กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๓ เชลียง ศรีสัชนาลัย สวรรคโลก


อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย



....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๑ เดินทางไปสวรรคโลก


วันที่ ๓๑ มกราคม เวลาเช้า ๕ โมง ออกจากที่พักนอกเมืองสุโขทัยเก่า เข้าไปในเมืองทางประตูด้านตะวันออก บวงสรวงที่หลักเมืองและศาลเทพารักษ์(ศาลตาผ้าแดง) แล้วจึงขึ้นม้าออกเดินทางต่อไป ออกจากเมืองทางประตูด้านเหนือ เดินไปตามถนนโบราณที่ยังเรียกว่าถนนพระร่วงอีก ถนนแถบนี้ดูแน่นหนาดีกว่าทางที่มาจากเมืองกำแพงเพชร ที่ยังสูงเป็นค้นเห็นได้ถนัดอยู่ก็มี ที่ราบไปเสียยังคงเห็นแต่ทิวไม้ก็มี ที่ราบไปเสียนั้นสังเกตว่าเป็นที่ดอน เพราะฉะนั้นคงจะไม่ได้ตั้งใจถมให้สูงหรือให้แน่นหนาเหมือนในที่ลุ่ม ในแถบใกล้เมืองมีถนนตัดขวางข้ามไปหลายสาย ไปจากกำแพงเมืองประมาณ ๖๐ เส้น ข้ามลำแม่น้ำลำพันต้องทำสะพานข้าม เพราะลึกและกว้างพอประมาณ เวลาที่ข้ามไปนั้น น้ำแห้งหมด ตลิ่งชันมาก ทั้งสองฝั่งพื้นลำน้ำดูเป็นทราย ที่ตรงสะพานข้ามนั้นคะเนว่า ตั้งแต่พื้นลำน้ำขึ้นมาบนขอบตลิ่งประมาณ ๔ หรือ ๕ ศอก เพราะฉะนั้น ถ้าน้ำไม่เเห้งเสียแม่น้ำนี้ก็จะเป็นลำน้ำใหญ่อยู่ ถ้าทำทำนบกันลำน้ำนี้ และทำฝายมีเหมืองแบ่งน้ำเข้าไปตามทุ่ง บางทีตามแถบเมืองสุโขทัยเก่าจะบริบูรณ์ขึ้นอีกเหมือยอย่างเมื่อครั้งสมัย "พ่อขุนรามคำแหง" ยังเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยอยู่นั้น ตามที่เข้าใจก็ดูเหมือนว่าขัดข้องอยู่ในเรื่องเงิน เทศาภิบาลจึงคิดจัดการทำฝายไม่ได้ และถ้าได้มีเจ้าพนักงานในกรมคลองไปตรวจตามแถบนี้สักคราวหนึ่ง น่าจะเป็นประโยชน์ในการเพาะปลูกอยู่บ้าง

เดินทางไปจากเมืองสุโขทัยเก่าได้ ๒๐๐ เส้น ถึงตำบลวังยอ พักกินกลางวันที่นั้น

เวลาบ่าย ๒ โมงเศษ ขึ้นช้างจากตำบลคลองวังยอ เดินเลียบตามถนนพระร่วงไปโดยมาก ถนนตั้งแต่วังยอไปแลเห็นได้ถนัดเป็นคันสูงและกว้างมาก มีแห่งหนึ่งเมื่อจวนจะถึงตำบลคลองสระเกษ พรมแดนอำเภอเมืองกับอำเภอศรีสำโรงต่อกัน ถนนกว้าง ๖ วากว่า แต่พอข้ามคลองสระเกษไปแล้วหน่อยหนึ่ง ถนนออกจะไม่สู้เรียบร้อยเป็นก้อนๆไป แล้วก็เลยราบหายไปจนแลไม่เห็นเป็นคันเลย ถนนนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นถนนระหว่างเมืองสุโขทัยกับศรีสัชนาลัย ที่กล่าวถึงในหลักศิลาที่ ๒ ครั้นเวลาย่ำค่ำเศษถึงตำบลหนองยาวพักนอนคืนหนึ่ง

วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ขี่ช้างออกจากตำบลหนองยาวเวลาประมาณ ๔ โมงเช้าเดินเข้าในป่าประมาณ ๖๘ เส้น ผ่านวัดร้างวัดหนึ่ง ราษฎรเรียกชื่อว่าวัดป่าแดงใต้ โบสถ์ตั้งอยู่ริมทางที่ไป เป็นโบสถ์ย่อมๆก่อด้วยอิฐมีเสาแลง แต่เห็นไม่เป็นที่สำคัญ จึงมิได้แวะเข้าไปดู ต่อไปเดินทางไปได้ประมาณ ๑๑๐ เส้น ข้ามเข้าแดนเมืองสวรรคโลก เวลาเที่ยงถึงวัดร้างเรียกตามคำชาวบ้านว่าวัดโบสถ์ ถนนพระร่วงจากหนองยาวมาจนถึงวัดโบสถ์นี้เกือบจะไม่แลเห็นเลย แต่ยังมีทิวไม้มาพอสันนิษฐานเป็นเค้าได้ และเขาว่าที่ถนนนั้นดินยังรู้สึกได้ว่าแน่นกว่าที่ข้างๆถนน

ตัววัดโบสถ์เองนั้นก็เป็นที่น่าดูอยู่ ยังมีสิ่งที่เป็นชิ้นควรดูเหลืออยู่ชิ้นหนึ่ง คือมณฑปมีกำแพงแก้วล้อมรอบ มณฑปนั้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านละ ๕ วา ในนั้นพิจารณาก็เห็นท่าทางจะมีพระพุทธรูปนั่ง มีพระเจดีย์เล็กๆก่อไว้ในลานรอบมณฑป กำแพงแก้วที่ล้อมลานนั้นทำด้วยแลง เป็นก้อนกลมหรือแปดเหลี่ยมปักยึดกันทำนองรั้วเพนียด แล้วมีแลงแท่งยาวๆพาดเป็นพนัก พนักทำเป็นรูปหลังเจียดตัดยอด คะเนว่าสูงประมาณ ๒ ศอก แต่เดี๋ยวนี้ดินสูงขึ้นมาเสียมากแล้ว ที่สังเกตได้ว่ากำแพงแก้วเคยสูงกว่าเดี๋ยวนี้คือดูประตู ซึ่งมีอยู่สองประตู ทางด้านหน้าวิหารกับด้านหลัง ด้านหน้าพังเสียแล้ว แต่ด้านหลังศิลาทับกรอบบนประตูยังวางอยู่ตามที่ ประตูด้านหลังนี้เวลานี้คนธรรมดาจะลอดต้องก้ม จึงต้องเข้าใจว่าแต่เดิมต้องสูงกว่านี้ ศิลาแลงก้อนที่ทับบนกรอบประนั้นใหญ่พอใช้ เป็นรูปหลังเจียดตัดเหมือนที่พาดบนกำแพงแก้ว วัดดูได้ความว่าศิลาก้อนนั้นยาว ๖ ศอกคืบ ๑๐ นิ้ว กว้าง ๒ ศอก ๖ นิ้ว หนาแต่ล่างที่พาดอยู่กับเสาจนถึงยอดศอกคืบ หลังเจียดข้างๆกว้างข้างละ ๑ ศอก บนสันที่ตัดกว้าง ๑ ศอก เสาที่รับแท่งศิลาใหญ่นี้วัดโดยรอบ ๖ ศอก ทางสูงวัดไม่ได้แน่นอน เพราะไม่รู้ว่าดินพูนขึ้นมาเสียไหร่ ศิลาเสาทั้งสองคู้นั้นเป็นแลงทั้งแท่งไม่ใช่ตั้งต่อกัน เพราะฉะนั้นก็ต้องนับว่าแท่งใหญ่อยู่ลานภายในร่วมกำแพงแก้วนั้นนั้นประมาณ ๑๓ วา สี่เหลี่ยมจตุรัสมณฑปตั้งอยู่ที่ตรงกลาง ข้างหน้ามณฑปนอกกำแพงแก้วออกไปมีสระลึกและเขื่อนอยู่มีน้ำขัง พิจารณาดูก็เห็นว่าวัดนี้ไม่ใช่วัดเล็ก จึงทำให้เป็นที่พิศวงว่าเหตุไฉนวัดที่ทำด้วยฝีมือดีและซึ่งเข้าใจว่าต้องใช้กำลังคนมากเช่นนี้ จึงมาตั้งอยู่ในกลางป่า สืบดูก็ได้ความว่าทางทิศตะวันออกของวัดนี้ ที่ริมลำน้ำฝากระดานมีตำบลหนึ่งเรียกว่าเมืองบางขัง ห่างจากวัดโบสถ์ระยะประมาณ ๗๐ เส้น แต่ไม่มีคูมีเทินอะไรเหลืออยู่เลย

จากที่วัดโบสถ์นี้ได้ขี่ม้าไปทางประมาณ ๑๐๐ เส้น ถึงวัดที่ราษฎรเรียกว่าวัดใหญ่ ที่นี้มีกำแพงแลงล้อมรอบ ทำเช่นเดียวกับกำแพงแก้วที่ล้อมรอบมณฑปวัดโบสถ์ในร่วมกำแพงเป็นลานกว้างยาวประมาณเส้น ๑๐ วา สี่เหลี่ยม กลางลานนั้นมีพระพระธาตุฐานสี่เหลี่ยม แต่ตัวพระธาตุพังลงมาเสียแล้ว รอบพระธาตุมีเจดีย์บริวารหลายองค์ การก่อสร้างใช้แลงก้อนน้อยกับอิฐแผ่นเขื่องๆ ดูเนื้อแน่นดีราวกับอิฐพิมพ์ในปัตยุบันนี้ ที่นี้ได้พบชิ้นเข้าที คือเป็นรูปดอกบัวตูมมีกลีบปั้นซับซ้อนกันงามดีมีเป็นรูปอยู่ที่โคน เข้าใจว่าคงจะเป็นยอดเจดีย์ บัวนั้นทำด้วยดินเผาอย่างหม้อ

วัดนี้ดูก็เป็นวัดใหญ่จริงอยู่ ทำให้เชื่อว่าต้องมีเมืองอยู่ตามแถบนี้ ภายหลังจึงได้ความจากพระยาอุทัยมนตรี ว่าในป่าระหว่างวัดโบสถ์กับวัดใหญ่นี้ มีบ่ออยู่หลายบ่อ ซึ่งเป็นพยานว่ามีบ้านเมืองอยู่ตามแถบนี้ แต่คงไม่ใช่เมืองด่านจึงไม่ได้มีคูหรือเทิน แม่น้ำเดิมมีเค้าอยู่ว่าได้เข้ามาจนเกือบถึงริมทางเดิน แต่เดี๋ยวนี้ลำน้ำฝากระดานออกไปอยู่ห่างมาก จึงพอสันนิษฐานได้ว่าเมืองที่แถบนี้ต้องย้ายไปเพราะลำน้ำเปลี่ยนร่อง ลำน้ำเก่าเขินแห้งไปไม่มีน้ำกินก็ต้องอพยพลงไปหาลำน้ำใหม่

การเดินทางตั้งแต่ออกจากวัดโบสถ์ไปสะดวก และโดยมากร่มสบายดี เพราะเดินไปในป่าเป็นพื้น ในป่าตามแถบนี้ได้เห็นต้นสักอยู่บ้าง แต่ต้นยางนั้นได้เห็นมากทางเดินเลียบถนนพระร่วงไปโดยมาก บางทีก็ได้เดินไปบนถนนนั้นทีเดียว ไปจากวัดโบสถ์ได้ประมาณ ๑๔๐ เส้น ข้ามลำน้ำฝากระดาน ลำน้ำนี้กว้างประมาณ ๔ วา ลึกประมาณ ๗ ศอก ต้นน้ำไหลมาจากเมืองเถินผ่านเมืองสวรรคโลก ไปตกแม่น้ำยมในเขตเมืองสุโขทัย มีน้ำไหลเสมอไม่ขาด เทศาภิบาลบอกว่าชาวบ้านแถบนั้นถือกันว่าความไข้ชุม จึงไม่ได้จัดไว้ให้พักที่นั้น

ต่อจากลำน้ำฝากระดานไป ทางเดินไปตามถนนพระร่วงหรือบนถนนนั้น ตลอดไปจนถึงหนองจิก ข้างถนนมีคลองหรือคูไปตลอด บางแห่งกว้างเกือบ ๘ ศอก เข้าใจว่าขุดดินในคลองนี้เองขึ้นไปถมที่ถนน เพราะฉะนั้นถนนก็กว้างและแน่หนาดี ถนนบางตอยกว้าง ๖ วา หรือว่าเป็นอย่างกว้างเสมอ ไปได้เป็นตอนยาวๆยิ่งกว่าที่ได้เคยเห็นมาแล้ว เดินทางไปได้ประมาณ ๒๗๐ เส้นถึงตำบลหนองจิกอยู่ริมถนนพระร่วง ได้พักนอนที่นั้นคืนหนึ่ง

วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลาเช้า ๔ โมงออกจากตำบลหนองจิกใช้พาหนะม้าตลอด เดินตามถนนพระร่วง โดยมากเดินไปบนหลังถนนทีเดียว ในวันนี้ได้เห็นคลองที่ขุดไว้ริมถนนนั้นถนัด เพราะบางแห่งเดินเลียบไปริมคลองทีเดียว คลองนั้นคะเนด้วยนัยน์ตาว่ากว้างประมาณ ๘ ศอก ลึกประมาณ ๔ ศอก ส่วนถนนนั้นในตอนนี้อยู้ข้างจะดีมาก ดินเป็นลูกๆไม่สู้จะเสมอกันเสียบ้างก็มีจริงอยู่ แต่ดูแน่นแฟ้นดี และถนนกว้างราว ๖ วา

เดินไปตามถนนนั้นแต่หนองจิกประมาณ ๑๐๐ เส้นถึงสระมโนรา ถนนข้ามสระนี้ไปเป็นคันสูงและแน่นดี กว้างประมาณ ๕ วา สระนั้นกำหนดไม่ได้แน่ว่าใหญ่เท่าใด เพราะขอบพังและเขินขึ้นเสียจึงบอกว่าหมดเขตสระเพียงใด แต่คงคะเนได้ว่าโดยรอบประมาณ ๑๐๐ เส้น เพราะฉะนั้นพึงเข้าใจว่าไม่ใช่สระที่คนขุด คือตามความจริงก็เป็นบึงนั้นเอง ในสระมโนรานี้มีลำน้ำผ่านไปลำหนึ่ง เรียกว่าลำแม่กายาง ต่อจากคลองแม่ท่าแค ลำน้ำทั้งสองนี้มีน้ำไหลอยู่เสมอ ราษฎรตามแถบนี้ได้อาศัยใช้น้ำอยู่ตลอด จึงเข้าใจว่าเดิมเมื่อสระมโนรายังไม่เขินขึ้นมานั้น คงจะได้รับน้ำจากลำแม่กายาง และแม่ท่าแคนี้เองมาขังอยู่ นึกออกเสียดายที่สระนี้เขินมาเสียมากแล้ว มีน้ำขังอยู่ได้ แต่เป็นห้วงเล็กห้วงน้อย และมีต้นไม้ขึ้นเป็นพงเสียเกือบทั่วไป คิดดูว่าถ้าเป็นสระโล่งๆมีน้ำขังอยู่เต็ม จะเป็นที่สำราญน่าเที่ยวหาน้อยไม่ ครั้นได้เดินข้ามสระมโนราไปแล้วก็ได้หยุดพักกินข้าวที่ริมขอบสระในป่าไผ่ริมลำแม่กายาง รวมทางที่มาจากหนองจิกเบ็กเสร็จได้ ๒๐๐ เส้น

กินข้าวแล้วออกเดินจากสระมโนรา ไปได้ประมาณ ๗๐ เส้น ถึงหน้าเขาพระศรี เมื่อไปทุ่งหน้าเขานี้ถนนแลเห็นไม่ใคร่ได้ถนัด เพราะฉะนั้น คงจะไม่ได้ถมขึ้นมากแต่ในชั้นเดิม เพราะฉะนั้นมาในเวลานี้จนเกือบจะราบหายไปกับพื้นข้างถนนทางตัดข้ามไหล่เขาไป พอถึงทางที่ลงจากไหล่เขาแลเห็นถนนได้ถนัดขึ้นอีก คือทางข้างซ้ายมือแลเห็นเป็นคูแคบๆแต่ลึก ซึ่งเข้าใจว่าคงจะตั้งใจให้เป็นท่อสำหรับจ้ำตกจากถนน ริมถนนทางขวามือคือทางยอดเขานั้น มีเป็นก้อนศิลาแลงเรียงรายเป็นขอบถนน เป็นเช่นนี้ลงไปจนถึงเชิงเขาถนนจึงเป็นคันดินถมไปอย่างเดิม

ลงจากไหล่เขาได้ไม่ช้านักผ่านวัดสระปทุม ซึ่งมีวิหารรูปเดียวกับที่วัดศรีชุมเมืองสุโขทัย แต่วัดนี้หาได้แวะไปดูไม่ เดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงคูเมือง ถนนเลียบไปตามขอบคูด้านใต้ มีถนนแยกเลียบคูด้านตะวันตกเฉียงใต้ไปสายหนึ่ง คูเมืองนั้นสังเกตว่ากว้างและลึกอยู่ คะเนด้วยนัยน์ตาว่ากว้างกว่า ๑๐ วา ลึกหลายศอก แต่ในวันแรกที่เห็นนั้นมีต้นไม้ขึ้นรกเป็นพง เหลือที่จะทราบได้ว่าคูจะลึกเท่าใด เดินเข้าเมืองเก่าทางประตูด้านตะวันตกเฉียงใต้ เห็นกำแพงก่อด้วยแลงอย่างเช่นกำแพงเมืองกำแพงเพชร เดินผ่านไปในเมือง ผ่านวัดใหญ่ๆหลายแห่ง ไปจนถึงกำแพงด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพังลงมาเสียมากแล้ว เหลืออยู่แต่พอเป็นที่สังเกต มองแลเห็นแม่น้ำยม เดินเลียบตามแนวกำแพงด้านเหนือไปออกจากเมืองทางด้านตะวันออก เดินต่อไปอีกหน่อยถึงที่พักใกล้วัดน้อย คิดระยะทางจากสระมโนราได้ ๒๑๔ เส้น

คิดรวมระยะทางตั้งแต่ที่พักหน้าเมืองสุโขทัยเก่า จนถึงวัดน้อยเมืองสวรรคโลกเก่านี้เป็น ๑๓๐๕ เส้น ด็ก็ไม่ไกลนัก ถ้าจะขี่ม้าควบตะบึงมาตัวเปล่า ไม่มีเข้าของเป็นภาระ บางทีจะเดินทางจากสุโขทัยไปสวรรคโลกในวันเดียวได้ หรือถ้าจะให้สบายหน่อยก็นอนกลางทางคืนหนึ่ง ถนนพระร่วงนั้นที่จริงต้องนับว่ายังดีอยู่มาก ถ้าจะทำให้เป็นถนนดีขึ้นอีกก็ไม่ยากอันใด เพราะไม่ต้องการถม เป็นแต่เกลี่ยดินให้ราบตัดต้นไม้และถอนตอที่ขึ้นเกะกะอยู่บนนั้นเสีย กับทำสะพานข้ามลำน้ำลำห้วยเสียให้ดีแล้ว จะใช้เป็นถนนรถม้าหรือรถโมเตอร์ได้สบายอย่างเอก การที่จะทำถนนนี้เช่นกล่าวมาแล้ว ไม่เป็นการยากอันใดนัก แต่ถ้าทำขึ้นแล้วก็น่าจะเปลืองเงินเปลืองเวลาเปล่ากระมัง เพราะน่ากลัวจะไม่มีคนใช้ถนนนั้นเท่านั้น

อนึ่งที่พักที่วัดน้อยนั้น เทศาภิบาลเจ้าหน้าที่ในเมืองสวรรคโลกได้จัดเลือกที่ดีพอใช้ ได้ปลูกพลับพลาขึ้นที่ริมลำน้ำยมฝั่งใต้มองแลเห็นแก่งสัก ซึ่งอยู่เหนือน้ำขึ้นไปสักหน่อยหนึ่ง แม่น้ำตรงนี้ดูกว้างขวาง ตลิ่งสูงและชันน้ำไหลเชี่ยว ที่นี่ได้เปรียบสุโขทัยที่มีน้ำกินดีไม่อัตคัดเลย เพราะฉะนั้นจะอยู่กี่วันก็ได้

นึกๆก็ทำให้ประหลาดว่าเหตุใดจึงได้ทิ้งเมืองให้ร้าง ไม่ใช่เพราะกันดารน้ำเช่นสุโขทัย หรือเพราะเกิดห่าลงเช่นเมืองท้าวอู่ทองที่มีกล่าวถึงอยู่ในพงศาวดารเหนือนั้น เพราะว่าถ้าเป็นด้วยเหตุสองประการนี้แล้ว เมืองคงจะต้องอยู่ในป่าในดงห่างไกลบ้านคน แต่นี่ไม่เป็นเช่นนั้น ตำบลบ้านเมืองเก่ามีเรือนหลายสิบหลังคาเรือน มีผู้คนอยู่มาก แต่ไม่มีอยู่ในกำแพงเลย อยู่นอกกำแพงทั้งนั้น ข้อนี้จะเป็นด้วยเหตุใดก็เดายาก บางทีจะเป็นด้วยกล้วเจ้าปีศาจอะไรๆต่างๆเช่นนั้นกระมัง แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็ดูน่าเสียดายที่ไม่กลัวเสียให้มาก ถ้าความกลัวนั้นครอบงำเสียให้ได้จริงๆ แล้วโบราณสถานและวัตถุต่างๆก็จะไม่หักพังไปเช่นที่ได้เห็นนั้น


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๒ เรื่องเมืองสวรรคโลก ในพงศาวดารเหนือ


เมืองสวรรคโลกนี้ จะหาหลักฐานให้ดีเท่าที่เมืองสุโขทัยยาก เพราะไม่ได้อาศัยข้อความจารึกในหลักศิลาเช่นที่สุโขทัย พระเจ้ารามคำแหง หรือก็อยู่เสียที่เมืองสุโขทัย จึงไม่ใคร่ได้เล่าเรื่องเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย ตามความที่สันนิษฐานประกอบจากข้อความในหลักศิลาเมืองสุโขทัยทั้งสองหลัก คงได้ความว่า ในสมัยที่ใกล้ๆกับอายุหลักศิลานั้น สุโขทัยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไทย คือราชาผู้เป็นใหญ่ในรัฐจังหวัด ซึ่งเราเรียกกันว่าเมืองเหนือบัดนี้ ได้สถิตอยู่ ณ เมืองสุโขทัย ตามที่พอจะรู้ได้อยู่นั้น ๕ องค์ คือ

๑. พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ (พระราชบิดาพระเจ้ารามคำแหง
๒. พระเจ้าบานเมือง (พระเชษฐาพระเจ้ารามคำแหง)
๓. พระเจ้ารามคำแหง (ผู้สร้างศิลาจารึก)
๔. พระเจ้าลือไท หรือพระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตหฤทัยไชยเชฐสุริยวงศ์ (โอรสพระเจ้ารามคำแหง)
๕. พระเจ้าธรรมิกราช หรือพระบาทสมเด็จกมรเตญอัตศรีสุริยพงษ์รามมหาธรรมิกราชาธิราช (โอรสพระเจ้าลือไทย และผู้จารึกหลักศิลาที่ ๒ กับหลักศิลาเมืองกำแพงเพชร)(๑)

