|
กำเนิดหัวเมืองในมณฑลอีสาน ตอนที่ ๑
คำนำ ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ เรื่องพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๘
หนังสือพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน ที่พิมพ์ในหนังสือประชุมพงศาวดารภาคที่ ๔ นี้ เป็นหนังสือใหม่ ทั้งการที่รวบรวมเรื่อง และการที่แต่ง หม่อมอมรวงศ์วิจิตร เป็นนักเรียนโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบชั้นแรก ได้เรียนวิชาความรู้สอบได้เต็มที่แล้ว จึงออกไปรับราชการ มีตำแหน่งอยู่ในกระทรวงอื่นก่อน แล้วย้ายมาอยู่กระทรวงมหาดไทย สมัครออกไปรับราชการในมณฑลอีสาน คือที่แบ่งเป็นมณฑลอุบลราชธานีและมณฑลร้อยเอ็ดทุกวันนี้ แต่ครั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ยังเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการรวมเป็นมณฑลเดียวกัน ได้เป็นตำแหน่งผู้ช่วยขึ้นไปจนได้เป็นปลัดมณฑล ถ้าหากอยู่มาจนปานนี้ ไม่สิ้นชีพเสีย ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าคงจะได้รับพระราชทานเกียรติยศ และบรรดาศักดิ์สูงขึ้น
แม้กล่าวในเหตุที่หม่อมอมรวงศ์วิจิตรสิ้นชีพผู้อ่านก็จะแลเห็นได้ว่า หม่อมอมรวงศ์วิจิตรเป็นผู้มีอัชฌาสัยอย่างไร คือเมื่อปีมะแมนพศก จุลศักราช ๑๒๖๘ พ.ศ. ๒๔๕๐ มีราชการเกิดขึ้นทางชายแดน ซึ่งจำจะต้องส่งข้าราชการผู้รู้ราชการออกไปพบปะกับข้าหลวงฝรั่งเศส เวลานั้นเป็นฤดูฝนทางที่จะไปต้องไปในดงที่ไข้ร้าย หม่อมอมรวงศ์วิจิตรรับอาสาออกไป ก็ไปเป็นไข้กลางทาง แต่ไม่ยอมกลับ ทำแคร่ให้คนหามออกไปราชการทั้งเป็นไข้จนสำเร็จราชการแล้ว ขากลับมาหมดกำลังทนพิษไข้ไม่ได้สิ้นชีพในระหว่างทางที่มา เมื่อ ณ วันที่ ๑๑ ตุลาคม ปีวอกสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๒๗๐ พ.ศ. ๒๔๕๑
ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องความชอบของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร ทรงทราบฝ่าละออกธุลีพระบาทว่า เมื่อหม่อมอมรวงศ์วิจิตรมีชีวิตอยู่ ได้แบ่งเงินเดือนส่งเข้ามาเลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ผู้บิดาเสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินพระคลังข้างที่เลี้ยงหม่อมเจ้าเมฆินทร์ เท่าที่เคยได้รับจากหม่อมอมรวงศ์วิจิตรทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็พระราชทานต่อมาตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนภรรยาของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร ก็ได้รับพระราชทานเบี้ยบำนาญเต็มตามพระราชบัญญัติฐานที่สามีไปสิ้นชีพในเวลาทำราชการ ยังหม่อมหลวงอุรา (คเนจร ณ กรุงเทพฯ) ซึ่งเป็นบุตรชายใหญ่ของหม่อมอมรวงศ์วิจิตร บิดาได้ถวายเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเดิมไว้ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ก็ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมเลี้ยง เวลานี้มียศเป็นจ่า มีบรรดาศักดิ์เป็นที่ พระทรงพลราบ รับราชการอยู่ในกรมพระอัศวราช
หนังสือพงศาวดารมณฑลอีสานนี้ ไม่ได้มีผู้ใดสั่งให้หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่ หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่งโดยอำเภอใจในเวลาว่างราชการ ด้วยรักวิชาความรู้ และเจตนาจะให้เป็นประโยชน์ต่อราชการบ้านเมือง เที่ยวสืบถามตามผู้รู้ในเวลาเที่ยวตรวจหัวเมืองบ้าง ดูจากหนังสือราชการที่มีอยู่ในมณฑลบ้าง และอาศัยหนังสือพงศาวดารต่างๆที่จะซื้อหาได้บ้าง
เมื่อแต่งได้สักหน่อย ๑ หม่อมอมรวงศ์วิจิตรมีราชการเข้ามากรุงเทพฯ ได้พาหนังสือเรื่องนี้มามอบไว้ให้ข้าพเจ้าตรวจ ข้าพเจ้าตรวจแล้วส่งกลับไปให้หม่อมอมรวงศ์วิจิตรแต่งต่อจนสำเร็จ ได้ส่งเข้ามาให้ข้าพเจ้าครั้งหลังเมื่อก่อนหม่อมอมรวงศ์วิจิตรจะสิ้นชีพสักหน่อยหนึ่ง ยังไม่ทันที่ข้าพเจ้าจะได้ทำอย่างไร เป็นแต่ให้เก็บรักษาหนังสือนี้ไว้ในกระทรวงมหาดไทย
ครั้นเมื่อได้ข่าวว่าหม่อมอมรวงศ์วิจิตรสิ้นชีพ มาระลึกขึ้นได้ถึงหนังสือเรื่องนี้ จำไม่ได้ว่าส่งเข้ามาแล้วหรือยัง ให้ค้นหาในกระทรวง บังเอิญหนังสือไปซุกอยู่เสียผิดที่หาไม่ได้ ให้ถามออกไปยังมณฑลก็ไม่ได้ความ จึงทอดธุระว่าจะสูญหาย มีความเสียดายมาช้านาน พึ่งมาพบหนังสือนี้เมื่อก่อนข้าพเจ้าจะออกจากกระทรวงมหาดไมยไม่ช้านัก จึงได้ส่งต้นฉบับมารักษาไว้ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร เพื่อจะได้พิมพ์ในโอกาสที่สมควร มีโอกาสจึงได้พิมพ์ในครั้งนี้

ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง
....................................................................................................................................................
พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียง
พระราชอาณาเขตสยามภาคหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างแลติจูดเหนือ ๑๓ ดีกรีเศษ ถึง ๑๖ ดีกรีเศษ ลองติจูดตะวันออก ๑๐๓ ดีกรี ถึง๑๐๕ ดีกรีเศษ ตรงทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯมหานคร(บางกอก) ซึ่งเรียกว่ามณฑลอีสานนั้น เป็นมณฑลใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งนับเข้าในมาตราเป็นมณฑลชั้นที่ ๑ เดิมมีอาณาเขตทางฝ่ายตะวันออก ข้ามแม่น้ำโขงไปจนถึงเขาบรรทัดต่อแดนญวน ครั้นมาเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๒ ประเทศสยามได้ยกอาณาเขตทางฝั่งโขงตะวันออกหรือฝั่งซ้าย และทั้งเกาะดอนในลำน้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส
เพราะฉะนั้นอาณาเขตมณฑลอีสานข้างตะวันออกในปัจจุบันนี้จึงคงเพียงจดลำน้ำโขงฝั่งตะวันตกเท่านั้น (และในที่ดินพ้นฝั่งแม่น้ำโขง ตะวันตกหรือฝั่งขวาเข้ามา ๒๕ กิโลเมตร หรือ ๖๒๕ เส้นนี้ ประเทศสยามได้ทำสัญญาแก่ฝรั่งเศสว่า จะไม่ตั้งป้อมค่าย และมีกำลังทหารและเก็บภาษีสินค้าเข้าออกด้วย)
ส่วนอาณาเขตมณฑลอีสานฝ่ายทิศใต้นั้น จดแดนมณฑลบูรพา และแดนเขมรในบำรุงฝรั่งเศส ฝ่ายตะวันตกจดแดนมณฑลนครราชสีมา ฝ่ายทิศเหนือจดแดนมณฑลอุดร รวมที่ดินกว้างยาวประมาณ ๕๖,๐๐๐,๐๐๐ ตารางเส้น รวมหัวเมืองซึ่งอยู่ในมณฑลนี้ทั้งสิ้น ๑๔ เมือง อำเภอ ๗๘ อำเภอ ตำบล ๒,๓๖๗ ตำบล คนพื้นเมืองเป็นไทยเป็นพื้น นอกจากไทยมีเขมร ส่วย และละว้า และมีชนชาวประเทศอื่นคือ ฝรั่ง, ญวน, พม่า, ตองซุ่, จีน เข้าไปอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก รวมพลเมืองทั้งสิ้นในปี ๑๒๒ นี้ประมาณ ๙๒๔,๐๐๐ คนเศษ
เดิมพื้นที่ในมณฑลลาวกาวนี้ เมื่อก่อนจุลศักราชได้ ๑๐๐๐ ปีก็เป็นทำเลป่าดง ซึ่งเป็นที่อาศัยของคนป่าอันสืบเชื้อสายมาแต่ขอม ต่อมาเรียกกันว่าพวกข่า, ส่วย, กวย ซึ่งยังมีอยู่ในฝั่งโขงตะวันออก ณ บัดนี้
ครั้นเมื่อชนชาติไทยซึ่งอยู่ประเทศข้างเหนือ มีเมืองศรีสัตนาคนหุต(เวียงจันทร์)เป็นต้น ได้แตกฉานซ่านเซ็นลงมาตั้งเคหสถาน โดยความอิสรภาพแห่งตนเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นหนามั่นคงขึ้นแล้ว จึงได้ยกย่องผู้เป็นใหญ่เป็นหัวหน้าแห่งตนขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยประชุมชนสมมตเป็นเอกเทศส่วนหนึ่ง
