กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคที่ ๓ ทรงแผ่อาณาเขต

(๑)

ตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเลิกทัพกลับไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไทยว่างการสงครามกับพม่าอยู่ ๓ ปี ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระชนมายุได้ ๗๕ ปี ประชวรสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระชันษาได้ ๓๕ ปี ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช พระเอกาทศรถ ให้เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้มีพระเกียรติยศสูงเสมออย่างพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ พอสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ ๔ เดือน ก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีเมืองไทยอีก

เหตุที่เกิดสงครามครั้งนี้ ในพงศาวดารพม่าว่าตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีต้องล่าทัพไปจากเมืองไทย พอข่าวแพร่หลาย พวกเมืองขึ้นต่างชาติต่างภาษาก็กระด้างกระเดื่อง จนถึงเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้าหงสาวดีปรึกษาเสนาบดีถึงการที่จะปราบปราม

มีเสนาบดีคนหนึ่งชื่อ สิริชัยนรธา ทูลว่าที่เมืองคังกำเริบขึ้นก็เพราะเห็นว่าปราบไทยไม่ลง จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างไทยบ้าง ถ้ายังปราบไทยไม่ลงอยู่ตราบใด ถึงปราบเมืองคังได้ ก็คงมีเมืองอื่นเอาอย่างไทยต่อไปอีก จำต้องปราบเมืองไทยอันเป็นต้นเหตุให้ราบคาบเสียให้ได้ เมืองอื่นจึงจะยำเกรงเป็นปกติต่อไป

พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย พอได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน คาดว่าการภายในบ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไม่ปกติ เป็นโอกาส พระเจ้าหงสาวดีจึงให้จัดกองทัพ ๒ ทัพ ให้ราชบุตรองค์ ๑ ซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นมาใหม่ คุมกองทัพจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ คนยกไปตีเมืองคังทาง ๑ ให้เจ้าเมืองพสิมกับเจ้าเมืองพุกามเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นจอมพลคุมทัพหลวงจำนวนพลรวมกัน ๒๐๐,๐๐๐ คนยกมาตีเมืองไทยทาง ๑

พระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ เดินกองทัพเข้ามาเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ หาเดินทางด่านแม่สอดเหมือนเมื่อพระเจ้าหงสาวดียกมาไม่

ความข้อนี้ทำให้เห็นว่ากองทัพหงสาวดียกมาครั้งนี้หมายจะจู่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ไม่ให้ตระเตรียมป้องกันได้พรักพร้อม เพราะยกเข้ามาทางด่านแม่สอด ตั้งแต่เข้าแดนไทยแล้วยังต้องเดินทางอีกกว่าเดือน กองทัพจึงจะมาถึงพระนครศรีอยุธยา และยังต้องสั่งให้เตรียมเสบียงอาหารล่วงหน้า ใหไทยรู้ตัวมีเวลาตระเตรียมนาน ถ้ายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ข้ามแดนมาอีก ๑๕ วันก็ถึงกรุงฯ ทางใกล้กว่ากัน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ พระมหาอุปราชจึงยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้รู้ตัวก็เห็นจะมีความลำบากอยู่ ด้วยจะต้องผู้คนพลเมืองเข้าพระนครดังคราวก่อนๆไม่ทัน แต่วิสัยสมเด็จพระนเรศวรว่องไวในเชิงศึก เมื่อเห็นว่าจะตั้งคอยต่อสู้อยู่ที่กรุงฯ จะไม่ได้เปรียบข้าศึกเหมือนหนหลัง ก็ทรงพระราชดำริกระบวนรบเป็นอย่างอื่น

รีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปในเดือนยี่ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรี ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ซุ่มทัพหลวงไว้แต่กองทัพน้อย เป็นทำนองเหมือนกับจะไปรักษาเมืองกาญจนบุรียกไปล่อข้าศึก

ฝ่ายกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นไม่มีผู้ใดต่อสู้ สำคัญว่าไทยจะตั้งมั่นคอยต่อสู้อยู่ที่พระนครศรีอยุธยาอย่างคราวก่อน ก็ยกเข้ามาด้วยความประมาท ครั้นมาพบพวกกองทัพล่อของสมเด็จพระนเรศวร เห็นเป็นทัพเล็กน้อย ทัพหน้าของพระมหาอุปราชาก็เข้ามารบพุ่ง กองทัพล่อต่อสู้อยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็แกล้งถอยหนี

กองทัพหงสาวดีเห็นได้ทีก็ไล่ติดตามมา เข้าในที่ซุ่มของสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรให้กองทัพออกระดมตี ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน กองทัพหงสาวดีเสียทีก็แตกพ่าย ถูกไทยฆ่าฟันตายเสียเป็นอันมาก พระยาพุกามนายทัพหน้าก็ตายในที่รบ รี้พลที่เหลือก็พากันแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไป จับพระยาพสิมนายทัพหน้าได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง กองทัพหน้าของพระมหาอุปราชากำลังแตกหนีอลม่าน ไทยไล่ติดตามไปปะทะทัพหลวง ทัพหลวงก็เลยแตกด้วย

พงศาวดารพม่าว่าในครั้งนั้นไทยเกือบจะจับพระมหาอุปราชาได้ ด้วยกองทัพพม่าแตกยับเยินและเสียผู้คนช้างม้าเครื่องศัสตราวุธแก่ไทยเป็นอันมาก พระมหาอุปราชาหนีพ้นไปแล้ว ก็ให้รวบรวมรี้พลที่เหลืออยู่กลับไปถึงเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคือง ให้ลงพระราชอาญาแก่นายทัพนายกอง แต่พระมหาอุปราชานั้นภาคทัณฑ์ไว้ให้ทำการแก้ตัวใหม่


(๒)

ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาอุปราชามาตีเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เรื่องราวการสงครามครั้งปีมะโรงนี้ ในหนังสือพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าผิดกันแต่เพียงพลความ แต่เนื้อเรื่องประกอบกันตั้งแต่ต้นจนปลายว่า

พระมหาอุปราชามีความครั่นคร้าม ทูลพระเจ้าหงสาวดีว่าพระเคราะห์ยังร้ายนัก พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคือง วันหนึ่งเวลาเสด็จออกท้องพระโรงตรัสตัดพ้อเจ้านายและขุนนางทั้งปวงว่า ช่างไม่มีใครช่วยเอาใจเจ็บร้อนด้วยเรื่องเมืองไทยบ้างเลย กรุงศรีอยุธยามีรี้พลเพียงสักหยิบมือเดียว ก็ไม่มีใครจะกล้าอาสาไปตี นี่เมืองหงสาวดีจะหมดสิ้นคนดีเสียแล้วหรืออย่างไร

ขณะนั้นขุนนางคนหนึ่งชื่อว่าพระยาลอ ทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า กรุงศรีอยุธยานั้นสำคัญอยู่ที่พระนเรศวรพระองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็ง บังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลกลัวพระนเรศวรเสียยิ่งกว่าความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไร ก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก การที่จะตีเมืองไทย ถ้าเอาชนะพระองค์พระนเรศวรได้องค์เดียวเท่านั้น ก็จะได้บ้านเมืองโดยง่าย เห็นว่าเจ้านายในกรุงหงสาวดีรุ่นเดียวกับพระนเรศวร ที่รบพุ่งเข้มแข็งเคยชนะศึกเหมือนอย่างพระนเรศวรก็มีหลายองค์ ถ้าจัดกองทัพให้เจ้านายที่เข้มแข็งการศึกเป็นนายทัพสักสองสามองค์ ถ้าชนะพระนเรศวรแล้วก็ได้กรุงศรีอยุธยาไว้ในอำนาจเหมือนอย่างแต่ก่อน

พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงฟังพระยาลอทูลแนะนำ ก็เห็นชอบด้วย แต่เกรงว่าถ้าไม่ให้พระมหาอุปราชาไปรบ คนทั้งหลายก็จะพากันดูหมิ่นรัชทายาทยิ่งขึ้น จึงแกล้งตรัสตอบว่า ที่พระยาลอว่านั้นก็ดีอยู่ แต่ตัวของข้าเป็นคนอาภัพ ไม่เหมือนพระมหาธรรมราชา นั่นเขามีลูกพ่อไม่ต้องพักใช้ให้รบพุ่ง มีแต่กลับจะต้องห้ามเสียอีก แต่ตัวข้ามิรู้ว่าจะใช้ใคร

พระมหาอุปราชาได้นยินพระราชบิดาตรัสบริภาษเช่นนั้น ก็อัปยศอดสู ต้องทูลขอรับอาสามีตีเมืองไทยแก้ตัวใหม่ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เกณฑ์กองทัพ ๓ เมือง คือ กองทัพเมืองหงสาวดี ให้เจ้าเมืองจาปะโรเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นจอมพลคุมทัพหลวง ๑ กองทัพเมืองแปร ให้พระเจ้าแปรลูกเธอที่ไปตีเมืองคังได้เมื่อคราวหลังเป็นนายทัพทัพ ๑ กองทัพเมืองตองอู ให้พระสังกะทัตลูกพระเจ้าตองอู ผู้ที่ต้านทานกองทัพไทยไว้ได้เมื่อคราวพระเจ้าหงสาวดีล่าทัพไปเป็นนายทัพทัพ ๑ รวม ๓ ทัพ จำนวนพล ๒๔๐,๐๐๐ คน ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ด้วยกันทั้ง ๓ ทัพ และสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมเสบียงอาหารลงมาทางเรือด้วยอีกทัพ ๑

กองทัพบกที่ยกมาครั้งนั้น กองทัพพระมหาอุปราชาคงยกมาหน้า กองทัพพระเจ้าแปรกับกองทัพพระสังกะทัตยกตามกันมาโดยลำดับ ได้รบกับไทยแต่กองทัพพระมหาอุปราชาทัพเดียว แล้วก็สิ้นสงคราม ในหนังสือพงศาวดารไทยจึงกล่าวแต่กองทัพพระมหาอุปราชาทัพเดียว ส่วนกองทัพเรือของพระเจ้าเชียงใหม่เป็นแต่กองลำเลียง ลงมาเพียงกลางทางรู้ว่าสิ้นสงครามแล้วก็เลิกทัพกลับไป

พระมหาอุปราชายกกองทัพออกจากเมืองหงสาวดี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าน แรม ๗ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ เดินกองทัพเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาถึงเมืองกาญจนบุรีไม่เห็นมีใครต่อสู้ก็ยกเลยมาเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันมาถึงบ้านพนมทวน เวลาบ่ายเกิดลมเวรัมภาเวียนเป็นวงจักร พัดมาถูกเศวตฉัตรคชาธารบนหลังช้างหักทบลง พระมหาอุปราชาหวั่นพระหฤทัยให้โหรทำนาย โหรทูลว่าเหตุเช่นนั้น ถ้าเกิดเวลาเช้าเป็นนิมิตร้ายนัก แต่ถ้าเกิดเวลาเย็นกลับเป็นมงคล เห็นว่าคงจะมีชัยชนะข้าศึก ที่ฉัตรหักนั้นสังหรณ์ว่าพระราชบิดาจะมอบเวนราชสมบัติพระราชทานให้เจริญพระเกียรติยศได้ถึงราชาฉัตร พระมหาอุปราชาได้ทรงฟังคำทำนายก็ไม่คลายระแวงภัย ตรงนี้ในลิลิตตะเลงพ่าย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งโคลงเป็นคำพระมหาอุปราชาครวญถึงพระราชบิดาน่าสงสาร

ออกจากบ้านพนมทวนให้ยกพลมาตั้งประชุมทัพที่บ้านตระพังตรุ เดี๋ยวนี้ยังมีรอยค่ายเกลื่อนไปในแถวนั้น สังเกตดูรอยค่ายดูเหมือนจะให้ทัพหน้ามาตั้งที่ตำบลบ้านโค่ง แล้วให้นายทหารชื่อ สมิงจอคราน คน ๑ สมิงเป่อ คน ๑ สมิงซ่าม่วน คน ๑ คุมทหารม้าแยกย้ายกันไปสอดแนม ว่าจะมีกองทัพไทยออกไปคอยต่อสู้ที่ไหนบ้าง

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๓๗ ปี เสวยราชย์ได้ ๓ ปี ทรงประมาณการตั้งแต่กองทัพพระมหาอุปราชาแตกไปเมื่อปีขาล ว่าคงจะว่างศึกหงสาวดีไปหลายปี เพราะข้าศึกเสียรี้พลพาหนะมาก คงจะต้องหากำลังเพิ่มเติมอยู่นานวัน

ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น หมายจะเสด็จไปตีเมืองละแวกราชธานีของประเทศกัมพูชา ตัดกำลังเขมรมิให้มาทำร้ายซ้ำเติมในเวลามีศึกหงสาวดีได้เหมือนแต่ก่อน จึงตรัสให้เกณฑ์คนเข้ากองทัพ จะยกไปในกลางเดือนยี่ แต่พอถึงเดือนอ้าย ได้รับใบบอกเมืองกาญจนบุรี สืบได้ข่าวว่าเมืองหงสาวดีเตรียมกองทัพจะยกมาอีกในในปีนั้น

สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสสั่งให้เร่งเรียกรี้พลพาหนะ และให้ย้ายที่ประชุมทัพจากบางขวดในชานพระนคร ไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันอยู่ร่วมทางที่ข้าศึกจะยกมา ทั้งทางด่านพระเจดีย์สามองค์และทางเมืองเหนือ ตรัสสั่งให้หัวเมืองตามทางที่ข้าศึกจะยกมา เตรียมตัวให้ครอบครัวพลเมืองหลบไปอยู่เสียในป่า และให้พระยาราชบุรีจัดพลเป็นกองโจร แยกย้ายกันไปซุ่มคอยตีตัดลำเลียงเสบียงอาหาร และรื้อสะพานทำลายทางข้างหลังกองทัพข้าศึก และจัดกองทัพหน้าให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นนายทัพ พระยาราชฤทธานนท์เป็นยกกระบัตร ยกไปตั้งขัดตาทัพรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย แขวงจังหวักสุพรรณบุรี

สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จออกจากพระนครเมื่อวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ทรงเรือไปแวะทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพลี แล้วเสด็จไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลมะม่วงหวาน ใกล้ทุ่งป่าโมก พักจัดกระบวนทัพอยู่ ๓ วัน

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่พลับพลาตำบลมะม่วงหวานนั้น คืนหนึ่งทรงพระสุบินไปว่าน้ำท่วมมาแต่ทิศตะวันตก พระองค์ทรงลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งได้ต่อสู้กัน ทรงประหารจระเข้นั้นตายด้วยฝีพระหัตถ์ พระโหราธิบดีทูลพยากรณ์ว่าพระสุบินเป็นมงคลนิมิตร เสด็จไปจะได้รบกับข้าศึกถึงตัวต่อตัว และพระองค์จะมีชัยชนะ ก็ทรงยินดี

ถึงเดือนยี่ขึ้น ๑๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพหลวงออกจากบ้านมะม่วงหวาน กองทัพไทยที่ยกไปครั้งนั้นมีจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ เดินบกจากทุ่งป่าโมกไปยังเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ ข้ามลำแม่น้ำสุพรรณที่ท่าท้าวอู่ทอง ไปถึงค่ายหลวงตำบลหนองสาหร่ายใกล้ลำน้ำท่าคอยเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่นั้น เมื่อก่อนเสด็จไปถึง คงตรัสสั่งให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งเป็นทัพหน้า รุกออกไปตั้งที่ตำบลดอนระฆัง รอยค่ายยังมีปรากฏอยู่ที่นั่น

ฝ่ายกองทหารม้าของพวกหงสาวดีที่เที่ยวเล็ดลอดสอดแนมเข้ามาได้จนถึงบางกระทิง ใกล้บ้านผักไห่ ในแขวงจังหวัดพระนคร สืบรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพหลวงออกไปยังเมืองสุพรรณบุรีมีจำนวนพลราวแสนเศษ ก็รีบกลับไปทูลพระมหาอุปราชาซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลตระพังตรุ ห่างกับที่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ตั้งอยู่ระยะทางเดินราววันหนึ่ง

พระมหาอุปราชาทราบว่าจำนวนพลของสมเด็จพระนเรศวรที่ยกไปน้อยกว่า ปรึกษากับแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ เห็นว่าควรจะเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีเสียให้แตกฉาน แล้วรีบติดตามตีกระหน่ำเข้าไปอย่าให้มีเวลาตั้งตัวต่อสู้ ก็เห็นจะได้พระนครศรีอยุธยาโดยง่าย จึงให้ยกกองทัพออกจากตะพังตรุ เห็นจะราวในวันกลางเดือนยี่ ใกล้ๆกับวันที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงหนองสาหร่าย หมายจะมาตีกองทัพไทย

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จไปถึงหนองสาหร่าย ทรงทราบว่ามีพวกมหารข้าศึกมาสอดแนมอยู่ใกล้ๆ ก็ทรงคาดว่าคงได้รบกับข้าศึกในวันสองวันนั้น เพราะทัพทั้งสองฝ่ายอยู่ใกล้กันนักแล้ว จึงทรงจัดทัพเป็นกระบวนเบญจเสนา ๕ ทัพ ทัพที่ ๑ ซึ่งเป็นกองหน้าให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๒ กองเกียกกายให้พระยาเทพอรชุนเป็นนายทัพ พระยาพิชัยสงครามเป็นปีกขวา พระยารามกำแหงเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๓ กองหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นจอมพลพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชา เจ้าพระยาเสนาเป็นปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๔ กองยกกระบัตรให้พระยาพระคลังเป็นนายทัพ พระราชสงครามเป็นปีกขวา พระรามรณภพเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๕ กองหลังให้พระยาท้ายน้ำเป็นนายทัพ หลวงหฤทัยเป็นปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกซ้าย

พิเคราะห์ตามที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดาร ดูเหมือนการรบครั้งนี้ แต่แรกสมเด็จพระนเรศวรตั้งพระราชหฤทัยจะตั้งรับให้ข้าศึกตีก่อน เพราะทรงทราบว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่ากองทัพไทยที่ยกไป ครั้นวันแรมค่ำ ๑ เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่าให้ไปสอดแนม เห็นข้าศึกยกกองทัพทั้งปวงเตรียมตัวรบในวันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ แล้วสั่งไปยังพระยาศรีไสบณรงค์ว่าให้ลาดตระเวนดู พอรู้ว่ากระบวนข้าศึกยกมาอย่างไรแล้วให้ถอยมา

ถึงจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ กองทัพทั้งปวงเตรียมพร้อมแต่เวลาเช้า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างแต่งพระองค์ทรงเครื่องพิชัยยุทธ ให้ผูกช้างชนะงาชื่อ พลายภูเขาทอง อันขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวร เจ้ารามราฆพเป็นกลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ อีกช้างหนึ่งชื่อ พลายบุญเรือง ขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ หมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ พร้อมด้วยนายแวงจตุลังคบาท พวกทหารคู่พระราชหฤทัยสำหรับรักษาพระองค์ และกระบวนช้างดั้งกันทั้งปวงเตรียมอยู่พร้อม

พอสมเด็จพระนเรศวรทรงเครื่องแล้วก็ได้ยินเสียงปืนลั่นทางหน้าทัพ ดำรัสสั่งให้จมื่นทิพเสนา ปลัดกรมตำรวจ เอาม้าเร็วรีบไปสืบดูว่าเป็นอย่างไร จมื่นทิพเสนาได้ตัวขุนหมื่นพระยาศรีไสยณรงค์มากราบทูลรายงาน ว่าพระยาศรีไสยณรงค์ยกไปรบข้าศึกที่ตำบลดอนเผาข้าว เมื่อเวลารุ่งเช้าวันแรม ๒ ค่ำนั้น ข้าศึกมากนักต้านทานไม่ไหวจึงแตกมา

สมเด็จพระนเรศวรตรัสปรึกษานายทัพผู้ใหญ่ว่า กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์แตกมาอย่างนี้จะทำอย่างไรดี พวกนายทัพเห็นกันโดยมากว่า ควรจะให้มีกองทัพหนุนออกไปช่วยพระยาศรีไสยณรงค์ต้านทานข้าศึกไว้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงยกกองทัพหลวงออกตีต่อภายหลัง

สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเห็นชอบด้วย ตรัสว่ากองทัพแตกฉานมาอย่างนี้ แล้วให้กองทัพไปหนุน ไหนจะรับไว้อยู่ มาปะทะกันเข้าก็จะพากันแตกลงมาด้วยกัน ทรงพระราชดำริเปลี่ยนกระบวนรบใหม่ในขณะนั้น จะเข้าตีโอบข้างข้าศึกในเวลาเมื่อไล่กองทัพไทยมา

จึงตรัสสั่งให้จมื่นทิพเสนา จมื่นราชามาตย์ขึ้นม้าเร็วรีบไปประกาศแก่พวกกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ ว่าอย่าให้รั้งรอรับข้าศึกเลย ให้เปิดหนีไปเถิด และให้ไปบอกตามกองทัพที่เตรียมไว้ให้เตรียมตัวออกรบรุกข้าศึก ฝ่ายพวกกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ได้ทราบกระแสรับสั่ง ต่างก็รีบหนีเอาตัวรอดแตกกระจายไปไม่เป็นหมวดเป็นกอง ข้าศึกเห็นกองทัพไทยแตกฉานได้ทีก็รีบติดตามมาไม่หยุดยั้ง

สมเด็จพระนเรศวรสงบทัพหลวงรออยู่จนเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา เห็นข้าศึกไล่ตามมาไม่เป็นกระบวนสมคะเน ก็ตรัสสั่งให้บอกสัญญากองทัพทั้งปวงให้ยกออกตีโอบข้าศึก และในขณะนั้นส่วนพระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงช้างชนะงาเหมือนกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ นำกองทัพหลวงเข้าตีโอบกองทัพหน้าข้าศึกในทันที

แต่ส่วนกองทัพท้าวพระยาเปลี่ยนกระบวนตามรับสั่งช้าบ้างเร็วบ้าง ยกไปไม่ทันเสด็จโดยมาก มีแต่กองทัพพระยาศรีหราชเดโชชัยกับกองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งเป็นปีกขวาตามกองทัพหลวงเข้าจู่โจมตีข้าศึก

กองหน้าข้าศึกกำลังระเริงไล่มาโดยประมาท หมายแต่จะจับเอาช้างม้าเครื่องศัสตราวุธของไทย มิได้ระแวงว่าจะมีกองทัพไทยไปตีโอบ ก็เสียทีป่วนปั่นแล้วเลยแตกหนีเป็นอลม่าน

ขณะนั้นช้างพระที่นั่งที่สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงไป เป็นช้างชนะงากำลังตกมันทั้งสองช้าง ครั้นเห็นช้างข้าศึกกลับหน้าพากันหนีก็ออกแล่นไล่ไปโดยเมาน้ำมัน พาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเข้าไปในกลางหมู่ข้าศึก มีแต่จตุลังคบาทกับทหารรักษาพระองค์ตามติดไป รี้พลที่รบไล่ข้าศึกตามช้างพระที่นั่งไม่ทัน เพราะในเวลานั้นกำลังรบพุ่งกันโกลาหนฝุ่นฟุ้งตลบจนมืดมัวไปทั่วทิศ พวกนายทัพนายกองไม่เห็นว่าช้างพระที่นั่งไปถึงไหน พวกข้าศึกก้ไม่เห็นพระองค์ถนัด แม้พระองค์สมเด็จพระนเรศวรเองก็ไม่ทรงทราบว่าไล่ข้าศึกไปถึงไหน

