กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช





....................................................................................................................................................


อธิบายเรื่องในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ในท้ายพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



สอบศักราช

ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๔๐ พ.ศ. ๒๑๒๑ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี สวรรคตเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ พ.ศ. ๒๑๓๖

ฉบับหลวงประเสริฐว่า เสวยราชย์เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ ครองราชสมบัติอยู่ ๑๕ ปี สวรรคตปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๖๗ พ.ศ. ๒๑๔๘ ศักราชในฉบับหลวงประเสริฐช้ากว่าพระราชหัตถเลขาตรงรอบ ๑ ทุกข้อ


ประวัติสมเด็จพระนเรศวร

สมเด็จพระนเรศวรสมภพ (คำนวนศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐ) เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๙๑๗ พ.ศ. ๒๐๙๘ ผ่านพิภพเมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ พระชันษาได้ ๓๕ ปี

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรมีลูกเธอพระองค์ ๑ ได้เป็นพระมหาธรรมราชา ประวัติพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระนเรศวรพระองค์นี้ เป็นที่สงสัยกันในผู้ศึกษาโบราณคดีมาแต่ก่อน ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวถึงในที่แห่งเดียวว่า ได้เป็นแม่ทัพออกไปปราบจลาจลเมืองเขมร แล้วก็นิ่งเงียบสูญพระนามแต่นั้นมา

ข้าพเจ้ามาพบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เมื่อกล่าวถึงเรื่องแต่งกองทัพออกไปปราบจลาจลเมืองเขมรครั้งนั้นว่า "ให้พระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จ" ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐไม่ได้ออกพระนามถึงสมเด็จพระเอกาทศรถในที่อื่นเลยสักแห่งเดียว เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าพระเจ้าฝ่ายหน้าในหนังสือนั้น น่าจะต้องเข้าใจว่า หมายความว่าสมเด็จพระเอกาทศรถ ล้างหลักฐานที่จะวินิจฉัยถึงประวัติพระมหาธรรมราชา ที่ว่าเป็นราชโอรสของสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรเห็นจะไม่มีราชโอรสธิดาทีเดียว การสืบสันตติวงศ์จึงลงทางสมเด็จพระเอกาทศรถ โดยไม่ปรากฏเหตุการณ์เกี่ยวข้องถึงพระเจ้าลูกเธอของสมเด็จพระนเรศวรอย่างหนึ่งอย่างใด

มีเนื้อความปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัด ว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรยังทรงพระเยาว์อยู่ ต้องออกไปเป็นตัวจำนำอยู่เมืองหงสาวดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดี (บุเรงนอง) ชนะศึกคราวขอช้าง ความข้อนี้ไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับอื่น แต่มีเหตุหลายอย่างซึ่งควรเชื่อว่า สมเด็จพระนเรศวรได้เคยออกไปอยู่เมืองหงสาวดี จนได้ทรงทราบภาษาและคุ้นเคยนิสัยใจคอของพม่ารามัญ เห็นจะได้กลับเข้ามาอยู่เมืองไทย เมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้ผ่านพิภพ โดยพระเจ้าหงสาวดีได้พระพี่นางของสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นพระมเหสี เสมอไปเป็นตัวจำนำแทนอยู่แล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงได้ขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระชันษา ๑๖ ปี

สมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่มีพระชันษาทรงบัญชาการได้ ก็ตั้งต้นการสงครามกู้อิสรภาพเมืองไทย และรบพุ่งขยายพระราชอาณาจักร นับว่าได้ทรงทำแต่การทหารอย่างเดียว จนสวรรคตที่เมืองหาง เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเมืองห้างหลวง อยู่ริมน้ำสลวินข้างเหนือเมืองเชียงใหม่ เมื่อเสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองอังวะ สวรรคตเมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง จุลศักราช (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ๙๖๗ พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชันษาได้ ๕๐ เสด็จอยู่ในราชสมบัติ ๑๕ พรรษา


เรื่องพระมหาอุปราช

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ผ่านพิภพแล้ว ดำรัสให้สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราช ในที่นี้ควรจะอธิบายเรื่องตำแหน่งพระมหาอุปราชสักหน่อบย ด้วยตำแหน่งพระมหาอุปราชที่ปรากฏมาในพระราชพงศาวดาร ต่างกันและผิดกันมาโดยลำดับตามเหตุการณ์ น่าจะสังเกตอยู่บ้าง

คำที่เรียกว่า อุปราช หรือ ยุวราช ตามตำราที่มาจากมัธยมประเทศ จะมาโดยทางข้างพระพุทธศาสนาก็ตาม หรือในข้างทางไสยศาสตร์ก็ตาม ยุติต้องกันว่า เป็นผู้ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินอภิเษกไว้รับรัชทายาท เพราะฉะนั้นโดยปกติย่อมเป็นสมเด็จพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ในกฎมนเทียรบาลซึ่งตั้งขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ บัญญัติเรื่องอุปราชนี้แปลกอยู่

กฎมนเทียรบาลที่พิมพ์ในบ่นแผนกว่า ตั้งเมื่อปีชวด จุลศักราช ๗๒๐ คือ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นผิด จุลศักราช ๗๒๐ นั้นเป็นปีจอ มิใช่ปีชวด ที่จริงควรจะเป็นปีชวด จุลศักราช ๗๘๐ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งมีพยานเห็นได้ในกฏหมายนั้นเอง ที่กล่าวถึงศักดินา ศักดินาเป็นของที่ตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ยังไม่มี

ในกฎมนเทียรบาลว่า "พระราชกุมารอันเกิดจากพระอัครมเหสี คือ หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า พระราชกุมารเกิดจากแม่ยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช" ดังนี้ ทำให้เข้าใจว่า พระราชกุมารที่จะอภิเษกเป็นรัชทายาทนั้น ถ้าเกิดจากพระอัครมเหสีเรียกหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดจากพระมารดาซึ่งมีบรรดาศักดิ์ชั้นรองลงมา จึงเรียกว่าพระมหาอุปราช และมีเรื่องพระราชพงศาวดารประกอบกฎหมายนี้แห่ง ๑ คือ เมื่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงตั้งพระอาทิตยวงศ์ให้เป็นรัชทายาท เมื่อไปครองพิษณุโลก มีพระนามตามที่เรียกในฉบับหลวงประเสริฐว่า "สมเด็จหน่อพุทธางกูรเจ้า" ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้เรียก "สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร" ที่ถูกข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะเป็นหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า พระบรมราชา คือตั้งให้เป็นหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าตามกฎหมายนี้เอง

แต่การตั้งพระมหาอุปราชในพระราชพงศาวดาร ปรากฏครั้งแรกในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เมื่อทรงตั้งพระราชโอรส ซึ่งฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่าพระเชษฐาคือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ให้เป็นอุปราช แต่คำที่ใช้ในหนังสือพระราชพงศาวดารเห็นจะยุติเอาเป็นแน่ไม่ได้ ว่าองค์ไหนเป็นหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า องค์ไหนเป็นพระมหาอุปราช เพราะเป็นของแล้วแต่ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร จะเขียนลงไปตามความเข้าใจของตน

ในกฎหมายทำเนียบศักดินาพลเรือน ซึ่งตั้งในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเหมือนกัน มีตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ คน ๑ เรียกว่า เจ้าพระยามหาอุปราชชาติวรวงศ์ องค์ภักดีบดินทร์สุรินทรเดโชชัย มไหสุริยศักดิอาญาธิราช ขุนนางตำแหน่งนี้ได้พบในหนังสือเก่าว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังมีตัว แต่มีอำนาจหน้าที่อย่างไรไม่ปรากฏที่อื่น นอกจากในหนังสือของมองสิเออร์ ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกล่าวว่า เจ้าพระยามหาอุปราชเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในเวลาพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไม่อยู่ และมีบรรดาศักดิ์สูงนั่งเฝ้าได้ไม่ต้องหมอบ ได้ความแต่เท่านี้ ตำแหน่งพระมหาอุปราชที่มีทั้งยศเจ้าและขุนนาง ดังปรากฏในกฎหมายเช่นนี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าประเพณีไทยแต่เดิมมา พระราชกุมารที่จะรับรัชทายาท คงจะเป็นพระมหาอุปราชทั้งนั้น บรรดาศักดิ์หน่อสมเด็จพระพุทธเจ้า และเจ้าพระยามหาอุปราชเป็นของที่ตั้งขึ้นทีหลัง แต่จะตั้งขึ้นด้วยเหตุใดข้าพเจ้ายังคิดไม่เห็น

พระมหาอุปราช (จะเรียกหน่อสมเด็จพระพุทธเจ้าก็ตาม หรือเรือพระมหาอุปราชก็ตาม) ผู้ซึ่งได้อภิเษกเป็นรัชทายาทนั้น ในชั้นเดิม คงจะเป็นแต่พระราชโอรส และคงจะมีทุกรัชกาล เว้นเสียแต่ที่มีความขัดข้อง เช่นพระราชโอรสยังทรงวพระเยาว์ไม่ทันตั้งเป็นต้น พิเคราะห์ดูในพระราชพงศาวดาร ตำแหน่งพระมหาอุปราชมีเค้าอยู่อย่างนี้ คือ

๑. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ "มี" สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสเป็นพระมหาอุปราช (ที่ว่า "มี" เพราะไม่ปรากฏว่าได้ตั้ง)
๒. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เจ้าทองลัน ทรงพระเยาว์ยังไม่ทันตั้งเป็นพระมหาอุปราช หรือได้ตกลงกันไว้ ให้สมเด็จพระราเมศวรเป็นอุปราชก็จะเป็นได้
๓. สมเด็จพระราเมศวร มีสมเด็จพระรามราชา ราชโอรสเป็นมหาอุปราช
๔. สมเด็จพระอินทราชาธิราชที่ ๑ มีแต่ลูกพระสนม ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราช เจ้าอ้ายเจ้ายี่แย่งราชสมบัติกัน
๕. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ ตั้งพระราเมศวรราชโอรส คือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นพระมหาอุปราช
๖. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งพระเชษฐาราชบุตร เป็นพระมหาอุปราช แต่ติดสมเด็จพระบรมราชาครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ จึงไม่ได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ๓ ปี
๗. สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ ไม่ได้ตั้งพระมหาอุปราชเพราะราชสมบัติเป็นของพระเชษฐาซึ่งเป็นพระราชอนุชา
๘. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ตั้งหน่อสมเด็จพุทธเจ้าพระบรมราชาเป็นพระมหาอุปราช
๙. สมเด็จพระบรมราชามหาหน่อพุทธางกูร (ที่จริงควรเรียกสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔) พระรัษฎายังทรงพระเยาว์ไม่ทันตั้งเป็นพระมหาอุปราช
๑๐. สมเด็จพระไชยราชาธิราช พระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์ไม่ทันตั้งเป็นพระมหาอุปราช
๑๑. ขุนวรวงศาธิราช พอได้ราชสมบัติก็ตั้งนายจันบ้านมหาโลกผู้น้องเป็นมหาอุปราช จะเป็นมหาอุปราชอย่างเจ้าหรืออย่างขุนนางรู้ไม่ได้ เป็นได้ ๒-๓ วัน ก็ถูกกำจัดทั้งพี่ทั้งน้อง
๑๒. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ตั้งขุนพิเรนทรเทพไปครองเมืองพิษณุโลก เข้าใจว่าตั้งเป็นเจ้าครองเมืองตามแบบซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน ทำนองพระเจ้าประเทศราชมิใช่รัชทายาท เพราะสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีพระราเมศวรและสมเด็จพระมหินทราธิราชเป็นราชโอรสอยู่ถึง ๒ พระองค์ คงปลงพระทัยให้ใน ๒ พระองค์นี้เป็นผู้รับรัชทายาท แต่ไม่ตั้งให้ออกไปครองเมือง เอาไว้ทำราชการในราชธานีทั้ง ๒ พระองค์

ที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเอาพระราเมศวรกับสมเด็จพระมหินทราธิราชไว้ในราชธานี บางทีจะเป็นด้วยเหตุเหล่านี้ คือ ประเพณีที่ตั้งเจ้านายไปครองเมือง แม้เป็นประโยชน์อยู่ในเวลากำลังแผ่พระราชอาณาจักร ก็มีข้อเสียสำคัญที่มักเกิดเหตุยิงราชสมบัติกัน ความจำเป็นที่ต้องมีเจ้าปกครองยังมีแต่เมืองพิษณุโลก ซึ่งเป็นราชธานีฝ่ายเหนือเมืองเดียว จึงตั้งพระมหาธรรมราชาไปครอง โดยยกย่องความชอบและโดยเป็นชาวเมืองพิษณุโลก เข้าพระทัยการงานทางนั้นอยู่ หรืออีกอย่าง ๑ จะไม่สู้ไว้พระทัยพระมหาธรรมราชานัก ไม่อยากจะแยกกำลังในราชธานีไปให้น้อย จึงเอาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอไว้เป็นกำลังในราชธานี แต่ก็คงจะได้ตั้งแต่งให้มีกำลังและพระเกีรยติยศขึ้น ไม่ให้พระราชโอรสที่จะรับรัชทายาทเลวกว่าพระราชบุตรเขยเป็นแน่ สังเกตดูโดยพระนามที่ตั้งให้เป็นพระราเมศวร (เหมือนกับผู้รับรัชทายาทแต่ก่อนมา) พระองค์ ๑ เป็นพระมหินทราพระองค์ ๑ น่าเข้าใจว่า จะยกย่องให้มีเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราช ทำนองทึ่เรียกกันในชั้นหลังว่าพระบัญฑูรใหญ่ พระบัญฑูรน้อย แต่ในครั้งนั้นจะเรียกอย่างไร และให้กำลังวังชาอย่างไรทราบไม่ได้

ข้าพเจ้าเข้าในว่า ประเพณีที่มีเจ้านายที่ทรงศักดิ์สูงสุด ๒ พระองค์อยู่ในราชธานี ที่เขมรเรียกว่า มหาอุปราโยราชและพระมหาอุปราชก็ดี ที่ไทยเราเรียกว่าพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อยก็ดี วังหน้า วังหลังก็ดี น่าจะมีขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเป็นปฐม

มีความกล่าวไว้ในหนังสือพงศาวดารเขมรแห่ง ๑ ว่า "ลุศักราช ๙๔๖ (ตรงรัชกาลของสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ศกวอกนักษัตร แต่พระองค์(นักพระสัฏฐา)ทรงราชย์มาได้ ๙ ปี พระชันษาได้ ๓๒ ปี พระองค์สบพระราชหฤทัยด้วยพระราชบุตรทั้ง ๒ พระองค์ ได้ทรงราชย์เป็นเสด็จ คือกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ พระราชบุตรผู้พี่นั้นปีวอก พระชันษาได้ ๑๑ ปี ได้อภิเษกทรงน้ำสังข์สรงพระเกศ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนามพระบาทสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชรามาธิบดี พระราชบุตรผู้น้อยนั้นปีชวด พระชันษาได้ ๖ ปี อภิเษกทรงน้ำสังข์สรงพระเกศ ทรงพระนารายณ์ ทรงพระขรรค์ ทรงพระนาม พระบาทสมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี พระบาทบรมบพิตรทั้ง ๓ พระองค์ ทรงราชย์" ดังนี้ เขมรชอบเอาอย่างไทยเป็นปรกติเห็นได้ตั้งพระนามพระเจ้ากรุงกัมพูชาตลอดมา ก็เอาอย่างพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา จะถ่ายแบบสมเด็จพระมหาจักรพรรดิตั้งพระราเมศวรกับพระมหินทรไปอภิเษกราชโอรสทั้ง ๒ องค์นั้นบ้างดอกกระมัง ดูเวลาศักราชก็พอต่อกันดี

ครั้งเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ครองราชสมบัติ ก็มีสมเด็จพระราชโอรส ๒ พระองค์ เหมือนกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จึงอภิเษกเป็นสมเด็จพระนเรศวรพระองค์ ๑ เป็นสมเด็จพระเอกาทศรถพระองค์ ๑ เป็นพระมหาอุปราช ทำนองพระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย อย่างที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ทรงตั้งพระราเมศวร และพระมหินทรามาแต่ก่อน

สมเด็จพระเอกาทศรถจะได้มีพระเกียรติยศเป็นพระมหาอุปราชพระองค์น้อย มาแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชแล้ว เมื่อสมเด็จพระนเรศวรผ่านพิภพถ้าคงประเพณีอยู่อย่างแต่ก่อน ก็คงให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นครองเมืองพิษณุโลก เป็นพระเจ้าประเทศราชอย่างสมเด็จพระราชบิดาและพระองค์เองได้ครองมา แต่สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงเลิกประเพณีที่ตั้งเจ้าใหญ่ไปครองเมืองเสียในครั้งนั้น (และมิได้มีต่อมาอีก) ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเอกาทศรถได้เป็นพระบัณฑูรมาด้วยกัน และได้ทำศึกสงครามอย่างเป็นเพื่อนเป็นเพื่อนตายกู้บ้านกู้เมืองมาด้วยกัน จึงดำรัสให้สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชอย่างวิสามัญ มีพระเกียรติยศและใช้พระราชโองการเหมือนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

ในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงสมเด็จพระเอกาทศรถว่า เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตนั้น สมเด็จพระนเรศวรถูกไปอยู่เป็นตัวจำนำที่เมืองหงสาวดี ทางนี้ข้าราชการจึงยกราชสมบัติถวายสมเด็จพระเอกาทศรถ สมเด็จพระเอกาทศรถไม่รับ ว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชยังมีอยู่ จะรักษาราชสมบัติไว้ถวาย ครั้นสมเด็จพระนเรศวรหนีกลับมาได้ สมเด็จพระเอกาทศรถจึงถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระนเรศวร ถ้าเรื่องจริงเป็นอย่างว่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็เป็นเหตุอันสมควรแท้ทีเดียวที่สมเด็จพระนเรศวรจะทรงยกย่องสมเด็จพระเอกาทศรถ อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑

แต่หลักฐานมีมั่นคงว่า เรื่องจริงมิได้เป็นอย่างว่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ความจริงสมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่เมืองไทยตลอดรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช และเมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชสวรรคตได้ทำสงครามกับหงสาวดีหลายครั้งมาแล้ว จะเป็นตัวจำนำอยู่ในเมืองหงสาวดีในเวลานั้นไม่ได้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้นข้อควรสังเกตในพระราชพงศาวดารมีแต่ว่า สมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระมหาอุปราชพระองค์แรกที่เป็นพระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดิน และเป็นพระมหาอุปราชพระองค์เดียวในชั้นกรุงเก่า ที่มีพระเกียรติยศอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดิน


เรื่องศึกพระมหาอุปราชาครั้งแรก

สมเด็จพระนเรศวรผ่านพิภพเดือน ๘ พอเดือน ๑๒ พระเจ้าหงสาวดีก็ให้พระมหาอุปราชายกกองทัพออกจากเมืองหงสาวดี เข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี ศึกพระมหาอุปราชาครั้งนี้ ปรากฏเนื้อเรื่องในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐและพงศาวดารพม่าต้องกัน แต่ไม่มีในหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่มและฉบับนี้

ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีมาตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ พวกหัวเมืองประเทศราชที่ขึ้นหงสาวดีก็พากันกระด้างกระเดื่อง ในที่สุดถึงปีที่ ๓ เจ้าเมืองคังก็ตั้งแข็งเมือง พระเจ้าหงสาวดีปรึกษากับเสนาบดีข้าราชการเห็นพร้อมกันว่า ที่เมืองประเทศราชพากันกระด้างกระเดื่อง เป็นด้วยเหตุที่ปราบกรุงศรีอยุธยาไม่ลง จำจะต้องปราบกรุงศรีอยุธยาเสีย เมืองประเทศราชอื่นจึงจะยำเกรงพระเดชานุภาพของพระเจ้าหงสาวดี เมื่อปรึกษาเห็นพร้อมกันดังนี้ (ทั้งจะได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินใหม่ เข้าใจว่าการในบ้านเมืองไม่ปรกติ เห็นเป็นโอกาส) จึงจัดกองทัพ ๒ กอง ให้พระเจ้าแปรยกไปตีเมืองคังกอง ๑ ให้พระมหาอุปราชายกมาตีกรุงศรีอยุธยากอง ๑ พระมหาอุปราชายกจากเมืองหงสาวดีเมื่อ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ มีจำนวนพล ๒๐๐,๐๐๐ เดินกองทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี

เมื่อ ณ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปต่อสู้ข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรี ทำกลอุบายให้ซุ่มกองทัพหลวงไว้ในป่า แล้วแต่งกองทัพทำเหมือนหนึ่งมีกำลังน้อย ออกไปรบล่อพระมหาอุปราชา พระมหาอุปราชาไม่รู้กลอุบายไล่ถลำเข้ามาในที่ซุ่ม สมเด็จพระนเรศวรยกออกล้อมรบ ตีกองทัพพระมหาอุปราชาแตกยับเยินไป และจับพระยาพุกาม พระยาพสิมได้ พระมหาอุปราชาก็เกือบจะหนีไปไม่พ้น ครั้นแตกกลับออกไปถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคือง ให้ภาตทัณฑ์พระมหาอุปราชา และให้เอาตัวนายทัพนายกองลงพระราชอาญาทั้งหมด ได้ความตามพงศาวดารพม่าดังนี้

ในพงศาวดารฉับหลวงประเสริฐกล่าวย่อๆว่า "ศักราช ๙๕๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๓๓) วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ พระมหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมที่ตำบลจระเข้สามพัน" ดังนี้ ที่ไม่มีในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ เป็นด้วยผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดาร เอาเรื่องศึกคราวนี้ไปเป็นคราวพระเจ้าแปร ที่ว่ายกเข้ามาทีหลังอีกคราว ๑ แต่ในหนังสือพงศาวดารพม่า ไม่ปรากฏเรื่องพระเจ้าแปรยกเข้ามาทำศึกกับไทย เรื่องราวของพระเจ้าแปรมีเป็นอย่างเดียว ดังจะเห็นได้ต่อไปข้างหน้า

การศึกพระมหาอุปราชคราวนี้ ทำนองการรบข้าพเจ้าเข้าใจว่าหนังสือพงศาวดารพม่าแต่งผิด เอารายการคราวชนช้างลงมาเป็นคราวนี้ ที่จริงรายการน่าจะเป็นอย่างข้างปลาย ที่หนังสือพงศาวดารพม่าว่าพระมหาอุปราชายกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช คือเมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกออกไปต่อสู้ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี พระมหาอุปราชาหาที่ชัยภูมิตั้งรับ สมเด็จพระนเรศวรตีปีกขวา และกองทัพหลวงพระมหาอุปราชาซึ่งเป็นกองกลางแตก กองทัพหงสาวดีจึงพ่ายหนีกลับไป


เรื่องศึกพระมหาอุปราชาครั้งที่ ๒ คราวชนช้าง

เรื่องศึกครั้งนี้ หนังสือพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่พระมหาอุปราชาแตกทัพกลับไป พระเจ้าหงสาวดีน้อยพระทัยในการที่ไม่สามารถจะปราบปรามเอากรุงศรีอยุธยาไว้ในอำนาจได้ วันหนึ่งในเดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ พ.ศ. ๒๑๓๕ จึงรับสั่งให้พระมหาอุปราชากับบรรดาพระราชบุตรมาประชุมพร้อมด้วยเสนาข้าราชการ พระเจ้าหงสาวดีตัดพ้อว่า ทั้งเจ้าทั้งขุนนางไม่มีใครทำราชการให้สมกับที่ได้ชุบเลี้ยงให้มียศบรรดาศักดิ์ พากันอ่อนแอเสียหมด จึงทำสงครามไม่ชนะกรุงศรีอยุธยา ถ้าตั้งใจทำราชการให้พรักพร้อมกันแล้ว ทำไมกับพระนเรศวร ไม่เท่าใดก็จะจับได้

มีขุนนางคน ๑ ชื่อพระยาลอ กราบทูลว่า การรบพุ่งกับกรุงศรีอยุธยา ที่จริงไพร่พลกรุงศรีอยุธยาน้อยกว่าพวกหงสาวดีหลายเท่า จะเอาเพียง ๑ ใน ๔ ก็ไม่ถึง แต่พวกไทยกลัวเกรงสมเด็จพระนเรศวรเสียยิ่งกว่าตาย เวลาเข้ารบพุ่งไพร่พลของสมเด็จำพระนเรศวรไม่รู้จักคิดเอาชีวิตรอด ข้าศึกจึงกล้าแข็ง ธรรมดาการสงคราม กำลังไม่อยู่แต่ไพร่พลมากอย่างเดียว ถึงมีคนน้อยถ้าอาจหาญชำนาญศึกก็อาจต่อสู้คนมากได้ ก็จะเอาชัยชนะให้ได้ เห็นว่าควรเลือกสรรเจ้านายในพระราชวงศ์ที่อาจหาญการสงครามหลายๆองค์ เป็นแม่ทัพคุมพลไปช่วยกันทำศึกกับสมเด็จพระนเรศวรจึงจะเอาชัยชนะได้

พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย จึงให้พระมหาอุปราชาองค์ ๑ ลูกเธอที่เป็นพระเจ้าแปรองค์ ๑ นัดจินหน่องราชภาคิไนย ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าตองอูองค์ ๑ คุมกองทัพใหญ่รวมจำนวนพล ๒๔๐,๐๐๐ ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา และสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่ยกกองทัพเมืองเชียงใหม่ลงมาสมทบด้วย กองทัพยกจากเมืองหงสาวดี เมื่อ ณ วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ พ.ศ. ๒๑๓๕ เดินทัพเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓

การรบครั้งนี้หนังสือพงศาวดารพม่าว่า รบกันในชานพระนคร ว่าในวันรบนั้นพระมหาอุปราชายืนช้างอยู่กลาง พระเจ้าแปรยืนช้างอยู่ข้างขวา นัตจินหน่องยืนช้างอยู่ข้างซ้าย ต่อไปข้างขวาเจ้าเมืองจาปโร (เห็นจะเป็นที่ในพระราชพงศาวดารเรียกว่า มังจาชโร พี่เลี้ยง) ขี่ช้างตัว ๑ กำลังติดน้ำมันหน้าหลัง ช้างนั้นดุร้ายต้องเอาผ้าคลุมกระพองปิดตาไว้ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารยกกองทัพมาจากพระนคร พอแลเห็นพระมหาอุปราชา ก็ขับช้างพระที่นั่งตรงเข้าไปที่พระมหาอุปราชายืนช้างอยู่ ขณะนั้นเจ้าเมืองจาปโรจึงเปิดผ้าที่คลุมตาช้างน้ำมัน หวังจะขับเข้าชนช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร ช้างน้ำมันกลับแล่นเข้าแทงเอาช้างพระมหาอุปราชาเจ็บป่วยสาหัส ถึงต้องเอายืนพิงไว้กับต้นไม้ พอข้าศึกยิงปืนมาต้องพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แต่นายท้ายช้างพยุงพระองค์ไว้

สมเด็จพระนเรศวรสำคัญว่าพระมหาอุปราชายังดีอยู่จึงยั้งช้างพระที่นั่ง ในขณะนั้นนัดจินหน่องจึงไสช้างเข้าชนช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวร ช้างสมเด็จพระนเรศวรทานกำลังช้างนัดจินหน่องไม่ได้ สมเด็จพระนเรศวรก็ถอยกลับเข้าพระนคร พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู บิดานัตจินหน่อง (ซึ่งอาสามาด้วยอีกพระองค์ ๑) พากันติดตาม แต่กองทัพไทยเข้าเมืองได้ก่อน เจ้าเมืองตันโบ เจ้าเมืองวินรอ ตามเลยเข้าไป ไทยจับไว้ได้ ข้างฝ่ายพม่าก็จับออกญาจักรีกับออกญาบาต (แปลไม่ออกว่าตำแหน่งใด) ไว้ได้ กองทัพหงสาวดีเมื่อเสียพระมหาอุปราชาแล้ว จึงถอยออกไปตั้งห่างพระนคร นายทัพนายกองปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า พระมหาอุปราชาผู้เป็นจอมพลสิ้นพระชนม์เสียแล้ว ควรจะเลิกทัพกลับไปเมืองหงสาวดี จึงเลิกทัพพาศพพระมหาอุปราชากลับไป ถึงเมืองหงสาวดีในเดือน ๓ ปีนั้น เรื่องสงครามคราวพระมหาอุปราชาชนช้าง หนังสือพงศาวดารพม่าว่าดังกล่าวมานี้

ผิดกับพงศาวดารไทยในข้อสำคัญ คือ ข้อต้นพม่าเข้าใจว่าคราวนั้นรบกันที่ชานพระนคร ผู้แต่งพงศาวดารพม่าจึงผูกเรื่องให้เป็นเข้า ออก หนี ไล่ กันในบริเวณเมือง ที่จริงศึกครั้งนั้นไปรบกันในแขวงเมืองสุพรรณฯ มิใช่ชานพระนครอย่างพม่าเข้าใจ ลักษณะการรบอย่างพม่าว่าจึงเป็นความจริงไม่ได้ อีกประการ ๑ เรื่องทำยุทธหัตถี คือ ที่จอมพลทั้ง ๒ ฝ่ายขี่ช้างเข้าชนกันตัวต่อตัวเอาแพ้ชนะกันในสนามรบ ย่อมถือกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่าเป็นยุทธวิธีอันผู้ชนะมีเกียรติยศอย่างสูงสุดในการสงคราม เพราะเหตุที่ชนะด้วยความกล้าหาญชำนาญยุทธในส่วนตัวของแม่ทัพ ไม่ได้ชนะกันด้วยจำนวนพลหรือกลอุบายอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ไปตีเมืองอังวะ ไปชนช้างมีชันชนะพระเจ้าอังวะ ก็ยกย่องเกียรติยศเลื่องลือกันมาก คราวนี้ข้างฝ่ายหงสาวดีเป็นฝ่ายแพ้ยุทธหัตถี ผู้แต่งพงศาวดารพม่าเห็นจะนึกขวยใจ จึงกล่าวแก้ไปเป็นอย่างอื่น เกณฑ์ให้ช้างพวกเดียวกันแทงกันเอง ให้พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยถูกปืน และที่สุดจนถึงเอาพระคชาธารเข้าพิงต้นไม้ ซึ่งไม่ต้องพิเคราะห์เท่าใด ก็เห็นได้ว่าไม่จริงอย่างนั้น

ฝ่ายข้างไทยได้ชนะยุทธหัตถี (อันเป็นยุทธวิธียากที่จะมีโอกาสได้จริงๆ ไม่ว่าในประเทศใดๆ) ก็ปิติปราโมทย์ ถือเป็นเกียรติยศสำคัญของชาติ จึงจดจำความไว้โดยละเอียดมาแต่แรก ตั้งแต่สวมเด็จพระนเรศวรทรงพระมาลาเบี่ยง ทรงประหารพระมหาอุปราชาด้วยพระแสงของ้าวองค์ที่มีชื่อว่าแสนพลพ่าย ให้เปลี่ยนชื่อช้างต้นพระยาไชยานุภาพที่ทรงชนชนะเป็นเจ้าพระยาปราบหงสา และที่สุดพระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระพระนเรศวรให้สร้างไว้ตรงที่ชนะยุทธหัตถียังมีปรากฏอยู่ ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จดหมายเหตุข้างไทยแม้จะผิดในเรื่องอื่น ในเรื่องชนช้างครั้งนั้นจะผิดไม่ได้เป็นอันขาด

สงครามคราวนี้ ถือว่าเป็นมหาชัยของชาติไทยมาแต่ครั้งกรุงเก่า จดหมายเหตุข้างไทยถูกต้องกันทุกฉบับ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ แม้กล่าวแต่ย่อๆ ยังกล่าวความตรงนี้ชัดเจนดังนี้

"ศักราช ๙๕๔ มะโรงศก วันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ อุปราชายกมาแต่หงสา ครั้นเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาถึงแดนเมืองสุพรรณบุรี แต่ตั้งทัพที่ตำบลตะพังกรุ

วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท เสด็จพยุหยาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามที่ตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน

ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหยาตราโดยทางสถลมารค อนึ่งเมื่อใกล้รุ่ง ขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น เห็นสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จไป

เถิงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบพระมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์ และฝ่าฤกษ์หน่อยหนึ่ง และเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า (ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า) ต้องปืนพระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่อยู่ตกลงถึงแผ่นดิน และเอาใส่คืนเล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชขาดคอช้างตายในที่นั้น และช้างต้นพระยาไชยานุภาพ ซึ่งชนด้วยช้างมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อ เจ้าพระยาปราบหงสา" ดังนี้

หนังสือพงศาวดารมอญ ฉบับที่แปลในรัชกาลที่ ๔ เมื่อปีมะเส็งนพศก พ.ศ. ๒๔๐๐ ความตรงนี้กล่าวว่า

"ฝ่ายพระเจ้ากรุงไทยทั้ง ๒ พี่น้อง ครั้นทรงทราบก็รีบยกกองทัพออกไป จึงพบพระมหาอุปราชา ณ เมืองสุพรรณบุรี ขณะนั้นรามัญกับไทยรบกันเป็นสามารถ พระเจ้ากรุงไทยผู้เป็นพระเชษฐาไสช้างเข้าชนกับพระมหาอุปราช ช้างพระมหาอุปราชเสียทีเบือนไป พระเจ้ากรุงไทยฟันด้วยพระแสงง้าว พระมหาอุปราชาก็ถึงแก่กรรมในที่นั้น"

