กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เหตุเกิดเมื่อศักราช ๙๐๗ พระเทียรราชาได้ราชสมบัติ








พระเทียรราชา
รับบทโดย นายศรัณยู วงศ์กระจ่าง ในภาพยนตร์เรื่อง สุริโยไท



....................................................................................................................................................


ก. อธิบายเรื่องพงศาวดาร


เรื่องพระเทียรราชามีปรากฏในหนังสือปิ่นโตโปรตุเกตแต่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๑๕๗ เรื่องหนึ่ง มีในพระราชพงศาวดารซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชดำรัสสั่งให้พระโหราธิบดีแต่งเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๒๒๓ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ เปรียญ) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติเป็นผู้ได้ต้นฉบับมา หอพระสมุดฯจึงเรียกว่า "พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ" เรื่อง ๑ มีในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จพระวันรัตนวัดพระเชตุพนฯแต่งในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสทรงแต่งต่อ จึงเรียกกันว่า "พระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส" ฉบับ ๑

ในบันทึกนี้จะเอาเนื้อความตามพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ซึ่งเรื่องพิสดารกว่าฉบับอื่น มาตั้งเป็นเค้าสำหรับวินิจฉัย และแบ่งปันเป็นข้อๆ หมายเลขไว้โดยลำดับให้สะดวกแก่การวินิจฉัย เรื่องพงศาวดารตอนพระเทียรราชามีบรรยายดังต่อไปนี้คือ

๑. เมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๘๘ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เสร็จการสงครามแล้วเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๔ ค่ำ เมื่อมากลางทางเกิดประชวรพระโรคปัจจุบันสวรรคต (ในเดือน ๕) ปีกุน จุลศักราช ๘๘๙

๒. สมเด็จพระไชยราชาธิราชมี (แต่) พระราชโอรสเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ พระสนมเอก ๒ พระองค์ ทรงพระนามพระแก้วฟ้า (พงศาวดารบางฉบับเรียกว่า พระยอดฟ้า) พระชันษาได้ ๑๑ ปี พระองค์ ๑ พระศรีศิลป์ พระชันษาได้ ๕ ปี พระองค์ ๑ พระแก้วฟ้าได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดิน

๓. พระแก้วฟ้าทรงพระเยาว์จะว่าราชการแผ่นดินเองยังไม่ได้ ท้าวศรีสุดาจันทร์พระมารดาว่าราชการแผ่นดินแทนพระองค์

๔. การที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินครั้งนั้น พระเทียรราชาเชื้อพระวงศ์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ปินโตโปรตุเกตว่าเป็นพระอนุชาต่างพระชนนีกัน) มีความหวั่นหวาดเกรงว่า ถ้าคงเป็นคฤหัสถ์อยู่จะไม่พ้นภัยอันตราย พอเสร็จการถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้วจึงออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน (ที่ตำบลท่าทรายในพระนคร)

๕. พระแก้วฟ้าเสวยราชย์ (เป็นปรกติ) มาได้ปี ๑ ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวดจุลศักราช ๘๙๐ เสด็จออกสนามพร้อมด้วยมุขมาตย์มนตรี มีรับสั่งให้เอาช้าง(ต้น)บำรูงากัน เผอิญช้างตัวชื่อพระยาไฟนั้นงาหักเป็น ๓ ท่อน และต่อมาเกิดนิมิตรอันเป็นอัปมงคลอีกหลายอย่าง

๖. อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์ออกไปเที่ยวเล่น ณ พระที่นั่งพิมานรัตยาหอพระข้างหน้า เห็นพันบุตรศรีเทพพนักงานเฝ้าหอพระ นางเกิดสมัครรักใคร่ (ครั้นเมื่อกลับคืนเข้าวัง)จึงให้ข้าหลวงเอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปประทาน ฝ่ายพันบุตรศรีเทพรู้ใจนาง ก็ฝากดอกจำปาให้สาวใช้เข้าไปถวายตอบแทน ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์จึงได้สั่งพระยาราชภักดีให้ย้ายพันบุตรศรีเทพเข้าไปเป็นตำแหน่งขุนชินราช(รักษา) พนักงานเฝ้าหอพระข้างใน แล้วลอบเป็นชู้กับขุนชินราชมาช้านาน

๗. ท้าวศรีสุดาจันทร์อยากจะให้ขุนชินราชชายชู้ได้ครองราชสมบัติ จึงเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นขุนวรวงศาธิราช ให้มีตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาเลขสมสังกัดพรรค หวังจะให้มีกำลังมากขึ้น (ปิ่นโตว่าให้เป็นผู้บังคับทหารรักษาพระราชวัง) และให้อยู่ที่จวนริมศาลาสารบาญชี(ใกล้พระราชวังข้างด้านหน้า)

๘. ต่อมาท้าวศรีสุดาจันทร์สั่งให้ปลูกจวน (ศาลา) ที่ว่าการของขุนวรวงศาธิราช (ขึ้นในพระราชวัง) ที่ริมประตูดินใกล้ต้นหมัน และให้เอาเตียงอันเป็นราชอาสน์ไปตั้งไว้สำหรับขุนวรวงศาธิราชนั่ง หวังจะให้ข้าราชการทั้งปวงอ่อนน้อมยำเกรง

๙. อยู่มาวันหนึ่ง (เจ้า)พระยามหาเสนาบดีที่พระสมุหกลาโหม กับพระยาราชภักดี (รู้ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราช และให้กำลังแก่ชู้ถึงปานนั้น) พูดกันว่า เมื่อแผ่นดินทุรยศเช่นนี้เราจะคิดประการใด รุ่งขึ้นท้าวศรีสุดาจันทร์มีรับสั่งให้หาเจ้าพระยามหาเสนาบดีเข้าไปเฝ้าที่ประตูดิน (แกล้งหน่วงเหนี่ยวไว้) ครั้นกลับออกมาเวลาค่ำมีผู้ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาบดีตาย

๑๐. ขณะนั้นท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น จึงตรัสแก่ข้าราชการทั้งปวง ว่าพระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์ สาละวนแต่จะเล่น หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ยังไม่ปรกติ (นางจะว่าราชการต่อไปแต่โดยลำพังเกรงจะเหลือกำลัง) คิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปกว่าพระแก้วฟ้าจะทรงพระเจริญ ข้าราชการทั้งปวงจะเห็นประการใด พวกข้าราชการของนางก็รับว่าเห็นชอบด้วย นางจึงให้กรมวังเอาพระราชยานไปรับขุนวรวงศาธิราชเข้าไปราชาภิเษกยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชจึงตั้งให้นายจันบ้านมหาโลกผู้น้องเป็นพระมหาอุปราช แล้วให้มีตราให้หาผู้ว่าราชการหัวเมืองเข้ามา (ถือน้ำกระทำสัตย์ตามประเพณี)

๑๑. เมื่อขุนวรวงศาธิราชได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงคบคิดกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ให้คุมสมเด็จพระแก้วฟ้าไปปลงพระชนม์เสีย ณ วัดโคกพระยา เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๘๙๑ สมเด็จพระแก้วฟ้าครองราชสมบัติได้ปี ๑ กับ ๒ เดือน

๑๒. ครั้นขุนพิเรนทรเทพเชื้อพระวงศ์ กับขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หา หลวงศรียศ(ชาว)บ้านลานตากฟ้า(แขวงเมืองสุพรรณบุรี) คิดกันจะกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ และถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชาที่ทรงผนวช ครั้นพร้อมใจกันแล้วจึงไปทูลความแก่พระเทียรราชา พระเทียรราชาเห็นชอบด้วย แล้วปรึกษากันต่อไปว่าควรจะเสี่ยงเทียนดูเสียก่อน ให้รู้นิมิตรว่าจะทำการสำเร็จหรือไม่ ขุนพิเรนทรเทพไม่เห็นชอบด้วย แต่ต่อมาในเวลาค่ำวันหนึ่งพระเทียรราชากับคนทั้ง ๓ ขืนพากันไปเสี่ยงเทียนที่ในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐาน ขุนพิเรนทรเทพไปเห็นเข้าก็โกรธ ว่าจะทำการใหญ่โตถึงเพียงนี้ยังจะมามัวเสี่ยงทาย ว่าแล้วคายชานหมากทิ้งไปด้วยกำลังขัดใจ เผอิญชานหมากตรงไปถูกเปลวเทียนเล่มขุนวรวงศาธิราชดับ แลละขณะนั้นพอดีมีพระภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปในพระอุโบสถ (เห็นเสี่ยงเทียนกัน) อวยพรว่าให้สำเร็จดังปรารถนาเถิด ก็เห็นเป็นศุภนิมิตรมีความยินดีทั้ง ๔ คน

๑๓. เมื่อเสี่ยงเทียนแล้วประมาณ ๑๕ วัน พอมีข่าวบอกมาจากเมืองลพบุรี ว่าช้างพลายตัวใหญ่รูปงามเข้ามาติดโขลงหลวง (เจ้าพระยาจักรี)สมุหนายกนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามธรรมเนียม ขุนวรวงศาธิราชสั่งให้ปกโขลงช้างเข้ามาจับที่เพนียดวัดซอง จะไปดูคล้องช้างนั้น

๑๔. ขุนพิเรนทรเทพเห็นได้ช่องจึงคิดกับพรรคพวกที่ร่วมใจ จะกำจัดขุนวรวงศาธิราชเวลาออกจากพระราชวังไปดูคล้องช้าง ขณะนั้นพอพระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัยเข้ามาถึงกรุงฯ ขุนพิเรนทรเทพจึงไปชักชวนเข้าเป็นพรรคพวกอีก ๒ คน และได้หมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ)เข้าร่วมคิดด้วยอีกคน ๑ คิดกันกะการจะทำร้ายขุนวรวงศาธิราชให้สิ้นทั้งพรรคพวก จึงให้หมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ)ปลอมเป็นทนายเลือก (ที่ตั้งจุกช่องในทางเสด็จ) ไปคอยดักยิงอุปราชจันเมื่อเวลามาเพนียด ส่วนขุนพิเรนทรเทพกับพระยาสวรรคตโลก พระยาพิชัย หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา(ในราชการ) ลงเรือคนละลำพลพายมีเครื่องศัตราวุธซ่อนในเรือครบมือ ไปแต่เวลาดึก ไปจอดซุ่มอยู่ที่คลองบางปลาหมอ (สืบไม่ได้ความว่าอยู่ตรงไหน แต่เห็นจะเป็นคลองแยกจากคลองเมืองทางฝั่งเหนือ อยู่พอพ้นเขตพระราชวังไปทางด้านตะวันออก เดี๋ยวนี้สูญเสียแล้ว) ขุนอินทรเทพนั้น (เป็นเวร) ลงเรือตามเสด็จในขบวน ก็เตรียมไปพร้อมสรรพเช่นเดียวกัน

๑๕. ครั้นถึงวันกำหนด เวลาเช้าตรู่ ขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ พาพระศรีศิลป์กับธิดาที่เกิดใหม่ลงเรือพระที่นั่ง (ที่ท่าวาสุกรี) ออกจากท่าไป พอพ้นคลองสระบัว พวกที่ซุ่มคอยทำร้ายก็พากันเอาเรือออกสกัดหน้า ขุนวรวงศาธิราชเห็นเรือแปลกประหลาด ก็ร้องถามไปว่า "เรือใครเข้ามา" ขุนพิเรนทรเทพร้องตอบว่า "กูจะมาเอาชีวิตมืงทั้งสอง" ขณะนั้นเรือขุนอินทรเทพที่ไปในขบวนก็ขนาบขึ้นไป ช่วยกันกลุ้มรุมจับขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์และธิดาฆ่าเสียในที่นั้น ส่วนอุปราชจันก็ถูกหมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ) ยิงตายกลางทาง ในเวลาเมื่อจะมาคอยรับเสด็จ ณ เพนียด ขุนพิเรนทรเทพสั่งให้เอาศพคนร้ายทั้งนั้นไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้ง

๑๖. เมื่อกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์แล้ว ขุนพิเรนทรเทพกับขุนอินทรเทพและขุนนางทั้งปวงก็กลับเข้าไปรักษาพระราชวัง แล้วสั่งให้พระรักษ์มนเทียรกับหลวงราชนิกูล เอาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปยังวัดราชประดิษฐาน ทูลอัญเชิญพระเทียรราชาให้ลาผนวชแล้วรับเสด็จเข้าสู่พระราชวัง ข้าราชการทั้งปวงก็พร้อมถวายราชสมบัติราชาภิเษก ถวายพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

