|
เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๒ ภูมิสถานกรุงสุโขทัย กับจารึกศิลา
 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
....................................................................................................................................................
ตอนที่ ๑ เมืองสุโขทัย - ตอนในกำแพง
การตรวจค้นดูสถานที่ต่างๆในเมืองสุโขทัยอยู่ข้างจะได้ความลำบากมาก รวมเบ็ดเสร็จได้มีเวลาตรวจค้นอยู่ ๘ วัน ที่เจ้าเมืองได้ถางไว้บ้างแล้วก็มี แต่ที่ต้องไปถางเข้าไปใหม่ก็มีเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การตรวจค้นจึงไม่ใคร่จะทั่วถึงนัก การที่ได้ทำครั้งนี้เปรียบเหมือนหักร้างถางพง ถ้าแม้นมีผู้มีความรู้ในทางโบราณคดีขึ้นไปดูเมืองสุโขทัยอีกคราวหนึ่ง เชื่อว่าคงจะสะดวกขึ้นอีกเป็นอันมาก และคงจะได้เค้าเงื่อนประกอบเรื่องราวได้ดียิ่งขึ้นกว่าที่มีอยู่ในหนังสือเป็นแน่ ที่จะได้กล่าวต่อไปนี้เล่าไปตามที่ได้เห็นและตามความคิดความสันนิษฐานประกอบบ้าง พอเป็นโครงให้ผู้ชำนาญในทางโบราณคดีตริตรองวินิจฉัยต่อไป
เมืองสุโขทัยนี้ วัดตามกำแพงเมืองชั้นในคงได้ความว่า ด้านเหนือและด้านใต้ ๔๔ เส้น ๑๕ วาเท่ากัน ด้านตะวันออกและตะวันตก ๓๗ เส้น ๕ วาเท่ากัน ถ้าจะวัดโดยรอบกำแพงรวมเป็น ๑๖๔ เส้น กำแพงชั้นในนี้ได้ตรวจสอบเป็นแน่นอนแล้ว แต่กำแพงชั้นกลางกับชั้นนอกหาได้มีเวลาวัดสอบไม่ แต่เมื่อได้ตรวจดูทั่วแล้วสันนิษฐานว่า กำแพงชั้นในเป็นกำแพงแท้ ยังมีแลงที่ก่อเหลืออยู่บ้างบางแห่ง ชั้นกลางกับชั้นนอกเป็นเทินดิน ตรวจดูในคำจารึกหลักศิลาของพระเจ้ารามคำแหงได้ความว่า "รอบเมืองสุโขทัยนี้ตรีไปได้ ๓๔๐๐ วา" คิดลงเป็นเส้นได้ ๑๗๐ เส้น จึงสันนิษฐานว่ากำแพงชั้นในเป็นกำแพงเดิมครั้งพระเจ้ารามคำแหง ชั้นกลางชั้นนอกคงได้เพิ่มเติมขึ้นต่อภายหลัง
ประตูเมืองซึ่งกล่าวไว้ในหลักศิลาว่ามีสี่ช่องนั้น ก็ค้นพบทั้งสี่ช่อง แต่หน้าประตูออกไปที่แนวกำแพงชั้นกลาง มีป้อมบังประตูอยู่ทั้งสี่ด้าน ซึ่งทำให้เข้าใจว่า เชิงเทินและคูชั้นกลางกับชั้นนอกนั้นน่าจะได้ทำขึ้นเมื่อตั้งใจรับศึกคราวใดคราวหนึ่ง(๑) แล้วเห็นว่าเป็นการมั่นคงดีจึงเลยทิ้งไว้เช่นนั้น ถ้ามิฉะนั้นคงจะไม่ทำป้อมบังประตู ซึ่งไม่ทำให้เมืองงามขึ้นเลย แต่ทำให้มั่นขึ้นเป็นแน่ ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ถ้าจะต้องตีเมืองเช่นนี้ก็จะไม่ใช่ตีได้ง่ายนัก
ส่วนที่ต่างๆซึ่งได้ไปตรวจดูนั้นมีเป็นอันมาก และตามความจริงได้ข้ามไปข้ามมาตามแต่จะค้นพบ ครั้นจะเล่าไปตามที่ไปดูเป็นรายวันไปก็จะพาให้ยุ่งนัก จึงได้คิดแบ่งออกเป็นตอนๆเก็บเรื่องราวของสถานที่ซึ่งอยู่ในจังหวัดใกล้เคียงกันไปรวมกันเข้าไว้กล่าวเป็นตอนในกำแพงเสียตอนหนึ่ง นอกกำแพงแยกออกไปตามทิศ พออ่านเข้าใจง่ายขึ้น จะได้จับกล่าวตอนในกำแพงเมืองก่อน
พอออกจากที่พักเข้าประตูเมืองด้านตะวันออกไปได้หน่อยถึงหมู่บ้านในเมือง (ซึ่งมีอยู่ ๓ หมู่บ้านด้วยกัน) บ้านนั้นตั้งอยู่ใกล้ตระพังทอง เป็นสระน้ำใหญ่อันหนึ่งในเมืองนี้ มีระหรือตระพังสามแห่ง คือตระพังทองอยู่ด้านตะวันออก ตระพังเงินอยู่ด้านตะวันตก สระพังสออยู่ด้านเหนือ วัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง ในคำจารึกหลักศิลาพระเจ้ารามคำแหงก็มีกล่าวไว้ว่า "ในเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำดรพงงโพยสีใสกินดีดงงกินน้ำโขงเมื่อแล้ง" ดังนี้ น่าจะกล่าวถึงตระพังเหล่านี้เอง แต่นอกจากตระพังทั้งสามนี้ นอกเมืองก็ยังมีอยู่อีกเป็นหลายแห่ง ซึ่งเห็นได้ว่าในเวลานั้นน้ำบริบูรณ์และถ้าแม้ได้รักษาการเรื่องน้ำนี้ไว้แต่เดิมมาแล้ว เมืองสุโขทัยจะไม่ต้องทิ้งร้างเลย
ที่ตระพังทองนั้นมีวัดเรียกว่า วัดตระพังทอง ทีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ กลางตระพังมีเกาะ บนเกาะนั้นมีพระเจดีย์ใหญ่อยู่กลางองค์หนึ่ง มีพระเจดีย์บริวารอีก ๘ องค์ พระเจดีย์ใหญ่ยังพอเป็นรูปร่างอยู่ คือเป็นรูประฆัง ข้างล่างเป็นแลงข้างบนเป็นอิฐ พระเจดีย์บริวารนั้นชำรุดเสียมากแล้ว ดูท่าทางบางทีจะเป็นวัดไม่สู้สำคัญนัก และน่าจะไม่สู้เก่านักด้วย ที่เกาะนี้พระยารณชัยชาญยุทธ(ครุธ) เจ้าเมืองสุโขทัยเก่า ซึ่งได้ออกบรรพชาเป็นสามเณรอยู่นั้น ได้มาสร้างกุฏิอาศัยอยู่ และในเวลาที่ไปดูวัดนั้นก็ได้เห็นโบสถ์ ซึ่งสามเณรรณชัยได้จัดการเรื่ยรายและกำลังสร้างขึ้น
จากวัดตระพังทองไปดูวัดร้าง ซึ่งราษฎรเรียกกันว่าวัดใหม่ จะเป็นวัดใหม่มาครั้งไรก็ไม่ปรากฏ วัดนี้มีคูรอบ ภายในจังหวัดคูนั้นมีที่กว้าง ๑ เส้น ๘ วา ยาว ๓ เส้น คูนั้นคงจะเป็นสีมา (สังเกตว่าวัดโบราณมีคูทั้งนั้น คงจะถือสีมาน้ำเป็นของมั่นคง) ที่บนเกาะนั้นมีวิหารรูปร่างชอบกล ตั้งอยู่บนลานยกพื้นพ้นดินขึ้นไปประมาณ ๔ ศอก มีบันไดขึ้น ตัววิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี กว้าง ๖ วา ยาว ๑๕ วา มีเสาใหญ่ๆรูปกลมก่อด้วยแลงแผ่นเล็กๆทางด้านตะวันออกและตะวันตก มีมุขเด็จทางด้านตะวันออกทลายเสียแล้ว แต่ทางด้านตะวันตกยังเป็นรูปร่างเรียบร้อยดี ยังแลเห็นบัวที่ฐาน บนมุขเด็จมีพระปรางค์ย่อมๆตั้งอยู่ หน้าตาเป็นมุขเด็จปราสาทที่วิหารด้านเหนือนอกแนวเสาออกมา มีผนังปูนเกลี้ยงๆ ที่ผนังมีหน้าต่างช่องใหญ่ๆรูปสี่เหลี่ยมเหมือนหน้าต่างโบสถ์สมัยปัจจุบันนี้ พอแลเห็นหน้าต่างก็เดาว่าเป็นชิ้นใหม่ ครั้นพิจารณาดูพอจะสังเกตได้ ว่าผนังวิหารตลอดถึงเสาบุษบกที่มุขเด็จ และพระปรางค์ที่เป็นมุขเด็จนั้น เป็นของเพิ่มเติมขึ้นใหม่ทั้งสิ้น ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ เสริมขึ้นไปบนฐานแลงของเดิม ฐานชุกชีที่รองพระประธานก็เป็นชิ้นที่เติมขึ้นภายหลัง และเห็นได้ชัดเจนที่ตรงรอยต่อกับเสาเดิมไม่สนิท เป็นพยานอยู่ว่าทำคนละคราว
พอจะเดาต่อไปว่า วิหารนี้คงทิ้งร้างอยู่ แล้วมีผู้มาปฏิสังขรณ์ขึ้นคือตอนที่ทำอิฐด้วยนั้น และโดยเหตุที่ไม่รู้จักนามวัด จึงได้เลยเรียกว่าวัดใหม่ต่อมา วัดนี้พระยาอุทัยมนตรีได้แกความเห็นว่า จะเป็นที่วังเดิม และวิหารนั้นจะเป็นปราสาท การที่คิดเช่นนี้ก็เพราะเห็นเป็นมุขเด็จนั้นเอง แต่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย เพราะตั้งแต่ได้ดูวังในเมืองโบราณมาหลายแห่งแล้ว ยังไม่เคยพบปราสาทราชฐานทำด้วยแลงหรืออิฐเลย (ยกเสียแต่ที่กรุงทวาราวดี และลพบุรีซึ่งนับว่าเป็นสมัยใหม่กว่าเสียแล้ว) ข้าพเจ้าเชื่อว่าปราสาทราชฐานอะไรคงจะทำด้วยไม้ทั้งสิ้น(๒) วิหารวัดใหม่นั้นถ้าแม้จะเป็นปราสาทก็ดูซอมซ่อเต็มที ทั้งที่ทางก็ดูไม่สู้เหมาะแก่การที่จะทำเป็นวังนัก จึงเข้าใจว่าน่าจะได้ตั้งใจทำเป็นวัดมาแต่เดิม
จากวัดใหม่ได้ไปที่วัดซึ่งราษฎรเรียกกันว่า วัดตะกอนบ้าง วัดตาควนบ้าง สงสัยว่าบางที่ทีถูกจะเป็นวัดตระกวน(ผักบุ้ง) เรียกตามชื่อถาษาเขมรซึ่งปรากฏอยู่ว่าได้ใช้ในเมืองสุโขทัย สมัยพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราชนั้น ที่วัดตระกวนนี้มีพระเจดีย์ใหญ่ตั้งโดดองค์เดียว กับมีโบสถ์อยู่ทางทิศตะวันออกด้วยหลังหนึ่ง ที่นี้ไม่สู้มีอะไรประหลาดนักในส่วนพื้นที่ แต่ได้พบหัวมังกรทิ้งอยู่หัวหนึ่ง หน้าตาเป็นมังกรไทย ทำด้วยดินเผาเคลือบสีขาว มีลายดำอย่างชามสวรรคโลก เข้าใจว่าคงจะใช้ครอบปลายราวบันไดเป็นเช่นหัวบันไดนาค มีท่อนตัวต่อๆขึ้นไปจนถึงท่อนหางเป็นที่สุด ได้ความว่าหัวมังกรเช่นนี้มีทิ้งอยู่ตามวัดร้างๆ โดยมากมีขนาดต่างๆกัน จึงต้องเดาว่าคงจะใช้เป็นราวบันได้บ้าง เป็นเครื่องประดับบ้าง เช่นช่อฟ้า ในระกา เป็นต้น