ส่วนเมืองสวรรคโลกในระหว่างนี้เข้าใจว่า มีเจ้าอยู่ครองเหมือนกัน แต่สุโขทัยเป็นเมืองใหญ่กว่าหรือจะเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย ในหลักศิลาที่ ๒ ปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าธรรมิกราชได้ไปครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ จนพระเจ้าลือไทประชวรหนัก ในเมืองสุโขทัยเกิดขบถขึ้น จึงได้ยกทัพไปสุโขทัยปราบพวกคิดมิชอบแล้วขึ้นครองราชสมบัติแทนพระราชบิดา แต่ถึงเมื่อพระเจ้าธรรมิกราชมาครองสุโขทัยอยู่แล้วเช่นนั้นก็ดี ต้องเข้าใจว่าศรีสัชนาลัยหาได้ว่างอยู่เปล่าไม่ เพราะมีปรากฏอยู่ในข้อความที่จารึกหลักศิลาที่ ๒ นั้นว่า พระเจ้าธรรมิกราชทรงรำลึกถึงพระเชษฐาที่ครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ จึงเสด็จไปเยี่ยมดังนี้

จะต้องสันนิษฐานได้สองประการ ประการหนึ่งว่า พระเจ้าธรรมิกราชชิงเอาราชสมบัติในกรุงสุโขทัยแล้วไล่พระเชษฐาไปอยู่เมืองศรีสัชนาลัย หรืออีกประการหนึ่ง พระเจ้าธรรมิกราชตั้งแต่ยังเป็นมหาอุปราชกรุงสุโขทัยอยู่นั้น ได้ไปได้พระราชธิดาแห่งราชาเมืองศรีสัชนาลัยเป็นชายาจึงเลยไปอยู่ที่เมืองนั้น ครั้นเมื่อได้ราชสมบัติในกรุงสุโขทัยแล้ว พระราชโอรสแห่งพระราชาเมืองศรีสัชนาลัย ก็คงอยู่ครองเมืองสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามประเพณี และโดยเหตุที่ท่านผู้นี้เป็นพระเชษฐาแห่งชายา พระเจ้าธรรมิกราชก็เลยเรียกเชษฐาด้วย ซึ่งไม่ประหลาดอะไร เพราะถูกต้องตามพระราชประเพณีโบราณ ที่พระราชานับเนื่องเป็นญาติวงศ์กันหมด

สุโขทัยในเวลานั้นคงจะเป็นเมืองหลวงแห่งคณะไทยฝ่ายเหนือ อย่างเช่นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงแห่งคณะไทยฝ่ายใต้ และถ้าจะเปรียบเทียบกันต่อไปอีก ก็พึงจะกล่าวได้ว่า กรุงสุโขทัยกับเมืองศรีสัชนาลัยเกี่ยวข้องกันเท่าๆกับกรุงทวาราวดีกับเมืองสุพรรณเมื่อสมัยพระเจ้าอู่ทองฉะนั้น คือศรีสัชนาลัยก็ไม่ได้เป็นข้าสุโขทัย และสุพรรณก็ไม่ได้เป็นข้ากรุงทวาราวดี เป็นแต่ปรองดองเป็นพวกเดียวกันเพื่อประโยชน์แห่งกันและกัน แต่ธรรมดาเมือที่รวมกันเข้าเป็นก๊กเช่นนั้น จำจะต้องยกเมืองใดเมืองหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าก๊ก เพื่อจะได้มีความคิดให้ตรงกันเช่นนั้น ถ้าจะเปรียบกับการในสมัยใหม่นี้ ก็ต้องเปรียบกับประเทศเยอรมนี ซึ่งมีนครรวมกันอยู่หลายนคร ต่างนครก็มีเจ้ามีขุนปกครองอยู่ แต่เพื่อหาประโยชน์ที่จะป้องกันตัวให้แข็งแรงขึ้น ได้พร้อมใจกันสมมุติเลือกราชาแห่งกรุงปรุสเซียให้เป็นหัวหน้าก๊ก เรียกตามภาษาเยอรมนีว่า "ไกเซอร์" (อังกฤษเรียก "เอมเปเรอ") ดังนี้ การที่ได้สมมุติเลือกให้เป็นหัวหน้าก๊กเช่นนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าพระราชาแห่งปรุสเซียนั้น จะยกพระองค์เป็นราชาธิราชเช่นพระเจ้าจักรพรรดิได้ ฉันใด เข้าใจว่าพระเจ้ากรุงสุโขทัยก็คงจะไม่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นกัน

พงศาวดารเหนือดูมีกล่าวถึงเรื่องสร้างเมืองสวรรคโลกละเอียดลออมาก แต่ไม่ได้มีกล่าวถึงเรื่องเมืองสุโขทัยเลย ไปมีกล่าวต่อเมื่อเล่าเรื่องพระร่วงแผลงอิทธิฤทธิ์ ตักน้ำใส่ชะลอมเท่านั้น ส่วนสวรรคโลกซิกล่าวเสียยืดยาว ว่าฤๅษีสัชนาลัยกับฤๅษีสิทธิมงคลเป็นผู้มาชี้ให้พวกพราหมณ์บุตรหลานสร้าง มีบาธรรมราชเป็นประธาน บาธรรมราชนี้ พระฤๅษีตั้งแต่งไว้ให้ครองเมืองสวรรคโลก ให้นามเรียกว่าพระยาธรรมราชา นับว่าเป็นต้นวงส์กษัตริย์ในเมืองศรีสัชนาลัย ส่วนเมืองที่พระยาธรรมราชาสร้างขึ้นนั้น ว่ากว้าง ๕๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น กำแพงหนา ๘ ศอก สูง ๔ วา ภายหลังมีข่าวว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสน จะยกทัพลงมา พระเจ้าพสุจราชผู้ครองเมืองศรีสัชนาลัยในเวลานั้น ได้สั่งขุนไตรภพนาถจัดการเตรียมรับทัพเชียงราย ให้ย่อกำแพงเข้าไปเป็นป้อมให้รอบเมือง จึงเข้าใจว่าในสมัยนี้ได้แก้ไขเมืองแปลกไปกว่าที่เป็นอยู่เดิมไม่มากก็น้อย

แต่พงศาวดารเหนือนั้น ถ้าใครถือยึดมั่นเป็นตำราเป็นหลักคงต้องยุ่งเป็นแน่ ศักราชนั้นไม่ต้องป่วยกล่าว ถ้าจะไม่ลงไว้เสียเลยแทบจะดีกว่า ลงไว้ทำให้ยุ่งไม่เป็นท่า ถึงเรื่องราวต่างๆก็สับสน จับโน่นชนนี่ยุ่ง แต่จะปรับว่าเป็นเหลวไหลไปทั้งหมดนั้นไม่ได้ เพราะบางเรื่องก็มีมูล หากเล่ากันไปเล่ากันมาคลาดเคลื่อนเลอะเทอะไปเท่านั้น ลองจับตรวจดูแต่เรื่องพระร่วงเท่านั้น ก็จะพอเห็นเป็นตัวอย่างได้เก็บมาเป็นตอนๆ เฉพาะที่เกี่ยวแก่พระร่วงคงได้ความดังต่อไปนี้

๑. จุลศักราช ๘๖ ปีกุน พระยาอภัยคามมณี เจ้าเมืองหริภุญชัยนครออกไปจำศีลอยู่ในภูเขาใหญ่ ร้อนถึงอาสนนางนาคๆก็ขึ้นมาในภูเขาใหญ่ พบพระยาจำศีลอยู่ ก็มาเสพเมถุนด้วยกัน นางนาคอยู่ได้ ๗ วันก็ลากลับลงไป พระยาอภัยคามมณีจึงให้ผ้ารัตกัมพลและพระธำมรงค์ไปกับนางนาค อยู่มานางนาคมีครรภ์แก่ ขึ้นไปที่ภูเขาใหญ่ ประสูติกุมาร ผ้าและแหวนนั้นนางนาคก็ให้แก่ลูกตน แล้วก็หนีลงไปเมืองนาค มีพรานผู้หนึ่งมาพบกุมาร พรานก็เก็บเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุณธรรม ต่อมาพระยาอภัยคามมณีใช้ให้เสนาอำมาตย์สร้างปราสาท พรานนั้นต้องเกณฑ์มาทำงานด้วย จึงเอากุมารบุตรบุญธรรมเข้าไปด้วย ก็ไปเกิดมหัศจรรย์ต่างๆขึ้นจนพระยาอภัยคามมณีทรงทราบว่า กุมารนั้นเป็นพระราชโอรสของพระองค์ เพราะจำผ้าแลพแหวนได้ จึงเลยรับกุมารนั้นไว้ในวัง ให้นามว่าเจ้าอรุณราชกุมาร เลี้ยงไว้ด้วยกันกับเจ้าฤทธิกุมาร ซึ่งเป็นโอรสเกิดด้วยพระมเหสีมนุษย์

๒. "พระยาอภัยคามมณีมาคิดแต่ในพระทัยว่า เมืองใดจะสมควรแก่ลูกแห่งกูนี้ จึงเห็นแต่เมืองศรีสัชนาลัยยังแต่พระราชธิดาและพระราชบุตรหามิได้ และพระยาอภัยคามมณีจึงเอาเจ้าอรุณราชกุมารเป็นพระยาในเมืองศรีสัชนาลัย ก็ได้นามชื่อพระยาร่วง" ตามความข้อนี้ ถ้าอ่านแปลความในเข้าไปอีก ต้องแปลว่าเจ้าอรุณราชมาอ๓เษกกับนางพระยาในเมืองศรีสัชนาลัย และวงศ์กษัตริย์เดิมไม่มีใครสืบสันตติวงศ์ เจ้าอรุณจึงได้ครองเมืองสัชนาลัยต่อมา ส่วนนามที่เรียกว่าพระยาร่วงหรือพระร่วงนั้น พระยาประชากิจกรจักรได้กล่าวเดาไว้ในหนังสือเรื่องพงศาวดารโยนกว่าน่าจะมาแต่คำว่า พระเจ้าหลวงหรือพระยาหลวงเมืองสุโขทัย แต่หากจะเขียนอักษรผิดตัวเขียนหลวงเป็นรวงไป คนจะชื่อตกชื่อร่วงไม่เห็นมี ความเห็นของข้าพเจ้าเองไม่ตรงกับพระยาประชากิจ ข้าพเจ้าเห็นว่าอาจจะชื่อร่วงได้ แต่ร่วงในที่นี้ไม่ใช่แปลว่าตก แปลว่าสว่าง คือคำเดียวกับรุ่งนั้นเอง ที่คิดเช่นนี้คือเห็นชื่อของพระร่วงนั้น ตามพงศาวดารเหนือก็ว่าชื่ออรุณราช แปลได้ว่ารุ่ง และในชินกาลมาลินีก็มีกล่าวนามราชาสุโขทัยไว้องค์หนึ่งว่าโรจนราช โรจน นี้ก็คือรุ่งอีก ภาษาเราเดี๋ยวนี้ยังมาใช้เป็นคำควบกันอยู่ว่ารุ่งโรจน์หรือรุ่งเรือง เพ่งเล็งความอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น การที่คนจะชื่อรุ่งนั้นดูไม่ขัดขวางอย่างไร ถ้าเป็นราชาเรียกว่าพระรุ่ง ดูจะออกดีๆเสียอีก

๓. พระร่วงนั้นต้องพุทธทำนาย "อายุพระองค์เจ้าได้ ๕๐ ปี พอคำรบพระพุทธศักราชได้ ๑๐๐๐ ปี จุลศักราช ๑๑๙ ปีมะโรงนพศก" จุลศักราชในที่นี้ไม่ใช่ที่เราใช้กันอยู่ในกาลบัดนี้ ปีมะโรงจึงเป็นนพศกได้ แต่ถ้าจะยอมหลับตาไม่ดูศักราชเสียทีหนึ่ง ก็อ่านได้ความว่า "จึงคนอันเป็นใหญ่กว่าทั้งหลาย นำเอาช้างเผือกงาดำกับเขี้ยวงูมาถวายแก่พระองค์ ด้วยบุญที่พระองค์ทำหุ่นช้างใส่ดอกไม้ถวายแก่พระพุทธเจ้าแต่ชาติก่อน และเมื่อพระองค์จะลบศักราช พระพุทธเจ้าจึงนิมนต์ให้พระอชิตเถรและพระอุปคุตเถร และพระเถรไลยลายคือพราหมณ์ เป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพ (พราหมณ์พฤติบาศกระมัง) และพระอรหันตเจ้าทั้ง ๕๐๐ พระองค์ ทั้งพระพุทธโฆษาจารย์วัดรังแร้ง และชุมนุมพระสงฆ์เจ้าทั้งหลาย ณ วัดโคกสิงคารามกลางเมืองศรีสัชนาลัย และท้าวพระยาในชมพูทวีป คือไทยและลาวมอญจีนพม่าลังกา พราหมณ์เทศเพศต่างพระองค์จ่าให้ทำหนังสือไทยเฉียงมอญพม่าไทย และขอมเฉียงขอมมีมาแต่นั้น" เรื่องทำหนังสือนี้คงมีมูลเหตุอยู่ที่พระเจ้ารามคำแหงคิดทำหนังสือ ดังปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลาที่ ๑ ว่า "เมื่อก่อนลายสืไทนี้บ่มี ๑๒๐๕ ศกปีมแม พ่ขุนรามคํแหงหาใคร่ใจในใจแลใส่ลายสืไทนี้ ลายสืไทนี้จึงมีเพื่อขนผู้น้นนใส่ไว้พ่อขุนรามคำแหงน้นน หาเปนท้าวเปนพรญาแก่ไททงงหลาย หาเปนครูอาจารย์ส่งงสอนไททงงหลาย ให้รู้บุญรู้ธรรมแท้แต่คนอนนมีในเมืองไทย" ข้าพเจ้าอยากเดาต่อไปว่าสุภาษิตพระร่วงนั้น ได้เริ่มเก็บรวบรวมขึ้นในสมัยพระเจ้ารามคำแหงนี้เหมือนกัน แต่คงจะไม่ใช่เป็นของคนๆเดียวแต่ง คงจะได้แต่งกันหลายคน และไม่ใช่แล้วเสร็จในคราวเดียว แต่งเพิ่มเติมต่อกันหลายยุค จึงมีข้อความซ้ำกันอยู่บ้าง หากสำนวนผิดกันเท่านั้น

๔. "พระยาร่วงมีพระราชโองการตรัสแก่เจ้าฤทธิกุมารว่า พระยากรุงจีนเหตุใดจึงมิมาช่วยลบศักราช มาเราพี่น้องจะไปเอาพระยากรุงจีนมาเป็นข้าเราให้ได้" ต่อนี้ไปก็เล่าถึงเรื่องพระยาร่วงกับอนุชาลงเรือไปเมืองจีน พระยากรุงจีนกลัวบารมีให้คนออกมารับขึ้นไปบนเรือนหลวงรับเสด็จอย่างอ่อนน้อม แล้วยกนางราชธิดาให้แก่พระยาร่วง ผ่าตรามังกรออกเป็นสองภาค ข้างหางให้พระราชธิดา พระร่วงพานางพสุจเทวีชายานั้นลงงเรือ พร้อมด้วยเจ้าฤทธิกุมารและฝูงจีนทั้งหลาย ๕๐๐ เป็นบริวาร ใช้สำเภาไปได้เดือนหนึ่งถึงเมืองสัชนาลัย มีจีนมาทำถ้วยชามแต่นั้น เรื่องพระร่วงไปเมืองจีนนี้หาหลักฐานอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าแม้จะไปจริงก็ดูเหมือนจะได้ ไม่ขัดขวางอันใด แต่ที่ว่าจะไปต่อว่าเรื่องไม่มาลบศักราชนั้นดูกระไรอยู่ น่าจะไปเพื่อประสงค์ประโยชน์อย่างอื่น คือเมืองจีนในสมัยนั้น ต้องเข้าใจว่าไทยเรานับถือเป็นเมืองที่จะเจริญรุ่งเรืองอย่างยิ่ง น่าจะไปดูความเจริญและวิธีปกครองหรือการอื่นเพื่อเก็บจดจำมาใช้ในเมืองไทยบ้าง

๕. "เมืองพิชัยเชียงใหม่มีแต่พระราชธิดา และหาพระราชบุตรมิได้ อำมาตย์เมืองพิชัยเชียงใหม่จึงกราบทูลขอพระราชทานเจ้าฤทธิกุมาร จะให้ไปเสวยราชสมบัติสืบตระกูลมิให้ขาดเสียได้ และสมเด็จพระเจ้าอรุณราชจึงทรงพระราชทานเจ้าฤทธิกุมารผู้เป็นน้องเสด็จขึ้นไปด้วยกัน และให้เจ้าพสุจกุมารอยู่รักษาเมืองกับนางพสุจเทวี" เจ้าพสุจกุมารนี้มาแต่ไหนแต่ไรก็ไม่ได้ยินชื่อเลย พึ่งมาโผล่ขึ้นเมื่อตอนต่อจากเรื่องกลับมาจากเมืองจีนแล้ว "จึงเอาพสุจกุมารผู้เป็นน้อง ตั้งพระราชวังอยู่นอกเมือง และเจ้าพสุจกุมาร เจ้าฤทมธิราชกุมาร เป็นอันรักใคร่กันเป็นหนักหนามิได้ฉันทาโทษาแก่กันไปมาด้วยกัน เข้าไปถวายบังคมด้วยกันมิได้ขาดในพระราชวัง" ดังนี้ จะพึงรู้ได้อย่างไร พสุจกุมารนี้เป็นน้องพระอรุณราชเอง หรือเป็นน้องพระมเหสีก็ดูไม่แจ่มแจ้งนัก แต่อย่างไรๆเห็นได้ว่าเป็นที่ไว้วางใจกันมาก จึงมอบให้รักษาพระนครเวลาเสด็จไม่อยู่ได้ ส่วนพระยาร่วงขึ้นไปส่งพระฤทธิกุมารน้องชายอภิเษกให้ครองเมือง เป็นพระยาลืออยู่กับนางมลิกาเทวี แล้วก็เสด็จกลับคืนมาเมืองพระองค์ดังเก่า

๖. "พระยาร่วงนั้นคะนองนัก มักเล่นเบี้ยและเล่นว่าว ไม่ถือตัวว่าเป็นท้าวเป็นพระยา เสด็จไปไหนก็ไปคนเดียว และพระองค์เจ้าก็รู้ทั้งบังเหลื่อมรู้จักเพททุกประการ ว่าให้ตายก็ตายเอง ว่าให้เป็นก็เป็นนเอง อันหนึ่งขอมผุดขึ้นมาแล้วก็กลายเป็นหินแลง และขอมก็ขึ้นไม่ได้ด้วยวาจาสัจแห่งพระองค์ พระองค์ได้ทำบุญแต่ชาติก่อนมา และเดชะแก้วอุทกปราสาทพระยากรุงจีนหากให้มาแก่พระองค์ๆจะไปได้ ๗ วัน น้ำมิเสวยก็ได้" ในตอนนี้เห็นได้ถนัดยิ่งกว่าตอนอื่น ว่าจับโน่นชนนี่คละกันไปจนเชื่อมหัวต่อไม่ติด คนๆเดียวมีนิสัยได้สองอย่างเกือบตรงกันข้าม อย่างหนึ่งเป็นนักเลงกักขฬะต่างๆ หรือเพราะความอยากจะเชื่อวิทยาอาคมนั้นเอง ทำให้เป็นคนเก่งกักขฬะไป เหมือนเช่นคนเก่งๆในชั้นเรานี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ดูไม่ตรงกับที่กล่าวไว้ว่า "ตั้งแต่ทำบุญให้ทานรักษาศีล" เมื่อกลับมาจากเมืองจีนใหม่ๆ และก่อนหน้าที่จะขึ้นไปส่งพระฤทธิกุมารนั้น พระร่วงเป็นคนเรียบร้อยดี ครั้นกลับมาจากเมืองพิชัยเชียงใหม่แล้ว จึงมาเกิดเล่นเบี้ยเล่นว่าวและประพฤติตนกักขฬะขึ้น ถ้าเช่นนั้นมิต้องซัดหรือว่าใจไปแตกมาจากเหนือ ถ้าจะนึกดูตามเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้วดูไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อลบศักราชนั้นอายุพระร่วงก็ถึง ๕๐ ปีแล้ว คนที่อายุถึงเพียงนี้แล้วไม่น่าจะใจแตกไปได้ถึงเพียงนั้นเลย ส่วนเรื่องขอมกลายเป็นแลงที่แย้มขึ้นมานิดหนึ่งในที่นี้ ก็ซ้ำกับเรื่องพระร่วงที่ตักน้ำใส่ชะลอม ซึ่งตามพงศาวดารเองกล่าวว่าเป็นคนละคนกับท่านที่ลบศักราช ขอมจะดำดินมาให้ถูกสาปกลายเป็นหินไปถึง ๒ ครั้งทีเดียวหรือ

๗. ใช่ว่าจะหมดเรื่องราวอยู่เพียงเท่านั้น การเล่นว่าวของพระร่วงยังทำให้เกิดเหตุยุ่งใหญ่อีก คือว่าวขาดลอยไปตกที่เมืองตองอู ไปติดอยู่บนปราสาท พระร่วงตามว่าวไปถึงเมืองตองอู ครั้นเวลาค่ำก็ลอบเข้าไปทำชู้ด้วยธิดาพระยาตองอู เท่านี้ยังไม่พอ หนำซ้ำเมื่อจะขึ้นหยิบเอาว่าวนั้น ยังได้ให้พระยาตองอูยืนอยู่แล้วขึ้นเหยียบบ่า ครั้นเอื้อมไม่ถึงก็เหยียบขึ้นไปบนหัวอีกทีหนึ่ง ประพฤติเหมือนกับเด็กหนุ่มคะนองแท้ๆ เพราะฉะนั้น เมื่อภายหลังพระยาตองอูสาวไส้ใส่พานทองไว้แล้วส่งตัวคืนไปนั้นดูเป็นการควรอยู่บ้าง เรื่องนี้ต้องกล่าวท้วงอย่างเช่นในข้อ ๖ นั้นอีก คือว่าความประพฤติพระร่วงไม่สมกับคนอายุเกินกว่า ๕๐ ปีขึ้นไปแล้วเลย เรื่องพระร่วงไปทำวุ่นวายในเมืองตองอูนี้ อ่านดูคล้ายเรื่องพระร่วงไปผิดเมียพระยางำเมืองเจ้าเมืองพะเยา จนต้องไปเชิญพระยาเมงราชเมืองเชียงรายมาพิพากษา ซึ่งพระยาประชากิจกรจักรได้เล่าไว้ในหนังสือพงศาวดารโยนก (หน้า ๗๐) นั้น จึงน่าสงสัยว่าจะเป็นเรื่องเดียวกันนั้นเอง เลอะที่เวลาเท่านั้น

