กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

สวมเสื้อเข้าเฝ้า


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ



.........................................................................................................................................................



เรื่อง สวมเสื้อเข้าเฝ้า


ปัญหา การสวมเสื้อเข้าเฝ้านั้น เคยได้ยินว่ามีมาก่อนรัชกาลที่ ๔ แล้ว ความข้อนี้จริงหรือไม่ หรือว่ามีการสวมบ้างเป็นครั้งคราวอย่างไร

ตอบ การสวมเสื้อนั้น ความจริงก่อนรัชกาลที่ ๔ ก็มีสวมเหมือนกัน แต่สวมในฤดูหนาว ตามธรรมดาถ้าไม่หนาวไม่สวมเลย นุ่งยก นุ่งปูม แต่ไม่ใส่เสื้อเข้าเฝ้า พระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ใส่ พระเจ้าแผ่นดินเองก็โปรดไม่สวมฉลองพระองค์เพราะอากาศร้อน พระพุทธเจ้าหลวงประทับอยู่โดยปกติไม่ทรงฉลองพระองค์ ผู้ใหญ่แต่ก่อนเล่าว่าหน้าหนาวจะสวมเสื้อเหมือนกันในเวลาเข้าเฝ้า เวลาเข้าเฝ้านั้นต้องคอยดูว่าพระเจ้าแผ่นดินว่าทรงสวมหรือเปล่า พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทนหนาวเก่งพิลึก

ข้าราชการมาจากบ้านมักเอาเสื้อคลุมมาด้วย ถ้าพระเจ้าแผผ่นดินไม่ทรงฉลองพระองค์ก็ต้องถอด หนาวแสนหนาวก็ต้องทนเอา บางคราวกำลังเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินทรงเรียกฉลองพระองค์มาสวมก็มี จนเป็นที่สังเกตกันว่าเมื่อไรพระถันหด ข้าราชการก็ดีใจจะได้สวมเสื้อ.


.........................................................................................................................................................



คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล




 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 29 พฤษภาคม 2550 10:43:51 น.   
Counter : 3204 Pageviews.  


มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า


พระราชวังมัณฑเล
จากหนังสือ เล่าเรื่องพม่ารามัญ ของ ส.พลายน้อย



.........................................................................................................................................................


เรื่อง มูลเหตุแห่งความหายนะของพะม่า


เหตุ ที่จะทรงเล่าเรื่องนี้ เนื่องมาจากทรงปรารภเรื่องเหตุแห่งความเสื่อมของบ้านเมือง และตรัสว่า “ความหายนะของเมืองพะม่าเป็นตัวอย่างอันดีของประเทศเล็กที่จะได้ศึกษาจากพงศาวดาร”

มูลเหตุแห่งความหายนะของประเทศพะม่าเกิดแต่พระเจ้าพาคยีดอทำสงครามแพ้อังกฤษ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องเสียหัวเมืองมอญทางใต้ปากน้ำสาลวิน ตลอดเมืองทวายเมืองตะนาวศรีกับทั้งเมืองยักไข่และเมืองอัสสัม ทางต่อแดนอินเดียไปเป็นของอังกฤษ นอกจากนั้นยังต้องเสียเงินค่าชดใช้ในการสงครามแก่อังกฤษถึง ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ รูปี พระเจ้าพาคยีดอต้องเก็บเงินจากราษฎรในอาณาเขตที่ยังเหลืออยู่เพิ่มขึ้นด้วยประการต่างๆ เพื่อเอาไปใช้หนี้อังกฤษ เป็นเหตุให้ราษฎรเดือดร้อน เริ่มระส่ำระสายเสื่อมความภักดีแต่สมัยนั้น แล้วต่อมาเมื่อพระเจ้าพุกามครองประเทศพะม่าเป็นรัชกาลที่ ๘ ในราชวงศ์อลองพระ พะม่าเกิดรบกับอังกฤษอีก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ รบกันครั้งนี้พออังกฤษตีได้หัวเมืองมอญฝ่ายเหนือขึ้นไปถึงหัวเมืองแปรและเมืองหงสาวดี

ที่เมืองอมรบุระราชธานีก็เกิดเหตุ ด้วยสงสัยน้องยาเธอสององค์ทรงนามว่า “เจ้ามินดง” องค์หนึ่ง กับ”เจ้ากะนอง” องค์หนึ่ง ซึ่งร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกันจะขบถ เจ้าสององค์นั้นรู้ทันก็พากันหนีออกจากเมืองอมรบุระ ไปรวบรวมกำลังตั้งมั่นอยู่ ณ เมืองชเวโบ คือเมืองรัตนสิงหราชธานี ที่พระเจ้าอลองพระเป็นผู้สถาปนาขึ้นนั้น พระเจ้าพุกามให้กองทัพไปปราบหลายครั้งก็กลับพ่ายแพ้มา ผู้คนเห็นบารมีเจ้าสององค์นั้นก็พากันสมัครเป็นรี้พลมากขึ้น เมื่อเจ้ามินดงเห็นว่ามีกำลังพอที่จะตีเมืองอมรบุระได้ ก็แต่งสายให้ไปสืบเจตนาของอังกฤษ ได้ความว่าถ้าพะม่ายอมเป็นไมตรีจะไม่ขึ้นไปตีถึงราชธานี เจ้ามินดงก็ให้เจ้ากะนองอนุชาเป็นแม่ทัพยกลงมาตีเมืองอมรบุระ เผอิญมาประจวบเวลาพวกกองทัพพะม่าที่ล่าหนีอังกฤษขึ้นไปถึงหลายกอง พวกนั้นพากันเข้ากับเจ้ากะนอง เจ้ากะนองก็ตีเมืองอมรบุระได้โดยง่าย เจ้ามินดงจึงได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินพะม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ นับเป็นปีที่สองในรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


พระเจ้ามินดง
จากหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


เมื่อพระเจ้ามินดงได้ราชสมบัตินั้น สั่งห้ามมิให้ทำร้ายพระเจ้าพุกาม ให้สร้างวังถวายเป็นที่ประทับ นับถือเป็นผู้ใหญ่ในราชวงศ์ต่อมาจนถึงแผ่นดินพระเจ้าสีป่อจึงสิ้นพระชนม์ ส่วนพวกขุนนางกับทั้งรี้พลนายไพร่ที่ได้รบพุ่งต่อสู้เมื่อกลับใจอ่อนน้อม ก็พระราชทานอภัยไม่เอาโทษ คนทั้งหลายเห็นพระเจ้ามินดงทรงปราศจากอาฆาต ผิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่ได้ราชสมบัติด้วยรบชนะมาแต่ก่อน ก็พากันนิยมสวามิภักดิ์ การฉุกเฉินในแผ่นดินก็สงบลงได้ทันที ทางภายนอกพระเจ้ามินดงก็แต่ทูตให้ไปเจรจาขออย่าทัพกลับไปเป็นไมตรีกับอังกฤษ อังกฤษได้หัวเมืองมอญฝ่ายเหนือไว้ในมือหมดแล้วก็ยอมเลิกสงคราม

แต่นั้นประเทศพะม่าจึงแยกออกเป็นสองอาณาเขต ข้างฝ่ายใต้เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษเรียกนามว่า “พะม่าใต้” อาณาเขตข้างฝ่ายเหนือพระเจ้าแผ่นดินพะม่ายังคงปกครองตามเดิม เรียกนามว่า “พะม่าเหนือ” แต่ตามประเพณีพะม่าไม่ได้เรียกบ้านเมืองของตนว่าประเทศพะม่า ใช้นามประเทศว่า “กรุงอังวะ” มาแต่โบราณ ดูประหลาดที่เหมือนกับประเพณีไทย เรียกประเทศสยามว่า “กรุงศรีอยุธยา” และใช้นามพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา” มาแต่โบราณอย่างเดียวกัน จนถึงรัชกาลที่ ๔ ไทยจึงเปลี่ยนเรียกว่า “ประเทศสยาม” และใช้นามพระเจ้าแผ่นดินเฉพาะพระองค์

เมื่อพระเจ้ามินดงขึ้นเสวยราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าหญิงเสกขรเทวีน้องนางร่วมพระชนนีกับพระเจ้าพุกามเป็นอัครมเหสี สถาปนาเจ้าหญิงราชธิดาพระเจ้าพาคยีดอ คือนางอเลนันดอ เป็นมเหสี ทรงตั้งเจ้ากะนองราชอนุชาซึ่งเป็นผู้บัญชาการรบพุ่งได้ราชสมบัติถวายเป็นพระมหาอุปราช ทั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณ เพราะไว้วางพระราชหฤทัย ข้างฝ่ายมหาอุปราชก็จงรักภักดีมิได้รังเกียจกันในระหว่างสองพระองค์นั้น การเหล่านี้ล้วนเกิดด้วยเจตนาดี แต่กลับเป็นผลร้ายเมื่อภายหลัง เริ่มด้วยพวกลูกยาเธอของพระเจ้ามินดง คิดเห็นว่าถ้าสิ้นพระเจ้ามินดงเสียแล้วเมื่อใด พระมหาอุปราชก็จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อนั้น เจ้านาย “วังหลวง” คงสิ้นวาสนา ด้วยอำนาจและการสืบสันตติวงศ์จะไปตกอยู่ในพวก “วังหน้า” เพราะมีความรังเกียจเช่นนั้น พวกเจ้านายลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงจึงไม่ชอบพระมหาอุปราชโดยมาก