ต่อจากวัดตระกวนไปทางด้านเหนือ ห่างประมาณ ๑๐ เส้น มีศาลเทพารักษ์ใหญ่ ราษฎรเรียกกันว่าศาลตาผ้าแดง เป็นรูปปราสาทก่อด้วยศิลาแลงก้อนเขื่องๆ เหทมือนปราสาทหินที่พิมายและลพบุรี เครื่องบนพังลงมาเสียหมดแล้ว แต่เห็นได้ตามรูปว่าคงทำเป็นยอกปรางค์ ก่อด้วยแลงล้วนไม่ได้ใช้เครื่องไม้เลย ด้านหน้ามีมุขยาวออกมา ด้านหลังทลายเสียแล้ว แต่สังเกตดูว่าคงมีมุขเหมือนกัน แต่ไม่ยาวเท่าด้านหน้า ตัวหลังกลางนั้นมีย่อมุมไม้สิบสองยังแลเห็นได้ชัดอยู่ ตรวจดูในที่ใกล้โดยรอบไม่พบชิ้นอะไรอื่นอยู่ใกล้เคียงจนชั้นระเบียงหรือคดก็ไม่มี จึงนึกเดาว่าคงจะไม่ใช่เทวสถานที่ใช้เป็นโบสถ์พราหมณ์ คงจะเป็นศาลเทพารักษ์เช่นศาลพระเสื้อเมืองทรงเมือง เชื่อว่าคงจะเป็นของสำคัญและเป็นที่นับถือในกรุงสุโขทัยโบราณ จึงได้ทำแน่นหนาและด้วยฝีมืออันปราณีตเช่นนี้(๓)
ต่อนี้ได้ไปที่วัดกลางเมือง ซึ่งเรียกกันว่าวัดใหญ่บ้าง วัดมหาธาตุบ้าง ที่วัดนี้ได้ตรวจเทียวไปเทียวมาหลายครั้ง กว่าจะจับเรื่องราวลงร่องรอยเรียบร้อยดี เพราะเป็นวัดใหญ่และมีการก่อสร้างอยู่ในนี้มาก พระเจดีย์วิหารต่างๆและกุฏิเล็กกุฏิน้อยนับไม่ถ้วน พระพุทธรูปก็มีทุกท่าทาง นั่งยืนนอน ชิ้นสำคัญที่สุดในวัดนี้คือพระมหาธาตุเจดีย์สูงตระหง่านอยู่กว่างสิ่งอื่น ทำยอดเป็นปรางค์ชะลูดเรียวงามดีและแปลกนัยตาหนักหนา(๔) มีฐานเป็นชั้นๆลงมาจนถึงลานบน ซึ่งมีบันไดขึ้นอย่างพระปรางค์วัดอรุณ แต่บันไดปรักหักพังเสียสิ้นแล้ว ที่ลานชั้นบนเป็นเช่นวิหารทิศทั้งสี่ด้าน มีซุ้มมีลายจำหลักงามๆมาก ทั้งที่ฐานพระมหาธาตุเองก็มีลวดลายจำหลักไว้อย่างวิจิตร ด้านตะวันออกแห่งพระมหาธาตุมีวิหารหลวงเก้าห้อง*ใหญ่ยาวมาก ขนาดวิหารพระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลก หรือจะเขื่องกว่าเสียอีก เสาทำด้วยแลงก้อนเขื่องๆมีเป็นสี่เเถว วิหารนี้เดิมเป็นที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนี ซึ่งได้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดสุทัศน์อยู่จนทุกวันนี้
คิดดูว่าเมื่อพระศรีศากยมุนีประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงวัดมหาธาตุนี้ คงจะแลดูงามเป็นสง่ายิ่งนัก เพราะประการหนึ่งวิหารนั้นยาว พอที่จะพิศดูพระได้เต็มพระองค์ และอีกประการหนึ่งพระองค์จะตั้งอยู่เตี้ยๆ เพราะฉะนั้นคงจะดูได้ดีกว่าที่จะดูที่วัดสุทัศน์เดี๋ยวนี้ วิหารที่วัดสุทัศน์ส่วนยาวไม่พอประการหนึ่ง และพระก็ประดิษฐานไว้สูงนักอีกประการหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเข้าไปดูทำให้เสียงามไปเป็นอันมาก
วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยนั้น เห็นได้ว่าเป็นวัดสำคัญอย่างยิ่ง มีกำแพงและคูล้อมรอบ เขตวัดกว่าง ๕ เส้น ยาว ๕ เส้น ๔ วา มีสระใหญ่อยู่ ๓ สระ มีสระเล็กอีกหลายสระ ถ้าจะเปรียบกับกรุงทวาราวดีก็คงเป็นอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ ติดอยู่กับวังซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไปข้างหน้า วัดนี้เข้าใจว่าคงจะเป็นวัดเก่า ตรวจดูคำจารึกหลักศิลาพระเจ้ารามคำแหง มีข้อความอยู่ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหารมีพระพุทธทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอนนใหญ่มีพระพุทธรูปอนนราม มีพิหารอนนใหญ่มีพิหารอนนราม มีปู้ครูมีสังฆราช มีเถร มีมหาเถร" ดังนี้ ดูก็น่าจะสันนิษฐานว่ากล่าวถึงวัดมหาธาตุนี้ "พิหารมีพระพุทธรูปทอง" นั้น น่าจะเป็นวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานพระศรีศากยมุนี "พระอัฏฐารศ" นั้นแปลว่าพระยืนซึ่งมีอยู่ในวัดมหาธาตุหลายองค์ "พระพุทธรูปอนนใหญ่ พระพุทธรูปอนนราม(งาม)" หรือ "พิหารอนนใหญ่ พิหารอนนราม" นั้นก็มีอยู่มาก แต่ข้อที่ท่านพวกปู่ครูสังฆราช เถรและมหาเถร จะได้มีอยู่ในวัดดนี้บ้างหรือไม่นั้น เป็นอันเหลือเดา(๕)
ในหลักศิลาของพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราช มีกล่าวถึงการหล่อพระพุทธรูปสัมฤทธิ์เท่าพระองค์ ทรงกระทำมหกรรมการฉลองพระนั้นแล้ว ประดิษฐานไว้กลางเมืองสุโขทัยโดยบุรพทิศด้านพระมหาธาตุนั้น แต่ในเรื่องนี้จะได้งดไว้กล่าวถึงต่อเมื่อเล่าถึงวัดสังฆวาสต่อไป
อนึ่ง วัดมหาธาตุนี้ราษฎรนับถือกันว่าเป็นที่สำคัญนัก เพราะกล่าวว่าเป็นที่พระร่วง(นายส่วยน้ำ)ได้มาทรงผนวชอยู่ ยังมีสิ่งที่ชี้เป็นพยานกันอยู่ คือขอมดำดิน ซึ่งตามนิทานว่าดำดินมาแต่นครธม มาโผล่ขึ้นในลานวัดกลางเมืองสุโขทัยเพียงแค่อก เห็นพระร่วงซึ่งผนวชเป็นภิกษุกวาดลานวัดอยู่ ขอมไม่รู้จักจึงถามหาพระร่วง พระร่วงก็บอกว่าให้ขอมคอยอยู่ก่อน จะไปตามพระร่วงมาให้ กายขุนขอมก็เลยกลายเป็นศิลาติดอยู่ที่ลานวัดนั้นเอง ก้อนศิลาซึ่งสมมติเรียกกันว่าขอมดำดินนี้ อยู่ในลานพระมหาธาตุข้างด้านใต้ ที่ยังแลเห็นได้นั้นเป็นรูปมนๆคล้ายหัวไหล่คน ถ้าแม้ต่อศีรษะเข้า ก็พอจะดูคล้ายรูปคนโผล่ขึ้นมาจากดินเพียงหน้าอกได้ ศิลานั้นเบียดอยู่กับฐานพระเจดีย์องค์หนึ่ง แต่บัดนี้พระเจดีย์นั้นพังเสียมากแล้ว ตึงเห็นศิลานั้นได้ถนัด
เมื่อแรกเห็นอยากจะใคร่เดาว่าเป็นศิลาจารึกอะไรสักอย่างหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจึงเห็นว่าเป็นศิลาเกลี้ยงๆอยู่ ยิ่งเป็นที่พิศวงยิ่งขึ้น ว่าเหตุไฉนจึงเอาก้อนศิลาเช่นนี้มาฝังไว้ในที่นี้ อย่างไรๆก็ชื่อว่าไม่ใช่ศิลาที่เกิดอยู่ในพื้นที่นั้นเอง เพราะที่อื่นๆก็ไม่เห็นมีก้อนศิลาเช่นนั้น จึงต้องเข้าใจว่ามีผู้นำมาปักไว้ จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้นว่าเอามาปักไว้ทำไม นึกอยากจะเดาว่ามาปักไว้ทำหลักเมือง เพราะที่ตรงนั้นก็ดูเป็นที่เกือบจะกลางเมือง การที่เข้าไปอยู่ในเขตวัดเช่นนั้นก็มีหนทางที่อาจจะเป็นไปได้ทางหนึ่ง คือพระเจ้ากรุงสุโขทัยองค์ใดองค์หนึ่งจะใคร่สร้างวัดที่ไว้พระมหาธาตุเลือกได้ที่เหมาะกลางเมือง จึงสร้างลงไปริมหลักเมืองซึ่งไม่เป็นที่ขัดข้องประการใด เช่นที่เมืองเชียงใหม่หลักอินทขิลบัดนี้ก็อยู่ในเขตวัดเจดีย์หลวง แปลความว่าหลักตั้งอยู่ก่อน วัดตามไปภายหลัง ที่นี่ก็อาจจะเป็นได้เช่นเดียวกัน
แต่ทางทิศเหนือวัดมหาธาตุริมวัดที่เรียกกันว่าวัดชนะสงครามนั้น มีสถานอันหนึ่งซึ่งราษฎรเรียกว่าศาลกลางเมือง ได้แต่ให้พระวิเชียรปราการไปตรวจดูก่อน บอกว่าเข้าใจว่าจะเป็นหลักเมือง ครั้นไปดูเองภายหลังก็ลงเนื้อเห็นด้วย คือมีเป็นเนินอยู่เฉยๆก่อน แต่ครั้นให้ถางและขุดลงไป จึงได้เห็นท่าทางพอเดาได้ ว่ามีเสาแลงตั้งขึ้นไปทั้ง ๔ หลุม มีมุมละ ๒ เสาซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ที่ตรงกลางเนินมีหลุมซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นหลุมที่ฝังนิมิต ในหลุมนั้นมีศิลาแผ่นแบนทิ้งอยู่แผ่นหนึ่ง แต่แตกแยกเป็นสองชิ้น ตรวจดูศิลานั้นก็แลเห็นเป็นลายอะไรเลือนๆ จึงเหลือที่รู้ได้ว่าเป็นอะไร บางทีจะเป็นแผ่นศิลาที่ลงดวงของเมืองก็ได้ แต่ถูกขุดชำรุดและถูกฝนชะจนลายหรืออักษรลบเลือนไปเสียสิ้นแล้ว รูปร่างสถานที่นี้เดิมคงมีหลังคาเป็นสี่เหลี่ยม และมีเพิงรอบ ดังสันนิษฐานได้ตามเสาที่เหลืออยู่ ท่าทางก็ทีจะเป็นหลักเมืองได้