๘. "ครั้นพระร่วงเจ้ามาถึงเมืองสัชนาลัย และมายังพระอัครมเหสีและพระสนมทั้งหลายๆถวายบังคมแล้ว ก็เปลื้องอาภรณ์ออกจากพระองค์ไว้แล้ว และเจ้าพสุจกุมารก็เข้าไปถวายบังคม จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งเจ้าพสุจกุมารว่า กูจะไปอาบน้ำ มิเห็นกูมา เจ้าเป็นพระยาแทนที่เถิด และเจ้าพสุจกุมารก็ไม่รู้และสำคัญว่าว่าเล่น ครั้นพระองค์ลงไปอาบน้ำที่แก่งกลางเมือง ก็อันตรธานหายไปไม่ปรากฏ ในพุทธศักราช ๑๒๐๐ พระร่วงสิ้นทิวงคต" ข้อที่ว่าพระร่วงจมน้ำทิวงคตนี้ ข้าพเจ้าก็เชื่อว่ามีมูลอยู่บ้าง คือคงมีพระราชาเมืองสัชนาลัยองค์หนึ่งได้จมน้ำถึงทิวงคตจริง แต่ไม่ใช่องค์เดียวกับที่ลบศักราช ไม่ต้องไปหาข้อความที่อื่นมาเถียง เก็บข้อความในพงศาวดารเหนือนี้เองมาเถียงกันเองก็พอ คือพระร่วงเมื่อลบศักราชนั้นกล่าวว่าพระชนม์ได้ ๕๐ ปีแล้ว เวลานั้นพุทธศักราช ๑๐๐๐ ถ้วน เมื่อจมน้ำนั้นพุทธศักราช ๑๒๐๐ ถ้วน เพราะฉะนั้นอายุพระร่วงได้ ๒๕๐ ปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งไม่จำเป็นจพต้องกวล่าวว่าเป็นไม่ได้เด็ดขาด แต่ที่กล่าวว่าอายุพระร่วงได้ ๕๐ ปีเมื่อลบศักราชนั้นก็ผิดเสียแล้ว เพราะตามคำทำนายของฤๅษีสัชนาลัยมีอยู่ว่า " ณ พฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะโรงโทศก ภายหน้าจะได้ลูกนาคมาเป็นพระยา ตั้งแต่พระพุทธเจ้านิพพานได้ ๕๐๐ ปี" ต่อมาเรื่องราวก็กล่าวว่าสมกับสมกับทำนายของฤๅษี เพราะฉะนั้นเมื่อลบศักราชอายุพระร่วงไม่ใช่ ๕๐ ปี แต่ ๕๐๐ ปี (ที่ว่า ๕๐ นั้นบางทีจะผิดเมื่อคัด) และเพราะฉะนั้นเมื่อจมน้ำอายุพระร่วงได้ ๗๐๐ ปี กลับร้ายไปกว่าเก่าอีก กล่าวแต่เพียงเท่านี้ก็พอแลเห็นได้แล้วว่าเลอะ

รวบรวมใจความว่าพงศาวดารเหนือนั้น ไม่เป็นตำนานอันควรยึดถือเป็นหลักฐานให้มั่นนัก ผู้แต่งคงจะได้เก็บเรื่องนิทานต่างๆมาผสมกันเข้าตามบุญตามกรรม เชื่อมหัวต่อกันเข้าก็ไม่ใคร่จะติด แต่ข้อที่เกณฑ์ให้พระร่วงเป็นลูกนาคนั้น ก็ไม่เป็นของประหลาด เพราะเป็นธรรมดาของผู้แต่งเรื่องราวพงศาวดารของผู้เป็นใหญ่ ต้องไม่อยากยอมว่าผู้เป็นใหญ่นั้นได้มีวงศ์สกุลอันต่ำมาก่อน จึงต้องคิดให้เป็นลูกนาคหรือมาจากสวรรค์ แต่พระเจ้าอู่ทองต้องให้เป็นลูกตาแสนปม หรือถ้าจะหาตัวอย่างให้ใกล้สมัยเราลงมาอีก คือขุนหลวงเสือยังต้องไปยกให้เป็นพระโอรสสมเด็จพระนารายณ์ เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าใครมีชาติกำเนิดแปลกกว่ามนุษย์ธรรมดา แปลว่าผู้นั้นได้ตั้งวงศ์ขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นก็พึงเข้าใจได้ว่าพระร่วงนั้นเป็นผู้ตั้งตระกูลใหม่เหมือนกัน แต่ตามความจริงจะได้มาเป็นเจ้าขึ้นในเมืองสัชนาลัยเมื่อไรแน่ และจะมีอายุเท่าไรแน่ ตายเมื่อไรแน่ ล้วนเป็นสิ่งต้องงดไว้ เหลือที่จะเดาได้

ส่วนเรื่องพระร่วงบุตรนายคงเครานายส่วยน้ำ ที่ตักน้ำใส่ชะลอม และถายหลังได้เป็นขุนในเมืองสุโขทัย เมื่อพุทธศักราช ๑๕๐๒ ปีนั้น ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวถึงมาเลย เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องนิทานเกร็ดเป็นพื้น ไม่น่าจะนับถือเป็นเรื่องพงศาวดารเลย

ตามที่ข้าพเจ้าได้เก็บเรื่อง พระเจ้าอรุณราชหรือพระร่วงจากพงศาวดารเหนือมาลงไว้แล้วนี้ ก็พอจะเห็นได้ว่าพงศาวดารเหนือมีราคาเพียงไร ข้าพเจ้าเห็นว่าถ้าใครที่เริ่มจับเล่นในทางโบราณคดี ถ้ายึดพงศาวดารเหนือเป็นหลักแล้วจะไปไหนไม่รอด เปรียบเหมือนเรือที่ผูกแน่นไว้กับหลักเสียแล้ว จะแจวไปเท่าใดก็คงไม่แล่น แต่ที่จะทิ้งพงศาวดารเหนือเสียทีเดียวก็ไม่ควร เพราะบางทีก็มีข้อความที่ชักนำให้ความคิดแตกออกไปได้บ้าง คือเมื่อได้อ่านข้อความอะไรในหนังสือนั้น ที่เหลือเกินที่จะเชื่อได้ต่างๆ บางทีทำให้คิดไปว่าทำไมอยู่ดีๆ เขาจะคิดแต่งขึ้นเล่นเฉยๆได้อย่างนั้น จะไม่มีมูลอะไรบ้างเลยหรือ เมื่อมีความคิดเช่นนี้ขึ้นแล่วก็ทำให้พยายามพิจารณา และตรวจค้นเพื่อจะหาสิ่งไรมายืนยันว่าข้อนั้นผิดอย่างนั้น หรืออาจที่จะเป็นเช่นนั้นๆ บางทีไปถูกเหมาะเข้าก็ได้อะไรดีๆบ้าง ข้อนี้ได้เป็นมาแล้วแก่ตัวข้าพเจ้าเอง ดังจะเห็นปรากฏได้ในรายงานการตรวจค้นโบราณสถานและวัตถุต่างๆในเมืองสวรรคโลกซึ่งมีอยู่ต่อไปนี้

อนึ่ง ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าจะไปเมืองสวรรคโลก พระยาอุทัยมนตรีได้บอกว่า พระยาอุทัยมนตรีได้ข่าวจากนายเทียนชาวเมืองสวรรคโลก ว่านายเทียนได้เคยเห็นหนังสือเล่มหนึ่งเป็นสมุดดำตัวชุบรง เป็นเรื่องราวตำนานเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย ครั้นสอบสวนดูได้ความว่าพระภิกษุรูปหนึ่งได้ยืมสมุดนั้นไปอ่าน เผอิญไฟไหม้กุฎีพระรูปนั้น หนังสือก็อันตรธานไป ข้าพเจ้าออกเสียดาย แต่ที่จริงก็ไม่สู้เชื่อนักว่าจะมีเรื่องราวอะไรที่ดีไปกว่าที่มีอยู่ในพงศาวดารเหนือ บางทีจะพิสดารออกไปอีกหน่อยเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ดี ถ้าได้เห็นหนังสือนั้นก็พอจะเดาถูกว่าเป็นหนังสือเก่าจริงหรือไม่ แต่เมื่อเขาจำหน่ายสูญเสียเช่นนั้นแล้วก็จนใจ


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๒


(๑) ลำดับกษัตริย์ซึ่งครองกรุงสุโขทัย ต่อมาศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ ได้ไปสอบศิลาจารึก และในบรรดาที่ปรากฏในหนังสือเก่าได้ความว่า

พระองค์ที่ ๑ พระเจ้าศรีอินทราทิตย์ผู้เป็นต้นวงศ์ เดิมปรากฏนามว่าพ่อขุนบางกลางทาว เป็นเจ้าเมืองราด แล้วได้เป็นเจ้าเมือง (เชลียง) ศรีสัชนาลัย รบพุ่งเมืองสุโขทัยได้จากพวกขอม จึงราชาภิเษกทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีอินทราทิตย์ (ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า คำที่เรียกกันว่า "พระร่วง" อันหมายความว่ารุ่งเรือง เห็นจะแปลคำไทยจากศรีอินทราทิตย์นั้นเอง) หนังสือเก่าซึ่งแต่งในภาษาบาลี เอาคำว่าพระร่วงไปแปลเป็นภาษาบาลีเรียกกันว่า โรจนราชบ้าง อรุณราชบ้าง หาคำบาลีซึ่งเสียงคล้ายกับพระร่วง เรียกว่ารังคราช สุรังคราช ไสยรังคราช บ้าง

พระองค์ที่ ๒ ปรากฏนามว่า พระยาบานเมือง เป็นราชโอรสขององค์ที่ ๑ (ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า พระบานเมือง นั้น เห็นจะมีมาแต่ยังเป็นลูกหลวง พระนามถวายเมื่อราชาภิเษกหาปรากฏไม่) หนังสือภาษาบาลีเรียกว่า "ปาลราช"

พระองค์ที่ ๓ เป็นพระราชอนุชาของพระองค์ที่ ๒ มีความชอบชนช้างชนะขุนสามชนที่เมืองตาก พระราชบิดาประทานนามว่า "พระรามคำแหง" คงใช้พระนามนี้ต่อมาในเวลาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน หนังสือภาษาบาลีเรียกว่า "รามราช" นับเป็นมหาราชพระองค์ ๑ ในพงศาวดารสยาม

พระองค์ที่ ๔ ใช้พระนามในศิลาจารึกภาษาไทยว่า พญาเลอไทย ในจารึกภาษาเขมรเห็นจะใช้พระนามถวายเมื่อราชาภิเษกว่า หฤทัยชัยเชฐสุริวงศ์ ในหนังสือชินกาลมาลินีแต่ในภาษาบาลีใช้พระนามว่า อุทกโชตราช (แปลว่าพระยาจมน้ำ) เป็นราชโอรสของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช

พระองค์ที่ ๕ ทรงพระนามว่าพญาลิไทย หรือ ฤทัย เป็นราชโอรสของพระองค์ที่ ๔ เมื่อราชาภิเษกถวายพระนามว่า สุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช มักเรียกกันว่าพระเจ้าธรรมิกราชหรือพระมหาธรรมราชา นับเป็นองค์ที่ ๑ ในรัชกาลของพระองค์นี้ พระเจ้าอู่ทองตั้งเป็นอิสระขึ้น ณ กรุงศรีอยุธยา แล้วเป็นไมตรีกับกรุงสุโขทัยอย่างประเทศศักดิ์เสมอกัน

พระองค์ที่ ๖ ปรากฏพระนามว่าพระมหาธรรมราชาธิราช นับเป็นที่ ๒ เป็นราชโอรสพระองค์ที่ ๕ ทำสงครามแพ้สมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงัว) ต้องยอมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา แล้วย้ายมาครองเมืองพิษณุโลกเป็นราชธานี

พระองค์ที่ ๗ ปรากฏพระนามว่า พระมหาธรรมราชา นับเป็นองค์ที่ ๓ เป็นราชโอรสพระองค์ที่ ๖ (สันนิษฐานว่าเสวยราชย์อยู่ไม่ช้า) เมื่อสิ้นพระชนม์เมืองเหนือเป็นจลาจลในรัชกาชสมเด็จพระนครินทราชา

พระองค์ที่ ๘ ปรากฏพระนามว่า พระมหาธรรมราชา นับเป็นพระองค์ที่ ๔ ในหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่า พระยาบานเมือง เห็นจะเป็นราชอนุชาพระองค์ที่ ๗ สมเด็จพระนครินทราชาทรงตั้งให้ครองเมืองเหนือ มีพระนามว่า ศรีสุริยพงศ์บรมบาลมหาธรรมราชาธิราช

ต่อนี้ถึงรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (สามพระยา) ก็ทรงตั้งพระราเมศวรราชโอรส (ซึ่งพระมารดาเห็นจะเป็นเชื้อราชวงศ์สุโขทัย) ขึ้นไปครองหัวเมืองเหนืออยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ


....................................................................................................................................................


ตอนที่ ๓ เมืองสวรรคโลก - ในพงศาวดารกรุงเก่า


เมื่อได้ครวจเรื่องเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารเหนือแล้ว ก็ควรต้องตรวจดูเรื่องราวของเมืองนั้น ที่มีอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสืบไป

จำเดิมที่จะกล่าวถึงเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารกรุงเก่า ก็มีอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ปรากฏอยู่ว่าในสมัยนั้นมีพระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง และเมืองสวรรคโลกเป็นเมืองประเทศราชเมืองหนึ่ง ต่อมานามเมืองสวรรคโลกก็หายไปนั้น แต่ใช่ว่าตัวเมืองนั้นจะวิบัติสูญไป เป็นแต่เรียกชื่อแปลกไปจนจำไม่ได้เท่านั้น คือ ข้าพเจ้าเชื่อตามความเห็นของท่านนักเลงโบราณคดีบางท่าน ว่าเมืองชากังราวที่กล่าวถึงในพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลายครั้งนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือเมืองสวรรคโลกนั้นเอง(๑) ซึ่งมีอยู่ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงัว)ได้เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวถึง ๓ ครั้ง คือจุลศักราช ๗๓๕ ปีฉลูเบญจศก เสด็จขึ้นไปเมืองชากังราว พระยาชัยแก้ว พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบ พระยาชัยแก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็ยกกลับคืนพระนครนี่เป็นครั้งที่ ๑ จุลศักราช ๗๓๘ ปีมะโรงอัฐศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวได้ พระยากำแหงกับท้าวผากองคิดกันว่าจะยกตีทัพหลวงไม่สำเร็จเลิกหนีไป ทัพหลวงตีทัพผากองแตก ได้พระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วก้เลิกทัพหลวงกลับคืนพระนคร นี่เป็นครั้งที่ ๒ จุลศักราช ๗๔๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก ไปเอาเมืองชากังราวอีกเป็นครั้งที่ ๓ ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม ตรวจดูกับพงศาวดาร ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้ความงอกออกไปอีกว่าขุนหลบวงพงัวได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวอีกครั้ง ๑ เป็นครั้งที่ ๔ เมื่อจุลศักราช ๗๕๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก ครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพงัว) ทรงพระประชวรหนักต้องเสด็จกลับ ตามข้อความเหล่านี้ พึงเข้าใจได้อยู่แล้วว่าเมืองชากังราวมิใช่เมืองเล็กน้อย เป็นเมืองสำคัญอันหนึ่ง

แต่เมื่อก่อนได้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐมานั้น ไม่มีผู้ใดเดาได้เลยว่าเมืองชากังราวคือเมืองใดอยู่แห่งหนตำบลใด มาได้หนทางเดาในพงศาวดารฉบับที่กล่าวแล้วนั้น คือ แห่งหนึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่า "ศักราช ๘๑๓ มะแมศก ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลยยกทัพกลับคืน" ดังนี้ จึงเป็นเครื่งนำให้สันนิษฐานว่าเมืองชากังราวนั้น คือเมืองสวรรคโลก เพราะปรากฏอยู่ว่ามหาราช(เมืองเชียงใหม่) ได้ชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย ต้องเข้าใจว่าเป็นเมืองอยู่ใกล้เคียงกัน ถ้าจะนึกถึงทางที่เดินก็ดูถูกต้องดี แต่เหตุไฉนจึงเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราว ข้อนี้ยังแปลไม่ออก

เมืองสวรรคโลกนี้ ถึงเเม้เมื่อกรุงศรีอยุธยามีอำนาจขึ้นแล้ว ใช่ว่าจะเสียอิสรภาพ ยังคงเป็นเมืองมีกษัตริย์ครองเรื่อยมา แม้พระมหาธรรมราชาได้ออกมาถวายบังคมขุนหลวงพงัวแล้ว เมืองก็ยังคงเป็นเมืองมีอิสรภาพอยู่ เพราะในสมัยนั้นไม่สู้จะฝักใฝ่ในเรื่องอาณาเขตนัก ต้องการแต่เรื่องคนเท่านั้น แต่วงศ์กษัตริย์ครองสวรรคโลกจะได้สูญไปเมื่อใดแน่ก็ไม่ปรากฏ

มาจับกล่าวนามสวรรคโลกอีกครั้ง ๑ ก็คือเมื่อแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเป็นทุรยุค ขุนวรวงษาธิราชครองราชสมบัติ ขุนพิเรนทรเทพคิดกำจัดขุนวรวงษาธิราช คิดการเสร็จแล้วพอพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกลงมาจึงชวนเข้าด้วย ครั้นกำจัดขุนวรวงษาธิราชเสร็จแล้ว พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลกได้รับบำเหน็จเป็นเจ้าพระยา ข้อความเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าสมัยนี้ที่สวรรคโลกหมดวงศ์กษัตริย์แล้ว

ต่อนั้นมาอีกก็มามีกล่าวถึงเมืองสวรรคโลกอีก คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อเสด็จไปถึงเมืองลแวก (จุลศักราช ๘๙๔ ปีมะโรงจัตวาศก) พระยาลแวกออกมาถวายบังคม ได้ตรัสขอนักพระสุโทนักพระสุทันบุตรพระยาลแวกมาเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรม ครั้นกลับถึงพระนครแล้วทรงพระกรุณาให้นักพระสุทันขึ้นไปครองเมืองสวรรคโลก ข้อนี้เป็นพยานว่าในสมัยนั้นยังนิยมว่าเมืองสวรรคโลกเป็นเมืองสำคัญสมควรมีเจ้าครองได้ แต่พระองค์สวรรคโลกนั้นไม่ได้ครองเมืองอยู่นาน เมื่อจุลศักราช ๘๙๘ ปีวอกอัฐศก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราชกำหนดให้พระองค์สวรรคโลกเป็นแม่ทัพ ยกไปรบนักพระสัทธา ซึ่งได้ชิงงสมบัติจากบิดาพระองค์สวรรคโลกนั้น ชนม์พรรษาพระองค์สวรรคโลกถึงฆาต พอเข้ารบทัพญวนก็ตายกับคอช้าง

พอสิ้นพระองค์สวรรคโลก(นักพระสุทัน)แล้ว เมืองสวรรคโลกก็กลับเป็นเมืองขึ้นพิษณุโลกไปตามเดิม มีกล่าวว่าพระมหาธรรมราชาได้เกณฑ์กองทัพเมืองสวรรคโลก เข้าประจบกับกองทัพเมืองเหนือไปงานสงครามหลายครั้ง แต่ไม่มีเรื่องอะไรสลักสำคัญอีกต่อไป จนถึงเรื่องพระยาพิชัยข้าหลวงเดิมเป็นขบถ ยกครอบครัวไปเมืองสวรรคโลก ซึ่ฝงข้าพเจ้าได้เริ่มกล่าวถึงไว้ในตอนที่กล่าวถึงเรื่อวัดศรีชุมเมืองสุโขทัยนั้นแล้ว และในที่นี้จะได้จับกล่าวเรื่องนั้นต่อไป

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า ครั้นได้ทรงจัดกระทำพิธีถือน้ำสัตยานุสัตย์ ณ ค่ายหลวงตำบลวัดฤๅษีชุมเมืองสุโขทัยแล้ว รุ่งขึ้นทัพหลวงก็เสด็จขึ้นไปทางเขาคับเมืองสวรรคโลก ณ วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ (ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๙๒๗) ตั้งทัพหลวงตั้งตำบลวัดไม้งาม สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงพระกรุณาแก่พระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก ตรัสให้ข้าหลวงขึ้นไปประกาศว่า ให้พระยาทั้งสองออกมาถวายบังคม จะทรงพระกรุณามิเอาโทษ พระยาทั้งสองกลับสั่งคนขึ้นประจำรักษาหน้าที่เชิงเทินป้องกันเมืองไว้ และให้ตัดศีรษะหลวงปลัด ขุนยกกระบัตร ขุนนรนายกซึ่งไม่ยอมเข้าด้วยนั้น เอาศีรษะซัดออกมาให้ข้าหลวง

สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ครั้นเพลาค่ำตรัสให้ยกพลทหารเข้าปล้นเมืองตำบลประตูสามเกิดแห่งหนึ่ง ประตูหม้อแห่งหนึ่ง ประตูสะพานจันแห่งหนึ่ง ปล้นแต่ค่ำจนเที่ยงคืน และเผาป้อมชั้นนอกประตูสามเกิด ก็เข้ามิได้ ตรัสปรึกษาโหราจารย์ ทูลว่าจะปล้นประตูสามเกิดนี้จะได้ด้วยยาก ถ้าปล้นทางประตูดอนแหลมเห็นจะได้โดยง่าย เพราะทิศนั้นเป็นอริแก่เมือง ก็ตรัสสั่งตามโหร แต่ในวันนั้นก็ยังมิได้เมือง วันอาทิตย์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ยกทัพหลวงไปตั้งที่ประตูดอนแหลม ยกเข้าปล้นเมืองอีกครั้งหนึ่งยังไม่ได้

รุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน ๘ แรม ๓ ค่ำ เพลาชายแล้วสองนาฬิกาห้าบาท ยกพลเข้าเผาประตูดอนแหลมทำลายลง พลทหาตรูเข้าเมืองได้ พระยาสวรรคโลกหนีไปซ่อนอยู่ในกุฎีพระวัดไผ่จับตัวได้นำมาถวาย แต่พระยาพิชัยหนีได้จากเมืองเมืองสวรรคโลก คิดจะไปเชียงใหม่ ไปถึงแดนเกาะจุล ชาวด่านก็คุมเอาตัวพระยาพิชัยมาถวาย สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าดำรัสให้มัดพระยาพิชัยพระยาสวรรคโลก ตระเวณรอบทัพแล้วฆ่าเสีย จึงตรัสให้เทครัวอพยพทั้งปวงมายังเมืองพระพิษณุโลก และเชิญรูปพระยาร่วง พระยาลือ อันรจนาด้วยงาช้างเผือกนั้นมาด้วย รูปพระยาร่วงอันนี้คือตรงกับที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ว่าแกะด้วยงาช้างเผือกคู่บารมีของพระร่วง(อรุณราช) งาช้างนั้นว่าเป็นสีดำ

นอกจากที่ได้เก็บมาลงไว้ในที่นี้แล้ว ก็ไม่มีเรื่องราวอะไรเกี่ยวข้องกับเมืองสวรรคโลก ที่สลักสำคัญต่อไปอีก เมื่อได้ค้นดูหนังสือ พอมีหนทางเป็นลาดเลาแล้วดังนี้ ก็จะได้จับกล่าวถึงการตรวจค้นสถานและวัตถุต่อไป



..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๓


(๑) เรื่องตำนานเมืองสวรรคโลกแจ้งอยู่ในอธิบายเลข (๒) ข้างท้ายตอนที่ ๑๐ แล้ว (คือตอนสุดท้ายในตอนที่ว่าด้วยเมืองสุโขทัย) หนังสือพระราชพงศาวดารแต่งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงเรียกเมืองสวรรคโลกตามนามขนานชั้นหลัง เมืองชากังราวนั้นตรวจต่อมาได้ความว่าอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร ทางฟากตะวันตกแม่น้ำพิง


....................................................................................................................................................


Create Date : 26 มีนาคม 2550
Last Update : 26 มีนาคม 2550 14:07:27 น. 5 comments
Counter : 3666 Pageviews.  
 
