กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
อธิบายเรื่องวรรณยุกต์




สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระบาดำรงราชานุภาพ



....................................................................................................................................................



อธิบายเรื่องวรรณยุกต์


อธิบายเรื่องวรรณยุกต์ เดิมนึกว่าจะไม่ยืดยาว แต่เมื่อคิดค้นหาหลักฐานไป เห็นความข้อซึ่งมิได้เคยวินิจฉัยให้ตลอดมาแต่ก่อนหลายข้อ จึงจะต้องกล่าวให้พิสดารสักหน่อย

ตามตำราสอนภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบันนี้ กำหนดเสียงพูดภาษาไทยสูงต่ำผิดกันเป็น ๕ เสียง จะสมมติเรียกเป็นชื่อของเสียงว่า

เสียงที่ ๑ เช่นว่า ออ
เสียงที่ ๒ เช่นว่า อ่อ
เสียงที่ ๓ เช่นว่า อ้อ
เสียงที่ ๔ เช่นว่า อ๊อ
เสียงที่ ๕ เช่นว่า อ๋อ

ตัวหนังสือไทยกำหนดพยัญชนะเป็น ๓ พวก พวก ๑ คือตัว ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห ๑๑ ตัวนี้เรียกว่าอักษรสูง อ่านโดยลำพังเป็นเสียงที่ ๕ อีกพวก ๑ คือตัว ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ ๙ ตัวนี้เรียกว่าอักษรกลาง อ่านโดยลำพังเป็นเสียงที่ ๑ อีกพวก ๑ คือตัว ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ ๒๔ ตัวนี้เรียกว่าอักษรต่ำ อ่านโดยลำพังเป็นเสียงที่ ๑ เหมือนกันกับอักษรกลาง

วิธีเขียนหนังสือซึ่งจะอ่านให้เป็นเสียงสูงต่ำอย่างไร มีเครื่องหมายเรียกว่าวรรณยุกต์ สำหรับเขียนประกอบให้รู้ว่าจะต้องอ่านเป็นเสียงไหน วิธีใช้วรรณยุกต์ผันเสียงอักษรสูง อักษรกลาง และอักษรต่ำผิดกัน

เสียงที่ ๑ เป็นเสียงปรกติของอักษากลางและอักษรต่ำ แต่อักษรสูงไม่มีวิธีผันเป็นเสียงที่ ๑ ต้องใช้อักษรต่ำแทน
เสียงที่ ๒ ใช้ไม้เอกผันอักษรสูงเช่นคำว่า ไข่ และอักษรกลางเช่นคำว่า ไก่ แต่อักษรต่ำนั้น โดยลำพังผันด้วยไม้เอกอ่านเป็นเสียงที่ ๓ เช่นคำว่า ไม่ ต้องเอาอักษรสูงหรืออักษรกลางนำ ผันด้วยไม้เอกจึงอ่านเป็นเสียงที่ ๒ เช่นคำว่า ใหม่ ไขว่ และคำว่า ไปล่ เป็นต้น
เสียงที่ ๓ ใช้ไม้โทผันอักษรสูง เช่นคำว่า ไข้ ผันอักษรกลาง เช่นคำว่า ไต้ ถ้าอักษรต่ำใช้ไม้เอกผันเป็นเสียงที่ ๓ เช่นคำว่า ไพ่
เสียงที่ ๔ ใช้ไม้ตรีผันอักษรกลางเป็นเสียงที่ ๔ เช่นคำว่า เก๊า อักษรต่ำใช้ไม้โทผันเป็นเสียงที่ ๔ เช่นคำว่า เค้า แต่อักษรสูงไม่มีวิธีผันเป็นเสียงที่ ๔ ต้องใช้อักษรต่ำแทน
เสียงที่ ๕ ใช้ไม้จัตวา แต่ว่าใช้ผันอักษรกลางพวกเดียว เช่นคำว่า ก๋า อักษรต่ำต้องเอาอักษรนำจึงอ่านเป็นเสียงที่ ๕ เช่นคำว่า หมา