แต่ถึงแม้ที่นี้จะเป็นหลักเมือง ก็ยังไม่ลบล้างข้อความที่สันนิษฐานเรื่องศิลาขอมดำดิน คืออาจที่เดาต่อไปว่า ครั้นเมื่อได้สร้างวัดมหาธาตุลงที่ริมหลักเมืองเดิมแล้ว ท่านต้องการจะขยายลานให้กว้างออกไป และต้องการทำการโยธาต่างๆในวัดนั้น ท่านจะเกิดรู้สึกขึ้นมาว่าการที่หลักเมืองมาอยู่ตรงนั้นกีด จึงคิดอ่านย้ายไปไว้เสีแห่งอื่นให้พ้น แต่หลักศิลาที่ปักไว้เป็นเครื่องหมายเดิมนั้นท่านไม่ได้ย้ายไป เพราะตัวหลักไม่เป็นของสำคัญ สำคัญอยู่ที่นิมิตต่างหาก หลักเป็นเพียงเครื่องหมายให้ปรากฏว่าฝังนิมิตไว้ตรงไหนเท่านั้น เมื่อท่านได้ขุดเอานิมิตไปฝังไว้ที่แห่งอื่นแล้ว หลักนั้นก็เป็นหลักเหลวๆอยู่ลอยๆไม่เป็นหลักเมืองต่อไป การที่คิดไปว่าหลักเมือง คือหลักศิลาหรือไม้ปักให้แลเห็นปรากฏอยู่นั้นเห็นว่าเป็นการเข้าใจผิด เพราะได้ยินเรียกว่า "หลักเมือง ๆ" ก็เลยจับเอาคำหลักนั้นมาถือมั่นว่าหลักเมืองจำต้องเป็นหลักทำด้วยไม้หรือศิลาปักแต้อยู่ ตามความจริง "หลัก" ไม่ได้แปลได้เฉพาะแต่ว่าเสา "หลัก" จะแปลว่ามั่นก็ได้ เช่นคำที่เรียกผู้นั้นผู้นี้เป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าผู้นั้นๆเป็นเสาเลย หมายความว่าเป็นคนสำคัญมั่นคงต่างหาก
ถ้าแม้จะเกิดปัญหาขึ้นว่า ไหนๆท่านจะย้ายเอาหลักเมืองสุโขทัยกันทั้งทีแล้ว ท่าจจะชะลอเอาศิลาที่หมายไปด้วยไม่ได้หรือ ต้องตอบว่าก็คงได้แต่ค่อนข้างจะลำบาก เพราะศิลาขอมดำดินนั้นไม่ใช่เล็ก โตกว่าอ้อม ที่ฝั่งอยู่ในดินเดี๋ยวนี้ราว ๒ ศอก ในกาลบัดนี้ปลายอยู่เพียงเสมอพื้นดิน แต่พิจารณาก็เห็นรอยถูกต่อยมาก พระยาอุทัยมนตรีสืบได้ความมาจากคนชราที่อยู่ใกล้ที่นั้นว่า ได้เคยเห็น "ขอม" นั้นสูงพ้นดินขึ้นมากกว่าศอก และได้ความว่าชาวเมืองพอใจต่อยเป็นชิ้นเล็กๆไปฝนเข้ากับยา นิยมกันว่าทีรสทั้งเปรี้ยวทั้งหวานทั้งเค็ม เป็นยาอย่างประเสริฐนัก ว่าแก้โรคภัยต่างๆได้สารพัด ได้นิยมกันมาเช่นนี้ช้านานแล้ว ยังมาตอนหลังผู้มาเที่ยวชอบต่อยชิ้น "ขอม" ไปเป็นที่ระลึกอีก และ "ขอม" นั้นก็เป็นศิลาแดงต่องง่าย เพราะฉะนั้น "ขอม" จึงเหลืออยู่น้อยเท่านี้ แต่บัดนี้ผู้ว่าราชการเมืองได้ประการห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งต่อยหรือทำอันตรายศิลานั้นอีกแล้ว จึงพอจะเป็นที่หวังได้ว่าคนที่จะไปเมืองสุโขทัยต่อๆไปในกาลเบื้องหน้าคงจะยังได้ดู "ขอมดำดิน" ศิลานี้เดิมจะสูงพ้นดินเท่าไรก็เหลือเดา เพราะไม่ทราบว่าได้ต่อยกันมาสักากี่สิบปีแล้ว แต่อย่างไรๆก็คงเป็นศิลาแท่งใหญ่มากอยู่ และการที่จะถอนขึ้นและชะลอไปจากที่นั้นน่าที่ท่านจะเห็นว่าความลำบากไม่สมกับเหตุ ท่านจึงทิ้งไว้ให้คนภายหลังแต่งเรื่องราวประกอบจนวิจิตรพิสดารหนักหนา
ยังมีเหตุอื่นๆอีกที่ทำให้สันนิษฐานว่า "ขอมเป็นเสาหลักเมืองเดิม คือพิจารณาดูรูปพรรณสัณฐานก็ดูสมควร นึกดูถึงเสาหลักเมืองอื่นๆที่ได้เห็นมาแล้วก็ดูขนาดๆกัน และการที่ชาวเมืองนับถือว่าศิลานั้นฝนกินเป็นยาวิเศษ ก็ดูยิ่งจะเป็นพยานขึ้นอีกประการหนึ่ง เพราะหลักเมืองที่เมืองอื่นๆก็มักนิยมว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ต่างๆ เช่นหลักเมืองนครราชสีมาเป็นต้น ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ก็เป็นแต่ความเห็นส่วนตัว แล้วแต่ท่านผู้ชำนาญในโบราณคดีจะวินิจฉัย(๖)
ที่ริมวัดมหาธาตุทางด้านตะวันออก มีที่ดินว่างเปล่าอยู่แปลงหนึ่ง เป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ทางด้านเหนือกับด้านใต้มีเทินดินและมีคูต่อไปประจบกับคูวัดมหาธาตุเป็นอันเดียว ด้านตะวันตกที่ติดกับวัดมหาธาตุนั้น มีกำแพงแต่ไม่มีคู ด้านตะวันออกมีคู คูด้านเหนือและใต้นั้นยาวต่อไปจนจดคูวัดด้านตะวันตก เข้าใจว่าน้ำในตระพังทองด้านตะวันออก กับตระพังเงินด้านตะวันตก จะมีทางไขให้เดินเข้าคูวัดกับที่แปลงต่อนั้นได้ตลอด วัดกับที่แปลงตะวันออกนี้จึงเป็นเกาะอยู่ คูด้านสกัดตะวันออกตะวันตกยาว ๕ เส้น ๔ วาเท่ากัน ด้านเหนือด้านใต้ยาว ๑๒ เส้น อยู่ทางเขตวัด ๕ เส้น ทางต่อมาอีก ๗ เส้น เพราะฉะนั้นที่แปลงต่อวัดออกมานั้นกว้าง ๕ เส้น ๔ วา ยาว ๗ เส้นในนั้นมีสระใหญ่ถึง ๒ สระ และมีฐานสี่เหลี่ยมอยู่อันหนึ่ง กว้าง ๑๒ วา ๓ ศอก ยาว ๒๐ วา สูงพ้นดินประมาณ ๒ ศอกคืบหรือ ๓ ศอก ทางด้านเหนือยังแลเห็นบัวคว่ำบัวหงาย แต่ด้านอื่นๆดินพูนขึ้นมาเสียมาก แลทลายเสียแล้วด้วย นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรอีกเว้นแต่ที่แผ่นดินเกลี้ยงๆ
จึงสันนิษฐานว่าที่ดินแปลงนี้คงไม่ใช่ของวัดมหาธาตุ เพราะถ้าเป็นที่ในเขตวัด ที่ไหนจะเว้นมีพระเจดีย์วิหารอะไรสักอย่างหนึ่ง ถึงแม้แต่เดิมจะไม่มีอยู่ ก็น่าจะต้องมีผู้ใดมาสัปดนสร้างเพิ่มเติมขึ้นให้รกเช่นที่วัดโบราณอื่นๆ แม้ที่วัดมหาธาตุนั้นเองภายในพื้นที่แปลงตะวันตกนั้นก็มีเจดีวิหารชิ้นเล็กชิ้นน้อยเรียงรายระกะไปจนเดินหลีกแทบไม่พ้น ถ้าแม้จะสันนิษฐานว่าในแปลงตะวันออกนั้นเป็นวิหาร ก็ควรที่จะมีสิ่งไรเป็นร่องรอยพอให้เป็นที่สังเกตบ้าง นี่ไม่มีอะไรเลย แนวผนังก็ไม่เห็นเสาดีหรือเสาทลายก็ไม่เห็น แม้แต่กองแลงหรืออิฐปนอะไรสักกองหนึ่งก็ไม่มี เป็นลายเกลี้ยงอยู่เฉยๆ จึงทำให้สันนิษฐานว่า ฐานนี้คือลานปราสาท และปราสาทนั้นทำด้วยไม้ ใช้เสาตั้งไม่ใช่ปักลงไปในดินจึงไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย และที่แปลงตะวันออกนั้นทั้งแปลงกว้าง ๕ เส้น ๔ วา ยาว ๗ เส้นนั้น คือพระราชวังของพระเจ้ากรุงสุโขทัย ถ้าไม่ใช่วังก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอะไรได้อีก
ยังมีสถานที่ภายในกำแพงเมืองซึ่งควรดูอยู่อีกแห่งหนึ่ง คือสถานที่ราษฎรเรียกว่าวัดศรีสวาย อยู่ใกล้วัดมหาธาตุไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่นี้มีคูรอบและกำแพงก่อด้วยแลงแท่งเขื่องๆ ในนั้นมีเป็นปรางค์อยู่ ๓ ยอด แต่แยกๆกันอยู่เป็น ๓ หลัง หลังกลางฐานสี่เหลี่ยม ด้านละ ๓ วา สูง ๑๐ วา หลลังข้างๆสองหลังเท่ากัน ฐานสี่เหลี่ยมด้านละ ๑๐ ศอก สูง ๖ วา รูปปรางค์นั้นเป็นอย่างเทวสถาน ๓ ยอดที่ลพบุรี มีลวดลายอย่างทำนองนั้น คือเป็นรูปพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ และรูปนารายณ์ปางต่างๆที่ช่องผนังข้างล่างเดิมมีรูปพระนารายณ์ปั้นไว้ แต่เมื่อไปดูนั้นหลุดทลายเสียแล้วยังคงเห็นได้แต่เป็นรูปเงาๆอยู่ที่พื้นผนัง ไม่แลเห็นเป็นสี่กร แต่เห็นได้ว่าถือจักรมือหนึ่ง ราษฎรผู้เฒ่าได้เล่าว่า ได้เคยเห็นเป็นรูปสี่กร
ต่อหน้าปรางค์ใหญ่มีเป็นโบสถ์มีผนังทึบเจาะช่องแสงสว่างเป็นรูปลูกกรงไว้เป็นช่องๆ มีประตูเข้าทางด้านตรงหน้า ๑ ประตู ด้านข้างๆละประตู รวม ๓ ช่อง กรอบประตูข้างบนทำด้วยศิลาดำทั้งแท่งแผ่นหนึ่งๆกว้าง ๑ ศอก ยาว ๓ ศอกคืบ หนาประมาณ ๖ นิ้ว ประตูด้านข้างมีแห่งละแผ่น แต่บนประตูด้านตรงหน้าพาดเรียงกันถึง ๔ แผ่น เมื่อเข้าไปในโบสถ์แล้วแลเห็นทางเข้าไปในปรางค์ได้มองเข้าไปเห็นหลักไม้ปักอยู่ ๒ หลัก ท่าทางดูเหมือนที่นั่งพระยายืนชิงช้า จึงสันนิษฐานว่าที่นี้คงเป็นโบสถ์พราหมณ์ และผู้เป็นตัวแทนพระเป็นเจ้าในพิธีรำเขนงและโล้ยัมพวายนั้น คงนั่งในปรางค์นั้นเอง ค้นไปค้นมาเผอิญไปพบศิลาทำเป็นรูปพระสยุมภูทิ้งอยู่อันหนึ่ง ซึ่งดูเป็นพยานขึ้นอีกชั้นหนึ่ง ว่าวัดศรีสวายนี้คือโบสถ์พราหมณ์(๗)
นอกจากสถานที่ต่างๆซึ่งได้กล่าวมาแล้วในตอนนี้ ก็ไม่มีอะไรที่สลักสำคัญในเขตกำแพงเมืองสุโขทัยอีก ถ้าแม้จะยังมีอยู่ก็ต้องเข้าใจว่าอยู่ลึกลับมาก จึงยังไม่ได้ค้นเค้าเงื่อนบ้างเลย บัดนี้จะได้กล่าวถึงสถานที่ต่างๆนอกกำแพงเมืองต่อไป
..........................................................................