อยู่มาถึง พ.ศ. ๒๔๐๙ เจ้าเมงกูนลูกเธอชั้นใหญ่ของพระเจ้ามินดงองค์หนึ่ง ถูกฟ้องหาว่าประพฤติชั่วร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง มหาอุปราชจะพิจารณาคดีนั้น เจ้าเมงกูนรู้ตัวว่าคงถูกลงโทษหนัก จึงปรารถนาจะกำจัดพระมหาอุปราชเพื่อป้องกันตัว แต่เห็นว่าถ้าทำร้ายพระมหาอุปราชพระเจ้ามินดงคงลงโทษถึงสิ้นชีวิต ก็เลยคิดจะกำจัดพระเจ้ามินดงชิงเอาราชสมบัติเสียด้วยทีเดียว วันหนึ่งเวลามหาอุปราชกำลังว่าราชการอยู่ ณ ศาลาหลุดดอ เจ้าขบถสององค์ทำกลอุบายให้เจ้าเมงกูนแดงน้องชายวิ่งเข้าไปในวังเหมือนอย่างกับจะหนีภัย และเจ้าเมงกูนกับพรรคพวกถือดาบวิ่งไล่ตามเข้าไปเหมือนอย่างจะทำร้ายเจ้าเมงกูนแดง เมื่อเจ้าเมงกูนแดงวิ่งเข้าไปถึงศาลาหลุดดอร้องว่า “ช่วยด้วย ช่วยด้วย” พระมหาอุปราชกับเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ที่อยู่ในศาลาหลุดดอ เข้าใจว่าเจ้าสององค์นั้นวิวาทกัน ก็พากันลงมาจากศาลาหลุดดอหมายจะห้ามปราม เจ้าเมงกูนกับพรรคพวกเห็นได้ทีก็ฟันพระมหาอุปราชและเจ้านายอีกสามองค์ กับข้าราชการผู้ใหญ่ที่ออกมาด้วยกันนั้นสิ้นชีพหมด แล้วพากันตรูออกไปยังพลับพลาเชิงเขามัณฑเลที่พระเจ้ามินดงประทับแรมอยู่ในเวลานั้น

แต่ขณะแรกที่เกิดเหตุขึ้นในวัง มีพวกชาววังวิ่งไปทูลให้พระเจ้ามินดงรู้พระองค์ทัน เวลานั้นพระองค์เมฆระลูกเธออยู่กับพระเจ้ามินดง เชิญเสด็จออกจากพลับพลาทางประตูข้างหลัง แล้วเชิญเสด็จขึ้นขี่หลังข้าเฝ้าพาลัดเข้าไปในวังได้ พวกขบถออกไปถึงพลับพลาเที่ยวค้นหาพระเจ้ามินดงไม่พบ รู้ว่าหนีเข้าไปในวังก็พากันกลับเข้าไปในวัง แต่เวลานั้นเจ้าเมฆระให้ปิดประตูวังและเรียกพวกรักษาพระองค์คอยต่อสู้อยู่แล้ว พวกขบถเข้าพังประตูวังชั้นกลาง พวกเจ้าเมฆระขึ้นประจำอยู่บนชาลาหน้ามหาปราสาทเอาปืนยิงกราดไว้ พวกขบถก็ไม่สามารถจะเข้าไปในประตูได้ ในเวลากำลังรบกันอยู่นั้นลูกพระมหาอุปราชคุมพวกวังหน้ามาถึง พวกขบถเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ที่ตรงนั้นก็พากันถอยไปรวมกันอยู่ที่บริเวณสวนซ้ายอันเป็นที่นางในประพาส ต่อสู้พวกข้าหลวงอยู่จนกลางคืน พวกขบถเห็นเหลือกำลัง พอเช้าตรู่ก็ลงเรือกำปั่นไฟของหลวงที่ยึดได้ที่ท่าน้ำแล่นลงไป ขอพึ่งอังกฤษทางพะม่าใต้ที่เมืองร่างกุ้ง แต่แรกอังกฤษถือว่าเป็นผู้หนีภัยทางการเมืองจึงรับไว้ เจ้าเมงกูนแดงเป็นไข้ตายที่เมืองร่างกุ้ง เหลือแต่เจ้าเมงกูน ยังพยายามจะตีเมืองพะม่าเหนือ รัฐบาลอังกฤษรู้ก็ให้ส่งไปไว้เสียยังอินเดีย

เมื่อพระมหาอุปราชถูกปลงพระชนม์แล้ว ปัญหาว่าใครจะเป็นรัชทายาทก็เกิดขึ้น ถ้าหากพระเจ้ามินดงมีเจ้าฟ้าลูกยาเธอก็จะไม่ลำบากอย่างไร แต่บังเอิญพระอัครมเหสีเป็นหมันไม่มีราชโอรสธิดา พระนางอเลนันดอมเหสีรองลงมามีแต่ราชธิดาหามีเจ้าฟ้าชายที่จะเป็นรัชทายาทไม่ มีแต่พระองค์เจ้าลูกยาเธอเกิดแต่นักสนมถึง ๓๐ พระองค์ แต่ละองค์ก็มีสิทธิเสมอกัน จึงเกิดลำบากในการที่จะจัดตั้งรัชทายาท เรื่องนี้มีจดหมายเหตุอังกฤษว่า เมื่อนายร้อยเอกสะเลเดน ซึ่งต่อมาได้เป็นนายพันเอกเซอร์เอดวาร์ดสะเลเดน เป็นทูตอังกฤษอยู่ที่เมืองมัณฑเล เป็นคนสนิทชิดชอบกับพระเจ้ามินดงได้เคยทูลตักเตือนว่า มีลูกยาเธอหลายพระองค์ด้วยกัน ควรตั้งองค์ใดองค์หนึ่งขึ้นเป็นพระมหาอุปราชเสียให้ปรากฏ มิฉะนั้นหากสิ้นพระองค์ลงจะเกิดเหตุด้วยชิงราชสมบัติกัน พระเจ้ามินดงตรัสตอบว่า เป็นการยากอยู่ เพราะตั้งองค์ไหนเป็นมหาอุปราชก็คงถูกพี่น้องกำจัดไม่รอดอยู่ได้ ตั้งใครก็เหมือนวางบทประหารชีวิตคนนั้น จึงยังมิรู้ที่จะทำอย่างไร ความส่อให้เห็นว่า พระเจ้ามินดงท้อพระราชหฤทัยมาแต่ครั้งเจ้าเมงกูนเป็นขบถ สิ้นหวังว่าสายโลหิตจะกีดกันมิให้ฆ่าฟันกันเองได้ แต่มีเค้าเงื่อนว่าพระเจ้ามินดงได้หมายลูกเธอที่จะให้เป็นมหาอุปราชไว้สามองค์ คือ เจ้าตอนเซ ซึ่งป็นลูกยาเธอพระองค์ใหญ่และเป็นลูกเขยมหาอุปราชด้วยพระองค์ ๑ เจ้าเมฆระซึ่งเป็นคนกล้าหาญมีความชอบเมื่อครั้งปราบขบถองค์ ๑ เจ้านยองยานซึ่งเป็นนักเรียนมีความรู้องค์หนึ่ง แต่ขัดด้วยเหตุดังตรัสไว้กับนายร้อยเอกสะเลเดน จึงรอหาโอกาสที่จะตั้งองค์ใดองค์หนึ่งได้โดยเรียบร้อย ตำแหน่งรัชทายาทก็เลยว่างอยู่ กลายเป็นปัจจัยให้ร้ายแก่พะม่าอย่างหนึ่ง