หนังสือจดหมายเหตุของโปรตุเกส กล่าวความตรงนี้ครึกครื้นมากว่า

"เมื่อพระเจ้าหงสาวดีแพ้ไทยกลับไป มีความน้อยพระทัยเป็นกำลัง แต่ไม่สิ้นมานะ จึงให้จัดกองทัพขึ้นใหม่อีกทัพ ๑ มีจำนวนพล ๑๗๐,๐๐๐ (๐) ให้พระราชโอรสพระองค์ใหญ่เป็นจอมพลยกเข้ามา พระราชโอรสนั้นความที่มีพระทัยว่ามีไพร่พลมาก คาดว่าจะชนะเป็นแน่ถึงตั้งพระองค์เข้ามาว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม"

"เมื่อไทยได้ข่าวข้าศึกยกเข้ามา (มากมายในครั้งนั้น) ก็พากันตื่นตกใจไปทั่ว แต่เสด็จพระองค์ดำมิได้สะทกสะท้าน ไม่สิ้นหวังที่จะตีข้าศึกให้แตกพ่ายไปอีก"

จดหมายเหตุของโปรตุเกส (ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ) กล่าวว่าคนทั้งหลายเรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า "ทีแบลกปรินส์" จึงแปลตรงเป็นภาษาไทยว่า "เสด็จพระองค์ดำ" เรียกสมเด็จพระเอกาทศรถว่า "ทีไวต์ปรินส์" แปลว่า "เสด็จพระองค์ขาว"

จดหมายเหตุโปรตุเกสกล่าวต่อมาว่า "เมื่อพวกไพร่พลไทยเห็นเสด็จพระองค์ดำไม่หวาดหวั่นเช่นนั้น ก็พากันกลับใจ ตั้งหน้าคอยจะต่อสู้ข้าศึกมิได้ครั่นคร้าม ทั้งสองฝ่ายได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ด้วยผลของการศึกครั้งนั้น จะตัดสินเด็ดขาดว่าชาตากรุงสยามจะเป็นอย่างไรต่อไป จอมพลทั้ง ๒ ฝ่ายต่างทรงช้างพระที่นั่งเที่ยวค้นกันจนพบ แล้วขับช้างทรงเข้าชนกันโดยทะนงองอาจ ทั้ง ๒ พระองค์ไม่อาลัยในพระชนม์ชีพเท่ากลัวอายที่จะปราชัยแก่ข้าศึกอันเป็นที่เกลียดชัง และที่สุดเจ้าพม่าปราชัยสิ้นพระชนม์ ในเวลามีอาการเต็มไปด้วยความโกรธและความแค้นเป็นกำลัง เมื่อจอมพลสิ้นพระชนม์แล้ว พวกไพร่พลหงสาวดีก็ตื่นแตกหนี ฝ่ายไทยออกไล่ติดตามไปสักเดือน ๑ เหมือนกับไล่ฝูงสัตว์ป่าฆ่าฟันเสียโดยมิได้มีความกรุณา" จดหมายเหตุโปรตุเกสและพงศาวดารมอญ ก็ยุติต้องกับพงศาวดารไทย ดังนี้

เมื่อเอาเนื้อความทุกฝ่ายมารวบรวมพิเคราะห์ดู เรื่องสงครามคราวสมเด็จพระนเรศวรชนช้างกับพระมหาอุปราชา ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องจะเป็นอย่างนี้ คือ

พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ ตั้งแต่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยากลับไป เห็นจะไปมีโรคภัยทุพลภาพอย่างไรเกิดขึ้น แต่คราวนั้นมาไม่ปรากฏว่าได้เสร็ดไปทำสงครามเองอีกในที่ใดๆ เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ พ.ศ. ๒๑๓๕ จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นที่เมืองหงสาวดี เกี่ยวแก่เรื่องหัวเมืองกระด้างกระเดื่อง ซึ่งเห็นกันว่าเพราะปราบกรุงศรีอยุธยาลงไม่ได้ พระเจ้าหงสาวดีปรารภถึงความทุพลภาพของพระองค์ ซึ่งเป็นเหตุไม่สามารถที่จะยกมาทำศึกสงครามได้เองอีก จึงตัดพ้อเจ้านายและขุนนาง ว่าไม่มีใครตั้งใจปราบปรามข้าศึกศัตรู ให้สมกับที่ชุบเลี้ยง (ความที่พงศาวดารว่านี้ ชอบกลนักหนา ที่มาต้องกับพงศาวดารไทยว่า พระเจ้าหงสาวดีตัดพ้อพระมหาอุปราชาเหมือนกัน) ในขณะนั้นมีขุนนางคน ๑ กราบทูลแนะนำให้เลือกสรรเจ้านายที่กำลังหนุ่มแน่นเข้มเเข็งในการสงครามหลายๆ องค์ ให้คุมกองทัพเข้ามาประชันกันทำศึกกับสมเด็จพระนเรศวร

พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย จึงจัดกองทัพให้พระมหาอุปราชายกเข้ามากับพระเจ้าแปรราชบุตร และนัตจินหน่องราชภาคิไนย ด้วยพระเจ้าแปรเพิ่งจะไปรบชนะเมืองคังมา และนัตจินหน่องก็เป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเข้มแข็งในการสงคราม ที่จริงพระมหาอุปราชาเคยรบแพ้สมเด็จพระนเรศวรมาแล้วหลายคราว เมื่อถูกเกณฑ์ให้มารบประชันครานี้ บางทีจะอ้างเหตุเคราะห์ร้ายหลีกเลี่ยงจริงอย่างว่าในพระราชพงศาวดารได้ แต่พระเจ้าหงสาวดีก็เห็นความจำเป็น เพื่อความั่นคงในการสืบสันตติวงศ์ จะต้องรักษาเกียรติยศของผู้เป็นรัชทายาท จึงให้พระมหาอุปราชาเป็นจอมพลยกเข้ามาในคราวนั้น

กองทัพพระมหาอุปราชายกจากเมืองหงสาวดีในเดือน ๑๒ ปีมะโรงจัตวาศก พ.ศ. ๒๑๓๕ เดินกองทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี

ทางที่พระมหาอุปราชาเดินทัพคราวนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินจากเมืองนครปฐม ไปนมัสการพระเจดีย์ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างไว้ ตรงที่ทำยุทธหัตถีที่ริมหนองสาหร่าย ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี (ซึ่งเพิ่งตรวจค้นพบ) เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๔๖ นี้ ได้พบรอยเนินดินเป็นแนวค่ายเก่าตั้งแต่ตำบลตระพังกรุขึ้นไปหลายค่าย ต่ออกไปทางเมืองกาญจนบุรีก็มีรอยค่ายอีกเป็นอันมาก ทางที่ตรวจตรามีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าพระมหาอุปราชาเดินกองทัพข้ามแดนไทยเข้าทางยอดแม่น้ำกษัตริย์ ซึ่งต่อมาเรียกว่าด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ ลงมาทางเมืองกาญจนบุรีเก่า เข้าปากแพรกที่ตั้งเมืองกาญจนบุรีทุกวันนี้ แล้วเดินทางหนองขาวบ้านทวนมาตระพังกรุ จากตระพังกรุบ่ายขึ้นทิศเหนือ เพื่อจะไปข้ามลำแม่น้ำสุพรรณบุรีข้างเหนือเมือง เมื่อจะเดินตัดไปพระนครศรีอยุธยาทางป่าโมกเมืองอ่างทอง ด้วยในเวลานั้นลำน้ำเมืองสุพรรณบุรีและกรุงศรีอยุธยาข้างตอนใต้ยังลึกข้ามกองทัพยาก ทั้งไทยอาจจะใช้กองทัพเรือต่อสู้ป้องกันได้โดยง่าย ข้าศึกจึงเดินขึ้นหาท่าข้ามลำแม่น้ำในที่น้ำตื้น กองทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามาในคราวก่อนๆ บรรดาที่เข้ามางเมืองกาญจนบุรีก็เห็นจะเดินทางนี้เหมือนกัน

ข้างกรุงศรีอยุธยา เมื่อรู้ทัพพระมหาอุปราชายกเข้ามา ปรึกษาการที่จะต่อสู้ เห็นพร้อมกันว่า วิธีตั้งต่อสู้ข้าศึกที่พระนคร ปล่อยให้ข้าศึกเข้ามาถึงขานพระเมือง เป็นการลำบากเดือดร้อนแก่ราษฎรนัก ถึงจะรบพุ่งมีชัยชนะ บ้านเมืองที่ข้าศึกเข้ามาเหยียบแล้วก็ต้องยับเยิน เห็นว่าฝ่ายไทยได้เคยรบพุ่งมีชัยชนะในหัวเมืองได้ ชำนาญการศึกและรู้ความสามารถของพวกหงสาวดีอยู่แล้ว เห็นพอจะต่อสู้เอาชัยชนะในหัวเมืองได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริเห็นดังนี้ จึงดำรัสสั่งให้เตรียมกองทัพหลวง จะเสด็จยกออกไปต่อสู้ข้าศึกที่เมืองสุพรรณบุรี

ในขณะเมื่อกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาตั้งอยู่ที่ตระพังกรุ ครั้งนั้นยังอยู่ในแขวงเมืองสุพรรณบุรี เพราะเมืองกาญจนบุรียังตั้งอยู่ที่เขาชนไก่ห่างออกไปมาก สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๕๔ พ.ศ. ๒๑๓๕ ไปตั้งที่ตำบลป่าโมก พอจัดทัพบกเสร็จแล้วก็ยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งที่ค่ายหนองสาหร่าย (อยู่ริมลำน้ำบ้านคอย แขวงเมืองสุพรรณบุรี) เห็นจะเสด็จถึงหนองสาหร่ายราววันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ เวลานั้นพระมหาอุปราชาเห็นจะเข้ามาตั้งอยู่ที่ค่ายบ้านโข้ง ห่างหนองสาหร่ายทางประมาณ ๖๐๐ เส้น มีรอยค่ายกองทัพหน้าอยู่ที่ดอนระฆัง เหนือบ้านโข้งทางราว ๓๐๐ เส้น

สมเด็จพระนเรศวรทรงแต่งให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ กับพระยาราชฤทธานนท์ออกไปสอดแนม ทรงทราบกระบวนของข้าศึกที่ยกมาแล้ว จึงทรงกะกระบวนที่จะยกเข้ารบข้าศึก หนังสือพระราชพงศาวดารว่า จัดเป็นกระบวนเบญจเสนา คือ จัด เป็น ๕ กองทัพ กองทัพที่ ๑ ทัพหน้า พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นนายทัพ พระยาพิชัยชาญฤทธิเป็นปีกขวา พระยาวิชิตณรงค์เป็นปีกซ้าย กองทัพที่ ๒ พระยาเทพอรชุนเกียกกายเป็นนายทัพ พระยาพิชัยสงครามเป็นปีกขวา พระยารามคำแหงเป็นปีกซ้าย กองทัพที่ ๓ ทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรเป็นจอมพล เสด็จกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าพระยามหาเสนาเป็นปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเป็นปีกซ้าย กองทัพที่ ๔ พระยาพระคลังยกกระบัตรเป็นนายทัพ พระราชสงครามเป็นปีกขวา พระรามรณภพเป็นปีกซ้าย กองทัพที่ ๕ พระยาท้ายน้ำเป็นนายทัพ หลวงหฤทัยเป็นปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกซ้าย

ณ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้า พอกองหน้ายกล่วงหน้าไปไม่ห่างทัพหลวงเท่าไร ก็ปะทะกองทัพข้าศึกที่ยกมา กองหน้าไทยกำลังไม่พอต้ายนทานข้าศึก ต้องรบพลางถอยพลาง ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จอยู่ที่หนองสาหร่ายกำลังเตรียมจะยก ได้รับรายงานทรงทราบกระบวนทัพของข้าศึกที่ยกมาในเช้าวันนั้น ทรงพระราชดำริเห็นว่าจะส่งกำลังไปหนุนกองทัพหน้าซึ่งข้าศึกกำลังตีถอยลงมาจะรับไม่อยู่ จึงสั่งให้กองหน้าถอยล่อข้าศึกที่ติดตาม ให้หลงว่ากองทัพไทยแตกเสียกระบวน ส่วนกองทัพหลวงตั้งซุ่มไว้จนข้าศึกไล่ถลำเข้ามาจึงยกตีโอบข้าศึก ได้รบกันตั้งแต่เวลา ๕ โมงเช้าถึงตะลุมบอน พอข้าศึกแตกพ่าย ช้างพระที่นั่งก็เรียกมันลุยไล่ข้าศึกเข้าไปจนถึงกองหลวง จึงพบพระมหาอุปราชาได้ชนช้างกัน ดังกล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงศาวดาร

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ช้างพระที่นั่งเรียกมันลุยไล่ข้าศึกเข้าไปนั้น ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่อย่างม้าพาห้อ วิสัยช้างโดยปรกติผู้ขี่ต้องขับให้ถึงขนาด จึงจะเข้ารบไล่ข้าศึก แต่วันนั้นช้างพระที่นั่งเกิดตกน้ำมัน เห็นข้าศึกแตกพ่ายก็วิ่งไล่ไปโดยลำพังไม่ต้องขับไส หมายความเท่านี้เอง

ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรชนช้างนั้น เห็นได้ตามเนื้อเรื่องว่าพลัดเข้าไปถึงกองทัพหลวงข้าศึก ทั้งช้างพระที่นั่งและช้างทรงสมเด็จพระเอกาทศรถ จะมีพวกรักษาพระองค์ตามติดเข้าไปด้วยก็จะไม่มากนัก ถูกข้าศึกระดมยิงเอานายมหานุภาพนายท้ายช้างพระที่นั่ง กับหมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถ ตาย ถึงสมเด็จพระนเรศวรก็ถูกปืนที่พระหัตถ์หน่อยหนึ่ง เพราะเมื่อไล่เข้าไปเป็นเวลารบพุ่งกันโกลาหล ฝุ่นตลบจนแลไม่เห็นอะไรพอฝุ่นจาง ช้างพระที่นั่งก็เข้าไปถึงที่พระมหาอุปราชายืนช้างพักอยู่ ได้โอกาส สมเด็จพระนเรศวรจึงท้าพระมหาอุปราชาให้ทำยุทธหัตถี แต่เวลาที่ชนช้างกันจนชนะเห็นจะไม่กี่นาที พอพระมหาอุปราชาขาดคอช้าง ก็พอพวกกองทัพไทยที่ติดตามเสด็จตีเข้าไปถึง ถึงกระนั้นเข้าใจว่ากำลังทหารที่ไปถึงเวลานั้นจะไม่มากมายเท่าใดนัก จึงเพียงพอรบพุ่งให้ข้าศึกซึ่งกำลังสาละวนอยู่ด้วยเหตุที่พระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ แตกพ่ายพากันถอยไป มิได้แตกยับเยินอย่างคราวก่อน ข้อนี้จึงเป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธนายทัพนายกองที่ตามเสด็จไปไม่ทัน

ความปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์องค์ ๑ ขึ้นไว้ตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา ได้ให้ค้นหาพระเจดีย์องค์นี้อยู่กว่า ๑๐ ปี อาศัยหลักที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม ว่าสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำยุทธหัตถีที่ตำบลตระพังกรุ จึงให้ไปเที่ยวค้นหาพระเจดีย์องค์นี้ตามตำบลที่เรียกว่าตระพังกรุ ในแขวงเมืองกาญจนบุรี และเมืองสุพรรณบุรี ได้พบตำบลที่เรียกว่าตระพังกรุหลายแห่ง แต่ไม่พบพระเจดีย์ ซึ่งควรเชื่อว่าเป็นของสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงสร้างไว้ จนมาได้ความในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า พระมหาอุปราชายกกองทัพเข้ามาคราวนั้น มาตั้งชุมนุมพลที่ตำบลตระพังกรุ และมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรที่ริมหนองสาหร่าย ได้เค้าดังนี้

