กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เทศาภิบาล ตอนแรก อธิบายตำนานเทศาภิบาล


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัีว
สมเด็จพระปิยมหาราช



อธิบายตำนานเทศาภิบาล

๑. การเปลี่ยนแปลงวิธีปกครองหัวเมืองเริ่มจัดในรัชกาลที่ ๕ ด้วยเมื่อปีมะโรงรัตนโกสินทรศก ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) วันที่ ๑ เมษายน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาสแก้ทำเนียบตำแหน่งเสนาบดี เลิกตำแหน่งอรรคมหาเสนาบดีและจตุสดมภ์อย่างโบราณ เปลี่ยนเป็นเสนาบดีมีศักดิ์เสมอกัน ๑๒ ตำแหน่ง แล้วทรงตั้งและเปลี่ยนตัวเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ดังนี้ คือ

(๑) กระทรวงมหาดไทย ปลดเจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร) ออกเป็นสมุหนายกกิตติมศักดิ์ โปรดฯ ให้ย้ายพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกระทรวงธรรมการ มาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย


เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด กัลยาณมิตร)

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ


(๒) กระทรวงกะลาโหม (ยังไม่ถึงเวลาที่จะจัดการแก้ไข) โปรดฯ ให้เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม ศรีไชยยันต์) สมุหะพระกะลาโหม คงเป็นเสนาบดีกระทรวงกะลาโหม


เจ้าพระยารัตนาธิเบศร (พุ่ม ศรีไชยยันต์)


(๓) กระทรวงการต่างประเทศ โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงศวโรประการ คงดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีอยู่อย่างเดิม


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงศวโรประการ


(๔) กระทรวงนครบาล ก่อนนั้นมีกรรมการบัญชาการอยู่ชั่วคราว โปรดฯ ให้เลิกกรรมการ แลให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์ ซึ่งเป็นนายกกรรมการ เป็นเสนาบดี


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์


(๕) กระทรวงวัง โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเป็นตำแหน่งอธิบดีบัญชาการอยู่แล้ว เป็นเสนาบดี


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม


(๖) กระทรวงพระคลัง โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ ซึ่งเป็นอธิบดีอยู่แล้ว เป็นเสนาบดี แต่ทรงทุพลภาพไม่สามารถเสด็จมาประจำราชการได้เสมอ จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิประพันธพงศ เป็นรองเสนาบดีช่วยบัญชาการด้วยพระองค์ ๑


สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิประพันธพงศ


(๗) กระทรวงเกษตรธิการ โปรดฯ ให้ย้ายเจ้าพระยาภาสกรวงศไปเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการ แล้วทรงตั้งพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เป็นเสนาบดี


พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต)


(๘) กระทรวงยุติธรรม ตั้งขึ้นใหม่ โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ เป็นเสนาบดี (เสด็จอยู่ในตำแหน่ง ๒ ปี ต้องเสด็จไปประจำราชการอยู่ในยุโรป ถวายคืนตำแหน่ง จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม)


พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร


(๙) กระทรวงธรรมการ ยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี โปรดฯ ให้เจ้าพระยาภาสกรวงศ เป็นเสนาบดี


เจ้าพระยาภาสกรวงศ(พร บุนนาค)


(๑๐) กระทรวงโยธาธิการ ยกขึ้นเป็นกระทรวงเสนาบดี โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ ซึ่งเป็นอธิบดีอยู่แล้ว เป็นเสนาบดี


พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ


(๑๑) กระทรวงมรุธาธร ตั้งขึ้นใหม่ โปรดฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา ราชเลขาธิการแผนกการต่างประเทศ เป็นเสนาบดี


พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา


(๑๒) กรมยุทธนาธิการ ยกขึ้นเสมอกระทรวงเสนาธิการ โปรดฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช เป็นผู้บัญชาการมีศักดิ์เท่าเสนาบดี


สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช


๒. มูลเหตุแห่งการเปลี่ยนแปลงทำเนียบเสนาบดี มีแจ้งอยู่ในกระแสพระราชดำรัสของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้พิมพ์เป็นเล่มสมุดพระราชทานแจกเมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้นแล้ว แต่ยังมีเรื่องตำนานการที่ทรงจัดมาเมื่อก่อนประกาส สมควรจะจดไว้ให้ปรากฏด้วย

คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ มีงานฉลองราชย์สมบัติสมเด็จพระราชินีวิดตอเรียเสวยราชย์ครบ ๕๐ ปี สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปงานนั้น เหมือนเช่นเชิญพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นที่มีทางพระราชไมตรีกับประเทศ อังกฤษ จึงโปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรประการ เสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนพระองค์ไปช่วยงานฉลองราชสมบัติ ณะ กรุงลอนดอน