ที่ว่ามานี้เป็นตำราของไทยเราที่ใช้กันในประเทศสยาม แต่ในอักขรวิธีของไทยพวกอื่นๆ ทั้งไทยใหญ่และไทยน้อยตลอดจนของพวกขอม และเขมรหามีเครื่องหมายให้อ่านเป็นเสียงสูงต่ำไม่ จะว่าเป็นเพราะคำพูดเสียงสูงต่ำแต่ภาษาไทยสยาม (อย่างฝรั่งมักเข้าใจ) ก็ไม่ถูก ด้วยธรรมดามนุษย์พูดย่อมมีเสียงสูงต่ำ ไม่ว่าชาติไหน ภาษาไหน แม้ชนชาติเดียวกันภาษาเดียวกัน แต่ภูมิลำเนาอยู่ต่างเขตแคว้น คำพูดคำเดียวก็อาจจะพูดเป็นเสียงต่างกัน จะยกตัวอย่างที่พึงเห็นได้ในประเทศของเรานี้ สัตว์พาหนะอย่าง ๑ ชาวกรุงเทพฯเรียกกันว่า "ช้าง" ชาวนครราชสีมาเรียกว่า "ช่าง" ชาวนครศรีธรรมราชาเรียงว่า "ฉ่าง" แต่เมื่อเขียนหนังสือก็เขียน ช้าง อย่างเดียวกัน อันเสียงแปร่งนี้แม้แม้ในภาษาฝรั่งก็เป็น ข้าพเจ้าเคยสังเกตเมื่ออยู่ในประเทศอังกฤษ พวกอังกฤษเรียกเงินปลีกว่า shilling ว่า ชิลิ่ง ครั้นเมื่อขึ้นไปถึงสก๊อตแลนด์ ได้ยินพวกสก๊อตเรียงว่า ชิหลิง ดังนี้

จึงเห็นว่าเสียงสูงต่ำมีด้วยกันหมดทุกภาษา เป็นแต่ภาษาอื่นและไทยพวกอื่นใช้เสียงตามเคยปาก ฝ่ายไทยสยามมีเครื่องหมายบอกเสียงในอักขรวิธี ผิดกันเท่านี้ ต่างว่าเลิกวรรณยุกต์เสียมิให้มีในตำราหนังสือไทยต่อไป และเขียนชื่อสัตว์พาหนะที่กล่าวมาว่า "ชาง" ชาวกรุงเทพฯคงเรียกว่า "ช้าง" ชาวนครราชสีมาก็คงเรียก "ช่าง" ชาวนครศรีธรรมราชก็คงเรียกว่า "ฉ่าง" อยู่นั่นเอง เพราะเคยปากมาแต่เด็กแต่เล็ก แต่จะว่าวรรณยุกต์ไม่มีประโยชน์อันใด หรือจะเลิดเสียนั้นหาควรไม่ เพราะประโยชน์มีถึง ๒ สถาน คือหมายให้รู้ว่าควรอ่านเป็นเสียงอย่างไรสถาน ๑ เป็นเครื่องหมายให้รู้ความของคำนั้น จะยกตัวอย่างดังเขียนแต่เพียง "มา" ดังนี้ เมื่ออ่านพบจะต้องอาศัยสังเกตคำประกอบ จึงจะรู้ความว่าเป็นกิริยาที่เข้าใกล้หรือเป็นสัตว์สำหรับขับขี่ หรือเป็นสัตว์ที่เห่าหอน ถ้ามีวรรณยุกต์อาจรู้ความได้ทันที สะดวกกว่าไม่มีวรรณยุกต์สถาน ๑ วรรณยุกต์จึงมีประโยชน์และควรคงไว้ในอักขรวิธีของเราด้วยประการฉะนี้

ที่นี้จะว่าด้วยเรื่องตำนานของวรรณยุกต์ต่อไป เพราะวรรณยุกต์มีแต่ในอักขรวิธีของไทยสยาม ใครเป็นผู้คิดขึ้นและมีมาแต่เมื่อใด อธิบายตอนนี้ ส่วนเรื่องประวัติของอักษรไทย (ทุกจำพวก) ศาสตราจารย์ยอช เซเดส์ เมื่อยังรับราชการเป็นตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ในหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้พยายามค้นหาได้ความรู้มาแต่งหนังวสือเรื่อง "ตำนานอักษรไทย" ขึ้นไว้ในภาษาโดยพิสดาร ราชบัณฑิตยสภาได้พิมพ์แล้ว ๒ ครั้ง (ข้าพเจ้าขอแนะนำแก่บรรดาผู้เอาใจใส่ในหนังสือไทย ว่าหนังสือเรื่องนั้นน่าอ่านนัก อ่านแล้วได้ความรู้ดีด้วย)

