กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ศึกพม่าที่นครลำปางและป่าซาง

สงครามครั้งที่ ๓
คราวพม่าตีเมืองนครลำปางและเมืองป่าซาง
ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐


เรื่องสงครามนี้ เนื้อความในหนังสือพระราชพงศาวดารกับพงศาวดารพม่าแตกต่างกันตอนปลาย แต่ข้างตอนต้นยุติต้องกันว่า ตั้งแต่พม่ายกกองทัพใหญ่เข้ามาแตกพ่ายไปจากเมืองไทยสองคราวติดๆกัน พระเจ้าปดุงก็เข็ดขยาดฝีมือไทยไม่ยกมารบอีก

แต่เมื่อกิตติศัพท์เลื่องลือแพร่หลายไปว่า ไทยมีชัยชนะพระเจ้าปดุง พวกหัวเมืองประเทศราชลื้อเขินซึ่งเป็นเมืองขึ้นพม่าอยู่ข้างเหนือ มีเมืองเชียงรุ้งและเมืองเชียงตุงเป็นต้น ก็กันกระด้างกระเดื่องขึ้น พระเจ้าปดุงเกรงหัวเมืองลื้อเขินจะมาเข้ากับไทยไปเสียหมด จึงให้กองทัพใหญ่ยกมาปราบปรามหัวเมืองที่กระด้างกระเดื่อง เมื่อปีมะเเม พ.ศ. ๒๓๓๐

กองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้ ในพงศาวดารพม่าว่าพระเจ้าปดุงให้หวุ่นยีมหาชัยสุระเป็นแม่ทัพ ถือพล ๔๕,๐๐๐ ยกลงมาทางหัวเมืองไทยใหญ่ ครั้นถึงเมืองนาย หวุ่นยีมมหาชัยสุระจึงแงกองทัพออกเป็นหลายกอง ให้แยกกันไปเที่ยวปราบปรามหัวเมืองลื้อเขินที่กระด้างกระเดื่อง และให้จอข่องนรทาคุมพลกองหนึ่งมีจำนวน ๕,๐๐๐ ยกลงมามปราบปรามหัวเมืองในแว่นแค้นลานนา

ในหนังสือพระราชพงศาวดารจึงกล่าวถึงแต่จึงกล่าวถึงแต่เฉพาะกองทัพจอข่องนรทานี้ ว่ายกลงมาตีเมืองฝาง ซึ่งอยู่ตอนลุ่มแม่น้ำโขง ข้างเหนือเมืองเชียงใหม่ ครั้นได้เมืองฝางแล้วก็ตั้งกองทัพทำนาหาเสบียงอาหารอยู่ที่นั่น กำหนดว่าจะลงมาตีเมืองนครลำปางต่อฤดูแล้ง

ในเวลานั้นเมืองเชียงใหม่ร้างอยู่ โปมะยุง่วนพม่าซึ่งเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่อยู่แต่ก่อนนั้น หลบหนีไทยไปอยู่เมืองเชียงแสนเดิมมีกำลังประมาณ ๓,๐๐๐ แต่ไพร่พลล้มตายหลบหนีไปเสียมาก เหลืออยู่ไม่ถึงพัน ก็ได้แต่รักษาเมืองเชียงแสนอยู่ ไม่กล้ากลับเข้ามาตั้งที่เมืองเชียงใหม่ และเมื่อจอข่องนรทามาตีเมืองฝางนั้น สั่งให้โปมะยุง่วนคุมกองทัพพม่าที่รักษาเมืองเชียงแสนไปสมทบด้วย โปมะยุง่วนรวบรวมกำลังได้ไปแต่ ๕๐๐ คน ด้วยไพร่พลรอยหรอเสียมากดังกล่าวมาแล้ว จะเป็นเพราะจอข่องนรทาแบ่งเอาคนไว้เสียบ้าง หรือจะไปล้มตายหายจากอีกอย่างใดอย่างหนึ่ง ครั้นพม่าได้เมืองฝางแล้ว โปมะยุง่วนกลับมาเมืองเชียงแสนมีจำนวนไพร่พลพม่าเหลือเป็นกำลังรักษาเมืองลดน้อยลงไปอีก