ถึง พ.ศ. ๒๔๑๙ ก่อนที่พระเจ้ามินดงจะสวรรคต ๒ ปี พระอัครมเหสีสิ้นพระชนม์ เหตุอันนี้ก็เป็นปัจจัยให้ร้ายต่อไปถึงบ้านเมืองอีกอย่างหนึ่ง ด้วยประเพณีในราชสำนักเมืองพะม่า ภรรยาข้าราชการย่อมเข้าเฝ้าแหนพระอัครมเหสีเหมือนสามีเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน มีโอกาสที่ภรรยาข้าราชการจะทูลกิจสุขทุกข์ของตนตลอดไปจนถึงสามีให้อัครมเหสีมักทรงทราบ พระอัครมเหสีมักนำความทูลแถลงแก่พระเจ้าแผ่นดินให้เห็นคุณความดีแก่ตนเหล่านั้นได้ การที่ทูลพระอัครมเหสีจึงเป็นทางอันหนึ่งซึ่งพวกข้าราชการจะขอพระราชานุเคราะห์ ก็นางเสกขรเทวีพระอัครมเหสีนั้น พระอัธยาศัยโอบอ้อมอารีเป็นที่น่านับถือของคนทั้งหลายทั่วไป ผิดกับพระนางอเลนันดอพระอัครมเหสีรอง ซึ่งทรงคุณเฉพาะภักดีในอุปัฏฐากพระเจ้าแผ่นดิน แต่นิสัยก้าวร้าวร้ายกาจ ไม่มีนางในใครชอบ กล่าวกันว่าพระนางอเลนันดอได้อุปนิสัยมาแต่มารดา ซึ่งเดิมเป็นคนนั่งร้านขายของอยู่ในตลาด พระเจ้าพาคยีดอได้ไปเป็นนางห้ามแต่เมื่อยังเป็นหลานเธอ แล้วเลยรักใคร่ลุ่มหลงถึงตั้งเป็นมเหสี เมื่อได้เสวยราชย์นางนั้นมีบุญขึ้นก็ทำยุ่งต่างๆ เมื่อตอนปลายรัชกาล จนพระเจ้าพาคยีดอถูกปลงจากราชสมบัติ และยังกล่าวกันต่อไปอีกว่า ที่ราชินีสุปยาลัตร้ายกาจนั้น ก็เพราะได้อุปนิสัยเสียไปจากพระนางอเลนันดอ และยังประหลาดต่อมาที่มีราชธิดาองค์หนึ่งของราชินีสุปยาลัต เมื่อเสียเมืองพะม่าแล้ว ได้สามีเป็นเนติบัณฑิตอยู่ ณ เมืองเมาะลำเลิง เพิ่งสิ้นชีพเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ว่ามีอุปนิสัยก้าวร้าวร้ายกาจทำนองเดียวกัน ดูราวกับรับอุปนิสัยสืบกันมาถึงสี่ชั่วคน น่าพิศวง

เมื่ออัครมเหสีสิ้นพระชนม์แล้ว เกิดกิตติศัพท์ว่าพระนางอเลนันดอจะได้เลื่อนเป็นที่อัครมเหสี พวกนางในก็พากันหวาดหวั่น ใครมีโอกาสก็ทูลร้องทุกข์ต่อพระเจ้ามินดงว่า ถ้าพระนางอเลนันดอได้เป็นอัครมเหสีเห็นจะทนไม่ไหวถึงต้องทูลลาออก พระเจ้ามินดงก็นิ่งอยู่ ในไม่ช้าพระนางอเลนันดอก็ทูลขอเป็นตำแหน่งอัครมเหสี พระเจ้ามินดงตรัสตอบว่า พระอัครมเหสีที่สิ้นพระชนม์นั้นได้ทูลขอมิให้ตั้งพระออัครมเหสีอีกได้ตรัสรับคำไว้ จึงเป็นแต่เพิ่มยศพระนางอเลนันดอให้เป็นนางพญาช้างพังเผือก และพระราชทานเศวตรฉัตรชั้นเดียวให้กั้น พระนางอเลนันดอไม่ได้เป็นพระอัครมเหสีดังประสงค์ เมื่อทราบว่าได้มีพวกนางในทูลทัดทาน ก็หมายหน้าอาฆาตคนเหล่านั้น เห็นจะทรงรังเกียจอุปนิสัยของพระนางอเลนันดอ เกรงว่าจะทำให้เกิดขุ่นเข็ญขึ้นในพระราชฐาน แต่ที่จริงก็ไม่ป้องกันความลำบากได้ เพราะพระนางอเลนันดอเป็นมเหสีรองอยู่แล้ว เมื่อไม่มีองค์อัครมเหสี นางก็ได้เป็นใหญ่อยู่นั่นเอง เป็นแต่ไม่อยู่ในฐานะที่จะออกรับรองภรรยาข้าราชการเหมือนองค์อัครมเหสีเท่านั้น ถึงกระนั้นพวกข้าราชการที่เคยได้ประโยชน์ด้วยให้ภรรยาเพ็ดทูลพระอัครมเหสีมาแต่ก่อน ก็หันไปประจบประแจงพระนางอเลนันดอขอให้ช่วยสงเคราะห์ แม้พวกเสนาบดีในหลุดดอที่เป็นหัวหน้าข้าราชการก็พากันยำเกรง


พระนางอเลนันดอ
จากหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


พระนางอเลนันดอจึงมีอำนาจขึ้นในระหว่างสองปีนั้น อาจจะเริ่มคิดถึงเรื่องสืบสันตติวงศ์แต่สมัยนี้ก็เป็นได้ ด้วยรู้อยู่ว่าพวกนางในที่เกลียดชังตนมีอยู่มาก หากลูกเธอของเจ้าจอมมารดาคนใดที่เป็นอริกันได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็คงจะเบียดเบียนให้เดือดร้อนมิรู้ว่าจะสักเพียงใด จึงแสวงหาพรรพวกร่วมคิดการป้องกันตัว ได้ขุนนางชั้นมนตรีคนหนึ่งชื่อ “แตงดา” เป็นที่ปรึกษามาแต่สมัยนั้น พระนางอเลนันดอจะรู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ว่าเจ้าหญิงสุปยาลัตธิดารักใคร่ติดพันอยู่กับเจ้าชายสีป่อข้อนี้ไม่ปรากฏ แต่เป็นกรณีสำคัญอันหนึ่ง เจ้าชายสีป่อเป็นลูกยาเธอชั้นผู้น้อยไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่จะเป็นรัชทายาท และไม่มีคุณวิเศษอย่างอื่น นอกจากไล่หนังสือเป็นเปรียญเมื่อทรงผนวชเป็นสามเณร ซ้ำจอมมารดาซึ่งเป็นธิดาเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองสีป่อก็ถูกกริ้วต้องโทษ ไม่มีใครสนับสนุน

เมื่อพระนางอเลนันดอทราบว่า เจ้าชายสีป่อรักใคร่กันกับพระธิดา ก็เห็นช่องที่จะป้องกันภัยได้ด้วยคิดอ่านให้เจ้าชายสีป่อได้ราชสมบัติ ธิดาเป็นมเหสี ตัวก็คงได้เป็นใหญ่อยู่ในวังอีกต่อไป แต่ซ่อนความคิดนั้นไว้ แสดงกิริยาปรากฏแต่ว่าไม่เอาใจใส่ในเรื่องการสืบสันตติวงศ์ เพราะตัวมีแต่พระธิดา พระเจ้ามินดงก็ไม่ทรงระแวงสงสัย กรณีที่กล่าวมานี้ก็น่าพิศวง เพราะถ้าหากเจ้าชายสีป่อมิได้ลอบรักกับเจ้าหญิงสุปยาลัต เหตุการณ์ภายหลังก็อาจกลับเป็นอย่างอื่น บางทีจะไม่ต้องเสียเมืองพะม่าก็เป็นได้

ถึง พ.ศ. ๒๔๒๑ สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้ามินดงพระชันษาได้ ๖๔ ปี ประชวรเป็นบิดเมื่อเดือนสิงหาคม เสด็จออกว่าราชการไม่ได้หลายวัน เกิดลือกันว่าพระเจ้ามินดงสวรรคต แต่พวกชาววังปกปิดความไว้มิให้ใครรู้ คนก็ตื่นตกใจกันไปทั่วพระนคร พระเจ้ามินดงทรงทราบก็ให้พะยุงพระองค์เสด็จออกท้องพระโรงให้ข้าราชการเฝ้าเห็นพระองค์ เพื่อระงับความตื่นเต้นของชาวพระนคร แต่นั้นมาพระอาการก็ทรุดลงโดยลำดับ ถึงเดือนกันยายน ผู้รักษาพยาบาลเห็นชัดว่า จะไม่คืนดีได้ พระนางอเลนันดอจึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน

บอกพระอาการพระเจ้ามินดงให้ทราบ สันนิษฐานว่าแล้วคงได้ปรึกษากันต่อว่าจะทำอย่างไรดีที่จะไม่ให้ลูกเธอชิงราชสมบัติกัน ก็เห็นควรจะเอาเจ้านายผู้ชายไปคุมขังเสียที่ในวัง จึงใช้อุบายให้คนไปทูลลูกยาเธอเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ว่าพระเจ้ามินดงประชวรหนัก ตรัสสั่งให้หาลูกยาเธอเข้าเฝ้า ขณะนั้นจอมมารดาของเจ้านยองยานกับเจ้านยองโอ๊กรู้ระแคะระคายว่าเป็นกลอุบาย ให้คนไปทูลลูกเธอทั้งสององค์ ว่าอาจมีภัยอันตรายอย่าให้เข้าไป เจ้าสององค์นั้นก็เลยหนีไปอาศัยอยู่ในสถานทูตอังกฤษ แต่เจ้านายองค์อื่นพากันไปในวังตามรับสั่งก็ถูกจับ แต่เห็นจะยังจับไม่ได้ทุกองค์ในวันที่ ๑๒ นั้น จึงปรากฏในจดหมายเหตุว่า ต่อวันที่ ๑๔ จึงได้สั่งเอาเจ้าไปขังรวมกันไว้ ณ สถานที่แห่งหนึ่งในเขตราชวังชั้นนอก ในตอนนี้เจ้าชายสีป่อก็ถูกจับและถูกจำด้วยกันกับเจ้านายองค์อื่นๆ จึงมีวินิจฉัยอย่างหนึ่งว่าบางทีพระนางอเลนันดอจะเพิ่งรู้เรื่องเจ้าหญิงสุปยาลัตรักใคร่กับเจ้าชายสีป่อก็เป็นได้ เพราะเจ้าหญิงสุปยาลัตทูลสารภาพเพื่อป้องกันภัยเจ้าชายสีป่อก็เป็นได้ แต่การที่จับและจับเจ้าชายสีป่ออาจเป็นอุบายของพระนางอเลนันดอเพื่อป้องกันภัย เพราะในเวลานั้นเจ้านายองค์อื่นๆยังมิได้อยู่ในเงื้อมมือ รู้เข้าเกรงจะทำร้ายเจ้าชายสีป่อก็เป็นได้เหมือนกัน

เมื่อแรกจับเจ้านายนั้น พวกจอมมารดาเห็นจะเข้าใจกันว่าพระเจ้ามินดงคงสั่งให้จับ จึงรอคอยดูอยู่ พอรู้แน่ว่าพระนางอเลนันดอสั่งให้จับ พวกจอมมารดาก็พากันฝ่าที่ห้ามเฝ้า เข้าไปในห้องประชวรเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ไปร้องไห้ทูลพระเจ้ามินดงให้ทรงทราบ พระเจ้ามินดงตกพระทัยจนสามารถลุกขึ้นประทับได้ ตรัสเรียกอาลักษณ์เข้าไปให้เขียนพระราชโองการสั่งให้ปล่อยเจ้านายลูกยาเธอไปเฝ้าหมดทุกองค์ พระนางอเลนันดอกับพวกเสนาบดีไม่อาจขัดพระราชโองการก็ต้องถอดเครื่องเวรจำ ปล่อยให้เจ้านายเข้าไปเฝ้าตามรับสั่ง

เมื่อพระเจ้ามินดงทอดพระเนตรเห็นลูกยาเธอทุกพระองค์แล้ว ตรัสสั่งให้เจ้าเมฆระอยู่ฟังแทนเจ้านายพี่น้อง และดำรัสให้อาลักษณ์เขียนราชโองการอีกฉบับหนึ่ง ทรงตั้งให้ตอนเซเป็นผู้สำเร็จราชการครองหัวเมืองฝ่ายเหนือเปรียบเหมือนมณฑลพายัพ ให้เจ้าเมฆระเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงใต้เปรียญเหมือนมณฑลจันทบุรี และให้เจ้านยองยานเป็นผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายตะวันตดเฉียงใต้เปรียบเหมือนมณฑลนครศรีธรรมราช ให้มีอำนาจเป็นอิสระทั้งสามองค์ เจ้านายที่เป็นชั้นผู้น้องรองลงมาใครจะสมัครอยู่กับเจ้าพี่องค์ใดในสามองค์นั้นก็ให้ไปอยู่ด้วยกัน แล้วตรัสสั่งพวกลูกเธอว่า เมื่อไปลาเจ้าจอมมารดากับเจ้านายพี่น้ององค์หญิงแล้วให้พากันรีบออกจากเมืองมัณฑเลไปในวันนั้น พระราชทานเรือกำปั่นไฟของหลวงให้เป็นพาหนะพวกละลำ และทรงกำชับในที่สุดว่า เมื่อออกไปครองเมืองแล้ว ถึงใครจะอ้างรับสั่งเรียกหาถ้าไม่เห็นลายพระหัตถ์เห็นสำคัญก็อย่าให้เข้ามาในราชธานีเลยเป็นอันขาด

ก็ในเวลานั้นพระนางอเลนันดอพยาบาลอยู่ ได้ยินกระแสรับสั่งพระเจ้ามินดงดังนั้นก็ตกใจ แต่จะได้ปรึกษาพวกเสนาบดีก่อน หรือจะคิดอ่านแต่กับขุนนางคนสนิทไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ว่าเมื่อเจ้านายลูกยาเธอไปจากที่เฝ้าแล้ว พากันไปลาเจ้าจอมมารดาเจ้าพี่เจ้าน้องที่สวนซ้าย มีพวกทหารกรูกันเข้าไปจับ เว้นแต่เจ้าชายสีป่อนั้นหาจับไม่ และครั้งนี้พระนางอเลนันไม่ได้ประมาทเช่นหนหลัง ให้ทหารเที่ยวไปคุมนางในตำหนักมิให้ใครขึ้นไปทูลร้องทุกข์ได้อีก ที่พระราชมณเฑียรก็มิให้มีใครอื่นนอกจากพวกของตนเข้าไปไกลที่ประทับพระเจ้ามินดง แล้วพระนางอเลนันดอไปปรึกษาเสนาบดีถึงพระราชโองการที่ให้เจ้า ๓ องค์ไปครองหัวเมือง ก็เห็นพร้อมกันว่า ถ้าปล่อยให้ไปก็เสมือนปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ พระเจ้ามินดงสวรรคตลงเมื่อใด ก็คงเกิดแย่งชิงราชสมบัติถึงรบพุ่งฆ่าฟันกันเป็นศึกกลางเมือง จึงปิดพระราชโองการนั้นซ่อนเสีย ฝ่ายพระเจ้ามินดงสำคัญว่า พวกลูกยาเธอพ้นภัยได้แล้วก็สิ้นวิตก เล่ากันว่าในวันต่อมาอีกสองสามวันตรัสปรารภว่า “ป่านี้เห็นจะถึงบ้านเมืองแล้ว” ก็ไม่มีใครทูลความจริงให้ทรงทราบ

ตรงนี้น่าคิดวิจารณ์ว่า พระเจ้ามินดงทรงดำริพระราโชบายอย่างไร จึงให้ลูกยาเธอไปครองเมืองเป็นอิสระแก่กันสามก๊กเช่นนั้น พิเคราะห์ดูจะเป็นได้สองอย่าง อย่างหนึ่งประสงค์จะให้อยู่เสียห่างไกลกัน เพื่อจะให้รบพุ่งกันยากขึ้น ถ้าหากพระองค์สวรรคต ผู้คนในราชธานีนับถือพระองค์ไหนมากก็พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้น ก็จะได้กำลังป้องกันพระองค์ อีกสององค์จะได้ครองเมืองอย่างเป็นประเทศราช ไม่จำเป็นต้องแย่งชิงราชสมบัติกัน มิฉะนั้นอีกอย่างพระเจ้ามินดงยังเชื่อพระหฤทัยว่าจะหายประชวร ให้ลูกยาเธอแยกไปอยู่ตามหัวเมืองแล้วพอให้พ้นภัย เมื่อหายประชวรแล้วจึงคิดจะตั้งมหาอุปราชขึ้นก็เป็นได้

เมื่อจับเจ้าชายหนหลังได้แล้วสามสี่วัน พระนางอเลนันดอให้เสนาบดีทำฎีกาเข้าชื่อกันทูลขอให้ทรงตั้งเจ้าชายสีป่อเป็นพระมหาอุปราช แล้วรับฏีกานั้นเข้าไปถวาย พระเจ้ามินดงก็นิ่งเสีย ไม่ตรัสว่าประการใด แต่เวลานั้นพระเจ้ามินดงประชวรเพียบอาการหนักอยู่แล้ว พระนางอเลนันดอจึงกล้าอ้างรับสั่งบอกเสนาบดีว่า พระเจ้ามินดงเห็นชอบด้วย ก็ประกาศตั้งเจ้าชายสีป่อเป็นมหาอุปราชก่อนพระเจ้ามินดงสวรรคตสัก ๗ วัน แต่รู้กันเพียงในพระราชฐานเท่านั้น ถึงวันที่ ๑ ตุลาคม พระเจ้ามินดงก็สวรรคต ทำพิธี ๗ วัน แล้วเชิญพระบรมศพแห่ไปบรรจุมณฑปที่สร้างขึ้นใหม่ มีกระบวนแห่พระเจ้าสีป่อทรงยานตามกระบวรแห่พระบรมศพไป คนทั้งหลายเห็นพระองค์จึงรู้ว่าพระเจ้าสีป่อได้รับรัชทายาท เมื่อเสร็จการบรรจุพระบรมศพแล้ว พระนางอเลนันดอก็ให้ทำพิธีอภิเษกสมรสพระเจ้าสีป่อกับเจ้าหญิงสุปยาคยีและเจ้าหญิงสุปยาลัต


พระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัต
จากหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