 
 
 
ตอนที่ ๔ เมืองสวรรคโลก - พิจารณาในส่วนตัวเมือง


เมืองสวรรคโลกนี้ กำเเพงเมืองตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือว่า กว้าง ๕๐ เส้น ยาว ๑๐๐ เส้น ซึ่งเหลือที่จะเป็นไปได้ เมืองใหญ่ถึงเพียงนี้จะรักษาที่ไหนไหว แต่นอกจากในพงศาวดารเหนือนี้ก็เป็นอันไม่ได้ความจากที่แห่งใดอีก ว่าตามความจริงเมืองนี้ใหญ่เท่าใดแน่ แม้ในพงศาวดารเหนือนั้นเองก็มีข้อความปรากฏอยู่ว่า เมืองไม่ได้คงอยู่อย่างเดิม ได้จัดการย่อกำแพงแก้ไขตกแต่งใหม่เมืองครั้งเตรียมการจะรับศึกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสน การย่อกำแพงนั้น ถ้าจะอ่านตรงๆไปตามพงศาวดารเหนือ ต้องเข้าใจว่าการย่อกำแพง น่าจะแปลว่ายกกำแพงร่นเข้ามา คือทำเมืองให้แคบเข้ากว่าของเก่า ที่นึกเช่นนี้เพราะเมื่อไปดูวัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางทิศตะวันออก ได้เห็นกำแพงอันหนึ่งริมฝั่งใต้ลำน้ำยมในเวลานี้ มีเป็นเทินดินยาวเป็นเทือกไปซึ่งไม่ใช่ถนน เพราะแคบและชันมาก กำแพงดินอันนี้เป็นแนวเดียวกับกำแพงเมืองด้านริมฝั่งน้ำที่เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ออกมาตั้งลอยอยู่เฉยๆ ด้านสกัดก็ไม่มี

มีปัญหาอยู่ว่า นี่คือกำแพงอะไรทำไมมาตั้งอยู่ทางนั้น จะมีทางตอบได้ทางหนึ่งว่า เดิมเมืองออกมาถึงวัดมหาธาตุ และวัดมหาธาตุอยู่ภายในกำแพงเมือง ที่ตรงนั้นเป็นแหลมถูกน้ำเซาะอยู่เสมอ จะอยู่ไม่ได้ต่อไป จึงได้ขยับเมืองหนีให้ห่างออกไปจากปลายแหลมนั้นอีก กำแพงด้านตะวันออกเวลานี้อยู่ห่างจากวัดมหาธาตุประมาณ ๒๐ เส้น(๑) ลองพลิกพงศาวดารเหนือดูในเรื่องย่อกำแพงเมืองนั้นอีกทีหนึ่ง ได้ความว่า เมื่อพุทธศักราช ๑๒๐๑ ปี พระเจ้าอรุณราช (คือพระร่วง) ได้อันตรธานหายไปในแก่งกลางเมือง และพสุจกุมารได้เป็นใหญ่ในกรุงศรีสัชนาลัยต่อไปแล้ว ขุนไตรภพนาถเสนาผู้ชำนาญในการสงครามได้ทูลพระเจ้าพสุจราชว่า "เมืองเรานี้พระเจ้าข้า หาปผู้มีบุญมิได้แล้ว และอันตรายจะบังเกิดมีไปเมื่อภายหน้า ขอพระองค์ให้แต่งกำแพงและหอรบไว้ให้มั่น" พระเจ้าพสุจราชทรงพระดำริเห็นชอบด้วยจึงดำรัสสั่งให้ขุนไตรภพนาถเป็นแม้กองจัดการแบ่งปันหน้าที่ "ให้ย่อกำแพงงเข้าไปเป็นป้อมให้รอบเมือง" ดังนี้

เรื่องราวในตอนนี้ยกเสียในส่วนศักราชซึ่งจะเอาเป็นหลักมิได้นั้น ก็ดูน่าจะเชื่อว่าอาจจะมีความจริงเป็นมูลอยู่บ้าง ถ้าเช่นนั้นก็ต้องเข้าใจว่ากษัตริย์กรุงศรีสัชนาลัยวงศ์พระร่วงนั้น ในสมัยนี้อำนาจถอยลงแล้ว เพราะกษัตริย์เองเรียวลง ไม่เหมือนท่านที่เป็นต้นวงศ์ กล่าวคือพระร่วงที่ลบศักราชนั้น ถ้อยคำที่ขุนไตรภพนาถกล่าวว่า ในเมืองหาผู้มีบุญมิได้แล้วนั้น คงจะไม่ใช่เป็นคำที่ได้กล่าวทูล คงจะเป็นความเห็นของผู้แต่งเรื่องจับมาใส่ปากขุนไตรภพนาถ โดยความตั้งใจจะสำแดงว่าเมืองศรีสัชนาลัยเวลานั้นโทรมปานใด ส่วนกษัตริย์เองก็คงรู้สึกว่าอำนาจของตนถอยลงเหมือนกัน ส่วนการที่จะซ่อมแซมเมืองขึ้นใหม่นั้นเป็นการจำเป็นเพื่อจะได้ต่อสู้ศัตรูได้ แต่ครั้นจะทำขึ้นตามแนวกำแพงเก่าก็คงจะเห็นใหญ่โตนัก ไม่มีกำลังจะรักษาจึงร่นกำแพงเข้าไปตีวงให้แคบเข้า การที่ทำเช่นนี้เองข้าพเจ้าเข้าใจว่าตรงกับที่กล่าวว่าสั่งให้ย่อกำแพงให้รอบเมือง แต่อาศัยที่ท่านผู้แต่งพงศาวดารเหนือไท่ได้ไปดูถึงพื้นที่ จึงอธิบายเอาตามความเข้าใจของตนเองว่าย่อเข้าไปเป็นแห่งๆ เฉพาะตรงที่ต้องการจะทำป้อม

มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งว่า เมื่อเห็นเมืองเก่าไม่เหมาะแล้วทำไมไม่ยกย้ายไปตั้งเสียที่อื่นทีเดียว ทำไมจึงได้ตีวงเข้าไปให้แคบอยู่กับที่เดิมนั้นเอง ปัญหานี้จะตอบได้ ๓ ประการ คือประการที่ ๑ ที่นี้เป็นที่ผู้คนได้ฝังรกรากมาหลายชั่วคนแล้ว จะอพยพย้ายไปประชาชนก็จะได้ความเดือดร้อนมาก ประการที่ ๒ ทั้งกำลังและอำนาจถอยน้อยลงไปกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก การที่จะไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ต้องอาศัยทั้งกำลังทั้งอำนาจบริบูรณ์ ถ้าแม้จะไปสร้างเมืองใหม่ไหนจะต้องอพยพครอบครัวไป ไหนจะต้องคิดถึงการที่จะทำสงครามต่อสู้กับผู้ที่อาจเกะกะขัดขวาง ไหนจะต้องเที่ยวหาวัตถุที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างนั้นใหม่ ถ้าเพียงตีวงให้แคบเข้าในที่เดิมตัดความลำบากลงได้มาก วัตถุที่จะใช้ก่อสร้างก็มีอยู่แล้ว คือรื้อเอาแลงในกำแพงเก่ามาทำกำแพงใหม่ก็ได้ และมีสิ่งที่เป็นพยานปรากฏอยู่ว่าได้รื้อของเก่ามาทำของใหม่ คือกำแพงที่ริมน้ำทางข้างวัดมหาธาตุนั้น ยังมีเหลืออยู่เเต่เทินดินเท่านั้น

แต่ยังมีข้อสำคัญกว่าทั้ง ๒ ข้อที่กล่าวมาแล้ว คือความจำเป็นที่จะต้องรีบจัดการแต่งกำแพงและหอรบไว้ให้มั่น เพราะในสมัยนี้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนมีอำนาจขึ้นแล้ว ขุนพลผู้หนึ่ง (จะชื่อไตรภพนาถหรืออะไรก็ตาม) คงจะได้ทราบระแคะระคายอยู่แล้วว่าพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกคิดจะลงมาทางใต้ จึงได้ทูลแนะนำพระเจ้ากรุงศรีสัชนาลัยให้เตรียมการไว้ท่า แต่ต้องเข้าใจว่ามีเวลาเตรียมน้อยเต็มที เพราะว่าพอทัพเชียงแสนยกลงมาจริงก็สู้เขาไม่ได้ พระเจ้าพสุจราชต้องออกไปถวายบังคมและยกพระราชธิดาให้ เมื่อการเป็นเช่นนี้แล้ว ไฉนเล่าจะมีเวลาเที่ยวหาชัยภูมิตั้งเมืองใหม่ได้ เมื่อย่อกำแพงเข้าไปนั้น จะได้ย่นกี่ด้านไม่มีสิ่งไรเป็นหลักจะเดา รู้ได้แน่อยู่ด้านเดียว คือว่ากำแพงด้านริมฝั่งน้ำยมนั้น เคยมียาวไปอีกราว ๒๐ เส้น เพราะตัวกำแพงเก่ายังมีเหลืออยู่(๒)

จังหวัดเมืองสวรรคโลกเมื่อก่อนย่อกำแพง จะใหญ่กว้างเพียงไรเหลือที่จะเดา แต่เนื้อที่เพียงกำแพงล้อมอยู่ ในกาลบัดนี้ก็ไม่ใช่เล็ก ได้ให้ขุนวิจารณ์รัฐขันธ์ทำแผนที่เมืองนี้ แล้วมาวัดดูตามแนวกำแพงได้ความว่า ด้ายตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ที่ริมฝั่งน้ำยม ๒๒ เส้น ๑๐ วา ด้านตะวันออกเฉียงใต้ ๒๒ เส้น ๕ วา ด้านตะวันตกเฉียงใต้ ๒๙ เส้น ๑๕ วา ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ๒๐ เส้น ๑๐ วา รวมโดยรอบเป็น ๙๕ เส้น เล็กกว่าเมืองสวรรคโลกที่พงศาวดารเหนือกล่าวว่าบาธรรมราชสร้างนั้นเป็นอันมาก และเล็กกว่าเมืองสุโขทัย ซึ่งวัดโดยรอบได้ถึง ๑๖๔ เส้น

พงศาวดารเหนืออยู่ข้างจะเข่นอะไรๆให้ใหญ่เกินจริงเป็นเสียแทบทุกสิ่ง กำแพงเมืองสวรรคโลกนั้น ใช่จะเข่นให้มากไว้แต่ในทางยาว ทางหนาทางสูงก็เข่นให้หนักเหมือนกัน คือกล่าวไว้ว่ากำแพงสูง ๔ วา หนา ๘ ศอก ตั้งแต่พอได้เห็นเมื่อวันแรกไปถึงก็นึกในใจแล้วว่าคงไม่จริงเช่นนั้น แต่ในเวลานั้นต้นไม้และเถาวัลย์ขึ้นอยู่รกรุงรัง ทั้งที่ในกำแพงทั้งที่ในคู จึงไม่สามารถจะคะเนได้เป็นแน่นัก ข้าพเจ้าจึงขอคนไปถางดูตอนหนึ่ง ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ จึงได้มีโอกาสตรวจสอบบและวัดดูทั้งคูและกำแพงคูกว้าง ๑๓ วา ๒ ศอก ลึกประมาณ ๕ ศอก กำแพงก่อด้วยศิลาแลงตัดเป็นแผ่นอย่างหนาเช่นอิฐ และสูง ๓ วา ที่เชิงหนา ๔ ศอก ยอดหนา ๓ ศอก มีเชิงเทินสำหรับทหารขึ้นรักษาหน้าที่ มีที่เดินประมาณศอกคืบ ผิดกับในพงศาวดารเหนือมากอยู่

คราวนี้พิจารณาตามข้อความในพงศาวดารกรุงเก่าต่อไปก่อนที่จะเริ่มเดา เมื่อพระนเรศวรเป็นเจ้าทรงตีเมืองสวรรคโลก จะได้ตีทางไหนบ้าง ก็ต้องตรวจค้นหาประตูว่าจะมีอยู่ทางใดบ้าง การค้นประตูในเมืองที่ทิ้งร้างไว้นานๆแล้วนั้น ไม่ใช่ของง่ายเพราะบางทีที่เป็นช่องอยู่จะไม่ใช่ประตู เป็นแต่กำแพงทลายก็ได้ หรือที่มีประตูแต่ต้นไม้ขึ้นรกบังเสียหมดจนเลยไม่เห็นก็ได้ เพราะฉะนั้น จำเป็นจะต้องหาคนนำทาง พระยาอุทัยมนตรีไปได้ตัวมาคนหนึ่ง ชื่อนายเทียน ชาวเมืองสวรรคโลก เรียกกันว่าอาจารย์เทียน เพราะถือกันว่าเป็นคนมีวิชาความรู้มาก และได้บวชอยู่นาน เป็นสมภารอยู่ที่วัดมหาธาตุ นายเทียนผู้นี้ได้ใช้ประโยชน์มาก คือใช้เป็นคนนำไปดูที่ต่างๆ หรือให้ไปล่วงหน้าไปค้นหาสถานที่ไว้ให้ดู ที่จริงนายเทียนอยู่ข้างจะรู้จักสถานที่ต่างๆมาก และมีเรื่องราวเล่าได้เป็นอันมาก แต่ฟังนายเทียนเหมือนอ่านพงศาวดารเหนือ คือต้องฟังแต่พอให้มีทางพิจารณาต่อไป ไม่ใช่ถือเอาเป็นแน่นอน

นายเทียนผู้นี้ ข้าพเจ้าได้ไล่เลียงเรื่องประตูเมือง คงจำหน่ายได้ ๔ ประตู คือประตูใหญ่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้เรียกว่าประตูรามณรงค์ ประตูด้านตะวันตกเฉียงใต้มี ๒ ประตูคือประตูผี ๑ ประตูชนะสงคราม ๑ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือมีประตูใหญ่ชื่อประตูชัยพฤกษ์ ชื่อประตูเหล่านี้เป็นนายเทียน ไม่ปรากฏว่าได้มาจากแห่งใด ที่ข้าพเจ้ายอมเรียกตามชื่อเหล่านี้ก้เพราะเห็นว่า เรียกชื่ออะไรไว้อย่างหกนึ่งดีกว่าจะต้องอธิบายให้ยืดยาวทุกๆคราวที่จะกล่าวถึงประตูใดประตูหนึ่ง และในแผนที่ ข้าพเจ้าก็ปล่อยไว้เช่นนั้นด้วยเหตุเดียวกัน

บัดนี้จะลองจับชนกับข้อความในพงศาวดารกรุงเก่าดูทีหนึ่ง อ่านดูตามความเข้าใจว่าประตูสามเกิดเป็นประตูที่มีป้อมค่ายรักษามั่นคง จนถึงยกเข้าเผาและหักเอาเป็นหลายครั้งยังไม่สำเร็จได้ ประตูที่มีป้อมค่ายป้องกันแข็งแรงมีอยู่ประตูเดียวคือประตูชนะสงครามทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ หน้าประตูมีคูสองชั้นและเทินดินสูงหนา ทำเป็นเหมือนป้อมปีกกา ดูมั่นคงน่าจะตีหักเอาได้โดยยาก ถึงแม้จะพิตารณาดูตามแบบวิธีทำป้อมค่ายอย่างปัตยุบันสมัยนี้ ก็ต้องนับว่าไม่เลวนัก ถ้าลำพังแต่ทหารราบต่อราบสู้กัน ดูเหมือนผู้ที่ตั้งมั่นรักษาที่นั้นจะได้เปรียบมาก เพราะเหตุฉะนี้ดูประตูนี้น่าจะเป็นประตูสามเกิด

ประตูสะพานจันนั้น ข้าพเจ้าเดาว่าน่าจะเป็นประตูรามณรงค์ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ คือช่องทางที่ข้าพเจ้าเดินเข้าไปในเมืองเมื่อแรกไปจากสุโขทัยนั้นเอง ที่ข้าพเจ้าเดาเช่นนี้ เพราะว่าที่ริมถนนที่เดินไป เมื่อจวนจะถึงประตูนั้นเห็นเป็นสระอันหนึ่งรูปยาวขวางไปจนตรงหน้าประตูมีร่องน้ำเดินไปประจบกับคูเมือง จึงเดาว่าน่าจะมีสะพานข้ามคลองที่เชื่อมสระกับคูนั้นสักอันหนึ่ง แต่หลักฐานไม่สู้มั่นคงนัก ส่วนประตูหม้อนั้นเหลือสติกำลังที่จะเดา เว้นเสียจะชี้สุ่มลงไปว่าประตูผีนั้นเองเท่านั้น(๓)

เมื่อได้ตรวจลาดเลาดูเช่นนี้แล้ว อยากจะใคร่เดาต่อไปว่าทัพสมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้า เมื่อยกมาจากเมืองสุโขทัยนั้น ได้มาตามทางที่ข้าพเจ้าเดิน คือตามถนนพระร่วงนั้นเอง เพราะดูเป็นทางสะดวกกว่าทางอื่น ถ้าเช่นนั้นแล้วก็แปลว่ายกขึ้นมาแต่ตะวันตกเฉียงใต้ เพราะฉะนั้น ที่จะเข้าหักเอาเมืองก็คงจะเข้าทางด้านที่มาถึงเข้าก่อน คือด้านตะวันตกเฉียงใต้กับตะวันออกเฉียงใต้ (เมืองนี้ไม่ได้ตั้งตรงทิศ หน้ากำแพงจึงเฉียงอยู่เช่นนี้ทั้งหมด) แต่ด้านนี้ชาวเมืองคงจะได้จัดการเตรียมป้องกันไว้แข็งแรง เพราะคงจะรู้อยู่แล้วว่าทัพสมเด็จพระนเรศวรจะยกมาทางนั้น การที่จะปล้นเอาเมืองในครั้งแรกจึงไม่สำเร็จ

จนภายหลังต้องย้ายไปทำการหักหาญทางดอนแหลมหรืออุดรแหลม ซึ่งโหราจารย์ทูลว่าเป็นอริแก่เมือง ข้าพเจ้าเข้าใจว่าดอนแหลมจะเป็นถูก อุดรแหลมดูแปลไม่ได้ความว่ากระไร แต่ดอนแหลมแปลได้ตามภูมิที่ คือทางตะวันออกของเมืองเป็นที่ดอนเป็นแหลมยื่นออกไป ลำน้ำยมหักศอกเลี้ยวเป็นข้อศอก ที่แผ่นดินจึงเป็นแหลม มีวัดมหาธาตุอยู่ที่ปลายแหลมนี้ อีกประการหนึ่งพิจารณาดูท่าทางกำแพงด้านนี้จะโลเลยิ่งกว่าด้านอื่น คูหน้ากำแพงก็ไม่มี ดูเป็นที่ควรจะหักเอาได้ง่ายกว่าด้านอื่น กำแพงด้านนี้ก็ชำรุดหักพังมากกว่าด้านอื่น เพราะคงจะถูกทำลายลงเสียครั้งนั้น คูที่สูญก็บางทีจะสูญมาแต่ครั้งนั้นเอง คือถูกถมแล้วภายหลังเลยไม่มีใครขุดขึ้นใหม่อีก ส่วนประตูดอนแหลมที่ทหารเข้าเผาหักเอาได้นั้น ก็คงทลายเสียหมดในครั้งนั้น จึงค้นไม่พบประตูเลยจนช่องเดียวทางแถบนี้

ส่วนวัดไม้งามที่ตั้งทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรในครั้งนั้นก็ดี วัดไผ่ที่พระยาสวรรคโลกหนีเข้าไปซ่อนอยู่ก็ดี ไม่มีสิ่งไรเป็นหลักฐานที่จะเดาได้ จึงไม่ได้คิดค้นหาเลย(๔)



..........................................................................



อธิบายความในตอนที่ ๔

(๑) เมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือนี้ เป็นเวลาก่อนค้นพบเมืองเชลียง ซึ่งกล่าวไว้ในอธิบายเลย (๒) ข้างท้ายตอนที่ ๑๐ ความที่ทรงพรรณนาตอนนี้ก็ประกอบหลักฐานว่าเมืองเชลียงตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุ (ที่ชาวเมืองเรียกกันว่าวัดน้อย) และพระปรางค์วัดมหาธาตุนี้เองที่ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงกล่าวถึงเมืองเชลียงว่า เอาศิลาจารึกอันหนึ่ง "สถาปกไว้ด้วยพระศรีมหาธาตุ"

(๒) หนังสือพงศาวดารเหนือ พระวิเชียรปรีชาเจ้ากรมราชบัณฑิตยฝ่ายพระราชวังบวรฯเป็นผู้แต่งเมื่อรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ สังเกตเห็นได้ในหนังสือนั้น ว่าเป็นแต่รวบรวมเรื่องเกร็ดต่างๆ (ทั้งทีมีผู้เขียนไว้และที่มีผู้จำไว้ได้) เอามาเรียบเรียง ความเรื่องเดียวกันแยกออกเป็น ๒ เรื่องเล่าซ้ำกันก็มีหลายแห่ง อันเรื่องแก้ไขกำแพงเมืองสวรรคโลกและสุโขทัย มีหลักสำหรับวินิจฉันในทางโบราณคดีอยู่อย่างหนึ่ง คือในสมัยเมื่อราชวงศ์พระร่วงครองกรุงสุโขทัยนั้น ปืนใหญ่ยังไม่มี เชิงเทินคินรอบนอกกำแพงเมืองสวรรคโลกและสุโขทัยสร้างสำหรับกันปืนใหญ่ ต้องเป็นของสร้างต่อเมื่อใช้ปืนใหญ่ในการรบพุ่งคือในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ผู้แต่งหนังสือพงศาวดารเหนือมิได้คำนึงถึงความข้อนี้ ฝ่ายพวกชาวเมืองนั้น เห็นสิ่งใดปรากฏอยู่คิดว่าเป็นของครั้งพระร่วงทั้งนั้น บางทีก็เกิดเป็นเรื่องสาขาออกไป ดังเรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ดังจะแสดงในตอนว่าด้วยเมืองพิษณุโลกต่อไปข้างหน้า

(๓) ที่เรียกว่าประตูหม้อ สันนิษฐานว่าประตูหม้อเป็นทางเดินไปตำบลที่ตั้งเตาหม้อ คือทำเครื่องสังกโลก ถ้าเช่นนั้นก็อยู่ตอนริมน้ำทางด้านเหนือ

(๔) ข้าพเจ้าไปตรวจครั้งหลัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ พบวัดใหญ่ๆอยู่ในป่าระหว่างเขาใหญ่ไปทางเขารังแร้งหลายวัด สมเด็จพระนเรศวรเห็นจะตั้งค่ายหลวงในที่ตำบลนั้น ตรงกับทางที่พรรณนาในพระราชนิพนธ์


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:13:56:17 น.  