ตลอดมาจนถึงกษัตริย์องค์ ๑ ได้สร้างเมืองขึ้นริมแม่น้ำโขงฝั่งตะวันตก ตรงกับเมืองที่พระเจ้ากรรมทาสร้างไว้ ณ เชิงเขา คือตำบลที่เรียกว่าบ้านกระตึบเมืองกลาง ณ บัดนี้นั้น ขนานนามเมืองว่า พระนครกาละจำบากนาคบุรีศรี เป็นทางไมตรีกันกับเจ้าเขมรกรุงกัมพูชา พระองค์มีโอรสองค์หนึ่งพอเจริญวัยขึ้นมา พระบิดาถึงแก่พิราลัย ท้าวพระยาเสนาพฤฒามาตย์จึงได้เชิญกุมารขึ้นครองเมืองแทนพระบิดา ถวายนามว่า เจ้าสุทัศนราชา ปกครองประชุมชน ณ ที่นั้น เป็นความสุขเรียบร้อยตลอด
จนถึงจุลศักราช ๑,๐๐๐ ปี ปีขาลสัมฤทธิศก เจ้าสุทัศนราชาถึงแก่พิราลัย หามีเชื้อวงศ์ที่จะสืบตระกูลครองเมืองต่อไปไม่ ประชุมชนจึงได้ยกชายผู้มีตระกูลคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าบัญชาการเด็ดขาด ในอาณาเขตนครกาละจำบากนาคบุรีศรีนั้น โดยเรียบร้อยตลอดมาได้ ๖ ปีถึงแก่กรรม นางแพงบุตร นางเภาหลาน ได้เป็นผู้อำนวยการบ้านเมืองสืบต่อมาอีก ในจุลศักราช ๑๐๐๕ ปีมะแมเบญจศก
สมัยกาลครั้งนั้น ยังมีพระภิกษุรูปหนึ่งเป็นพระครูเจ้าวัด อยู่วัดโพนเสม็ด แขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต ประชุมชนเรียกพระภิกษุรูปนั้นว่า พระครูโพนเสม็ด มีสานุศิษย์ญาติโยมและประชาชนในแว่นแคว้นนั้นนักถือรักใคร่เข้าเป็นพรรคพวกมาก
ครั้นจุลศักราช ๑๐๕๐ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตมีโอรสองค์หนึ่ง ชื่อเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี มารดาของเจ้าองค์หล่อผู้เป็นชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ยังมีครรภ์ค้างอยู่ด้วย ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต จะรับเอามารดาเจ้าองค์หล่อไปเป็นภรรยา นางหายินดีด้วยไม่ จึงพาเจ้าองค์หล่อหนีมาอยู่กับพระครูโพนเสม็ด พระครูโพนเสม็ดจึงให้นางชายาพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตกับเจ้าองค์หล่อโอรสไปอยู่ ณ ตำบลภูฉะง้อหอคำ พอถึงกำหนดครรภ์ นางนั้นก็คลอดบุตรเป็นชาย คนทั้งหลายเรียกกันว่า เจ้าหน่อกษัตริย์
ฝ่ายเจ้าองค์หล่อผู้เป็นเชษฐานั้นมีความโกรธคิดแค้นพระยาเมืองแสน จึงพาบ่าวไพร่ของตนไปอยู่เมืองญวน ตั้งเกลี้ยกล่อมมั่วสุมกำลังผู้คน คอยหาโอกาสแก้แค้นพระยาเมืองแสนอยู่
ฝ่ายพระยาเมืองแสนผู้ครอบครองกรุงศรีสัตนาคนหุต เห็นว่าพระครูโพนเสม็ดจะแย่งชิงเอาบ้านเมือง จึงคิดเป็นความลับจะกำจัดพระครูโพนเสม็ดเสีย ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดรู้ระแคะระคายว่าพระยาเมืองแสนจะคิดทำร้าย เห็นว่าจะอยู่ในที่นี้ต่อไปไม่มีความสุข จึงได้ปรึกษาญาติโยมและสานุศิษย์เห็นว่า ควรจะไปตั้งอาศัยอยู่เสียให้พ้นเขตแขวงกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงรวบรวมบรรดาพวกพ้องได้ประมาณสามพันเศษ แล้วไปเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดามาพร้อมกันแล้ว ก็พากันอพยพออกจากแขวงกรุงศรีสัตคนหุต
ไปถึงตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก พระครูโพนเสม็ดจึงให้เจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดาและสานุศิษย์ตั้งเคหสถานอยู่ในตำบลนั้นบ้าง เหลือจากนั้นพระครูโพนเสม็ดก็พากันเดินทางต่อไป เมื่อพระครูโพนเสม็ดไปถึงตำบลใด ก็มีผู้คนนับถือรับรองและยินดีเข้าเป็นพวกพ้องติดตามไปด้วยเป็นอันมาก ท่านพระครูห็พาครอบครัวไปถึงแดนเขมร แขวงเมืองบรรทายเพชร คิดว่าจะตั้งพักอาศัยอยู่ในแขวงกรุงกัมพูชานั้น
ฝ่ายเจ้ากรุงกัมพูชาจึงให้พระยาพระเขมรมาตรวจสำมะโนครัวพรรคพวกพระครูโพนเสม็ด พระยาพระเขมรจะเรียกเอาเงินแก่ครัวเหล่านั้นครัวละ ๘ บาท พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าจะเป็นความเดือดร้อนแก่พวกพ้องญาติโยม จึงได้อพยพกันเดินกลับขึ้นมาทางลำแม่น้ำโขง จนถึงนครกาละจำบากนาคบุรีศรี หยุดตั้งพักอาศัยอยู่ในเมืองนั้น ฝ่ายพวกศิษย์และญาติโยมของพระครูโพนเสม็ด ซึ่งเป็นไทยฝ่ายเหนือบ้าง เป็นเขมรบ้าง ต่างก็ย้ายแยกไปตั้งนิวาสสถานอยู่ ณ ที่ตำบลต่างๆ คละปะปนอยู่กับพวกข่ากวย ตามภูมิลำเนาอันสมควร
ฝ่ายนางแพง นางเภา ผู้บัญชาการเมื่อแก่เฒ่าชราลง และตั้งแต่พระครูโพนเสม็ดเข้ามาอยู่ในบ้านเมืองแล้ว นางก็มีความนิยมนับถือในท่านพระครูโพนเสม็ดมาก จึงได้พร้อมด้วยแสนท้าวพระยาเสนามาตย์ อาราธนาให้ท่านพระครูช่วยบำรุงรักษาพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองถาวรต่อไป และทั้งส่วนการบ้านเมืองซึ่งเป็ยนฝ่ายอาณาจักร ก็ได้มอบให้พระครูโพนเสม็ดเป็นผู้อำนวยการสิทธิ์ขาดด้วย แต่นั้นมาท่านพระครูก็ได้เป็นใหญ่โดยอิสรภาพขึ้นในเขตแขวงนครกาละจำบากนาคบุรีศรีตลอดมา
จนถึงจุลศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก ประชาชนทั้งหลายเกิดการวิวาทวาทาพากันมีน้ำใจกำเริบขึ้น คบกันตั้งเป็นชุนนุมประพฤติเป็นโจรผู้ร้าย ราษฎรทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในความสุจริต ต่างก็มีความเดือดร้อนยิ่งขึ้นเป็นอับดับเกือบจะเป็นเหตุจลาจลใหญ่โต ฝ่ายพระครูโพนเสม็ดได้ว่ากล่าวห้ามปรามโดยทางธรรม ก็หาเป็นเหตุให้สงบเรียบร้อยสมดังประสงค์ไม่ ครั้นจะใช้ปราบปรามเอาตามอาญาจักรก็เกรงจะผิดทางวินัย เป็นที่หม่นหมองแก่ทางสมณเพศ พระครูโพนเสม็ดเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งให้ตั้งอยู่ตำบลงิ้วพันลำโสมสนุก เจริญวัยและประกอบด้วยเกียรติยศเกียรติคุณพอจะเป็นผู้ปกครองบ้านเมืองได้ จึงได้แต่งท้าวพระยาคุมกำลังไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับมารดามายังนครกาละจำบากนาคบุรีศรี
ครั้นจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบญจศก พระครูโพนเสม็ดพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา จึงได้ตั้งพิธียกเจ้าหน่อกษัตริย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ ถวานพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูร ครองสมบัติเป็นเอกราชตามประเพณีกษัตริย์ แล้วผลัดเปลี่ยนนามนครกาละจำบากนาคบุรีศรีเป็นนามใหม่เรียกว่า นครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรี เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงได้จัดการบ้านเมือง ตั้งตำแหน่งเจ้านาย แสนท้าวพระยาเสนาขวา พระยาเสนาซ้าย ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และตำแหน่งจตุสดมภ์ กรมอาสาหกเหล่า สี่เท้าช้าง ตำรวจมหาดเล็ก ชาวที่กรมแสง ตามจารีตแบบอย่างกรุงศรีสัตยาคนหุต(เวียงจันทร์) แต่นั้นมาครบทุกตำแหน่ง
และตั้งอัตราเก็บส่วยแก่ชายที่มีบุตรเขย ๑๐ เก็บพ่อตา ๑ บุตรเขย ๑ ถ้ามี ๕ เก็บเฉพาะพ่อตา ๑ กำหนดคนละ ๑ ลาด และข้างเปลือกหนักคนละ ๑๐๐ ชั่ง (ข้าวเวลานั้นหนักร้อยชั่งต่อบาท และลาดนั้นใช้กันเป็นอัตรา ๑๖ อันต่อบาทของเงินพดด้วงในพื้นเมือง ที่เรียกว่าเงินแป้งแปด น้ำหนัก ๑+๓ ส่วน เงินพดด้วงไทยนั้นเรียกว่าเงินแป้งเก้า เพราะเต็มบาท)
เจ้าสร้อยศรีสมุทสร้างอารามใหม่ขึ้นในเมืองวัดหนึ่ง เรียกว่าวัดหลวงใหม่ ซึ่งปรากฏมาจนกาลบัดนี้ แล้วได้อาราธนาพระครูโพนเสม็ดกับอันดับสงฆ์มาอยู่ ณ วัดหลวงใหม่นั้น
เจ้าสร้อยศรีสมุทมีโอรส ๓ องค์ คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ แล้วมีราชสานแต่งให้แสนท้าวพระยานำเครื่องบรรณนาการไปขอธิดาเจ้าเขมร ณ เมืองบรรทายเพ็ชรมาเป็นบาทบริจา มีโอรสอีกองค์หนึ่งให้นามว่า เจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึงให้จารหวดเป็นอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (หรือของ)