๑๗. เมื่อเสร็จการราชาภิเษกแล้ว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิโปรดฯให้พระราชครูทั้ง ๔ ปรึกษาความชอบของผู้ที่ได้ร่วมคิดกันกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ แล้วปูนบำเหน็จตามลำดับกันคือ สถาปนาขุนพิเรนทรเทพ เป็นเจ้าขันธสีมาครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา เหตุด้วยฝ่ายบิดาเป็นเชื้อราชวงศ์พระร่วง ฝ่ายมารดาเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระไชยราชาธิราช ให้สำเร็จราชการหัวเมืองเหนือทั้งปวง และพระราชทานพระสวัสดิ์ราชธิดา ซึ่งทรงสถาปนาเป็นพระวิสุทธิ์กษัตรี ให้เป็นพระมเหสีด้วย

ส่วนผู้มีความชอบนอกนั้น ให้ขุนอินทรเทพเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้หลวงศรียศเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม ให้หมื่นราชเสน่หา(ในราชการ)เป็นเจ้าพระยามหาเทพ พระราชทานพระราชธิดาเกิดแต่พระสนมให้เป็นภรรยาด้วยทั้ง ๓ คน หมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ)นั้น ให้เป็นพระยาภักดีนุชิต และเลื่อนพระยาสวรรคโลก พระยาพิชัย เป็นเจ้าพระยาทั้งสองคน แล้วทรงแช่งไว้มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำร้าย แก่ผู้ที่ได้บำเหน็จความชอบทั้งนั้นเป็นอันมาก เรื่องพระเทียรราชาได้ราชสมบัติมีเนื้อความในหนังสือพงศาวดารดังแสดงมา

แต่ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส แตกต่างกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอยู่ ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ในฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสร็จไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๙๐๘ เสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ มายังกรุงศรีอยุธยา สวรรคตในเดือน ๖ ปีมะแม จุลศักราช ๙๐๙ ช้ากล่าวที่กล่าวในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ๒๐ ปี (ตามที่เคยสอบสวน ศักราชตามฉบับหลวงประเสริฐถูกถ้วนกว่าฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ)

ข้อ ๒ ในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ ประชวรเป็นโลกปัจจุบันสวรรคตกลางทาง แต่ฉบับหลวงประเสริฐกล่าวความว่าเสด็จกลับถึงกรุงฯแล้วจึงสวรรคต และข้อนี้ปิ่นโตโปรตุเกตุยังกล่าวเป็นอย่างอื่น ว่าเมื่อพระไชยราชาธิราชเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่นั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์อยู่ข้างหลังลอบคบชู้จนมีครรภ์ ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับ นางเกรงจะเกิดความ จึงลอบวางยาพิษในน้ำนมเครื่อง สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยยาพิษนั้นสวรรคตเมื่อเสด็จกลับถึงกรุงฯ ได้ ๕ วัน

ข้อ ๓ ในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าเสวยราชย์อยู่ปี ๑ กับ ๒ เดิอน นั้นผิด คำนวนเวลาตามเรื่อง ควรจะเป็น ๒ ปี กับ ๓ เดือน อนึ่งที่กล่าวว่าขุนวรวงศาธิราชได้ครองราชสมบัติอยู่ ๕ เดือนนั้น ในฉบับหลวงประเสริฐว่า ขุนวรวงศาธิราชครองราชสมบัติอยู่เพียง ๔๒ วัน ผิดกันอยู่ดังนี้



ข. วินิจฉัยเรื่องพระเทียรราชาได้ราชสมบัติ


ความวินิจฉัยต่อไปนี้ จะว่าเป็นข้อๆตามลำดับเลขในคำอธิบายที่กล่าวมาแล้ว


๑. วินิจฉัยเรื่องสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ในหนังสือพระราชพงศาวดารทุกฉบับความยุติว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อวันสิ้นเดือน ๔ และ(ฉบับหลวงประเสริฐว่า) สวรรคตในเดือน ๖ พิเคราะห์ดูระยะเวลากว่าเดือนหนึ่ง เห็นว่าจะประชวรมากลางทาง แต่เสด็จมาถึงกรุงฯแล้วจึงสวรรคต และมีเค้าเงื่อนว่าจะได้ทรงสั่งมอบเวรราชสมบัติ ดังจะวินิจฉัยต่อไปในข้อหน้า


๒. วินิจฉัยเรื่องพระแก้วฟ้ารับรัชทายาท พระแก้วฟ้าเป็นพระราชบุตรของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เจ้าจอมมารดาเป็นที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งในกฏหมายทำเนียบศักดินากำหนดว่าเป็นตำแหน่ง "นางท้าวพระสนมเอก" มีในทำเนียบ ๔ คนด้วยกัน เป็นที่ท้าวอินทรสุเรนทร์คน ๑ ท้าวศรีสุดาจันทร์คน ๑ ท้าวอินทรเทวีคน ๑ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์คน ๑ พระสนมเอกที่บรรดาศักดิ์เป็นนางท้าวนี้ ยังมาจนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า น้องสาวพระเพทราชาคน ๑ ได้เป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าแก้ว สมเด็จพระเพทราชาทรงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเสนาบริรักษ์

ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าพระแก้วฟ้านั้น เดิมเป็นเพียงชั้นพระองค์เจ้า ด้วยเป็นลูกพระสนม ตรงกับราชกุมารศักดิ์อันมีอยู่ในกฏมณเทียรบาลว่า

พระราชกุมารเกิดด้วยพระอัครมเหสี เป็นหน่อพระพุทธเจ้า
พระราชกุมารเกิดด้วยแม่อยั่วเมือง เป็นมหาอุปราช
พระราชกุมารเกิดด้วยลูกหลานหลวง เป็นลูกเธอกินเมืองเอกโท
พระราชกุมารเกิดด้วยพระสนม เป็นหน่อพระเยาวราช

แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ เรียกนามเจ้าจอมมารดาพระแก้วฟ้าว่า "แม่ญั่วศรีสุดาจันทร์" และในฉบับสมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯเรียกว่า "แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์" อันเห็นได้ว่าเขียนพลาดมาแต่แม่อยั่วเมืองนั้นเอง เป็นเค้าเงื่อนให้เห็นว่าเจ้าจอมมารดาของพระแก้วฟ้านั้นเดิมเป็นพระสนมเอก แล้วได้เลื่อนขึ้นเป็นแม่อยั่วเมือง ตำแหน่งชั้นรองพระอัครมเหสีลงมา น่าสันนิษฐานว่า เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงประชวรนั้น (จะเป็นในเวลาเสด็จมาในระหว่างทางก็ตามหรือเมื่อเสด็จมาถึงกรุงฯแล้วก็ตาม) ทรงปรารภถึงการที่จะสืบสันตติวงศ์จึงทรงสถาปนาพระเจ้าลูกยาเธอ ซึ่งมีอยู่แต่ ๒ พระองค์และยังทรงพระเยาว์อยู่ด้วยกัน ให้เป็นพระแก้วฟ้ามหาอุปราชพระองค์ ๑ พระศรีศิลป์พระองค์ ๑ และให้เลื่อนท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอกขึ้นเป็นแม่อยั่วเมือง ให้สมกับที่เป็นพระชนนีของพระมหาอุปราชดังนี้ ครั้นสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ข้าราชการทั้งปวงจึงถวายราชสมบัติแก่พระแก้วฟ้าตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระไชยราชาธิราช


๓. วินิจฉัยเรื่องผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าขึ้นเสวยราชย์พระชันษาได้เพียง ๑๑ ปี คงต้องมีผู้ว่าราชการแผ่นดินต่างพระองค์ แต่ผู้ซึ่งจะสำเร็จราชการแผ่นดินเช่นนั้นมิใช่จะเป็นได้โดยลำพัง เป็นพระญาติของพระเจ้าแผ่นดินหรือเป็นข้าราชการที่สูงศักดิ์ ต้องมีผู้ตั้งให้เป็น ดังเช่นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนได้ดำรัสสั่งตั้งไว้ก็ดี หรือถ้าไม่ได้ทรงสั่งตั้งผู้ใดไว้เสนาบดีและข้าราชการทั้งปวงต้องสมมติมอบอำนาจให้ผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้

ตามความที่กล่าวมาในข้อก่อนว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะได้ทรงสถาปนาพระแก้วฟ้าเป็นรัชทายาท และเลื่อนท้าวศรีสุดาจันทร์ขึ้นเป็นแม่อยั่วเมืองเนื่องในการสืบสันตติวงศ์นั้น พอจะสันนิษฐานต่อไปได้อีกข้อ ๑ เพียงว่า คงจะได้ตรัสสั่งผู้หนึ่งผู้ใดไว้ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่จะทรงสั่งตั้งใคร

ข้อนี้ควรวินิจฉัยถึงในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินก็อาจจะได้เป็นต่อตอนหลัง ชั้นแรกนั้นเห็นมีทางที่จะเป็นได้อย่างอื่น เพราะการที่จะให้ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินมีความขัดข้องอยู่เป็นข้อสำคัญ ด้วยประเพณีในกรุงศรีอยุธยาไม่เคยมีแบบอย่างที่จะให้สตรีเป็นผู้สำเร็จราชการ แม้มีแบบอย่างในประเทศที่ใกล้เคียง คือ เมืองเชียงใหม่ ในสมัยนั้นเองมีนางพระยาว่าราชการเมือง ก็เป็นอัปมงคลบ้านเมือง เกิดข้าศึกศัตรูไปย่ำยีถึงต้องยอมแพ้แก่กองทัพพระไชยราชาธิราช นับว่าเป็นตัวอย่างไม่ดีซึ่งเห็นกันอยู่ในขณะนั้น

อนึ่ง กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นก็ต้องทำสงครามอยู่เนื่องๆ ท้าวศรีสุดาจันทร์เคยเป็นแต่พระสนม ไม่รอบรู้ราชการบ้านเมือง สมเด็จพระไชยราชาธิราชจะทรงเห็นสมควรให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินได้ละหรือ

อาศัยความขัดข้องที่มีอยู่ดังกล่าวมา น่าสันนิษฐานว่าในชั้นแรกพระเทียรราชาเห็นจะได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะเป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่อยู่ในเวลานั้นไม่มีผู้อื่นที่เหมาะกว่า และข้อนี้มีเค้าเงื่อนในเรื่องพงศาวดาร ที่ปรากฏว่าพระเทียรราชาเกิดเป็นอริกับท้าวศรีสุดาจันทร์ถึงต้องทรงออกผนวช ถ้าหากว่าพระเทียรราชาไม่มีตำแหน่งหน้าที่เกี่ยวข้องในราชการก็จะหาเกิดเหตุอริกับท้าวศรีสุดาจันทร์ถึงปานนั้นไม่

จึงเห็นว่าชั้นเดิมสมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะทรงตั้งพระเทียรราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาล บ้านเมืองจึงเรียบร้อยเป็นปรกติมากว่าปี ต่อพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เพราะไม่มีตัวผู้อื่นจะเป็น พอท้าวศรีสุดาจันทร์ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็จับเกิดเหตุวุ่นวายต่อมาโดยลำดับ


๔. วินิจฉัยเหตุที่พระเทียรราชาออกทรงผนวช ในข้อนี้จะกล่าวถึงฐานะของพระเทียรราชาเสียก่อน ด้วยในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวแต่ว่าพระไชยราชาซึ่งเสวยราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราช กับพระเทียรราชาซึ่งเสวยราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทั้ง ๒ พระองค์นี้เป็นเชื้อพระวงศ์ หาได้ระบุว่าเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นไหนไม่ คงได้ความตามปิ่นโตโปรตุเกตกล่าวแต่ว่า พระเทียรราชาเป็นน้องยาเธอต่างพระชนนีกับสมเด็จพระไชยราชาธิราช แต่เค้าเงื่อนมีอยู่ในพระนามที่ปรากฏว่าเป็นพระไชยราชา และพระเที่ยรราชาเมื่อก่อนเสวยราชย์นั้น ควรยุติได้ว่าคงเป็นเจ้านายซึ่งทรงสูงศักดิ์ถึงชั้นพระราชบุตรของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อคิดเทียบดูศักราช เห็นว่าคงเป็นพระราชบุตรของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เกิดด้วยพระสนมทั้ง ๒ พระองค์ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเห็นจะประสูติเมื่อสมเด็จพระราชบิดายังเป็นพระมหาอุปราชอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก พระชนนีเป็นชาวเมืองนั้นจึงเป็นญาติกับพระมารดาขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งได้เป็นพระมหาธรรมราชาเมื่อภายหลัง แต่พระเทียรราชานั้นเห็นจะประสูติเมื่อสมเด็จพระราชบิดาได้ผ่านพิภพ เสด็จลงมาครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาแล้ว พระชนนีเป็นชาวกรุงศรีอยุธยา

