|
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนเสวยราชย์
 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยมหาราช
...............................................................................................................................................
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๓๐ พระพุทธศาสนากาลล่วงแล้วได้ ๒๔๑๑ พรรษา ถ้าเทียบประดิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม คริสตศักราช ๑๘๖๘ นับวันนี้เป็นต้นรัชกาลที่ ๕ ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งได้ประดิษฐานดำรงกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทราโยธยา เป็นราชธานีแห่งสยามประเทศได้ ๘๗ ปีโดยนิยม
 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรพระโรคไข้ป่า(๑) เพราะเหตุเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพได้ ๕ วัน ก็เกิดพระอาการประชวรไข้ เมื่อ ณ วัน พุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ตั้งแต่จับประชวรได้ไม่ช้า พระองค์ก็ทรงทราบโดยพระอาการว่า ประชวรครั้งนั้นเห็นจะเป็นที่สุดพระชนมายุสังขาร ได้ตรัสแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถให้ทรงทราบ ทั้งมีพระราชดำรัสสั่งพระราชประสงค์ แลพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ แล้วจึงมีรับสั่งแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพอธิบดีกรมหมอ ว่าพระอาการประชวรครั้งนี้มากอยู่ ให้ประชุมแพทย์ปรึกษากันตั้งพระโอสถ และมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์ กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ เสด็จเข้าไปประจำกำกับหมอที่ในพระบรมมหาราชวัง
 กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรเสด็จออกไม่ได้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถก็เสด็จเข้าพยาบาลอยู่ข้างที่ ทรงพยาบาลสมเด็จพระบรมชนกนาถอยู่ได้ ๑ วัน พระองค์เองก็จับมีพระอาการไข้ไม่ทรงสบาย แต่ถึงเวลาก็ยังอุตส่าห์เสด็จเข้าไปเฝ้าพยาบาลอยู่ข้างที่ตามเคย ต่อมาวันที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกพระหัตถ์ลูบพระพักตร์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เห็นร้อนผิดปกติก็ทรงทราบว่าประชวรไข้ด้วย จึงตรัสสั่งให้เสด็จกลับไปพักรักษาพระองค์ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ อย่าให้ทรงเป็นกังวลถึงการที่จะเข้าไปเฝ้ารักษาพยาบาลเลย ให้เร่งรักษาพระองค์ให้หาย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จกลับออกมาถึงพระตำหนัก พระโรคไข้ป่าก็กำเริบมากขึ้น ประชวรไข้อยู่หลายวัน มีพระอาการค่อยคลายก็เกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระศอ พระอาการกลับทรุดลงไปอีก จนถึงประชวรเพียบหนักอยู่เป็นหลายเวลาพระอาการจึงค่อยคลายขึ้น แต่พระกำลังยังอ่อนเพลียมากนัก จึงต้องปกปิดมิให้ทรงทราบพระอาการของสมเด็จพระบรมชนกนาถตลอดมา จนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรพระอาการทรุดลงโดยลำดับ(๒) ครั้นถึงวันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ เป็นวันพระราชพิธีศรีสัจปานการเสด็จออกไม่ได้ ข้าราชกาลประชุมถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วจึงพร้อมกันมาถวายบังคมที่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นท้องพระโรงอภิเนานิเวศ(๓) และในที่นั้นพระราชวงศานุวงศ์ประชุมถือน้ำตามประเพณีที่ไม่เสด็จออกวัด
ในเวลาเมื่อพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคมนั้น(๔) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในข้าราชการทั้งปวงกล่าวในที่ประชุมว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรพระอาการมากอยู่ ทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ก็ประชวรอยู่ด้วยไม่ควรจะประมาท แล้วจึงสั่งให้จัดการรักษาพระบรมมหาราชวังกวดขันขึ้นกว่าปกติ และให้ตั้งกองล้อมวงพระตำหนักสวนกุหลาบ อันเป็นที่ประทับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอด้วย ตั้งแต่วันนั้นมาเจ้านายและเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ ก็เข้ามาอยู่ประจำที่ในพระบรมมหาราชวัง