คำที่เรียกว่าดอนโขงหรือน้ำโขงนี้ มีตำนานมาแต่โบราณว่า ครั้งเมื่อช้างเที่ยวทำร้ายคนอยู่ในเขตแขวงเมืองศรีสัตนาคณหุต พระยาโคตระบองได้ไปปราบฆ่าช้างตายเสียจั้งล้าน เมืองศรีสัตนาคนหุตจึงได้เรียกว่าเมืองล้านช้างมาก่อน ส่วนช้างที่ตายนั้นก็ลอยไปตามลำแม่น้ำ ติดอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่งมีกลิ่นเหม็นโขลงตลบไปทั่วตลอดไปตามลำน้ำ อาการกลิ่นที่เหม็นอย่างนี้ภาษาทางนั้นเรียกว่าเหม็นโขง เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกลำน้ำนี้ว่าลำน้ำโขง ส่วนดอนที่ช้างตายลอยไปติดอยู่นั้นจึงเรียกว่า ดอนโขง กับได้พบอีกตำราหนึ่งว่า ดอนโขลง ไม่ใช่โขง คือแต่ก่อนเป็นที่ไว้โขลงช้าง ดอนนี้ต่อมาเรียกว่า สี่พันดอน คือมีดอนเกาะในที่เหล่านั้นมากมายตั้งสี่พัน ซึ่งต่อมาในปัจจุบันนี้เรียกว่า สีทันดร
ให้ท้าวสุดเป็นพระไชยเชษฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกวง ฝั่งโขงตะวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเป็นอำเภอรักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิเดี๋ยวนี้) ให้จันทสุริยวงศ์เป็นอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพง เป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพน ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่น ตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาละวันเดี๋ยวนี้) ให้นายพรหมเป็นซาบุตรโคตร รักษาอำเภอบ้านแก้วอาเฮิม ซึ่งวมีเจดีย์อยู่ที่นั้นเรียกกันว่า ธาตุกำเดาทึก ภายหลังเรียกว่า เมืองคำทองใหญ่ (คือเมืองคำทองหลวงบัดนี้) ให้จารโสมรักษาอำเภอบ้านทุ่งอิ้ดกระบือ เป็นทำเลเมืองร้างมาก่อน เรียกว่า เมืองโสก เมืองซุง คือซองและเพนียด เพราะแต่ก่อนพวกเวียงจันทร์แทรกคล้องและฝึกหัดช้างเถื่อนที่นี้ คือ เมืองอัตปือ บัดนี้ให้ท้าวหลวงบุตรพระละงุมเป็นขุนนักเฒ่า รักษาอำเภอตำบลโขงเจียง
ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าวมาแล้วนี้นั้น ดูเหมือนจะให้เป็นอย่างเมืองออกกลายๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว ทางเมืองจำปาศักดิ์มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู่ล่วงลับไปนั้น ปกครองเป็นใหญ่ในตำบลนั้นๆสืบเชื้อวงศ์เนื่องกันต่อๆมา และตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฏนามโดยประชุมชนสมมุติเรียกกันว่าเมืองนั้นเมืองนี้ ดังเมืองมั่น(สาละวัน)เป็นต้นมาแต่เดิม เพราะฉะนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเป็นเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะได้ เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมันนั้นก็เป็นเอกราชโดยความใอสรภาพอยู่ส่วนหนึ่ง สมควรจะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรองๆขึ้นให้เป็นระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้น และทั้งอาศัยความที่มิได้มีปรากฏว่า ในตำบลเหล่านั้นได้เป็นอิสรภาพแห่งตน หรือตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบากด้วย และกำหนดเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ในเวลานั้น มีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลัดทอดยอดยาง ทิศตะวันออกถึงแนวภูเขาบรรทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตะวันตกต่อเขตแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขเรียบร้อยมา ลุศักราช ๑๐๘๒ ปีชวดโทศก วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ พระครูโพนเสม็ดอาพาธเป็นโรคชราถึงแก่มรณภาพที่วัดหลวงใหม่ อายุ ๙๐ ปี เจ้าสร้อยศรีสมุทพร้อมด้วยแสนท้าวพระยา กระทำการปลงศพพระครูโพนเสม็ดเสร็จแล้ว จึงสร้างพระเจดีย์ที่ตรงหอไว้ศพสามองค์ กับสร้างเจดีย์องค์นี้เรียกว่าธาตุฝุ่น ภายหลังได้สร้างวิหารขึ้นในที่นี้ จึงได้ปรากฏนามว่า วัดธาตุฝุ่น มาจนบัดนี้
ในปีนี้เจ้าสร้อยศรีสมุท ได้ให้เจ้าโพธิสารราชบุตร ซึ่งมารดามาแต่ฝ่ายเขมรนั้นไปเป็นเจ้าเมืองควบคุมคนเขมรอยู่ ณ บ้านทุ่งบัวศรี ยกบ้านทุ่งบัวศรีเป็นเมืองขนานนามว่าเป็นเมืองศรีจำบัง (คือตำบลที่ตั้งอยู่ฝั่งลำน้ำใต้เมืองเซลำเภาในปัจจุบันนี้) เมืองเขมรจึงได้ปันแดนให้เป็นเขตแขวงเมืองนครจำปาศักดิ์ในทิศใต้ ตั้งแต่ริมน้ำโขงฝั่งตะวันตกปากคลองน้ำจะหลีกไปตามปลายคลอง ถึงลำน้ำเสนต่อแดนเมืองสทงกำพงสวาย ฝั่งน้ำโขงตะวันออกแต่บุ่งขลาไปถึงลำน้ำปากคลองสะบา
ฝ่ายนักขุนเฒ่าอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงตั้งให้ท้าวสักโพผู้บุตร เป็นขุนนักสักโพรักษาที่ตำบลนั้นแทนบิดา
ลุศักราช ๑๐๘๖ ปีมะโรงฉศก มีพรานป่าคนหนึ่งนำความแจ้งต่อแสนท้าวพระยาว่า เห็นพรานทึง พรานเทือง ข่าบ้านส้มป่อยนายอน (คือที่เป็นเมืองสพาดเดี๋ยวนี้) ได้พระแก้วผลึกมาไว้ เข้าใจว่ารูปมนุษย์น้อย นายพรานเอาเชือกผูกพระศอให้บุตรลากเล่นจนพระกรรณบิ่นไปข้างหนึ่ง ครั้นความทราบถึงเจ้าสร้อยศรีสมุท จึงให้แสนท้าวพระยาไปเชิญรับพระแก้วผลึกแห่มาประดิษฐานไว้ ณ เมืองปาศักดิ์ มีการสมโภช ๓ วัน แล้วให้พวกข่าที่มาส่งพระแก้วนั้นตั้งอยู่บ้านขามเนิง เรียกว่าข้าข้าพระแก้วมาจนบัดนี้ และตั้งให้พรานทึง พรานเทือง เป็นนายบ้านควบคุมพวกข่าบ้านส้มป่อยนายอน ให้เป็นส่วยส่งขี้ผึ้งผ้าขาวถวายพระแก้วต่อมา จนส่งพระแก้วลงมากรุงเทพฯ
จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมะเส็งสัปตศก จารแก้วอำเภอบ้านทงป่วยถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๔ ปี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อ ท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยุปราคา) ชื่อท้าวทน ๑ เจ้าสร้อยศรีสมุทจึงตั้งให้ท้าวมืดบุตรเป็นตำแหน่งเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเป็นอุปฮาดปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไป ท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจันทน์ และกรมการขึ้น ณ ครั้งนั้น
ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลง จึงให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทน แล้วก็ออกจำศีลอยู่
จุลศักราช ๑๐๙๔ ปีชวดจัตวาศก ฝ่ายเจ้าองค์หล่อโอรสพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ผู้เป็นเชษฐาเจ้าสรอยศรีสมุท ซึ่งหนีไปอยู่เมืองญวนครั้งเมื่อพระยาเมืองแสนชิงเอาสมบัติกรุงศรีสัตนาคนหุตนั้น ได้ไปตั้งเกลี้ยกล่อมซ่องสุมผู้คนได้เป็นกำลังมาขึ้นแล้ว จึงยกกำลังมายังกรุงศรีสัตนาคนหุตจับพระยาเมืองแสนฆ่าเสีย แล้วเจ้าองค์หล่อก็ขึ้นครองเมืองศรีสัตนาคนหุตต่อไป
ลุจุลศักราช ๑๐๙๙ ปีมะเส็งนพศก เจ้าสร้อยศรีสมุทถึงแก่พิราลัย อายุได้ ๕๐ ปี ครองเมืองได้ ๒๕ ปี เสนาแสนท้าวพระยาจึงอภิเษกให้เจ้าไชยกุมารโอรสขึ้นครองราชสมบัติในนครจำปาศักดิ์นัคบุรีศรีต่อไป มีนามปรากฏโดยสามัญชนเรียกว่า พระพุทธเจ้าองค์หลวง ให้เจ้าธรรมเทโวผู้น้องเป็นเจ้าอุปราช และเจ้าไชยกุมารได้เปลี่ยนธรรมเนียมเก็บส่วยเป็นไหมหนักคยละ ๑ บาท แก่ชายฉกรรจ์ที่มีภรรยาแล้วทุกคน แต่นั้นมาส่วนข้าวเปลือกคงเก็บตามเดิม
ฝ่ายนักสักโพผู้รักษาอำเภอโขงเจียงถึงแก่กรรม เมืองปาศักดิ์จึงตั้งให้ท้าวโกษาบุตร เป็นพระนักโกษาครอบครองอำเภอนั้นต่อไป