* สิบเอ็ดห้อง เป็นที่ตั้งพระหกห้อง เป็นที่คนนั่งห้าห้อง
.........................................................................
อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๑
(๑) การที่ทำเชิงเทินด้วยดินนอกกำแพงเมืองอีกสองชั้น มีเค้าเงื่อนในเรื่องพงศาวดารที่จะสันนิษฐาน ว่าทำขึ้นต่อเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อเตรียมสู้ศึกหงสา ด้วยสมัยนี้เกิดมีปืนใหญ่ใช้รบพุ่งและมีฝรั่งโปรตุเกตรับราชการ จึงทำเชิงเทินดินกันทางปืน
(๒) พระราชมนเทียรที่พระเจ้าแผ่นดินแต่โบราณเสด็จประทับอยู่ แม้ที่เมืองนครหลวงของขอมก็สร้างเป็นเครื่องไม้ทั้งนั้น ในพระนครศรีอยุธยาก็เช่นั้น ปราสาทสร้างด้วยศิลาหรือก่ออิฐเป็นแต่ที่ทำพระราชพิธี พระราชมนเทียรเป็นตึกก่ออิฐพึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(๓) ปรางค์ศิลาแลงแห่งนี้ ตรวจต่อมาทราบว่าเป็นที่ประดิษฐานรูปพระอิศวรทางมุขหน้า รูปพระนารายณ์ทางมุขหลัง เทวรูปหล่อทั้ง ๒ องค์นั้นเห็นจะเชิญลงมากรุงเทพฯเมื่อรัชกาลที่ ๑ พร้อมกับพระพุทธรูปศรีศากยมุนีที่วัดสุทัศน์ เดิมเอาไว้ในเทวสถานที่ริมเสาชิงช้า ถึงรัชกาลที่ ๖ โปรดฯให้ย้ายมาไว้ในพิพิธภัณฑสถานคือองค์ใหญ่กว่าเพื่อนที่อยู่คู่ต้นในพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พึงสังเกตได้ว่าลักษณะภาพเป็นแบบครั้งสมัยสุโขทัยทั้ง ๒ องค์
(๔) พระเจดีย์รูปทรงอย่างพระมหาธาตุเมืองสุโขทัย ชอบสร้างแต่ในสมัยสุโขทัยสมัยเดียว เมื่อมาถึงสมัยอยุธยาคิดเอาแบบพระสถูปลังกากับพระเจดีย์สุโขทัยนั้นประสมกัน จึงเกิดมีพระเจดีย์เหลี่ยมเช่นที่สร้างในวัดพระเชตุพนในกรุงเทพฯนี้ ผู้ศึกษาโบราณคดีได้คิดค้นกันมาช้านาน ว่ารูปทรงพระเจดีย์สุโขทัยนั้นจะได้แบบมาแต่ไหน พึ่งได้เค้าเงื่อนใน พ.ศ. ๒๔๗๑ ด้วยเห็นรูปปรากฏอยู่ในหนังสือพิมพ์อิลลัซเตรติดลอนดอน นิวส์ ว่ามาแต่แบบพระเจดีย์ในเมืองจีนซึ่งสร้างบรรจุอัฐิธาตุ จึงสันนิษฐานว่าชะรอยพระเจ้ารามคำแหงมหาราช จะได้แบบพระเจดีย์จีนมาทรงพระราชดำริแก้ไขให้เข้ากับกระบวนช่างของไทย จึงเกิดแบบพระเจดีย์สุโขทัยขึ้น
(๕) ตรวจดูต่อมาก็ไม่พบที่สำหรับพระสงฆ์อยู่ในวัดมหาธาตุนี้ พระอุโบสถที่มีอยู่ก็เห็นได้ว่าเป็นของสร้างเพิ่มเติมขึ้นต่อชั้นหลัง สันนิษฐานว่าพระสงฆ์เห็นจะอยู่วัดต่างหาก ซึ่งสร้างขึ้นใกล้ๆวัดมหาธาตุเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุที่เมืองนครศรีธรรมราช เดิมพระสงฆ์อยู่วัดต่างหาก มีทั้ง ๔ ทิศพระมหาธาตุ
(๖) ศิลาขอมดำดินนี้ ต่อมาต้องย้ายเอามารักษาไวว้ที่ศาลากลาง เพราะคนยังลักต่อยเอาไปทำยาหรือทำเครื่องราง เดี๋ยวนี้เหลืออยู่เล็กกว่าที่ทรงพรรณนาในพระราชนิพนธ์มาก
(๗) วัดศรีสวายเดิมเป็นเทวสถานเป็นแน่ นามเดิมเห็นจะเรียกว่า "ศรีศิวายะ"
....................................................................................................................................................
ตอนที่ ๒ เมืองสุโขทัย "เบื้องตวนนตก"
ก่อนที่จะออกตรวจสถานที่จำจะต้องอ่านหนังสือดูก่อน ว่ามีที่ใดบ้างควรจะต้องค้น จับค้นเป็นทิศๆต่อไป บัดนี้จะจับทางทิศตะวันตกก่อน ตามอย่างพระเจ้ารามคำแหง ในคำจารึกหลักศิลาของพระราชาองค์นี้ มีข้อความกล่าวไว้ว่า "เบื้องตวนนตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรญญิก(๑) พ่ขุนรามคำแหงกทำโอยทานแก่พระมหาเถรสังฆราชปราชญรยนจบปิฎกไตร หลวกกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ทุกคน ลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา ในกลางอรญญิกมีพิหารอนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามมาก มีพระอฐฐารศอนนหนึ่งลุกยืน" ครั้นตรวจดูในคำแปลหลักศิลาสุโขทัยที่ ๒ คงได้ความต่อไปว่า วัดที่สร้างขึ้นให้เป็นที่พักพระมหาสามีสังฆราชนั้นได้สร้างขึ้นในป่ามะม่วงอันมีอยู่ทางทิศประจิมเมืองสุโขทัย ได้ความพอเป็นเค้าไว้เท่านี้ก่อน แล้วจึงได้ออกตรวจค้นสถานที่ต่างๆต่อไป จะได้เล่าตั้งแต่เมืองออกไปหาที่ห่าง
สถานที่ทางทิศตะวันตกที่อยู่ใกล้เมืองที่สุดคือวัดป่ามะม่วง ออกจากเมืองทางประตูตะวันตก พอพ้นคูเมืองชั้นนอกไปมีถนนถมขึ้นมาทำนองถนนพระร่วงไปตลอดจนถึงวัดป่ามะม่วง ถนนนี้คงจะได้ทำเมื่อครั้งพระสังฆราชมาอยู่ ที่วัดนั้นมีอุโบสถหลังหนึ่งเสาเป็นแท่งกลมๆซ้อนกันดูท่าทางแน่นหนา ต่ออุโบสถไปทางตะวันตกมีฐานยกสูงขึ้นมีบัวรอบตัว ฐานนั้นรูปเป็นสี่เหลี่ยมราว ๓ วาจัตุรัส มีเสาตั้งขึ้นไปทั้งสี่มุม เป็นเสาสี่เหลี่ยมประมาณ ๒ ศอกจัตุรัส บนฐานนั้นมีกากอิฐปูนกองอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นมณฑปมีพระปรางค์อยู่ในกลางโบสถ์นั้นติดกับมณฑป เพราะที่ผนังนั้นยังแลเห็นหลังคาระเบียงอยู่ ทั้งสองข้างมณฑปนั้นก่อด้วยอิฐ แต่โบสถ์ใช้แลง เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าไม่ได้ทำคราวเดียวกัน มณฑปนั้นคงได้ทำต่อเข้าไปภายหลัง แต่อย่างไรก็ดูน่าเชื่อว่าวัดป่ามะม่วงที่กล่าวถึงในหลักศิลาที่ ๒ นั้นคงจะอยู่ที่นี้ เพราะถ้าที่นี้ไม่ใช่ที่สำคัญ เหตุไฉนจะมีถนนมั่นคงตรงออกมาจากเมืองเช่นนั้น ต่อที่ตรงนั้นไปถนนก็หมด
ถามว่ายังมีมะม่วงเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ได้ความว่าไม่มี จึงเข้าใจว่ามะม่วงเดิมนั้นก็คงจะเป็นมะม่วงบ้าน คือเอาไปปลูกที่นั้นคงจะได้ปลูกไว้แล้วแต่ครั้งพระเจ้ารามคำแหง เพราะในคำจารึกหลักที่ ๑ นั้น มีกล่าวถึงมะม่วงอยู่หลายแห่ง และคงจะได้ใช้ที่ป่ามะม่วงนี้เป็นที่ประพาสทรงพระสำราญของพระราชากรุงสุโขทัย ต่อมาจนถึงพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชก็โปรดปรานมาก เมื่อตรัสสั่งให้นายช่างหล่อรูปพระนเรศวร พระมเหศวร พระวิศณุกรรม รูปพระสุเมธวรดาบส พระศรีอาริย์ ทั้ง ๕ รูป ก็ได้ให้ไปประดิษฐานไว้ในหอเทวาลัยมหาเกษตรพิมาน "เป็นที่พุทธบูชา ณ ตำบลป่ามะม่วง" เพราะฉะนั้นเมื่อได้ตรัสให้ไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชกับพระสงฆ์บริวารมาแต่นครจันทรเขตในลังกาทวีป จะจัดที่พักให้สำราญ จึงทรงพระราชดำริถึงป่ามะม่วง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่โปรดอยู่แล้วนั้นและมีรับสั่งให้สร้างกุฏิวิหารเสนาสนะขึ้นเรียบร้อย ภายหลังเมื่อสังฆราชมาจำพรรษาอยู่แล้ว เกิดทรงพระศรัทธาขึ้นมาเสด็จออกผนวช ก็ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดป่ามะม่วงนั้นเอง ดังมีข้อความแจ้งอยู่ในคำแปลหลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ ๒ นั้นแล้ว
มีปัญหาอยู่ข้อหนึ่งคือในคำแปลหลักศิลานั้นมีกล่าวไว้ว่า "พระองค์จึงรับสั่งให้ศิลปีนายช่าง ปลูกกุฏีวิหารระหว่างป่ามะม่วงอันมีในทิศประจิมเมืองสุโขทัย นายช่างได้ทำราบคาบปราบภูมิภาคเสมอแล้ว เททรายเกลี่ยตามที่ตามทางราวกับพระวิศณุกรรมมานฤมิตก็ปานกัน" ดังนี้ ดูตามข้อความนี้น่าจะเป็นวัดใหญ่โตมาก เหตุไฉนจึงมีชิ้นเหลืออยู่นิดเดียวแต่โบสถ์กับมณฑปเท่านั้น จะต้องตอบว่าเพราะไม่ได้ตั้งพระทัยให้เป็นวัดมั่นคง พระมหาสามีสังฆราชมาอยู่ก็เป็นการชั่วคราว การที่จะออกทรงผนวชก็เป็นการชั่วคราว เพราะฉะนั้นกุฎีและเสนาสนะคงจะทำด้วยไม้เป็นพื้น เพื่อจะได้รื้อถอนได้ง่าย และใช้ที่นั้นเป็นสวนสำหรับเที่ยวเล่นอย่างเดิม คงทิ้งไว้แต่โบสถ์สักหลังหนึ่งเป็นอนุสาวรีย์ต่อไป