ตามตำนานปรากฏว่าชนชาติไทยแทบทุกจำพวก ต่างมีแบบตัวอักษรสำหรับของพวกตนมาแล้วช้านาน แต่ว่าตัวอักษรของไทยแต่เดิมเหมาะเพียงสำหรับใช้เขียนคำในภาษาของตนเท่านั้น ครั้นไทยได้ปกครองประเทศสยามได้มาบังคับบัญชาและมีกิจการเกี่ยวเนื่องกับพวกเขมร มอญ ลาว(ละว้า) ทั้งในประเพณีและศาสตราคมตลอดจนภาษาที่ต้องใช้ในการปกครองประเทศสยาม พระเจ้ารามคำแหงมหาราชพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๓ ในราชวงศ์พระร่วงทรงพระราชดำริ ว่าอักขรวิธีของพวกไทยที่ใช้กันมาแต่ก่อนไม่พอจะเขียนภาษาสยาม จึงทรงประดิษฐ์หนังสือไทย อันเป็นต้นแบบหนังสือไทยสยามที่เราใช้กันมาทุกวันนี้ ขึ้นเมือง พ.ศ. ๑๘๒๖ วรรยุกต์เริ่มมีขึ้นในแบบหนังสือของพระเจ้ารามคำแหงฯ เป็นปฐม แต่ว่ามีไม้เอกกับไม้โท แต่ไม้โทเขียนเป็นรูปกากะบาท ดังนี้ + (เหตุที่เรียกไม้เอกและไม้โทนั้น เห็นจะเป็นเพราะเขียนขีดเดียวกับสองขีด มิใช่เป็นเครื่องหมายเสียงที่ ๑ และที่ ๒ เพราะอ่านได้หลายเสียงทั้งเอกและโท) วิธีเอาตัว ห นำอักษรต่ำก็ประดิษฐ์ขึ้นในครั้งนั้นเหมือนกัน จึงอาจกล่าวได้ว่าวิธีที่ใช้วรรณยุกต์เป็นเครื่องหมายเสียงในหนังสือไทย เป็นของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงพระราชดำริขึ้น เมื่อมีแบบหนังสือไทยของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชเกิดขึ้นแล้ว ในไม่ช้าไทยพวกอื่นเห็นประโยชน์ ก็รับใช้แพร่หลายไปในอาณาเขตลานนา (มณฑลพายัพ) และลานช้าง (หลวงพระบาง) แต่พวกไทยลานนาและลานช้างหาใช้วรรณยุกต์ไม่ คงใช้วรรณยุกต์แต่ไทยพวกกรุงสุโขทัยและหัวเมืองข้างฝ่ายใต้ลงมา ตัววรรณยุกต์นั้นในปลายสมัยกรุงสุโขทัยเปลี่ยนรูปกากะบาท + เป็นรูปไม้โทอย่างที่เราใช้กันทุกวันนี้ (พิเคราะห์ดูว่าจะเกิดแต่เขียนกากะบาท + หวัด จะลากเส้นทีเดียวให้สำเร็จ จึงเลยเปลี่ยนรูปไม้โทไปอย่างนั้น)

ไม้ตรีกับไม้จัตวา (เอากากะบาทไม้โทเดิมมาใช้) เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยยังหามีไม่ แม้ต่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ยังไม่มี ข้อนี้รู้ได้ด้วยมในหนังสือจินดามณี ตำราสอนหนังสือไทยที่พระโหราแต่ในรัชกาลนั้น มีโคลงบอกวรรณยุกต์ไว้บทหนึ่งว่า

สมุหเสมียนเรียนรอบรู้ วิสัญช์
พินเอกพินโททัณ ฑฆาฏคู้
ฝนทองอีกฟองมัน นฤคหิต นั้นนา
แปดสิ่งนี้ใครรู้ จึ่งให้เป็นเสมียน

ถ้าไม้ตรีไม้จัตวามีอยู่ในสมัยเมื่อแต่งโคลงบทนี้ ก็คงบอกไว้ในโคลงด้วย แต่โคลงบทนี้อาจจะมีผู้แต่งเพิ่มเข้าในหนังสือจินดามณีเมืองภายหลัง ถ้าเช่นนั้นก็ยิ่งแสดงว่าไม้ตรีไม้จัตวามีช้ามาอีก ได้ให้ตรวจดูหนังสือลายมือเขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยาอันมีอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครหลายเรื่อง ก็ไม่เห็นใช้ไม้ตรีไม้จัตวา มาพบหนังสือที่มีไม้จัตวาในบทละครเขียนครั้งกรุงธนบุรี และทั่มีทั้งไม้ตรีและไม้จัตวาในหนังสือกฎหมายฉบับหลวงที่ประทับตรา ๓ ดวง เขียนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์เป็นเก่าที่สุด นี่ว่าด้วยถือเอาลายมือเขียนเป็นหลักพิศูจน์