อนึ่ง มีเค้าเงื่อนที่จะคำนวนพระชันษาของพระเทียรราชาอยู่ คือในปีที่พระเทียรราชาได้ผ่านพิภพนั้น พระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาพระองค์ใหญ่ให้เป็นพระมเหสีพระมหาธรรมราชา ถ้าสันนิษฐานว่าเวลานั้นพระวิสุทธิกษัตรีมีพระชันษาได้ ๑๕ ปี พระวิสุทธิกษัตรียังมีพระเชษฐาร่วมพระชนนีอีก ๒ พระองค์ สันนิษฐานพระชันษาถอยหลังขึ้นำไปเป็นลำดับว่าพระมหินทร พระชันษา ๑๘ ปี พระราเมศวร พระชันษา ๒๐ ปี และสันนิษฐานต่อไปว่าเมื่อพระเทียรราชาทีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่พระชันษาได้ ๑๘ ปีเช่นนี้ เมื่อพระเทียรราชาผ่านพิภพพระชันษาได้ ๓๘ ปี คือ (ว่าตามศักราชในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) ประสูติเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๓ ได้เป็นพระเจ้าลูกเธออยู ๑๙ ปี จึงสิ้นรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ความสันนิษฐานนี้แม้ปีจะเคลื่อนคลาด ก็พอยุติได้ว่าพระชันษาของพระเทียรราชาทันเป็นลูกเธอของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒

อนึ่ง ความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารมีหลายแห่งซึ่งส่อให้เห็นได้ว่า พระเทียรราชานั้นพระอัธยาศัยเป็นอย่างไร คือเป็นผู้อยู่ในทำนองคลองธรรม มีความซื่อตรง จงรักภักดีต่อบ้านเมือง แต่ทว่าไม่ฉลาดหลักแหลมนัก และไม่เป็นนักรบที่กล้าหาญชำนาญศึกเหมือนเช่นพระไชยราชาธิราช แต่มีพระอัครมเหสีซึ่งต่อมาปรากฏพระนามว่า พระสุริโยทัย นั้นเป็นสตรีที่สามารถ เห็นจะได้เป็นกำลังช่วยพระสามีมาก

ลักษณการเมื่อตอนแรกสมเด็จพระแก้วฟ้าได้เสวยราชย์นั้น ถึงพระเทียรราชาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ก็คงเป็นอย่างหัวหน้าเสนาบดีทั้งปวง ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เมื่อได้เป็นสมเด็จพระชนนีพระพันปีหลวง ย่อมเป็นผู้สำเร็จราชการสิทธิ์ขาดข้างฝ่ายใน ทั้งเป็นผู้บำรุงเลี้ยงสมเด็จพระแก้วฟ้าฉันพระมารดา พระเทียรราชาและข้าราชการทั้งปวงต้องเคารพนบน้อม และมีกิจการที่ฝ่ายหน้าเกี่ยวกับฝ่ายใน หรือที่เป็นการเนื่องในพระองค์สมเด็จพระแก้วฟ้า เช่นในการทรงศึกษาเป็นต้น ซึ่งพระเทียรราชาจำต้องหารือท้าวศรีสุดาจันทร์เนืองๆ เหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์จะเกิดผิดพ้องหมองใจกับพระเทียรราชา คงเป็นเพราะพระเทียรราชาเป็นผู้สำเร็จราชการนั้นเอง

ที่พระเทียรราชาออกทรงผนวชคงเป็นด้วยถูกท้าวศรีสุดาจันทร์เกลียดชังถึงมุ่งมาดคาดร้าย ดังความในหนังสือพระราชพงศาวดาร ส่อให้เห็นเป็นแน่ ข้อนี้ไม่มีที่สงสัย ข้อวินิจฉัยมีแต่ว่า เหตุใดท้าวศรีสุดาจันทร์จึงมุ่งมาดคาดร้ายพระเทียรราชา เพราะเวลานั้นพระโอรสของนางสิพึ่งได้เสวยราชย์และยังทรงพระเยาว์ มีพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่เช่นพระเทียรราชาไว้เป็นกำลังราชการย่อมเป็นประโยชน์อย่างสำคัญของพระโอรส ตลอดจนถึงราชการบ้านเมือง อุปมาเหมือนมีเขื่อนขันธ์กันภัยอยู่อย่าง ๑ ซึ่งทำลายเสียก็จะต้องอ่อนกำลังลง เพราะฉะนั้นซึ่งท้าวศรีสุดาจันทร์คิดกำจัดพระเทียรราชาคงเป็นด้วยมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้นางคิดเห็นว่ากำจัดเสียจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าเอาไว้เป็นกำลังพระโอส ดังเช่นสงสัยว่าพระเทียรราชาจะชิงราชสมบัติเป็นต้น

แต่เห็นว่ามิใช่เหตุเรื่องนี้ เพราะถ้าสงสัยว่าพระเทียรราชาจะชิงราชสมบัติ การที่พระเทียรราชาออกทรงผนวชก็หาพอจะระงับเหตุได้ไม่ คงเป็นด้วยเหตุอื่น เมื่อพิจารณาดูทางข้างฝ่ายพระเทียรราชา การซึ่งออกทรงผนวชนั้นก็ดูเป็นข้อขำ ถ้าหากเป็นแต่ถูกท่าวศรีสุดาจันทร์เกลียดชังจะอดออมเอาดีต่อก็ได้ หรือมิฉะนั้นจะหลีกเลี่ยงออกเสียให้ห่างก็พอจะได้ ที่ถึงจะต้องละเพศทิ้งครอบครัวออกทรงผนวช ข้อนี้ส่อให้เห็นว่าเหตุที่เกิดขึ้นกับท้าวศรีสุดาจันทร์คงเป็นเหตุสำคัญถึงใกล้ต่ออันตราย แต่ไม่อาจจะเปิดเผยให้ผู้อื่นช่วย เห็นจะรอดได้แต่ตัวด้วยอาศัยผ้ากาสาวพัสตรเป็นเครื่องป้องกัน จึงได้ออกทรงผนวช

หรือถ้าว่าโดยย่อ เหตุที่เกิดขึ้นระหว่างท้าวศรีสุดาจันทร์กับพระเทียรราชานั้น คงมิใช่กรณีเหตุอย่างสามัญช่วงชิงอำนาจกัน คงเป็นเหตุลับลี้อย่างหนึ่งอย่างใดเป็นแน่แท้ เมื่อคิดอนุมานดูตามการอันเป็นผลที่เกิดขึ้นในชั้นหลัง เห็นว่าที่พระเทียรราชาออกทรงผนวชนั้น เห็นจะเนื่องในเรื่องที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ คือท้าวศรีสุดาจันทร์เริ่มเป็นชู้กับขุนชินราชในเวลาเมื่อพระเทียรราชายังสำเร็จราชการแผ่นดิน ครั้นกิติศัพท์แพร่งพราย นางเกรงพระเทียรราชาจะกำจัด จึงคิดจะชิงกำจัดพระเทียรราชาเสียก่อน ด้วยเชื่อว่าถ้ากำจัดพระเทียรราชาได้แล้วอำนาจก็คงตกอยู่ในมือนาง ฝ่ายพระเทียรราชาไม่รู้ที่จะทำอย่างไรด้วยนางเป็นพระราชชนนี จะเผยแพร่ความชั่วของนางให้ปรากฏก็เกรงสมเด็จพระแก้วฟ้าจะนิ่งอยู่ ก็เกรงจะมีภัยอันตรายมาถึงตัวเหมือนอย่างเจ้าพระยามหาเสนา จึงคิดหลีกเลี่ยงออกทรงผนวชเสีย

เหตุที่พระเทียรราชาออกทรงผนวช ถ้ามิได้เป็นดังความที่กล่าวมา ยังมีอีกทางหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นได้ คือท้าวศรีสุดาจันทร์เกิดปดิพัทธต่อพระเทียรราชาเอง แล้วแสดงเลศนัยอย่างไรให้พระเทียรราชารู้ตัว แต่ฝ่ายพระเทียรราชานั้นซื่อตรงต่อพระสุริโยทัย และมีความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า จึงบิดเบือนไม่รับทางไมตรีของท้าวศรีสุดาจันทร์ นางก็โกรธแค้น สำคัญว่าพระสุริโยทัยเป็นผู้กีดกัน แสดงความอาฆาตมาดร้ายทั้งพระเทียรราชาและพระสุริโยทัย พระเทียรราชาเกรงจะเกิดอันตรายถึงพระอัครชายา จึงยอมสละครอบครัวออกทรงผนวชเสียให้สิ้นสาเหตุเภทภัยที่จะเกี่ยวข้องถึงพระสุริโยทัย ถ้าเหตุเป็นดังกล่าวในข้อหลังนี้ ต้องเป็นเมื่อตอนจวนถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระไชยราชาธิราช ครั้นพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สำเร็จราชการต่อมาจึงคบขุนชินราชเป็นชู้


๕. วินิจฉัยที่ให้ช้างบำรูงา เรื่องตอนนี้ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กระจ่างชัดเจน ชวนให้เข้าใจไปว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นเด็ก ให้เอาช้างต้นออกชนกันเป็นการเล่นสนุกจนช้างงาหัก

ที่แท้นั้นเนื่องในการออกสนามใหญ่เป็นงานปี เพราะปรากฏว่ามีในวันเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ตรงตำรา และการบำรูงานั้นเป็นการฝึกหัดช้างชนสำหรับทำยุทธหัตถี นับเป็นข้อสำคัญอย่างหนึ่งในคชศาสตร์ (ลักษณะการมีแจ้งอยู่ในตำราขี่ช้าง ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช ทรงพิมพ์ประทานตอนรดน้ำสงกรานต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕) มักมีในเวลาออกสนานใหญ่ เป็นคู่กับผัดพาน

ที่สมเด็จพระแก้วฟ้าเสด็จออกทอดพระเนตรช้างบำรูงา ในหนังสือพระราชพงศาวดารก็กล่าวว่า หมู่มุขมาตยมนตรีเฝ้าพร้อมกันตามตำแหน่ง และเวลานั้นนับแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตมา ได้ ๑๑ ปี ความส่อให้เห็นว่าผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเอาใจใส่ในการฝึกซ้อมกำลังยุทธสำหรับพระนครมิได้ประมาท และเชิญสมเด็จพระแก้วฟ้าออกทอดพระเนตรให้ชำนิชำนาญการณรงค์สงคราม เป็นส่วนหนึ่ในการที่ทรงศึกษา เผอิญช้างตัวหนึ่งงาหักไป


๖. วินิจฉัยเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ ในข้อนี้ปิ่นโตโปรตุเกตว่าท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้แต่เมื่อสมเด็จพระราชสามีเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ แต่เมื่อพิเคราะห์ดูเห็นว่าจะไม่จริง ด้วยเป็นความคอขาดบาดตาย นางจะต้องเกรงพระราชอาญา อีกประการ ๑ พระราชนิเวศน์สถานย่อมมีการพิทักษ์รักษากวดขัน ชายชู้เป็นแต่ขุนหมื่นพนักงานเฝ้าหอพระอยู่ข้างนอก ยากที่จะมีโอกาสเข้าไปสู่ที่ลับกับนางในได้

ความจริงคงเป็นดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ต่อเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรคตแล้ว เพราะมาถึงชั้นนี้เป็นพระราชชนนี ไม่ต้องอยู่ในความควบคุมเหมือนเมื่อยังเป็นนักสนม ทั้งมีอำนาจและกอรปด้วยอิสริยยศบริวารยศอย่างสูงสุดของขัติยนารี เช่นพรรณนาในกฏมณเทียรบาล(สำหรับยศพระอัครมเหสี) ว่า "สรงด้วยสหัสธาราเงิน มีราชยาน มีกรมผู้ชายผู้หญิง มีหอพระ มีพระที่นั่งออก(ท้องพระ)โรง มีสมโภช มีเลี้ยงลูกขุนถวายบังคมตรุษสราท ใช้พระราชกฤษฎีกา มีขุนสนม มีขุนช้าง มีขุนม้า มีเรือแห่เรือกัน" ดังนี้