ต่อจากนี้ไปในป่าทางประมาณ ๖ เส้น พบที่ซึ่งคนนำทางเรียกว่าวัดตึก ที่นี่มีเป็นเช่นวิหารตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ด้านละ ๕ วาเศษ มีเสา ๘ เสา คือที่มุมๆละเสา ระหว่างเสามุมอีกช่องละเสา เสาเหล่านี้เป็นแลงมีช่องเป็นสี่เหลี่ยมเจาะข้างๆซึ่งเข้าใจว่าสำหรับใส่กรอบลูกกรง ด้านหน้ามีประตูเข้าสองประตูรูปร่างที่นี่ชอบกลเป็นเหมือนบุษบกอะไรโปร่งๆ ส่วนกว้างไม่เท่าส่วนสูง ดูรูปร่างแปลกกับวิหารหรือมณฑปที่ได้เคยเห็นมาแล้ว พระวิเชียรปราการเดาว่าจะเป็นหอเทวาลัย อันเป็นที่ประดิษฐานรูปทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ พระวิเชียรปราการอ้างพยานคือ รูปของสถานนั้นอย่างหนึ่ง กับอีกอย่างหนึ่งว่าป่ามะม่วงนั้นเขตคงจะได้กินออกมาถึงที่ตรงนั้น และยังมิหนำซ้ำชี้ต้นมะม่วงให้อีก ว่ายังมีอยู่ข้างวิหารนั้น ๒ ต้น แต่หลักฐานดูยังน้อยอยู่ ข้อที่ว่าป่ามะม่วงเขตกินมาถึงแค่นั้น ก็อาจที่จะเป็นได้ ไม่น่าสงสัยเพราะห่างจากที่วัดป่ามะม่วงตั้งนั้นมาเพียง ๖ เส้นเท่านั้น อาจที่จะเป็นเขตวัดนั้นก็ได้เสียอีก แต่เขตวังยังยาวได้เป็น ๗ เส้นแล้ว แต่หอเทวาลัยนั้นข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ ว่าน่ากลัวจะทำด้วยไม้และจะสูญไปเสียนานแล้ว
ที่จริงทางด้านตะวันตกนี้ภูมิที่ดูน่าจะสนุก เพราะมีลำธารห้วยหนองและเนินเขาน่าเที่ยว "อรญญิก" ของ "พ่อขุนรามคำแหง" นั้น ที่จริงอยู่ข้างจะเป็นที่สำราญและน่าจะ "กทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญรยนจบปิฎกไตร" ที่ซึ่งยกให้มหาเถรสังฆราชนั้นคงจะเป็นที่ป่ามะม่วงนี้ด้วย เพราะฉะนั้น การที่พระเจ้าธรรมิกราชยกป่ามะม่วงให้เป็นที่อยู่พระมหาสามีสังฆราชนั้น ต้องเข้าใจว่าเดินตามแบบพระเจ้ารามคำแหงผู้เป็นปู่ แต่นอกจากที่ริมๆกำแพงเมืองยังมีที่ควรดูที่อยู่ห่างออกไปอีกหลายแห่ง
ที่ควรดูแห่งหนึ่งคือเขาพระบาทน้อย ซึ่งเป็นที่ราษฎรไปนมัสการกัน ทางไปในป่าและทุ่ง เลียบลำน้ำใหญ่ลำหนึ่งในฤดูแล้งแห้งหมด แลเห็นถนนตัดไปมาตามนี้หลายสาย คงจะได้ทำขึ้นครั้งพระเจ้ารามคำแหง เพราะมีข้อความปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลา "วันเดือนพีเดือนเตมท่านแต่งช้างเผือกกรพดดลยางท้ยนญ้อมทองงามทงงววาชื่อรูบาสี พ่ขุนรามคำแหงขึ้นขี่ไปนบพระพีหารอรญญิก" ดังนี้ ต้องเข้าใจว่าทางป่าแถบนี้เป็นที่เสด็จอยู่เนืองๆ ทางจากเมืองสุโขทัยไปถึงเขาพระบาทน้อยประมาณ ๑๐๐ เส้น เขานั้นไม่สู้สูงนัก ทางขึ้นก็ลาดสบายดีมีศิลาแดงเป็นแผ่นแบนๆวางเรียงกันเป็นถนนขึ้นไปถึงสันเขา มีเป็นลานก่อขึ้นไปมีบันไดขึ้น ๔ หรือ ๕ ขั้น บนนั้นมีพระเจดีย์ทรงจอมแห (คือชนิดที่มีอยู่ที่หน้าวัดชนะสงครามในกรุงเทพฯนี้) มีเป็นช่องกุฎี ๔ ทิศเหนือบัวกลุ่ม ทรวดทรงงามดี ควรถือเป็นแบบอันดีของพระเจดีย์ชนิดนี้ได้
ทางด้านตะวันออกของพระเจดีย์มีวิหารย่อมๆ หลังวิหารนี้มีเป็นแท่นติดกับฐานพระเจดีย์ ที่แท่นนี้มีศิลาแผ่นแบนแกะเป็นพระพุทธบาท ลวดลายลบเลือนเสียมาก เพราะหน้าผานั้นแตกชำรุด แต่พิจารณาดูตามลายเห็นได้ว่า ถึงแม้เมื่อยังไม่ชำรุด ลวดลายก็ดูเหมือนจะไม่สู้งามอะไรนัก ลงจากเนินที่ประดิษฐานพระเจดีย์ใหญ่น่าดูมาก เป็นรูปแปดเหลี่ยม เหลี่ยมหนึ่งถึง ๕ วา มุมมีย่อเป็นไม้สิบสอง ฐานนั้นมีบัวซ้อนเป็นชั้นๆขึ้นไป รูปพรรณสัณฐานงามมาก วัดจากพื้นดินขึ้นไปถึงบัวบน ๒ วา ๑ ศอก ต่อนี้ขึ้นไปพระเจดีย์ทลายเสียหมดแล้ว คงยังมีอยู่แต่กองดินปนกับแลงทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ แลเห็นทะลักทลายลงมา เห็นได้ชัดว่าจะได้มีผู้พยายามตั้งกองขุดกันอย่างสามารถ เพราะฉะนั้น รู้ไม่ได้แน่ว่าพระเจดีย์รูปจะเป็นอย่างไร พระยาอุทัยมนตรีสันนิษฐานว่าจะเป็นรูปทรงเตี้ยอย่างพระเจดีย์รามัญ ซึ่งชอบกลอยู่ เพราะสังเกตว่าถ้าเป็นรูปทรงที่มีทรงสูง น่าจะมีกองแลงที่ทำลายลงมากองอยู่กับดินนั้น เป็นกองใหญ่กว่าที่มีอยู่บัดนี้ อย่างไรๆพระเจดีย์นี้เห็นได้ว่าทำด้วยฝีมือประณีตบรรจงมาก รากก่อด้วยอิฐ แล้วต่อขึ้นไปเป็นแลงก้อนใหญ่ๆ ที่บัวและมุมก็ตัดแลงเป็นรูปให้เหมาะกับที่ต้องการ ไม่ใช่ประดับขึ้นแล้วปั้นบัวให้ถูกรูปด้วยปูน
ที่นี้คงจะเป็นที่พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยเสด็จมานมัสการแห่งหนึ่งเป็นแน่แท้ และพระเจดีย์องค์นี้นอกจากผู้มีอำนาจจะสร้างก็เห็นจะทำให้สำเร็จได้โดยยาก เพราะเฉพาะแต่ยกก้อนแลงเขื่องๆเท่านั้นซ้อนกันจนสูงได้เป็นหลายวาเช่นนั้น ก็ต้องใช้กำลังคนมากอยู่แล้ว ความประสงค์ของผู้สร้างคงจะให้พระเจดีย์นี้เป็นอนุสาวรีย์ เครื่องหมายแห่งความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยปรากฏอยู่ชั่วกาลนาน และทำก็แน่หนาพอที่จะหวังได้ว่าจะอยู่ไปได้หลายร้อยหลายพันปี การที่ทำลายลงครั้งนี้ก็มิใช่ทำลายลงเอง หากมีภัยอันร้ายยิ่งมาเบียดเบียน กล่าวคือความโลภของคน ฤทธิ์ของความโลภนั้นทำให้สิ้นความรู้สึกนับถือในพระสถูป ถึงกับทำลายสิ่งซึ่งเขาได้ทำไว้เป็นที่สักการะนั้นลง เพื่อค้นหาทรัพย์ซึ่งเข้าใจว่าได้ฝังบรรจุไว้ภายในนั้น ผู้ที่ได้ทำลายพระสถูปเช่นนี้ จะได้ทรัพย์สิ่งไรไปบ้างหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ แต่หวังใจว่าจะไม่ได้อะไรไปที่จะเป็นแก่นสารให้ได้ผลเพียงพอกับความลำบาก ถ้าคนเหล่านั้นได้ใช้ความเพียรพยายามและกำลังการที่ได้ใช้ทำลายโบราณวัตถุนั้นในทางที่ดีที่ควรแล้ว เมืองเราจะเจริญรุ่งเรืองหาน้อยไม่
กลับลงจากเข้าพระบาทน้อยแล้วได้เดินข้าไปดูวัดมังกร หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าวัดช้างล้อม ในนี้มีอุโบสถย่อมๆมีพระเจดีย์ย่อมๆรูประฆังมีรูปช้างแบกฐานเจดีย์ไว้โดยรอบ นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไร เข้าใจว่าคงจะมีผู้มาสร้างขึ้นในไม่สู้ช้านานมานัก
ออกจากวัดนี้เดินไปใน "อรญญิก" ของพระเจ้ารามคำแหง เลียบไปตามเชิงเขา ภูมิที่งามน่าเที่ยว เดินไปได้หน่อยก็เข้าป่ากาหลง ต้นกาหลงเต็มไปทั้งนั้น ตลอดไปจนถึงเชิงเขาวัดสะพานหิน จากเชิงเขาตรงลิ่วขึ้นไปจนถึงยอดมีถนนศิลาแผ่นบางบนถนนกว้าง ๓ ศอก ในตอนเชิงเขาก่อด้วยศิลา แผ่นแบนซ้อนกันหลายชั้นแน่นหนาเป็นค้นขึ้นไป สูงพ้นพื้นดินขึ้นไปถึง ๓ ศอกคืบ การที่ต้องเสริมถนนให้สูงเพียงนี้ คือประสงค์จะให้เดินไม่ชัน ถ้าไม่ทำเช่นนี้ก็ต้องทำเป็นบันได เพราะที่เชิงเขาอยู่ข้างจะชันหักลงมาหาพื้นดินล่าง ถนนตั้งแต่เชิงเขาขึ้นไปที่ยังคงเหลืออยู่บัดนี้ยาว ๔ เส้น ๕ วา ๒ ศอก พวกที่ไปด้วยกันเดินบนถนนไม่ใคร่จะได้ เพราะสวมรองเท้าเหยียบกับศิลาลื่นชวนจะหกล้ม ที่ปลายถนนมีบันไดขึ้นไปบนลาน
บนยอดเขานั้นมีวิหารสูงมาก ในวิหารมีพระพุทธรูปยืน พระรัศมีหักเสียแล้ว แต่เช่นนี้ก็ดี วัดดูได้ความว่าสูงถึง ๖ วา คือสูงกว่าพระอัฏฐารศทศพลญาณที่วัดสระเกศ กรุงเทพฯนี้ ๖ ศอก ส่วนวิหารนั้นก็สูงมิใช่เล่น และดูท่าทางจะสง่างามมาก เสาทำด้วยแลงแผ่นกลมซ้อนๆกัน แผ่นหนึ่งประมาณ ๑ ศอก วัดโดยรอบขอบนอกประมาณ ๕ ศอก วิหารนั้นไม่สู้ยาวนัก แต่เข้าใจว่าทำเปิดโปร่งๆไม่มีฝาทึบ มีผนังทึบแต่ที่หลังพระเท่านั้น เพราะฉะนั้นการที่จะดูพระคงไม่ต้องเข้าไปดูในที่ใกล้ๆจนแลไม่เห็นส่วน อย่างเช่นดูพระอัฏฐารศวัดสระเกศนั้น ที่นี้เข้าใจว่าตรงกับความที่กล่าวไว้ในคำจารึกของพระเจ้ารามคำแหงว่า "ในกลางอรญญิกมีพีหารอนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามนัก มีพระอัฏฐารศอนนหนึ่งลุกยืน" เมื่อได้ไปดูแล้วก็ยอมว่าพระเจ้ารามคำแหงน่าจะอวดอยู่บ้าง(๒)