การราชาภิเษกรออยู่ถึงสี่ปีจึงได้กระทำ ทั้งนี้คงเนื่องด้วยบ้านเมืองไม่อยู่ในฐานะที่จะกระทำได้ เมื่อวินิจฉัยเฉพาะส่วนพระองค์ พระเจ้าสีป่อเดิมก็มิได้อยู่ในฐานะที่ควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ที่ผูกสมัครรักใคร่เจ้าหญิงสุปยาลัตก็ประสงค์เพียงแต่จะได้ไปเป็นชายา เผอิญเคราะห์กรรมจูงให้ไปเป็นเจ้าแผ่นดิน ข้อนี้ดูน่าพิศวงเหมือนกัน

เมื่อพระเจ้าสีป่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินบ้านเมืองก็สงบอยู่ ด้วยคนทั้งหลายสำคัญว่าพระเจ้ามินดงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน เป็นแต่ประหลาดใจกันว่า เหตุไฉนไม่ทรงตั้งลูกยาเธอที่เจริญพระชันษาและทรงคุณวุฒิยิ่งกว่าเจ้าชายสีป่อเป็นรัชทายาท ส่วนพระเจ้าสีป่อเองก็ไม่สามารถจะบังคับบัญชาราชการ ด้วยมิได้เตรียมพระองค์ที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน อำนาจราชการจึงตกไปอยู่ที่นางอเลนันดอ พอเสร็จงานบรมศพ ก็สั่งให้จับพวกนางในที่ผูกพยาบาทไว้เอาไปขังทั้งหมด แต่ในชั้นนี้ยังมิได้คิดจะฆ่าฟัน ด้วยปรากฏว่าให้สร้างเรือนจำขึ้นใหม่ที่ในวัง สำหรับจะได้ขังเจ้านายองค์ชายและนางในที่ถูกจับไว้

แต่เมื่อความจริงรู้กันแพร่หลายออกไปนอกวัง ว่าพระเจ้าสีป่อได้ราชสมบัติเพราะนางอเลนันดอให้กลอุบาย ทั้งให้จับเจ้านายกับนางในไปขังไว้มาก ก็เกิดหวาดหวั่นกันไปทั่วทั้งพระนคร กรณีที่ปรากฏภายหลังชวนให้สันนิษฐานว่า ทูตอังกฤษเห็นจะได้ว่ากล่าวกับเสนาบดีพะม่าตั้งแต่แรกจับเจ้านายไปขัง แต่ฝ่ายพะม่าคงแก้ว่า ถ้าไม่จับเอาไปคุมไว้เสียเกรงว่าจะเกิดรบพุ่งชิงราชสมบัติกัน ทูตอังกฤษเห็นจริงก็นิ่งอยู่ ก็เจ้านายลูกยาเธอของพระเจ้ามินดงนั้น แต่ละองค์โดยเฉพาะที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ มีผู้คนเป็นบริวารมาก เมื่อพวกบริวารรู้ว่าเขาลวงจับเอาเจ้านายตนไป เป็นธรรมดาที่พากันโกรธแค้น คิดจะแก้ไขเอาเจ้านายของตนออกจากที่คุมขัง จึงมีความลำบากเกิดขึ้นเป็นปัญหาว่าจะควรทำอย่างไรให้ปลอดภัยในการจับเจ้านายไว้

ในหนังสือบางเรื่องว่า พระนางอเลนันดอกับพระเจ้าสีป่อปรึกษาเสนาบดีทั้งหมด บางเรื่องว่าปรึกษาเสนาบดีที่เป็นตัวสำคัญ เสนาบดีคนอื่นมิได้รู้ แต่ทำนองจะเห็นพ้องกันว่า ถ้าปล่อยเจ้านายออกไปก็คงไปคิดขบถ ถ้าขังไว้พวกบริวารก็คงคิดขบถ เมื่อปรึกษาหาทางป้องกัน พระนางอเลนันดอกับมนตรีแตงดาเห็นว่าจำต้องตัดต้นเหตุ ด้วยการฆ่าเจ้านายเหล่านั้นเสียตามเยี่ยงอย่างที่พะม่าเคยทำกันแต่โบราณ พระเจ้าสีป่อกับเสนาบดีคนอื่นไม่เห็นชอบด้วย แต่ไม่สามารถจะหาอุบายอย่างอื่นได้ ก็ต้องยอมอนุมัติ ขอชีวิตไว้แต่เจ้านายที่ยังเป็นเด็ก ไม่มีใครคิดเห็นว่าวิธีตัดต้นเหตุที่เคยใช้กว่าร้อยปีมาแล้ว จะให้ร้ายแก่บ้านเมืองในสมัยเมื่อฝรั่งต่างประเทศมามีอำนาจมาแทรกแซงอยู่


แตงดาหวุ่นคยี
จากหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


จึงให้ฆ่าเจ้านายและนางในที่เป็นอริกันกับพระนางอเลนันดอ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๑ ฆ่าอย่างทารุณเหมือนเช่นว่า “ตัดหนามไม่ไว้หน่อ” เจ้าชายองค์ใดถูกฆ่า จอมมารดาและลูก กับทั้งเจ้าน้ององค์หญิงเจ้าชายองค์นั้นก็ถูกฆ่าด้วย แม้จนขุนนางที่เป็นญาติสนิททางฝ่ายจอมมารดาก็จับฆ่าเสียเหมือนกัน จำนวนเจ้านายกับญาติวงศ์ที่ถูกฆ่าครั้งนั้นรวมกันถึงราว ๘๐ คน ว่าฆ่ากันอยู่สามวันจึงหมดเพราะซ่อนฆ่าที่วังแต่เวลากลางคืน หวังจะมิให้พวกชาวเมืองรู้ แต่จอมมารดากับเจ้าหญิงสององค์ของเจ้านยองยาน เจ้านยองโอ๊กที่หนีไปได้นั้น ให้เอาไว้เป็นตัวจำนำยังไม่ฆ่า เลยถูกขังต่อมาถึง ๗ ปี จนเสียเมืองพะม่า อังกฤษสั่งให้ปล่อยจึงพ้นเวรจำ

การที่ฆ่าเจ้านายครั้งนั้น พอข่าวรั่วออกมาข้างนอกคนทั้งหลายก็ตกใจกันทั้วไป ทั้งพะม่าชาวเมืองและชาวต่างประเทศ มิสเตอร์ชอทูตอังกฤษแต่พอรู้แน่ว่าฆ่าเจ้านาย ก็รีบเขียนหนังสือห้ามปรามไปยังเสนาบดีพะม่า และบอกในหนังสือนั้นว่า ถ้าไม่ปรารถนาจะให้เจ้านายองค์ใดอยู่ในเมืองพะม่า อังกฤษจะยอมรับเอาไปไว้เสียที่อินเดีย ขอแต่อย่าให้ฆ่าฟัน ถ้าห้ามไม่ฟังอังกฤษกับพะม่าก็คงขาดไมตรีกัน เผอิญหนังสือที่ทูตอังกฤษมีไปในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ เมื่อทางโน้นฆ่ากันเสร็จแล้วแต่วันที่ ๑๗ จึงช่วยชีวิตเจ้านายไว้ไม่ได้ ฝ่ายเสนาบดีพะม่าได้รับจดหมายทูตอังกฤษเมื่อเวลาล่วงเลยเสียแล้ว ก็ได้แต่ตอบว่า เมืองพะม่ามีพระมหากษัตริย์ปกครองเป็นอิสระ ถือว่าบ้านเมืองสำคัญยิ่งกว่าบุคคล เมื่อบ้านเมืองจะเกิดจลาจลก็จำต้องระงับตามประเพณี เพื่อจะรักษาบ้านเมืองละศาสนาให้พ้นภัย ขออย่าให้กระทบกระเทือนไปถึงทางไมตรี

ทูตอังกฤษก็ได้แต่บอกไปยังรัฐบาลของตน ว่าพระเจ้าสีป่อทำให้บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ มีผู้เห็นกันมากว่าสมควรจะเอาออกเสียจากพระราชบัลลังก์ และให้เจ้านยองยานที่หนีไปได้ และที่อังกฤษส่งไปไว้ที่อินเดียนั้น มาเป็นพระเจ้าแผ่นดินพะม่าตามที่พระเจ้ามินดงทรงคาดหมายไว้ บ้านเมืองจึงจะกลับเรียบร้อยได้ดังเดิม อังกฤษเจ้าเมืองพะม่าใต้ก็เห็นเช่นนั้น แต่เมื่อบอกไปยังอินเดีย ไปประจบเวลาที่อังกฤษกำลังทำสงครามติดพันกับประเทศอัฟฆานิสถานทางฝ่ายเหนือ ไม่อยากจะให้เกิดรบพุ่งกับพะม่าอีกทางหนึ่งในขณะเดียวกัน จึงอนุญาตเพียงให้ “ลดธง” ถอนทูตมาเสียจากมัณฑเล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ แต่เผอิญในปีต่อมาทางกรุงลอนดอนเปลี่ยนรัฐบาล พวกลิเบอรัลซึ่งมีวิสัยรังเกียจการรบพุ่งได้เป็นใหญ่ และซ้ำต้องฝืนใจทำสงครามทางอาฟริกาใต้และอิยิปต์ อังกฤษจึงระงับความคิดที่จะรุกรานพะม่าอยู่หลายปี

