|
ศึกถลาง
ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
..........................................................................................................................................................
ศึกถลาง
พองานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แลงานอุปราชาภิเษก เสร็จในเดือน ๑๐ ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็งเอกศกนั้น ได้ข่าวว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองถลางแลเมืองชุมพร
เมืองพม่าในเวลานั้น พระเจ้าปะดุงยังครองราชสมบัติอยู่ พระเจ้าปะดุงองค์นี้เป็นราชโอรสที่ ๔ ของพระเจ้าอะลองพญา ได้เสวยราชย์มาแต่ปีฉลูตรีศก จุลศักราช ๑๑๔๓ พ.ศ. ๒๓๒๔ นับเป็นรัชกาลที่ ๖ ในราชวงศ์นั้น
ตามหนังสือซึ่งแต่งในเมืองพม่ากล่าวว่า พระเจ้าปะดุงนี้เข้มแข็งในการศึกสงคราม ยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินพม่าองค์อื่นในราชวงศ์เดียวกัน ตั้งแต่ได้เสวยราชย์ เมื่อจัดการภายในเรียบร้อยแล้ว ก็ตั้งต้นทำศึกแผ่ราชอาณาจักร ตีได้เมืองยะไข่ เมืองมณีบุระ เมืองกระแซ ข้างตะวันตกสำเร็จแล้ว พระเจ้าปะดุงหมายจะขยายอาณาเขตออกมาทางตะวันออก จะเอาประเทศสยามไว้ในอำนาจด้วย
เมื่อปีมะเส็งสัปตศก พ.ศ. ๒๓๒๘ ในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ จึงเกณฑ์กองทัพใหญ่มีจำนวนพลกว่าแสน จัดเป็นกองทัพ ๖ กอง ให้ยกมาตีเมืองไทยทุกทางที่เคยมา ศึกพม่าคราวนั้นเป็นศึกใหญ่ที่สุดซึ่งได้เคยปรากฏในพงศาวดารสยาม พระเจ้าปะดุงเองยกกองทัพหลวงมาทางด่านพระเจดีย์ ๓ องค์ เข้าในแขวงเมืองกาญจนบุรี ครั้งนั้นกำลังไพร่พลไทยมีไม่ถึงครึ่งจำนวนพลพม่าที่ยกมา แต่อาศัยด้วยกระบวนกลศึกซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระราชดำริกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือ แต่งกองทัพมีจำนวนน้อยๆไปตั้งขัดตาทัพทางอื่นแต่พอกีดกันไม่ให้พม่าล่วงล้ำเข้ามาถึงกรุงเทพฯได้โดยง่าย ทรงรวบรวมกำลังจัดเป็นกองทัพใหญ่ทัพเดียวรีบยกไปตีกองทัพหลวงที่พระเจ้าปะดุงยกมาทางเมืองกาญจนบุรี
พอกองทัพพม่ายกข้ามเขาบรรทัดเข้ามา ก็ได้รบกันที่ลาดหญ้า กองทัพไทยตีกองทัพพระเจ้าปะดุงแตกยับเยินไป ได้ปืนใหญ่ไว้เกือบหมด แม้พระเจ้าปะดุงเองก็เกือบจะหนีไปไม่พ้นมือไทย มีความปรากฏในหนังสือซึ่งพวกบาทหลวงฝรั่งที่อยู่ในเมืองพม่าครั้งนั้นแต่ไว้ว่า ถ้าในคราวนั้นกองทัพไทยติดตามออกไป แทบจะตีได้เมืองอังวะ ด้วยพลเมืองพม่าเมื่อรู้ว่าพระเจ้าปะดุงเสียทัพหนีไทยไป ก็พากันตื่นทั่วไปในหัวเมืองพม่า แต่ความจริงครั้งนั้นไทยติดตามไปไม่ได้ ด้วยกำลังยังน้อยนัก แม้รบชนะทัพหลวงทางเมืองกาญจนบุรีแล้ว ยังจะต้องตีกองทัพที่ยกมาทางอื่นๆอีก ต้องทำศึกอยู่เกือบ ๒ ปีจึงตีพม่าแตกพ่ายไปหมด