ออกจากวัดสะพานหินย้อนทางกลับไปดูวัดตระพังช้างเผือก ซึ่งอยู่ริมทางที่เดินไปเขาพระบาทน้อย วัดนี้ตั้งอยู่ข้างบึงหรือสระอันหนึ่ง ซึ่งมีนามว่าตระพังช้างเผือก ในวัดมีอุโบสถย่อมๆอยู่หลังหนึ่ง แต่เสาเป็นแลงมีบัวปลายเสา ทำฝีมือพอดูได้ หลังอุโบสถออกไปทางตะวันตกมีเป็นฐานยกสูงพ้นดิน ฐานเป็นสองชั้น มีเสาแลงสี่มุมทั้งสองชั้น รวมเป็น ๘ เสาด้วยกัน ท่าทางชะรอยจะเป็นบุษบกโถงๆประดิษฐานพระปรางค์หรือพระพุทธรูป ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือมีพระเจดีย์เล็กๆองค์หนึ่ง กับมีเป็นกองๆอยู่อีก ซึ่งอาจเป็นเจดีย์แต่ทลายเสียหมดแล้ว ในเขตวัดนี้ได้พบศิลาจารึกแผ่นหนึ่งนอนทิ้งอยู่ในที่รก ยอดเป็นรูปมน ที่ฐานมีเป็นเดือยต่อลงไปสำหรับปัก แต่ไม่ปรากฏว่าได้เคยปักอยู่ตรงไหน วัดศิลานั้นดูได้ความว่า สูงแต่เดือยถึงยอด ๒ ศอกคืบเศษ กว้าง ๑ ศอก หนาประมาณ ๙ นิ้ว ส่วนเดือยนั้นยาวประมาณคืบกับ ๖ นิ้ว กว้างประมาณคืบกับ ๗ นิ้ว ศิลานี้ชำรุดแตกและตัวอักษรลบเลือนเสียมาก ได้จัดการให้ยกไปยังที่พักชำระล้างพอสะอาดแล้วตรวจดูอีกทีหนึ่ง
อักษรจารึกมีทั้ง ๒ หน้า เป็นอักษรขอมหน้าหนึ่ง อักษรไทยโบราณหน้าหนึ่ง ทางด้านอักษรขอมเป็นด้านที่จมอยู่ในดิน ตัวอักษรจึงไม่ใคร่จะลบเลือนยังอ่านได้ แต่ตัวอักษรขอมมีตัวที่แปลกๆนัยตาอยู่มาก จึงได้คัดตามตัวส่งเข้ามาถวายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรสเพื่อทรงอ่าน มาภายหลังท่านชี้แจงว่า คำจารึกนั้นเป็นคำนมัสการพระพุทธบาท ตัวอักษรที่ดูแปลกนัยตานั้นคือเขียนตามแบบอักษรรามัญ ทั้งตัวสะกดที่ใช้ในนั้นก็ผิดคลาดเคลื่อนอยู่หลายแห่ง เพราะฉะนั้น ทรงสันนิษฐานว่าผู้ที่จารึกไม่ใช่ผู้รู้หนังสือ เป็นแต่ได้คัดมาจากหนังสือฉบับใดฉบับหนึ่ง จึงได้คัดไปตามตำราของครูซึ่งอาจจะเป็นรามัญหรือเป็นผู้ได้ศึกษาในสำนักรามัญ เพราะในสมัยสุโขทัยโบราณนั้นนับถือพระรามัญกันมาก ว่าเป็นผู้ปฏิบัติใกล้อย่างพระในลังกาทวีป และยังสงสัยต่อไปอีกว่าพระมหาสามีสังฆราช ซึ่งกล่าวว่ไปจากลังกาทวีปนั้นน่าจะไม่ถูก น่าจะไปจากรามัญประเทศนั้นเอง
เมื่อคิดเทียบเข้าดูกับข้อความในพงศาวดารเหนือที่เล่าถึงเรื่องขุนการเวก และพระยาศรีธรรมราชาภูดาษราชวัตรเมืองอินทรภูดาษสินเมืองพรหม ยกกระบัตร นายเพลิงกำจาย นายชำนององครักษ์ นายหาญใจเพชร นายเผด็จสงคราม ทั้ง ๘ คนนี้เป็นข้าหลวงนำเครื่องบูชาไปถวายพระเมาลีเจดีย์ที่กรุงหงสาวดี "เมื่อจุลศักราช ๑๔๓ ปีชวดตรีศก" นั้น ก็ดูจะเป็นที่น่าเชื่ออยู่ว่าในสมัยนั้นไทยเราอยู่ข้างจะตื่นนิยมไปตามพวกรามัญมาก อย่างเช่นกรมหลวงวชิรญาณได้รับสั่งอธิบายนั้น
ส่วนคำจารึกในแผ่นศิลาวัดตระพังช้างเผือก ซึ่งเป็นอักษรไทยโบราณนั้นอ่านไม่ได้เรื่องราวติดต่อกันเลย เพราะหน้าศิลานั้นถูกฝนชะชำรุด ตัวอักษรที่จารึกลบๆเลือนๆไปเสียมาก ทั้งที่แตกหลุดเป็นชิ้นออกมาเสียบ้างก็มี ได้นั่งคลำอ่านกันอยู่เองเป็นนาน ทั้งพระครูเจ้าคณะเมืองสุโขทัย ผู้ได้เคยอักษรไทยโบราณอยู่มาก ก็ได้มาช่วยอ่านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ความอะไรกี่มากน้อย ที่ตอนต้นมีบอกวันเดือนและปี อ่านได้ความว่า "ศักราช ๑๒๙๖ ปีขาล" ต่อนั้นมาอยู่ข้างจะเลือนไม่เห็นถนัดว่าเดือนอะไรแน่ ไปอ่านออกต่ออีกว่า "๙ ค่ำ" แล้วก็เลยละลายไปอีก ในข้อความที่อ่านออกบ้างเป็นบางแห่งนั้นมีกล่าวถึง "ราชามหาธรรมม---(ชำรุด)---เสด็จสวรรคาไลยไปแล้ว---" ต่อไปอีกมีกล่าวถึง "หนางคำเมีย--" ไม่ปรากฏว่าเป็นเมียใคร อ่านไม่ออก แต่มีต่ำลงมาอีกว่า "วัดหนางคำ" อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งเดาว่าเป็นวัดท่านผู้นี้สร้าง และน่าจะเป็นวัดตระพังช้างเผือกนั้นเอง นอกนั้นเลือนเหลือกำลัง ถ้าจะขืนอ่านให้ได้ความอีกก็จะต้องเสียเวลานานเกินกว่าที่จะยอมเสียให้ได้
แต่ศักราชกับข้อความที่กล่าวถึง "ราชามหาธรรมม" เสด็จสวรรคาไลยนั้น ทำให้เดาว่าคงจะกล่าวถึงพระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิราช ซึ่งทรงพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตศรีสุริยพงษ์รามมหาธรรมิกราชาธิราช" หรืออีกนัยหนึ่งว่า "พระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตศรีตรีภพธรณีชิต สุริยโชติมหาธรรมิกราช" ดังนี้ เทียบดูศักราชปีที่พระมหาสามีสังฆราชมาจากลังกาทวีป มาอยู่ ณ วัดป่ามะม่วงเมืองสุโขทัยนั้น ผิดกับศักราชในแผ่นศิลาวัดตระพังช้างเผือกนี้ ๑๓ ปี จึงเห็นได้ว่าจารึกในสมัยเดียวกันกับหลักศิลาเมืองสุโขทัย ที่ ๒
แต่แผ่นศิลาวัดตระพังเผือกนี้ถึงแม้จะอ่านคำจารึกออกได้ยิ่งกว่าที่อ่านได้แล้ว ก็น่าจะไม่สู้มีข้อความอันใดที่จะเป็นเครื่องช่วยในการแต่งเรื่องราวของชาติไทยนัก สงสัยว่าจะกล่าวแต่ถึงเรื่องสร้าง "วัดหนางคำ" นั้นเป็นพื้น บางทีก็จะมีกล่าวแต่ถึงเรื่องเขาพระบาทน้อย และการก่อสร้างบนนั้นได้บ้าง คำนมัสการพระพุทธบาทที่จารึกไว้อีกหน้าหนึ่งนั้นทำให้นึกเดาต่อไปว่าจะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องไปถึงพระพุทธบาทบนเขา แต่จะถือเป็นหลักฐานนักไม่ได้ เพราะคำนมัสการนั้นอาจที่จะได้มีผู้ไปจารึกลงที่หน้าศิลาอันว่างอยู่ในการภายหลังก็เป็นได้
การตรวจค้นสถานที่ต่างๆใน "เบื้องตวนนตกเมืองสุโขทัย" ตามที่ได้เล่ามาแล้ว เห็นว่าดูได้ทุกประการตรงกับข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพระเจ้ารามคำแหงนั้นแล้ว เป็นแต่สถานต่างที่สันนิษฐานไว้นั้นจะผิดไป เช่นนี้ก็เป็นอันจนใจอยู่เอง
..........................................................................
อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๒
(๑) คำว่าอรัญญิก หมายความว่าท้องที่ที่ห่างบ้านผู้คนระยะทางพอพระเดินเข้าไปบิณฑบาตได้ ด้วยพระสงฆ์ถือธุระในพระศาสนาต่างกันเป็น ๒ พวก พวก ๑ ถือคันถธุระ คือเล่าเรียนพระไตรปิฎกและสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้า มักอยู่ตามวัดในบ้านเมือง จึงเรียกว่า พระสงฆ์คามวาสี อีกพวก ๑ ถือวิปัสสนาธุระ คือบำเพ็ญภาวนา พอใจอยู่ที่สงัดห่างบ้านเรือนผู้คน มักอยู่ในวัดอรัญญิกข้างนอกเมือง จึงเรียกพระสงฆ์อรัญวาสี เมืองเชียงใหม่ก็มีที่อรัญญิกระหว่างเมืองกับเขาดอยสุเทพ แม้ในกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ก็มีวัดอรัญญิก เช่นวัดสระเกศ วัดราชาธิวาส และวัดราชสิทธิ์ เมื่อแรกสร้างกรุงฯก็ถือว่าเป็นวัดอรัญญิก
(๒) พระอัฏฐารศนั้นเอนไปข้างหลัง ต่อมาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงพระศรัทธาให้ก่อกันล้ม และโปรดให้ปฏิสังขรณ์องค์พระที่ตรงชำรุดด้วย
....................................................................................................................................................
