|
ว่าด้วยตำนานเสภา เรื่องขุนช้างขุนแผน
ตำนานเสภา พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ประเพณีการขับเสภามีแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะมีขึ้นเมื่อใด และเหตุใดจึงเอาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนขับเสภา ทั้ง ๒ ข้อนี้ยังไม่พบอธิบายปรากฏเป็นแน่ชัด แม้แต่คำที่เรียกว่า เสภา คำนี้ มูลศัพท์จะเป็นภาษาใด และแปลว่ากระไร ก็ยังสืบไม่ได้ความ คำ เสภา นี้ นอกจากจะเรียกการขับร้องเรื่องขุนช้างขุนแผนอย่างเราเข้าใจกัน มีที่ใช้อย่างอื่นแต่เป็นชื่อเพลงปี่พาทย์ เรียกว่า เสภานอก เพลง ๑ เสภาใน เพลง ๑ เสภากลาง เพลง ๑ ชวนให้สันนิษฐานว่า เสภา จะเป็นชื่อลำนำที่เอามาใช้เป็นทำนองขับเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่ผู้ชำนาญดนตรีกล่าวยืนยันว่า ลำนำที่ขับเสภาไม่ได้ใกล้กับเพลงเสภาเลย
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอันยังแปลไม่ออกว่า คำว่า เสภา นี้จะแปลความกระไร แต่มีเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ บ้าง ข้าพเจ้าเคยได้สดับคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ามาบ้าง สังเกตเห็นในกระบวนกลอน และถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเสภาบ้าง ประกอบกับความสันนิษฐาน เห็นมีเค้าเงื่อนพอจะคาดคะเนตำนานของเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนได้อยู่ ข้าพเจ้าจะลองเก็บเนื้อความมาร้อยกรองแสดงโดยอัตโนมัติ ประกอบด้วยเหตุผลซึ่งจะชี้แจงไว้ให้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลาย

...................................................................................................................................................................
ว่าด้วยมูลเหตุของการขับเสภา
ถ้าว่าโดยประเพณีของการขับเสภา ถึงไม่ปรากฏเหตุเดิมแน่นอนก็พอสันนิษฐานได้ว่า มูลเหตุคงเนื่องมาแต่เล่านิทานให้คนฟัง อันเป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว แม้ในคัมภีร์สารัตถสมุจจัยซึ่งแต่งมากว่า ๗๐๐ ปี ยังกล่าวในตอนอธิบายเหตุแห่งมงคลสูตรว่า ในครั้งพระพุทธกาลนั้น ตามเมืองในมัชฌิมประเทศมักมีคนไปรับจ้างเล่านิทานให้ฟังกันในที่ชุมนุมชน เช่นที่ศาลาพักคนเดินทางเป็นต้น เกิดแต่คนทั้งหลายได้ฟังนิทานจึงโจษเป็นปัญหากันขึ้นว่าอะไรเป็นมงคล เป็นปัญหาแพร่หลายไปจนถึงเทวดาไปทูลถาม พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงมงคลสูตร
ประเพณีการรับจ้างเล่านิทานให้คนฟังดังกล่าวมานี้ แม้ในสยามประเทศก็มีมาแต่โบราณ จนนับเป็นการมหรสพอย่างหนึ่งซึ่งมักมีในการงาน เช่น งานโกนจุก ในตอนค่ำเมื่อพระสวดมนต์แล้ว ก็หาคนไปเล่านิทานให้แขกฟังเป็นประเพณีมาเก่าแก่ และยังมีลงมาจนถึงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้
ขับเสภาก็คือเล่านิทานนั้นเอง และประเพณีมีเสภาก็มีในงานอย่างเดียวกับที่เล่านิทานนั้น จึงเห็นว่าเนื่องมาจากเล่านิทาน ขับเสภาผิดกับเล่านิทานแต่เอามาผูกเป็นกลอน สำเนียงที่เล่าใช้ขับเป็นลำนำ และขับกันเฉพาะเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว เสภาผิดกับเล่านิทานที่เป็นสามัญอยู่แต่เท่านี้
ถ้าจะลองสันนิษฐานว่าเหตุใดจึงมีคนคิดขับเสภาขึ้นแทนเล่านิทาน ก็ดูเหมือนพอจะเห็นเหตุได้คือ เพราะเล่านิทานฟังกันมานานๆ เข้าออกจะจืด จึงมีคนคิดจะเล่าให้แปลก โดยกระบวนแต่เป็นบทกลอน ว่าให้คล้องกันให้น่าฟังกว่าที่เล่านิทานอย่างสามัญประการหนึ่ง เมืองเป็นบทกลอนจึงว่าเป็นทำนองลำนำตามวิสัยการว่าบทกลอน ให้ไพเราะขึ้นกว่าเล่านิทาน
อีกประการหนึ่งข้อที่ขับแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียวนั้น คงจะเป็นด้วยนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องที่ชอบกันแพร่หลายในครั้งกรุงเก่ายิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ ด้วยเป็นเรื่องสนุกจับใจ และถือกันว่าเป็นเรื่องจริง จึงเกิดขับเสภาขึ้นด้วยประการฉะนี้
ว่าด้วยเรื่องขุนช้างขุนแผน
เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นในกรุงเก่า เนื้อความปรากฏจดไว้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า นับเป็นเรื่องในพระราชพงศาวดาร มีอยู่ดังนี้ว่า
ในลำดับนั้นต่อไป พระราชบุตร พระราชนัดดา เชื้อพระราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี ได้ครองราชย์สมบัติในกรุงเทพทวาราวดีเป็นลำดับไปหลายพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระพันวษา ภาษาพม่าเรียกว่าพระเจ้าวาตะถ่อง แปลว่าสำลีพันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระราชประวัติพิสดาร แต่กล่าวไว้โดยเอกเทศ พระองค์มีพระมเหสีทรงพระนามว่า สุริยวงษาเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระมเหสีมีพระนามว่า พระบรมกุมาร
ครั้นอยู่มา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง มุ่งหมายจะเป็นสัมพันธมิตรสนิทสนมกับกรุงเทพทวาราวดี จึงส่งพระราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีพระรูปลักษณะงามเลิศ พึ่งเจริญพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พร้อมด้วยข้าหลวงสาวใช้ข้าทาสบริวาร กับเครื่องราชบรรณาการเป็นอันมาก มีราชทูตเชิญพระราชสาสน์ พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์คุมโยธาทวยหาญ เชิญพระราชธิดามาถวายพระพันวษา ณ กรุงเทพทวาราวดี ครั้นมาถึงในกลางทาง ข่าวนี้รู้ขึ้นไปถึงนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารราชกุมาร ผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนครเชียงใหม่ในเวลานั้น ไม่ชอบให้กรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง มาเป็นมิตรไมตรีกับกรุงเทพทวาราวดี อยากจะให้กรุงศรีสัตนาคนหุตไปเป็นสัมพันธมิตรสนิทกับนครเชียงใหม่ จึงคุมกองทัพลงมาซุ่มอยู่ ยกเข้าแย่งพระราชธิดานั้นไปได้ ฝ่ายพวกพลกรุงศรีสัตนาคนหุตที่พ่ายแตกหนี ก็รีบกลีบไปทูลแจ้งเหตุแก่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างให้ทรงทราบทุกประการ
ครั้นประพฤติเหตุเช่นนี้ ทราบเข้ามาถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงตรัสแก่เสนาอำมาตย์ทั้งปวงว่า เจ้านครเชียงใหม่ดูหมิ่นเดชานุภาพของเรา เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม มาแย่งชิงนางผู้ที่เขาจำนงใจจะมาให้แก่เราดังนี้ ก็ผิดต่อกรรมบถมนุษวินัย จำจะยกขึ้นไปปราบปรามเจ้านครเชียงใหม่ให้ยำเกรงฝีมือไทย ไม่ให้ประพฤติพาลทุจริตดูหมิ่นต่อเราสืบไป จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เตรียมทัพ และตรัสสั่งพระหมื่นศรีมหาดเล็กผู้เป็นขุนนางข้าหลวงเดิมคนสนิทไว้พระทัย ให้เลือกจัดหาทหารที่มีฝีมือกล้าศึกสงครามเข้ามาถวาย
พระหมื่นศรีจึงกราบทูลว่า ในทหารไทยในเวลานี้ ผู้ใดจะเป็นทหารเอกยอดดีไปกว่าขุนแผนนั้นไม่มี ด้วยขุนแผนเป็นผู้รู้เวทมนต์ เชี่ยวชาญ ใจกล้าหาญ เป็นยอดเสนา และมีใจกตัญญูกตเวที รู้พระเดชพระคุณเจ้าหาตัวเปรียบได้ยาก บัดนี้ขุนแผนเป็นโทษต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก ถ้าโปรดให้ขุนแผนเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้ คงจะมีชัยชนะโดยง่าย ไม่ต้องร้อนถึงทัพหลวงและทัพหลังเพียงปานใด
สมเด็จพระพันวษาก็ทรงระลึกได้ถึงขุนแผน ด้วยทรงทราบว่าเป็นทหารมีฝีมือมาแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนแผนพ้นโทษ มีรับสั่งให้พระหมื่นศรีนำขุนแผนเข้ามาเฝ้าโดยเร็ว พระหมื่นศรีได้รับสั่งแล้วก็ไปบอกนครบาลให้ถอดขุนแผนจากเรือนจำ นำตัวเข้ามาหมอบเฝ้าถวายบังคมต่อหน้าพระที่นั่งในท้องพระโรง
ในขณะนั้นสมเด็จพระพันวษาจึงมีพระราชโองการตรัสถามขุนแผนว่า เฮ้ยอ้ายขุนแผน เอ็งจะอาสากูยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ปราบปรามเจ้าโยนกอันธพาล ให้เห็นฝีมือทหารไทย รับนางคืนมาให้กูจะได้หรือมิได้ประการใด ขุนแผนจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระบาทผู้เป็นข้าทหาร ชีวิตอยู่ในใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้ทรงพระเดชพระคุณปกเกล้ามาแต่ปู่และบิดา ข้าพระองค์ขอรับอาสาขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ปราบเจ้าโยนกให้กลัวเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์ รับพระราชธิดาพระเจ้าลานช้างคืนมาถวายจงได้ ถ้าตีนครเชียงใหม่ไม่ได้แล้วขอถวายชีวิต สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังขุนแผนกราบทูลรับอาสาแข็งแรงดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดตั้งขุนแผนเป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพทหารไทยยกขึ้นไปตีนครเชียงใหม่