พระเจ้าปะดุงปราชัยกลับไปคราวนั้นแล้ว ยังไม่สิ้นประสงค์จะตีเมืองไทย รุ่งขึ้นปีมะเมียอัฐศก พ.ศ. ๒๓๒๙ ให้ราชโอรสซึ่งเป็นพระมหาอุปราชเป็นแม่ทัพยกเข้ามาตีเมืองไทยอีก คราวนี้พม่ารวมกำลังเป็นกองทัพใหญ่ ยกเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรีทางเดียว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กับกรมพระราชวังบวรฯยกกองทัพหลวงออกไปสู้ ได้รบกันที่ท่าดินแดง ไทยตีกองทัพพม่าแตกยับเยินไปอีกครั้ง๑ ตั้งแต่นั้นพระเจ้าปะดุงก็ขยาดฝีมือไทย ไม่กล้ายกกองทัพใหญ่เข้ามาเหมือนแต่ก่อน การสงครามในระหว่างไทยกับพม่าต่อมาในรัชกาลที่ ๑ เป็นแต่รบกันด้วยไทยขยายอาณาจักรรุกเขตแดนพม่าออกไปฝ่ายเดียว
เมื่อในรัชกาลที่ ๑ นั้น พระเจ้าปะดุงให้ทาบทามที่จะเป็นไมตรีถึง ๒ ครั้ง(๑) แต่ข้างฝ่ายไทยไม่ยอมเป็นไมตรีด้วยไม่ไว้ใจพม่า แลยังเต็มอยู่ด้วยความแค้นเคืองครั้งพม่าทำแก่ไทยเมื่อตีได้กรุงเก่า จึงคุมเชิงกันตลอดมา ครั้นมาถึงปลายรัชกาลที่ ๑ เห็นจะเป็นด้วยพระเจ้าปะดุงคิดเห็นว่าไทยอ่อนกำลังลง ด้วยกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทก็สวรรคตเสียแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ถึงยังเสด็จอยู่ก็ทรงพระชราทุพพลภาพ เห็นว่าไทยไม่มีแม่ทัพที่เข้มแข็งจะไปทำการศึกได้ดังแต่ก่อน
เมื่อเดือนยี่ ปีมะโรงสัมฤทธิศก พ.ศ. ๒๓๕๑ พระเจ้าปะดุงจึงให้อะเติ่งวุ่นเป็นแม่ทัพลงมาเกณฑ์คนตามหัวเมืองพม่าแลเมืองมอญข้างฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองร่างกุ้งตลอดลงมาถึงเมืองทวายได้คนสี่หมื่น หมายว่าจะเข้ามาตีไทยลองดูอีกสังครั้ง ๑ แต่เมื่ออะเติ่งวุ่นมาตั้งจัดการเกณฑ์คนเข้ากองทัพอยู่ที่เมืองมะตมะครั้งนั้น จัดการไม่ดี ผู้คนหลบหนีคราวละพันหนึ่งบ้างสองพันบ้าง สี่ร้อยบ้าง ห้าร้อยบ้าง อะเติ่งวุ่นแต่งกำลังให้ออกเที่ยวจับตัวคนที่หลบหนีได้ทีละร้อยบ้าง ห้าสิบบ้าง ให้ลงอาณาอย่างสาหัส ไพร่พลก็ยังหลบหนี จึงข้ามฟากแม่น้ำสาละวินมาตั้งอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิง เอาเรือคอยลาดตระเวนป้องกันมิให้ผู้คนในกองทัพหลบหนีข้ามฟากไป