สันนิษฐานว่า อายุของนางก็เห็นจะกว่า ๓๐ ปีไปใกล้เรือน ๔๐ ก็เลยวางตัวเป็นคนแก่ จึงมีโอกาสถึงสามารถคบชู้ได้ ลักษณะการที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้นั้น ลองคิดสันนิษฐานรายการดู เห็นว่าเนื้อความที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารสมต้นสมปลาย คือชายชู้เป็นญาติกับท้าวศรีสุดาจันทร์ (ข้อนี้รู้ได้ด้วยต่อมาเป็นที่ ขุนวรวงศาธิราช อันหมายความว่าเป็นพระญาติของพระเจ้าแผ่นดิน กล่าวคือสมเด็จพระแก้วฟ้า)

เริ่มเรื่องที่ท้าวศรีสุดาจันทร์จะคบชู้ ปรากฏว่าวันหนึ่งนางออกไปเที่ยวเล่น ไปถึงพระที่นั่งพิมานรัตยาอันเป็นหอพระข้างหน้า (เห็นจะเป็นพระราชมณเทียรเดิมองค์ ๑ ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงอุทิศถวายเป็นพุทธมณเทียร เมื่อถวายที่พระราชวังตอนนั้นสร้างวัดพระศรีสรรเพชญ) ไปพบพันบุตรศรีเทพพนักงานเฝ้าหอพระ นางก็ปราศรัยโดยฉันญาติที่รู้จักกันมาแต่ก่อน ครั้นกลับคืนเข้าพระราชวังแล้ว ให้ข้าหลวงเอาเมี่ยงหมาก(แม้ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภช)ไปประทาน และพันบุตรศรีเทพเก็บดอกไม้ใส่กระทงสำหรับนางจะได้บูชาพระฝากเข้าไปถวาย การทั้งนี้ก็ไม่ผิดปรกติ ถึงต่อมานางสั่งออกญาราชภักดี(ซึ่งทำนองจะเป็นตำแหน่งเจ้ากรมของนาง) ให้ย้ายพันบุตรศรีเทพเข้าไปเป็นตำแหน่งขุนชินราชพนักงานเฝ้าหอพระข้างใน (คือหอพระของนาง ที่เป็นตอนผู้ชายอยู่) ก็ไม่เป็นการผิดปรกติ อาจจะอ้างว่าเป็นญาติ อยู่หอพระข้างนอกอดๆอยากๆสงสาร ขอให้เข้ามาเฝ้าหอพระข้างใน จะได้ให้ทานกินให้อิ่มหนำดังนี้ ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ใดจะสงสัย ว่าพระชนนีของพระเจ้าแผ่นดินจะสามารถผูกสมัครรักใคร่คนเฝ้าหอพระ เพราะฉะนั้นออกญาราชภักดีจึงได้พาซื่อทำตามความประสงค์ของนาง สันนิษฐานว่าขุนชินราชนั้นอายุก็เห็นจะอ่อนกว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ตั้ง ๖ ปี ๗ ปี นางคงวางกิริยาอย่างเป็นน้าอาปราณีหลาน จึงสามารถพูดจาวิสาสะได้สนิทต่อหน้าคน ต่อนานวันมาเมื่อคุ้นเคยสนิทสนมกันหนักเข้า จึงเลยเป็นชู้กับขุนชินราช


๗. วินิจฉัยเหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ตั้งขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราช ข้อนี้พิเคราะห์ดูตามเรื่องราวเห็นว่า ไม่ใช่เพราะนางคิดใคร่ให้ครองราชสมบัติ ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ถ้าคิดเช่นนั้นก็ต้องคิดกำจัดสมเด็จพระเจ้าแก้วฟ้าด้วย จึงจะให้ชายชู้ครองราชสมบัติได้ สมเด็จพระแก้วฟ้าสิเป็นพระโอรสราชอันเป็นที่พึ่งของนางเพราะพระแก้วฟ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน นางเป็นพระชนนี จึงได้มีบุญและมีอำนาจ ถ้าสิ้นบุญของพระโอรส นางก็อาจจะสิ้นบุญสิ้นอำนาจด้วย ฝ่ายชายชู้เป็นแต่ขุนหมื่นพนักงานเฝ้าหอพระ จะทำอย่างไรจึงจะให้คนทั้งแผ่นดินยินยอมให้ครองราชสมบัติได้ ถึงใจนางจะโหดร้ายหลงชู้สักเพียงไร คงต้องคิดเห็นความจริงเช่นกล่าวมา เหตุที่แท้ที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ตั้งชู้เป็นขุนวรวงศาธิราช เห็นว่าจะเป็นดังกล่าวต่อไปนี้ คือ

มูลเหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบขุนชินราชเป็นชู้นั้น เป็นแต่โดยลุแก่อำนาจราคะจริต หาได้คิดเกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมืองอย่างใดไม่ เมื่อมีชู้แล้วก็ตั้งใจจะปกปิดความชั่วให้มิดชิดอย่างเดียว แต่ขุนชินราชอยู่ที่หอพระจะลอบไปมาหาสู่กันได้แต่ละครั้งเป็นการลำบากนัก อีกประการ ๑ ชายชู้เป็นแต่เพียงพนักงานเฝ้าหอพระอยู่เช่นนั้น นางจะให้ทรัพย์สินอย่างไรก็กลัวผู้อื่นจะสงสัย เพราะมิได้มีหน้าที่และโอกาสที่จะทำความชอบความดีอย่างไร นางจึงยกเหตุที่ขุนชินราชเป็นรานิกุลนั้นตั้งให้เป็นที่ขุนวรวงศาธิราช (มีตำแหน่งในกรมวังหรือมหาดเล็ก) แล้วให้เป็นผู้รับใช้สอยเข้าเฝ้าแหนได้โดยเปิดเผยตามตำแหน่ง เพื่อจะได้มีโอกาสหาสู่กันได้สะดวกขึ้น ข้อที่ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชพิจารณาเลขสมสังกัดพรรค เห็นว่าจะเป็นการต่อมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเนื่องในเรื่องเจ้าพระยามหาเสนาถูกแทงตาย จะวินิจฉัยในข้อ ๙ ต่อไปข้างหน้า


๘. ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ปลูกที่ว่าราชการและให้เอาราชอาสน์ไปทอดให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการที่ริมประตูดิน โดยหวังว่าจะให้ข้าราชการยำเกรงนั้น จะกลับเป็นการยั่วให้ข้าราชการเกลียดชังโดยหาประโยชน์อันใดมิได้ มูลของความที่กล่าวตรงนี้เห็นจะเนื่องกับเหตุที่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ ดังจะวินิจฉัยในข้อ ๑๐


๙. วินิจฉัยเหตุที่เจ้าพระยามหาเสนาถูกแทงตาย พิเคราะห์ดูในเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ เห็นว่าจะเกี่ยวข้องถึงราชการบ้านเมือง แต่งตั้งขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราช คงเป็นเพราะคนทั้งหลายเห็นท้าวศรีสุดาจันทร์โปรดปรานคนเฝ้าหอพระ เอามาใช้สอยสนิทสนมและยกย่องให้มียศศักดิ์อย่างนั้น ก็เป็นธรรมดาที่จะพากันคิดค้นหาเหตุ ก็เหตุเช่นความประพฤติของท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น ย่อมเป็นการยากที่จะปกปิดไว้ได้เป็นนิจ ไม่ช้านานเท่าใดก็เกิดกิติศัพท์สงสัยกันขึ้น เจ้าพระยามหาเสนาออกปากปรารภความสงสัยกับออกญาราชภักดี ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้เข้าก็ตกใจ คงปรึกษาหารือกับขุนวรวงศาธิราช เห็นว่าเจ้าพระยามหาเสนา เป็นเสนาบดีหัวหน้าทหารเอาไว้ไม่ได้ จึงคิดอุบายฆ่าเสีย (ถ้าพระเทียรราชาไม่ได้ทรงออกผนวชเสียก่อน ดังกล่าวไว้ในตอนท้ายวินิจฉัยข้อ ๔ นั้น) แล้วก็เลยคิดกำจัดต่อไปถึงพระเทียรราชาด้วย

ครั้นพระเทียรราชาออกทรงผนวช ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้สำเร็จราชการ จึงอ้างเหตุที่การปกครองอ่อนแอ จนมีผู้ร้ายลอบทำร้ายเสนาบดีผู้ใหญ่ได้นั้น มอบอำนาจให้ขุนวรวงศาธิราชพิจารณาเลขสมสังกัดพรรค (คือให้ว่ากรมล้อมพระราชวังอย่างปินโตโปรตุเกตว่า) โดยประสงค์จะให้มีกำลังสำหรับรักษาตัวด้วยกัน แม้ในชั้นนี้ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็เห็นจะยังไม่คิดกำจัดพระแก้วฟ้า เอาราชสมบัติให้แก่ขุนวรวงศาธิราช เป็นแต่เหตุการณ์กระชั้นตัวก็คิดอุบายป้องกันอันตรายที่จะมาถึงตัวเท่านั้น


๑๐. วินิจฉัยเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน ข้อนี้มีเค้าเงื่อนในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวว่า วันเมื่อเจ้าพระยามหาเสนาจะถูกฆ่าตายนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์มีรับสั่งให้หาเข้าไปเฝ้าที่ประตูดิน ความส่อให้เห็นว่าทางข้าราชการฝ่ายหน้าเข้าเฝ้าท้าวศรีสุดาจันทร์เดินทางประตูดิน และที่ริมประตูดินนั้คงมีที่สำหรับข้าราชการพัก มูลเหตุที่ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการที่ริมประตูดินนั้น เห็นจะเกิดแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้รับสั่งออกมาสั่งราชการบางอย่าง ในตอนเมื่อนางได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชก็ออกมาสั่ง ณ ที่ข้าราชการคอยเฝ้าที่ริมประตูดิน แรกๆก็จะเป็นแต่บางมื้อบางคราว ครั้นนางมีครรภ์ขึ้นเริ่มขัดข้องแก่การเสด็จออกจึงมารยาบอกเจ็บป่วย ให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการที่ริมประตูดิน ดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร

ข้อที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คงคิดเมื่อตอนนางมีครรภ์ขึ้น โดยเห็นว่าจะปกปิดความชั่วไว้ไม่ได้ดังแต่ก่อน ก็คิดอ่านรักษาตัวอย่างเลยตามเลย แต่รายการที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ปรึกษาข้าราชการว่าสมเด็จพระแก้วฟ้ายังทรงพระเยาว์นัก สาละวนแต่การเล่น หัวเมืองฝ่ายเหนือก็ยังไม่ปรกติ เห็นว่าควรจะให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปกว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าจะทรงพระเจริญวัย และข้าราชการทั้งปวงรู้อัธยาศัยนางก็ยินยอม ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงให้ตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชสมบัติ ดังนี้

เห็นว่าจะเป็นความจริงไม่ได้ เพราะสมเด็จพระแก้วฟ้ายังเสวยราชย์อยู่ จะราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดินขึ้นอีกองค์ ๑ อย่างไรได้ เรื่องที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารตอนนี้ ดูทำนองจะเป็นเรื่องเกิดต่อเมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าถูกปลงพระชนม์แล้ว ดังจะวินิจฉัยต่อไปข้างหน้า


๑๑. วินิจฉัยเหตุที่สมเด็จพระแก้วฟ้าถูกปลงพระชนม์ สมเด็จพระแก้วฟ้าผ่านพิภพเมื่อพระชันษา ๑๑ ปี เสวยราชย์อยู่จนพระชันษาเกือบ ๑๔ ปีจึงถูกปลงพระชนม์ ว่าโดยอำเภอพระชันษามิใช่เด็กนัก พอจะรู้ความผิดชอบและดำริตริการได้ เหตุการณ์ที่เกิดในระหว่างเวลา ๒ ปีเศษนั้นคงต้องทรงทราบมิมากก็น้อย เห็นจะไม่เพิกเฉยเลยละ แต่ในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่กล่าวถึง จึงได้แต่ลองคิดสันนิษฐานดูตามรูปเรื่อง คือ