ขุนแผนจึงกราบถวายบังคมลายกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร จึงแวะเข้าหาพระพิจิตรเจ้าเมือง ขอให้ส่งดาบวิเศษกับม้าวิเศษที่ฝากไว้แต่ก่อนคืนมาให้ จะไปใช้ในการรบศึก ดาบวิเศษของขุนแผนนั้น ในภายหลังต่อๆ มามีผู้เรียกว่า ดาบฟ้าฟื้น มีฤทธิ์เดชนัก ม้าวิเศษนั้นเรียกว่า ม้าสีหมอก ขับขี่เข้าสู่สงครามหลบหลีกข้าศึกได้คล่องแคล่วว่องไวนัก ขุนแผนได้ดาบเวทวิเศษและม้าวิเศษแล้วก็ลาเจ้าเมืองพิจิตรรีบยกขึ้นไปถึงแดนนครเชียงใหม่
ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมา จึงแต่งกองทัพให้ยกออกมาสู้รบต้านทาน ขุนแผนแม่ทัพก็ขับพลทหารไทยเข้าต่อตีพลลาวยวนเชียงใหม่โดยสามารถ กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายแพ้หนีกลับเข้าเมือง จะปิดประตูลงเขื่อนก็ไม่ทัน ขุนแผนก็ยกติดตามรบรุกบุกบั่นเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันพลลาวล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่เห็นข้าศึกเข้าเมืองได้ก็ตกใจไม่มีขวัญ จึงขึ้นม้าหนีออกนอกเมืองไป
ขุนแผนจึงคุมทหารเข้าล้อมวัง ไปจับอัครสาธุเทวีมเหสีพระเจ้าเชียงใหม่ กับราชธิดาอันมีนามว่าเจ้าแว่นฟ้าทอง กับนางสนมน้อยใหญ่ของพระเจ้านครเชียงใหม่ให้รวบรวมไว้พร้อมด้วยกัน และให้เชิญนางสร้อยทองราชธิดาพระเจ้านครลานช้างที่เจ้าเชียงใหม่ไปแย่งชิงมาไว้ให้ออกมาจากหอคำ จึงเชิญนางสร้อยทองพระราชธิดาพระเจ้าลานช้าง กับพระมเหสีราชธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ที่จับไว้ได้ เลิกกองทัพกลับลงมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และกราบทูลข้อราชการทัพที่มีชัยชนะนั้นให้ทรงทราบทุกประการ
สมเด็จพระพันวษาก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงพระราชดำริถึงทศพิศราชธรรมตรัสว่า ซึ่งเจ้านครเชียงใหม่สู้ฝีมือกองทัพไทยไม่ได้ หนีออกจากเมืองไป ทิ้งเมืองให้ว่างเปล่าไว้ไม่มีเจ้าปกครองดังนั้นไม่ควร สมณชีพราหมณ์ราษฎรจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ให้เป็นข้าหลวง ขึ้นไปเกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองเชียงใหม่ ไม่ให้แตกตื่นวุ่นวาย ให้เสนาข้าราชการชาวเมืองเชียงใหม่นั้นไปติดตามเชิญพระเจ้าเชียงใหม่ กลับเข้ามาปกครองบ้านเมืองอยู่เป็นปรกติตามเดิมดั่งเก่า
ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัล เป็นต้นว่าเงินทอง สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ขุนแผนผู้เป็นแม่ทัพ และนายทัพนายกองตลอดจนโยธาทวยหาญ ผู้ไปรบศึกมีชัยชนะมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงตั้งนางสร้อยทอง ราชธิดาพระเจ้าศรีสัตนาคนหุตลานช้างเป็นพระมเหสีซ้าย ตั้งนางแว่นฟ้าทองราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่เป็นพระสนมเอก แต่มเหสีเจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นมารดาของนางแว่นฟ้าทองพระสนมเอกนั้น โปรดแต่งข้าหลวงพร้อมด้วยพวกพลพาขึ้นไปส่งต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ โดยพระทับทรงพระกรุณาฝ่ายข้าคนชายหญิงชาวนครลานช้างและชาวนครเชียงใหม่นั้น ก็ทรงโปรดให้ตั้งทำมาหากินอยู่ตามภูมิลำเนาในกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายขุนแผนซึ่งเป็นทหารเอกยอดดี มีชื่อเสียงปรากฏในกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น เมื่อคิดเห็นว่าตนแก่ชราแล้ว จึงนำดาบวิเศษของตนเข้าถวายสมเด็จพระพันวษา เพื่อเป็นพระแสงดาบทรงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระแสงทรงสำหรับพระองค์ แล้วจึงทรงประสิทธิ์ประสาทนามว่า พระแสงปราบศัตรู และทรงตั้งนามพระแสงขรรค์แต่ครั้งพระยาแกรกนั้นว่า พระขรรค์ชัยศรี โปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวา และรับสั่งให้เชิญพระรูปพระยาแกรก กับมงกุฎของพระยาแกรกเข้าไว้ในหอพระที่นมัสการในพระราชวัง พระรูปพระยาแกรกกับมงกุฎทรง ยังมีปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้
พระพันวษาครองราชย์สมบัติมาได้ ๒๕ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๔๐ พรรษา เสด็จสวรรคต
ในคำให้การชาวกรุงเก่า มีเรื่องขุนช้างขุนแผนปรากฏอยู่เท่านี้ นอกจากคำให้การชาวกรุงเก่า หนังสือเรื่องอื่นที่แต่งครั้งกรุงเก่ากล่าวถึงเสภามีบ้าง แต่ยังไม่พบที่เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีในหนังสือพงศาวดารเหนือก็กล่าวเพียงว่า สมเด็จพระพันวษาได้เสวยราชย์เมื่อนั้นๆ
อันพระนามที่เรียกว่า พระพันวษา น่าจะเป็นแต่พระนามประกอบพระเกียรติยศ สำหรับเรียกสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในสมัยอันหนึ่ง ดังเราเรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มิใช่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์หนึ่งพระองค์ใด เพราะคำเดียวกันนี้ในชั้นหลังต่อมา มาใช้เป็นพระนามสำหรับพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า สมเด็จพระพันปีหลวง และที่เรียกสมเด็จพระอัครมเหสีว่า สมเด็จพระพันวษา ก็มีในบางรัชกาล เช่นพระอัครมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครั้งกรุงเก่า และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายก็เรียกว่า สมเด็จพระพันวษา จึงเห็นว่ามิใช่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งพระองค์ใดแต่ก่อนมา
เรื่องขุนช้างขุนแผนที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ มีหลักฐานที่จะเทียบให้รู้ศักราชได้ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนเกิดมีขึ้นเมื่อใด คือในหนังสือนั้นแห่งหนึ่งกล่าวว่า สมเด็จพระพันวษาเป็นพระราชบิดาของพระบรมกุมาร ต่อมากล่าวว่า พระบรมกุมารได้เสวยราชสมบัติ มีมเหสีชื่อศรีสุดาจันทร์ และนางนี้เมื่อพระราชสามีสวรรคตแล้วชิงราชสมบัติให้แก่ชู้ เทียบกับพระราชพงศาวดาร พระบรมกุมารก็คือสมเด็จพระชัยราชาธิราช สมเด็จพระพันวษานั้นก็คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยหลักฐานอันนี้ประมาณว่า ขุนแผนมีตัวอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่างจุลศักราช ๘๕๓ จน ๘๙๑ ปี และมีเนื้อความประกอบในพงศาวดารเชียงใหม่ว่า ในยุคนั้นพระเมืองแก้วเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายคราว
และยังมีเนื้อความประกอบชอบกลอีกอย่างหนึ่ง ที่ในต้นหนังสือเสภาเอง ลงศักราชไว้ว่า ร้อยสี่สิบเจ็ดปี ถ้าสันนิษฐานว่าเดิมเขียนเป็นตัวหนังสือว่า แปดร้อยสี่สิบเจ็ดปี ภายหลังตกคำ แปด ไปเสีย ถ้าวางจุลศักราช ๘๔๗ เป็นปีขุนแผนเกิด ขุนแผนเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อายุได้ ๖ ขวบสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผ่านพิภพ จึงได้รับราชการในแผ่นดินนั้น ดูก็เข้ากันได้
แต่ที่ในคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวอีกแห่งหนึ่งว่า ท้าวโพธิสารเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น ท้าวโพธิสารนี้ที่จริงเป็นเจ้าล้านช้าง เป็นแต่ราชบุตรเขยพระเจ้าเชียงใหม่ และเป็นพระชนกของพระไชยเชษฐาที่ขอพระเทพกษัตรี คราวทำสงครามกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ลงมาตรงราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะเอาชื่อโพธิสารมาใส่ผิด ฟังไม่ได้
ควรฟังเป็นหลักฐานแต่ว่า มีเค้าเงื่อนว่าเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นเรื่องเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔ กับ ๒๐๗๒ และอนุโลมต่อมาได้ อีกอย่างหนึ่งเสภาคงจะเกิดมีขึ้นภายหลังรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นับด้วยร้อยปี เมื่อเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่ากันจนกลายเป็นนิทานไปแล้ว ถ้าประมาณว่า เสภาเพิ่งเกิดมามีขึ้นในตอนหลัง ไม่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เห็นจะไม่ผิด
ตัวเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เล่าในคำให้การชาวกรุงเก่าแม้สังเขปเพียงนั้น ยังเห็นได้ว่าไม่ตรงกับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราขับเสภากัน ความข้อนี้ไม่อัศจรรย์อันใด ด้วยเรื่องขุนช้างขุนแผนเอามาเล่าเป็นนิทานกันเสียช้านานหลายร้อยปี และซ้ำมาแต่งเป็นกลอนเสภาในชั้นหลังอีก คงตกแต่งเรื่องให้พิลึกกึกก้องสนุกสนานขึ้น และต่อเติมยืดยาวออกทุกที เชื่อได้ว่าเรื่องในเสภาคงคลาดเคลื่อนจากเรื่องเดิมเสียมาก
แต่คงจะยังมีเค้ามูลเรื่องเดิมอยู่บ้าง ถ้าจะลองประมาณเค้าเรื่องเดิมเท่าที่ยุติต้องด้วยเหตุผล เรื่องข้างตอนต้นเห็นจะตรงที่ปรากฏในเสภา คือขุนช้าง ขุนแผน นางวันทอง สามคนนี้เป็นชาวสุพรรณ นางวันทองเป็นชู้กับขุนแผนแต่เมื่อยังเป็นพลายแก้ว แล้วทำนองจะขอสู่กันไว้ แต่ยังไม่ทันแต่งงาน ในระยะนี้พลายแก้วต้องเกณฑ์ไปทัพ (ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ทัพ) หายไปเสียนาน ทางนี้ขุนช้างพยายามจนได้นางวันทองไปเป็นเมีย พลายแก้วกลับจากทัพได้เป็นที่ขุนแผนสะท้าน ตำแหน่งปลัดซ้ายกรมตำรวจภูบาล จึงลักนางวันทองไป ขุนช้างติดตาม ขุนแผนทำร้ายขุนช้างอย่างไรอย่างหนึ่ง ขุนช้างจึงเข้ามากล่าวโทษขุนแผน
