กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
แผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)

พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

จุลศักราช ๖๘๖ ชวดศก (พ.ศ. ๑๘๖๗) แรกสถาปนาพระพุทธเจ้า เจ้าพแนงเชิง

ศักราช ๗๑๒ ขาลศก (พ.ศ. ๑๘๙๓) วัน (๖ ฯ ๕) ค่ำ เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท แรกสถาปนากรุงพระนครศรีอยุธยา

ศักราช ๗๓๑ ระกาศก (พ.ศ. ๑๙๑๒) แรกสร้างวัดพระราม ครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีเจ้าเสด็จนฤพาน จึงพระราชกุมารท่านสมเด็จพระ (ราเม) ศวรเจ้าเสวยราชสมบัติ


สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)



ประวัติสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

มีในจดหมายเหตุของโหรว่า สมเด็จพระรามาธิบดีสมภพเมื่อ ณ วันจันทร์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๖๗๖ พ.ศ. ๑๘๕๗

ในพระราชพงศาวดารย่อ ของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ว่า พระเจ้าอู่ทองได้ครองราชสมบัติเมืองเทพนคร (ซึ่งข้าพเจ้ายุติว่าเมืองอู่ทอง) เมื่อปีวอก จุลศักราช ๗๐๖ พ.ศ. ๑๘๘๗ เมื่อพระชันษาได้ ๓๐

เรื่องสร้างกรุงศรีอยุธยา มีในจดหมายเหตุของโหรว่า พระเจ้าอู่ทองสร้าง ๒ ครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ อีกครั้งหนึ่งเมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๒๑ สร้างทีหลังนี้ดูไม่มีมูลในเรื่องพงศาวดารทีเดียว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าโหรวางศักราชปีกุนนั้นผิด ถ้าปีกุนจุลศักราช ๗๐๙ จึงจะได้ความ คือพระเจ้าอู่ทองย้ายมาจากเมืองอู่ทองมาสร้างเวียงเหล็กในแขวงเมืองอโยธยา เมื่อปีกุน จุลศักราช ๗๐๙ พ.ศ. ๑๘๙๐ อยู่ ๓ ปีจึงสร้างกรุงศรีอยุธยา ซึ่งหนังสือพงศาวดารทุฉบับ และจดหมายเหตุของโหรยุติต้องกันว่า ฝังหลักเมืองเมื่อ ณ วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๕ เพลาเช้า ๓ นาฬิกา ๙ บาท ปีขาล (น่าจะเป็นปีเถาะยังเป็นโทศก) จุลศักราช ๗๑๒ พ.ศ. ๑๘๙๒ นับอายุกรุงศรีอยุธยาแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยา พระชันษาได้ ๓๖ พรรษา สมเด็จพระรามาธิบดีเสวยราชสมบัติอยู่กรุงศรีอยุธยา ๑๙ ปี สวรรคตเมื่อปีระกา จุลศักราช ๗๑๓ พ.ศ. ๑๙๑๒ พระชันษาได้ ๕๕ ปี


ที่ตั้งกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาที่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้าง ขนานนามโดยพิสดารว่า กรุงเทพมหานคร (บวร) ทวาราวดีศรีอยุธยา หนังสือพระราชพงศาวดารอธิบายนามทั้งปวงนี้ว่า ที่เรียกว่า กรุงเทพมหานคร เพราะเอาชื่อเมืองเทพนครเดิมของพระเจ้าอู่ทองมาใช้ ข้อนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่ายังไม่ตรงดี ที่จริงชื่อกรุงเทพมหานครนั้น เห็นจะหมายความว่าเป็นราชธานี เมืองใดเป็นราชธานีเมืองนั้นก็มีชื่อว่ากรุงเทพมหานคร ชื่อนี้ยังได้เอาลงใช้จนกรุงเทพฯมหานครอมรรัตนโกสินทร์นี้ ชื่อ ทวาราวดี ที่อธิบายว่าเพราะมีลำแม่น้ำล้อมรอบนั้นถูกต้อง กรุงศรีอยุธยาที่พระเจ้าอู่ทองสร้างมีลำแม่น้ำล้อมรอบจริง ด้านเหนือซึ่งเรียกว่าคลองเมืองเดี๋ยวนี้ เวลานั้นสายน้ำลำแม่น้ำลพบุรียังไหลลงมาทางนั้นเป็นลำน้ำใหญ่ ด้านตะวันออกมีลำแม่น้ำสัก แต่เวลานั้นสายน้ำยังลงมาทางบ้านม้า ด้านใต้ ด้านตะวันตก ลำแม่น้ำเจ้าพระยาลงมาทางหัวแหลม ออกบางกระจะวัดพระเจ้าพนัญเชิงอย่างทุกวันนี้ ที่เรียกนามว่า ศรีอยุธยานั้น เอาชื่อเมืองอโยธยาเดิมมาใช้มิใช่คิดขึ้นใหม่

ตัวเมืองที่สมเด็จพระรามาธิบดีสร้าง เข้าใจว่ากำแพงเมืองยังใช้เพียงหลักไม่ระเนียดปักบนเชิงเทินดิน เพราะได้ความในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐว่า พึ่งมาก่อกำแพงด้วยอิฐเมืองแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แนวกำแพงเมืองสร้างครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีนั้น ด้านเหนือ ด้านตะวันตก ด้านใต้ ตั้งลงมาถึงริมลำน้ำทั้ง ๓ ด้าน แต่ด้านตะวันออกลำน้ำสักยังอยู่ห่างมาก แนวกำแพงเมืองอยู่หลังวัดจันทรเกษมเข้าไป ลำน้ำแต่หัวรอลงมาจนวัดพระเจ้าพนัญเชิง ในเวลานั้นขุดเป็นแต่คูเมืองเรียกว่า ขื่อหน้า พึ่งมาขุดขยายเป็นลำน้ำใหญ่เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระธรรมราชาธิราช พระราชวังที่สร้างครั้งสมเด็จพระรามาธิบดี สร้างริมหนองโสนคือ บึงพระราม ห่างแม่น้ำ อยู่ที่วัดพระศรีสรรเพชญเดี๋ยวนี้ ปราสาทราชมณเฑียรสร้างด้วยไม้ทั้งนั้น พระราชมณเฑียรย้ายลงมาตั้งริมน้ำ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ปราสาทก็เห็นจะพึ่งมาก่อเป็นตึกเมื่อย้ายพระราชมณเฑียรคราวนั้น


พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยา

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าอู่ทองสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว (เมื่อทำพระราชพิธีราชาภิเษก) ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตร เหมือนด้วยพระนามสมเด็จพระนารายณ์อวตารอันผ่านกรุงศรีอยุธยาแต่ก่อนนั้น หนังสือเก่าทุกเรื่องบรรดาที่ได้พบ ทั้งที่แต่งในภาษาไทยและภาษามคธ ใช้พระนามรามาธิบดีนี้เป็นพระนามของพระเจ้าอู่ทองที่สร้างกรุงศรีอยุธยาทุกเรื่อง แต่สร้อยพระนามเขียนแปลกๆ กัน ยาวบ้างสั้นบ้าง ข้าพเจ้าคัดตามที่ได้พบในที่ต่างๆ ลงมาไว้ต่อไปนี้

๑. ในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง สมเด็จพระรามาธิบดีบดินทรศรีสุนทรบรมมหาจักรพรรดิ บวรธรรมิกมหาราชาธิราช ชาติหริหรินทร์ อินทรเดโชชัยมไหสุริยศวรรยาเทพาดิเทพตรีภูวนาถ บรมบาทบพิตร
๒. ในกฎหมายลักษณะโจร สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสฤษดิรักษจักรพรรดิราชาธิราช ตรีภูวนาถธิเบศร์บรมบพิตร
๓. ในกฎหมายลักษณะรับฟ้อง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรจะกรพรรดิราชาธิราช ราเมศวรธรรมิกราชเดโชชัย เทพตรีภูวนาธิเบศร์ บรมบพิตร
๔. ในกฎหมายลักษณะผัวเมีย สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมจักรพรรดิราชาธิราชบรมบพิตร
๕. ในกฎหมายลักษณะอาญาราษฎร์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมจักรพัตราธิราช
๖. ในโองการแช่งน้ำที่พราหมณ์อ่านในพระราชพิธีศรีสัจปานการ สมเด็จพระรามธิบดีศรีสินทร บรมมหาจักรพรรดิศรราชาธิราช

พระนามรามาธิบดีนี้ ไม่ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในประเทศทางนี้ได้ใช้เป็นพระนามก่อนพระเจ้าอู่ทอง แต่ต่อมาภายหลังปรากฏในศิลาจารึกกัลยาณีที่เมืองหงสาวดีว่า พระเจ้าหงสาวดีพระองค์ที่เรียกพระนามในหนังสือราชาธิราชว่า พระเจ้าศรีสากยวงศ์ธรรมเจดีย์ คือพระมหาปิฎกธรนั้น ได้ใช้นามรามาธิบดีเป็นพระนามในจารึกพระองค์หนึ่ง พระเจ้ากรุงกัมพูชาที่ใช้นามรามาธิบดีก็มีแต่ในสมัยภายหลังมาทั้งนั้น

เรื่องพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ทั้งไทยทั้งพม่ารามัญ ตามที่เรียกกันแต่ก่อนมา ลัทธิของชาวประเทศทางนี้ มีวิธีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นเดินถึง ๕ อย่างต่างกันคือ
๑. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ
๒. พระนามพิเศษถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
๓. พระนามที่เรียกกันในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระชนม์อยู่
๔. พระนามตามที่ปากตลาดเรียกกันเมืองล่วงรัชกาลไปแล้ว
๕. พระนามที่เรียกกันในราชการในเวลาเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว

๑. พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้น ตามราชประเพณีอันมีมาแต่โบราณ เมื่อจะทำการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ขึ้นผ่าพิภพ สมณพราหมณาจารย์และเสนาพฤฒามาตย์ที่เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ประชุมปรึกษากันถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น จารึกลงในแผ่นทองถวายเมื่อทำพระราชพิธีราชาภิเษก มักเป็นพระนามมีสร้อยยืดยาวมาก

๒. พระนามพิเศษที่ถวายเพิ่มพระเกียรติยศนั้น คือถ้าในแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอันเป็นพระเกียรติยศพิเศษ จึงถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้น เช่น พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี จึงถวายพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นว่า “พระเจ้าช้างเผือก” นี้เป็นต้น ประเพณีถวายพระนามพิเศษที่ว่านี้ เห็นจะมีมาแต่โบราณมาก พระเจ้าอโศกในมคธราฐที่เรียกพระนามในหนังสือว่าพระเจ้าศรีธรรมาโศกก็ดี ที่จารึกพระนามไว้ว่าพระเจ้าปิยทัสสีก็ดี พระเจ้าดิศผู้เป็นพระพุทธศาสนูปถัมภกพระองค์แรกในลังกาทวีป ที่ใช้พระนามในหนังสือว่าพระเจ้าเทวานัมปิยดิศก็ดี เหล่านี้น่าจะเป็นพระนามที่ถวายพิเศษ

พระนามถวายพิเศษแรกปรากฏในประเทศนี้ มีเมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทย พระเจ้ากรุงสุโขทัย ทรงพระราชศรัทธาสละราชสมบัติออกทรงผนวชคราวหนึ่ง เมื่อลาผนวชแล้วพระมหาสวามีสังฆราช ซึ่งมาแต่ลังกา ถวายพระนามว่า พระเจ้าศรีตรีภพธรณีชิต สุริยโชติมหาธรรมิกราชาธิราช ดังนี้ มาในชั้นกรุงเก่า ข้าพเจ้าเห็นว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ดี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ดี พระเจ้าทรงธรรมก็ดี พระเจ้าปราสาททองก็ดี พระนารายณ์ก็ดี เหล่านี้น่าจะเป็นพระนามถวายพิเศษ ด้วยเหตุดังกล่าวต่อไปนี้คือ

พระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เห็นจะมาแต่ศรีตรีภพธรณีชิต ที่พระมหาสวามีสังฆราชถวายแด่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัย จะถวายพระนามนี้แด่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อใดทราบไม่ได้ เห็นในบานแผนกกฎหมายตั้งครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถใช้พระนามนี้แล้ว ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ ยังมีพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นที่ใช้พระนามนี้ คือ มหาราชท้าวลก ที่ครองราชย์สมบัติเมืองเชียงใหม่ในคราวเดียวกัน และเป็นคู่รบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ หนังสือข้างฝ่ายเหนือเรียกว่าติโลกราช ที่เป็นพุทธศาสนูปถัมภกเมืองทำสังคายนา ซึ่งนับในตำนานของเราว่าเป็นครั้งที่ ๗ นั้น ต่อมาพระเจ้าทรงธรรมได้ใช้พระนามปรากฏในที่บางแห่งว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงธรรม ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าพระนามบรมไตรโลกนาถนั้นเป็นพระนามพิเศษพระนามหนึ่ง