ถึง ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หาพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่โดยเจริญพระชนมายุกว่าพระองค์อื่นๆพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในรัชกาลพระองค์ ๑ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ซึ่งเป็นหัวหน้าในราชการทั้งปวงคน ๑ เข้าไปเฝ้าพร้อมกัน แล้วมีพระบรมราชโองการมอบพระราชกิจในการปกครองพระราชอาณาจักร ให้ท่านทั้ง ๓ ปรึกษาหารือกันบังคับบัญชาการ ต่างพระองค์ในเวลาทรงพระประชวร อย่าให้ราชการบ้านเมืองติดขัดผันแปร เป็นเหตุให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้ความเดือดร้อน
 กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์
 กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และในวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๖ ค่ำ นั้น มีรับสั่งให้ภูษามาลาเชิญหีบพระเครื่องมาถวาย ทรงเลือกพระประคำทองสาย ๑ อันเป็นของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(๕) กับพระธำมรงค์เพชรองค์ ๑ ให้พระราชโกษา(๖) เชิญตามเสด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ไปพระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเสด็จออกมาทูลกรมหลวงวงศาธิราชสนิท และบอกเจ้าพระยาศรีวสุริยวงศ์ ซึ่งพร้อมกันอยู่ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ให้ทราบตามกระแสรับสั่ง กรมหลวงวงศาธิราชสนิทและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ก็ไปยังพระตำหนักสวนกุหลาบด้วย เวลานั้นปิดความไม่ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทรงทราบ ว่าสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรพระอาการมาก
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงแนะพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี ให้ทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอว่าของ ๒ สิ่งนั้น พระราชทานเป็นของขวัญ โดยทรงยินดีที่ได้ทรงทราบว่าพระอาการที่ประชวรค่อยคลายขึ้น เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีไปทูล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอดำรัสถามว่า ของขวัญ เหตุใดจึงพระราชทานประคำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกด้วย แต่ก็ไม่มีผู้ใดทูลตอบว่ากระไร เมื่อถวายสิ่งของแล้วต่างก็กลับมา ในเวลานั้นเห็นจะเป็นด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นว่าพระองค์เจ้าโสมาวดีได้เสด็จออกไปทอดพระเนตร เห็นการที่จัดตั้งกองล้อมวงแล้วก็กลับเข้าไปข้างใน ก็คงจะกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ ครั้นเมื่อกลับมาถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยาวงศ์กับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทปรึกษากันว่า ควรจะกราบทูลพระบาทสมเด็จฯพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบถึงการที่จัดไว้ จึงสั่งพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเข้าไปกราบบังคมทูลว่า เจ้านายผู้ใหญ่กับเสนาบดีปรึกษากันเห็นว่า พระอาการที่ทรงพระประชวรมากอยู่ ไม่ควรจะประมาทแก่เหตุการณ์ ได้สั่งจัดการจุกช่องล้อมวงรักษาพระบรมมหาราชวังให้กวดขันขึ้น และได้ตั้งกองล้อมวงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ที่พระตำหนักสวนกุหลาบด้วย(๗)
เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี กราบทูลความให้ทรงทราบ มีรับสั่งถามว่า ได้เห็นผู้คนล้อมวงที่สวนกุหลาบจริงหรือและมีผู้หลักผู้ใหญ่ใครดูแลการล้อมวงอยู่ที่นั้น เมื่อได้ทรงทราบแล้ว จึงดำรัสสั่งให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกลับออกไปทูลกรมหลวงวงศาฯ และแจ้งแก่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ว่าการที่จะสืบพระวงศ์สนองพระองค์นั้น ขอให้คิดมุ่งหมายเอาแต่ความเรียบร้อยมั่นคงแห่งพระราชอาณาจักรเป็นประมาณ พระองค์ไม่ได้ตั้งพระราชหฤทัยมักใหญ่ใฝ่สูงอย่างไรดอก ผู้ที่จะรับราชสมบัติจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ หลานเธอก็ได้ ขอแต่ให้ได้ร่มเย็นเป็นสุขแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระชันษายังทรงพระเยาว์นัก จะทรงบังคับบัญชาราชการบ้านเมืองได้ละหรือ ขอให้คิดกันดูให้ดี
เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญพระกระแสออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ทั้งสองท่านจึงเชิญสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์มาปรึกษาอีกพระองค์หนึ่ง แล้วสั่งให้เข้าไปกราบบังคมทูลว่าได้ปรึกษาเห็นพร้อมกัน ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอสมควรจะได้รับรัชทายาทสืบสนองพระองค์ ราชการบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ ข้อซึ่งทรงปริวิตกว่ายังพระเยาว์นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์รับจะสนองพระเดชพระคุณ ช่วยดูแลประคับประคองในส่วนพระองค์ มิให้เสื่อมเสียได้
 สมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนบำราบปรปักษ์ เมื่อพระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีนำความเข้าไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระปริวิตกว่า พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีจะเชิญกระแสรับสั่งออกไปแจ้งไม่ถูกถ้วนตามพระราชประสงค์ ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ จึงดำรัสสั่งให้พระยาศรีสุนทรโวหาร(๘) เขียนกระแสรับสั่งพระราชทานให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี เชิญออกไปยังที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดี ว่าผู้ซึ่งจะครองราชสมบัติสืบพระราชวงศ์ต่อไปนั้น ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากัน แล้วแต่จะเห็นว่าเจ้านายพระองค์ใด จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ดี พระเจ้าลูกยาเธอก็ดี พระเจ้าหลานเธอก็ดี สมควรจะเป็นใหญ่ เมื่อพร้อมกันเห็นว่าพระองค์ใดจะปกครองรักษาแผ่นดินได้ ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้น สืบสนองพระองค์ต่อไป กระแสรับสั่งซึ่งโปรดฯให้เขียนออกไปอ่านในทีประชุมเสนาบดีนี้ หาปรากฏว่ามีคำที่ประชุมทูลสนองอย่างใดไม่
ในระหว่างนั้น เห็นจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอยิ่งขึ้น ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอประชวรพระอาการมากอยู่นั้น ไม่ได้กราบบังคมทูลฯให้ทรงทราบ เพราะเกรงกันว่าถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็จะทรงพระปริวิตกวุ่นวาย พระอาการจะทรุดหนักไป จึงปิดความเสีย
ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ จึงโปรดฯให้พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีถวายปฏิญาณก่อนแล้วจึงดำรัสถามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งรับสั่งเรียกว่า "พ่อใหญ่" นั้น สิ้นพระชนม์เสียแล้วหรือยังทรงพระชนม์อยู่ ขอให้กราบทูลโดยสัตย์จริง ถ้าจะสิ้นพระชนม์เสียแล้วก็จะได้สิ้นห่วง(๙) พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีกราบทูลฯว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอนั้น เดือนประชวรไข้ ครั้นไข้ค่อยคลาย พระยอดมีพิษขึ้นที่พระศอพระอาการมากอยู่ครู่หนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ค่อยคลายขึ้นแล้ว เป็นความสัตย์จริงดังนี้ มีพระราชดำรัสว่า ถ้าเช่นนั้นให้ไปทูลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ว่าถ้าพระอาการค่อยคลายพอจะมาเฝ้าได้ ให้เสด็จมาเสียก่อนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ถ้ารอไปจนถึงวันแรมค่ำ ๑ ก็จะได้แต่สรงพระบรมศพไม่ทันสั่งเสียอันใด
พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีเชิญกระแสรับสั่งออกมาทูลกรมหลวงวงศาฯและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านทั้งสองปรึกษากันเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระกำลังยังอ่อนนัก ถ้าเชิญเสด็จเข้าไปเฝ้าในเวลานั้น คงทรงพระโศกาดูรแรงกล้า น่ากลัวพระโรคจะกลับกำเริบขึ้น เห็นควรระวังรักษาอย่างให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอมีภัยอันตรายจะดีกว่า จึงพร้อมกันห้ามมิให้ไปทูลให้ทราบพระราชประสงค์ และให้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระอาการค่อยคลายแล้ว แต่พระกำลังยังอ่อนเพลียนัก เสนาบดีปรึกษากันเห็นว่ายังจะเชิญเสด็จมาเฝ้าไม่ได้
ในวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น จึงมีรับสั่งให้หาพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์(๑๐) จางวางมหาดเล็ก เข้าไปเฝ้าพร้อมกับพระยาบุรุษฯ ตรัสถามพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ว่า พระอาการสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่าพระอาการค่อยคลายขึ้นแล้ว ตรัสถามต่อไปว่า การแผ่นดินเดี๋ยวนี้จัดกันอย่างไร พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้บิดาเห็นว่าอาการที่ทรงพระประชวรมาก ได้ปรึกษากับพระราชวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ เห็นพร้อมกันว่าสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ควรจะรับสิริราชสมบัติสืบสนองพระองค์ต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงได้สั่งเจ้าพนักลานตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบหลายเวลามาแล้ว
 พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ (วร บุนนาค) มีพระราชดำรัสว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ พระชันษายังเยาว์จะทรงบังคับบัญชาราชการแผ่นดินอย่างใด เกรงจะทำการไปไม่ตลอด เจ้านายผู้ใหญ่ที่ทรงพระสติปัญญาก็มีอยู่หลายพระองค์ พระองค์ใดสามารถจะว่าราชการแผ่นดินได้ จะเลือกพระองค์นั้นก็ควร อย่าให้เกิดภัยอันตรายแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอซึ่งยังทรงพระเยาว์อยู่ พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลว่า ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอขึ้นครองราชสมบัติ น่ากลัวจะมีเหตุร้ายไปภายหน้า ด้วยคนทั้งหลายตลอดจนชาวนานาประเทศก็นิยมนับถือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถว่าเป็นรัชทายาท แม้สมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เอมปเรอฝรั่งเศส ก็ได้มีพระราชสาส์นทรงยินดีประทานพระแสงมีจารึกยกย่องพระเกียรติเป็นรัชทายาทมาเป็นสำคัญ ถ้าไม่ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป การภายหน้าเห็นจะไม่เป็นปกติเรียบร้อยได้ มีพระราชดำรัสว่า เมื่อเห็นพร้อมกันเช่นนั้นก็ตามใจ
แล้วทรงชี้แจงต่อไปถึงครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มิได้มีรับสั่งหาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เข้าไปทรงฝากฝังสั่งเสียราชการแผ่นดิน รับสั่งให้หาแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แต่ยังเป็นจางวางมหาดเล็กเข้าไปทรงสั่ง ครั้งนี้พระองค์ทรงประพฤติแบบอย่างพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมิได้มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้ามาสั่งเสีย ให้พระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์เป็นผู้รับสั่ง เมื่อจะขัดขวางอย่างใดก็จงปรึกษากับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นบิดาเถิด ไหนๆสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอก็ได้เป็นเขย การที่ได้ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าจะให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอครองราชสมบัติต่อไปนั้น ขอทรงฝากฝังให้ช่วยกันทำนุบำรุงให้ดีอย่าให้มีเหตุเกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงแผ่นดินใหม่ ถ้าไม่ระวังให้ดีอาจจะเกิดรบพุ่งฆ่าฟันกัน ต้องระวังอย่าให้มีเหตุเช่นพระเสน่หามนตรี(๑๑) ถ้าเกิดเหตุขึ้นเช่นนั้นจะอายเขา เจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์กราบบังคมทูลฯ รับว่าจะไปคิดอ่านกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้บิดา สนองพระเดชพระคุณมิให้เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นได้
ถึงวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๕ โมงเช้า ดำรัสสั่งให้พระยาบุรุษฯ ออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก เข้าไปเฝ้าถึงข้างพระแท่นบรรทม มีพระราชดำรัสว่าเห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้น ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง ๓ จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด
 พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล)
 กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
 เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ที่สมุหพระกลาโหม
 เจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก ท่านทั้ง ๓ ได้ฟังก็พากันร้องไห้สะอึกสะอื้นด้วยอาลัย จึงดำรัสห้ามว่า อย่าร้องไห้ ความตายไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ย่อมมีย่อมเป็นเหมือนกันทุกรูปทุกนาม ผิดกันไปที่ตายก่อนและตายทีหลัง แต่ก็อยู่ในต้องตายเหมือนกันทั้งสิ้น บัดนี้เมื่อกาละมาถึงพระองค์เข้าแล้ว จึงได้ลาท่านทั้งหลาย แล้วมีพระราชดำรัสต่อไปว่า พระราชประสงค์จะตรัสสั่งด้วยราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสมาทานเบญจศีลเสียก่อน ครั้นทรงสมาทานศีลแล้วตรัสภาษาอังกฤษหลายองค์ แล้วจึงมีพระราชดำรัสว่า ที่พูดภาอังกฤษนี้เพื่อจะให้ท่านทั้งหลาย เห็นว่าสติสัมปชัญญะยังปกติดีอยู่ ท่านทั้งปวงจะได้สำคัญในข้อความที่จะสั่งว่ามิได้สั่งโดยฟั่นเฟือน
