|
ลักษณะการศึกษาของเจ้านายแต่โบราณ
 พระราชโอรสธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ลักษณะการศึกษาของเจ้านายแต่โบราณ
ตามราชประเพณีมาแต่โบราณ การศึกษาของเจ้านายซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดากวดขันยิ่งกว่าบุคคลจำพวกอื่น จำเดิมแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ในพระราชวัง พอรู้ความก็ต้องเริ่มทรงศึกษาสำหรับเจ้านาย จึงเรียนในสำนักเจ้านายพระองค์หญิง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่พระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นอาจารย์ (เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้หม่อมเจ้าและราชินิกุลที่เข้ามารับราชการฝ่ายใน เล่าเรียนอักขรสมัยจนถึงขั้นสูง ท่านเหล่านี้ได้เป็นอาจารย์เมื่อรัชกาลที่ ๔ มีบ้าง) เจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ทรงศึกษาเบื้องต้นไปจนได้ความรู้ชั้นอ่านเขียน หรือถ้าจะเรียกอย่างปัจจุบันนี้ก็คือ จนสำเร็จชั้นประถมศึกษา ก่อนพระชันษาได้ ๑๐ ปี ต่อนั้นถึงเวลาเรียนชั้นมัธยม คือ เรียนภาษาไทยชั้นสูงขึ้นไป และเริ่มเรียนภาษามคธ เรียนในสำนักอาจารย์เดิมบ้าง ไปเรียนต่ออาลักษณ์หรือราชบัณฑิตย์เป็นอาจารย์บ้าง จนพระชันษาถึงกำหนดโสกันต์ คือพระราชกุมารเมื่อพระชันษาได้ ๑๓ ปี พระราชกุมารีเมื่อพระชันษาได้ ๑๑ ปี
ตั้งแต่นี้ไปการศึกษาจึงได้แยกกัน ฝ่ายพระราชกุมารเมื่อไปทรงผนวชเป็นสามเณร เล่าเรียนศีลธรรมและพระศาสนาในสำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ตามสมควรแก่พระชันษา แล้วลาผนวชมาประทับอยู่ฝ่ายหน้า แต่นี้ไปทรงศึกษาวิชาเฉพาะอย่างตามพระอัธยาศัย คือศิลปะศาสตร์ เช่นหัดทรงม้าและใช้เครื่องศัสตราวุธก็ดี หัตถกรรมทำการช่างต่างๆ ก็ดี นิติศาสตร์ราชประเพณีและวรรณคดีก็ดี ชั้นนี้ทรงศึกษาในสำนักเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญในการนั้น ๆ ไปจนพระชันษาได้ ๒๑ ปี ออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เทียบตรงกับเข้ามหาวิทยาลัย ทรงศึกษากิจในพระศาสนาชั้นสูงขึ้นไปจนถึงสมถภาวนาและวิชาวรรณคดีถึงชั้นสูงสุด หรือวิชาอื่นอันไม่ขัดแก่สมณรูป จนสำเร็จการศึกษาลาผนวชก็เข้ารับราชการได้ตามคุณวิชา
ฝ่ายพระราชกุมารีนั้น เมื่อทรงพระเจริญขึ้นย่อมคงประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังตลอดไป ทั้งเป็นสตรีภาพไม่มีกิจซึ่งทรงศึกษาวิชาชาย การที่ทรงศึกษาต่อจากชั้นประถมขึ้นไปก็มีศีลธรรมและพระศาสนาเป็นต้น นอกจากนั้นก็อยู่ในวิชาวรรณคดี กับหัตถกรรมกระบวนช่างเป็นพื้น บางพระองค์จึงทรงศึกษาต่อขึ้นไปถึงวิชาอื่นอันพึงจะเรียนได้ด้วยการอ่านตำรับตำรา คือ วิชาเลข วิชาโหรศาสตร์และโบราณคดีเป็นต้น ตามพระอัธยาศัย ถึงกระนั้นบรรดาพระราชกุมารีย่อมได้ทรงศึกษามากทุกพระองค์ จึงได้มีเจ้านายพระองค์หญิงสามารถเป็นองอาจารย์สั่งสอนเจ้านายซึ่งทรงพระเยาว์ สืบต่อกันมาไม่ขาดทุกรัชกาล
การแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอน นิยมมาแต่ก่อนว่าเป็นองค์สำคัญอันหนึ่งของความรอบรู้วรรณคดี บรรดาพระราชกุมารี แม้ทรงศึกษาวิชาอื่นตามพระอัธยาศัย แต่ส่วนวิชาวรรณคดีนั้นทรงแต่งโคลงฉันท์กาพย์กลอนได้แทบทุกพระองค์ ผิดกันแต่สามารถยิ่งและหย่อนหรือพระหฤทัยโปรดมากและน้อยกว่ากัน แต่มีพระราชกุมารีบางพระองค์ ซึ่งทรงสามารถโดยมีพระอุปนิสัยในทางวรรณคดีถึงได้รับยกย่องของคนทั้งหลาย ว่าอาจแต่งโตลงฉันท์กาพย์กลอนดีถึงกวีที่เป็นชาย
พระราชกุมารีซึ่งทรงพระเกียรติดังนี้มีน้อยพระองค์ ในครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ปรากฏพระนามสมเด็จพระราชธิดาของพระเจ้าบรมโกศ ๒ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงแต่งบทละครเรื่องอิเหนาพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากุณฑลซึ่งทรงแต่งบทละครเรื่องดาหลัง (อิเหนาใหญ่) พระองค์ ๑ มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระองค์เจ้ามณฑาพระองค์ ๑ กับพระองค์เจ้าอุบลพระองค์ ๑ ได้ทรงแต่งหนังสือไว้หลายเรื่อง ที่ควรชมว่าเป็นอย่างดียิ่งนั้น คือ กุมารคำฉันท์ ซึ่งช่วยกันแต่งทั้ง ๒ พระองค์ยังปรากฏอยู่ ในรัชกาลที่ ๓ ก็มีพระพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี ซึ่งทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงวรเสรษฐสุดาเมื่อรัชกาลที่ ๕ พระองค์ ๑ ซึ่งนับถือกันว่าทรงสามารถแต่บทกลอนสู้กวีชายได้ ถึงได้ทรงรับเชิญให้แต่งโคลงเรื่องรามเกียรติ์ สำหรับจารึกที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ ห้องที่ ๒๐ ตอนพระรามเข้าสวนพิราม ปรากฏอยู่ ต่อนั้นมาถึงพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าฯ ซึ่งได้รับความนิยมยอมทั่วกันหมด ว่าพระองค์ทรงเชี่ยวชาญวรรณคดีและเป็นกวีแต่ดีสู้ชายได้
 สมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี
.........................................................................................................................................................
(จากคำนำหนังสือสุขุมาลนิพนธ์)
Create Date : 12 กรกฎาคม 2550 |
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 16:14:19 น. |
|
3 comments
|
Counter : 4323 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: meaw_1985 วันที่: 12 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:09:08 น. |
|
โดย: Yoawarat วันที่: 12 กรกฎาคม 2550 เวลา:17:15:27 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 13 กรกฎาคม 2550 เวลา:9:11:40 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|