จนเวลาฝุ่นจางทอดพระเนตรไปเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชาธารยืนพักช้างอยู่ในร่มไม้ กับช้างท้าวพระยาอีกหลายตัว จึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาไล่เข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึกซึ่งมิได้แตกฉาน

แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระสติมั่นไม่หวั่นหวาด คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะเอาชัยชนะได้ยังมีอยู่อย่างเดียว ก็ขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังหน้าช้างพระมหาอุปราช แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาอย่างแต่ก่อนว่า "เจ้าพี่ จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างได้อย่างเราจะไม่มีแล้ว"

ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงท้าชนช้างนั้น ที่จริงเสด็จอยู่ท่ามกลางหมู่ข้าศึก มีแต่ช้างพระที่นั่งสองช้างกับพวกทหารรักษาพระองค์ไม่กี่คน ถ้าพระมหาอุปราชาไม่รับชนช้าง สั่งให้พวกกองทัพรุมรบพุ่งก็น่าจะไม่พ้นอันตราย แต่พระมหาอุปราชาพระหฤทัยก็เป็นวิสัยกษัตริย์เหมือนกัน เมื่อได้ฟังสมเด็จพระนเรศวรท้าชนช้างจะไม่รับก็ละอาย จึงทรงช้างพลายพัทธกอซึ่งเป็นช้างชนะงา ขับตรงออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร

ฝ่ายเจ้าพระยาไชยานุภาพกำลังคลั่งน้ำมัน เห็นช้างข้าศึกตรงออกมาก็เข้าโถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เสียที พลายพัทธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว

แต่สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทัน ถูกแต่ชายพระมาลาหนังซึ่งทรงในวันนั้นบิ่นไป พอเจ้าพระยาไชยานุภาพสะบัดหลุดแล้วกลับชนได้ล่างแบกถนัด รุนเอาพลายพัทธกอหันเบนไป สมเด็จพระนเรศวารก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ขวาขาด ซบสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปะโร ฟันเจ้าเมืองจาปะโรตายเหมือนกัน

ท้าวพระยาเมืองหงสาวดีเห็นพระมหาอุปราชาเสียทีถูกฟัน ต่างก็กรูกันเข้ามาช่วยแก้ไข เอาปืนระดมยิงถูกพระหัตถ์ถึงบาดเจ็บ และถูกนายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งกับหมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถตายทั้งสองคน

ขณะนั้น พอรี้พลกองทัพหลวงและกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา พระยาสีหราชเดโชชัย ตามไปถึงทันเข้าก็เข้ารบพุ่ง แก้กันเอาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถถอยออกมาพ้นจากกองทัพข้าศึกได้

ขณะนั้นการรบพุ่งคงหยุดลงเอง เพราะพวกเมืองหงสาวดีกำลังตกใจด้วยจอมพลสิ้นพระชนม์ ไม่มีใครจะบัญชาการศึก ก็คิดแต่จะพาพระศพกลับไป ข้างฝ่ายพวกกรุงศรีอยุธยาก็กำลังตกใจด้วยสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถถูกล้อมรบจวนเป็นอันตราย เพิ่งแก้เอาออกมาได้ ก็หมายแต่จะพามาให้พ้นภัย ทั้งกองทัพที่ตามไปก็ไม่พรักพร้อมกัน จึงพากันทูลขอให้เสด็จกลับมาค่ายหลวง เห็นจะต้องมาจัดกองทัพเสียเวลาอยู่สักวันหนึ่งหรือสองวัน จึงได้ยกไปตามข้าศึก

แต่ข้าศึกรีบล่าถอยไปเสียก่อนมากแล้ว ทันแต่กองทัพที่รั้งหลัง ณ เมืองกาญจนบุรีก็ตีแตกพ่ายไป ได้ช้างม้าเครื่องศัสตราวุธ และจับตัวเจ้าเมืองมะลวน ซึ่งเป็นควาญช้างทรงของพระมหาอุปราชามาได้ด้วย ไทยเห็นจะรู้รายการทัพทางฝ่ายหงสาวดีจากคำให้การของเจ้าเมืองมะลวน แล้วสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปล่อยตัวไป ให้ไปทูลพรรณนาถวายพระเจ้าหงสาวดีถึงที่พระมหาอุปราชามาทำยุทธหัตถีนั้น

แม้สมเด็จพระนเรศวรเคยมีชัยชนะมาหลายครั้งแล้ว แต่ชนะครั้งอื่นไม่สำคัญเหมือนชนะยุทธหัตถีครั้งนี้ เพราะในชมพูทวีปถือกันเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า การชนช้างเป็นยอดความสามารถของนักรบด้วยเป็นการต่อสู้กันตัวต่อตัว แพ้ชนะกันแต่ด้วยความคล่องแคล่วกล้ากับชำนิชำนาญการขับขี่ช้างชน มิได้อาศัยกำลังรี้พลหรือกลอุบายอย่างใด เพราะฉะนั้นถ้ากษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ก็นับถือว่ามีพระเกียรติยศอย่างสูงสุด ถึงผู้แพ้ก็ยกย่องว่าเป็นนักรบแท้ มิได้ติเตียนเลย คติที่กล่าวมานี้ก็เป็นความนิยมของไทยเหมือนกับชาติอื่น

พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรจึงถึงที่เป็นวีรกษัตริย์ สมบูรณ์เมื่อมีชัยชนะครั้งนี้ แม้เครื่องทรงเมื่อทำยุทธหัตถีคือ พระมาลา ก็ได้นามว่า "พระมาลาเบี่ยง" พระแสงที่ฟันพระมหาอุปราชาก็ได้นามว่า "พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย" นับในเครื่องราชูปโภคศักดิ์สิทธิ์ด้วยกันกับ "พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง" และ "พระแสงดาบคาบค่าย" ซึ่งกล่าวมาแล้วสืบต่อมาในเมืองไทยทุกรัชกาล

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงพระนคร ยังทรงโทมนัสที่ไม่สามารถจะตีกองทัพข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้หมดเหมือนครั้งก่อน เพราะเหตุที่กองทัพท้าวพระยาไม่ตามเสด็จไปให้ทันรบพุ่งพร้อมกันตามรับสั่ง จึงให้ลูกขุนพิจารณาพิพากษาโทษแม่ทัพนายกองตามอัยการศึก

ลูกขุนปรึกษาวางบทว่า พระยาศรีไสยณรงค์มีความผิดฐานบังอาจฝ่าฝืนพระราชโองการไปรบพุ่งข้าศึกโดยพลการจนเสียทีทัพแตกมา และเจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน พระยาพิชัยสงคราม พระยารามคำแหง มีความผิดฐานละเลยไม่ตามเสด็จให้ทันตามรับสั่ง โทษถึงประหารชีวิตทั้ง ๖ คน ดำรัสสั่งให้เอาตัวไปจำตรุไว้ พอพ้นวันพระแล้วให้เอาไปประหารชีวิตเสียตามคำลูกขุนพิพากษา

แต่เมื่อมหาสังฆนายกวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ก่อนวันพระ สมเด็จพระวันรัตนวัดป่าแก้วกับพระราชาคณะรวม ๒๕ รูป เข้าไปถามข่าวถึงการที่เสด็จสงครามตามประเพณี สมเด็จพระนเรศวรตรัสเล่าแถลงการทั้งปวง ตั้งแต่ต้นจนได้ทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา ให้พระราชาคณะทั้งปวงฟัง (ต่อไปนี้คัดสำนวนในหนังสือพระราชพงศาวดารมาลงบางแห่ง ตามที่หมายสำคัญไว้)

สมเด็จพระวันรัตน ถวายพระพรถามว่า "สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีชัยแก่ข้าศึก เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า"

สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า " นายทัพนายกองเหล่านี้มันกลัวข้าศึกมากกว่ากลัวโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ต่อมีชัยชนะกลับมาจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่าโยมยังไม่ถึงที่ตาย หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุนี้โยมจึงให้ลงโทษมันตามอาญาศึก"

สมเด็จพระวันรัตนจึงถวายพระพร "อาตมาภาพพิเคราะห์ดูข้าราชการเหล่านี้ ที่จะไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ เหตุทั้งนี้เห็นจะเผอิญเป็น เพื่อจะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเป็นมหัศจรรย์ดอก เหมือนสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเมื่อ (วันจะตรัสรู้พระโพธิญาณ) พระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ใต้ควงไม้พระมหาโพธิ ณ เพลาสายัณห์ครั้งนั้น เทพเจ้าก็มาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาล พระยาวัสวดีมารยกพลเสนามาผจญ ถ้าพระพุทธองค์ได้เทพเจ้าเป็นบริวารมีชัยแก่พระยามาร ก็จะหาสู้เป็นมหัศจรรย์นักไม่ นี่เผอิญให้หมู่อมรอินทร์พรหมทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น ยังแต่พระองค์เดียว อาจสามารถผจญพระยามาราธิราชกับพลเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้ได้ สมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้าจึงได้พระนามว่า พระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชดาญาณ เป็นมหามหัศจรรย์บันดาลไปทั่วอนันตโลกธาตุ เบื้องบนตราบเท่าถึงภวัคพรหม เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเป็นที่สุด พิเคราะห์ดูก็เหมือนพระราชสมถารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนางคนิกรโยธาทวยหาญมาก และมีชัยแก่พระมหาอุปราชา ก็จะหาสู้เป็นมหัศจรรย์แก่พระเกียรติยศ ให้ปรากฏไปในนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงไม่ พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระปิริวิตกน้อยพระทัยเลย อันเหตุที่เป็นทั้งนี้ เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศ ดุจอาตมาภาพถวายพระพรเป็นแท้"

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงฟังสมเด็จพระวันรัตนถวายวิสัชนากว้างขวาง ออกพระนามสมเด็จพระบรมอัครโมลีโลกครั้งนั้น ระลึกถึงพระคุณนามอันยิ่ง ก็ทรงพระปีติโสมนัสตื้นเต็มพระกมลหฤทัยปราโมทย์ ยกพระกรประณมเหนือพระอุตตมางคศิโรตม์นมัสการ แย้มพระโอษฐ์ว่า "สาธุ สาธุ พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา"

สมเด็จพระวันรัตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์คลายพระพิโรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า "อาตมาภาพพระราชาคณะทั้งปวง เห็นว่าข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทั้งทำราชการในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมา ดุจพุทธบรษัทของสมเด็จบรมครูก็เหมือนกัน อาตภาพทั้งปวงขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้สักครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป"

สมเด็จพระนเรศแวรตรัสตอบว่า "พระผู้เป็นเจ้าขอแล้ว โยมก็จะถวาย แต่ทว่าจะต้องให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย แก้ตัวก่อน"

สมเด็จพระวันรัตนถวายพระพรว่า "การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้น ก็สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ มิใช่กิจของอาตมาภาพทั้งปวงอันเป็นสมณะ"

ยังมีของโบราณปรากฏอยู่บางสิ่ง ซึ่งชวนให้เห็นว่าเมื่อสมเด็จพระวันรัตนทูลขอโทษข้าราชการแล้ว ได้ทูลแนะนำสมเด็จพระนเรศวรให้เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยครั้งนั้นด้วยทรงบำเพ็ญกุศลกรรม และคงยกเรื่องประวัติพระเจ้าทุษฐคามนีมหาราช อันมีในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปมาทูลถวายเป็นตัวอย่าง

ในเรื่องนั้นว่า เมื่อ พ.ศ. ๓๓๘ พวกทมิฬมิจฉาทิฏฐิยกกองทัพข้ามจากชมพูทวีปมาตีได้เกาะลังกา แล้วครอบครองบ้านเมืองอยู่หลายปี ทุษฐคามนีกุมารราชโอรสของพระเจ้ากากะวรรดิศ ซึ่งเป็นกษัตริย์สิงหลถือพระพุทธศาสนา หนีไปอยู่บนเขา พยายามรวบรวมรี้พลยกไปตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบพระยาเอฬาระทมิฬซึ่งครองเมืองลังกาถึงชนช้างกันตัวต่อตัวที่ชานเมืองอนุราธบุรีราชธานี ทุษฐคามนีกุมารมีชัยชนะฆ่าพระยาเอฬาระทมิฬตายกับคอช้าง ได้เมืองลังกาคืนจากพวกมิจฉาทิฏฐิ มีพระเกียรติเป็นมหาราชสืบมาในพงศาวดาร

และเมื่อพระเจ้าทุษฐคามนีทำยุทธหัตถีมีชัยครั้งนั้น โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ตรงที่ชนช้างกับพระยาเอฬาระทมิฬองค์หนึ่ง แล้วให้สร้างพระมหาสถูปอันมีนามว่า มริจิวัตรเจดีย์ ขึ้นในเมืองราธบุรีอีกองค์หนึ่ง เฉลิมพระเกียรติปรากฏสืบมากว่าพันปี

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้สร้างพระสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ในทุ่งหนองสาหร่าย ตรงที่ทำยุธทหัตถีกับพระมหาอุปราชาองค์หนึ่ง และทรงสร้างพระมหาสถูปขึ้นที่วัดป่าแก้วขนานนามว่า ชัยมงคลเจดีย์ อีกองค์หนึ่ง (คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่อยู่ทางฝ่ายตะวันออกทางรถไฟ แลเห็นเมื่อก่อนเข้าเขตพระนครศรีอยุธยา)

นอกจากนั้นปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร และในกฏหมายลักษณะกบฏศึก ว่าพระราชทานบำเหน็จแก่ข้าราชการที่ได้ตามเสด็จไปรบครั้งนั้นตามความชอบทั่วกัน ตลอดจนถึงพวกไพร่พลที่ได้รบพุ่งครั้งนั้น โปรดให้ยกส่วยและอากรที่ติดค้างพระราชทาน ผู้ไปตายในที่รบก็โปรดให้เอาลูกและพี่น้องมาเลี้ยง ถ้ามีหนี้หลวงติดค้างก็ยกพระราชทานมิให้เรียกจากครอบครัว แม้จนผู้ที่ถวายลูกหลานให้ไปรบพุ่ง ถ้าเป็นหนี้หลวงก็ยกพระราชทานเหมือนกัน คงจะมีอย่างอื่นอีก ทั้งการพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญ และบำเหน็จที่ทรงพระราชทานครั้งนั้น แม้เจ้าพระยาไชยานุภาพช้างพระที่นั่งที่ชนชนะ ก็โปรดให้เปลี่ยนนามเพิ่มเกียรติเป็น เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ตามประเพณีโบราณ ให้สมกับเป็นมงคลหัตถีในการสงครามครั้งนั้น

ในปลายปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น สมเด็จพระนเรศวรดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองตะนาวศรีทัพ ๑ ให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพคุมพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองทะวายทัพ ๑ แก้ตัวที่ได้มีความผิด พวกข้าราชการที่มีความผิดครั้งเดียวกันก็ให้เข้ากองทัพไปด้วยทั้ง ๒ ทาง

เมืองตะนาวศรีและเมืองทะวายนั้น เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย พม่าชิงเอาไปเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนั้นพอมีโอกาส สมเด็จพระนเรศวรจึงให้ไปตีเอากลับคืน

แต่เมืองทั้งสองนี้การปกครองผิดกัน เมืองทะวายอยู่ต่อแดนเมืองมอญข้างเหนือเมืองตะนาวศรี ไพร่บ้านพลเมืองเป็นทะวายชาติหนึ่งต่างหาก การปกครองเคยตั้งทะวายเป็นเจ้าเมืองกรมการทั้งหมด จึงเป็นแต่ขึ้นกรุงฯเหมือนอย่างเป็นประเทศราชอันหนึ่ง ไม่สนิทนัก

ส่วนเมืองตะนาวศรีซึ่งอยู่ใต้เมืองทะวายลงมาต่อกับเมืองชุมพรนั้น ไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเมงและไทยปะปนกัน และมีเหตุอีกอย่างหนึ่งด้วยเมืองตะนาวศรีมีเมืองมะริดเป็นเมืองขึ้น ตั้งอยู่ที่ริมทะเล เป็นเมืองท่าสำหรับเรือกำปั่นแขกฝรั่งไปมาค้าขายและขนส่งสินค้ามาทางบกถึงกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก เพราะฉะนั้นจึงตั้งข้าราชการไทยออกไปเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรีอย่างเมืองพระยามหานครแต่โบราณ

เมื่อพม่าชิงเอาเมืองทะวายเมืองตะนาวศรีไปก็เอาแบบอย่างไทยไปปกครอง คือให้พวกทะวายปกครองกันเอง และให้ข้าราชการพม่าลงมาครองเมืองตระนาวศรีกับเมืองมะริด

เมื่อพม่าเจ้าเมืองมะริดได้ข่าวว่ากองทัพไทยจะยกไปตีเมืองก็รีบบอกขึ้นไปยังเมืองหงสาวดี เวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีก็กำลังกริ้วพวกท้าวพระยาที่มาในกองทัพพระมหาอุปราชา ว่าปล่อยให้พระราชโอรสเป็นอันตราย จึงตรัสสั่งให้ท้าวพระยาเหล่านั้นคุมกองทัพลงมารักษาเมืองทะวาย เมืองตะนาวศรี เพื่อรบกับไทยแก้ตัวใหม่

แต่เมื่อขณะกำลังเกณฑ์ทัพอยู่ที่เมืองหงสาวดีนั้น เจ้าพระยาจักรียกไปถึงเมืองตะนาวศรีก่อน ให้กองทัพล้อมเมืองไว้ พม่าเจ้าเมืองตะนาวศรีต่อสู้อยู่ได้ ๑๕ วัน ก็เสียเมืองแก่เจ้าพระยาจักรี ส่วนกองทัพพระยาพระคลังซึ่งยกไปตีเมืองทะวาย ได้รบพุ่งกับข้าศึกที่ด้านเชิงเขาบรรทัด บ้านหวุ่นโพะ กองทัพไทยเห็นพม่ายกถลำเข้ามาในที่ซุ่ม ก็ออกระดมตีทั้ง ๒ ทัพ ข้าศึกไม่รู้ตัวก็แตกฉานยับเยิน เสียช้างม้าผู้คนและเครื่องศัสตราวุธแก่ไทยเป็นอันมาก ไทยจับได้นายทัพนายกอง ๑๑ คน ไพร่พลกว่า ๔๐๐ คน เป็นเสร็จการรบได้เมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีกลับคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน

ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ ยังเสด็จประทับอยู่ที่วังจันทร์ต่อมาอีก ๒ ปี จนตีได้เมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีแล้ว จึงทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร เสด็จไปประทับในราชวังหลวงเมื่อเดือน ๑๐ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖ แล้วโปรดให้กลับตั้งหัวเมืองเหนือซึ่งได้ทิ้งให้ร้างอยู่ ๘ ปีขึ้นอย่างเดิม และทรงตั้งข้าราชการที่มีความชอบเป็นเจ้าเมือง คือให้พระยาชัยบุรี(น่าจะเป็นคนเดียวกับพระชัยบุรี หทารเอกที่เป็นข้าหลวงเดิม เคยรบพุ่งมาแต่แรก)เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เจ้าเมืองพิษณุโลก ให้พระยาศรีไสยณรงค์(ดูก็น่าจะเป็นคนเดียวกับพระศรีถมอรัตน ทหารเอกที่เคยเป็นคู่กับพระชัยบุรี)เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ให้พระศรีเสาวราชเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ให้พระองค์ทองราชนิกุลเป็นเจ้าเมืองพิชัย และให้หลวงจ่า(แสนย์)เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ส่วนพวกที่ไปรบพุ่งแก้ตัวจนได้เมืองทะวายเมืองตะนาวศรี มีเจ้าพระยาจักรีและพระยาพระคลังเป็นต้น ก็คงได้รับบำเหน็จตามสมควรแก่ความชอบทั่วกัน


(๓)

พอเสร็จสงครามตีเมืองทะวายเมืองตะนาวศรีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร ในปลายปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖ นั้น ตามที่มุ่งหมายมาช้านาน ด้วยเมืองเขมรเดิมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอุธยาอยู่แต่ก่อน ครั้นเมืองไทยถึงยุคเข็ญเมื่อรบแพ้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง พระบรมราชาเจ้ากรุงกัมพูชาก็เป็นกบฏ บังอาจเข้ามาตีเมืองไทยซ้ำเติมในเวลาเมื่อกำลังปลกเปลี้ยเป็นหลายครั้งดังกล่าวมาแล้ว

ครั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงสามารถกลับตั้งเมืองไทยเป็นอิสระขึ้นได้ นักพระสัฏฐาซึ่งได้ครองกรุงกัมพูชาต่อพระบรมราชา เกรงว่าไทยจะออกไปตีเมืองเขมรแก้แค้น จึงแต่งทูตให้เข้ามาขอเป็นทางไมตรีดีกับไทย แต่เป็นอย่างประเทศเสมอกัน เวลานั้นไทยกำลังเตรียมจะต่อสู้ศึกหงสาวดี สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯไม่อยากจะให้เขมรเป็นข้าศึกอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ทรงรับทางไมตรีของเขมร ด้วยเหตุนั้นนักพระสัฏฐาจึงให้พระศรีสุพรรณมาธิราช ซึ่งเป็นอนุชาเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีและยังอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ พระสณีสุพรรณมาธิราชเห็นจะตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯขึ้นไปรับสมเด็จพระนเรศวรด้วย แต่เมื่อเรือลำทรงของสมเด็จพระนเรศวรผ่านมา พระศรีสุพรรณมาธิราชนั่งดูอย่างวางตัวตีเสมอ ก็ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงขัดเคืองอีกครั้งหนึ่ง

แต่มาทรงขัดเคืองถึงที่สุดเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกกองทัพใหญ่มาล้อมพระนคร พอนักพระสัฏฐาเจ้ากรุงกัมพูชารู้ว่ากรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในที่ยาก คาดว่าไทยคงเสียบ้านเมืองอีก ก็ทิ้งทางไมตรี แต่งกองทัพเข้ามาเที่ยวปล้นทรัพย์จับคนในเมืองไทย ทางแขวงเมืองปราจีนฯไปเป็นเชลย เหมือนเช่นเคยทำมาก่อน

สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงแค้นถึงตรัสปฏิญาณว่า จะตีเมืองเขมรจับนักพระสัฏฐาฆ่าเสียให้จงได้ พอเสร็จศึกคราวพระมหาอุปราชาครั้งแรก ก็ตรัสเตรียมทัพหมายจะเสด็จไปตีเมืองเขมรเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ แต่มีศึกพระมหาอุปราชายกเข้ามาอีกในปีมะโรงนั้น จึงต้องรอการตีเมืองเขมรมาจนปลายปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖

กระบวนที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองเขมรครั้งนี้ ดำรัสสั่งให้เกณฑ์พลเมืองนครนายก เมืองปราจีน เมืองฉะเชิงเทราและเมืองสระบุรี เข้าเป็นกองทัพ ให้พระยานครนายกเป็นนายพล ไปด้วยกันกับเจ้าเมืองอีก ๓ เมืองนั้น ยกไปตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารเตรียมไว้ ณ ตำบลทำนบในหนทางที่กองทัพใหญ่จะยกไปเมืองเขมร (จะอยู่ในเขตเมืองไหนไม่รู้แน่ แต่คงใกล้กับแดนเขมร)ทัพ ๑ ให้เกณฑ์พลเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนเมืองเพชรบุรีเป็นกองทัพเรือ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นนายพลคุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปขึ้นที่เมืองป่าสัก ในแดนเขมรทัพ ๑ ให้พระยาราชวังสันเป็นนายพล คุมทัพเรือพวกอาสาลงไปตีเมืองบันทายมาศขึ้นมาทางใต้ทัพ ๑ กองทัพบกนั้นให้เจ้าพระยานครราชศรีมา เกณฑ์พลในเมืองนั้นเข้ากองทัพยกลงไปทางเมืองเสียมราฐทาง ๑ ส่วนกองทัพหลวงตั้งประชุมพลที่ทุ่งหันตราชานพระนคร โปรดให้พระยาราชมนู (ทหารเอก เห็นจะเป็นพระยามาแต่ครั้งรบที่บ้านสระเกศ ดังกล่าวมาแล้ว)คุมทัพหน้า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาเสด็จเป็นกองหลวง กำหนดนัดกองทัพทังปวงให้ไปประจบกันที่เมืองละแวก ราชธานีของกัมพูชา

สมเด็จพระนเรศวรออกจากพระนคร เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘ ยกกองทัพหลวงไปทางเมืองปราจีน เมื่อถึงค่ายตำบลทำนบ ตรัสสั่งให้กองทัพพระยานครนายกเข้าสมทบในกองทัพหลวงยกต่อไป

ทางฝ่ายเขมรครั้งนั้นก็เตรียมต่อสู้แข็งแรง ปรากฏว่าในหนทางที่กองทัพหลวงจะยกเข้าไปในแดนเขมรนั้น มีกองทัพพระยามโนไมตรีตั้งรับอยู่ที่เมืองพระตะบองแห่ง ๑ ต่อเข้าไปมีกองทัพพระสวรรคโลกตั้งรับอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์อีกแห่ง ๑ และที่สุดก่อนจะถึงเมืองละแวก มีกองทัพใหญ่ของพระศรีสุพรรณมาธิราชตั้งรับอยู่ที่เมืองบริบูรณ์อีกแห่ง ๑ ทางอื่นก็มีกองทัพพระยาจีนจันตุ (จะเป็นคนเดียวกับที่เคยหนีไปจากเมืองไทยหรือมิใช่ สงสัยอยู่) ตั้งรักษาเมืองบันทายมาศแห่ง ๑ กองทัพพระยาวงศาธิราชตั้งรกษาเมืองป่าสักแห่ง ๑ กองทัพพระยาภิมุขวงศาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ เป็นเขื่อนของเมืองละแวกอีกแห่ง ๑

กองทัพไทยยกลงไปถึงเมืองพระตะบอง เห็นเขมรเป็นแต่ตั้งมั่นรักษาเมืองอยู่ พระยาราชมนูก็เข้าตีเมืองพระตะบองได้โดยง่าย และจับตัวพระยามโนไมตรีได้ด้วย

เมื่อไปถึงเมืองโพธิสัตว์ พระยาสวรรคโลกยกกองทัพออกต่อสู้นอกเมือง ได้รบกันถึงตะลุมบอน พระยาราชมนูรบชนะตีได้เมืองโพธิสัตว์อีกเมือง ๑

แต่ที่เมืองบริบูรณ์กองทัพพระศรีสุพรรณมาธิราช ที่ตั้งรักษาเมืองบริบูรณ์เป็นกองทัพใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริว่า กำลังกองทัพพระยาราชมนูจะตีให้แตกไม่ได้ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงติดตามไป พวกข้าศึกออกตั้งสู้นอกเมืองแห่งหนึ่ง กองทัพไทยตีแตกหนีไป แต่นั้นพระศรีสุพรรณมาธิราชเป็นแต่ตั้งมั่นอยู่ในเมือง สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้ล้อมเมือง แล้วตีหักเข้าไปทุกด้านพร้อมกันในวันเดียวก็ได้เมืองบริบูรณ์ แต่ตัวพระศรีสุพรรณมาธิราชหนีไปเมืองละแวกได้

ฝ่ายกองทัพไทยที่ยกไปทางอื่น กองทัพพระยาราชวังสันไปถึงเมืองบันทายมาศ ได้รบกับพระยาจีนจันตุ พระยาจีนจันตุตายในที่รบ ก็ได้เมืองนั้น

ฝ่ายกองทัพพระยาเพชรบุรียกไปถึงเมืองป่าสัก ได้รบกับกองทัพเรือของพระยาวงศาธิราช พระยาวงศาธิราชถูกปืนใหญ่ตายในที่รบก้ได้เมืองป่าสัก แล้วรวบรวมเรือยกต่อขึ้นไปถึงเมืองปากกะสัง กำลังพระยาราชวังสันกับพระยาภิมุขวงศารบติดพันกันอยู่ พระยาเพชรบุรีก็เข้าช่วยตีกระหนาบ ข้าศึกก็แตกหนีไป พระยาทั้งสองจึงสมทบกันขึ้นไปยังเมืองละแวกทางข้างใต้

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งยกไปทางเมืองเสียมราฐนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้าศึกต่อสู้ก็ไปถึงเมืองละแวกทางด้านตะวันออกได้โดยง่าย

เวลากองทัพไทยยกลงไปครั้งนั้น พวกไทยที่ถูกเขมรจับเอาไปเป็นเชลยแต่ก่อน คงพากันมาหากองทัพ เห็นจะได้รี้พลเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย พอกองทัพไทยไปถึงเมืองละแวกพร้อมกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสสั่งให้เข้าตั้งประชิดติดไว้ทุกด้าน และให้เตรียมตีหักเอาด้วยกำลัง

ครั้นถึงเดือน ๕ ๒ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารออกบัญชาการรบเอง พอดึกเวลา ๔ นาฬิกาก็ให้สัญญากองทัพให้ตีเมืองพร้อมกันทุกด้าน ข้าศึกต่อสู้ต้องรบพุ่งกันเป็นสามารถ แต่พอรุ่งสว่างกองทัพไทยก็เข้าเมืองได้ และจับได้ทั้งนักพระสัฏฐาเจ้ากรุงกัมพูชา และพระศรีสุพรรณมาธิราช

เมื่อได้เมืองละแวกแล้ว สมเด็จพระนเรศวรตรัสสั่งให้ทำพิธีปฐมกรรมและเอาตัวนักพระสัฏฐาไปประหารชีวิตเสียตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้ แล้วให้ริบทรัพย์จับผู้คนเอามาเป็นเชลยศึกตามประเพณีสงครามสมัยนั้น โดยตีเมืองได้โดยต้องรบ แต่พระศรีสุพรรณมาธิราชโปรดให้เอาตัวมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา

ในพงศาวดารเขมรว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงตีเมืองเขมรได้แล้ว โปรดให้พระมหามนตรีอยู่รักษากัมพูชา ถ้าเช่นนั้นก็เป็นชั่วคราว ในเวลาบ้านเมืองกำลังเป็นจลาจล ด้วยปรากฏต่อมาว่า ไม่ช้าก็โปรดให้ราชบุตรนักพระสัฏฐาทรงพระนามว่า พระศรีสุธรรมราชา ครองกรุงกัมพูชา แต่นั้นเมืองเขมรก็กลับเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาเหมือนแต่ก่อนมา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองเขมรได้แล้ว ต่อมาในไม่ถึงปีพระยาศรีไสยณรงค์เจ้าเมืองตะนาวศรีก็เป็นกบฏ ดูเป็นการใหญ่โต ถึงสมเด็จพระเอกาทศรถต้องเสด็จยกกองทัพลงไปปราบปราม พิเคราะห์ดูน่าพิศวง ด้วยพระยาศรีไสยณรงค์เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงชุบเลี้ยงและเคยรบศัตรูเป็นคู่พระราชหฤทัยมาแต่แรก ไฉนจึงมาคิดทรยศเป็นกบฏต่อเจ้านายของตนเอง

อีกประการหนึ่งพระยาศรีไสยณรงค์เป็นแต่เจ้าเมืองๆหนึ่ง จะเอากำลังที่ไหนมาต่อสู้กองทัพในกรุงกับหัวเมืองอื่นที่จะยกไปปราบปราม จะหมายพึ่งต่างประเทศ เมืองตะนาวศรีก็มิได้อยู่ติดต่อกับประเทศไหน ที่ตั้งแข็งเมืองเป็นกบฏก็เหมือนวางบทโทษประหารชีวิตตนเอง แม้พระยาศรีไสยณรงค์สิ้นความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนเรศวร ก็ต้องคิดถึงความปลอดภัยของตนเองก่อน

ที่ว่าเป็นกบฏลอยๆจึงน่าสงสัยจะไม่ตรงกับความจริง พิจารณาดูเรื่องประวัติของพระยาศรีไสยณรงค์ที่ปรากฏในพงศาวดาร ประกอบกับรายการที่ปรากฏเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จลงไปตีเมืองตะนาวศรีครั้งนั้น ความยุติต้องกัน เห็นว่าเรื่องที่จริงน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

พระยาศรีไสยณรงค์เป็นทหารรุ่นแรกของสมเด็จพระนเรศวร คู่กันกับพระยาชัยบูรณ์มาแต่ยังทรงครองพิษณุโลก เมื่อพระยาชัยบูรณ์เป็นที่พระชัยบุรี และพระยาศรีไสยณรงค์เป็นที่พระศรีถมอรัตน ได้ไปรบชนะเขมรที่เมืองนครราชสีมาด้วยกันทั้ง ๒ คนครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพของเมืองไทยแล้ว โปรดให้คุมพลไปขับไล่กองทัพพม่าไปจากเมืองกำแพงเพชรด้วยกันทั้ง ๒ คน ได้รบกับข้าศึกถึงชนช้างมีชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง

คงเป็นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ โปรดให้เลื่อนยศพระชัยบุรีขึ้นเป็นพระยาชัยบูรณ์ และเลื่อนยศพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาศรีไสยณรงค์ ต่อมาถึงครั้งสมเด็จพระนเรศวรรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ มีชื่อทหารเอกปรากฏขึ้นอีกคนหนึ่ง พระราชมนูซึ่งคุมกองทัพหน้าในครั้งนั้นเห็นจะเป็นคนรุ่นหลัง และบางทีจะได้เคยเป็นตัวรองอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาศรีไสยณรงค์มาแต่ก่อน ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรที่ถึงขึ้นชื่อในพงศาวดารจึงมี ๓ คนด้วยกัน

เมื่อครั้งพระมหาอุปราชาหงสาวดีมาตีเมืองไทยคราวชนช้าง พอได้ข่าวว่าข้าศึกยกเข้าแดนเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์ยกกองทัพหน้ารุกออกไปตั้งสกัดข้าศึกที่ตำบลดอนระฆัง ตรัสสั่งพระยาศรีไสยณรงค์ไปว่า ให้สืบกำลังข้าศึกและกระบวนทัพที่ข้าศึกยกมา บอกกราบทูลเป็นสำคัญ ถ้าเห็นข้าศึกยกมามาก ให้พระยาศรีไสยณรงค์ถอยมาหาทัพหลวงอย่าให้รบ แต่พระยาศรีไสยณรงค์จะเข้าใจกระแสรับสั่งผิด หรืออุกอาจโดยนิสัยของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง

พอกองทัพหน้าของข้าศึกยกมาใกล้ก็สั่งให้เข้าระดมตี ไม่ล่าถอยตามรับสั่ง ข้าศึกมีกำลังมากกว่าก็ตีกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์แตกพ่าย เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรต้องทรงเปลี่ยนกระบวนรบในปัจจุบันทันด่วนจนโกลาหลอลหม่าน พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ในพวกนายทัพนายกองที่ทำความผิดต้องระวางโทษถึงตาย แต่สมเด็จพระวันรัตนทูลขอชีวิตไว้ได้ด้วยกันทั้งหมด

เมื่อโปรดให้ข้าราชการที่มีความผิดครั้งนั้นไปตีเมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีแก้ตัว พระยาศรีไสยณรงค์ไปในกองทัพเจ้าพระยาจักรีซึ่งไปตีเมืองตะนาวศรี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งหน้าที่อย่างใดในกองทัพสมกับคุณวิเศษซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน จนเมื่อเจ้าพระยาจักรีตีได้เมืองตะนาวศรีแล้ว จะยกกองทัพไปช่วยพระยาพระคลังที่เมืองทะวาย จึงให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่รักษาเมืองตะนาวศรี

ครั้งเสร็จสงคราม สมเด็จพระนเรศวรก็เลยทรงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี เพราะได้รักษาเมืองอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่ยกความชอบอย่างใด พระยาศรีไสยณรงค์คงจะเสียใจ แต่ยังพอคิดเห็นว่าเป็นเพราะตัวมีความผิดติดอยู่เมื่อแต่ก่อน

แต่ต่อมาถึงคราวพูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึกเขมร สมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งพระราชมนูเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม คราวนี้พระยาศรีไสยณรงค์เห็นจะเสียใจมาก ถึงเกิดโทมนัสแรงกล้าสาหัส ด้วยรู้สึกว่าคนรุ่นหลังได้เลื่อนยศข้ามหัวขึ้นไปเป็นใหญ่กว่าตน อันได้ทำความชอบความดัมาก่อนช้านาน

แต่ก็คงมิได้คิดจะเป็นกบฏ น่าจะเป็นแต่แสดงความโทมนัสออกนอกหน้าตามประสาคนมุทะลุ เช่นพูดว่า "เห็นจะไม่ทรงชุบเลี้ยงแล้ว ไปอยู่กับพม่าเสียได้จะดีกว่า" ดังนี้เป็นต้น คนคงได้ยินกันมากก็มีกรมการที่ไม่ชอบพระยาศรีไสยณรงค์หรือที่ตกใจจริงๆ ลอบเข้ามาบอกเจ้าเมืองกุย เจ้าเมืองกุยจึงมีใบบอกเข้ามากราบทูล สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเชื่อ ก็เป็นธรรมดาเพพราะพระยาศรีไสยณรงค์เป็นข้าหลวงเดิม ทรงชุบเลี้ยงอย่างสนิทสนมมาแต่ก่อน ไม่เห็นว่าจะเป็นกบฏได้ แต่เมื่อถูกฟ้องต้องหาเช่นนั้นก็จำต้องไต่ถาม จึงตรัสสั่งให้มีท้องตราให้หาตัวเข้ามาแก้คดี

ข้างฝ่ายพระยาศรีไสยณรงค์ไม่ได้คาดว่าคำที่ตัวพูดโดยกำลังโทสะจะรู้เข้าไปถึงพระกรรณสมเด็จพระนเรศวร ได้เห็นท้องตราก็ตกใจเพราะได้พูดเช่นนั้นจริง จะเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรก็เกรงถูกประหารชีวิต จึงมีใบบอกบิดพลิ้วเช่นว่ายังป่วยเป็นต้น โดยหมายว่าจะรอพอให้คลายพิโรธแล้วจึงจะเข้ามาเฝ้า

แต่ทำเช่นนั้นกลับเป็นอาการขัดรับสั่งสมข้อหาว่าเป็นกบฏ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระพิโรธตรัสสั่งให้ยกกองทัพออกไปปราบพระยาศรีไสยณรงค์

คิดดูถึงกองทัพที่จะยกไปครั้งนั้น แม้แต่กองทัพขุนนางเช่นเมื่อเจ้าพระยาจักรีไปตีเมืองตะนาวศรี ก็คงจะพอปราบพระยาศรีไสยณรงค์ได้ ไฉนจึงถึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จเป็นจอมพลลงไปเอง ข้อนี้ส่อให้เห็นเหตุว่าคงเป็นเพราะสมเด็จพระเอกาทศรถก็ไม่ทรงเชื่อว่าพระยาศรีไสยณรงค์เป็นกบฏ ด้วยได้ทรงทราบอุปนิสัยของพระยาศรีไสยณรงค์มาแต่ก่อนว่าเป็นคนมุทะลุดุร้าย ถ้าผู้อื่นยกกองทัพลงไปอาจจะถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกัน จึงทูลรับอาสาเสด็จไปเอง เพื่อจะไปว่ากล่าวในพระยาศรีไสยณรงค์สารภาพรับผิดโดยดี

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรในเวลานั้น ก็ยังไม่สิ้นพระกรุณาพระยาศรีไสยณรงค์ จึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปตามประสงค์

แต่เมื่อพระยาศรีไสยณรงค์รู้ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพลงไป ก็กลับหวาดหวั่นหนักขึ้น เกรงจะไม่รอดชีวิต มิรู้ที่จะทำอย่างไรก็สั่งให้ปิดประตูเมืองตะนาวศรี เกณฑ์คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินตามประสาเข้าตาจน พระยาศรีไสยณรงค์จึงกลายเป็นกบฏจริงๆในตอนนี้

ความคิดเห็นเช่นว่ามานี้สมกับที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถให้ล้อมแล้ว มีหนังสือรับสั่งเข้าไปถึงพระยาศรีไสยณรงค์ว่ายังทรงระลึกถึงความชอบความดีที่ได้มาแต่หนหลัง ให้ออกมาสารภาพผิดเสียโดยดี จะทูลขอโทษให้ แต่พระยาศรีไสยณรงค์นิ่งเสียไม่ออกมาเฝ้าตามรับสั่ง จึงโปรดให้กองอาสาเข้าปล้นเมืองในเวลาดึก ก็ได้เมืองตะนาวศรีโดยง่าย เพราะพวกชาวเมืองไม่ต่อสู้ พอรุ่งเช้าก็จับได้ตัวพระยาศรีไสยณรงค์มาถวาย สมเด็จพระเอกาทศรถตรัสสั่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๓๐ ทีแล้วจำไว้

แม้ในตอนนี้คิดดูก็เห็นว่า สมเด็จพระเอกาทศรถยังทรงหวังจะช่วยพระยาศรีไสยณรงค์ จึงไม่ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสีย ถ้าหากมีพระประสงค์จะเอาตัวพระยาศรีไสยณรงค์มาถวายให้สมเด็จพระนเรศวรลงพระราชอาญา ก็คงเป็นแต่ให้จำไว้ ที่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระยาศรีไสยณรงค์นั้น ชวนให้เห็นว่าเพื่อจะลงโทษในข้อที่ไม่ออกมาเฝ้าโดยดีให้เสร็จสิ้นเรื่องเสียแต่เพียงนั้น เมื่อเสด็จกลับจะได้ทูลขอชีวิตพระยาศรีไสยณรงค์ไว้

แต่สมเด็จพระนเรศวร ทรงสิ้นเยื่อใยในข่ายพระกรุณาพระยาศรีไสยณรงค์เสีย แต่เมื่อทรงทราบว่าตั้งแข็งเมืองเอาสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว จึงตรัสสั่งออกไปให้ประหารชีวิตพระยาศรีไสยณรงค์เสียที่เมืองตะนาวศรี อย่าให้พาตัวเข้าในกรุงฯ เพื่อมิให้มีโอกาสที่สมเด็จพระเอกาทศรถจะทูลขอให้ลดหย่อนโทษ พระยาศรีไสยณรงค์จึงต้องถูกประหารชีวิต เรื่องที่จริงจะเป็นดังกล่าวมานี้


....................................................................................................................................................




 

Create Date : 16 มีนาคม 2550   
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:41:54 น.   
Counter : 3358 Pageviews.  