เมื่อตรัสประภาษดังนี้แล้ว จึงมีพระราชดำรัสต่อไปว่า ท่านทั้ง ๓ กับพระองค์ได้ช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินมาได้อยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา จนถึงเวลาสิ้นพระชนมายุ ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้ว ขอให้ท่านทั้งปวงจงอยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ให้เอาเป็นธุระรับฎีการาษฎรอันมีทุกข์ร้อน ให้ร้องได้โดยสะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน อนึ่งผู้ซึ่งจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบพระบรมราชวงศ์ไปภายหน้านั้น ให้ปรึกษากันเลือกดูแต่สมควร จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ตาม พระเจ้าลูกยาเธอ หรือพระเจ้าหลานเธอก็ตาม เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า พระองค์ใดมีปรีชาสามารถควรจะรักษาแผ่นดินได้ ก็จงยกพระองค์นั้นขึ้น จะได้ทำนุบำรุงแผ่นดิน ให้พระราชวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และอาณาประชาราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขต่อไป อย่าได้หันเหียนเอาโดยเห็นว่าจะชอบพระราชหฤทัยเป็นประมาณเลย เอาแต่ความดีความเจริญของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด มีพระราชดำรัสสั่งดังนี้แล้ว ก็มิได้ตรัสสั่งถึงราชการแผ่นดินอีกต่อไป
เวลาเย็นวันนั้นมีรับสั่งให้พระศรีสุนทรโวหารเขียนพระราชดำรัสทรงขมาและลาพระสงฆ์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เป็นภาษามคธ แล้วให้พระศรีสุนทรโวหารเชิญไปพร้อมด้วยเครื่องสักการ ไปอ่านในที่ประชุมพระสงฆ์ มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เป็นประธาน ที่ในพระวิหารหลวงวัดราชประดิษฐ์ เมื่อเวลาค่ำก่อนพระสงฆ์ทำพิธีปวารณา พอถึงเวลา ๙ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ
จดหมายเหตุทรงประชวร ยังมีความข้ออื่นอีกปรากฏอยู่ในท้ายพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ คัดเนื้อความมากล่าวไว้ในที่นี้ เฉพาะแต่ข้อความอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๕
Create Date : 13 ตุลาคม 2550 |
Last Update : 13 ตุลาคม 2550 8:56:45 น. |
|
9 comments
|
Counter : 9814 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:10:25:39 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:10:54:25 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:10:56:05 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:11:12:11 น. |
|
โดย: รักดี วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:11:35:06 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:12:38:45 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 ตุลาคม 2550 เวลา:13:05:27 น. |
|
โดย: Bigmommy วันที่: 1 พฤศจิกายน 2550 เวลา:4:37:15 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 12 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:44:41 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|
(ต่อ)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าพระศรีสุริยวงศ์ก็สั่งให้เจ้าพนักงานล้อมวงรักษาพระราชมณเฑียรทั้งข้างหน้าข้างใน แล้วสั่งให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมรวม ๒๕ รูป มีกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เป็นหัวหน้ามานั่งเป็นประธานในที่ประชุมพระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ ซึ่งประชุมกันอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม
พระราชวงศานุวงศ์ซึ่งประทับอยู่ในที่ประชุมเวลานั้น พระเจ้าน้องยาเธอ ๗ พระองค์ คือ ๑. กรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ ๒. