กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

ตอนที่ ๕ เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๑๗


พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร



..............................................................................................................................................................



เรื่องเสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศถึงเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษและเมืองบะเตเวีย เมืองสมารังของฮอลันดา ที่เรียกกันภายหลังแต่โดยย่อว่า "เสด็จสิงคโปร์" เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ นั้น มูลเหตุมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จำเดิมแต่ทำหนังสือสัญญาเปิดบ้านเมืองให้ฝรั่งมาค้าขาย มีกงสุลและพวกฝรั่งต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะทะนุบำรุงพระนครมิให้พวกฝรั่งดูหมิ่น จึงให้เริ่มจัดการต่างๆ คือ ให้สร้างถนน(เจริญกรุง) สำหรับให้ใช้รถเป็นต้น ได้โปรดฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูลักษณะการที่อังกฤษบำรุงเมืองสิงคโปร์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยเมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้ไปมาได้สะดวกกว่าที่อื่น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภจะเสด็จไปเองให้ถึงเมืองสิงคโปร์ ชะรอยจะใคร่ทรงสืบสวนถึงวิธีฝรั่งปกครองบ้านเมืองด้วย แต่พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จไปถึงต่างประเทศเป็นการใหญ่ จึงต้องรอหาโอกาสมาจนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อเสด็จลงไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ ครั้งนั้น เซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ กับภรรยาขึ้นมาเฝ้า เพื่อจะดูสุริยอุปราคาหมดดวงด้วย เซอร์แฮรี ออด ทูลเชิญเสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์ จึงตรัสว่าจะเสด็จไปเยี่ยมตอบ แล้วทรงปรึกษาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ๆก็เห็นชอบด้วย แต่กราบบังคมทูลขอให้มีเวลาตระเตรียมก่อน(สันนิษฐานว่า คงกำหนดว่าจะเสด็จไปเมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนมีนาคม ปีมะโรงนั้น) แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากหว้ากอ ก็มาประชวรเสด็จสู่สวรรคตเสีย การที่จะเสด็จไปสิงคโปร์จึงเป็นอันค้างอยู่

(ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฉันฟัง) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แรกได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พวกกงสุลต่างประเทศมี มิสเตอร์น็อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษเป็นต้น ถามท่านว่าจะคิดอ่านให้พระเจ้าแผ่นดินทรงศึกษาวิธีปกครองบ้านเมืองด้วยประการใด ท่าน (ระลึกถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังค้างอยู่) ตอบว่า คิดจะให้เสด็จทอดพระเนตรวิธีปกครองบ้านเมืองของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย พวกกงสุลก็พากันซ้องสาธุการและรับจะบอกไปถึงรัฐบาลของตน ให้รับเสด็จให้สมพระเกียรติยศ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบว่าจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศก็ทรงยินดีเต็มพระราชหฤทัย ครั้นได้รับเชิญของรัฐบาลอังกฤษ กับรัฐบาลฮอลันดาก็ลงมือเตรียมการตั้งแต่ต้นปีมะเมียมา

ครั้งนั้น มีการต้องแก้ไขขนบธรรมเนียมเดิมให้สะดวกแก่ที่เสด็จไปต่างประเทศหลายอย่าง เป็นต้นว่า

(๑) เรือพระที่นั่งที่จะเสด็จไป จะใช้เรือพระที่นั่งอัครราชวรเดช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรง ก็ไม่ไว้ใจ ด้วยทางที่จะเสด็จไปต้องผ่านท้องทะเลใหญ่ เผอิญในเวลานั้นซื้อเรือรบอย่างคอเวตต่อด้วยเหล็กมาจากสก๊อตแลนด์เพิ่งมาถึงใหม่ลำ ๑ ขนานนามว่า "เรือพิทยัมรณยุทธ" จัดเรือรบลำนั้นให้เป็นเรือพระที่นั่งทรง ให้มีเรือรบซึ่งต่อในกรุงเทพฯเป็นเรือตามเสด็จลำ ๑ เป็นเรือล่วงหน้าลำ ๑ รวมเป็นเรือกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน

(๒) ราชบริพารที่ตามเสด็จ ซึ่งประเพณีเดิมเวลาเสด็จไปไหนในพระราชอาณาเขต ต้องมัพนักงานต่างๆจามเสด็จด้วยมากมาย ก็ให้ลดจำนวนคงแต่ ๒๗ คน ทั้งเจ้านายที่โปรดฯให้ไปตามเสด็จด้วย คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์(สมเด็จพระราชปิตุลาฯ)พระองค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์(กรมหลวงอดิศรอุดมเดช)เป็นนายร้อยมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรดฯให้เป็นราชองครักษ์พระองค์ ๑ ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จครั้งนั้นมีเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภาณุวงศ์โกษาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็กได้บังคับทหารมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรดฯให้เป็นราชองครักษ์ ๑ สมัยนั้นเครื่องแต่งตัวที่ใช้ในราชสำนักยังไม่ใช้ถุงเท้ารองเท้า และยังใส่เสื้อแพรหรือเสื้อกระบอกผ้าขาวเข้าเฝ้า จึงต้องคิดแบบเครื่องแต่งตัวสำหรับบรรดาผู้ที่จะตามเสด็จเข้าสมาคมและการพิธีต่างๆ ให้ใส่ถุงเท้ารองเท้า และแต่งเครื่องแบบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีเครื่องแบบทั้งเต็มยศและเวลาปกติ ฝ่ายพลเรือนมีเครื่องแบบแต่เต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีกรมท่าปักทองที่คอและข้อมือ เวลาปกติใช้เสื้อคอเปิดผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่เครื่องแบบครั้งนั้นใช้นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าไม่นุ่งกางเกง ทั้งทหารและพลเรือน ผ้าม่วงสีกรมท่าขึ้นใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงาน แต่ครั้งนั้นสืบมา

เนื่องแต่จัดระเบียบการแต่ตัวเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์คราวปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ นั้น เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีทั่วประเทศสยามอย่าง ๑ ซึ่งควรกล่าวไว้ด้วยในสมัยนั้นไทยยังไว้ผมตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา เด็กไว้ผมจุกเหมือนกันทั้งชายหญิง ผู้ใหญ่ชายไว้ "ผมมหาดไทย" คือโกนผมรอบศรีษะไว้ผมยาวสัก ๕ เซ็นต์บนกลางกบาลหัว แล้วหวีแต่งเรือนผมนั้นตามเห็นงาม ส่วนผู้หญิงไว้ "ผมปีก" มีเรือนผมแต่บนกบาลหัวทำนองเดียวกับชาย รอบหัวเดิมไว้ผมยาวลงมาจนประบ่า ชั้นหลังเปลี่ยนเป็นตัดเกรียนรอบศรีษะ และไว้ผมเป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับ เรียกว่า "ผมทัด" ทั้งสองข้าง ประเพณีไว้ผมเช่นว่ามา ไทยเราไว้อย่างเดียวกันทั้งบ้านทั้งเมืองจนเคยตามาหลายร้อยปี ก็เห็นงามตามวิสัยมนุษย์ อันสุดแต่ทำอะไรให้เหมือนกันมากๆก็(เกิดเป็นแฟชั่น)เห็นว่างามตามกันไป เป็นเช่นเดียวกันทุกชาติทุกภาษา ยกตัวอย่างเช่นพวกจีนเดิมไว้ผมยาว ครั้นพวกเม่งจูมาครอบครองบังคับไว้ผมเปีย นานเข้าก็นิยมว่าผมเปียสวยงาม หรือจะว่าข้างฝรั่ง ยกตัวอย่างดังเครื่องแต่งตัวผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไม่รู้จักหยุด ก็เป็นเหตุเช่นเดียวกัน แต่การไว้ผมของไทยอย่างว่ามา เมื่อไปยังต่างประเทศ พวกชาวเมืองเห็นเป็นวิปริตแปลกตามักพากันยิ้มเยาะ เมื่อครั้งทูตไทยไปยุโรปในรัชกาลที่ ๔ จึงให้ไว้ผมทั้งศรีษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯก็กลับตัดผมมหาดไทยไปอย่างเดิม

เมื่อจะเสด็จสิงคโปร์คราวนี้ ก็โปรดฯให้ผู้ที่จะตามเสด็จเริ่มไว้ผมยาวตั้งแต่เวลาตระเตรียม เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯให้ตามเสด็จทั้งไว้พระเกศาจุก ครั้นเมื่อเสด็จกลับคืนพระนครทรงปรารภกับท่านผู้ใหญ่ในราชการว่า การไปมาและคบหาสมาคมในระหว่างไทยกับฝรั่งจะมีมากขึ้นทุกที ประเพณีไว้ผมมหาดไทยชวยให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่นควรจะเปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศรีษะ ท่านผู้ใหญ่ในราชการก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงดำรัสสั่งให้เลิกตักผมมหาดไทยในราชสำนักตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้นมา แต่มิได้บังคับถึงราษฎร ใครจะไว้อย่างไรก็ไว้ไปตามใจชอบ แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นบุคคลชั้นสูงไว้ผมยาว ก็พากันตามอย่างมากขึ้นโดยลำดับ หลายปีประเพณีไว้ผมมหาดไทยจึงหมดไป

ถึงกระนั้นเมื่อแรกเลิกตัดผมมหาดไทยนั้น คนชั้นผู้ใหญ่สูงอายุก็ยังไม่สิ้นนิยมผมมหาดไทย แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มักให้ช่างตัดผมรอบศรีษะให้สั้น และไว้ผมข้างบนยาวคล้ายกับเรือนผมมหาดไทย เรียกกันว่า "ผมรองทรง ทางฝ่ายผู้หญิงนั้นก็โปรดฯให้เลิกผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวแต่ในราชสำนักก่อน แล้วผู้หญิงพวกอื่นก็เอาอย่างต่อๆกันไปทั่วทั้งเมือง

นอกเรื่องตัดผม ยังมีการอื่นๆที่จัดเป็นอย่างใหม่ในกระบวนเสด็จอีกหลายอย่าง เช่นให้ยืนเฝ้าและถวายคำนับเป็นต้น แต่การรักษาพระนครในเวลาเสด็จไม่อยู่ ซึ่งเคยถือกันมาว่าเป็นการสำคัญ แม้เพียงเสด็จไปหัวเมืองในพระราชอาณาเขตเมื่อรัชกาลก่อนๆ แต่ครั้งนี้ไม่ลำบากด้วยพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ทรงว่าราชการแผ่นดิน มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ประจำอยู่แล้ว

เสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย ไปหยุดพักที่เมืองสงขลาทอดพระเนตรบ้านเมืองวัน ๑ แล้วแล่นเรือต่อไปจนถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ รัฐบาลและพวกอังกฤษชาวเมืองสิงคโปร์จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเคยรับแขกเมืองมาแต่ก่อน ด้วยเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปถึงเมืองสิงคโปร์ รับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมกันมารับเสด็จที่ท่าเรือ เชิญเสด็จตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ แล้วทรงรถแห่ไปยังศาลานคราทร ซึ่งพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้งปวงคอยเฝ้าอยู่พร้อมกัน เชิญเสด็จประทับราชอาสน์ แล้วผู้เป็นนายกสภาพาณิชย์เมืองสิงคโปร์อ่านคำถวายชัยมงคล กล่าวความท้าวถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงปกครองพระราชอาณาจักรด้วยพระปรีชาญาณ ทรงทะนุบำรุงให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นับถือของนานาประเทศ และที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติตามแบบอย่างต่อมาจนถึงทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรเมืองต่างประเทศ ก็สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ และเสด็จกลับขึ้นทรงรถแห่ไปยังจวนเจ้าเมือง ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับแรมตลอดเวลาเสด็จอยู่เมืองสิงคโปร์

ในเวลาเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ๗ วันนั้น มีการสโมสรต่างๆที่จัดขึ้นรับเสด็จ และเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่างๆ สำหรับบ้านเมืองมากมายหลายอย่างทุกๆวัน ตามรายการในจดหมายเหตุดูเกือบไม่มีเวลาที่จะได้เสด็จพัก การสโมสรนั้น นายทหารบกมีประชุมเต้นรำ(Ball)ที่โรงทหารคืน ๑ พวกฝรั่งชาวเมืองสิงคโปร์มีการประชุมแต่งตัวต่างๆเต้นรำ(Fancy Dress Ball)ที่ศาลานคราทรคืน ๑ ต่อมามีละครสมัครเล่นถวายทอดพระเนตรที่ศาลานคราทรคืน ๑ ผู้รั้งราชการเมืองมีการเลี้ยงอย่างเต็มยศ(Banquet)คืน ๑ พวกชาวสิงคโปร์มีการประกวดต้นไม้ดอกไม้ถวายทอดพระเนตรที่สวนสำหรับเมืองคืน ๑ ส่วนกิจการและสถานที่ๆเชิญเสด็จทอดพระเนตรนั้น คือ โรงทหารบก เรือรบ อู่เรือ ศาลชำระความ เรือนจำโรงพยาบาล โรงเรียน อาคารไปรษณีย์ สถานีโทรเลข สถานนีเครื่องดับไฟ โรงกลั่นไอประทีป(Gas-work) ห้างและตลาดขายของ ทั้งทรงรถเที่ยวทอดพระเนตรถนนหนทางที่บำรุงบ้านเมืองด้วย เสด็จประทับอยู่ในเมืองสิงคโปร์จนเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งมีการส่งเสด็จอย่างเต็มยศเหมืองเมื่อเสด็จไปถึง ออกเรือในค่ำวันนั้น

ไปถึงท่าเมืองบะเตเวียที่เกาะชวา ณ วันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ รัฐบาลฮอลันดาก็จัดการต่างๆรับเสด็จเป็นอย่างใหญ่ ทำนองเดียวกับอังกฤษรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์ มีรายการแปลกออกไปแต่มีการสวนสนามทหารบกอย่าง ๑ พวกมาลายูกับพวกจีนมีการแห่ประทีบอย่าง ๑ และพวกฝรั่งมีการจุดดอกไม้ไฟถวายทอดพระเนตร มีแปลกที่ทอดพระเนตรโรงทำปืนอย่าง ๑ กับทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานอีกอย่าง ๑ ซึ่งในเมืองสิงคโปร์ยังไม่มีในสมัยนั้นเสด็จประทับอยู่เมืองบะเตเวีย ๗ วัน ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เสด็จลงเรือพระที่นั่งแล้วออกเรือในเช้าวันนั้น

รุ่งขึ้นก็ถึงเมืองสมารัง แต่เสด็จไปถึงต่อในเวลาบ่าย จึงประทับแรมอยู่ในเรือพระที่นั่งคืน ๑ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาเช้าเรสิเดนต์(สมุหเทศาภิบาล)หัวหน้ารัฐบาลเมืองสมารังลงมารับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ และมีพิธีรับเสด็จคล้ายกับที่เมืองบะเตเวีย มีสิ่งซึ่งได้ทอดพระเนตร ณ เมืองสมารังครั้งนั้นแปลกจากที่อื่นคือทรงรถไฟ ซึ่งกำลังสร้างไปจนถึงสุกปลายรางอย่าง ๑ ทอดพระเนตรโรงทำดินปืนอย่าง ๑ กับเจ้ามังกุนคโรเมืองโสโลพาละครชวามาเล่นถวายทอดพระเนตรอย่าง ๑ เสด็จประทับอยู่เมืองสมารัง ๓ วัน ถึงวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกเรือในวันนั้นกลับมาถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อแรม ๕ ค่ำ มีพระราชดำรัสขออย่าให้มีการรับรองอย่างยศศักดิ์ให้ซ้ำซากลำบากแก่เขาอีก ผู้รั้งราชการลงมารับเสด็จเป็นการไปรเวตเชิญเสด็จประทับร้อนที่จวนเจ้าเมือง เชิญเสด็จเสวยกลางวันแล้วเสด็จประพาสตามพระราชอัธยาศัย ครั้นเวลาค่ำเชิญเสด็จเสวยอีกเวลา ๑ และเสด็จทอดพระเนตรละครม้าแล้วจึงเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง รุ่งขึ้นวันอังคาร เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสิงคโปร์ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ รวมเวลาที่เสด็จไปครั้งนั้น ๓๗ วัน เมื่อเสด็จกลับมาถึงแล้วมีงานรื่นเริงเฉลิมพระเกียรติ และแต่งประทีปทั่วทั้งพระนคร ๕ วัน

พิเคราะห์ราบการที่เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์เมืองบะเตเวียและเมืองสมารัง เห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรขนบธรมเนียมฝรั่งมาก ทั้งในส่วนการสมาคมและกิจการต่างๆ ซึ่งเนื่องในการปกครองทะนุบำรุงบ้านเมือง การที่เสด็จไปต่างประเทศครั้งนั้น ความเข้าใจของคนทั้งหลายทั้งไทยและฝรั่งเป็นอย่างเดียวกันว่า เสด็จไปทรงศึกษาหาแบบอย่าง มาจัดการทะนุบำรุงประเทศสยาม หากว่าเสด็จกลับมาไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกติเตียนว่าเสด็จไปเที่ยวเล่นให้สิ้นเปลืองเวลาเปล่าๆ หรือถึงหมิ่นพระปัญญาว่าไร้ความสามารถ ก็แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ว่าราชการบ้านเมือง จึงเริ่มทรงจัดการแก้ขนบธรรมเนียมแต่ในราชสำนัก ด้วยความเห็นชอบของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ในเวลานั้นอายุฉันได้ ๑๐ ขวบและอยู่ในราชสำนัก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จัด เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์จำได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าโปรดฯให้กั้นฉากในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็น ๑ ห้อง ห้องทางตะวันตกตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นห้องรับแขก ห้องตอนกลางคงเป็นทางเสด็จออกท้องพระโรงหน้า ห้องทางตะวันออกจัดเป็นห้องเสวยตั้งโต๊ะเก้าอี้เลี้ยงแขกได้ราว ๒๐ คน เวลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายขุนนางยังหมอบเฝ้าและคงแต่งตัวเหมือนอย่างเดิม แต่ตอนกลางวันเมื่อเสด็จขึ้นจากท้องพระโรงหรือตอนตอนบ่ายและตอนค่ำก่อนเสวยเย็น เสด็จประทับที่ห้องรับแขกในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้ารองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ยืนเฝ้าอย่างฝรั่ง ถึงเวลาเสวยเย็นโปรดฯให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักนั่งโต๊ะเสวยด้วย ต้องแต่ตัวใส่เสื้อแย้กเก๊ตขาวเปิดคอ เวลาบ่ายๆถ้าเสด็จทรงเที่ยวประพาสก็แต่งตัวใส่ถุงเท้ารองเท้า เสื้อปิดคอและยืนเฝ้าเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมา ถ้าว่าตามความเห็นในสมัยนี้ก็ดูเป็นการเล็กน้อย แต่คนในสมัยนั้นเห็นแปลกประหลาด ถึงจมื่นเก่งศิลปคน ๑ เขียนลงเป็นจดหมายเหตุใน "ปูม" เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ (ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔) ว่า "ในข้างขึ้นเดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอ ด้วยธรรมเนียมฝรั่งธรรมเนียมนอก" ดังนี้ พอเป็นเค้าให้เห็นได้ว่าคนในสมัยนั้นเห็นเป็นการสำคัญเพียงใด

มีการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริเมื่อเสด็จกลับจากเมืองสิงคโปร์ คือจะจัดการศึกษาของลูกผู้ดีซึ่งได้โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนภาษาไทยขึ้นแต่ก่อนเสด็จไปสิงคโปร์แล้ว เมื่อเสด็จกลับมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงเรียนภาษาอังกฤษด้วย แต่ขัดข้องด้วยหาครูไม่ได้ เพราะมิชชันนารีที่สอนภาษาอังกฤษแก่ไทยในเวลานั้น สอนแต่สำหรับชักชวนคนให้เข้ารีตเป็นข้อรังเกียจอยู่ จึงโปรดฯให้เลือกหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ที่ยังเยาว์วัยส่งไปเรียนที่โรงเรียนแรฟเฟล ณ เมืองสิงคโปร์ในปีมะแมนั้นประมาณ ๒๐ คน นักเรียนที่ส่งไปครั้งนั้นยังมีตัวอยู่ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้แต่ ๓ คน คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ องค์ ๑ เดี๋ยวนี้ทรงพระชราแล้วทุกพระองค์ แต่นักเรียนชุดนี้ไปเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เพียงปีเศษถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียหาครูอังกฤษได้ โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นแล้ว ก็โปรดฯให้กลับมาเรียนในกรุงเทพฯเว้นแต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร(ม.ร.ว.เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ทั้ง ๓ นี้เรียนรู้มากถึงชั้นสูงกว่าเพื่อน จึงโปรดฯให้ส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษต่อไป เป็นแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป

กรมที่ทรงจัดมากเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น คือทหารมหาดเล็ก ถึงตอนนี้ทรงจัดแก้ไขเพิ่มเติมขยายการออกไปหลายอย่าง คือให้ชักชวนพวกเชื้อสายราชสกุลและลูกมหาดเล็กเข้าเป็นทหาร เพิ่มจำนวนคนขึ้น จัดเป็น ๖ กองร้อย ให้สร้างตึกแถว ๒ ชั้นขึ้น ๒ ข้างประตูพิมานชัยศรีเป็นที่อยู่ของทหารมหาดเล็ก และสร้างตึก ๒ ชั้นขึ้นอีกหลัง ๑ ที่ริมกำแพงด้านหน้าพระราชวัง สำหรับเป็นที่อยู่ของนายทหารมหาดเล็ก ตามแบบ ตังลินบาแร้ก ณ เมืองสิงคโปร์ แต่ตึกหลังนี้เมื่อกำลังสร้างอยู่ประจวบเวลาเริ่มแก้ไขการพระคลังมหาสมบัติ(ซึ่งจะเล่าเรื่องต่อไปข้างหน้า)ไม่มีสถานที่จะทำการพระคลังฯจึงโปรดฯให้โอนไปเป็นสถานที่ทำการพระคลังฯขนานนามว่า "หอรัษฎากรพิพัฒน" (แต่ตัวตึกเดี๋ยวนี้แก้ไขต่อเติมผิดกับขอเดิมเสียมากแล้ว) และในครั้งนั้นให้สร้างตึกใหญ่สำหรับเป็นที่สโมสรของทหารมหาดเล็กตามแบบสโมสรคองคอเดียที่เมืองบะเตเวียอีกหลัง ๑ (ซึ่งแก้ไขเป็นศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้) เรียกชื่อภาษาฝรั่งว่า "หอคองคอเดีย"

ภายนอกพระราชวังก็มีการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาดตอนระหว่างสะพานช้างโรงสีกับสะพานมอญ ทำเขื่อนอิฐมีถนนรถ(ซึ่งภายหลังขนานนามว่า ถนนราชินี และ ถนนอัษฎางค์)ทั้ง ๒ ฟาก และมีสะพานหกสำหรับรถข้ามคลอง เหมือนอย่างเมืองบะเตเวียด้วย นอกจากที่พรรณนามามีการอื่นๆที่เกิดขึ้นแต่สมัยนั้นก็หลายอย่าง เป็นต้นว่าหารถมาใช้ในกรุงเทพฯแพร่หลายมาแต่นั้น ซื้อมาจากเมืองสิงคโปร์บ้าง เมืองบะเตเวียบ้าง แต่ในไม่ช้าก็มีช่างตั้งโรงรับสร้างและซ่อมแซมรถขึ้นในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการที่แต่งตัวใส่เสื้ออย่างฝรั่งและใช้เกือกถุงตีน ในไม่ช้าก็มีโรงรับจ้างตัดเสื้อและขายสิ่งของที่ต้องการใช้ หาได้ในกรุงเทพฯนี้เองไม่ต้องลำบาก หรือว่าโดยย่อ การที่เสด็จสิงคโปร์ครั้งนั้นนอกจากเจริญการสมาคมในระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศเป็นปัจจัยให้ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

พอเสด็จกลับจากสิงคโปร์แล้วไม่ช้า ในปีมะเเมนั้นเองก็เริ่มเตรียมการที่จะเสด็จไปอินเดีย เหตุที่จะเสด็จไปอินเดียนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเคยเล่าให้ฉันฟัง ว่าทรงพระราชปรารภแก่ตัวท่านตั้งแต่แรกเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ว่าที่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารัง ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่เพียงเมืองขึ้นที่ฝรั่งปกครองคนต่างชาติต่างภาษา ได้ประโยชน์น้อย ใคร่จะเสด็จไปถึงยุโรปให้ได้เห็นขนบธรรมเนียมราชสำนักและประเพณีบ้านเมืองของฝรั่งเอง

(ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยของฉันลงสักหน่อย ที่มีพระราชประสงค์เช่นนั้นเป็นธรรมดา แต่เหตุเสด็จไปโดยด่วนไม่รั้งรอ ข้อนี้ฉันสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่าเวลาที่ยังไม่ต้องทรงว่าราชการแผ่นดินมีอยู่เพียงอีก ๒ ปี ถ้ารอไปจนถึงเวลาทรงว่าราชการเองแล้วคงยากที่จะหาโอกาสได้ เพราะฉะนั้นจึงจะรีบเสด็จไปยุโรปในเมื่อโอกาสยังมีอยู่)

เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯเห็นชอบด้วยตามพระราชดำริ รับจะไปพูดกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นชอบด้วย อ้างว่ายุโรปทางก็ไกล เรือที่จะทรงก็ไม่มี เป็นการเสี่ยงภัยมากนัก ไม่สะดวกเหมือนกับไปสิงคโปร์และเมืองชวา เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯไม่อยากให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัส จึงคิดขึ้นว่าอินเดียก็รุ่งเรืองคล้ายกับยุโรป ผู้ปกครองมียศเป็นไวสรอยต่างพระองค์คล้ายกับราชสำนัก และหนทางที่จะไปก็ไม่ไกลนัก ส่วนเรือพระที่นั่งที่จะทรงไปนั้น ในเวลานั้นห้างนะกุดาอิสไมส์ที่วัดเกาะสั่งเรือสำหรับส่งคนโดยสารระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองสิงคโปร์เข้ามาใหม่ลำ ๑ ใหญ่โตมีห้องพอจะรับกระบวนเสด็จไปอินเดียได้ คิดจะขอซื้อ(คือเช่า)มาเป็นเรือหลวงชั่วคราวแล้วขายกลับคืนให้เจ้าของ ก็จะไม่สิ้นเปลืองนัก ท่านได้ลองพูดกับเจ้าของก็ยอมตามความคิดไม่ขัดข้อง ยังติดแต่ที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามความคิด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าถ้าจะไปถึงยุโรปยังไม่ได้ ไปเพียงอินเดียก็ยังดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯจึงไปกระซิบปรึกษากับนายน๊อกส์กงสุลเยเนอราลอังกฤษ นายน๊อกเห็นชอบด้วย รับจะช่วยว่ากล่าวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และที่สุดตัวเองรับจะไปตามเสด็จด้วย การที่จะเสด็จอินเดียก็เป็นอันพ้นความขัดข้อง

ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อปลงใจให้เสด็จไปอินเดียแล้วก็ช่วยกะการต่อไปให้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองสำคัญในพระราชอาณาเขตทางฝ่ายทะเลตะวันตก คือ เมืองภูเก็ต เมืองพังงา และเมืองไทรบุรีด้วย การตระเตรียมกระบวนรเสด็จไปอินเดียไม่ยากเหมือนเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ เพราะได้เคยเห็นขนบธรรมเนียมฝรั่งอยู่มากแล้ว เครื่องแต่งตัวก็แก้ไขเป็นแบบฝรั่งที่เดียว เว้นแต่ยังนุ่งผ้าไม่ใช้กางเกงเท่านั้น ส่วนราชบริพารที่ตามเสด็จครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อนได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มขึ้นใหม่คือพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี(กรมพระจักรพรรดิพงศ์)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร(กรมพระนเรศวรฤทธิ์)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัย เป็นนายทหารทหาดเล็กพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์(สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ เพิ่งลาผนวชสามเณร)พระองค์ ๑ ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องทรงใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมาสำหรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ

เสด็จทรงเรือบางกอก ออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ไปแวะที่เมืองสิงคโปร์ เมืองปีนัง เมืองร่างกุ้ง แล้วไปยังเมืองกาลกัตตาอันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ดเมโยผู้เป็นไวสรอยที่อุปราชกับรัฐบาลอินเดียรับเสด็จในทางราชการ เชิญเสด็จประทับที่จวนไวสรอยและมีพิธีรับเสด็จเฉลิมพระเกียรติด้วยประการต่างๆ (เสียดายนักที่หาจดหมายเหตุมีรายการพิศดารอย่างครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ไม่พบ) ทราบแต่พอเป็นเค้าว่าได้เสด็จไปถึงเมืองพาราณสี เมืองอาครา เมืองลักเนา เมืองเดลี และเมืองบอมเบ แต่เมื่อเสด็จกำลังประพาสอยู่นั้น ลอร์ดเมโยไวสรอย ไปตรวจที่ขังคนโทษหนัก ณ เกาะอันดมันถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ขาเสด็จกลับจึงดำรัสขอให้งดการรับเสด็จทางราชการด้วยเป็นเวลารัฐบาลอินเดียไว้ทุกข์ เสด็จอย่างไปรเวตมาลงเรือพระที่นั่งกลับจากอินเดีย มาแวะทอดพระเนตรเมืองภูเก็ตและเมืองพังงา แล้วเสด็จมาขึ้นบกเมืองไทรบุรี

ครั้งนั้นเจ้าพระยาไทรบุรี(อหะมัต)สร้างวังขึ้นรับเสด็จที่เขาน้อย เรียกว่าอนักบุเกต(เดี๋ยวนี้รื้อสร้างใหม่ แต่ยังใช้เป็นที่รับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์สูงอยู่) และให้ทำทางให้รถจากเมืองไทรมาจนต่อแดนจังหวัดสงขลา ข้างสงขลาเจ้าพระยาวิเชียรคีรีผู้สำเร็จราชการจังหวัด ก็ให้ทำถนนรถแต่ปลายแดนมาจนถึงท่าลงเรือที่ตำบลหาดใหญ่(เป็นแรกที่จะมีถนนข้ามแหลมมลายู) จึงทรงรถจากเมืองไทรบุรีมาประทับแรมที่ตำบลจังโลนแขวงเมืองไทรบุรีคืน ๑ ที่ตำบลสะเดาแขวงสงขลาคืน ๑ นับเป็นเวลาเดินทาง ๓ วัน วันที่ ๓ ถึงหาดใหญ่ เสด็จลงเรือพายออกทะเลสาบ มาถึงเมืองสงขลา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้เรือจักรข้างชื่อ " ไรลิงสัน" ที่ท่านต่อไปรับเสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม เข้าปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ รวมเวลาที่เสด็จไปอินเดียครั้งนั้น ๔ เดือน

ผลของการเสด็จอินเดีย เกิดความคิดอันเป็นส่วนปกครองบ้านเมืองมาหลายอย่าง(ซึ่งจะเล่าในตอนท้ายต่อไป) แต่ยังไม่ประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลายในเวลานั้น เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ว่าราชการ จึงไม่ปรากฏว่าเมื่อเสด็จกลับจากอินเดียทรงจัดการเปลี่ยนแปลงประหลาดเหมือนเมื่อเสด็จไปสิงคโปร์ เป็นแต่แก้ไขขนบธรรมเนียมที่ได้เริ่มจัดให้ดีขึ้นเป็นพื้น แต่ทางต่างประเทศเมื่อความปรากฏแพร่หลายว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพอพระราชหฤทัยเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศ เพื่อจะแสวงหาขนบธรรมเนียมที่ดีของฝรั่งมาใช้ในพระราชอาณาเขต ก็เป็นเหตุให้มีชาวต่างประเทศเกิดความนิยม และประสงค์จะไปมาค้าขายกับประเทศสยามมากขึ้น จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่น ห้างแรมเซเว็กฟิลด์ ซึ่งเป็นห้างทำเครื่องแต่งตัวตั้งอยู่ ณ เมืองกาลกัตตา พอเสด็จกลับก็ตามเข้ามาตั้งที่ถนนบำรุงเมือง ซึ่งสร้างใหม่ตรงวงเวียนสี่แยก รับทำเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง(คือเดิมของห้างแบดแมนในบัดนี้) และมีชาวต่างประเทศที่เข้ามาตั้งทำการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง แม้เรือไฟไปมารับส่งสินค้าและคนโดยสารในระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองฮ่องกงก็เกิดขึ้นในสมัยนั้น

มีการที่เกิดขึ้นในปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียอย่าง ๑ ซึ่งภายหลังมาเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณแก่ตัวฉันเองมาก คือเรื่องตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกผู้ดี เรื่องนี้ได้ทรงพระราชดำริมานานแล้วแต่ยังหาครูไม่ได้ จึงต้องรอมาเมื่อเสด็จกลับจากอินเดีย เผอิญมีครูอังกฤษคน ๑ ชื่อ ฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน เข้ามาเยี่ยม หลวงรัถยาภิบาลบัญชา(กัปตันเอม)ผู้บังคับการพลตระเวนในกรุงเทพฯซึ่งเป็นน้าชาย ได้ทรงทราบก็โปรดฯให้ว่าจ้างไว้เป็นครู และโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กอีกโรง ๑ เป็นคู่กับโรงเรียนภาษาไทยที่ได้ตั้งมาแต่ก่อน ที่ตั้งโรงเรียนนั้นโปรดฯให้โอนตึก ๒ ชั้นที่สร้างสำหรับทหารมหาดเล็ก หลังข้างตะวันออกประตูพิมานชัยศรี(ซึ่งเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่อยู่บัดนี้)ใช้เป็นโรงเรียน ห้องตอนต่อประตูพิมานชัยศรีให้เป็นที่อยู่ของครู ห้องตอนเลี้ยวไปข่างเหนือ(ข้างหลังศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้)จัดเป็นห้องเรียน

ส่วนนักเรียนนั้นมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกับพระเจ้าน้องยาเธอเข้าเป็นนักเรียน เว้นแต่บางพระองค์ที่มีตำแหน่งรับราชการแล้ว หรือที่เป็นนักเรียนอยู่แล้วในโรงเรียนภาษาไทย พวกนายร้อยทหารมหาดเล็กก็โปรดฯให้มาเรียนภาษาอังกฤษด้วย เจ้านายเรียนตอนเช้า พวกทหารมหาดเล็กเรียนตอนบ่าย เมื่อแรกตั้งโรงเรียนดูเหมือนจะมีนักเรียนสัก ๕๐ คน แต่ต่อมาจำนวนลดลง เพราะเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ออกไปรับราชการ ที่เป็นชั้นกลางก็ถึงเวลาไปทรงผนวชเป็นสามเณร พวกหม่อมเจ้าก็พากันไปทำการงาน พวกทหารมหาดเล็กต้องเรียนวิชาอื่นอีกมากก็มาเรียนภาษาอังกฤษน้อยลงทุกที ถึงปีระกาเหลือนักเรียนอยู่ไม่ถึงครึ่งจำนวนเดิม และยังลดจำนวนลงเรื่อยมา นักเรียนที่เข้าใหม่ก็ไม่มี ถึงปีจอเหลือแต่เจ้านายที่รักเรียนจริงๆยังทรงพยายามเรียนอยู่สัก ๕ พระองค์ จึงย้ายไปเรียน ณ หอนิเพธพิทยา อันเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ อยู่ริมประตูศรีสุนทร(แต่เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว) ครูไปสอนในเวลาเช้าทุกวัน จนถึงกลางปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ครบ ๓ ปี พอสิ้นสัญญาครูก็ลากลับไปเมืองนอก โรงเรียนนั้นก็เป็นอันเลิก แต่นั้นเจ้านายที่รักเรียนก็พยายามเรียนต่อมาโดยลำพังพระองค์ด้วยอาศัยอ่านหนังสือบ้าง ให้ผู้อื่นสอนบ้าง จนมีความรู้สามารถใช้ภาษาอังกฤษรับราชการได้โดยไม่ต้องไปเมืองนอกหลายพระองค์ ในเจ้านายนักเรียนชั้นนั้นควรยกย่อง สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ว่าเป็นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าพระองค์อื่นๆ