ขณะนั้นเจ้าเมืองในแว่นแค้นลานนาซึ่งต้องอยู่ในอำนาจพม่าด้วยจำใจ เห็นได้ท่วงที พระยาแพร่ชื่อมังชัยกับพระยายอง จึงรวบรวมพลเมืองเข้าเป็นกองทัพยกไปตีเมืองเชียงแสน โปมะยุง่วนสู้ไม่ได้หนีเข้ามาหมายจะอาศัยเมืองเชียงราย พระยาเชียงรายนั้นก็ไม่พอใจจะอยู่ในอำนาจพม่าเหมือนกัน จึงจับตัวโปมะยุง่วนส่งให้พระยาแพร่มังชัย พระยาแพร่มังชัยกับพระยายองก็คุมตัวโปมะยุง่วนเข้ามาให้พระยากาวิละ ณ เมืองนครลำปาง พระยากาวิละจึงบอกส่งลงมากรุงเทพฯ ทั้งพระยาแพร่มังชัยพระยายองและโปมะยุง่วนนายทัพพม่า โปรดให้ซักถามคำให้การโปมะยุง่วน โปมะยุง่วนให้การว่ากองทัพพม่าจะมาตีเมืองนครลำปางในฤดูแล้ง และจะมาตั้งรักษาเมืองเชียงใหม่ต่อไป(๑)

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงทราบความคิดพม่า ที่จะกลับมาปกครองแว่นแคว้นลานนา อย่างเมื่อครั้งกรุงเก่า ทรงพระราชดำริ ที่พม่ามาตีเมืองไทยได้แต่ก่อนก็ด้วยอาศัยเสบียงและพาหนะในแว่นแคว้นลานนาเป็นกำลังทุกคราว จะปล่อยให้พม่ามาตั้งอยู่เมืองเชียงใหม่ไม่ได้

จึงโปรดให้พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง แบ่งครอบครัวพลเมืองจากนครลำปางขึ้นไปตั้งเมืองเชียงใหม่ ส่วนที่เมืองนครลำปางให้นายคำโสมน้องชายพระยากาวิละเป็นเจ้าเมือง แต่เมืองลำพูนนั้นต้องทิ้งให้ร้างอยู่ ด้วยผู้คนยังไม่พอจะให้กลับไปตั้งเมืองได้ พระยากาวิละขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ผู้คนที่มีไปเป็นกำลังยังน้อยนัก จึงตั้งอยู่ที่เมืองป่าซาง ซึ่งเป็นเมืองเดิมอยู่ใต้เมืองเชียงใหม่ลงมา(๒)

ในปีมะแม พ.ศ. ๒๓๓๐ นั้น โปรดให้กองทัพเมืองสวรรคโลกและเมืองกำแพงเพชร ยกขึ้นไปช่วยพระยากาวิละรักษาเมืองป่าซาง แต่ผู้ใดจะเป็นแม่ทัพขึ้นไปหาปรากฏไม่ ครั้นถึงฤดูแล้งหวุ่นยีมหาชัยสุระแม่ทัพพม่าทางเหนือ ยกกองทัพลงมาจากเมืองเชียงตุงตีได้เมืองเชียงแสนเชียงราย แล้วสมทบกับกองทัพจอข่องนรทาที่ตั้งอยู่ ณ เมืองฝาง ยกลงทางเมืองพะเยามาตีเมืองนครลำปาง