ตอนที่ ๓ เมืองสุโขทัย "เบื้องตวนนโอก"
พออ่านดูข้อความที่พระเจ้ารามคำแหงจารึกไว้ว่า "เบื้องตวนนโอกเมืองสุโขทัยนี้มีพีหาร มีปู่ครู มีทเลหลวง มีป่าหมาก มีป่าพูล มีไร่ มีนา มีถิ่นถาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าหมาก มีป่าขาม ดูงามดงงแกล้" ดังนี้ ก็ได้นึกอยู่ในใจว่าน่ากลัวจะหาชิ้นอะไรเก่งๆดูไม่ใคร่ได้ คงจะสู้ทาง "เบื้องตวนนตก" ไม่ได้เป็นแน่ อ่านดูถ้อยคำที่จารึกนั้นก็ปรากฏอยู่ว่า ทางตะวันออกนี้เป็นที่คนอยู่มาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ เชื่อได้ว่าเวลานั้นคงจะเป็นแถบที่คึกคักพอใช้ แต่ก็ยังไม่วายความเสียใจ ว่าในทางโบราณคดีจะไม่มีวัตถุใดซึ่งจะดูได้ให้เป็นประโยชน์ ถึงวัดวาอารามอะไรจะมีบ้างก็คงไม่สู้สำคัญนัก จึงได้กล่าวแต่รวมๆไว้ว่า "มีพีหาร มีปู่ครู" เท่านั้น ส่วนป่าหมากป่าพลูหรือไร่นาถิ่นถานบ้านใหญ่บ้านเล็กก็ดี หรือ "ป่าม่วง ป่าขาม" ถึงแม้ว่าในสมัยโน้นจะ "ดูงามดงงแกล้" หรืออย่างไรก็ดี ในเวลานี้เหลือที่จะค้นให้พบได้ แต่ครั้นว่าจะไม่ตรวจค้นเสียเลย ก็ดูเป็นการบกพร่องไป จึงได้ให้พระวิเชียรปราการเที่ยวตรวจค้นดูบ้าง เมื่อได้รายงานของพระวิเชียรเสียชั้นหนึ่งเเล้ว จึงได้พากันออกตรวจอีกคราวหนึ่ง
ทางเดินไปจากพลับพลาที่พัก(ออกนอกเมือง)ไปทางตะวันออกประมาณ ๒๐ เส้น มีเจดีย์สูงองค์หนึ่งกับวัดตระพังทองหลาง ที่เจดีย์สูงนั้นไม่มีอะไรนอกจากองค์พระเจดีย์ ซึ่งมีฐานก่อรูปย่อมุมไม้สิบสองรองกันขึ้นไปเป็นสามชั้น ประดุจฐานแว่นฟ้า บนฐานมีพระเจดีย์รูประฆังถูกขุดเจาะเสียเป็นช่องโตๆ ซึ่งเป็นของธรรมดาไม่แปลกกว่าแห่งอื่นๆที่ได้เห็นมาแล้ว ที่นี้ไม่มีอะไรที่จะชักนำให้สันนิษฐานต่อไป
แต่วัดตระพังทองหลางนั้น มีมณฑปกับวิหารแผนเดียวกับวัดศรีชุม ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนหน้าต่อไป แต่มณฑปกับวิหารที่วัดนี้ ย่อมกว่าที่วัดศรีชุมเป็นอันมาก ที่ผนังมณฑปข้างนอกมีเป็นซุ้มป้อมๆเช่นซุ้มหน้าต่างวัดเบญจมบพิตร มีลายกนกนาคบนครอบ ใต้ซุ้มในช่องคูหาตื้นๆปั้นเป็นรูปพระพุทธองค์ทรงสำแดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ ด้านใต้เสด็จลงบันไดจากดาวดึงส์ ด้านตะวันตกพระองค์ประทับยืนอยู่กลาง มีทวยเทพยนิกรแวดล้อมอยู่โดยรอบ ด้านเหนือเป็นรูปทรงพระดำเนินน มีอัครสาวกตามเสด็จองค์หนึ่ง(๑) ลวดลายและภาพอยู่ข้างจะดีอยู่ชะรอยจะเป็นวัดโบราณจริง เพราะฝีมือช่างยังไม่โทรม ถ้าเป็นวัดซึ่งทำขึ้นในชั้นหลังๆนี้ คงดูไม่ได้เป็นแน่ เพราะคนชั้นเราดูไม่รู้จัดของงามเสียแล้ว
ในระหว่างทางที่ไปจากเมืองสุโขทัย(เมืองเก่า) ไปเมืองธานี(เมืองใหม่)นั้น มีที่ตำบลหนึ่งเรียกว่าทุ่งหลวง เข้าใจว่าทุ่งหลวงนี้เองจะเป็นทะเลหลวงของพระเจ้ารามคำแหง(๒) คงมุ่งความว่าเป็นที่กว้างมีน้ำขังเป็นฤดูๆอย่างเช่นทุ่งเขางูที่ราชบุรี หรือท้องพรหมมาศที่ลพบุรีฉะนั้น ทั้งทุ่งหลวงนี้เเละทุ่งอื่นทางทิศตะวันออกแห่งเมืองเก่าและตลอดไปจนถึงเมืองใหม่ ยังมีไร่นาบริบูรณ์ดีอยู่ สมกับคำที่พระเจ้ารามคำแหงได้กล่าวไว้ แต่นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไรจะดูอีกเลยในทิศตะวันออกนี้ ที่จะเป็นชิ้นอันเหลืออยู่ให้คนในกาลปัตยุบันนี้ดูต่อไป
แต่มีข้อควรสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง คือตามข้อความที่จารึกไว้ต้องเข้าใจว่าที่ตามแถบนี้มีน้ำบริบูรณ์ดี จนถึงมีทะเลหลวงได้ เดี๋ยวนี้น้ำกันดารเต็มที ถ้าในหน้าแล้งราษฎรที่อยู่ตามแถบทุ่งทะเลหลวงต้องเดินลงไปตักน้ำถึงที่ลำน้ำยมทางเกือบ ๓๐๐ เส้น นึกดูก็น่าเสียดาย ที่คนชั้นเก่าๆไม่ได้คิดเรื่องบำรุงน้ำเลย ถ้าได้จัดการทำทำนบและฝายเสียแล้ว เมืองสุโขทัยก็จะเป็นเมืองบริบูรณ์มั่งคั่งดีตั้งแต่พระเจ้ารามคำแหงตลอดมาจนกาลปัตยุบันนี้ได้
..........................................................................
อธิบายเพิ่มเติมในตอนที่ ๓
(๑) ลายปั้นที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง ต่อมาพิจารณาได้เรื่องภาพที่ปั้น คือด้านใต้นั้นเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาแล้วกลับจากดาวดึงส์สวรรค์ ด้านตะวันตกประทานเทศนาโปรดพระพุทธบิดากับพวกกษัตริย์ศักยราช ด้านเหนือเสด็จไปโปรดพระพิมพา
(๒) ทางด้านตะวันออกนี้ ตรวจพบสิ่งสำคัญเมื่อภายหลังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้อีกแห่ง ๑ เป็นรอยสระโตใหญ่รูปสัณฐานสี่เหลี่ยมรี มีพลับพลาที่ประทับอยู่ที่ริมสระเหมือนอย่าง "สระสรง" ที่นครธมเมืองเขมร ที่ในจารึกมิได้ระบุถึงสระนี้ จะมีชื่อเรียกว่า "ทะเลหลวง" ดอกกระมัง หรือมิฉะนั้นเมื่อในสมัยสุโขทัย (คือเมื่อ ๕๐๐ ปีมาแล้ว) ที่ลุ่มทางด้านนี้จะยังเป็นบึงใหญ่เรียกกันว่าทะเลหลวงก็เป็นได้
....................................................................................................................................................
Create Date : 26 มีนาคม 2550 |
Last Update : 26 มีนาคม 2550 12:09:04 น. |
|
3 comments
|
Counter : 3193 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:12:14:32 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:12:15:18 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:12:15:59 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|
ทางทิศใต้นี้มีวัดสำคัญอยู่วัดหนึ่ง เรียกวัดเชตุพน ทางห่างจากกำแพงเมืองไปประมาณ ๕๐ เส้น วัดนี้สังเกตว่าเป็นวัดใหญ่มึคูรอบตามแบบ ในนั้นมีชิ้นสำคัญอยู่คือวิหารจตุรมุข ด้านตะวันออกมีพระพุทธรูปลีลา ด้านตะวันตกมีพระพุทธรูปยืน ด้านเหนือมีพระพุทธรูปนั่งแต่ชำรุดเสียมากจนไม่ปรากฏว่าจะเป็นสมาธิหรือมารวิชัย ด้านใต้ทำลายเสียหมดจนไม่เป็นรูป แต่เข้าใจว่าจะเป็นพระนั่งเหมือนกัน เดิมเมื่อแรกเข้าไปแลเห็นแต่พระลีลาเข้าใจว่าคงจะเหมือนวิหารพระสี่อิริยาบถที่กำแพงเพชร และคงจะมีรูปพระสี่อิริยบถเช่นเดียวกัน แต่ครั้นพิจารณาดูต่อไปจึงได้เห็นว่าทางที่ทลายเสียนั้นดูแคบนัก ผนังด้านนี้แคบกว่าด้านตะวันออกตะวันตกที่มีพระลีลากับพระยืน เพราะฉะนั้นถ้าจะทำเป็นพระนอนไว้ทางนั้น ก็จะได้องค์เล็กเต็มที จึงได้เปลี่ยนความคิดเสียว่าชะรอยด้านนี้ ก็จะเป็นพระนั่งขนาดเดียวกับด้านเหนือที่ตรงกันข้าม แต่บางทีปางจะผิดกัน คือบางทีจะเป็นสมาธิข้างหนึ่งและอีกข้างหนึ่งจะเป็นพระมารวิชัยหรือป่าเลไลย แต่ตั้งแต่ขึ้นไปจนตลอดเวลากลับไม่ได้เห็นพระป่าเลไลยทางหัวเมืองเหนือเลย แม้สมาธิก็ไม่ใคร่พบ พบแต่พระมารวิชัยเป็นพื้น
วิหารพระเชตุพนนี้ยอดน่าจะเป็นปรางค์ ผนังด้านนอกทำเป็นลูกกรง ใช้ศิลาแท่งใหญ่เป็นลูกกรงและกรอบพร้อมกันดูแน่นหนามาก เสียดายแต่พังเสียหลายตอนแล้ว สังเกตได้ว่าอาศัยน้ำหนักศิลานั้นเองมากกว่าอย่างอื่น จึงตั้งอยู่ได้มั่นคงเช่นนี้ ที่ต่อกันก็ทำประกบกันอย่างเรียบร้อยราวกับช่างไม้เข้าตัวไม้ ใช้ปูนแต่นิดหน่อยพอเป็นเครื่องเยียวยาให้สนิทยิ่งขึ้นเท่านั้นเท่านั้น ถึงซี่กรงนั้นก็ไม่ใช่ก่อศิลาแผ่นเล็กๆซ้อนกัน จนเป็นเสาอย่างเช่นที่วัดพระสี่อิริยาบถที่กำแพงเพชร ที่นี่ใช้ศิลาแท่งแบนๆทั้งแท่งตั้งขึ้นเป็นลูกกรง มีก้อนศิลายาวทับบนเป็นกรอบ ที่ศิลาทับบนนั้นขุดเป็นช่องสี่เหลี่ยมไว้สำหรับสวมบนยอดแผ่นตั้งๆซึ่งมีเดือยอยู่ เพราะฉะนั้นพอวางท่อนทับบนนี้ลงแล้ว น้ำหนักก็พอจะยึดศิลาที่ตั้งเป็นซี่กรงนั้นไว้มิให้ล้มได้ ส่วนกรอบลุกกรงนั้นก็ทำด้วยศิลาแท่งใหญ่และหนากว่าลูกกรง ตรงและประกบกันสนิทดีเหมือนกรอบไม้ ผนังลูกกรงนั้นทำเป็นห้องๆต่อกันไปจนรอบตามรูปที่จะต้องการ ไม่ก่อเป็นผนังอันเดียวเชื่อมกันหมด ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจนต้องบอกให้ดูช่างไม้ต่อกรงเหล็ก คือในชั้นต้นเข้าตัดไม้ตามที่ต้องการมาทำกรอบ แล้วเขาสอดซี่กรงเหล็กเข้าตามที่ แล้วเขาจึงตอกไม้กรอบข้างบนประกบกันให้สนิท และก็ยกไปได้เป็นแผ่นๆ ไปตั้งประกอบเป็นกรงขึ้นตามที่ซึ่งประสงค์นั้นฉันใด การทำผนังนอกที่วิหารวัดเชตุพนก็ฉันนั้น ผิดกันก็แต่ที่วัดเชตุพนใช้ศิลาแทนทั้งกรอบไม้ทั้งซี่เหล็ก และเป็นส่วนที่ใหญ่กว่ากันมากเท่านั้น