สมเด็จพระแก้วฟ้าเคยอยู่ในความปกครองของท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นพระชนนีมาแต่เดิม เมื่อมาได้เสวยราชย์พระชันษาก็ได้เพียง ๑๑ ปี คงเคารพรักใคร่เชื่อฟังท้าวศรีสุดาจันทร์ยิ่งกว่าผู้อื่น การที่นางอุปถัมภ์บำรุงพันบุตรศรีเทพให้เป็นขุนชินราช แล้วเลื่อนขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช โดยฐานที่เป็นญาติก็ไม่เป็นการผิดปรกติดังกล่าวมาแล้ว ถึงสมเด็จพระแก้วฟ้าจะชอบหรือจะชังขุนวรวงศาธิราช ก็เห็นจะไม่สงสัยว่าพระมารดาคบขุนวรวงศาธิราชเป็นชู้ แม้ผู้อื่นคิดสงสัยก็ไม่มีใครกล้ากราบทูลกล่าวโทษพระชนนีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า

สมเด็จพระแก้วฟ้าคงทรงทราบว่าว่าท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราชต่อเมื่อนางมีครรภ์ตั้ง ๔ เดือน ๕ เดือน ซึ่งพ้นเวลาที่จะปกปิดได้แล้ว เมื่อทรงทราบก็คงโทมนัสและเกิดเคียดแค้นขุนวรวงศาธิราชเป็นธรรมดา สมเด็จพระแก้วฟ้าเห็นจะคิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชในตอนนี้ แต่ทำการไม่สนิท ขุนวรวงศาธิราชรู้ตัวจึงชิงปลงพระชนม์สมเด็ขพระแก้วฟ้า ด้วยลอบวางยาพิษในพระกระยาหาร (ตามเค้าคาวามที่ปิ่นโตโปรตุเกตกล่าว) หาได้จับกุมคุมพระองค์ไปปลงพระชนม์ที่วัดโคกพระยาดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ ถ้าหากจับสมเด็จพระแก้วฟ้าไปปลงพระชนม์เช่นว่า น่าจะเกิดวุ่นวายหาเป็นการสงบเงียบมาได้ไม่

อีกประการหนึ่ง ในเรื่องปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้านั้น คิดดูไม่น่าเชื่อว่าท้าวศรีสุดาจันทร์จะได้รู้เห็นเป็นใจด้วยเมื่อก่อนเหตุ เพราะธรรมดามารดาถึงจะชั่วช้าอย่างไร ที่จะเป็นใจให้ฆ่าบุตรนั้นยากทีจะเป็นไปได้ อาศัยข้อความทั้งปวงที่กล่าวมา จึงเห็นว่าการที่ปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้านั้นขุนวรวงศาธิราชคงลอบทำโดยลำพังความคิดตน ปกปิดมิให้ท้าวศรีสุดาจันทร์รู้เมื่อก่อนเหตุ ต่อสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตแล้วจึงช่วยกันคิดกลอุบาย (หรือโดยท้าวศรีสุดาจันทร์หลงเชื่อ) บอกว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตโดยประชวรโรคปัจจุบัน เช่น เป็นลม ผู้อื่นสงสัยไม่หลักฐานที่จะยืนยันว่าถูกวางยาพิษ ก็ต้องจำยอมว่าประชวรสวรรคตจึงไม่เกิดวุ่นวาย

ความที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์ปรึกษาข้าราชการว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินนั้น งานจะเข้ากับเรื่องตรงนี้ คือเมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์ราชอนุชาย่อมเป็นรัชทายาท ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นว่าจะปกปิดเรื่องเป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราชต่อไปไม่ได้แล้ว นางประสงค์จะให้ขุนวรวงศาธิราชมีอำนาจสิทธิ์ขาดในแผ่นดิน มิให้ผู้ใดอาจมาทำร้ายได้ จึงปรึกษาข้าราชการผู้ใหญ่ว่า พระศรีศิลป์พระชันษาได้เพียง ๗ ขวบ กำลังสาวะวนแต่จะเล่น ตัวนางก็เจ็บๆป่วยๆจะว่าราชการบ้านเมืองอย่างแต่ก่อนไม่ได้ ขอให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการไปกว่าพระศรีศิลป์จะทรงพระเจริญ เพราะเป็นพระญาติวงศ์พอจะไว้วางใจได้ ฝ่ายข้าราชการจะไม่ยินยอมก็ไม่มีเหตุอื่นที่จะยกขึ้นอ้างคัดค้าน นอกจากประจานความชั่วของนาง

ถ้าประจานขึ้นในขณะนั้นก็คงถึงจับกุมฆ่าฟันกัน เพราะเวลานั้นกำลังรี้พลที่ในพระราชวังอยู่ในมือขุนวรวงศาธิราช ไม่มีใครได้ตระเตรียมจะต่อสู้ เพราะเหตุนี้จึงจำยอมให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการตามประสงค์ของท้าวศรีสุดาจันทร์

อีกประการหนึ่ง เหตุเพราะไม่มีใครนิยมต่อขุนวรวงศาธิราช ที่เป็นใหญ่ได้เพราะใช้กลอุบายอำพรางในเบื้องต้นและใช้กำลังข่มขู่ในชั้นหลัง แต่อำนาจมีอยู่เพียงในบริเวณพระราชวัง พอออกพ้นพระราชวังก็ตกอยู่ในเงื้อมมือผู้คิดกำจัด หามีผู้ใดที่จะช่วยเหลือป้องกันไม่ ขุนพิเรนทรเทพทราบความทั้งนี้อยู่แก่ใจจึงกล้าทำโดยการองอาจถึงปานนั้น

แต่ที่กล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าขุนวรวงศาธิราชพอธิดาอันเกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์ไปด้วยในเวลาที่ถูกกำจัดนั้น ข้อนี้สงสัยอยู่ ด้วยธิดานั้นเป็นทารกอายุอย่างมากก็จะได้เพียง ๓ เดือน ๔ เดือน การที่จะไปดูจับช้างก็ไปชั่วเวลาเดียวไม่ช้านานเท่าใดจะพาเอาไปด้วยทำไม ทารกธิดานั้นเห็นจะถูกกำจัดต่อภายหลัง


๑๖. วินิจฉัยเรื่องถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา เรื่องตอนนี้ในหนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวความแต่โดยย่อ แต่พอจะสันนิษฐานไม่ยาก คือเมื่อกำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ได้แล้ว ขุนพิเรนทรเทพคงเข้าไปยังพระราชวัง สั่งให้เรียกประชุมข้าราชการทั้งปวง ต่างก็มาด้วยความปิติยินดี ปรึกษาเห็นกันโดยมากว่าควรจะเชิญพระเทียรราชาขึ้นตรองราชสมบัติ (พวกที่เห็นควรถวายราชสมบัติแก่พระศรีศิลป์ก็มี ข้อนี้ปรากฏเมื่อพระศรีศิลป์เป็นกบฏในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิมีข้าราชการไปเข้าเป็นพรรคพวกหลายคน จนถึงสมเด็จพระวันรัตน์วัดป่าแก้วเป็นที่สุด แต่ในเวลานั้นคงพากันเกรงขุนพิเรนทรเทพ ไม่มีผู้ใดกล้าขัดขวาง) เสนาบดีผู้ใหญ่จึงไปทูลพระเทียรราชาแล้วอัญเชิญให้ลาผนวช และจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปรับเสด็จเข้ามาประทับในพระราชวัง จนถึงฤกษ์ก็ราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียร

มีข้อควรวินิจฉัยในตอนนี้อยู่อย่างหนึ่ง ที่ไม่ปรากฏว่าลงโทษหรือชำระสะสางพรรคพวกขุนวรวงศาธิราช จะว่าเพราะไม่มีพรรคพวกเลยทีเดียวก็ใช่เหตุ เพราะท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชก็มีอำนาจที่จะแต่งตั้งข้าราชการอยู่นาน ถึงคนดีจะไม่เข้าด้วย ก็คงมีพวกทรชนคนพาลเข้าเป็นสมัครพรรคพวกบ้างมิมากก็น้อย เหตุใดจึงไม่ถูกกำจัด ข้อนี้เห็นว่าชะรอยจะเป็นเพราะพระเทียรราชาได้ร้องขออย่าให้ฆ่าฟันคนดังกล่าวมาแล้ว ประกอบกับเหตุที่พวกนั้นไม่ได้ต่อสู้อย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ทำอันตราย


๑๗. วินิจฉัยเรื่องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิปูนบำเหน็จผู้มีความชอบ ข้อวินิจฉัยในตอนนี้มีอยู่ ๒ ประการ ประการที่ ๑ หัวเมืองอันเป็นมณฑลราชธานีแต่ครั้งพระร่วง ได้เคยปกครองเป็นอย่างมณลราชธานีฝ่ายเหนือของกรุงศรีอยุธยามาทุกรัชกาล ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช(สามพระยา)เป็นต้นมา เพิ่งมาแยกออกเป็นหัวเมืองขึ้นตรงต่อกรุงฯในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็เกิดกบฏระส่ำระสายไม่เรียบร้อย จึงคิดจะกลับใช้วิธีปกครองอย่างมณฑลราชธานีฝ่ายเหนือดังแต่ก่อน ประการที่ ๒ ขุนพิเรนทรเทพมีความชอบยิ่งกว่าผู้อื่น และเป็นผู้มีชาติตระกูลเป็นเชื้อราชวงศ์พระร่วง เหมาะแก่ที่จะเป็นเจ้าขันธสีมาครองเมืองเหนือ อาศัยเหตุ ๒ ประการนี้จึงทรงสถาปนาขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชา ตามเยี่ยงอย่างครั้งราชวงศ์พระร่วงครองเมืองพิษณุโลกมาแต่ก่อน

การที่พระราชทานพระราชธิดา ที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าได้พระราชทานทั้ง ๔ คนคือ พระมหาธรรมราชา เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเจ้าพระยามหาเสนา และเจ้าพระยามหาเทพ เห็นจะเกินไป ที่จริงจะได้พระราชทานแต่พระมหาธรรมราชาพระองค์เดียว เพราะเหตุที่ยกขึ้นเป็นเจ้า การที่พระราชทานพระราชธิดาเป็นมเหสีเป็นเครื่องป้องกันมิใก้เกิดมีเจ้าต่างวงศ์ขึ้นทางเมืองเหนือ เหตุนี้เป็นข้อสำคัญ


วินิจฉัยเรื่องพระเทียรราชาหมดเนื้อความเพียงเท่านี้


ค. ข้อความเบ็ดเตร็ดในเรื่องพระเทียรราชา


๑. การกำหนดเหตุการณ์ เรื่องพระเทียรราชานับว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต (ตามศักราชในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ) เมื่อเดือน ๖ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะแม จุลศักราช ๙๐๙ (พ.ศ. ๒๐๙๐ ค.ศ. ๑๕๔๗) จนกำจัดขุนวรวงศาธิราช เมื่อเดือน ๙ แรม ๑๒ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๙๑๑ เป็นที่สุด รวมระยะเวลา ๒ ปี กับ ๔ เดือน หย่อน ๒ วัน


๒. บุคคลที่ปรากฏนามในเรื่องมี ๒๔ คน ที่หมาย ๑ ในบัญชีต่อไปนี้เป็นตัวการในเรื่อง นอกนั้นเป็นแต่ผู้ประกอบการ คือ

๑). สมเด็จพระแก้วฟ้า ราชโอรสผู้รับรัชทายาทของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้เสวยราชย์เมื่อพระชันษา ๑๑ ปี อยู่ในราชสมบัติ ๒ ปี กับ ๒ เดือนเศษ (พยายามจะกำจัดขุนวรวงศาธิราชไม่สำเร็จ) ถูกปลงพระชนม์

๒). พระเทียรราชา พระเจ้าน้องยาเธอของสมเด็จพระไชยราชาธิราช (ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อแรกสมเด็จพระแก้วฟ้าเสวยราชย์) ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปองร้าย หนีภัยออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ต่อมาได้เสวยราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

๓). พระศรีศิลป์ ราชอนุชาของสมเด็จพะแก้วฟ้า (ได้อยู่ในที่รัชทายาทคราวหนึ่ง) ต่อมาเป็นกบฏต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ถูกยิงสิ้นพระชนม์

๔). เจ้าพระยาจักรี ที่สมุหนายก เป็นผู้รับสั่งในการบำรูงาช้าง และในการจับช้าง

๕). เจ้าพระยามหาเสนาบดี ที่สมุหพระกลาโหม เป็นผู้พูดปรารภเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ และถูกคนร้ายลอบฆ่าตาย

๖). ออกญาราชภักดี (เจ้ากรมของพระชนนี) เป็นผู้รับสั่งในการเลื่อนพันบุตรศรีเทพเป็นขุนชินราช และเป็นขุนวรวงศาธิราช เเละเป็นผู้ซึ่งเจ้าพระมหาเสนาปรารภด้วย