ฝ่ายขุนนางเมืองอมรบุระซึ่งเป็นราชธานีพม่าในเวลานั้น ได้ทราบข่าวว่าการเกณฑ์ทัพคราวนั้น ผู้คนระส่ำระสายไม่พรักพร้อมเห็นว่าจะทำศึกใหญ่กับไทยไม่สมประสงค์ จึงพากันทูลทัดทานพระเจ้าปะดุง ว่าพระองค์ได้แต่งพระราชสาสน์ไปขอเจริญทางพระราชไมตรีกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาแล้ว บัดนี้จะเกณฑ์ให้กองทัพไปตีบ้านเมืองอีก จะมิเสียพระเกียรตยศไปหรือ พระเจ้าปะดุงทรงเห็นชอบด้วย จึงให้ตราสั่งอะเติ่งวุ่นให้งดการเกณฑ์ทัพ อะเติ่งวุ่นได้ทราบความตามท้องตราแล้วมีใบบอกตอบขึ้นไปว่า ได้ลงทุนเกณฑ์เสบียงอาหารไพร่พลไว้มากแล้ว เมื่อไม่โปรดฯให้ไปตีกรุงศรีอยุธยาก็ขอไปตีเมืองชุมพร เมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่ง เกาะถลาง กวาดต้อนคอบครัวหาทรัพย์สินมาใช้ทุนรอนที่ได้ลงไป พระเจ้าปะดุงทรงพระดำริเห็นชอบด้วย อะเติ่งวุ่นจึงยกกองทัพลงมาตั้งอยู่เมืองทวาย กะเกณฑ์ให้ต่อเรือรบใหญ่น้อยเป็นอันมาก ครั้งนั้นในกองทัพอะเติ่งวุ่นเกิดอหิวาตกโรคตายวันละ ๕๐คนบ้าง ๖๐ คนบ้างเสมอทุกวัน
พอต่อเรือรบเสร็จ ถึงเดือน ๑๑ ปีมะเส็งเอกศก พ.ศ. ๒๓๕๒(๒) อะเติ่งวุ่นจึงให้แยฆองคุมพล ๓๐๐๐ มาขึ้นที่เมืองระนอง เมืองกระบุรี ยกเข้ามาตีเมืองชุมพรกอง ๑ ดุเรียงสาลกะยอยกมาตั้งอยู่ปากจั่นเมืองกระบุรี แล้วข้ามมาเมืองชุมพรเมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๒ ค่ำ
ข้างฝ่ายในกรุงเทพฯ เมื่อได้ทราบข่าวศึกพม่าจึงโปรดฯให้เกณฑ์กองทัพยกออกไปต่อสู้ข้าศึก ให้พระยาจ่าแสนยากร(บัว)คุมพล ๕๐๐๐ เดินบกยกลงไปก่อน ให้เจ้าพระยาพลเทพไปอยู่รักษาเมืองเพชรบุรี โปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิทักษ์มนตรี เสด็จไปจัดการคอยส่งกองทัพอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ถ้าการหนักแน่นมาประการใด ให้เจ้าพระยาพลเทพเป็นทัพหน้า เจ้าฟ้าฯกรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นทัพหลวง ยกหนุนไปอีกทัพหนึ่ง แล้วจะโปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นจอมพลเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปทางสถลมารคอีกทัพ ๑ รวม ๒ ทัพ เป็นคน ๒๐๐๐๐
ฝ่ายแยฆองซึ่งคุมกองทัพพม่าที่จะไปตีเมืองถลางนั้น ยกมาตีเมืองตะกั่วป่าได้เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ แล้วก็ยกลงไปตีเมืองตะกั่วทุ่งได้อีกเมือง ๑ ด้วยเมืองทั้ง ๒ นั้นผู้คนพลเมืองน้อยไม่ต้องรบ พอทัพพม่ามาถึงราษฎรก็อพยพหนีเข้าป่าไปหมด พม่าได้เมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งแล้วได้ยกเข้าไปเกาะถลาง(๓) ไปตั้งค่ายใหญ่อยู่ที่ปากพระ ฝ่ายพระยาถลางรู้ความ ก็บอกข้อราชการเข้ามา ณ กรุงเทพมหานคร แล้วเกณฑ์พลไพร่เข้าประจำรักษาค่ายอยู่พรักพร้อมกัน พม่าตั้งค่ายแล้วก็ยกไปตีค่ายบ้านดอนเมืองถลางตั้งค่ายล้อมอยู่ ๒๕ ค่าย พวกชาวเมืองถลางต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ พม่าจะหักเอามิได้ จะคิดอุบายให้ถอยทัพกลับลงเรือแล่นไปเมื่อเดือน ๑๒ ข้างแรม ฝ่ายพระยาถลางแต่งให้คนไปสืบดู ได้ความว่าพม่ายกกองทัพกลับไปหมดแล้ว สำคัญว่าพม่าเลิกทัพกลับไปเมือง ก็ปล่อยคนออกจากค่ายไปเที่ยวหากิน เพราะเวลาที่ถูกล้อมอยู่นั้นในค่ายเมืองถลางขัดเสบียงอาหาร ผู้คนอดอยากอยู่แล้ว จึงมิได้กักคนไว้ พม่าคาดคะเนเห็นว่าไทยจะเลิกการเตรียมการต่อสู้แล้ว ก็กลับยกกองทัพมาขึ้นที่ปากพระบ้าง มาขึ้นที่ท่ายามู แขวงเมืองภูเก็ตบ้าง เข้าล้อมเมืองถลางไว้อีกครั้ง ๑ เมื่อ ณวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ พระยาถลางให้เรียกคนเข้าค่ายก็ไม่ทัน คนไม่เต็มหน้าที่ดังแต่ก่อน
เมื่อหนังสือเมืองถลางบอกข่าวศึกพม่าเข้ามากรุงเทพมหานคร จึงโปรดฯให้พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ คุมกองทัพเมืองไชยาขึ้นทางปากพนม ข้ามไปช่วยเมืองถลางทาง ๑ โปรดฯให้เจ้าพระยายมราช(น้อย)เป็นแม่ทัพ พระยาท้ายน้ำเป็นแมทัพหน้า ให้มีตราออกไปถึงเจ้าพระยานครศรีธรรมราช(พัด) ให้เกณฑ์กองทัพไปสมทบเจ้าพระยายมราช ไปช่วยรักษาเมืองถลางอีกกอง ๑ เจ้าพระยายมราช พระยาทศโยธา พระยาราชประสิทธิ ได้ยกออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๑ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯก็เสด็จออกไปเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น ๑๓ ค่ำ เสด็จทางชลมารคไปถึงเมืองเพชรบุรี เจ้าพระยายมราชไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยานคร ก็ยกลงไปตั้งอยู่ที่เมืองตรัง(๔)
ครั้งนั้นกองทัพไทยมีความขัดข้องข้อสำคัญที่ไม่มีเรือจะรับกองทัพข้ามทะเลไปยังเกาะถลาง แต่ฝ่ายข้างพม่านั้นได้ตระเตรียมเรือไว้เสียช้านาน กองทัพไทยที่ยกลงไปถึงเมืองตรังต้องไปตั้งต้นต่อเรือ แต่เห็นว่าถ้าจะรอจนต่อเรือแล้วจะยกไปไม่ทันช่วยเมืองถลาง จึงรีบหาเรือที่ราษฎรใช้สอยกันในพื้นเมืองตามแต่จะได้ ให้พระยาท้ายน้ำคุมไพร่พลกอง ๑ ยกข้ามทะเลไปก่อน พระยาท้ายน้ำยกไปถึงเกาะชนัก พบพวกทัพเรือพม่าที่มาขึ้นท่ายามูนั้น ได้รบกันในทะเล กองทัพไทยยิงเรือพม่าแตกหนีกระจัดกระจายไป เพราะพม่าเอาปืนใหญ่น้อยขึ้นบกแลผ่อนผู้คนไปล้อมเมืองถลางเมืองภูเก็ต พวกพลที่เหลืออยู่สู้ไม่ได้ แต่เวลารบกันนั้น เรือพระยาท้ายน้ำมีความประมาทมิได้ปิดระวังถังดินให้ดี ละอองไฟปลิวไปตกถูกถังดินลุกขึ้นระเบิดเรือแตกออกไป พระยาท้านน้ำแลคนในเรือลำนั้นตายเสียมาก เหลืออยู่แต่ ๑๕ คน หลวงสมุทรแลหลวงกำแหงซึ่งไปในกองพระยาท้ายน้ำ เห็นกำลังไพร่พลไม่พอที่จะยกขึ้นไปรบเอาชัยชนะพม่าที่เมืองถลางได้ แม่ทัพก็ตายในที่รบ จึงเก็บศพพระยาท้ายน้ำมาขึ้นที่คลองปากลาว แขวงเมืองนครศรีธรรมราชส่วนกองทัพพระยาทศโยธาซึ่งยกไปตั้งอยู่ปากน้ำพูงา(๕) ก็ไปขัดข้องด้วยหาเรือส่งกองทัพไม่ได้อย่างเดียวกัน จึงข้ามไปช่วยรักษาเกาะถลางไม่ทัน