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคที่ ๒ ทรงกู้บ้านเมือง

(๑)

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชปราบดาภิเษกแล้ว ทรงสถาปนาพระเจ้าลูกเธอที่พระวิสุทธิกษัตรีเป็นพระมารดา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๓ พระองค์ ให้พระราชบุตรีพี่นางพระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี (ในหนังสือบางเรื่องเรียกว่า พระสุพรรณเทวี ก็มี) ในพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ทรงพระนามว่าพระนเรศวร ให้พระราชโอรสพระองค์น้อยทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ แล้วถวายพระสุพรรณกัลยาณีแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเมื่อประทับ ณ กรุงศรีอยุธยานั้น พระเจ้าหงสาวดีได้พระพี่นางเป็นพระชายาเหมือนอย่างเป็นตัวจำนำแทนแล้ว ก็อนุญาตให้สมเด็จพระนเรศวรอยู่ช่วยสมเด็จพระชนกปกครองบ้านเมือง

เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรไม่เคยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อน เพราะสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อยังทรงพระเยาว์เป็นแต่ผู้ใหญ่เคยพาลงมาเฝ้าสมเด็จพระอัยกาธิราชเป็ครั้งเป็นคราว เสด็จอยู่แต่ที่เมืองพิษณุโลกจนพระชันษาได้ ๙ ขวบก็เอาไปเป็นตัวจำนำอยู่เมืองหงสาวดี ไปทรงพระเจริญเป็นหนุ่มในสมาคมของพวกพม่ามอญ จนพระชันษา ๑๕ ปีจึงได้กลับมาอยู่เมืองไทย เพราะฉะนั้น แรกมาอยู่ในราชธานีอันมิได้ทรงคุ้นเคยกับถิ่นและผู้คน ก็คงยังไม่สามารถทำการงานได้เต็มที่ จึงไม่ปรากฏว่าในปีแรกสมเด็จพระนเรศวรกลับมาอยู่เมืองไทยได้มีตำแหน่งหน้าที่ประจำพระองค์อย่างใด น่าสันนิษฐานว่าสมเด็จพระชนกคงให้เริ่มทรงศึกษาราชการ ด้วยเป็นผู้รับสั่งตรวจการงานต่างพระเนตรพระกรรณ ถ้าเรียกอย่างทุกวันนี้ก็เป็นเช่นองครักษ์ ทรงคุ้นเคยราชการยิ่งขึ้นโดยลำดับแม้จนถึงได้รบพุ่งด้วย

เมื่อเสร็จศึกหงสาวดีแล้ว เมืองไทยยังมีความลำบากต่อมาอีก พอกองทัพเมืองหงสาวดีกลับไปแล้วไม่ทันถึงปี พระบรมราชาเจ้ากรุงกัมพูชา (ในพงศาวดารเรียกว่าพระยาละแวก เพราะในสมัยนั้นตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองละแวก) ซึ่งเคยเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ก่อน เห็นว่าไทยสิ้นกำลัง ก็บังอาจยกกองทัพเข้ามาตีเมืองไทยเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๑๓ ด้วยหวังจะริบทรัพย์จับเอาไทยไปเป็นเชลยบ้าง

ในเวลานั้นความที่เมืองไทยกำลังโทรม ถึงปรึกษากันว่าจะทิ้งพระนครศรีอยุธยาไปอาศัยเมืองเหนือหรือจะตั้งต่อสู้ข้าศึกดี ตกลงกันว่าถ้าเพียงรักษาพระนครเห็นพอจะสู้ได้ แต่ก็ต้องปล่อยให้ข้าศึกซึ่งยกมาทางบกแต่เมืองปราจีณบุรี เข้ามาได้ถึงตั้งประชิดพระนคร แต่เขมรมารบแพ้ไทย ก็ต้องเลิกทัพกลับไป เมื่อรบเขมรครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่มี่พระนคร คงจะได้ช่วยรบเป็นแต่ยังไม่ได้คุมรี้พลออกรบพุ่งด้วยพระองค์เอง

แต่ที่มีศึกเขมรเข้ามาพลอยซ้ำเติมนั้น กลับเป็นประโยชน์แก่เมืองไทยในทางอ้อม เพราะผู้คนพลเมืองที่แตกกระจัดพลัดพรายไปอยู่ตามที่ต่างๆเมื่อครั้งศึกหงสาวดี พากันหนีกองทัพเขมรเข้ามาอาศัยพระนครเป็นอันมาก สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ได้กำลังรี้พลเพิ่มขึ้นจนสามารถสร้างป้อมปราการและขุดขยายคูเมืองแต่พระนครให้มั่นคง แล้วมีพระราชประสงค์จะบำรุงกำลังทางหัวเมืองเหนือต่อไป จึงโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก บังคับบัญชาหัวเมืองเหนือทั้งปวงเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๑๔ เวลานั้นพระชันษาได้ ๑๖ ปี และได้ทรงศึกษาราชการอยู่ในกรุงฯกว่าปีแล้ว

ที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองเหนือ แม้เคยมีเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทรงตั้งพระราชโอรสรัชทายาทไปครองเมืองเหนือเช่นเดียวกันก็ดี แต่ครั้งนี้พฤติการณ์ผิกกับแต่ก่อน ด้วยเป็นเวลายุคเข็ญของเมืองไทย จะต้องฟื้นบ้านเมืองให้กลับคืนดี และยังมีการสำคัญยิ่งกว่านั้น ด้วยจะต้องระงับความแตกร้าวในระหว่างไทยชาวเมืองเหนือกับใต้ ซึ่งได้ถือตัวว่าเป็นต่างพวกรังเกียจกันมาหลายปี จนที่สุดถึงเคยเป็นข้าศึกกันเอง ให้กลับสมัครสมานเป็นพวกเดียวกัน ทั้งปลุกน้ำใจไทยให้หายครั่นคร้ามชาวต่างประเทศที่เคยเป็นข้าศึก อันเป็นการยากกว่าครองเมืองโดยปกติมาก

พิจารณาดูเมื่อรู้เรื่องพงศาวดารตลอดแล้ว ในเวลานี้เหมาะแก่ความต้องการของเมืองไทยในเวลานั้นไม่มีใครเสมอเหมือนหมดทุกอย่าง เป็นต้นแต่ที่สมภพและได้เสด็จอยู่เมืองพิษณุโกลเมื่อยังทรงพระเยาว์ ผู้คนพลเมืองเคยรู้จักรักใคร่มาแต่ก่อน จะทรงบังคับบัญชาว่ากล่าวอย่างไรคนก็ฟังด้วยความนับถือ ส่วนพระองค์เองก็เคยคุ้นกับถิ่นฐานผู้คนชาวเมืองเหนือ ไม่ลำบากพระทัยในการสมาคม หรือบังคับบัญชไพร่บ้านพลเมือง

คิดต่อไปอีกอย่าง ๑ เวลานั้นเป็นครั้งแรกที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงบัญชาการปกครองบ้านเมือง รับผิดชอบโดยลำพังพระองค์ ซึ่งได้ทรงครองแต่เมืองเหนือก่อน ก็เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทรงชำนิชำนาญการปกครองบ้านเมืองยิ่งขึ้นโดยลำดับ แม้ที่สมเด็จพระนเรศวรถูกเอาไปเป็นตัวจำนำอยู่ที่เมืองหงสาวดี ๖ ปี ก็กลับให้คุณเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้เคยเสด็จไปอยู่ในหมู่พม่ามอญ ทรงทราบภาษาและนิสัยใจคอ ตลอดจนวิชาความรู้และฤทธิ์เดชของพม่ามอญในสมัยนั้นว่ามีจริงเพียงไร ได้ความรู้มาเป็นทุนสำหรับเตรียมการต่อสู้ข้าศึกที่ไทยยังครั่นคร้ามอยู่โดยมาก

แต่ข้อสำคัญยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้น อยู่ที่นิสัยของสมเด็จพระนเรศวรเอง อันปรากฏตลอดเรืองพงศาวดารว่าเป็นนักรบ และเป็นนักรบอย่างแกล้วกล้าสามารถ ฉลาดในยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกแปลกกับผู้อื่นในสมัยเดียวกัน จึงควรนับว่าการกู้เมืองไทยในครั้งนั้น เริ่มแต่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปครองบ้านเมืองเหนือเป็นต้นมา


(๒)

สมเด็จพระนเรศวรทรงครองเมืองเหนือแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๑๓ จนปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๖ รวมเวลา ๑๔ ปี ตั้งแต่พระชันษาได้ ๑๖ ปี จนพระชันษา ๓๐ ปี สังเกตตามที่เห็นผลปรากฏเมื่อภายหลัง ดูเหมือนแรกเสด็จขึ้นไปประทับ ณ เมืองพิษณุโลก จะต้องทรงขวนขวายหาคนสำหรับใช้สอยก่อนอย่างอื่น เพราะเวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีกวาดเอาข้าราชการที่พระนครศรีอยุธยาไปเสียมาก เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯเสวยราชย์ จำต้องหาเจ้าหน้าที่ประจำราชการต่างๆ คงย้ายข้าราชการเมืองเหนือซึ่งเคยทรงใช้สอยลงมารับราชการในราชธานี เป็นเหตุให้ขาดข้าราชการประจำตำแหน่งในเมืองเหนืออยู่โดยมาก

ในการที่หาคนรับราชการนั้น สมเด็จพระนเรศวรกำลังเป็นหนุ่มคงทรงเลือกสรรคนรุ่นราวคราวเดียวกัน ชั้นที่เป็นลูกหลานเหล่ากอข้าราชการทั้งในเมืองเหนือและเมืองใต้ เอามาทรงใช้สอยฝึกหัดเอง เริ่มมีข้าราชการอย่างว่า "สมัยใหม่" เกิดขึ้นในครั้งนั้น อันได้ศึกษาทั้งคติเดิมของไทยประกอบคติใหม่ ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงนำมาจากต่างประเทศมีจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ คนพวกนี้ที่ได้มาเป็นแม่ทัพนายกองของสมเด็จพระนเรสวรในเวลาทำสงครามกู้บ้านเมืองเมื่อภายหลัง ข้อนี้พึงสังเกตได้โดยยุทธวิธีที่ไทยรบพุ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรผิดกับแต่ก่อน เช่นสามารถใช้คนจำนวนน้อยสู้คนมากด้วยกล้าหาญของตัวคนเป็นต้น แต่กว่าจะเห็นผลเป็นการนานวัน จึงไม่ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่า เริ่มทรงฝึกหัดคนใช้แต่แรกเสด็จไปอยู่เมืองเหนือ

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรครองเมืองเหนือได้ ๓ ปี ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๑๑๗ ได้ข่าวไปถึงเมืองหงสาวดีรว่า พระเจ้าไชยเชษฐาเมืองลานช้างไปตีเมืองญวนเลยเป็นอันตรายหายสูญไป และที่เมืองลานช้างเกิดชิงราชสมบัติกัน พระเจ้าหงสาวดีเห็นได้ทีก็ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ ครั้งนั้นตรัสสั่งมาให้ไทยยกกองทัพไปสมทบด้วย สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯกับสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเองทั้ง ๒ พระองค์ เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๙ ปี เห็นจะได้เป็นตำแหน่งเช่นเสนาธิการในกองทัพ แต่เมื่อยกไปถึงหนองบัวลำภูด่านของเมืองเวียงจันทน์ เผอิญสมเด็จพระนเรศวรไปประชวรออกทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีทรงทราบก็ตรัสอนุญาตให้กองทัพไทยกลับมามิต้องรบพุ่ง

พระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็ตั้งให้เจ้าอุปราชเดิมซึ่งได้ตัวไปไว้เมืองหงสาวดีตั้งแต่พระมหาอุปราชาตีเมืองครั้งแรกนั้น ครองอาณาเขตลานช้างเป็นประเทศราชขึ้นต่อกรุงหงสาวดีต่อมา

ตั้งแต่ได้เมืองลานช้างแล้ว ราชอาณาเขตของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็แผ่ถึงที่สุด ด้วยได้ประเทศต่างๆรวมเข้าไว้ในอำนาจทั้งหมด ทั้งเมืองพม่า มอญ ไทยใหญ่ ไทยน้อย และยักไข่ ไม่ต้องทำศึกสงครามต่อไปอีก พระเจ้าบุเรงนองก็บำเพ็ญบารมีในการทำนุบำรุงราชอาณาเขตมาจนตลอดรัชกาล

มีในพงศาวดารพม่าว่าให้เกณฑ์คนทั้งในหัวเมืองใกล้และเมืองประเทศราชต่างๆ ไปทำการซ่อมแปลงแต่งพระนครและแก้ไขป้อมปราการเมืองหงสาวดีตามแบบพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเคนเห็นว่ามั่นคงมาก นอกจากการก่องสร้าง พระเจ้าบุเรงนองให้ตั้งขบนธรรมเนียมหลายอย่าง ความที่ว่ามานี้มีเค้าเงื่อนเนื่องมาถึงเมืองไทย ยังปรากฏอยู่บางอย่างดูชอบกลดังเช่นการที่ใช้กฏหมายมนูธรรมศาสตร์ มีในพงศาวดารพม่าว่าเมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วได้เมืองมอญทั้งปวงรวมกันเป็นรามัญประเทศ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต แปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษาสันสกฤตเป็นภาษามคธ ครั้นถึงรัชกาลพระเจ้าบุเรงนอง ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษามคธเป็นภาษามอญ ในคาถานำพระธรรมศาสตร์ภาษาไทยก็กล่าวแถลงไว้ว่า พระธรรมศาสตร์ซึ่งได้มายังเมืองไทยเป็นภาษามอญ ต้องเอามาแปลเป็นภาษาไทยยุติต้องกันกับพงศาวดารพม่า

ใช่แต่เพียงนั้น ถ้าสังเกตในกฏหมายพิมพ์ ๒ เล่มจะเห็นได้ต่อไปว่า กฏหมายไทยเดิมจัดหมวกหมู่เป็นอย่างอื่น เพิ่งจัดเข้าประมวลมนูธรรมศาสตร์ในครั้งนั้น มีอีกอย่าง ๑ กล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารไทยแต่ย่อๆว่า เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๔๓ (พ.ศ. ๒๑๒๔) มีหนังสือมาแต่เมืองหงสาวดี ว่าปีเถาะนั้นมิใช่อธิกมาสผิดไป ความที่ว่านี้ส่อให้เห็นว่าประเทศราชต้องใช้ปฏิทินตามอย่างเมืองหงสาวดี และยังมีคติเรื่องสงกรานต์ซึ่งสมมติว่ามีนางเทพธิดา ๗ ตนผลัดกันมา เมื่อพระอาทิตย์สู่ราศีเมษขึ้นปีใหม่ ก็เป็นคติของโหรมอญประดิษฐ์ขึ้นเพื่อจะให้รู้ปฏิทินทางอาทิตย์เทียบกับทางจันทร์ได้ง่ายๆ ไทยเราก็เห็นจะได้มาจากเมืองหงสาวดีในสมัยนั้น และคงมีขนบธรรมเนียมอย่างอื่นอีกซึ่งเลิกสูญไปเสียแล้ว

แม้แต่เพียงที่ยังมีอยู่ดังกล่าวมาก็พอจะเห็นได้ว่า ในสมัยนั้นทางไมตรีในระหว่างเมืองหงสาวดีกับเมืองประเทศราชทั้งปวงคงจะสนิทสนมกันมาก คิดดูเฉพาะพระองค์สมเด็จพระนเรศวรซึ่งได้เคยอยู่ในอุปถัมภ์บำรุงของพระเจ้าบุเรงนองเมื่อยังทรงพระเยาว์หลายปี เวลาเมื่อทรงครองเมืองเหนือก็เห็นจะเสด็จออกไปเมืองหงสาวดีเนืองๆ จนทรงทราบท่าทางและคุ้นเคยกับราษฎรมอญพม่าตลอดระยะทางที่เคยไปมา


(๓)

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองเหนือ ทางพระนครศรีอยุธยายังเกิดลำบาก ด้วยเขมรมารบกวนอีกครั้ง ชะรอยครั้งพระบรมราชามาตีเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๓ จะเลื่องลือระบือเกียรติกันในพวกเขมรว่ามีอานุภาพสามารถเข้ามาตีพระนครศรีอยุธยา เมื่อพระบรมราชาสิ้นพระชนม์แล้ว นักพระสัฏฐาราชอนุชาได้ครองราชสมบัติแสวงหาบารมีอย่างนั้นบ้าง จึงยกกองทัพมาตีพระนครศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๑๑๘

คราวนี้ยกกองทัพเขมรเข้ามาทางเรือ ก็สามารถขึ้นมาได้ถึงวัดพระพนัญเชิง มารบแพ้ไทยอีกก็ต้องถอยทัพกลับไป แต่เที่ยวไล่จับผู้คนพลเมืองในแขวงจังหวัดธนบุรี และพระประแดงเอาไปเป็นเชลยแล้วเลิกทัพกลับไป แต่นั้นเขมรก็ไม่กล้าเข้ามาตีพระนครอีก แต่ยังให้กองทัพยกจู่ไปเที่ยวปล้นทรัพย์จับเชลยตามหัวเมืองไทยมิได้ตระเตรียมป้องกันกันเนืองๆ

เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๑๒๑ พระยาจีนจันตุ เห็นจะเป็นขุนนางจีนคน ๑ ในกรุงกัมพูชา รับอาสานักพระสัฏฐามาปล้นเมืองเพชรบุรี แต่มาพ่ายแพ้ตีเมืองไม่ได้ดังสัญญา จะกลับไปเมืองเขมรเกรงจะถูกทำโทษ จึงพาสมัครพรรคพวกหนีมาสามิภักดิ์ต่อไทย คงมาบอกกิจการทางเมืองเขมรให้เป็นประโยชน์ สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯจึงทรงรับเลี้ยงไว้

แต่พระยาจีนจันตุอยู่ได้ไม่ช้าก็ลอบลงเรือสำเภาหนีไปพระนคร เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๒๔ ปี เสด็จลงมาเฝ้าสมเด็จพระชนก ประทับอยู่ที่วังจันทร์อันโปรดให้สร้างขึ้นใหม่ไว้เป็นที่ประทับเวลาเสด็จมาในกรุงฯ พอทรงทราบว่าพระยาจีนจันตุหนีก็ตระหนักพระหฤทัยว่าเป็นผู้สืบข่าวไปให้เขมร จึงตรัสเรียกข้าหลวงที่ตามเสด็จมาจากเมืองเหนือลงเรือพายรีบลงตามลงไป

ส่วนพระองค์ทรงเรือกราบกันยาลำ ๑ สมเด็จพระอนุชาเอกาทศรถขอตามเสด็จทรงเรือไปด้วยอีกลำ ๑ ตามลงไปทันเรือสำเภาพระยาจีนจันตุเมื่อใกล้จะออกปากน้ำ พวกพระยาจีนจันตุยิงปืนต่อสู้ สมเด็จพระนเรศวรก็เร่งเรือพระที่นั่งขึ้นหน้าเรืออื่น เสด็จออกยืนยิงพระแสงปืนนกสับที่หน้ากันยา ไล่กระชั้นเข้าไปจนข้าศึกยิงถูกรางพระแสงปืนแตกอยู่กับพระหัตถ์ก็ไม่หลบเลี่ยง พระเอกาทศรถเห็นสมเด็จพระเชษฐากล้านักเกรงจะเป็นอันตราย ตรัสสั่งให้เร่งเรือลำที่ทรงเองเข้าไปบังเรือสมเด็จพระเชษฐา ขณะนั้นพอเรือสำเภาพระยาจีนจันตุได้ลมแล่นใบออกทะเลไปได้ เรือพายที่ตามลงไปเป็นแต่เรือยาวสู้คลื่นไม่ไหว ก็ต้องเสด็จกลับคืนมาพระนคร

แต่ที่สมเด็จพระนเรศวรเอาพระองค์เข้ารบเองครั้งนั้น ปรากฏแก่บรรดาผู้ที่ไปตามเสด็จ ก็เกิดเลื่อลือถึงความกล้าหาญของสมเด็จพระนเรศวร แม้ที่สมเด็จพระเอกาทศรถเข้าช่วยแก้สมเด็จพระเชษฐาด้วยความจงรักก็คงถึงเลื่องลือเหมือนกัน น่าจะเป็นด้วยเรื่องเลื่องลือพระเกียรตินั้น ชื่อพระยาจีนจันตุจึงปรากฏอยู่ในพงศาวดาร ถ้าพระยาจีนจันตุหนีไปได้เงียบๆ ก็เห็นจะไม่เล่าเรื่องพระยาจีนจันตุไว้ในพงศาวดาร

ต่อมาอีกปี ๑ เจ้ากรุงกัมพูชาให้พระทศราชาคุมกองทัพเขมรเข้ามาตีเมืองนครราชสีมา ที่เมืองนครราชสีมาเวลานั้นไม่มีกำลังพอต่อสู้ พระทศราชาได้เมืองโดยง่ายก็เลยกำเริบ สั่งให้ทหารคุมกองทัพหน้ายกเข้ามายังเมืองชั้นใน หมายจะปล้นทรัพย์จับชาวเมืองสระบุรีและเมืองอื่นๆเอาไปเป็นเชลย

เวลานั้นเผอิญสมเด็จพระนเรศวรเสด็จลงมาประทับอยู่ที่ในกรุงฯเหมือนหนหลัง พอทรงทราบก็ทูลขอไพร่พลที่อยู่ประจำการ ๓,๐๐๐ คน ให้พวกข้าหลวงในพระองค์เป็นนายหมวดนายกอง รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองชัยบาดาล ตรัสั่งให้พระชัยบุรีเจ้าเมืองชัยบาดาลกับพระศรีถมอรัตนเจ้าเมืองศรีเทพ ซึ่งเป็นทหารเอกรุ่นใหม่ คุมพลไปตั้งซุ่มอยู่ในดงพระยากลาง ๒ ข้างทางที่ข้าศึกจะยกมา

ฝ่ายพวกเขมรเคยได้เมืองนครราชสีมาง่ายๆ นึกว่าจะไม่มีใครต่อสู้ยกลงมาโดยประมาท พอถึงที่ซุ่มพระชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตนก็ออกล้อมรบฆ่าฟันล้มตายแตกหนีไป

แต่พอข้าศึกแตกหนีสมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสสั่งให้กองทัพรีบติดตามตีกระหน่ำไปมิให้มีเวลาหยุดยั้งตั้งตัว พวกเขมรกองทัพหน้าที่เหลือตายหนีกลับไปปะทะทัพหลวงซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา พระทศราชาไม่รู้ว่ากองทัพข้าศึกจะใหญ่หลวงเพียงใด ก็รีบล่าทัพหนีไปเมืองเขมร

แต่นั้นพวกเขมรก็ไม่กล้ามาย่ำยีเมืองไทยอีก ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ปรากฏกระบวนยุทธวิธีของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งสามารถใช้คนน้อยรบคนมาก เอาชนะได้ด้วยยุทธวิธี ก็เลื่องลือพระเกียรติอีกครั้ง ๑ กิตติศัพท์ที่เล่าลือพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้รู้ไปจนถึงเมืองหงสาวดี เลยเป็นปัจจัยในเหตุการณ์ต่อไปอีก ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า


(๔)

ถึงเดือน ๑๒ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง สวรรคตพระชันษา ๖๕ ปี เสวยราชย์อยู่ ๑๘ ปี มังชัยสิงห์ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่าพระเจ้านันทบุเรง ตั้งมังกยอชวาราชโอรสเป็นพระมหาอุปราชา แล้วบอกข่าวไปยังเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองใหญ่น้อยบรรดาขึ้นอยู่ในราชอาณาเขต ให้เข้าเฝ้าตามประเพณีเปลี่ยนรัชกาลใหม่

เจ้าครองเมืองประเทศราชต่างๆอยู่ในเวลานั้นเป็นพม่า ๔ องค์ คือ พระเจ้าตองอูกับพระเจ้าแปร เป็นราชโอรสรัชทายาทพระเจ้าตองอูและพระเจ้าแปรองค์แรกซึ่งเป็นพระอนุชาพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าเชียงใหม่เป็นราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าอังวะเป็นราชบุตรเขยของพระเจ้าบุเรงนอง เจ้าประเทศราชที่เป็นชาติอื่นมี ๓ องค์ คือพระเจ้ามินปะลองครองเมืองยักไข่ พระเจ้าหน่อเมืองครองเมืองลานช้าง และสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯ ครองกรุงศรีอยุธยาแต่ทรงพระชรา โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเวลานั้นพระชันษาได้ ๒๖ ปี เสด็จไปแทนพระองค์ นอกจากเจ้าประเทศราช ยังมีพวกเจ้าฟ้าครองเมืองไทยใหญ่อีก ๑๙ อาณาเขตที่ต้องไปเฝ้าเหมือนกัน

เมื่อเจ้านายต่างประเทศไปพร้อมกัน ณ เมืองหงสาวดี ปรากฏว่าเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังไม่ไปเฝ้าตามรับสั่ง พระเจ้าหงสาวดีนันบุเรงทรงพระดำริว่าเป็นเวลาเมื่อแรกเสวยราชย์ จำต้องปราบเมืองคังให้เป็นตัวอย่าง แต่เมืองคังไม่ใช่เมืองใหญ่โตเท่าใดนัก มีพระประสงค์จะให้ราชโอรสที่เป็นพระมหาอุปราชาขึ้นใหม่ได้โอกาสหาเกียรติยศ จึงตรัสแก่เหล่าประเทศราชว่า เจ้านายผู้ใหญ่ได้เคยทำสงครามมามากแล้ว คราวนี้ควรจะให้เจ้านายชั้นหนุ่มๆไปตีเมืองคังให้เคยศึกสงครามเสียบ้าง