 
 
 
ตอนที่ ๕ เมืองสวรรคโลก - ภายในกำแพง


ภายในกำแพงเมืองสวรรคโลก ก็มีสถานที่ซึ่งควรดูอยู่หลายแห่ง แต่ถ้าแม้จะเปรียบกับที่ในเมืองสุโขทัยแล้วก็สู้กันไม่ได้เลย ถึงกระนั้นก็พอจะดูได้สนุกบ้าง

ที่ซึ่งข้าพเจ้าได้ดูก่อนแห่งอื่นคือเขาพนมเพลิง ซึ่งหนึ่งสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่า ฤๅษีสัชนาลัยได้สั่งสอนบาธรรมราชเมื่อจะสร้างเมืองนั้นว่า "สูเจ้าจงเอาพนนเพลิงเข้าไว้ในเมือง เป็นที่สร้างพรตบูชากูณฑ์" เขาพนมเพลิงอยู่ภายในเมืองจริง อยู่ติดกับกำแพงด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เพราะฉะนั้นมีความยินดีที่จะกล่าวได้ว่า ครั้งนี้พงศาวดารเหนือไม่เหลว แต่เขานั้นเป็นสองลูกแฝด เรียกชื่อว่าสุวรรณคีรียอดหนึ่ง ยอดสุวรรณคีรีอยู่ริมกำแพงสูง ๑๔ วา ยอดพนมเพลิงอยู่ต่อไปทางทิศตะวันออกสูง ๑๐ วา

ได้ขึ้นไปที่ยอดสุวรรณคีรีก่อน ทางขึ้นมีศิลาแลงประดับเป็นขุนบันได ขึ้นไปถึงไหล่เขามีกำแพงแลงก่ออยู่ทางด้านเหนือ สูงท่วมหัวคน ข้างด้านใต้มีกองแลงเป็นแนวอยู่เข้าใจว่าคงจะเป็นกำแพงเช่นเดียวกับด้านเหนือ มีเสาแลงตั้งอยู่ด้านตะวันออก ๔ เสา กำแพงนั้นคือผนังวิหาร เสานั้นคือเสามุขหน้าวิหาร ต่อวิหารไปทางตะวันตกมีบันไดขึ้นไปทางยอดเขา ซึ่งก่อเป็นลานสี่เหลี่ยมไว้ บนลานนี้มีพระเจดีย์ทำด้วยแลง เป็นรูประฆังทรงเตี้ยมีคูหาสำหรับตั้งพระทั้ง ๔ ทิศ(๑) บนลานพระเจดีย์นี้เป็นที่ดูภูมิประเทศได้ดี มองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เห็นเขาพระศรีและถนนพระร่วงที่มาจากสุโขทัย ที่บนยอดเขานี้เป็นที่คอยดูกองทัพจะเหมาะนักหนา เพราะจะแลเห็นได้แต่ไกล เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องเอาเข้าไว้ในเมือง และถ้ามีปืนใหญ่ตั้งบนเขานี้ จะได้เปรียบข้าศึกที่เข้าปล้นเมืองทางด้านนี้มาก ข้าพเจ้าเชื่อว่ากองทัพหลวงสมเด็จพระนเรศวรเมื่อครั้งไปปราบขบถพระยาพิชัย ที่เข้าปล้นหักเอาเมืองไม่ได้ในชั้นต้นก็คงจะเป็นเพราะชาวเมืองสวรรคโลกได้อาศัยเขานี้เป็นประโยชน์มาก

ส่วนยอดเข้าพนมเพลิงนั้น ทางขึ้นมีบันไดศิลาแลงเหมือนที่เขาสุวรรณคีรี บนยอดทำเป็นลาน มีพระเจดีย์ก่อด้วยแลงองค์หนึ่ง มีวิหารอยู่ด้านตะวันออกของพระเจดีย์และกุฎีเล็กอันหนึ่ง การก่อสร้างใช้แลงเป็นพื้นแต่ฝีมือไม่วิจิตรอะไร พนมเพลิงนี้พงศาวดารกล่าวว่าเป็นที่บูชากูณฑ์ซึ่งอาจจะจริงได้ เพราะสังเกตดูตามเรื่องที่กล่าวถึงบูชากูณฑ์หรือบูชายัญในศาสนาพราหมณ์ก็ดี หรือศาสนายิวก็ดี มักพอใจทำบนยอดเขา เพราะนิยมกันว่าใกล้พระเป็นเจ้าและเทวราชทั้งหลายยิ่งขึ้นกว่าบูชากับพื้นดินราบๆ ที่บูชากูณฑ์ดังกล่าวมาแล้วนั้นก็มักจะไม่มีเป็นสถานอะไร มักทำการบูชากลางแจ้ง อย่างดีก็มีแท่นสำหรับกองไฟบนนั้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นจะคิดหาสิ่งไรให้เหลืออยู่เป็นหลักฐานแห่งความเดานี้ย่อมจะไม่ได้อยู่เอง แต่ถ้าแม้ได้บูชากูณฑ์บนเขานี้จริงน่าจะไปบูชาบนยอดเขาสุวรรณคีรี ซึ่งเป็นยอดสูง และชื่อพนมเพลิงน่าจะมุ่งเรียกรวมทั้งสองยอดเป็นเขาอันเดียว ชื่อสุวรรณคีรีน่าจะเป็นชื่อภายหลัง ส่วนเจดีย์และวิหารบนเขาทั้งสองยอดนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นของสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลังตามนิสัยของมนุษย์บางจำพวก ซึ่งชอบไปสร้างอะไรๆไว้บนเขาเป็นที่เหมาะ

ลงจากเขาพนมเพลิงมาแล้วเลยไปดูวัดช้างล้อม ซึ่งอยู่ต้นทางที่จะเดินไปเขานั้น ที่วัดช้างล้อมนี้มีชิ้นสำคัญอยู่ก็คือพระเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่ในลาน มีกำแพงแก้วทำด้วยแลงเป็นเสากลมๆปักชิดกันเป็นรั้วเพนียด มีแลงท่อนยาวๆพาดทับลานนั้น ๒๕ วาจัตุรัส พระเจดีย์ซึ่งตั้งอยู่ในศูนย์กลางลานนั้นเป็นรูประฆัง มีฐานสูงเป็นชั้นทักษิณ เหนือลานชั้นทักษิณขึ้นไปเป็นฐานบัวมีคูหาเป็นระยะๆ เหนือยอดคูหาขึ้นไปถึงบัวควว่าบัวหงาย ทางด้านตะวันออกมีบันได้ขึ้นลานทักษิณ รอบลานนั้นมีพนักลูกมะหวดวัดลานทักษิณตามแนวพนักนั้น ๑๐ วา ๓ ศอกจัตุรัส รอบฐานแห่งลานทักษิณนั้นมีเป็นรูปช้างยืนหันหน้าออกมาข้างนอก ดูประหนึ่งช้างหนุนลานทักษิณอยู่ ช้างที่นี้ผิดกับที่วัดช้างล้อมรอบเมืองกำแพงเพชร คือแลเห็นทั้ง ๔ ขา ด้านหนึ่งๆมีช้างยืนเป็นแถว ๘ ช้าง กับมีที่มุมอีกมุมละ ๑ ตัว รวมทั้งสิ้นเป็น ๓๖ ตัว ช้างตัวหนึ่งวัดแต่แท่นที่ยืนถึงหัวสูง ๕ ศอก ระหว่างรูปช้างมีเสารูปแปดเหลี่ยม หน้าละ ๖ นิ้ว สูง ๕ ศอกคืบ มีกลีบบัวที่ปลายเสา ดูราวกับเสาตะลุงสำหรับผูกช้าง แต่พิจารณาดูจึ่งเห็นบันไดอยู่หลังเสา ๓ ขั้น สูงขั้นละคืบ ๖ นิ้ว พอขึ้นยืนบนบันไดขั้นบนหน้าอกก็พอเสมอกับปลายเสา เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจว่าเป็นเสาประทีป พอยืนบนบันไดขั้นบนก็พอตามตะเกียงหรือปักใต้ และจุดประทีบได้สะดวก การประดับพระเจดีย์องค์นี้ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ของเขาเข้าทีถูกใจข้าพเจ้านักหนา จากพระเจดีย์นี้มีวิหารอยู่หลังหนึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วไปทางทิศตะวันตะวันออก ในนี้รกมากแต่ไม่นึกว่าจะมีอะไรที่น่าดูอยู่ในนั้นจึ่งไม่ได้จัดการถาง

วัดนี้ดูท่าทางเป็นวัดใหญ่ แต่ไม่มีหลักฐานอันใดที่จะเดาว่าใครสร้างหรือสร้างครั้งใด และที่นี้จะตามอย่างที่กำแพงเพชร หรือที่กำแพงเพชรจะตามอย่างที่นี่ก็ไม่มีหลักจะเดาได้อีก แต่เชื่อว่าไม่ใช่ต่างคนต่างทำแล้วเผอิญความคิดไปโดนกันเข้าเอง ข้างใดข้างหนึ่งคงจะได้ทำขึ้นก่อน แล้วอีกข้างหนึ่งทำตามอย่าง ถ้าจะลองเดาพุ่งไปทีหนึ่งก็น่าจะเดาว่า ที่กำแพงเพชรทำทีหลังที่สวรรคโลก คือนึกโยงไปจากข้อนความที่ปรากฏอยู่ว่า พระเจ้าธรรมิกราชได้เคยครองเมืองศรีสัชนาลัยแต่เมืองครั้งยังเป็นลูกหลวงอยู่ ครั้นภายหลังได้ครองราชสมบัติกรุงสุโขทัยแล้ว ได้ไปจัดการสร้างพระมหาธาตุที่เมืองกำแพงเพชร ได้สร้างเจดีย์ช้างรอบที่นั้นขึ้นด้วยตามอย่างที่สวรรคโลก

ความเดาพุ่งของข้าพเจ้านี้ เชื่อว่าอย่างไรๆยังดีกว่าคำอธิบายของนายเทียนในเรื่องวัดช้างล้อมเมืองสวรรคโลกนี้ คือนายเทียนว่าพระพสุจกุมารซึ่งได้เป็นเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยต่อพระร่วงนั้นเป็นผู้สร้าง และดูเหมือนจะกล่าวด้วยว่าชื่อวัดราชบุรณ แต่ข้าพเจ้าก็จำไม่ได้ถนัดไล่เลียงว่ามีหลักฐานอย่างไร ก็ซัดว่าได้เห็นในหนังสือที่ไฟไหม้เสียแล้วนั่น จึงเป็นอันหมดหนทางที่จะสืบพยานตามที่แกอ้างได้

ที่ข้างเจดีย์ช้างล้อมนี้มีวัดใหญ่น่าดูอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งชาวเมืองเรียกกันว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนี้อยู่ติดกับวัดช้างล้อมทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ แต่คูคนละต่างหาก วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้มีคูและกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ที่วัดภายในรอบกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมรีกว้าง ๒ เส้น ๗ วา ยาว ๓ เส้น ๘ วา ในนี้เข้าไปยังมีกำแพงแก้วอีกชั้นหนึ่งก่อด้วยแลงล้อมลานสี่เหลี่ยมกว้าง ๒๙ วา ยาว ๒ เส้น ๔ วา ภายในกำแพงชั้นในนี้มีชิ้นสำคัญอยู่คือพระมหาธาตุเจดีย์ ฐาน ๖ วา สี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคดล้อมรอบ ส่วนพระเจดีย์นั้นรูปเป็นแบบเดียวกับพระมหาธาตุเจดีย์กลางเมืองสุโขทัย แต่ไม่สูงเท่า เพราะลดชั้นทักษิณเสียชั้นหนึ่ง ทรวดทรงก็งามแต่สู้ที่สุโขทัยไม่ได้ นอกจากพนะเจดีย์องค์ใหญ่ยังมีเจดีย์บริวาร และซุ้มพระก่อเรียงรายสลับกันกันอยู่จนเต็มลาน เจดีย์บริวารเหล่านี้เองที่ทำให้คนเรียกว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถว เจดีย์เหล่านี้มีรูปร่างต่างๆกัน จึ่งเข้าใจว่าไม่ได้ทำลงในคราวเดียวพร้อมกันทั้งหมด คงจะทำขึ้นเป็นคราวๆตามแต่ที่จะต้องการ คือใช้เป็นที่บรรจุอัฐิเป็นพื้น ทั้งพระเจดีย์องค์ใหญ่และเจดีย์บริวารกับซุ้มพระก่อด้วยด้วยศิลาแลงเป็นพื้น

ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้พระมหาธาตุและอยู่ภายในกำแพงแก้วนั้นมีวิหารใหญ่ มีมุขเข้าไปเชื่อมต่อกับพระมหาธาตุ ย่อผนังมุขนั้นเป็น ๒ ชั้น วิหารนี้วัดแต่ข้างหน้าจนถึงหลังที่เป็นมุขนั้น ๑๙ วา ๒ ศอกคืบ แต่หลังคาเข้าใจว่ามีเชื่อมต่อไปจนถึงพระเจดีย์ เพราะที่ฐานบัวพระเจดีย์ยังแลเห็นเป็นรอยอกไก่อยู่ เพราะฉะนั้นหลังคาคงจะยาวได้สักเส้นหนึ่ง ทางกว้างของวิหาร ตอนกลาง ๑๓ วาทั้งระเบียงด้วย เสาเป็นรูปแปดเหลี่ยมหน้าละคืบ ๖ นิ้ว ก่อด้วยแลงแผ่นซ้อนๆกัน ข้างวิหารมีกุฎีเล็กๆก่อด้วยแลงอยู่ข้างหน้าข้างละกุฎี อนึ่ง ในลานนนี้ตามริมกำแพงแก้วมีเสาประทีปทำด้วยแลงปักอยู่เป็นระยะๆตลอดโดยรอบ ภานนอกกำแพงแก้วออกไปมีอุโบสถอยู่ริมมุมวัดทางด้านตะวันตก และตรงหลังพระเจดีย์ใหญ่ออกมามีเป็นฐานสี่เหลี่ยมก่อด้วยแลง บนนั้นเป็นลานเกลี้ยงๆอยู่เฉยๆไม่มีร่อยรอยว่ามีเสาอยู่บนนั้นเลย เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่วิหาร บางทีจะเป็นที่ปลูกต้นศรีมหาโพธิก็เป็นได้

วัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เป็นวัดใหญ่ เพราะฉะนั้นจำจะต้องลองสันนิษฐานดูว่าเป็นของใครสร้าง นายเทียนกล่าวว่าวัดนี้เดิมเขาเรียกว่าวัดกัลยานิมิต เพราะว่านางพระยาธิดาแห่งพระมหาธรรมราชา(บาธรรมราช)เป็นผู้สร้างขึ้น นายเทียนอ้างหนังสือที่ไฟไหม้นั้นเป็นพยานอีก จึงทำให้ข้าพเจ้ามีความสงสัยเป็นอันมากว่าหนังสือเล่มนั้นจะได้ถูกไฟไหม้ไปเสียสักกี่ปีแล้ว และตามความจริงนายเทียนจะจำข้อความในนั้นได้สักเท่าไร

ส่วนตัวข้าพเจ้าเองก็ลองหันลงค้นหนังสือดูบ้าง พงศาวดารเหนือเป็นอันยกเว้น มีเหลืออยู่แต่คำจารึกหลักศิลาของเมืองสุโขทัย ในคำจารึกหลักที่ ๒ ไม่มีกล่าวถึงอะไรในเมืองศรีสัชนาลัย มีแต่ในหลักที่ ๑ พระเจ้ารามคำแหงได้กล่าวไว้ว่า "๑๒๐๙ ศกปีกุน ให้ขุดเอาพระธาตุออกทงงหลายเห็นกทำบูชาบำเรอแก่พรธาตุได้เดือนหกวนน จึงเอาลงฝงงในกลางเมืองศรีสัชนาไลย ก่อพรเจดีย์เหนือหกเข้าจึ่งแล้วต้งงวงยผาล้อมพระมหาธาตุสามเข้าจึ่งแล้ว" พิจารณาดูพระเจดีย์ใหญ่ในวัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้ ดูรู้สึกว่าถ่ายแบบมาจากพระมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ทั้งแผนที่ในจังหวัดฐานพระเจดีย์ก็ดูคล้ายกัน วิหารใหญ่ที่ติดกับพระเจดีย์ใหญ่ที่นี้ตรงกับวิหารพระศรีศากยมุนีที่สุโขทัย รวบรวมความว่าวัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้ ทำแบบเดียวกับมหาธาตุเมืองสุโขทัย แต่ส่วนย่อมลงกว่าเท่านั้น ทั้งเวียงผา(คือกำแพงหิน)หรือก็มีอยู่บริบูรณ์ มีถึง ๒ ชั้นดังที่ข้าพเจ้าได้เล่ามาแล้ว เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงสันนิษฐานว่า พระเจดีย์ใหญ่ในวัดเจดีย์เจ็ดแถวนี้เอง คือพระเจดีย์ที่พระเจ้ารามคำแหงมาก่อขึ้นบรรจุพระมหาธาตุ ที่พระเจดีย์นี้ตั้งก็เป็นกลางเมืองศรีสัชนาลัยตรงตามข้อความในหลักศิลาดูท่วงทีแยบคายกว่าวัดอื่น(๒)

ต่อวัดเจดีย์เจ็ดแถวไปอีกทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีวัดอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งนายเทียนบอกว่าเป็นวัดอุทยานใหญ่ ซึ่งพงศาวดารเหนือกล่าวว่ามีตำแหน่งสมภารเป็นพระครูยาโชด(ญาณโชติ) คณะวัดมหาธาตุฝ่ายขวา ได้ให้พระวิเชียรปราการเข้าไปตรวจดูลาดเลา บอกว่าไม่มีสิ่งไรที่น่าดู ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เข้าไป เป็นแต่ได้เดินผ่านไปเลียบกำแพงวัดซึ่งก่อด้วยแลง ในนั้นเห็นวิหารหลังหนึ่งกับเจดีย์องค์หนึ่ง

แต่ถ้าเดินตรงต่อไปอีกถึงวัดที่มีของน่าดูอันหนึ่ง นายเทียนเรียกว่าวัดนางพระยา และอธิบายว่านางพสุจเทวีธิดาพระยากรุงจีน และอัครมเหสีพระยาร่วงเป็นผู้สร้าง วัดนี้อยู่ริมกำแพงด้านตะวันออกเฉียงใต้ใกล้ประตูรามณรงค์ (ที่ข้าพเจ้าเดาว่าเป็นประตูสะพานจัน) รอบวัดมีกำแพงแลงล้อม มีพระเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งไม่สู้งามอะไรไม่ต้องดูก็ได้ แต่วิหารที่อยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์นั้นน่าดู แต่การที่จะดูต้องพิจารณาหน่อยจึงจะเห็นของดี

เมื่อแรกข้าพเจ้าไปก็ยังไม่เห็นอะไรที่น่าดู และเกือบจะเดินกลับออกจากที่นั้นเสียแล้ว เผอิญมีพวกที่ไปด้วยกันคนหนึ่งชี้ว่าที่เสาทางด้านหน้ามีลายปั้นด้วยปูน ข้าพเจ้าเข้าไปตรวจดูลายปั้นนี้เห็นงามดีจึงเลยตรวจต่อไป จึงเห็นว่ามีลายปั้นด้วยปูนเช่นนั้นอีกที่ผนังซึ่งทำเป็นช่องลูกกรง แต่ทั้งต้นไผ่ข้างๆทั้งเถาวัลย์เลื้อยพันอยู่กับผนังทำให้เห็นลายไม่ถนัด เผอิญมีมีดไปด้วยกันหลายเล่มจึงลงมือตัดเถาวัลย์และก้านกิ่งไผ่กันในทันใดนั้น และวิหารนั้นตั้งบนลานสูงพ้นดินราว ๓ ศอก จึงได้จัดการต่อเป็นแคร่ขึ้นไปเพื่อดูให้ใกล้ๆภายในครึ่งชั่วโมงกว่าๆก็พอได้ขึ้นไปพิจารณาลาย ไม่รู้สึกว่าเหนื่อยเปล่าเลย ที่ลูกกรงปั้นเป็นลายร้อยรักแข้งสิงห์ ประจำยามเทพประนม ลายเหล่านี้ปั้นด้วยปูนติดอยู่กับแลง เพราะฉะนั้นน่ากล้วไม่ช้านักจะกะเทาะสูญหมดเพราะไม่มีใครรักษา ข้าพเจ้าได้ฉายรูปลายมาพิมพ์ลงไว้ในหนังสือนี้ด้วย เพรื่อจะได้เป็นแบบให้ช่างที่คิดจะผูกลายต่อไป(๓)


....................................................................................................................................................


(รู้สึกว่าจะหายไปตอนหนึ่ง แล้วจะกลับมาแก้ไขนะครับ)
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:13:58:34 น.  

 
 
 
ตอนที่ ๖ เมืองสวรรคโลก - วัดมหาธาตุ


สถานที่ควรดูมากที่สุดภายนอกกำแพงเมืองสวรรคโลก ก็คือวัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านตะวันออกแห่งเมืองที่ปลายแหลม เป็นที่ควรดูอย่างยิ่ง ถึงจะไม่มีความรู้ในทางโบราณคดีเลย ก็คงจะรู้สึกเป็นที่พอใจในการที่ไปดู เพราะเป็นของงามอย่างยิ่งอันหนึ่งในเมืองเหนือ ชิ้นที่สำคัญที่สุดก็คือองค์พระบรมธาตุ รูปเป็นพระปรางค์ ฐานล่าง ๑๑ วาสี่เหลี่ยม รูปคล้ายพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก หรือถ้าจะเปรียบให้ใกล้เข้าอีก ก็ต้องเปรียบกับพระปรางค์วัดพิชัยญาติการาม กรุงเทพฯเรานี่เอง ซึ่งตามความจริงได้ถ่ายแบบพระมหาธาตุเมืองสวรรคโลกมาทำ แต่ทำไม่ดีเท่าของเดิมเลย บนฐานบัวกลุ่มพระธาตุนั้นมีคูหาทั้ง ๔ ทิศ ทางทิศตะวันออกมีเป็นประตูเข้าไปในปรางค์ มีบันไดสำหรับขึ้นจากข้างล่างไปที่ประตูนั้น เมื่อเข้าประตูเข้าไปข้างในแล้วเห็นพระปรางค์องค์เล็กตั้งอยู้ในกลางห้อง บนยอดพระปรางค์ใหญ่นั้นมียอดนภศูลกาไหล่ทอง สีทองยังอร่ามดี

หน้าพระธาตุออกมาทางตะวันออกมีวิหารหลวง กว้าง ๘ วา ๓ ศอก ยาว ๑๒ วา มีมุขหน้ายื่นออกมาอีก ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๓ ศอก เสาวิหารก่อด้วยแลงรูปแปดเหลี่ยมเป็นแผ่นๆซ้อนกัน เหลี่ยมหนึ่งๆกว้าง ๑ คืบ ๕ นิ้ว รอบพระธาตุมีทิมคต มีวิหารคตตรงตามทิศใหญ่ พระปรางค์พระมหาธาตุนี้ จะอธิบายให้เป็นข้อความละเอียดไปอีกก็จะยาวมาก จึงได้ฉายรูปมาพิมพ์ลงไว้ในสมุดนี้แล้ว รอบลานพระบรมธาตุนี้ มีกำแพงทำด้วยแลงเป็นเสากลม แท่งหนึ่งๆวัดโดยรอบ ๗ ศอกปักติดๆกันเป็นรั้ว ส่วนสูงประมาณ ๔ ศอก แต่กำหนดไม่ได้แน่ เพราะในลานนี้ดินพูนสูงขึ้นมาเสียมากแล้ว บนเสาที่เป็นรั้วนั้นมีแท่งแลงทับบน เป็นรูปหลังเจียดตัดกว้าง ๑ ศอก ๑๑ นิ้ว หลังเจียดกว้าง ๑ ศอก สันบนอกไก่กว้าง ๑ นิ้ว กำแพงนี้ด้านยาว ๒ เส้น ๒ ศอก ด้านกว้างประมาณ ๑๐ วา มีประตูเข้าทางด้านตะวันออกกับตะวันตก ประตูนั้นทำมีเป็นกรอบแลงตั้งขึ้นไปแล้วมีแลงเป็นรูปอกไก่ทับบน มีเสารับกลางเสาหนึ่งเสา เพราะฉะนั้นประตูเป็นสองช่องแฝด ศิลาอกไก่นั้นยาว ๙ ศอกคืบกว้าง ๒ ศอก ๒ นิ้ว สูงศอกคืบ หลังเจียดกว้าง ๓ ศอก ๕ นิ้ว บนหลังอกไก่มีปรางค์เล็กๆตั้งอยู่ ๕ ยอด ปรางค์เหล่านี้เข้าใจว่าเป็นของเพิ่มเพิมขึ้นภายหลังและไม่ได้ทำให้ประตูนั้นงามขึ้นเลย