ในปีระกานี้ เกิดอหิวาตกโรคเป็นระบาดเมื่อเดือน ๗ คนตื่นตกใจกันมาก เพราะแต่ก่อนเคยมีอหิวาตกโรคเป็นระบาดเกิดขึ้น ผู้คนล้มตายมากในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ และมาเกิดอีกครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ คนชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเห็นยังมีมากจึงพากันตกใจ ผู้ที่ไม่เคยเห็นได้ฟังเล่าก็ตกใจไปตามกันด้วย แต่วิธีที่จัดระงับโรคอหิวาห์คราวนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้จัดเป็นการรักษาพยาบาลแทนทำพิธีในทางศาสนาเช่นเคยทำมาแต่ก่อน พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์อธิบดีกรมหมอคิดปรุงยารักษาโรคเป็นอย่างฝรั่งขึ้นใหม่ ๒ ขนาน คือเอายาวิสัมพญาใหญ่ตามตำราไทยกับด้วยกอฮอล์ทำเป็นยาหยดในน้ำขนาน ๑ เอาการบูรทำเป็นยาหยดเช่นนั้นเรียกว่าน้ำการบูรขนาน ๑ สำหรับรักษาอหิวาตกโรคและแนะนำให้ใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเป็นเครื่องป้องกันเชื้อโรคอีกอย่าง ๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่รับยาหลวงไปตั้งเป็นทำนองโอสถศาลาขึ้นตามวังและบ้านหรือตามที่ประชุมชนรักษาราษฎรทั่วทั้งพระนคร แต่โรคอหิวาห์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีอยู่สักเดือนหนึ่งก็สงบ เมื่อสงบแล้วโปรดฯให้สร้างเหรียญทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้าน ๑ รูปเทวดาถือพวงมาลัย อีกด้าน ๑ เป็นตัวอักษรทรงขอบใจ พระราชทานเป็นบำเหน็จแก่ บรรดาผู้ที่ได้รับตั้งโอสถศาลาทั้งนั้นทั่วกัน ของฉันยังอยู่จนทุกวันนี้


แต่นี้ไปจนปลายตอนที่ ๕ จะเล่าเรื่องประวัติของตัวฉันในระหว่างปีมะเเม พ.ศ. ๒๔๑๓ ไปจนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ให้สิ้นเรืองเมื่อเป็นเด็กเสียชั้นหนึ่ง เพราะในตอนที่ ๖ และที่ ๗ จะเล่าเรื่องในราชการบ้านเมืองเป็นสำคัญ

สมัยเมื่อแก้ไขประเพณีในราชสำนักเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น เจ้านายเด็กๆพวกฉันยังตามเสด็จอยู่เสมอ เวลาเสด็จประทับยห้องรับแขก ถ้าไม่ถูกในเวลามีเข้าเฝ้าแหนก็ได้นั่งเก้าอี้เส่นสนุกดี เวลาเสด็จทรงรถเที่ยวประพาสในตอนบ่าย ก็ดอดขึ้นรถที่นั่งรองไปตามเสด็จ ถึงเวลาค่ำเมื่อเสวย ถ้าวันไหนคนนั่งโต๊ะขาดจำนวนก็โปรดฯให้มาเรียกเจ้านายเด็กๆไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ก็ได้ "กินโต๊ะ" และได้กินไอศกริมก็ชอบ ไอศกริมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆที่สำหรับเขาทำกันตามเมืองนอกเข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกริมตั้งเครื่องแต่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ เจ้านายเด็กๆพวกฉันไม่ถูกบังคับให้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างใหม่ ถึงกระนั้นเห็นผู้ใหญ่เขาแต่ง ก็อยากใส่ถุงน่องรองเท้าเป็นกำลัง ฉันไปอ้อนวอนแม่ แม่เห็นว่าตามเสด็จอยู่เสมอก็ซื้อเกือกถุงตีนให้ ดีใจนี่กระไร แต่เมื่อใส่ในวันแรก เกิดเสียใจด้วยเกือกนั้นเงียบไปไม่มีเสียง เพราะเคยได้ยินเขาว่าต้องดัง "อ๊อด อ๊อด" จึงเป็นเกือกอย่างดี ไปถามพวกนายทหารมหาดเล็กว่า ทำอย่างไรเกือกจึงจะดัง เขาแนะให้เอาน้ำมันมะพร้าวหยอดที่พื้นเกือก ก็จำมาพยายามทำ มีเสียง "อิ๊ด อิ๊ด" ก็ชอบใจ

ถึงสมัยเมื่อตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ ตัวฉันอยู่ในพวกเจ้านายที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษแต่แรกตั้ง แต่ว่าน้ำใจรักจะเรียนภาษาอังกฤษผิดกับเมื่อเรียนภาษามคธ ถึงกระนั้นก็ไม่พ้นความลำบากด้วยไม่รู้ว่าครูจะใช้วินัยสำหรับโรงเรียนอย่างกวดขัน เมื่อไปเรียนได้สักสองสามวัน ฉันไปซุกซนรังแกเพื่อนนักเรียนเมื่อกำลังเรียนอยู่ด้วยกัน ครูจับได้แล้วลงโทษอย่างฝรั่ง เอาตัวขึ้นยืนบนเก้าอี้ตั้งประจานไว้ที่มุมห้องเรียนสัก ๑๕ นาที(บางทีจะเป็นครั้งแรกที่เด็กไทยโดนลงโทษเช่นนั้น) พวกเพื่อนนักเรียนเห็นแปลกก็พากันจ้องดูเป็นตาเดียวกัน บางคนยิ้มเยาะ ฉันรู้สึกละอายจนเหงื่อตกโทรมตัว ตั้งแต่นั้นก็เข็ดหลาบไม่ซุกซนในห้องเรียน แต่ยังรู้สึกอัปยศอยู่หลายวัน มาจนวันหนึ่งเห็นเพื่อนถูกครูเอาไม้บรรทัดตีฝ่ามือลงโทษ เจ็บจนหน้านิ่ว ๒ คน ดูร้ายยิ่งกว่าฉันถูกยืนบนเก้าอี้เลยหายละอาย

เมื่อตอนแรกตั้งโรงเรียนนั้น ลำบากที่ครูยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ลูกศิษย์ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น มีแต่พระองค์เจ้ากฤษฏาภินิหาร(กรมพระนเรศวรฤทธิ์)พระองค์เดียวที่ทรงทราบบ้างเล็กน้อย และท่านเป็นเจ้าพี่ชั้นใหญ่ได้เคยเรียนภาษาอังกฤษต่อแหม่มลิโอโนเวนส์ เมื่อในรัชกาล ๔ พอเป็นล่ามแปลคำง่ายๆได้บ้าง ถ้าเป็นคำยากเกินความรู้ของกรมนเรศวณ์ฯ ครูต้องเปิดหนังสืออภิธานภาษาอังกฤษให้นักเรียนดูคำภาษาไทยในนั้น หนังสืออภิธานที่ใช้มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งสำหรับลูกศิษย์ใช้ เรียกว่า "สัพพะจะนะภาษาไทย" ซึ่งสังฆราชปาลกัวแต่ง เอาศัพท์ภาษาไทยตั้งแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน ๓ ภาษา เล่มใหญ่โตมาก อีกเล่มหนึ่งสำหรับครูใช้ จะเรียกว่ากะไรฉันลืมเสียแล้ว แต่หมอแม๊กฟาแลนด์(บิดาพระอาจวิทยาคม)เป็นผู้แต่งแปลแต่ศัพท์อังกฤษแปลเป็นภาษาไทยให้พวกศิษย์ แต่ลำบากไม่ช้าอยู่เท่าใด ครูค่อยรู้ภาษาไทยศิษย์ก็ค่อยเข้าใจคำครูสั่งสอนเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยไม่จำต้องใช้ถ้อยคำมากหรือยากเท่าใดนัก นานๆจึงต้องเปิดอภิธาน

ในการที่พวกฉันใช้หนังสืออภิธานครั้งนั้นมีผลสืบมาจนบัดนี้ประหลาดอยู่เรื่อง ๑ ในบทเรียนบท ๑ มีคำว่า ไบ(By) ดูเหมือนจะเป็นเช่นประโยคว่า He went by boat หรืออะไรทำนองนี้ ครูจะให้แปลเป็นภาษาไทย นักเรียนพวกฉันไม่เข้าใจคำ By ครูจึงเปิดอภิธานให้ดู ในหนังสือนั้นแปลคำ By ว่า "โดย" พวกนักเรียนก็แปลว่า "เขาไปโดยเรือ" แต่นั้นมาเมื่อแปลคำ By ก็แปลว่า โดย เสมอมา เช่น Written by แปลว่า "แต่งโดย" แล้วพวกฉันเลยใช้คำนี้ต่อมาในเวลาเมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว มีในหนังสือค๊อดเป็นต้น จึงเลยเป็นมรดกตกมาถึงคนชั้นหลัง ที่จริงไม่ถูกตามภาษาไทย เพราะคำ "โดย" เป็นศัพท์ภาษาเขมรแปลว่า "ตาม" แต่โดย ก. ความแสดงว่า ข. แต่งตามคำบอกของ ก. แต่มารู้ว่าผิดเมื่อใช้กันแพร่หลายเสียแล้ว

ในบรรดาศิษย์ที่เรียนกันครั้งนั้น เมื่อเรียนมาได้สัก ๖ เดือน มีที่เป็นศิษย์ครูชอบมาก Favourite Pupils ๔ พระองค์ เรียงลำดับพระชันษา คือ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์(สมเด็จ กรมพระยาเทวะวงศวโรปการ)พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์(สมเเด็จพระราชปิตุลาฯ)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ(สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส)พระองค์ ๑ กับตัวฉันอีกคน ๑ เห็นจะเป็นด้วยเห็นว่าเขม้นขะมักรักเรียน ครูก็สอนให้มากกว่าคนอื่น แต่เมื่อได้สักปี ๑ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศฯ กับสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ต้องไปทำราชการมีเวลามาเรียนน้อยลง คงมีแต่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯกับตัวฉัน(สมเด็จกรมพระวชิรญาณฯได้ทรงแสดงความข้อนี้ไว้ในหนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" ที่ท่านทรงแต่งเมื่อเป็นสมเด็จพระมหาสมณะ) ถึงปีระกา สมเด็จกรมพระวชิรญาณฯไปทรงผนวชเป็นสามเณร

แต่นั้นฉันจึงได้เป็นศิษย์ติดตัวครูอยู่แต่คนเดียว เวลานักเรียนอื่นกลับแล้วครูให้ฉันอยู่กินกลางวันด้วย แล้วสอนให้ในตอนบ่ายอีก เมื่อเรียนแล้ววันไหนครูขึ้นรถไปเที่ยวก็มักชวนฉันไปด้วย เพราะเหตุที่อยู่กับครูมาก และได้พบปะพูดจากับพวกฝรั่งเพื่อนฝูงของครูบ่อยๆ เมื่อยังเป็นเด็กฉันจึงพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเกินความรู้ที่เรียนหนังสือทั้งได้เริ่มคุ้นเคยกับฝรั่งแต่นั้นมา การที่ได้เป็นศิษย์ติดตัวครู มาเป็นคุณแก่ตัวฉันในภายหลังอีกอย่าง ๑ ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งใหม่ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ มีพระราชประสงค์จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อไปถึงวิธีแต่งหนังสือ โปรดฯให้ครูแปตเตอร์สันเข้าสอนถวายในเวลาค่ำเมื่อทรงว่างราชการ ดูเหมือนจะเป็นสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ทรงทราบว่าฉันเป็นศิษย์ติดตัวครู จึงมีรับสั่งให้ฉันเป็นพนักงานนำครูเข้าไปเวลาทรงพระอักษร ฉันได้อยู่ด้วยทุกคืน ตรัสถามครูถึงการเรียนของฉันบ้าง ตรัสถามอะไรๆเป็นภาษาอังกฤษให้ฉันเพ็ดพูดบ้างเนื่องๆ เห็นได้ว่าทรงพระกรุณายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษครั้งนั้น ทรงอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิก ด้วยพระราชธุระอื่นมีมากขึ้นทุกทีไม่มีเวลาว่างมากเหมือนแต่ก่อน

ตรงนี้จะเล่าเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันต่อไปอีกสักหน่อย เพราะยังมีการเกี่ยวข้องกับตัวฉันอีกภายหลังและเป็นเรื่องน่าจะเล่าด้วย เมื่อครูแปตเตอร์สันไปจากประเทศนี้แล้ว ไปได้ตำแหน่งรับราชการอังกฤษเป็นครูประจำโรงเรียนของรัฐบาลที่เกาะมอรีสเซียส ในตอนนี้ดูเหมือนจะไม่มีศิษย์คนใดได้รับจดหมายจากครูเลย เพราะเกาะมอรีสเซียสอยู่ห่างไกลมหาสมุทรอินเดีย การส่งจดหมายไปมาในระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยนั้นลำบาก ด้วยยังไม่มีกรมไปรษณีย์ ใครๆจะมีจดหมายกับประเทศอื่นก็ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ เพราะมีเรือกลไฟในบังคับอังกฤษเดินในระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองสิงคโปร์และเมืองฮ่องกง กงสุลอังกฤษที่ศาลาท่าน้ำของสถานกงสุลอเป็นออฟฟิศไปรษณีย์ห้อง ๑ และเอาตั๋วตราไปรษณีย์เมืองสิงคโปร์พิมพ์อักษร B (เป็นเครื่องหมายว่า บางกอก )เพิ่มลงเป็นเครื่องหมาย ใครจะส่งหนังสือไปต่างประเทศก็ไปซื้อตั๋วตรานั้นปิดตามอัตราไปรษณีย์อังกฤษ แล้วมอบไว้ที่สถานกงสุล เมื่อเรือจะออกกงสุลอังกฤษให้รวบรวมหนังสือนั้นใส่ถุง ฝากส่งกรมไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์หรือเมืองฮ่องกงไปส่งอีกชั้น ๑ แต่หนังสือของรัฐบาลนั้นกรมท่ามอบกับนายเรือให้ไปส่งกับกงสุลสยาม ทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ หาได้ส่งทางไปรษณีย์ที่สถานกงสุลไม่ เมื่อเรือเข้ามาถึง ผู้ใดคาดว่าจะได้รับหนังสือจากต่างประเทศ ก็ไปสืบที่สถานกงสุลอังกฤษ ถ้ามีก็รับเอามาหรือถ้าพบหนังสือถึงผู้อื่นก็ไปบอกกันให้ไปรับ เป็นเช่นกล่าวนี้มาจนตั้งกรมไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ การส่งหนังสือจึงสะดวกแต่นั้นมา

ครูแปตเตอรสันรับราชการอยูที่เกาะมอริเซียสจนชราจึงออกมารับเบี้ยบำนาญกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเขียนหนังสือมาถึงใครในประเทศนี้ จนถึงในรัชกาลที่ ๖ เมื่อฉันเป็นกรมพระ และย้ายมาอยู่วังวรดิสแล้ว วันหนึ่งได้รับจดหมายของครูแปตเตอร์สันส่งมาจากประเทศอังกฤษ สลักหลังซองถึง "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" เผอิญมีใครในพนักงานไปรษณีย์เขารู้ว่าเป็นชื่อเดิมของฉันจึงส่งมาให้ ได้ทราบเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันในฉบับนั้นว่า ตั้งแต่ออกจากราชการที่เมืองมอรีสเซียสแล้วกลับไปอยู่ในประเทศอังกฤษ ต้องทิ้งบ้านเดิมที่เกาะเจอสี เพราะต้องขายแบ่งมรดกกันเมื่อบิดาตาย ครูไปแต่งงานอยู่กับเมียในอิงแลนด์เป็นสุขสบายหลายปี ครั้งเมียตายเหลือแต่ตัวคนเดียวมีความลำบากด้วยแก่ชรา หลานคน ๑ ซึ่งบวชพรตเขาสงสารรับเอาไปไว้ด้วยที่เมืองคลอยสเตอร์ แกรำลึกขึ้นมาถึงศิษย์เดิมที่ในประเทศสยาม คือ เจ้าฟ้าภาณุรังษี พระองค์เทวัญ พระองค์มนุษย์ และตัวฉัน อยากทราบว่าอยู่ดีด้วยกันหรืออย่างไร จึงมีจดหมายมาถามขอให้บอกไปให้ทราบ

เวลานั้นสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯกับสมเด็จพระมหาสมณฯสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เหลือแต่สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ฉันนำจดหมายครูไปถวายทอดพระเนตรก็ทรงยินดี มีลายพระหัตถ์และส่งพระรูปกับเงินไปประทาน ส่วนฉันก็ทำเช่นเดียวกัน ได้บอกไปให้ครูทราบพระประวัติของเจ้านายที่แกถามถึง ส่วนตัวฉันเองบอกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เลื่อนยศสูงขึ้น เป็นเหตุให้ใช้นามใหม่ว่า "ดำรง" ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันในเวลานี้ ครูมีจดหมายตอบมาว่าเสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ ด้วยเมื่อตัวฉันไปยุโรป(ครั้งแรก)ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ นั้นประจวบเวลาครูกลับไปเยี่ยมบ้านอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้ยินเขาโจษกันว่ามีเจ้าไทยองค์ ๑ เรียกว่า "ปรินซ์ดำรง" ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนถามแกว่ารู้จักปรินซ์ดำรงหรือไม่ แกตอบว่าไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่ปรินซ์ดำรง ไม่รู้เลยว่าคือศิษย์รัก(Favourite Pupil)ของแกนั่นเอง ถ้ารู้จักรีบมาหา ถึงกระนั้นเมื่อรู้ก็ยินดีอย่างยิ่ง ที่ฉันได้มีชื่อเสียงเกียรติยศถึงเพียงนี้

แต่นั้นครูกับฉันก็มีจดหมายถึงกันมาเนื่องๆ ครั้นเมื่อฉันไปยุโรป(คราวหลัง)ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตั้งใจว่าจะไปพบครูแปตเตอร์สันให้จงได้ ทราบว่าเวลานั้นอายุได้ถึง ๘๕ ปี และยังอยู่ที่เมืองคลอยสเตอร์เหมือนบอกมาแต่ก่อน หมายว่าไปพบครูเมื่อไรจะชวนถ่ายรูปฉายาลักษณ์ด้วยกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเป็นเด็ก เอามาให้ลูกหลานดู พอฉันไปถึงกรุงลอนดอนมีพวกหนังสือพิมพ์มาขอสนทนาด้วยหลายคน ทุกคนถามฉันว่าเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน ฉันตอบว่าเรียนในบ้านเมืองของฉันเอง เขาพากันประหลาดใจถามว่าใครสอนให้ ฉันบอกว่าครูของฉันเป็นอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์สัน ตัวยังอยู่อายุได้ ๘๕ ปีแล้ว ฉันพยายาม Making a pilgrimage ไปหาให้ถึงเมืองคลอยสเตอร์ที่ครูอยู่ หนังสือพิมพก็พากันขึ้นชื่อสรรเสริญครูแปตเตอร์สันแพร่หลาย

ครั้นเมื่อฉันสิ้นกิจอื่นในลอนดอนถึงเวลาที่จะไปหาครู ฉันขอให้อุปทูตบอกไปถึงนักพรตผู้เป็นหลานว่า ฉันประสงค์จะไปเยี่ยมครู ในวันใดจะสะดวกแก่เขา ได้รับคำตอบมาว่าครูกำลังป่วยเป็นโรคชราอาการเพียบอยู่ ตั้งแต่เขาได้ยินข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่าฉันไปถึงลอนดอน เขาก็อยากจะบอกให้ครูรู้ด้วยเขาทราบอยู่ว่าครูรักฉันมาก แต่เห็นว่าอาการป่วยเพียบจึงปรึกษาหมอๆห้ามมิให้บอกครู เพราะเกรงว่าความยินดีที่จู่โจมขึ้นแก่ครู Sudden Excitement อาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายก็ไม่กล้าบอก เมื่อฉันทราบความดังนั้นก็จนใจ ได้แต่ส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล เมื่อฉันออกจากลอนดอนในไม่ช้า ก็ได้รับจดหมายของนักพรตบอกว่าครูถึงแก่กรรม รู้สึกเสียใจและเสียดายยิ่งนักที่มิได้พบครูแปตเตอร์สันดังประสงค์

เมื่อฉันกำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งทรงผนวชที่พระพุทธรัตนสถาน ๑๕ วัน เจ้านายพวกฉันเรียนหนังสือแล้วก็พากันไปอยู่ ณ ที่เสด็จประทับทุกวัน คล้ายกับเป็นลูกศิษย์วัด ส่วนตัวฉันเองไปนึกอยากรู้จักพระ จึงมักไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์) กับสมเด็จพระสังฆราช(ปุสฺสเทว สา เมื่อยังเป็นที่พระสาสนโสถณ)เนืองๆ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯโปรดทรงสั่งสอนและตรัสเล่าอะไรให้ฟัง ส่วนสมเด็จพระสังฆราชก็ประทานหนังสือพิมพ์ ซึ่งพิมพ์สอนพระพุทธศาสนาให้อ่าน วันถ่ายรูปหมู่พวกตามเสด็จไปเป็นลูกศิษย์วัด เผอิญฉันถือสมุดนั้นติดมือไปด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ฉันยืนเปิดสมุดเหมือนอย่างอ่านหนังสือ เป็นเหตุให้ช่างถ่ายรูปเขาจัดให้ยืนกลางเพื่อน รูปยังปรากฏอยู่

เมื่อเสด็จลาผนวชมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ๑ (ซึ่งจะพรรณาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า)แล้วเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งใหม่ ตอนนี้เวลาบ่ายๆมักเสด็จออกทรงรถเที่ยวประพาส และทรงโครเกต์(Corquet)ที่สนามหน้าพระที่นั่งใหม่(ยังมีรูปฉายาลักษณ์ปรากฏอยู่) แต่ตัวฉันยังเป็นเด็กไม่ได้เข้าเล่นด้วย แต่ในปีระกานั้นเองโปรดฯให้ฉันเป็นผู้พาครูเข้าไปสอนภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว เป็นมูลเหตุที่เริ่มทรงพระเมตตาเฉพาะตัวฉันมาแต่นั้น ครั้นถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เมื่อเลิกโรงเรียนภาษาอังกฤษ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฉันเข้าไปรับใช้ประจำพระองค์ มีหน้าที่ตามเสด็จและอยู่คอยรับใช้ในเวลาค่ำเมื่อทรงพระสำราญพระราชอิริยาบถเวลาเสร็จราชกิจประจำวันแล้ว ได้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ เป็นเหตุให้ฉันได้รับพระบรมราโชวาทและได้ฟังพระราชดำริ ได้รู้เรื่องต่างๆที่ตรัสเล่า ทั้งมีโอกาสทูลสนองหรือทูลถามได้ด้วยทรงพระกรุณา แต่ข้อสำคัญที่มาประจักษ์แก่ใจฉันต่อภายหลังนั้น คือที่ได้รู้พระราชอัธยาศัย และสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบนิสัยของฉันแต่นั้นมา

ข้อนั้นมาปรากฏเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้วให้มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯปีละครั้ง เวลาเสด็จคราวประชุม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯให้มีการเลี้ยงพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่เทศาภิบาลทุกปี และในการเลี้ยงมักมีพระราชดำรัสพระราชทานพระบรมราโชวาท และสรรเสริญความอุตสาหะของสมุหเทศาภิบาลด้วย ในปีหนึ่งตรัสเกี่ยวกับตัวฉันว่า ได้ทรงสังเกตเห็นตั้งแต่เป็นเด็ก ว่าเติบโตขึ้นคงจะได้เป็นคนสำคัญในราชการบ้านเมืองคน ๑ ดังนี้ แต่การที่มีพระราชดำรัสทรงยกย่อง บางทีก็เกิดรำคาญแก่ตัวฉัน เช่นต่อมาอีกปีหนึ่งมีพระราชดำรัสว่า พระมหามงกุฏเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย พระมหามงกุฏสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฏฉันนั้น พระราชดำรัสนี้ที่จริงทรงอุปมาด้วยข้าราชการทั่วไปไม่เฉพาะผู้หนึ่งผู้ใด แต่เผอิญตรัสเมื่อเลี้ยงเทศาภิบาล พอรุ่งขึ้นก็มีคน(ที่ไม่ชอบ)แกล้งเรียกใส่หน้าให้ฉันได้ยินว่า "นั่นแหละ เพชรประดับพระมหามงกุฏ" ดูก็ขันดี

ในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ นั้น อายุฉันถึงปีโกนจุกในสมัยนั้นพระเจ้าลูกเธอยังเยาว์วัยทั้งนั้น เจ้านายโสกันต์มีแต่ชั้นพระเจ้าน้องเธอ ปีใดพระเจ้าน้องเธอที่ทรงพระกรุณามากโสกันต์ ก็โปรดฯให้มีการแห่ทางในพระราชวัง ถ้าเป็นสามัญก็โสกันต์ในพิธีตรุษจามแบบอย่าง ครั้งรัชกาลที่ ๓ ในปีจอนั้นมีเจ้านายที่ทรงพระกรุณามากหลายพระองค์ ตัวฉันแก่กว่าเพื่อน ตรัสถามฉันว่าอยากให้แห่หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าอยาก จึงดำรัสสั่งให้มีการโสกันต์ในปีนั้น แต่เกือบไม่ได้แห่ เพราะเกิดเรื่องกรมพระราชวังบวรฯหนีไปอยู่กับอังกฤษ(ซึ่งจะเล่าเรื่องในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า)แทรกเข้ามา เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเดือดร้อนรำคาญพระราชหฤทัยอยู่นาน ตรัสว่าถ้าเรื่องวังหน้ายังไม่เรียบร้อนก็จะแห่ให้ไม่ได้ รอมาจนพ้นฤกษ์เมื่อเดือนยี่ พวกฉันก็ยิ่งพากันโกรธวังหน้า จนถึงเดือน ๔ เรื่องวังหน้าเป็นอันเรียบร้อย จึงมีการแห่โสกันต์เมื่อก่อนพิธีตรุษไม่กี่วัน เจ้านายโสกันต์ด้วยกันในปีนั้น ๕ พระองค์ มีตัวฉันคน ๑ พระองค์เจ้าศรีเสาภางค์(ซึ่งภายหลังได้เป็นราชเลขาธิการ และเป็นผูจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อนรับกรม)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา(คือสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าฯ)พระองค์ ๑ ทั้ง ๓ นี้พระชันษา ๑๓ ปี พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา(กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี)พระองค์ ๑ และพระองค์เจ้าหญิงประสานศรีใสพระองค์ ๑ ทั้ง ๒ นี้พระชันษา ๑๑ ปี

เมื่อโกนจุกแล้วฉันยังรับราชการประจำพระองค์ต่อมา ในตอนที่รับราชการประจำพระองค์นี้ต้องอยู่ในวังไม่มีโอกาสไปเที่ยวค้างคืนที่อื่นเหมือนแต่ก่อน ถึงกระนั้นตอนเช้าว่างก็มักไปเฝ้าสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ณ หอนิเพธพิทยาบ้าง ไปเล่นกับพวกนายทหารมหาดเล็กที่โรงทหารบ้าง ด้วยคุ้นเคยกันมาแต่ยังเป็นนักเรียน เพราะโรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ติดต่อกับโรงทหาร จึงเริ่มอยากเป็นทหารมาแต่ตอนนี้




 

Create Date : 02 เมษายน 2550   
Last Update : 2 เมษายน 2550 15:01:11 น.   
Counter : 2465 Pageviews.  


ตอนที่ ๓ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสวยราชย์แล้ว พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑


สองมหาราช
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



..............................................................................................................................................................



เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระชันษาได้ ๔๗ ปี การที่ทรงสร้างสมบารมีมาในเวลาก่อนเสวยราชย์ ถ้าเอาระยะพระชันษาตั้งเป็นวินิจฉัยประกอบรายการที่ปรากฏ ตอนพระชันษาก่อน ๒๐ ปี คงได้ทรงรับความอบรมพระจริยาและศึกษาวิชาความรู้ต่างๆเช่น อักษรศาสตร์ ราชประเพณี และประวัติศาสตร์ เป็นต้น สำหรับพระราชกุมารชั้นสูงศักดิ์ตามแบบโบราณครบทุกอย่าง แต่พระปรีชาญาณอันปรากฏในหนังสือต่างๆ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อเสวยราชย์แล้ว ลึกซึ้งเกินกว่าหลักสูตรการศึกษาของพระราชกุมารมาก จึงเข้าใจว่าคงทรงศึกษาต่อมาในสมัยเมื่อทรงผนวชจนสามารถรอบรู้ถึงปานนั้น ถึงตอนพระชันษาระหว่าง ๒๐ จน ๓๐ ปี ทรงศึกษาภาษามคธจนเชี่ยวชาญ เป็นเหตุให้ทรงรอบรู้พระไตรปิกหาผู้เสมอเหมือนมิได้

ข้อนี้ถ้าหาตัวอย่างในพงศาวดารมาเปรียบเทียบ เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์พระร่วงพระองค์ ๑ พระนามเดิมว่า "พญาลิไทย" เมื่อเสวยราชย์ ณ กรุงสุโขทัยใช้พระนามว่า "พระมหาธรรมราชา"(ที่ ๑) ในพงศาวดารเหนือเรียกว่า "พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก"(๑) เพราะปรากฎพระเกียรติว่าทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกหาผู้เสมอมิได้ในสมัยนั้น ได้ทรงแต่งหนังสือ "ไตรภูมิ" ไว้เรื่อง ๑ ยังมีฉบับที่พิสูจน์ได้ ในประเทศอื่นที่ใกล้เคียงมีพระเจ้าแผ่นดินมอญอีกพระองค์ ๑ เมื่อครองกรุงหงสาวดีใช้พระนามว่า "พระเจ้ารามาธิบดี" แต่ในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า "พระเจ้าธรรมเจดีย์" เพราะปรากฎพระเกียรติว่าเชี่ยวชาญพระไตรปิฎกไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน และมีหนังสือซึ่งพระเจ้าธรรมเจดีย์ทรงแต่ง เรื่องประวัติพระพุทธศาสนาในเมืองมอญจารึกไว้ เรียกกันว่า "จารึกกัลยาณี" ยังปรากฎเป็นข้อพิสูจน์ได้เหมือนกัน พิเคราะห์ความในหนังสือไตรภูมิ(พระร่วง)และจารึกกัลยาณี ส่อให้เห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินทั้ง ๒ พระองค์นั้น แม้ทรงทราบพระไตรปิฎกมากก็จริง แต่ไม่ถึงสามารถจะชี้วินิจฉัยผิดชอบในคัมภีร์อัตถกถาฎีกาได้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สุดแต่โบราณาจารย์ว่าไว้อย่างไรก็ทรงถือแต่อย่างนั้น จึงผิดกัน

ถึงตอนพระชันษาระหว่าง ๓๐ ถึง ๔๐ ปีทรงจัดการฟื้นพระพุทธศาสนา และบางทีจะเป็นในตอนนี้ที่ทรงศึกษาวิชาความรู้ต่างๆของไทยเพิ่มเติมจนรอบรู้ลึกซึ้งถึงขั้นสูงสุด โบราณคดีก็เห็นจะทรงศึกษาในตอนนี้ เพราะเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ตามหัวเมือง ได้พบศิลาจารึกและทอดพระเนตรโบราณวัตถุสถานต่างๆเนืองๆ ถึงตอนพระชันษาระหว่าง ๔๐ ถึง ๔๗ ปีเริ่มทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับวิชาความรู้ต่างๆ ของฝรั่ง เลยเป็นปัจจัยให้เอาพระหฤทัยใส่สอดส่องการบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศในตอนนี้ ถ้าว่าโดยย่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างสมพระบารมีสมบูรณ์มาแล้วตั้งแต่ก่อนเสวยราชย์ ขาดอย่างเดียวแต่ที่มิได้เคยทรงบัญชาการทัพศึกเหมือนอย่างสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน ๒ รัชกาลแต่ก่อนมา เพราะไม่มีโอกาส

ถึงกระนั้นเมื่อเสด็จเสวยราชย์ก็ได้รับความนิยมนับถือของคนทั้งหลาย ว่าเป็นนักปราชญ์ทรงพระปรีชาญาณผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฏมาในพงศาวดารโดยมาก ข้อนี้ถึงบุคคลชั้นหลังที่ไม่ทันได้เห็นพระองค์ ใครได้อ่านหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นพระบรมราชาธิบาย และบรมราชวินิจฉัยที่รวบรวมพิมพ์ไว้ ก็จะเห็นได้ว่าในบรรดากิจการและเรื่องต่างๆซึ่งทรงพระราชนิพนธ์นั้น ทรงรอบรู้ลึกซึ้งเชื่อได้ว่าในสมัยนั้นไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน นอกจากนั้น ถ้าสังเกตในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ต่อไปถึงพระราชอัธยาศัยว่าไม่มีความประมาท เช่นจะทรงพระราชดำริกิจการอันใดย่อมอาศัยหลักฐานและคิดถึงผู้อื่นเสมอ ข้อนี้พึงเห็นได้ในพระราชบัญญัติและประกาศสั่งการต่างๆ ทรงชี้แจงให้คนทั้งหลายเข้าใจพระราชดำริและพระราชวินิจฉัยแจ่มแจ้งเป็นนิจ จึงเป็นเหตุให้คนทั้งหลาไว่วางใจในพระคุณธรรม มาตั้งแต่แรกเสวยราชย์จนตลอดรัชกาล

เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพนั้น ภายในประเทศสยามบ้านเมืองเป็นปกติเรียบร้อยกว่าเมื่อปลายรัชกาลก่อนๆในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ เพราะคนทั้งหลายนิยมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันหมด แต่ทางภายนอกมีเหตุเป็นข้อวิตกอยู่ ด้วยเมื่อใกล้จะสิ้นรัชกาลที่ ๓ รัฐบาลอังกฤษให้มาทำหนังสือสัญญาใหม่ แต่ข้างฝ่ายไทยไม่ยอมทำ เพราะเห็นว่าถ้าทำหนังสือสัญญาตามข้อความที่อังกฤษปรารถนา จะเกิดความเสียหายในบ้านเมือง ทูตอังกฤษขัดใจกลับไป จึงระแวงกันอยู่ว่าอังกฤษจะกลับมาอีก ในคราวนี้จะมาดีหรือมาร้ายก็เป็นได้ทั้ง ๒ สถาน ก็ในเวลานั้นผู้ใหญ่ในราชการ มีสมเด็จเจ้าพระยาฯทั้ง ๒ องค์เป็นต้น ยังนิยมในทางรัฏฐาภิปาลโนบายอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ อยู่โดยมาก

ผู้ที่มีความเห็นเป็นชั้นสมัยใหม่เหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีน้อยตัว ที่ชื่อเสียงปรากฏมีแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์ ๑ แต่เมื่อบวรราชาภิเษกแล้วก็เอาพระองค์ออกห่าง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ด้วยเกรงว่าจะแข่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คงมีแต่กรมหลวงวงศาธิราชสนิทพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อเป็นเจ้าพระยาว่าที่สมุหพระกลาโหมองค์ ๑ กับเจ้าพระทิพากรวงศ์เป็นผู้ช่วยในการต่างประเทศ ๑ ความเห็นในเรื่องทำหนังสือสัญญาจึงต่างกันเป็น ๒ ฝ่าย

ข้างพวกสมัยเก่าเห็นว่าถ้าอังกฤษลดหย่อนผ่อนผันความปรารถนาลง อย่าให้ขัดกับประเพณีบ้านเมืองก็ควรทำ มิฉะนั้นก็ไม่ควรยอมทำหนังสือสัญญา เพราะยังเชื่อตามคำพวกจีนอยู่ว่าอังกฤษมีฤทธิ์เดชแต่ในท้องทะเล ฝ่ายพวกชั้นสมัยใหม่เห็นว่าโลกวิสัยทางตะวันออกนี้ ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น จีนเป็นประเทศใหญ่อังกฤษยังบังคับได้ ไทยเป็นประเทศน้อยที่ไหนจะยอมตามใจไทย อย่างไรๆไทยก็คงต้องทำหนังสือสัญญาใหม่กับอังกฤษ ผิดกันแต่เวลาช้าหรือเร็ว ถ้าไม่ยอมทำก็คงเกิดภัยอันตรายแก่บ้านเมือง ในพวกสมัยใหม่คิดเห็นกันอย่างนี้ทั้งนั้น

แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นการไกลกว่าผู้อื่น ทรงพระราชดำริว่างที่จะให้ปลอดภัยมีทางเดียว แต่ต้องรับทำหนังสือสัญญาโดยดีให้เกิดมีไมตรีจิตต่อกัน แล้วจึงชี้แจงกันฉันท์มิตรให้ลดหย่อนผ่อนผันข้อสัญญา อย่าให้เกิดยุคเข็ญแก่บ้านเมือง ใช่แต่เท่านั้น ทรงพระราชดำริต่อไปว่า ประเทศทั้งหลายทางตะวันออกนี้ ต่อไปภายหน้าคงจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งมากขึ้นทุกที ถ้าไม่เปลี่ยนรัฎฐาภิปาลโนบายของประเทศสยามให้ฝรั่งนิยมว่าไทยพยายามบำรุงบ้านเมืองให้เจริญตามอริยธรรม ก็อาจจะไม่ปลอดภัยไปได้มั่นคง