พระนามที่เรียกว่า พระมหาจักรพรรดิ นั้น รู้ได้แน่ว่าเป็นพระนามพิเศษ แม้ต้นตำราพราหมณ์หรือตำราที่มาในพระพุทธศาสนา ก็ปรากฏว่าพระเจ้าแผ่นดินต่อบางพระองค์จึงจะเป็นจักรพัตราธิราช พระนามนี้ชั้นกรุงเก่าเห็นจะถวายเมื่อมีช้างเผือกถึง ๗ ช้าง วิเศษกว่าที่จะเรียกเพียงพระเจ้าช้างเผือก

พระนามที่เรียกว่า พระเจ้าทรงธรรมนั้น มาแต่คำว่า ธรรมราชา แน่ พระนามที่เรียกว่า “ธรรมราชา” มูลเหตุเดิมน่าจะเกิดขึ้นแต่ครั้งพระเจ้าอโศก ด้วยเหตุแสดงพระองค์เป็นธรรมราชาดังกล่าวมาแล้วในตอนอธิบายเหตุการณ์เมื่อก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา พระนามนี้พระเจ้าแผ่นดินในลังกาทวีปคงจะเอามาใช้ และพวกลังกาพาเข้ามาในประเทศนี้ ยกย่องว่าคู่กับจักรพรรดิราชา ปรากฏว่าได้ถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัยเป็นครั้งแรก เห็นจะถวายพระนามนี้แก่พระเจ้าทรงธรรมกรุงศรีอยุธยา เนื่องในเหตุที่พบรอยพระพุทธบาท ได้พบในหนังสือจดหมายเหตุของวันวลิตวิลันดา ว่าเรียกกันมาแต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่

พระนามที่เรียกว่า พระเจ้าปราสาททอง นั้น ที่จริงพม่าเขาใช้ก่อน ดังจะแลเห็นได้ในหนังสือราชาธิราช ที่เขาเรียกพระเจ้าฝรั่งมังฆ้องว่าพระเจ้ามณเฑียรทอง พระนามนี้เห็นจะเอาอย่างพม่ามาถวาย เมื่อสร้างพระวิหารสมเด็จเป็นปราสาทปิดทองมีขึ้นองค์แรก มีปรากฏในจดหมายเหตุของวิลันดา ว่าใช้แต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าพระนามนี้จะเกิดขึ้นเพราะขุดปราสาททองได้ในจอมปลวก ดังกล่าวในหนังสือคำให้การของชาวกรุงเก่า

พระนามที่เรียกว่า พระนารายณ์ นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามพิเศษ ด้วยได้พบในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเป็นฉบับหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า” ทุกแห่ง และพบหนังสือตำนานแต่งกรุงเก่า ราวแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศอีกเรื่องหนึ่งที่เมืองนครศรีธรรมราช เรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง” หมายความว่าสมเด็จพระนารายณ์พระองค์ที่สวรรคตที่เมืองหาง หนังสือนี้ทำให้เข้าใจว่า เวลาเมื่อจะแต่งจะมีพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่าพระนารายณ์มากกว่าพระองค์เดียว (คือมีพระนารายณ์ลพบุรีขึ้นอีกองค์หนึ่ง) จึงเรียกพระนารายณ์เดิมว่า พระนารายณ์เมืองหาง ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ จึงเข้าใจว่าพระนามที่เรียกพระนารายณ์นั้นเป็นพระนามพิเศษ

ครั้งหลังที่ถวายพระนามพิเศษอย่างอธิบายมานี้ คงยังจำกันได้อยู่โดยมาก คือที่ได้ถวายพระนาม “ปิยมหาราชาธิราช” แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติยืนนานยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์อื่นๆ ในสยามประเทศ ครั้งทำพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เพราะพระองค์เป็นที่รักของประชาชนทั่วไป พระนามนี้จารึกอยู่ที่ฐานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งประชาชนชาวสยามพร้อมกันทำถวายสนองพระเดชพระคุณ ยังอยู่ที่หน้าพระลานสวนดุสิตจนทุกวันนี้

๓. พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกในเวลาเสด็จดำรงพระชนม์อยู่นั้น มักเรียกเหมือนกันทุกพระองค์ คือผู้ที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมาก็เรียกพระเจ้าแผ่นดินของตนว่า ขุนหลวง หรือ พระเป็นเจ้า หรืออย่างเราเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัว มิได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์ ถ้าชาวเมืองอื่นก็มักจะเรียกตามนามเมืองที่พระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ ครอง ดังเช่นเรียกว่า พระเจ้าอู่ทอง พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าหงสาวดี พระเจ้าอังวะ เป็นต้น บางทีก็เรียกตามพระนามเดิมของพระเจ้าแผ่นดินนั้นๆ เช่นเรียกว่า พระร่วง พระยาอู่ พระเจ้ามังลอง ดังนี้ พระนามที่เรียกตามนามเดิมหรือตามพระนามเดิมอย่างนี้ ล้วนเป็นคำของพวกเมืองอื่นเรียก

๔. พระนามที่ปากตลาดเรียกเมื่อเวลาล่วงรัชกาลแล้วนั้น ดังเช่นเรียกว่า ขุนหลวงเพทราชา ขุนหลวงเสือ ขุนหลวงท้ายสระ ขุนหลวงทรงปลา เป็นต้น จนตลอดขุนหลวงบรมโกศ ขุนหลวงหาวัด และพาระที่นั่งสุริยามรินทร์ เกิดแต่ไม่รู้ว่าพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ที่ล่วงรัชกาลแล้ว พระองค์ใดเรียกพระนามในราชการว่าอย่างไร ราษฎรก็เรียกเอาตามที่สำเหนียกกำหนดกัน ดังเช่นเรียกว่าขุนหลวงเพทราชา ก็เพราะได้เป็นที่เพทราชาอยู่เมื่อก่อนได้ราชสมบัติ เรียกขุนหลวงทรงปลา ก็เพราะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นทรงชอบตกปลา พระนามที่เรียกว่าขุนหลวงบรมโกศนั้น เป็นพระนามที่มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ที่พึ่งสวรรคตล่วงไปแล้วทุกพระองค์ อย่างเราเรียกกันว่าในพระโกศนี้เอง สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ (เป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์หลัง ในกรุงเก่า ที่ได้ทรงพระโกศ) คนคงเรียกกันว่า พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ หรือ ในพระโกศ มาแต่ครั้งกรุงเก่าแล้ว