ฝ่ายพม่ารู้ข่าวว่ากองทัพกรุงไปช่วยเมืองถลาง จึงเร่งรัดเข้าตีค่ายเมืองภูเก็ตแตกแล้ว ก็รวมพลไปสมทบกันตีค่ายเมืองถลาง ตั้งล้อมเมืองอยู่ ๒๗ วัน เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น ๙ค่ำ เมืองถลางก็แตก ในเวลาพม่ากำลังรวบรวมผู้คนทรัพย์สมบัติอยู่ที่เมืองถลางนั้น พอกองทัพพระยาทศโยธาออกไปใกล้จะถึงที่ข้ามไปเมืองถลาง ประจวบกับกองทัพเรือเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเจ้าพระยานคร(น้อย)แต่ยังเป็นพระยาบริรักษ์ภูเบศร์ คุมไปจากเมืองตรัง แลกองทัพแขกเมืองไทรบุรีซึ่งยกไปช่วยราชการ จวนจะถึงเข้าพร้อมกัน พม่าได้ข่าวอันนี้ ในคืนวัน ๑ พม่าได้ยินเสียงคลื่นในทะเลสำคัญว่าเสียงปืนกองทัพไทย ก็รีบกวาดต้อนผู้คนแลเก็บทรัพย์สมบัติลงเรือหนีไป(๖) กองทัพไทยได้เมืองถลางคืนโดยง่าย แลจับได้พม่าที่ยังตกค้างอยู่ที่เมืองถลางหนีไม่ทันอีกเป็นอันมาก ต่อมาอีก ๔ - ๕ วัน เรือลำเลียงเสบียงอาหารของพม่าซึ่งไม่รู้ว่าพม่าหลบหนีไปจากเมืองถลางแล้ว ตามมาส่งเสบียงกัน ไทยจับไว้ได้ทั้งผู้คนแลเสบียงอาหารเป็นเรือ ๔ ลำ แต่เมือถลางครั้งนั้นยับเยินมาก เพราะถูกพม่าเผาแลจับผู้คนเก็บทรัพย์สมบัติไปเสียก็มาก กรมการแลราษฎรที่หลบหนีพ้นมือพม่าได้ ก็หนีข้ามาอาศัยอยู่ที่ฝั่ง ไทยตีได้แต่ตัวเมืองคืน
ส่วนกองทัพพม่าที่มาตีเมืองชุมพรยังตั้งอยู่ที่เมืองชุมพร สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงไปถึงทัน จึงมีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนยากร(บัว) ยกเข้าตีกองทัพพม่าที่เมืองชุมพร พม่าต้านทานไม่ได้ก็แตกหนี กองทัพไทยติดตามจับได้พม่าที่เมืองชุมพรและเมืองตะกั่วป่าเป็นอันมาก ครั้นสืบได้ความว่ากองทัพพม่าที่ไปตีเกาะถลางได้เมืองถลาง เมืองภูเก็ต แลเลิกทัพกลับไปหมดแล้ว กรมพระราชวังบวรฯจึงมีรับสั่งให้พระยาจ่าแสนยากรอยู่รักษาราชการ ณ เมืองชุมพร แล้วให้รวบรวมกรมการราษฎรเมืองถลางซึ่งหลบหนีพม่าเข้ามาตั้งอยู่ที่ฝั่ง ไปตั้งที่กราภูงา(๗) ขึ้นเป็นเมืองเพื่อจะให้กลับไปตั้งอยู่ ณ เมืองถลางแลเมืองภูเก็ตตามเดิมต่อไป(๘) ที่กราภูงาจึงได้เป็นเมืองพังงามาแต่ครั้งนั้น เมื่อกรมพระราชวังบวรฯได้ทรงจัดวางการทั้งปวงเสร็จแล้ว จึงเสด็จยกทัพหลวงกลับคืนพระนครด้วยเรือพระที่นั่งทางชลมารค คนที่เหลือเรือก็ให้เดินบกเข้ามา.