ในขณะนั้นพระเจ้าปดุงให้กองทัพพม่าอีกทัพหนึ่งเลตะละสีหะสิงครันเป็นแม่ทัพ มีจำนวนพล ๓๕,๐๐๐ ยกมาจากเมืองเมาะตะมะทางท่าตาฝั่งแขวงเมืองยวม ตรงมาตีเมืองป่าซางด้วยพร้อมกัน พระยากาวิละกับกองทัพเมืองกำแพงเพชรเมืองสวรรคโลกยกออกตีกองทัพพม่า พม่าไม่แตกไปจึงตั้งมั่นรักษาเมืองไว้

ฝ่ายกองทัพหวุ่นยีมหาชัยสุระซึ่งยกมาจากทางเหนือ มาถึงเมืองนครลำปางก็เข้าตี พระยานครลำปางคำโสมต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่ายกเข้าปล้นเมืองป่าซางและเมืองนครลำปางหลายครั้งก็ไม่ได้เมือง จึงตั้งค่ายล้อมไว้ทั้ง ๒ แห่ง หวังจะตัดเสบียงอาหารให้คนในเมืองอดอยาดระส่ำวะสายเสียก่อน จึงจะยกเข้าหักเอาเมืองต่อภายหลัง

ในขณะนั้นที่กรุงเทพมหานคร กำลังเตรียมกองทัพหลวงจะเสด็จไปตีเมืองทวาย ดังจะปรากฏเรื่องราวต่อไปในตอนข้างหน้า ครั้นได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองป่าซางอีกทัพหนึ่ง และกองทัพพม่าที่ยกลงมาตีเมืองนครลำปาง ก็เป็นทัพใหญ่ยิ่งกว่าที่มาตีเมืองฝาง ดังได้ทรงทราบข่าวอยู่แต่ก่อน จึงโปรดให้กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกกองทัพหลวง มีจำนวนพล ๖๐,๐๐๐ ขึ้นไปช่วยเมืองนครลำปางและเมืองป่าซาง

กองทัพกรมพระราชวังบวรฯเสด็จขึ้นไปถึงเมืองนครลำปางเมื่อเดือน ๔ ในพงศาวดารพม่าว่าพอไทยยกกองทัพขึ้นไปถึงก็เข้าตั้งค่ายโอบพม่าที่ตั้งล้อมเมือง และให้กองทัพไปสกัดทางมิให้แม่ทัพใหญ่ส่งกำลังมาช่วยกองทัพที่ล้อมเมืองได้ แล้วให้สัญญากับพวกในเมืองนครลำปางพร้อมกันระดมตีค่ายพม่า รบกันอยู่ ๓ คืนกับ ๔ วัน ถึงเดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ กองทัพพม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกหนีกลับไปเมืองเชียงแสน

ครั้นไทยมีชัยชนะพม่าที่เมืองนครลำปางแล้ว ก็ยกขึ้นไปยังเมืองป่าซาง เข้าตีกองทัพพม่าที่มาตั้งล้อมเมืองอยู่ ฝ่ายพระยากาวิละเห็นกองทัพไทยยกขึ้นไปช่วย ก็ยกออกตีพม่าจากในเมืองอีกทางหนึ่ง กองทัพพม่าที่มาล้อมเมืองป่าซางนั้นก็แตกหนีกลับไปเหมือนกัน ครั้นเสร็จการสงคราม กรมพระราชวังบวรฯเสด็จกลับ จึงโปรดให้เชิญพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า "พระพุทธสิหิงค์" ลงมากรุงเทพฯด้วยในคราวนี้(๓)