ส่วนขุนหลวงหาวัดนั้นพระนามเดิมเรียกในราชการว่า เจ้าฟ้าอุทุมพร ได้เป็นกรมขุนพรพินิต เมื่อเสวยราชย์อยู่ในราชสมบัติไม่ช้าก็ละราชสมบัติออกทรงผนวช คนทั้งหลายจึงเรียกว่า ขุนหลวงหาวัด หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินที่อยู่วัด มาแต่ครั้งกรุงเก่า ส่วนพระเจ้าสุริยามรินทร์นั้น ครั้งกรุงเก่าคงเรียกกันเพียงว่า ขุนหลวงหรือพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสวยราชย์พระองค์หลังที่สุด มาเรียกพระนามอื่นตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี เรียกว่าขุนหลวงพระที่นั่งสุริยามรินทร์ เพราะเสด็จอยู่ที่พระที่นั่งนั้น ครั้นถึงพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง ต่อมาชั้นหลังเรียกกันว่า ขุนหลวงตาก ด้วยเหตุได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองตากครั้งกรุงเก่า

ประเพณีเรียกพระนามพระเจ้าแผ่นดินตามปากตลาดอย่างนี้ มีตลอดจนเมืองพม่ารามัญ พระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ซึ่งเป็นราชโอรสรับราชสมบัติต่อพระเจ้าบุเรงนอง พม่าเรียกภายหลังว่า “พระเจ้าเชลยตองอู” เพราะที่สุดเมื่อหนีสมเด็จพระนเรศวร ถูกเอาไปกักไว้ที่เมืองตองอูจนทิวงคต และพระเจ้าแผ่นดินพม่าพระองค์หนึ่งในราชวงศ์อลองพญา พม่าเรียกว่า พาคยีดอ แปลว่าพระเจ้าอา ดังนี้ก็มี

๕. พระนามที่เรียกในราชการเมื่อล่วงรัชกาลไปแล้ว เกิดแต่ความจำเป็นที่จะต้องเรียกพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลก่อนๆ ในปรากฏพระนามผิดกัน เพราะพระนามตามพระสุพรรณบัฏมักจะเหมือนกันโดยมาก จึงต้องสมมติพระนามขึ้นสำหรับเรียกเฉพาะพระองค์ เรื่องนี้มีความลำบากเป็นอุทาหรณ์ แม้ในครั้งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง คือเมื่อรัชกาลที่ ๒ เรียกรัชกาลที่ ๑ ว่าแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็เป็นอันถูกต้องเรียบร้อยมาตลอดรัชกาลที่ ๒ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ มีรัชกาลที่ล่วงแล้วเป็น ๒ รัชกาล เกิดเรียกกันขึ้นว่า แผ่นดินต้น แผ่นดินกลาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย รับสั่งว่าถ้ารัชกาลที่ ๑ เป็นแผ่นดินต้น รัชกาลที่ ๒ เป็นแผ่นดินกลาง รัชกาลที่ ๓ จะกลายเป็นแผ่นดินสุดท้าย เป็นอัปมงคล จึงประกาศให้เรียกรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ตามพระนามพระพุทธรูปซึ่งทรงสร้างขึ้นเป็นพระบรมราชูทิศไว้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงได้เรียกพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาจนตราบเท่าทุกวันนี้

มาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าออยู่หัว ทรงพระราชดำริเห็นว่าเรื่องนามแผ่นดินควรจะกำหนดให้เป็นยุติเสียแต่แรกทีเดียว จึงถวายพระนามรัชกาลที่ ๓ ว่า พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนรัชกาลของพระองค์เองให้เรียกว่า พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นธรรมเนียมสืบต่อมาจนบัดนี้

พระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงรัชกาลไปแล้ว ซึ่งสมมติเรียกในรัชกาลครั้งกรุงเก่า เรียกตามต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏบ้าง เรียกตามพระนามพิเศษบ้าง แต่โดยมากนั้นเรียกตามพระนามเดิมที่ปรากฏแก่คนทั้งหลาย เมื่อก่อนพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นๆ ได้ผ่านพิภพ ยกตัวอย่างดังพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่า พระราเมศวร พระมหินทร พระนเศวร พระเอกาทศรถ พระรัษฎา พระยอดฟ้า พระเชษฐา พระอาทิตยวงศ์ เจ้าทองจัน เจ้าฟ้าศรีเสาวภาค เจ้าฟ้าชัย เหล่านี้เป็นพระนามแต่ครั้งยังเป็นลูกหลวงทั้งนั้น พระนามที่เรียกว่า พระบรมราชา พระรามราชา พระอินทรราชา พระไชยราชา พระมหาธรรมราชา พระศรีสุธรรมราชา เหล่านี้บรรดาที่ใช้คำว่า “ราชา” ไว้ท้าย ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระนามสำหรับเจ้าครองเมือง

พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าที่เรียกพระนามพิเศษ และเรียกอย่างปากตลาดอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดาร มาปรากฏสมมติใช้ในราชการเป็นอย่างอื่น มีอยู่ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่าหลายพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงอนุมัตินำมาใช้ในพระราชนิพนธ์คือ

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ใช้ว่า สมเด็จพระรามาธิเบศร์
สมเด็จพระเพทราชา ใช้ว่า สมเด็จพระธาดาธิเบศร์
สมเด็จพระเจ้าเสือ ใช้ว่า สมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี
สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ใช้ว่า สมเด็จพระภูมินทราชาธิราช
สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ใช้ว่า สมเด็จพระมหาบรมราชา

(แต่พระนามนี้ เมื่อได้ต้นฉบับพม่ามาสอบแปลใน พ.ศ. ๒๔๕๕ เรียกพระนามพระเจ้าบรมโกศในบางแห่งว่า พระมหาธรรมราชา เรียกพระนามพระมหาธรรมราชาซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระนเรศวรว่า พระสุธรรมราชา ดังนี้)

พระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า พระองค์ใดจะมีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไร จะทราบในเวลานี้ไม่ได้แน่นอน ข้าพเจ้าได้สอบพระนามตามที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร และในบานแผนกกฎหมาย (ต้องขอบอกไว้หน่อยว่า ศักราชที่ลงไว้ในหนังสือกฎหมายผิดอยู่หลายแห่ง บางทีศักราชจะพาให้ข้าพเจ้าหลงรัชกาลไปได้บ้าง) พระนามพิสดารตามที่พบอยู่มีอยู่ดังนี้

สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
๑. ในกฎหมายลักษณะกบฏศึก สมเด็จพระบรมนาถบพิตร สิทธิสุนทรธรรมเชดา มหาสุริยวงศ์ องค์บุรุโษดมบรมมหาจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชาธิราช (เข้าใจกันว่าพระนามนี้ผูกขึ้นเพราะหมายความพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น)
๒. กฎมณเฑียรบาล สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ มหามงกุฎเทพยมนุษย์ บริสุทธิ์สุริยวงศ์ องค์พุทธางรกูร บรมบพิตร
๓. กฎหมายศักดินาในกรุง สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถนายกดิลกผู้เป็นเจ้า
๔. กฎหมายศักดินาหัวเมือง สมเด็จพระรามาธิบดีศรีบรมไตรโลกนาถ
๕. กฎหมายลักษณะกบฏศึก สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิรามาธิบดี
๖. กฎหมายลักษณะกบฏศึก สมเด็จพระบรมมหาจักรพรรดิศรรามาธิบดี
(๕ กับ ๖ ถ้าศักราชพลาด คงเป็นกฎหมายแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ)

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
กฎหมายลักษณะรับฟ้อง สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชราเมศวร บรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระไชยราชาธิราช
กฎหมายลักษณะพิศูจน์ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมิกมหาราชธิราช

สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระสรรเพชญ์วงศ์กูรสุริโยดม บรมมหาธรรมราชาธิราชราเมศวร ปวเรศธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรเทพสมมติราช บรมบพิตร

สมเด็จพระเอกาทศรถ
๑. ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา พระศรีสรรเพชญ์ สมเด็จบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิ สวรรยาราชาธิบดินทร์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตร นาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวสัย สมุทัย ตโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทรา ธาดาธิบดีศรีวิบุลย คุณรุจิตรฤทธิราเมศวรธรรมิกราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิคตา มกุฎเทศมหาพุทธางกูร บรมบพิตร
๒. กฎหมายลักษณะกบฏศึกตั้งก่อนเสวยราชย์ สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม
กฎหมายพระธรรมนูญ สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
กฎหมายพระธรรมนูญกรมศักดิ์ลักษณะอาญาหลวง ๒ แห่ง ลักษณะเบ็ดเสร็จรวม ๕ แห่งในกฎหมาย สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
๑. ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระบรมราชาธิราชธิบดีศรีสรรเพชญ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราชราเมศวร ธรรมธราธิบดี ศรีสฤฎิรักษสังหารจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดีดินทร หริหรินทรธาดาธิบดี ศรีวิบุลยคุณอกนิฐ จิตรรุจีตรีภูวนาทิตย์ ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร์ ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงศ์องค์เอกาทศรสรุทร์ วิสุทธยโศดม บรมอาชวาธยาศรัย สมุทัยตโรมนต์ อนนตคุณวิบุลยสุนทรบวรธรรมมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนาถบดินทร์ วรินทราธิราชชาติพิชิต ทิศพลญาณสมันตมหันตวิปผาราฤทธิวิไชย ไอศวรรยาธิบัติขัตติยวงศ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธ มกุฎรัตนโมฬี ศรีปทุมสุริยวงศ์ องค์สรรเพชญ์พุทธางกูร บรมบพิตร
๒. กฎหมายลักษณะรับฟ้อง สมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบรมบพิตร

สมเด็จพระเพทราชา
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม บรมจักรพรรดิ

สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ
๑. กฎหมายลักษณะทาส สมเด็จพระรามาธิบดินทร นรินทรบรมมหาจักรพรรดิราเมศวรราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศรบรมบพิตร
๒. กฎหมายลักษณะทาสอีกแห่ง ๑ สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีบรมมหาจักรพรรดิราชเดโชไชยพรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศรบรมบพิตร
๓. กฎหมายมูลคดีวิวาท สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุธรรมราชบรมจักรพรรดิศวรบรมบพิตร

สมเด็จพระเจ้าสุริยามรินทร
ตามหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา สมเด็จพระบรมราชามหาดิศร บวรสุจริต ทศพิธธรรมธเรศร โลกเชษฐนายก อุดมบรมนาถบพิตร

พิเคราะห์ดูพระนามพระเจ้าแผ่นดินที่ปรากฏดังแสดงมา ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พระนามพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่าตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ ต้นพระนามจะเหมือนกันโดยมาก ตั้งแต่พระเจ้าอู่ทองลงมาจนสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จะใช้นามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ทุกพระองค์ ถ้าจะใช้พระนามอื่นก็มีเมื่อครั้งพระบรมราชา (พงั่ว) เข้ามาครองราชย์สมบัติ บางทีจะใช้พระนามขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช เพราะเวลานั้นสมเด็จพระราเมศวรซึ่งใช้พระนามสมเด็จพระรามาธิบดียังมีพระองค์อยู่ และพระเจ้าแผ่นดินในราชวงศ์นั้นที่ใช้พระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชเอาอย่างก็จะมีบ้าง คือ เจ้าสามพระยา เป็นต้น นอกจากนี้เห็นจะใช้พระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีทุกพระองค์

มาจนสมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ราชสมบัติ เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ใช้พระนามขึ้นในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีสรรเพชญ และใช้พระนามนี้ต่อมาจนตลอดราชวงศ์นั้น ถึงพระเจ้าทรงธรรมเปลี่ยนราชวงศ์ใหม่ ใช้ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ พระเจ้าปราสาททอง ซึ่งพบหลักฐานรู้แน่ว่าอยู่ในราชวงศ์เดียวกันกับพระเจ้าทรงธรรม ก็ใช้พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ ใช้พระนามนี้ลงมาจนตลอดราชวงศ์ของพระเจ้าประสาททอง

มาถึงสมเด็จพระเพทราชาตั้งราชวงศ์ใหม่ (ไม่พบหลักฐานว่าขึ้นต้นพระนามในพระสุพรรณบัฏว่าอย่างไรแน่ แต่) ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะกลับใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ด้วยได้เห็นในบานแผนกกฎหมายในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ใช้พระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี และในโองการแช่งน้ำของพราหมณ์ก็ใช้พระนามว่า สมเด็จรามาธิบดี คงจะใช้พระนามนี้จนพระเจ้าสุริยามรินทร์ บางทีจะใช้ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช เพราะขุนหลวงหาวัดยังมีพระองค์อยู่

ครั้นถึงกรุงธนบุรี กลับใช้พระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ อีกเป็นแน่ ด้วยได้พบหนังสือพระราชโองการ และศุภอักษรที่มีในครั้งกรุงธนบุรีใช้พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ อิศวรบรมนาถบพิตร หลายแห่ง ศุภอักษรที่เจ้าประเทศราชมีมายังใช้คำว่า “ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร”

ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ พึ่งมาเปลี่ยนในรัชกาลที่ ๔ ตอนหลังว่า ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏในชั้นกรุงกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ขึ้นพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี เหมือนกันทั้ง ๓ พระองค์ จึงเป็นเหตุให้เห็นว่าแต่ครั้งกรุงเก่าก็จะซ้ำกันเหมือนอย่างนี้ ลักษณะขึ้นต้นพระนามพระเจ้าแผ่นดินในพระสุพรรณบัฏ พึ่งมาเปลี่ยนเป็นเฉพาะพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้สืบมา

พระนามพระเจ้าแผ่นดิน ตามที่ใช้ในบานแผนกกฎหมาย โดยมากใช้แต่คำ “สมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว” ไม่ได้ออกพระนามเฉพาะพระองค์ สร้อยพระนามก็ดูมักจะแต่งแต่โดยต้องการให้ไพเราะจึงผิดๆ กันไป แม้พระนามที่ขึ้นต้น บางทีก็หันไปเอาความไพเราะเป็นสำคัญ จึงมีพระนามที่ใช้ในบานแผนกกฎหมายอยู่หลายแห่งซึ่งได้รู้เป็นแน่ว่า มิใช่พระนามที่ใช้เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ที่เป็นดังนี้เป็นด้วยอาลักษณ์ (หรือผู้ใด) ที่มีหน้าที่แต่งบานแผนกกฎหมายแต่โบราณ ไม่ไม้คิดการยืดยาวมาถึงประโยชน์ของคนภายหลัง คิดเฉพาะแต่เวลานั้นเสมอจะเรียกว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” อย่างให้เพราะๆ ให้เป็นเกียรติยศ คติที่ใช้พระนามตามที่ขึ้นต้นพระสุพรรณบัฏ จะมีแต่ในบางสมัยหรือในผู้แต่งบานแผนกแต่บางคน จึงเห็นได้ในบานแผนกกฎหมาย ที่ใช้พระนามพระรามาธิบดี มีมากแต่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับพระเจ้าบรมโกศ ใช้พระนาม พระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตร แต่ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นมากกว่าแผ่นดินอื่น

ข้อวินิจฉัยเรื่องลักษณะพระนามต่างๆ ของพระเจ้าแผ่นดินในชั้นกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ ว่าตามความเห็นของข้าพเจ้า จะผิดชอบอย่างไรแล้วแต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีจะตัดสินเทอญ


..........................................................................................................................................................






Create Date : 29 สิงหาคม 2550
Last Update : 29 สิงหาคม 2550 9:44:59 น. 2 comments
Counter : 15440 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


ทางไมตรีกับกรุงสุโขทัย

ได้แสดงมาในคำอธิบายตอนก่อนแล้วว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เป็นเวลาพระเจ้าฤไทยไชยเชษฐ ผู้เป็นราชโอรสของพระเจ้าขุนรามคำแหงครองราชย์สมบัติอยู่ ณ กรุงสุโขทัย และต่อมาพระมหาธรรมราชาลิไทยได้ครองราชย์สมบัติครองกรุงสุโขทัย ร่วมสมัยในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีอีกพระองค์หนึ่ง แต่ความไม่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยา แล้วต้องรบพุ่งหรือทำอย่างไรกับนครสุโขทัย ศิลาจารึกและเรื่องราวอันใดที่ได้พบทางสุโขทัย แม้ในจารึกครั้งพระมหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งทำขึ้นเมืองสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้ว ก็ไม่กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยา

ข้าพเจ้าได้ค้นหาเรื่องที่กล่าวถึงความเกี่ยวข้องกัน ในระหว่างกรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัย ตอนนี้พบในหนังสือจามเทวีวงศ์ ซึ่งแปลออกเป็นพงศาวดารหริภุญไชยแห่งหนึ่งว่า “พระเจ้าอรรถลิไทยบพิตรได้เสวยราชสมบัติในกรุงสุโขทัย พระองค์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม ได้ปฏิบัติพระพุทธสิหิงค์เป็นนิจกาล เพลินไปในราชกุศลฝ่ายเดียว มิได้คิดราชกิจการณรงค์สงคราม กิตติศัพท์ก็ปรากฏไปในนานาประเทศ ครั้งนั้นพระเจ้ารามาธิบดีเสวยราชสมบัติในกรุงอโยธยามหานคร ทราบเหตุดังนั้นแล้ว ก็ยกจัตุรงคโยธามาล้อมเมืองทวิสาขนคร (หมายความว่าเมืองแพรก คือเมืองสรรคบุรีเดี๋ยวนี้) อันเป็นเมืองกิ่งน้อยแห่งเมืองสุโขทัยนั้นได้แล้ว ยังสมเด็จพระราชโอรสทรงพระนามว่า เดชะกุมาร (หนังสืออื่นๆ เรียกวัติเตชะอำมาตย์ เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ หมายความว่า พระบรมราชาพงั่ว) ให้เสวยราชสมบัติในทวิสาขนครแล้ว พระองค์ก็เสด็จกลับมายังกรุงศรีอโยธยา ฝ่ายสมเด็จพระอรรถลิไทยจึงวิงวอนไปด้วยทางพระราชไมตรี ขอไถ่เมืองทวิสาขนครแก่พระเจ้ารามาธิบดี พระรามาธิบดีให้ตั้งสัตย์สาบานแล้ว ก็คืนให้เมืองทวิสาขนครแก่พระเจ้าอรรถลิไทย” ดังนี้

พบอีกแห่งหนึ่งในหนังสือชินกาลมาลินีว่า “พญาลิไทยราชได้เสวยราชสมบัติเมืองสุโขทัยราชธานีแทนสมเด็จพระบิดา ก็สักการบูชารักษาซึ่งพระสิหฬปฏิมากรพระพุทธรูป อันมาแต่ลังกาให้คงไว้ในเมืองสุโขทัย มีพระนามปรากฏชื่อว่าพญาธรรมราช เหตุพระองค์ได้เล่าเรียนซึ่งพระไตรปิฎก อันเป็นพระพุทธวจนะของสมเด็จพระมหากรุณาเจ้า ในกาลนั้นดังได้ยินมา – ชยนาทปุรมฺหิ ทุพภิกฺ ขภยฺ ชาตํ อันว่าภัยคือทุภิกข ข้าวแพงก็บังเกิดในเมืองชัยนาทบุรี (ที่จริงเมืองชัยนาทเก่ากับเมืองสรรค์ ใกล้ชิดเกือบนับว่าเป็นเมืองเดียวกันได้) อโยชฺฌราชา อันว่าพระมหากษัตริย์ในกรุงอโยชฌนคร รามาธิบดี ทรงพระนามชื่อว่า สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี กมฺโพชฺชโต อาคนฺตฺวา เสด็จมาแต่กรุงกัมพูชามหานคร พระองค์มาถือเอาซึ่งเมืองชัยนาทบุรีนั้นได้ ธญฺญวกฺกยเลเสน ด้วยเล่ห์กลกระทำเป็นพวกพ่อค้ามาขายข้าว ครั้นได้เองแล้ว พระองค์จึงตั้งไว้ซึ่งอำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อวัติเตชะอำมาตย์ อันว่าราชการอยู่เมืองสุวรรณภูมิ เอามาไว้ให้เป็นใหญ่ในเมืองชัยนาทบุรี ส่วนพระองค์ก็เสด็จไปสู่กรุงอโยชฌนครในลำดับนั้น อันว่าพญาธรรมราชาจึงส่งเครื่องบรรณาการเป็นอันมาก ไปถวายแก่สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี แล้วจึงให้ขอเอาเมืองชัยนาทบุรี พระเจ้ารามาธิบดีก็พระราชทานให้แก่พญาธรรมราช ฝ่ายว่าวัติเตชะอำมาตย์นั้นก็กลับคืนมาอยู่ในเมืองสุวรรณภูมิดังเก่า” ดังนี้ นี่เป็นคำของชาวเชียงใหม่