..........................................................................................................................................................
(๑) อยู่ในเรื่องเจรจาความเมือง ในหนังสือชุด "ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๑" ได้รวบรวมไว้ทุกฉบับ ในรัชกาลที่ ๑ เจรจากันถึง ๕ ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ เป็นอุบายศึกพระเจ้าปะดุง ในขณะที่ทำศึกกับเมืองยะไข่และเมืองทางด้านตะวันตก ได้ขอเป็นไมตรีกับไทยเพื่อไม่ให้ตีตลบหลังทางตะวันออกเข้าไป พอปีรุ่งขึ้นก็กลับมาตีเมืองไทยใน "ศึกลาดหญ้า" ฉบับที่ ๒ เจรจาเมื่อกองทัพไทยยกเข้าตีทวายเป็นสำนวนชวนให้เลิกรบ ฉบับที่ ๓ เป็นกลอุบายเข้ามาสอดแนม เป็นเหตุให้พระยากาญจนบุรีถูกถอดเพราะหลงเชื่อ ฉบับที่ ๔ ว่าพระเจ้าปะดุงทรงเบื่อหน่ายการสงครามขอเป็นไมตรีด้วย และขอให้ไทยคืนหัวเมืองลานนา ฉบับที่ ๕ ความว่า พระเจ้าเชียงใหม่(กาวิละ)แต่งให้พระพิมพิสารถือหนังสือออกไปถวายบรรณาการขอเป็นเมืองขึ้นพม่า ทั้ง ๕ ฉบับไทยไม่เชื่อทั้งหมด และไม่ยอมเป็นไมตรีด้วย
(๒) สิ้นรัชกาลที่ ๑ ในปีนั้นเอง เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จ.ศ. ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒
(๓) เมืองถลางในเวลานั้นตั้งอยู่ที่เมืองเก่า อันอยู่ใกล้ชายทะเลด้านตะวันตกของเกาะข้างเหนือ เมืองภูเก็ตเป็นเมืองขึ้นถลางอยู่ข้างด้านใต้ของเกาะอย่างทุกวันนี้
(๔) ในหนังสือเก่าเขียนว่า ตรังภุรา
(๕) คือปากน้ำเมืองพังงาทุกวันนี้
(๖) เรื่อพม่าหนีไปจากเมืองถลาง ด้วยสำคัญเสียงคลื่นเป็นเสียงปืนนี้ มีในจดหมายเหตุหนังสือพระราชวิจารณ์และกระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือจดหมายหลวงอุดม แลปรากฏในหนังสืออื่นๆอีกหลายเรื่อง เชื่อได้ว่าเป็นความจริง
(๗) คำว่า "กรา" ตรงนี้เห็จจะมาแต่คำว่า "กวาลา" ภาษามลายู แปลว่า ปากน้ำ
(๘) เมืองถลางครั้งนั้น เข้าใจว่าเป็นเมืองร้างอยู่หลายปี จึงกลับไปตั้งขึ้นอีก ไม่ได้ตั้งที่เมืองถลางเดิมที่อยู่ริมเกาะข้างหน้านอก ด้วยข้าศึกจะจู่ถึงง่ายนัก เข้ามาตั้งเมืองใหม่ชิดชายเกาะข้างหน้าใน ประสงค์ให้ไปมาติดต่อกับหัวเมืองทางฝั่งได้ง่าย เมืองถลางยังมีที่เมืองเก่าแลเมืองใหม่อยู่จนทุกวันนี้
..........................................................................................................................................................
พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชำระ
Create Date : 27 มีนาคม 2550 |
Last Update : 27 มีนาคม 2550 15:19:37 น. |
|
0 comments
|
Counter : 9914 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
กัมม์ |
|
|
|
|