จึงให้พระยาสุนทรสงคราม(อี้) ผู้ว่าราชการเมืองสุพรรณบุรีสืบค้นหาหนองสาหร่าย ถ้าพบแล้วให้พยายามค้นหาพระเจดีย์ในที่ใกล้หนองสาหร่ายนั้นลองดู พระยาสุนทรสงครามสืบได้ความว่า หนองสาหร่ายอยู่ในท้องที่อำเถอศรีประจันริมลำน้ำบ้านคอย ข้างตะวันตกเฉียงเหนือเมืองสุพรรณบุรี จึงออกไปตรวจค้นด้วยตนเอง พบพระเจดีย์ใหญ่องค์ ๑ อยู่ห่างหนองสาหร่ายข้างตะวันตกเฉียงใต้ ระยะทาง ๑๔๐ เส้น ที่ตรงนั้นมีแต่พระเจดีย์องค์เดียวไม่มีวัดวาบ้านช่องของเก่าอย่างใด ต้นไม้ป่าขึ้นปกปิดชิดชัฎ ถ้าผู้ใดไม่ตั้งใจสังเกต แม้จะเดินผ่านไปก็ไม่รู้ว่าได้มีพระเจดีย์อยู่ในที่นั้น พระยาสุนทรสงครามให้แผ้วถางที่พระเจดีย์ เห็นเป็นรูปสัณฐาน ๔ เหลี่ยม วัดขนาดได้ด้านละ ๑๐ วา ขนาดสูง ทั้งที่ปรักหักพังแล้วเหลืออยู่ วัดได้ ๖ วา สืบถามตามชาวบ้านตำบลที่ติดต่อกับที่พระเจดีย์นี้ โดยมากแม้ที่เคยผ่านไปมาทางนั้นไม่มีใครรู้ว่ามีพระเจดีย์อยู่ที่นั้น มีผู้เฒ่าผู้แก่บางคนบอกว่า ปู่ย่าตายายได้บอกเล่าสืบกันมาว่า ตรงที่พระเจดีย์นั้นเป็นที่กษัตริย์แต่ก่อนได้ใช้ชนช้างกัน แต่จะเป็นครั้งไหนและกษัตริย์พระองค์ใดหารู้ไม่ บางคนว่าเคยได้ยินว่าเป็นที่กษัตริย์ไทยกับกษัตริย์มอญชนช้างกัน บางคนจำพระนามได้ว่า พระเจ้าจักรนารายณ์ได้มาชนช้างกับพระเจ้าราชาธิราชที่ตรงนั้น พระยาสุนทรสงครามสืบได้ความดังนี้

จึงให้ช่างถ่ายรูปพระเจดีย์ และทำแผนที่ระยะทางบอกเข้ามายังกรุงเทพฯ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าหลักฐานมั่นคง เชื่อได้ว่าพระเจดีย์องค์นี้เองที่สมเด็จพระนเรศวร ได้ให้สร้างขึ้นตรงที่ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยชำนะพระมหาอุปราชาสครั้งทำสงครามกู้อิสรภาพของกรุงสยาม จึงเป็นเหตุให้ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการ เมื่อ ณ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๕๖ การเสด็จคราวนี้เป็นเหตุให้ตรวจพบรอยค่ายตามทางเดินทัพของข้าศึกดังกล่าวมาแล้ว


เรื่องปรึกษาโทษข้าราชการ

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ เสด็จกลับมาถึงพระนครแล้ว ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ทรงพระพิโรธแม่ทัพนายกอง มีรับสั่งให้ปรึกษาโทษที่โดยเสด็จไปไม่ทัน ละแต่พระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ให้เข้าอยู่ท่ามกลางศึก จะมีโทษฉันใด ลูกขุนปรึกษาโทษให้ประหารชีวิต แต่สมเด็จพระวันรัตนถวายพระพรขอโทษไว้ได้

เรื่องที่นายทัพนายกองตามเสด็จไม่ทันครั้งนั้น เห็นจะไม่ใช่เพราะวิ่งตามช้างพระที่นั่งไม่ทัน เข้าใจว่าขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จเข้าตีโอบข้าศึก จะมีบางกองที่ไม่ได้เข้ารบถึงประจัญบาน บางกองที่เข้าประจัญบานถึงตะลุมบอน แต่เมื่อเห็นข้าศึกแตกพ่ายกระจายไปจะไม่ได้สำเหนียกว่าช้างพระที่นั่งสมเด็จพระนเรศวรทรงติดตามเข้าไปในหมู่ข้าศึก จึงมิได้รีบรุกตามกองหลวงเข้าไป เมื่อสมเด็จพระนเรศวรชนช้างชนะแล้ว ไม่ได้กำลังพอที่จะตีข้าศึกให้แตกยับเยินไปทั้งหมดในขณะนั้น เห็นจะน้อยพระทัยที่เสียโอกาสอย่างนี้ จึงทรงพระพิโรธแก่นายทัพนายกองเฉพาะกองที่ที่ไม่รุกข้าศึกเข้าไปให้ทันท่วงที มิใช่ปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองทั่วไป ปรากฏชื่อข้าราชการที่มีความผิดครั้งนั้น คือ พระยาเทพอรชุนนายทัพ พระยาพิชัยสงครามปีกขวา พระรามกำแหงปีกซ้าย กองเกียกกายผิดทั้ง ๓ คน เจ้าพระยาจักรีปีกซ้ายทัพหลวง พระยาพระคลังนายกองทัพที่ ๓ พระยาศรีไสยณรงค์นายกองสอดแนม รวม ๖ คน ซึ่งต้องไปตีเมืองตะนาวศรีและเมืองทวายแก้ตัว


เรื่องวัดป่าแก้ว

ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระวันรัตนวัดป่าแก้วถวายพระพรขอพระราชทานโทษข้าราชการไว้ได้ ควรจะอธิบายเรื่องวัดป่าแก้วตรงนี้สักหน่อย ในคำอธิบายของข้าพเจ้าในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กล่าวถึงเรื่องนิกายพระสงฆ์ที่เข้ามาสู่ประเทศนี้ มีเนื้อความปรากฏถึงเรื่องนิกายพระสงฆ์ซึ่งเรียกว่า คณะป่าแก้ว เพราะเหตุที่ไปแปลงมาในสำนักพระวันรัตนมหาเถรในเมืองลังกา จึงเอานามวันรัตนนั้น มาแปลงเป็นภาษาไทย เรียกชื่อนิกายสงฆ์ว่าคณะป่าแก้ว พระราชาคณะที่เป็นสังฆนายกของนิกายป่าแก้วหรือที่เรียกว่าคณะใต้ จึงมีราชทินนามในสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระวันรัตน แต่ที่อยู่วัดป่าแก้วนั้น ทำให้เข้าใจผิดอยู่ แม้ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้างวัดป่าแก้ว ที่จริงวัดนั้นเป็นวัดแก้วฟ้า วัดที่ชื่อวัดป่าแก้วไม่มีในกรุงศรีอยุธยา ปรากฏว่าได้ค้นหาวัดป่าแก้วกันมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนเมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า ก็ได้ค้นหาวัดป่าแก้วอีก ได้เคยพาข้าพเจ้าไปบุกรุกช่วยหาหลายหนก็ไม่พบ เรื่องวัดป่าแก้วในกรุงเก่าเป็นข้อฉงนสนเท่ห์อยู่มาก

ความคิดพึ่งมาปรากฏแก่ข้าพเจ้าเมื่อไปเห็นหนังสือเก่าๆ ที่เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง ในหนังสือเหล่านั้น ใช้คำคณะป่าแก้วติดเข้าท้ายชื่อวัดทุกๆแห่ง ดังว่า วัดเขียนคณะป่าแก้ว วัดจะทิงพระคณะป่าแก้ว ดังนี้เป็นต้น ต้องกันกับชื่อวัดที่เห็นในหนังสือพงศาวดารเหนือ ที่เรียกวัดทางเมืองสุโขทัยวัด ๑ ว่า วัดไตรภูมิ(คณะ)ป่าแก้ว ข้าพเจ้านึกว่า วัดป่าแก้วในกรุงเก่าบางทีจะมีชื่ออื่น และเรียกคำว่าป่าแก้วเข้าข้างท้าย อย่างเมืองสุโขทัยและเมืองนครศรีธรรมราช

วัดในกรุงเก่าที่เป็นพระอารามหลวงใหญ่โตมีอยู่วัด ๑ ซึ่งเดี๋ยวนี้เรียกกันว่า วัดใหญ่ ครั้งกรุงเก่าเรียกว่า วัดเจ้าพญาไทย วัดนี้ไม่มีชื่อในทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่า ในทำเนียบนั้นว่าสมเด็จพระวันรัตนอยู่วัดป่าแก้ว เมื่อวัดป่าแก้วหาไม่พบ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าจะเป็นวัดเจ้าพญาไทย คือ วัดใหญ่นี้เอง เพราะคำว่า "เจ้าไทย" เป็นศัพท์เก่า แปลว่า พระ ใช้ในหนังสือไตรภูมิพระร่วงและหนังสือสวดมาลัยมีอยู่เป็นพยาน ถ้าเจ้าไทยแปลว่าพระ เจ้าพญาไทยก็แปลว่า สังฆราช วัดเจ้าพญาไทยแปลว่าเป็นที่อยู่ของสังฆราช ทำเนียบสมณศักดิ์ครั้งกรุงเก่าว่าพระสังฆราชมี ๒ องค์ คือ สมเด็จพระอริยวงศ์อยู่วัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุยังปรากฏอยู่ สมเด็จพระวันรัตนเป็นสังฆราชอีกองค์ ๑ ว่าอยู่วัดป่าแก้ว เมื่อวัดสังฆราชยังมีชื่ออีกวัด ๑ คือ วัดเจ้าพญาไทย ก็เห็นว่าคือวัดเจ้าพญาไทยนี้เองเป็นวัดที่สมเด็จพระวันรัตนอยู่ จะเรียกกันว่าวัดสังฆราชคระป่าแก้ว เมื่อเรียกให้สั้งลงจึงคงแต่คำว่า วัดป่าแก้ว เป็นชื่อหนึ่งของวัดเจ้าพญาไทย

ความคิดเห็นของข้าพเจ้าข้อนี้ เมื่อมาอ่านตรวจหนังสือพระราชพงศาวดารฉบัพระราชหัตถเลขานี้โดยถ้วนถี่ ได้ความว่ากรมหลวงวงศาธิราชสนิท ท่านทรงคิดเห็นและลงยุติเสียแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๔ ด้วยความตอนรบพม่าเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าสุริยามริมทร์มีแห่ง ๑ ในพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่มว่า พระยากำแพงเพชร (คือพระเจ้ากรุงธนบุรี) กับพระยาเพชรบุรียกกองทัพออกไปตั้งที่วัดใหญ่ (เจ้าพญาไทย) ครั้นมาถึงฉบับพระราชหัตถเลขา กรมหลวงวงศาธิราชสนิทท่านทรงแก้ว่าออกไปตั้งที่วัดป่าแก้ว ดังนี้ จึงควรยุติได้ว่า ที่ในพงศาวดารว่า สมเด็จพระวันรัตนอยู่วัดป่าแก้วนั้น คือ อยู่วัดเจ้าพญาไทย ที่เรียกทุกวันนี้ว่าวัดใหญ่ มีพระเจดีย์สูงอยู่ริมทางรถไฟข้างตะวันออก เมื่อก่อนจะเข้ากรุงเก่านั้นเอง


กลับตั้งหัวเมืองเหนือ

เมื่อชนะศึกหงสาวดีครั้งนี้แล้ว สมเด็จพระนเรศวรให้กลับตั้งหัวเมืองเหนือ ซึ่งปล่อยให้ร้างมาถึง ๘ ปี ผู้ว่าราชการหัวเมืองเหนือตั้งขึ้นในคราวนั้น คงจะเลือกผู้ที่มีความชอบในราชการสงครามปรากฏชื่อแต่ ๔ คน คือ พระยาชัยบูรณ์ ได้รับราชการมาแต่ยังเสด็จมาครองเมืองพิษณุโลก เห็นจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทรงฝึกหัดขึ้น มีชื่อเสียงเข้มแข็งในการสงครามหลายคราว โปรดให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ครองเมืองพิษณุโลก (เป็นเจ้าพระสุรสีห์คนแรกที่ปรากฏ) ให้พระศรีเสาวราชว่าราชการเมืองสุโขทัย พระองค์ทองว่าราชการเมืองพิชัย ทั้ง ๒ นี้เห็นจะเป็นเจ้า ให้หลวงจ่าไปว่าราชการเมืองสวรรคโลก เมืองสวรรคโลกในเวลานั้นเข้าใจว่าโทรมกว่าเมืองอื่น แต่เมืองกำแพงเพชรไม่ปรากฏชื่อผู้ว่าราชการเมือง


เรื่องเฉลิมพระราชมนเทียร

มีความกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ว่า "ศักราช ๙๕๕ (พ.ศ. ๒๑๓๖) มะเส็งศก วันจ้นทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท" ดังนี้ ทำให้เข้าใจว่า สมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่ผ่านพิภพ เสด็จประทับอยู่ที่วังจันทรเกษม บางทีจะได้ทำพระราชพิธีราชภิเษกที่นั้น ต่อปีที่ ๔ จึงเสด็จเข้าไปอยู่ในพระราชวังหลวง


เรื่องตีเมืองทวายเมืองตะนาวศรี

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง กับนายทัพนายกองที่มีความผิดครั้งตามเสด็จรบข้าศึกไม่ทัน ออกไปตีเมืองทวาย เมืองตะนาวศรีแก้ตัว และว่าพระเจ้าหงสาวดีก็ให้นานายทัพนายกองที่แพ้ไทยออกไปครั้งนั้น คุมกองทัพมารักษาเมืองทวายเมืองตะนาวศรีแก้ตัวเหมือนกัน กองทัพไทยตีกองทัพหงสาวดีแตกได้เมืองทวายเมืองตะนาวศรีคืนมาเป็นของกรุงศรีอยุธยา และโปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ว่าราชการเมืองตะนาวศรี

เรื่องตอนนี้ในพงศาวดารพม่าไม่กล่าวถึง แต่มีเรื่องราวในหนังสือพงศาวดารพม่าอันควรเข้าใจได้ว่าเนื่องต่อกัน ว่า ณ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ พ.ศ. ๒๑๓๖ มอญเจ้าเมืองมอบี (ยังไม่รู้ว่าเป็นเมืองไหน) เป็นกบฏ พระเจ้าหงสาวดีส่งกองทัพลงไปปราบปรามด้วยสงสัยว่ามอญเอาใจออกหากมาเข้ากับไทย ครั้งนั้นให้ฆ่าฟันมอญเสียมาก พวกมอญพากันอพยพหนีเข้ากรุงศรีอยุธยา และไปเมืองเชียงใหม่เมืองยะไข่เป็นอันมาก


เรื่องตีเมืองละแวก

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า ปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๕ พ.ศ. ๒๑๓๖ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ เสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองละแวก ฉบับพระราชหัตถเลขาก็ว่าเสด็จปีมะเส็ง แต่ลงศักราชเร็วไปรอบ ๑ และว่าเป็นคราวแรกไปด้วย ที่จริงควรเชื่อว่าเสด็จคราวแรกแต่แผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ดังกล่าวมาแล้ว ในที่นี้ควรเชื่อตามรายการที่เสด็จครั้งที่ ๒ ที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เนื้อความว่า เสด็จไปตีได้เมืองละแวก จับพระยาละแวกนักพระสัฏฐา และพระศรีสุพรรณมาธิราชได้ ให้ประหารชีวิตนักพระสัฏฐาเสียเมื่อทำพิธีปฐมกรรม แล้วเอาตัวพระศรีสุพรรณมาธิราชเข้ามาไว้ในกรุงศรีอยุธยา และกวาดต้อนผู้คนเข้ามาด้วยในครั้งนั้นเป็นอันมาก

เรื่องศึกสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองละแวกครั้งนี้ หนังสือพงศาวดารเขมรลงศักราชถูกต้องกับฉบับหลวงประเสริฐ แต่ไม่กล่าวถึงเรื่องจับนักพระสัฏฐาได้ เป็นแต่ว่าสมเด็จพระนเรศวรจับพระศรีสุพรรณมาธิราช กับพระราชเทพี ราชบุตร และกวาดต้อนครัวเขมรมาเป็นอันมาก และว่าสมเด็จพระนเรศวรให้พระมหามนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่อยู่รักษากรุงกัมพูชาที่เมืองอุดง


Create Date : 17 มีนาคม 2550
Last Update : 17 มีนาคม 2550 11:10:13 น. 3 comments
Counter : 11564 Pageviews.  
 