อนึ่ง ในลานพระบรมธาตุนั้น ตรงหน้าพระมหาธาตุออกไปคือทางด้านตะวันออกนอกกำแพงแก้ว มีอุโบสถ ต่ออุโบสถออกไปมีเป็นตึกสี่เหลี่ยม ซึ่งเดิมเป็นที่ไว้รูปพระร่วง พระลือ แต่รูปทั้ง ๒ นี้ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้ว เพราะเมื่อประมาณ ๒ หรือ ๓ ปีมานี้แล้ว มีภิกษุรูปหนึ่งได้มาเชิญเอาไป ตามไปพบที่เมืองนครลำปาง พระยาอุทัยมนตรีซึ่งในเวลานั้นเป็นข้าหลวงประจำนครอยู่ได้ส่งคืนลงมา บัดนี้รูปทั้งสองนั้นไปอยู่ ณ ที่ว่าการเมืองสวรรคโลกใหม่ ข้างหลังพระบรมธาตุ คือทางด้านตะวันตกนอกกำแพงแก้ว มีพระเจดีย์กลมรูปทรงเตี้ยคล้ายพระเจดีย์รามัญ ทำด้วยแลงเหมือนกัน เข้าใจว่าคงจะทำขึ้นภายหลังพระปรางค์ คือเมื่อสมัยที่กำลังตื่นนิยมว่าพระศาสนาทางรามัญประเทศเป็นพระศาสนาอันแท้จริง คือราวมหาศักราช ๑๒๘๓ (๕๔๗ ปี ล่วงมาแล้ว) สมัยหลักศิลาจารึกเมืองสุโขทัยที่ ๒ นั้น(๑)

พระมหาธาตุนี้เป็นสิ่งสำคัญในเมืองสวรรคโลก และมีเรื่องราวที่จะกล่าวถึงไว้ในพงศาวดารเหนือวิจิตรพิสดารมาก จำจะต้องลองตรวจหนังสือดู แล้วและจะจับประกอบเข้ากับของที่ยังคงเห็นด้วยตาและพิจารณาดู ตามข้อความต่อไปดังนี้

๑. "พระยาธรรมราชาเจ้า(บาธรรมราช) จึงให้หาชะพ่อชีพราหมณ์ชุกชุมกันพิภาษเอาพระธาตุพระพุทธเจ้าขึ้นมาบรรจุไว้ในเมือง จึงให้ช่างก่อที่บรรจุพระธาตุ จึงให้บาพิศณุคนหนึ่ง บาชีคนหนึ่ง บาฤทธิรจนาคนหนึ่ง บาอินท์คนหนึ่ง บาพรหมคนหนึ่ง บาทั้งห้านี้ย่อมเป็นช่างคิดอ่านด้วยกัน ว่าเราจะทำให้ดูงามดูหลากกว่าช่างทั้งหลายในแผ่นดินนี้" ข้อที่เขาว่าพราหมณ์เป็นผู้สร้างนั้นก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะรูปปรางค์นี้ก็ดูเหมือนจะเป็นของพราหมณ์เข้าเดิม แต่สังเกตดูว่าพวกขอมชอบทำปรางค์มาก เพราะฉะนั้นบางทีจะเป็นพวกขอมทำขึ้นก็เป็นได้ แต่อย่างไรๆก็ดี คงจะเป็นอันเชื่อได้ว่าเป็นของเก่าที่สุดในแถบนี้ อายุบางทีจะกว่าพันปีก็เป็นได้ และเห็นได้ว่าเป็นที่นับถือของผู้ครอบครองเป็นขุนในเมืองสัชนาลัยนี้มาก เพราะฝีมือที่ทำก็อย่างประณีตและยังเรียบร้อยบริบูรณ์ดียิ่งกว่าแห่งอื่นๆในแถบนี้

๒. จับเรื่องต่อไปว่า "ครั้นคิดด้วยกันแล้ว จึงตัดเอาแลงมาทำเป็นแผ่นยาว ๓ ศอก กว้าง ๑ ศอก ยาว ๕ ศอก กว้าง ๑ ศอกทำเป็นบัวหงาย และหน้ากระดานและชานทรงมันให้งาม" ข้อนี้พงศาวดารเหนือผ่านไปอีก ข้าพเจ้าได้ลองวัดดูแล้ว ไม่มีศิลาแท่งใดที่ทำเป็นบัวหงาย ที่จะวัดได้เท่าที่กล่าวไว้นั้นเลย

๓. "จึงขุดเป็นสระตรุด้วยแลงทำสด้วยปูน จึงตั้งฐานชั้นหนึ่งและสมเด็จพระเจ้าธรรมราชาธิราช เสด็จไปด้วยชะพ่อชีพราหมณ์ทั้งหลายถึงตันไม้รังซึ่งแร้งทำรังนั้น แล้วจึงขุดเอาผอบแก้วใหญ่ ๕ กำใส่พระธาตุนั้นขึ้นมา จึงบูชานมัสการด้วยดอกไม้ธูปเทียนแล้ว เชิญพระธาตุมาถึงเมืองแล้ว พระธรรมราชาเจ้าจึงป่าวร้องแก่คนทั้งหลาย ผู้ศรัทธาก็เอาทองมาประมวลกันได้ ๒๕๐๐ ตำลึงทอง ให้ช่างตีเป็นสำเภาเถตรา จึงใส่พระธาตุพระพุทธเจ้าลอยอยู่ในบ่อน้ำ จึงก่อเป็นพระธาตุเจดีย์สวมขึ้นปีหนึ่งจึงแล้ว" ตามข้อความที่กล่าวมาแล้วนี้มีข้อควรพิจารณาอยู่ ๒ ข้อ คือ (ก) บ่อใต้พระมหาธาตุเจดีย์มีจริงหรือไม่ (ข) เรื่องทำสำเภาทองใส่พระบรมธาตุลอยในบ่อนั้น จะมีมูลอย่างไรบ้างหรือไม่ หรือจะแต่งขึ้นให้พิสดารเล่ยเฉยๆ ข้าพเจ้าจะขอลองตอบปัญหา ๒ ข้อนี้ตามความเห็นส่วนตัวข้าพเจ้าดังต่อไปนี้

(ก) เรื่องบ่อใต้พระมหาธาตุเจดีย์นั้น ข้าพเจ้าได้ทราบความจากนายเทียนว่า ครั้งหนึ่งได้มีผู้เอาเชือกลอดเข้าไปในปากช่องอันหนึ่งที่ในฐานพระเจดีย์ ครั้นชักเชือกขึ้นมามีน้ำเปียกปลายเชือก แต่ครั้นจะซักถามเอาตัวบุคคลผู้นั้นก็ไม่ได้ตัว นายเทียนบอกปิดเสียว่าได้ยินตาเล่ากันมาอีกต่อหนึ่ง ถามว่าตัวแกเองเมื่อยังบวชเป็นภิกษุอยู่ก็ได้เป็นสมภารอยู่ที่วัดนี้นาน ไม่ได้ลองตรวจดูบ้างเลยหรือ ตอบว่าไม่เคย ความก็เป็นอันล้ม ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่ามีบ่ออยู่ใต้พระเจดีย์นั้นเลย เพราะถ้าจะว่าไปทางช่างบ่อนั้นไม่น่าจะมีได้ ถ้ามีที่ไหนรากจะทนความหนักของพระเจดีย์ได้ พระเจดีย์คงพังลงไป แต่ถึงจะยอมว่ามีบ่อได้ก็ไม่แลเห็นทางที่จะมีน้ำมีอยู่ในบ่อนั้นได้ เพราะไม่มีทางน้ำไหลเข้าออกเลย และอย่างไรๆก็ดีข้าพเจ้าก็ยังแลไม่เห็นว่าเหตุไร จะไปทำบ่อไว้ในที่ซึ่งไม่มีคนเข้าไปถึงได้ ถ้าความประสงค์มีอยู่เพียงแต่จะเก็บพระธาตุไว้ให้มิดชิดเพื่อมิให้สูญไปแล้ว จะฝังไว้เฉยๆไม่ได้หรือ ทำไมต้องเอาใส่สำเภาลอยไว้ในบ่อ ซึ่งไม่มีใครเห็นหรือเข้าถึงและไม่มีทางน้ำเดินได้เลย การทำสำเถาทองดูเปลืองเปล่าๆไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย

อีกประการหนึ่งพระธาตุอันเป็นที่เคารพนับถือจะเอาไปไว้ในที่ต่ำเช่นนั้นหรือ น่าจะเอาไว้ในที่สูงมากกว่า ที่ซึ่งสมควรจะไว้พระธาตุที่สุด ก็คือในห้องใต้ยอดปรางค์ที่มีบันไดขึ้นไปถึงได้นั้นเอง ที่นี้ถ้าไม่ได้ทำไว้เพื่อเป็นที่ไว้พระธาตุจะทำไว้ทำไมที่ทำเจดีย์รูปปรางค์ ก็แปลว่าทำเป็นปราสาทนั้นเอง คือปราสาทสำหรับประดิษฐานพระธาตุ ก็ทำปราสาทและทำห้องมีบันไดขึ้นไว้แล้ว ทำไมจะเอาพระธาตุไปทิ้งไว้ในบ่อใต้ฐานเล่า เปรียบเหมือนจะทำเรือนให้คนอยู่แล้วและบังคับให้ไปอยู่ใต้ถุนไม่ให้อยู่บนเรือน ก็คงจะไม่ทำฉันใด นี่ในส่วนพระธาตุก็ฉันนั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าพระธาตุน่าจะบรรจุไว้ในพระปรางค์องค์เล็กๆที่อยู่ในห้องภายในพระปรางค์องค์ใหญ่นั้นเอง

(ข) ส่วนเรื่องที่กล่าวถึงทำสำเนาทองลอยพระธาตุนั้น ไม่ใช่ว่าเราะไม่เชื่อเรื่องบ่อใต้พระเจดีย์นั้นแล้ว จะต้องเลยไม่เชื่อเรื่องนี้ไปด้วย ตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเห็นเรื่องลอยพระธาตุน่าเชื่อกว่าเรื่อวบ่อ แต่เป็นธรรมดาเมื่อไม่เชื่อว่ามีบ่ออยู่ใต้พระเจดีย์แล้ว ก้ต้องไม่เชื่อว่าสำเภาได้ลอยใต้พระเจดีย์นั้นด้วย ข้าพเจ้าสงสัยไปอีกอย่างหนึ่ง คือสงสัยว่าผู้แต่งเรื่องพงศาวดารเหนือไม่ได้พิจารณาข้อความละเอียด และเดาผิดว่าลอยอยู่ใต้พระเจดีย์ คือเข้าใจว่าขุดบ่อก่อนแล้วเอาสำเภาที่ใส่พระธาตุลงลอยในบ่อ แล้วจึงก่อพระเจดีย์สวมบ่อนนั้นอีกทีหนึ่ง ข้อนี้ถ้าคิดดูสักหน่อยห็เห็นว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น พระธาตุลงไปลอยอยู่ก่อนในบ่อแล้วจึงก่อพระเจดีย์ขึ้นไปทั้งเช่นนั้น ดูน่ากลัวใจหาย ก้อนศิลาก้อนอิฐอาจที่จะพลัดตกลงไปทับเป็นอันตราย หรืออย่างน้อยปูนอาจร่วงลงไปเปื้อนพระธาตุก็ได้ ดูไม่น่าไว้ใจเลย ถ้าแม้จะเอาเข้าไปไว้ต่อภายหลังก็ควรจะมีช่องมีทางที่เข้าไปได้ นี่ไม่มีเค้าเลย ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า การที่ลอยพระธาตุน่าจะได้ลอยจริง แต่ลอยในสระที่อยู่แจ้งๆ ไม่ใช่อยู่ใต้พระเจดีย์

ลองตรวจค้นดูสระในที่ใกล้เคียงวัดมหาธาตุนี้ ก็ได้ความว่ามีสระอยู่สระหนึ่งทางทิศเหนือนอกกำแพงในกาลบัดนี้ แลเห็นกำแพงแลงที่ตรุสระนั้นอยู่ด้านเดียวคือด้านใต้ อยู่กับตลิ่งริมแม่น้ำทีเดียว อีกสามด้านพังลงล้ำไปเสียแล้ว เดิมสงสัยว่าจะเป็นกำแพงข้างสระจริง เพราะเล็งดูไม่ตรงกับแนวกำแพงเมือง ที่มีอยู่ตามริมฝั่งน้ำนั้นเลย ตรงนี้ถูกสายน้ำแทงพังลงไปเสียมากแล้ว จึงมีเหลือที่แผ่นดินอยู่น้อยนัก สิ่งซึ่งจะทำให้ข้าพเจ้านึกถึงการลอยพระธาตุในสระว่า อาจที่จะเป็นจริงได้นั้น

คือนึกถึงโบราณสถานที่ได้ไปดูในประเทศอิยิปต์ ได้เคยเห็นที่เทวสถานสำคัญๆ เช่นที่ตำบลการนักเมืองลุกซอร์เป็นต้น มีสระใหญ่อยู่ที่ริมเทวสถานมีศิลาตรุอยู่เเข็งแรง เขาอธิบายว่าเป็นที่ลอยเรือทรงของเทวรูป เทวรูปนั้นในเวลาปรกติประดิษฐานไว้ในห้องภายในเทวสถาน ถัดห้องเทวรูปออกมาเป็นห้องไว้เรือทรง ครั้นกำหนดวันนักขัตฤกษ์ เช่นนักขัตฤกษ์ฤดูน้ำท่วมตลิ่งแม่น้ำไนล์เป็นต้น จึงเชิญเทวรูปแห่เป็นกระบวนไปที่สระ เชิญลงตั้งในเรือทรงแล้วลอยเรือในสระ เมื่อผู้ใดมีความประสงค์จะกระทำการสักการบูชาก็หากระทงเป็นรูปเรือบ้าง รูปสัตว์บ้าง ตกแต่งด้วยดอกไม้และเครื่องหอมจุดอบรมต่างๆมาลอยในสระ ถามว่าทำไม่ไม่ลอยเทวรูปในแม่น้ำไนล์ ได้ความว่าบางแห่งก็ใช้ลอยในแม่น้ำ อย่างเช่นที่เทวสถานตำบลเอดฟูเป็นต้น แต่ที่ตำบลการนักกระแสน้ำเชี่ยวจึงใช้ลอยในสระแทน ผู้ที่นำไปดูเทวสถานได้ชี้ให้ดูรูปพิธีลอยเทวรูป ซึ่งมีสลักไว้กับศิลาผนังเทวสถาน ทั้งในหนังสืออิยิปต์โบราณก็มีเล่าถึงพิธีนี้ไว้ชัดเจนด้วย ตั้งแต่เมื่อเวลาไปอิยิปต์นั้นแล้ว ข้าพเจ้าได้เคยนึกเปรียบวิธีเทวรูปนั้นกับพิธีลอยประทีบของเรา

ชาวอิยิปย์โบราณนั้น ตามผู้ชำนาญในคดีอิยิปต์กล่าวว่าเป็นคนชาวเอเชีย ถิ่นเดิมอยู่ในเอเชียตอนกลาง ไม่ห่างจากมัฌชิมประเทศนัก เพราะฉะนั้นไม่เป็นที่น่าประหลาดในการที่ลัทธิศาสนาของชาวอิยิปต์โบรษณนั้นจะมีคล้ายกับศาสนาพราหมณ์ รากเง่าก็คงจะเป็นอันเดียวกันในชั้นต้น แต่เมื่อไปอยู่ห่างไกลกันเช่นนั้น ต่างชาติก็ต่างจะต้องเกิดมีข้อความนิยมแตกต่างกันออกไปบ้างเป็นธรรมดา แต่ยังมีสิ่งที่ยังคงถือร่วมกันอยู่บ้าง เช่นโคอุสุภราชชาวอิยิปต์โบราณก็นับถือเรียกนามว่า "เสระบิส" หรือ "โอสิริอะบิส" มีลักษณะเหมือนโคอสุภราช คือเป็นโคผู้สี่ดำสี่เท้าด่างหางดอก ที่หน้าผากมีใบโพสีขาว และเรื่องราวของเทวราชโอสิริสหรือเอาเสาร์ของอิยิปต์ ก็เป็นทำนองเดียวกับเรื่องพระกฤษณะของพราหมณ์ จึงเข้าใจว่าพิธีพลีกรรมต่างๆคงจะยังมีที่คล้ายๆกันตินเนื่องอยู่บ้าง

พิธีลอยกระทงนั้น ก็ควรเชื่อได้ว่าเป็นพิธีของพราหมณ์ ซึ่งภายหลังได้น้อมเข้ามาใช้เป็นพิธีเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อย่างเดียวกับวิสาขบูชาฉะนั้น จึงทำให้ข้าพเจ้านึกเดาต่อไปว่า ข้อที่กล่าวถึงการที่ลอยพระบรมธาตุในสำเภาทองในสระนั้น อาจที่จะทำจริงได้ คือลอยเรือพระธาตุในสระแล้ว ผู้ใดประสงค์จะกระทำการสักการบูชาก็หากระทงมาลอยลงในสระ แต่การที่ลอยเช่นนี้จะได้กระทำแต่เมื่อแรกเชิญพระธาตุเข้ามาในเมืองแล้ว หรือจะมีพิธีเชิญลงลอยตามกำหนดนักขัตฤกษ์ เช่น ลอยกระทงทุกๆปี ไม่กล้าจะเดาได้

๔. ยังมีข้อความในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงเรื่องวัดมหาธาตุนี้อีกแห่งหนึ่งว่า "พระยาอภัยคามมณีจึงเอาเจ้าอรุณราชกุมารเป็นพระยาในเมืองสัชนาลัย ก็ได้นามว่าพระยาร่วง" และพระองค์จึงให้สร้างพระวิหารทั้ง ๕ ทิศ สร้างพระพระจำลองไว้แทนพระองค์ ติดพระมหาธาตุและพระระเบียงสองชั้น แล้วเอาแลงทำเป็นค่ายและเสาโคมรอบพระวิหาร และพระองค์ก็ให้หาช่างทองมาทุกบ้านทุกเมือง จึงให้เอาทองแดงมาทำเป็นลำพระขรรค์ ยาว ๘ ศอกกึ่ง ต้น ๕ ศอกกึ่ง ปลาย ๓ ศอก และแก้วใส่ยอด ๑๕ ใบ และบัลลังก์แท่นรองยอดให้ ๙ กำ ตระกูลทองดีสิบชั้นและหุ้มทองแดง ขลิบขนุนลงมาถึงตีนคูหา และสร้างอุโบสถให้เป็นทานแก่พระสงฆ์เจ้า" การก่อสร้างต่างๆเหล่านี้เป็นอันได้ทำจริง คือวิหารทั้ง ๕ ก็มีพระระเบียงก็ยังเห็นอยู่พระอุโบสถก็มี ค่ายแลงและเสาโคมแลงก็มีจริง แต่ส่วนลำพระขรรค์ซึ่งเข้าใจว่ายอดนภศูลนั้น จะยาวใหญ่เท่าที่กล่าวไว้จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะไม่ได้ขึ้นไปวัดดู แต่สงสัยว่าจะมากเกินไปตามแบบของพงศาวดารเหนือ การก่อสร้างทั้งปวงที่เหมาให้พระยาร่วงทั้งสิ้นนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้ที่เป็นขุนในเมืองศรีสัชนาลัย คงจะได้ปฏิสังขรณ์วัดวัดนี้ต่อกันมาเป็นคราวๆ ไม่ใช่ทำคราวเดียวกันหมด เพราะวัดนี้ย่อมเป็นวัดสำคัญในเมืองสวรรคโลกยิ่งกว่าวัดอื่น(๒)

ที่ตั้งวัดนี้อยู่ใกล้ฝั่งน้ำมาก และเฉพาะถูกตรงสายน้ำแทงด้วย ตลิ่งจึงพังอยู่เสมอๆ กำแพงวัดด้านเหนืออยู่ใกล้ตลิ่งเต็มทีแล้วไม่ช้าก็คงพัง และถ้าเมื่อเวลาน้ำมากๆ น้ำท่วมเข้าไปถึงในลาน พระปรางค์ถ้าทิ้งไว้เฉยๆอย่างที่เป็นมาแล้ว ต่อไปอีกไม่กี่ปีนักพระปรางค์คงลงน้ำไปวันหนึ่ง การที่จะคิดแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งก็สำคัญอยู่ที่เงิน ถ้ามีเงินก็คงพอจะรักษาไปได้อีกหลายปี แต่ถ้าไม่รีบจัดการ ข้าพเจ้าเชื่อว่าไม่ช้าก็ถึงแก่อันตราย และของงามในเมืองไทยก็จะสูญไปอีกอย่างหนึ่ง เช่นของโบราณอื่นๆเป็นอันมากเป็นแน่แท้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีว่าได้มีโอกาสไปเห็นมาแล้วเป็นขวัญตา


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๖


(๑) พระเจดีย์ใหญ่องค์ข้างหลังพระปรางค์นั้น พิจารณาดูต่อมาเห็นว่าคงสร้างภายหลังพระปรางค์ช้านาน ความคิดเดิมทำนองตั้งใจจะสร้างพระสถูปเจดีย์ให้สูงเท่ากับพระปรางค์เป็นคู่กัน แต่ค้างไม่สำเร็จ มีผู้ก่อยอดประสมพอให้แล้ว จึงดูรูปคล้ายเจดีย์มอญ

(๒) ทั้งที่วัดพระศรีมหาธาตุแห่งนี้ กับที่วัดพระมหาธาตุเมืองสุโขทัย ตรวจดูการสร้างโดยละเอียดเห็นว่าสร้างซ้ำสร้างเติมกัน และมีรอยแก้ไขนับแห่งไม่ถ้วน


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:14:01:10 น.  