แต่ยังมีหลักอย่างอื่นปรากฏอยู่ในกฏหมาย "ศักดินาพลเรือน" (ฉบับพิมพ์) ตอนทำเนียบพวกนายสำเภาในกรมท่า มีชื่อเรียกตามภาษาจีน และผันด้วยไม้ตรีและไม้จัตวาหลายชื่อ เช่น จุ้นจู๊ นายสำเภา และ บั๋นจู๊ พนักงานซ่อมแปลงสำเภาเป็นต้น ส่อให้เห็นว่าไม้ตรีไม้จัตวาเกิดขึ้นแต่ก่อนสมัยกรุงธนบุรี น่าจะมีเมื่อตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา คิดขึ้นสำหรับเขียนคำภาษาจีนเป็นมูลเหตุ

วินิจฉัยในเรื่องวรรณยุกต์ยังมีความควรกล่าวอีกข้อหนึ่ง เมื่อได้แสดงแล้วว่าพระเจ้ารามคำแหงมหาราชเป็นผู้ทรงพระราชดำริแบบหนังสือไทยสยามที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ คือผลของพระราชดำริเป็นการสำเร็จประโยชน์ใหญ่หลวง แม้จะยืนยันว่าสำเร็จประโยชน์ยิ่งกว่าที่พระเจ้ารามคำแหงฯเองได้ทรงคาดหมายก็ว่าได้ ด้วยไม่มีหนังสือไทยพวกอื่นที่ใช้แพร่หลายเหมือนหนังสือ "ไทยสยาม" และเป็นหนังสือไทยแบบเดียวที่สามารถทำพิมพ์ดีด (Type-writer) ได้

แต่ว่าเฉพาะวรรณยุกต์เครื่องหมายเสียงสูงต่ำซึ่งพระเจ้ารามคำแหงฯทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้น จะว่าสำเร็จประโยชน์บริบูรณ์ทีเดียวยังไม่ได้ เพราะไทยพวกอื่นแม้ที่รับแบบหนังสือไทยสยามไปใช้ก็ไม่ใช้วรรณยุกต์เครื่องหมายเสียง ไทยสยามเองแม้รับใช้ก็ยังอ่านไม่ตรงเสียงกันได้หมดจนทุกวันนี้ เช่นชาวนครราชสีมาและชาวนครศรีธรรมราชเป็นต้น ข้าพเจ้าได้เคยถามพวกชาวนครศรีธรรมราชว่า ที่เขาเขียนหนังสือใช้เอกโทนั้นเอาอะไรเป็นที่สังเกต เขาตอบว่าอาศัยแต่ด้วยจำไว้ว่าคำนั้นใช้ไม้อย่างนั้นเท่านั้น มิได้ใช้เสียงเป็นที่สังเกต พวกชาวนครราชสีมาก็คงเป็นอย่างเดียวกัน

แต่ทุกวันนี้มีโรงเรียนหลวงตั้งแพร่หลายออกไปทุกที โรงเรียนไปถึงไหนสำเนียงพูดอย่างในกรุงเทพฯก็แพร่หลายไปถึงนั่น ราษฎรรุ่นใหม่จะใช้สำเนียงพูดอย่างกรุงเทพฯมากขึ้นทุกที สำเนียงเช่นเคยพูดกันตามท้องที่คงจะเสื่อมไปโดยลำดับ อีกสัก ๕๐ ปีก็คงใช้วรรณยุกต์ด้วยสังเกตเสียงเหมือนกันหมด ถ้าเช่นนั้นก็จะเป็นเวลาเกือบถึง ๗๐๐ ปี นับตั้งแต่พระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์วรรณยุกต์เครื่องหมายเสียงนั้น ไทยจึงสามารถใช้วรรณยุกต์ได้สมบูรณ์ทั่วทั้งประเทศสยาม


.....................................................................................................................................................................

ชุมนุมพระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่อง อธิบายเรื่องวรรณยุกต์



Create Date : 23 มีนาคม 2550
Last Update : 23 มีนาคม 2550 15:20:42 น. 2 comments
Counter : 4048 Pageviews.  
 
 
 
 
โอ้วว ความรู้ล้นทะลักขอบคุณครับ
 
 

โดย: CDCR265 วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:20:33:10 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ CDCR265

ยังมีเรื่องน่าสนใจอีกหลายเรื่องครับ เช่น
เรื่องโสกันต์ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ สิครับ
เป็นธรรมนียมราชตระกูล พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔

เรื่องขนานนามพระปฏิมากร
จะได้ทราบว่ามี พระบาทสมเด็จพระพุทธรังสฤษดิ์ ในกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

เรื่องเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ กับเจ้าจอมมารดาทับทิม
มีเรื่องแฟชั่นในพระบรมมหาราชวังฝ่ายใน

เรื่องเจ้าพระยายมราช มีเรื่องแก้ไขปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้

และอื่นๆ อีกมากมายครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 28 มีนาคม 2550 เวลา:14:44:41 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com