ในคราวนั้นพระราชทานกระแสพระราชดำริให้กรมหลวงเทวะวงศวโรประการไปทรงศึกษา ระเบียบเสนาบดีสภาของนานาประเทศด้วย เมื่อกรมหลวงเทวะวงศฯ เสด็จกลับมากราบบังคมทูลถวายรายงานให้ทรงทราบ ทรงพระราชดำริโครงการที่จะแก้ไขหน้าที่แลเพิ่มเติมกระทรวงเสนาบดีขึ้น ทรงเลือกสรรผู้สมควรเป็นเสนาบดีกระทรวงต่างๆ ที่จะตั้งใหม่ คือ กระทรวงธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ กระทรงมุรธาธร แลกรมยุทธนาธิการ โปรดฯ ให้เป็นตำแหน่งชั้นอธิบดีอยู่ก่อน แล้วโปรดฯ ให้มีการประชุมเสนาบดีสภาตำแหน่งเก่า แลอธิบดีตำแหน่งที่ทรงกะใหม่ นั่งประชุมด้วยกันเป็นเสนาบดีสภา

ทรงแก้ระเบียบการประชุมเสนาบดี ซึ่งแต่ก่อนเคยประชุมต่อเมื่อมีราชการสำคัญเกิดขึ้น ให้ประชุมกันเนืองนิตย์แลเสด็จประทับเป็นประธาน ทรงปรึกษาราชการต่างๆ ในเสนาบดีสภาเสมอ ทรงทดลองระเบียบการดังกล่าวมาสัก ๒ ปี ในระวางนั้นได้จัดราชการต่างๆ สำเร็จประโยชน์หลายอย่าง จะยกเป็นอุทาหรณ์แต่เป็นการสำคัญเช่นเริ่มทำงบประมาณการรับแลจ่ายเงินแผ่น ดินทุกปี แลให้กรมยุทธนาธิการปราบพวกจีนอั้งยี่ เป็นต้น แลในระวางเวลาทดลองระเบียบการอยู่นั้น ทรงพิจารณาความสามารถของเสนาบดีทั้ง ๑๒ คน ว่าใครจะสมควรคงตำแหน่งหรือจะควรผลัดเปลี่ยนเสนาบดีกระทรวงใด จนเหมาะพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดฯ ให้ประกาสตั้งตำแหน่งเสนาบดี ๑๒ กระทรวงดังได้แสดงมา



๓. บันทึกนี้แต่งเฉภาะแต่ว่าด้วยการปกครองหัวเมือง จะไม่กล่าวถึงในการกระทรวงอื่น เว้นแต่เมื่อเรื่องตำนานจัดการปกครองหัวเมืองต้องเกี่ยวข้องถึงกระทรวง นั้นๆ เมื่อตั้งกระทรวงเสนาบดีเป็น๑๒ กระทรวงนั้น หน้าที่การปกครองท้องที่แยกกันอยู่ ๔ กระทรวง คือการปกครองจังหวัดกรุงเทพฯ อยู่ในหน้าที่กระทรวงนครบาล การปกครองหัวเมืองนอกจากกรุงเทพฯ ออกไป คือกระทรวงมหาดไทยบังคับบัญชาหัวเมืองทางฝ่ายเหนือแลฝ่ายตะวันออก กระทรวงกะลาโหมบังคับบัญชาหัวเมืองทางปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก กระทรวงการต่างประเทศบังคับบัญชาหัวเมืองท่า เสนาบดีที่บังคับบัญชาหัวเมือง ๓ กระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบในการปกครองหัวเมืองซึ่งขึ้นอยู่ในกระทรวงของตนหมด ทุกอย่าง ทั้งราชการฝ่ายทหารแลพลเรือน หรือธุรการแลตุลาการ แม้กระทรวงอื่นมีกิจการอันใดเกี่ยวข้องถึงหัวเมืองก็ต้องได้รับอนุมัติของ เสนาบดีผู้บัญชาการปกครองหัวเมืองนั้นก่อนจึงจะบังคับการอันนั้นได้

ส่วนหัวเมืองทั้งหลายนั้น ในกระบวนปกครองกำหนดหัวเมืองเป็น ๔ ประเภทคือ

ก. เมืองประเทศราช (ลาวแลมลายู) ทรงตั้งเจ้าปกครองสืบสกุลวงศ มีอำนาจสิทธิ์ขาดภายในบ้านเมืองทุกอย่าง เป็นแต่ต้องถวายต้นไม้ทองเงินกับเครื่องราชบรรณาการ ๓ ปีครั้งหนึ่ง

ข. หัวเมืองชั้นนอก (ลาว เขมร มลายู) ทรงตั้งผู้มีสกุลในท้องถิ่นเป็นผู้ว่าราชการเมือง ปกครองตามประเพณีของเมืองนั้นๆ แลต้องส่งส่วยสิ่งของหรือเป็นตัวเงินต่อกรุงเทพฯ ตามกำหนดทุกปี