สมเด็จพระพันวษาให้ข้าหลวงออกติดตาม ขุนแผนฆ่าข้าหลวงเสีย แล้วจึงหนีขึ้นไปเมืองเหนือ แต่ลงปลายเข้าหาพระพิจิตรโดยดี พระพิจิตรจึงบอกส่งลงมากรุงฯ น่าสงสัยว่าจะเป็นในตอนนี้เองที่มีรับสั่งให้ฆ่านางวันทองฐานเป็นหญิงสองใจ แล้วเอาขุนแผนจำคุกไว้ โดยโทษที่ฆ่าข้าหลวง แต่ลดหย่อนเพราะเจ้ามาลุแก่โทษ อยู่มาเกิดศึกเชียงใหม่ เวลาเสาะหาทหาร จมื่นศรีฯ ทูลยกย่องขุนแผน ขุนแผนจึงพ้นโทษด้วยจะให้ไปทำการศึก ขุนแผนไปรบพุ่งมีชัยชนะ จึงเลยมีชื่อเสียงเป็นคนสำคัญ น่าเข้าใจว่าทำนองเรื่องขุนช้างขุนแผนเดิมจะมีเท่านี้เอง นอกจากนี้เห็นจะเป็นของแต่งประกอบขึ้นในตอนเมื่อเป็นนิทาน และเป็นเสภาในภายหลัง
ว่าด้วยหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
หนังสือกลอนของโบราณ ที่เกิดขึ้นด้วยเอานิทานมาแต่งเป็นกลอนสำหรับขับลำนำ ไม่ใช่มีแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว หนังสือเรื่องตำนานและชาดกต่างๆ ที่แต่งเป็นกลอนสำหรับสวดก็เป็นของเกิดขึ้นโดยนัยเดียวกัน คือเอาเรื่องนิทานที่สำหรับเล่ามาแต่งเป็นกลอนสำหรับอ่าน เมื่ออ่านก็ทำทำนองเป็นลำนำเช่น อ่านตามศาลาและวิหาร อันเป็นเหตุให้เรียกว่า โอ้เอ้วิหารราย นั้นเป็นต้น ก็คือเล่านิทานให้คนฟังนั้นเอง หนังสือสวดนั้นเชื่อไว้ว่า มีมาก่อนหนังสือเสภาช้านาน และมีแพร่หลาย จนถึงเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือ ก็เอานิทานและชาดกมาแต่งเป็นหนังสือสำหรับแอ่วโดยทำนองเดียวกัน เมื่อพิเคราะห์ดูว่า การที่เอาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนเสภา จะเอาแบบอย่างมาจากหนังสือสวดหรืออย่างไร สันนิษฐานเห็นว่า น่าจะเป็นการเกิดขึ้นทางหนึ่งต่างหากไม่ได้เอาอย่างจากหนังสือสวด เกิดขึ้นแต่การเล่านิทานกันตามบ้านนั้นเอง
ลักษณะนิทานที่เล่ากันแต่โบราณ หรือแม้ตลอดลงมาจนในปัจจุบันทุกวันนี้ ผิดกับชาดกอันเป็นต้นเค้าของหนังสือสวด ในข้อสำคัญอย่างหนึ่งที่นิทานมักหยาบและโลน ข้อนี้ไม่ใช่เพราะคนเล่าและคนฟังนิทานมีอัชฌาสัยชอบหยาบและโลนทั่วไป ความจริงน่าจะเกิดแต่ในคติในทางอาถรรพ์มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ที่ถือว่า ถ้าปีศาจเอ็นดูอยากได้ผู้ใด ก็อาจบันดาลให้ล้มตาย เอาตัวไปเลี้ยงดูใช้สอยในเมืองผี จึงเกิดวิธีแก้โดยอาการที่กระทำให้ปีศาจเห็นว่าเป็นคนหยาบคนโลน ไม่ควรปีศาจจะเอาไปเลี้ยงดู
คติอันนี้เป็นเหตุให้เกิดความประพฤติหลายอย่าง ที่ยังถือลงมาใช้ในชั้นหลัง เป็นต้นว่าทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าลูกเจ้าหลานนายเกิดมักใช้ชื่อ ๒ ชื่อ ชื่อหนึ่งเป็นสามัญสำหรับตัว อีกชื่อหนึ่งสำหรับเรียกให้ผีเกลียดเช่น ชื่อว่า อึ่ง บ้าง กบ บ้าง เขียด บ้าง ลักษณะที่คนเล่นเพลงปรบไก่ก็ดี เทพทองก็ดี ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากเกี้ยวกันโดยกระบวนหยาบช้า ถึงขุดโคตรเค้าเหล่ากอด่ากันเล่นต่อหน้าธารกำนัล ก็เชื่อว่ามาแต่คติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ปีศาจรังเกียจบุคคลหรือวัตถุที่เป็นเหตุแห่งมหรสพ ด้วยเหตุนี้ ในงานสมโภชพระยาช้างเผือกมาถึงพระนคร จึงต้องมีเทพทองเป็นของขาดไม่ได้มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ยังมีอีกอย่างหนึ่งเช่น เด็กผูกขุนเพ็ดก็ดี หรือที่คนทำขุนเพ็ดไปถวายเจ้าก็ดี ก็น่าจะมาโดยคติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ผีชังเด็กนั้น และให้เจ้าชังคนที่เอาขุนเพ็ดถวาย ไม่ต้องการเอาไปเมืองผี มิใช่ถวายพระเจ้าจะชอบพอขุนเพ็ดอย่างไร
การเล่านิทานเป็นมหรสพโดยเฉพาะในงานเรียกขวัญเช่นงานโกนจุก ที่เล่านิทานเรื่องหยาบๆ ก็จะเนื่องด้วยเรื่องจะให้ผีรังเกียจเด็กที่โกนจุกนั้น อยู่ในคติอันเดียวกัน นิทานที่เล่ากันจึงมักจะกลาย และจึงให้อภัยกันโดยประเพณีที่กล่าวมาแล้ว ครั้นเคยชินกันมาก็เลยเป็นธรรมเนียมจนกลายเป็นของขบขัน ถึงเรื่องขุนช้างขุนแผนเมื่อยังเล่ากันเป็นนิทาน ก็คงเล่าอย่างหยาบๆ ข้อนี้ยังเห็นได้แม้จนบทเสภาที่ขับกันในพื้นบ้านเมืองก็อยู่ข้างหยาบ แต่ไม่หยาบอย่างสามหาวเหมือนนิทานเรื่องอื่นๆ ทั้งสิ้น เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้ จึงได้นิยมแต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว
ในชั้นแรกที่จะเกิดเสภา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าเห็นจะแต่งเป็นกลอนแต่บทสำคัญในเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่นบทสังวาส บทพ้อ บทชมโฉม และชมดง เป็นต้น เมื่อเล่านิทานไปถึงตรงนั้น จึงว่ากลอนแทรกเป็นทำนองนิทานทรงเครื่อง เหตุใดจึงเห็นดังนั้น อธิบายว่าเพราะแต่เดิมเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่าเป็นนิทาน และธรรมดาเล่านิทานนั้น จะเล่าคนเดียวก็ตาม หรือผลัดกันเล่าหลายคนก็ตาม คงต้องเล่าแต่ต้นจนจบเรื่องนิทานทุกเรื่อง นิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องยืดยาวที่จะแต่งเป็นกลอนให้จบเรื่องในคราวเดียวยาวนัก แม้แต่งได้ก็จะเล่าให้จบเรื่องในคืนเดียวไม่ได้ จึงสันนิษฐานในชั้นแรกเมื่อจะเกิดเสภาเห็นจะแต่งเป็นกลอนเพียงบทสำหรับว่าสลับแต่ในตอนที่สำคัญ แล้วเล่านิทานต่อไปจนจบเรื่องขุนช้างขุนแผน กลอนที่แต่งชั้นนี้อาจจะเป็นกลอนสดคิดขึ้นว่าในเวลาเล่านิทานนั้น
ครั้นเมื่อคนฟังชอบต่อมาอีกชั้นหนึ่ง จึงมีกวีคิดแต่งเป็นกลอนทั้งตัวนิทานเอาไปขับเป็นเสภา จึงเกิดหนังสือเสภามาแต่นั้น แต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องยาวดังกล่าวมาแล้ว เมื่อแต่งเป็นกลอนและขับเป็นลำนำด้วย ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะขับให้ตลอดเรื่องได้ในคืนเดียว บทเสภาที่แต่งขึ้นจึงแต่งแต่เป็นตอนพอขับคืนหนึ่ง เมื่อเอาอย่างกันแพร่หลายแต่งกันขึ้นหลายคน ใครชอบใจจะขับตอนไหน ก็แต่งเป็นกลอนเฉพาะตอนที่ขับนั้น ด้วยเหตุนี้ บทเสภาเดิมทั้งที่แต่งครั้งกรุงเก่า หรือแม้ที่แต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่าจึงเป็นท่อนเป็นตอน ไม่เป็นเรื่องติดต่อกันเหมือนกับบทละคร การที่เอาบทเสภามารวมติดต่อกันให้เป็นเรื่องอย่างหนังสือเสถาที่ลงพิมพ์มีหลักฐานที่รู้ได้ว่า พึ่งเอามารวมกันในชั้นหลังเมื่อราวรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า
หนังสือเสภาที่แต่งเมื่อครั้งกรุงเก่าเห็นจะสูญเสียแทบหมด ด้วยหนังสือเสภาผิดกับหนังสือบทละครและหนังสือสวด เพราะลักษณะการเล่นละครและสวดต้องอาศัยหนังสือ ใครเล่นละครก็จำต้องมีหนังสือบทสำหรับโรง ถ้าไม่มีหนังสือก็เล่นละครไม่ได้ หนังสือสวดก็ต้องมใช้ในเวลาสวดโดยทำนองเดียวกัน แต่หนังสือเสภาไม่เช่นนั้น แต่งขึ้นสำหรับให้คนขับท่องพอจำได้ จำได้แล้วก็ไม่ต้องใช้หนังสือ ใช่แต่เท่านั้น ใครแต่งหนังสือเสภาขึ้นสำหรับขับหากินน่าจะปิดหนังสือด้วยซ้ำไป เพราะกลัวผู้อื่นจะได้ไปขับแข่งตน จะให้อ่านท่องก็เห็นจะเฉพาะที่เป็นศิษย์หา หนังสือเสภาย่อมจะมีน้อยและเป็นของปกปิดกันจึงสาบสูญง่าย ไม่เหลือลงมามากเหมือนหนังสือบทละคร และหนังสือสวดครั้งกรุงเก่า
บทเสภาครั้งกรุงเก่าที่ได้มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้มาด้วยมีคนขับเสภาครั้งกรุงเก่าเหลือมาบ้าง แต่บทที่คนเสภาเหล่านั้นจะได้หนังสือมาหรือจำมาได้ก็ไม่กี่ตอน สักว่าได้มาพอเป็นเชื้อ บทเสภาที่ขับกันในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้ในชั้นสำนวนเก่า ได้สังเกตสำนวนดู เชื่อได้ว่าเป็นของที่มาคิดแต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งนั้น
ตำนานเสภาชั้นกรุงรัตนโกสินทร์มีหลักฐานพอที่จะรู้เรื่องราวได้ถ้วนถี่ดีกว่าครั้งกรุงเก่าหลายอย่าง ข้าพเจ้าได้พบหนังสือซึ่งนับว่าเป็นจดหมายเหตุในเรื่องเสถามีอยู่ ๒ ฉบับ คือกลอนสุนทรภู่แต่งไว้ในบทเสภาตอนโกนจุกพลายงามแห่งหนึ่ง กลอนท้ายไหว้ครูเสถาใครแต่งก็หาทราบไม่ นายอยู่ เสภาชาวอ่างทองว่าให้ข้าพเจ้าฟังได้ให้จดไว้อีกฉบับหนึ่ง หนังสือกลอน ๒ ฉบับนี้ ให้เค้าเงื่อนทางวินิจฉัยตำนานเสภาหลายข้อ ดังจะอธิบายต่อไป


ชื่อครูเสภาที่ปรากฏในกลอนทั้ง ๒ ฉบับนี้ ที่ปรากฏชื่อในกลอนของสุนทรภู่ เป็นคนเสภามีชื่อเสียงในครั้งรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เคยฟังคนเหล่านั้นขับ จึงรู้ทำนองของใครเป็นอย่างไร ส่วนชื่อครูเสภาที่ปรากฏในกลอนไหว้ครูนั้น เห็นได้ว่ารวบรวมชื่อคนเสภาเก่าใหม่บรรดาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ทั้งที่มีตัวอยู่และที่ตายไปเสียแล้วมาระบุไว้ ที่ซ้ำกันในบัญชีของสุนทรภู่ก็หลานคน และรู้ได้ว่าแต่งทีหลังกลอนของสุนทรภู่ เพราะอ้างถึงครูเสภาร่วมกับสุนทรภู่ เช่นนายมาพระยานนท์ เป็นต้น แต่ในฉบับไหว้ครูบอกว่าตายเสียแล้ว จึงรู้ว่าแต่งทีหลัง
ในกลอนทั้ง ๒ ฉบับ มีชื่อครูเสภา ๑๔ คน ครูปี่พาทย์ ๕ คน ได้ลองสืบประวัติได้แต่บางคน(๒)