 
 
 
เมืองเมาะลำเลิ่งสวามิภักดิ์

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขานี้ว่า ณ วันอังคาร แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ปีจออัฐศก พ.ศ. ๒๑๒๙) สมิงอุบากองถือหนังสือพระยาพะโร เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งเข้ามาว่า เกิดวิวาทกับพระยาลาวเจ้าเมืองเมาะตะมะ เจ้าเมืองเมาะตะมะจะยกกองทัพมาตีเมืองเมาะลำเลิ่ง ขอพระบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่พึ่ง ขอพระราชทานกองทัพออกไปป้องกันเมือง (เมืองเมาะลำเลิ่งนี้ ที่เรียกกันว่าเมืองมรแหม่ง หรือเมืองมลเมน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำคง คือแม่น้ำสลวิน คนละฟากกับเมืองเมาะตะมะ หรือเมืองมาตะแบน) สมเด็จพระนเรศวรจึงรับสั่งให้พระยาศรีไศลคุมกองทัพออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิ่ง (พระยาศรีไศลนี้ เข้าใจว่าเป็นขุนนางมอญที่ได้เข้ามาสวามิภักดิ์ไว้วางพระราชหฤทัยได้)

พระยาลาวเมืองเมาะตะมะ ครั้งรู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยายกออกไป ก็ไม่กล้ามาตีเมืองเมาะลำเลิ่ง หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวต่อไปว่า ในขณะเมื่อพระยาศรีไศลอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิ่งนั้น เจ้าฟ้าเมืองแสนหวีพิราลัย มีราชบุตร ๒ คน ต่างมารดากัน ชิงสมบัติกัน น้องสู้ไม่ได้ จึงหนีมาเข้าหาพระยาศรีไศลขอสวามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา พระยาศรีไศลจึงบอกส่งตัวเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา เจ้าแสนหวีคนนี้ได้ความตามหนังสือตำนานโยนกว่า ชื่อเจ้าแก้วคำไข่น้อย ภายหลังได้ไปครองเมืองแสนหวี

เรื่องตอนนี้มีในหนังสือพงศาวดารพม่าว่า เมื่อ ณ เดือน ๑๒ ปีมะเมีย จุลศักราช ๙๕๖ พ.ศ. ๒๑๓๗ เจ้าเมืองเมาะลำเลิ่งเป็นกบฏ พระเจ้าหงสาวดีให้พระเจ้าตองอูยกกองทัพมาปราบปราม พวกมอญได้กำลังไทยช่วย ตีกองทัพพระเจ้าตองอูแตกไป

ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า "ศักราช ๙๕๖ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๑๓๗) ยกทัพไปตีเมืองสโตง" ดังนี้

ข้าพเจ้าเห็นว่า ควรยุติเรื่องตรงนี้ว่า เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๙๕๖ พ.ศ. ๒๑๓๗ พระยาลาวเมืองเมาะตะมะ กับพระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิ่ง (เป็นมอญด้วยกัน) เกิดวิวาทกัน พระยาพะโรกลัวพระยาลาวจะยกมาตีเมืองเมาะลำเลิ่ง จึงเจข้ามาสวามิภักดิ์ขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงให้พระยาศรีไศลออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิ่ง ข้างพระยาลาวเห็นเมืองเมาะลำเลิ่งมาเข้ากับไทย ก็บอกขึ้นไปยังเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระยาตองอูยกกองทัพมาตีเมืองเมาะลำเลิ่ง กองทัพไทยกับพวกมอญเมืองเมาะลำเลิ่ง ตีทัพพระเจ้าตองอูแตกกลับไป ความจริงจะเป็นดังนี้


เรื่องสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดีครั้งแรก

ได้ความตามพงศาวดารว่า พอพระเจ้าตองอูแตกขึ้นไปแล้ว ไม่กี่เดือนสมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปถึงเมืองหงสาวดี ตั้งล้อมอยู่ ๔ เดือน จนได้ข่าวว่าพระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้าตองอู พระเจ้าแปร ต่างยกกองทัพมาจะช่วยเมืองหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรจึงเลิกทัพกลับคืนพระนคร เมื่อเดือน ๕ ปีมะแม จุลศักราช ๙๕๗ พ.ศ. ๒๑๓๘

เรื่องตรงนี้ มีในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า "ศักราช ๙๕๗ มะแมศก วันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนอ้าย เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหยาตราทัพไปเมืองหงสาวดีครั้งก่อนฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน เถิงวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเที่ยงคืนแล้ว เข้าปล้นหงสามิได้ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา" ดังนี้ เชื่อได้ว่าในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีเป็นครั้งแรกในคราวนั้น แต่หาปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม หรือฉบับพระราชหัตถเลขานี้ไม่


เรื่องพระเจ้าแปร

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า เมื่อปีมะเมียจัตวาศก พ.ศ. ๒๑๒๕ พระเจ้าหงสาวดีให้พระเจ้าแปรยกกองทัพเลียบแดนมาสืบข่าวคราวทางกรุงศรีอยุธยา แต่มิได้ยกเข้ามารบ แต่พระเจ้าแปรมิได้ฟังรับสั่ง ขืนยกเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรจึงยกกองทัพหลวงออกไปตั้งซุ่มไว้ แต่งกองทัพล่อให้พระเจ้าแปรถลำเข้ามา แล้วออกระดมตีพระเจ้าแปรแตกยับเยินกลับไป ต่อมาได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีทรงพระพิโรธ ให้ถอดพระเจ้าแปรเสีย และเอาตัวมอญที่มาในกองทัพทำโทษ พวกมอญพากันหลบหนี พระเจ้าหงสาวดีให้ตามจับ พวกมอญพากันกบฏขึ้น หัวเมืองจึงพากันเอาใจออกห่างจากพระเจ้าหงสาวดี ดังนี้

ตรงนี้เชื่อได้ว่าผู้แต่งพระราชพงศาวดารของเรา หลงเอาเรื่องศึกพระมหาอุปราชาครั้งแรก มาเป็นเรื่องศึกพระเจ้าแปร พระเจ้าแปรหาได้ยกมา และพระเจ้าหงสาวดีหาได้ถอดพระเจ้าแปร ดังกล่าวในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ไม่ ศึกหงวสาวดีที่ยกเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา เป็นที่สุดเพียงพระมหาอุปราชเข้ามาสิ้นพระชนม์เมื่อคราวทำยุทธหัตถี ตั้งแต่นั้นมา ก็เป็นศึกไทยออกไปตีเมืองหงสาวดีฝ่ายเดียว

เรื่องพระเจ้าแปรที่ปรากฏในพงศาวดารพม่า เรื่องเป็นผลเกิดติดต่อกับเรื่องสมเด็จพระนเรศวรยกออกไปตีเมืองหงสาวดีคราวแรก ได้ความตามหนังพงศาวดารพม่าว่า ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรตั้งล้อมเมืองหงสาวดีอยู่นั้น พระเจ้าแปร พระเจ้าตองอู ยกกองทัพมาช่วยเมืองหงสาวดี พระเจ้าตองอูยกมาก่อน พระเจ้าแปรยกมาถึงกลางทาง ครั้นได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรเลิกทัพกลับไปแล้ว ก็เลยยกไปตีเมืองตองอู ในเวลาพระเจ้าตองอูยังไม่กลับ นัตจินหน่องต่อสู้ป้องกันเมืองตองอูไว้ได้ พอพระเจ้าแปรได้ข่าวว่าพระเจ้าตองอูยกกลับ ก็เลิกทัพกลับเมืองแปร แล้วเลยตั้งแข็งเมือง ไม่ขึ้นต่อพระเจ้าหงสาวดีผู้เป็นพระราชบิดา

เรื่องพระเจ้าแปรตั้งแข็งเมืองนี้น่าจะเป็นด้วยความริษยา เพราะพระเจ้าหงสาวดีตั้งให้มังเรกยอชวาราชบุตรองค์ ๑ ซึ่งครองเมืองอังวะเป็นพระมหาอุปราชา แทนพระมหาอุปราชามาขาดคอช้าง พระเจ้าแปรบางทีจะแก่กว่า และถือว่าเคยได้ไปราชการณรงสงครามมีบำเหน็จความชอบ เมื่อถูกข้ามหน้าจึงน้อยพระทัย


เรื่องพระเจ้าเชียงใหม่สามิภักดิ์

ได้ความตามพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปล้อมเมืองหงสาวดี และพระเจ้าแปรตั้งเเข็งเมืองขึ้นแล้ว พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ก็เกิดความฟั่นเฟือน ให้สงสัยไปว่าพวกหงสาวดี จะพากันมาเข้ากับสมเด็จพระนเรศวรอย่างพวกหัวเมืองรามัญข้างใต้ แม้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ไปครองเมือง พระเจ้าหงสาวดีก็สงสัยว่าจะคิดร้ายอย่างพระเจ้าแปร จึงให้เกณฑ์คนเข้ามาประจำรักษาพระนคร ครั้นถึงปีวอก จุลศักราช ๙๕๘ พ.ศ. ๒๑๓๙ สั่งให้พระเจ้าตองอูส่งนัตจินหน่องราชบุตร ให้พระเจ้าเชียงใหม่ส่งพระทุลองราชบุตร และให้น้องยาเธอองค์ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองยองยันส่งลูกชายชื่อ สกินกยีรัต เข้ามาทำราชการอยู่ในเมืองหงสาวดีเป็นตัวจำนำ พระเจ้าตองอู พระเจ้าเชียงใหม่ พากันน้อยพระทัยจึงตั้งแข็งเมืองขึ้นทั้ง ๒ เมือง

ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าเชียงใหม่มาขอสวามิภักดิ์ขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรชนะศึกพระมหาอุปราชานั้น ที่จริงจะมาสวามิภักดิ์ในคราวนี้ เมื่อตั้งแข็งเมืองเอาพระเจ้าหงสาวดีแล้ว และด้วยมีเหตุลำบากเกิดขึ้นในการปกครองบ้านเมือง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า


เรื่องห้ามการสงครามในระหว่างเชียงใหม่กับล้านช้าง

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า ในขณะเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่มาอ่อนน้อมยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยานั้น ประจวบเวลาเกิดอริขึ้นกับเมืองล้านช้าง ด้วยพวกตระเวนด่านชายแดนทั้ง ๒ ฝ่ายเกิดวิวาทฆ่าฟันกัน พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตให้พระยาหลวงเมืองแสนยกกองทัพมาตีเมืองเชียงแสน พระเจ้าเชียงใหม่จึงเลยบอกขอกำลังกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปช่วย ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า สมเด็จพระนเรศวรให้พระยาราชฤทธานนท์ (ที่จริงคือ พระยาราชฤทธานนท์คนเก่าที่ได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) เป็นแม่ทัพคุมกำลังหัวเมืองเหนือยกขึ้นไป และให้พระยารามเดโชซึ่งเป็นชาวเมืองเชียงใหม่ เจ้าพระยาสุรสีห์กับพระยารามเดโชคุมกองทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ แล้วยกออกไปตั้งที่เมืองเชียงแสน ไปว่ากล่าวห้ามปรามพระยาเมืองแสน พระยาเมืองแสนเกรงพระเดชานุภาพก็เลิกทัพกลับไปเมืองล้านช้าง เจ้าพระยาสุรสีห์จึงให้พระยารามเดโชอยู่รักษาเมืองเชียงแสน แล้วเลิกทัพกลับลงมา

เรื่องพระยารามเดโชคนนี้ แต่แรกเมื่ออ่านแต่หนังสือพระราชพงศาวดาร ชวนจะฉงน ต่อเมื่อสอบพงศาวดารพม่าได้ความว่า พระเจ้าเชียงใหม่คราวนั้นเป็นพม่า จึงเข้าใจเรื่องแจ่มแจ้งดีขึ้นมาก คือ ตั้งแต่พระเจ้าบุเรงนองตั้งมังนรธาช่อราชบุตรมาเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ พม่าบังคับการบ้านเมืองมาถึง ๑๗ ปี ในระหว่างนั้น เห็นจะมีพวกไทยท้าวพระยาและพลเมืองชาวเชียงใหม่ที่ไม่นิยมต่อพม่า หลบหลีกลงมาอยู่กรุงศรีอยุธยาไม่น้อย พระรามเดโชนี้จะอยู่ในพวกนั้นคนหนึ่ง เห็นจะสมัครเข้ารับราชการมีบำเหน็จความชอบ จนได้เป็นที่พระยารามเดโช ครั้นเมื่อพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์เสื่อมอำนาจลง และที่สุดเกิดแตกกันขึ้นเองกับพระเจ้าเชียงใหม่ พวกชาวเมืองเชียงใหม่ที่ไม่นิยมต่อพม่าจะกระด้างกระเดื่องขึ้น ที่พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อมาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาจะเป็นด้วยเหตุนี้ด้วย สมเด็จพระนเรศวรจึงส่งพระยารามเดโชขึ้นไปครั้งนั้น เชื่อได้ว่าพระเจ้าเชียงใหม่คงจะไม่พอใจ แต่ไม่รู้ที่จะขัดขวางประการใด ข้างเจ้าพระยาสุรสีห์ซึ่งเป็นผู้รับรับสั่งออกไป เห็นว่าจะให้พระยารามเดโชอยู่ที่เมืองเชียงใหม่จะเกิดวิวาทกันกับพระเจ้าเชียงใหม่ จึงให้ไปว่าราชการเมืองเชียงแสนในฐานที่เป็นข้าราชการกรุงศรีอยุธยา ไปตั้งอยู่ระหว่างกลางเพื่อป้องกันมิให้พวกล้านช้างมารบกวนเมืองเชียงใหม่

เมืองล้านช้างในตอนนี้ เรื่องราวที่มีในพงศาวดารพม่า พงศาวดารล้านช้าง และตำนยานโยนกเป็นกระท่อนกระแท่น ข้าพเจ้าเอาเนื้อความทั้งปวงมาเรียบเรียงติดต่อกัน เข้าใจว่าประวัติของเมืองล้านช้างตอนนี้เห็นจะเป็นเช่นนี้ คือ เมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๕๐ พ.ศ. ๒๑๓๑ เจ้าอุปราชที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตั้งให้เป็นพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตนั้นพิราลัย แต่แรกพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ได้เลือกลูกเธอองค์ ๑ จะอภิเษกให้ไปเป็นพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต แต่ในขณะนั้นพระเจ้าแปรที่เป็นอนุชาพิราลัยลง พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าเมืองแปรสำคัญกว่า จึงตั้งลูกเธอองค์นั้นไปครองเมืองแปร (คือพระเจ้าแปรที่ตั้งแข็งเมืองทีหลัง) ส่วนเมืองล้านช้างเห็นจะหาผู้ใดตั้งไม่ได้เหมาะ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้ากลับไปรักษาราชการ

อยู่ได้ ๒ ปี พระยาแสนสุรินทรขว้างฟ้าตาย พระยานครน้อยลูกพระแสนสุรินทรขว้างฟ้ารักษาราชการอยู่ได้หน่อยหนึ่ง พวกชาวล้านช้างไม่พอใจ จึงร้องขอพระหน่อแก้วราชโอรสของพระไชยเชษฐา ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีจับไปกักไว้แต่ยังเยาว์จนอายุ ๑๙ ปี กลับมาครองกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้าหงสาวดีก็อนุญาตให้ตามประสงค์ของชาวเมือง คือพระหน่อแก้วนี้ที่มาเกิดอริกับเชียงใหม่ เหตุที่เกิดอริกันนั้น ได้เค้าความว่า เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๙๕๗ พ.ศ. ๒๑๓๘ พอพระหน่อแก้วรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี พระหน่อแก้วตั้งแข็งเมืองเอาหงสาวดีบ้าง และยุให้พระยาน่านมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่สู่พระเจ้าเชียงใหม่ไม่ได้ พระยาน่านต้องหนีไปอยู่ล้านช้าง รุ่งปีขึ้นพวกชาวล้านช้างที่ถูกกวาดไปไว้เป็นเชลยที่เมืองหงสาวดีเกิดเป็นกบฏอพยพหลบหนีกลับไปเมือง พระหน่อแก้วให้ยกกองทัพมารับครัว เข้าใจว่าเกิดวิวาทกับเชียงใหม่ด้วยเรื่องแย่งครัวกันคราวนี้ ที่พระเจ้าเชียงใหม่ให้มาขอกองทัพกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปช่วย

ที่พวกครัวชาวล้านช้างกำเริบขึ้นคราวนั้น จะไม่ใช่แต่เมืองหงสาวดีกับเมืองเชียงใหม่เท่านั้น ถึงในหัวเมืองขึ้นกรุงศรีอยธยาก็เป็นด้วย เพราะมีข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า "ศักราช ๙๕๘ วอกศก วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ (พ.ศ. ๒๑๓๙) ลาวหนี ขุนจ่าเมืองรบลาวตำบลตะเคียนด้วน" ดังนี้ พระหน่อแก้วเห็นจะไปคิดตั้งตัวอย่างพระเจ้าไชยเชษฐา จึงนัดแนะให้พวกชาวศรีสัตนาคนหุตอพยพกลับไปบ้านเมืองทั่วทุกแห่ง


เรื่องสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ ๒

ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า สมเด็จพระนเรศวรได้ข่าวว่า หัวเมืองขึ้นหงสาวดีเกิดแตกร้าวระส่ำระสาย จึงเตรียมการที่จะเสด็จขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี ในเบื้องต้นให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพออกไปตั้งทำนาหาเสบียงขึ้นยุ้งฉางไว้ที่เมืองเมาะลำเลิ่ง กองทัพที่ให้พระยาศรีไศลยกไปคราวก่อน ให้สมทบกับกองทัพเจ้าพระยาจักรี แต่ตัวพระยาศรีไศลกับพรรคพวกให้กลับเข้ารับราชการในกรุง (ข้อนี้แลเห็นได้ว่า พระยาศรีไศลนั้นเป็นพระยามอญที่มาสามิภักดิ์คน ๑ มิใช่ไทย)