แล้วตรัสสั่งให้พระมหาอุปราชาคุมพลชาวเมืองหงสาวดีกองทัพ ๑ ให้พระสังกะทัต (พงศาวดารพม่าเรียกว่า นัดจินหน่อง) ราชบุตรของพระเจ้าตองอู ซึ่งเลื่องลือกันในเมืองพม่าว่าเป็นคนกล้าหาญ คุมพลชาวเมืองตองอูทัพ ๑ และตรัสสั่งให้สมเด็จพระนเรศวร ซึ่งได้ทรงทราบข่าวไปจากเมืองไทยว่าเคยรบพุ่งกล้าหาญ คุมพลชาวกรุงศรีอยุธยากองทัพ ๑ ไปตีเมืองคังด้วยกัน

ก็เจ้านายทั้ง ๓ พระองค์นั้นได้คุ้นเคยชอบพอกันมาแต่อยู่ในราชสำนักพระเจ้าบุเรงนองเมื่อยังเยาว์ ต่างก็ยินดีมาจัดรี้พลแล้วยกไปด้วยกันตามรับสั่ง เมื่อไปถึงเมืองคังเห็นตัวเมืองตั้งอยู่บนเขาสูง พระมหาอุปราชาผู้เป็นหัวหน้าจึงปรึกษากับพระสังกะทัตและสมเด็จพระนเรศวรว่า ทางที่จะขึ้นไปตีเมืองคังเป็นทางแคบ จะยกกำลังขึ้นไปพร้อมกันทุกทัพก็จะไปคับคั่งกันอยู่ตามซอกเขา เอาไพร่พลไปให้ข้าศึกยิงล้มตายเสียเปล่าๆ ชาวเมืองคังที่รักษาเมืองก็ไม่มากมายเท่าใดนัก กองทัพพระมหาอุปราชาจะยกขึ้นไปตีก่อน ถ้ายังตีไม่ได้จึงให้พระสังกะทัตและสมเด็จพระนเรศวรเข้าช่วยตีต่อไป ปรึกษากันแล้วก็ให้ตั้งค่ายรายกันอยู่ที่เชิงเขา

ครั้นถึงวันกำหนดพระมหาอุปราชายกขึ้นไปปล้นเมืองคังเวลากลางคืน พวกชาวเมืองต่อสู้รักษาทางขึ้นเขาเป็นสามารถ รบกันอยู่จนรุ่งสว่างเข้าไปถึงเมืองไม่ได้ ไพร่พลอิดโรยก็ต้องถอยลงมา วันหลังให้พระสังกะทัตยกขึ้นไปตีเมืองคัง ขึ้นไปถึงเมืองไม่ได้เหมือนกัน

แต่เมื่อก่อนวันพระสังกะทัตจะตีเมืองคังนั้น สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปเที่ยวตรวจท้องที่สืบได้ความว่า มีทางน้อยที่จะขึ้นเขาไปถึงเมืองคังทางด้านอื่นอีกทาง ๑

ครั้นถึงคราวสมเด็จพระนเรศวรจะตีเมืองคัง จึงทรงแบ่งทหารเป็น ๒ กอง พอเวลาค่ำมืดให้กองน้อยไป.ซุ่มอยู่ทางด้านหน้า ที่พระมหาอุปราชากับพระสังกะทัตเคยยกขึ้นไป ให้กองใหญ่ไปซุ่มอยู่ตรงทางน้อยที่พบใหม่ พอเวลาจวนเที่ยงคืนทำอุบายให้กองน้อยยกขึ้นไปทางด้านหน้า สั่งให้ยิงปืนโห่ร้องให้อึกทึกทำอาการเหมือนอย่างจะเข้าปล้นเมืองทางด้านนั้น พวกชาวเมืองสำคัญว่าข้าศึกจะยกขึ้นไปเหมือนอย่างคราวก่อนๆ เป็นเวลาค่ำมืดแลไม่เห็นว่าข้าศึกจะมีมากน้อยเท่าใด ก็พากันมารบพุ่งต้านทานทางด้านหน้า พอสมเด็จพระนเรศวรทรงสังเกตเห็นว่าพวกชาวเมืองพากันไปรวมรักษาทางด้านหน้าเสียเป็นอันมากแล้ว ก็บอกสัญญาให้กองใหญ่ยกกรูกันขึ้นไปทางด้านที่พบใหม่เมื่อตอนดึกใกล้รุ่ง พอเวลาเช้าก็เข้าเมืองได้ และจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังได้ด้วย ก็เลิกทัพกลับยังเมืองหงสาวดี

การที่ไปตีเมืองคังครั้งนั้นเหมือนอย่างประชันกัน สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองคังทีหลังเพื่อนกลับมีชัยชนะ พระมหาอุปราชากับพระสังกะทัตตลอดจนพวกรี้พลก็คงรู้สึกอัปยศอดสู ฝ่ายพวกกองทัพไทยก็คงยินดีร่าเริงเป็นธรรมดา ก็เลยเกิดรังเกียจกันในระหว่างพวกไทยในกองทัพสมเด็จพระนเรศวรกับพวกพม่ามอญ

จนมีเรื่องเล่ากันมาว่า วันหนึ่งสมเด็จพระนเรศวรเล่นชนไก่กับพระมหาอุปราชา ไก่พระมหาอุปราชาแพ้ พระมหาอุปราชากำลังขุ่นเคืองตรัสออกมาว่า ไก่เชลยตัวนี้เก่งจริงหนอ สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสตอบไปในทันทีว่า ไก่ตัวนี้อย่าว่าแต่พนันเอาเดิมพันเลย ถึงจะชนเอาบ้านเมืองกันก็ได้ ดังนี้

ชวนให้เห็นว่าที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแสดงความสามารถของไทยเมื่อคราวตีเมืองคังนั้น เป็นต้นเหตุที่พม่าจะเกิดระแวงไทย ทั้งเป็นต้นเหตุที่ไทยเห็นว่าพอจะเอาชัยพม่าได้ไม่ยากนัก แม้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็คงไม่พอพระทัยที่สมเด็จพระนเรศวรไปมีชัยชนะ มแต่ก็จำเป็นต้องชมเชยและพระราชทานบำเหน็จรางวัลถึงขนาด แล้วจึงให้เสด็จกลับมาเมืองไทย

พิเคราะห์ดูตามเหตุการณ์ที่มีต่อมา ดูเหมือนพอพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ใจคนก็ผิดกับแต่ก่อนทั่วทั้งประเทศหงสาวดี เพราะราชอาณาเขตของหงสาวดีเป็นบ้านเมืองของคนหลายชาติหลายภาษา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองรวบรวมไว้ด้วยอำนาจ ชาวเมืองนั้นๆนอกจากพม่า ต้องจำยอมอยู่ในปกครองของพระเจ้าหงสาวดีด้วยความกลัวมิใช่ใจสมัคร แต่ความนิยมตามประสาชาติของตนยังฝังอยู่ในใจ เช่นพวกมอญก็ไม่อยากอยู่ในบังคับพม่า พวกไทยใหญ่ไทยน้อยและยักไข่เคยอยู่บ้านเมืองเป็นอิสระมาแต่ก่อน ก็ยังอยากเป็นอิสระอยู่อย่างเดิม เป็นแต่ไม่กล้าแสดงความนิยมออกนอกหน้าด้วยกลัวพระเจ้าบุเรงนอง

ถึงเจ้านายพม่าที่เป็นเชื้อวงศ์หรือเจ้านายต่างประเทศ ที่พระเจ้าหงสาวดีได้อุปถัมภ์บำรุงมาเช่นสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้น ก็มีความเคารพนับถือในส่วนพระองค์พระเจ้าบุเรงนองเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อสิ้นพระเจ้าบุเรงนองแล้ว ถึงราชโอรสได้เป็นพระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่ คนทั้งหลายก็คลายความกลัวและอยากเป็นอิสระยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แม้เจ้านายที่เป็นประเทศราชก็ยำเกรงพระเจ้าหงสาวดีน้อยลงมาแต่ก่อน พระเจ้านันทบุเรงไม่เคยมีพระคุณแก่เจ้านายเหมือนอย่างพระเจ้าบุเรงนอง แม้พระเจ้านันทบุเรงเองก็รู้สึกว่าการปกครองราชอาณาเขตหงสวดีจะลำบากกว่าแต่ก่อน จึงเตรียมรักษาอานุภาพด้วยประการต่างๆ จะทำอย่างไรทางอื่นหาทราบไม่

แต่ทางเมืองไทยนี้ พอสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาแล้วไม่ช้า พระเจ้าหงสาวดีให้เกณฑ์พวกไทยใหญ่หลายพันคน มาทำทางตั้งแต่เมืองเมาะตะมะเข้ามาทางด่านแม่สอดจนถึงเมืองกำแพงเพชร และให้ขุนนางนายทหารชื่อนันทสูกับราชสังครำคุมทหารสำหรับกำกับพวกไทยใหญ่ให้ทำทางกอง ๑ เขามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร

ที่พระเจ้าหงสาวดีให้ทำทางเข้ามาในเมืองไทยครั้งนั้น เห็นจะอ้างว่าเพื่อบำรุงการคมนาคม แต่ประสงค์จะขู่ให้ไทยรู้ตัว ว่าถ้าเอาใจออกหากกำเริบขึ้นเมื่อใด ก็จะยกกองทัพเข้ามาปราบในทันที

สมเด็จพระนเรศวรรู้เท่าพระเจ้าหงสาวดี และทรงคาดการต่อไปว่า พระเจ้าหงสาวดีคงไม่ยอมให้เมืองไทยมีกำลังตั้งตัวเป็นอิสระได้ ถ้าเห็นจะมีกำลังมากเมื่อใด ก็คงชิงเข้ามาตีเมืองไทยทำลายกำลังเสียเหมือนอย่างเคยทำมาแล้วแต่หนหลัง

ทรงพระดำริเห็นว่าไทยมีทางที่จะรอดตัวได้อย่างเดียว แต่ต้องสู้กองทัพเมืองหงสาวดีอย่าให้ย่ำยีได้ เห็นจะตกลงพระทัยที่จะเตรียมการต่อสู้เมืองหงสาวดีแต่นั้นมา แต่จะมิให้พระดำริแพร่งพรายในเวลานั้นจึงทำไม่รู้เท่าพม่า ปล่อยให้นันทสูราชสังครำทำการตามรับสั่งพระเจ้าหงสาวดี


(๕)

พอพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสวยราชย์ได้ ๒ ปี ก็เกิดเหตุขึ้นในเมืองพม่าเมื่อ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๒๖ ในพงศาวดารพม่าว่าเดิมพระเจ้าหงสางวดีบุเรงนองให้มังกยอชวาราชนัดดา อันเป็นโอรสของพระมหาอุปราช อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงราชนัดดาซึ่งเป็นธิดาของพระเจ้าอังวะ อยู่ด้วยกันมาเป็นปกติจนมังกยอชวาได้เป็นพระมหาอุปราชามีอัครชายาใหม่ก็เกิดวิวาทกัน พระมหาอุปราชาบันดาลโทสะทุบตีธิดาของพระเจ้าอังวะถึงบาดเจ็บ นางเอาผ้าชุบโลหิตส่งไปทูลพระบิดาว่า ถูกพระสามีกดขี่ข่มเหงถึงสาหัส ทั้งพระเจ้าหงสาวดีก็กลับไปเข้ากับพระมหาอุปราชา ได้ความอัปยศอดสูยิ่งนัก

ฝ่ายพระเจ้าอังวะก็ทำนองจะมีเหตุเป็นอริกับพระเจ้าหงสาวดีองค์ใหม่มาแต่ก่อนบ้างแล้ว พอธิดาร้องทุกข์ไปว่าถูกพระเจ้าหงสาวดีกับพระมหาอุปราชากดขี่ก็เกิดโทมนัสคิดจะแก้แค้น จึงเกลี้ยกล่อมพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ได้เป็นพรรคพวก แล้วก็ตั้งแข็งเมืองไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี แล้วแต่งทูตให้ไปชวนพระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ให้แข็งเมืองด้วยกัน แต่พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ ไม่เข้ากับพระเจ้าอังวะ ต่างจับทูลส่งไปถวายพระเจ้าหงสาวดี

พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จไปตีเมืองอังวะ เป็นกระบวนทัพกษัตริย์เหมือนอย่างเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนองตีเมืองไทย จึงสั่งให้พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าลานช้าง และพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ยกกองทัพไปสมทบกองทัพหลวงด้วยทั้ว ๕ องค์ ประสงค์จะพิสูจน์ให้เห็นว่า ถ้าองค์ใดไปช่วยตามรับสั่งก็ยังสามิภักดิ์อยู่อย่างแต่กอ่น

ครั้งนั้นพระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าลานช้างยกกองทัพไปช่วยตามรับสั่ง พระมหาธรรมราชาฯบอกไปว่าจะให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปแทนพระองค์

แต่เมื่อถึงกำหนดนัดกองทัพไทยยังไม่ไปถึง ชะรอยพวกทูตเมืองอังวะที่ถูกจับส่งไปยังเมืองหงสาวดี จะไปให้การว่าพระเจ้าอังวะแต่งทูตไปชวนสมเด็จพระนเรศวรให้แข็งเมืองด้วย แต่พระนเรศวรไม่ได้จับทูตส่งไปยังเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีระแวงว่าสมเด็จพระนเรศวรจะเข้าพวกกับพระเจ้าอังวะ จึงตรัสสั่งพระมหาอุปราชาให้คุมพลอยู่รักษาเมืองหงสาวดี เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงให้ทำเป็นต้อนรับโดยดีตามเคย แล้วคิดกำจัดเสีย

เมื่อพระเจ้าหงสาวดียกกองทัพไปแล้ว พระมหาอุปราชาจึงให้พระยามอญ ๒ คนชื่อ พระยาเกียรติคน ๑ พระยารามคน ๑ เป็นข้าหลวงลงมาคอยรับสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองแครง (มอญเรียกว่าเมืองเดิงกรายน์) ที่ต่อแดนเมืองไทย สั่งเป็นความลับว่าให้เป็นไส้ศึกปนไปในกองทัพสมเด็จพระนเรศวร เมื่อเห็นได้ทีก็กำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสีย

พระยาเกียรติกับพระยารามเห็นจะเป็นชาวเมืองแครง จึงมีพวกพ้องอยู่ในเมืองนั้นมาก เมื่อไปถึงเมืองแครงไปขยายความลับแก่พวกพ้องบางคน มีพระมหาเถรคันฉ่องผู้เป็นอาจารย์เป็นต้น ไม่มีใครเห็นชอบด้วย เพราะพวกมอญเคยถูกพม่ากดขี่ เกลียดชังพม่าอยู่แล้ว และพวกมอญเมืองแครงที่เคยรู้จักสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จผ่านเมืองไปมาแต่ก่อนก็เห็นจะมีมาก พากันห้ามปรามมิให้ช่วยพม่าทำร้ายสมเด็จพระนเรศวร พระยาทั้ง ๒ ก็มิรู้ที่จะทำประการใด

เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๒๘ ปี จะเป็นเพราะพระเจ้าอังวะชักชวนหรือมิได้ชักชวนก็ตาม แต่พอทรงทราบว่าเมืองหงสาวดีเกิดรบกับเมืองอัวะ ก็เห็นถึงเวลาที่จะตั้งเมืองไทยให้กลับเป็นอิสระ คงทรงพระดำริว่าถ้าพระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะก็คงมาตีเมืองไทยตามที่ได้เตรียมการไว้ แต่ที่พระเจ้าหงสาวดีไปตีเมืองอังวะถึงยกไปเป็นทัพกษัตริย์ก็หย่อนกำลัง เพราะพวกประเทศราชก็ไม่สามิภักดิ์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เหมือนอย่างครั้งพระเจ้าบุเรงนอง ข้างฝ่ายพระเจ้าอังวะก็ได้พวกไทยใหญ่ไว้เป็นกำลังมาก ถ้าพระเจ้าหงสาวดีไปรบแพ้พระเจ้าอังวะ หรือเพียงไม่สามารถตีเมืองอังวะ ประเทศราชเช่นพระเจ้าตองอูและพระเจ้าแปรก็คงจะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่

เมืองไทยต้องการรี้พลเป็นกำลังสำหรับต่อสู้ข้าศึกยิ่งกว่าสิ่งอื่น ไทยที่ถูกกวาดไปเป็นเชลยไปอยู่ในจังหวัดหงสาวดีมีมากกว่าแห่งอื่น ถ้าจู่ไปตีเมืองหงสาวดีในเวลาที่พระเจ้านันทบุเรงไปทำสงครามอยู่ทางเมืองอังวะ ก็จะแก้เอาไทยที่เป็นเชลยกลับมาบ้านเมืองได้โดยง่าย ทรงพระดำริเช่นนั้นจึงหน่วงการเตรียมทัพจนถึงเดือน ๓ แรม ๖ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๒๖ จึงเสด็จไปจากเมืองพิษณุโลก แล้วยกกองทัพไปช้าๆ เกือบ ๒ เดือนครึ่งจึงไปถึงเมืองแครงที่ต่อแดนไทย เมื่อเดือน ๖ ขึ้น ๑ ค่ำ พ.ศ. ๒๑๒๗

พวกเจ้าเมืองกรมการจัดที่ให้ตั้งกองทัพข้างนอกเมือง และมาเฝ้าด้วยกันกับพระยาเกียรติแลพระยาราม ทูลให้ทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีมีรับสั่งให้มารับเสด็จ พลับพลาที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรอยู่ไม่ห่างกับวัดพระมหาเถระคันฉ่องนัก คงได้ทรงคุ้นเคยและนับถือพระมหาเถระคันฉ่องมาแต่ก่อนแล้ว จึงเสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถระคันฉ่องถึงกุฎี

ฝ่ายข้างพระมหาเถระคันฉ่องก็คงเคยรักใคร่สมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน เสด็จไปครั้งนั้นพระมหาเถระรู้ว่าเขาจะลวงเอาไปทำร้าย มีความสงสารเป็นกำลัง จึงทูลสมเด็จพระนเรศวรให้รู้พระองค์ แล้วไปว่ากล่าวพระยาเกียรติพระยารามให้มาสามิภักดิ์ ทูลตามความจริงให้สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่า ความที่เป็นอริกับพระเจ้าหงสาวดีถึงเวลาที่จะต้องให้เป็นการเปิดเผยแล้ว จึงมีรับสั่งให้เรียกนายทัพนายกองกับพระยาเกียรติพระยารามและเจ้าเมืองกรมการมาประชุมพร้อมกันที่พลับพลา และนิมนต์พระสงฆ์มานั่งเป็นสักขีพยานด้วย สมเด็จพระนเรศวรดำรัสเล่าเรื่องราวที่พระเจ้าหงสาวดีจะให้มาล่อลวงไปทำร้ายให้ปรากฏแก่คนทั้งปวงแล้ว ทรงหลั่งน้ำลงเหนือแผ่นดินด้วยสุพรรณภิงคาร ประกาศแก่เทพยดาต่อหน้าประชุมว่า ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนต่อไป

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงนั้น พระชันษาได้ ๒๙ ปี พอประกาศแล้วก็ดำรัสถามพวกมอญชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างไหน พวกมอญโดยมากยอมเข้ากับไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้พระยาเกียรติพระยารามจัดพรรคพวกนำข้าหลวงแยกย้ายไปตามตำบลที่พวกไทยอยู่ข้างนอกเมืองหงสาวดี บอกให้รู้ว่าจะทรงพากลับไปบ้านเมือง แล้วเสด็จยกกองทัพออกจากเมืองแครงเมื่อเดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ ข้ามแม่น้ำสะโตงตรงไปยังเมืองหงสาวดี

ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่รักษาพระนคร ครั้นได้ข่าวว่าพระยาเกียรติพระยารามกลับไปทูลสมเด็จพระนเรศวรให้รู้พระองค์เสียแล้ว ก็มิกล้ายกกองทัพออกมาซุ่มดักทางอย่างที่คิดไว้ เป็นแต่ให้รักษาพระนครให้มั่นคง สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพเข้าปจนใกล้จะถึงเมืองหงสาวดี ไปได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีมีชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว และกำลังยกกองทัพกลับคืนมาพระนคร สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าจะตีเมืองหงสาวดีในครั้งนั้นยังไม่ได้ ก็ให้รวบรวมไทยที่จะกลับบ้านเมืองประมาณหมื่นเศษให้เดินล่าวงหน้ามาก่อน แล้วถอยทัพหลวงป้องกันครัวตามมาข้างหลัง

พระมหาอุปราชารู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรให้เที่ยวกวาดครัวแล้วถอยทัพกลับไป ก็จัดทัพให้สรุกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง ยกติดตามสมเด็จพระนเรศวร กองหน้ามาทันที่แม่น้ำสะโตง สมเด็จพระนเรศวรพาครัวไทยข้ามฟากมาแล้ว จึงตรัสสั่งให้พวกครัวล่วงหน้ามาก่อน ส่วนกองหลวงตั้งรอต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่ริมแม่น้ำสะโตง

สุรกรรมาเป็นกองหน้ามาถึงท่าข้ามข้างฝั่งโน้น กองทัพไทยเอาปืนยิง ก็ยับยั้งยิงต่อสู้กันอยู่ที่ริมน้ำ และแม่น้ำสะโตงนั้นกว้างใหญ่นัก แรงปืนที่พลทหารยิงไม่ถึงฝั่งด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงปืนนกสับอย่างยาวกระบอก ๑ ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง พวกรี้พลเห็นนายทัพตายก็พากันครั่นคร้าม เลิกทัพกลับไปทูลความแก่พระมหาอุปราชาซึ่งตามมาหลัง เห็นว่าจะติดตามสมเด็จพระนเรศวรต่อไปไม่สมพระสงค์ก็เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี

และพระแสงปืนซึ่งทรงยิงสุรกรรมาตายครั้งนั้นได้นามปรากฏต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามน้ำสะโตง" นับในพระแสงอัษฎาวุธ อันเป็นราชูปโภคสำหรับแผ่นดินจนตราบเท่าทุกวันนี้

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จมาถึงเมืองแครง ทรงพระดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่อง กับพระยาเกียรติพระยาราม ได้มีอุปการะมาก จะใคร่ทรงยกย่องเกียรติยศให้สมควรแก่ความชอบ จึงทรงชักชวนให้เข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาทั้ง ๒ ก็มีความยินดี พาพรรคตามเสด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก และเมื่อเสด็จกลับมาเมืองแครงครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวรทรงระแวงว่า บางทีข้าศึกยังจะยกกองทัพติดตามมาอีก ถ้าเสด็จกลับมาทางด่านแม่สอด มีกองทัพนันทสูราชสังครำที่มาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรสกัดอยู่ข้างหน้า จะพาครอบครัวไทยเข้ามาลำบาก จึงตรัสสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาข้างใต้ มาเข้าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ตรงมากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรตระหนักพระหฤทัยว่า ถึงปลายปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น คงมีศึกหงสาวดีเข้ามาตีเมืองไทย ทรงพระดำริตริตรองถึงวิธีจะป้องกันบ้านเมือง เห็นว่าถ้าตั้งฐานทัพต่อสู้ข้าศึกทั้งที่ราชธานีและเมืองเหนือเหมือนอย่างแต่ก่อน ก็คงแพ้อีกเพราะไทยมีรี้พลน้อยกว่าข้าศึก จะต้องแยกกันรักษาหน้าที่เกินกำลัง