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ๓. กรมหมื่นถาวรวรยศ ๔. กรมหมื่นวรศักดาพิศาล ๕. กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ ๖. กรมขุนวรจักรธรานุภาพ ๗. สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ พระราชวรวงศ์เธอ ๖ พระองค์(๑๒) คือ ๑. กรมหมื่นภูมินทรภักดี ๒. กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ ๓. กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย ๔. กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล ๕. กรมหมื่นอักษรสารโสภณ ๖. กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระเจ้าบวรวงศ์เธอ ๓ พระองค์ คือ ๑. กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ๒. กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ ๓. กรมหมื่นสิทธสุขุมการ นอกจากนี้พระเจ้าลูกเธอที่เป็นชั้นใหญ่ที่ทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๗ พระองค์ คือ ๑. พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร ๒. พระองค์เจ้าคัคนางค์ยุคล ๓. พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์ ๔. พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ๕. พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ๖. พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์ ๗. พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์ เจ้านายทั้งปวงนี้ เวลาประชุมประทับทางด้านตะวันตก แต่ตรงหน้าพระแท่นเศวตฉัตรเรียงไปข้างด้านเหนือ
กรมหลวงเทเวศวัชรินทร์
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท
กรมหมื่นวรศักดาพิศาล
กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์
กรมขุนวรจักรธรานุภาพ
สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์
กรมหมื่นภูมินทรภักดี
กรมหมื่นอดุลยลักษณสมบัติ
กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย
กรมหมื่นภูวนัยนฤเบนทราธิบาล
กรมหมื่นอักษรสารโสภณ
กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์
กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์
กรมหมื่นสิทธสุขุมการ
พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร
พระองค์เจ้าคัคนางค์ยุคล
พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์
พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ
พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่
พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์
พระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์
ข้างด้านเหนือพระสงฆ์นั่ง กรมหมื่นบวรรังษีฯประทับเป็นประธานอยู่ข้างหน้า ส่วนพระสงฆ์ที่มานั่งในที่ประชุมนั้น มีพระราชาคณะ ๒ รูป คือ พระสาสนโสภณ(สา) วัดราชประดิษฐ์ ๑ พระอมรโมลี(นพ) วัดบุพผาราม ๑ นอกนั้นเป็นฐานานุกรมและเปรียญ ล้วนคณะธรรมยุติกา ที่มาประชุมฟังพระอาการอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ทุกๆวัน(๑๓) สังฆการีไปนิมนต์จึงได้มาพร้อมกันโดยเร็ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์สั่งให้นิมนต์พระราชาคณะฝ่ายมหานิกายด้วย แต่มาไม่ทันประชุม
พระสาสนโสภณ(สา) วัดราชประดิษฐ์
ส่วนขุนนางนั้นนั่งทางด้านตะวันตก จางวางมหาดเล็กอยู่ทางด้านใต้ ขุนนางผู้ใหญ่ที่เข้าประชุมในเวลานั้น ข้าราชการฝ่ายพระบรมมหาราชวัง คือ ๑. เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ๒. เจ้าพระยาภูธราภัย(นุช บุณยรัตพันธ์) ที่สมุหนายก ๓. พระยามหาอำมาตย์(ลมั่ง สนธิรัตน) ๔. พระยาราชภักดี(ช้าง เทพหัสดินทร ณ อยุธยา) ๕. พระยาศรีพิพัฒน์(แพ บุนนาค) ๖. พระยาเพ็ชรพิชัย(หนู เกตุทัต) ๗. พระยาสีหราชเดโช(พิณ) ๘. พระยาสีหราชฤทธิไกร(บัว) ๙. พระยาราชวรานุกูล(บุญรอด กัลยาณมิตร) ๑๐. พระยาเทพประชุม(ท้วม บุนนาค) (๑๔) ๑๑. พระยาอภัยรณฤทธิ์(เฉย ยมาภัย) ๑๒. พระยาอนุชิตชาญชัย(อุ่น) ๑๓. พระยาสุรวงศวัยวัฒน์(วร บุนนาค) ๑๔. พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ(เพ็ง เพ็ญกุล) ๑๕. พระยาศรีเสาวราช(ภู่) ข้าราชการผู้ใหญ่ฝ่ายพระบวรราชวัง ๑๖. เจ้าพระยามุขมนตรี(เกต สิงหเสนี) ๑๗. พระยามณเฑียรบาล(บัว) ๑๘. พระยาเสนาภูเบศ(กรับ บุณยรัตพันธ์) ๑๙. พระยาศิริไอศวรรย์ ๒๐. พระยาสุรินทราชเสนี(ชื่น กัลยาญมิตร) (๑๕) นอกจากขุนนางผู้ใหญ่ ยังมีเจ้ากรมปลัดกรมตำรวจขัดกระบี่นั่งประจำอยู่ข้างหลังเสนาบดี ข้างมุขตะวันออกอีกหลายคน แต่ไม่ได้มีหน้าที่ในการประชุม
เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม
เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธ์) ที่สมุหนายก
พระยามหาอำมาตย์ (ลมั่ง สนธิรัตน)
พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)
พระยาเพ็ชรพิชัย (หนู เกตุทัต)
พระยาสีหราชฤทธิไกร (บัว) - ด้านขวา
พระยาราชวรานุกูล (บุญรอด กัลยาณมิตร)
พระยาเทพประชุม (ท้วม บุนนาค)
พระยาอภัยรณฤทธิ์ (เฉย ยมาภัย)
พระยาสุรวงศวัยวัฒน์(วร บุนนาค)
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (เพ็ง เพ็ญกุล)