ขณะเมื่อเจ้าพระยาจักรี ออกไปตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิ่งนั้น พวกหัวเมืองขึ้นที่หงสาวดีทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรจะยกกองทัพขึ้นไปก็พากันแต่งทูตมายังเจ้าพระยาจักรี ขออ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยาหลายเมือง บอกชื่อไว้ในพระราชพงศาวดารแต่ ๖ เมือง คือ เมืองตองอู ๑ เมืองละเคิ่ง(ที่จริงเมืองยะไข่) ๑ เมืองพสิม ๑ เมืองเมาะตะมะ ๑ เมืองบัวเผื่อน ๑ เมืองขลิก ๑ ใน ๖ เมืองนี้ที่สำคัญคือ เมืองตองอูกับเมืองยะไข่ เป็นเมืองประเทศราช พระเจ้าตองอูเป็นน้องยาเธอ (หนังสือพระราชพงซศาวดารว่าเป็นหลานเธอ) ของพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ แต่เมืองยะไข่นั้นเป็นประเทศต่างภาษา ต่อบางคราวจึงขึ้นหงสาวดี ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ทั้งพระเจ้าตองอูพระเจ้ายะไข่รับว่า ถ้าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีเมื่อใดจะยกกองทัพมาช่วย

หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ในขณะนั้นที่เมืองตองอูมีพระภิกษุองค์ ๑ ชื่อมหาเถรเสียมเพรียม เข้าไปห้ามพระเจ้าตองอูมิให้เข้ากับไทย บอกอุบายให้พระเจ้าตองอูคิดตั้งตัวเป็นใหญ่ ในทางที่ทำปรากฏว่า จะเป็นผู้รักษาอาณาเขตหงสาวดี และคิดอ่านเอาพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ไว้ในอำนาจ พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วยในเบื้องต้น จึงทำอุบายยุยงให้พวกมอญเมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิ่งเกิดแตกขึ้นกับไทย จนเจ้าเมืองเมาะตะมะตั้งแข็งเมือง

ครั้นสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปตีได้เมืองเมาะตะมะ พระเจ้ายะไข่หายกมาช่วยตามสัญญาไม่ เป็นแต่ให้ขุนนางคุมกองทัพเรือเมืองยะไข่มาขอเข้ากองทัพหลวง สมเด็จพระนเรศวรไม่ไว้พระทัย จึงไม่รับกองทัพยะไข่ไว้ ฝ่ายข้างพระเจ้าตองอู เมื่อได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงขึ้นไป ก็ยกกองทัพจากเมืองตองอู อุบายว่าจะมาช่วยต่อสู้ข้าศึกรักษาเมืองหงสาวดี ครั้นพระเจ้าหงสาวดีเชื่อถือ ปล่อยให้กองทัพเมืองตองอูเข้ามาจนถึงเมืองหงสาวดี พระเจ้าตองอูเห็นที ก็ให้รวบรวมผู้คนทรัพย์สินในเมืองหลวง ให้เผาปราสาทราชมนเทียรเสียแล้ว ก็คุมเอาตัวพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ แล้วกวาดต้อนผู้คนเอาไปไว้เมืองตองอู

ครั้นสมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไปถึงเมืองหงสาวดีเห็นแต่เมืองเปล่า จึงให้ไปถามพระเจ้าตองอูว่า ที่สัญญาว่าจะช่วยเหลือการสงครามนั้น เดี๋ยวนี้พระยาตองอูมาตีได้เมืองหงสาวดีและจะทำอย่างไรต่อไป พระเจ้าตองอูจึงแต่งทูตเชิญเครื่องราชบรรณาการมาถวาย รับว่าจะอ่อนน้อม แต่ผัดเพี้ยนถ่วงเวลาไปด้วยอุบายต่างๆ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริเห็นว่าพระเจ้าตองอูล่อลวง จึงยกกองทัพหลวงเลยไปเมืองตองอู พระเจ้าตองอูก็ไม่ออกมาอ่อนน้อมจึงเข้าล้อมเมืองไว้ ล้อมอยู่ ๓ เดือน กองทัพหลวงขัดสนเสบียงอาหาร ไพร่พลอดอยากจนถึงล้มตาย จึงต้องเลิกทัพกลับพระนคร

เรื่องตรงนี้ ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า "ศักราช ๙๗๑ (พ.ศ. ๒๑๔๒) กุนศก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๘ บาท เสด็จพยุหยาตราไปเมืองตองอู ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลวัดตาล ครั้นถึงวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองตองอู และทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณ ๓๐ เส้น และตั้งอยู่ที่นั่น ๒ เดือน ขาดอาหารพ้นกำลังไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอาหารเป็นอันมาก ครั้นวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยุธยา" ดังนี้

หนังสือพงศาวดารพม่ากล่าวความตอนนี้ว่า พระเจ้าตองอู (ซึ่งตั้งแข็งเมืองแล้ว) คิดจะตีเมืองหงสาวดี จึงส่งราชทูตไปขอกองทัพพระเจ้ายะไข่ให้มาช่วยตีอีกทาง ๑ พระเจ้ายะไข่จัดกองทัพเรือ ๕๐๐ ลำ ให้ราชโอรสองค์ใหญ่ยกมาตีได้เมืองเสรียม เมื่อเดือน ๕ ปีวอก จุลศักราช ๙๕๘ พ.ศ. ๒๑๓๙ ฝ่ายพระเจ้าตองอูยกพล ๕๐,๐๐๐ ลงมาตั้งที่ตำบลกลิยา เมื่อเดือน ๕ ปีระกา จุลศักราช ๙๕๙ พ.ศ. ๒๑๔๐ ครั้นถึงปีจอ จุลศักราช ๙๖๐ พ.ศ. ๒๑๔๑ กองทัพเมืองตองอูและเมืองยะไข่พร้อมกันยกเข้าตั้งล้อมเมืองหงสาวดีไว้ จนในเมืองขัดสนเสบียงอาหาร พวกในเมืองหงสาวดีตั้งแต่ไพร่พลขึ้นไปจนขุนนางและเจ้านาย พากันออกไปเข้ากับพระเจ้าตองอูเป็นอันมาก

จนมังเรกยอชวาซึ่งเป็นพระมหาอุปราชาเห็นว่าเหลือกำลัง ก็ออกไปเข้ากับพระเจ้าตองอูอีกคน ๑ พระเจ้าตองอูให้ส่งพระมมหาอุปราชาไปเมืองตองอู ครั้นไปถึงเมืองนัตจินหน่องให้ลอบปลงพระชนม์พระมหาอุปราชาเสีย แต่ความทั้งนี้หาทราบถึงพระเจ้าหงสาวดีไม่ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ทราบแต่ว่า พระมหาอุปราชาไปเข้ากับพระเจ้าตองอูเสียแล้ว ไม่มีใครที่จะช่วยรักษาพระนครต่อไป พระเจ้าหงสาวดีจึงยอมเวนราชสมบัติแก่พระเจ้าตองอู พระเจ้าตองอูขึ้นครองเมืองหงสาวดี เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีกุน จุลศักราช ๙๖๑ พ.ศ. ๒๑๔๒

ในขณะนั้นพอได้ข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงขึ้นไป พระเจ้าตองอูจึงปรึกษานายทัพนายกองทั้งปวงว่า จะตั้งอยู่ต่อสู้กองทัพไทยที่เมืองหงสาวดี หรือจะถอยไปเมืองตองอูดี ขุนนางคน ๑ ทูลว่าที่ตั้งต่อสู้ไทยที่เมืองหงสาวดีนั้น เห็นจะเสียเปรียบไทยด้วยหัวเมืองรามัญไปเข้าเสียกับไทยโดยมากแล้ว ควรจะถอยไปตั้งต่อสู้ที่เมืองตองอู ทางนี้ให้พวกยะไข่คอยช่าวยตัดลำเลียงเสบียงอาหาร อย่าให้ส่งถึงกองทัพไทย เห็นไทยจะไม่สามารถตีเมืองตองอูได้ พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วย จึงจัดราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์องค์ ๑ กับช้างเผือกตัว ๑ ไปถวายพระเจ้ายะไข่ พระเจ้ายะไข่ก็รับจะจัดกองทัพไว้คอยตัดลำเลียงเสบียงอาหารกองทัพไทย พระเจ้าตองอูจึงให้เก็บรวบรวมทรัพย์สินสมบัติและผู้คนพลเมือง พาพระเจ้าหงสาวดีไปเมืองตองอู เมื่อ ณ วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีกุนเอกศก พ.ศ. ๒๑๔๒ ถึงเมืองตองอู วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๔ ให้ตระเตรียมการป้องกันเมืองไว้เป็นสามารถ หนังสือพงศาวดารพม่าว่าด้วยเหตุที่พระเจ้าหงสาวดีต้องถูกเอาไปไว้เมืองตองอูครั้งนี้ คนทั้งหลายจึงเรียกพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ว่า พระเจ้าเชลยตองอู

หนังสือพงศาวดารพม่ากล่าวต่อมาว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทราบว่า พระเจ้าตองอูพาพระเจ้าหงสาวดีไป ก็ยกกองทัพหลวงตามไปเมืองตองอู เมื่อทัพหลวงถึงกลางทาง ได้มีราชสาส์นไปถึงพระเจ้าตองอูว่า ซึ่งเสด็จยกทัพหลวงขึ้นไปนั้น ไม่ได้ตั้งพระทัยจะไปรบพุ่งพระเจ้าตองอู มีพระราชประสงค์จะทำนุบำรุงพระเจ้าหงสาวดี ให้พระเจ้าตองอูส่งพระเจ้าหงสาวดีมาถวาย แล้วก็จะเลิกทัพกลับ พระเจ้าตองอูตอบมาว่า พระเจ้าหงสาวดีเป็นพระโพธิสัตว์ ควรเชิญเสด็จไว้เป็นที่สักการบูชาในเมืองตองอู จะส่งถวายสมเด็จพระนเรศวรหาควรไม่ สมเด็จพระนเรศวรให้ตอบไปอีกว่า ถ้าพระเจ้าตองอูไม่ยอมให้พระเจ้าหงสาวดี ก็จะชิงเอาให้จงได้ แล้วก็ยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งล้อมเมืองตองอูไว้ ในขณะเมื่อตั้งล้อมอยู่นั้น สมเด็จพระนเรศวรให้ขุดเหมืองไขน้ำออกจากคูเมืองตองอูแห่ง ๑ คนทั้งหลายเรียกเหมืองอโยธยา ยังปรากฏจนทุกวันนี้

ฝ่ายข้างเมืองหงสาวดี ตั้งแต่พระเจ้าตองอูอพยพเอาผู้คนไปแล้ว เมืองก็ตกอยู่ในเงื้อมมือพวกยะไข่ พวกยะไข่เที่ยวค้นหาทรัพย์สมบัติ เลยเผาวัดวาและปราสาทราชมนเทียรไหม้เสียหมด ครั้นกองทัพสมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไป พวกยะไข่หลบซ่อนอยู่เสียในป่า จนกองทัพเลยไปแล้ว ก็ออกคอยตัดลำเลียงเสบียงอาหารที่จะส่งไปเมืองตองอู กองทัพสมเด็จพระนเรศวรขัดเสบียงอาหาร จึงต้องเลิกทัพกลับ เมื่อ ณ วันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด จุลศักราช ๙๖๒ พ.ศ. ๒๑๔๓ มีเนื้อความตามพงศาวดารพม่าดังกล่าวมานี้

เมื่อพิเคราะห์ดูเรื่องพงศาวดารตอนนี้ เห็นว่าเนื้อเรื่องเกือบจะยุติต้องกันทุกฝ่าย แต่เรื่องราวที่กล่าวในพระราชพงศาวดารพม่า วันคืนเหตุการณ์ดูห่างเหินนัก เรื่องที่จริงจะใกล้ข้างที่กล่าวในพระราชพงศาวดารไทย ข้าพเจ้าว่าเรื่องที่จริงจะเป็นดังนี้ คือ

สมเด็จพระนเรศวร มุ่งหมายอยู่เสมอที่จะตีเมืองหงสาวดีแก้แค้นให้จงได้ ครั้นได้ข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีเกิดบาดหมางกับพวกพระเจ้าประเทศราชที่เป็นเชื้อพระวงศ์ เห็นได้โอกาสก็เตรียมการศึกที่จะเสด็จไปตัเมืองหงสาวดี ทรงพระราชดำริว่า เมื่อเสด็จไปล้อมเมืองหงสาวดีคราวก่อน ไม่ได้เมืองหงสาวดีด้วยไปขัดสนเสบียงอาหาร จะป้องกันไม่ให้มีความขัดข้องอีกในคราวนี้ จึงให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพล่วงหน้าออกไปทำนาหาเสบียงสะสมไว้ที่เมืองเมาะลำเลิ่ง เจ้าพระยาจักรีเห็นจะยกไปในปลายปีวอก จุลศักราช ๙๕๘ พ.ศ. ๒๑๓๙ เจ้าพระยาจักรียกไปคราวนั้น ไม่ใช่แต่ไปหาเสบียงอย่างเดียว คงจะรับสั่งไปให้เกลี้ยกล่อมพวกหัวเมืองขึ้น เมืองหงสาวดีด้วยอีกอย่าง ๑ เพราะพระยาศรีไศลซึ่งออกไปตั้งอยู่ก่อนเป็นมอญ เจ้าเมืองมอญที่เคยเป็นคนเสมอบ่าเสมอไหล่กัน หรือที่มียศศักดิ์สูงกว่า จะไม่สู้นับถือนัก ครั้นจะทิ้งพระยาศรีไศลไว้ที่เมืองเมาะลำเลิ่ง ก็เกรงตะไม่เข้ากับพระยาจักรี จึงมีรับสั่งให้พระยาศรีไศลกับพรรคพวกคืนเข้ามากรุงศรีอยุธยา

หัวเมืองขึ้นหงสาวดีข้างใต้ ในเวลานั้นเมื่อพระยาจักรียกออกไปตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิ่งนั้น เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี และเมืองเมาะลำเลิ่ง ตกเป็นของไทยแล้ว ยังแต่หัวเมืองข้างฝั่งเหนือลำน้ำสลวิน ในเวลานั้นคิดดูตามศักราชในพงศาวดารพม่า เข้าใจว่าเมืองยะไข่ยกทัพมารบเมืองหงสาวดีโดยลำพังตนเอง และตีได้เมืองเสรียมไว้แล้ว เมื่อเจ้าพระยาจักรีแต่งคนไปเที่ยวเกลี้ยกล่อม พวกหัวเมืองรามัญที่เจ้าเมืองเป็นขุนนาง เห็นเมืองหงสาวดีจะมีศึกสองหน้าสามหน้าก็ยอมเข้าด้วยไทย ฝ่ายพวกยะไข่ที่มาตั้งอยู่เมืองเสรียมกำลังทำศึกอยู่กับหงสาวดี ก็คงจะรับช่วยกองทัพไทยตีเมืองหงสาวดี

ส่วนพระเจ้าตองอูนั้น ในเวลานั้นแตกกับพระเจ้าหงสาวดีและพระเจ้าแปรอยู่แล้ว เหลืออยู่แต่ตัว ข้าพเจ้าเชื่อว่าแต่แรกคงจะยอมเข้ากับไทย และรับจะช่วยตีเมืองหงสาวดี ดังว่าในพระราชพงศาวดาร ครั้นต่อมาได้ความคิดของพระมหาเถรเสียมเพรียมหรือผู้ใดก็ตาม พระเจ้าตองอูกลับเป็นทางที่จะทำอย่างอื่นให้เป็นประโยชน์แก่ตนได้ จึงตั้งต้นคิดอุบายยุยงให้พวกมอญวิวาทขึ้นกับไทย

ในเรื่องที่มอญเกิดวิวาทขึ้นกับไทยที่เมืองเมาะลำเลิ่งนั้น พิจารณาดูตามเนื้อความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร น่าจะเข้าใจว่า เบื้องต้นเห็นจะเกิดด้วยความไม่รอบคอบของเจ้าพระยาจักรี ในเรื่องเกณฑ์มอญให้ทำนา คงบังคับบัญชาพวกมอญให้ได้ความเดือดร้อน จนพวกมอญคิดเอาใจออกหากมีขึ้น ความอันนั้นจะรู้ถึงพระเจ้าตองอู พระเจ้าตองอูจึงเลยจับแผลนั้น ยุยงส่งเสริมให้พวกมอญกำเริบขึ้น ด้วยหวังจะถ่วงกองทัพไทยให้ต้องปราบปรามมอญ ไม่อาจยกขึ้นไปถึงเมืองหงสาวดีได้โดยเร็ว



..................................................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:11:03:09 น.  