ยังมีเรื่องประกอบในหนังสืออื่นอีก ๒ แห่ง คือในหนังสือพระราชพงศาวดารทั้งฉบับพิมพ์ ๒ เล่ม และฉบับนี้ (ซึ่งเป็นหนังสือแต่งภายหลังแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีมากว่า ๓๐๐ ปี) เมื่อกล่าวถึงชื่อเมืองประเทศราชที่ขึ้นกรุงศรีอยุธยา ครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี มีชื่อเมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์ ว่าเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาทั้ง ๗ เมือง

อีกแห่งหนึ่งในกฎหมายลักษณะลักพา มรพระราชกฤษฎีกาของสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดีที่ ๑ ตั้งเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๗๑๗ พ.ศ. ๑๘๙๙ (ควรจะเป็น ๑๘๙๘) ภายหลังสร้างพระนครศรีอยุธยาได้ ๕ ปี มีเนื้อความว่า นายสามขลากราบบังคมทูลด้วยเรื่องข้าหนีเจ้าไพร่หนีนายว่า “มีผู้เอาไปถึงเฉลี่ยงสุโขทัย ทุ่งย้าง บางยม สองแก้ว(สองแคว) สระหลวง ชาวดงราว กำแพงเพชร เมื่อท่านอันอันหนึ่งอันเดียวกันดังนี้ และมีผู้เอาทาวเอาไพร่ท่านมาขาย และเจ้าทาสเจ้าไพร่แห่งพระนครศรีอยุธยาพบและมากล่าวพิพาทว่า ให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายนั้นคืน ข้าพระพุทธเจ้าขอเรียนพระราชปฏิบัติ” จึงมีรับสั่งว่า “ขายกันแต่ในพระนครศรีอยุธยาดังนี้ และสูบังคับให้ผู้ไถ่ไล่เอาเบี้ยแก่ผู้ขายสิยังยาก อย่าว่าแต่ข้าหนีเจ้าไพร่หนีนาย และเขาลักเอาไปขายถึงเฉลี่ยงสุโขทัย ทุ่งย้าง บางยม สองแก้ว สระหลวง ชาวดงราว กำแพงเพชร ใต้หล้าฟ้าเขียว ขาดจากมือเจ้าทาสเจ้าไพร่ไปไกล จะมาพิพาทฉันเมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสุพรรณบุรี สะพง คลองพลับ แพรก ศรีราชาธิราช พระนครพรหมนั้น บมิชอบเลย” กฎหมายบทนี้ตั้งภายหลังพระมหาธรรมราชาลิไทยได้ราชสมบัติปี ๑

มีข้ออันควรที่ผู้ศึกษาโบราณคดีจะสังเกตอย่างหนึ่ง ด้วยชื่อเมืองพิษณุโลกในจารึกครั้งพระเจ้าขุนรามคำแหงเรียกว่าเมือง “สระหลวงสองแคว” มาในกฎหมายครั้งสมเด็จพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี ก็ยังเรียกว่าเมืองสระหลวงสองแคว ที่เรียกว่าเมืองพิษณุโลกน่าจะเป็นชื่อใหม่ เรียกกันในแผ่นดินหลังๆ มาดอกกระมัง

เนื้อความที่ได้ในหนังสือต่างๆ ดังแสดงมานี้ เมื่อรวบรวมเข้าพิจารณาควรเชื่อได้เป็นแน่ข้อหนึ่งว่า กรุงศรีอยุธยากับกรุงสุโขทัยได้มีความตกลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยประการอันใดอันหนึ่ง และเชื่อได้เป็นแน่อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อปลายรัชกาลพระเจ้าไทยไชยเชษฐ ในกรุงสุโขทัยมีเหตุหยุกหยิกกันภายในไม่เรียบร้อย และเมื่อพระมหาธรรมราชลิไทยได้ราชสมบัติแล้ว ไปรื่นรมย์เสียในทางข้างบำรุงพระพุทธศาสนา กำลังทแกล้วทหารเสื่อมทรามลง ข้อเหล่านี้เชื่อได้ว่าจริง ด้วยความที่กล่าวในศิลาจารึกครั้งพระมหาธรรมราชาลิไทยเป็นพยานอยู่

น่าเอาความในหนังสือจามเทวีวงศ์ และหนังสือชินกาลมาลินีประกอบเป็นข้อยุติว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยา และประกาศอิสระแล้ว ตั้งมั่นเฉยอยู่สัก ๔ ปี จนถึงปีมะเมีย จุลศักราช ๗๑๖ พ.ศ. ๑๘๙๗ เมื่อพระเจ้าฤไทยไชยเชษฐประชวรหนัก พระมหาธรรมราชาลิไทยยกกองทัพมาเอาราชสมบัติ เกิดรบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้นในเมืองสุโขทัย เป็นที สมเด็จพระรามาธิบดีจึงยกกองทัพขึ้นไปยึดเอาเมืองสรรค์ พอพระมหาธรรมราชาลิไทยได้ราชสมบัติ ให้มาขอเป็นไมตรีทำนองยอมถวายบรรณาการอันใดแก่สมเด็จพระรามาธิบดี เช่น ถวายราชธิดา เป็นต้น จึงว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และพระนครทั้งสองจึงเป็นไมตรีกันแต่นั้นมา จนตลอดรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเรื่องจริงจะเป็นเช่นนี้