๗). นักพระยาโอง (น้องพระเจ้ากรุงกัมพูชา) เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ช่วยกำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้กำลังไปตีเมืองเขมร แต่ไปตายในสงคราม

๘). ออกญาศรีสุริยราชาชัย ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย เป็นผู้ช่วยกำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาฯ

๙). พระมหาราชครูปุโรหิต

๑๐). พระมหาราชครูมหิธร

๑๑). พระราชครูพิเชต

๑๒). พระราชครูพิราม
(ทั้ง ๔ นี้เป็นพราหมณ์ตำแหน่งราชครูที่ปรึกษาบำเหน็จความชอบ เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสวยราชย์)

๑๓). พระรักษมนเทียร กรมวัง

๑๔). หลวงราชนิกูล ปลัดทูลฉลองมหาดไทย
(ทั้ง ๒ นี้เป็นผู้ไปรับเสด็จพระเทียรราชา)

๑๕). หลวงศรียศ พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหาเสนาบดี ที่สมุพระกลาโหม

๑๖). ขุนวรวงศาธิราช เป็นญาติของท้าวศรีสุดาจันทร์ เดิมเป็นที่พันบุตรศรีเทพ แล้วเลื่อนเป็นขุนชินราช พนักงานเฝ้าหอพระ ครั้นเป็นชู้กับท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้เป็นที่ขุนวรวงศาธิราช (ลอบวางยาพิษ) ปลงพระชนม์สมเด็จพระแก้วฟ้า แล้วขึ้นครองราชสมบัติอยู่ได้ ๔๒วันถูกประหารชีวิต

๑๗). ขุนพิเรนทรเทพ เป็นเชื้อวงศ์พระร่วง และเป็นญาติของสมเด็จพระไชยราชาธิราช เป็นหัวหน้าพวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช แล้วได้เป็นพระมหาธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลก และเป็นราชบุตรเขยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แต่ต่อมาได้ครองราชสมบัติ

๑๘). ขุนอินทรเทพ พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช

๑๙). หมื่นราชเสน่หา(ในราชการ) พวกที่กำจัดขุนวรวงศาธิราช ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยามหาเทพ

๒๐). หมื่นราชเสน่หา(นอกราชการ) เป็นผู้ลอบยิงอุปราชจัน น้องขุนวรวงศาธฺราช ต่อมาได้เป็นออกญาภักดีนุชิต

๒๑). นายจันบ้านมหาโลก น้องขุนวรวงศาธิราช ที่ตั้งให้เป็น (เจ้าพระยา) มหาอุปราช ถูกกำจัดในคราวเดียวกับพี่

๒๒). ท้าวศรีสุดาจันทร์ เดิมเป็นพระสนมเอก แล้วได้เลื่อนยศเป็นแม่อยั่วเมือง เป็นสมเด็จพระชนนีสมเด็จพระแก้วฟ้าและพระศรีศิลป์ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน(เมื่อพระเทียรราชาออกทรงผนวช) เป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราช ยกชู้ขึ้นครองแผ่นดินแล้วถูกประหารชีวิตด้วยกันกับชู้

๒๓). พระวิสุทธิกษัตรี เดิมเป็นพระสวัสดิราชธิดาพระเทียรราชา พระราชบิดาพระราชทานให้เป็นมเหสีพระมหาธรรมราชา(ขุนพิเรนทรเทพ)

๒๔). ธิดาท้าวศรีสุดาจันทร์ที่มีด้วยขุนวรวงศาธิราช ถูกกำจัดพร้อมบิดามารดา


๓.เรื่องไพร่พลของขุนวรวงศาธิราช ความในหนังสือพระราชพงศาวดาร ฝ่ายหนึ่งปรากฏว่าไม่มีใครนิยมต่อขุนวรวงศาธิราช แต่อีกฝ่ายหนึ่งปรากฏว่าขุนชินราชมีรี้พลพอจะข่มขู่ข้าราชการทั้งปวงเอาไว้ในอำนาจได้แม้เพียงชั่วคราวหนึ่ง ขุนวรวงศาธิราชจะได้คนพวกไหนเป็นกำลัง ข้อนี้สันนิษฐานว่า คนที่เข้าไปรับเป็นกำลังของขุนชินราชนั้น พวกหนึ่งคงเป็นด้วยโลภเห็นแก่สินจ้าง ในพวกนี้อาจเป็นคนต่างชาติต่างภาษา เช่นแขก จีน มอญ และลาวเป็นพื้น ฝรั่งในสมัยนั้นมีโปรตุเกต แต่ไม่ปรากฏว่าโปรตุเกตเข้าด้วย อีกพวกหนึ่งจำเข้าเป็นพรรคพวกขุนวรวงศาธิราชด้วยกลัวอาญา ไทยคงอยู่ในพวกนี้เป็นพื้น เห็นจะใช้อาญากดขี่อย่างรุนแรง พวกที่เป็นนายก็จะเป็นแต่เหล่าคนทรยศเสเพลที่เอามาชุบเลี้ยงตั้งแต่งขึ้นเป็นพื้น


๔.ภูมิสถานบ้านเรือนในกรุงศรีอยุธยาสมัยนั้น มีเค้าเงื่อนว่าก่ออิฐถือปูนแต่วัด ปราสาทราชมนเทียรทั้งปวงยังเป็นเครื่องไม้ พระราชมนเทียรเพิ่งก่ออิฐถือปูนต่อเมื่อรัชกาลพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา กำแพงพระราชวังอาจเป็นของก่ออิฐถือปูน ประตูซุ้มมณฑปเป็นเครื่องไม้ แต่กำแพงพระนครนั้นยังใช้ไม้ปักเสาระเนียดบนเนินดิน ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เพิ่งก่ออิฐถือปูนกำแพงพระนครต่อในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเสร็จศึกหงสาวดีคราวแรก



Create Date : 21 มีนาคม 2550
Last Update : 21 มีนาคม 2550 16:38:24 น. 3 comments
Counter : 6279 Pageviews.  
 
 
 
 
มติเรื่องพระเทียรราชาได้ราชสมบัติ


๑. สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๘๙ เสร็จการสงครามแล้วเสด็จยกกองทัพหลวงกลับจากเมืองเชียงใหม่เมื่อเดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ มาเกิดประชวรกลางทาง ครั้นถึงกรุงฯพระอาการหนักลง ทรงปรารภถึงเรื่องสืบสันตติวงศ์ และเวลานั้นมีแต่พระราชบุตรที่เกิดด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์พระสนมเอก ๒ พระองค์ จึงทรงสถาปนาพระราชบุตรองค์ใหญ่อันพระชันษาได้ ๑๑ ปี ให้เป็นพระแก้วฟ้ามหาอุปราช ราชบุตรองค์น้อยพระชันษาได้ ๕ ปีเป็นพระศรีศิลป์ และเลื่อนท้าวศรีสุดาจันทรอันเป็นเจ้าจอมมารดาของราชกุมาร ๒ พระองค์นั้น ขึ้นเป็นแม่อยั่วเมือง แล้วตรัสสั่งไว้ว่าเมื่อพระองค์สวรรคตแล้วให้พระแก้วฟ้ารับรัชทายาท และให้พระเทียรราชาราชอนุชาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไปกว่าพระแก้วฟ้าจะเจริญพระชันษาว่าราชการได้เอง

๒. ถึงเดือน ๖ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๐๘๙ สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระแก้วฟ้า ราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ให้พระเทียรราชาเป็นผู้สำเร็จราชการฝ่ายหน้า ท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งได้เป็นสมเด็จพระชนนีพันปีหลวง เป็นผู้สำเร็จราชการฝ่ายใน และเป็นผู้ทนุบำรุงสมเด็จพระแก้วฟ้าโดยฉันท์เป็นพระมารดา

๓ ก. ฝ่ายพระเทียรราชามีหน้าที่เข้าเฝ้าท้าวศรีสุดาจันทร์เนืองๆ ด้วยต้องทูลหารือบรรดากิจการซึ่งฝ่ายหน้าเกี่ยวข้องด้วยฝ่ายใน และในการซึ่งเนื่องในส่วนพระองค์สมเด็จพระแก้วฟ้า เช่น การที่ทรงศึกษาเป็นต้น เมื่อได้พบปะคุ้นเคยกันมากเข้า ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้ลุอำนาจแก่ราคะจริต ก็เกิดประดิพัทธต่อพระเทียรราชา แสดงเลศนัยให้รู้พระองค์ด้วยประการต่างๆเนืองๆ แต่ฝ่ายพระเทียรราชาไม่สมัครสมาน ด้วยซื่อตรงต่อพระอัครชายา ซึ่งปรากฏพระนามต่อมาว่าพระสุริโยทัยนั้น ทั้งมีความภักดีต่อสมเด็จพระแก้วฟ้า ก็บิดเบือนไม่รับไมตรีของนางๆโกรธแค้น สำคัญว่าพระสุริโยทัยคงหึงหวงเกียจกัน จึงทำเล่ห์อุบายบอกให้พระเทียรราชาเข้าพระทัยว่า ถ้าไม่ทิ้งพระสุริโยทัยออกบวชเสียจะเป็นอันตรายทั้งพระองค์และพระอัครชายา พระเทียรราชามิรู้ที่จะทำประการใด จะประกาศความชั่วของนางให้ปรากฏก็ไม่มีหลักฐานมั่นคง ทั้งเกรงจะเสียพระเกียรติยศสมเด็จพระแก้วฟ้า จะนิ่งอยู่ก็กลัวพระสุริโยทัยจะเป็นอันตราย จึงตรัสบอกพระสุริโยทัยให้ทราบเหตุที่จำเป็นจะต้องพรากกัน แล้วอุบายทูลลาว่าประชวร พระองค์ออกทรงผนวชอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน

(ความใน ๓ ก. นี้ เป็นแต่ทางสันนิษฐานนัยหนึ่ง ซึ่งจะยกเสียและเอาความข้อ ๓ ข. ต่อกับข้อ ๒ ทีเดียวก็ได้)

๓ ข. อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์ออกไปบำเพ็ญพระกุศลที่วัดพระศรีสรรเพชญ แวะบูชาพระ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงพระราชอุทิศถวายเป็นหอพระ นางไปพบญาติคนหนึ่งชื่อพันบุตรศรีเทพ เป็นพนักงานเฝ้าหอพระนั้น นางเกิดสมัครรักใคร่ จึงทำทักทายโดยฉันท์ญาติที่ได้รู้จักกันมา ครั้นเมื่อกลับคืนเข้าข้างใน อ้างว่าปราณีญาติให้ข้าหลวงนำเมี่ยงหมากและเครื่องอุปโภคบริโภคไปประทาน พันบุตรศรีเทพก็เก็บดอกจำปาจัดใส่กระทงส่งให้ข้าหลวงนำเข้าไปถวายสำหรับนางบูชาพระ ส่งเสียไปมาอย่างนี้หลายครั้ง นางเกิดรักใคร่พันบุตรศรีเทพมากขึ้น จึงมารยาปรารภกับออกญาราชภักดีผู้เป็นเจ้ากรม ว่าหลานของนางเป็นพนักงานเฝ้าหอพระอยู่ที่พระที่นั่งพิมานรัตยาคน ๑ ทราบว่าอดๆอยากๆขอให้ย้ายมาเป็นพนักงานเฝ้าหอพระของนางอยู่ใกล้ๆ จะได้ให้ทานกินให้อิ่มหนำ ออกญาราชภักดีพาซื่อ จึงย้ายพันบุตรศรีเทพเข้ามาเป็นตำแหน่งขุนชินราช รักษาพนักงานเฝ้าหอพระของสมเด็จพระชนนี ย้ายขุนชินราชคนเก่าออกไปเป็นพนักงานเฝ้าหอพระ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา

๔. ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นพระชนนีมีราชานุกิจที่ต้องประพฤติ เช่นไปนมัสการพระที่หอพระและเสด็จออกให้ข้าราชการเฝ้าเป็นต้นเป็นนิจ ไม่ต้องมีผู้ควบคุมเหมือนอย่างนักสนม เพราะฉะนั้นจึงได้มีโอกาสพบปะกับขุนชินราชที่หอพระเนืองๆ ต่อหน้าคน นางก็โอภาปราศัยอย่างเป็นญาติชั้นลูกหลาน ครั้นลับตาคนก็แสดงเลศนัยให้ปรากฏแก่ขุนชินราชว่านางรักใคร่ ฝ่ายขุนชินราชเป็นคนโง่เขลาปราศจากหิริโอตัปปะ เมื่อเห็นเช่นนั้นก็มีความยินดี จึงได้เป็นชู้กับนาง แต่การที่ท้าวศรีสุดาจันทร์คบขุนชินราชเป็นชู้นั้น ตั้งใจปกปิดจะมิให้ผู้ใดล่วงรู้ เพราะฉะนั้นจะไปมาหาสู่กันในที่ลับได้แต่ละครั้งเป็นการลำบาก อีกประการหนึ่ง นางปรารภว่าขุนชินราชเป็นแต่พนักงานเฝ้าหอพระ จะให้ทรัพย์สินคนก็จะสงสัย ด้วยเหตุทั้งสองประการนี้ นางจึงอ้างว่าขุนชินราชเป็นราชนิกูล ควรจะได้มีโอกาสรับรั้วงานราชการบ้าง จะให้เป็นแต่พนักงานเฝ้าหอพระอยู่เช่นนั้นหาสมควรไม่ จึงตั้งให้เป็นที่ขุนวรวงศาธิราช มีตำแหน่งในกรมวังของพระชนนีสำหรับนางใช้สอย

๕. การที่ท้าวศรีสุดาจันทร์เป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราชนั้นปกปิดไว้ได้ไม่ช้า มีผู้รู้ความก็เกิดกิตติศัพท์โจทย์สงสัยกันขึ้น กิตติศัพท์นั้นทราบไปถึงเจ้าพระยามหาเสนา วันหนึ่งเจ้าพระยามหาเสนาจึงปรารภแก่ออกญาราชภักดี ว่าเดี๋ยวนี้มีเสียงโจทย์กันอย่างนี้ๆ ถ้าเป็นความจริงจะทำอย่างไร ในเวลานั้นออกญาราชภักดีไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ถึงเจ้าพระยามหาเสนาก็เห็นจะยังไม่ลงเนื้อเชื่อใจว่าเป็นความจริง ออกญาราชภักดีพาซื่อประสงค์จะระงับกิตติศัพท์นั้น จึงทูลความปรารภของเจ้าพระยามหาเสนาแก่ท้าวศรีสุดาจันทร์ ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เหมือนหนึ่งวัวสันหลังขาด พอได้ยินว่ามีผู้รู้ความชั่วก็ตกใจ จึงปรึกษากับขุนวรวงศาธิราช ว่าจะทำอย่างไรดี เจ้าพระยามหาเสนาเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่และเป็นหัวหน้าของพวกทหาร จะป้องกันฉันใดจึงจะพ้นภัย ขุนวรวงศาธิราชเป็นคนพาลสันดานหยาบ ก็แนะนำว่าจำเป็นต้องฆ่าเจ้าพระยามหาเสนา ครั้นเตรียมการพร้อมแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงมีรับสั่งให้หาเจ้าพระยามหาเสนาเข้าไปเฝ้า แล้วแกล้งอุบายหน่วงเหนี่ยวให้กลับออกไปจากในวังต่อเวลาค่ำ ครั้นไปพอพ้นพระราชวังคนร้ายของขุนวรวงศาธิราชก็ลอบแทงเจ้าพระยามหาเสนาตาย

๖. ครั้นกำจัดเจ้าพระยามหาเสนาแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์ปรึกษากับขุนวรวงศาธิราชต่อไปถึงพระเทียรราชา ว่าอาจจะเป็นศัตรูได้อีกคนหนึ่ง เพราะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน จำจะต้องเอาพระเทียรราชาออกเสียจากตำแหน่ง อำนาจจะได้ตกอยู่แก่ท้าวศรีสุดาจันทร์แต่ผู้เดียว เมื่อเห็นกันดังนี้แล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงทำกริ้วพระเทียรราชา หาเหตุว่าเพราะพระเทียรราชาว่าราชการอ่อนแอ คนร้ายจึงกำเริบถึงสามารถฆ่าเสนาบดีผู้ใหญ่ได้ใกล้รั้ววังถึงปานนั้น คนอย่างเช่นพระเทียรราชาบวชเสียดีกว่าว่าราชการแผ่นดิน ฝ่ายพระเทียรราชาก็รู้กิตติศัพท์ความชั่วของท้าวศรีสุดาจันทร์แต่ไม่กล้าจะเปิดเผย ด้วยไม่มีหลักฐานมั่นคงและเกรงสมเด็จพระแก้วฟ้าแต่จะเพิกเฉยเสีย ก็เกรงจะเป็นอันตรายอย่างเจ้าพระยามหาเสนา จึงประสมยอมรับผิดทูลลาออกทรงผนวช

(ความข้อ ๖ นี้ถ้าใช้ ต้องเอาข้อ ๓ ก. ออก)

๗. เมื่อพระเทียรราชาออกทรงผนวชแล้ว ไม่มีใครสามารถที่จะตั้งผู้ใดแทน ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ได้สำเร็จราชการแผ่นดินทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน นางยังเกรงอันตรายคิดจะหากำลังรักษาจึงอุบายให้ขุนวรวงศาธิราชจับคนร้ายที่ฆ่าเจ้าพระยามหาเสนาได้ ยกความชอบและอ้างเหตุที่การรักษาพระราชวังหละหลวมมาแต่ก่อนนั้น ตั้งให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้บังคับการกรมล้อมพระราชวัง ขุนวรวงศาธิราชก็จ้างวานหาพรรคพวกเข้ามาเป็นกำลังอยู่ประจำซอง กำจัดผู้ซึ่งเห็นว่าจะเป็นศัตรูออกไปเสียให้พ้นจากพระราชวัง แต่นั้นท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนวรวงศาธิราชก็มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่ในพระราชวัง ไม่มีผู้ใดจะกล้าฝ่าฝืน

๘. ถึงปีวอก พ.ศ. ๒๐๙๐ ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้นกับขุนวรวงศาธิราช นางจะออกว่าราชการเป็นนิตย์ดังแต่ก่อนเกรงคนอื่นจะเห็น ก็และประเพณีที่ข้าราชการฝ่ายหน้าเข้าเฝ้าท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น พวกขุนนางย่อมเดินเข้าทางประตูดิน ไปเฝ้า ณ ท้องพระโรงที่นางเสด็จออกเป็นประเพณีมาตั้งแต่นางเป็นสมเด็จพระชนนี จนถึงเวลานางเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ชั้นเดิมวันใดมีแต่กิจการเล็กน้อยหรือนางจะไม่เสด็จออกก็ให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้รับสั่งมาฟังและมาสั่งราชการ ขุนวรวงศาธิราชก็มายังที่ข้าราชการประชุมกันอยู่ทีริมประตูดิน ครั้นท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น นางจึงอุบายบอกเจ็บป่วยและให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้รับสั่งในกิจการทั้งปวงถี่ขึ้น ขุนวรวงศาธิราชต้องคอยประจำอยู่ นางจึงสั่งให้สร้างศาลาขึ้นที่ริมประตูดินใกล้ต้นหมัน แต่นั้นข้าราชการที่ไปเฝ้าแหนก็ไปพักและไปฟังราชการ ณ ที่พักของขุนวรวงศาธิราช ข้าราชการที่เป็นชั้นผู้น้อยหรือที่เป็นคนเสเพลก็สมัครฝักฝ่ายต่อขุนวรวงศาธฺราชยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน มาถึงชั้นนี้ขุนวรวงศาธิราชจึงมีอำนาจเช่นเป็นผู้สำเร็จราชการทั่วทั้งพระราชวัง

๙. ฝ่ายสมเด็จพระแก้วฟ้า เมื่อตอนแรกเสวยราชย์นั้นทรงเคารพรักใคร่เชื่อฟังท้าวศรีสุดาจันทร์ ด้วยนับถือว่าเป็นพระมารดา เมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์เอาพันบุตรศรีเทพเข้าไปชุบเลี้ยงและตั้งแต่เป็นขุนชินราช แล้วเลื่อนขึ้นเป็นขุนวรวงศาธิราช เห็นขุนวรวงศาธิราชกิริยาอาการเย่อหยิ่งขึ้นโดยลำดับ ไม่เคารพนบนอบเหมือนข้าราชการคนอื่นๆ ก็เกลียดชังไม่ชอบพระราชหฤทัย แต่จะขับไล่เสียหรือทำโทษทัณฑ์อย่างใดก็เกรงพระชนนี ด้วยไม่คิดเห็นว่าจะเป็นชู้กับพระชนนี ก็นิ่งมา ครั้งเห็นท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้นประจักษ์และพระหฤทัยว่าพระชนนีเป็นชู้กับขุนวรวงศาธิราชเป็นแน่ ก็ทรงโทมนัสขัดแค้นขุนวรวงศาธิราชเป็นกำลัง คิดกำจัดขุนวรวงศาธิราชจึงลอบปรึกษาหารือขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระราชบิดา และขุนพิเรนทรเทพรับจะอุบายบอกขึ้นไปยังเจ้าเมืองฝ่ายเหนือให้รวบรวมกำลังยกลงมากำจัดขุนวรวงศาธิราช แต่สมเด็จพระแก้วฟ้าซ่อนพระราชประสงค์ไว้ไม่มิดชิดโดยยังทรงพระเยาว์ ไปตรัสแสดงความอาฆาตมาดร้ายขึ้นต่อหน้าพรรคพวกขุนวรวงศาธิราช พวกนั้นเก็บความไปบอกขุนวรวงศาธิราช จึงลอบประกอบยาพิษให้พรรคพวกไปวางในพระกระยาหาร สมเด็จพระแก้วฟ้าไม่ทันรู้พระองค์เสวยยาพิษก็สวรรคต ท้าวศรีสุดาจันทร์ได้ทราบความเมื่อภายหลัง เหตุไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ด้วยสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตเสียแล้ว จึงจำยอมให้ประกาศความว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าประชวรเป็นพระโรคปัจจุบันสวรรคต ฝ่ายข้าราชการโดยมากสงสัยว่าสมเด็จพระแก้วฟ้าจะถูกปลงพระชนม์ แต่ไม่มีหลักฐานที่จะพิศูจน์ให้เห็นจริงได้ก็ต้องนิ่ง

๑๐. เมื่อสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตแล้ว พระศรีศิลป์ราชอนุชาอยู่ในที่เป็นรัชทายาท แต่ขุนวรวงศาธิราชเคี่ยวเข็ญท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า ต้องให้ตนว่าราชการ แผ่นดินจึงจะพ้นภัยอันตราย เพราะการที่เป็นชู้กันคนก็รู้ทั่วแล้ว นางเป็นสตรีจะเป็นผู้ว่าราชการต่อไปอย่างแต่ก่อนเห็นจะป้องกันอันตรายไม่ได้ ท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นชอบด้วยจึงอุบายปรึกษาข้าราชการ ว่าพระศรีศิลป์พระชันษาได้เพียง ๗ ขวบ กำลังสาละวนแต่จะเล่น กว่าจะว่าราชการบ้านเมืองได้ยังหลายปีนัก หัวเมืองเหนือก็ไม่ปรกติ นางจะรับว่าราชการแผ่นดินอย่างแต่ก่อนเกรงจะไม่ไหว ขอให้ขุนชินราชเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ด้วยมีความสามารถทั้งเป็นพระญาติวงศ์กับพระศรีศิลป์พอจะไว้วางใจได้ ฝ่ายข้าราชการทั้งปวงมิรู้ที่จะทำประการใด ด้วยอำนาจอยู่ในมีขุนวรวงศาธิราชหมดแล้ว ถ้าขัดขืนก็คงต้องจับกุมฆ่าฟันกัน ไม่มีผู้ใดได้ตระเตรียมจะต่อสู้ อีกประการ ๑ เห็นว่าเหตุทุรยศที่เกิดขึ้นครั้งนั้น จำต้องกำจัดทั้งท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชผู้เป็นต้นเหตุ เมื่อยังไม่มีกำลังที่จะกำจัดก็ควรจะรอถ่วงเวลาหากำลังต่อไป จึงพร้อมกันยอมตามคำปรึกษาของท้าวศรีสุดาจันทร์