ค. หัวเมืองชั้นกลาง (ชาวเมืองเป็นไทย) อยู่ห่างราชธานีออกไป ทรงตั้งผู้ว่าราชการเมืองไปจากกรุงเทพฯ ปกครองแลเก็บภาษีอากรตามพระราชกำหนดกฎหมาย แต่มีอำนาจแลมีตำแหน่งกรมการสำหรับบังคับบัญชาการทุกแผนกบริบูรณ์

ฆ. หัวเมืองชั้นใน (อยู่ใกล้ราชธานี) ตั้งข้าราชการในกรุงเทพฯ เป็นผู้ว่าราชการเมือง แต่การปกครองแลเก็บภาษีอากร เจ้าหน้าที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีอำนาจเข้าเกี่ยวข้องมากกว่าหัวเมืองชั้นกลาง

เค้ามูลของคติโบราณที่กำหนดหัวเมืองเป็น ๔ อย่างดังแสดงมา เมื่อพิเคราะห์ดูก็เห็นได้ ว่าเพราะถือว่าเป็นเมืองประเทศราชแลหัวเมืองชั้นนอกชาวเมืองเป็นคนต่างชาติ ต่างภาษา แลหัวเมืองชั้นกลางกับชั้นในชาวเมืองเป็นไทยด้วยกันเอง เมื่อ ร.ศ. ๑๑๑ นั้น มีจำนวนหัวเมืองที่ขึ้นต่อกระทรวงทั้ง ๓ ดังนี้

ประเทศราช ขึ้นมหาดไทย ๗ , ขึ้นกลาโหม ๓
หัวเมืองชั้นนอก ขึ้นมหาดไทย ๓๕ , ขึ้นกลาโหม ๗
หัวเมืองชั้นกลาง ขึ้นมหาดไทย ๑๓ , ขึ้นกลาโหม ๑๓ , ขึ้นกระทรวงการต่าง ๒
หัวเมืองชั้นใน ขึ้นมหาดไทย ๑๒ , ขึ้นกลาโหม ๗ , ขึ้นกระทรวงการต่าง ๑๐

รวมขึ้น มหาดไทย ๖๗ เมือง กระลาโหม ๓๐ เมือง กระทรวงการต่างประเทศ ๑๒ เมือง รวมหัวเมืองทั้งสิ้นด้วยกัน ๑๐๙ หัวเมือง ที่ว่านี้ไม่ได้นับถึงเมืองขึ้นในหัวเมืองเหล่านั้น



๔. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริมาแต่ก่อนประกาสตั้ง เสนาบดี ๑๒ ตำแหน่งช้านาน ว่าการปกครองหัวเมืองทั้งปวง ควรจะรวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลๆ และรวมหน้าที่การปกครองหัวเมืองทั้งปวงไว้ในกระทรวงมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว จึงจะจัดการปกครองให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้ตลอดพระราชอาณาเขต แต่ผู้ซึ่งเห็นร่วมพระราชดำริยังมีน้อย แลยังขาดตัวบุคคลซึ่งจะไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้จัดการตามพระราชดำริ จึงต้องทรงรอมาถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ ทรงสังเกตเห็นว่าฝรั่งตั้งท่าจะรุกรานพระราชอาณาเขตต์เข้ามาแต่ภายนอก จะต้องรีบลงมือจัดการปกครองหัวเมือง แลในปีนั้นได้โปรดฯ ให้ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นราชทูตพิเศษไปยังนานาประเทศในยุโรป และเมื่อกลับได้โปรดฯจะให้ตรวจการงานผ่านมาทางอียิปต์แลอินเดีย พอกรมหมื่นดำรงฯ กลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ทรงตั้งให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แต่ยังไม่ดำรัสสั่งให้รวมหัวเมืองทั้งปวงมาขึ้นมหาดไทยแต่กระทรวงเดียว ด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นการใหญ่ ควรรอไว้ให้กรมหมื่นดำรงฯ ทรงชำนิชำนาญราชการกระทรวงมหาดไทยเสียก่อน เพราะในเวลานั้นกรมหมื่นดำรงฯ (พระชันษาพอครบ ๓๐ ปี แม้ได้เคยรับราชการทหารแลจัดการศึกษามาแต่ก่อน) ยังไม่คุ้นเคยราชการมหาดไทย.....


พระบาทสมเด็จ ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




คัดจากหนังสือ เทศาภิบาล พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



Create Date : 12 เมษายน 2553
Last Update : 13 เมษายน 2553 11:55:09 น. 1 comments
Counter : 3644 Pageviews.  
 
 
 
 
God is the way
The Truth
and The Life

when your life need miracal
Ask form him.. Then you will be
impress by its result as I do~!

what is the truth
if u ask me then
I will tell u that
it is GOD
 
 

โดย: da IP: 124.122.121.158 วันที่: 12 เมษายน 2553 เวลา:23:06:18 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com