 
 
 
ตอนที่ ๗ เมืองสวรรคโลก - วัดนอกเมือง


นอกจากวัดมหาธาตุ ภายนอกเมืองสวรรคโลกมีวัดอยู่หลายวัด แต่ที่น่าดูจริงๆมีน้อย ไม่สนุกเหมือนที่ใกล้เมืองสุโขทัย

ที่ทางทิศเดียวกับวัดมหาธาตุมีอยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าวัดเจ้าจันทร์ ทางเข้าไปต้องผ่านสวนกล้วยของราษฎร ในที่วัดนั้นมีเป็นปรางค์ฐาน ๓ วาสี่เหลี่ยม สูงประมาณ ๖ วา มีประตูเข้าไปในปรางค์นั้นได้ พอแลเห็นข้าพเจ้าก็ได้ร้องว่าเป็นเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์ รูปปรางค์เป็นพยานอยู่ชัด คือเป็นทำนองเดียวกับวัดศรีสวาย หรือวัดพระพายหลวงเมืองสุโขทัย ครั้นเที่ยวคุ้ยค้นดูในกองศิลาอิฐปูนที่พังอยู่ ก็เผอิญพบเศียรพระอิศวรทิ้งเศียรหนึ่ง ทำด้วยศิลา มีอุนาโลมอยู่เป็นพยานด้วย

ในพงศาวดารเหนือมีกล่าวว่าอยู่แห่งหนึ่งว่า บาธรรมราชได้ไปสร้างเทวสถานไว้รูปพระนเรศร์พระนารายณ์ไว้ในเมือง จึงเข้าใจว่าผู้แต่งคงได้ทราบว่ามีเทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์อยู่แห่งหนึ่ง แต่จะเป็นแห่งนี้หรือไม่ใช่ทราบไม่ได้ ฝีมือที่ทำปรางค์นั้นก็ประณีตดี ศิลาแลงที่ใช้ก่อสร้างก็เป็นก้อนใหญ่ๆ ที่นี้ปรากฏว่าภายหลังได้แปลงเป็นวัดพระพุทธศาสนา เพราะมีอุโบสถอยู่ด้านตะวันออกของปรางค์ แต่เชื่อมหัวต่อไม่สนิทเลย ฝีมือทำก็ทรามกว่าของเดิมมาก(๑)

ทางทิศเดียวกันนี้ แต่ใกล้กำแพงเมืองเข้าไปอีก มีวัดอยู่วัดหนึ่งซึ่งนายเทียนชี้ว่าวัดโคกสิงคาราม ซึ่งพงศาวดารเหนือกล่าวว่าเป็นที่ประชุมลบศักราชครั้งพระยาร่วง ในวัดนี้ริมทางที่เดินเข้าไปจากถนน มีวิหารย่อมๆอยู่หลังหนึ่ง มีพระเจดีย์องค์เล็กๆประดิษฐานไว้แทนพระประธาน เดินต่อเข้าไปอีกถึงอุโบสถยาว ๑๒ วา ๒ ศอก กว้าง ๖ วา ศอกคืบ มีมุขยื่นออกไปทางทิศตะวันออกอีก ๒ วา กว้าง ๓ วากับ ๑ คืบ มีเสาแลงรูปแปดเหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลงแผ่นบางๆซ้อนกัน ผนังวิหารมีช่องลูกกรงก่อด้วยแลงถือปูน มีลายปั้นอยู่บ้าง หลังวิหารออกไปคือทางทิศตะวันตก มีพระเจดีย์รูประฆัง ๓ องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน นอกจากนี้ดูก็ไม่มีอะไร ดูเป็นวัดเล็กๆและไม่สำคัญอะไรเลย นายเทียนกล่าวว่าตามตำรา (ซึ่งไฟไหม้เสียแล้วนั้น) ว่าพระสังฆราชเป็นผู้สร้าง แต่จะเป็นสังฆราชไหนสร้างเมื่อครั้งไรไม่ปรากฏ ในสมัยโบราณนั้นสังฆราชก็มีอยู่ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี จะเป็นสังฆราชฝ่ายใดก็ไม่ปรากฏ ที่รู้ว่าเป็นพระสังฆราชองค์ใดองค์หนึ่งเป็นผู้สร้าง ก็คือรู้ได้ด้วยปริศนาที่มีกล่าวไว้ว่าเช่นนั้นเท่านั้น

พิเคราะห์ดูถึงเรื่องลบศักราชตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเหนือ ดูเป็นการใหญ่ ประชุมผู้คนมากหลายร้อย เหตุไฉนพระยาร่วงจึงจะมาเลือเอาวัดเล็กน้อยเช่นนี้เป็นที่ประชุม น่าจะเลือกที่ให้เหมาะและสง่าอ่าโถงกว่าที่นี้เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น จะต้องพึงเข้าใจได้ ๒ ประการ คือ ประการ ๑ ไม่ได้ชุมนุมลบศักราชที่วัดโคกสิงคาราม หรืออีกประการ ๑ วัดที่ไปดูนี้ไม่ใช่วัดโคกสิงคาราม จะตัดสินลงไปให้แน่อย่างไรก็เป็นการยาก ได้ความตามคำนายเทียนและคนอื่นๆว่าวัดโคกสิงคารามที่ได้ไปดูนี้พึ่งจะได้ทิ้งให้ร้างไปเร็วๆนี้ คือเมื่อราวสัก ๓๐ ปีมานี้แล้ว อุโบสถยังใช้เป็นที่บวชนาคได้ เคนเป็นธรรมเนียมวัดที่สร้างขึ้นยังไม่ได้ผูกพัทธสีมา ได้มาอาศัยกระทำการสังฆกรรมอุปสมบทในอถุโบสถวัดนี้ เพราะเหตุนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นวัดที่ราษฎรชาวเมืองนี้อยู่ข้างจะรู้จักดี และพูดถึงอยู่มาก และเป็นธรรมดาสถานที่ใดๆที่เห็นว่าเป็นที่สำคัญ จำจะต้องนึกเรื่องราวต่างๆขึ้นมาประกอบให้ และเป็นเรื่องที่กล่าวว่าพระยาร่วงได้ชุมนุมลบศักราชที่วัดนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้โดยอาการเดียวกัน(๒)

ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง มีวัดที่ได้ไปดูอยู่ ๒ วัด คือวัดสระประทุมกับวัดเขารังแร้ง หนทางที่ไปนั้นไปวัดสระประทุมก่อน วัดนี้คือวัดที่ได้ผ่านมาแต่เมื่อวันแรกมาถึงเมืองสวรรคโลก ที่นี่มีวิหารรูปร่างคล้ายที่วัดศรีชุมเมืองสุโขทัย เป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้าง ๕ วา ๓ ศอก ยาว ๖ วา ๓ ศอกคืบ และผิดกับวิหารวัดศรีชุมที่มีแบ่งเป็น ๒ ห้อง ด้านตะวันตก(คือด้านที่หันไปทางถนน)มีรูปพระยืน ด้านตะวันออกมีรูปพระมารวิชัย ประตูยังมีซุ้มติดอยู่ มีใบระกาทวยเทพปั้นด้วยปูนอยู่ข้างจะงามดี หลังคาวิหารนี้เป็นรูปชามคว่ำ เมื่อเห็นหลังคาวิหารนี้แล้ว จึงได้ทราบแน่ว่าหลังคาวิหารวัดศรีชุมเคยเป็นอย่างไร และเพราะหาทางถ่ายรูปวิหารที่วัดศรีชุมไม่ได้ จึงได้ถ่ายรูปวิหารวัดสระประทุมนี้ไว้แทนเพื่อดูพอเป็นตัวอย่าง

นอกวิหารนี้มีอุโบสถอยู่ทางด้านตะวันออกและเจดีย์อีกหลายองค์ มีกำแพงแลงล้อมรอบลาน วัดนี้ถึงเป็นวัดเล็กก็จริง แต่ท่าทางจะเป็นวัดที่อยู่สบาย สระใหญ่ตรุด้วยแลงมีอยู่ที่เชิงเขาใกล้วัดนี้ จึงเห็นว่าอย่างไรๆคงไม่กันดารน้ำ บางทีจะเป็นวัดนี้เองที่ในพงศาวดารกรุงเก่าเรียกวว่าวัดไม้งาม เป็นที่ตั้งทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จขึ้นมาปราบขบถพระยาพิชัย พระยาสวรรคโลก ที่ข้าพเจ้านึกขึ้นเช่นนี้เพราะเห็นว่า เป็นวัดที่อยู่ริมถนนพระร่วงทางมาจากสุโขทัย และดูอยู่ในภูมิที่เหมาะ แต่ต้องขอกล่าวด้วยว่า ไม่มีหลักฐานเลยจนอย่างเดียว เพราะฉะนั้น แม้แต่จะกล่าวไว้เป็นความเดาก็ไม่กล้า

จากวัดสระประทุมนี้เดินไปตามถนนขึ้นไหล่เขาพระศรี แล้วเลี้ยวแยกออกจากถนน เข้าไปในป่าแดงไปจนถึงเขารังแร้ง มีถนนปูด้วยแลงจากเชิงเขาขึ้นไปจนถึงลานวัดบนยอดเขา ถนนนี้กว้าง ๓ ศอกคืบ ยาว ๗ เส้น ๕ วา ที่ตรงไหนขึ้นชันก็ทำเป็นขั้นบันไดเตี้ยๆ บนยอดเขามีลานกำแพงแก้ว พื้นที่ภายในกำแพงทางกว้าง(ด้านเหนือกักบด้านใต้) ๒ๆ วา ๓ ศอก ทางยาว(ด้านตะวันออกตะวันตก) ๒๒ วา อุโบสถกับวิหารตั้งอยู่เคียงๆกัน อุโบสถตั้งอยู่บนฐานยาว ๘ วา ๓ ศอก กว้าง ๖ วา ๓ ศอก ตัวอุโบสถเองยาว ๕ วา ๓ ศอก กว้าง ๔ วา ๑ ศอก มีเสาแลงแปดเหลี่ยมๆละ ๗ นิ้วกึ่ง มีระเบียงรอบตัว เข้าใจว่าจะโถง เพราะพนักระเบียงยังอยู่บริบูรณ์ เป็นพนักเตี้ยๆ หลังคานั้นพังแล้ว แต่กระเบื้องที่ใช้มุงยังเหลืออยู่ในร่วมเสาเป็นอันมาก เป็นกระเบื้องเคลือบสีขาว ฝีมือเตาทุเรียนทำ นอกจากกระเบื้องยังมีเครื่องประดับหลังคาทิ้งอยู่มาก เป็นบราลีทำด้วยดินเผาเคลือบขาวเป็นต้น ข้าพเจ้าแนะนำผู้รักษาราชการเมือง ให้เก็บกระเบื้องและบราลีไปไว้เป็นตัวอย่างบ้าง แต่เขาจะได้กระทำตามคำแนะนำหรือเปล่าหาทราบไม่

วิหารซึ่งตั้งอยู่ทิศใต้แห่งอุโบสถนั้น ยาว ๙ วา กว้าง ๔ วา มีฐานพระประธานเขื่องๆอยู่ในนั้น ระหว่างอุโบสถกับวิหารมีกุฏิเล็กก่อด้วยแลง กว้าง ๒ วา ๒ ศอกคืบ ๗ นิ้ว ยาว ๕ วา ภายในกำแพงแก้วมีพระเจดีย์อยู่หลายองค์ นอกกำแพงแก้วออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุโบสถ มีสระอยู่สระหนึ่งตรุด้วยแลง ยาว ๕ วา ๒ ศอก กว้าง ๓ วา ๒ ศอก ลึกในเวลานี้ประมาณ ๒ ศอก นายเทียนเล่าว่า ตามความนิยมว่าที่นี้คือที่ฝังพระบรมธาตุอยู่เดิม ต่อเมื่อพระมหาธรรมราชาได้ขุดพระบรมธาตุไปไว้ที่วัดมหาธาตุแล้ว จึงได้เลยทิ้งเป็นบ่อไว้เช่นนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าตามความจริงเป็นอ่างขังน้ำไว้กิน

วัดรังแร้งนี้พงศาวดารเหนือกล่าวว่า พระร่วงได้สร้างขึ้นที่ต้นรังอันเป็นที่ฝังพระบรมธาตุอยู่เดิม และได้ความต่อไปว่าเป็นที่อยู่ของพระพุทธโฆษา แต่พระพุทธโฆษานี้ดูเหมือนเป็นพระสังฆราชาคณะฝ่ายขวา ซึ่งตำแหน่งอยู่วัดมหาธาตุ แต่วัดรังแร้งนี้ ถ้าจะเป็นที่อยู่สบายลมเย็นมิได้ขาด ที่ทางที่จะปลูกเสนาสนะก็มีเพียงพอ เพราะบนยอดเขานี้มีที่ราบพอปลูกเรือนอยู่ได้หลายหลัง ถ้าจะกันดารก็จะเป็นอยู่ที่ตรงการบิณฑบาตลำบากต้องเดินลงมาจากยอดเขาเสมอ วัดนี้ใครจะเป็นผู้สร้างก็ตาม เห็นได้ว่าเป็นวัดที่ตั้งใจทำให้งามมาก นึกถึงอุโบสถเมื่อยังดีๆอยู่จะขาวโพลงทั้งหลัง ตั้งแต่พื้นตลอดถึงหลังคา เช่นช่อฟ้าใบระกา บราลี ล้วนขาวทั้งนั้น ทีก็จะน่าดูหนักหนาอยู่

ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เมืองสวรรคโลกนี้ ได้ไปดูวัด ๒ วัด ซึ่งไม่สู้สำคัญทั้ง ๒ วัด แต่เมื่อไปดูประตูชนะสงคราม (หรือ "ประตูสามเกิด" ของข้าพเจ้า) นั้นแล้ว ก็ได้เลยออกไปที่วัดเขาใหญ่และวัดกูบ วัดเขาใหญ่นั้นตั้งอยู่บนเนินอันหนึ่งมีชิ้นที่พอดูได้อยู่คือมณฑปเก้ายอดประดิษฐานพระปฏิมากรใหญ่ มณฑปเป็นจตุรมุขย่อเป็นไม้สิบสองมีฐาน ๓ ชั้น ฐานชั้นล่าง ๕ วาสี่เหลี่ยมหน้ามณฑปออกมา แต่พื้นลดต่ำกว่าฐานมณฑป มีวิหารร้างอันหนึ่ง วัดตามแนวผนังกว้าง ๖ วา ๑ ศอก ยาว ๖ วา ๓ ศอก หลังมณฑปมีกำแพงแก้วต่อออกไปและมีพระเจดีย์อยู่ในกำแพงแก้วนั้นองค์หนึ่ง การก่อสร้างใช้แลงถือปูน มีมณฑปมีลวดลายปั้นด้วยปูน ดูท่าทางจะเป็นวัดใหญ่และท่าทางจะงามดี ที่วัดกูบนั้นไม่มีอะไรประหลาด(๓)

ข้ามลำน้ำยมไปทางฟากตรงข้ามเมือง ยังมีวัดที่ได้ไปดู ๒ วัด คือวัดไตรภูมิป่าแก้วกับวัดเขาอินทร์ ที่ข้าพเจ้าเรียกนามเช่นนี้ เรียกตามนายเทียนซึ่งเป็นผู้นำทางไปดู วัดไตรภูมิป่าแก้วนั้นตั้งห่างจากฝั่งน้ำในเวลานี้ประมาณ ๖ เส้น ที่วัดนี้ไม่มีอะไรเหลืออยู่นอกจากเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งกับวิหารหลังหนึ่ง มีกำแพงแก้วล้อมลาน เข้าใจว่าเป็นวัดย่อมๆและแต่เดิมเห็นจะอยู่ริมฝั่งน้ำ แต่ต่อมาสายน้ำเปลี่ยนทาง ตลิ่งที่ตรงนี้งอกออกไป และทางวัดมหาธาตุตรงข้ามฟากนั้นกลับพังลงมา ให้นึกออกเสียดายว่าไม่กลับตรงกันข้ามเสีย ถ้าวัดนี้พังทลายลงน้ำไปจะไม่เป็นที่น่าเสียดายนัก

วัดไตรภูมิป่าแก้วนั้น ตามพงศาวดารเหนือว่าเป็นวัดที่อยู่พระสงฆราชคณะป่าแก้ว แต่ดูภูมิฐานของวัดน่าจะเหลวเสียอีก แต่อาจจะเป็นเพราะผู้นำทางไปผิดก็ได้ คือถูกคาดคั้นจะให้ชี้วัดไตรภูมิป่าแก้วให้ได้ แกก็ชี้ไปเช่นนั้นเอง การที่จะค้นหาวัดไตรภูมิป่าแก้วน่ากลัวจะไม่เป็นผล เช่นวัดป่าแก้วกรุงเก่าก็ยังค้นไม่พบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นน่ากลัวป่าแก้วจะไม่ใช่ชื่อวัด จะเป็นแต่ชื่อของคณะ และที่เรียกว่าวัดป่าแก้วจะเป็นเช่นเดียวกับเรียกว่าวัดธรรมยุติกา หรือวัดมหานิกาย หรือวัดรามัญฉะนี้กระมัง(๔)

แต่วัดเขาอินทร์เป็นที่ควรไปดู เดินต่อเข้าไปจากวัดไตรภูมิอีก ๒๐ เส้น ถึงวัดนี้ตั้งอยู่ในที่เนินเป็น ๒ เนิน บนเนินด้านใต้ซึ่งเล็กและต่ำกว่าด้านเหนือ มีอุโบสถยาว ๗ วา ๒ ศอก กว้าง ๔ วา เสาแปดเหลี่ยมหล้าละคืบ หน้าอุโบสถมีเป็นฐานก่อด้วยแลง มีเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี กว้าง ๓ วา ๑ คืบ ๔ นิ้ว ยาว ๓ วา ๒ ศอก มีเสาตั้งขึ้นไปทั้ง ๔ มุม จึงเดาว่าจะเป็นบุษบกพระหรือศาลารอบอุโบสถ และฐานนั้นมีกำแพงแก้วกันเป็นลาน

บนเนินด้านเหนือซึ่งเป็นเนินใหญ่ มีวิหารกับพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่ง เนินนี้ตัดเป็นลาน ๓ ชั้น ลดต่ำกว่ากันชั้นละ ๒ สอกเศษ มีบันไดทำด้วยแลงก้อนใหญ่ๆ ที่ลานชั้นกลางพบท่อน้ำทำด้วยดินเผาเคลือบทิ้งกระจัดกระจายอยู่หลายท่อน ทั้งที่ลานชั้นบนก็มีอยู่บ้าง ท่อเหล่านี่ทำเป็นท่อนๆ สวมต่อกันเช่นท่อน้ำที่ในพระราชวังกรุงเก่า ต้นมีปากบาน ปลายเป็นปากห่อ สำหรับสวมลงในต้นท่อที่จะต่อกันนั้น ท่อเหล่านั้นเขื่องกว่าที่ได้เห็นในวังกรุงเก่า ลองวัดดูที่กลางลำได้ ๒ ศอกคืบ ๕ นิ้วโดยรอบ ท่อหนึ่งๆคะเนว่าจะยาวประมาณ ๒ ศอกคืบเศษ แต่หาท่อนบริบูรณ์ไม่ได้ ท่อนี้เข้าใจว่าใช้สำหรับให้น้ำฝนตกลงจากลานชั้นบนมาลานชั้นกลาง ลานชั้นกลางนี้กว้าง ๑๒ วา ๒ ศอก ยาว ๒ เส้น ๑๕ วา บันได้กว้าง ๗ ศอกคืบ ที่ลานนี้มีเป็นวิหารหรือการเปรียญฐานเป็นแลงกว้าง ๔ วา ยาว ๑๑ วา ๒ ศอก นอกจากนี้ก็ไม่มีอะไร ลานชั้นบนกว้าง ๑๘ วา ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก มีกำแพงแก้วหรือพนักที่ขอบทั้ง ๔ ด้าน พระเจดีย์ใหญ่บนลานนี้เป็นรูประฆังฐาน ๗ วา ๒ ศอกสี่เหลี่ยม

ทางด้านตะวันออกพระเจดีย์นี้มีวิหารเชื่อมติดต่อกับฐาน วิหารนี้ภายนอกผนังกว้าง ๖ วา ๔ นิ้ว ยาว ๑๖ วา ๒ ศอก มีเสารูป ๘ เหลี่ยมหน้าละ ๑ คืบ ๔ นิ้ว บัวปลายเสายังมีเหลืออยู่เสาหนึ่ง ยังเห็นลายงามดี แต่ดูท่าทางจวนจะหลุดอยู่แล้ว ข้าพเจ้าจึงให้ฉายรูปไว้ และได้แนะนำเทศาภิบาลให้แกะออกแล้วเอาไปรักษาไว้เพื่อเป็นตัวอย่าง ผนังวิหารนั้นมีเป็นช่องลูกกรงตลอด ที่ยังเหลือบริบูรณ์ดีอยู่หลายห้อง ผนังหนาคือ ๒ นิ้ว มีประตู ๓ ช่อง คือประตูใหญ่ด้านตะวันออกช่องหนึ่ง กับมีประตูย่อมด้านเหนือกับด้านใต้ทางตรงฐานพระประธานด้านละช่อง ที่ประตูใหญ่ไม้กรอบขาด บานประตูยังอยู่ ทางด้านใต้ก็ยังอยู่ แต่ดูท่าทางจะผุเต็มทีแล้ว ทางประตูด้านเหนือพังลงเสียก่อนแล้ว สังเกตดูว่าวัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง เพราะการก่อสร้างทำด้วยฝีมืออันประณีต จึงน่าจะเชื่อว่าสมภารคงจะเป็นพระที่ทรงสมณศักดิ์ พงศาวดารเหนือว่าตำแหน่งสมภารวัดเขาอินทร์เป็นพระครูธรรมไตรโลก แต่พระครูธรรมไตรโลกนั้นว่าเป็นตำแหน่งในคณะขวา คือคณะวัดมหาธาตุ พิเคราะห์ดูตามภูมิที่ดูวัดนี้จะขึ้นคณะป่าแก้วฝ่ายซ้าย คือสังเกตว่าที่ไหนมีพระเป็น ๒ คณะ มักแบ่งกันอยู่คนละฝั่งน้ำ และที่นี่ก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน ถ้าเช่นนั้นแล้วก็น่าจะนึกเดาให้วัดใหญ่นี้เป็นที่อยู่ของพระพนรัตนสังฆราชคณะป่าแก้ว เพราะนอกจากวัดนี้ก็ไม่มีวัดอะไรที่ใหญ่หรือท่าทางจะเป็นวัดสำคัญยิ่งไปกว่าวัดนี้ แต่อย่างไรๆก็ดี วัดนี้เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง สมควรจะรักษาไว้ต่อไป นับเป็นที่ ๒ รองวัดมหาธาตุได้(๕)

นอกจากวัดต่างๆยังมีที่ควรไปดูอีกแห่งหนึ่ง เพราะมีข้อความอ้างถึงในพงศาวดารเหนือ กล่าวคือแก่งหลวงหรือเรียกตามพงศาวดารเหนือว่าแก่งกลางเมือง ที่นี้คือที่พงศาวดารเหนือกล่าวว่าพระร่วงไปจมน้ำอันตรธานไป ที่จริงเป็นแก่งยาวและในฤดูน้ำๆลึกและเชี่ยวมาก ถ้าตกลงไปในเวลาหน้าน้ำเห็นจะอันตรธานจริง ในเมื่อเวลาข้าพเจ้าไปดูนั้น เป็นฤดูแล้งน้ำเพียงแค่เอว ไปทางเรือขึ้นทางแก่งสัก แล้วเลยขึ้นไปจนถึงแก่งหลวง ขาล่องต้องระวังงมาก เพราะร่องน้ำลดเลี้ยวมีศิลาก้อนใหญ่ ถ้าเรือโดยนอาจจะล่มหรือแตกได้ ที่ตรงแก่งหลวงที่ตอนน้ำข้างบนกับข้างล่างต่อกันงามดี ได้ฉายรูปมาลงไว้ในสมุดนี้ด้วย(๖)


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๗


(๑) ที่เรียกว่าวัดเจ้าจันทร์นี้ตรวจดูต่มา เห็นว่าเดิมเป็นเทวสถานดังทรงพระราชวินิจฉัยในหนังสือนี้ แต่ได้ความข้อสำคัญเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง ว่าโบราณสถานที่พวกขอมสร้างมีปรางค์ที่วัดเจ้าจันทร์นี้เป็นที่สุดข้างฝ่ายเหนือ เป็นหลักฐานให้เห็นว่าในสมัยเมื่อพวกขอมเข้ามาตั้งเมืองหลวงที่เมืองลพบุรี พวกขอมได้ปกครองขึ้นไปเพียงเมืองเชลียง หัวเมืองเหนือนนั้นขึ้นไปมอญและลาวปกครองเป็นประเทศราชทั้งนั้น

(๒) ในศิลาจารึกสุโขทัยสมัยตอนต้นใช้มหาศักราชทั้งนั้น ถึงตอนปลายมีใช้จุลศักราชบ้าง เรื่องที่ว่าลบศักราชในพงศาวดารเหนือ ถ้ามีมูลความจริงก็เห็นจะเป็นการเปลี่ยนใช้จุลศักราชแทนมหาศักราช
อนึ่ง เรื่องชื่อวัดที่เรียกกันในชั้นหลัง เรียกตามราษฎรสมมติทั้งนั้น เพราะเมืองร้างมาเสียนานนับหลายร้อยปี ราษฎรไม่มีหลักฐานที่จะรู้ชื่อเดิม ก็มักเรียกชื่อตามวัตถุที่สังเกตเห็นเป็นสำคัญมีอยู่ในวัดนั้น เช่นเรียกว่าวัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว เป็นต้น วัดโคกสิงห์เดิมจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แต่ชื่อน่าจะสมมติกันขึ้นในชั้นหลัง เพราะมีรูปสิงห์เหลือปรากฏอยู่บนโคก ซึ่งเคยเป็นฐานพระเจดีย์ หรือโบสถ์วิหารในวัดนั้น