ที่จริงกำลังของไทยได้เปรียบข้าศึกอยู่ที่ชัยภูมิพระนครศรีอยุธยา จำต้องย้ายเอาผู้คนกับพาหนะทั้งปวงลงมารวมกันตั้ง ต่อสู้ที่พระนครศรีอยุธยาแต่แห่งเดียวจึงจะสู้ข้าศึกได้ เมื่อเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาทูลแถลงพระดำริแก่สมเด็จพระชนก สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯก็ทรงเห็นชอบด้วย จึงมอบอำนาจแก่สมเด็จพระนเรศวรให้ทรงบัญชาราชการทั้งปวงสิทธิ์ขาดแต่นั้นมา

ส่วนพวกมอญเมืองแครงที่ตามสมเด็จพระนเรศวรเข้ามาครั้งนั้น ก็ทรงตั้งพระมหาเถรคันฉ่องให้เป็นพระราชาคณะ และตั้งพระยาเกียรติ พระยารามเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ได้พานทองเป็นเครื่องยศ แล้วพระราชทานที่ให้อยู่ที่แถววัดขมิ้นและวัดขุนแสน ใกล้กับวังจันทร์ที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวร

ฝ่ายข้างเมืองเหนือ ตั้งแต่พวกไทยใหญ่ที่พม่าเกณฑ์เข้ามาทำทาง รู้ว่าบ้านเมืองของตนตั้งแข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดี ก็พากันหลบหนีจากเมืองกำแพงเพชร แต่จะกลับไปยังเมืองของตนยังไม่ได้ ก็มาขออาสัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลกแต่เมืองสมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่เมืองแครง มีรับสั่งมาว่าให้รับไว้

นันทสูราชสังครำให้ไปขอตัวพวกไทยใหญ่ ผู้รักษาเมืองพิษณุโลกก็ตอบว่ายังให้ไม่ได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรยังเสด็จไม่อยู่ ทำนองในระหว่างนั้นพวกไทยใหญ่จะพากันหนีไปอาศัยเมืองพิษณุโลกมากขึ้น นันทสูราชสังครำจึงมีหนังสือไปยังผูรักษาเมืองพิษณุโลกว่า ถ้าไม่ส่งพวกไทยใหญ่ให้โดยเร็ว จะจับเอาไทยชาวเมืองกำแพงเพชรเป็นตัวจำนำ

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบอันนี้ก็รีบเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลก ให้มีหนังสือรับสั่งตอบไปยังนันสูราชสังครำว่า ธรรมดาพระมหากษัตริย์ผู้เป็นอิสระ ถ้าชาวต่างประเทศหนีร้อนมาพึ่งพระบารมีแล้วก็ต้องรับไว้ ไม่มีเยี่ยงอย่างที่จะส่งตัวคืนให้ แล้วมีรับสั่งให้เกณฑ์คนไทยในเมืองเหนือเข้าเป็นกองทัพ ให้พระชัยบุรีกับพระศรีถมอรัตน ทั้ง ๒ คนเคยรบเขมรมาแต่ก่อน คุมทัพหน้า พระองค์เสด็จในกองทัพหลวง ยกไปยังเมืองกำแพงเพชร

ฝ่ายนันทสูราชสังครำเมื่อได้รับหนังสือรับสั่งสมเด็จพระนเรศวร ก็รู้แน่ว่าไทยตั้งแข็งเมืองต่อพระเจ้าหงสาวดี เห็นว่าตัวเข้ามาตั้งอยู่ในเมืองไทยกำลังไม่จะพอสู้ ก็ให้เลิกทัพกลับไปยังเมืองกำแพงเพชร

กองทัพพระชัยบุรีพระศรีถมอรัตนยกไปถึงเมืองกำแพงเพชรได้ความว่า นันทสูราชสังครำล่าทัพกลับไปแล้ว ก็รีบยกติดตามไป และครั้งนั้นตัวนายพวกไทยใหญ่ที่ยังอยู่กับพม่า มีเจ้าฟ้าเมืองจี่ เจ้าฟ้าเมืองลองแจเป็นต้น กับเจ้าเมืองขึ้นอีกหลายคน ก็นำพวกไทยใหญ่ที่ยังเหลืออยู่เข้าสามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร แล้วช่วยติดตามตีกองทัพพม่าไปด้วยกันกับพระชัยบุรีพระศรีถมอรัตน ไปตามทันที่ตำบลแม่ระกา นันทสูราชสังครำต่อสู่ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ถึงตัวนายทัพทั้ง ๒ ฝ่ายได้ชนช้างกัน พม่าสู้ไม่ได้ก็แตกหนี กองทัพไทยติดตามไปจนสุดแดนแล้วจึงกลับมา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรให้เกณฑ์คนหัวเมืองเหนือไปรบนันทสูราชสังครำครั้งนั้น พระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยยังกลัวพม่า เห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรมีรี้พลน้อย ที่ไหนจะตั้งแข็งเมืองต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีได้ คิดจะอาตัวรอด ก็บิดพลิ้วเสียไม่ยอมยกทัพไปตามรับสั่ง ครั้นรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรขับไล่พม่าที่เมืองกำแพงเพชรไปได้แล้ว กลัวจะถูกลงโทษที่ขัดรับสั่งก็เลยเป็นกบฏ ไปรวมตัวตั้งมั่นอยู่ที่เมืองสวรรคโลก กรมการคนใดไม่เป็นกบฏด้วยก็จับฆ่าเสียบ้าง เอาตัวจำไว้บ้าง ด้วยเชื่อว่าเมืองสวรรคโลกมีป้อมปราการมั่นคง คงจะรักษาเมืองไว้คอยท่ากองทัพเมืองหงสาวดีหรือเมืองเชียงใหม่ยกมาช่วยได้

สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยเป็นกบฏ ก็ให้รวมกองทัพพร้อมกันที่เมืองตากแล้วยกไปทางด่านลานหอย ครั้นถึงเมืองสุโขทัยให้ตั้งพลับพลาประทับที่ข้างวัดศรีชุม ทรงพระวิตกว่าไทยยังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ที่ยังกลัวพระเจ้าหงสาวดีเห็นจะมีมาก จึงให้ตั้งพิธีศรีสัจปานการ ตักน้ำกระพังโพยศรีซึ่งนับถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ครั้งพระร่วง มาทำน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ให้นายทัพนายกองตลอดจนไพร่พลถือน้ำสัตย์ สัญญาว่า จะต่อสู้ข้าศึกกู้บ้านเมืองไทยให้เป็นอิสรภาพให้จงได้

แล้วจึงเสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปเมืองสวรรคโลก ให้ตั้งล้อมเมืองไว้ มีรับสั่งให้ข้าหลวงเข้าไปร้องบอกพระยาทั้ง ๒ ว่า ให้ออกมาสารภาพผิดเสียโดยดี จะทรงพระกรุณายกโทษให้ พระยาทั้ง ๒ ก็ไม่เชื่อฟัง กลับให้เอาตัวกรมการที่ไม่เข้าด้วยตัดศีรษะโยนออกมาให้ข้าหลวง

สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองสวรรคโลกทางด้านเหนือด้านใต้และด้านตะวันตกก็เข้าไม่ได้ ด้วยเมืองสวรรคโลกป้อมปราการล้วนทำด้วยศิลาแลง มาแต่ชื่อว่าเมืองสัชนาลัยในครั้งพระร่วง ถมเชิงเทินทำสนามเพลาะรักษาเมืองมั่นคงนัก

จึงมีรับสั่งให้ตั้งค่ายประชิด แล้วปลูกหอรบให้สูงเท่ากำแพงเมือง เอาปืนขึ้นตั้งจังกายิงพวกรักษาหน้าที่จนระส่ำระสาย แล้วให้เข้าเผาประตูดอนแหลมข้างด้านใต้ทลายลง กองทัพสมเด็จพระนเรศวรก็เข้าเมืองได้ จับตัวพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย มีรับสั่งให้ประหารชีวิตเสียทั้ง ๒ คน

แล้วเสด็จกลับมายังเมืองพิษณุโลกให้ลงมือย้ายผู้คน และพาหนะหัวเมืองเหนือทั้งปวงลงมายังกรุงศรีอยุธยา ทิ้งวหัวเมืองเหนือให้ร้างเสียคราวหนึ่ง สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น

....................................................................................................................................................




 

Create Date : 16 มีนาคม 2550   
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:40:36 น.   
Counter : 1357 Pageviews.  


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคแรก บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ

อธิบายความเบื้องต้น


สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จพระราชสมภพที่เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๐๙๘ พระองค์เป็นราชโอรสของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า พระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์สุโขทัยองค์แรกที่ครองกรุงศรีอยุธยา พระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อันเกิดด้วยพระสุริโยทัยเป็นพระชนนี เพราะฉะนั้นโดยพระชาติเป็นเชื้อกษัตริย์ทั้งราชวงศ์พระร่วงสุโขทัยและราชวงศ์กรุงศรีอยุธยา พระองค์มีพระพี่นางองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระสุพรรณกัลยาณี พระน้องยาองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเอกาทศรถ ซึ่งได้รับรัชทายาท แต่หามีพระราชโอรสธิดาไม่

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสมภพ ยศเจ้าฟ้ายังไม่มีในประเพณีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระชนกก็ยังทรงพระยศเพียงเป็นเจ้าขัณฑสีมา แต่พระชนนีเป็นสมเด็จพระราชธิดา พระองค์เป็นราชนัดดา คงทรงพระยศเป็นพระองค์เจ้า ฝรั่งจึงเรียกในจดหมายเหตุแต่งในสมัยนั้นว่า The Black Prince ตรงกับว่า "พระองค์ดำ" และเรียกพระอนุชาเอกาทศรถว่า The White Prince ตรงกับ "พระองค์ขาว" เป็นคู่กัน "พระองค์ขาว" เป็นคู่กัน คงแปลไปจากพระนามที่คนทั้งหลายเรียกสมเด็จพระนเรศวรเมื่อยังทรงพระเยาว์ว่า "พระองค์ดำ" อาจจะมีพระนามขนานอีกต่างหากแต่ไม่ปรากฏ

พระนามว่า "พระนเรศวร" นั้นต่อมาสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเสวยราชย์แล้ว จึงพระราชทานเมื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เวลาพระชันษาได้ ๑๕ ปี เป็นพระนามสำหรับลูกหลวงเอกเช่นเดียวกับพระนามว่า พระราเมศวร ซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน แต่พระองค์อื่นเมื่อขึ้นเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินมักเปลี่ยนไปใช้พระนามอื่นดังเช่น พระราเมศวร ราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(สามพระยา) เมื่อเสวยราชย์เปลี่ยนพระนามเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ถึงสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสวยราชย์ก็อาจมีพระนามอื่นถวายเมื่อราชาภิเษก แต่ยังใช้พระนามว่า "พระนเรศวร" หรือ "พระนเรศ" ต่อมาในเวลาเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้ว ดังปรากฏในบานแพนกกฏหมายลักษณะกบฏศึกตอน ๑ ซึ่งสมเด็จพระเอกาทศรถทรงตั้งเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๒๑๓๖) ออกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า "สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์ อัครบุริโสดม บรมหน่อนรา เจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี" ดังนี้ (เหตุที่ใช้คำเจ้าฟ้าจะมีอธิบายในเรื่องต่อไปข้างหน้า) ถึงในพงศาวดารพม่ามอญก็เรียกพระนามแต่ว่า "พระนเรศ" อย่างเดียวเหมือนเช่นไทยเราเรียกกันมา

คิดหาเหตุที่ไม่เปลี่ยนพระนามก็พอเห็นได้ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรทรงบำเพ็ญพระอภินิหารปรากฏพระเกียรติว่าเป็น "วีรบุรุษ" มาตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระนเรศวร พระนามนั้นเลื่องลือระบือไปทั่วทุกประเทศ แล้วก็ไม่มีใครสามารถจะให้คนเรียกเป็นอย่างอื่นได้

ประเทศต่างๆ ย่อมมีวีรบุรุษเป็นพระเจ้าแผ่นดินในบางสมัย และย่อมจดจำอภินิหารของพระเจ้าแผ่นดินเช่นนั้นเชิดชูพระเกียรติไว้ในเรื่องพงศาวดารของประเทศ บางทีก็แต่งเป็นเรื่องราชประวัติเพิ่มขึ้นต่างหาก มีอ่านกันอยู่มาก สังเกตในเรื่องประวัติของวีรมหาราชทั้งหลายดูมีเค้าคล้ายกันหมด คือบ้านเมืองต้องมียุคเข็ญจึงมีวีรมหาราชอย่าง ๑ วีรมหาราชย่อมเป็นบุรุษพิเศษมีสติปัญญาและความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวผิดกับผู้อื่นมาในอุปนิสัยอย่าง ๑ และสามารถทำให้ผู้อื่นเชื่อถือไว้วางใจในพระปรีชาสามารถมั่นคงอย่าง ๑ จึงสามารถบำเพ็ญอภินิหารกู้บ้านเมืองและแผ่ราชอาณาเขตจนเป็นพระราชาธิราชได้ สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระคุณสมบัติดังกล่าวมาบริบูรณ์ทุกอย่าง ดังจะพึงเห็นได้ในเรื่องพระประวัติต่อไปข้างหน้า อันจะเขียนเป็น ๓ ภาค คือ เรื่องบ้านเมืองเกิดยุคเข็ญภาค ๑ เรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงกู้บ้านเมืองเมื่อยังเป็นสมเด็จพระราชโอรสภาค ๑ และเรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงแผ่พระราชอาณาเขตเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินภาค ๑

....................................................................................................................................................


ภาคแรก
บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ


(๑)

เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาสวรรคต มีพระราชบุตรพระองค์เดียว แต่พระแก้วฟ้าอันท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกเป็นพระเจ้าจอมมารดา พระแก้วฟ้าได้รับรัชทายาท แต่พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์พระชันษาได้เพียง ๑๑ ปี ว่าราชการบ้านเมืองเองยังไม่ได้ พระเฑียรราชา(สันนิษฐานว่าเป็นพระเจ้าน้องยาเธอต่างพระชนนีกับสมเด็จพระชัยราชาธิราช)เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่การภายในพระราชวังตกอยู่ในอำนาจท้าวศรีสุดาจันทร์อันได้เป็นสมเด็จพระชนนีพระพันปีหลวง ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นคนมักใหญ่ใฝ่สูงและมีราคะจริตกล้า ปรารถนาเอาพระเทียรราชาไว้ในมือ แต่ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ก็พยายามขัดขวางด้วยอำนาจที่มีในราชสำนัก มิให้พระเฑียรราชาว่าราชการได้สะดวก พระเฑียรราชามิรู้ที่จะทำอย่างไรก็ต้องทูลลาออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุเสียให้พ้นภัย แต่นั้นอำนาจในราชการบ้านเมืองก็ตกไปอยู่ในมือท้าวศรีสุดาจันทร์

พอมีอำนาจเต็มที่แล้ว ในไม่ช้าท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เป็นชู้กับพันบุตรศรีเทพ ซึ่งนับเป็นญาติกันมาแต่ก่อน ให้เลื่อนขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช ด้วยอ้างเหตุที่เป็นพระญาติกับพระแก้วฟ้า และให้ช่วยว่าราชการบ้านเมืองมีอำนาจขึ้นโดยลำดับ เป็นชู้กันมาจนท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น ขุนวรวงศาธิราชเห็นว่าจะปกปิดความชั่วต่อไปไม่ได้แล้ว ก็ลอบปลงพระชนม์พระแก้วฟ้าเสีย ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ต้องจัดการเชิญขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติไปตามเลย

จึงมีข้าราชการพวก ๑ ซึ่งมีขุ้นพิเรนเทพเป็นตัวหัวหน้า พร้อมใจกันจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์และเด็กหญิงที่เป็นลูกฆ่าเสีย แล้วเชิญพระเฑียรราชาขึ้นครองราชสมบัติเมื่อ ปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อพูนบำเหน็จข้าราชการที่ช่วยกันกำจัดพวกทรยศครั้งนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริว่า ขุนพิเรนเทพผู้เป็นตัวหัวหน้ามีความชอบยิ่งกว่าผู้น และเป็นเชื้อเจ้าในราชวงศ์พระร่วงสุโขทัย จึงโปรดให้สถาปนาขุนพิเรนทรเทพขึ้นเป็นเจ้า ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรีราชธิดาเป็นมเหสี แล้วให้ขึ้นไปครองหัวเมืองเหนือทั้ง ๖ อยู่ ณ เมืองพิษณุโลก

พระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองเหนืออยู่ยังไม่ทันถึงปีก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีกรุงศรีอยุธยา คือเมื่อครั้งเสียพระสุริโยทัยนั้น เวลากองทัพพม่ามอญเข้ามาตั้งประชิดพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้พระมหาธรรมราชายกกองทัพหัวเมืองเหนือลงมาตีโอบหลังข้าศึก พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้เกรงจะถูกตีกระหนาบก็รีบเลิกทัพหนีไป

ฝ่ายไทยได้ทีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสสั่งให้พระราเมศวรราชโอรสกับพระมหาธรรมราชาติดตามตีข้าศึก แต่ไปเสียกลถูกข้าศึกล้อมจับได้ทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอมเลิกรบ ไถ่พระราเมศวรกับพระมหาธรรมราชากลับมา แต่นั้นมาก็ว่างศึกหงสาวดีมา ๑๔ ปี ตั้งแต่ปีระกา พ.ศ. ๒๐๙๒ จนปีกุน พ.ศ. ๒๑๐๖

พระโอรสธิดาของพระมหาธรรมราชากับพระวิสุทธิกษัตรีสมภพในระหว่างเวลาที่ว่างสงครามนั้นทั้ง ๓ พระองค์ พระสุพรรณกัลยาณีพี่นางเห็นจะแก่กว่าสมเด็จพระนเรศวร ๓ ปี จึงทรงเจริญเป็นสาว ได้เป็นพระชายาพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๑๕ ปี พระน้องยาเอกาทศรถก็เห็นจะอ่อนกว่าสมเด็จพระนเรศวรไม่เกิน ๓ ปี จึงทรงเจริญวัยได้ช่วยพระเชษฐาธิรบพุ่งตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อรบพระยาจีนจันตุ ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า


(๒)

พอสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๘ ขวบ ก็เกิดศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ คือ คราวพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองขอช้างเผือก อันเป็นต้นเรื่องตอนสำคัญของประวัติสมเด็จพระนเรศวร ในพงศาวดารพม่าว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ล่าทัพไปจากเมืองไทย พอกิตติศัพท์เลื่องลือว่าแพ้ไทยไป พวกมอญเห็นได้ช่องก็ชวนกันคิดร้าย เพราะพระเจ้าหงสาวดีเป็นพม่าเมืองตองอู มิใช่มอญ เป็นแต่มีอานุภาพปราบเมืองมอญไว้ได้ในอำนาจ แล้วมาตั้งราชธานีอยู่ ณ เมืองหงสาวดี พวกมอญที่เป็นขุนนางคบคิดกันล่อลวงพระเจ้าหงสาวดีให้ออกไปตามช้างเผือกที่ในป่า แล้วจับปลงพระชนม์เสีย

พอพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ถูกปลงพระชนม์ เจ้าเมืองต่างๆก็พากันตั้งตัวเป็นอิสระ มิได้รวมกันเป็นประเทศใหญ่เหมือนอย่างแต่ก่อน พระเจ้าตะเบงชะเวตี้มีพระญาติองค์ ๑ ซึ่งเป็นคู่คิดช่วยทำศึกสงครามมาแต่แรก จึงสถาปนาให้ทรงศักดิ์เป็น "บุเรงนอง" ตรงกับว่า "พระเชษฐาธิราช" เป็นแม่ทัพคนสำคัญของเมืองหงสาวดี ต่อมาเมื่อเกิดกบฏที่เมืองหงสาวดี บุเรงนองหนีไป ได้ไปอาศัยอยู่ถิ่นเดิม ณ เมืองตองอู คอยสังเกตเหตุการณ์ เห็นพวกหัวเมืองมอญที่ตั้งเป็นเป็นอิสระเกิดชิงกันเป็นใหญ่จนถึงรบพุ่งกันเอง บุเรงนองจึงคิดอ่านตั้งตัวก็สามารถรวบรวมรี้พลได้โดยสะดวก เพราะไพร่บ้านพลเมืองมอญกำลังเดือดร้อนที่เกิดรบพุ่งกันเอง และเคยนับถือว่าบุเรงนองเป็นแม่ทัพสำคัญมาแต่ก่อน

บุเรงนองก็สามารถตีเมืองมอญได้ทั้งหมด แล้วทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๐๙๖ ก่อนสมเด็จพระเนศวรเสด็จสมถพ ๒ ปี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองจัดการปกครองเมืองมอญเรียบร้อยแล้ว ขึ้นไปตีเมืองพม่าเมืองไทยใหญ่ได้ทั้งหมด แล้วมาตีเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเมกุติเห็นจะสู้ไม่ไหวก็ยอมเป็นเมืองขึ้นพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองพยายามสะสมกำลังอยู่กว่า ๑๐ ปี เพราะฉะนั้นเมืองไทยจึงได้ว่างศึกหงสาวดีอยู่ ๑๔ ปี ดังกล่าวแล้ว

แต่ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ระแวงว่าจะมีศึกหงสาวดีมาอีก ทรงตระเตรียมป้องกันบ้านเมืองทั้งที่ในกรุงฯ ปละทางหัวเมืองเหนือมิได้ประมาท แต่เมืองไทยมีกำลังไม่พอจะไปบุกรุกตีเมืองหงสาวดีก่อน จึงได้แต่เตรียมตัวคอยต่อสู้

พอพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองแผ่อำนาจได้ดังว่ามาแล้ว ก็เริ่มคิดจะเอาเมืองไทย จึงใช้อุบายมีราชสาส์นมาขอช้างเผือกสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ๒ ช้าง การที่ขอช้างเผือกเป็นแต่จะหาเหตุ เพราะทุกประเทศทางตะวันออกนี้ถือกันว่า ช้างเผือกเป็นคู่บารมีของพระเจ้าแผ่นดินไม่เคยมีเยี่ยงอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นอิสระจะยอมสละช้างเผือกให้แก่กัน ถ้าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมให้ช้างเผือกก็เหมือนยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดี ถ้าไม่ยอมให้ช้างเผือกก็เหมือนกับท้าให้พระเจ้าหงสาวดีมาตีเมืองไทย

ข้างฝ่ายไทยก็รู้เท่าว่าพระเจ้าหงสาวดีจะเอาเมืองไทยเป็นเมืองขึ้น และรู้ว่าเมืองหงสาวดีมีกำลังมากกว่าแต่ก่อน สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงพระราชดำริเห็นว่าถึงให้ช้างเผือกก็ไม่คุ้มภัยได้ เป็นแต่จะเสียเกียรติยศเพิ่มขึ้น จึงไม่ยอมให้ช้างเผือก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ยกทัพมาตีเมืองไทย

ศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ ซึ่งยกมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ พม่าได้เปรียบไทยกว่าครั้งก่อน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้อาณาเขตกว้างขวางมีกำลังรี้พลมากกว่าไทยมาก อีกอย่าง ๑ พม่ายกมาเมื่อครั้งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ มีความลำบากด้วยต้องมาเที่ยวหาเสบียงอาหารสำหรับกองทัพ ครั้งนี้ได้เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองขึ้นส่งเสบียงลงมาทางเรือจนเพียงพอไม่ขัดสน อีกอย่าง ๑ ซึ่งเป็นข้อสำคัญอย่างยิ่งนั้น คือที่พระเจ้าบุเรงนองเคยเข้ามาในกองทัพพมใม่อก่อน ได้รู้เห็นทั้งภูมิลำเนาและกำลังของคนไทยที่รบพุ่ง เห็นตระหนักว่าจะยกตรงมาตีพระนครศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เหมือนอย่างครั้งก่อนจะเอาชัยชนะไม่ได้ ครั้งนี้จึงเปลี่ยนกระบวนศึกยกกองทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมา (เดี๋ยวนี้เรียกว่าด่านแม่สอด) หมายเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีหัวเมืองเหนือตัดกำลังที่จะช่วยราชธานีเสียก่อน แล้วจึงลงมาตีพระนครศรีอยุธยาจากทางเหนือ

แต่ฝ่ายทางข้างไทยไม่รู้ความคิดของพระเจ้าบุเรงนอง คาดว่ากองทัพหงสาวดีจะยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์เหมือนครั้งก่อน ก็ตระเตรียมป้องกันพระนครเป็นสามารถ แต่ทางหัวเมืองเหนือตระเตรียมกำลังยังไม่พร้อมพรัก พระเจ้าหงสาวดียกเข้ามาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ตีได้โดยง่าย

กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกมาครั้งนั้นจัดเป็นทัพกษัตริย์ ๕ ทัพ ซึ่งอาจจะแยกไปรบ ณ ที่ต่างๆกันได้โดยลำพัง พระเจ้าหงสาวดีตั้งกองทัพหลวงอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร ให้กองทัพพระเจ้าอังวะกับกองทัพพระเจ้าตองอูไปตีเมืองพิษณุโลกทาง ๑ ให้กองทัพพระมหาอุปราชากับกองทัพพระเจ้าแปรยกไปตีเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิชัยทาง ๑

เมืองสุโขทัยต่อสู้จนเสียเมือง เมืองสวรรคโลกเมืองพิชัยยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึกโดยดี แต่พระมหาธรรมราชาตั้งทัพต่อสู้ ณ เมืองพิษณุโลกอย่างเข้มแข็ง ข้าศึกจะตีหักเอาเมืองไม่ได้ ก็ตั้งล้อมไว้จนในเมืองสิ้นเสบียงอาหาร และเผอิญเกิดโรคทรพิษขึ้นด้วย พระมหาธรรมราชาก็ต้องรับแพ้ยอมอ่อนน้อมต่อข้าศึก เมืองพิษณุโลกต่อสู้ข้าศึกครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่สมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงเห็นการสงคราม เมื่อพระชันษาได้ ๘ ขวบ


(๓)

ประเพณีทำสงครามแต่โบราณ ถ้าตีบ้านเมืองได้ด้วยรบพุ่ง ฝ่ายชนะย่อมจับชาวเมืองทั้งเด็กผู้ใหญ่ชายหญิงเป็นเชลยไม่เลือกหน้า และปล่อยให้พวกทหารเก็บเอาทรัพย์สมบัติของชาวเมืองได้ตามชอบใจ บางทีก็เลยเผาบ้านเมืองเสียด้วย ถ้าหากว่ายอมแพ้แต่โดยดี ก็ไม่ริบทรัพย์จับชาวเมืองเป็นเชลย เป็นแต่เก็บเครื่องศัสตราวุธและเกณฑ์เอาของบางสิ่งซึ่งต้องการ แล้วใช้ชาวเมืองทำการต่างๆให้กองทัพ เช่น เป็นกรรมกรหาบขนและปลูกสร้างเป็นต้น ให้มูลนายควบคุมอยู่อย่างเดิม

เมื่อเสียเมืองเหนือครั้งนั้นเห็นจะยับเยินป่นปี้แต่เมืองกำแพงเพชรกับเมืองสุโขทัยซึ่งข้าศึกตีได้ แต่เมืองอื่นยอมอ่อนน้อมโดยดี พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาธรรมราชากับเจ้าเมืองกรมการกระทำสัตย์แล้ว ให้บังคับบัญชาผู้คนพลเมืองอยู่ตามเดิม ให้ไทยชาวเมืองเหนือเป็นพนักงานทำการโยธาให้กองทัพ และให้เกณฑ์เรือในเมืองเหนือมารวมกันจัดเป็นกองทัพเรือขึ้นอีกทัพ ๑ ให้พระเจ้าแปรยกลงมาทางลำแม่น้ำ ส่วนกองทัพบกให้พระมหาอุปราชาเป็นปีกขวา พระเจ้าอังวะเป็นปีกซ้าย พระเจ้าตองอูเป็นกองกลาง และกองทัพหลวงของพระเจ้าหงสาวดีหนุนตามลงมายังกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดีเอาพระมหาธรรมราชากับพระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัยมาด้วยในกองทัพหลวง

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ว่าข้าศึกเปลี่ยนกระบวนไปตีเมืองเหนือ มิได้ยกตรงมากรุงศรีอยุธยาดังคาด ก็รีบจัดกองทัพให้พระราเมศวรราชโอรสขึ้นไปช่วยเมืองเหนือ ได้รบกับข้าศึกที่เมืองชัยนาท ทานข้าศึกไว้ได้พักหนึ่ง แต่เมื่อกองทัพเรือของข้าศึกยกมาช่วยรบสู้ไม่ไหวก็ต้องล่าถอยกลับลงมา

พระเจ้าหงสาวดียกลงมาถึงพระนครศรีอยุธยา ให้ตีป้อมที่ตั้งรายรอบนอกพระนครได้ทั้งหมด แล้วเข้าตั้งล้อมถึงชานพระนคร มีราชสาส์นถามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิว่าจะสู้รบต่อไปหรือจะยอมเป็นไมตรีโดยดี ถ้ายอมเป็นไมตรีก็จะให้คงเป็นบ้านเมืองต่อไป ถ้าขืนต่อสู้ ตีพระนครได้จะเอาเป็นเมืองเชลย

ครั้งนั้นไทยเพิ่งแพ้ศึกใหญ่เป็นครั้งแรกคงเป็นเวลากำลังท้อใจ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิตรัสปรึกษาข้าราชการเห็นว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะข้าศึกได้แล้ว ควรยอมเป็นไมตรีเสียโดยดี ถึงจะต้องเสียสินไหมอย่างไรบ้าง ก็ยังมีปริมาณ ดีกว่าให้ข้าศึกล้างผลาญบ้านเมืองฉิบหายหมด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงรับเป็นไมตรี คือยอมแพ้แต่โดยดี ให้ปลูกพลับพลาขึ้นข้างนอกพระนครที่ริมวัดช้าง ระหว่างที่ตั้งกองทัพหลวงของข้าศึกกับคูเมืองทางด้านเหนือ แล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าบุเรงนอง เสด็จไปพบกันที่พลับพลานั้น พระเจ้าหงสาวดีเรียกค่าไถ่เมืองตามปรารถนา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ต้องยอม

ข้อความที่ตกลงกันเมื่อทำสัญญาเลิกสงครามครั้งนั้น ในพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าว่าผิดกันเป็นข้อสำคัญบางข้อ ในพงศาวดารไทยว่า เดิมพระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกแต่ ๒ ช้างเพิ่มขึ้นเป็น ๔ ช้าง กับขอตัวพระราเมศวรกับพระยาจักรีและพระสุนทรสงคราม ซึ่งเป็นตัวหัวหน้าในการต่อสู้ ๓ คนเอาไปเมืองหงสาวดี ได้แล้วก็เลิกทัพกลับไป

ในพงศาวดารพม่าว่าขอช้างเผือก ๔ ช้างกับตัวหัวหน้า ๓ คนนั้นเช่นเดียวกับพงศาวดารไทย แต่ยังทีอย่างอื่นต่อออกไปอีก คือว่าให้ไทยส่งส่วยช้างปีละ ๓๐ เชือก เงินปีละ ๓๐๐ ชั่ง กับทั้งเงินอากรค่าปากเรือบรรดาที่เก็บได้ ณ เมืองมะริด ถวายพระเจ้าหงสาวดีเสมอไป และยังมีข้อสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก ว่าครั้งนั้นเมื่อพระเจ้าหงสาวดีจะเลิกทัพกลับไป เชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปเมืองหงสาวดีด้วย เพราะฉะนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องมอบสมบัติให้พระมหินทรฯราชโอรสครองกรุงศรีอยุธยา ในพงศาวดารพม่ายังพรรณนาต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีให้ทำวังสร้างตำหนักอยางราชมนเทียรประทานเป็นที่ประทับ และว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีได้สัก ๒ ปี สมัครออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงปล่อยให้เสด็จกลับเมืองไทย

ความตอนนี้ในพงศาวดารไทยว่า เมื่อเสร็จศึกครั้งนั้นแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงมอบเวนราชสมบัติให้สมเด็จพระมหินทราธิราชครองกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระองค์เสด็จออกไปประทับอยู่ ณ วังหลัง และต่อมาเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

ความที่แตกต่างกันนี้พิจารณาประกอบกับเหตุการณ์ที่มีต่อมา เห็นว่าความจริงน่าจะเป็นอย่างพม่าว่า คือพระเจ้าหงสาวดีเชิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกไปอยู่เมืองหงสาวดีอย่างเป็นตัวจำนำอยู่สักสองสามปี

ใช่แต่เท่านั้น เมื่อพระเจ้าหงสาวดีจะเลิกทัพกลับไป ตรัสขอสมเด็จพระนเรศวรต่อพระมหาธรรมราชา ว่าจะเอาไปเลี้ยงเป็นราชบุตรบุญธรรมด้วย แต่ที่จริงก็เอาไปเป็นตัวจำนำสำหรับพระมหาธรรมราชานั่นเอง พระมหาธรรมราชก็จำต้องถวาย สมเด็จพระนเรศวรจึงต้องเสด็จออกไปอยู่เมืองหงสาวดีเมื่อชันษาได้ ๙ ขวบ แต่คงมีผู้หลักผู้ใหญ่และข้าไทยตามไปอยู่ด้วย ถึงเวลาเมื่ออยู่ที่เมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีก็๕งทรงอุปการะเลี้ยงดูให้อยู่กับเจ้านายรุ่นเดียวกัน อันน่าจะมีมากทั้งที่เป็นเชื้อวงศ์ของพระเจ้าหงสาวดี และที่ไปจากต่างประเทศเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวร ได้โอกาสศึกษาและได้รับการอบรมเลี้ยงดูอย่างดีด้วยกันทั้งนั้น


(๔)

ตั้งแต่เสร็จศึกหงสาวดีครั้งที่ ๒ พอสมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา ก็เริ่มรังเกียจกันกับพระมหาธรรมราชา ว่าเมื่อยอมแพ้ข้าศึกแล้วประจบประแจงพระเจ้าหงสาวดีเกินกว่าเหตุ ฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็ไม่นับถือสมเด็จพระมหินทรฯ มาแต่ก่อนและบางทีจะเคยดูหมิ่นว่าไม่ทรงพระปรีชาสามารถด้วย

ซ้ำมามีสาเหตุเกิดขึ้นด้วยพระยารามรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรเอาใจออกห่างจากพระมหาธรรมราชา ขอลงมารับราชการในกรุงฯ สมเด็จพระมหินทรฯ ยกย่องความชอบพระยารามฯ เมื่อครั้งต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีให้ว่าที่สมุหนายก อันเป็นผู้บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือ เพราะฉะนั้นรัฐบาลในกรุงฯสั่งราชการบ้านเมืองไปอย่างไร เมืองเหนือก็มักโต้แย้งไม่ฟังบังคับบัญชาโดยเคารพเหมือนอย่างเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ก็เลยเกิดระแวงสงสัยกันทั้ง ๒ ฝ่าย ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรฯ สงสัยว่าพระมหาธรรมราชาจะไปเข้ากับพระเจ้าหงสาวดี ข้างฝ่ายพระมหาธรรมราชาก็สงสัยว่าสมเด็จพระมหินทรฯคอยหาเหตุจะกำจัดเสียจากเมืองเหนือ

ความส่อต่อไปอีกอย่าง ๑ ว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิคงต้องออกไปเป็นตัวจำนำอยู่เมืองหงสาวดีจริงดังกล่าวในพงศาวดารพม่า ถ้าหากเสด็จอยู่ในเมืองไทยก็เห็นจะสามารถสมัครสมานสมเด็จพระมหินทรฯกับพระมหาธรรมราชามิให้แตกร้าวกัน หรือมิฉะนั้นก็อาจกลลับขึ้นครองราชสมบัติแต่ในเวลานั้น คงไม่มีเหตุร้ายต่างๆที่เกิดขึ้นในเวลา ๔ ปีต่อมา จนถึงเสียอิสรภาพของเมืองไทย

เริ่มเกิดเหตุตอนนี้ด้วยเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเลิกทัพกลับไปจากเมืองไทย ไปได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติคบคิดกับพระยานครลำปาง พระยาแพร่ (เรียกในพงศาวดารพม่าว่าพระยาเชรียง) พระยาน่าน และพระยาเชียงแสนจะตั้งแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๑๐๗ ครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีเกณฑ์กองทัพไทยขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ด้วย สมเด็จพระมหินทรฯจึงตรัสสั่งให้พระมหาธรรมราชาจัดกองทัพเมืองเหนือขึ้นไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี พระมหาธรรมราชาคุมกองทัพขึ้นไปเอง ไปถึงเมืองเชียงใหม่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีได้เมืองเชียงใหม่แล้ว เพราะพระเจ้าเชียงใหม่เมกุติยอมแพ้โดยดี แต่พระยา ๔ คน จับได้แต่พระยาเชียงแสน ที่เหลืออีก ๓ คนหนีไปอยู่กับพระเจ้าลานช้างไชยเชษฐาที่เมืองเวียงจันทน์

พระมหาธรรมราชาได้เฝ้าพระเจ้าหงสาวดีที่เมืองเชียงใหม่ พระเจ้าหงสาวดีคงไต่ถามทราบความว่าพระมหาธรรมราชากับพระมหินทรฯเกิดกินแหนงกัน เห็นเป็นช่องที่จะมีอำนาจยิ่งขึ้นในเมืองไทย ก็ยกย่องความชอบของพระมหาธรรมราชาที่ขึ้นไปช่วยครั้งนั้น รับจะอุดหนุนมิให้ต้องเดือดร้อนในภายหน้า พิเคราะห์ความตามเรื่องดูเหมือนพระมหาธรรมราชาจะฝักใฝ่หมายพึ่งพระเจ้าหงสาวดีแต่นั้นมา

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีพักอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ได้ข่าวมาจากเมืองหงสาวดีว่าเชลยไทยใหญ่เป็นกบฏขึ้น จึงตรัสสั่งให้พระมหาอุปราชายกกองทัพตามพระยาทั้ง ๓ ไปตีเมืองเวียงจันทน์ แล้วเลิกกองทัพหลวงไปเมืองหงสาวดี ส่วนกองทัพพระมหาธรรมราชาก็ให้เลิกกลับมายังเมใองพิษณุโลก กิตติศัพท์ที่พระเจ้าหงสาวดีผูกพันทางไมตรีกับพระมหาธรรมราชา ทราบมาถึงกรุงศรีอยุธยา ก็ยิ่งเพิ่มความกินแหนงหนักขึ้น

เมื่อกองทัพหงสาวดียกไปถึงแดนลานช้าง พระเจ้าไชยเชษฐาต่อสู้ เห็นเหลือกำลังก็ทิ้งเมืองเวียงจันทน์พากองทัพหลบไปตั้งซุ่มซ่อนอยู่ในป่า พระมหาอุปราชาก็ได้เมืองเวียงจันทน์โดยง่าย แต่เวลานั้นพอเข้าฤดูฝน ฝนตกชุก พระมหาอุปราชาไม่สามารถจะยกกองทัพติดตามพระเจ้าไชยเชษฐาต่อไปได้ ก็ตั้งอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์

แต่พวกชาวลานช้างคุ้นเคยกับฤดูในถิ่นฐานของตน พอเห็นข้าศึกต้องหยุดอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ พระเจ้าไชยเชษฐาก็แต่งกองโจรให้แยกย้ายกันไปเที่ยวตีตักลำเลียงเสบียงอาหาร จนกองทัพหงสาวดีอดอยากผู้คนเจ็บป่วยล้มตายลงตามกัน เมื่อสิ้นฤดูฝนพระมหาอุปราชาไม่มีกำลังพอจะทำสงคราม ต้องล่าทัพกลับไป พระเจ้าไชยเชษฐาได้ทีก็ออกติดตามตีข้าศึก เสียรี้พลพาหนะอีกเป็นอันมาก เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่ากองทัพเมืองหงสาวดีครั้งพระเจ้าบุเรงนองต้องล่าหนีข้าศึก ก็เลื่องลือเกียรติพระเจ้าไชยเชษฐาว่าเป็นวีรบุรุษขึ้นในครั้งนั้น แต่เมื่อพระมหาอุปราชาล่าทัพกลับไปจากเมืองเวียงจันทน์ รวบรวมครอบครัวของพระเจ้าไชยเชษฐาทั้งมเหสีเทวีและอุปราชญาติวงศ์ซึ่งตกอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ พาเอาไปเมืองหงสาวดีหมด

พระเจ้าไชยเชษฐากลับมาครองเมืองจึงคิดจะหามเหสีใหม่ ให้สืบหาราชธิดาในประเทศที่ใกล้เคียง ได้ความว่าในกรุงศรีอยุธยามีราชธิดาพระองค์น้อยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ อันเกิดด้วยพระสุริโยทัยอยู่องค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระเทพกษัตรี พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาก็แค้นเคืองเมืองหงสาวดีอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นสัมพันธไมตรีกันก็จะได้ช่วยกันต่อสู้ศึกหงสาวดีในวันหน้า จึงมีราชสาส์นมายังสมเด็จพระมหินทรฯ ทูลขอพระเทพกษัตรีไปอภิเษกเป็นพระมเหสี ฝ่ายสมเด็จพระมหินทรฯก็คิดเห็นเช่นเดียวกัน จึงอนุญาตด้วยความยินดีที่จะเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐา

กิตติศัพท์ทราบถึงพระมหาธรรมราชา ว่าสมเด็จพระมหินทรฯจะทำไมตรีเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐาก็เกิดวิตก ด้วยเกรงว่าพระเจ้าหงสาวดีจะสงสัยรู้ว่าเป็นใจด้วย ทั้งวิสุทธิกษัตรีก็เป็นห่วงพระเทพกษัตรีองค์พระกนิษฐา เกรงว่าถ้าไปอยู่เมืองเวียงจันทน์จะถูกกวาดเป็นเชลยเอาไปเมืองหงสาวดีเหมือนกับพระมเหสีองค์ก่อนของพระไชยเชษฐา พระมหาธรรมราชาจึงบอกเป็นความลับไปทูลพระเจ้าหงสาวดี และแนะให้แต่งกองทหารลอบเข้ามาคอยดักทางชิงพระเทพกษัตรีเอาไปเมืองหงสาวดี แต่พระมหาธรรมราชทำไม่รู้เรื่องที่กรุงศรีอยุธยาจะเป็นไมตรีกับเมืองลานช้าง เพราะสมเด็จพระมหินทรฯมิได้ตรัสบอกให้ทราบ

ฝ่ายพระเจ้าไชยเชษฐาเมื่อสมเด็จพระมหินทรฯยอมยกพระเทพกษัตรีรให้ตามความประสงค์ ก็แต่งให้ข้าหลวงลงมารับ แต่เผอิญข้าหลวงมาถึงพระนครฯเมื่อเวลาพระเทพกษัตรีประชวรอยู่ไม่สามารถจะไปได้ ชะรอยพระเจ้าไชยเชษฐาจะได้กำหนดฤกษ์การพิธีอภิเษกบอกมาด้วย สมเด็จพระมหินทรฯจะขอผัดเลื่อนเวลาไม่ได้ จึงส่งพระราชธิดาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิองค์ ๑ ทรงพระนามว่าพระแก้วฟ้า อันเกิดด้วยพระสนมไปแทนพระเทพกษัตรี

พระมหาธรรมราชรู้ว่ามิใช่พระเทพกษัตรีก็ปล่อยให้ไปโดยสะดวก แต่เมื่อพระแก้วฟ้าไปถึงเมืองเวียงจันทร์ พระเจ้าไชยเชษฐาทราบว่าเป็นแต่ลูกพระสนม มิใช่พระราชธิดาอันเกิดด้วยพระมเหสี ก็ไม่รับไว้ ให้ส่งคืนกลับมาโดยอ้างว่าจำนงจะอภิเษกแต่กับพระเทพกษัตรีที่เป็นพระธิดาของพระสุริโยทัยผู้ทรงเกียรติ

เวลานั้นพระเทพกษัตรีหายประชวรแล้ว สมเด็จพระมหินทรฯก็ให้ส่งไป ไปถึงกลางทางพวกทหารเมืองหงสาวดีก็ชิงพระเทพกษัตรีพาไปถวายพระเจ้าหงสาวดี สมเด็จพระมหินทรฯกับพระเจ้าไชยเชษฐารู้ชัดว่า พระมหาธรรมราชาเป็นผู้คิดอ่านให้เกิดเหตุ แต่สมเด็จพระมหินทรฯจะว่ากล่าวอย่างไรก็ยาก ด้วยได้ปิดบังเรื่องเป็นสัมพันธมิตรกับพระเจ้าไชยเชษฐามิให้พระมหาธรรมราชารู้ ทั้งเมื่อส่งพระเทพกษัตรีไปเมืองเวียงจันทน์จะไปทางด่านสมอสอในลุ่มน้ำสัก ผ่านหลังเมืองพิษณุโลกไปก็มิได้สั่งให้พระมหาธรรมราชาดูแลพิทักษ์รักษา จะเอาผิดอย่างไรมิได้

จึงลอบคิดกลอุบายแก้แค้นด้วยกันกับพระเจ้าไชยเชษฐา ยกกองทัพลงมาตีกรุงศรีอยุธยาทางเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหินทรฯก็จะขึ้นไปเหมือนอย่างว่าจะไปช่วยรักษาเมือง แล้วจะร่วมมือกันกำจัดพระมหาธรรมราชาเสีย

ฝ่ายพระมหาธรรมราชาเมื่อทราบข่าวว่าเมืองลานช้างเกณฑ์กองทัพจะมาตีเมืองไทย ก็บอกลงมายังกรุงศรีอยุธยา แต่ระแวงว่าจะเป็นกลอุบายสมเด็จพระมหินทรฯจึงรีบให้ไปทูลพระเจ้าบุเรงนองขอกองทัพเมืองหงสาวดีมาช่วยด้วยอีกทางหนึ่ง