๑. ครูทองอยู่ มีทั้งชื่อในกลอนสุนทรภู่และการไหว้ครู คนนี้ได้ความว่าเป็นคนสำคัญทีเดียว เดิมเป็นตัวละครพระเอกของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์แต่ในรัชกาลที่ ๑ ครั้นเมื่อหัดละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นครูนายโรงละครหลวงรุ่นใหญ่ เช่น เจ้าจอมมารดาแย้มอิเหนา เป็นต้น และว่าเป็นที่ปรึกษาหารือของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพพิทักษมนตรี ในการคิดแบบใช้บทรำละคร ที่ใช้รำกันมาจนทุกวันนี้ นัยว่าครั้งนั้นเมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครแล้ว พระราชทานออกไปที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเอาพระฉายบานใหญ่มาตั้ง ทรงลองจัดวิธีรำให้เข้ากับบทกับครูทองอยู่ด้วยกัน เมื่อเห็นว่าอย่างไรเรียบร้อยดีแล้ว จึงมอบให้ครูทองอยู่ถ่ายมาฝึกหัดละคร ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ครูทองอยู่นี้ได้เป็นครูละครที่ฝึกหัดขึ้นตามวังเจ้านายเกือบจะทุกแห่ง เรียกได้ว่าเป็นครูละครทั้งเมือง ถึงมีชื่อบูชากันในคำไหว้ครูละครจนตราบเท่าทุกวันนี้ มีครูนางอีกคนหนึ่งชื่อว่าครูรุ่ง เป็นคู่กับครูทองอยู่ แต่เห็นจะขับเสภาไม่เป็น ส่วนครูทองอยู่นั้นยังดีในทางเสภาด้วยอีกคนหนึ่ง จึงมีในพวกครูเสภาด้วย
๒. ครูแจ้ง คนนี้เป็นรุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพนางวันทอง ว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครูแจ้งกับยายมานี้เป็นคนเพลงที่เลื่องลือกันในรัชกาลที่ ๓ อยู่มาไปเล่นเพลงครั้งหนึ่ง ยายมาด่ามาถึงมารดาครูแจ้งด้วยข้อความอย่างไรอย่างหนึ่ง ซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลง หันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน ดังจะปรากฏบางตอนในเสถาฉบับนี้ ด้วยแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่ ถึงลำสวดที่สวดกันมาในชั้นหลัง ว่าเป็นลำของครูแจ้งประดิษฐ์ขึ้นก็มี จึงนับว่าครูแจ้งเป็นครูเสภาสำคัญอีกคนหนึ่ง
๓. ครูปี่พาทย์ชื่อว่าครูมีแขกนั้น คือเป็นเชื้อแขก ชื่อมี ว่าเล่นเครื่องดุริยดนตรีได้เกือบทุกอย่าง เป็นคนฉลาด สามารถแต่งเพลงดนตรีด้วยมีชื่อร่ำลือ เพลงของครูมีนี้ คือ ทยอยในทยอยนอก ๓ ชั้น เป็นต้น ยังเล่นกันอยู่จนทุกวันนี้ทั่วทุกวงแทบจะถือกันว่า ถ้าใครเล่น ๒ เพลงนี้ไม่ได้ นับว่ายังไม่เป็น ครูมีนี้ทำนองจะถนัดปี่ จึงปรากฏในคำไหว้ครูว่า ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ แต่ทยอยซึ่งว่าในที่นี้ เป็นอีกเพลงหนึ่งไม่ใช่ทยอยนอกทยอยในที่กล่าวมาแล้ว ปี่เป่าแต่เลาเดียว พวกปี่พาทย์เรียกกันว่า ทยอยเดียว เป็นเพลงครูมีแต่งเหมือนกัน ครูมีนี้ดีมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เจ้านายหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระเทเวศร์ฯ กรมหลวงวงศาฯ เป็นต้น ทรงรวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน ครูมีคนนี้ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประดิษฐ์ไพเราะ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นครูมโหรีของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
ที่นี้จะอธิบายตำนานเสภาที่วินิจฉัยได้ความจากกลอนทั้ง ๒ ฉบับนั้นต่อไป คือ ได้ความว่า ครูเสภาที่เก่าก่อนคนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ชื่อนายสน เป็นนายประตู อาจจะเป็นเสภามาแต่ครั้งกรุงเก่า มาเป็นครูเสภาในครั้งรัชกาลที่ ๑ ตายเสียก่อนสุนทรภู่แต่งกลอน จึงมิได้กล่าวถึงชื่อ จึงรู้ได้ว่าเป็นครูเสภาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ข้อนี้เป็นเหตุให้เห็นว่า มีคนเสภากรุงเก่าเป็นเชื้อลงมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ครูเสภาที่สุนทรออกชื่อ ๖ คนนั้น เป็นครูเสภาครั้งรัชกาลที่ ๒ คนเหล่านี้ประมาณอายุดู เห็นว่าเกิดไม่ทันที่จะเป็นเสภาครั้งกรุงเก่า คงเป็นคนเสภารุ่นแรกที่หัดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อลงมายังมีครูเสภารุ่นหลังที่ดีขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏชื่อในกลอนไหว้ครูก็หลายคน
ครูเสภาทั้งปวงนี้ มิใช่แต่ขับเสภาได้อย่างเดียว อาจจะแต่งบทเสภาได้ด้วย จึงจะยกย่องว่าเป็นครูเสภา หนังสือเสภารุ่นแรกที่เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ คงเป็นครูเสภาเหล่านี้แต่งขึ้นโดยมาก มีตัวอย่างสำนวนที่ยังจะสังเกตเห็นได้ ในหนังสือเสภาที่พิมพ์หลายแห่ง เช่น ตอนที่ ๑ ในหนังสือเล่มนี้ (ทั้งมีสำนวนใหม่ซ่อมเสียบ้างแล้ว) ยังสังเกตได้ว่า คล้ายกลอนครั้งกรุงเก่า ไม่สู้ถือสัมผัสเป็นสำคัญ ความที่ว่าก็อยู่ข้างจะเร่อร่า เสภาสำนวนเดิมในกรุงรัตนโกสินทร์ที่กล่าวนี้ ก็คงแต่งกันเป็นตอนๆ เหมือนอย่างครั้งกรุงเก่า จะมีเนื้อความกล่าวไว้ในกลอนว่า
ท่านตามีช่างประทัดถนัดรบ หมายความว่า ชอบขับตอนพลายแก้วไปตีเมืองเชียงใหม่ หรือตอนขุนแผนตีเมืองเชียงใหม่
ตาทองอยู่รู้ว่าภาษาลาว หมายความว่า ชอบขับตอนนางลาวทอง หรือตอนนางสร้อยฟ้าศรีมาลา
ครูอ่อนว่าพิมระบือชื่อขจร หมายความว่า ชอบขับตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม ดังนี้
หนังสือเสภาเพิ่งมาเป็นหนังสือวิเศษขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ความข้อนี้มีหลักฐานรู้ได้แน่นอน แม้ในกลอนไหว้ครูที่ว่ามาแล้วยังกล่าวถึงว่า

ตรงนี้หมายความว่า เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๒ เสภายังขับกันอย่างเล่านิทานไม่มีส่งปี่พาทย์ ลักษณะขับเสภาในขั้นนั้น เข้าใจว่าเห็นจะขับแต่ ๒ คนขึ้นไป วิธีขับผลัดกันคนละตอน ให้คนหนึ่งได้มีเวลาพัก หรือมิฉะนั้น ถ้าเป็นคนเสภาเก่งๆ เจ้าของงานเลือกเรื่องให้ว่าตอนใดตอนหนึ่ง ให้แต่งกลอนสดโต้กันอย่างเพลงปรบไก่ อย่างนี้เรียกว่าเสภาต้น เคยได้ยินว่ามีกันแต่ก่อน ครั้งเมื่อมีวิธีส่งปี่พาทย์แล้ว จึงขับแต่คนเดียวเป็นพื้น ด้วยเวลาที่ปี่พาทย์ทำผู้ขับเสภาได้พัก
แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงกระบวนเสภาแต่ให้มีวิธีส่งปี่พาทย์ขึ้นเท่านั้น ถึงบทเสภาเองก็แต่งใหม่ในสมัยนั้น โดยมากบทเสภาที่นับถือกันว่าวิเศษในทุกวันนี้ เป็นบทแต่งครั้งรัชกาลที่ ๒ แทบทั้งนั้น ที่เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงเองก็มี ความข้อนี้ข้าพเจ้าได้เคยทูลถามสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า ได้ยินเขาพูดกันว่าบทเสภานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์จริงหรืออย่างไร
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ มีรับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า ทรงพระราชนิพนธ์จริง ไม่ทรงอย่างเปิดเผย แต่ช่วยกันแต่งหลายคน ข้าพเจ้าได้สดับกระแสรับสั่งมาดังนี้ ยังนึกเสียดายว่า ครั้งนั้นหนักปากไปเสีย ถ้าได้ทูลถามชื่อผู้แต่งไว้ให้ได้มาก และรู้ว่าใครแต่งตอนไหนด้วยก็จะดีทีเดียว
เมื่อมาอยากรู้ขึ้นเวลานี้ ได้แต่สังเกตสำนวนกลอน เข้าใจว่าจะมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เมื่อยังเป็นกรม ได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง แต่ที่จำสำนวนได้แน่นอนนั้นคือสุนทรภู่อีกคนหนึ่ง แต่ตอนกำเนิดพลายงาม ตั้งแต่พลายงามเกิดจนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เป็นกลอนสำนวนสุนทรภู่เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย
ส่วนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ นั้น กล่าวกันมาว่า ทรงตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม อยู่ในตอนที่ ๔ เล่ม ๑ นี้ตอนหนึ่ง กับตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างและเข้าห้องนางแก้วกิริยา อยู่ตอนที่ ๑๗ ในเล่ม ๒ ฉบับนี้อีกตอนหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าสังเกตสำนวนกลอนเห็นว่าตอนนางวันทองหึงนางลาวทองเมื่อขุนแผนกลับมาถึงบ้าน อยู่ในตอนที่ ๑๓ ในเล่ม ๑ นี้ ดูเหมือนจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ อีกตอนหนึ่ง

ส่วนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เข้าใจว่าจะเป็นตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี อยู่ต่อพระราชนิพนธ์ทั้ง ๒ ตอน
ผู้ที่แต่งเสภาครั้งรัชกาลที่ ๒ ถึงไม่รู้จักตัวได้หมด ก็เชื่อได้ว่าคงอยู่ในพวกกวีที่มีชื่อเสียงในรัชกาลนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงหารือเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือพวกกวีชุดเดียวกันกับที่แต่งหนังสือบทละครในรัชกาลที่ ๒ มีเรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์เป็นต้น นั้นเองที่แต่งบทเสภา ถ้าสังเกตดูทำนองกลอนก็จะเห็นได้ว่า กลอนเสภาที่ตอนดีๆ คล้ายๆ กันกับบทละครในรัชกาลที่ ๒ ไม่ห่างไกลกันนัก
ผิดแต่ในข้อสำคัญที่เสภาไม่มีบังคับเหมือนอย่างบทละคร ที่จะต้องแต่งให้เข้ากับกระบวนคนรำ แต่เสถาบทจะยาวสั้นอย่างไรแล้วแต่จุใจของผู้แต่ง อยากจะว่าอย่างไรก็ว่าได้สิ้นกระแสความ อีกประการหนึ่ง สำนวนเสภาแต่งเป็นอย่างเล่านิทาน ถือเป็นข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องแต่งให้เห็นเป็นเรื่องจริงจัง เป็นต้นว่า ถ้อยคำสำนวนที่พูดจากันในเสภา แต่งคำคนชนิดไรก็ให้เหมือนถ้อยคำคนชนิดนั้น และพูดจาตามวิสัยของคนชนิดนั้น