คงทรงพระราชดำริเช่นว่ามาแต่ยังทรงผนวชอยู่ เพราะฉะนั้นพอเสด็จผ่านพิภพตั้งแต่ก่อนทำพิธีราชาภิเษก ก็ทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมเก่า เริ่มด้วยดำรัสสั่งให้เลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ให้เจ้านายและข้าราชการใส่เสื้อเข้าเฝ้าต่อไปเป็นนิจ การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสให้ใส่เสื้อดังว่ามา คนในสมัยนี้ได้ฟังเล่าอาจจะเห็นขัน ด้วยเข้าใจว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆขี้ประติ๋วไม่น่าจะยกขึ้นกล่าว(๒) ต่อไปได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุเก่าจึงเห็นว่าเป็นแม้เป็นการเพียงเท่านั้น ก็ไม่สำเร็จได้โดยง่ายข้อนี้ปรากฏอยู่ในหนังสือเซอรจอน เบาริง ราชทูตอังกฤษแต่งเล่าเรื่องที่เข้ามากรุงเทพฯ ภายหลังอีก ๓ ปี ว่าเมื่อไปหาสมเด็จเจ้าพระยาฯองค์ใหญ่ ครั้งแรกจัดรับอย่างเต็มยศ เห็นสมเด็จเจ้าพระยาฯองค์ใหญ่แต่งตัวนุ้งจีบคาดเข็มขัดเพชร แต่ตัวเปล่าไม่ใส่เสื้อ ความที่กล่าวส่อให้เห็นต่อไปว่า ขุนนางผู้น้อยซึ่งเป็นบริวารอยู่ในที่นั้นก็คงไม่ใส่เสื้อเหมือนกันทั้งนั้น เพราะถือกันว่าต้องใส่เสื้อในเวลาเข้าเฝ้า เวลาอื่นยังมีเสรีภาพที่จะรับแขกหรือไปไหนตัวเปล่าได้เหมือนอย่างเดิม

เพราะประเทศตะวันออกนี้ไม่ใช่แต่ในประเทศสยามประเทศเดียว ถือกันมาแต่โบราณว่าต้องรักษาประเพณีที่มีมาก่อนมิให้เสื่อมทราม บ้านเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุข ข้อนี้พึงเห็นได้ในหนังสือเก่า คำสรรเสริญของพระเจ้าแผ่นดินมักกล่าวว่า "รักษาโบราณราชประเพณีมั่นคง" หรือ "ทรงประพฤติตามโบราณราชประเพณี" แม้จนในกลอนคำเทียบเรื่องพระชัยสุริยาของสุนทรภู่ก็ยกเหตุว่า เพราะพวกข้าเฝ้าเจ้าเมืองสาวัตถี "ดัดจริตผิดโบราณ" บ้านเมืองจึงเป็นอันตราย เมื่อคนทั้งหลายเชื่อถือกันมาเช่นนั้นโดยมาก การเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมที่เคยนิยมกันมาช้านานจึงเป็นการยาก เพราะฉะนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงค่อยทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมเก่า แต่เพียงที่จะทำให้สำเร็จได้เป็นอย่างๆโดยลำดับ แม้เรื่องที่โปรดฯให้ใส่เสื้อก็ยังใส่กันแต่ในเวลาเข้าเฝ้ามาจนคนสมัยเก่าหมดตัวไป พวกชั้นสมัยใหม่ชอบใส่เสื้อก็มีมากขึ้น จึงได้ใส่เสื้อกันแพร่หลาย

เมื่อถึงงานพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ประเพณีเก่าอีกอย่างหนึ่งในวันเสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ด้วยพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯเข้าเฝ้าด้วย เรื่องนี้ในเวลานั้นก็ไม่มีใครเห็นเป็นการแปลกประหลาดนัก เพราะเป็นแต่มีฝรั่งสัก ๑๐ คนเข้าไปยืนเฝ้าอยู่ข้างหลังแถวที่ขุนนางหมอบ แต่การนั้นมีผลมาก (ถึงมาเป็นประโยชน์ในการเมืองภายหลัง ดังจะเล่าในที่อื่นต่อไป) เพราะฝรั่งเหล่านั้นพากันเขียนบอกข่าวออกไปถึงนานาประเทศ ว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์ใหม่ทรงเปลี่ยนขนบธรรมเนียมหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆทางตะวันออก ฝรั่งตามต่างประเทศพากันพิศวง เริ่มเกิดไมตรีจิตต่อประเทศสยามผิดกว่าแต่ก่อน แม้ด้วยทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงประเพณีเดิมตั้งแต่แรกเสวยราชย์อีกเรื่องหนึ่ง ด้วยทรงทราบแต่ยังทรงผนวชว่า ในสมัยนั้นราษฎรถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงชุกชุม เรื่องนี้ที่จริงราชประเพณีก็มีมาแต่โบราณ อนุญาตให้บรรดาผู้มีความทุกข์ร้อนถวายฎีกาต่อพระเจ้าแผ่นดินได้ทั่วหน้าเสมอกันหมด แต่วิธีที่ถวายฎีกาตามแบบเก่า ต้องเข้าไปตีกลองที่ทิมดาบกรมวัง ให้พระเจ้าแผ่นดินทรงได้ยินเสียงกลอง ก็โปรดฯให้มารับฎีกา จึงเรียกกันว่า "ตีกลองร้องฎีกา" ครั้นนานมาผู้มีอำนาจกีดกันมิให้ราษฎรเข้าถึงกลอง ก็ถวายฎีกายากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงปรารภในพระราชนิพนธ์แห่งหนึ่งว่า พระเจ้าแผ่นดินเหมือนเป็นพระประธานอยู่ในโบสถ์ ลืมพระเนตรอยู่ก็ไม่เห็นอะไร พอทรงเสด็จเสวยราชย์บรมราชภิเษกแล้ว ก็ทรงตั้งประเพณีเสด็จออกรับฎีการาษฎรด้วยพระองค์เองทุกวันโกนเดือนละ ๔ ครั้ง(๓) เวลาเสด็จออกให้เจ้าพนักงานตีกลองวินิจฉัยเภรี เป็นสัญญาให้ราษฎรเข้าถวายฎีกาได้เป็นนิจ ก็มีผลเห็นประจักษ์ทันที ด้วยผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงราษฎร เช่นฉุดลูกสาว หรือ จับผู้คนจองจำตามอำเภอใจ ไม่มีใครกล้าทำดังแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเห็นเป็นประโยชน์ จึงโปรดฯให้ประกาศถวายฎีกาได้เอง เช่นถูกกังขังเป็นต้น ให้ฝากฎีกาให้ญาติพี่น้องหรือมูลนายถวายต่างตัวได้ แต่ในการรับฎีกาของราษฎรนั้น ถ้าปรากฏว่าใครเอาความเท็จมากราบทูลเพื่อจะให้ผู้อื่นเสียหายโดยไม่มีมูล ก็ให้ลงพระราชอาญาแก่ผู้ถวายตามประเพณีเดิม ป้องกันผู้ไม่มีผิดมิให้เดือดร้อน

นอกจากเสด็จออกรับฎีกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงติดต่อกับตัวราษฎรอีกอย่างหนึ่ง ด้วยดำรัสสั่งให้เลิกประเพณีโบราณ(อย่างเมืองจีน) ที่ห้ามมิให้ราษฎรเข้าใกล้ชิดหนทางเมื่อเวลาเสด็จประพาส และบังคับให้ปิดประตูหน้าต่างบ้านเรือนที่อยู่ทั้ง ๒ ข้างทาง โปรดฯพระราชทานอนุญาตให้ราษฎรเข้ามาเฝ้าได้ใกล้หนทาง และให้เปิดประตูหน้าต่างได้ตามชอบใจ หากเจ้าของบ้านเรือนมีประสงค์จะแสดงความเคารพก็ให้แต่งเครื่องบูชาที่หน้าบ้าน แล้วคอยเฝ้าอยู่ที่เครื่องบูชานั้น จึงเกิดประเพณีตั้งเครื่องบูชารับเสด็จแต่นั้นมา(๔) ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนประเพณีเดิมในการรับฎีการาษฎร และโปรดฯอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าแหนได้สะดวกกว่าแต่ก่อนดังกล่าวมา ก็เป็นเหตุให้ราษฎรพากันนิยมในพระคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแพร่หลายอีกอย่างหนึ่ง

นอกจากเรื่องที่เล่ามาเป็นอุทธาหรณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมเดิม และทรงสถาปนาการต่างๆขึ้นเป็นแบบแผนในรัชกาลที่ ๔ อีกหลายอย่าง ถ้าพรรณาเป็นราบเรื่องหนังสือนี้จะยืดยาวนัก จึงจะรวมความกล่าวตามประเภทของการที่ทรงจัด โดยประสงค์จะให้เห็นเหตุและผลของการที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้นเป็นสำคัญ ถ้าตั้งเป็นปัญหาอย่างที่เรียกในสำนวนแปลในหนังสือจีนว่าเป็น "คำกลาง" ถามว่าเพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯเปลี่ยนขนบธรรมเนียมต่างๆ อธิบายข้อนี้เมื่อพิจารณาดูเห็นว่าเป็นด้วยเหตุ ๒ อย่าง อย่าง ๑ ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเพราะทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่า รัชกาลของพระองค์ประจวบเวลาโลกวิสัยทางตะวันออกนี้เปลี่ยนแปลงด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้น จะต้องเปลี่ยนรัฏฐาภิปาลโนบายหันเข้าหาอริยธรรมอย่างฝรั่ง บ้านเมืองจึงจะพ้นภยันตราย

แต่การต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดนั้น ที่ไม่เกี่ยวกับอริยธรรมของฝรั่ง แต่เป็นการสำคัญในขนบธรรมเนียมไทยก็มีมาก เห็นได้ว่ามีเหตุอื่นอีก และเหตุนั้นเกิดแต่พระอุปนิสัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯทำการให้ถูกต้องเป็นแก่นสาร ไม่ทรงนิยมทำตามคติที่ถือกันมาว่าเคยมาแต่โบราณอย่างไร ต้องทำอย่างนั้นจึงจะเป็นการ "รักษาราชประเพณี" เพราะเมื่อพระองค์ทรงผนวชได้มีโอกาสพิจารณาตำรับตำราต่างๆมาก ทั้งทางฝ่ายพุทธศาสตร์และราชศาสตร์ เห็นประเพณีต่างๆที่ทำกันมาผิดหลักเดิมหรือยังบกพร่องมีอยู่มาก จึงทรงพยายามแก้ไขให้เป็นแก่นสาร ใช่จะโปรดเปลี่ยนอะไรๆให้เป็นอย่างใหม่ไปทั้งนั้นหามิได้ พระอุปนิสัยเช่นว่านี้พึงเห็นได้แต่ในพระราชประวัติตอนทรงผนวช พอทรงสอบสวนพระไตรปิฎก ทราบว่าพระสงฆ์ไทยปฏิบัติพระวินัยเคลื่อนคลาดจากพระพุทธบัญญัติมากนัก ก็ทรงพยายามแก้ไขให้เป็นแก่นสารดังเล่าเรื่องมาแล้วในตอนก่อน ครั้นเสด็จเสวยราชย์ทรงพิจารณาเห็นขนบธรรมเนียมอันใดเคลื่อนคลาดเค้ามูลหรือว่าอย่างบกพร่อง ก็ทรงพระราชดำริแก้ให้ดีขึ้นเป็นลำดับมาจนตลอดรัชกาล สมัยเปลี่ยนแปลงธรรมเนียมของประเทศสยาม จึงกำหนดในทางพงศาวดารว่าเกิดแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา

แต่นี้จะกล่าวอธิบายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมตามประเภทต่างๆต่อไป


การศาสนา

ในตอน ๒ ของหนังสือเล่มนี้ ได้เล่ามาแล้วถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นพระศาสนา และทรงตั้งนิกายพระสงฆ์ธรรมยุติกา และที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวร ทรงทักท้วงเนื่องต่อการเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่ง ให้พระสงฆ์ธรรมยุติกากลับห่มคลุมอย่าง พระมหานิกายมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ ได้ยินว่าในครั้งนั้นพระเถระธรรมยุติกาบางรูป มีสมเด็จพระวันรัต(ทับ) เมื่อยังเป็นที่พระอริยมุนีเป็นต้น ไม่ทำตามรับสั่งก็มี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระเถระธรรมยุติกาทั้งปวงเข้าชื่อกันยื่นฎีกาต่อเสนาบดี ขอให้นำความกราบทูลว่า ที่ต้องถูกบังคับขืนใจให้ครองผ้าตามแบบอย่าง ซึ่งเลื่อมใสมีความเดือดร้อน ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระสงฆ์ธรรมยุติกากลับครองแหวกเหมือนอย่างเดิม

ก็เกิดความลำบากพระราชหฤทัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะจะดำรัสให้ห่มผ้าอย่างพระมหานิกายต่อไป ก็ผิดกับคติซึ่งพระองค์เองได้ทรงตั้ง ทั้งจะทำให้พระสงฆ์ธรรมยุติกายิ่งรู้สึกเดือดร้อนหนักขึ้น ถ้าหากกลับไปครองแหวกตามอำเภอใจ จะทรงทำอย่างไรก็ยากอยู่ แต่จะพระราชาทานพระบรมราชานุญาตเล่า ก็ผิดกับที่ได้ทูลรับไว้ต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฉพาะมีทางจะระงับความลำบากนั้นได้ ด้วยฐานะของพระองค์เมื่อก่อนเสวราชย์ เป็นสมณคณาจารย์ เมื่อทรงรับฎีกาของพระมหาเถระ ฐานะของพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ จึงพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยว่า การปฏิบัติธรรมวินัยเป็นกิจของพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติ มิใช่ราชกิจของพระเจ้าแผ่นดินที่จะทรงสั่งให้ทำประการใด เมื่อมีพระบรมราชวินิจฉัยเช่นนั้น พระสงฆ์ธรรมยุติกาก็พากันกลับห่มแหวกตามเดิม

แต่เรื่องที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ธรรมยุติกายังมีข้ออื่นต่อมาอีก ด้วยเมื่อในรัชกาลที่ ๓ คนที่เลื่อมใสต่อคติธรรมยุติกาอย่างเปิดเผยก็มี ที่เลื่อมใสแต่ไม่กล้าแสดงโดยเปิดเผย เพราะเกรงจะไม่พอพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มี ที่ไม่เลื่อมใสก็มีตั้งแต่เปลี่ยนรัชกาลใหม่ ทรงสังเกตเห็นมีคนแสดงความเลื่อมใสในคติธรรมยุติกามากขึ้นรวดเร็ว เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิจารณ์กว้างขวางออกไป ทรงพระราชดำริว่าถ้าทรงขวนขวายเผยแพร่นิกายสงฆ์ธรรมยุติกาให้แพร่หลายด้วยพระราชานุภาพ จะเกิดโทษแก่บ้านเมืองมากกว่าเป็นคุณ เพราะจะทำให้พุทธบริษัททั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ที่นับถือคติเกิดรังเกียจกัน และพระมหานิกายก็จะพากันหวาดหวั่นว่าจะถูกบังคับให้แปลงเป็นธรรมยุติ เหมือนเช่นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก และที่สุดพระธรรมยุติกาเองถ้ามีจำนวนมากนัก การปฏิบัติพระธรรมวินัยก็อาจจะเสื่อมทรามลงเพราะเหตุที่กล่าวมา จึงโปรดฯให้พระสงฆ์ธรรมยุติกาคงขึ้นอยู่ในคณะกลางตามเดิม มิได้แยกย้ายเป็นคณะหนึ่งต่างหาก

และดำรัสสั่งในราชการให้ถือว่าพระสงฆ์ ๒ นิกายนั้นเป็นอย่างเดียวกัน เป็นต้นว่าในการพิธีพระสงฆ์ก็ให้นิมนต์รวมกันทั้ง ๒ นิกาย การที่ทรงตั้งพระราชคณะก็เลือกแต่ด้วยพรรษาอายุและคุณธรรม ไม่ถือว่าจะเป็นนิกายไหนเป็นประมาณ ใช่แต่เท่านั้น ทางฝ่ายฆารวาส สกุลไหนแม้ไม่ใช่พระราชวงศ์ เคยบวชเรียนในนิกายไหนก็ตรัสขอให้คงอย่างเดิม แต่การฟื้นพระศาสนาก็ไม่ทรงทอดทิ้ง เป็นแต่เปลี่ยนพระบรมราโชบายมาเป็นทางสมาคมกับพระราชาคณะมหานิกาย เป็นต้นว่าพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทูลถามอธิบายพระธรรมวินัยที่ใคร่จะทราบหรือที่ยังสงสัยได้ตามประสงค์ และทรงชี้แจงพระบรมวินิจฉัยพระราชทานโดยมิได้รังเกียจ พระบรมราโชบายเช่นว่ามีผลทำให้พระสงฆ์มหานิการแก้ไขข้อวัตรปฏิบัติดีขึ้นเป็นลำดับมา และการสงฆมณฑลก็ไม่แตกร้าวตลอดรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระสงฆ์พากันเลื่อมใสในพระปรีชาญาณทั่วไปทั้ง ๒ นิกาย

พระราชปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องด้วยศาสนายังมีต่อไปถึงศาสนาอื่นๆอีก แต่ก่อนนอกจากพระสงฆ์กับพราหมณ์ นักบวชในศาสนาอื่นเช่นศาสนาคริสตังก็ดี หรือศาสนาอิสลามก็ดี แม้จนพระญวนที่ถือพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็ดี หาได้รับความยกย่องอย่างใดไม่ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ได้ทรงสมาคมกับพวกบาทหลวงและมิชชันนารีอเมริกัน เนื่องในการศึกษาภาษาฝรั่ง และทรงสมาคมกับพระญวนด้วยใคร่จะทรงทราบคติมหายาน คุ้นเคยอยู่แล้ว เมื่อทรงเสวยราชย์แล้วก็ทรงรักษามิตรภาพสืบต่อมา ด้วยทรงยกย่องและพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ต่างๆ

ยกเป็นอุทธาหรณ์ดังเช่น เมื่อสังฆราชปาลกัวต์ถึงมรณภาพ โปรดฯพระราชทานเครื่องแห่ศพเหมือนขุนนาง และพระราชทานที่ดินให้สร้างวัดโปรเตสตันต์ กับทั้งทรงสร้างวัดญวนด้วย(๕) การที่ทรงอุปการะดังกล่าวมานี้เป็นเหตุให้พวกบาทหลวงและมิชชันนารีอเมริกัน เข้ารับช่วยราชการตางๆตามพระราชประสงค์ และยังยกย่องพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกันอยู่จนทุกวันนี้ พระญวนก็เริ่มได้ทำพิธีกงเต็กในงานหลวงเมื่อรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ส่วนพวกถือศาสนาอิสลามนั้น พวกถือลัทธิเวียะ(พวกเจ้าเซน) ได้รับพระบรมราชานุเคราะห์เป็นประเพณีมาแต่รัชกาลก่อนๆแล้ว ก็โปรดฯพระราชทานตามเคย แต่พวกลัทธิสุหนี่เป็นคนหลายชาติหลายภาษา แยกย้ายอยู่ตามตำบลต่างๆ มีสุเหร่าและนักบวชชาติของตนเอง เข้ากับพลเมืองเป็นปกติอยู่แล้ว จึงไม่มีกิจที่จะต้องพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ผิดกับแต่ก่อนประการใด


การพิธีสำหรับบ้านเมือง

การพิธีต่างๆที่ทำเป็นประเพณีของประเทศสยามนี้ แต่เดิมมาถ้าเป็นพิธีในทางธรรมปฏิบัติ ทำตามคติพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นพิธีในทางโลกทำตามคติไสยศาสตร์ของพราหมณ์ จึงเกิดคำพูดว่า "พุทธกับไสยอาศัยกัน" มาแต่โบราณ ถ้าทำพิธีตามพระพุทธศาสนา เช่นบวชนาคเป็นต้น เรียกว่าพิธีสงฆ์ พราหมณ์ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ถ้าทำพิธีไสยศาสตร์ เช่นยกทัพจับศึกเป็นต้น เรียกว่าพิธีพราหมณ์ พระสงฆ์ก็ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง จำเนียรกาลนานมาเมื่อความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเจริญขึ้น ผู้ทำพิธีปรารถนาสวัสดิมงคลตามคติพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ก็มักคิดอ่านให้ทำพิธีสงฆ์ด้วยกันกับพิธีพราหมณ์ จะยกตัวอย่างเช่นพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน เดิมเป็นแต่พิธีพราหมณ์ภายหลังมาให้มีพิธีสงฆ์เพิ่มเข้าในส่วนการ "เฉลิม(คือเสด็จขึ้นอยู่)พระราชมณเทียร" จึงเกิดการพิธีซึ่งทำทั้งพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ด้วยกันหลายพิธี แต่ที่แยกทำกันอย่างเดิมยังมีมาก

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้หมดตัวพราหมณ์ที่ทรงพระเวทเสียแล้ว ยังเหลือแต่เชื้อสายที่สืบสกุลมาโดยกำเนิด แม้จะหาผู้ใดเข้าใจความในคัมภีร์พระเวทก็ไม่ได้ ด้วยไม่ใคร่ได้เรียนภาษาสันสกฤต การทำพิธีพราหมณ์เป็นแต่ทำตามเคย ไม่เป็นแก่นสารเหมือนเช่นเดิม แต่จะเลิกเสียก็ไม่ควร เพราะเป็นพิธีสำหรับบ้านเมืองและราชประเพณีมาช้านาน จึงทรงแก้ไขระเบียบพิธีพราหมณ์ซึ่งเคยทำมาแต่โดยลำพัง เช่นพิธีแรกนาเป็นต้น ให้พิธีสงฆ์ด้วยทุกพิธี ที่สำคัญนั้นคือทรงแก้ระเบียบพิธีถือน้ำพิพัฒนสัตยา ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์กับพราหมณ์ทำด้วยกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา พิธีสงฆ์มีสวดมนต์เลี้ยงพระให้เป็นสวัสดิมงคลก่อน แล้วทำพิธีอ่านโองการแช่งน้ำสาบานและชุบพระแสงต่อไป ข้าราชการกระทำสัตย์ถือน้ำต่อหน้าพระสงฆ์ที่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวที่ในท้องพระโรง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ประเพณีเดิม เสด็จออกไปประทับเป็นประธานให้ข้าราชการถือน้ำกระทำสัตย์ และถวายบังคมที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระองค์เองก็เสวยน้ำพิพัฒนสัตยา ทรงปฏิญวณความซื่อตรงของข้าราชการทั้งปวงด้วย ระเบียบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ทรงแก้ไขให้เป็นพิธีสงฆ์เป็นพื้น คงทำตามพิธีพราหมณ์แต่สรงมุรธาภิเษก ทรงรับพระราชอาณาจักรและรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นสำคัญ การพิธีสำหรับบ้านเมืองจึงเป็นการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไขให้เป็นแก่นสารขึ้นอีกประเภทหนึ่ง ดังพรรณนามา


ระเบียบยศศักดิ์

พอทำพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มทรงแก้ไขระเบียบยศศักดิ์ ด้วยมีเหตุที่จะต้องพระราชดำริในการนั้น เบื้องต้นแทรงตั้งแบบเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลก่อน อธิบายข้อนี้ ตามประเพณีโบราณ พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่จารึกสุพรรณบัฏถวายเมื่อราชาภิเษกมักใช้พระนามเดียวกันต่อๆมาด้วยถือว่าเป็นสวัสดิมงคล คนทั้งหลายจึงไม่เรียกพระนามตามจารึกนั้น เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์อยู่แต่ว่า "ขุนหลวง" หรือ "พระพุทธเจ้าอยู่หัว" หรือ "พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ" แต่เมื่อมีจำนวนพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงไปแล้วมากขึ้น ก็เรียกพระนามตามพอใจสมมตกันต่างๆ เอาพระนามเมื่อก่อนเสวยราชย์มาเรียก เช่น "สมเด็จพระเพทราชา" บ้าง เรียกตามพระอัธยาศัยเช่น "พระเจ้าเสือ" หมายความว่าดุร้ายบ้าง เรียกตามที่ประทับเช่นว่า "พระเจ้าท้ายสระ" เพราะประทับอยู่พระราชมณเฑียรที่ท้ายสระบ้าง เป็นอย่างนี้มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา

ถึงรัตนโกสินทร์นี้ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ มาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี.."เหมือนกันทุกพระองค์ เมื่อรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า "แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง" ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๓ มีพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงไปแล้วเป็น ๒ พระองค์ คนทั้งหลายจึงมักเรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า "แผ่นดินต้น" เรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า "แผ่นดินกลาง" พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรังเกียจว่าเป็นอัปมงคล เพราะมีต้นมีกลางก็ต้องมีปลาย รัชกาลของพระองค์จะเหมือนเป็นสุดท้าย จึงทรงบัญญัติให้เรียก ๒ รัชกาลก่อน ตามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างอุทิศถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ พระองค์นั้น ให้เรียกรัชกาลที่ ๑ ว่า "แผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" และเรียกรัชกาลที่ ๒ ว่า "แผ่นดินพระพุทธเลิศหล้านภาลัย"

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ มีปัญหาเกิดขึ้นอีกว่าจะเรียกรัชกาลที่ ๓ อย่างไร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริเห็นว่า ควรจะวางระเบียบการเรีกนามพระเจ้าแผ่นดินเสียให้เป็นยุติ อย่าให้เกิดปัญหาต่อไป เมื่อทำพิธีบรมราชาภิเษกจึงโปรดฯให้เปลี่ยนแบบคำจารึกพระสุพรรณบัฏ เอาพระนามเดิมขึ้นตั้งต้นว่า "สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ" แทนที่เคยขึ้นต้นว่า "สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี" และให้เพิ่มคำว่าสำหรับเรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า "พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ลงข้างท้ายสร้อยพระนาม

แล้วทรงบัญญัติให้เรียกนามรัชกาลที่ ๓ ว่า "แผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว"(คำว่าพระนั่งเกล้าและพระจอมเกล้านั้น ทรงอนุโลมตามพระนามเดิมว่า "ทับ" และว่า "มงกุฎ") แล้วทรงบัญญัติให้เรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์ตามนามแผ่นดินว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อป้องกันมิให้คนภายหลังเรียกกันตามสมมตเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

ระเบียบยศเจ้านายและข้าราชการ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งแบบแผนขึ้นใหม่ เนื่องในงานบรมราชาภิเษกนั้นหลายอย่าง คือทรงสถาปนายศ "กรมสมเด็จ" ขึ้นใหม่ให้เป็นชั้นสูงสุดของเจ้านายต่างกรมอย่าง ๑ ทรงสถาปนายศ "สมเด็จเจ้าพระยา" เข้าในทำเนียบให้เป็นชั้นสูงสุดในขุนนางอย่าง ๑ ทรงสถาปนายศเจ้าประเทศราชอย่าง ๑ และทรงสถาปนายศสตรีมีบรรดาศักดิ์ชั้น "เจ้าคุณ" เข้าในทำเนียบอย่าง ๑

การทรงสถาปนายศต่างๆที่กล่าวมานี้ จะอธิบายยศสมเด็จเจ้าพระยาก่อน แต่โบราณยศขุนนางชั้นสูงสุดเป็นเพียงเจ้าพระยา ตามทำเนียบศักดินาข้าราชการในกรุงมีเจ้าพระยาแต่ ๓ คน คือ เจ้าพระยามหาอุปราชเป็นชั้นพิเศษคน ๑ รองลงมาถึงอัครมหาเสนาบดี ๒ คน คือ เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือนคน ๑ กับเจ้าพระยามหาเสนา ที่สมุหพระกลาโหมเป็นหัวหน้าฝ่ายทหารคน ๑ ยศสมเด็จเจ้าพระยาหามีในกฎหมายไม่ มีแต่เรียกในหนังสือพงศาวดารเช่น "สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" และในพงศาวดารรัชกาลที่ ๑ มีว่า พระอุปราชตรัสตั้งพระยาพลเทพเดิมให้เป็น "สมเด็จเจ้าพระยา"(วังหน้า) ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตั้งเจ้าพระยามหาเสนา(ปิ่น)ที่สมุหพระกลาโหมเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา ไปรับราชการวังหน้า ดูก็เป็นทำนองเดียวกับที่ว่าตั้งพระยาพลเทพเป็นเจ้าพระยาในรัชกาลที่ ๑ และมีปรากฏในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ถึงแก่อสัญกรรม พระเจ้าบรมโกศโปรดฯให้เรียกว่า "พระศพ" อย่างเจ้า(๖) พิจารณาความที่กล่าวมาเห็นว่าสมเด็จเจ้าพระยานั้น เดิมจะเป็นแต่คำที่เรียกกัน คือเจ้าพระยาคนใดมีความชอบพิเศษ ได้เลื่อนยศสูงขึ้นกว่าเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี เทียบเท่าเจ้าพระยามหาอุปราชในกฎหมายอันมียศบางอย่างเหมือนกับเจ้า ก็เรียกกันว่าสมเด็จเจ้าพระยา สมเด็จเจ้าพระยาหาใช่ยศในกฎหมายไม่ ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงพูนบำเหน็จเจ้าพระยาพระคลัง ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีอยู่แล้ว จึงโปรดฯให้เป็นสมทเด็จเจ้าพระยา และทรงบัญญัติยศสมเด็จเจ้าพระยาเข้าในกฏหมาย เป็นขั้นสูงสุดในยศขุนนางแต่นั้นมา

บางทีจะเนื่องมาจากที่ทรงตั้งสมเด็จเจ้าพระยานั้นเอง ทรงพระราชดำริต่อไปถึงยศเจ้านายต่างกรม ซึ่งตามแบบโบราณมียศ "กรมพระ" เป็นชั้นสูงสุด จึงทรงเพิ่มยศ "กรมสมเด็จ" ขึ้นอีกชั้นหนึ่ง สำหรับทรงตั้งพระบรมวงศ์ซึ่งมีความชอบเป็นพิเศษ นับเป็นชั้นสูงสุดในยศเจ้านายต่างกรมแต่นั้นมา

ที่ทรงแก้ไขระเบียบยศเจ้าประเทศราชนั้น แต่เดิมมารัฐบาลในกรุงเทพฯยกยศประเทศราชเป็นเจ้าแต่เมืองเวียงจันทน์กับเมืองหลวงพระบาง เพราะสืบสายมาแต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตแต่โบราณ ส่วนประเทศราชในมณฑลพายัพยังให้มียศแต่เป็น "พระยา" เพราะเพิ่งตั้งเป็นประเทศราชขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ต่อเจ้าเมืองคนใดมีความชอบมากจึงทรงตั้งให้เป็น "พระเจ้า" เฉพาะตัว เช่นพระเจ้าเชียงใหม่กาวิละในรัชกาลที่ ๒ แต่ชาวประเทศราชเหล่านั้นเองตลอดไปจนประเทศราชที่ขึ้นกับพม่า เช่นเมืองเชียงตุงเป็นต้น นับถือว่าเป็นเจ้า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า สกุลเจ้าเจ็ดนที่ได้ครองเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองนครลำพูน กับที่งสกุลเจ้าเมืองน่านได้มีความสวามิภักดิ์ยั้งยืนมาที่ให้ยศเป็นแต่เพียงพระยา ต่ำกว่าพวกที่ครองเมืองหลวงพระบางและประเทศราชที่ขึ้นพม่าหาสมควรไม่ จึงทรงสภาปนาให้มียศ โดยปกติเป็น "เจ้า" ถ้ามีความชอบพิเศษเลื่อนขึ้นเป็น "พระเจ้า"เป็นระเบียบสืบมา

การตั้งกรมเจ้านายและตั้งขุนนาง ที่ทรงแก้ไขระเบียบใหม่นั้น ประเพณีเดิมการตั้งกรมหรือเลื่อนกรมเจ้านายนอกจากอุปราชาภิเษกมหาอุปราช พระเจ้าแผ่นดินเป็นแต่มีพระราชดำรัสสั่งแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้ทรงเกี่ยวข้องกับการพิธี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในการพิธีถึงวังเจ้านายที่รับกรม ทรงรดน้ำพระมหาสังข์พระราชทานอย่างอภิเษก และทรงเจิมจุณให้เป็นสิริมงคล แล้วพระราชทานพระสุพรรณบัฏเอง และเมื่อก่อนพระราชทานสุพรรณบัฏให้อาลักษณ์อ่านประกาศพระเกียรติคุณของเจ้านายพระองค์นั้นอันเป็นเหตุให้ได้รับกรมให้ปรากฏด้วย

การตั้งขุนนางผู้ใหญ่ ถ้าเป็นชั้นสูงถึงสมเด็จเจ้าพระยาก็เสด็จไปพระราชทานสุพรรณบัฏทำนองเดียวกับตั้งกรมเจ้านาย ถ้าชั้นรองลงมาเพียงชั้นเจ้าพระยาก็พระราชทานในท้องพระโรง และมีการอ่านประกาศเกียรติคุณเพิ่มขึ้นด้วย การตั้งขุนนางชั้นสามัญแต่ก่อนมาเป็นเพียงแต่กรมวังผู้รับสั่งมีหมายบอกตัวเองและบอกไปตามกระทรวงทะบวงการต่างๆ ว่าทรงตั้งคนนั้นเป็นที่นั้นแล้วก็แล้วกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริให้มีสัญญาบัตรลงพระราชหัตถเลขาปรมาภิไธย และประทับพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ และให้รับสัญญาบัตรต่อพระหัตถ์เป็นประเพณีสืบมา

อนึ่งยศสตรีบรรดาศักดิ์ชั้น "เจ้าคุณ" แต่ก่อนก็เป็นคำเรียกกัน มักเรียกท่านผู้ใหญ่ในราชินิกุลหรือท้าวนางที่เป็นตัวหัวหน้า และเรียกเจ้าจอมมารดาของเจ้านาย แล้วแต่ใครจะเรียกๆกันฟั่นเฝือไม่เป็นแบบแผน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญญัติให้ยศ "เจ้าคุณ" เป็นยศในกฎหมาย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเป็นแบบแผนสืบมา


แก้พระราชานุกิจ

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขขนบธรรมเนียมในประเภทซึ่งเรียกในกฎหมายว่า "พระราชานุกิจ" คือระเบียบเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ก็เป็นการสำคัญอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นประโชยน์แก่บ้านเมืองมาก ตามราชประเพณีมีแต่โบราณมา พระเจ้าแผ่นดินย่อมทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆเป็นระเบียบและตามกำหนดเวลาแน่นอนเสมอ เช่นเสด็จออกขุนนางวันละ ๓ ครั้ง คือเวลาเช้า ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกพิพากษาคดี เวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกา เสด็จออกที่เฝ้ารโหฐาน เวลาค่ำ ๒๐ นาฬิกา เสด็จออกว่าราชการแผ่นดินเป็นต้น พระราชกิจอย่างอื่นก็จัดเข้าระเบียบทรงประพฤติ โดยมีกำหนดเวลาเป็นทำนองเดียวกัน ข้าราชการผู้มีหน้าที่ในราชกิจอย่างใด ก็เฝ้าแหนตามกำหนดเวลาทรงปฏิบัติราชกิจอบย่างนั้นเสมอไม่ต้องนัดหมาย เห็นสะดวกแก่การงานจึงใช้เป็นตำราราชประเพณีสืบมาช้านาน

แต่ระเบียบพระราชานุกิจนั้นสำหรับแต่เวลาเสด็จประทับอยู่พระนครราชธานี การที่จะเสด็จไปยังหัวเมืองไม่มีในตำรา แต่ก่อนมาการเสด็จไปหัวเมืองจึงแล้วแต่พระราชอัธยาศัยส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ ไม่มีกิจที่ต้องเสด็จไปทำศึกสงคราม พระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๒ รัชกาลต่อมา ก็ประทับอยู่ในพระราชวังเป็นพื้น เป็นเหตุให้ทรงเหินห่างกับราษฎร และมิได้ทอดพระเนตรเห็นการเป็นไปตามหัวเมือง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นว่า พระราชานุกิจอย่างรัชกาลก่อนยังบกพร่องเป็นข้อสำคัญ พอเสวยราชย์ก็ทรงแก้ไข คงไว้แต่ที่เป็นแก่นสาร เช่นเสด็จออกวันละ ๓ ครั้งเป็นต้น พระราชกิจที่ไม่เป็นการสำคัญ เช่นเสด็จลงทรงบาตร และทรงประเคนเลี้ยงพระทุกวันดังเคยมีมาในรัชกาลก่อน โปรดฯให้เจ้านายทำแทนพระองค์ เอาเวลาไปใช้ในราชกิจที่เพิ่มขึ้นใหม่ เช่นเสด็จออกรับฎีการาษฎร และเสด็จประพาสพระนครให้ราษฎรได้เฝ้าเป็นต้นดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนั้นทรงฟื้นประเพณีเสด็จประพาสหัวเมืองขึ้น เหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาบางพระองค์เคยประพฤติมาแต่ก่อน

มีโอกาสเมื่อใดก็ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปยังหัวเมืองต่างๆทางฝ่ายเหนือ ได้เสด็จไปถึงเมืองพิษณุโลก ทางตะวันออกเสด็จไปถึงเมืองปราจีน กับทั้งหัวเมืองชายทะเล ตลอดจนเมืองจันทบุรีและเมืองตราด ทางฝ่ายใต้เสด็จไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ทางฝ่ายตะวันตกเสด็จไปถึงเมืองนครชัยศรี เมืองกาญจนบุรี เมืองราชบุรี และเมืองเพชรบุรี ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนาพระราชอาณาเขต และทรงทราบการหัวเมืองยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ปางก่อน