จุลศักราช ๑๑๐๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก เจ้าไชยกุมารได้สร้างพระพุทธรูปทองเหลืององค์หนึ่งหน้าตักกว้าง ๑/๘ พระเศียรสูง ๒/๔ แท่นสูง ๑๐ นิ้วมีคำจารึกไว้ที่แท่นว่า "ลุศักราชราชาได้ ๑๑๐๐ ปี การศรีวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ มื้อกัดไส้ สมเด็จพระพุทธเจ้าองค์หลวงเป็นผู้ศรัทธา กับทั้งน้องพระเจ้ามหาธรรมเทโวโพธิสัตว์ขัตติยราชขนิษฐา กับทั้งพระราชเทวีสร้างไว้ในพระพุทธศาสนา" พระพุทธรูปนี้ยังประดิษฐานปรากฏอยู่ ณ วัดสุมังจนบัดนี้
ลุศักราช ๑๑๒๐ ปีขาลสัมฤทธิศก เจ้าไชยกุมารกับเจ้าอุปราชธรรมเทโวผู้น้องวิวาทกัน เจ้าอุปราชจึงคบคิดกับศรีธาตุบุตรจารหวด ผู้รักษาอำเภอดอนโขงซ่องสุมผู้คนได้มากแล้วยกมาเมืองปาศักดิ์ เจ้าไชยกุมารก็มิได้คิดจะต่อสู้ จึงหนีไปอยู่ดอนมดแดง ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองปาศักดิ์ ในลำน้ำมูลแขวงปาศักดิ์ (บัดนี้เป็นเมืองอุบล)
ฝ่ายเจ้าอุปราชจึงเข้ารักษาเมืองปาศักดิ์อยู่ ครั้นรู้ว่าเจ้าไชยกุมารหนีไปตั้งอยู่ดอนมดแดง จึงเกณฑ์กำลังจะยกไปขับไล่ให้เจ้าไชยกุมารไปเสียให้พ้นเขตแขวงปาศักดิ์ ฝ่ายมารดาเจ้าอุปราชจึงห้ามเจ้าอุปราชไว้ มิให้ยกกำลังไปขับไล่เจ้าไชยกุมาร ฝ่ายเจ้าอุปราชก็มิกล้าจะขัด จึงได้แต่งให้แสนท้าวพระยาไปเชิญเจ้าไชยกุมารกลับคืนมาครองเมืองปาศักดิ์ตามเดิม
ระหว่างนั้นขุนนักโกษา ผู้รักษาอำเภอตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าไชยกุมารจึงตั้งให้ท้าวจันหอมบุตร เป็นขุนนักจันหอมรักษาตำบลนั้นต่อมา
จุลศักราช ๑๑๒๑ ปีเถาะเอกศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ หรือนัยหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (คือ เจ้าฟ้าเอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๓๓ อยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา เวลานั้นพระยาช้างเผือกแตกโรงออกจากกรุงไปอยู่ในป่าดง ทางตะวันตกแขวงเมืองปาศักดิ์ โปรดให้สองพี่น้อง (ซึ่งผู้จดพงศาวดารเดิม เข้าใจว่าเป็นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) คุมไพร่พลและกรมช้างออกเที่ยวติดตามพระยาช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย และเลยไปจนถึงดงฟากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้
จึงได้ข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมร, ส่วยป่าดง คือตากะจะแชยงขัน ซึ่งตั้งอยู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่ ๑ ตาฆะบ้านดงยาง ๑(หรือเรียกโคกอัจประหนึ่ง) เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองที่ ๑ เชียงสี(หรือตาพ่อควาน)บ้านกุดหวาย(หรือบ้านเมืองเตา ตามชื่อเชียงสีเมื่อเป็นหลวงศรีนครเตา) ๑ เป็นผู้นำสองพี่น้องและไพร่พลไปติดตามพระยาช้างเผือกมาได้ ตากะจะ เชียงขัน เชียงฆะ เชียงปุ่ม เชียงสี ก็ตามสองพี่น้องนำพระยาช้างเผือกกลับคืนไป ณ กรุงศรีอยุธยา
พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจึงโปรดตั้งให้ ตากะจะเป็นหลวงแก้วสุวรรณ เชียงขันเป็นหลวงปราบ เชียงฆะเป็นหลวงเพชร เชียงปุ่มเป็นหลวงศรีสุรินทรภักดี เชียงสีเป็นหลวงศรีนครเตา ให้ควบคุมพวกเขมรส่วยป่าดงในตำบลบ้านที่ตนอยู่นั้นๆ ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย พวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้ง ๕ คนพากันกลับมายังบ้านแห่งตน ฝ่ายเมืองพิมายเห็นว่า บ้านเมืองซึ่งหลวงสุรินทรภักดีเป็นนายกองรักษาอยู่นั้นเป็นบ้าน้อย จึงให้ยกมาอยู่ ณ ตำบลคูปะทายสมัน
ภายหลังพวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้ง ๕ คนนี้ ได้นำช้าง, ม้า, แก่นสน, ยางสน, ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นของส่วยไปส่ง ณ กรุงศรีอยุธยา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้หลวงสุวรรณ(ตากะจะ)เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวนเป็น เมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพชร(เชียงฆะ)เป็นพระสังฆะบุรีศรีนครอัดจะเจ้าเมือง ยกบ้านโคกอัดจะ(หรือบ้านดงยาง)เป็น เมืองสังฆะ ให้หลวงสุรินทรภักดี(เชียงปุ่ม)เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมือง ตั้งบ้านคูปะทายเป็น เมืองปะทายสมัน(คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา(เชียงสีหรือตาพ่อควาน)เป็นพระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย(หรือบ้านเมืองเตา)เป็น เมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย
ลุจุลศักราช ๑๑๒๕ ปีมะแมเบญจศก ฝ่ายทางเมืองทง ท้าวมืดผู้เป็นเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวมืดมีบุตร ๒ คน ชื่อ ท้าวเชียง ๑ ท้าวสูน ๑ เมืองแสน เมืองจัน และกรมการจึงได้บอกไปยังเมืองจำปาศักดิ์ขอยกท้าวทน น้องท้าวมืดขึ้นเป็นอุปราชรักษาบ้านเมืองต่อไป
อยู่ได้ประมาณ ๔ ปี ฝ่ายท้าวเชียง ท้าวสูน บุตรท้าวมืดเจ้าเมืองผู้ถึงแก่กรรม มีความวิวาทบาดหมางหาถูกกันกับท้าวทนผู้อาไม่ จึงคบคิดกับกรมการพำกันไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ณ กรุงศรีอยุธยา ขอกำลังขึ้นมาปราบปรามท้าวทน โปรดให้พระยากรมท่า พระยาพรหม เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดการกับท้าวเชียง ท้าวสูน
ครั้นจวนจะมาถึงเมืองทง ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองรู้ข่าวเข้า ก็พาครอบครัวอพยพหนีไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก พระยาพรหม พระยากรมท่า เข้าตั้งพักอยู่ในเมืองแล้ว จึงบอกขอท้าวเชียงเป็นเจ้าเมือง ท้าวสูนเป็นอุปฮาด รักษาปกครองเมืองทงต่อไป แล้วพระยาพรหม พระยากรมท่า ก็ออกไปตั้งที่พักอยู่ ณ ทุ่งสนามโนนกระเบา เมืองทงก็เป็นอันขาดจากความปกครองของเมืองจำปาศักดิ์ เข้าอยู่ในอำนาจกรุงศรีอยุธยาแต่นั้นมา
จุลศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศก พระเจ้าองค์หล่อผู้ครองกรุงศรีสัตนคนหุตถึงแก่พิราลัย หามีโอรสที่จะสืบตระกูลไม่ แสนท้าวพระยาและนายวอ นายตา จึงได้พร้อมกันเชิญกุมารสองคน(มิได้ปรากฏนาม) ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตคนเก่า(ไม่ปรากฏว่าคนไหน) อันได้หนีไปอยู่กับนายวอ นายตา เมื่อพระเจ้าองค์หล่อยกกำลังจะมาจับพระยาเมืองแสนฆ่านั้น ขึ้นครองกรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วนายวอ นายตา จะขอเป็นที่มหาอุปราชฝ่ายหน้า ราชกุมารทั้งสองเห็นว่า นายวอ นายตา มิได้เป็นเชื้อเจ้า จึงตั้งให้นายวอ นายตาเป็นแต่แหน่งพระเสนาบดี ณ กรุงศรีสัตนาคนหุต แล้วราชกุมารผู้เชษฐาจึงตั้งราชกุมารผู้เป็นอนุชาให้เป็นมหาอุปราชขึ้น
ฝ่ายพระวอ พระตาก็มีความโทมนัส ด้วยมิได้เป็นที่มหาอุปราชดังความประสงค์ จึงได้อพยพครอบครัวพากันมาสร้างเวียงขึ้นบ้านหนองบัวลำภู แขวงเวียงจันทน์ เสร็จแล้วยกขึ้นเป็นเมือง ให้ชื่อว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน
ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบเหตุดังนั้น จึงให้แสนท้าวพระยาไปห้ามปรามมิให้พระวอ พระตาตั้งเป็นเมือง พระวอ พระตาก็หาฟังไม่ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตจึงได้ยกกองทัพมาตีพระวอ พระตา สู้รบกันอยู่ได้สามปี พระวอ พระตาเห็นจะต้านทานมิได้ จึงได้แต่คนไปอ่อนน้อมต่อพม่า ขอกำลังมาช่วย
ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบดังนั้น จึงแต่งเครื่องบรรณนาการ ให้แสนท้าวพระยาคุมลงมาดักกองทัพพม่าอยู่กลางทาง แล้วพูดเกลี้ยกล่อมชักชวนเอาพวกพม่าเข้าเป็นพวกเดียวกันได้แล้ว พากันยกทัพมาตีพระวอ พระตาก็แตก พระตาตายในที่รบ ยังอยู่แต่พระวอกับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม ผู้เป็นบุตรพระตา และท้าวทิดก่ำผู้บุตรพระวอ แล้วจึงพาครอบครัวแตกหนีอพยพไปขอพึ่งอยู่กับพระเจ้าองค์หลวง เจ้าไชยกุมารเมืองปาศักดิ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงดอนกลาง คือที่เรียกว่าบ้านดู่ บ้านแก แขวงเมืองปาศักดิ์ ณ บัดนี้
ในเวลานั้นเจ้าอุปราชธรรมเทโวเมืองจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรม พระเจ้าองค์หลวงได้กระทำการปลงศพเจ้าอุปราชตามฐานานุศักดิ์อุปราช เจ้าอุปราชธรรมเทโวมีบุตรชาย ๔ คือ เจ้าโอ ๑ เจ้าอิน ๑ เจ้าธรรมกิติกา ๑ เจ้าคำสุก ๑ บุตรหญิงชื่อ นางตุ่ย ๑
ลุจุลศักราช ๑๑๓๓ ปีเถาะตรีศก ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทราบว่า พระวอแตกหนีมาตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกอง แขวงเมืองจำปาศักดิ์ จึงได้แต่งให้อัคฮาดคุมกำลังยกตามมาถึงแขวงเมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายพระเจ้าองค์หลวงได้ทราบดังนั้น จึงได้แต่งให้พระยาพลเชียงสาคุมกองทัพขึ้นไปต้านทานไว้ แล้วมีศุภอักษรภึงพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตขอโทษพระวอไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตทีศุภอักษรตอบมาว่า พระวอเป็นคนอกตัญญูจะเลี้ยงไว้ก็คงไม่มีความเจริญ แต่เมื่อพระเจ้านครจำปาศักดิ์ให้มาขอโทษไว้ดังนี้แล้ว ก็จะยกให้มิให้เสียทางไมตรี แล้วก็มีคำสั่งให้อัคฮาดและนายทัพนายกองยกกำลังกลับไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต
ในปีนั้นพระเจ้าองค์หลวงดำริจะสร้างเมืองใหม่ ถอยไปจากเมืองเดิมที่ตำบลศรีสุมังทางประมาณ ๒๐๐ เส้น พระวอรับอาสาเป็นผู้สร้างกำแพงเมือง พระมโนสาราชและพระศรีอัคฮาดเมืองโขงรับอาสาสร้างหอคำ ถวายพระเจ้าองค์หลวงเสร็จแล้ว (ในจุลศักราช ๑๑๓๔ ปีมะโรง) เจ้านายแสนท้าวพระยาจึงเชิญพระเจ้าองค์หลวงแห่ไปอยู่ ณ เมืองใหม่ และมีการมหกรรมสมโภชเสร็จแล้ว
ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าองค์หลวงออกว่าราชการ ณ หอราชสิงหาร พร้อมด้วยเจ้านายแสนท้าวพระยา ประชุมอยู่ ณ ที่นั่น พระวอจึงได้ทูลพระเจ้าองค์หลวงว่า การที่พระวอได้สร้างกำแพงเมืองถวาย กับผู้ที่ได้สร้างหอคำถวายนั้น สิ่งใดจะประเสริฐกว่ากัน พระเจ้าองค์หลวงจึงตอบว่า กำแพงเมืองนั้นก็ดีด้วยเป็นที่กำบังสำหรับป้องกันศัตรูซึ่งจะมาทำร้าย แต่หอคำนั้นจะดีกว่าสักหน่อย ด้วยเป็นที่ได้อาศัยนั่งนอนมีความสุขสำราญมาก ฝ่ายพระวอได้ฟังพระเจ้าองค์หลวงตอบดังนั้น ก็บังเกิดความอัปยศโทมนัสขึ้น คิดเอาใจออกหากจากพระเจ้าองค์หลวง พาครอบครัวอพยพขึ้นไปตั้งซ่องสุมผู้คนอยู่ที่ดอนมดแดง (อยู่ในลำน้ำมูลซึ่งเป็นแขวงเมืองอุบลเดี๋ยวนี้) แล้วมีบอกแต่ง ให้ท้าวเพี้ยพี่น้องคุมเครื่องบรรณาการมายังเมืองนครราชสีมา ให้นำสมัครขึ้นอยู่ในความปกครองของประเทศสยาม
ลุจุลศักราช ๑๑๓๘ ปีมะโรงจัตวาศก เมื่อเจ้าตากสินเสวยราชย์อยู่ ณ กรุงธนบุรี พระยาพรหม พระยากรมท่าเห็นว่าตำบลเมืองทงเป็นชัยภูมิไม่สมควรจะตั้งเป็นเมือง เพราะเป็นที่โนนลำเซน้ำไหลแทงแรงอยู่อันจะไม่ถาวรต่อไป จึงปรึกษาท้าวเชียง ท้าวสูน เห็นพร้อมกันว่า ที่ตำบลดงเท้าสารห่างไกลจากเมืองทงประมาณ ๑๐๐ เส้นเศษ เป็นที่ตำบลภูมิเมืองเก่าชัยภูมิดีจึงได้อพยพย้ายจากเมืองทงไปตั้งอยู่ยังดงเท้าสาร แล้วมีใบบอกมายังกรุงธนบุรี ขอตั้งดงเท้าสารเป็นเมือง จึงโปรดให้ตั้งดงเท้าสารขึ้นเป็นเมือง ขนานนามว่า เมืองสุวรรณภูมิ มาแต่ครั้งนั้น ท้าวเชียงได้สร้างวัดขึ้นสองวัด ชื่อวัดกลาง ๑ วัดใต้ ๑ สร้างวิหารกว้างห้าวา ยาวแปดวา สูงหกวา สร้างพระพุทธรูปด้วยอิฐปละปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างสี่ศอกคืบ สูปแปดศอกคืบ เหมือนกันทั้งสองวัด
ลุจุลศักราช ๑๑๓๗ ปีมะแมสัปตศก ฝ่ายท้าวทนเจ้าเมืองทงคนเก่า ซึ่งหนีไปอยู่ ณ บ้านกุดจอก จึงเข้าหาพระยาพรหม พระยากรมท่า พระยาพรหม พระยากรมท่าเห็นว่าท้าวทนมีผู้คนบ่าวไพร่ควบคุมอยู่มาก จึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี ขอตั้งท้าวทนเป็นเจ้าเมือง ขอยกบ้านกุ่มซึ่งเป็นที่เมืองร้อยเอ็ดเก่าเป็นเมือง จึงโปรดตั้งให้ท้าวทนเป็นพระขัตติยวงศาเจ้าเมือง ยกบ้านกุ่มขึ้นเป็น เมืองร้อยเอ็ด ตามนามเดิม
ครั้งนั้นเขตแขวงเมืองสุวรรณภูมิ และเมืองร้อยเอ็ดมีว่า ตั้งแต่ปากน้ำลำพาชี ตกลำน้ำมูล ขึ้นมาตามลำน้ำพาชีถึงปากห้วยดางเดีย ขึ้นไปทุ่งลาดไถ ไปบ้านข้อเหล็ก บ้านแก่งทรายหิน ตั้งแต่ถ้ำเต่าเหวฮวดดงสวนอ้อย บึงกุยศาลาอีเก้งภูเมง หนองม่วงคลุ้ม กุ่มปักศาลาหักมูลเดง ประจบปากลำน้ำพาชี ตกลำน้ำมูลนี้เป็นเขตเมืองสุวรรณภูมิ ตั้งแต่ลำน้ำยางตกลำน้ำพาชี ขึ้นไปภูดอกซ้อน หินทอด ยอดยาง ดู่สามต้น อันสามขวาย สนามหมาดหญ้า ผ้าขาวพันนา ฝายพระยานาคภูเมง มาประจบหนองแก้วศาลาอีเก้งมาบึงกุยนี้เป็นอาณาเขตเมืองร้อยเอ็ด
ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๓๘ ปีวอกอัฐศก ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตรู้ข่าวว่าพระวอมีความอริวิวาทกันกับพระเจ้านครจำปาศักดิ์ ยกครอบครัวมาตั้งอยู่ ณ ดอนมดแดง จึงแต่งให้พระยาสุโพคุมกองทัพมาตีพระวอ พระวอเห็นจะสู้มิได้ จึงพาครอบครัวอพยพขึ้นหนีขึ้นมาตั้งอยู่ตำบลเวียงดอนกองตามเดิม แล้วแต่งคนให้ไปขอกำลังพระเจ้านครจำปาศักดิ์มาช่วย พระเจ้าจำปาศักดิ์ก็หาช่วยไม่ กองทัพพระยาสุโพก็ยกตามมาล้อมเวียงไว้ จับพระวอได้แล้วก็ให้ฆ่าเสียที่ตำบลเวียงดอนกอง (ที่ซึ่งพระวอตายนี้ ภายหลังท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตาได้เป็นที่เจ้าจำปาศักดิ์ได้สร้างเจดีย์สวมไว้ คำในพื้นเมืองเรียกว่า ธาตุพระวอ อยู่ ณ วัดบ้านศักดิ์ แขวงเมืองจำปาศักดิ์ตราบเท่าบัดนี้)
ฝ่ายท้าวก่ำบุตรพระวอ กับท้าวฝ่ายหน้า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม บุตรพระตาหนีออกจากที่ล้อมได้ จึงมีบอกแต่งให้คนถือมายังเมืองนครราชสีมา ให้นำความกราบทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีขอกำลังกองทัพมาช่วย
ลุจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้พระบาสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นแม่ทัพยกไปทางบก สมทบกับกำลังเกณฑ์เมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังฆะ และโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ เป็นแม่ทัพยกไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง (ในจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศก)
ฝ่ายกองทัพพระยาสุโพรู้ข่าวว่ากองทัพกรุงยกขึ้นไปเห็นจะต้านทานไว้มิได้ ก็ยกกองทัพกลับคืนไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต
ส่วนกองทัพกรุงธนบุรีทั้งสองก็ยกขึ้นไปตีเมืองจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงเห็นว่าจะจะต่อสู้มิได้ จึงพาครอบครัวอพยพหนีออกจากเมืองไปตั้งอยู่ที่เกาะไชย กองทัพไทยตามไปจับได้ตัวพระเจ้าองค์หลวงเมืองจำปาศักดิ์ แล้วก็เลยยกตีเมืองนครพนมบ้านหนองคายได้แล้ว ยกไปล้อมเมืองเวียงจันทน์ไว้ พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตต้านทานมิได้ก็หนีไปทางเมืองคำเกิด กองทัพไทยยกเข้าเมืองได้แล้ว ตั้งให้พระยาสุโพเป็นผู้รั้งเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วเชิญพระแก้วมรกต ๑ พระบาง ๑ ซึ่งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ กับคุมเอาตัวพระเจ้าองค์หลวง (คือเจ้านครจำปาศักดิ์ไชยกุมาร) ยกกองทัพกลับมายังกรุงธนบุรี
พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้เจ้าไชยกุมาร กลับไปครองเมืองจำปาศักดิ์ตามเดิม ทำราชการเป็นเมืองประเทศราชขึ้นกับกรุงธนบุรีแต่นั้นมา และโปรดให้ยกบ้านอิ้ดกระบือเป็นเมืองอิ้ดกระบือ (คือเมืองอัตปือตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกบัดนี้) ให้เจ้าโอบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเป็นเจ้าเมือง เจ้าอินน้องเป็นอุปฮาด ครอบครองเมืองอิ้ดกระบือ และโปรดให้เลื่อนเจ้าเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ ขึ้นเป็นตำแหน่งพระยาทั้งสามเมือง
ในปีนี้เจ้าสุริโย ราชวงศ์เมืองจำปาศักดิ์ถึงแก่กรรม มีบุตรชื่อ เจ้าหมาน้อย ๑ และท้าวคำผงบุตรพระตาไปได้นางตุ่ยบุตรเจ้าอุปราชธรรมเทโวเป็นภรรยา เจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารเห็นว่า ท้าวคำผงมาเกี่ยวเป็นเขยและเป็นผู้มีครอบครัวบ่าวไพร่มาก จึงตั้งให้ท้าวคำผงเป็นพระประทุมสุรราช เป็นนายกองใหญ่ควบคุมครอบครัวตัวเลกเป็นกองขึ้นเมืองจำปาศักดิ์ ตั้งอยู่ ณ บ้านเวียงดอนกอง (คือที่เรียกว่าบ้านดู บ้านแกบัดนี้)
ภายหลังเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมีย พระประทุมจึงได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ ณ ตำบลห้วยแจะละแม๊ะ คือตำบลซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือเมืออุบลบัดนี้ คำที่เรียกว่าห้วยแจะละแม๊ะนั้นมีตำนานว่า คนเดินทางผ่านห้วยนั้นไปมาก็มักจะแวะเข้าไปขอเกลือต่อผู้ต้มเกลือว่าขอแจะละแม๊ะ คือแตะกินสักหน่อยเถิด จึงได้มีนามว่าห้วยแจะละแม๊ะมาแต่เหตุนั้น แต่บัดนี้ฟังสำเนียงที่เรียกกันเลือนๆเป็นแจละแมหรือจาละแมไป พระประทุมสุรราชมีบุตรชื่อท้าวโท ๑ ท้าวทะ ๑ ท้าวกุทอง ๑ นางพิม ๑ นางคำ ๑ นางคำสิง ๑ นางจำปา ๑
ในปีนี้พระยาขุขันธ์(ตากะจะ)ถึงแก่กรรม โปรดให้หลวงปราบ(เชียงขัน) เป็นพระยาไกรภักด่ศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ เลื่อนมาตั้งบ้านแตระเป็นเมืองขุขันธ์
ลุจุลศักราช ๑๑๔๒ ปีชวดโทศก เจ้าโอเจ้าเมือง เจ้าอินอุปฮาดเมืองอิ้ดกระบือ กระทำการกดขี่ข่มเหงราษฎรได้ความเดือดร้อน ความทราบถึงเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมาร จึงให้เจ้าเชษฐ เจ้านูหลาน คุมกำลังไปจับเจ้าโอ เจ้าอิน เจ้าอินรู้ตัวหลบหนีไปเสียก่อน ส่วนเจ้าโอนั้นรู้ว่าอันตรายจะมาถึงตัวจะหนีไปไม่รอด จึงหนีเข้าไปกอดคอพระปฏิมากรอยู่
เจ้าเชษฐ เจ้านูไปพบเข้า จึงให้ไปจับตัวเจ้าโอออกมาจากพระปฏิมากรแล้ว เจ้าโอขอผัดกับเจ้าเชษฐ เจ้านูว่า ถ้าโทษตนจะต้องประหารชีวิตแล้ว ขอให้รอไว้แต่พอได้บังสุกุลตัวเสียก่อน แล้วเจ้าโอก็เอาผลสะบ้ามาประมาณ ๑๐๐ เศษ ควักเอาไส้ในออกเสีย เอาทองคำทรายกรอกเข้าไว้แล้ว นิมนต์พระมาบังสุกุล ถว่ายปลสะบ้าทองคำทรายทุกองค์แล้ว จึงกล่าววาจาอธิษฐานว่า เราไม่มีผิด เจ้าเชษฐ เจ้านูมาจับเราจะฆ่า ขอให้บาปนี้จงเป็นผลสนอง อย่าให้เจ้าเชษฐ เจ้านูได้เป็นเจ้าเมืองสืบวงศ์ตระกูลต่อไปเลย
ทันใดนั้น เจ้าเชษฐ เจ้านู ก็สั่งให้ไพร่เข้าจับตัวเจ้าโอเข้ามัด แล้วเอาเชือกหนังเข้ารัดคอเจ้าโอถึงแก่กรรม เจ้าโอมีบุตร ๒ คน ชื่อเจ้านาค ๑ เจ้าฮุย ๑ ในตำบลที่เจ้าโอถึงแก่กรรมนั้น ถายหลังเจ้านาค เจ้าฮุยผู้บุตรได้ก่อเจดีย์ขึ้นไว้ คำในพื้นเมืองเรียกว่า ธาตุเจ้าโอ ปรากฏอยู่ในเมืองอัตปือมาจนทุกวันนี้
..........................................................................
Create Date : 24 มีนาคม 2550 |
Last Update : 24 มีนาคม 2550 16:05:49 น. |
|
5 comments
|
Counter : 5356 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:15:49:51 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:15:56:12 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:15:59:11 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:16:03:56 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 24 มีนาคม 2550 เวลา:16:05:07 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ในจุลศักราช ๑๑๔๑ ปีกุนเอกศก ฝ่ายทางเมืองเขมรเกิดจลาจลด้วยฟ้าทะละหะ(มู) กับพระยาวิบูลยราช(ชู) คิดกบฏจับสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้ากรุงกัมพูชา ไปถ่วงน้ำเสีย ยกนักองค์เองขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินเขมร
ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๔๓ ปีฉลูตรีศก เมืองเขมรกลับไปฝักใฝ่ขึ้นอยู่กับญวน ข่าวทราบมาถึงกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปปราบปราม ยังมิทันราบคาบดี พอข้างฝ่ายในกรุงธนบุรี พระเจ้าแผ่นดินมีสัญญาวิปลาสทรงพประพฤติการวิปริตต่างๆ พระยาสรรค์คิดกบฏจับพระเจ้ากรุงธนบุรีได้เอาจำไว้แล้ว พระยาสรรค์ก็ตั้งตนขึ้นเป็นผู้ว่าราชการกรุงธนบุรี บรรดาโจรผู้ร้ายทั้งหลายต่างก็กำเริบตั้งมั่วสุมกันขึ้นเป็นหมู่เป็นเหล่า เที่ยวตีชิงปล้นฆ่าฟันไพร่ฟ้าประชาชนได้ความเดือดร้อนแตกตื่นไปเป็นโกลาหล
เมื่อข่าวทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็เสด็จยาตราทัพรีบกลับคืนมายังพระนคร ทรงปราบปรามพวกทุจริต ระงับจลาจลราบคาบเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติปราบดาภิเษกในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยา
ในจุลศักราช ๑๑๔๔ ปีขาลจัตวาศก ครั้นทรงทราบว่าทางเมืองจำปาศักดิ์และเมืองอิ้ดกระบือเกิดฆ่าฟันกัน จึงโปรดให้ข้าหลวงขึ้นไปคุมเอาตัวเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมาร กับเจ้าเชษฐ เจ้านู เจ้าหมาน้อย ลงมากรุงเทพฯ ถึงกลางทางเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารป่วยลง จึงโปรดให้กลับคืนไปรักษาตัวยังบ้านเมือง แล้วข้าหลวงก็คุมเอาแต่เจ้าเชษฐ เจ้านู เจ้าหมาน้อย ลงมา ณ กรุงเทพฯ
ในปีขาลจุลศักราช ๑๑๔๔นั้น พระยาขุขันธ์(เชียงขัน)มีใบบอกขอตั้งท้าวบุญจันทร์บุตรเลี้ยง ซึ่งติดมารดามาแต่ครั้งเข้ากองทัพไปตีกรุงศรีสัตนาคนหุต เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๐ ปีจอสัมฤทธิศกนั้น เป็นตำแหน่งพระไกรผู้ช่วย
อยู่มาพระยาขุขันธ์เรียกพระไกรว่าลูกเชลย พระไกรมีความโกรธ ครั้นภายหลังมีพวกญวนพ่อค้าประมาณ ๓๐ คนมาเที่ยวหาซื้อโคกระบือถึงเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์จัดที่ให้พวกญวนพักอยู่ศาลากลาง แล้วเกณฑ์คนทำทางไปทางช่องโพย ให้ญวนนำกระบือลงไปทางเมืองพนมเปญ ฝ่ายพระไกรผู้ช่วยมีความพยาบาทพระยาขุขันธ์ จึงบอกกล่าวโทษมายังกรุงเทพฯว่า พระยาขุขันธ์คบพวกญวนต่างประเทศจะเป็นกบฏ จึงโปรดให้เรียกพระยาขุขันธ์ไปพิจารณาได้ความตามมหา ต้องจำคุกอยู่ ณ กรุงเทพฯ
เวลานั้นท้าวอุ่นผู้เป็นที่พระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ลงมา ณ กรุงเทพฯ กราบบังคมทูลขอเป็นเจ้าเมือง เมืองหนึ่งแยกออกจากเมืองขุขันธ์ ไปตั้งอยู่ ณ บ้านโนนสามขาสระกำแพงใหญ่ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ยกบ้านโนนสามขาสระกำแพงขึ้นเป็น เมืองศรีสระเกศ ตั้งให้พระภักดีภูธรสงครามปลัดเมืองขุขันธ์ เป็นพระยารัตนาวงษาเจ้าเมืองศรีสระเกศ แล้วโปรดตั้งให้พระไกร(บุญจันทร์)ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ให้ท้าวมะนะ เป็นที่พระภักดีภูธรสงครามปลัด ท้าวเทศเป็นที่พระแก้วมนตรียกกระบัตรเมืองขุขันธ์ เมื่อในจุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงฉศก
อยู่มาพระยาไกรภักดี แต่งให้กรมการออกไปจับพวกราษฎรในกองเจ้าเมืองนัน เจ้าเมืองนันเกณฑ์กำลังยกมาตีพระยาไกรภักดี พระยาไกรภักดีสู้มิได้หนีไปอยู่เมืองสังฆะ แล้วบอกลงมา ณ กรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงคุมกำลังไปเจ้าเจ้าเมืองนันได้ พาเอาตัวลงมากรุงเทพฯ
จุลศักราช ๑๑๔๕ ปีเถาะเบญจศกนั้น พระขัตติยวงศา(ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดป่วยถึงแก่กรรม พระขัตติยวงศา(ทน)มีบุตร ๓ คน ชื่อท้าวสีลัง ๑ ท้าวภู ๑ ท้าวอ่อน ๑ จึงโปรดตั้งให้ท้าวสีลังเป็นพระขัตติวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวภูเป็นอุปฮาดเมืองร้อยเอ็ด
จุลศักราช ๑๑๔๖ ปีมะโรงฉศก โปรดตั้งให้นายเชียงแตง บ้านหางโคปากน้ำเซฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นผู้ได้พาญาติพี่น้องพรรคพวกเข้าสามิภักดิ์รับอาสานำร่องเรือขบวนทัพกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์แม่ทัพยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ครั้งนั้น เป็นที่พระอุดมเดชเจ้าเมือง ยกบ้านหางโคเป็น เมืองเชียงแตง มีกำหนดเขตแขวงทิศตะวันออกถึงตำบลแสพวก ทิศใต้ถึงเขาเชิงโดย ทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงห้วยม่วง ทิศเหนือถึงดอนตะแบง เป็นบริเวณเชียงแตง ขึ้นกรุงเทพฯ
จุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็งสัปตศก พระยารัตนวงษา(อุ่น) เจ้าเมืองศรีสระเกศถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวชมบุตรพระยารัตนวงษา(อุ่น เป็นพระวิเศษภักดี เจ้าเมืองศรีสระเกศ
ครั้นจุลศักราช ๑๑๔๘ ปีมะเมียอัฐศก เมืองศรีสระเกศกับเมือขุนขันธ์เกิดวิวาทแย่งชิงเขตแดนกัน จึงโปรดเกล้าให้ปันเขตแดนเมืองศรีสระเกศกับเมืองขุขันธ์ดังนี้ ทิศใต้ตั้งแต่เขาบรรทัดช่องจันหอมมาบ้านหัวดอน ถึงทุ่งประทาย มาบ้านขาม มาบ้านคันร่ม ถึงบ้านลาวเดิม ไปตามลำน้ำห้วยทาด ไปบ้านเก่าศาลาบ้านสำโรง บ้านดอยกองไปวังขี้นาค ไปบ้านอแก่งเก่า ไปกุดสมอ ไปสระสี่เหลี่ยม ไปหลักหินลงท่าลำน้ำพาชี ไปลำน้ำมูล ไปบ้านหมากเยา ถึงบ่อพันขันธ์ ไปถึงท่าหัวลำพาชี ลงไปข้างใต้เป็นพรมแดนเมืองขุขันธ์ ข้างเหนือเป็นเขตแดนเมืองศรีสระเกศ
จุลศักราช ๑๑๔๙ ปีมะแมนพศก ท้าวเชียงผู้เป็นอุปราชเจ้าเมือง เจ้าเมืองสุวรรณภูมิถึงแก่กรรม มีบุตรสองคน ชื่อท้าวโอะ ๑ ท้าวเพ ๑ กับบุตรหญิง ๔ คน จึงโปรดตั้งให้ท้าวสูนน้องท้าวเชียงเป็นอุปราชเจ้าเมือง เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ และโปรดตั้งให้ท้าวเพบุตรท้าวเชียงเจ้าเมืองสุวรรณภูมิคนเก่า เป็นที่พระพิทักษ์เขื่อนขันธ์เจ้าเมืองหนองหาร (เป็นเมืองเก่าอยู่ในแขวงมณฑลอุดร) แยกเอาไพร่เมืองสุวรรณภูมิไป ๖๐๐
ลุจุลศักราช ๑๑๕๓ ปีกุนตรีศก อ้ายเชียงแก้วซึ่งตั้งอยู่ตำบลเขาโอฝั่งโขงตะวันออก แขวงเมืองโขง แสดงตนเป็นผู้วิเศษมีคนนับถือมาก อ้ายเชียงแก้วรู้ข่าวว่า เจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารป่วยหนักอยู่ เห็นว่าเป็นโอกาสอันดี จึงคิดการเป็นกบฏยกกำลังมาล้อมเมืองจำปาศักดิ์ไว้ ขณะนั้นเจ้าจำปาศักดิ์ไชยกุมารทราบข่าวว่า อ้ายเชียงแก้วยกมาตีเมืองจำปาศักดิ์ก็ตกใจ อาการโรคกำเริบขึ้นก็เลยถึงแก่พิราลัย อายุได้ ๘๑ ปี ครองเมืองจำปาศักดิ์ได้ ๕๓ ปี มีบุตรชายชื่อ เจ้าหน่อเมือง ๑ บุตรหญิงชื่อเจ้าป่อมหัวขวากุมารี ๑ เจ้าท่อนแก้ว ๑
ฝ่ายกองทัพอ้ายเชียงแก้วก็เข้าตีเอาเมืองจำปาศักดิ์ได้ ความทราบถึงกรุงเทพฯจึงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) แต่ครั้งยังเป็นพระพรหมยกกระบัตร ยกกองทัพขึ้นไปกำจัดอ้ายเชียงแก้ว แต่พระพรหมไปยังมิทันถึง ฝ่ายพระประทุมสุรราชบ้านห้วยแจละแมผู้พี่ กับท้าวฝ่ายหน้าซึ่งไปตั้งอยู่บ้านสิงทา (คือเป็นเมืองยโสธรเดี๋ยวนี้) ผู้น้อง จึงพากันยกกำลังไปตีอ้ายเชียงแก้ว อ้ายเชียงแก้วยกกองทัพออกต่อสู้ที่แก่งตนะ (อยู่ในลำน้ำแขวงเมืองพิมูลเดี๋ยวนี้) กองทัพอ้ายเชียงแก้วแตกหนี ท้าวฝ่ายหน้าจับตัวอ้ายเชียงแก้วได้ให้ฆ่าเสียแล้ว
พอกองทัพเมืองนครราชสีมายกไปถึง ก็พากันไปเมืองจำปาศักดิ์ และพากันยกเลยไปตีข่าชาติกระเสงสวายจะรายระแดร์ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งโขงตะวันออกจับได้มาเป็นอันมาก จึงได้มีไพร่ข้า และประเพณีตีข่ามาแต่ครั้งนั้น
แล้วโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวฝ่ายหน้าบุตรพระตาผู้มีความชอบ เป็นเจ้าพระวิไชยราชขัตติยวงศาครองเมืองจำปาศักดิ์ โปรดให้เจ้าเชษฐ เจ้านู ขึ้นไปช่วยราชการอยู่ด้วยเจ้าพระวิไชยราช จึงได้ย้ายเมืองขึ้นมาตั้งอยู่ทางเหนือ คือที่เรียกว่าเมืองเก่าคันเกิง ณ บัดนี้ เจ้าพระวิไชยราชขัตตยวงศา จึงตั้งให้ท้าวสิงผู้หลานอยู่ ณ บ้านสิงทาเป็นราชวงศ์เมืองโขง(สีทันดร) และทูลขอตั้งให้ท้าวบุตรเป็นเจ้าเมืองนครพนม (อันเป็นเมืองเก่าแขวงมณฑลอุดร)
และโปรดเกล้าฯตั้งให้พระประทุมสุรราช(คำผง)เป็นเจ้าเมือง ยกบ้านห้วยแจละแมขึ้นเป็น อุบลราชธานี (ตามนามพระประทุม) ขึ้นกรุงเทพฯ ทำส่วยผึ้ง ๒ เลข ต่อเบี้ยน้ำรัก ๒ ขวด ต่อเบี้ยป่าน ๒ เลขต่อขวด พระประทุมจึงย้านมาตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านร้างริมลำน้ำพิมูล ใต้ห้วยแจละแมประมาณทาง ๑๒๐ เส้น คือที่ซึ่งเป็นเมืองอุบลเดี๋ยวนี้ และได้สร้างวัดหลวงขึ้นวัดหนึ่ง
เขตแดนเมืองอุบลมีปรากฏในเวลานั้นว่า ทิศเหนือถึงน้ำยังตกลำน้ำพาชี ไปยอดบังอี่ ตามลำน้ำบังอี่ไปถึงแก่งตนะ ไปภูจอกอ ไปช่องนาง ไปยอดห้วยอะลีอะลอง ตัดไปดงเปื่อย ไปสระดอกเกศ ไปตามลำกะยุง ตกลำน้ำมูล ปันให้เมืองสุวรรณภูมิ ฝ่ายเหนือหินสิลาเลขหนองกากวากเกี่ยวชี ปันให้เมืองขุขันธ์ แต่ปากห้วยทัพทัน ตกมูลภูเขาวงก์
ครั้งนั้นขุนนักจันหอมผู้ครองตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม เจ้าพระวิไชยขัตติยวงศา จึงคตั้งท้าวอินทวงศ์ บุตรขุนนักจันหอม เป็นขุนนักอินทวงศ์ ครองตำบลโขงเจียงต่อไป
ลุจุลศักราช ๑๑๕๔ ปีชวดจัตวาศก ฝ่ายทางเมืองสุวรรณภูมิ มีคนลอบฟันท้าวสูนผูเป็นอุปราชเจ้าเมืองถึงแก่กรรม ท้าวเพี้ยกรมการจับตัวทิดโคตรพิจารณาได้ความเป็นสัตย์ ว่าเป็นผู้ฟัน ทิดโคตรถูกเฆี่ยนตายอยู่กับคา แล้วเจ้าเมืองกรมการจึงมีหนังสือบอกลงมายังกรุงเทพฯ โปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวอ่อนท้าว บุตรพระขัตติยวงศา(ทน) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนเก่า ซึ่งได้มาถวายตัวเป็นมหาดเล็กอยู่ในกรุงเทพฯนั้น เป็นอุปราชเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ พระราชทานหมวกตุ้มปี่กระบี่บั้งทองเป็นเกียรติยศ
ในปีนั้นเมืองแสนสุวรรณภูมิไม่ถูกกับเจ้าเมือง อพยพมาตั้งอยู่บ้านหนองแก้ว สมัครทำราชการขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมา เจ้าพระยานครราชสีมาจึงบอกกราบบังคมทูลขอตั้งให้เมืองแสนเป็นเจ้าเมือง ขอยกบ้านหนองแก้วขึ้นเป็นเมือง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เมืองแสนเป็นที่พระจันตประเทศ ยกบ้านหนองแก้วขึ้นเป็น เมืองชนบท (แขวงมณฑลอุดร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา แบ่งเอาที่ดินเมืองสุวรรณภูมิไปตั้งแต่ตำบลบ้านกู่ทองไปจนถึงหนองกองแก้ว เป็นเขตของเมืองชนบทแต่ครั้งนั้น