แม้กล่าวถึงที่ทางไปมาในเรื่องเสภาก็ว่าให้ถูกแผนที่สมจริง ข้อนี้ข้าพเจ้าเคยไปตามท้องที่ที่อ้างในเสภาหลายแห่ง ได้ลองสอบสวนเห็นกล่าวถูกต้องโดยมาก ดูเหมือนแต่งบทเสภาจะถึงต้องสอบถามแผนที่กันมิใช่น้อย ว่าโดยย่อการแต่งบทเสภามีกระบวนที่จะแต่งได้กว้างขวางกว่าบทละคร ทั้งเนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนเองก็เป็นเรื่องสนุก มีท่าทางที่จะแต่งเล่นได้หลายอย่าง ประกอบกับที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้แต่งให้ปรากฏ ผู้แต่งได้อิสระเต็มที่
ด้วยเหตุเล่านี้ พวกกวีที่แต่งบทเสภาจึงแต่งประกวดกันเต็มฝีปาก ว่าเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจ เป็นหนังสือซึ่งให้เห็นสำนวนกวีต่างๆ กันเป็นอย่างดี หนังสือเสภาจึงวิเศษในกระบวนหนังสือกลอน ผิดกับหนังสือเรื่องอื่นที่แต่งมาก่อน หรือที่แต่งในยุคเดียวกันนั้น จะเปรียบเทียบกับเสภาไม่ได้สักเรื่องเดียว หนังสือเสภาจึงเป็นเสน่ห์ ใครอ่านแล้วย่อมชอบติดใจตั้งแต่เดิมมาจนกาลบัดนี้
หนังสือเสภาที่แต่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็แต่งเป็นตอนๆ แล้วแต่กวีคนใดจะพอใจแต่งเรื่องตรงไหน ก็รับไปแต่งตอนหนึ่งเหมือนจะกะพอขับคืนหนึ่ง ประมาณราว ๒ เล่มสมุดไทย ข้อนี้รู้ได้โดยสังเกตสำนวนหนังสือ และได้ทราบว่า เมื่อแต่งแล้วเอาเข้ามาขับถวายตัวเวลาทรงเครื่องใหญ่ จึงเป็นประเพณีมีขับเสภาถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่ มีในรัชกาลหลังๆ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพ ก็ทรงเจริญแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ขอแรงกวีแต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับขับเวลาทรงเครื่องใหญ่ ใครจะแต่งบ้างหาทราบไม่ แต่สุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่ได้แต่งด้วย เสียดายที่หนังสือเสภาพระราชพงศาวดารแต่งคราวนั้น ฉบับสูญหายเสียหมด มีแต่ที่จำกันไว้ได้เป็นตอนๆ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นคราวหนึ่ง แต่อ่านสู้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนไม่ได้ ด้วยเนื้อเรื่องหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ชวนแต่งเสภาเหมือนเรื่องขุนช้างขุนแผน
นอกจากเรื่องพระราชพงศาวดาร ยังมีเสภาเรื่องเชียงเมี่ยง คือเรื่องศรีธนญไชยอีกเรื่องหนึ่ง เข้าใจว่าแต่งขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เหมือนกัน แต่จะแต่งขึ้นเมื่อไร และใครจะแต่งหาทราบไม่ มีแต่ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ สังเกตสำนวนกลอนและลายมืออาลักษณ์ที่เขียน เป็นครั้งรัชกาลที่ ๔ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ขอแรงกวีแต่งเสภาเรื่องนิทราชาคริตอีกเรื่องหนึ่ง โดยทำนองเดียวกับที่แต่งเสภามาในครั้งรัชกาลที่ ๒ และที่ ๔ ปรากฏตัวผู้แต่ง ๑๑ คน คือ
ตอนที่ ๑ หลวงพิศณุเสนย์ (ทองอยู่ ครูเสภา) ภายหลังเป็นพระราชมนู ตอนที่ ๒ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น) ตอนที่ ๓ ขุนวิสูตรเสนี (จาง) ตอนที่ ๔ ขุนวินิจัย (อยู่) ภายหลังเป็นหลวงภิรมย์โกษา ตอนที่ ๕ หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด) ภายหลังเป็นพระภิรมย์ราชา ตอนที่ ๖ ขุนวิสุทธากร (ม.ร.ว. หนู) ตอนที่ ๗ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) ตอนที่ ๘ ขุนท่องสื่อ (ช่วง) ภายหลังเป็นหลวงมงคลรัตน์ ตอนที่ ๙ หลวงเสนีพิทักษ์ (อ่วม) ภายหลังเป็นพระยาราชวรานุกุล ตอนที่ ๑๐ หลวงสโมสรพลการ (ทัด) เดี๋ยวนี้เป็นพระยาสโมสรสรรพการ ตอนที่ ๑๑ หลวงจักรปาณี (ฤกษ์เปรียญ) ที่แต่งนิราศพระปฐมเจดีย์
หนังสือที่เรียกว่าเสภาหลวง จึงมี ๔ เรื่องด้วยกันดังแสดงมานี้ แต่เสภาเรื่องนิทราชาคริตที่ในหอพระสมุดฯ มีฉบับอยู่เพียง ๕ ตอนข้างต้น ถ้าตอนอื่นของท่านผู้ใดมี และยอมให้หอพระสมุดฯ คัดลอกรักษาไว้จะขอบคุณเป็นอันมาก
หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราอ่านกันทุกวันนี้ ไม่ได้แต่งแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทั้งหมด บทที่แต่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ก็มีหลายตอน ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในตัวความที่กล่าวในเรื่องเสภานั้น จะยกตัวอย่างเช่นตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม ในตอนที่ ๗ เล่ม ๑ นี้
กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว ในเสภาว่า คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า ยกทองของพระยาละครให้ ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น รัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล
ต่อมาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ก็สังเกตได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยชมเรือนขุนช้างว่า เครื่องแก้วแพรวพรรณอยู่ก่ายกอง ฉากสองชั้นม่านมุลี่มี เพราะเล่นเครื่องแก้วกันเมื่อในรัชกาลที่ ๒
ส่วนตอนที่รู้ได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น เช่นตอนทำศพนางวันทอง มีกล่าวว่า นายแจ้งก็มาเล่นต้นปรบไก่ ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า รำแต้แก้ไขกับยายมา เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป นายแจ้งนี้คือเสภาชั้นหลัง ที่มีอายุอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ เป็นคนต้นเพลงที่ดีมีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓ จึงรู้ว่าเสภาตอนนี้แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓
ตอนอื่นที่มีที่สังเกตอย่างนี้ก็มีอีก แต่ได้ลองตรวจ จะให้รู้ชัดให้ตลอดเรื่องว่าตอนไหนแต่งในรัชกาลที่ ๒ ตอนไหนแต่งในรัชกาลที่ ๓ รู้ไม่ได้ ด้วยไม่มีที่สังเกตเสียมาก ลำพังสำนวนกลอนในรัชกาลที่ ๒ นั้นไม่ผิดกัน ด้วยกวีครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังอยู่มาในรัชกาลที่ ๓ โดยมาก กวีที่มีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ที่แต่งดีถึงกวีครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็มีมาก
จึงได้แต่สันนิษฐานโดยตำนาน คือในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการฟ้อนรำขับร้องก็จริง แต่ก็ไม่ทรงขัดขวางห้ามปรามมิให้ผู้อื่นเล่น การเหล่านั้น เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่เล่นกันขึ้นหลายแห่ง เล่นละครบ้าง มโหรีปี่พาทย์บ้าง เสภานับว่าเป็นส่วนอันหนึ่งของปี่พาทย์ เพราะเป็นต้นบทส่งลำ จึงเล่นเสภากันแพร่หลายต่อมา บทเสภาสำนวนหลวงที่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เห็นจะได้มาขับให้คนฟังแพร่หลายในตอนนี้ เป็นเหตุให้เกิดนิยมบทเสภาที่แต่งใหม่มาก จึงมีผู้ขวนขวายให้แต่งบทเสภาตอนอื่นๆ ซึ่งยังมิได้แต่งในรัชกาลที่ ๒ เพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อีกหลายตอน
ผู้ที่แต่งเสภาในชั้นหลังนี้ จะเป็นใครบ้างๆไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่าคุณดั่นคนหนึ่ง คุณดั่นนี้เป็นลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำราชกาลทราบว่าได้เป็นที่หลวงมงคลรัตน์ เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเล่นหนังว่าพากย์และเจรจาดีนัก เพราะเหตุที่เป็นกวีแต่งถ้อยคำได้เอง นอกจากคุณดั่น ผู้ที่แต่งกลอนดีในเวลานั้นยังมีมาก เช่นพวกที่มีชื่อเป็นผู้แต่งเพลงยาววัดพระเชตุพนฯ นั้นเป็นต้น
บทเสภาสำนวนหลวงนับว่าบริบูรณ์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่งขึ้นแทนบทเดิมเกือบจะตลอดเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อมีบทสำนวนหลวงบริบูรณ์แล้ว เห็นจะมีเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง หรือขุนนางผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง ที่เล่นเสภาและปี่พาทย์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ คิดอ่านให้รวบรวมเสภาเข้าเรียบเรียงเป็นเรื่องติดต่อกัน อย่างฉบับที่เราได้อ่านกันในทุกวันนี้
เหตุซึ่งรู้ว่าพึ่งเอาเสภามาเรียบเรียงกันเข้าเป็นเรื่องต่อภายหลังนั้น เพราะสำนวนเสภาที่แต่งต่างยุคสมัย มีหลักฐานที่จะรู้ได้บ้าง ดังกล่าวมาแล้ว คือมีสำนวนเดิมที่แต่งก่อนในรัชกาลที่ ๒ สำนวนหนึ่ง สำนวนที่แต่งในรัชกาลที่ ๒ สำนวนหนึ่ง สำนวนที่แต่งในรัชกาลที่ ๓ สำนวนหนึ่ง ในหนังสือเสภาเอาสำนวนเหล่านี้เรียบเรียงคละกัน สำนวนยุคหลังอยู่หน้าสำนวนยุคก่อนก็มี ดังเช่นสำนวนสุนทรภูแต่งตอนกำเนิดพลายงาม อยู่หน้าสำนวนเดิมที่แต่งตอนเจ้าเชียงใหม่ขอนางสร้อยทองนั้นเป็นต้น ถ้าได้เรียบเรียงเข้าเป็นเรื่องมาแต่ก่อน สำนวนกลอนคงจะต่อกันตามยุค โดยฐานที่แต่งกันต่อมาโดยลำดับ