โดยมากตามหัวเมืองที่เสด็จประพาสนั้น โปรดฯให้สร้างที่ประทับขึ้นใหม่ในวังพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยาเคยประทับก็หลายแห่ง เช่นวังบางปะอินของพระเจ้าปราสาททอง วันจันทรเกษมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช วังเชิงเขาพระพุทธบาทของพระเจ้าทรงธรรม และวัง ณ เมืองลพบุรีของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่เมืองเพชรบุรีและเมืองนครปฐมก็มีที่พระราชวังโบราณทั้ง ๒ แห่ง แต่โปรดฯให้สร้างวังใหม่ในที่อื่น การที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสตรวจการหัวเมือง จึงเกิดเป็นประเพณีอันมีประโยชน์แก่บ้านเมืองเป็นอันมากแต่ในรัชกาลที่ ๔ สืบมา

แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมทรงแก้ไขพระราชานุกิจดังกล่าวมา เมื่อภายหลังก็เกิดความลำบากแก่พระองค์ในการที่ต้องทรงประพฤติพระราชานุกิจ เพราะในรัชกาลที่ ๔ มีกิจการต่างๆ ซึ่งพระพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆไม่ต้องทรงทำ เกิดเพิ่มขึ้นใหม่หลายอย่าง เป็นต้นแต่เหตุที่เคยทรงสมาคม และมีหนังสือไปมากับฝรั่งเมื่อยังทรงผนวช ครั้นเสวยราชย์ พวกฝรั่งต่างประเทศได้ทราบพระเกียรติคุณ พากันเขียนหนังสือมาถวายเพิ่มขึ้น เกิดพระราชกิจที่ต้องมีพระราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษถึงชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้นอันต้องทรงแต่งเองเขียนเอง เพราะยังไม่มีใครอื่นที่รอบรู้พอจะช่วยพระราชกิจนั้นได้

ต่อมาถึงสมัยเมื่อทำหนังสือสัญญาทรงพระราชไมตรีกับฝรั่งต่างประเทศแล้ว เกิดกิจซึ่งโต้ตอบกับพวกกงสุลในการต่างๆเพิ่มขึ้นอีก บางทีเป็นการสำคัญอันจะกราบทูลหรือปรึกษาโดยเปิดเผยในเวลาเสด็จออกขุนนางเหมือนอย่างเก่าไม่ได้ ก็ต้องส่งหนังสือที่มีมากับทั้งร่างตอบเข้าไปถวายทรงพระราชวินิจฉัย นอกจากนั้นการที่ทรงรับฎีกาของราษฎรก็เพิ่มพระราชกิจที่ต้องทรงพิจารณาฎีกาด้วยอีกอย่างหนึ่ง หรือถ้าว่าโดยย่อ คือเกิดการที่ต้องทรงพระอักษรเป็นส่วนใหญ่ เพิ่มขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงปฏิบัติการนั้นแทรกเข้าในระเบียบพระราชานุกิจประจำวัน วันไหนมีหนังสือที่เร่งร้อนต้องทรงมาก เวลาเสด็จออกว่าราชการบ้านเมืองเวลาค่ำก็มักเคลื่อนคลาดช้าไปเนืองๆ เป็นเหตุให้ข้าราชการผู้ใหญ่ติเตียนว่า เวลาพระราชานุกิจไม่แน่นอนเหมือนในรัชกาลที่ ๓ บางคนก็เลยขาดเฝ้าด้วยอ้างว่าสูงอายุแล้วอยู่ดึกทนไม่ไหว แม้ผู้ที่ยังไม่สูงอายุก็พลอยเอาอย่าง ประเพณีที่เสนาบดีต้องเข้าเฝ้าทุกวันก็เสื่อมมา ถ้ามีราชการสลักสำคัญมักเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกที่รโหฐาน ราชการสามัญที่เคยกราบทูลในเวลาเสด็จออกขุนนาง มักให้แต่ปลัดทูลฉลองกราบทูลแทน (๗)


ตีเมืองเชียงตุง

ในรัชกาลที่ ๔ ต้องทำสงครามครั้งเดียว และไม่เหมือนกับสงครามใน ๓ รัชกาลที่ล่วงแล้ว ด้วยแต่ก่อนพอเปลี่ยนรัชกาลใหม่ ทั้งรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ พม่าข้าศึกก็เข้ามารบรุก เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุเวียงจันทน์เป็นขบถก็ยกกองทัพมารบรุก ไทยเป็นฝ่ายข้างต่อสู้รักษาอาณาเขตทั้ง ๓ คราว แต่คราวนี้ไทยไปตีเมืองเชียงตุงเป็นการรบรุกอาณาเขตของพม่า จึงผิดกัน

ที่จริงเรื่องตีเมืองเชียงตุงเริ่มมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วยเหตุเกิดจลาจลในอาณาเขตลื้อ(๘) สิบสองปันนาอันเป็นประเทศราชของพม่า แต่ภูมิลำเนาอยู่ต่อแดนทั้งประเทศจีนและประเทศสยาม และเคยยอมขึ้นต่อจีนหรือไทยในเวลาได้ความลำบากมาแต่ก่อน เมื่อก่อนเกิดจลาจลครั้งนี้ มีพวกเจ้านายราชวงศ์เมืองเชียงรุ้ง ซึ่งครอบครองเมืองสิบสองปันนา พากันอพยพครอบครัวหนีภัยมาอาศัยอยู่ในแดนเมืองน่านและหลวงพระบาง (เมื่อยังเป็นอาณาเขตสยาม) หลายพวก เจ้าเมืองหลวงพระบางและเมืองน่านส่งตัวนายที่เป็นหัวหน้าลงมายังกรุงเทพฯ เพื่อขอพระบารมีเป็นที่พึ่งและจะทิ้งพม่ามาไทย

ก็ในเวลานั้นทางประเทศพม่าเสื่อมกำลังตั้งแต่รบแพ้อังกฤษ(ครั้งแรก) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าเป็นโอกาสที่จะแผ่พระราชอาณาเขตไปถึงสิบสองปันนา แต่จะต้องตีเมืองเชียงตุงซึ่งพม่าให้ความควบคุม ข่มเมืองลื้อให้หมดกำลังเสีย ไทยจึงจะได้เอาเมืองสิบสองปันนาไว้ได้ ครั้งนั้นพอพวกเจ้าประเทศราชในมณฑลพายัพทราบกระแสพระราชดำริ ก็พากันยินดีรับอาสาตีเมืองเชียงตุง ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้เชลยกับทรัพย์สิน เมื่อรบชนะตามประเพณีการสงครามในสมัยนั้น จึงโปรดฯให้พวกประเทศราชเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองนครลำพูน ยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง(ครั้งแรก)เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ แต่กองทัพที่ยกไปไปทำการไม่พรักพร้อมกัน ลงที่สุดขัดสนสะเบียงอาหารก็ต้องเลิกกลับมา พอประจวบเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวร เรื่องตีเมืองเชียงตุงก็ค้างอยู่เพียงนั้นจนสิ้นรัชกาลที่ ๓

ถึงรัชกาลที่ ๔ มีความจำเป็นจะต้องตกลงเป็นยุติว่าจะทำอย่างไรต่อไป ทั้งในเรื่องตีเมืองเชียงตุงและเมืองสิบสองปันนา เพราะพวกเจ้านายเมืองเชียงรุ้งตองคอยฟังอยู่ในกรุงเทพฯถึง ๓ ปี พรรคพวกครอบครัวที่คอยอยู่ในแขวงเมืองน่านและเมืองหลวงพระบางก็มีมาก พอประจวบกับได้รับศุภอักษรของเจ้าฟ้าแสนหวี เจ้าเมืองเชียงรุ้งมากราบบังคมทูลว่าการที่เกิดจลาจลนั้นระงับเรียบร้อยแล้ว ขอพระราชทานอนุญาต ให้เจ้านายที่มาพึ่งพระบารมีกับพวกบริวารกลับคืนไปบ้านเมือง และเจ้าเมืองเชียงรุ้งจะถวายเครื่องราชบรรณาการ ๓ ปี ครั้ง ๑ เหมือนอย่างประเทศราชอื่นต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า พวกราชวงศ์เมืองเชียงรุ้งกับพวกบริวารหนีภัยมาพึ่งพระบารมีในเวลาบ้านเมืองเป็นจลาจล บ้านเมืองเรียบร้อยแล้วใครประสงค์จะกลับไปบ้านเมืองก็พระราชทานอนุญาตให้กลับไปตามใจสมัคร แต่ส่วนเรื่องการตีเมืองเชียงตุง และเรื่องผูกพันกับเมืองเชียงรุ้งต่อไปนั้น โปรดฯให้เสนาบดีปรึกษากันนำความเห็นขึ้นกราบบังคมทูล ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงบัญชาหรือตรัสปรึกษาเสนาบดีจะเป็นเพราะเหตุใด ข้อนี้พิจารณาดูเห็นว่าคงเป็นเพราะพระวินิจฉัยเรื่องเมืองเชียงตุง เกี่ยวกับการทำศึกสงครามอันเป็นวิชาซึ่งพระองค์มิได้มีโอกาสทรงศึกษา(๙)

ส่วนเรื่องเมืองเชียงรุ้งนั้น คงทรงเห็นการเหมือนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เคยทรงพระราชดำริมาแต่ก่อน ว่าเมืองลื้อสิบสองปันนาเคยขึ้นแก่พม่าและจีน แม้ไทยรับเป็นที่พึ่ง ถ้าพม่าหรือจีนมาเบียดเบียนเมืองเชียงรุ้งก็ยากที่ไทยจะไปช่วยป้องกัน เพราะหนทางไกลและกันดารนัก จะไม่เป็นที่พึ่งแก่พวกลื้อสิบสองปันนาได้จริง แต่จะตรัสปฏิเสธโดยลำพังพระราชดำริก็ยาก จึงทรงอาศัยเหตุที่เป็นการเก่า ซึ่งเสนาบดีเหล่านั้นได้เคยพิจารณาบัญชาการมาแล้วในรัชกาลที่ ๓ ให้ปรึกษากันอีกครั้งหนึ่งว่าจะควรทำอย่างไรต่อไปในรัชกาลใหม่

ก็ในปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้นเผอิญประจวบกับอังกฤษมาตีเมืองพม่าอีก(เป็นครั้งที่ ๒) พม่ากำลังติดรบพุ่งกับอังกฤษจะไปช่วยเมืองเชียงรุ้งไม่ได้เป็นโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น เสนาบดีจึงพร้อมกันนำความเหน็นกราบบังคมทูล เห็นว่าควรจะดำเนินการต่อไปตามพระราชดำริในรัชกาลที่ ๓ คือให้ไปตีเมืองเชียงตุงอีก เมื่อได้เมืองเชียงตุงแล้วก็คงได้เมืองลื้อสิบสองปันนาเป็นของไทยโดยไม่ลำบาก แต่การที่จะตีเมืองเชียงตุงคราวนี้ ควรให้มีกองทัพกรุงเทพฯยกขึ้นไปควบคุมกองทัพพวกมณฑลพายัพด้วยจึงจะเป็นการสะดวก และจะเป็นประโยชน์ฝึกฝนข้าราชการในกรุงให้ชำนิชำนาญการศึกสงครามขึ้นด้วย

เมื่อเสนาบดีลงมติอย่างนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงบัญชาตาม โปรดฯให้เกณฑ์คนในมณฑลพายัพและหัวเมืองเหนือนอกจากมณฑลนั้นรวมจำนวน ๑๐,๐๐๐ จัดเป็น ๒ กองทัพ ให้เจ้าพระยายมราช(นุช บุณยรัตพันธ์ ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก) คุมกองทัพหน้ายกไปทางเมืองเชียงใหม่ทาง ๑ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทเป็นจอมพล คุมกองทัพหลวงยกไปทางเมืองน่านอีกทาง ๑ ไปสมทบกันตีเมืองเชียงตุง กองทัพที่ยกไปครั้งนั้นตีได้เมืองขึ้น และด่านทางที่พวกเชียงตุงมาตั้งต่อสู้เข้าไปจนถึงตั้งล้อมเมืองเชียงตุง ยังแต่จะหักเข้าเมือง เผอิญเสบียงอาหารขาดลงก็ต้องถอยทัพกลับมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน ในเวลานั้นประจวบกับจัดทหารอย่างยุโรปขึ้นในกรุงเทพฯ เสนาบดีจึงปรึกษาเห็นกันว่าเมืองเชียงตุงก็อ่อนกำลังมากอยู่แล้วควรจะเพิ่มเติมกำลังกองทัพทั้งเสบียงอาหารและเครื่องศัสตราวุธให้มากขึ้น อย่าให้มีความขัดข้องเหมือนเมื่อคราวก่อน แล้วให้ยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงในฤดูแล้งปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ อีกครั้งหนึ่ง แต่ในเวลาเตรียมทัพอยู่นั้น ทางเมืองพม่าเสร็จการสงครามกับอังกฤษ พม่าส่งกำลังมาช่วยรักษาเมืองเชียงตุง ทางฝ่ายไทยไม่รู้ ยกขึ้นไปคราวหลังก็เกิดลำบากตั้งแต่เข้าแดนเชียงตุง กองทัพเจ้าพระยายมราชต้องติดขัดไปไม่ทันสมทบกองทัพหลวง กรมหลวงวงศาฯเสด็จขึ้นไปพบกองทัพพม่ามีกำลังมากกว่า ก็ต้องถอยทัพกลับมา การตีเมืองเชียงตุงจึงเป็นอันไม่สำเร็จ

คิดดูว่าเพราะเหตุใด เห็นว่าเพราะไปทำสงครามในดินแดนของข้าศึก ซึ่งไทยไม่รู้เบาะแสภูมิลำเนา เสียเปรียบศัตรูอยู่โดยธรรมดาอย่าง ๑ เพราะฝ่ายไทยประมาทไม่ขวนขวายในการสืบสวนให้สมกับกระบวนพิชัยสงครามอย่าง ๑ เป็นข้อสำคัญ แต่ถึงตีเมืองเชียงตุงได้ก็คงรักษาไว้ไม่ได้ ด้วยอยู่ใกล้แดนพม่ากว่าแดนไทย


จัดทหารบกทหารเรือ

ทหารบกทหารเรือที่ฝึกหัดจัดระเบียบการบังคับบัญชาตามแบบฝรั่ง ก็เกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ แต่นั้นมา เมื่อไทยรบกับญวนและระแวงว่าอังกฤษจะย่ำยีเหมือนอย่างเมืองจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และสร้างป้อมรักษาปากน้ำที่สำคัญทุกแห่ง ครั้งนั้นให้เกณฑ์พวกญวนอาสา(เข้ารีต)หัดเป็นทหารปืนใหญ่ ขึ้นอยู่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์พวก ๑ เกณฑ์พวกอาสามอญหัดเป็นพวกทหารปืนเล็กขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้บังคับบัญชาพวก ๑ สำหรับรักษาป้อมปากที่เมืองสมุทรปราการ ทหารทั้ง ๒ พวกนี้แต่งตัวตามแบบทหารฝรั่ง และปรากฎว่าได้ให้มาตั้งแถวเป็นกองเกียรติยศ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในวันบรมราชาภิเษก แต่ยังไม่ได้จัดระเบียบการบังคับบัญชา

ในปีกุน พ.ศ. ๒๓๙๔ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์นั้น มีนายร้องเอกทหารอังกฤษคน ๑ ชื่อ อิมเป(Impey) ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์และโปรดขนบธรรมเนียมฝรั่ง จึงเข้ารับอาสาเป็นครูฝึกหัด จัดระเบียบทหารบก ก็โปรดฯให้จ้างไว้แล้วเกณฑ์คนกรมอาสาลาวและเขมรเป็นทหาร ให้นายร้อยเอกอิมเปฝึกหัดเรียกว่า "ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป" จัดเป็นกองร้อยและหมวด หมู่ มีนายร้อย นายสิบ ควบคุมตามแบบฝรั่ง และโปรดฯให้สร้างโรงทหารขึ้นสำหรับพวกทหารผลัดเวรกันอยู่ประจำราชการ

การฝึกหัดและจัดระเบียบทหารครั้งนั้นเพราะทำตามแบบฝรั่ง และครูก็ไม่รู้ภาษาไทย จึงใช้คำบอกทหารและชื่อตำแหน่งยศทหารมาตลอดรัชกาลที่ ๔ พอข่าวระบือไปว่านายร้อยเอกอิมเปได้เป็นครูทหารไทย ในไม่ช้าก็มีนายร้อยเอกทหารอังกฤษชื่อ น็อกส์(Knox) เข้ามาขออาสาอีกคน ๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชขดำริว่า ทหารวังหลวงมีนายร้อยเอกอิมเปเป็นครูอยู่แล้ว จึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวรับนายร้อยเอกน็อกส์ไปเป็นครูวังหน้า และให้โอนทหารญวน(เข้ารีต)ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบังคับบัญชาอยู่แต่ก่อนไปเป็นทหารวังหน้า ส่วนทหารมอญที่เคยขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมนั้น ก็โปรดฯให้คงอยู่ในบังคับบัญชาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการทหารเรือ ทหารพวกนั้นจึงเปลี่ยนไปเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ

ต่อมาโปรดฯให้จัดกรมรักษาพระองค์เป็นทหารอย่างยุโรปขึ้นอีกกรม ๑ และจัดพวกกรมอาสาญวน(๑๐) เป็นทหารปืนใหญ่แทนพวกญวนเข้ารีตที่โอนไปวังหน้าอีกกรม ๑ กรมทหารบกต่างๆที่ว่ามาเป็นต้นเดิมของทหารบกที่มีต่อมาจนทุกวันนี้

ทหารบกที่เริ่มจัดขึ้นเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้น ทันได้ส่งขึ้นไปเข้าในกองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เมื่อยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุงครั้งหลังในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๙๖ จะเป็นจำนวนคนเท่าใดหาทราบไม่ ทราบแต่ว่านายร้อยเอกน็อกส์คุมไป และได้ช่วยรบครั้งหลังเมื่อกองทัพกรมหลวงวงศาฯถอยลงมา(๑๑)

ส่วนทหารเรือนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๓ มีเรือรบเป็นกำปั่นใบหลายลำ เกณฑ์พวกแขก(เขมร) กรมอาสาจามลงประจำ ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหม สำหรับลาดตระเวนในอ่าวสยาม บางทีก็มีราชการก็ให้ไปถึงเมืองต่างประเทศที่ใกล้เคียง ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นอัครมหาเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ท่านชำนาญการต่อเรือกำปั่นมาตั้งแต่ยังเป็นหลวงนายสิทธิในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้จัดทหารเรือและต่อเรือกลไฟเป็นเรือรบและเรือใช้เป็นพาหนะ

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดการทหารเรือ ทรงต่อเรือรบและจัดทหารเรือวังหน้าขึ้นด้วย จึงเริ่มมีเรือไฟใช้เป็นเรือรบและเรือพาหนะตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๐ เป็นต้นมา(๑๒) คงใช้พวกอาสาจามเป็นพนักงานเดินเรืออยู่อย่างเดิม เพิ่มพวกมอญเป็นทหารมรีนสำหรับเรือรบ แต่พวกต้นกลนั้นฝึกหัดไทยใช้มาแต่แรก ส่วนการบังคับบัญชาในเรือรบ ในสมัยนั้นยังไม่มีไทยใครชำนาญจึงต้องจ้างฝรั่งเป็นกัปตันและต้นหนเรือรบมาช้านาน


..............................................................................................................................................................




 

Create Date : 30 มีนาคม 2550   
Last Update : 31 มีนาคม 2550 15:27:26 น.   
Counter : 2756 Pageviews.  


ตอนที่ ๒ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนเสวยราชย์ พ.ศ. ๒๓๔๓ - ๒๓๙๔


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



..............................................................................................................................................................



พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็สมภพในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีชวด วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในวันนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)ยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ด้วยกันกับสมเด็จ (พระศรีสุริเยนทร) บรมราชชนนี ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าฝ่ายในด้วยเป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอมาตั้งแต่ประสูติจนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระชันษาได้ ๖ ปี ในระหว่างนั้นได้เฝ้าและทรงจำพระบรมอัยกาธิราชพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงสร้างพระมหาสถูปองค์ที่ ๔ ที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินภายหลังไม่ต้องทรงถือเป็นแบบอย่าง เพราะพระเจ้าแผ่นดิน ๔ พระองค์นั้นได้เคยทรงเห็นกันและกัน ดังนี้

ถึงรัชกาลที่ ๒ เสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังประทับที่ตำหนักแดง(อยู่ตรงที่สร้างตำหนักสมเด็จกรมพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี) อันสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์กับสมเด็จพระชนนีเคยเสด็จมาอยู่แต่ก่อน(๑) ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คนทั้งหลายเรียกกันว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าองค์ใหญ่" แต่มักเรียกกันโดยสะดวกปากว่า "ทูลกระหม่อมใหญ่" มิฉะนั้นก็เรียกว่า "เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่" หรือ "เจ้าฟ้าใหญ่" เรียกกันอย่างนี้สืบมาจนเสวยราชย์(๒)

จะกล่าวถึงเรื่องพระราชทานพระนามแทรกลงตรงนี้สักหน่อย ด้วยมีผู้แต่งหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ" มาแต่แรกประสูติ ความจริงจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ด้วยประเพณีการพระราชทานพระนามเจ้าฟ้ามีมาแต่โบราณ พระราชทานต่อเมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี (หรือมิฉะนั้นก็เมื่อโสกันต์) มีพิธีสำหรับการนั้นโดยเฉพาะ คำที่เรียกเมื่อก่อนได้พระราชทานพระนามเป็นแต่คนทั้งหลายเรียกกันโดยสมมต เช่นเรียกว่า เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ และพระองค์น้อยเป็นต้น บางทีก็ใช้คำแปลกออกไปตามเหตุ ยกตัวอย่างในกรุงศรีอบุธยา เช่นเรียกว่า เจ้าฟ้าเพ็ชร เจ้าฟ้าพร เจ้าฟ้ากุ้ง และเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ(๓) เป็นต้น

ประเพณีพระราชทานพระนามเจ้าฟ้าในกรุงรัตนโกสินทร์นี้มีจดหมายเหตุปรากฏชัด เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทะยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ มีพระราชโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้า ๔ พระองค์ ที่ทรงเจริญวัยแล้วพระราชทานพระนามเป็นกรมทีเดียว ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้าหญิงกรมขุนสุนทรเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าพระราชธิดาองค์น้อยยังทรงพระเยาว์พระราชทานพระนาทว่าเจ้าฟ้าประภาวดี ภายหลังจึงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเทพยวดี ต่อมาเมื่อเสวยราชย์แล้วมีเจ้าฟ้าพระราชธิดาอีกพระองค์ ๑ พระราชทานนามว่าเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอีกพระองค์ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้าเมื่อก่อนเสวยราชย์ ๒ พระองค์ และมีพระราชโอรสเมื่อเสวยราชย์แล้วเป็นเจ้าฟ้าอีก ๓ พระองค์ เจ้าฟ้า ๕ พระองค์นั้นเจริญพระชันษาทันรับพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๒

แต่ ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ได้รับพระราชทานพระนามเมื่อทำพิธีลงสรงพระองค์ ๑ ต่อนั้นมาพระราชทานนามเจ้าฟ้าจุฑามณี(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)พระองค์ ๑ กับเจ้าฟ้าอาภรณ์อีกพระองค์ ๑ แต่เจ้าฟ้าอีก ๒ พระองค์ยังทรงพระเยาว์ไม่ทันได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๒ เรียกพระนามแต่ว่าเจ้าฟ้ากลาง(คือสมเด็จฯกรมพระยาบำราบปรปักษ์) กับเจ้าฟ้าปิ๋วๆสิ้นพระชนม์เสียในรัชกาลที่ ๓ เหลือแต่เจ้าฟ้ากลางมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามหามาลา

พิเคราะห์ตามเยี่ยงอย่างที่ปรากฏดังกล่าวมา เห็นได้ว่าการพระราชทานนามเจ้าฟ้าแต่เริกประสูตินั้น เมื่อรัชกาลที่ ๑ ยังหามีธรรมเนียมไม่ ที่จริงประเพณีพระราชทานพระนามเจ้าฟ้าแต่แรกเมื่อประสูติ(ได้เดือนหนึ่ง) เพิ่งมาเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดจะให้คนสมมตเรียกกันตามชอบใจ เช่นเจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ จึงพระราชทานนามแต่แรกประสูติ ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นคนเรียกตามสมมต เช่นว่าทูลกระหม่อมใหญ่และทูลกระหม่อมเล็ก เป็นต้น ด้วยถือว่าเป็นการเคารพ

ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีข้อค้านอีกข้อหนึ่ง ด้วยเจ้าฟ้าชายพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระองค์หนึ่ง พระองค์นั้นเป็น "หัวปี" ก็มิได้พระราชทานพระนาท และไม่มีพระนามปรากฏ เพราะสิ้นพระชนม์เสียแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้เรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้าราชกุมาร"

อธิบายที่กล่าวมาเป็นหลักฐานให้เห็น ว่าที่อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าฟ้ามงกุฎฯ นั้นไม่มีมูล

ยังมีข้ออื่นอีกซึ่งกล่าวในหนังสือเฉลิมพระเกียรตินั้น ข้อหนึ่งว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้เอาเศวตฉัตรไปแขวนตรงที่ประสูติ ข้อนี้ก็เกิดขึ้นด้วยคนแต่งเป็นไพร่ ไม่รู้คำอธิบายของคำที่พูดกันว่าเจ้านายประสูติ "ในเศวตฉัตร" หรือ "นอกเศวตฉัตร" อันที่จริงหมายความเพียงว่าประสูติเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสวยราชย์แล้วหรือประสูติเมื่อก่อนเสวยราชย?เมท่านั้นเอง ประเพณีเอาเศวตฉัตรไปแขวนสำหรับให้เจ้านายประสูติใต่ร่มเงาหามีไม่

อีกข้อหนึ่งซึ่งว่าเมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทรประชวรพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปประทับอยู่ที่ตำหนักแพ ให้ข้าหลวงคอยสืบพระอาการมากราบทูล ข้อนี้เห็นได้ว่าเป็นความเท็จไม่มีมูล ด้วยสมเด็จพระศรีสุริเยนทรเคยมีพระราชโอรสแล้ว หามีเหตุที่จะทรงพระวิตกไม่ แม้จะมีเหตุถึงต้องทรงพระวิตก ถ้าทรงพระวิตกมากก็คงเสด็จไปเยี่ยมถึงวัง ถ้าไม่ถึงเช่นนั้นก็คงเป็นแต่โปรดฯให้ข้าหลวงไปสืบพระอาการมากราบทูลที่ในพระราชวัง เหตุใดจึงจะเสด็จไปประทับให้สืบพระอาการอยู่ครึ่งทางที่ตำหนักแพ

ข้อความเหล่านี้เป็นของผู้ไม่รู้ราชประเพณี ประดิษฐ์ขึ้นในหนังสือที่ตนแต่ง หวังจะให้คนชมว่ารู้มาก แต่น่าอนาถใจที่มีบุคคลชั้นสูงอันควรจะรู้ว่าเป็นเท็จยอมเชื่อถึงคัดเอามาลงในหนังสือที่ตนแต่งพิมพ์ในภายหลัง ฉันได้เคยต่อว่าก็แก้แต่ว่า ถึงไม่จริงนักก็เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉันเห็นว่าแต่งหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ควรกล่าวแต่ที่เป็นความจริง ถ้าเอาความเท็จมากล่าวหาเป็นพระเกียรติไม่ หนังสือเฉลิมพระเกียรติด้วยความเท็จที่ว่ามามีฉบับพิมพ์แพร่หลายอยู่ ดูเหมือนผู้ที่หลงเชื่อกันว่าจริงมีมาก ฉันจึงเห็นควรบอกไว้ให้ทราบ

การศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้เริ่มเรียนอักขรสมัยในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ชุน) วัดโมฬีโลกฯ(๔) แต่ยังเสด็จอยู่ในพระราชวังเดิม ครั้นเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ก็ทรงศึกษาความรู้สำหรับพระราชกุมารต่อมา พึงสันนิษฐานได้ว่า วิชาความรู้อย่างใดที่นิยมกันในสมัยนั้นว่าสมควรแก่ขัตติยราชกุมารอันสูงศักดิ์ คงได้ศึกษาต่อผู้เชี่ยวชาญวิชาการนั้นๆทุกอย่าง ข้อนี้เห็นปรากฏในสมัยเมื่อเสวยราชย์ แม้ได้เสด็จไปทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษา ยังทรงม้าและยิงปืนไฟได้ไม่ลืม ถ้าว่าโดยย่อ วิชาความรู้อย่างใดซึ่งตามคติโบราณนิยมว่าพระราชกุมารอันสูงศักดิ์ควรทรงศึกษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงได้ทรงศึกษาสมบูรณ์ทุกอย่าง เพราะมีโอกาสในรัชกาลที่ ๒ เป็นเวลาถึง ๑๖ ปี

ในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชโอรสนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถได้โปรดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติหลายครั้ง เป็นต้นแต่เมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี มีการพระราชพิธีลงสรง ซึ่งทำเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๔ พระราชทานพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ สมมุติเทววงศ์ พงศ์อิศวรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร"

ต่อการพิธีลงสรงมาถึงปีกุน พ.ศ. ๒๓๕๘ พวกมอญมณฑลเมาะตะมะเป็นขบถต่อพม่า แล้วพากันอพยพครอบครัวหนีมาขออาศัยอยู่ในประเทศสยาม เหมือนอย่างพวกพญาเจ่งเคยอพยพมาแต่ก่อน มอญอพยพมาคราวนี้ สมิงสอดเบา(ซึ่งได้เป็นที่พระยารัตนจักร)เป็นหัวหน้า มีจำนวนคนราว ๔๐,๐๐๐ อพยพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แขวงจังหวัดกาญจนบุรีทาง ๑ ทางด่านแม่สอด แขวงจังหวัดตากทาง ๑ ทางจังหวัดอุทัยธานีก็มาบ้าง แต่จำนวนไม่มากเหมือนทางจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านถาลัยโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปทรงตั้งเมืองปทุมธานีเป็นที่อยู่ของมอญที่อพยพมาคราวนี้(๕) และโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยภูธร สมุหนายก คุมกำลังแลเสบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองตาก

ส่วนทางด่านพระเจดีย์สามองค์นั้นโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นพระชันษาได้เพียง ๑๒ ปี มีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นพระอภิบาล เสด็จคุมกำลังและสะเบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี การที่ต้องมีคนสำคัญคุมกำลังลี้พลออกไปรับพวกชาวต่างประเทศที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้น มีความจำเป็นด้วยอาจจะมีกองทัพข้างฝ่ายโน้น ยกติดตามจับพวกครอบครัวล่วงเลยเข้ามาในพระราชอาณาเขต หรือมิฉะนั้นพวกครัวที่อพยพมานั้นเอง เพราะมากด้วยกันอาจจะกำเริบเบียดเบียนประชาชน จึงแต่งกำลังไปป้องกันเหตุร้ายทั้ง ๒ สถาน และมีสะเบียงอาหารไปแจกจ่ายแก่พวกครัวมิให้เดือดร้อน เหตุใดจึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นนายกไปครั้งนั้น

พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีพระราชประสงค์ให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โอกาสทรงศึกษากระบวนทัพศึก ทำนองเดียวกับพระองค์เองได้เคยเริ่มทรงศึกษาด้วยตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถไปในการสงครามกับพม่ามาแต่ยังทรงพระเยาว์ อีกสถานหนึ่งจะให้ปรากฏถึงเมืองพม่า ว่าโปรดฯให้สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เสด็จออกไปรับ ข้าศึกจะได้ครั่รคร้าม และพวกมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์ก็จะได้อุ่นใน ส่วนทางการนั้นให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา

ต่อมาอีกปีหนึ่งถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙ พระชันษา ๑๓ ปี มีการพระราชพิธีโสกันต์ ทำเต็มตำราโสกันต์เจ้าฟ้า คือปลูกเขาไกรลาสและที่สรงสนานเป็นต้น แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ ประทับอยู่วัดมหาธาตุฯ ๗ เดือนแล้วจึงลาผนวช กล่าวกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรนั้น สมเด็จพระสังฆราช(มี)เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร(สุข)เป็นพระอาจารย์ถวายศีล แต่พิเคราะห์ตามเหตุการณ์น่าจะกลับกันกับที่กล่าว คือสมเด็จพระญาณสังวรเป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอาจารย์ถวายศีล เพราะสมเด็จพระญาณสังวรเป็นผ้มีพรรษาอายุมากนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช(มี) ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน(๖) น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างเจดีย์ขึ้น ๒ องค์เป็นคู่กันอยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม(อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งทรงขนานนามว่า "พระสิราสนเจดีย์" ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด้จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งขนานนามว่า "พระสิราจุมภตเจดีย์" เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่ ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์

เมื่อลาผนวชสามเณรแล้ว เสด็จมาประทับในบริเวณวังข้างฝ่ายหน้า จะสร้างตำหนักขึ้นใหม่หรือจะใช้สถานอันใดที่มีอยู่แล้วจัดเป็นตำหนัก ข้อนี้หาทราบไม่ ปรากฏแต่ว่าเสด็จประทับอยู่ข้างด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใกล้ประตูสุวรรณภิบาล คงอยู่ตรงที่สร้างโรงกษาปณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรียกว่า "หอราชพิธีกรรม" ในบัดนี้ สมเด็จพระบรมนชกนาถโปรดฯให้ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็ก ทั้งรับราชการอย่างอื่นอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เป็นนิจ ทรฝึกสอนราชศาสตร์พระราชทานเอง และในตอนนี้คงทรงศึกษาวิชาวิสามัญต่างๆสำหรับพระราชกุมารด้วย เสด็จประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ จึงได้พระราชทานวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ให้เสด็ออกอยู่ต่างวังเมื่อพระชันษาได้ ๑๘ ปี แต่ให้ทรงครอบครองพระราชวังเดิมไม่ถึง ๓ ปี พอปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ พระชันษาถึง ๒๑ ปี เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี พอทรงผนวชได้ ๑๕ วัน ก็เผอิญเกิดวิบัติด้วยสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต(๗)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มประชวรเมื่อเดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ ปีวอป พ.ศ. ๒๓๖๗ แต่รู้สึกพระองค์ว่าเมื่อยมึนไป เสวยพระโอสถข้างที่ไม่ถูกโรค เลยเกิดพระอาการเชื่อมซึมจนไม่สามารถจะตรัสได้แก้อย่างไรก็ไม่ฟื้น ประชวรอยู่ ๘ วัน ถึงวันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ก็เสด็จสวรรคตไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้เป็นที่รัชทายาท พระราชวงศ์กับเสนาบดีหัวหน้าราชการทั้งปวงจึงต้องประชุมปรึกษากันตามธรรมเนียมโบราณ ว่าจะควรเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ครอบครองบ้านเมือง ในเวลานั้นถ้าว่าตามนิตินับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานสมควรจะได้รับราชสมบัติ เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสี

แต่เผอิญในเวลานั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร(คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปี ได้ทรงบังคับราชการต่างพระเนตรพระกรรณเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ผู้คนยำเกรงนับถืออยู่โดยมาก ที่ประชุมเห็นว่า ควรถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทรบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ จึงอาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ให้ไปทูลถามว่าจะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือทรงผนวชต่อไป

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบกิตติศัพท์อยู่แล้ว ว่าคิดกันจะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์คงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศร พระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์ ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าหวงราชสมบัติดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระราชประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นอันสิ้นความลำบากในการที่จะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