๑๑. ฝ่ายขุนวรวงศาธิราชเมื่อเห็นข้าราชการยินยอมพร้อมกันให้ตนสำเร็จราชการแผ่นดินก็กำเริบ คิดเห็นต่อไปว่าจะเป็นแต่ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อพระศรีศิลป์เติบใหญ่ขึ้นก็คงจะคิดทำร้ายเหมือนอย่างสมเด็จพระแก้วฟ้า จึงว่าแก่ท้าวศรีสุดาจันทร์ว่า จะต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินเองจึงจะได้ ฝ่ายท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นว่าถ้าไม่ยอม ขุนวรวงศาธิราชคงฆ่าพระศรีศิลป์อีกองค์ ๑ จึงว่ากล่าวผ่อนผันเป็นการตกลงกัน ให้ขุนวรวงศาธิราชราชาภิเษก แต่ให้ประดิษฐานพระศรีศิลป์ไว้ในที่รัชทายาท เพราะลูกที่มีด้วยกันก็เป็นลูกผู้หญิง จึงให้ตั้งพิธีราชาภิเษกขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ขุนวรวงศาธิราชก็ตั้งนายจันบ้านมหาโลกผู้เป็นน้องให้เป็นเจ้าพระยามหาอุปราช หัวหน้าราชการทั้งปวง สำหรับจะได้ตรวจตราระวังเหตุการณ์ต่างหูต่างตา

๑๒. ฝ่ายขุนพิเรนทรเทพกับขุนอินทรเทพ ที่คิดอ่านกำจัดขุนวรวงศาธิราชนั้น ได้บอกขึ้นไปยังเจ้าเมืองฝ่ายเหนือที่ไว้วางใจได้ คือเจ้าเมืองสวรรคโลกและเจ้าเมืองพิชัยเป็นต้น ตั้งแต่สมเด็จพระแก้วฟ้ายังมีพระชนม์อยู่ แต่การยังไม่ทันสำเร็จสมเด็จพระแก้วฟ้าสวรรคตเสียก่อน จึงปรึกษากันต่อมา เห็นว่าถ้าถวายราชสมบัติแก่พระศรีศิลป์ยังทรงพระเยาว์ จะต้องมีผู้ว่าราชการแผ่นดินแทน เป็นช่องทางที่จะเกิดลำบากเหมือนหนหลัง และที่ไหนพระศรีศิลป์จะยอมให้กำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเป็นพระชนนีด้วย จึงตกลงกันว่าจะถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา

และในชั้นนี้ได้ผู้ร่วมคิดอีก ๒ คน คือหลวงศรียศ ชาวบ้านลานตากฟ้าแขวงเมืองสุพรรณบุรี (ในบัดนี้อยู่ในแขวงอำเภอบางปลา จังหวัดนครชัยศรี) คน ๑ หมื่นราชเสน่หา คน ๑ จึงพร้อมกันไปเฝ้าพระเทียรราชา ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดราชประดิษฐาน ทูลถึงเหตุการที่เกิดทุรยศบ้านเมืองจะเป็นจลาจล พวกตนคิดจะกำจัดเหล่าร้ายแล้วถวายราชสมบัติ เชิญเสด็จเข้าครองแผ่นดินให้ร่มเย็นเป็นสุขสืบไป พระเทียรราชาตรัสว่า ที่คิดปราบปรามทุรยศทำนุบำรุงบ้านเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุขสืบไปนั้นก็เห็นชอบด้วยแล้ว แต่ถ้าถึงฆ่าผู้ฟันคน เป็นพระพูดด้วยไม่ได้ พวกทั้ง ๔ คนทูลสัญญาว่าจะไม่ทำการให้มัวหมองแก่พระองค์ พระเทียรราชายังไม่ไว้พระทัยตรัสว่า การที่คิดเป็นการใหญ่โตอยู่ ถ้าไม่สำเร็จก็จะพากันล้มตายหมด ควรจะไปเสี่ยงเทียนพิศูจน์เสียก่อน ถ้าเป็นนิมิตรจะทำการสำเร็จได้จึงค่อยทำ ทั้ง ๓ คนเห็นชอบด้วย แต่ขุนพิเรนทรเทพคนเดียวไม่ยอม ว่าการสำคัญถึงเพียงนั้นจะไปมัวเสี่ยงทาย ถ้าไม่ได้นิมิตรจะมิต้องเลิกเสียหรือ ในวันนั้นก็เป็นอันไม่ได้เสี่ยงเทียน

ครั้นต่อมาพระเทียรราชากับอีก ๓ คนพากันลอบไปเสี่ยงเทียนในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐานในเวลาค่ำวันหนึ่ง ขุนพิเรนทรเทพไปเห็นเข้าก็ขัดใจ คายชานหมากทิ้งไปโดยกำลังโกรธมิได้ตั้งใจว่าจะให้ไปถูกสิ่งใด เผอิญชานหมากปลิวไปถูกเปลวไฟที่เทียนเสี่ยงทายเล่มขุนวรวงศาธิราชดับไป และในขณะนั้นมีพระสงฆ์องค์ ๑ เข้าไปในพระอุโบสถ เห็นเสี่ยงเทียนกัน อำนวยพรว่าขอให้สำเร็จดังปรารถนาเถิด แล้วออกจากพระอุโบสถหายไป คนทั้ง ๕ เห็นเป็นศุภนิมิตรก็มีความยินดี

๑๓. เมื่อเสี่ยงเทียนแล้วได้ประมาณ ๑๕ วัน มีใบบอกมาจากเมืองลพบุรีว่า ช้างพลายตัวใหญ่รูปงามเข้ามาติดโขลงหลวง สมุหนายกนำความขึ้นกราบทูล ขุนวรวงศาธิราชรับสั่งว่าให้ปกโขลงเข้ามายังเพนียดวัดซอง จะออกไปดูจับเอง ขุนพิเรนทรเทพได้ทราบความนั้น เห็นว่าดักทำร้ายขุนวรวงศาธิราชในกลางทางเมื่อจะไปดูจับช้างจะสะดวก และสำเร็จเร็วกว่ารอกองทัพหัวเมืองเหนือยกลงมา จึงคิดกันกับขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา เตรียมสมัครพรรคพวกพร้อมด้วยเครื่องศัสตราวุธลงเรือคนละลำ ขุนพิเรนทรเทพ หลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา ออกเรือแต่ดึกไปซุ่มอยู่ในคลองบางปลาหมอ ขุนอินทรเทพวันนั้นเป็นเวรตามเสด็จ ก็เอาเรือมาเข้ากระบวน และให้หมื่นราชเสน่หานอกราชการ ซึ่งเป็นสมัครพรรคพวกอีกคน ๑ ปลอมเป็นทนายเลือกที่ตั้งจุกช่องในทางเสด็จ ไปคอยดักยิงนายจันอุปราช ในเวลาที่จะคอยเฝ้า ณ เพนียด

ครั้นถึงวันกำหนด พอเวลารุ่งเช้าขุนวรวงศาธิราชพรท้าวศรีสุดาจันทร์กับพระศรีศิลป์ลงเรือพระที่นั่งจะไปยังเพนียด พอกระบวนพ้นปากคลองสระบัวไปได้หน่อยหนึ่ง ขุนพิเรนทรเทพกับหลวงศรียศ หมื่นราชเสน่หา ก็ให้พายเรือฝ่ากระบวนเข้ามาสกัดทางข้างหน้าเรือที่นั่ง ส่วนขุนอินทรเทพก็แซงเรือขึ้นไปข้างหลัง ต่างขึ้นเรือที่นั่งช่วยกันกลุ้มรุมฆ่าขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ตายในที่นั้นทั้ง ๒ คน แล้วขุนพิเรนทรเทพจึงร้องประกาศว่าจะกำจัดแต่คนร้าย ใครเป็นคนดีมีความซื่อตรงต่อพระราชวงศ์จงสงบอยู่หาประสงค์จะทำอันตรายไม่ พวกข้าราชการที่ไปในกระบวนเสด็จก็ไม่มีผู้ใดต่อสู้ ที่กลับยินดีด้วยก็มาก ขุนพิเรนทรเทพจึงสั่งให้เอาศพคนทั้ง ๒ ไปเสียบประจานไว้ ณ วัดแร้ง แล้วให้กลับกระบวนพาพระศรีศิลป์มายังพระราชวัง สั่งให้กำจัดธิดาขุนวรวงศาธิราชที่มีด้วยท้าวศรีสุดาจันทร์เสียด้วยอีกคนหนึ่ง และขณะนั้นได้ความว่าหมื่นราชเสน่หานอกราชการยิงอุปราชจันตายสมปรารถนา ก็ให้เอาศพไปเสียบประจานไว้ที่วัดแร้งด้วยกันทั้งหมด

๑๔. เมื่อเสร็จกำจัดคนร้ายเสี้ยนหนามแผ่นดินแล้ว ขุนพิเรนทรเทพจึงสั่งให้เรียกข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยมาประชุมพร้อมกัน ต่างก็มาด้วยความยินดี ขุนพิเรนทรเทพจึงชักชวนให้พร้อมกันถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา ข้าราชการก็เห็นชอบด้วยโดยมากมิได้มีผู้ใดโต้แย้ง เสนาบดีผู้ใหญ่จึงไปทูลอัญเชิญพระเทียรราชาให้ลาผนวช แล้วจัดเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปรับเสด็จเข้ามาในพระราชวัง แล้วตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกถวายพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเสวยราชย์นั้นพระชันษาราว ๔๐ ปี

๑๕. ขณะนั้นพระยาโอง เจ้าเมืองสวรรคโลก กับพระยาพิชัยคุมกำลังหัวเมืองเหนือลงมา หมายจะกำจัดขุนวรวงศาธิราช มาถึงกลางทางได้ทราบว่า ขุนพิเรนทรเทพกำจัดสำเร็จและถวายราชสมบัติแก่พระเทียรราชา ต่างก็ยินดีพากันเข้ามาเฝ้า

๑๖. สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงโปรดฯให้พระราชครูทั้ง ๔ ปรึกษาความชอบพวกที่ได้กำจัดขุนวรวงศาธิราชกับท้าวศรีสุดาจันทร์ แล้วพระราชทานบำเหน็จโดยลำดับกัน

๑). สถาปนาขุนพิเรนทรเทพ ให้เป็นเจ้าขันธสีมาครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่า พระมหาธรรมราชา ครองหัวเมืองเหนือ ๗ หัวเมือง ซึ่งเคยเป็นมณฑลราชธานีครั้งพระร่วงนั้น และพระราชทานพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาพระองค์ใหญ่ให้เป็นพระมเหสี

๒). ตั้งขุนอินทรเทพ เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ผู้สำเร็จราชการเมืองนครศรีธรรมราช

๓). ตั้งหลวงศรียศ เป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหพระกลาโหม

๔). ตั้งหมื่นราชเสน่หา เป็นเจ้าพระยามหาเทพ

๕). ตั้งหมื่นราชเสน่หานอกราชการ เป็นพระยาภักดีนุชิต

๖). เลื่อนพระยาพิชัย เป็นเจ้าพระยา

๗). พระยาโอง เจ้าเมืองสวรรคโลก(นั้นเป็นเจ้าอยู่แล้ว) เห็นจะพระราชทานอย่างอื่น แล้วให้กำลังไปตีกรุงกัมพูชา


เรื่องพงศาวดารตอนพระเทียรราชาได้ราชสมบัติ ว่าตามทางวินิจฉัย เข้าใจว่าจะเป็นดังกล่าวมาในตอนนี้.


.............................................................................................................................................................


ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
วินิจฉัยเรื่อง พระเทียรราชาได้ราชสมบัติ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 21 มีนาคม 2550 เวลา:16:41:01 น.  

 
 
 
ขอบคุณมากๆค่ะ
 
 

โดย: Why England วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:0:11:08 น.  

 
 
 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลที่จุชอบมาก

กะว่าจะทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ แต่ก็เป็นโครงการระยะยาว

จุเชื่อว่า ขุนวรวงศา ไม่ได้เป็นชู้ ทำไมนึกยังงั้นก็ไม่รู้

บางทีจุว่าจะค้นหาหลักฐานที่จะทำให้เชื่อได้ว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ ต้องการทวงบัลลังก์ของราชวงศ์อู่ทองคืนมา หลังจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ครองมายาวนาน แต่ไม่สำเร็จ
แล้วถูกใส่ร้ายถึงขั้นคบชู้ วางยาพิษพระสวามี


มีหลักฐานที่พอจะอ้างอิงได้แล้วว่า บางที พระนางไม่ได้วางยาพิษ และบางที นางไม่ได้ฆ่าลูกตัวเอง

ส่วนหลักฐานที่พระนางไม่ได้คบชู้นั้น..... ยังมึนๆ งงๆ อยู่ค่ะ

 
 

โดย: กระจ้อน วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:11:42:02 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com