ยังอีกสถานหนึ่ง ถ้าพิเคราะห์ดูหนังสือเสภาที่รวบรวมเป็นเรื่องแล้วนี้ ก็เห็นได้ว่าของเดิมเป็นท่อนเป็นตอน ผู้แต่งต่างคนต่างแต่งตามเรื่องนิทานที่ตนจำได้ ไม่ได้สอบสวนรู้เห็นกัน เรื่องที่กล่าวยังแตกต่างกันอยู่หลายแห่ง แม้ชื่อคนที่เรียกในเสภา เรียกผิดกันไปก็มี จะยกตัวอย่างเช่น เถ้าแก่ที่ขอนางวันทองให้ขุนช้าง ในตอนแรกเรียกชื่อว่า ยายกลอยยายสาย ครั้นต่อมาในตอนหลังๆ เรียกว่ายายกลอยยายสา หลักฐานมีอยู่ดังกล่าวมานี้ จึงเชื่อได้แน่ว่าบทเสภาแต่เดิมแต่งเป็นท่อนเป็นตอนไม่ติดต่อกัน และเชื่อได้ว่าพึ่งเอามารวมกันเข้าต่อชั้นหลัง
ที่ข้าพเจ้าประมาณว่าจะรวมเสภาเรียบเรียงเข้าเป็นเรื่องในรัชกาลที่ ๓ นั้น เพราะในบทเสภาที่เรียบเรียงเข้าไว้ มีบ้างตอนที่รู้ได้ว่าแต่งเมื่อรัชกาลที่ ๓ นี้ประการหนึ่ง ยังอีกประมารหนึ่ง หนังสือเสภาที่รวมไว้ได้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร มีต่างกันถึง ๘ ฉบับ ยังฉบับปลีกต่างหากเป็นเล่มสมุดไทยราว ๒๐๐๐ เล่ม ได้ตรวจดูลายมือเขียน ไม่พบฝีมือเก่าถึงเขียนในรัชกาลที่ ๒ เลยสักเล่มเดียว ฉบับเก่าที่สุดมีเพียงฝีมืออาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๓ ฉบับนี้ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ๒ เล่มสมุดไทย แต่เขียนเป็นเส้นดินสิขาว ถ้ามิใช่ฉบับหลวงคงเป็นฉบับของเจ้านาย เช่นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏว่าโปรดหนังสือ
ด้วยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าการรวบรวมหนังสือเสภาเข้าติดต่อเป็นเรื่อง เห็นจะมารวมแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ว่านี้ประมาณเป็นอย่างสูง อาจจะมารวมต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ และเชื่อว่ารวมเรื่องในต้นรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ และเชื่อว่ารวมเรื่องในครั้งแรกนั้นจบเพียง ๓๘ เล่มสมุดไทย คือตั้งแต่ขึ้นต้นเรื่องมาจนถึงขับนางสร้อยฟ้ากลับไปถึงเมืองเชียงใหม่ ด้วยเห็นสำนวนกลอนเป็นยุติมาเพียงเท่านั้น
เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงหนังสือเสภาได้รวบรวมเข้าเป็นเรื่องแล้วดังกล่าวมา เมื่อหนังสือเสภายังมิได้ลงพิมพ์ ฉบับที่รวบรวมก็มีน้อย และคงอยู่แต่ของผู้มีบรรดาศักดิ์ ด้วยเหตุนี้ เสภาที่เล่นกันในพื้นเมืองในสมัยนั้น ยังขับเป็น ๒ สำนวน คนเสภาโดยมากยังขับได้แต่สำนวนเดิม มีที่ขับเสภาสำนวนหลวงได้น้อย ในสมัยนั้นจึงยังมีกวีที่ถือคติเนื่องมาแต่รัชกาลที่ ๓ คิดบทเสภาเพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อีกหลายตอน คือตอนจระเข้เถรขวาด และตอนพลายเพชรพลายบัว เป็นต้น เสภาที่ครูแจ้งแต่งหลายตอนก็แต่งในสมัยนี้
ข้อนี้รู้ด้วยสำนวนกลอนผิดกัน กลอนแต่งชั้นหลังมักชอบเล่นสัมผัสในเอาอย่างสุนทรภู่ และกระบวนแผนที่ก็ไม่แม่นยำเหมือนแต่งรุ่นก่อน เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ คงจะมีใครรวมหนังสือเสภาอีกครั้งหนึ่ง จึงสำเร็จรูปอย่างฉบับที่ตีพิมพ์ มีถึงตอนพลายแก้วพลายบัว คือต่อเรื่องเข้าอีก ๕ เล่มสมุดไทย รวมทั้งเก่าใหม่เป็น ๔๒ เล่ม
ครูเสภาที่มีชื่อเสียงปรากฏในรัชกาลที่ ๔ ก็มีหลายคน คือ
๑. ครูแจ้งที่กล่าวมาแล้ว ที่จริงในรัชกาลที่ ๓ เป็นแต่ร่ำลือกระบวนเพลง มาเป็นครูเสภามีชื่อเสียงเมื่อในรัชกาลที่ ๔
๒. ครูสิง เป็นบิดาของนายสัง จีนปี่พาทย์ที่ออกไปตายที่เมืองลอนดอนคราวไปกับปี่พาทย์ในเมื่อรัชกาลที่ ๕ และนายทองดีที่ได้เป็นหลวงเสนาะดุริยางค์เมื่อภายหลัง ครูสิงนี้ว่าขับตอนจระเข้ขวาดไม่มีตัวสู้เมื่อในรัชกาลที่ ๔
๓. หลวงพิศนุเสนี (ทองอยู่ เรียกกันว่าหลวงเพ็ดฉลู) ว่าดีหลายอย่าง ขับก็ดี แต่งเสภาก็ได้ และรู้ลำมากถึงบอกปี่พาทย์ได้ด้วย ถนัดขับตอนขุนแผนรบเมืองเชียงใหม่ หลวงพิศนุเสนีอยู่มาเป็นครูใหญ่อยู่ในรัชกาลที่ ๕
๔. ครูอินอู ว่าเสียงเพราะนัก ชอบขับตอนสังวาส เป็นคู่ขับกับหลวงพิศนุเสนี (ทองอยู่)
๕. ครูเมือง คนเสภาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ชมกันว่ากระบวนขยับกรับเข้ากับวิธีขับ ไม่มีตัวสู้(๓)
แต่การเล่นเสภาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ กลายมาเป็นเล่นคู่กับปี่พาทย์ด้วย เล่นกันขึ้นแพร่หลาย พอใจจะฟังเพลงปี่พาทย์กับเสภาเท่าๆ กัน ไม่ฟังเสภาเป็นคนสำคัญเหมือนกันอย่างแต่ก่อน
ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ หมอสมิธพิมพ์บทเสภาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ (พ.ศ. ๒๔๑๕) เมื่อมีบทเสภาพิมพ์แล้ว ใครๆก็อาจจะหาซื้อบทเสภาสำนวนหลวงได้โดยง่าย แต่นั้นมาพวกเสภาก็หันเข้าขับสำนวนหลวง คนขับสำนวนนอกมีน้อยลงทุกที บทเสภาก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดแต่งขึ้นใหม่
Create Date : 31 ตุลาคม 2551 |
Last Update : 31 ตุลาคม 2551 20:06:16 น. |
|
20 comments
|
Counter : 43312 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: กัมม์ วันที่: 31 ตุลาคม 2551 เวลา:20:04:51 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 31 ตุลาคม 2551 เวลา:20:22:18 น. |
|
โดย: น้องดี IP: 112.143.41.106 วันที่: 25 สิงหาคม 2552 เวลา:17:30:39 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 4 กันยายน 2552 เวลา:20:51:59 น. |
|
โดย: เด็กดี IP: 192.168.3.169, 113.53.150.111 วันที่: 29 ธันวาคม 2552 เวลา:11:13:03 น. |
|
โดย: แพนดี้ ค่ะ IP: 192.168.1.183, 124.120.209.51 วันที่: 5 มกราคม 2553 เวลา:11:46:43 น. |
|
โดย: นะนัน IP: 125.27.146.122 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:19:04:12 น. |
|
โดย: ค่ะ IP: 192.168.1.111, 118.173.31.40 วันที่: 31 พฤษภาคม 2553 เวลา:21:19:06 น. |
|
โดย: น้ำอ้อย IP: 118.173.16.96 วันที่: 8 กรกฎาคม 2553 เวลา:18:36:04 น. |
|
โดย: บิวตี้ฟู IP: 222.123.24.28 วันที่: 2 สิงหาคม 2553 เวลา:16:24:02 น. |
|
โดย: การ IP: 61.19.52.106 วันที่: 3 สิงหาคม 2553 เวลา:20:31:13 น. |
|
โดย: คนชอบอ่าน IP: 125.24.9.63 วันที่: 21 ตุลาคม 2553 เวลา:2:12:26 น. |
|
โดย: ป.ปลา ตา ตี่ IP: 124.121.160.112 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา:21:12:29 น. |
|
โดย: แพรว ปกณ IP: 192.168.1.116, 180.183.188.55 วันที่: 11 สิงหาคม 2554 เวลา:18:05:04 น. |
|
โดย: ด่วนมากครับ IP: 180.180.50.1 วันที่: 15 กันยายน 2554 เวลา:15:48:38 น. |
|
โดย: pangfoon sweetlove IP: 223.205.58.186 วันที่: 9 พฤศจิกายน 2555 เวลา:13:43:44 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 4 พฤษภาคม 2556 เวลา:14:26:07 น. |
|
โดย: tony IP: 103.10.230.28 วันที่: 2 มีนาคม 2558 เวลา:19:00:05 น. |
|
โดย: Valentine Vineyard IP: 49.230.230.185 วันที่: 14 กันยายน 2558 เวลา:19:22:55 น. |
|
โดย: Valentine Vineyard IP: 49.230.230.185 วันที่: 14 กันยายน 2558 เวลา:19:24:17 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|
ส่วนกระบวนที่เล่นเสภา เมื่อต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ยังเกิดวิธีพลิกแพลงเล่นห่างออกไปจาดเสภาเดิมอีก เช่นมีวิธีเล่นเสภารำ คือเล่นเป็นละคร แต่ใช้ขับเสภาต้นแทนต้นบทและลูกคู่ร้อง ขับเสภาสลับไปกับการเจรจาและเล่นจำอวด เรื่องเสภาก็ยิ่งขับสั้นเข้า ถึงการขับเสภากันตามอย่างเดิมยังไม่หมด คนเสภาที่มีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๕ มักเป็นแต่ดีด้วยอย่างอื่น ไม่ปรากฏว่าใครดีในกระบวนแต่งเสภา ได้สืบสวนถึงคนเสภาซึ่งมีชื่อเสียงเมื่อในรัชกาลที่ ๕ มีปรากฏมา คือ
๑. หลวงพิศนุเสนี (ทองอยู่) ดีมาแต่ในรัชกาลก่อนดังกล่าวมาแล้ว มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนที่เป็นพระราชมนู คนนี้มาเป็นครูเสภาใหญ่ ผู้คนนับถือยิ่งกว่าผู้อื่น มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่งมีงานโกนจุก เจ้าของงานมีพวกพ้องเป็นนายวงปี่พาทย์ แต่เป็นวงพึ่งหัดขึ้นใหม่ พอทำเพลงประโคมพระสวดมนต์ฉันเช้าได้ นายวงปี่พาทย์สำคัญว่าจะมีแต่สวดมนต์ฉันเช้า จึงรับเอาปี่พาทย์ไปช่วยงาน แต่สวดมนต์จบแล้ว เห็นหลวงพิศณุเสนีไป เจ้าของวงปี่พาทย์จึงทราบว่า เจ้าของงานจะมีเสภาก็ตกใจ ด้วยเฉพาะถูกคนขับเป็นครูสำคัญด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงแอบคลานเข้าไปกราบหลวงพิศณุเสนี บอกว่า ใต้เท้าได้โปรดด้วยปี่พาทย์ผมพึ่งหัด หลวงพิศนุเสนีหันมาถามว่า ทำเพลงอะไรได้บ้าง นายวงบอกว่า ได้แต่จระเข้หางยาวเพลงเดียวเท่านั้นแหละขอรับ หลวงพิศณุเสนีพยักหน้าแล้วก็นิ่งอยู่เสภาค่ำวันนั้นขับๆ ไปแล้ว หลวงพิศณุเสนีก็หันลงส่งเพลงจระเข้หางยาว ส่งแต่เพลงเดียวตลอดทั้งคืน ปล่อยปี่พาทย์รอดตัวมาได้
๒. จ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคน เรียกกันว่าจ่าโคน) เป็นน้องหลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่) ว่าขับเสถาได้ แต่งกลอนก็ดี และรู้ลำมากแต่เป็นครูบอกมโหรี และแต่งสักวาเสียเป็นพื้น