การที่ทำผนังเป็นแผ่นๆเช่นนั้นก็มีที่เสีย คือถูกฝนชะดินพื้นดินทรุดไปเป็นแห่งๆไม่เสมอกัน ผนังจึงเซและล้มไปเป็นห้องๆ คือล้มทีละแผ่น ไม่ค่อยแยะและพังไปเหมือนกำแพงหรือผนังที่ก่อด้วยอิฐถือปูนเป็นแผ่นเดียวกันตลอด และถ้าแม้จะซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ ก็จะต้องยกกันขึ้นทั้งๆแท่นอีก พระพยุหาภิบาลผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัยเล่าว่า เมื่อปี ร.ศ. ๑๑๑ ได้ตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ขึ้นไปสุโขทัย ได้ไปดูวัดเชตุพนนี้ ยังได้เห็นผนังลูกกรงตั้งอยู่เกือบรอบวิหาร แต่บัดนี้ยังคงตั้งอยู่เป็นตอนๆ ตอนละห้องสองห้องเท่านั้น ที่เซๆรวนๆอยู่บ้างแล้วก็มี ได้แนะพระพยุหาภิบาลให้จัดการค้ำจุนไว้บ้าง พอปะทะปะทังให้ยั่งยืนต่อไปอีกสักคราวหนึ่ง
ผนังลูกกรงนั้นได้วัดดูห้องหนึ่งได้ความดังต่อไปนี้ คือ แท่งศิลาเชิงผนังลูกกรงกว้าง ๑ ศอก ๗ นิ้ว หนา ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว แท่งศิลากรอบล่างลูกกรงกว้าง ๑ ศอก ๓ นิ้ว หนา ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว แท่งศิลาซี่กรงสูง ๓ ศอกคืบ กว้าง ๑ คืบ ๘ นิ้ว หนา ๑๐ นิ้ว ช่องลูกกรงช่องหนึ่งๆมีลูกกรง ๕ ซี่ ตั้งระยะห่างกันซี่ละ ๗ นิ้ว แท่งศิลากรอบบนลูกกรงกว้าง ๑ ศอก ๓ นิ้ว หนา ๑ คืบ ๘ นิ้ว แท่งศิลาทับบนกรอบกว้าง ๑ ศอก ๓ นิ้ว หนา ๑ คืบถ้วน เท่านี้ก็พอจะเข้าใจได้ว่าผนังลูกกรงนั้นใหญ่เพียงไร ผนังนี้มีกั้นรอบวิหารจัตุรมุขโดยรอบด้านนอก ด้านหลังพระทั้งสี่นั้นเป็นผนังทึบ
ต่อวิหารจัตุรมุขออกไปทางทิศตะวันตกมีเป็นลานโล่งอยู่เฉยๆ ชะรอยจะเป็นลานศรีมหาโพธิ มีกำแพงแก้วกั้นเป็นเขต กำแพงแก้วนั้นต่อออกมาจากผนังลูกกรงของวิหารจัตุรมุข เพราะฉะนั้น ทางด้านตะวันออกไม่มี คงมีแต่ ๓ ด้าน กำแพงทำเป็นโปร่งๆเป็นชนิดพนักลูกมะหวด แต่ใช้ศิลาแท่งสี่เหลี่ยมตั้งขึ้นแทนลูกมะหวด กำแพงสูงประมาณ ๓ ศอก ทางด้านเหนือกับด้านใต้มีประตูสำหรับเข้าไปในลาน ประตูด้านเหนือพังลงมาเสียแล้ว แต่ด้านใต้ยังตั้งอยู่เรียบร้อยใหญ่โตเป็นของน่าดูอย่างยิ่ง ทำด้วยศิลาแท่งเขื่องๆช่องประตูนั้นกว้าง ๕ ศอก แท่งศิลากรอบประตูทางด้านตั้งขึ้นไปสูง ๕ ศอกคืบ ๒ นิ้ว หนา ๑ ศอก ๒ นิ้ว กว้าง ๑ ศอกคืบ ๑ นิ้ว ศิลาบัวรองแผ่นพาดบนหนา ๑ คืบ ๒ นิ้ว ยาว ๒ ศอกคืบ กว้าง ๑ ศอกคืบ ๒ นิ้ว ศิลาแผ่นพาดบนประตูกว้าง ๓ ศอก ยาว ๘ ศอกคืบ ๕ นิ้ว หนา ๑ คืบ ๒ นิ้ว ประตูนี้จะมีอยู่เพียงเท่านี้แต่เดิมหรืออย่างไรไม่แน่ เพราะศิลามีกองอยู่ใกล้ๆนั้นหลายก้อน แต่เท่าที่เหลืออยู่นี้ดูก็สูงพออยู่แล้ว วัดจากพื้นดินถึงยอดซุ้มประตูเดี๋ยวนี้ ได้ถึง ๖ ศอกคืบ ๖ นิ้วแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าจะมียอดขึ้นไปอีกก็จะสูงมาก ได้ฉายรูปประตูนี้มาไว้ และได้พิมพ์ไว้ในที่นี้ด้วย ถ้าดูรูปคงจะเข้าใจได้ว่าประตูนี้สูงใหญ่เพียงใด เพราะได้ให้คนไปยืนอยู่ริมนั้นเพื่อจะได้เทียบความสูงใหญ่ด้วยแล้ว
ศิลาที่ใช้ทำประตูนี้และทำกำแพงแก้ว กับผนังลูกกรงในวัดเชตุพนนี้ ไม่ใช้ศิลาแลง เป็นศิลาดำซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า เพราะฉะนั้น ถึงแม้วัดนี้จะไม่มีอะไรเหลือเป็นชิ้นอยู่เลย นอกจากประตูอันเดียว ก็คงจะยังสันนิษฐานได้อยู่ว่าเคยเป็นวัดสำคัญ และไม่มีผู้ใดนอกจากผู้มีอำนาจเช่นราชาจะสามารถเป็นผู้ทำได้ ถึงแม้จะทำขึ้นในสมัยที่มีเครื่องมือใช้ดีๆแล้วเช่นในกาลปัตยุบันนี้ ก็คงจะไม่ได้ดีสนิทสนมเท่าที่ทำไว้ให้ปรากฏอยู่นั้น เพราะฉะนั้น จึ่งพึงสันนิษฐานว่าจะทำวัดเช่นนี้ได้ก็แต่ทางใช้อำนาจอาญาไม่ใช่อำนาจทรัพย์หรืออย่างอื่น ดูที่วัดเชตุพนนี้รู้สึกราวกับไปดูสถานต่างๆในประเทศอียิปต์ทำให้รู้สึกอิ่มใจ ว่าเราก็มีของประหลาดน่าอวดกับเขาบ้างเหมือนกัน
ซัดนี้ไม่ปรากฏชัดเจนว่ากล่าวถึงไว้แห่งใดบ้าง ในพงศาวดารเหนือมีกล่าวถึงวัดเชตุพนอยู่แห่งหนึ่ง คือกล่าวว่าพระมหาเถรไลลายได้พระบรมธาตุของพระพุทธเจ้า ๖๕๐ พระองค์ กับทั้งพระศรีมหาโพธิ ๒ ต้นมาแต่ลังกาทวีป เธอจึ่งพาพระมหาสาครไปเมืองสาวัตถีจึงถ่ายเอาอย่างวัดเชตวนารามมาสร้างไว้ต่อเมืองรอ แขวงบางพาน นอกเมืองกำแพงเพชร ที่วัดสังฆนาวาวาสดังนี้ แต่ต้องพึงเข้าใจว่าไม่ใช่พระเจ้ารามคำแหงเป็นผู้สร้าง คือจะเป็นวัดเก่า มีอยู่ก่อนมหาศักราช ๑๒๐๕ นั้นแล้ว เพราะถ้าแม้ "พ่อขุนรามคำแหง" ได้สร้างขึ้นแล้วคงจะต้องอวดและพูดถึงมากกว่าที่มีอยู่ในคำจารึกหลักศิลานั้นเป็นอันมาก
มานึกประหลาดใจอยู่นิดหนึ่ง ว่าเหตุใดวัดใหญ่โตงดงามเช่นนี้มาอยู่นอกเมือง ถ้าจะมีทางอธิบายอยู่ก็แต่ว่าเดิมเมืองตั้งอยู่ทางนั้น และวัดเชตพนอยู่ในเมือง แต่ภายหลังเมืองเลื่อนไปสร้างใหม่ในที่ซึ่งตั้งอยู่บัดนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็ต้องแปลว่าวัดนี้เก่ามาก เพราะเมื่อสมัยที่วงศ์ของพระเจ้ารามคำแหงเป็นราชาในเมืองสุโขทัยนั้น เมืองได้ตั้งอยู่แล้วในที่ซึ่งตั้งอยู่บัดนี้ ดังปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลาที่ ๑ แต่ตรวจดูในท้องที่ริมวัดเชตุพนนั้น ไม่พบชิ้นสำคัญอะไรที่จะถือเป็นพยานว่าเมืองเดิมได้อยู่ที่นั้น
และนึกถึงชื่อวัดอีกว่า "วัดพระเชตุพน" ดังนี้ ก็ดูน่าจะไปสร้างในที่เป็นวนะหรือป่า ซึ่งจะตรงตามแบบเชตุวนารามเดิม ซึ่งสร้างอยู่นอกเมืองสาวัตถี ฉะนั้นวัดเชตุพนที่สุโขทัยก็ไม่ห่างไกลจากเมืองนัก เพียง ๕๐ เส้น ซึ่งยังใกล้กว่าวิหารสูงพระอัฏฐารศลุกยืนและที่เขาพระบาทน้อย แต่ที่ทาง "พีหารอรญญิก" นั้น พ่อขุนรามคำแหงยังทรงช้างออกไปนบได้เนืองๆ "วนนเดือนพีเดือนเต็ม" ข้อนี้เป็นพยานอยู่ว่าวัดสำคัญๆไม่จำเป็นจะต้องอยู่ในเมืองทั้งนั้น แต่อย่างไรๆก็ดี วัดเชตุพนนี้เป็นวัดสำคัญและน่าดูอย่างยิ่งอันหนึ่งในเมืองสุโขทัย และถ้าผู้ใดไปที่นั้นไม่มีเวลาดูอื่นก็ควรพยายามไปดูวัดนี้จงได้
ต่อวัดเชตุพนไปทางตะวันออกยังมีวัดอยู่อีกวัดหนึ่ง ซึ่งราษฎรเรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้อง เพราะในนั้นมีพระเจดีย์อยู่องค์หนึ่งที่ฐานรองระฆังทำเป็นคูหาสี่ทิศ ต่อพระเจดีย์นั้นออกไปทางตะวันออกมีอุโบสถอยู่หลังหนึ่งซึ่งไม่สู้แปลกอะไร การก่อสร้างในวัดนี้ใช้แลงเป็นพื้น ที่โลบสถ์นี้ห่างจากวัดเชตุพนเพียงประมาณ ๒ เส้นเท่านั้น จึงเห็นว่าน่าจะเป็นวัดเดียวกับวัดเชตุพนนั้นเอง จริงอยู่ระหว่างวัดทั้ง ๒ นี้มีคูคั่นอยู่ แต่คูนี้อาจจะขุดขึ้นภายหลังก็ได้ หรือขุดเพื่อขังน้ำใช้ในวัดก็ได้ ถ้าวัดนี้ไม่ใช่อันหนึ่งอันเดียวกันกับวัดเชตุพนแล้ว ก็ต้องเป็นที่สร้างขึ้นภายหลัง เมื่อวัดเชตุพนหายเป็นวัดสำคัญเสียแล้ว แต่พิจารณาดูที่อุโบสถก็ดูท่าทางเป็นของโบราณ แลงที่ใช้ทำเสาก็เป็นก้อนเขื่องๆพอใช้ อีกประการหนึ่งภายในเขตที่เรียกว่าวัดเชตุพนนั้น อุโบสถหรือวิหารหามีไม่ จึงน่าสันนิษฐานว่า อุโบสถในที่ซึ่งเรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้องนี้เอง คืออุโบสถของวัดเชตุพน และวัดเจดีย์สี่ห้องนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดเชตุพน ที่ดินแปลงที่เรียกว่าวัดเชตุพนเดี๋ยวนี้เป็นแปลงที่รักษาไว้ให้สะอาดงดงาม เป็นที่พระราชาเสด็จและราษฎรไปนมัสการ ทางแปลงที่เรียกว่าวัดเจดีย์สี่ห้องเดี๋ยวนี้ เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์สามเณร
อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๔
(๑) ในคำจารึกพ่อขุนรามคำแหงเรียกว่า ทิศหัวนอนทิศหนึ่ง ทิศตีนนอนทิศหนึ่ง เมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้ ทรงสำคัญว่าทิศหัวนอนจะเป็นทิศเหนือ และทิศตีนนอนจะเป็นทิศใต้ตามคติพราหมณ์ แต่คติของไทยโบราณตรงกันข้าม ถือว่าทิศใต้คือทิศหัวนอน ทิศเหนือเป็นทิศตีนนอน เพื่อจะให้หนังสือเรื่องนี้ถูกถ้วนต้องเปลี่ยนตอนที่ ๘ (ตอนที่ ๔ - กัมม์) เป็น "ตอนหววนอน" เปลี่ยนตอนที่ ๙ (ตอนที่ ๕ - กัมม์) เป็น "ตอนตีนนอน" และต้องแก้ไขอธิบายในฉบับเดิมบ้างเล็กน้อย
....................................................................................................................................................