ในเมืองพะม่าเอง ตั้งแต่ฆ่าเจ้านายแล้ว พระนางอเลนันดอก็เกิดหวาดหวั่น ด้วยรู้ว่ามีคนโกรธแค้นมากจะเกิดขบถ จึงแนะนำพระเจ้าสีป่อให้ตั้งมนตรีแตงดาซึ่งเคยเป็นคู้คิดกันมาแต่ก่อน เป็นอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหาร และให้เป็นผู้บัญชาการรักษาพระนครด้วย แต่พระนางอเลนันดอมีอำนาจสิทธิ์ขาดอยู่ได้ไม่นานเท่าใด พอราชินีสุปยาลัตคุ้นกับพระเจ้าสีป่อสนิทแล้ว ก็เอากิจการฝ่ายในราชฐานไปบัญชาเสียเอง ใช่แต่เท่านั้น ยังเอื้อมไปเกี่ยวข้องถึงกิจการฝ่ายหน้า ด้วยอาจจะว่ากล่าวให้พระเจ้าสีป่อทำตามถ้อยคำได้ เมื่อแตงดาหวุ่นคยีเห็นราชินีสุปยาลัตมีอำนาจมากขึ้น ก็หันเข้าประจบประแจงจนได้เป็นที่ปรึกษาหารือของราชินีสุปยาลัต เหมือนเช่นเคยเป็นที่ปรึกษาของพระนางอเลนันดอมาแต่กาลก่อน ราชการบ้านเมืองก็สิทธิ์ขาดอยู่ที่บุคคลทั้งสาม คือ พระเจ้าสีป่อ กับราชิอนีสุปยาลัต และแตงดาหวุ่นคยี เลยเป็นเหตุให้เสนาบดีอื่นพากันท้อถอย

การปกครองบ้านเมืองก็ผันแปรเสื่อมทรามลงจนเห็นปรากฏแก้คนทั้งหลาย จึงมีคนจำนวนหนึ่งคบคิดกับพวกชาวเมืองพะม่าใต้ ให้ไปเชิญเจ้านยองยานมาปราบยุคเข็ญ คนเหล่านั้นรับจะเป็นกำลังรบเอาราชสมบัติถวาย จะอย่างไรก็ตามความปรากฏว่า เจ้านยองยานกับเจ้านยองโอ๊กอนุชาหนีมาได้จากอินเดียอย่างง่ายดาย ทำให้เห็นได้ว่าอังกฤษรู้เห็นเป็นใจด้วย หนังสือพิมพ์อังกฤษที่ว่าถึงเรื่องนี้ก็มิได้ปฏิเสธหรือรับรองทั้งสองสถาน แต่ใน พ.ศ. ๒๔๒๕ นั้น เผอิญเจ้านยองยานมาประชวรสิ้นชีพเสียที่เมืองพะม่า เหลือแต่เจ้านยองโอ๊กออกเป็นหัวหน้าพวกขบถ ตีแดนเมืองพะม่าเหนือขึ้นไปได้ไม่เท่าใด พะม่าเห็นไม่ใช่เจ้านยองยานก็ไม่พอใจช่วย เจ้านยองโอ๊กทำการไม่สำเร็จก็ต้องกลับไปอินเดีย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเจ้านยองโอ๊กเป็นคนกักขฬะไม่มีใครนับถือมาแต่ก่อน เรื่องนี้จะว่าไป ว่าเป็นเคราะห์กรรมของเมืองพม่าก็ได้อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเจ้านยองยานไม่สิ้นชีพเสียก็อาจได้เมืองพม่า แม้อังกฤษจะว่าไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยแต่แรก ก็คงเข้าอุดหนุนในชั้นหลัง เมื่อเห็นผู้คนในเมืองพะม่าเข้าด้วยมาก เจ้านยองยานได้เป็นเจ้าแผ่นดิน เมืองพะม่าก็เห็นยังจะไม่เสีย

กรณีเกิดขบถครั้งเจ้านยองยานนั้น เป็นปัจจัยให้แตงดาหวุ่นคยีสั่งให้สืบสวนเอาตัวผู้รู้เห็นเป็นใจในการขบถ จับขุนนางที่ในกรุงและหัวเมืองมาใส่คุกไว้กว่า ๑๐๐ คน การขบถก็สงบไปได้คราวหนึ่ง แต่ถึงปีหลังก็มีพวกพะม่าคิดขบถอีก คราวนี้หมายจะไปเชิญเจ้าเมงกูน ซึ่งหนีไปสู่อินเดียแต่รัชกาลพระเจ้ามินดง มาเป็นหัวหน้าตีเมืองพะม่า กิตติศัพท์ทราบถึงแตงดาหวุ่นคยี ว่าพวกขุนนางที่ถูกขังคอยจะแหกคุกออกมาช่วยเจ้าเมงกูน พอได้ยินข่าวว่าเจ้าเมงกูนหนีจากแดนอังกฤษมาอาศัยแดนฝรั่งเศสอยู่ที่เมืองจันทรนคร ใต้เมืองกลักตาอันเป็นเมืองท่าที่จะลงเรือมายังเมืองพะม่าได้ แตงดาหวุ่นคยีก็คิดกลอุบาย ทำให้ปรากฏว่านักโทษแหกคุกให้เอาไฟเผาคุกครอกนักโทษในนั้น ใครหนีออกมาได้ก็ให้ฟันเสีย จำนวนคนที่ถูกฆ่าครั้งนี้รวมทั้งผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นพวกขบถและที่เป็นนักโทษสามัญตายกว่า ๒๐๐ คน

ก็เกิดความสยดสยอง สิ้นความเชื่อถือในรัฐบาลทั่วไปทั้งอาณาเขตต์ประเทศพม่า ด้วยเห็นว่าพระเจ้าสีป่อปกครองบ้านเมืองไม่ได้เป็นแน่แล้ว แต่นั้นก็เริ่มเกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม ผู้ร้ายบางพวกมีจำนวนตั้งร้อยตั้งพันเที่ยวปล้นสะดมจนถึงที่ใกล้ราชธานี พวกหัวเมืองไทยใหญ่ก็พาแข็งเมืองขึ้นหลายแห่ง ที่สุดพวกจีนลงมายึดเมืองบาโมที่แดนต่อแดนก็ไม่สามารถจะยกทัพไปขับไล่ เพราะต้องปราบปรามโจรผู้ร้ายในหัวเมืองชั้นใน และต้องระวังรักษาพระนครไว้มิให้เกิดขบถ แม้พระเจ้าสีป่อก็ไม่กล้าเสด็จออกนอกราชวัง ถึงกับสร้างหอสูงขึ้นที่ริมราชมณเฑียร สำหรับเสด็จขึ้นทอดพระเนตรพระนคร เมื่อบ้านเมืองระส่ำระสายดังกล่าวมา ก็เลยเป็นปัจจัยให้เงินผลประโยชน์แผ่นดินได้ตกต่ำลง จนไม่มีพอจะใช้จ่ายในราชการ

ในหนังสือฝรั่งแต่ง ยังอ้างเหตุอีกอย่างหนึ่งว่า เพราะราชินีสุปยาลัตชอบซื้อของแปลกๆ สุรุ่ยสุร่ายไม่เสียดายเงิน แต่แรกพระเจ้าสีป่อเสวยราชย์ พวกเสนาบดีคิดตั้งวิธีทำงบประมาณจำกัดเงินพระเจ้าแผ่นดินทรงใช้สอย ราชินีสุปยาลัตทูลพระเจ้าสีป่อให้ถอดเสนาบดีกระทรวงคลังเสีย แต่นั้นก็เรียกใช้ตามชอบใจ เลยเป็นช่องให้ชาวต่างประเทศสั่งของจากยุโรปมาขายเอากำไร เงินหลวงจึงได้สิ้นเปลืองไปด้วยเหตุนี้อีกประการหนึ่ง เมื่อเงินในคลังไม่พอ ให้คิดออกสลากกินแบ่งที่ในเมืองมัณฑเลก็ได้กำไรไม่พอความต้องการ