การที่ถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนั้น เมื่อพิจารณาในเรื่องพงศาวดารไม่น่าพิศวงด้วยในรัชกาลที่ ๒ นั้น มีเจ้านายเป็นหลักราชการมาแต่แรก ๓ พระองค์ คือสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาสมเด็จพระศรีสุริเยนพรมราชินีพระองค์ ๑ และพระองค์เจ้าทับ พระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ่ซึ่งสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯทรงกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป โปรดฯให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงกำกับกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงวัง และโปรดฯให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงกำกับกระทรวงพระคลัง เป็นเช่นนั้นมา ๘ ปี ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ กรมพระราชวังบวรฯสวรรคต ต่อนั้นเจ้าฟ้ากรมหวงพิทักษ์มนตรีก็เป็นหัวหน้าในราชการ ต่อมาอีก ๕ ปี ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๔ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ เหลือแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทรก็ได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณต่อมาถึง ๓ ปี ในเวลาเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรได้ทรงบังคับบัญชาราชการอยู่โดยมาก ถ้าถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เหมือนถอดถอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจากอำนาจที่มีอยู่แล้ว ถ้าไม่ทรงยอมจะทำอย่างไร พฤติการณ์เป็นเช่นนั้น จึงต้องถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่องนี้มีกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกอย่างหนึ่ง เคยตรัสปรารภว่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงรับราชสมบัติในครั้งนั้น ที่จริงกลับเป็นคุณแก่ประเทศสยาม เพราะในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาความรู้แต่ตามแบบโบราณ การงานในบ้านเมืองก็ทรงทราบเพียงเท่ากับเจ้านายพระองค์อื่น ถ้าได้รับราชสมบัติในเวลานั้น พระบรมราโชบายในการปกครองบ้านเมือง ก็น่าจะเป็นทางเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง ที่ทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ ได้มีโอกาสเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศและทรงทราบความสุขทุกข์ของราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง กับทั้งได้โอกาสทรงศึกษาวิชาความรู้และภาษาฝรั่ง พอทันเวลาที่ฝรั่งจะเริ่มแผ่อำนาจมาถึงประเทศสยาม พิเคราะห์ดูราวกับชาตาบ้านเมืองบันดาลให้เสด็จรอมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อเมื่อมีความสามารถจะอำนวยรัฏฐาภิปาลโนบายได้ตามความต้องการของบ้านเมือง กระแสพระราชปรารภที่ว่ามานี้ ถ้าพิจารณาในเรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ดูเป็นอัศจรรย์จริง

จะเล่าเรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช จะต้องชี้แจงให้ผู้อ่านทราบลักษณะการที่เจ้านายอกทรงผนวชเสียก่อน ตามประเพณีมีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ระเบียบการศึกษาของพระราชกุมาร เมื่อเรียนอักษรสมัยเบื้องต้นตลอดแล้ว พอพระชันษาถึง ๑๔ ปีต้องทรงผนวชสามเณรเพื่อศึกษาศีลธรรมครั้งหนึ่ง และเมื่อเจริญพระชันษาถึง ๒๑ ปีต้องทรงผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาพระศาสนาและวิชาชั้นสูง(ทำนองเดียวกับเข้ามหาวิทยาลัย)อีกครั้งหนึ่ง จึงนับว่าสำเร็จการศึกษาแต่นั้นไป เจ้านายที่ออกทรงผนวชนั้น บางพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรแล้วเกิดนิยมการเล่าเรียนในสำนักสงฆ์ เลยผนวชอยู่จอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แม้ที่สุดบางพระองค์เลยอยู่ในสมณเพศต่อไป จนตลอดพระชนมายุก็มี แต่โดยมากนั้นทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่เพียงพรรษาหนึ่งหรือสองพรรษา แล้วก็ลาผนวชกลับมาศึกษาวิชาการทางฝ่ายฆราวาสจนพระชันษาถึง ๒๑ ปี จึงออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี แต่ทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียวแล้วก็ลาผนวชมารับราชการบ้านเมือง

ก็เล่าเรียนสำหรับผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุนั้นมีเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "คันธุระ" คือเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยพยายามอ่านพระไตรปิฎกให้รอบรู้พระธรรมวินัยอย่างหนึ่ง เรียกว่า "วิปัสสนาธุระ" คือเรียนวิธีทีจะพยายามชำระใจของตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นกิเลสอย่างหนึ่ง การเรียนคันธุระต้องเรียนหลายปีเพราะต้องเรียนภาษามคธก่อน เจ้านายที่ทรงผนวชแต่พรรษาเดียวไม่มีเวลาพอจะเรียนคันธุระ จึงมักเรียนวิปัสสนาธุระอันเป็นการภาวนา อาจเรียนได้ด้วยไม่ต้องรู้ภาษามคธ และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้ว อาจจะทรงคุณวิเศษในทางวิทยาคม เป็นประโยชน์อย่างอื่นตลอดจนวิชาพิชัยสงคราม เพราะฉะนั้นเจ้านายซึ่งทรงผนวชแต่พรรษาเดียว จึงมักทรงศึกษาวิปัสสนาธุระมาแต่ครั้งกรุงศีอยุธยา

ถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดฯให้ทำตามเยี่ยงอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวช ทรงรับอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักวัดมหาธาตุฯ ทำอุปัชฌายวัตร ๓ วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษาทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย (ซึ่งพระราชทานนามว่า วัดราชาธิวาส เมื่อรัชกาลที่ ๔)

เมื่อแรกผนวช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เห็นจะจำนงทรงศึกษาวิปัสสนาธุระเหมือนเช่นเจ้านายทรงผนวชเคยศึกษากันมาแต่ก่อน หรืออย่างว่า "พอเป็นกิริยาบุญ" เพราะจะทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียว แต่เมื่อเกิดเหตุวิบัติด้วยสมเด็จพระบรมชนนกนาถสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัได้ราชสมบัติ ส่วนพระองค์จะต้องทรงเพศเป็นสมณะต่อไปไม่มีกำหนด ทรงพระดำริเห็นว่า ฐานะของพระองค์ไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงเปลี่ยนเจตนาไปจำนงจะทรงศึกษาพระพุทธศาสนาให้รอบรู้ตามสมควรแก่หน้าที่ของพระภิกษุ

ก็ในเวลานั้นได้เริ่มทรงศึกษาวิปัสสนาธุระมาแล้วแต่แรกทรงผนวช จึงตั้งพระหฤทัยขะมักเขม้นจะเรียนให้ได้ความรู้วิปัสสนาอย่างถ่องแท้ ไม่ช้าเท่าใด ก็ทรงทราบสิ้นตำราที่ทรงสงสัย ตรัสถามพระอาจารย์ก็ไม่สามารถชี้แจงถวายให้สิ้นสงสัยได้ ทูลแต่ว่าครูบาอาจารย์เคยสอนมาเพียงเท่านั้น ก็เกิดท้อพระหฤทัยในการที่ทรงศึกษาวิปีสสนาธุระ พอออกพรรษาจึงเสด็จกลับลงมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯตั้งต้นเรียนคันธุระ หมายจะให้สามารถอ่านพระไตรปิฎกศึกษาหาความรู้ได้โดยลำพังพระองค์ ได้ยินว่าพระวิเชียรปรีชา(ภู่)เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในสมัยนั้น เป็นอาจารย์สอนภาษามคธถวาย ทรงขะมักเขม้นเรียนอยู่ ๓ ปี ก็รอบรู้ภาษามคธผิดกับผู้อื่นเป็นอย่างอัศจรรย์ จนกิตติศัพท์เลื่องลือ ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งมีพระราชดำรัสถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าจะแปลพระปริยัติธรรมถวายทรงฟังได้หรือไม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระพรรับว่าจะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์

ก็ประเพณีการสอบความรู้พระปริยัติธรรมในสมัยนั้น กำหนดหลักสูตรเป็น ๙ ประโยค(๘) ผู้ที่เข้าสอบความรู้ต้องสอบได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าได้เพียง ๓ ประโยคเทียบชั้นเปรียญตรี ถ้าได้ตั้งแต่ ๔ ถึง ๖ ประโยคเทียบชั้นเปรียญโท ถ้าได้ตั้งแต่ ๗ ประโยคขึ้นไปเทียบชั้นเปรียญเอก แต่เจ้านายที่ทรงผนวชแม้ทรงผนวชอยู่นานและได้เรียนคันธุระเช่นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นต้น แต่ก่อนมาหาเคยมีพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ได้เข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมในสนามไม่ ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ตรัสชวน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงไม่เข้าสอบ

เหตุใดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญพระปริยัติธรรม ข้อนี้เมื่อคิดดูเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคงทรงพระราชดำริว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใฝ่พระหฤทัยศึกษาพระศาสนานั้นเป็นความดี อันสมควรจะทรงอุดหนุนจะได้เป็นกำลังช่วยทำนุบำรุงทางฝ่ายพุทธจักร และเป็นพระเกียรติยศแก่พระราชวงศ์ โดยไม่ขัดขวางทางการฝ่ายอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงตรัสชวนให้เข้าสอบความรู้ เพื่อจะได้ปรากฏพระปรีชาสามารถให้สังฆมณฑลนับถือ ฝ่ายข้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงดำริเป็นทำนองเดียวกัน จึงรับเข้าแปลพระปริยัติธรรม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ประชุมคณะพระมหาเถระผู้สอบในพระที่นั่งอมรินวินิจฉัย(๙) และเสด็จออกฟังแปลทุกวัน วันแรกแปลคัมภีร์ธรรมบท ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับสอบความรู้ชั้นประโยค ๑ ประโยค ๒ และประโยค ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลพักเดียวได้ตลอดประโยค ไม่มีพลาดพลั้งให้พระมหาเถระต้องทักท้วงเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีดำรัสว่า เห็นความรู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ธรรมบทแล้ว ไม่ต้องแปลคัมภีร์ธรรมบทส่วนประโยค ๒ และประโยค ๓ ต่อไปก็ได้ ให้แปลคัมภีร์มงคลทีปนีสำหรับประโยค ๔ ทีเดียวเถิด วันที่ ๒ เสด็จเข้าแปลประโยค ๔ และวันที่ ๓ แปลคัมภีร์บาลีมุตสำหรับประโยค ๕ นั้น เมื่อเสร็จการแปลแล้ว ปรากฏว่ากรมหมื่นรักษ์รณเรศ(๙) ซึ่งเป็นผู้กำกับกรมธรรมการ ถามพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ อันเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญพระปริยัติธรรมและได้นั่งเป็นผู้สอบอยู่ด้วย ว่า "นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็น้อยพระหฤทัย ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันนั้น ว่าที่เข้าแปลพระปริยัติธรรม ทรงเจตนาแต่จะสนองพระเดชพระคุณ หาได้ปรารถนายศศักดิ์ลาภสักการอย่างใดไม่ ได้แปลถวายทรงฟัง ๓ วันเห็นพอเฉลิมพระราชศรัทธาแล้ว ขออย่าให้ต้องแปลต่อไปเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความขุ่นหมองที่เกิดขึ้น ก็ทรงบัญชาตามพระหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค ให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา

เหตุที่หม่อมไกรสรเข้าไปเกียจกันครั้งนั้น เนื่องมาจากเรื่องเปลี่ยนรัชกาล ด้วยหม่อมไกรสรอยู่ในพวกเจ้านายที่ประสงค์จะให้ราชสมบัติพลัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปได้แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการเป็นได้ดังประสงค์แล้ว เจ้านายพระองค์อื่นก็กลับสมัครสมานอย่างเดิม แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงรังเกียจกินแหนงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอุดหนุนให้เจริญพระเกียรติในฝ่ายพุทธจักรดังกล่าวมา แต่หม่อมไกรสรยังมีทิษฐิ ถือว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะเป็นศัตรูราชสมบัติ คอยแกล้งรังเกียจกันด้วยอุบายต่างๆเพื่อจะมิให้ผู้คนนิยมนับถือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถูกหม่อมไกรสรเป็นตัวมารคอยใส่ร้ายต่างๆต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จนผลกรรมบันดาลให้ตัวเองต้องราชภัยเป็นอันตรายไปเอง

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาคันธุระผิดกับผู้อื่น ด้วยตั้งพระหฤทัยจำนงแต่จะเรียนพระพุทธศาสนาให้รอบรู้อย่างถ่องแท้ มิได้หมายจะมีตำแหน่งฐานันดรอย่างใดในสังฆมณฑล เพราะฉะนั้นเมื่อทรงทราบภาษามคธถึงสมารถจะอ่านพระไตรปิฎกเข้าพระหฤทัยได้โดยลำพังพระองค์ ก็ทรงพยายามพิจารณาหลักฐานพระพุทธศาสนาต่อมา เมื่อทรงพิจารณาถึงพระวินัยปิฎก ปรากฏแก่พระญาณว่าวัตรปฏิบัติเช่นที่พระสงฆ์ไทยประพฤติกัน เป็นแบบแผนผิดพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติอยู่มาก

ยิ่งทรงพิจารณาไปก็ยิ่งเห็นวิปลาสคลาดเคลื่อนมาช้านานแล้ว ก็เกิดวิตกในพระราชหฤทัยว่า หรือสมณวงศ์ที่สืบเนื่องมาจากพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้าจะสูญเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ดีการที่พระองค์ทรงผนวช ได้สมาทานว่าจะประพฤติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าทรงประพฤติวัตรปฏิบัติต่อไปในทางที่ผิดพระพุทธบัญญัติ เห็นว่าลาผนวชออกเป็นอุบาสกจะดีกว่า ในขณะเมื่อกำลังทรงพระวิตกดังว่ามา และยังไม่เห็นทางที่จะแก้ไข ได้กิตติศัพท์ทรงถึงพระกรรณว่ามีพระเถระมอญองค์ ๑ (ชื่อ ซาย นามฉายาว่า พุทธวงศ์) บวชมาแต่เมืองมอญ มาอยู่วัดบวรมงคลได้เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธมุนี เป็นผู้ชำนาญพระวินัยปิฎกและประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงทำวิสาสะสนทนากับพระสุเมธมุนี พระสุเมธมุนีทูลอธิบายวัตรปฏิบัติของพระมอญคณะกัลยาณีที่ท่านอุปสมบทให้ทรงทราบโดยพิศดาร

ทรงพิจารณาเห็นไม่ห่างไกลจากพระพุทธบัญญัติเหมือนอย่างวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สยามก็ทรงยินดี ด้วยตระหนักพระหฤทัยว่าสมณวงศ์ไม่สูญเสียแล้ว เหมือนอย่างทรงพระวิตกอยู่แต่ก่อน ก็ทรงเลื่อมใสใคร่จะประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ แต่มีข้อขัดข้องด้วยเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จะทรงประพฤติให้ผิดกับระเบียบแบบแผนของพระสงฆ์ในวัดนั้นก็จะเป็นการละเมิด และคนทั้งหลายอาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อไป จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ เหมือนอย่างเคยเสด็จประทับพรรษาแรกทรงผนวช เวลานั้นมีพระภิกษุหนุ่มเป็นเจ้าบ้าง เป็นลูกผู้ดีบ้างที่ได้ถวายตัวเป็นสานุศิษย์ศึกษาอยู่ในสำนักและเลื่อมใสในพระดำริอีกราว ๖ รูป ตามเสด็จอยู่วัดสมอรายก็มี อยู่วัดอื่นแต่ไปประชุม ณ วัดสมอรายก็มี จึงเริ่มเกิดเป็นคณะสงฆ์ ซึ่งแสวงหาสัมมาปฏิบัติ อันได้นามในภายหลังว่า "ธรรมยุติกา" แต่นั้นเป็นต้นมา(๑๑)

ตรงนี้จะกล่าวถึงเรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยในสมัยนั้นแทรกลงสักหน่อย มีเรื่องตำนานเล่ากันมาแต่โบราณ(จะเป็นตำนานเกิดขึ้นในเมืองมอญ หรือในเมืองไทยหาทราบไม่) ว่าเมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์เชิญพระไตรปิฎกมาจากลังกาทวีปนั้น เรือมาถูกพายุพัดพลัดกันไป เรือลำที่ทรงพระวินัยปิฎกพลัดไปเมืองมอญ และเรือที่ทรงพระสุตตันตปิฎกพลัดมาเมืองไทย ตำนานนี้อาจจะเป็นอุปมาไม่มีมูลทางพงศาวดาร แต่มีความจริงประหลาดอยู่ที่พระสงฆ์ในเมืองมอญถือพระวินัยปิฎกเป็นสำคัญ ฝ่ายพระสงฆ์ทางเมืองไทยถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ไทยชำนาญการแสดงธรรม แต่มิใคร่เอาใจใส่ในการปฏิบัติพระวินัยเคร่งครัดนัก เป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณ ใช่ว่าพระสงฆ์จะเป็นอลัชชีหรือไม่มีความรู้นั้นหามิได้ แต่มามีเสียอยู่อย่างหนึ่งที่พระสงฆ์ไทยเชื่อถือคติปัญจอันตรธานในบริเฉทท้ายคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์เกินไป

ในบริเวทนั้นอ้างว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่าเมื่อถึงกลียุค(คือยุคปัจจุบันนี้) พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเรื่อยไป สติปัญญาและความศรัทธาอุตสาหะของคนทั้งหลายก็จะเลวลงทุกที จนไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ที่สุดเมื่อพุทธศักราชใกล้จะถึงห้าพันปี แม้พระสงฆ์ก็จะมีแต่ผ้าเหลืองคล้องคอหรือผูกข้อมือไว้พอรู้ว่าเป็นพระเท่านั้น คติตามคัมภีร์นี้เป็นเหตุให้เชื่อกันว่าพระพุทธศาสนาที่เราถือกันมีแต่จะเสื่อมไปเป็นธรรมดา พ้นวิสัยที่จะคิดแก้ไขให้คืนดีได้ เมื่อเช่นนั้นก็พยายามรักษาพระธรรมวินัยมาแต่เพียงเท่าที่สามารถ จนเกิดคำพูดว่า "ทำพอเป็นกิริยาบุญ" ด้วยเชื่อคติที่กล่าวมานี้(๑๒)

แม้ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าได้มีการ "ฟื้นพระศาสนา" มาเป็นครั้งคราว เช่นทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อรัชกาลที่ ๑ นั้นก็ดี การฟื้นพระศาสนาที่ทำมานั้นเป็นแต่ฟื้นหาความรู้ หาได้ฟื้นถึงการปฏิบัติไม่ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งระเบียบวัตรปฏิบัติอย่างธรรมยุติกา จึงเป็นการฟื้นพระศาสนาส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์สยามมาแต่โบราณ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทรงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยให้สมบูรณ์ทั้งพระธรรมและพระวินัย เพราะฉะนั้นคติธรรมยุติกาที่ทรงตั้งขึ้นจึงจะดีกว่าเดิมทั้งที่พระมอญและพระไทยถือกันมาแต่ก่อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพรีจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับไปอยู่วัดราชาธิวาสนั้น พระสงฆซึ่งถือวัตรปฏิบัติอย่างธรรมยุติกามีจำนวนเพียงสัก ๒๐ รูป ตามเสด็จไปอยู่วัดราชาธิวาสบ้าง คงอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯหรืออยู่วัดอื่นบ้าง แต่เมื่อพระเกียรติคุณที่ทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก และพระปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนาเลื่องลือแพร่หลายก็มีพระภิกษุสามเณรมหานิกายพากันถวายตัวเป็นศิษย์ แล้วเลยบวชเป็นธรรมยุติกามากขึ้น และมีพวกคฤหัสพากันเลื่อมใสไปถือศีลฟังธรรมมากขึ้นโดยลำดับ จนที่วัดราชาธิวาสเกิดเป็นสำนักคณาจารย์อันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชาคณะ(๑๓)

ถึงกระนั้นที่ทรงทำความเจริญให้เกิดขึ้น ณ วัดราชาธิวาสก็เป็นเหตุให้พวกศัตรูมีจิตริษยายิ่งขึ้น ถึงกล่าวแสดงความสงสัยว่าที่คนพอใจไปวัดราชาธิวาสกันมากขึ้น เพราะประสงค์จะยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในทางการเมือง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ทรงระแวงสงสัยในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รำคาญพระราชหฤทัยที่เกิดกล่าวกันเช่นนั้นแพร่หลาย จึงตรัสปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีพิพัฒน์ ๆ กราทูลความเห็นว่า ถ้าโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาอยู่เสียใกล้ๆ ความสงสัยนั้นก็จะระงับไปเอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย

เผอิญมีกรณีเหมาะแก่พระราชประสงค์ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชาคณะแต่ยังไม่ได้ครองวัด และเวลานั้นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพทรงสร้างใหม่ที่ในพระนครว่างอยู่ จึงโปรดฯให้เลื่อนสมณศักดิ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง(๑๔) แล้วเชิญเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๗๙ เวลานั้นพระชันษาได้ ๓๒ ปี ทรงผนวชได้ ๑๒ พรรษา(๑๕)

ก่อนจะเล่าเรื่องพระราชประวัติตอนเสด็จอยู่วัดบวรนิเวศฯ จะย้อนไปกล่าวถึงเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเที่ยวธุดงค์ ในสมัยเมื่อยังประทับอยู่วัดราชาธิวาสเสียก่อน เพราะการเสด็จเที่ยวธุดงค์มามีผลเป็นคุณแก่บ้านเมืองหลายสถาน คือในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชนั้น ประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสหัวเมืองห่างจากกรุงเทพฯถึงต้องประทับแรม แม้เพียงเสด็จไปทรงบูชาพระพุทธบาทหรือไปทรงทอดกฐินหลวงถึงพระนครศรีอยุธยาเป็นต้น หยุดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ นับเวลากว่า ๓๐ ปี

เมื่อไม่มีการเสด็จพระราชดำเนิน เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครเสด็จออกไปเที่ยวหัวเมืองไกล นอกจากจำเป็นต้องไปในเวลามีราชการ เพราะเห็นเป็นการฝ่าฝืนพระราชปฏิบัติเกรงจะระแวงผิดทางการเมือง จึงอยู่กันแต่ในกรุงเทพฯเป็นพื้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นพระศาสนา ใคร่จะศึกษาธุดงควัตรให้บริบูรณ์ ทรงพระราชดำริว่าพระองค์ทรงเพศเป็นสมณะ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปบูชามหาเจดียสถานตามที่ต่างๆ ก็โปรดฯพระราชทานอนุญาตไม่ขัดขวาง จึงได้เสด็จไปตามหัวเมืองมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลนครสวรรค์ ตลอดขึ้นไปจนถึงมณฑลพิษณุโลกทางฝ่ายเหนือ ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนา และทรงทราบความทุกข์สุขของราษฎรในรหัวเมืองเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้ทรงทราบตระหนักมาแต่เมื่อเสด็จธุดงค์นั้น ว่ารัฐบาลในกรุงเทพฯมิใคร่ทราบความเป็นไปในบ้านเมืองตามที่เป็นจริง อีกสถานหนึ่งได้ทรงทราบอัชฌาศัยใจคอของราษฎรชาวเมืองที่เสด็จไป และคนเหล่านั้นเมื่อรู้จัดพระองค์ก็พากันชอบพระอัธยาศัย เกิดนิยมนับถือแพร่หลายในเหล่าประชาชนมาแต่ชั้นนั้น

ยังอีกสถานหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญเกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปธุดงค์ คือ ได้ไปทอดพระเนตรเห็นโบราณวัตถุเช่นศิลาจารึกเป็นต้น กับทั้งโบราณสถานที่มีแบบอย่างต่างๆกันตาสมั ก็เกิดใฝ่พระหฤทัยการศึกษาโบราณคดีของประเทศสยามโดยทางวิทยาศาสตร์ เหมือนอย่างทรงนำทางให้ผู้อื่นทั้งไทยและฝรั่งนิยมศึกษาตามเสด็จต่อมา ความรู้โบราณคดีของประเทศสยามจึงได้เจริญแพร่หลาย แม้จนทุกวันนี้ใครจะศึกษาโบราณคดีของประเทศสยาม ก็ยังได้อาศัยพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้แทบทุกคน

เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศฯนั้น ดูทรงระวังมากที่จะมิให้โทมนัสน้อยพระหฤทัย เป็นต้นว่า เมื่อแห่เสด็จมาจากวัดราชาธิวาสตามประเพณีแห่พระราชคณะไปครองวัดนั้น โปรดฯให้จัดกระบวนเหมือนอย่างแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯให้สร้างตำหนัก(หลังที่เรียกว่า "พระปันยา") กับท้องพระโรงให้เสด็จอยู่เป็นผาสุก และทรงทำนุบำรุงด้วยประการอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก(๑๖) ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระหฤทัย

ที่ได้เสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศฯด้วยเหตุหลายสถาน เพราะเมื่อเสด็จประทับอยู่ที่วัดราชาธิวาส วัดนั้นมีพระราชาคณะและพระสงฆ์มหานิกายปกครองมาแต่เดิม ทรงจัดวางระเบียบธรรมยุติกาได้สะดวกเพียงวัตรปฏิบัติส่วนตัวพระภิกษุ แต่จะจัดต่อขึ้นไปถึงระเบียบสงฆ์เช่นทำสังฆกรรมเป็นต้นยังขัดข้อง เพราะอยู่ปะปนกับพระสงฆ์ต่างสังวาสกัน ที่สุดพระธรรมยุติกาที่มีขึ้นก็ยังต้องแยกกัยอาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ เพราะเสนาสนะไม่พอจะอยู่ที่วัดราชาธิวาสได้หมด เสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศฯได้ทรงครองวัด สามารถรับพระสงฆ์ธรรมยุติกามาอยู่ในวัดเดียวกัน ทั้งพระบวชใหม่ก็บวชเป็นธรรมยุติกาทั้งนั้น ในไม่ช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศฯก็เป็นธรรมยุติกาทั้งหมด จึงทรงจัดวางระเบียบการคณะสงฆ์และการปกครองวัด ตลอดจนการสั่งสอนสัปบุรุษให้บริบูรณ์ตามคติธรรมยุติกาได้ดังพระราชประสงค์

แต่ความเดือดร้อนรำคาญก็เกิดขึ้นหลายอย่าง เพราะเสด็จเข้ามาอยู่ใกล้ หม่อมไกรสรพยายามทำร้ายหนักขึ้น จนถึงสาเหตุให้สึกพระสุเมธมุนีที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเบียดเบียนด้วยประกาต่างๆ แม้จนแกล้งใส่บาตรพระธรรมยุติกาด้วยข้าวต้มให้ร้อนมือที่อุ้มบาตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงรับความเจ็บช้ำระกำพระราชหฤทัยมาตลอดอายุของหม่อมไกรสร แต่ก็ไม่ทรงยอมหย่อนพระอุตสาหะในการฟื้นพระศาสนา ด้วยทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ จึงสามารถแสดงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุติกาได้โดยเปิดเผย

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ พอทรงวางระเบียบนิกายธรรมยุติกาสำเร็จแล้ว ก็ทรงพยายามฟื้นการศึกษาพระปริยัติธรรมต่อมาทรงพระราชดำริแก้ไขวิธีเรียน ซึ่งแบบเดิมใช้เรียนภาษามคธกับพระธรรมวินัยไปด้วยกันตามคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักสูตรสำหรับสอนเป็นลำดับขึ้นไป ทรงเปลี่ยนเป็นให้เรียนเป็น ๒ ชั้น ต้นเรียนแต่ไวยกรณ์ขึ้นไปจนจบคัมภีร์มงคลทีปนี กวดขันให้รู้ภาษามคธไปจนแตกฉานเสียก่อน แล้วจึงให้ศึกษาหาความรู้พระธรรมวินัยด้วยอ่านคัมภีร์อื่นๆต่อไปเป็นชั้นหลัง ด้วยวิธีนี้นักเรียนสำนักวัดบวรนิเวศฯจึงรู้ภาษามคธเชี่ยวชาญถึงสามารถพูดภาษานั้น(๑๗) และใช้หนังสืออรรถเทศน์ได้โดยสะดวก เมื่อเข้าแปลพระปริยัติธรรมก็ได้เป็นเปรียญประโยคสูงมากกว่าสำนักอื่นๆ เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานกฐิน ทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์วัดบวรฯเป็นเปรียญมาก ตรัสปราศรัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ถ้าวัดของชีต้นเป็นเปรียญทั้งวัดก็จะดีทีเดียว"

เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถจัดบำรุงการเล่าเรียนได้รุ่งเรืองเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้มาตำแหน่งในคณะมหาเถระผู้สอบปริยัติธรรมในสนามหลวง แต่เผอิญไปเกิดโต้แย้งกับพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ(องค์ที่ออกนามมาในตอนที่ทรงแปลพระปริยัติธรม) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่แต่ก่อน เรื่องที่เกิดโต้แย้งนั้นเล่ากันมาว่า พระมหาผ่อง(ภายหลังได้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมภาณพิลาศ อยู่วัดประยูรวงศ์) แปลความแห่งหนึ่งว่า "ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย นิสีทถ จงนั่ง อาสเน ในอาสนะ" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดที่แปลศัพท์ อาสเน ว่า "ในอาสนะ" พระมหาผ่องแปลใหม่ว่า อาสเน "เหนืออาสนะ" พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด แต่พระพุทธโฆษาจารย์ติว่าไม่ถูก พระมหาผ่องก็ไม่รู้ที่จะแปลว่ากระไร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า พระมหาผ่องจะตกจึงตรัสขึ้นว่า "นั่งในอาสนะนั้นนั่งอย่างไร จะฉีกอาสนะออกแล้วเข้าไปนั่งในช่องที่ฉีก หรือจะเอาอาสนะขึ้นคลุมตัวไว้ในนั้น" พระพุทธโฆษาจารย์โกรธบังอาจกล่าวคำหยาบช้าต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ตรัสสั่งห้ามมิให้นิมนต์พระพุทธโฆษาจารย์เข้าราชการอีก และทรงมอบการสอบพระปริยัติธรรมเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่นั้นมาจนตลอดรัชกาล(๑๘)

แต่เรื่องเนื่องด้วยพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม)ยังไม่หมดเพียงนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชย์ พระพุทธโฆษาจารย์เกรงว่าจะถูกถอดจากราชาคณะ ด้วยทรงอาฆาต ถึงเตรียมตัวจะกลับไปอยู่เมืองเพชรบุรีถิ่นเดิม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงพระกรุณาโปรดฯให้พ้นโทษ ตรัสยกย่องว่าพระพุทธโฆษาจารย์ชำนาญพระปริยัติธรรมมาก ให้เลื่อนฐานันดรขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตำแหน่งเจ้าคณะกลางมาครองวัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม)ก็เกิดเลื่อมใสในพระคุณธรรมที่ไม่ทรงพยาบาทว่าพระองค์ทรงเป็นบัณฑิตย์โดยแท้ จึงแต่งคาถาถวายพรอันขึ้นด้วยบทว่า "ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ มงฺคลตฺถายภสิตํ" ถวายสนองพระเดชพระคุณ(๑๙) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชอบพระราชหฤทัยจึงโปรดฯให้พระสงฆ์สวดคาถานั้นข้างท้ายพระปริต ยังสวดมาจนทุกวันนี้

ความเจริญที่เกิดขึ้นในสำนักวัดบวรนิเวศฯครั้งนั้นกิตติศัพท์ระบือไปถึงลังกาทวีป ว่าพระวชิรญาณ(๒๐) มหาเถระอันเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระธรรมิกราชพระเจ้าแผ่นดินได้ฟื้นพระธรรมวินัยให้รุ่งเรืองขึ้นในประเทศสยาม ถึงคณะสงฆ์ในลังกาแต่งสมณทูตให้เข้ามาสืบข่าวพระศาสนา(๒๑) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบการรับสมณทูตลังกาครั้งนั้นให้เป็นธุระของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อาศัยเหตุที่ทรงวิสาสะกับพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาครั้งนั้น ทรงทราบเบาะแสซึ่งจะหาคัมภีร์พระไตรปิฎกอันขาดฉบับอยู่เมื่อครั้งทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ จึงทูลความแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดฯให้ทรงจัดสมณทูต มีพระปลัดสังข์ วัดบวร(ซึ่งมีนามฉายาว่า สุภูติ) กับพระปลัดเกิด วัดบรมนิวาส(ซึ่งมีนามฉายาว่า อมโร)(๒๒) อันเป็นเปรียญธรรมยุติกา ๙ ประโยคทั้ง ๒ องค์เป็นหัวหน้า ออกไปยังลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ เป็นการไปเยี่ยมตอบและไปเสาะหาคัมภีร์พระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง ต่อมาให้พระปลัดสังข์ออกไปหาพระไตรปิฎกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ อีกครั้งหนึ่ง ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งยังขาดฉบับมาเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก พระไตรปิฎกในประเทศสยามจึงมีบริบูรณ์แต่นั้นมา

ตั้งแต่มีสมณทูตเข้ามาแล้ว ต่อมาก็มีชาวลังกาทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ไปมทาติดต่อกับสำนักบวรนิเวศฯมิใคร่ขาด จนที่สุดเมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ชาวลังกาทูลขอให้ส่งคณะสงฆ์ออกไปอุปสมบทตั้งวงศ์ธรรมยุติกาที่ในลังกาทวีป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระอโนมมุนี(ศรี ซึ่งภายหลังได้เป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ อยู่วัดประทุมคงคา) นำคณะสงฆ์ออกไปลังกาทวีปอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่การที่จะตั้งวงศ์ธรรมยุติกาหาสำเร็จตามประสงค์ไม่ เพราะพระสงฆ์ลังกาเกิดเกี่ยงแย่งกันเอง ด้วยพวกนิการอุบาลีวงศ์ (เรียกในลังกาอีกอย่างหนึ่งว่า สยามวงศ์) อ้างว่าเป็นของพระสงฆ์ไทยอยู่แล้ว ฝ่ายพวกนิกายพม่าซึ่งเรียกว่า มรัมวงศ์ ก็อ้างว่าพรสงฆ์ธรรมยุติการับอุปสมบทจากนิกายรามัญร่วมสมณวงศ์กับตนอยู่แล้ว ทั้งสองฝ่ายไม่ปองดองกัน การที่จะตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกาในลังกาทวีปจึงไม่สำเร็จ(๒๓)

เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาฝรั่ง ปรากฎว่าเริ่มทรงศึกษาภาษาละตินก่อน ด้วยเมื่อเสด็จประทับอยู่วัดราชธิวาส เขตวัดติดต่อกับวัดคอนเซปชั่น Immaculate Conceptiovn Church ของพวกโรมันคาทอลิก และเวลานั้นสังฆราชปาลกัวต์ยังเป็นบาทหลวงอธิการของวัดนั้นชอบไปเฝ้าทูลถามภาษาและขบนธรรมเนียมไทยเนืองๆจนทรงคุ้นเคย จึงโปรดฯให้สอนภาษาละตินถวายเป็นทำนองแลกเปลี่ยนความรู้กั จะได้ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลาสักเท่าใดและถึงเพียงไหนก็ไม่ปรากฎ แต่สังเกตในลายพระราชหัตถเลขาเมื่อเสวยราชย์แล้ว มักทรงใช้ศัพท์ภาษาละตินเนืองๆ เห็นได้ว่าทรงทราบไวยกรณ์ของภาษานั้น แต่การที่ทรงศึกษาภาษาละตินคงหยุดเมื่อเสด็จย้ายจากวัดราชาธิวาส แต่ภาษาอังกฤษยนั้นเสด็จกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศฯแล้วหลายปี จึงได้เริ่มทรงศึกษาต่อมิชชั่นนารีอเมริกัน


..............................................................................................................................................................




 

Create Date : 30 มีนาคม 2550   
Last Update : 30 มีนาคม 2550 14:32:46 น.   
Counter : 2598 Pageviews.  


ตอนที่ ๔ เรื่องเมื่อเปลี่ยนรัชกาล


พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร



..............................................................................................................................................................