ลุจุลศักราช ๑๑๕๕ ปีฉลูเบญจศก ท้าวโสมพมิตร ท้าวอุปชา ซึ่งเดิมอยู่บ้านผ้าขาวแขวงเมืองศรีสัตนาคนหุต และพาครอบครัวยกมาตั้งอยู่บ้านท่าแก่งสำโรงริมน้ำปาวนั้น ได้พาพวกญาติพี่น้องมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ควบคุมบ่าวไพร่ตัวเลขเก็บผลเร่วส่งทูลเกล้าฯถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวโสมพมิตรเป็นพระไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวคำหวาเป็นที่อุปฮาด ยกบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็น เมืองกาฬสินธุ์ ทำราชการขึ้นกรุงเทพฯ
อาณาเขตเมืองกาฬสินธุ์ครั้งนั้นมีว่า ทิศตะวันออกลำพยังตกลำน้ำชี ทิศเหนือเฉียงตะวันตกภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำไก่เขี่ย ตัดลงคูไชเถ้าเกาะ จนกระทั่งห้วยสายบาท ตกลำพวง ทิศเหนือเฉียงตะวันออกภูศรีถานยอดลำห้วยหลักทอด ตกลำพยังแต่ภูศรีถานเฉียงเหนือยอดห้วยก้านเหลืองลงน้ำก่ำเมืองหนองหาร เฉียงเหนือภูเหล็กยอดลำน้ำสงครามมาลำน้ำยามถึงลำน้ำอุ่น ตัดมาหนองบัวส้างยอดน้ำลาด ตกน้ำหนองหาร
ครั้นพระยาไชยสุนทร(โสมพมิตร) อุปฮาด(คำหวา)ถึงแก่กรรมแล้ว จึงโปรดตั้งให้ท้าวหมาแพงบุตรท้าวอุปชาเป็นพระยาไชยสุนทรเจ้าเมือง ให้ท้าวหมาสุยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวหมาพวงเป็นราชวงศ์ ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรพระยาไชยสุนทร(โสมพมิตร) เป็นผู้รักษาเมืองกาฬสินธุ์ต่อไป และโปรดเกล้าฯให้ข้าหลวงขึ้นไปสักตัวเลข เป็นเลขขึ้นเมืองกาฬสินธุ์ มีจำนวนครั้งนั้นรวม ๔๐๐๐ คน แบ่งเป็นส่วยขึ้นกับเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ตามสมควร
ฝ่ายราชวงศ์(พวง)นั้น กระทำการเกี่ยงแย่งหาเป็นสามัคคีกับพระยาไชยสุนทรไม่ จึงอพยพครอบครัวแยกไปตั้งอยู่ ณ บ้านเชียงชุม แล้วไปยอมสมัครขึ้นอยู่กับเมืองแขวงจันทน์(ศรีสัตนาคนหุต)
ลุจุลศักราช ๑๑๕๖ ปีขาลฉศก พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(เชียงปุ่ม) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม พระยาสุรินทร์(เชียงปุ่ม)มีบุตรชาย ๒ ชื่อท้าวตี ๑ ท้าวมี ๑ มีบุตรหญิง ๒ ชื่อนางน้อย ๑ นางเงิน ๑ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวตีบุตรพระยาสุรินทร์(เชียงปุ่ม) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง ว่าราชการเมืองสุนรินทร์ต่อไป ครั้งนั้นอาณาเขตเมืองสุรินทร์ปรากฏว่า ทิศตะวันออกถึงห้วยทัพทัน ทิใต้ถึงเขาตก ทิศตะวันตกถึงห้วยลำสโดง ทิศเหนือถึงลำห้วยพลับพลา ข้างทิศอีสานต่อกับเมืองรัตนบุรีถึงหลักหินหัวห้วยปูน ไปหลักหินสร้างบด ไปหลักหินโสกสาวแอ ถึงหลักหินหนองหลักไปลำห้วยจริง
ในปีนั้นขุนนักอินทวงศ์ผู้รักษาตำบลโขงเจียงถึงแก่กรรม ขุนนักราชบาอินน้องได้เป็นใหญ่ รักษาในตำบลโขงเจียงต่อมา
วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๑๕๗ พระประทุมสุรราช(คำผง) เจ้าเมืองอุบลถึงแก่กรรม โปรดเกล้าฯตั้งให้ทิดพรหมบุตรพระตา เป็นพระพรหมราชวงศาเจ้าเมือง ให้ท้าวก่ำบุตรพระวอเป็นที่อุปฮาด รักษาเมืองอุบลราชธานีต่อไป
ลุจุลศักราช ๑๑๕๙ ปีมะเส็งนพศก ฝ่ายเพี้ยเมืองแพนบ้านชีโล่นเมืองสุวรรณภูมิ เห็นว่าเมืองแสนได้เป็นเจ้าเมืองชนบทก็อยากจะได้เป็นบ้าง จึงเกลี้ยกล่อมผู้คนได้อยู่ในบังคับบัญชา ๓๐๐ เศษ จึงสมัครขึ้นอยู่ในเจ้าพระยานครราชสีมา แล้วขอตั้งบ้านบึงบอนเป็นเมือง เจ้าพระยานครราชสีมาได้มีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้เมืองแพนเป็นที่พระนครบริรักษ์เจ้าเมือง ยกบ้านบึงบอนขึ้นเป็น เมืองขอนแก่น (มณฑลอุคร) ขึ้นเมืองนครราชสีมา
ลุจุลศักราช ๑๑๖๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก เพี้ยมุขเป็นบุตรพระศรีมหาเทพเขมร ซึ่งพาครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านเมืองแสนในเมืองโขงนั้น ได้ไปเกลี้ยกล่อมชนชาติข่าซึ่งอยู่ตามฟากโขงตะวันออก ได้พวกข่าบ้านแคะ บ้านจาร บ้านตาปางเข้าเป็นพวกแล้ว ก็อพยพครอบครัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ บ้านตาปาง แล้วก็เกลี้ยกล่อมได้พวกข่าชาติระแว จะราย จุมพอน ซึ่งตั้งอยู่ตามตำบลห้วยสมอขึ้นไปจนถึงน้ำสระไทย มาเข้าเป็นพวกอีกเป็นอันมาก เพี้ยมุขจึงได้ส่งขึ้ผึ้งงาช้างและของป่าต่างๆเข้ามาทูลเกล้าฯถวาย
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เพี้ยมุขเป็นพระศรีมหาเทพเจ้าเมือง ตั้งท้าวอุ่นเมืองโขงเป็นอุปฮาด ยกบ้านปางตาขึ้นเป็น เมืองแสนปาง ขึ้นกรุงเทพฯ ให้ปันเขตแขวงเมืองเชียงแตงกับเมืองจำปาศักดิ์ เป็นเขตแขวงเมืองแสนปาง คือทิศตะวันออกถึงลำน้ำเซซาน ทิศตะวันตกถึงห้วยตลุน ทิศเหยือถึงแก่งสักแอก ทิศใต้ถึงแก่งบางเหยาะ
ลุจุลศักราช ๑๑๖๑ ปีมะแมเอกศก เพี้ยศรีปาก เพี้ยเหล็กสะท้อน เพี้ยไกรสร เมนาเมืองสุวรรณภูมิ คบคิดกันเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าเป็นพวกพ้องตัวเลขได้ ๒๐๐ คนเศษ แยกออกจากเมืองสุวรรณภูมิ ไปสมัครขึ้นอยู่กับเจ้าพระยานครราชสีมา พระยานครราชสีมามีบอกมายังกรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้เพี้ยศรีปากเป็นพระเสนาสงครามเจ้าเมือง ยกบ้านหมากเฟืองบ้านหนองหัวแรดซึ่งอยู่ริมเมืองพุดไทยสงเก่า เป็น เมืองพุดไทยสง ขึ้นเมืองนครราชสีมา (มณฑลนครราชสีมา) โปรดเกล้าฯให้เมืองสุวรรณภูมิปันเขตแขวงให้ ตั้งแต่ฟากลำพังชูทางตะวันตกไปถึงลำสะแอกเป็นเขตแดนเมืองพุดไทยสง
ในระหว่างปีนี้มีตราโปรดเกล้าฯขึ้นไปเกณฑ์กำลังเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองละ ๑๐๐ รวม ๓๐๐ คน เข้ากองทัพยกไปตีเมืองพม่า ซึ่งเข้ามาตั้งอยู่ในเขตแขวงเมืองนครเชียงใหม่ แต่กองทัพไทยมิทันยกไปถึง พอได้ข่าวว่ากองทัพพม่ายกเลิกถอยไปแล้ว ก็โปรดเกล้าฯให้ยกกลับมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง(ตี) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน
ครั้นลุจุลศักราช ๑๑๖๗ ปีฉลูสัปตศก พระเจ้าวิไชยราชขัตติยวงศาผู้ครองเมืองนครจำปาศักดิ์ จึงขอตั้งบ้านนายอนเป็นเมือง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขนานนามว่า เมืองสพาด (อยู่ฝั่งโขงตะวันออก) ตั้งพระศรีอัคฮาดบุตรจารหวดเจ้าเมืองโขงเป็นเจ้าเมือง ขึ้นเมืองนครจำปาศักดิ์
ลุจุลศักราช ๑๑๖๘ ปีขาลอัฐศก ทรงพระราชดำริว่า เมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เป็นเมืองเคยได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้งมีความชอบมาก ให้ยกเมืองทั้ง ๓ นี้ขึ้นกรุงเทพฯ อย่าให้ขึ้นอยู่ในบังคับเมืองพิมายเมืองนครราชสีมาเหมือนแต่ก่อนนั้น
ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก พระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน(ตี) เจ้าเมืองสุรินทร์ถึงแก่กรรม พระสุรินทร์มีบุตรชาย ๖ ชื่อท้าวสูน ๑ ท้าวแก้ว ๑ ท้าวทอง ๑ ท้าวยง ๑ ท้าวปรัง ๑ ท้าวสอน ๑ บุตรหญิงชื่อ นางไข ๑ นางคำ ๑ นางตี ๑ นางต้ม ๑ จึงโปรดเกล้าฯตั้งให้ท้าวมีผู้เป็นหลวงวิเศษราชาน้องชายพระสุรินทร์(ตี) เป็นพระสุรินทรภักดีศรีปะทายสมัน เจ้าเมืองสุรินทร์ต่อไป
วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามต่อมา