๓. หลวงพิศณุเสนี (กล่อม การะเวก) เดิมเป็นนักสวดเสียงเพราะ จึงเรียกกันว่า กล่อมการะเวก สึกแล้วมาเป็นต้นบทสักรวาของหลวงบดินทรไพศาลโสภณอยู่ก่อน กระบวนร้องว่าเม็ดก้านมากร้องเพราะ ขับเสภาได้ แต่ไม่ลือในกระบวนเสภา
๔. นายเจิม มหาพน เมื่อบวชเทศน์มหาพนล่ำลือ ครั้งหนึ่งเอาเรื่องเจ้าพระยามหินทร์ฯ ยกทัพไปรบฮ่อมาแต่งเป็นเทศน์แหล่นางกินนร เจ้าพระยามหินทร์ฯ โกรธ ต้องเลิก ครั้นสึกมาอยู่บ้านบางตะนาวศรี กระบวนขับเสภาว่าพอประมาณ แต่รู้ลำส่งมาก พวกปี่พาทย์กลัว ถ้าพอดีพอร้ายไม่กล้าไปรับเสภานายเจิม
๕. ขุนพลสงคราม (โพ) กำนันบ้านสาย แขวงอ่างทอง อยู่มาจนปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นเสภาอย่างเก่า ว่าขับดีนัก แต่ข้าพเจ้าหาได้ฟังไม่
๖. พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) เมืองราชบุรี เป็นเสภาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เสียงดี ขับเพราะ เมื่อข้าพเจ้าแต่งหนังสือเรื่องนี้ ตัวก็ยังอยู่ อายุได้ ๘๐ เศษ ยังขับเสภาได้ แต่พวกปี่พาทย์เขายิ้มๆ กันว่า กระบวนส่งลำอยู่ข้างจะพลาด
ว่าด้วยการชำระหนังสือเสภา (ฉบับพิมพ์ใน พ.ศ. ๒๔๖๐)
หนังสือเสภาซึ่งหอพระสมุดฯ ได้ฉบับมาสอบ นับแต่ที่เป็นฉบับสำคัญมี ๔ ฉบับ คือฉบับที่ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ฝีมืออาลักษณ์ครั้งรัชกาลที่ ๓ เขียนฉบับ ๑ ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ฝีมือเขียนครั้งรัชกาลที่ ๔ ฉบับ ๑ ฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๕ อาลักษณ์เขียน เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒ ฉบับ ๑ ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เขียนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นต้นฉบับที่หมอสมิธได้ไปพิมพ์ ฉบับ ๑
เสียดายที่ไม่ได้หนังสือเหล่านี้ครบแต่ต้นจนจบสักฉบับเดียว แต่ก็เป็นประโยชน์ในการสอบสวน ทั้งถ้อยคำสำนวนและบทกลอนของเดิมมาก การชำระได้อาศัยหนังสือ ๔ ฉบับนี้เป็นสำคัญ แต่เมื่อสอบเข้าแล้ว เห็นมีข้อควรสังเกตขึ้นอีกอย่างหนึ่ง หนังสือเสภาแม้เป็นฉบับสำคัญดังกล่าวมา กระบวนกลอนและถ้อยคำมีแตกต่างกันทุกฉบับ จึงสันนิษฐานว่าเมื่อแรกรวมบทเสภาเข้าเรียบเรียงเป็นหนังสือนั้น ชะรอยจะหาหนังสือไม่ได้หมดทุกตอน เพราะมีฉบับน้อย ทำนองอย่างครั้งกรุงเก่า บางตอนเห็นจะต้องให้คนขับเสถามาว่า แล้วจดลงตามที่คนขับจำได้
ความพลาดพลั้งหลงลืมของคนขับเสถาจึงมาปรากฏอยู่ในหนังสือเสภาที่รวบรวมในครั้งแรก ฉบับทีหลังเป็นของลอกคัดต่อๆ กันมาคงไม่ได้ชำระ หรือถ้าจะชำระก็เพียงให้คนขับเสภาตรวจแก้ จึงวิปลาสคลาดเคลื่อนยิ่งขึ้นทุกที จนมาถึงฉบับที่พิมพ์จำหน่ายกันอยู่ในทุกวันนี้ ได้เรียกว่าหนังสือเสภาเป็นจลาจล เพราะเหตุที่มีผู้แก้ไขด้วยไม่รู้ราคาสำนวนเดิม เปลี่ยนคำเดิมเสียโดยรักจะใส่สัมผัสบ้าง เปลี่ยนคำที่ตัวไม่เข้าใจออกเสียบ้าง ทำให้ความคลาดเคลื่อนไปเสียมากชั้นหนึ่ง ซ้ำเวลาพิมพ์ การตรวจก็สับเพร่า เป็นเหตุให้เกิดอักขระวิบัติขึ้นอีกด้วยชั้นหนึ่ง ด้วยเหตุทั้งปวงดังกล่าวมานี้ การที่จะชำระหนังสือเสภาฉบับนี้ จึงเป็นการยากยิ่งกว่าชำระหนังสืออื่นโดยมาก
หนังสือเสภาที่พิมพ์เป็นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณฉบับนี้ ดูเหมือนจะเป็นฉบับที่ได้ชำระสอบสวนเป็นครั้งแรก แต่ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า กรรมการหอพระสมุดฯ มีความประสงค์จะรักษาหนังสือกลอนเป็นอย่างดีในภาษาไทยไว้ให้ถาวร เป็นข้อสำคัญยิ่งกว่าจะพยายามรักษาเรื่องขุนช้างขุนแผน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูหนังสือเสภาเก่าที่มีอยู่ เห็นว่าที่เป็นเรื่องดีและกลอนดีมีอยู่เพียง ๓๘ เล่ม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นตอนที่ได้รวบรวมขึ้นครั้งแรก คือตั้งแต่ต้นมาจนถึงขับนางสร้อยฟ้าไปถึงเมืองเชียงใหม่นั้น จึงยุติว่าจะชำระเพียงเท่านั้น ตอนต่อไปนั้น คือตอนพลายยงไปเมืองจีนก็ดี ตอนพลายเพชรพลายบัวก็ดี เห็นไม่มีสาระในทางวรรณคดี จึงไม่พิมพ์
แต่เมื่อหอพระสมุดฯ รวบรวมบทเสภาในคราวนี้ ได้บทเสภาปลีกมาอีกหลายตอน เป็นของกวีแต่ก่อนได้แต่งไว้ บางตอนแทรกเรื่องเข้าใหม่ เช่นตอนจระเข้เถรขวาด บางตอนตัดความในเสภาเดิมไปขยาย เช่นตอนกำเนิดกุมารทองลูกนางบัวคลี่ มีอยู่หลายตอนแต่งดีน่าฟัง และเข้าใจว่าเขาจะเอาเค้ามูลเรื่องนิทานเดิมมาแต่ง ไม่ใช่คิดขึ้นใหม่ทีเดียว จะทิ้งให้สูญเสียน่าเสียดาย จึงเห็นควรจะเลือกเสภาปลีกเฉพาะตอนที่แต่งดี รวมเข้าในเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณด้วย
แต่การที่รวมนั้น จำจะต้องตัดเสภาเดิมตรงที่ซ้ำกันออกบ้าง จึงเกิดข้อวินิจฉัยว่าจะเสียดายสำนวนชั้นแรกหรือจะเสียดายสำนวนชั้นหลัง ซึ่งจำจะต้องคิดเสียฝ่ายหนึ่ง แต่เมื่อพิจารณาดูสำนวนทั้ง ๒ ฝ่ายก็เห็นว่า มีทางจะรวบรวมติดต่อกันให้ดีได้ ด้วยความเดิมที่จะต้องตัดจริงๆ มีน้อยแห่ง และเฉพาะเป็นตอนที่ออกเร่อร่าไม่ถูกตอนที่ดีสักแห่งเดียว ความเดิมที่ดีอาจจะคงไว้ได้โดยไม่ต้องตัด ด้วยเหตุนี้จึงได้ตกลงรับเสภาปลีกเข้าในเสภาฉบับนี้ บางตอนจะบอกไว้ให้แจ้งตรงที่พิมพ์ ว่าแห่งใดเป็นบทเสภาเพิ่มเข้าใหม่
หนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ว่าโดยกระบวนตัวเรื่อง ถ้าจะประมาณเป็นเล่มสมุดไทย เห็นจะราว ๔๓ เล่ม พอไล่เลี่ยกับฉบับพิมพ์แต่ก่อน แต่ผิดกับฉบับซึ่งพิมพ์มาแล้ว ทั้งที่ตัดของเดิมออกเสียบ้าง และที่เติมเรื่องตอนอื่นที่ยังไม่ได้พิมพ์เข้าในฉบับนี้บ้าง แต่ที่ผิดกันนี้เห็นจะพอรับประกันได้ว่า ทั้งกระบวนเรื่องและกระบวนบทกลอน ฉบับนี้ดีกว่าฉบับที่พิมพ์มาแต่ก่อนๆ และได้รักษาสิ่งที่ดีในเสภาไว้ไม่ให้สูญเสียบกพร่องไปสักแห่งเดียว
อีกประการหนึ่ง หนังสือเสภาฉบับนี้ ได้จัดวิธีแบ่งเสียใหม่ให้เป็นตอน ด้วยแบ่งเป็นเล่มสมุดไทยอย่างแต่ก่อนไม่เข้ากับวิธีพิมพ์ และที่แบ่งเป็นตอนดีกว่า เพราะขึ้นต้นลงท้ายได้เหมาะเรื่อง และมักจะเหมาะกับสำนวนผู้แต่งด้วย รวมทั้งเรื่องได้กำหนดเป็น ๔๑ ตอน และพิมพ์แบ่งเป็น ๓ เล่มสมุด
ว่าโดยกระบวนถ้อยคำ การที่ชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ทำด้วยตั้งใจจะรักษาถ้อยคำให้คงอยู่ตามเดิมที่กวีแต่งแต่ก่อนได้แต่งไว้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขมีอยู่บ้าง ด้วยเหตุต่างๆ คือ
๑. หนังสือเสภาสำเนาเก่าบางแห่งมีความหยาบคาย ด้วยผู้แต่งประสงค์จะขับให้คนฮา ดังเช่นสุนทรภูบอกไว้ในกลอนว่า นายมาพระยานนท์คนตลก ว่าหยกหยกหยาบช้าคนฮาฉาว ความที่หยาบมักมีอยู่ในสำนวนเดิมก่อนพระราชนิพนธ์ พาให้เสภาเป็นที่รังเกียจของผู้อ่าน ถึงแต่ก่อนมีบางตอนที่ห้ามกันไม่ให้ผู้หญิงอ่าน ชำระคราวนี้ได้ตัดตรงที่หยาบนั้นออกเสีย ด้วยประสงค์จะให้หนังสือเสภาฉบับนี้พ้นจากความรังเกียจ แต่ไม่ได้ตัดถึงจะให้ราบเรียบทีเดียว เพราะกลอนเสภาดีอยู่ที่สำนวนเล่นกันอย่างปากตลาด บางทีก็พูดสัปดนหรือด่าทอกัน ถ้าไปถือว่าเป็นหยาบคายตัดออกเสียหมด ก็จะเสียสำนวนเสภา จึงคงไว้เพียงเท่าที่จะไม่ถึงน่ารังเกียจ
๒. เรื่องเสภาที่จริงความขับขันมีอยู่ในเนื้อเรื่องบริบูรณ์แล้ว แต่ในหนังสือเสภาสำนวนเดิม มีผู้แต่งบทจำอวดแทรกลงไว้หลายแห่ง เช่นนักสวดว่าทำนองสิบสองภาษา ในตอนทำศพขุนศรีวิชัยและพันศรโยธานั้นเป็นต้น เห็นจะให้เป็นเครื่องเล่นของคนขับ แต่บทจำอวดที่แทรกเหล่านี้ เมื่อมาอ่านเป็นหนังสือไม่ขบขัน เห็นกลับทำให้เรื่องหนังสือเสีย จึงตัดออกเสียอีกอย่างหนึ่ง
๓. ความที่แต่งเชื่อมตรงหัวต่อ เข้าใจว่าเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งเชื่อมเมื่อรวมเสภาเข้าเป็นเรื่องมีหลายแห่ง ที่ตรงหัวต่อนั้นบางแห่งเชื่อมไม่ดี ความไม่เข้ากันบ้าง ซ้ำกันบ้าง ขาดเกิดบกพร่องไปบ้าง ได้แก้ไขตรงหัวต่อเหล่านี้บางแห่ง เพื่อให้ความสนิทดีขึ้น
๔. ถ้อยคำและกลอนที่วิปลาสอยู่แห่งใด ได้ฉบับเก่ามาสอบก็แก้ไขไปตามฉบับเก่า ที่ไม่มีฉบับเก่าจะสอบ ต้องแก้ไขโดยอัตโนมัติก็มีบ้าง แต่ได้ระวังแก้ไขเฉพาะแต่ที่รู้ว่าผิดแน่
การชำระหนังสือเดสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มีข้อซึ่งไม่ลุล่วงได้ข้อหนึ่ง คือในเสภาขึ้นต้นว่า ครั้นไหว้ครูแล้วก็จับบท ดังนี้ เป็นเหตุให้เห็นว่า คำไหว้ครูของเสภามีอยู่ ซึ่งควรจะเอามาพิมพ์ไว้ในหนังสือเสภาฉบับนี้ด้วย ได้พยายามสืบหาหนังสือคำไหว้ครูเสภาก็ไม่มีที่ไหน จึงได้ลองถามบรรดาคนขับเสภาทั้งในกรุงและตามหัวเมืองหลายคน ใครจำไว้ได้อย่างไรก็จดมาสอบกันดู ได้ความเพียงพอสันนิษฐานว่า มีบทไหว้ครูของเก่า เห็นจะเป็นของแต่งครั้งกรุงเก่าอยู่บทหนึ่งเป็นคำบูชาเทวดาในทางไสยศาสตร์ แต่ของเดิมจะยาวสั้นและขึ้นต้นลงท้ายอย่างไร สูญไปเสียเกือบหมดแล้ว มีจำกันไว้ได้ติดอยู่ในไหว้ครูของเสภาชั้นหลังแต่สองคำว่า
สองคำนี้คงอยู่ในคำไหว้ครูที่ยังจำกันได้ทุกๆ คน แต่นอกจากนี้ต่างกันไปหมด และเอาเป็นแก่นสารอย่างไรก็ไม่ได้สักรายเดียว จะจดไว้พอให้ท่านทั้งหลายเห็นตัวอย่างสักรายหนึ่ง เป็นคำไหว้ครูเสภาได้มาจากผักไห่ แขวงกรุงเก่า ที่จัดว่าเป็นหมดจดกว่าของผู้อื่นว่าดังนี้.