เมื่อทูลกระหม่อมสวรรคต ทั้งครัวเรือนของฉันรู้สึกกันเหมือนกับคนเรือแตกกลางทะเล หมดความรู้สึกและสิ้นความคิดที่จะทำอย่างไร พากันงงไปทั้งนั้น เห็นจะเป็นด้วยเหตุนั้นฉันจึงจำอะไรในตอนนั้นมิใคร่ได้ จำได้แต่ขึ้นไปถวายน้ำสรงพระศพดังเล่ามาแล้ว กับจำได้ว่าเห็นแม่และใครๆทั้งผู้ชายผู้หญิงพากันโกนหัวทั่วไปหมด(๑) แปลกตาจนตกใจ แต่ตัวฉันไม่ต้องโกนเพราะเด็กไว้ผมจุกกับจีนไว้เปียไม่ต้องโกนหัวไว้ทุกข์ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสวรรคต นอกจากนั้นยังจำได้อีกเรื่องหนึ่ง เมื่อทูลกระหม่อมสวรรคตแล้วไม่ช้านัก มีเจ้าหน้าที่พระคลังในมาตรวจสมบัติ ว่าเงินทองที่ทูลกระหม่อมพระราชทานฉันนั้นยังอยู่บริบูรณ์ดีหรืออย่างไร ตรวจเช่นนั้นทุกพระองค์ ปรากฎว่าแม่รักษาสมบัติของฉันไว้บริบูรณ์ครบครัน จนคุณท้าวที่มาตรวจออกปากชม นอกจากที่เล่ามาเรื่องอะไรอีกที่จำได้เองในสมัยนั้นนึกไม่ออก แต่มีเรื่องที่มาได้ยินจากท่านผู้อื่นเมื่อภายหลัง เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฟังเป็นต้น กับทั้งที่ได้อ่านหนังสือจดหมายเหตุต่างๆเมื่อเป็นผู้ใหญ่ ได้ทราบเรื่องสำคัญในทางพงศาวดารตอนเปลี่ยนรัชกาลใหม่ครั้งนั้นอีกบ้าง คล้ายกับมาจำได้เมื่อภายหลัง จึงเขียนลงไว้ในหนังสือนี้ด้วย

จะเล่าเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับรัชทายาทก่อน เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ ๒ ก็เหมือนกับเป็นรัชทายาทจนเสด็จสวรรคตเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ตั้งแต่นั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(ก็เสด็จขึ้นสู่ฐานะเป็นรัชทายาทตามราชประเพณี เพราะเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่(๒) แต่ในเวลานั้นยังทรงพระเยาว์ พระชันษาได้เพียง ๑๓ ปี จึงเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระวิตก ด้วยพระองค์ทรงพระชราพระชันษากว่า ๖๐ ปีแล้ว ถ้าหากเสด็จสวรรคตไปโดยด่วน สมเด็จพระราชโอรสจะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินในเวลายังทรงพระเยาว์เห็นว่าจะเป็นการเสี่ยงภัยใหญ่หลวง ด้วยตัวอย่างที่เคยมีในพงศาวดาร พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์เป็นอันตรายด้วยถูกชิงราชสมบัติทุกพระองค์ ไม่มีพระองค์ใดที่ได้อยู่ยั่งยืนสักพระองค์เดียว

จึงทรงยับยั้งไม่ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชโอรสเป็นที่รัชทายาท ตั้งพระราชหฤทัยว่าเมื่อพระราชโอรสเจริญพระชันษาครบ ๒๐ ปี(ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖)ได้ทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณีแล้ว จะมอบเวนราชสมบัติพระราชทานส่วนพระองค์เองจะเสด็จออกเป็น "พระเจ้าหลวง"(๓) เป็นที่ปรึกษาประคับประคองสมเด็จพระราชโอรสไปจนตลอดพระชนมายุของพระองค์ ด้วยเหตุนั้นจึงโปรดฯให้สร้างวังสราญรมย์เพื่อเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จออกจากราชสมบัติ และเอาเป็นพระราชภาระทรงฝึกสอนราชศาสตร์แก่สมเด็จพระราชโอรสเองอย่างกวดขันตั้งแต่ปีฉลูมา แต่ในระหว่างนั้นปรากฏความนิยมของคนทั้งปวงแพร่หลาย แม้จนพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศก็ถือว่าสมเด็จพระราชโอรสจะเป็นรัชทายาท(๔) เหตุที่จะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติไม่น่าจะเป็นได้เหมือนเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยา

ถึงกระนั้นก็ยังทรงพระวิตกด้วยมีความลำบากอย่างอื่นอยู่อีก คือ ถ้าสมเด็จพระราชโอรสต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินก่อนพระชันษา ๒๐ ปีทรงว่าราชการแผ่นดินแทนองค์ อันไม่เคยมีแบบอย่างในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่ประมาท จึงทรงพระราชดำริเตรียมการเผื่อจะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (Regent) ด้วย ก็ในเวลานั้นเห็นชัดว่ามีแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์คนเดียวซึ่งทรงความสามารถอาจเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ จึงตรัสปรึกษาพระราชปรารภกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ฝ่ายเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นว่าถ้าตัวท่านต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็ต้องอยู่ในที่ยากยิ่ง ด้วยจะถูกคนทั้งหลายสงสัยว่าจะชิงราชสมบัติเหมือนอย่างพระเจ้าปราสาททอง

เพราะมีเรื่องในหนังสือพงศาวดาร ว่าเมื่อครั้งพระเจ้าทรงธรรมจะสวรรคต(ใน พ.ศ. ๒๑๗๑)ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระเชษฐาธิราช โอรสพระองค์ใหญ่พระชันษาได้ ๑๔ ปี ให้เจ้าพระยากลาโหมศรีวรวงศ์(๕)อันเป็นพระญาติเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน อยู่มาเจ้าพระยากลาโหมทำการปลงศพมารดาที่วัดกุฏิ พวกข้าราชการพากันไปช่วยงานจนไม่มีใครเข้าเฝ้าเวลาเสด็จออกจากท้องพระโรง พวกข้าหลวงเดิมทูลยุยง สมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงเชื่อว่าเจ้าพระยากลาโหมคิดกบฏ ตรัสสั่งให้เรียกตัวจะชำระลงโทษ เจ้าพระยากลาโหมก็เลยเป็นกบฏจับสมเด็จพระเชษฐาธิราชปลงพระชนม์แล้วชิงเอาราชสมบัติ

เรื่องเผอิญคล้ายกับพฤติการณ์ในรัชกาลที่ ๔ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงหวาดหวั่นชั้นแรกถึงกราบทูลขอตัว แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชี้แจงให้เห็นความจำเป็น ไม่อาจปฏิเสธได้จึงคิดหาอุบายป้องกันตัวท่านด้วยยกเอาเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยสงสัยว่าตัวท่านจะชิงราชสมบัติอ้างเป็นเหตุกราบทูลว่า ถ้าจะโปรดให้ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเช่นนั้น ขอให้ทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะเป็นลูกเธอพระองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พวกข้าราชการวังหน้าจะได้พอใจไม่กระด้างกระเดื่อง ก็จะเป็นเครื่องป้องกันมิให้คนทั้งหลายสงสัยตัวท่านว่าจะชิงราชสมบัติด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยั่งทราบความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าประสงค์จะให้มีวังหน้าขึ้นสำหรับกีดขวางวังหลวง ตัวท่านจะได้มั่นคงด้วยจำต้องอาศัยท่านทั้ง ๒ ฝ่าย ไม่ทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย แต่จะขัดขวางก็ไม่ทรงเห็นประโยชน์เพราะไม่มีตัวผู้อื่นที่จะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ ถ้าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินคงจะทำตามชอบใจ

อีกประการหนึ่งในเวลานั้นก็เป็นแต่ปรึกษาเผื่อว่า สมเด็จพระราชโอรสจะต้องเสวยราชย์แต่ก่อนพระชันษาครบ ๒๐ ปี หรือถ้าว่าอย่างหนึ่ง คิดสำหรับกรณีที่อาจจะเกิดขึ้นภายในระยะเวลาชั่ว ๗ ปีเท่านั้น ถ้าพระองค์ดำรงพระชนม์อยู่จนปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เหตุที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและปัญหาเรื่องตั้งกรมพระราชวังบวรฯ ก็จะระงับไปเอง แต่ถึงกระนั้นเมื่อได้ทรงทราบความคิดของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็ไม่วางพระราชหฤทัยว่าสมเด็จพระราชโอรสจะได้เสวยราชย์โดยมั่นคง จึงเป็นแต่โปรดฯให้เลื่อนกรมเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ยังไม่ประกาศตั้งเป็นรัชทายาท

เผอิญล่วงมาปีหนึ่งถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ประชวร เมื่อตระหนักพระราชหฤทัยว่าจะเสด็จสวรรคตก็ยิ่งทรงพระวิตกถึงเรื่องรัชทายาท เห็นจะทรงพระราชดำริว่าถ้าตรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติแก่พระราชโอรส และตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็ต้องตรัสสั่งตั้งกรมพระราชวังบวรวิชชัยชาญเป็นพระมหาอุปราช อันเป็นการทำผิดราชประเพณี เพื่อประโยชน์สำหรับตัวเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้อื่นคงไม่พอใจกันมาก แต่ถ้าไม่ทรงตั้งกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็จะคิดอ่านตั้งเอาตามชอบใจจะเลยลำบากถึงสมเด็จพระราชโอรสเมื่อเสวยราชย์ ด้วยเหตุนี้ในเรื่องรัชทายาทจึงพระราชทานอนุญาตให้พระราชวงศ์และเสนาบดีปรึกษาถวายพระราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งแล้วแต่จะเห็นพร้อมกัน ด้วยทรงพระราชดำริว่าถ้าพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระราชโอรสก็จะได้เสวยราชย์โดยมั่นคง ดังปรากฏในจดหมายเหตุเมื่อประชวร ดังนี้

"มีพระราชดำรัส(แก่กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัย)ต่อไป ว่ามีพระราชประสงค์จะตรัสด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีล(แสดงความสัตย์สุจริต)เสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้ว ตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาษาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าสติสัมปชัญญะยังเป็นปกติ ถึงภาษาอื่นมิใช่ภาษาของตนก็ยังทรงจำได้ด้วยสติยังดีอยู่ ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่ามิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้วจึงมีพระราชดำรัสต่อไป

ว่าท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมาจนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้วขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อย ให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎรได้พึ่งอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้เอาพระราชธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อน ให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระราชธุระรับฎีกามาแต่ก่อน
(๖)

อนึ่ง ผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมราชวงศ์ไปภายหน้านั้น ให้ปรึกษากันเลือกดูแต่ที่สมควร จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอหรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาพร้อมกันว่าพระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็จงยกย่องพระองค์นั้นขึ้น จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดินให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการและอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าได้หันเหียนเอาความว่าจะชอบพระราชหฤทัยเป็นประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด"

ความที่กล่าวมาตอนนี้ เป็นมูลของเรื่องการปรึกษาถวายราชสมบัติที่จะเล่าต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเวลา ๑๕ นาฬิกา พอเวลาเที่ยงคืนก็มีการประชุมพระราชวงศ์กับเสนาบดีและข้าราชการผู้ใหญ่ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และนิมนต์พระสงฆ์ผู้ใหญ่ ๒๕ รูป มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์(คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)ที่สังฆนายกเป็นประมุข กับทั้งพระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชั้นใหญ่ ๗ พระองค์ ซึ่งทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ทั้งนั้น มานั่งเป็นสักขีพยานด้วย(๗) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นประธานลุกขึ้นคุกเข่าประสานมือกล่าวในท่ามกลางที่ประชุมเนื้อความว่า

ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแผ่นดินว่างอยู่ การสืบพระบรมราชสันตติวงศ์ตามราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนนั้น เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจะเสด็จสวรรคต ได้ทรงมอบราชสมบัติพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจะสวรรคตไม่ได้ทรงสั่งมอบราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใดด้วยอาการพระโรคตรัสสั่งไม่ได้ เสนาบดีจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคต มีรับสั่งคืนราชสมบัติแก่เสนาบดีตามแต่จะปรึกษากัน ให้เจ้านายพระองค์ใดเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระราชวงศ์และเสนาบดีปรึกษากันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอยู่นั้น ได้มีรับสั่งให้หากรมหลวงวงศาธิราชสนิท กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูราภัยเข้าไปเฝ้า พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ว่าผู้ที่จะดำรงรักษาแผ่นดินต่อไปนั้น ให้พระราชวงศ์และข้าราชการปรึกษาหารือกัน สุดแต่จะเห็นพร้อมกันว่าพระเจ้าน้องยาเธอ หรือพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานเธอพระองค์ใดจะทรงสามารถปกครองให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์นั้น พระองค์มิได้ทรงรังเกียจ บัดนี้ท่านทั้งหลายบรรดาอยู่ในที่ประชุมนี้จะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใดสมควรจะทรงปกครองแผ่นดินได้ก็ให้ว่าขึ้นในท่ามกลางประชุม อย่าได้มีความหวาดหวั่นเกรงขามเลย

ขณะนั้นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ซึ่งมีพระชนมายุยิ่งกว่าพระราชวงศานุวงศ์ทั้งปวง จึงเสด็จลุกคุกพระชงฆ์ประสานพระหัตถ์ตรัสขึ้นในท่ามกลางประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระเดชพระคุณได้ทำนุบำรุงเลี้ยงพระบรมวงศานุวงศ์และมุขมนตรีผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงมาเป็นอันมาก พระคุณเหลือล้น ไม่มีสิ่งใดจะทดแทนให้ถึงพระคุณได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินเหมือนหนึ่งได้ทดแทนพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เมื่อกรมหลวงเทเวศรฯ ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงถามที่ประชุมเรียงตัว แต่ส่วนพระสงฆ์นั้นถามเฉพาะกรมหมื่นบวรรังษีฯพระองค์เดียว ถามตั้งแต่กรมหลวงวงศาฯเป็นต้นมา ทุกคนประสานมือยกขึ้นรับว่า สมควรแล้ว เมื่อเห็นชอบพร้อมกันแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดชยันโตและถวายอติเรก

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวต่อไปในที่ประชุมว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรอยู่นั้น ท่านได้กราบทูลฯให้ทรงทราบว่า ปรึกษากันว่าจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าทรงพระวิตกอยู่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังทรงพระเยาว์ จะไม่สามรถว่าราชการแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขได้ดังสมควร ข้อที่ทรงพระปริวิตกเช่นนี้จะคิดอ่านกันอย่างไร

กรมหลวงเทเวศรฯ ตรัสว่าขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปนจกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯจะทรงพระผนวช(๘) เจ้าพระศรีสุริยวงศ์ถามความข้อนี้แก่ที่ประชุมก็ให้อนุมัติเห็นชอบพร้อมกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่า ส่วนตัวท่านเองนั้นจะรับสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องการพระราชพิธีต่างๆท่านไม่สู้เข้าใจ ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในส่วนการพระราชนิเวศน์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง ในที่ประชุมอนุมัติเห็นชอบด้วย

เมื่อเสร็จการปรึกษาตอนถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานารถแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวขึ้นอีก ว่าแผ่นดินที่ล่วงมาแล้วแต่ก่อนๆมา มีพระมหากษัตริย์แล้วก็ต้องมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน ครั้งนี้ที่ประชุมจะเห็นควรมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วยหรือไม่

กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ เสด็จลุกคุกพระชงฆ์ประสานพระหัตถ์ตรัสว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระเดชพระคุณมาทั้ง ๒ พระองค์ ควรจะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกกรมหมื่นวิชัยชาญพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้เป็นความยินดีของพวกวังหน้าด้วย

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามที่ประชุมเรียงตัวไปดังแต่ก่อน โดยมากรับว่า "สมควร" หรืออนุมัติโดยไม่คัดค้าน แต่กรมขุนวรจักร์ฯตรัสขึ้นว่า "ผู้ที่จะเป็นตำแหน่งพระราชโองการมีอยู่แล้ว ตำแหน่งพระมหาอุปราชนั้นควรแล้วแต่พระราชโองการจะทรงตั้ง เห็นมิใช่กิจของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช" เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ซักไซ้กรมขนวรจักร์ฯว่าเหตุใดจึงขัดขวาง กรมขุนวรจักร์ฯทรงชี้แจงต่อไปว่าเห็นราชประเพณีเคยมีมาแต่ก่อนเป็นเช่นนั้น ครั้งรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จปราบดาภิเษก ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นกรมพระราชวังบวร ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตั้งกรมหมื่นศักดิพลเสพเป็นกรมพระราชวังบวร มาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงตั้งสมเด็จพระอนุชาราชเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าแผ่นดินเคยทรงตั้งมาทุกรัชกาลจึงเห็นว่า มิใช่หน้าที่ของที่ประชุมจะเลือกพระมหาอุปราช เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขัดเคือง ว่ากล่าวบริภาษกรมขุนวรจักร์ฯต่างๆลงที่สุดทูลถามว่า "ที่ไม่ยอมนั้น อยากจะเป็นเองหรือ" กรมขุนวรจักร์ฯจึงตอบว่า "ถ้าจะให้ยอมก็ต้องยอม" การก็เป็นตกลง เป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจะเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงอาราธนาพระสงฆ์สวดชยันโตและอติเรกอีกครั้งหนึ่ง

เจ้าพระศรีสุริยวงศ์กล่าวในที่ประชุมต่อไปว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชการแผ่นดิน ด้วยได้เคยทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึง ๒ แผ่นดิน ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์สำเร็จราชการพระคลังมหาสมบัติและพระคลังต่างๆ และสำเร็จราชการในพระราชสำนักและเป็นผู้อุปถัมภ์ส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย ที่ประชุมก็เห็นชอบพร้อมกัน เสร็จการประชุมเวลาราว ๑ นาฬิกา

รุ่งขึ้นวันศุกร์ที่ ๒ ตุลาคม จะทรงสักการะพระบรมศพตามราชประเพณี เวลานั้นสมเด็จพระ(จุลจอมเกล้า)เจ้าอยู่หัวกำลังทรงอ่อนเพลียมากด้วยประชวรมากว่าเดือน(๙) และซ้ำทรงประสบโศกศัลย์สาหัส ไม่สามารถจะทรงพระดำเนินได้ต้องเสด็จขึ้นพระเก้าอี้หามขึ้นไปจนบนที่นั่งภานุมาศจำรูญที่สรงพระบรมศพ พอทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้แต่ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมแล้วก็สลบนิ่งแน่ไป หมอประจำพระองค์แก้ไขฟื้นคืนสมปฤดีแต่พระกำลังยังอ่อนนัก ไม่สามารถจะเคลื่อนพระองค์จากเก้าอี้ได้ จึงตรัสขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า กรมขุนบำราบปรปักษ์ ถวายน้ำสรงพระบรมศพแทนพระองค์

ขณะนั้นเจ้านายผู้ใหญ่เห็นว่าจะให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่นต่อไปพระอาการประชวรจะกำเริบขึ้น จึงสั่งให้เชิญเสด็จไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งได้จัดห้องในพระฉากข้างด้านตะวันออกไว้เป็นที่ประทับระหว่างเวลากว่าจะได้ทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร(๑๐) ทางโน้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์สรงน้ำทรงเครื่องพระบรมศพแล้วเชิญพระโกศไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ในเวลาพระบรมศพประดิษฐานอยู่ ณ พระมหาปราสาทแต่ปีมะโรงจนถึงปีมะเส็งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณที่หน้าพระบรมศพแล้วเลยเสด็จออกขุนนางที่พระมหาปราสาทเช้าครั้ง ๑ ค่ำครั้ง ๑ ทุกวัน เจ้านายก็ต้องไปเฝ้าที่พระมหาปราสาท เจ้านายที่ยังเป็นเด็กชั้นเล็กมักไปทางข้างในกับเจ้าจอมมารดา ชั้นกลางมักชอบตามเสด็จทางข้างหน้า และมีหน้าที่ทอดผ้าสดับปกรณ์รายร้อยกับถวายเทียนพระสงฆ์เมื่อเสร็จพิธีเวลาค่ำเสมอ ในตอนแรกเสวยราชย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพิ่งฟื้นจากอาการประชวร ยังปลกเปลี้ยทรงพระดำเนินไม่ได้ไกล ต้องทรงพระราชยาน และให้ทอดสะพานบนขั้นบันไดหามพระราชยานขึ้นไปจนบนพระมหาปราสาทอยู่หลายวันจึงทรงพระราชดำเนินได้สะดวก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสเล่าเรื่องเมื่อครั้งนั้นเรื่อง ๑ ซึ่งควรรักษาไว้มิให้สูญเสียเล่าที่ตรงนี้ก็เหมาะดี คืนวันสรงน้ำพระบรมศพ เมื่อพระองค์ทรงพระเก้าอี้ ผ่านไปในห้องพระฉนวนพระอภิเนาวนิเวศน์อันภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยคอยเผ้าอยู่ เวลานั้นแม้ยังทรงปลกเปลี้ยมากแต่ได้พระสติแล้ว ได้ยินท่านผู้หญิงพัน ภรรยาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์พูดขึ้นเมื่อเสด็จผ่านพอพ้นไปว่า "พ่อคุณ นี่พ่อจะได้อยู่สักกี่วัน" ตรัสเล่าเรื่องนี้ท่านผู้หญิงพันถึงอนิจกรรมในเวลาสิ้นบุญวาสนาแล้วช้านาน ด้วยทรงปรารภจะเสด็จไปเผาศพท่านผู้หญิงพันเหมือนอย่างทูลกระหม่อมเสด็จไปเผาศพหม่อมเจ้าทินกร(เสนีวงศ์)

เรื่องของหม่อมเจ้าทินกรนั้นเกิดเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ เพราะคนมักอยากรู้กันว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือไม่ หม่อมเจ้าทินกรเป็นผู้รู้ตำหมอดูพยากรณ์ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยพระชันษาจะสั้น ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงนำพา ครั้นเสด็จเสวยราชย์ก็ทรงชุบเลี้ยงหม่อมเจ้าทินกรตลอดมาจนสิ้นชีพตักษัย ก็การปลงศพหม่อมเจ้านั้น แต่ก่อนมาไม่มีประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพ เป็นแต่ทรงจุดเทียนให้ข้าราชการเอาเพลิงกับเครื่องขมาศพไปพระราชทาน วันจะปลงศพหม่อมเจ้าทินกรนั้น เจ้าพนักงานเอาศิลาหน้าเพลิงกับพานเครื่องขมาศพเข้าไปตั้งถวายสำหรับทรงสับศิลาหน้าเพลิง และทรงจบเครื่องขมาตามธรรมเนียม พอพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นกระดาษบอกนามศพหม่อมเจ้าทินกรที่พานเครื่องขมา ก็ตรัสสั่งให้เรียกเรือพระที่นั่งในทันที เสด็จข้ามไปยังเมรุที่วัดอมรินทร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแล้วเมื่อจะพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าทินกรด้วยพระหัตถ์ ตรัสว่า "เจ้าทินกร แกตายก่อนข้านะ" ดังนี้ เมื่อพระราชทานเพลิงแล้วตรัสไต่ถามครอบครัวของหม่อมเจ้าทินกรได้ความว่าลูกหลานไม่มีที่พึ่งอยู่หลายคน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ลูกเข้ารับราชการ ส่วนหลานชายที่เป็นเด็กอยู่สองคน โปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำนุบำรุง คนหนึ่งชื่อ ปลื้ม ต่อมาได้เป็นนายร้อยเอกหลวงวิชิตชาญศึก แต่ถึงแก่กรรมเสียแล้ว อีกคนหนึ่งชื่อ แปลก ได้เป็นที่พระยาสากลกิจประมวลในกรมแผนที่ ยังมีชีวิตอย่ในเวลาเมื่อฉันแต่งหนังสือนี้

แต่การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงพันนั้น หาสำเร็จดังพระราชประสงค์ไม่ ด้วยปลงศพในเวลาประพาสอยู่ในยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพแล้ว ประทับแรมอยู่ในพระฉากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยกว่าเดือน จึงถึงฤกษ์ทำพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน) รายการพระราชพิธีเป็นอย่างไร ฉันจำได้เป็นอย่างรางๆ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเล่าในหนังสือนี้ เพราะทำตามแบบแผนซึ่งมีตำราอยู่ เมื่อทำพิธีบรมราชภิเษกแล้วท่านผู้ใหญ่ในราชการบ้านเมืองก็ปรึกษากันตั้งระเบียบวิธีว่าราชการแผ่นดิน เพราะการที่ผู้อื่นว่าราชการแทนพระเจ้าแผ่นดินเมื่อยังทรงพระเยาว์ไม่มีแบบแผนมาแต่ก่อนจะต้องคิดขึ้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะปรึกษาใครบ้าง นอกจากสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนักหาปรากฎไม่

แต่ระเบียบที่ตั้งครั้งนั้นเมื่อมาพิจารณาดูภายหลังเห็นว่าน่าสรรเสริญความคิดยิ่งนัก ด้วยถือเอาความข้อสำคัญตั้งเป็นหลัก ๒ อย่าง คือ ที่ให้การบังคับบัญชาข้าราชการบ้านเมืองเป็นไปด้วยปรึกษาหารือพร้อมเพรียงกัน ไม่เอาอำนาจไว้แต่ในตัวผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอย่าง ๑ กับฝึกหัดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสามารถว่าราชการบ้านเมืองได้เองอย่าง ๑ เลือกเอาประเพณีเก่าซึ่งคนทั้งหลายรู้กันอยู่แล้วมาปรับใช้เป็นรายการในระเบียบให้สมสมัย เป็นต้นว่าในส่วนการบังคับบัญชาราชการแผ่นดินนั้น ให้บรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนซึ่งแต่โบราณเรียกว่า "มุขมนตรี" ประชุมกัน ณ หอวรสภาภิรมย์(๑๑) ในเวลาเช้าก่อนเสด็จออกขุนนางทุกวันเหมือนอย่างแต่โบราณเคยประชุมกัน ณ ศาลาลูกขุนใน แต่ในชั้นนี้ให้เจ้านายต่างกรมผู้ใหญ่มาประทับในที่ประชุมด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้ามานั่งเป็นประธานสั่งราชการในที่ประชุมนั้น

ส่วนที่เกี่ยวกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เอาแบบอย่างราชานุกิจครั้งรัชกาลที่ ๓ กับรัชกาลที่ ๔ แก้ไขประสมกันใช้ระเบียบ(๑๒) ให้ทรงประพฤติเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงว่าราชการเองหมดทุกอย่าง เว้นแต่ที่จะดำริรัฎฐาภิปาลโนบายและบังคับราชการแผ่นดิน ๒ อย่างนี้ เป็นหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่คิดอย่างไรและได้สั่งไปอย่างไรกราบทูลชี้แจงให้ทรงทราบเสมอเป็นนิจ ระเบียบพระราชานุกิจที่จัดเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ เป็นดังกล่าวต่อไปนี้

เวลาเช้า ๙ นาฬิกา เสด็จลงทรงบาตรพระสงฆ์ ๑๐๐ รูป ถ้าเป็นวันนักขัตฤกษ์ เช้นเข้าวัสสาเป็นต้น ๑๕๐ รูป ทรงบาตรแล้วเสด็จขึ้นหอสุราลัยพิมานทรงสักการบูชาพระรัตนตรัย แล้วเสด็จลงในพระที่นั่งไพศาลทักษิณให้เจ้านายพระองค์หญิงเฝ้า แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพการี ณ หอพระธาตุมณเฑียร

เวลา ๑๐ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ถ้าเป็นวันพระมีการเลี้ยงพระในท้องพระโรงก่อน(๑๓) แล้วเสด็จประทับในห้องพระฉากทางด้านตะวันออก กรมหลวงวงศาธิราชสนิทหรือเจ้าฟ้า กรมขุนบำราบปรปักษ์เข้าเฝ้า(แต่ไม่เสมอทุกวัน)กราบทูลอธิบายเรื่องพงศาวดารหรือโบราณคดี และประเพณีต่างๆซึ่งทรงศึกษา

เวลา ๑๑ นาฬิกา เสด็จออกประทับพระราชอาสน์นอกพระฉาก พนักงานคลังกราบทูลรายงานจ่ายเงินพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันก่อนให้ทรงทราบ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง(๑๔)เจ้านายฝ่ายหน้าตั้งแต่พระมหาอุปราชเป็นต้น กับข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งฝ่ายทหารพลเรือนเข้าเฝ้าพร้อมกัน ราชการที่กราบทูลเมื่อเสด็จออกเวลาเช้าเป็นเรื่องฝ่ายตุลาการเป็รพื้น เช่นรายงานชำระความฎีกาเป็นต้น

เวลา ๑๒ นาฬิกา เสด็จจากพระแท่นออกขุนนางไปประทับในพระฉากอีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินซึ่งคอยอยู่ ณ หอวรสภาภิรมย์เข้าเฝ้า(เว้นบ้างไม่เสมอทุกวัน)กราบทูลราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้นและที่ได้บังคับบัญชาไปอย่างไรให้ทรงทราบ

เวลา ๑๓ นาฬิกา เสด็จขึ้นเสวยกลางวันข้างในแล้วว่างพระราชกิจไปจนเวลา ๑๖ นาฬิกา

เวลา ๑๖ นาฬิกา เสด็จออกข้างหน้าทอดพระเนตรช่างทำของต่างๆ(เป็นการทรงศึกษาศิลปศาสตร์) เวลาเย็นเสด็จออกรับฎีการาษฎร หรือประพาสนอกพระราชวัง(๑๕)จนจวบพลบค่ำ

เวลา ๑๗ นาฬิกา เสวยแล้วเสด็จประทับที่ท้องพระโรงใน ให้ท้าวนางผู้ใหญ่เฝ้ากราบทูลกิจการฝ่ายในพระราชนิเวศน์ บางวันก็เสด็จไปเฝ้าสมเด็จกรมพระสุดารัตน์ฯ(๑๖)ที่พระตำหนักเดิม(๑๗) และเสวย ณ ที่นั้น

เวลา ๒๐ นาฬิกา เสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยประทับราชอาสน์ทรงฟังพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วพนักงานคลังกราบทูลรายงานจ่ายสิ่งของต่างๆ และมหาดเล็กกราบทูลรายงานตรวจการก่อสร้าง กับทั้งรายงานพระอาการประชวรเจ้านายหรืออาการเจ็บป่วยของคนสำคัญซึ่งใคร่จะทรงทราบ เมื่อทรงฟังรายงานแล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางอีกครั้งหนึ่ง(๑๘) แต่เสด็จออกตอนค่ำนี้พระมหาอุปราชกับเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ที่สูงอายุไม่เข้าเฝ้า มีแต่ปลัดทูลฉลองอ่านใบบอกหัวเมืองกราบบังคมทูลเหตุการณ์ต่างๆ จนเวลา ๒๒ นาฬิกาเสด็จขึ้นข้างใน เป็นสิ้นพระราชานุกิจประจำวัน

ที่นี่จะกล่าวถึงเหตุการณืต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๕ ธรรมดาเวลาเปลี่ยนรัชกาลมักเกิดความหวาดหวั่นในเหล่าประชาชน ด้วยเกรงว่าจะเกิดการแย่งชิงราชสมบัติ หรือเกิดโจรผู้ร้ายกำเริบเป็นนิสัยติดมาแต่โบราณ แม้คราวนี้ก็มีความหวาดหวั่นกันแพร่หลาย และมีเหตุชวนให้หวาดหวั่นด้วย เบื้องต้นแต่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระเยาว์ต้องมีผู้อื่นว่าราชการแทนพระองค์ คนทั้งหลายเกรงว่าเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จะชิงราชสมบัติ เหมือนพระเจ้าปราสาททองในเรื่องพงศาวดารดังกล่าวมาแล้ว

นอกจากนั้นยังมีเหตุร้ายเกี่ยวเนื่องแวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังประชวรถึง ๔ เรื่อง คือ เรื่องกงสุลอังกฤษตั้งวิวาทหาว่ารัฐบาลไทยไม่ประพฤติตามหนังสือสัญญา ถึงลดธง(ตัดทางพระราชไมตรี)และเรื่องเรือรบเรื่อง ๑ ชาวตลาดตื่นด้วยเรื่องเกิด"อัฐ"(สำหรับซื้อของ)ปลอมแพร่หลายถึงกับจะปิดตลาดไม่ขายของเรื่อง ๑ เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมเรื่อง ๑ และจีนตั้วเฮีย(อั้งยี่)จะกำเริบเรื่อง ๑ จะเล่าเรื่องเหล่านี้โดยสังเขป พอให้เห็นวิธีที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ระงับด้วยอุบายอย่างใด


เรื่องกงสุลอังกฤษลดธงนั้น ตัวกงสุลเยเนอราลอังกฤษชื่อ น๊อกส์(๑๙) เวลานั้นไปยุโรปกลับมายังไม่ถึงกรุงเทพฯ ผู้รักษาการแทน ชื่อ อาลบาสเตอรที่เป็นผู้ตั้งวิวาท เกิดเหตุด้วยพวกเจ้าภาษีฝิ่นซึ่งขึ้นอยู่ในเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไปจับฝิ่นที่โรงก๊วนพวกงิ้ว อยู่ริมวัดสัมพันธวงศ์ เกิดต่อสู้กันไฟไหม้โรงก๊วน แล้วลุกลามไปไหม้ตึกที่พวกแขกในบังคับอังกฤษตั้งร้านขายของ ทรัพย์สินเสียไปเป็นอันมาก กงสุลอังกฤษหาว่าความเสียหายเกิดเพราะพวกเจ้าภาษีเผาโรงก๊วน จะให้ลงโทษและเรียกค่าเสียหายทดแทนให้พวกแขก ฝ่ายเจ้าภาษีฝิ่นแก้ว่าไฟไหม้เพราะพวกงิ้วจุดเผาโรงก๊วนเมื่อจะหนีออกทางหลังโรง เจ้าภาษีหาได้เผาโรงก๊วนไม่ กงสุลไม่เชื่อจะให้รัฐบาลตั้งข้าหลวงไต่สวนด้วยกันกับกงสุลตามข้อสัญญาว่าด้วยคนในบังคับ ๒ ฝ่ายวิวาทกัน

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่ยอม ว่ากรณีไม่ตรงกับข้อสัญญาเพราะเจ้าภาษีฝิ่นมิได้วิวาทกับแขกในบังคับอังกฤษ รับแต่จะให้เงินทดแทนพวกแขกเท่าทุนทรัพย์ที่ไฟไหม้ กงสุลไม่ยอมจึงเกิดวิวาทกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (รู้ว่านายน๊อกส์กับนายอาลบาสเตอร์ไม่ชอบกันในส่วนตัว) โต้แย้งถ่วงเวลาไว้จนนายน๊อกส์กลับมาถึง แล้วพูดจากันฉันท์มิตรให้เห็นว่าที่เอากรณีเล็กน้อยเพียงเท่านี้เป็นเหตุให้เกิดวิวาทเฉพาะในเวลาบ้านเมืองฉุกเฉิน ด้วยเปลี่ยนรัชกาลจะเสียประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่าย นายน๊อกส์เห็นชอบด้วยยอมถอนคดี ส่วนเรื่องลดธง นายอาลบาสเตอรชี้แจงว่าที่จริงนั้นเป็นด้วยเชือกชักธงขาด จึงมิได้ชักธงในวันที่เตรียมการต่อเชือก หาได้ลดธงในทางการเมืองไม่ แต่เมื่อแพ้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ นายอาลบาสเตอร์ก็ลาออกจากตำแหน่ง(๒๐)กลับไปยุโรป ฝ่ายแม่ทัพเรืออังกฤษ ณ เมืองฮ่องกงได้รับหนังสือเรียกเรือรบ(๒๑)ยังไม่ทันทำอย่างไร ได้ข่าวว่าเปลี่ยนรัชกาลใหม่ในประเทศสยาม นายพลเรือเกปเปลจึงมาเองพอทันช่วยงานบรมราชาภิเษก


เรื่องอัฐปลอมนั้น เดิมในประเทศนี้ใช้เงินตราพดด้วง ๓ ขนาด คือ บาท สลึง(๑/๔ ของบาท) และเฟื้อง(๑/๘ ของบาท) ราคาต่ำกว่านั้นลงมาใช้เบี้ย(หอย เก็บมาจากทะเลตั้งพิกัดราคา ๑/๖๔๐๐ ของบาท) ถึงรัชกาลที่ ๔ เมื่อทำหนังสือสัญญาค้าขายกับต่างประเทศแล้ว มีเรือกำปั่นเข้ามาซื้อสินค้าในกรุงเทพฯมากขึ้น พวกชาวต่างประเทศเอาเงินเหรียญเม๊กสิโกมาซื้อสินค้า ราษฎรไม่พอใจ พวกพ่อค้าจึงต้องเอาเงินเหรียญเม๊กสิโกมาขอแลกเงินบาทที่พระคลังมหาสมบัติไปซื้อสินค้า จำนวนเงินที่มาขอแลกมากขึ้นทุกที จนโรงทำเงินที่พระคลังมหาสมบัติทำให้ไม่ทัน เพราะเงินพดด้วง "ทำด้วยมือ" ทำทั้งกลางวันกลางคืนก็ได้เพียงวันละ ๒,๔๐๐ บาทเป็นอย่างมาก จึงเป็นเหตุให้เกิดฝืดเคืองในกการค้าขายด้วย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู้หัวจึงโปรดฯให้สั่งเตรื่องจักรมาตั้งโรงกระษาปณ์เมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ ทำเงินตราเปลี่ยนรูปเป็นเงิน(เหรียญ)แบน คงพิกัดบาท สลึง และเฟื้อง ตามราคาเดิม ต่ำกว่านั้นลงมาให้เลิกการใช้เบี้ยเปลี่ยนเป็นเหรียญทองแดง ๒ อย่าง เรียกว่า "ซีก" (หมายความว่าครึ่งเงินเฟื้อง ราคา ๑/๑๖ ของบาท)อย่าง ๑ "เสี้ยว" (หมายความว่าส่วนสี่ของเฟื้อง ราคา ๑/๓๒ ของบาท)อย่าง ๑ ถัดนั้นลงมาให้ทำเหรียญดีบุกขึ้น ๒ อย่างเรียกว่า "อัฐ" (หมายความว่าส่วนแปดของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๖๔ ของบาท)อย่าง ๑ เรียกว่า "โสฬศ" (หมายความว่าส่วนสิบหกของเงินเฟื้อง ราคา ๑/๑๒๘ ของบาท)อย่าง ๑ แต่ดีบุกเป็นของอ่อนหล่อง่ายและหาได้ง่ายในประเทศนี้ จึงมีผู้ทำอัฐและโสฬศปลอมขึ้นในกรุงเทพฯ ครั้นตรวจตราจับกุมกวดขันก็ย้ายลงไปทำตามหัวเมืองมลายูแล้วลอบส่งเข้ามาจำหน่ายในกรุงเทพฯ จนอัฐปลอมมีแพร่หลายในท้องตลาด ราษฎรไม่รู้ว่าไหนเป็นของจริงไหนเป็นของปลอมพากันรังเกียจไม่อยากรับอัฐและโสฬศ แต่จะไม่รับก็เกรงรัฐบาลจะเอาผิด จึงตื่นกันถึงกับคิดจะปิดร้านไม่ขายของ