พระพุทธสิหงค์นี้เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีเรื่องตำนานแต่งไว้แต่โยราณ ว่าเดิมพระมหากษัตริย์ครองสิงหฬทวีปองค์หนึ่งให้หล่อขึ้นไว้ พระเจ้านครศรีธรรมราชให้ไปขอมาถวายสมเด็จพระร่วงรามคำแหงพระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงสักการบูชา พระพุทธสิหิงค์อยู่ที่พระนครสุโขทัยหลายชั่วกษัตริย์ จนสมเด็จพระบรมราชาธิราชพระองค์ที่ ๑ ณ กรุงศรีอยุธยาได้แว่นแคว้นสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา แล้วพระยาญาณดิศเจ้าเมืองกำแพงเพชรทูลขอไปไว้ได้หน่อยหนึ่ง พระยามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกกองทัพลงมาตีเมืองกำพงเพชร พระยาญาณดิศสู้ไม่ได้ยอมเป็นไมตรี พระยามหาพรหมจึงขอพระพุทธสิหิงค์ไปไว้ ณ เมืองเชียงรายกับพระแก้วมรกตด้วยกัน

อยู่มาพระยามหาพรหมเกิดวิวาทกับพระเจ้าเชียงใหม่แสนเมืองมาผู้เป็นหลาน พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพไปตีได้เมืองเชียงราย จึงให้เชิญพระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์มาเมืองเชียงใหม่ ต่อมาพระชัยเชษฐาเชิญพระแก้วไปไว้กรุงศรีสัตนาคณหุต แต่พระพุทธสิหิงค์ยังคงอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ จนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมากรุงศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีสรรเพชญตลอดเวลา ๑๐๕ ปี ครั้นพม่าตีกรุงเก่าได้ เวลานั้นพวกชาวเชียงใหม่ยังขึ้นอยู่กับพม่า จึงเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับขึ้นไปเมืองเชียงใหม่

กรมพระราชวังบวรฯทรงพระราชดำริว่าพระพุทธสิงห์เป็นพระพุทธรูปสำคัญ เคยอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาช้านาน จึงโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพฯ แล้วทูลขอไว้ในพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงสร้างพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ถวายเป็นพุทธบูชา พระพุทธสิหิงค์อยู่ในพระราชวังบวรฯ จนกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตั้งที่ฐานชุกชีข้างด้านใต้(๔) อยู่ที่นั่นตลอดรัชกาลที่ ๑ และต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓

จนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาสทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเชิญกลับไปไว้ในพระราชวังบวรฯ พระพุทธสิหิงค์จึงประดิษฐานอยู่ที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์มาจนตราบเท่าทุกวันนี้


....................................................................................................................................................

(๑) คำให้การของโปมะยุง่วนเป็นเรื่องพงศาวดารพม่า มีอีกฉบับหนึ่งเรียกว่าคำให้การมะยิหวุ่น หรือคำให้การชาวอังวะ หอพระสมุดฯได้พิมพ์แล้ว

(๒) ความต่อไปนี้ หนังสือพระราชพงศาวดารแตกต่างกับพงศาวดารพม่าเป็นข้อสำคัญ ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า กรมพระราชวังบวรฯเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองนครลำปาง พม่าไม่ยกลงมา จึงทรงจัดตั้งเมืองเชียงใหม่แล้วเสด็จยกกองทัพกลับลงมา หาได้รบกับพม่าในคราวนี้ไม่ แต่พงศาวดารพม่ายุติต้องกับหนังสือพงศาวดารโยนก(หน้า ๓๖๖)ว่า ได้รบพุ่งกันมาก พอเคราะห์ดูรายการที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารดูมีหลักฐาน ข้าพเจ้าจึงลงความตอนต่อไปนี้ตามพงศาวดารพม่าและตำนานโยนกประกอบกัน

(๓) ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เชิญมาเมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๓๘ นั้นผิดไป

(๔) แต่เดิมเข้าใจว่า ตั้งบนฐานชุกชีด้านหน้าตรงที่ตั้งพระสัมพุทธพรรณีบัดนี้ เพิ่งพบจดหมายเหตุปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในรัชกาลที่ ๓ จึงทราบว่าพระพุทธสิหิงค์ตั้งอยู่ด้านใต้



Create Date : 16 มีนาคม 2550
Last Update : 16 มีนาคม 2550 14:40:10 น. 0 comments
Counter : 2493 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com