้นแห่งพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี ว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนได้สร้างเมืองเทพนครขึ้น ส่วนพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนซึ่งพงศาวดารกล่าวว่าเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองเทพนคร ๒๕ พรรษานั้น เข้าใจว่าคงจะคลาดเคลื่อน ถ้าแม้จะเดาแล้วข้าพเจ้าคงจะเดาว่า ข้อที่พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเสวยราชย์อยู่ได้ ๒๕ พรรษานั้น ถ้าจริงเช่นนั้นคงต้องนับรวมทั้งที่อื่นด้วย คือไม่ใช่สร้างเทพนครแล้วจึงเป็นเจ้า คงเป็นเจ้าอยู่แต่ก่อนแล้ว และที่มาพักอยู่ที่เมืองเทพนครนั้นคงจะไม่สู้นานนักก่อนสิ้นพระชนม์

ส่วนข้อที่ว่าท้าวอู่ทองมาจากไหนแน่ นั้นมีกล่าวกันอยู่สองทาง ทางหนึ่งว่าลงมาจากเมืองเชียงรายจึงเรียกราชวงศ์นั้นในพงศาวดารว่าวงศ์เชียงราย แต่อีกทางหนึ่งว่ามาจากเมืองสุพรรณหรือสุวรรณภูมิ และว่าพระนามพระเจ้าอู่ทองนั้นเองเป็นพยานอยู่ว่า เดิมเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิหรือท้าวอู่ทอง และเมืองท้าวอู่ทองเก่าเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ที่ใกล้เมืองสุพรรณบุรี การที่ท้าวอู่ทองต้องทิ้งเมืองสุวรรณภูมิ มาสร้างกรุงทวาราวดีขึ้นใหม่นั้น เพราะว่าเกิดห่าขึ้นในเมืองสุวรรณภูมิ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเหตุไฉนจึงยังมีกษัตริย์ครองเมืองสุพรรณอยู่ กล่าวคือขุนหลวงพงัว ซึ่งเป็นพระเชษฐาแห่งพระอัครมเหสีพระเจ้าอู่ทองนั้นเล่า ข้อนี้ชักให้ข้าพเจ้านึกสันนิษฐานเองว่า พระรามาธิบดีซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอู่ทองนั้น ตามความจริงหาได้เป็นกษัตริย์วงศ์พระพรรษาเมืองสุวรรณภูมิไม่ เป็นแต่ได้ราชธิดาพระพรรษาเป็นมเหสีเท่านั้น และบางทีเวลาที่ไปเป็นเขยอยู่นั้นจะได้เป็นอุปราชครองกึ่งพระนครตามแบบโบราณก็ได้ ครั้นเมื่อพระพรรษาสิ้นพระชนม์แล้ว ขุนหลวงพงัวผู้เป็นราชโอรสจึงได้ครองราชสมบัติสืบพระวงศ์มา ส่วนเรื่องราวที่มีปรากฏอยู่ว่าท้าวอู่ทองได้อพยพหนีห่านั้น อาจจะเป็นขุนหลวงพงัวหรือพระราชบิดาขุนหลวงพงัวก็ได้ ไม่จำจะต้องเจาะจงลงไปว่าเป็นองค์เดียวกับท่านที่ไปสร้างกรุงทวาราวดีภายหลัง ถ้าแม้ว่าท้าวอู่ทองที่หนีที่หนีจากสุวรรณภูมิเก่านั้น คือ พระรามาธิบดีที่ ๑ กรุงทวาราวดีแล้ว ก็น่าจะถามว่า ถ้าเช่นนั้นขุนหลวงพงัวได้คนที่ไหนมาสร้างสุพรรณใหม่ และต้องเข้าใจว่าพวกพ้องขุนหลวงพงัวไม่มีน้อยๆ ต้องมีมากจึงได้เข้ามาแย่งราชสมบัติพระราเมศวรได้