เขตแดนกรุงศรีอยุธยา

ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ มีพระยาประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา ๑๖ เมือง พิเคราะห์เห็นว่าเมืองเหล่านั้นไม่ได้ขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างเดียว เมืองพิษณุโลก (คือเมืองสระหลวงสองแคว) เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก (คือเมืองศรีสัชนาลัย) เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์ ๗ เมืองนี้ยังอยู่ในอาณาเขตของพระมหาธรรมราชาลิไทย จะเป็นเหตุด้วยพระมหาธรรมราชายอมถวายบรรณาการขอเป็นไมตรีดังกล่าวมาแล้ว ผู้แต่งหนังสือพระราชพงศาวดารภายหลังจึงถือว่า เมื่อเหล่านี้ขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิ่ง ๒ เมืองนี้ แต่เดิมเคยขึ้นกรุงสุโขทัยจริง แต่เวลานั้นอยู่ในอาณาเขตของพระยาอู่ เมืองหงสาวดีเป็นอิสระมาแต่ครั้งสุโขทัย เมืองจันทบุรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เมืองมะละกา เมืองชวา (ได้ความตามหนังสือเรื่องเมืองไทยของมองสิเออร์ลาลูแบร์ เข้าใจว่าเมืองยะโฮนั้นเอง) ๕ เมืองนี้มีหลักฐานเชื่อได้ว่า ครั้งนั้นขึ้นกรุงศรีอยุธยาอาณาเขตของสมเด็จพระรามาธิบดี ข้างเหนือน่าจะอยู่เพียงเมืองชัยนาท ข้อนี้มีพยานที่ให้พระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรี ครั้งนั้นคงจะเป็นเมืองหน้าด่านอยู่ต่อแดนขอมและแดนนครสุโขทัย


เรื่องรบขอม

สมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ ๒ ปี ก็เกิดสงครามกับเมืองขอม เมื่อปีมะโรง จุลศักราช ๗๑๔ พ.ศ. ๑๘๙๕

เมืองขอมหรือที่เรียกภายหลังว่ากรุงกัมพูชา ในเวลาเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น เห็นจะหมดพวกที่เป็นเชื้อวงศ์ชาวอินเดียนานมาแล้ว ได้ความตามหนังสือพงศาวดารเขมรว่า พระเจ้าแผ่นดินทรงพระนามว่าสมเด็จพระบรมนิพัทธบท ทรงราชย์มาแต่ปีจอ จุลศักราช ๗๐๘ พ.ศ. ๑๘๘๙ ทิวงคตลงในปีที่สร้างกรุงศรีอยุธยานั้น สมเด็จพระบรมลำพงศ์ราชาบุตรจึงได้รับราชสมบัติ และเป็นผู้ที่ทำศึกกับกรุงศรีอยุธยา ในหนังสือพระราชพงศาวดารอ้างเหตุสงครามคราวนี้ว่า เพราะขอมแปรพักตร์

น่าจะเข้าใจว่า เมื่อก่อนสมเด็จพระรามาธิบดีจะประกาศเป็นอิสรภาพนั้น คงจะได้ทำไมตรีมีความเข้าพระทัยกับสมเด็จพระบรมนิพัทธบท ซึ่งครองประเทศขอมอยู่ในเวลานั้น เห็นว่าไม่เป็นศัตรู จึงได้ประกาศตั้งอิสรภาพ ครั้นสมเด็จพระบรมลำพงศ์ราชาได้รับราชสมบัติจะไม่รักษาไมตรีที่มีมาแต่ก่อน บางทีจะคิดร้ายต่อสมเด็จพระรามาธิบดี สมเด็จพระรามาธิบดีจึงชิงส่งกองทัพลงไปตีพระนครหลวง ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าไม่มีกำลังแข็งแรงเท่าใดนัก ชั้นแรกให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งเป็นผู้รักษาพระราชอาณาเขตทางตะวันออก เป็นแม่ทัพลงไปตีเมืองขอม สมเด็จพระราเมศวรยังไม่ชำนาญการสงครามไปเพลี่ยงพล้ำลง ต้องเชิญสมเด็จพระบรมราชาออกไปเป็นแม่ทัพใหญ่ อันนี้น่าจะเป็นต้นเหตุที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายว่า สมเด็จพระราเมศวรไม่เข้มแข็งในการรบพุ่งเหมือนสมเด็จพระบรมราชา ถึงมีผลต่อไปในรัชกาลข้างหน้า ตามหนังสือพงศาวดารเขมรว่า กองทัพไทยลงไปล้อมอยู่ปี ๑ จึงได้พระนครหลวง สมเด็จพระบรมลำพงศ์ราชาทิวงคตเมื่อเสียเมือง ไทยได้ตั้งราชโอรสของสมเด็จพระบรมลำพงศ์ราชา ชื่อปาสัตให้ครองกรุงกำพูชา (เข้าใจว่าให้เป็นเจ้าประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา) แล้วกวาดต้อนครอบครัวเข้ามาเป็นอันมาก


ทางไมตรีกับต่างประเทศ

ทางไมตรีกับต่างประเทศอื่น ในสมัยเมื่อสร้างกรุงศรีอยุธยานั้น ฝรั่งและญี่ปุ่นยังไม่มีมาค้าขาย แต่การไปมาค้าขายกับเมืองจีน เมืองแขก เมืองจาม เมืองชวา มลายู ตลอดจนอินเดีย เปอร์เซีย และลังกา ไปมาถึงกันนานมาแล้ว พวกเหล่านั้นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยแล้วก็คงจะมีประเพณีที่ชอบให้ชาวต่างประเทศไปมาค้าขาย ดูเป็นความนิยมมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย จนตราบเท่าทุกวันนี้ แต่ส่วนจีนนั้นได้ความตามหนังสือจีนเรื่องยี่จั๊บสี่ซื้อ ว่าด้วยนานาประเทศครั้งพระเจ้าแผ่นดินจีนวงศ์เหม็ง ว่าเมื่อครั้งพระเจ้าแผ่นดินหงบู๊ อันเป็นต้นราชวงศ์เหม็งในปลายรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดี พระเจ้ากรุงจีนเมื่อทราบว่ากรุงศรีอยุธยาตั้งเป็นอิสรภาพ ก็แต่งให้หลุยจงจุ่นเป็นราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีถึงกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้แต่งให้ราชทูตออกไปเมืองจีน พร้อมกับราชทูตจีนคราวนั้นด้วย


..................................................................................................................................................


คัดจาก พระอธิบายท้ายพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา
พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 29 สิงหาคม 2550 เวลา:9:46:09 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ
เยี่ยมเลยครับ
 
 

โดย: ลุงนายช่าง วันที่: 2 กันยายน 2550 เวลา:20:52:30 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com