 
 
 
(ต่อ)

ข้างโน้นพระเจ้าตองอูจะชิงเอาเมืองหงสาวดีให้ได้เสียก่อน ครั้นกองทัพยะไข่จะยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดี พระเจ้าตองอูจึงยกลงมาทำประหนึ่งว่า จะมาช่วยรักษาเมืองหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดีหลงกลอุบายพระเจ้าตองอู ก็ปล่อยให้ไปตั้งถึงชานพระนคร เมื่อพระเจ้าตองอูได้ข่าวกองทัพสมเด็จพระนเรศวรอยู่เหมือน จึงไปบนบานสมยอมกับพวกยะไข่ ซึ่งเกรงกำลังสมเด็จพระนเรศวรอยู่เหมือนกัน จึงตกลงกันให้พวกยะไข่ถอยทัพลงไปรักษาเมืองเสรียม พระเจ้าตองอูจึงเข้ารักษาเมืองหงสาวดี ดังกล่าวในพระราชพงศาวดาร

ที่หนังสือพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายะไข่ยกเข้าล้อมเมืองหงสาวดี ฉันเป็นข้าศึก ล้อมไว้จนพวกในเมืองต้องยอมเข้าด้วย ด้วยอดอยากนั้นเห็นว่าจะเป็นความจริงไม่ได้ ด้วยพระเจ้าตองอูยังต้องแอบอ้างอำนาจพระเจ้าหงสาวดีอยู่ ถ้าได้ปรากฏว่าเป็นข้าศึกแล้ว จะแอบอ้างใช้อำนาจอย่างนั้นอย่างไรได้

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าเจ้าพระยาจักรีไปทำเสียการจนมอญกำเริบ ก็ทรงพระพิโรธ แต่การเป็นไปเสียแล้ว จึงจำเป็นปราบปรามมอญเสียอยู่หลายเดือน ได้ยกกองทัพหลวงต่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน จุลศักราช ๙๖๑ พ.ศ. ๒๑๔๒ ในเวลาที่ยกกองทัพ บางทีจะได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าตองอูกับกองทัพยะไข่เข้าล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ แต่เพราะพระเจ้าตองอูและพวกยะไข่ได้รับไว้ว่าจะช่วยตีเมืองหงสาวดี บางทีจะไม่ทรงสงสัยว่าพระเจ้าตองอูกลับใจออกหากเสียแล้ว

สมเด็จพระนเรศวรยกไปตีได้เมืองเมาะตะมะแล้ว ก็รีบยกขึ้นไปเมืองหงสาวดี พวกที่อยู่หงสาวดีถูกพระเจ้าตองอูล่อลวงต่างๆ เช่นขู่ว่าถ้าไทยตีได้เมืองหงสาวดี สมเด็จพระนเรศวรคงจะกวาดชาวหงสาวดีมาใช้เป็นเชลยที่กรุงศรีอยุธยาเป็นต้น เมื่อได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป พวกชาวเมืองหงสาวดีเห็นว่าพระเจ้าตองอูเป็นเจ้านายเชื้อพระวงศ์อันเดียวกับพระเจ้าหงสาวดี ด้วยความกลัวไทย จึงยอมมอบอำนาจให้แก่พระเจ้าตองอูจนที่สุดพระเจ้าหงสาวดีเอง (พระราชพงศาวดารว่ากำลังประชวรทุพพลภาพ) ก็มอบเวนราชสมบัติให้แก่พระเจ้าตองอู พระเจ้าตองอูได้อำนาจและได้เมืองหงสาวดีสมปรารถนาแล้ว จึงพาพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์อพยพกลับไปเมืองตองอู ดังพงศาวดารทุกฝ่ายกล่าวต้องกัน และพวกยะไข่ก็เลยผสมเผาเมืองหงสาวดีเสียด้วย

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขชึ้นไปถึงเมืองหงสาวดี เห็นแต่เปลือกเมืองเปล่า คงจะเกิดสงสัยพระเจ้าตองอูในขณะนั้น ที่พระราชพงศาวดารว่า พวกยะไข่มาขอเข้ากองทัพหลวงนั้น ควรเข้าใจว่าพวกที่รับจ้างพระเจ้าตองอูคอยอยู่ตัดลำเลียงเสบียงอาหารนั้นเอง มาเข้าด้วยกลอุบาย สมเด็จพระนเรศวรระแวงพระทัย จึงไม่รับเข้ากองทัพหลวง ที่สมเด็จพระนเรศวรให้ไปว่ากล่าวไต่ถามพระเจ้าตองอู และพระเจ้าตองอูทำอุบายโต้ตอบหน่วงกองทัพสมเด็จพระนเรศวรนั้น ข้อนี้รับถูกต้องกันทั้งพงศาวดารไทยและพงศาวดารพม่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบแน่ว่าพระเจ้าตองอูคิดคด ก็ทรงพระพิโรธรีบยกกองทัพหลวงไปตั้งล้อมเมืองตองอู และพยามรบพุ่งจะเอาเมืองตองอูให้ได้ แต่ถูกพวกยะไข่คอยลอบตัดลำเลียงเสบียงอาหารเสีย เสบียงอาหารในกองทัพขาดลง ถึงกระนั้น ตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับว่า ยังพากเพียรที่จะตีเอาเมืองตองอูให้ได้ จนเห็นไพร่พลถึงล้มตายด้วยความอดอยาก จึงจำเป็นต้องเลิกกองทัพกลับ หนังสือพงศาวดารพม่าว่า สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพกลับคราวนั้น ให้กวาดต้อนผู้คนลงมาด้วยเป็นอันมาก


เรื่องปกครองหัวเมืองมอญ

หนังสือพงศาวดารทั้งไทยทั้งพม่า ยุติต้องกันว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรกลับจากเมืองตองอูครั้งนั้น เสด็จมาพักจัดการปกครองหัวเมืองมอญอยู่ที่เมาะตะมะ ตั้งพระยามอญคน ๑ ซึ่งเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้เป็นที่พระยาทละอยู่ครองเมืองเมาะตะมะว่ากล่าวหัวเมืองรามัญทั่วไป หนังสือพงศาวดารพม่าว่า ตั้งแต่นั้นมาหัวเมืองรามัญบรรดาที่อยู่ฝ่ายใต้และฝ่ายตะวันออกเมืองหงสาวดี ด็เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาตลอดจนถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม


เรื่องว่าเสด็จไปอยู่หัวเมือง

ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับจากเมืองตองอูไม่เสด็จเข้าพระนครศรีอยุธยา เสด็จไปอยู่ตามหัวเมือง แต่แรกประทับที่เมืองสุพรรณบุรีก่อน แล้วไปประทับที่เมืองราชบุรี แล้วเสด็จประพาสชายทะเลลงไปจนเข้าสามร้อยยอด แล้วเสด็จกลับมาประทับอยู่เมืองเพชรบุรี รวมเวลาเบ็ดเสร็จเกือบ ๔ ปี จนเสด็จไปตีเมืองอังวะเมื่อคราวไปสวรรคตที่เมืองห้างหลวง

ถ้าจริงดังว่านี้ จะเป็นได้แต่ด้วยเหตุผลเดียว คือสมเด็จพระนเรศวรจะได้ทรงปฏิญาณพระองค์ไว้ว่า ถ้าไม่ได้เมืองตองอูก็จะไม่เสด็จกลับเข้าพระนคร เมื่อไม่ได้จึงประพฤติพระองค์ตามปฏิญาณ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างว่าในพระราชพงศาวดารฉบับนี้ ด้วยมีข้อความกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า

ครั้นวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ (ปีชวด จุลศักราช ๙๖๒ พ.ศ. ๒๑๔๓) ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยธยา
ศักราช ๙๖๓ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๔๔) รับพระอิศวรและพระนารายณ์เป็นเจ้า ไปถวายพระพรพร้อมกันวันเดียวทั้ง ๔ คานหาม
ศักราช ๙๖๔ ขาลศก(พ.ศ. ๒๑๔๕) เสด็จไปประพาสลพบุรี ดังนี้

และได้กล่าวเลยถึงเรื่องเสด็จสุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบบุรี ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า แม้เสด็จก็คงจะเสด็จเป็นคราว อย่างประพาสเมืองลพบุรี เพราะฉะนั้นไม่ควรเชื่อว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จออกไปอยู่หัวเมืองในพักเดียวนั้น ๓ ปีเศษ


เรื่องสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปจัดการเมืองเชียงใหม่

ได้ความตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ ๒ ได้มีพระราชกำหนดให้พระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ ยกกองทัพโดยเสด็จด้วย แต่พระเจ้าเชียงใหม่บอกขัดข้องว่า ไม่อาจยกไปได้ ด้วยพระยารามเดโชข้าหลวงซึ่งขึ้นไปตั้งอยู่เมืองเชียงแสน เกลี้ยกล่อมผู้คนพลเมืองไว้เป็นกำลังเป็นอันมาก พวกบ่าวไพร่ยกพระยารามเดโชขึ้นเป็นเจ้าเมืองเชียงแสน จะยกกองทัพลงมาตีเมืองเชียงใหม่ พวกท้าวพระยาเจ้าเมืองอื่นๆ ซึ่งเคยขึ้นเมืองเชียงใหม่ มีเมืองฝางเป็นต้น ก็พากันกระด้างกระเดื่อง พระเจ้าเชียงใหม่ไม่อาจทิ้งเมืองไปได้ จึงแต่ให้พระทุลองราชบุตรกับท้าวพระยาคุมกองทัพไปช่วยการสงคราม

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเลิกทัพกลับพระนคร จึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระเอกาทศรถแบ่งกองทัพแยกไประงับการวิวาทที่เมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพไปตั้งที่ท่าหวดก่อน แล้วไปตั้งที่เมืองเถิน ให้ข้าหลวงเชิญรับสั่งออกไปตามหัวเมืองขึ้นเชียงใหม่ ให้หาบรรดาพวกเจ้าเมืองเข้ามาเฝ้า พวกเจ้าเมืองเข้ามาเฝ้าหมด แต่พระเจ้าเชียงใหม่ยังถือตัว บิดพลิ้วเสียไม่มาเฝ้าเอง ความทราบถึงสมเด็จพระนเรศวร จึงมีรับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปถึงเมืองลำพูน มีรับสั่งขึ้นไปยังพระเจ้าเชียงใหม่ว่า ถ้าพระเจ้าเชียงใหม่ไม่ออกมาเฝ้าจะเสด็จกลับ และไม่ห้ามปราบหัวเมืองทั้งปวง พระเจ้าเชียงใหม่จึงออกมาเฝ้าถวายบังคมโดยดี และถวายราชบุตรที่ ๒ ชื่อพระไชยทิปอีกคน ๑ (หนังสือพงศาวดารพม่าว่า พระเจ้าเชียงใหม่ถวายราชธิดาด้วยอีกองค์ ๑) หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวต่อมาว่า เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่และพวกหัวเมืองมาพร้อมกันแล้ว สมเด็จพระเอกาทศรถจึงมีรับสั่งให้พวกหัวเมืองถือน้ำกระทำสัตย์ต่อพระเจ้าเชียงใหม่ และให้พระเจ้าเชียงใหม่ถือน้ำกระทำสัตย์ถวายต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระนครศรีอยุธยา เสร็จแล้วก็เสด็จกลับ พระเจ้าเชียงใหม่ทูลขอพระทุลองไว้ ให้พระไชยทิปตามเสด็จลงมาทำราชการอยู่กรุงศรีอยุธยา ได้เนื้อความตามพระราชพงศาวดารดังนี้

เรื่องตอนนี้ไม่มีในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ในหนังสือตำนานโยนกกล่าวแต่ว่า ในปีนี้กองทัพพระนครศรีอยุธยายกขึ้นมาได้เมืองนครเชียงใหม่ และว่าเมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๖๒ พ.ศ. ๒๑๔๓ เมืองเชียงรายเป็นกบฏ ปีฉลู จุลศักราช ๒๑๔๔ ชาวล้านช้างยกทัพมาตีเมืองเชียงแสน ออกญารามเดโชหนี เสียเมืองเชียงแสนแก่ชาวล้านช้าง เนื้อความที่สอบได้มีเพียงเท่านี้

แต่สันนิษฐานดูพอเข้าใจเรื่องได้ว่า เป็นเรื่องเนื่องแต่พวกชาวเชียงใหม่กระด้างกระเดื่องเอาพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นพม่า ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรส่งพระยารามเดโชขึ้นไปไว้ที่เมืองเชียงแสน ผู้คนพลเมืองพากันนิยมเข้าเป็นพรรคพวกพระยารามเดโชทั้งเมืองเชียงแสน เชียงราย พระเจ้าเชียงใหม่จะบังคับบัญชาก็ขัดข้อง พวกท้าวพระยาหัวเมืองอื่นก็พลอยกระด้างกระเดื่องขึ้นด้วย พระเจ้าเชียงใหม่ไม่มีกำลังจะปราบปรามหรือแก้ไขอย่างใด นอกจากขอเอาพระบารมีสมเด็จพระนเรศวรเป็นที่พึ่ง ในเรื้องนี้ควรสังเกตเห็นความซื่อตรงของสมเด็จพระนเรศวร เมื่อได้รับเป็นที่พึ่งแก่พระเจ้าเชียงใหม่แล้ว ถึงพระเจ้าเชียงใหม่เป็นพม่า ถ้าซื่อตรงความสัตย์ต่อพระองค์อยู่ ก็ทรงซื่อตอบมิได้คิดแสวงหาประโยชน์แก่พระองค์เป็นใหญ่ ถ้าในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรเพียงแต่เฉยๆเสีย พวกท้าวพระยาเชียงใหม่ก็คงจะทำอันตรายหรือขับไล่พระเจ้าเชียงใหม่กับพวกพม่าเสียให้พ้นเมือง แล้วขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยา ไม่พักต้องยกทัพขึ้นไปรบ แต่เพราะพระองค์ทรงเห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่ซื่อตรงต่อพระองค์ตลอดมา จึงรับเป็นพระราชธุระจัดการให้พวกท้าวพระยากลับอยู่ในอำนาจพระเจ้าเชียงใหม่ได้อย่างเดิม


เรื่องตั้งพระศรีสุพรรณมาธิราชเป็นพระเจ้ากรุงกัมพูชา

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้กล่าวว่า พระสุธรรมราชาเจ้ากรุงกัมพูชาพิราลัย พระยาเขมรมีใบบอกเข้ามาขอพระศรีสุพรรณมาธิราชน้องพระยาละแวกนักพระสัฏฐา ที่จับเอามาไว้ในกรุงศรีอยุธยา ไปครองกรุงกัมพูชา เมื่อปีขาล จุลศักราช ๙๕๒ พ.ศ. ๒๑๓๓ (ควรจะเป็นปีขาล จุลศักราช ๙๖๔ พ.ศ. ๒๑๔๔) พระศรีสุพรรณมาธิราชออกไปครองกรุงกัมพูชาอยู่หน่อยหนึ่ง บอกเข้ามาว่าพระยาอ่อนผู้เป็นน้องต่างมารดา ซึ่งหนีไปอยู่กับพวกชอง จะยกมารบพระศรีสุพรรณมาธิราช สมเด็จพระนเรศวรจึงให้พระเจ้าลูกเธอพระมหาธรรมราชา ยกกองทัพออกไปปราบปรามพวกพระยาอ่อนจนราบคาบ เรื่องนี้ในฉบับหลวงประเสริฐว่า "ศักราช ๙๖๕ เถาะศก (พ.ศ. ๒๑๔๖) ทัพพระเจ้าฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้" ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่า เห็นจะเป็นสมเด็จพระเอกาทศรถที่เสด็จไปในครั้งนั้น

สอบหนังสือพงศาวดารเขมรได้ความว่า พระสุธรรมราชาทรงราชย์อยู่ ๓ ปี ยกกองทัพไปจับเจ้าเมืองตะบงคมุม มีจามคน ๑ ชื่อโปรัด กับแขกชื่อลักษมานา ลอบปลงพระชนม์พระสุธรรมราชาเสีย จึงพระยาอ่อนผู้เป็นปิตุลาขึ้นทรงราชย์อยู่ ๒ ปี จะเอาหญิงคน ๑ ซึ่งเป็นภรรยาพระสเถรมาเป็นนักสนม นางนั้นไม่ยอม ให้เอาตัวจำไว้ นางหนีได้จึงให้ลอบฆ่าพระยาอ่อนเสีย พระยาโยมน้องพระยาอ่อนขึ้นทรงราชย์ พระยาโยมนั้นประพฤติกักขฬะต่างๆ นางพระเทวีสตรีผู้เป็นอัยยิกา จึงให้เข้ามาทูลขอพระศรีสุพรรณมาธิราชออกไปครองกรุงกัมพูชา

ได้ความตามหนังสือพงศาวดารเขมรต่อมาว่า ครั้งนั้นกรุงกัมพูชาเป็นจลาจลไม่เรียบร้อย จึงนางพระเทวีนั้นให้กราบทูลสมเด็จพระนเรศวร ขอให้ช่วยทรงปราบยุคเข็ญ สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้พระไชยเชษฐาราชบุตรนักพระสัฏฐาออกไปกับกองทัพไทย ไปปราบปรามหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งปวงราบคาบแต่นั้นมา ได้ความตามพงศาวดารเขมรดังนี้ บางทีสมเด็จพระเอกาทศรถจะเสด็จถึงกรุงกัมพูชา เห็นสิ้นเสี้ยนหนามแล้วก็เสด็จกลับ ในพงศาวดารเขมรจึงไม่กล่าวถึง ส่วนพระยาอ่อนนั้นในพงศาวดารเขาว่าตายเสียนานแล้ว พระไชยเชษฐาออกไปกับทัพหน้ากองทัพไทย ไปปราบเสี้ยนหนามในกรุงกัมพูชาได้ราบคาบ เห็นความจะเป็นจริงอย่างพงศาวดารเขมร อันยุติต้องกับที่ว่าไว้ในฉบับหลวงประเสริฐ


การศึกครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร

หนังสือพระราชพงศาวดารฉบะบหลวงประเสริฐ หมดฉบับที่ได้มาเพียงสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพไปตีเมืองอังวะ จดไว้ว่า

"ศักราช ๙๖๖ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๔๗) วันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ เสด็จพยุหยาตราจากป่าโมกข์โดยชลมารค และฟันไม้ข่มนามที่ตำบลเอกราช ตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อครั้งนั้น ครั้งเสด็จพระราชดำเนินถึงเมืองหลวงตำบลทุ่งดอนแก้" (หมดฉบับเพียงเท่านี้)

เสียดายนักที่ไม่ได้ต้นฉบับพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐไปกว่านี้ พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐแม่นยำทั้งเนื้อเรื่องแลศักราช เห็นได้ดังได้สอบมาแล้ว เรื่องต่อไปนี้ยังไม่มีหนังสืออะไรที่จะใช้สอบศักราชพระราชพงศาวดาร จำต้องถือเอาศักราชอย่างว่าไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับนี้เป็นหลัก (ทั้งรู้ว่าผิด) ต่อพบหลักฐานในหนังสือใดแน่นอน จึงจะบอกไว้เฉพาะตรงนั้น ว่าได้สอบศักราชได้ความอย่างนั้นๆ

เรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพหลวงคราวหลังที่สุด ซึ่งเสด็จไปสวรรคตเสียกลางทางนั้น พระราชประสงค์จะไปตีเมืองอังวะ เหตุที่จะเสด็จไปตีเมืองอังวะครั้งนั้น ได้ความตามพงศาวดารพม่าประกอบกับเนื้อความในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระเจ้าตองอูพาเอาพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ไปไว้เมืองตองอูแล้ว ปรารถนาจะให้คนนิยมว่า เป็นผู้ทำนุบำรุงพระเจ้าหงสาวดี และจะอ้างกระแสรับสั่งพระเจ้าหงสาวดี บังคับบัญชาหัวเมืองทั้งปวงไว้ในอำนาจ พระเจ้าตองอูจึงอ้างรับสั่งพระเจ้าหงสาวดี ประกาศไปแก่บรรดาหัวเมืองว่า พระเจ้าหงสาวดีทรงพระราชดำริว่า ซึ่งมีศึกสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาติดเมือง เป็นด้วยชาตาเมืองหงสาวดีถึงคราวร้าย จึงเสด็จแปรสถานมาประทับอยู่เมืองตองอูจนกว่าจะสิ้นพระเคราะห์พระนคร ครบ ๗ ปีแล้วจะเสด็จกลับไปอยู่เมืองหงสาวดีตามเดิม

พวกหัวเมืองที่เชื่อก็มี ที่ไม่เชื่อแต่งคนไปสอดแนมเกิดสงสัยว่า พระเจ้าตองอูเอาพระเจ้าหงสาวดีไปกักขังไว้ หัวเมืองที่กำลังน้อยก็พากันมาหาพระทละขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา หัวเมืองที่กำลังมากก็รวบรวมกำลังนัดกันยกกองทัพขึ้นไปเมืองตองอู จะชิงเอาพระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าตองอูจึงให้พระเจ้าหงสาวดีทำหนังสือรับสั่ง เป็นกระทู้ถามพวกหัวเมืองที่พากันคุมกำลังยกขึ้นไปว่าจะเป็นกบฏหรือ พวกหัวเมืองเห็นเป็นหนังสือรับสั่งของพระเจ้าหงสาวดี ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ก็ต้องเลิกทัพกลับไปเมือง

ฝ่ายนัตจินหน่อง ซึ่งหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกว่านักสร้าง เป็นโอรสของพระเจ้าตองอู มาคิดเห็นความลำบากเดือดร้อนทั้งปวงบรรดาที่เกิดขึ้นแก่เมืองตองอู ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรยกไปล้อมเมืองเป็นต้น จนพวกหัวเมืองยกกองทัพจะไปตีเมืองตองอูอีกครั้ง ๑ เป็นเหตุเพราะเอาพระเจ้าหงสาวดีไปไว้ ถ้าไม่มีพระเจ้าหงสาวดีแล้วก็จะหามีเหตุทัพศึกไม่ นัตจินหน่องคิดเห็นดังนี้ จึงลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ทิวงคต พงศษวดารพม่าว่า เมื่อวันแรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีชวด จุลศักราช ๙๖๒ พ.ศ. ๒๑๔๓

ที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระเจ้าตองอูเห็นว่าการที่จะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่ไม่สำเร็จดังคาด ด้วยลูกลอบปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีเสียแล้ว พระเจ้าตองอูก็เลยเข้ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาดังนี้นั้น เข้าใจว่าที่จริงไม่ใช่ในคราวนี้ เพระมีเหตุผลควรเชื่อว่าพระเจ้าตองอูมาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาครั้งสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น คือ นัตจินหน่อง มิใช่พระเจ้าตองอูองค์นี้ มีเรื่องดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า

หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ทิวงคตแล้ว บรรดาเมืองใหญ่ในอาณาจักรหงสาวดี ที่ยังมิได้ขึ้นกรุงศรีอยุธยา ต่างเมืองต่างอยู่เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ขณะนั้นเจ้าเมืองนยองยาน (ซึ่งเป็นน้องยาเธอองค์ ๑ ของพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์) ชิงได้เมืองอังวะแล้วตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ ใช้พระนามว่า พระเจ้าสีหสุรธรรมราชา ฝ่ายพระเจ้าแปรเห็นว่า พระเจ้าอังวะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่คงจะลงมาเบียดเบียน จึงชวนพระเจ้าตองอูให้ยกกองทัพชิงไปตีเมืองอังวะเสียก่อน อย่าให้ทันตั้งตัวได้ พรเจ้าตองอูเห็นชอบด้วย จึงให้โอรสองค์ที่ ๒ คุมทัพบกยกไป ฝ่ายพระเจ้าแปรเตรียมทัพเรือจะยกไปเอง พอจะลงเรือก็มีผู้จะทำร้าย พระเจ้าแปรหนีคนร้ายโดดน้ำจมน้ำพิราลัย กองทัพเมืองแปรก็มิได้ยก ฝ่ายพระเจ้าตองอู ครั้นได้ข่าวว่าเกิดวุ่นกันขึ้นทีเมืองแปร และพระเจ้าแปรพิราลัย เห็นประโยชน์ที่ใกล้มีมากกว่า จึงรับสั่งให้โอรสถอยทัพหลับมาตีเมืองแปร แต่พวกเมืองแปรรักษาเมืองไว้ได้ พวกตองอูก็ต้องเลิกทัพกลับไปเมือง ไม่สำเร็จประโยชน์อันใดทั้งเรื่อง

ฝ่ายพระเจ้าอังวะเห็นเมืองตองอู เมืองแปร เกิดวิวาทกันขึ้นดังนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าขยายอำนาจออกไปทางเมืองไทยใหญ่ก่อน ได้เมืองไทยใหญ่ไปโดยลำดับจนถึงเมืองแสนหวี เมืองแสนหวีในเวลานั้น เจ้าแก้วคำไข่น้อยซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงตะงไปเป็นผู้ครองเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะอาจจะยกมาตีเมืองแสนหวี จึงยกกองทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปตีเมืองอังวะ

มูลเหตุแห่งการศึกครั้งนั้น หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความตอนนี้สมด้วยพงศาวดารพม่าว่า สมเด็จพระนเรศวรให้เตรียมกองทัพจะเสด็จไปตีเมืองตองอูอยู่แล้ว พอได้ข่าวว่าพระเจ้าอังวะยกกองทัพไปตีได้เมืองนาย และจะยกมาตีเมืองแสนหวี จึงทรงพระราชดำริจะยกไปตีเมืองอังวะ (บางทีจะเป็นเพราะได้ข่าวว่าพระเจ้าอังวะกำลังจะตั้งตัวเป็นใหญ่ด้วย) หนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า เสด็จยกกองทัพหลวงจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช ๙๖๖ พ.ศ. ๒๑๔๗ เนื้อความต้องกันกับพระราชพงศาวดารฉบับนี้ว่า เสด็จทางเรือจากป่าโมก ไปตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อ แล้วเสด็จยกทัพบกขึ้นไปทางเมืองกำแพงเพชร เมื่อเสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ ประจวบเวลาพระเจ้าเชียงใหม่กับพระยารามเดโชวิวาทกันอยู่อีก ต้องทรงระงับวิวาทอีกครั้ง ๑ ประทับอยู่เมืองเชียงใหม่เดือน ๑ แล้วจึงแยกทัพยกไป สมเด็จพระนเรศวรเสด็จทางเมืองห้างหลวง (คือเมืองหาง) สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จทางเมืองฝาง สมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงทุ่งแก้ว (ฉบับหลวงประเสริฐเรียกว่า ทุ่งดอนแก้ว) ก็ประชวรพระอาการหนัก จึงดำรัสสั่งให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถ พระเอกาทศรถเสด็จมาถึงได้ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต

อันสมเด็จพระนเรศวรมหาราชพระองค์นี้ มีพระเกียรติยศเป็นยอดกษัตริย์พระองค์ ๑ ไม่ใช่ยกย่องแต่ในหนังสือพงศาวดารไทยเท่านั้น ถึงในหนังสือพงศาวดารชาติอื่น เช่น พม่า รามัญ เขมร ล้านช้าง และเชียงใหม่ แม้ที่สุดจนจดหมายเหตุของจีนและฝรั่ง บรรดาได้จดไว้ในครั้งนั้น ก็ย่อมยกย่องสมเด็จพระนเรศวรว่าเป็น วีรมหาราช เป็นนักรบ และเป็นพระเจ้าแผ่นดินอันวิเศษ ซึ่งได้ปรากฏขึ้นในโลกพระองค์ ๑ ถ้าหากประเพณีในประเทศทางทิศนี้ในเวลานั้นเหมือนกันกับยุโรป คงจะได้มีอนุสาวรีย์ใหญ่ สร้างไว้เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระนเรศวรปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ จะเป็นที่พอใจของชาวไทยไม่น้อยทีเดียว

ถึงทุกวันนี้ แต่ตั้งเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ตลอดจนผู้ใหญ่ทุกชั้นบรรดาศักดิ์ เมื่อได้อ่านพงศาวดารเรื่องสมเด็จพระนเรศวร หรือแม้ที่สุดเพียงเห็นพระรูปทรงชนช้างติดตั้งไว้ ณ ที่ใดๆ ใครเลยที่จะไม่นึกรักสมเด็จพระนเรศวร ใครนับถือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ท่านแต่ก่อนท่านก็นึกอย่างนั้นเหมือนกัน ความจริงในชั้นกรุงเก่าได้สร้างรูปสมเด็จพระนเรศวร และสร้างหอประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชา ที่โรงแสงต้นในพระราชวัง ถึงในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ได้โปรดให้สร้างรูปสมเด็จพระนเรศวร และสร้างหอขึ้นไว้ที่โรงแสงใน ตรงที่สร้างพระที่นั่งภานุมาศจำรูญเดี๋ยวนี้ ข้าพเจ้าได้เคยเห็นเอง พระรูปสมเด็จพระนเรศวรนังประดิษฐานเป็นที่สักการบูชาอยู่ในพระที่นั่งภานุมาศจำรูญจนทุกวันนี้(๑)


....................................................................................................................................................

(๑) ต่อมาภายหลัง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สร้างอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วเสร็จประดิษฐานเมืองเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๒



แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


..................................................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:11:04:50 น.  

 
 
 
พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ตอน แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช


ศักราช ๙๕๒ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๓๓) วันอาทิตย์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๘ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพฤตาราชนฤพาน

วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ มหาอุปราชายกทัพมาโดยทางกาญจนบุรี ครั้งนั้นได้ตัวพระยาพสิมตำบลจระเข้สามพัน

ศักราช ๙๕๔ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๓๕) วันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ อุปราชายกมาแต่หงสา ณ วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑ เพดานช้างต้นพระยาไชยานุภาพตกออกมาใหญ่ประมาณ ๕ องคุลี ครั้นเถิงเดือนยี่ มหาอุปราชายกมาเถิงแดนเมืองสุพรรณบุรี แต่ตั้งทัพตำบลพังตรุ

วันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๔ นาฬิกา ๒ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน

แล ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราโดยทางชลมารค อนึ่งเมื่อใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น เห็นพระสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น

เถิงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพ เสด็จออกรบมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย ครั้งนั้นมิได้ตามฤกษ์และฝ่าย (ฝ่า) ฤกษ์หน่อยหนึ่ง และเมื่อได้ชนช้างด้วยมหาอุปราชานั้น สมเด็จพระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้าต้องปืน ณ พระหัตถ์ข้างขวาหน่อยหนึ่ง อนึ่งเมื่อมหาอุปราชาขี่ช้างออกมายืนอยู่นั้น หมวกมหาอุปราชาใส่นั้นตกเถิงดิน และเอาคืนขึ้นใส่เล่า ครั้งนั้นมหาอุปราชาขาดคอช้างตายในที่นั้น และช้างต้นพระยาไชยานุภาพ ซึ่งทรงและได้ชนด้วยมหาอุปราชาและมีชัยชำนะนั้น พระราชทานให้ชื่อเจ้าพระยาปราบหงสา

ศักราช ๙๕๕ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๑๓๖) วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เสด็จเถลิงพระมหาปราสาท ครั้งนั้นทรงพระโกรธแก่มอญ ให้เอามอญเผาเสียประมาณ ๑๐๐

ณ วันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๒ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๖ บาท เสด็จพยุหบาตรา ไปเอาเมืองละแวก และตั้งทัพชัยตำบลบางขวด เสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีสุพรรณในวันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ นั่น

ศักราช ๙๕๖ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๑๓๗) ยกทัพไปเมืองสะโตง

ศักราช ๙๕๗ มะแมศก (พ.ศ. ๒๑๓๘) วันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราไปเมืองหงสาครั้งก่อน ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลม่วงหวาน

เถิงวันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๔ เพลาเที่ยงแล้ว เข้าปล้นหงสามิได้ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมา

ศักราช ๙๕๘ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๓๙) วันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ลาวหนี ขุนจ่าเมืองรบลาว ตำบลคะเคียนด้วน

และ ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๓ ฝนตกหนักหนาสามวันดุจฤดูฝน

ศักราช ๙๖๑ กุนศก (พ.ศ. ๒๑๔๒) วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๘ บาท เสด็จหยุหบาตราไปเมืองตองอู ฟันไม้ข่มนามตำบลหล่มพลี ตั้งทัพชัยตำบลวัดตาล และในเดือน ๑๑ นั้น สงกรานต์ พระเสาร์แต่ (ราศีกันย์ไปราศี) ตุลย์

ครั้นเถิงวันพุธ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ เสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองตองอู และทัพหลวงเข้าตั้งใกล้เมืองตองอูประมาณ ๓๐ เส้น และตั้งอยู่ที่นั้นสองเดือน ขาดอาหารพ้นกำลัง ไพร่พลทั้งปวงตายด้วยอดอาหารเป็นอันมาก

ครั้นวันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๖ ทัพหลวงเสด็จกลับคืนมายังพระนครศรีอยุธยา

ศักราช ๙๖๓ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๑๔๔) เดือน ๗ เดือนเดียวนั้นมีสุริยุปราคา ในปีนั้นรับพระอิศวรและพระนารายณ์เป็นเจ้าไปถวายพระพรพร้อมกันวันเดียวทั้ง ๔ คานหาม

ศักราช ๙๖๔ ขาลศก (พ.ศ. ๒๑๔๕) เสด็จไปประพาสลพบุรี

ศักราช ๙๖๕ เถาะศก (พ.ศ. ๒๑๔๖) ทัพพระ (เจ้า) ฝ่ายหน้าเสด็จไปเอาเมืองขอมได้

ศักราช ๙๖๖ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๑๔๗) วันพฤหัสบดี (แรม ๖ ค่ำ เดือน ๒) เสด็จ พยุหบาตราจากป่าโมกโดยทางชลมารค และฟันไม้ข่มนามตำบลเอกราช ตั้งทัพชัยตำบลพระหล่อ วันนั้นเป็นวันอุนและเป็นสงกรานต์ พระเสาร์ไปราศีธนูเป็นองศาหนึ่ง ครั้งนั้นครั้นเสด็จพระราชดำเนินเถิงเมืองหลวงตำบลทุ่งดอนแก้ว

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 17 มีนาคม 2550 เวลา:11:15:45 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com