ข้าพเจ้าจึงค่อนข้างจะเชื่อว่าพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นเป็นวงศ์เชียงรายจริง ตามที่พงศาวดารกล่าวและเชื่อว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนได้ลงมาจากเชียงรายมาตั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่งทางแควน้อย ความประสงค์ของพวกเชียงรายก็คงจะอยากตั้งตัวขึ้นในทิศใต้ แต่พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเองยังมิทันจะเลือกชัยภูมิได้เหมาะก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงได้ตกมาเป็นหน้าที่ของพระเจ้าอู่ทองผู้เป็นราชโอรส เป็นผู้เลือกหาชัยภูมิสร้างกรุงทวาราวดีได้สำเร็จ ส่วนข้อที่ว่าชาวเชียงรายจะสามารถเดินลงมาถึงแควน้อยได้ โดยไม่ถูกสุโขทัยและกำแพงเพชรกีดกั้นขัดขวางนั้น ถ้าคิดดูถึงเรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนลงมาสร้างเมืองพิษณุโลกได้แล้ว เหตุไฉนพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนจะลงมาสร้างเทพนครทางแควน้อยไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าตามความจริงพวกเชียงแสน เชียงราย กับพวกสุโขทัย กำแพงเพชรก็เป็นไทยด้วยกัน และมีเกี่ยวดองกันอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นคงจะไม่สู้เกียดกันอะไรกันนัก(๑)

ในวันที่ ๑๔ มกราคม นั้น พอได้เดินดูที่บ้านโคนทั่วแล้วกลับลงไปกินข้าวที่เรือ แล้วก็ออกเรือ เดินทางสัก ๒ ชั่วโมงก็ถึงที่ตำบลวังพระธาตุ ที่นี้มีที่ซึ่งราษฎรตามแถบนี้เรียกว่าเมืองตาขี้ปม เมื่อไปครั้งหลังข้าพเจ้าหาได้ขึ้นไปดูไม่ เพราะได้ขึ้นไปดูแต่เมื่อครั้งเดินทางกลับมาจากเมืองมณฑลพายัพเมื่อ ร.ศ.๓๘ ๑๒๔ นั้นแล้ว ที่เรียกเมืองนั้น มีคูและเทินดินอย่างแบ่งออกเป็น ๓ ตอน มีเจดีย์ร้างอยู่ในที่นั้นแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ตรวจดูตลอดแล้วสันนิษฐานว่าเป็นค่ายเก่า แต่จะเป็นค่ายครั้งใดก็เหลือที่จะกำหนดลงมาเป็นแน่นอนได้ แต่เห็นว่าภูมิฐานไม่เป็นเมือง การที่เรียกกันว่าเมืองตาขี้ปมนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่คิดผสมเข้าภายหลัง

วันที่ ๑๕ มกราคม เวลาเช้า ๒ โมง ออกเรือจากวังพระธาตุพอบ่ายประมาณ ๒ โมง ก็ถึงเมืองกำแพงเพชร


..........................................................................


อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑


(๑) เรื่องเมืองโบราณที่บ้านโคนนี้ ต่อมาสอบได้ความว่าตรงกับเมือง "คณฑี" ที่ปรากฏในจารึกพ่อขุนรามคำแหง และในหนังสือจามเทวีวงศ์ เพราะฉะนั้นมิใช่เมืองเทพนคร ดังกล่าวในเรื่องเกร็ดข้างต้นหนังสือพระราชพงศาวดาร อนึ่งเมื่อถึงรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จประพาสถึงเมืองท้าวอู่ทอง ทรงพระราชวินิจฉัยเรื่องพระเจ้าอู่ทองว่าเห็นจะเป็นแต่เชื้อสายราชวงศ์เชียงราย มาได้เป็นราชบุตรเขยเลยได้ครองกรุงอู่ทอง แล้วหนีห่าไปตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ส่วนขุนหลวงพงัวนั้น ได้ครองเมืองสุพรรณอย่างเมืองลูกหลวงอยู่อีกเมืองหนึ่งต่างหาก เมื่อพระเจ้าอู่ทองย้ายไปตั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงได้เป็นใหญ่อยู่ทางเมืองเดิม

....................................................................................................................................................




 

Create Date : 25 มีนาคม 2550   
Last Update : 25 มีนาคม 2550 16:42:27 น.   
Counter : 4486 Pageviews.  



กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com