จึงให้แตงดาหวุ่นคยีคิดหาเงินผลประโยชน์แผ่นดินด้วยประการอย่างอื่นอีก แตงดาหวุ่นคยีไปตรวจเห็นจำนวนเงินที่ควรได้จากป่าไม่สักซึ่งอนุญาตให้บริษัทบอบเบเบอรม่าอังกฤษทำคั่งค้าง และไม่ได้ตามพิกัด เพราะบริษัทเอาเปรียบด้วยประการต่างๆ จึงให้ตรวจบัญชีคิดจำนวนเงินตามซึ่งเห็นสมควรจะได้จากบริษัทบอมเบเบอรม่า แล้วเรียกเอาถึง ๒,๓๐๐๐,๐๐๐ รูปี บริษัทร้องทุกข์ต่อเจ้าเมืองพะม่าใต้ เจ้าเมืองพะม่าใต้ขอให้ทั้งสองฝ่ายพร้อมกันตรวจบัญชี ถ้าเห็นผิดกันอย่างไร ให้อนุญาโตตุลาการตัดสิน ฝ่ายพะม่าไม่ย่อมและเข้าขัดขวางการที่บริษัทบอมเบเบอรม่าทำป่าไม้ รัฐบาลอังกฤษจึงยกเรื่องที่พะม่าทำแก่บริษัทบอมเบเบอรม่า ขึ้นมาเป็นเหตุที่เข้ารุกรานเมืองพะม่า

แต่เหตุที่จริงนั้น เป็นเรื่องหนึ่งต่างหากทีเดียว เกิดแต่สมัยนั้นประจวบพวก “คณะหาเมืองขึ้น” ในประเทศฝรั่งเศสมีอำนาจขึ้น คิดจะเอาแผ่นดินระหว่างประเทศอินเดียกับจีนเป็นอาณาเขตต์ของฝรั่งเศส เหมือนอย่างที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เริ่มทำตามความคิดด้วยตีเมืองตังเกี๋ยก่อน ก็อังกฤษได้มีทางไมตรีกับพะม่ามาแต่สมัยพระเจ้ามินดงแล้ว ถึงรัชกาลพระเจ้าสีป่อ เมื่อมีเหตุการณ์ต่างๆ ทำให้พะม่าขุ่นหมองกับอังกฤษ ฝรั่งเศสเห็นได้ที ก็ตั้งคนสำคัญในคณะหาเมืองขึ้นมาเป็นกงสุลฝรั่งเศส เวลานั้นไม่มีทูตผู้แทนรัฐบาลอังกฤษกีดขวางอยู่ ณ เมืองมัณฑเล นับว่าเป็นเคราะห์กรรมอีกอย่างหนึ่ง กงสุลฝรั่งเศสเห็นได้ทีก็เข้าประจบประแจงเกลี้ยกล่อมพะม่า ด้วยรับจะชักชวนมหาประเทศในยุโรปให้ช่วยกันกีดขวางไม่ให้อังกฤษทำร้ายเมืองพะม่า หรือถ้าพะม่าจะต้องรบกับอังกฤษ ฝรั่งเศสก็จะให้กองทัพกับทั้งส่งเครื่องศัสตราวุธมาช่วยพะม่าโดยทางบกจากเมืองตังเกี๋ย

ก็เวลานั้นรัฐบาลพะม่าต้องลำบากอยู่ทั้งภายในบ้านเมือง และหวาดอยู่ว่าอังกฤษจะมารุกราน พระเจ้าสีป่อในเสนาบดีปรึกษากัน ฝ่ายหนึ่งมีกินหวุ่นแมงคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายพลเรือน ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมพระเจ้ามินดง เป็นต้น ไม่เชื่อว่าฝรั่งเศสจะช่วยได้ดังว่า เห็นควรจะรักษาไมตรีดีไว้กับอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่งมีแตงดาหวุ่นคยีอัครมหาเสนาบดีฝ่ายทหารเป็นต้น เชื่อว่าถึงฝรั่งเศสจะช่วยพะม่า อังกฤษก็ไม่กล้ารุกราน พระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตเชื่อตามความคิดของแตงดาหวุ่นคยี ก็เกิดสมาคมสนิทสนมกับฝรั่งเศส นัยว่าถึงกับกงสุลฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระเจ้าสีป่อกับราชินีสุปยาลัตในที่รโหฐานได้เนื่องนิจ เป็นปัจจัยให้ฝรั่งเศสได้รับสิทธิต่างๆในเมืองพะม่า คือ ทำทางรถไฟ และตั้งธนาคารออกธนบัตรเป็นต้น


กินหวุ่นแมงคยี
จากหนังสือ เที่ยวเมืองพม่า ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


เผอิญเวลานั้นทางประเทศอังกฤษ พวกคณะลิเบอรัลต้องออก และพวกคอนเซอวะตีฟกลับเข้าเป็นรัฐบาล เห็นว่าถ้าเฉยอยู่ อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ต้องรบกันด้วยเรื่องพะม่า จำต้องตัดต้นเหตุด้วยเอาเมืองพะม่าเป็นของอังกฤษเสีย จึงอนุญาตให้รัฐบาลอินเดียตีพะม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙

ถ้าว่าตัวการที่ทำเสียเมืองพะม่า นับว่ามี ๔ คน คือพระเจ้าสีป่อ ราชินีสุปยาลัต พระนางอเลนันดอ และแตงดาหวุ่นคยี ก็ต้องรับทุกข์โทษเป็นผลกรรมทุกคน พระเจ้าสีป่อถูกเนรเทศไปอยู่ ณ เมืองรัตนคีรีในอินเดีย ถึง ๓๐ ปี สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ราชินิสุปยาลัตก็ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองรัตนคีรี จนพระสวามีสิ้นพระชนม์แล้ว จึงกลับมาเมืองพะม่า อยู่ที่เมืองร่างกุ้งจนสิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระนางอเลนันดอถูกเนรเทศไปอยู่อินเดีย แต่กล่าวกันว่า เกิดไปวิวาทกันขึ้นกับราชินีสุปยาลัต ถูกส่งกลับ คุมไว้ที่เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ ส่วนแตงดาหวุ่นคยีก็ถูกส่งไปคุมไว้ ณ เมืองคัตตักมาในอินเดีย จนเมื่อเจ็บจวนจะตาย จึงปล่อยให้กลับมาตายที่บ้านเดิมเมืองมัณฑเล

ในสี่คนนั้นพิจารณาตามรื่องที่ปรากฏ ดูน่าสงสารแต่พระเจ้าสีป่อ เพราะอดีตกรรมนำให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน โดยมิได้อยู่ในฐานะหรือมีความมประสงค์ เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้ทำบาปกรรมอันใดโดยลำพังพระองค์ ถูกแต่คนอื่นเขาข่มขืนให้ทำ ก็ทำไปด้วยความขลาดเขลา แต่ความขลาดเขลาก็เป็นอุปนิสสัยในพระองค์มีมาเองโดยธรรมดา ที่มาต้องรับทุกข์โทษภัยอย่างร้ายแรง และเสียพระเกียรติยศปรากฏอยู่ในพงศาวดารเกินกว่าความผิด จึงน่าสงสารยิ่งกว่าคนอื่นทั้งสิ้น.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 7 มิถุนายน 2550 14:58:58 น.   
Counter : 18396 Pageviews.  


เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่างๆ


วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร



.........................................................................................................................................................




เรื่อง เหตุที่วัดพระเชตุพนเป็นที่ตั้งกระบวนแห่ต่างๆ


ปัญหา ทำไมกระบวนแห่ต่างๆ เช่นแห่พระบรมศพเป็นต้น จึงเริ่มต้นที่วัดพระเชตุพน

ตอบ แต่แรกสร้างกรุงรัตนโกสินทร์มา ถนนหนทางไม่ค่อยจะได้ใช้กันนัก โดยมากใช้แต่ทางเดินเท้าและทางเรือ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ ปรากฏว่ามีการใช้รถพาหนะขี่ไปมาบ้าง ถนนใหญ่ในพระนครแต่เดิมมีสายเดียว คือ ถนนสนามชัย ตั้งแต่ปากคลองตลาดไปจนสะพานเสี้ยว ผ่านทั้งวังหลวงและวังหน้าในพระนครตั้งแต่ก่อนรัชกาลที่ ๔ มีถนนเสาชิงช้าอีกสายหนึ่งไปถึงประตูผี เป็นถนนเล็กๆ มีเจ๊กปลูกร้านรวงเล็กๆ อยู่ ในถนนสายนั้นมีวัดสำคัญคือวัดสุทัศน์ แล้วมีถนนหน้าพระลานอีกสายหนึ่งย่อมกว่าถนนสนามชัยมาลงท่าช้าง แล้วมีอีกสายหนึ่งคือ ถนนหน้าพระธาตุ จากประตูวิเศษชัยศรีไปประตูวังหน้า รอบกำแพงพระนครเวลานั้น ข้างในยังมีเนินดินถมออกมาสำหรับเอาปืนขึ้นกำแพง เพิ่งขนดินออกเมื่อรัชกาลที่ ๕ นี่เอง ทำให้ถนนรอบกำแพงกว้างขึ้นอย่างที่เห็นอยู่ ถนนนอกจากถนนสยามชัยมีถนนหน้าพระลานเป็นอย่างกว้างคือสามศอก

เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสวยราชย์ไปสิงคโปร์กลับมา จะทำถนนเสาชิงช้า ปลูกเป็นตึกสองชั้นอย่างเมืองฝรั่ง กล่าวว่าถนนเดิมแคบนักขอขยายออกไปอีก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์กราบทูลว่ากว้างสี่วาก็พอ ไม่ควรให้เกินกว่านั้น เพราะถ้ากว้างนัก จะถางหญ้าไม่ไหวเวลาหญ้ารก ถนนเจริญกรุงทำให้สมัยรัชกาลที่ ๔