พ้องในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาล เรื่องนี้จะได้ปรึกษาหารือกันในรัฐบาลประการใดไม่ทราบ แต่ตกลงจะแก้ไขด้วยลดราคาทั้งเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกลงทันที พอเปลี่ยนรัชกาลได้ ๑๓ วันก็ออกประกาศอนุญาตให้ราษฎรเอาเหรียญทองแดงและเหรียญดีบุกของรัฐบาลมาแลกเอาเงิน จะยอมให้เต็มราคาเดิมเพียง ๑๕ วัน ต่อไปนั้นให้ลดพิกัดราคาเหรียญทองแดงซีกลงเป็นอันละอัฐ ๑ (๑/๑๖ ของบาท) ลดราคาเหรียญทองแดงเสี้ยวลงเป็นอันละโสฬศ ลดราคาเหรียญอัฐลงเป็นอันละ ๑๐ เบี้ย (๑/๖๔๐ ของบาท) และลดราคาเหรียญโสฬศลงไปเป็นอันละ ๕ เบี้ย แล้วทำเหรียณดีบุกตรารัชกาลที่ ๕ ขนาดเท่าเหรียญอัฐของเดิม ความตื่นเต้นกันด้วยเรื่องอัฐปลอมก็สงบไป

แต่ความลำบากเรื่องเครื่องแลกในการซื้อขายยังมามีขึ้นอีก ด้วยต่อมาไม่ช้านักราคาเนื้อทองแดงและดีบุกสูงขึ้นกว่าราคาที่กำหนดให้ใช้เป็นเครื่องแลก ก็มีผู้รวบรวมเหรียญทองแดงและดีบุกส่งไปหลอมขายในประเทศอื่นเสียโดยมาก จนเกิดอัตคัดเครื่องแลกไม่พอใช้ในการซื้อขายในท้องตลาด ราษฎรจึงหันไปใช้ปี้ถ้วยที่นายอากรบ่อยเบี้ยสั่งมาจากเมืองจีน สำหรับเป็นคะแนนราคาต่างๆในการเล่นเบี้ย เอาเป็นเครื่องแลกในการซื้อขาย พวกจีนได้กำไรก็สั่งปี้เข้ามาจำหน่ายให้ราษฎรใช้กันแพร่หลาย จนเมื่อรัฐบาลสั่งให้ทำเหรียญทองแดง ซีก เสี้ยว อัฐ และโสฬศ มาจายุโรปและประกาศให้ใช้ตั้งแต่ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เครื่องแลกในการซื้อขายจึงเรียบร้อยแต่นั้นมา


เรื่องเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุมนั้น ดูเหมือนเป็นนิสัยของคนพาลในประเทศนี้แต่ไรมา ถ้าเข้าใจว่าพนักงานปกครองอ่อนเมื่อใดก็กำเริบ พอเปลี่ยนรัชกาลในไม่ช้าก็เกิดโจร ๕ คนบังอาจขึ้นปล้นกุฏิพระในวัดพระเชตุพนฯ ฆ่าพระธรรมเจดีย์(อุ่น)ตาย ต่อมามีผู้ร้ายฆ่ากัปตันสมิทนำร่องอังกฤษตายในกรุงเทพฯอีกเรื่อง ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้สืบจับโดยกวดขัน จับได้ตัวมาประหารชีวิตภายใน ๑๕ วันทั้ง ๒ ราย โจรผู้ร้ายในกรุงเทพฯก็สงบลง แต่ไปเกิดชุกชุมทางหัวเมืองมณฑลอยุธยา ด้วยเป็นโจรมีพวกมาก ทั้งที่ช่วยปล้นสะดมและช่วยแก้ไขในโรงศาลจนราษฎรพากันเกรงกลัวไม่กล้าฟ้องร้อง หรือแม้แต่จะเบิกความเป็นพยานที่ในศาล พวกผู้ร้ายก็กำเริบได้ใจเที่ยวปล้นสะดมหนักขึ้น

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รู้เค้าไม่ไว้ใจพวกเจ้าเมืองกรมการ เลือกหาข้าราชการที่ท่านไว้ใจให้เป็นข้าหลวงแยกย้ายกันไปเที่ยวสืบจับโดยลับหลายทาง เล่ากันว่าข้าหลวงคนหนึ่งไปเห็นเรือแหวดเก๋งแจวสวนทางลงมาลำหนึ่ง สำคัญว่าเป็นเรือเพื่อนข้าหลวงที่ขึ้นไปสืบจับผู้ร้ายด้วยกัน เบนเรือเข้าไปหมายไต่ถามข้อราชการ เมื่อเข้าไปใกล้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเปิดม่านเก๋งเรือแหวดลำนั้น กวักมือเรียกและชี้มือไปในเก๋ง ก็รีบไปขึ้นเรือแหวดจับได้ตัว "อ้ายอ่วม(ชาวบ้าน)อกโรย" หัวหน้าผู้ร้ายตัวสำคัญคนหนึ่งซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ ด้วยผู้หญิงคนหนึ่งถูกอ้ายอ่วมฉุดเอามาข่มขืนใจให้เป็นเมีย ได้ช่องจึงบอกให้ข้าหลวงจับ

มีข้าหลวงอีกสายหนึ่งจับได้ อ้ายโพ หัวหน้าสำคัญอีกคนหนึ่งที่ตำบลบ้านสาย แต่นั้นพวกราษฎรเชื่ออำนาจรัฐบาลก็กลับเป็นใจช่วยสืบจับโจรกับพรรคพวกได้อีกเป็นอันมาก พอจับหัวหน้าโจรได้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ขึ้นไปยังพระนครศรีอยุธยาพร้อมด้วยผู้พิพากษาตุลาการ ไปตั้งศาลรับสั่งชำระพิพากษาในทันที พวกหัวหน้าโจรที่ต้องโทษถึงประหารชีวิตนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สั่งให้ประหารชีวิตด้วยเอาขวานตัดตัวให้ขาดเป็น ๒ ท่อนที่หน้าพะเนียดคล้องช้างแห่ง ๑ ให้ผ่าอกที่วัดชีตาเห็น(บ้านผักไห่)อีกแห่ง ๑ ป่าวร้องให้คนมาดูโดยหวังจะให้คนพาลสยดสยอง เรื่องนี้แม้ใครจะติเตียนว่าลงอาญาอย่างทารุณก็ต้องยอมว่าได้ผลตามท่านหวัง ด้วโจรผู้ร้ายตามหัวเมืองเงียบสงัดลงในทันใด


เรื่องจีนตั้วเฮีย (หรือที่เรียกกันในสมัยนี้ว่า "อั้งยี่") นั้น(๒๒) กลับมีขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยการค้าขายเจริญมีเรือกำปั่นบรรทุกสินค้าเข้าออกมากขึ้น ทั้งมีโรงจักรสำหรับสีข้าวและเลื่อยไม้ตั้งขึ้นในกรุงเทพฯหลายแห่ง ต้องใช้คนเป็นแรงงานมากขึ้น ไทยไม่ชอบรับจ้างเป็นกรรมกร พวกพ่อค้าต้องเที่ยวหาจ้างจีน จึงมีจีนชั้นคฤหบดีที่มีทุนรอนคิดอ่านเรียกจีนเลวจากเมืองจีนมารับจ้างเป็นแรงงานอยู่ในความควบคุมของตนเกิดขึ้นหลายราย พวก "เถ้าเก๋" ที่หากินในการเลี้ยง "กุลี" นั้น โดยปกติทำการค้าขายหรือเข้ารับทำภาษีอากรด้วย มักฝากตัวอยู่ในเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่โดยมาก แต่เมื่อกุลีมีจำนวนมากขึ้นจนต้องแย่งงานกันทำ และเกิดเบียดเบียนกันด้วยเหตุนั้น จึงเอาวิธีสมาคมลับในเมืองจีนเรียกว่า "อั้งยี่" มาตั้ง

พวกร่วมน้ำสบถสำหรับช่วยกันและกันมีขึ้นเป็นหลายคณะ ฝ่ายพวกเถ้าเก๋เกรงจะบังคับบัญชากุลีของตนไม่ได้ดังแต่ก่อน ที่เข้ารับเป็นตัวหัวหน้าอั้งยี่เสียเองก็มี ที่อุดหนุนพวกอั้งยี่เอาเป็นกำลังแย่งค้าขายก็มี พวกอั้งยี่จึงกำเริบขึ้นถึงปล้นราษฎรทางเมืองนครปฐม แม้จับตัวได้ก็หวาดหวั่นกันว่าพวกจีนอั้งยี่จะกำเริบขึ้นในกรุงเทพฯ ในเวลาเปลี่ยนรัชกาลใหม่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้สืบจับตัวหัวหน้าได้พวกเถ้าเก๋ที่เป็นคนฝากตัวอยู่กับท่าน เป็นหัวหน้าอั้งยี่หลายคน จึงพิพากษาเพียงให้กระทำสัตย์สาบาน และให้สัญญาว่าจะไม่ประพฤติร้ายเป็นเสี้นหนามแผ่นดินแล้วปล่อยตัวไป แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยังไม่วางใจ คิดอ่านให้มีการฝึกซ้อมทหารบกที่ท้องสนามชัย เชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทอดพระเนตร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์เนื่องๆ บางวันให้ยิงปืนติดดินปืนทั้งปืนใหญ่ปืนน้อยทำนองประลองยุทธ บางวันก็ผูกหุ่นเป็นตัวข้าศึก แล้วเอาช้างรบเข้าไล่แทงเป็นการเอิกเกริกขู่ให้พวกจีนเกรงกลัว แต่นั้นพวกอั้งยี่ก็สงบมาช้านาน(๒๓)


พิเคราะห์รัฎฐาภิโนบายในเวลานั้นเมื่อมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ดูพยายามดำเนินตามทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก แต่มีความลำบากเป็นข้อสำคัญข้อ ๑ ด้วยเมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงพระราชดำริ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้กระทำการให้สำเร็จดังพระราชดำริ เปรียบเหมือนแม้ทัพกับเสนาธิการ ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๔ หน้าที่ทั้ง ๒ อย่างนั้นมาตกอยู่กับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แต่คนเดียว ท่านเห็นจะรู้สึกลำบากใจในข้อนี้มาแต่แรก จึงได้ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนบำราบปรปักษ์เป็นผู้สำเร็จราชการในราชสำนัก เพื่อปลดเปลื้องภาระให้พ้นตัวท่านไปส่วนหนึ่ง แต่การที่เกี่ยวข้องกับฝรั่งตัวท่านเองไม่มีความรู้เหมือนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะหาผู้ใดเป็นที่ปรึกษาหารือก็ไม่มีตัว ท่านจึงแก้ไขหาความรู้ด้วยอุบายคบหาสมาคมกับฝรั่งให้สนิทสนมยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ก็ฝรั่งที่อยู่ในกรุงเทพฯเวลานั้น ในเหล่าที่เข้ารับราชการอยู่กับไทยมีแต่ชั้นที่เป็นครูสอนหนังสือ หรือหัดทหารและเป็นแต่คนเดินเรือหรือเป็นล่าม จะหาผู้ที่ชำนาญการเมืองหามีไม่ ฝรั่งพวกอื่นก็มีแต่คนค้าขายกับมิชชั่นนารีมาสอยศาสนา แม้กงสุลของรัฐบาลต่างประเทศก็เป็นพ่อค้าแทบทั้งนั้น มีกงสุลที่เป็นข้าราชการแต่อังกฤษฝรั่งเศสและอเมริกัน แต่ในเวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลตัวกงสุลว่างอยู่ กงสุลอเมริกันเป็นนายพล(เมื่อครั้งอเมริกันรบกันเอง)ชื่อ ปาตริช ก็มิใคร่ขวนขวายในการเมืองด้วยกิจธุระของอเมริกันมีน้อย มีคนสำคัญแต่นายน๊อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษคนเดียวด้วยเป็นผู้แทนมหาประเทศที่ในอาเซียยิ่งกว่าชาติอื่นอย่าง ๑ เป็นหัวหน้าผู้แทนต่างประเทศที่ในกรุงเทพฯด้วยมียศสูงกว่าเพื่อนอย่าง ๑ ประกอบกับวุฒิในส่วนตัวที่เป็นผู้ดีได้ศึกษาวิชาชั้นสูงและมาเรียนรู้ภาษาไทย ทั้งได้เคยสมาคมกับไทยที่เป็นคนชั้นสูงมาแต่ก่อน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงทำทางไมตรีให้มีกับนายน๊อกส์สนิทสนม คล้ายกับเป็นที่ปรึกษาของท่านในสมัยนั้น

ดูเหมือนจะได้ช่วยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มาตลอดเวลาที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เมื่อบรมราชภิเษกคราวหลังแล้ว นายน๊อกนำผู้แทนต่างประเทศให้ถือว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงว่าราชการบ้านเมืองเอง พ้นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เล่ากันว่านายน๊อกส์เริ่มใช้คำเรียกท่านว่า "Ex-Regent" ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ออกจากตำแหน่งแล้ว ก่อนผู้อื่น จึงห่างกันแต่นั้นมา


..............................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) ประเพณีโกนหัวเป็นการไว้ทุกข์ มาเลิกในรัชกาลที่ ๕

(๒) พระราชโอรส ในรัชกาลที่ ๔ ที่ประสูติก่อน สมเด็จฯเจ้าฟ้า จุฬาลงกรณ์ มีอีก ๔ พระองค์ คือ
๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้านพวงศ์วรองค์อรรคมหามกุฎ ปรมุตมราโชรส กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศ
๒. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสุประดิษฐ์วรฤทธิราชมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชวโรรส กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร
๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าทักษิณาวัฏ
๔. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าโสมวัฒนาวดี สิ้นพระชนม์เมื่อแรกประสูติ

(๓) ทรงบัญญัติว่าคำ "พระพุทธเจ้าหลวง" ใช้เรียกพระเจ้าแผ่นดินที่สวรรคตแล้ว พระเจ้าแผ่นดินที่ออกจากราชสมบัติ แต่ยังดำรงพระชนม์อยู่ให้เรียกว่า "พระเจ้าหลวง"

(๔) ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ พระเจ้าเอมปเรอ นโปเลียนที่ ๓ สร้างพระแสงกระบี่ขึ้น ๒ องค์ส่งเข้ามาถวาย พระแสงกระบี่องค์ใหญ่จารึกว่า "ของเอมปเรอฯฝรั่งเศสถวายพระเจ้าแผ่นดินสยาม" พระแสงองค์น้อยจารึกว่า "ของพระยุพราชกุมารฝรั่งเศสถวายพระยุพราชกุมารสยาม"

(๕) ในหนังสือพงศาวดารเรียกว่า "สุริยวงศ์" แต่ในหนังสือวันวลิต ฮอลันดาแต่งร่วมสมัยนั้น ว่าเป็นพระยาศรีวรวงศ์จางวางมหาดเล็กแล้วเลื่อนขึ้นเป็น เจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดี ที่สมุหกลาโหม

(๖) ประเพณีราษฎรถวายฎีกามาแต่ก่อน เป็นที่เข้าใจกันว่า ถ้าใครมีความทุกข์ร้อนให้เข้าไปตีกลองใบ ๑ ซึ่งเอาไว้ที่ทิมดาบกรมวัง เมื่อกลองถึงพระกรรณ ก็โปรดฯให้ราชบุรุษออกมารับฎีกา เรียกกันว่า "ตีกลองร้องฎีกา" เห็นจะเป็นประเพณีมาแต่โบราณ แต่ตามการที่เป็นจริงไม่ใคร่มีใครกล้าเข้าไปตีกลองร้องถวายฎีกา ถ้ามีทุกข์จะถวายฎีกาก็ถวายในเวลาเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปยังที่ไหนๆ นอกพระราชวัง เมื่อในรัชกาลที่ ๓ มิใคร่จะเสด็จไปไหน ราษฎรที่ถูกผู้มีอำนาจกดขี่ข่มเหงจะถวายฎีกาได้ด้วยยาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบพฤติการณ์อันนี้ ครั้นเสด็จผ่านพิภพจึงเอาพระราชหฤทัยใส่ที่จะเสด็จออกพระราชทานโอกาสให้ราษฎรถวายฎีกาได้โดยสะดวกมาตลอดรัชกาล

(๗) เรื่องในการประชุมที่กล่าวต่อไปนี้ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรเวลานั้นผนวชเป็นสามเณร ได้ประทับอยู่ในที่ประชุมตรัสเล่าให้ฟัง เจ้าพระยาภาณุวงศ์เวลานั้นเป็นพระยาเทพประชุม ได้อยู่ในที่ประชุมก็เล่ายุติต้องกัน

(๘) คือเมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ เป็นเวลาที่จะต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอยู่ ๕ ปี

(๙) เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเริ่มประชวร ได้ทรงพยาบาลอยู่ ๒ วัน พระองค์เองก็ประชวรเป็นไข้ป่าแล้วเป็นพระยอดเพิ่มขึ้น พระอาการเพียบอยู่หลายวัน ถึงต้องปิดความมิให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบพระอาการ

(๑๐) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ เวลาก่อนทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประทับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยเหมือนกัน แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เวลาระหว่างเฉลิมพระราชมณเฑียรถึงเดือนครึ่ง จึงปลูกพลับพลาถวายเป็นที่ประทับที่โรงแสงใน เพื่อทรงสำราญกว่าประทับที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

(๑๑) สร้างขึ้นที่กรงนกของเก่า อยู่ตรงสนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท องค์ฝ่ายตะวันออก

(๑๒) พระราชานุกิจ คือกำหนดเวลาที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติพระราชกิจต่างๆประจำทุกวัน ต้นตำราอยู่ในมนูธรรมศาสตร์ ได้มาจากอินเดียแต่ดึกดำบรรพ์ แต่แก้ไขให้เหมาะแก่ภูมิประเทศมีปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล

(๑๓) ในรัชกาลที่ ๓ เลี้ยงพระในท้องพระโรงทุกวัน ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อเสด็จประทับที่พระอภิเนาวนิเวศน์ ย้ายไปเลี้ยงพระ ณ พระที่นั่งสุทไธศวรรย์ ถึงรัชกาลที่ ๕ เลี้ยงพระ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ต่อวันพระจึงมาเลี้ยงในท้องพระโรง

(๑๔) พระแท่นออกขุนนางนั้นเป็นพระแท่นบรรทม จะประทับหรือบรรทมว่าราชการได้ตามพอพระราชหฤทัย

(๑๕) การเสด็จออกรับฎีกาและประพาสนอกพระราชวังเพิ่งเกิดเป็นพระราชานุกิจในรัชกาลที่ ๔

(๑๖) คือ หม่อมเจ้าละหม่อม ต่อมาสมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จผ่านพิภพในรัชกาลที่ ๓ จึงเป็นพระองค์เจ้าละหม่อม ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๖๑ มีพระเชษฐาร่วมพระชนนีพระองค์หนึ่ง คือพระองค์เจ้าสิริวงศ์ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (และกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์พระองค์นี้เป็นพระชนกในสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์) เมื่อสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์สิ้นพระชนม์ได้ทรงเป็นผู้อภิบาลสมเด็จฯเจ้าฟ้า จุฬาลงกรณ์และพระอนุชาโดยตลอด สมเด็จพระราชบิตุลาฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชทรงเล่าว่า ถึงรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงกรมเป็นกรมพระสุดารัตนราชประยูร มีพระอิสริยศักดิ์นำหน้าว่า กรมพระเจ้ามไหยิกาเธอ ต่อมาเลื่อนเป็นกรมสมเด็จพระ มีเจ้ากรมเป็นพระยา ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น "สมเด็จพระเจ้ามไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า "ทูลกระหม่อมย่า"

(๑๗) อยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์

(๑๘) ประเพณีเสด็จออกขุนนางวันละ ๒ ครั้งตามแบบโบราณ การเสด็จออกเวลาเช้าเพื่อทรงพิพากษาอรรถคดี เสด็จออกเวลาค่ำสำหรับพิพากษาการเมือง เช่นการทัพศึกเป็นต้น จึงถือว่าการเสด็จออกเวลาค่ำสำคัญกว่าเสด็จออกเวลาเช้ามาจนรัชกาลที่ ๓ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ ว่างการทัพศึก และมีการเกี่ยวกับต่างประเทศซึ่งใช้การเขียนหนังสือเป็นพื้น เสด็จออกกลางคืนก็ไม่เป็นการสำคัญ

(๑๙) ทอมัช ยอช น๊อกส์ (Thomas George KnoK) เป็นเชื้อผู้ดีมีสกุล เดิมได้เป็นนายร้อยเอกทหารอยู่ในอินเดีย กล่าวกันว่าเพราะเล่นพนันแข่งม้าสิ้นทรัพย์หมดตัว จึงลาออกจากตำแหน่งแล้วตามนายร้อยเอกอิปเป มาหางานทำในประเทศนี้แต่ต้นรัชกาลที่ ๔ นายร้องเอกอิปเปได้เป็นครูทหารวังหลวง ส่วนนายน๊อกส์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เป็นครูวังหน้า ได้เข้ากองทัพกรมหลวงวงศาธิราชสนิทไปตีเมืองเชียงตุง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตามาก ถึงประทานผู้หญิงวังหน้าคนหนึ่งชื่อ ปราง ให้เป็นภรรยา มีลูกด้วยกันหลายคน เมื่อรัฐบาลอังกฤษตั้งกงสุลประจำอยู่ในกรุงเทพฯเห็นว่านายน๊อกส์รู้การเมืองและภาษาไทยทั้งเป็นเชื้อผู้ดี จึงชวนไปเป็นผู้ช่วยกงสุล แล้วได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับจนได้เป็นกงสุลเยเนอราล เวลานั้นเป็นผู้คุ้นเคยชอบพอกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

(๒๐) เฮนรี อาลบาสเตอร (Henry Alabaster)เป็นนักเรียนมีความรู้มาก ภายหลังมารับราชการไทยได้ทำคุณให้แก่ประเทศนี้หลายอย่าง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า รับราชการอยู่จนถึงแก่กรรม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างอนุสรณ์ ณ ที่ฝั่งศพยังปรากฏอยู่ที่ป่าช้าโปรเตสตันต์จนบัดนี้ นายอาลบาสเตอร์ เป็นต้นสกุล "เศวตศิลา"

(๒๑) สมัยนั้นประเทศสยามยังไม่มีโทรเลข ต้องเขียนหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่สิงคโปร์

(๒๒) เรื่องอั้งยี่ในประเทศสยามมีอธิบายโดยพิสดารอยู่ในเรื่อง "นิทานโบราณคดี" นิทานที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องอั้งยี่

(๒๓) บางทีท่านจะให้คนพวกนั้นชี้ตัว และเที่ยวชักชวนพวกหัวหน้าคนอื่นมาลุแก่โทษ แต่มีเสียงติเตียนกันว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นแก่คนใช้จึงไม่เอาโทษอั้งยี่อย่างแรง แต่เมื่อมาคิดว่าพวกอั้งยี่ยังมิได้ก่อการร้ายในกรุงเทพฯ และการที่รัฐบาลกระทำมีผลให้อั้งยี่สงบไว้ได้ในคราวนั้น ดูก็ไม่ควรติเตียน


..............................................................................................................................................................


ความทรงจำ ตอนที่ ๔




 

Create Date : 29 มีนาคม 2550   
Last Update : 30 มีนาคม 2550 14:35:09 น.   
Counter : 2672 Pageviews.  


ตอนที่ ๑ เริ่มเรื่องประวัติ พ.ศ. ๒๔๐๕-๒๔๑๑


ในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"มือขวาซ้ายมาถ่ายรูปด้วยกัน"



..............................................................................................................................................................



ฉันเกิดในพระบรมมหาราชวัง เมื่อปีจอ วันเสาร์ที่ ๒๑ มิถุนายน(๑) พ.ศ. ๒๔๐๕ ประเพณีในราชสกุลสมัยนั้น เมื่อพระเจ้าลูกเธอประสูติ ถ้าเป็นพระองค์ชายได้พระราชทานพระขรรค์เล่ม ๑ กับปืนพกกระบอก ๑ ถ้าเป็นพระองค์หญิงได้พระราชทานพระภูษาแพรคลุมพระองค์ผืน ๑ เป็นของเฉลิมขวัญให้วางไว้ในกระด้งที่รองพระองค์ เมื่อประสูติแล้วได้ ๓ วันมีการพิธีเวียนเทียนสมโภชตำหนักที่ประสูติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธานรดน้ำมหาสังข์และเจิมพระราชทาน ฉันได้เฝ้า "ทูลกระหม่อม"(๒) สมเด็จพระบรมชนกนาถของฉันเป็นครั้งแรกในวันนั้น ต่อนั้นมาเมื่อประสูติแล้วได้เดือน ๑ มีการพิธีสมโภชอีกครั้ง ๑ เรียกว่าสมโภชเดือน เป็นการใหญ่กว่าสมโภช ๓ วัน(๓)ต้องหาฤกษ์ทำให้วันดี บางทีเกินวันครบเดือนไปหลายๆวัน พิธีนั้นเริ่มด้วยพระสงฆ์เจริญพระปริตตอนบ่ายเมื่อก่อนวันฤกษ์ ครั้งถึงวันฤกษ์เวลาเช้าเลี้ยงพระและสงฆ์อำนวยพรก่อน(๔)แล้วจึงทำพิธีพราหมณ์ คือโกนผมไฟไว้จุก และพระครูพราหมณ์เอาลงอาบน้ำในขันสาคร ครั้นถึงเวลาบ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับเป็นประธานในการพิธีเวียนเทียนสมโภชและทรงรดน้ำพระมหาสังข์ทรงเจิมเหมือนครั้งก่อน สมโภชแล้วพระครูพราหมณ์อุ้มเอาขึ้นวงในพระอู่ไกวร่ายมนต์กล่อม ๓ ลาเป็นการเสร็จพิธี

ในวันสมโภชเดือนนี้ทูลกระหม่อมพระราชทานของขวัญ คือทองคำสำหรับทำเครื่องแต่งตัวกับเงินร้อยชั่ง(๘,๐๐๐ บาท) สำหรับเป็นทุนและพระราชทานชื่อด้วย ฉันได้พระราชทานชื่อว่า "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" คนทั้งหลายเรียกกันว่า "พระองค์ดิศ" มาจนได้รับกรมในรัชกาลที่ ๕ นาม "ดิส" ที่พระราชทานเป็นชื่อของฉันนั้นในทางพระศาสนาถือว่ามีสิริมงคล ด้วยเป็นพระนามพระพุทธเจ้าก็มี เป็นพระนามของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งทรงพระเกียรติในการอุปถัมภกพระพุทธศาสนาก็มี แต่ตามคำของท่านผู้ใหญ่ในวงศ์ญาติซึ่งรับราชการอยู่ใกล้ชิดพระองค์ในสมัยนั้น ท่านว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอานามของคุณตา (ท่านชื่อ "ดิส" เป็นพระยาบำเรอภักดีอยู่ในเวลานั้น)มาพระราชทาน ด้วยทรงพระราชดำริว่าเป็นคนซื่อตรง

เรื่องประวัติของคุณตานั้น ปู่ของท่านชื่อ "บุญเรือง" เดิมเป็นที่หลวงคลังเมืองสวรรคโลก ได้เป็นข้าหลวงเดิมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีความชอบมาแต่ครั้งรบพม่าที่เมืองเหนือ ครั้นเสด็จผ่านพิภพจึงทรงตั้งให้เป็นที่พระจันทราทิตย์ในกรมสนมพลเรือน ต่อมาเลื่นขึ้นเป็นพระยาในรัชกาลที่ ๑ นั้น(๕) บุตรพระยาจันทราทิตย์คน ๑ ชื่อเลี้ยง ไม่ปรากฏว่าได้ทำราชการในตำแหน่งใด มีบุตรคือคุณตา เกิดแต่ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๒ เมื่องานพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงสรง จึงได้เป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังทรงพระเยาว์มา ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อกรมหมื่นศักดิพลเสพได้เป็นพระมหาอุปราช ทรงคุ้นเคยกับนายเลี้ยงบิดาของท่านมาแต่ก่อน จึงโปรดตั้งให้เป็นจมื่นอินประพาสในกรมวัง วังหน้า

เวลานั้นพระยาจันทราทิตย์ถึงอนิจกรรมแล้ว จมื่นอินทรประพาสจะเอาคุณตาไปถวายตัวทำราชการให้มียศศักดิ์ในวังหน้า คุณตาไม่ย่อมไป ว่า "ไม่ขอเป็นข้าสองเจ้า" ถึงจะเป็นอย่างไรก็จะเป็นข้าแต่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว แล้วอยู่สนองพระเดชพระคุณมาจนตลอดรัชกาลที่ ๓ จึงทรงยกย่องความซื่อตรงของท่านเล่ากันมาอย่างนี้ และมีความปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่ง ๑ ทรงบริภาษพวกข้าหลวงเดิม ว่าเห็นผู้อื่นมีบุญก็มักจะเอาใจออกห่าง เคยเห็นใจมาเสียแล้ว จะไม่เป็นเช่นนั้นก็แต่ "อ้ายเฒ่าดิศ"(กับใครอีก ๒ คน) พระราชดำรัสนี้ดูประกอบคำที่เล่าให้เห็นว่าเป็นความจริง(๖)

ลักษณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระนามพระเจ้าลูกเธอนั้น ทรงเขียนลายพระราชหัตถ์เป็น ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ เป็นอักษรและภาษาไทยพระราชทานพระนาม อีกฉบับ ๑ เป็นอักษรอริยกะ(๗)และภาษามคธ ทรงพระราชนิพนธ์เป็นคาถาพระราชทานพร คาถาที่พระราชทานพรฉัน ว่า

สุขี อยํ โหตุ กุมาโร
นาเมน โส ติศฺสวโร กุมาโร
อายุญฺจ วณณญฺจ สฺขพฺพลญฺจ
ติกฺขญฺจ ปญญญฺจ ปฏิภาณภูตํ
ลทฺธา ยสสฺสี สฺขตํ มหิทฺธี
ปโหตุ สพฺพตฺถ จรํ สุสีวี
กุลญฺจ รกฺเขถ สมาตรญฺจ
สพฺเพหิ สตฺตูหิ ชยํ ลเภถ

สุขี ทีฆายุโก โหตุ ปุตโต ติสฺสวรวฺหโย
กุมาโร ชุมปุตฺโตยํ อิทธิมา โหตุ สพฺพทา
พุทฺโธ ธมฺโมจ สงโฆ จฺ อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ
ตสฺสาปิ สรณํ โหตุ สมฺมา รกฺขตุ นํ สทา ฯ



คำสมเด็จพระทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์แปลคาถา

ขอกุมารนี้จงมีความสุขในกาลทุกเมื่อ กุมารนี้จงมีนามว่าดิศวรกุมาร โดยนิยม ขอดิศวรกุมารนี้จงได้ซึ่งชนมายุยืนยงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ขอจงได้วรรณซึ่งผิวกายอัยผ่องใส และจงได้วรรณคุณความสรรเสริญเป็นนิรันดร ขอจงได้ซึ่งสุขกายสุขใจเป็นนิจกาล จงได้ซึ่งกำลังกายอันแกล้วกล้า ทั้งให้มีกำลังปัญญารู้รอบครอบในกิจกาลทั้งปวง และให้ฉลาดในปฏิภาณโวหารกล่าวคำโต้ตอบในที่ประชุม ขอให้ดิศวรกุมารมีอิสริยยศ บริวารยศปรากฏด้วมหิทธิศักดาเดชานุภาพมาก ขอให้มีชนมพีชยืนนานพอเพียงควรแก่กาล

อนึ่ง ขอให้ดิศวรกุมารพึงรักษาไว้ซึ่งสกุลวงศ์ให้ดำรงยืนยาว และพึงรักษาไว้ซึ่งจรรยา คือความประพฤติชอบธรรมสุจริต พึงได้ชัยชำนะปัจจามิตครในที่ทั้งปวง
อนึ่งขอให้กุมารบุตรของเรา อันมีนามว่า ดิศวรกุมารผู้เป็นบุตร ชุ่ม นี้ จงมีฤทธานุภาพในกาลทั้งปวง
ขอพระศรีรัตนตรัยทั้งสาม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า จงเป็นที่พึ่งแก่ดิศวรกุมารนั้น และจงรักษาซึ่งดิศวรกุมารนั้นโดยชอบในการทุกเมื่อ เทอญ

คาถาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานพระเจ้าลูกเธอนั้น ประทานพรบางอย่างเหมือนกันทุกพระองค์ แต่มีบางอย่างแปลกๆกัน สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการได้ทรงพยายามรวบรวมคาถาพระราชทานพรแปลเป็นภาษาไทย(๘) ตรัสว่าทรงพิจารณาดูพรที่พระราชทานแปลกกันนั้น มักจะได้ดังพระราชทาน พรที่ตัวฉันได้พระราชทานจะได้จริงเพียงไรแล้วแต่ผู้อื่นจะพิจารณา แต่ลูกของฉันเองเพิ่งได้อ่านหนังสือประชุมคาถาพระราชทานพร เมื่อกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรโปรดให้พิมพ์แจกเป็นของชำรวยในงานฉลองพระชนมายุเสมอพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ อ่านแล้วพูดว่า "พรที่ทูลกระหม่อมปู่พระราชทานเสด็จพ่อไม่เห็นมีว่าให้มั่งมี" เป็นทำนองว่าเพราะฉันไม่ได้พระราชทานพรข้อนี้จึงไม่รู้จักมั่งมี

ตามความเข้าใจของคนทั้งหลายในปัจจุบันนี้ ดูเหมือนจะหมายความว่าต้องมีเงินนับด้วยแสนจึงมั่งมี แต่ก่อนมาหาเช่นนั้นไม่ด้วยตั้งแต่โบราณมาจนสมัยเมื่อฉันยังเป็นเด็กไม่ใคร่มีใครมีเงินมาก เพราะการเลี้ยงชีพไม่ต้องใช้เงินเท่าใดนัก ข้าวปลาอาหารยังถูก เป็นต้นว่าข้าวสารราคาก็เพียงถังละ ๕๐ สตางค์(๙) ผู้ทรงศักดิ์มีบ่าวไพร่เป็นชาวสวนชาวนายังได้ของกำนัลเจือจาน การที่ต้องใช้เงินไม่มากมายเท่าใดนัก แม้จนเครื่องนุ่งห่มใช้สอยและของเล่นที่ยั่วให้ซื้อก็ไม่ใคร่มีอะไร ผิดกับทุกวันนี้มาก ในเหล่าเจ้านายจึงมีน้อยพระองค์ทีเดียวที่รู้จักเอาพระทัยใส่ในการสะสมเงินทอง(๑๐)

อีกประการ ๑ ผลประโยชน์ของเจ้านายที่ได้พระราชทานก็ยังน้อย ว่าส่วนตัวฉันเองได้เงินเดือนๆละ ๘ บาท ได้ข้าวสารสำหรับให้พี่เลี้ยงแม่นมและบ่าวไพร่กิน กับน้ำมันมะพร้าวสำหรับตามตะเกียงที่เรือนจะเป็นเดือนละกี่ถังลืมเสียแล้ว ถึงปีได้พระราชทานเบี้ยหวัด เบี้ยหวัดพระเจ้าลูกเธอที่ยังไม่ได้โสกันต์กำหนดเป็น ๓ ชั้น ชั้นต่ำปีละ ๒ ชั่ง(๑๖๐ บาท) ชั้นกลาง ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง(๒๐๐ บาท) ชั้นสูง ๓ ชั่ง(๒๔๐ บาท) ฉันได้เคยรับทั้ง ๓ ชั้น แต่ได้เลื่อนชั้นเร็วเพราะอยู่ในพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กที่โปรดทรงใช้สอย พออายุ ๖ ขวบก็ได้รับเบี้ยหวัดถึงชั้น ๑ นอกจากนั้นยังได้ "เงินงวด" ประจำปีจากภาษีอากรบางอย่าง และมีอสังหาริมทรัพย์ได้พระราชทาน ๒ แห่ง คือ ตึกแถวที่ริมถนนเจริญกรุง ๒ ห้อง ได้ค่าเช่าห้อง ๑ เดือนละ ๔ บาท กับนาที่ริมคลองมหาสวัสดิ์แปลง ๑ เป็นเนื้อนารวม ๓๐๐ ไร่ คุณตาจัดการทำได้ข้าวมาเจือจานกินบ้าง ถ้าคิดเป็นเงินรายได้ทุกประเภทที่กล่าวมา เห็นจะตกราวปีละ ๓,๐๐๐ บาท ดูก็ไม่รู้สึกอัตคัดในสมัยนั้น