คำไหว้ครูเสภาและครูปี่พาทย์ของนายทองอยู่เห็นจะต่อนี้ ข้าพเจ้าสืบเรื่องคำไหว้คำของเก่าได้ความเพียงเท่านี้ จึงสามารถจะลงคำไหว้ครูไว้ข้างต้นบทเสภาได้
การตรวจชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ตั้งแต่แรกชำระตลอดเวลาพิมพ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา กับข้าพเจ้าได้ช่วยกันทำมากว่า ๒ ปี หวังใจว่า หนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ จะเป็นของพอใจท่านทั้งหลาย
อธิบายเสภาเล่ม ๒
เมื่อพิมพ์หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่มที่ ๑ (๔) ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่องตำนานเสภา และอธิบายถึงลักษณะการที่ชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ กล่าวไว้โดยพิสดารมีแจ้งอยู่ข้างต้นสมุดเสภาเล่ม ๑ นั้นแล้ว จะกล่าวแต่เฉพาะข้อความซึ่งเล่มนี้มีแปลก อันสมควรเป็นเครื่องสังเกตของผู้อ่านที่ตรงไหนบ้าง
บทเสภาในเล่ม ๒ นี้ควรกล่าวอธิบายโดยเฉพาะมีอยู่บางตอน คือ
ตอนที่ ๑๖ เรื่องกำเนิดกุมารทองบุตรนางบัวคลี บทที่พิมพ์ในเล่มนี้เป็นของครูแจ้งแต่ง พวกเสภาชอบกันแพร่หลายอยู่ แต่เข้าใจว่ายังไม่เคยพิมพ์มาแต่ก่อน เนื้อเรื่องเสภาตอนนี้ตามหนังสือบทเดิมว่า ขุนแผนไปเที่ยวหาโหงพรายตามป่าช้า ไปพบผีตายทั้งกลมชื่ออีมากับอีเพชรคง ขุนแผนจึงขอลูกในท้องมาเลี้ยงเป็นกุมารทอง ความเดิมสั้นเพียง ๔ หน้ากระดาษ ครูแจ้งเอามาขยายความ ผูกเรื่องให้ขุนแผนไปได้นางบัวคลี่ อยู่กินด้วยกันจนมีครรภ์ แล้วเกิดเหตุนางบัวคลี่ตายทั้งกลม ขุนแผนจึงได้กุมารทอง ว่าโดยย่อให้กุมารทองเป็นลูกขุนแผนจริงๆ
พ้นเรื่องกุมารทองถึงเรื่องตีดาบฟ้าฟื้น และเรื่องซื้อม้าสีหมอกซึ่งมีอยู่ในตอนเดียวกัน ครูแจ้งเป็นแต่แต่งประชันตามเรื่องเดิม ตอนตีดาบฟ้าฟื้นแต่งดีทั้งของเดิมและของครูแจ้ง แต่ของเดิมเอาเรื่องดาบไว้ก่อนหากุมารทอง ของครูแจ้งเอาเรื่องตีดาบไว้ทีหลัง ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เป็นบทตอนสำคัญ เพื่อจะไม่ให้ต้องสับบทกันวุ่นวาย จึงเอาบทของครูแจ้งพิมพ์ต่อมาจนตลอดเรื่องตีดาบฟ้าฟื้น แต่เรื่องซื้อม้าสีหมอกเห็นว่าบทเดิมเขาว่าเป็นหลักฐานดี ของครูแจ้งต่อใหม่สู่ไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงเอาบทเดิมพิมพ์ขึ้นแต่ว่า จะกล่าวถึงหลวงทรงพลกับพันภาณ เป็นต้นไปจนจบตอน
บทเสภาของครูแจ้งตอนนี้ มีต้นคำเป็นที่สังเกตสมกับความที่กล่าวกันมา ว่าแต่งเมื่อในครั้งรัชกาลที่ ๔ ด้วยใช้คำว่า ปัศตัน มีอยู่แห่งหนึ่งที่หน้า ๓๕๖ บรรทัด ๑๑ คำนี้หมายความว่า ดินปืนที่ห่อกระดาษไว้กับกระสุนสำเร็จ สำหรับบรรจุเป็นนัดๆ ใช้กับปืนแก๊ป เช่นปืนเอนฟิลด์เป็นต้น เข้าใจว่าพึ่งมีเมื่อในรัชกาลที่ ๔
ถ้าว่าโดยส่วนบทกลอนของครูแจ้ง เห็นควรยอมว่าเป็นกวีคนหนึ่ง สมกับที่กล่าวไว้ในคำไหว้ครูว่า ครูแจ้งแต่งอักษรขจรลือ แต่งดีในกระบวนว่าถึงอัธยาศัยใจคอคนสามัญ แต่ถ้ามีโอกาสมักจะหยาบ ถึงจะหยาบก็ช่างว่า มีในตอนที่ ๑๖ นี้ที่จำต้องตัดออกเสียสองแห่ง ที่ตรงนางสีจันทร์สอนนางบัวคลี่แห่งหนึ่ง ตรงอัศจรรย์ขุนแผนเข้าห้องนางบัวคลี่แห่งหนึ่ง
ตอนที่ ๑๗ เมื่อขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง และเข้าห้องนางแก้วกิริยา ตอนนี้กล่าวกันมาว่า เป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ พิเคราะห์ดูสำนวนกลอน เห็นว่ามิใช่สำนวนเดียวตลอดทั้งตอน ถ้าทรงพระราชนิพนธ์ เข้าใจว่าพระราชนิพนธ์เริ่มตั้งแต่ขุนแผนไปถึงบ้านขุนช้าง ขึ้นตรงว่า มาถึงบ้านขุนช้างเข้ากลางแปลง เป็นเขื่อนแข็งคูรอบขอบโตใหญ่ ไป ข้างท้ายตอนนี้ดูเป็นสำนวนอื่นแทรกอยู่หน่อยหนึ่ง ขึ้นตรงว่า นางวันทองต้องลมก็ลืมแค้น เท้าแขนก้มเคียงเข้าเรียงหน้า พระราชนิพนธ์เห็นจะลงมาเพียง แสนเอ๋ยแสนคม คารมนี้หย่อนลงแล้วหรือ ดูทำนองกลอนเป็นทีสำหรับส่งพิณพาทย์
ตอนที่ ๑๘ เมื่อขุนแผนพานางวันทองหนี ตอนนี้เมื่อพิจารณาไปเข้าใจว่าสำนวนเดียวกับตอนที่ ๑๗ ถ้าตอนที่ ๑๗ เป็นพระราชนิพนธ์ ตอนที่ ๑๘ ก็เห็นจะเป็นพระราชนิพนธ์เหมือนกัน แต่มีสำนวนอื่นอยู่ตรงนางวันทองครวญถึงตัวอยู่ข้างท้าย บทครวญอย่างที่พิมพ์ในเล่มนี้ พบแต่เสภาฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ฉบับเดียว ฉบับอื่นๆ นอกจากนั้นบทครวญตรงนี้ว่าแต่สั้นๆ
เสภาตอนที่ ๑๗ ที่ ๑๘ ซึ่งกล่าวมานี้ เกือบจะนับถือว่าเป็นยอดของบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นตอนที่คนชอบฟังและชอบจำกันมากกว่าตอนอื่นๆ เสภาก็ขับกันแพร่หลายมาก พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ไม่ฟังตอนอื่นนอกจากตอนนี้ ได้ถามต่อไปว่า ถ้าขับให้ท่านฟังจนขุนแผนลงจากเรือนขุนช้างแล้วทำอย่างไร พระแสนท้องฟ้าบอกว่า ก็ต้องย้อนกลับมาขึ้นเรือนใหม่
เหตุที่ชอบเสภา ๒ ตอนนี้มาก เห็นจะเป็นเพราะใน ๒ ตอนนี้มีทำนองเรื่องประกอบกันหลายกระบวน มีทั้งกระบวนชม กระบวนสังวาส กระบวนตัดพ้อ กระบวนโศก กระบวนตลก กระบวนแค้น รวมอยู่ในตอนนี้ เป็นช่องที่ผู้แต่งจะว่าได้หลายกระบวน และแต่งดีได้ถึงอกถึงใจจริงๆ ด้วย เมื่อเลือกฟังกันแต่เฉพาะตอน จึงไม่มีตอนไหนสู้ ๒ ตอนนี้
แต่การชำระฉบับสำหรับพิมพ์ในครั้งนี้ ชำระ ๒ ตอนที่กล่าวมาเป็นยากยิ่งกว่าตอนอื่นๆ ในบทเสภาทั้งสิ้น เพราะเป็นตอนที่จำกันได้มากกว่าตอนอื่นๆ แต่ฉบับที่หามาได้ ทั้งที่เป็นหนังสือและที่ขอมาจากผู้ที่จำได้ มีพระแสนท้องฟ้าเป็นต้น มีถ้อยคำแตกต่างกันเกือบจะทุกฉบับ จำต้องเลือกว่าอย่างไรเป็นถูกสำหรับจะพิมพ์ในฉบับนี้ ความข้อนี้ได้ทำด้วยความพยายามอย่างที่สุด แต่รู้สึกว่าคงจะไม่พ้นติเตียนได้ ด้วยถ้อยคำตามที่พิมพ์ในฉบับนี้ คงจะไม่ตรงกับพวกเสภาจำไว้ได้เหมือนกันหมดทุกคน คนนั้นก็จะว่าตรงนี้ผิด คนนี้ก็จะว่าตรงโน้นผิด เพราะต่างคนต่างถือว่าตามที่ตนจำได้นั้นเป็นถูกต้อง ไม่มีหน้าที่ต้องเลือกเชื่อเหมือนผู้ชำระหนังสือ
ตอนที่ ๑๙ เมื่อขุนช้างตามนางวันทอง ตอนนี้สังเกตดูเป็นสำนวนเดียวกับเมื่อขุนช้างขอนางพิม ที่พิมพ์ไว้ในตอนที่ ๕ เล่ม ๑ ถ้าหากตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม และตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง เป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ข้าพเจ้าเชื่อว่าตอนขุนช้าง ๒ ตอนที่กล่าวมาเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๓ ด้วยทำนองกลอนและสำนวนดูคล้ายกับบทละครเรื่องสังศิลป์ชัย และเฉพาะอยู่ต่อพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ด้วยทั้ง ๒ ตอน ความข้อนี้เป็นความคาดคะเนของข้าพเจ้า บอกไว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณาดู
ตอนที่ ๒๓ เมื่อขุนแผนติดคุก มีที่สังเกตแห่งหนึ่งซึ่งรู้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ตรงขุนช้างเล่นหมากรุกกับศรพระยา มีบทศรพระยาว่า ถึงพระครูก็สู้พ่อไม่ได้ มันเหลือใจกินกันจนชั้นขุน ตรงนี้ต้องกับบทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตรงราชาภิเษกพระรามสังฆการีไปนิมนต์พระวสิฐฤๅษี พระวสิฐฤๅษีกำลังเล่นหมากรุก มีบทฤๅษีว่า แต่หนุ่มหนุ่มเมื่อกระนั้นขยันอยู่ อินทร์เดชะพระครูก็สู้ได้
ตอนที่ ๒๔ กำเนิดพลายงาม ตอนนี้ถ้าใครเคยสังเกตกลอนสุนทรภู่ จะเห็นเป็นอย่างเดียวกันหมด ว่าเป็นของสุนทรภู่แต่งจะเป็นสำนวนผู้อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ถ้ายิ่งสังเกตกระบวนกลอนในตอนนี้ จะเห็นได้อีกชั้นหนึ่งว่า สุนทรภู่ประจงแต่งตลอดทั้งตอน โดยจะไม่ให้แพ้ของผู้อื่นเหมือนจะกล่าวได้ว่า สำนวนกลอนสุนทรภู่ที่แต่งเรื่องต่างๆ ไว้ จะเป็นพระอภัยมณีก็ตาม เรื่องลักษณวงศ์หรือเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้ตั้งใจประจงแต่งเหมือนบทเสภาตอนนี้
ตอนที่ ๒๕ เมื่อพระเจ้าล้านช้างถวายนางสร้อยทองแก่สมเด็จพระพันวษา ตอนนี้เป็นสำนวนเก่า ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นเสภาชั้นเดิมก่อนรัชกาลที่ ๒ ควรเป็นตัวอย่างให้สังเกตสำนวนเดิม ตามที่กล่าวไว้ในตำนานเสถาได้อีกตอนหนึ่ง
บทเสภาที่พิมพ์ในเล่ม ๒ มีข้อความซึ่งควรอธิบายเป็นพิเศษเพียงเท่าที่กล่าวมานี้ นอกจากนี้ในกระบวนชำระก็มีที่ต้องตัดและเติมบทเสภาเดิมอยู่บ้างด้วยเหตุต่างๆ เหมือนกับเล่ม ๑ คือที่ชื่อหัวและตัดที่หยาบหรือแต่งแก้ที่ผิด เป็นต้น
อนึ่งหนังสือเสภาฉบับเดิมแบ่งส่วนเป็นเล่มสมุดไทย คือเขียนไปหมดเล่มสมุดเพียงไหน ก็นับเพียงนั้นเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้กำหนดที่ตัวเรื่องเสภาเป็นประมาณ เมื่อจะพิมพ์ฉบับนี้ เห็นว่าลักษณะแบ่งเป็นเล่มสมุดไทยไม่เข้ากับกระบวนพิมพ์ จึงตัดแบ่งใหม่ ใช้วิธีจัดเป็นตอน ตามเนื้อเรื่องเดิม ประมาณว่าจะเป็น ๔๑ ตอน แต่เมื่อตรวจสอบเห็นควรแบ่งเป็น ๔๓ ตอน การพิมพ์แบ่งเป็น ๓ เล่มสมุด และได้กะแบ่งเล่มให้ลงพอเหมาะกับเนื้อเรื่อง ด้วยเหตุนี้จำนวนตอนและหน้ากระดาษจึงไม่เท่ากันได้ทุกเล่ม เล่ม ๑ มี ๑๔ ตอน เล่มสองมี ๑๒ ตอน เล่ม ๓ ต่อไปจะมี ๑๗ ตอน จึงจะจบบทเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