(๓) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ข้าพเจ้าไปตรวจดูทางวัดเขาใหญ่อีกครั้ง ๑ พบพระสถูปเจดีย์มีต่อขึ้นไปบนเขานี้อีกหลายองค์ เป็นพระเจดีย์ขนาดเขื่องๆทำฝีมือดี ที่เป็นรูปทรงลังกาแท้ก็มี สันนิษฐานว่าที่เขาใหญ่นี้เห็นจะเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุพวกมหาเถรที่มาจากลังกา

(๔) คำว่าป่าแก้วนั้น สอบสวนต่อมาได้ความว่าเป็นนามพระสงฆ์นิกาย ๑ ตรงดังพระราชวินิจฉัยในหนังสือนี้ พระสงฆ์นิกายนี้พระมหาเถระในลังกาทวีปองค์ ๑ มีนามว่าวันรัตนมหาเถรเป็นพระอุปัชฌาย์ จึงเรียกนามนิกายตามพระวันรัตนนั้น แปลเป็นภาษาไทยว่าป่าแก้ว ที่เรียกว่าวัดไตรภูมิป่าแก้ว ควรเข้าใจว่าวัดนั้นชื่อไตรภูมิ เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์คณะป่าแก้ว วัดป่าแก้วที่กรุงศรีอยุธยาก็พบแล้ว คือที่เรียกกันเดี๋ยวนี้ว่าวัดใหญ่ (มีพระสถูปเจดีย์องค์ใหญ่ อยู่ข้างตะวันออกทางรถไฟ) เป็นที่สถิตของสมเด็จพระวันรัตนตำแหน่งสังฆราชนิกายป่าแก้ว เหตุที่เรียกชื่อวัดว่าวัดไตรภูมิยังพบเค้าเงื่อนอีกทางหนึ่ง ด้วยพระมหาธรรมราชาพระยาลิไทยอันเสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๕ ในราชวงศ์พระร่วง ทรงรอบรู้พระไตรปิฎกมาก โปรดให้คัดความจากคัมภีร์ต่างๆมารวมแต่งหนังสือขึ้นเรื่อง ๑ เรียกว่า "ไตรภูมิ" อธิบายด้วยสวรรคภูมิ มนุษยภูมิ และอบายภูมิ หนังสือยังปรากฏอยู่ (หอพระสมุดฯพิมพ์แล้ว เรียกชื่อเรื่องว่า ไตรภูมิพระร่วง) เป็นหนังสือสำนวนเก่าก่อนเรื่องอื่นๆหมด เว้นแต่ที่จารึกศิลา และเรื่องไตรภูมินี้นับถือกันถึงเอามาเขียนเป็นรูปภาพที่ผนังโบสถ์สืบมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดไตรภูมิเห็นจะได้ชื่อนั้นเพราะเป็นที่ประชุมแต่งหนังสือไตรภูมิ ต้องเป็นวัดใหญ่

(๕) วัดเขาอินทร์นี้ น่าจะสันนิษฐานว่าเป็นวัดไตรภูมิป่าแก้วด้วยเป็นวัดใหญ่ แต่ไม่มีหลักฐานอื่นประกอบ อนึ่งพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานวัดเขาอินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้เชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารวัดพระเชตุพนด้านตะวันออก

(๖) ที่ตรงแก่งหลวงแต่เดิมเห็นจะเป็นที่ดอน ด้วยมีปากน้ำยมเลี้ยวไปทางตะวันออกข้างเหนือแก่งหลวง แล้ววกลงมาข้างใต้ เดี๋ยวนี้เรียกว่าลำน้ำยมเก่า มีเมืองบางยม เมืองบางขังโบราณตั้งอยู่ริมลำน้ำนี้ แนวลำน้ำยมเก่าผ่านหลังเมืองสวรรคโลกใหม่และเมืองสุโขทัยใหม่ ไปจนถึงบ้านไกร อำเภอกงไกรลาส จึงมารวมลำน้ำยมใหม่ ส่วนลำน้ำยมใหม่นั้น ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเดิมเห็นจะเรียกลำน้ำเชลียง ยอดน้ำมาแต่ทางเมืองเถิน ผ่านเมืองเชลียงเคียงกับลำน้ำยมใหม่ลงมาจนบ้านไกร จึงมารวมกัน สันนิษฐานว่า ณ กาลครั้งหนึ่งในสมัยสุโขทัยเห็นจะขุดคลองเชื่อมลำน้ำยมกับลำน้ำเชลียงให้ใช้เรือได้ถึงกัน ทีหลังสายน้ำยมมาเดินเสียทางคลองนั้น ทำให้ลำน้ำยมเดิมตื้นเขิน และทำให้ลำน้ำเชลียงกลายเป็นลำน้ำยม จึงได้เรียกกันว่าลำน้ำยมเก่าและลำน้ำยมใหม่มาจนบัดนี้


....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:14:02:37 น.  

 
 
 
ตอนที่ ๘ เมืองสวรรคโลก - สถานที่ห่างเมือง


ยังมีที่อยู่แห่งหนึ่ง ซึ่งมาถึงสวรรคโลกแล้วก็ควรจะไปดู กล่าวคือเตาทุเรียนที่ทำถ้วยชามสังกโลก ทางไปจากวัดน้อยที่พักนั้น ๑๙๖ เส้น เดี๋ยวนี้อยู่ในเขตอำเภอด้ง ทางที่ไปเดินผ่านเข้าไปในเมืองไปออกประตูด้านเหนือ ซึ่งเรียกชื่ตามนายเทียนว่าประตูไชยพฤกษ์ ออกจากเมืองไปแล้วเดินเรียบริมฝั่งน้ำยม มีถนนเก่าไปตลอดทาง มีบ้านช่องไร่นาเรื่อยๆไป นานๆจะมีเป็นป่าแดงบ้าง ที่ตั้งเตาทุเรียนก็ไม่ห่างลำน้ำนักมีเป็นเนินเล็กๆอยู่หลายเนิน นายอำเภอด้งได้ทำที่พักไว้ และมีราษฎรพากันมาดูพวกที่ไปนั้นเป็นอันมาก มีผู้หญิงเกล้าผมสูงปนอยู่หลายคน นายอำเภอได้จัดการขุดเครื่องถ้วยชามและกระปุกขึ้นมาไว้ได้มาก ที่เป็นสังกโลกคือพื้นขาวมีรอยร้าวนั้นมาก แต่ที่เป็นอย่างอื่นๆก็คือเขียวไข่กา ทั้งเกลี้ยงทั้งมีลายโปนพื้นขาวลายดำเป็นดอกไม้หรือนกก็มี เป็นตุ๊กตารูปสัตว์ก็มี นอกจากชามจานและภาชนะใช้ในบ้านมีกระเบื้องเคลือบ บราลีและศีรษะมังกรเคลือบขาวเป็นพื้น จะหากระเบื้องเคลือบสีสักแผ่นไม่พบเลย

เมื่อได้พักและเลี้ยงอาหารกันแล้ว พวกที่ไปด้วยกันได้ไปดูให้เขาขุดหาชิ้น และได้ลงมือขุดเองบ้าง แต่ก็ไม่พบชิ้นดีๆเลย ซึ่งไม่สู้น่าประหลาดใจนัก เพราะประการหนึ่งชิ้นที่ไม่เสียเขาก็คงไม่ทิ้งไว้ อีกประการหนึ่งคนที่ได้มาก่อนๆนี้ก็ได้มาขุดเก็บกันไปเสียมากแล้ว ที่ยังเหลืออยู่ที่แต่ชิ้นที่แตกหรือติดกันเป็นพวงๆแกะหลุดจากกันไม่ได้ เตาที่เผานั้นก่อด้วยอิฐ ชิ้นที่ขุดๆได้นั้นไม่ใช่ขุดได้ในเตา ได้ในที่นอกๆมาก และบางทีต้องขุดลงไปเป็นบ่อลึกถึง ๕ ศอก ๖ ศอก จึงจะพบ เข้าใจว่าเดิมชิ้นเหล่านี้คงจะทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่เฉยๆ แล้วจึงได้มีดินมาถมทับขึ้น

เตาทุเรียนนี้มีปัญหาเกี่ยวข้องที่ตอบยากๆอยู่หลายข้อ ข้อหนึ่งชื่อที่เรียกว่าเตาทุเรียนนั้นมาจากอะไร นายเทียนว่าเป็นชื่อของจีนผู้ที่มาเป็นครูสอนทำถ้วยชาม แต่จีนชื่อทุเรียนก็ยังไม่เคยได้ยินเลย และอย่างไรๆก็ไม่มีหลักฐาน ของควรเชื่อได้อย่างหนึ่งคือจีนคงจะได้มาเป็นครูจริงในชั้นต้น แต่ต่อมาไทยเราก็คงทำเป็น ข้อนี้นำปัญหามาอีกข้อหนึ่งคือได้เลิกทำชิ้นสังกโลกมาเสียเมื่อไร แต่เหตุที่เลิกไปนั้นน่าจะเดาได้คือเป็นเพราะเรื่องเทครัวกันไปเทครัวกันมาหลายทบหลายทอดนักนั้นเอง การทำชิ้นสังกโลกจึงเสื่อมและวิชาจึงเลยสูญ ยังมีปัญหาอีกข้อหนึ่งคือชิ้นสังกโลกที่ร้าวไปทั้งตัวเช่นนั้นร้าวเองหรือตั้งจะทำให้ร้าว ปัญหาข้อนี้ผู้ที่ชำนาญในทางกิมตึ๋งอาจตอบได้ดีกว่าผู้ชำนาญทางโบราณคดีกระมัง(๑)

อนึ่ง ในระหว่างเวลาที่อยู่สวรรคโลกนั้น ข้าพเจ้าได้ไปเที่ยวที่เมืองใหม่วันหนึ่ง ทางไปออกจากวัดน้อยตัดข้ามแหลมไป จนออกถนนที่เลียบไปตามริมฝั่งน้ำแม่ยมฝั่งขวา ที่ตรงนี้ลำน้ำหักมากจนที่วัดน้อยเกือบเป็นเกาะ เมื่อเวลาอยู่ ณ ที่พักเห็นแม่น้ำไหลไปทางตะวันออกไปวกกลับที่วัดมหาธาตุ แล้วก็คดเคี้ยวไปเป็นหลายครั้ง ถนนที่ไปเมืองใหม่ก็ลดเลี้ยวไปตามรูปแม่น้ำ เพราะตัดเลียบไปตามฝั่งขวาตลอดมีที่ตัดแหลม อยู่แห่งหนึ่งหรือสองแห่งเท่านั้น รวมทางแต่ที่วัดน้อยไปถึงตลาดเมืองใหม่ ๓๘๐ เส้น มีบ้านเรือนตั้งอยู่ติดๆกันไปตลอดแต่เมืองเก่าถึงเมืองใหม่ ที่ตำบลบ้านวังไม้ขอน ซึ่งอยู่ตรงข้ามฟากกับที่ว่าการเมือง มีตลาดจีนมีร้านตั้งติดๆกันมากทั้ง ๒ ข้างถนน แต่เป็นร้านเล็กๆโดยมาก ข้ามฟากไปฝั่งซ้ายทางสะพานเรือกชั่วคราวซึ่งทำข้ามลำน้ำ ตรงนี้มีหาดยาวออกมาเหมือนที่เมืองสุโขทัยใหม่ จอดแพไม่ได้เลย แต่บนฝั่งมีบ้านช่องแน่นหนากว่าที่บ้านธานี

ในห้องรับแขก ณ ที่ว่าการเมืองมีของโบราณอยู่บ้าง แต่น้อยชิ้นนัก รูปพระร่วงพระลือก็อยู่ที่นี้ รูปทั้งสองนี้หล่อพิมพ์เดียวกัน เป็นพระพุทธรูปยืนห้ามสมุทร บนพระเศียรมีอะไรเหมือนฝาชีครอบอยู่ ซึ่งเข้าใจว่าคงตั้งใจจะทำเป็นชฎาเทริดแต่ไม่เป็นรูปเป็นร่างเลย ตามพงศาวดารกรุงเก่ามีข้อความปรากฏอยู่ว่า สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเมื่อได้เมืองสวรรคโลกแล้ว ได้โปรดให้เชิญรูปพระร่วงพระลือซึ่งรจนาด้วยงาช้างเผือกงาสีดำนั้นไปเมืองพิษณุโลกด้วย เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่ารูปทั้งสองที่เห็นอยู่ ณ ที่ว่าการเมืองนั้น เป็นรูปหล่อจำลองขึ้นภายหลัง ผู้ที่ให้การให้หล่อคงจะจำรูปร่างพระร่วงพระลือของเดิมได้ไม่ใคร่แม่นยำนัก และซ้ำจะไม่เป็นช่างเสียเลยด้วย จึงให้การให้หล่อรูปจำลองที่เลวถึงปานนั้น

นอกจากรูปพระร่วงพระลือนั้น ในห้องรับแขกยังมีชิ้นพอดูได้อีกชิ้นหนึ่งคือแผ่นศิลามีลายสลักทั้งสองหน้า หน้าหนึ่งเป็นรูปพระมารวิชัยสถิตโพธิบัลลังก์ อีกหน้าหนึ่งเป็นรูปราชสีห์เผ่นคู่หนึ่ง ถามได้ความว่าพระพิษณุสงครามผู้รั้งราชการคนก่อนไปได้มาไว้ แต่จะได้มาจากแห่งหนตำบลใดก็ไม่ปรากฏ กับได้ความต่อไปว่าเมื่อพระพิษณุไปได้เอาไปเสียด้วย เพราะถือว่าเป็นของส่วนตัว คงทิ้งไว้ให้แต่เล็กน้อย ซึ่งน่าเสียดายอยู่บ้าง

แต่ในที่ว่าการนี้ ยังมีชิ้นสำคัญอยู่ชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ได้อยู่ภายในห้องรับแขก กล่าวคือเพดานห้องใต้พระปรางค์พระบรมธาตุเมืองสวรรคโลก เพดานนี้ตกลงมาจากเสาที่รับอยู่ จงได้ยกมาไว้ ณ ที่ว่าการเพื่อรักษาไว้ เพดานนั้นทำด้วยไม้ปลู มีลายสลักปิดทอง ลายกลางเป็นดอกบัวธรรมจักร มีลายมุมประกอบ วัดในร่วมลายได้ ๒ ศอกคืบสี่เหลี่ยม มีริมไม้เปล่าๆยื่นพ้นลายออกมาอีก ๒ นิ้วกึ่ง เส้นศูนย์กลางวงดอกบัววัดได้ ๒ ศอก ลายงามดีนัก ดังปรากฏอยู่ในรูปที่ข้าพจ้าได้ฉายและพิมพ์ลงไว้ในสมุดเล่มนี้ด้วยแล้ว

ส่วนสถานที่ราชการต่างๆนั้น ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวอธิบายในที่นี้ เพราะไม่แปลกไปกว่าที่อื่นมากนัก และตลาดก็ไม่มีอะไรจะซื้อที่แปลกไปกว่าที่จะหาได้ในกรุงเทพฯ

มีปัญหาอยู่ข้อหนึ่งที่ข้าพเจ้าจะอดถามไม่ได้ คือเหตุไรจึงไปตั้งเมืองใหม่อยู่ ณ ที่ตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ อย่างเมืองสุโขทัยใหม่จะตั้งที่เมืองธานีนั้นพอเข้าใจได้ เพราะที่เมืองเก่ากันดารนัก ห่างจากแม่น้ำถึง ๓๐๐ เส้น และผู้คนก็ไปมามากอยู่ที่บ้านธานี แต่ที่สวรรคโลกดูไม่เป็นเช่นนั้น ที่หมู่บ้านซึ่งเรียกว่าบ้านเมืองเก่า บัดนี้มีบ้านเรือนอยู่หนาแน่น น้ำก็ไม่อัตคัดเลย ข้าพเจ้ากลับจะเห็นทำเลดีกว่าที่บ้างวังไม้ขอนที่ตั้งเมืองใหม่นั้นเสียอีก วัดวาอารามทางเมืองเก่าก็มีอยู่มาก พระครูเจ้าคณะเมืองก็อยู่ทางเมืองเก่า เรือนของผู้ดูการล่องซุงของบริษัทอีสเอเชียติกก็ตั้งอยู่แถบเมืองเก่า ถ้าไม่เป็นที่เหมาะสมและสะดวกสบายเขาคงไม่ไปตั้งอยู่ทางนั้น การอยู่เมืองเก่าจะมีข้อลำบากอยู่ก็การที่จะต้องไปตลาดไกลเท่านั้น แต่ตลาดที่พวกจีนไปตั้งอยู่ที่ตำบลบ้างวังไม้ขอนนั้น ก็ดูไม่เป็นเหย้าเรือนมั่งคงถาวรอะไรนัก ดูเหมือนว่าถ้าแม้สถานที่ราชการไปตั้งอยู่ที่นั้นตลาดจึ่งยังคงอยู่ ถ้าย้ายสถานที่ราชการไปแห่งอื่นดูเหมือนตลาดจะยกตามไปได้ แต่เรื่องนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าพูดนอกประเด็นไป เพราะความตั้งใจของข้าพเจ้ามีอยู่เพียงแต่จะเล่าถึงโบราณสถานและวัตถุที่ได้เห็นในเมืองสวรรคโลกเท่านั้น แต่ที่ข้าพเจ้าพูดนั้นก็เพราะมีความรู้สึกอยู่ว่า ถ้าแม้เจ้าเมืองกรมการไปอยู่ใกล้ๆเมืองเก่าก็จะได้มีเวลาตรวจตราโบราณสถานและวัตถุ ดำริจัดการรักษาที่และสิ่งที่ควรรักษาไว้เพื่อเป็นเกียรติยศแห่งบ้านเมืองของเราให้ถาวรต่อไปได้อีกบ้างเท่านั้น

ข้อความที่จะพึงกล่าวในเรื่องเมืองสวรรคโลกเป็นอันจบในตอนนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าการตรวจค้นสถานที่ต่างๆทำไม่ได้ด้วยความสะดวกใจเหมือนเช่นที่เมืองสุโขทัย เพราะไม่มีหลักฐานมั่นเช่นที่โน้น ต้องใช้การเดามาก และเมื่อใช้การเดามากทางที่จะพลาดพลั้งก็ย่อมมีมากขึ้นเป็นธรรมดา แต่อย่างไรๆก็ดี ตามที่ข้าพเจ้าได้ตรวจค้นไว้ได้บ้างแล้วนี้ หวังในว่าจะพอเป็นทางให้ผู้ที่จะได้ขึ้นไปดูสถานเหล่านั้นในกาลเบื้องหน้า ดำริและพิจารณาให้ดีขึ้นกว่าที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสกระทำไว้แล้วครั้งนี้


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๘


(๑) เรื่องเครื่องสังกโลกโบราณ มีเตาที่ทำทั้งที่เมืองสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิษณุโลก แต่ของที่ทำ ๓ แห่งนี้ผิดกัน ที่เมืองพิษณุโลกทำ ณ ตำบลซึ่งเรียกกันในทม้องถิ่นว่า บ้านเต่าหาย (ผู้แต่งเรื่องพงศาวดารเหนือเหยียดต่อไปว่า บ้านปะขาวหาย หมายความว่า พระอินทร์ที่แปลงเป็นปะขาวทาช่วยหล่อพระพุทธชินราชอันตรธานไปที่ตรงนั้น) คือบ้านเตาไห แต่โบราณสิ่งของที่ทำแห่งนี้เป็นเนื้อดินรมผิวให้ดำไม่เคลือบ เตาที่เมืองสุโขทัยซึ่งทรงพรรณนามาในพระราชนิพนธ์ ของที่ทำด้วยหินฟันม้า เนื้อหยาบ เคลื่อบก็ยาก เช่นตุ่มใหญ่เรียกว่าตุ่มสุโขทัยเป็นตัวอย่าง คล้ายกับเครื่องเคลือบทำทางเมืองเขมรในสมัยเดียวกัน ที่เมืองสวรรคโลกนั้นมีเตาตั้งทำ ๒ ตำบล คือเตาทุเรียนที่ทรงพรรณนาในพระราชนิพนธ์เตา ๑ เตาใต้ลงมาอยู่ตอนใกล้เมืองอีกตำบล ๑ ของทำที่เมืองสวรรคโลก เนื้อหินฟันม้าที่ปั้นและน้ำเคลือบดีกว่าแห่งอื่นๆทั้งหมด

สันนิษฐานเรื่องตำนานเครื่องสังกโลกว่าจะมีมาดังนี้ คือคำว่า "สัง" นั้น มาจากคำ "ซ้อง" ภาษาจีน เป็นนามราชวงศ์ซึ่งครองประเทศจีนระหว่าง พ.ศ. ๑๕๐๓ จน พ.ศ. ๑๘๑๙ เหตุด้วยเครื่องเคลือบสีเทาอย่างนี้เกิดมีขึ้นในเมืองจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง ทุกวันนี้ฝรั่งก็ยังเรียกว่าของสมัยราชวงศ์ซ้อง ญี่ปุ่นเรียกซ้องโกลก คำว่า โกลก หรือ กโลก เป็นคำเดียวกัน แต่ยังสืบไม่ได้ความว่าแปลว่ากระไร ชื่อเมืองสวรรคโลกน่าจะมาแต่คำว่าสังกโลกนี้เอง ส่วนเรื่องตำนานนั้น คือเมื่อราว พ.ศ. ๑๗๒๐ พวกมงโกลปราบประเทศจีนจะเอาไว้ในอำนาจ มีจีนบางจำพวกพากันหนีมาทางเมืองเขมรและเมืองไทย พวกทำถ้วยชามหนีมาในคราวนั้นคงมาตั้งทำที่เมืองเขมรบ้าง ที่มาอาศัยเมืองไทยก็มาตั้งทำที่เมืองไทย พวกหนึ่งมาอยู่แขวงเมืองพิษณุโลก อีกพวกหนึ่งมาอยู่ในแขวงเมืองสุโขทัย อีกพวกหนึ่งอยู่เมืองสวรรคโลก ดินสำหรับปั้นเครื่องถ้วยชามที่เมืองสวรรคโลกเนื้อดีกว่าแห่งอื่น (บางทีจะเป็นเพราะพระเจ้ารามคำแหงมหาราชเสด็จไปเมืองจีน จะไปได้ช่างฝีมือดีมาด้วย) เครื่องสังกโลกที่เมืองสวรรคโลกจงทำได้ดี และเลยเป็นที่ทำใหญ่โตจำหน่ายเครื่องสังกโลกเป็นสินค้าไปถึงประเทศอื่นใกล้เคียง แต่อายุของการทำเครื่องสังกโลกในเมืองไทยเห็นจะทำอยู่ไม่กว่า ๑๐๐ ปี อย่างช้าก็เพียงรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่ต้องเลิกเพราะเกิดสงครามกับเชียงใหม่ ดังทรงตั้งพระราชวิจารณ์ไว้ในหนังสือนี้


....................................................................................................................................................


เที่ยวเมืองพระร่วง ภาคที่ ๓
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 26 มีนาคม 2550 เวลา:14:04:54 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com