เรื่องประวัติในตอนเมื่อฉันยังเป็นทารก แม่เล่าให้ฟังบ้างได้ยินท่านผู้อื่นที่ได้เลี้ยงดูอุปการะเล่าบ้าง เป็นเรื่องๆไม่สู้ติดต่อกัน แม่เล่าให้ฟังเป็นเรื่องต้น ว่าเมื่อพาฉันขึ้นไปเฝ้าบนพระมหามณเฑียรครั้งแรก ทูลกระหม่อมเอานิ้วพระหัตถ์จิ้มที่ปากสักครู่หนึ่ง แล้วตรัสแก่แม่ว่า "ลูกคนนี้จะฉลาด" เมื่อคิดว่าในเวลานั้นอายุของฉันเพียงสักสามสี่เดือน จะทรงพยากรณ์ด้วยสังเกตอย่างไรดูก็น่าพิศวง บางทีจะทรงสังเกตว่าดูดนิ้วพระหัตถ์หรือไม่ เพราะธรรมดาลูกอ่อนย่อมชอบดูดนม เมื่อเอานิ้วจิ้มที่ปาก ถ้าเป็นทารกมีอุปนิสัยสังเกตรู้ว่ามิใช่นมก็ไม่ดูด ถ้าไม่มีอุปนิสัยเช่นนั้นก็หลงดูดด้วยสำคัญว่านม หลักของวิธีที่ทรงพยากรณ์จะเป็นดังว่านี้ดอกกระมัง

เรื่องประวัติตามได้ยินท่านผู้ใหญ่เล่าต่อมา ว่าเมื่อฉันอายุได้ ๒ ขวบ เจ็บหนักครั้ง ๑ ถึงคาดกันว่าจะตาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นอธิบดีกรมหมอหลวงเสด็จเข้าไปทรงดูแลการรักษาพยาบาล และกรมหลวงวงศาฯตรัสให้หลวงจินดา(ชื่อตัวว่ากระไรลืมเสียแล้ว)ตั้งยารักษาฟื้นจึงได้รอดชีวิตมา เมื่อหายเจ็บแล้ว ต่อมาจะได้ตามเสด็จไปพระนครศรีอยุธยา แม่เกรงว่าเอาแม่นมไปด้วยจะลำบากจึงคิดให้ฉันหย่านม(๑๑)ด้วยอาหารอย่างอื่นล่อ และห้ามมิให้แม่นมให้กินนม แต่ฉันร้องไห้จนนมพลัดแกสงสารลอบมาให้กินนมทุกวัน ก็ไม่หย่าได้ทันวันตามเสด็จจึงต้องให้แม่นมไปด้วย แต่เมื่อไปอยู่ตำหนักเล็กบนลานข้างหลังพลับพลาจตุรมุขในวังจันทร์เกษม แม่ยอมให้กินนมแต่วันแรก พอตกค่ำสั่งให้เอาตัวนมพลัดไปคุมไว้ที่อื่น ไม่ให้ลอบมาหาได้ ในคืนวันนั้นปล่อยให้ฉันร้องไห้ดิ้นรนจนหลับไปเอง รุ่งขึ้นก็หย่านมได้ ตำหนักในวังจันทร์ฯหลังนั้นยังอยู่จนถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อฉันขึ้นไปภายหลังนึกว่าจำได้ตั้งแต่ครั้งเมื่อถูกอดนม ถ้าเป็นเช่นนั้นก็คงเป็นเพราะรู้สึกตามประสาเด็ก ว่าได้รับความทุกข์ร้อนใหญ่หลวงเป็นครั้งแรกจึงไม่ลืม

แต่เมื่อมาคิดว่าเวลานั้นอายุยังไม่ถึง ๓ ขวบ ก็เกิดสงสัยว่าหรือจะหลงเอาเรื่องที่ได้ฟังเล่ากับที่ได้เห็นในภายหลังมาสำคัญปนกันไป มีอีกเรื่อง ๑ ซึ่งจำได้เนื่องกับตามเสด็จไปวังจันทร์ฯ คือเขาเอาดินปั้นเป็นกรงมีซี่ไม้ไผ่อยู้ข้างบนใส่จิ้งหรีดมาให้เล่น ฟังมันร้องและดูมันกัดกันสนุกดี แต่ก็ได้ไปวังจันทร์ฯหลายครั้ง อาจจะมาจำได้ต่อเมื่อไปครั้งหลังๆ เพราะฉะนั้นเห็นจะไม่ควรอวดว่ารู้จักจำมาแต่เล็ก ที่มาเริ่มจำความได้จริงนั้นตั้งแต่ปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่ออายุได้ ๔ ขวบเป็นต้นมา ถึงตอนนี้เริ่มเรียนหนังสือและขึ้นเฝ้าทูลกระหม่อมทุกวัน เวลานั้นเสด็จประทับที่พระอภิเนาวนิเวศ์(๑๒)แล้ว

การศึกษาของพระเจ้าลูกเธอ ดูเหมือนจะมีระเบียบมาแต่ในรัชกาลที่ ๑ (บางทีจะตามอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา)ใช้มาจนในสมัยเมื่อฉันเริ่มศึกษา ถ้าเรียกตามคำที่ใช้ในการศึกษาทุกวันนี้ ชั้นประถมศึกษาเรียนต่อครูผู้หญิงที่ในพระราชวังเหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง พอพระชันษาได้ ๓ ขวบก็ตั้งต้นเรียนภาษาไปจนพระชันษาราว ๗ ขวบ จึงเริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาภาคต้น ถึงชั้นมัธยมการเล่าเรียนของพระองค์ชายกับพระองค์หญิงเริ่มแยกกัน พระองค์ชายเรียนต่อครูผู้ชาย พระองค์หญิงเรียนต่อครูผู้หญิง เพราะวิชาที่เรียนตอนนี้ผิดกัน พระองค์ชายเริ่มเรียนภาษามคธ พระองค์หญิงก็เริ่มฝึกหัดการเรือน แต่คงเรียนภาษาไทยด้วย อ่านหนังสือเรื่องต่างๆเหมือนกันทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง การฝึกหัดกิริยามารยาทก็กวดขันตั้งแต่ชั้นนี้ เขตของการเรียนชั้นมัธยมภาคต้นไปจนถึงโสกันต์(พระองค์ชายพระชันษา ๑๓ ปี พระองค์หญิงพระชันษา ๑๑ ปี)

แต่นั้นเรียนวิชามัธยมภาคปลาย คือพระองค์ชายทรงผนวชเป็นสามเณร เรียนพระธรรมกับทั้งฝึกหัดปฏิบัติพระวินัย Discipline และเริ่มเรียนศิลปวิทยาเฉพาะอย่างที่ชอบพระอัธยาศัย ทรงผนวชอยู่พรรษา ๑ บ้างกว่านั้นบ้าง จึงลาผนวช(ที่ทรงผนวชอยู่จนอุปสมบทเป็นพระภิกษุมีน้อย) เมื่อลาผนวชแล้วต้องออกมาอยู่นอกพระราชวัง แล้วเรียนวิชาเฉพาะอย่างแต่นั้นมา การเรียนวิชาในสมัยนั้น อาศัยไปฝึกหัดอยู่ในสำนักผู้เชี่ยวชาญด้วยยังไม่มีโรงเรียน แต่วิชารัฐประศาสน์และราชประเพณีนั้น เจ้านายได้เปรียบคนจำพวกอื่นเพราะมีตำแหน่งเข้าเฝ้าในท้องพระโรงอันเป็นที่ว่าราชการบ้านเมือง ได้เรียนด้วยได้ฟังคดีที่เจ้าหน้าที่กราบบังคมทูลและที่พระเจ้าอยู่หัวทรงบัญชาการมาแต่ยังเยาว์วัย ตลอดจนได้คุ้นเคยกับท่านผู้หลักผู้ใหญ่ในราชการบ้านเมือง ด้วยเข้าเฝ้าทุกๆวันดังกล่าวมา การศึกษาชั้นนี้ตลอดเวลา ๖ ปี จนพระชันษาได้ ๒๑ ปีถึงเขตอุดมศึกษา ทรงผนวชอีกครั้ง ๑ เป็นพระภิกษุ ศึกษาพระธรรมวินัยกับทั้งวิชาอาคมชั้นสูง ซักซ้อมให้เชี่ยวชาญ เปรียบเหมือนอย่างเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อลาผนวชก็เป็นสำเร็จการศึกษาสามารถรับราชการได้แต่นั้นไป

ส่วนเจ้านายพระองค์หญิงนั้น ตั้งแต่โสกันต์แล้วก็ทรงศึกษาวิชาความรู้ชั้นสูงขึ้นไปเป็นลำดับ นับแต่การศึกษาศีลธรรมและฝึกหัดวิชาการเรือน และเริ่มเรียนวิชาเฉพาะประเภทอันชอบพระอัธยาศัยสืบเนื่องไป จนอำนวยการต่างๆในหน้าที่ของขัตติยนารีได้โดยลำพังพระองค์ ข้อที่พระองค์ชายมีโอกาสเรียนราชการเพราะเข้าเฝ้าในเวลาเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายพระองค์หญิงก็มีโอกาสศึกษาทางฝ่ายใน ได้ความรู้ทั้งราชประเพณีและระเบียบวินัยในสมาคมของกุลนารี จนสามารถรับหน้าที่ราชการฝ่ายในและฝึกสอนผู้อื่นสืบกันมา ที่ในพระราชวังจึงเป็นแหล่งสำหรับกุลสตรี เปรียบเหมือนมหาวิทยาลัยอันเป็นที่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชอบส่งธิดาเข้าไปฝากให้ศึกษาในสำนักเจ้านาย และผู้อื่นสามารถฝึกสอน คนทั้งหลายจึงชอบชมผู้หญิงชาววังมาแต่โบราณเพราะการที่ได้ศึกษานั้น

ว่าเฉพาะการศึกษาของตัวฉันเอง ได้ทันเรียนชั้นปฐมศึกษาตามแบบเก่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ แรกเรียนต่อคุณแสงเสมียน(๑๓) ในเวลานั้นหนังสือเรียนยังไม่มีฉบับพิมพ์แม่ต้องจ้างอาลักษณ์เขียนหนังสือเรียนด้วยเส้นหรดารลงในสมุดดำ เมื่อได้หนังสือมาแล้วถึงวันพฤหัสบดีอันถือกันทั่วไปจนทุกวันนี้ว่าเป็น "วันครู" ควรเริ่มเรียนหนังสือเวลาเช้า ให้บ่าวถือพานรองหนังสือเรียนนั้นนำหน้า พี่เลี้ยงอุ้มตัวฉันเดินตามมีบ่าวกั้นพระกลดคน ๑ บ่าวตามอีกสองสามคน คน ๑ ถือพานเครื่องบูชามีดอกไม้ธูปเทียนกับดอกเข็ม และดอกมะเขือกับทั้งหญ้าแพรก (ของเหล่านี้เป็นของอธิษฐานขอให้ปัญญาเฉียบแหลมเหมือนเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้รวดเร็วเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครู ยกพานหนังสือเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชาหนังสือแล้วจึงเริ่มเรียน ครูให้ไม้เหลาเท่าแกนธูปอัน ๑ สำหรับชี้ตัวหนังสือที่อ่าน สอนให้อ่านคำนมัสการ "นโม พุทฺธาย สุทฺธํ" ก่อน จำได้แล้วจึงอ่านสระพยัญชนะต่อไป นอกจากวันพฤหัสบดีไม่ต้องมีเครื่องบูชา ไปเรียนเวลาตอนเช้าทุกวันเพราะกลางวันต้องขึ้นเฝ้า

ฉันเรียนอยู่กับคุณแสงไม่ช้านัก จะเป็นเพราะเหตุใดลืมเสียแล้ว ต่อมาย้ายไปเรียนต่อคุณปาน ธิดาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ถึงตอนนี้เริ่มใช้หนังสือพิมพ์ คือปฐม ก กาซึ่งหมอบรัดเลพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ยังใช้วิธีสอนอยู่อย่างเดิม หัดอ่านสระพยัญชนะและอ่านตัวอักษรประสมกันไปจนจบแม่เกย แล้วหัดอ่านหนังสือเรื่องต่างๆเช่นบทละครเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์เป็นตัน เรียนถึงชั้นนี้เรียกว่า "ขึ้นสมุด" เพราะใช้หนังสือเรื่องต่างๆเป็นหนังสือเรียน อ่านเรื่องต่างๆไปจนสามารถอ่านหนังสือไทยได้แตกฉาน แต่ส่วนหัดเขียนหนังสือไม่สู้กวดขันนัก เลขไม่ได้สอนทีเดียว เพราะในสมันนั้นยังถือว่าเป็นวิชาอันหนึ่งซึ่งต้องมีครูสอนต่างหาก ในเวลาเมื่อฉันกำลังเรียนหนังสือนั้น ประจวบกับที่หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือสามก๊กสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงซื้อมาพระราชทานพระเจ้าลูกเธอพระองค์ละฉบับ ๔เล่มสมุดฝรั่ง ตั้งแต่นั้นฉันก็อ่านหนังสือสามก๊กเป็นหนังสือเรียน เลยชอบอ่านหนังสือเป็นนิสัยติดตัวมาจนบัดนี้

เรื่องขึ้นเฝ้านั้น ตั้งแต่ออกจากผ้าอ้อมแม่ก็พาขึ้นเฝ้าดังกล่าวมาแล้ว แต่ขึ้นไปเฝ้าเป็นบางวันและเฝ้าอยู่ชั่วครู่ประเดี๋ยวก็พากลับ ต่อเมื่ออายุย่างเข้า ๔ ขวบ จึงขึ้นเฝ้าทุกวันเป็นนิจ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (นอกจากกรมหมื่นมเหศวรศิววิลาศกับกรมวิษณุนาถนิภาธร)ล้วน "เกิดในเศวตรฉัตร" คือประสูติเมื่อเสด็จเสวยราชย์แล้วยังอยู่ในปฐมวัยด้วยกันทั้งนั้น แต่เป็นชั้นต่างกันตามพระชนมายุ ที่ประสูติแต่ปีชวด พ.ศ. ๒๓๙๕ ลงมาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เป็นชั้นใหญ่ ที่ประสูติแต่ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๐๐ ลงมาจนปีวอก พ.ศ. ๒๔๐๓ เป็นชั้นกลาง ที่ประสูติแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ มาจนปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เป็นชั้นเล็ก เวลาที่พระเจ้าลูกเธอขึ้นเฝ้านั้นต่างกันตามชั้น คือขึ้นเฝ้าพร้อมกันทุกชั้นเมื่อเวลาเสวยกลางวัน แต่เวลาเสด็จลงทรงบาตรตอนเช้า หรือเวลาเสด็จออกข้างหน้าตอนบ่าย ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลาง เวลาเสด็จออกทรงธรรมและออกขุนนางกลางคืน ตามเสด็จแต่พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่

และยังมีพระเจ้าลูกเธอบางพระองค์ซึ่งทรงเลือกสรรสำหรับทรงใช้สอยเป็นอุปัฏฐากประจำพระองค์มีแต่ในชั้นใหญ่ คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและกรมหลวงสมรรัตน์ฯเป็นต้น พระเจ้าลูกเธอชั้นใหญ่กับชั้นกลางอาจไปตามเสด็จได้โดยลำพังพระองค์ แต่ชั้นเล็กยังต้องมีผู้ใหญ่ควบคุมจึงมิใคร่ได้ตามเสด็จ ตัวฉันอยู่ในชั้นเล็ก เมื่อตอนแรกขึ้นเฝ้าแม่เป็นผู้ดูแล แต่ต่อมาเจ้าพี่โสมาวดี (คือกรมหลวงสมรรัตน์ฯ) กับเจ้าพี่สีนากสวาสดิ์ (ทั้ง ๒ พระองค์ เป็นธิดาเจ้าจอมมารดาเที่ยงซึ่งเป็นพี่ของแม่) ท่านเป็นชั้นใหญ่ ทรงรับดูแลพาตามเสด็จออกไปข้างหน้าในตอนบ่าย ฉันจึงได้ออกไปกับเหล่าเจ้าพี่ที่เป็นชั้นกลางมาแต่ยังเล็ก เห็นจะเป็นด้วยทูลกระหม่อมทรงสังเกตเห็นว่าฉันไม่ตระหนี่ตัว กล้าออกไปข้างหน้าแต่เล็กนั้นเองจึงลองใช้สอย และโปรดฯให้ตามเสด็จตั้งแต่อายุยังไม่ถึง ๕ ขวบ

การที่ทูลกระหม่อมลองใช้สอยเมื่อยังเล็กนั้น จำใส่ใจไว้บางเรื่อง มาคิดดูในเวลานี้เป็รเรื่องที่ฉันควรจะอวดก็มี ที่ควรจะละอายก็มี จะเล่าทั้ง ๒ อย่าง เรื่อง ๑ ดูเหมือนเมื่ออายุฉันได้สัก ๕ ขวบ วันหนึ่งเวลาเสวยกลางวัน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสร ทูลกระหม่อมตรัสสั่งให้ฉันไปหยิบตลับหยกในพานเครื่องพระสำอางมาถวาย เจ้าพี่กรมหลวงสมรรัตน์ฯเป็นต้น ท่านตรัสบอกเมื่อภายหลังว่า ท่านพากันทรงพระวิตก เพราะพานเครื่องพระสำอางนั้นตั้งอยู่บนพระแท่นลดข้างพระแท่นบรรทมบนพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ซึ่งฉันยังไม่เคยไปถึง เกรงจะไปเซอะ แต่ส่วนตัวฉันเองในเวลานั้นไม่รู้สึกวิตกว่าจะหยิบผิด ไปมัวแต่กลัวผีเป็นกำลัง ด้วยต้องขึ้นบันไดเข้าไปในพระที่นั่งภาณุมาศฯเวลาไม่มีใครอยู่ในนั้น แข็งใจเดินดูไปจนเห็นเครื่องหยกในพานพระสำอาง ก็ปีนขึ้นบนพระแท่น ไปหยิบเอาตลับหยกลงมาถวายได้ถูกดังพระราชประสงค์ ทูลกระหม่อมตรัสชมว่าฉลาด วันนั้นเฝ้าอยู่พร้อมกันมาก ดูเหมือนฉันจะได้ "ยี่ห้อ" ดีแต่นั้นมา

เรื่องตลับหยกที่กล่าวนี้ยังประหลาดด้วยเมื่อเวลาล่วงมากว่า ๖๐ ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาฯโปรดเกล้าฯให้ฉันเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา มีหน้าที่จัดพิพิธภัณฑ์สถานสำหรับพระนคร ฉันตรวจดูของพิพิธภัณฑ์เดิม พบเครื่องหยกอยู่ในกำปั่น ฉันนึกขึ้นว่าเป็นเครื่องพระสำอางของทูลกระหม่อม ให้สอบบัญชีได้ความว่าเดิมมีพานทองรอง เป็นของส่งออกมาจากข้างในแต่เมื่อแรกตั้งพิพิธภัณฑ์ (ณ ศาลาสหทัยสมาคม) ที่ในพระบรมมหาราชวัง ครั้นเมื่อพิพิธภัณฑ์ย้ายไปอยู่ที่พระราชวังบวรฯ มีผู้ร้ายลักพานทองที่รองไปเสีย เหลืออยู่แต่เครื่องหยกจึงเอาเก็บรักษาไว้ในกำปั่น ฉันหยิบตลับหยกใบที่นึกว่าเคยหยิบลงมาถวายทูลกระหม่อม เอาไปถวายกรมหลวงสมรรัตน์ฯทอดพระเนตร ท่านทรงจำได้ว่าเป็นใบนั้นเอง ฉันจึงให้ส่งเครื่องพระสำอางหยกคืนไปยังกระทรวงวังทั้งสำรับ เพื่อจะเอาไปรักษาไว้กับเครื่องราชูปโภคของเก่า

อีกเรื่อง ๑ ต่อมา วันหนึ่งเวลาเสวยกลางวันเหมือนอย่างเรื่องก่อน ทูลกระหม่อมตรัสใช้ให้ฉันออกไปดูที่ห้องอาลักษณ์ว่า "ตาฟัก" คือพระศรีสุนทรโวหารราชเลขานุการอยู่หรือไม่ ด้วยวันนั้นมีกิจจะทรงพระอักษรนอกเวลาที่เคยทรง พระศรีสุนทรโวหารเป็ยผู้สำหรับเขียนพระราชนิพนธ์ตามรับสั่ง ฉันกลับเข้ามากราบทูลว่า "ตาฟักอยู่ที่ห้องอาลักษณ์" ครั้งเสวยแล้วดำรัสสั่งให้ผู้อื่นไปเรียกพระศรีสุนทรโวหาร เขากลับเข้ามากราบทูลว่ากลับไปบ้านเสียแล้ว ทูลกระหม่อมตรัสฟ้องคุณป้าเที่ยงว่าฉันเหลวไหลใช้สอยไม่ได้เรื่อง คุณป้าเที่ยงเตรียมจะลงโทษ เรียกคุณเถ้าแก่ที่ได้ไปกับฉันมาถามว่าฉันไปเที่ยวแวะเวียนเสียที่ไหน คุณเถ้าแก่เบิกความยืนยันว่าได้ไปกับฉันจนถึงห้องอาลักษณ์ และได้ยินฉันบอกกับพระศรีสุนทรโวหารว่า ทูลกระหม่อมมีรับสั่งใช้ให้ฉันไปดูว่าแก่อยู่หรือไม่ ความจริงก็ปรากฏว่า เป็นด้วยพระศรีสุนทรโวหารแกไม่เชื่อคำของฉัน พอเห็นพ้นเวลาเคยทรงพระอักษรแล้วกลับบ้านไปเสีย เมื่อได้ความดังนี้ก็รอดตัว ถ้าหากไม่มีคุณเถ้าแก่เป็นพยานวันนั้นเห็นจะถูกตีไม่น้อย

อีกเรื่อง ๑ จะเล่ารู้สึกละอายอยู่บ้าง คือมีใครส่งขวดหมึกอันเป็นของคิดขึ้นใหม่มาถวายทูลกระหม่อมจากต่างประเทศอัน ๑ ขวดหมึกนั้นทำเป็นรูปหอยโข่งพลิกตัวได้ตั้งบนที่ เวลาไม่ใช้ก็พลิกปากหอยเข้าไปเสียข้างหลัง เป็นอันปิดรักษาหมึกไว้เอง ไม่ต้องมีฝาขวด ถ้าจะใช้หมึกพลิกหอยให้ปากออกมาข้างหน้า หมึกก็มาอยู่ที่ปากหอยนั้นไม่ต้องจุ่มปากกาลงไปลึก ทูลกระหม่อมโปรดขวดหมึกนี้ตั้งไว้บนโต๊ะทรงพระอักษร วันหนึ่งเสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมคมเวลาบ่าย จะโปรดให้ผู้ใดผู้หนึ่งดูขวดหมึกนั้น มีรับสั่งใช้ให้ฉันกลับเข้ามายกออกไปถวาย ฝ่ายตัวฉันไม่รู้กลไกของขวดหมึก พอยกขึ้นตัวหอยก็พลิกกลับออกมา หมึกหกราดถาดที่รองนองไปทั้งนั้น ฉันตกใจราวกับจะสิ้นชีวิตด้วยรู้ว่าคงถูกทูลกระหม่อมกริ้ว แต่มิรู้จะทำประการใดก็ยกขวดหมึกเดินต่อไป ยังไม่ทันออกข้างหน้าพบเจ้าพี่ทองแถมถวัลยวงศ์ (คือ กรมหลวงสรรพสาตร์ศุภกิจ) วิ่งกระหืดกระหอบมา ดูเหมือนกำลังตกพระทัยด้วยเสด็จขึ้นไปช้าไม่ทันตามเสด็จออก ตรัสถามฉันว่าทูลกระหม่อมเสด็จอยู่ที่ไหน ฉันบอกว่าประทับอยู่พระที่นั่งอนันตสมาคม แล้วเลยส่งขวดหมึกวานให้ท่านเอาไปถวาย เจ้าพี่ทองแถมก็รับเอาไปด้วยความยินดี ไปถูกกริ้วเสียงอมทีเดียว ส่วนตัวฉันเองพอขวดหมึกพ้นมือไปก็รีบกลับมาเรือนเลยรอดตัว เรื่องขวดหมึกนี้เลยเป็นเรื่องสำหรับเจ้านายพี่น้องล้อเจ้าพี่ทองแถมฯกับตัวฉันต่อมาอีกช้านาน

เรื่องตามเสด็จทูลกระหม่อมนั้น แต่พอฉันขึ้นเฝ้าได้เสมอในไม่ช้าก็ได้ตามเสด็จออกข้างหน้า เพราะเจ้าพี่โสมกับเจ้าพี่สีนากท่านคอยประคับประคองดังกล่าวมาแล้ว ถ้าเสด็จทรงพระราชดำเนินไปใกล้ๆ เจ้าพี่ท่านจูงไป ถ้าทรงพระราชดำเนินไปทางไกล เช่นเสด็จไปวัดราชประดิษฐ์ฯเป็นต้น มหาดเล็กเขาก็อุ้มไป พวกมหาดเล็กที่เคยอุ้มฉันมาได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ในรัชกาลที่ ๕ มีหลายคน ควรกล่าวถึงโดยเฉพาะ คือเจ้าพระยาสุรพันธพิสุทธิ(เทศ บุนนาค) เพราะได้มาอยู่ในกระทรวงมหาดไทยด้วยกัน เมื่อฉันเป็นเสนาบดีและตัวท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี ท่านยังลำเลิกว่าเคยอุ้มฉันมาแต่เล็ก ถ้าตามเสด็จไปด้วยกระบวนแห่มักทรงพระราชยาน(๑๔) แต่แรกฉันขึ้นวอพระที่นั่งรองตามเสด็จ

ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าลูกเธอที่เคยขึ้นพระราชยานรุ่นก่อนทรงพระเจริญ พระองค์หนักเกินขนาดโปรดให้เปลี่ยนชุดใหม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯให้ฉันขึ้นพระราชยานตั้งแต่อายุได้ ๕ ขวบมาจนสิ้นรัชกาล พระเจ้าลูกเธอที่ได้ขึ้นพระราชยานเป็นชุดเดียวกันรวม ๔ พระองค์คือ สมเด็จพระศรีพัชรินทรฯ กับสมเด็จพระพันวัสสาฯ สองพระองค์นี้เสด็จบนพระเพลา ถ้าไปทางไกลก็ประทับข้างซอกพระขนอง กรมพระสมมตอมรพันธุ์ กับตัวฉันนั่งเคียงกันข้างหน้าที่ประทับ

เรื่องขึ้นพระราชยานฉันจำได้ไม่ลืมเพราะเคยตกพระราชยานครั้ง ๑ เมื่อไปตามเสด็จงานฉลองวัดหงส์ ในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ขากลับเสด็จขึ้นพระราชยานที่ท่าวรดิษฐ์ เห็นจะเป็นด้วยฉันง่วงนั่งหลับมาในพระราชยาน เมื่อผ่านประตูกำแพงแก้วพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางด้านตะวันออก พอคนหามพระราชยานลงบันได ข้างหน้าพระราชยานต่ำลง ฉันก็พลัดตกลงมา จมื่นจง(โต ซึ่งภายหลังได้เป็นที่พระยาบำเรอภักดิ์ แล้วเลื่อนเป็นพระยาวิเศษสัจธาดาในรัชกาลที่ ๕) อุ้มส่งขึ้นไปนั่งอย่างเดิม ไม่ได้เจ็บปวดชอกช้ำอันใด แต่เมื่อทูลกระหม่อมมาตรัสเล่าที่ข้างใน แม่ตกใจกลัวจะเกิดอัปมงคลถึงให้ทำขวัญกันเอะอะ เรื่องตกพระราชยานนี้ชอบกล เจ้าพี่ท่านได้ขึ้นพระราชยานมาก่อน บางพระองค์ก็เคยตก ใครตกก็เป็นจำได้ไม่ลืม เพราะนานจะมีสักครั้ง ๑

แต่ประหลาดที่มามีเหตุเช่นนั้นแก่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช(เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ)ในรัชกาลที่ ๕ ครั้งตามเสด็จไปวัดกลางเมืองสมุทรปราการ เวลานั้นฉันเป็นราชองครักษ์เดินแซงไปข้างพระราชยาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯขึ้นพระราชยานแต่พระองค์เดียว ประทับพระยี่ภู่ข้างหน้าที่ประทับ เมื่อกระบวนแห่เสด็จถึงวัดจะไปที่หน้าพระอุโบสถ แต่พอผ่านศาลาโรงธรรมที่พวกพ่อค้าตั้งแถวคอยเฝ้า มีผู้ชูฎีกาทูลเกล้าฯถวาย(๑๕) ดำรัสสั่งให้หยุดพระราชยานเพื่อจะทรงรับฏีกา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เห็นจะกำลังเผลอพระองค์ พอพระราชยานหยุดชะงักก็พลัดตกลงไปข้างหน้า เป็นครั้งหลังสุดที่เจ้านายตกพระราชยาน

การเสด็จประพาสของทูลกระหม่อมนั้น บางวันทรงรถในเวลาบ่าย รถพระที่นั่งที่ทรงในสมัยนั้นเป็นรถ ๒ ล้อมีประทุน อย่างที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Buggy เทียบม้าเดี่ยว บางวันโปรดให้ฉันตามเสด็จขึ้นรถพระที่นั่ง เจ้าพี่ชั้นใหญ่ท่านนั่งสองข้างพระองค์ ฉันนั่งตรงที่ห้อยพระบาท ต้องก้มหัวหลีกสายบังเหียนซึ่งทรงขับม้าอยู่เสมอ

ในสมัยนั้นเริ่มมีเรือไฟ ชื่อ "เจ้าพระยา" เดินเมล์ และรับส่งสินค้าในกรุงเทพฯ กับเมืองสิงคโปร์ ๑๕ วันมาถึงกรุงเทพฯครั้ง ๑ วันใดเรือเมล์มาถึงทูลกระหม่อมก็ติดพระราชธุระทรงหนังสือ ซึ่งใครๆมีมาถวายจากต่างประเทศ และทรงเขียนลายพระราชหัตถเลขาตอบหรือที่จะมีไปถึงต่างประเทศ ราว ๓ วันจึงเสร็จพระราชธุระ ในระหว่าง ๓ วันนั้นมักไม่เสด็จประพาส และไม่โปรดให้ใครรบกวน จนพวกเข้าเฝ้าทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในเข้าใจกัน พอได้ยินว่าเรือเจ้าพระยามาถึงก็ระวังไม่ให้มีอันใดกวนพระราชหฤทัย ในพวกเด็กๆเช่นตัวฉันแม้ถูกห้ามมิให้เข้าไปใกล้ที่ทรงพระอักษร

แต่เมื่อรู้ว่าเรือเจ้าพระยาเข้ามาถึงก็พากันยินดี ด้วยมักมีผู้ส่งของเข้ามาถวายทูลกระหม่อม บางทีมีของแปลกๆได้พระราชทานเนืองๆ ของประหลาดอย่างหนึ่งนั้นคือ น้ำแข็ง ดูเหมือนจะเพิ่งทำได้ที่เมืองสิงคโปร์ไม่ช้านักมีผู้ส่งแท่งน้ำแข็งใส่หีบกลบขี้เลื่อยมาถวายเนืองๆ ได้น้ำแข็งมาเมื่อใดก็มักโปรดให้แจกเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ พวกที่เพิ่งได้เห็นน้ำแข็งชั้นเด็กๆเช่นตัวฉัน ชอบต่อยออกเป็นก้อนเล็กๆอมเล่นเย็นเฉียบสนุกดี พวกที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ดูมิใคร่มีใครชอบ มักบ่นว่ากินน้ำแข็งปวดฟันและยังมีพวกคนแก่ที่เป็นแต่ได้ยินว่าแจกน้ำแข็ง ไม่เชื่อว่าน้ำ กระซิบกันว่า "จะปั้นน้ำเป็นตัวอย่างไรได้" ด้วยมีในสุภาษิตพระร่วงว่า "อย่าปั้นน้ำเป็นตัว" หมายความห้ามมิให้ทำอะไรฝืนธรรมชาติ หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวแต่ว่า "ปั้นน้ำเป็นตัว" หมายความติเตียนว่า แกล้งปลูกเท็จให้เป็นจริง เคยได้ยินกันชินหูมาแต่โบราณ โรงทำน้ำแข็งเพิ่มมามีขึ้นในประเทศนี้ต่อเมื่อรัชกาลที่ ๕

นอกจากของที่ส่งมาจาก "เมืองนอก" บางทีทูลกระหม่อมเสด็จประพาสเวลาบ่ายไปแวะห้างฝรั่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าตึกพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ หรือเสด็จแวะตามร้านทรงซื้อของเล่นหรือของกินมาแจกพระเจ้าลูกเธอ เพราะฉะนั้นในพวกชั้นเล็กถึงจะได้ตามเสด็จหรือไม่ได้ตาม ก็อยากให้เสด็จประพาสด้วยกันทุกพระองค์

ฉันเคยตามเสด็จทูลกระหม่อมไปหัวเมืองหลายครั้ง ครั้งแรกไปถึงพระนครศรีอยุธยา เมื่อคราวอดนมที่เล่ามาแล้ว ครั้งที่ ๒ แม่เล่าว่าได้ตามเสด็จไปในเรือกำปั้นไฟพระที่นั่งจนถึงเขาธรรมามูล เมืองชัยนาท(๑๖) ต่อมาอีกครั้ง ๑ ได้ตามเสด็จไปลงเรือไฟ (ดูเหมือนจะเป็นเรืออัคเรศรัตนาศน์ ที่เอมปเรอนะโปเลียนที่ ๓ ถวาย) ออกไปถึงปากอ่าว ฉันได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรก จำได้เพราะเห็นปลากระเบนบินประหลาดติดตา ต่อมาได้ตามเสด็จไปพระปฐมเจดีย์ เสด็จไปครั้งนั้นทรงเรือกำปั่นไฟจักรข้างขนาดย่อมไปทางคลองมหาสวัสดิ์ ซึ่งเพิ่งขุดใหม่ยังเป็นคลองใหญ่ ในคราวนั้นฉันไปถูกเรียกเป็นพยานให้เบิกความเรื่องเจ้าพี่พระองค์ ๑ ในชั้นเล็กด้วยกันไปหกล้ม ประชวรฟกช้ำ มีการไตร่สวนว่าหกล้มเพราะเหตุใด จึงจำได้ถนัด

ฉันได้ความยกย่องในการตามเสด็จครั้งหนึ่ง เมื่ออายุได้ ๖ ขวบในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ปีนั้นมีการเสด็จออกรับแขกเมืองอย่างเต็มยศ(๑๗) ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลาเสด็จออกรับแขกเมืองนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระราชบัลลังค์ตรงกลาง ขุนนางเฝ้าทางด้านหน้า เจ้านายต่างกรมรัชกาลอื่นเฝ้าทางด้านเหนือ พระเจ้าลูกเธอชั้นผู้ใหญ่มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหัวหน้าเฝ้าทางด้านใต้ ที่โสกันต์แล้วแต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุยอย่างเจ้านายผู้ใหญ่ ที่ยังไม่ได้โสกันต์แต่พระองค์ทรงเกี้ยวและอาภรณ์ตามแบบพระราชกุมารที่ยังเยาว์วัย ประทับบนเบาะและมีเครื่องยศตั้ง(๑๘)

วันนั้นฉันตามไปส่งเสด็จทูลกระหม่อมถึงหลังพระทวารทางเสด็จออก แล้วเกิดอยากเห็นการออกแขกเมือง จึงลอบออกพระทวารทางด้านใต้ ไปแอบเสามองดูอยู่ข้างหลังที่เหล่าเจ้าพี่ท่านประทับ เผอิญทูลกระหม่อมชำเลืองพระเนตรมาเห็น พอเสด็จขึ้นตรัสถามฉันว่า "ลูกดิศอยากออกแขกเมืองกับเขาบ้างหรือ" ฉันกราบทูลว่า "อยาก" ทูลกระหม่อมมาตรัสเล่าให้คุณป้าเที่ยงฟัง แล้วดำรัสสั่งว่าถ้าเสด็จออกแขกเมืองคราวหน้า ให้ฉันไปนั่งข้างท้ายแถวเจ้าพี่ แต่พานเครื่องยศที่ใช้กันนั้นโตเกินตัวฉันนัก ให้คุณป้าเที่ยงหยิบพานทองขนาดย่อมของสมเด็จพระศรีสุริเยนทรฯ ซึ่งอยู่ในที่มาเป็นพานเครื่องยศไปตั้งสำหรับตัวฉัน แต่เผอิญเวลานั้นจวนสิ้นรัชกาลอยู่แล้ว ไม่มีแขกเมืองต่างประเทศมาเฝ้าอีกในกรุงเทพฯ ฉันก็เลยไม่ได้ออกแขกเมือง ถึงกระนั้นก็ได้พระราชทานเบี้ยหวัดเพิ่มถึงชั้นสูงในปีนั้น




 

Create Date : 29 มีนาคม 2550   
Last Update : 29 มีนาคม 2550 15:49:52 น.   
Counter : 2631 Pageviews.  



กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com