เมื่อสมเด็จพระมหินทรฯได้ทราบข่าวศึกจากพระมหาธรรมราชาก็โปรดให้พระยาสีหราชเดโชชัยกับพระยาท้ายน้ำคุมพลอาสากอง ๑ ล่วยหน้าขึ้นไปช่วยรักษาเมืองพิษณุโลก แต่ตรัสสั่งเป็นความลับไปว่า เมื่อเมืองพิษณุโลกลูกล้อมแล้วให้เป็นไส้ศึกข้างภายใน แต่พระยาทั้ง ๒ กลับเอาความลับไปขยายแก่พระมหาธรรมราชา พระมหาธรรมราชาก็ให้เตรียมการป้องกันเมืองพิษณุโลกทั้ง ๒ ทาง

กองทัพเมืองลานช้างยกลงมาถึงก่อน ก็ตั้งล้อมเมืองพิษณุโลกทางด้านเหนือกับด้านตะวันออก ครั้งกองทัพเรือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปถึง พระยารามฯคุมกองทัพหน้าไปตั้งอยู่ที่วัดจุฬามณีข้างใต้เมืองพิษณุโลก กองทัพหลวงของสมเด็จพระมหินทรฯ ตั้งอยู่ที่ปากน้ำพิงค์ต่อลงมาข้างใต้ พระมหาธรรมราชาแกล้งทำแพไฟไหม้ปล่อยลอยลงมาเผาเรือกองทัพพระยารามฯ ทนอยู่ไม่ไหวก็ต้องถอยลงมาหากองทัพหลวง ฝ่ายกองทัพเมืองลานช้างรู้ว่ากองทัพในกรุงฯขึ้นไปถึง ก็เตรียมจะเข้าตีเมืองพิษณุโลกตามที่นัดกันไว้ แต่ได้ยินว่ากองทัพของพระยารามฯ ถอยลงไปเสียแล้วก็ยั้งอยู่ พอรู้ว่ากองทัพเมืองหงสาวดีเข้ามาถึง พระเจ้าไชยเชษฐาก็ล่าทัพถอยไปจากเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหินทรฯไม่สมคะเนก็อ้างเหตุที่กองทัพเมืองลานช้างล่าไปแล้ว ถอยกองทัพกลับคืนมายังพระนครฯ

แต่พระยาพุกามกับพระยาเสือหาญนายทัพหงสาวดีมาถึงช้าไปไม่ทันรบข้าศึก เกรงความผิดก็ยกติดตามกองทัพลานช้างต่อไป ไปเสียกลถูกล้อมต้องพ่ายแพ้หนีกลับมา กลัวพระเจ้าหงสาวดีจะลงอาญา อ้อนวอนพระมหาธรรมราชาให้ช่วยทูลขอโทษ พระมหาธรรมราชเห็นเหมาะเพราะยังมิได้เป็นข้าศึกกับกรุงศรีอยุธยาโดยเปิดเผย ก็อ้างเหตุที่จะขอโทษพระยาทั้ง ๒ นั้นรีบออกไปยังเมืองหงสาวดี ไปทูลร้องทุกข์ที่ถูกสมเด็จพระมหินทรฯปองร้าย

พระเจ้าหงสาวดีได้ทีที่จะตัดกำลังไทยก็ตั้งพระมหาธรรมราชาให้เป็น เจ้าฟ้าศรีสรรเพ็ชญ์ เจ้าประเทศราชครองเมืองเหนือทั้งปวงขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา มิต้องอยู่ในบังคับบัญชาของสมเด็จพระมหินทรฯอีกต่อไป ยศเจ้าฟ้าแรกมีขึ้นในประเพณีไทยเราในครั้งนั้น แรกใช้นำพระนามแต่พระเจ้าแผ่นดิน ครั้นถึงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ เลื่อนลงมาใช้นำพระนามพระราชกุมาร ที่พระมารดาเป็นเจ้าสืบมาจนบัดนี้

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อได้ทราบว่าพระมหาธรรมราชาออกไปเมืองหงสาวดี สมเด็จพระมหินทรฯก็คาดว่าคงไปยุยงให้เกิดเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง ขณะนั้นเผอิญประจวบเวลาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งทรงผนวชเสด็จกลับเข้ามายังพระนคร สมเด็จพระมหินทรฯก็เชิญเสด็จขึ้นไปยังเมืองพิษณุโลกด้วยกัน ชะรอยจะอ้างว่าสงสารพระวิสุทธกษัตรีกับพระโอรสธิดาต้องอยู่เปล่าเปลี่ยว จะรับลงมาอยู่ในพระนครจนกว่าพระมหาธรรมราชาจะกลับ จึงจะส่งคืนขึ้นไป

แต่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทราบว่าครอบครัวของพระมหาธรรมราชาถูกจับเป็นตัวจำนำ ก็ถือว่าสมเด็จพระมหินทรฯดูหมิ่น จึงสั่งให้พระมหาธรรมราชากลับเข้ามาเกณฑ์รี้พลพาหนะทางเมืองเหนือเตรียมไว้ พอฤดูแล้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นศึกหงสาวดีครั้งที่ ๓


(๕)

พระเจ้าบุเรงนองยกกองทัพจากเมืองหงสาวดี เมื่อเดือน ๑๑ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๑๑ เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดีได้ ๖ ปี พระชันษาเข้า ๑๕ ปี เป็นหนุ่มแล้ว พระเจ้าหงสาวดีก็ให้ตามเสด็จมาในกองทัพหลวงด้วย กองทัพหงสาวดีตั้งประชุมกันที่เมืองกำแพงเพชร จัดกระบวนที่จะลงมาตีกรุงศรีอยุธยาเป็นกองทัพกษัตริย์ ๗ ทัพ นับกองทัพไทยเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชาด้วยเป็นทัพ ๑ แต่ให้ไปสมทบกับทัพพระมหาอุปราชาเป็นทำนองกองหาหนะจึงไม่ปรากฏว่าไทยต้องรบกันเอง จะเป็นเพราะพระเจ้าหงสาวดีไม่ไว้พระทัย หรือพระมหาธรรมราชาร้องขออย่าให้ต้องรบกันเองก็เป็นได้

ข้างฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อรู้ว่าพระเจ้าหงสาวดีจะยกกองทัพมาตีเมืองไทยอีก สมเด็จพระมหินทรฯเห็นเป็นการคับขันเหลือพระกำลัง ก็ไปกราบทูลวิงวอนขอให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชเสด็จกลับขึ้นครองแผ่นดินอีก ด้วยผู้คนเคยสามิภักดิ์ทั้งชาวเมืองเหนือและเมืองใต้ แม้พระมหาธรรมราชาเองก็จะค่อยยำเกรง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงสงสารก็ลาผนวชขึ้นเสวยราชย์อีกครั้ง ๑ เมื่อเสด็จออกอยู่นอกราชสมบัติได้ ๔ ปี เห็นจะทรงผนวชได้สักสองพรรษา

แต่การต่อสู้ข้าศึกในครั้งนี้ไม่มีท่าทางที่จะรบรับที่อื่นได้ เพราะหัวเมืองเหนือเป็นกบฏไปเข้ากับข้าศึกเสียหมดแล้ว แม้ผู้คนตามหัวเมืองข้างตอนใต้ใกล้ราชธานี ก็ตื่นแตกหลบหนีเสียมากรวบรวมกำลังรี้พลไม่ได้บริบูรณ์ตามสมควร ก็ต้องคิดต่อสู้ด้วยเอาพระนครเป็นที่มั่น และนัดให้พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพเมืองลานช้าง ลงมาตีกระหนาบข้าศึก เหมือนอย่างครั้งต่อสู้พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้

แต่การที่เตรียมต่อสู้ที่ในกรุงฯครั้งนี้ เอาความคุ้นเคยแก้ไขวิธีป้องกันพระนครได้เปรียบข้าศึกอยู่หลายอย่าง เพราะพระนครมีลำแม่น้ำล้อม ยากที่ข้าศึกจะข้ามเข้ามาได้ถึงกำแพงเมืองอย่าง ๑ ข้าศึกยกมาทางบกเอาปืนใหญ่มาได้แต่ขนาดย่อม ที่ในกรุงฯมีปืนใหญ่ทุกขนาด อาจจะยิงข้าศึกอย่าง ๑ และอาจจะหาเครื่องยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมมาได้โดยทางทะเลไม่ขาดแคลนอย่าง ๑ การที่ได้เปรียบนี้ปรากฏแต่แรกกองทัพเมืองหงสาวดียกเข้ามาถึง กองทัพของพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาตั้งอยู่ที่ทุ่งลุมพลี ก็ถูกปืนใหญ่ยิงผู้คนและช้างม้าพาหนะล้มตายจนทนไม่ไหว ต้องถอยออกไปตั้งที่ตำบลมหาพราหมณ์ กองทัพอื่นๆก็ต้องตั้งห่างพระนครออกไปตามกัน

พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าจะตีหักเอาพระนครไม่ได้ง่ายดังคาด ก็ให้กองทัพทั้ง ๗ ตั้งรายล้อมรอบพระนคร ให้เข้าตีแต่ทางด้านตะวันออก (ที่ทำทางรถไฟเดี๋ยวนี้) แต่ด้านเดียว ด้วยในสมัยนั้นคูเมืองยังเป็นคลองแคบกว่าด้านอื่น ถึงกระนั้นเข้าตีทีไรก็ถูกชาวพระนครยิงล้มตาย ต้องถอยกลับไปทุกที รบกันมาได้ไม่ช้า เผอิญสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรสวรรคต พวกชาวพระนครเสียใจก็เริ่มย่อท้อ แต่เมื่อสมเด็จพระหินทรฯกลับขึ้นครองราชสมบัติ ให้พระยารามฯเป็นผู้บัญชาการต่อสู้เข้มแข็ง ข้าศึกก็ยังตีพระนครไม่ได้

พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมเมืองอยู่ ๔ เดือนยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา ก็เกิดวิตกด้วยใกล้จะถึงฤดูฝน จึงปรึกษาพระมหาธรรมราชาว่าจะทำอย่างไรดีจึงจะเสร็จศึกได้โดยเร็ว พระมหาธรรมราชาอาสาจะไปว่ากล่าวเกลี้ยกล่อมชาวพระนครให้ยอมแพ้เสียโดยดี แล้วทรงพระราชยานกั้นพระกลดเข้าไปยังคูเมือง ยังไม่ทันจะเจรจาว่ากล่าวอย่างไร พอพวกชาวพระนครแลเห็นก็โกรธแค้นระดมยิงพระมหาธรรมราชา จนต้องหลบหนีกลับไปไม่สามารถเกลี้ยกล่อมได้

จึงไปเขียนหนังสือลับให้ข้าหลวงลอบถือเข้าไปถวายพระวิสุทธิกษัตรีมเหสีที่ในพระนคร ว่าศึกหงสาวดีเข้ามาล้อมประชิดพระนครได้ถึงเพียงนั้นแล้ว ไม่พอที่สมเด็จพระมหินทรฯจะดื้อดึงต่อสู้ไปให้ผู้คนล้มตายเสียเปล่าๆ ควรจะขอเป็นไมตรีกับพระเจ้าหงสาวดีเสียแต่โดยดี พระเจ้าหงสาวดีก็ตรัสอยู่ว่า เหตุการณ์ทั้งปวงที่ได้มีมาเป็นเพราะพระยารามฯคนเดียว ยุยงให้พี่น้องเกิดวิวาทกัน ถ้าไม่มีพระยารามฯกีดขวาง ก็เห็นจะกลับดีกันได้ เพราะฉะนั้นถ้าสมเด็จพระมหินทรฯส่งตัวพระยารามฯถวายพระเจ้าหงสาวดีเสียแล้วขอเป็นไมตรี พระเจ้าหงสาวดีก็เห็นจะยอมเลิกรบเหมือนอย่างครั้งก่อน พระวิสุทธิกษัตรีถวายหนังสือนั้นแก่สมเด็จพระมหินทรฯ ก็โปรดให้แม่ทัพนายกองประชุมปรึกษากัน

เวลานั้น พวกแม่ทัพนายกองท้อใจมาตั้งแต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว ปรึกษากันเห็นว่าการต่อสู้เสียเปรียบข้าศึกมากนัก ถึงจะรบพุ่งกันไปก็พ้นวิสัยที่จะหมายเอาชัยชนะได้ แม้ตัวพระยารามฯเองก็สิ้นความคิดมิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงเห็นร่วมกันโดยมากว่า ควรจะขอเป็นไมตรีตามที่พระมหาธรรมราชาแนะนำ ในเวลานั้นพระองค์สมเด็จพระมหินทรฯเองก็ทนทุกข์มาจนจวนจะประชวรอยู่แล้ว จึงตรัสอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช ให้ออกไปเจรจาขอเป็นไมตรียอมแพ้ด้วยผ่อนผันกันโดยดี และให้คุมตัวพระยารามฯ ไปถวายพระเจ้าหงสาวดีด้วย

พระเจ้าหงสาวดีรับตัวพระยารามฯไว้แล้วตรัสสั่งให้แม่ทัพนายกองปรึกษากันว่าจะควรรับเป็นไมตรีหรืออย่างไร พวกแม่ทัพนายกองปรึกษากันแล้วทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า กรุงศรีอยุธยาต่อสู้จนผู้คนในกองทัพเมืองหงสาวดีต้องล้มตายเป็นอันมาก มาขอเป็นไมตรีต่อเมื่อจวนจะเสียเมือง เปรียบเหมือนลูกไก่อยู่ในเงื้อมมือแล้ว ที่จะยอมผ่อนผันรับเป็นไมตรีหาควรไม่ พระเจ้าหงสาวดีจึงตรัสสั่งสมเด็จพระสังฆราชให้มาทูลสมเด็จพระมหินทรฯว่าต้องยอมเป็นเมืองเชลยจึงจะรับเป็นไมตรี

ข้างฝ่ายไทยเมื่อตระหนักใจว่าพระเจ้าหงสาวดีหมายจะริบทรัพย์จับเอาชาวพระนครไปเป็นเชลย ก็พากันโกรธแค้นทูลขอรบพุ่งต่อไป ด้วยยังมีความหวังว่ากองทัพเมืองลานช้างจะมาช่วย หรือมิฉะนั้นถ้ารักษาพระนครไว้ได้จนถึงฤดูน้ำท่วมทุ่ง กองทัพเมืองหงสาวดีก็น่าที่จะต้องเลิกทัพกลับไปเอง ขณะนั้นพอได้ข่าวว่า พระเจ้าไชยเชษฐายกกองทัพลงมาทางเมืองเพชรบูรณ์ ชาวพระนครก็ยิ่งมีใจต่อสู้ข้าศึก

ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีทราบว่ากองทัพเมืองลานช้างยกลงมา ในเวลากำลังตีพระนครติดพันอยู่ก็ทรงพระวิตก จึงคิดกลอุบายให้พระยารามฯซึ่งเคยเป็นที่สมุหนายก ปลอมตราพระราชสีห์มีศุภอักษรไปยังพระเจ้าไชยเชษฐาว่า กองทัพพระเจ้าหงสาวดีตีพระนครไม่ได้กำลังรวนเรอยู่แล้ว ให้รีบยกลงมาตีกระหนาบหลัง กองทัพในกรุงฯก็จะออกตีทางด้านหน้าให้พร้อมกัน พระเจ้าไชยเชษฐาไม่รู้เท่าก็สั่งให้กองทัพหน้ารีบยกลงมาโดยประมาท พระเจ้าหงสาวดีให้พระมหาอุปราชาไปซุ่มสกัดอยู่ที่เมืองสระบุรี ตีทัพหน้าเมืองลานช้างแตกยับเยิน พระเจ้าไชยเชษฐาเห็นจะเอาชัยชนะข้าศึกไม่ได้ ก็ถอยกลับไปเมืองเวียงจันทน์ ข่าวทราบมาถึงในกรุงฯพวกแม่ทัพนายกองก็พากันเสียใจ สมเด็จพระมหินทรฯทรงทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหวก็เกิดอาการประชวร เสด็จออกว่าราชการได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แต่เวลานั้นได้พระเจ้าน้องยาเธอองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระศรีเสาวราช ช่วยบัญชาการศึกแทนพระองค์ และพวกแม่ทัพนายกองต่างก็มีมานะต่อสู้ข้าศึก กองทัพหงสาวดียังตีเอาพระนครไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีตั้งล้อมพระนครมาเกือบถึง ๘ เดือน เสียไพร่พลล้มตายเป็นอันมาก เกณฑ์กองทัพพระมหาธรรมราชาให้ออกไปเที่ยวหักต้นตาลมาถมคูพระนคร จนพวกทหารข้ามไปถึงกำแพงเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถตีเอาพระนครได้

เวลาก็ใกล้ฤดูน้ำท่วมเข้าทุกที พระเจ้าหงสาวดีจึงปรึกษากับพระมหาธรรมราช ให้เอาพระยาจักรีที่ถูกเอาไปเมืองหงสาวดีด้วยกันกับพระราเมศวรและพระสุนทรสงครามนั้น มาเกลี้ยกล่อมก็รับอาสาเป็นไส้ศึก จึงทำกลอุบายให้เอาตัวพระยาจักรีไปจำไว้ในค่ายแห่งหนึ่ง แล้วแกล้งให้หนีได้ ให้ผู้คนเที่ยวค้นคว้าติดตามและเอาผู้คุมตักศีรษะเสียบไว้ที่ริมแม่น้ำ ให้พวกพระนครเข้าใจว่านักโทษคนสำคัญหนี

พระยาจักรีหนีลอดมาได้ถึงชานเมือง พวกที่รักษาหน้าที่รับตัวเข้าไปในพระนคร สมเด็จพระมหินทรฯไม่ทราบว่าเป็นกลอุบายของข้าศึก เชื่อคำพระยาจักรีทูลว่าหนีมาได้ก็ทรงยินดี ด้วยพระยาจักรีเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ในครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ และได้เคยเป็นตัวหัวหน้าต่อสู้ศึกหงสาวดีแข็งแรงมาแต่ก่อน จึงให้พระยาจักรีเป็นผู้บัญชาการพระนครแทนพระยารามฯ

พระยาจักรีสมคะเนก็ไปเที่ยวตรวจตราตามหน้าที่ต่างๆ สังเกตเห็นว่าใครมีฝีมือหรือความคิดต่อสู้ข้าศึกเข้มแข็ง ก็ย้ายให้ไปรักษาหน้าที่ทางด้านที่ไม่มีข้าศึกเข้ามาตี เอาคนอ่อนแอเข้าประจำการแทน และแก้ไขกระบวนการป้องกันพระนครให้หละหลวมลงกว่าแต่ก่อน การที่พระยาจักรีทำนั้นคงมีพวกแม่ทัพนายกองบางคนเช่นพระศรีเสาวราชเป็นต้น เห็นท่วงทีวิปริตผิดสังเกตพากันโต้แย้ง พระยาจักรีก็หาเหตุทูลกล่าวโทษว่าพวกนั้นคิดเป็นกบฏ จะเอาพระศรีเสาวราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน สมเด็จพระมหินทรฯหลงเชื่อฟังก็ให้ปลงพระชนม์พระศรีเสาวราชเสีย แต่นั้นอำนาจก็ตกอยู่แก่พระยาจักรีสิทธิ์ขาด

พระยาจักรีอุบายลดกำลังรักษาพระนครจนเห็นว่าจะต่อสู้ไม่ไหวแล้ว ก็ลอบให้สัญญาออกไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีให้ระดมเข้าตีก็เสียพระนครศรีอยุธยาแก่ข้าศึก เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ นับเวลาที่ต่อสู้รักษาพระนครมาได้ถึง ๙ เดือน คิดดูจึงน่าเสียใจที่เสียพระนครเพราะไทยคิดทรยศกันเอง ไม่เช่นนั้นถ้าต่อสู้ไปได้สัก ๒ เดือน พอถึงเดือน ๑๑ น้ำจะท่วมทุ่งที่ข้าศึกอาศัย คงต้องถอยทัพกลับไปเอง

แต่พระยาจักรีที่เป็นไส้ศึกนั้น ในพงศาวดารพม่าว่า เดิมพระเจ้าหงสาวดีจะพูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองพิษณุโลก แต่ตัวขอรับราชการอยู่เมืองหงสาวดี ก็คงเป็นเพราะรู้ตัวว่าจะอยู่ดูหน้าไทยไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เป็นเจ้าเมืองขึ้นแห่ง ๑ ในแดนหงสาวดี แต่มีในหนังสือคำให้การช่วกรุงเก่าเล่าต่อมาว่า พระเจ้าหงสาวดีรังเกียจพระยาจักรีว่าเป็นคนทรยศจะไว้ใจไม่ได้ ชุบเลี้ยงตามสัญญาอยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็พาลเอาผิดให้ประหารชีวิตเสีย


(๖)

พระเจ้าหงสาวดีประสงค์จะให้พระมหาธรรมราชาครองเมืองไทยต่อไป เมื่อตีพระนครศรีอยุธยาได้แล้ว จึงห้ามมิเผาบ้านเมือง แต่อ้างว่าจะตีได้ต้องเสียผู้คนล้มตายมากลำบากนัก เพื่อจะชดใช้ความลำบากนั้น จึงให้ริบทรัพย์จับชาวพระนครทั้งชายหญิงเด็กผู้ใหญ่เป็นเชลยศึกเอาไปเมืองหงสาวดี แม้เจ้านายตะงแต่องค์สมเด็จพระมหินทรฯเป็นต้น กับทั้งขุนนางทั้งปวง พระเจ้าหงสาวดีว่าเกลียดชังพระมหาธรรมราชาอยู่โดยมาก ก็ให้เอาไปเมืองหงสาวดีเสียด้วย

แต่สมเด็จพระมหินทรฯประชวรอยู่แล้วไปได้เพียงกลางทางก็สวรรคต พระเจ้าหงสาวดียอมให้พระมหาธรรมราชา ขอข้าราชการกับพวกพลเมืองไว้ช่วยรักษาพระนครรวมกันเพียง ๑๐,๐๐๐ คนเท่านั้น พระเจ้าหงสาวดีตั้งพักอยู่ที่พระนครศรีอยุธยาจนตลอดฤดูฝน ถึงเดือนอ้ายในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ นั้นให้ทำพิธีปราบดาภิเษก ยกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และให้กองทัพหงสาวดีมีจำนวน ๓,๐๐๐ คน อยู่ช่วยรักษาพระนคร แล้วพระเจ้าหงสาวดีก็ยกกองทัพจากพระนครศรีอยุธยา ไปตีเมืองลานช้างแก้แค้นพระเจ้าไชยเชษฐาที่ยกกองทัพลงมาช่วยเมืองไทย



ที่นี่ สนุกกว่าครับ




 

Create Date : 16 มีนาคม 2550   
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:39:41 น.   
Counter : 3104 Pageviews.  



กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com