ในกระบวนราชการมีการแห่บางอย่างเนื่องในการพระราชพิธีทุกปี ที่เป็นแห่อย่างใหญ่ที่สุดมีสองอย่าง แต่ก็เป็นการจรทั้งสองอย่าง คือแห่เลียบพระนคร เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์อย่างหนึ่ง แห่พระบรมศพไปพระเมรุอีกอย่างหนึ่ง ถนนที่จะเหมาะแก่การเดินกระบวนใหญ่โตเช่นนั้นมีแต่ถนนสนามชัย ราชรถที่ทำทรงพระศพแต่แรกล้อหน้าเลี้ยวไม่ได้ เดินได้แต่ถนนตรง มาเลี้ยวได้ในรัชกาลที่หกนี่เอง มันเฟรดี้เป็นผู้ทำ แต่ก็เลี้ยวได้คันเดียว อีกคันหนึ่งนั้นเลี้ยวไม่ได้ ถ้าจะเลี้ยวก็ต้องเอาพลองคัดกันจึงเลี้ยวได้

แห่เลียบพระนครออกประตูวิเศษชัยศรี ประทักษิณรอบพระนครเลี้ยวถนนสนามชัย เลี้ยวประตูแดงออกท่าช้าง เข้าประตูวิเศษชัยศรี ที่แวะวัดพระเชตุพนนั้นเพิ่งแวะเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงบูชาพระ ส่วนแห่พยุหยาตราน้อย มีแห่กฐินนั้น ทรงพระราชยานไปถนนเล็กได้ จึงมีไปทางถนนบ้านหม้อ ฯลฯ ส่วนแห่พระบรมศพนั้นที่ตั้งวัดพระเชตุพนก็เนื่องจากเหตุที่กล่าวแล้ว คือราชรถเลี้ยวไม่ได้ประการหนึ่ง กระบวนแห่ใหญ่โตประการหนึ่ง และไม่สามารถจะเอาราชรถไปรับพระบรมศพที่ใดเหมาะกว่าที่วัดพระเชตุพนอีกประการหนึ่ง พระบรมศพจึงต้องลักออกมาทางประตูแดงมาขึ้นราชรถที่นั่น.



.........................................................................................................................................................


คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 18 พฤษภาคม 2550 20:44:18 น.   
Counter : 1037 Pageviews.  


พระนิรันตราย


พ.ศ. ๒๓๙๙ พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา ได้นำพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร
ซึ่งชาวบ้านสองพ่อลูกขุดได้ที่ดงศรีมหาโพธิ์ ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ทรงถวายพระนามว่า "พระนิรันตราย"
ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์แท้จริงอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง



.........................................................................................................................................................



เรื่อง พระนิรันตราย


ปัญหา พระพุทธรูปนิรันตรายนั้น มีเรื่องอย่างไรจึงประดิษฐานอยู่ในวัดธรรมยุตินิกายทุกวัด

ตอบ ในรัชกาลที่ ๔ มีผู้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำองค์หนึ่ง เป็นพระสมัยอมราวดีที่ดงพระศรีมหาโพธิ กรมการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย (พ.ศ. ๒๓๙๙) ทรงเห็นว่าเป็นทองคำ เมื่อขุดได้ผู้ขุดมิได้ยุบหลอมเสีย และเมื่อโปรดฯ ให้เก็บไว้ ณ หอเสถียรธรรมปริตร มีผู้ร้ายลักพระกริ่งทองคำซึ่งรักษาไว้ด้วยกันไป พระพุทธรูปนี้ไม่หาย ทรงเห็นเป็นประหลาดเพราะพ้นอันตรายมาแล้ว ๒ ครั้ง คือผู้ขุดก็ไม่ทำอันตราย และผู้ร้ายก็ไม่ลักไป จึงทรงพระราชดำริแบบอย่าง ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพ็ชรต้องตามพุทธลักษณะ หน้าตัก ๕ นิ้วครึ่ง เบื้องหลังมีเรื่อแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ มีอักษรขอมจำหลักลงในวงกลีบบัวเบื้องหน้า ๙ เบื้องหลัง ๙ พระคุณนามแสดงพระพุทธคุณ ยอดเรือนแก้มีรูปพระมหามงกุฎตั้งติดอยู่กับฐาน ชั้นล่างของฐานพระซึ่งเป็นที่สำหรับสรงน้ำพระ มีท่อเป็นรูปหัววัว แสดงเป็นที่หมายพระโคตรซึ่งเป็นโคตมะ สร้างเสร็จแล้วเอาพระพุทธรูปทองคำที่กล่าวใส่ไว้ใต้ฐาน ขนานนามว่า “พระนิรันตราย”

ต่อมาทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งทรงสถาปนาขึ้นแพร่หลาย จนมีผู้ศรัทธาสร้างวัดถวายในนิกายนี้มากขึ้น ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ จึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนี้ขึ้น ๑๘ องค์ เท่าจำนวนปีที่เสวยราชย์ เพื่อถวายเป็นที่ระลึกแก่วัดในนิกายนั้น แต่สวรรคตเสียก่อน มาถวายในรัชกาลที่ ๕

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชปรารถว่า เสวยราชย์มาเท่ากับรัชกาลที่ ๒ จึงโปรดฯ ให้ช่างหล่อพระพุทธรูปนั่งสมาธิกาไหล่ทองรวม ๑๖ องค์ ขนานนานว่า “พระนิโรคันตราย” มีรูปนาคแปลงเป็นมนุษย์ เชิญฉัตรกั้นพระรูปหนึ่ง เชิญพัดโบกรูปหนึ่ง อยู่สองข้างๆ ละรูป ถวายวัดพระมหานิกาย ๑๕ องค์ เก็บไว้กับพระนิรันตรายในพระบรมมหาราชวังองค์หนึ่ง และอยู่ในวังจนบัดนี้.


.........................................................................................................................................................


คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 18 พฤษภาคม 2550 20:20:00 น.   
Counter : 3863 Pageviews.  


พระอาจารย์ขรัวอินโข่ง


ภาพ ศึกยุทธหัตถี โดย ขรัวอินโข่ง
ในหอพระราชกรมานุสรณ์ วัดพระแก้ว



.........................................................................................................................................................



เรื่อง พระอาจารย์ขรัวอินโข่ง


ปัญหา ขรัวตาอินโข่งเป็นช่างเขียนที่มีความสำคัญอย่างไร เขียนภาพอะไรที่นับว่าดีไว้บ้าง

ตอบ ขรัวตาอินโข่ง หรือพระอาจารย์อินโข่งนี้ บวรเณรมาจนโต ชื่อ อิน เรียกกันว่า อินโค่ง ๆ แล้วทำไมมาเขียนเป็นโข่งไม่ทราบ อยู่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงรู้จักมาตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวช เป็นช่างเขียนไทยคนแรกที่มีความรู้ ไม่แต่เขียนได้ตามแบบโบราณเท่านั้น ยังเขียนตามแบบฝรั่งสมัยใหม่ได้ด้วย เป็นการแสดงความก้าวหน้าในทางเขียนรูปของไทย รูปภาพต่างๆที่อินโข่งเขียนนั้นมีเงา เป็นการเขียนที่มีชีวิตจิตใจผิดกับนักเขียนไทยอื่นๆ

เคยโปรดฯให้เขียนรูปต่างๆ เป็นฝรั่งๆ ไว้ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร รูปพวกนี้เป็นพวกแรกๆ ของอินโข่ง ต่อมาเขียนรูปพระนเรศวรชนช้างไว้ในหอราชกรมานุสรณ์ หลังอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝีมือดีนัก ในพระอุโบสถเขียนไว้ที่ห้องพระยาช้างเผือก กับเขียนรูปภาพประกอบโคลงสุภาษิตต่างๆ ภาพเหล่านี้เขียนเมื่อตอนแก่ ได้เคยเห็นด้วยตาตัวเอง ผมแกขาวเป็นดอกเลา ภาพเหล่านี้อยู่ตามหน้าต่างและประตูในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ฝีมือพระอาจารย์อินโข่งในพิพิธภัณฑ์สถานยังมีอีกหลายรูป มีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เขียนจากพระองค์เองเป็นต้น

รูปที่นับว่าดีเยี่ยมของพระอาจารย์อินโข่ง ก็คือรูปมารประจญพระพุทธเจ้าด้านหุ้มกลองพระอุโบสถวัดราชบูรณะ ดูเหมือนจะเป็นรูปภาพที่เป็นฝีมือดีที่สุดของช่างไทยเรา.



.........................................................................................................................................................


คัดจาก
บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประทานหม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2550   
Last Update : 18 พฤษภาคม 2550 20:15:36 น.   
Counter : 5508 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com