|
พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนเสวยราชย์

...............................................................................................................................................
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ ซึ่งปรากฏพระนามโดยพระเกียรติยศต่อมาว่า สมเด็จพระเทพศิรินทรา บรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พระองค์เสด็จสมภพเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๑๐ แรม ๓ ค่ำ ปีฉลูเบญจศก(๑) จุลศักราช ๑๒๑๕ พ.ศ. ๒๓๙๖ เทียบปฏิทินทางสุริยคติ ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน คริสตศักราช ๑๘๕๓ พระองค์มีพระกนิษฐาร่วมสมเด็จพระบรมราชินี ๓ พระองค์ คือ

 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล ประสูติเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๘ เมษายน) ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๑๒๑๗ พ.ศ. ๒๓๙๘ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ แรม ๑๒ ค่ำ ปีกุนเบญจศก จุลศักราช ๑๒๒๕ พ.ศ. ๒๔๐๖ ในมารัชกาลที่ ๕ เฉลิมพระนามพระอัฐิเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงวิสุทธิกระษัตรีย์ พระองค์หนึ่ง

๒. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี ประสูติเมื่อ ณ วันอังคาร เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๔ มกราคม) ปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช ๑๒๑๘ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในรัชกาลที่ ๕ เป็น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวง แล้วเลื่อนเป็น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อวันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ (ตรงกับวันที่ ๑๑ เมษายน) ปีชวดโทศก จุลศักราช ๑๒๖๒ พ.ศ. ๒๔๔๓ พระองค์หนึ่ง

๓. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ประสูติเมื่อ ณ วันพุธ เดือนยี่ แรม ๔ ค่ำ(ตรงกับวันที่ ๑๓ มกราคม) ปีมะแมเอกศก จุลศักราช ๑๒๒๑ พ.ศ. ๒๔๐๒ ในรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงภาณุพันธูวงศ์วรเดช แล้วเลื่อนเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ เลื่อนพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบัน(๒) ทรงสถาปนาพระเกียรติยศเป็น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เสด็จทิวงคตในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๑ พระองค์หนึ่ง (๓)

พระตำหนักเดิมอันเป็นมงคลสถานที่พระบรมราชสมภพ และที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ฝ่ายใน อยู่ตรงที่สร้างพระที่นั่งมูลสถานบรมอาสน์ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ และท้องพระโรงกลางข้างหลังพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททุกวันนี้ พระตำหนักนี้ เดิมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้นถวายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ครั้นสมเด็จพระศรีสุลาลัยสวรรคตแล้ว จึงพระราชทานแด่พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงลม่อม(๔) อันเป็นพระขนิษฐาภคินีร่วมเจ้าจอมมารดากับกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์
 พระองค์เจ้าหญิงลม่อม กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
เจ้าจอมมารดาเป็นพระญาติวงศ์ของสมเด็จพระศรีสุลาลัย ได้ทรงบำรุงเลี้ยงพระเจ้าลูกเธอทั้ง ๒ พระองค์นั้นมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ครั้นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์(๕)สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้รับบรรดาพระโอรสธิดา ซึ่งล้วนแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ทั้งนั้น เข้าไปทรงทำนุบำรุงเลี้ยงไว้ในพระบรมมหาราชวัง อยู่ที่พระตำหนักเดิม อันเรียกกันในเวลานั้นว่า พระตำหนักตึก กับพระองค์เจ้าลม่อมโดยมาก
แต่พระบรมราชชนนีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ นั้น พระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าบุตรี(๖) ทรงรับทำนุบำรุงอีกชั้นหนึ่ง ด้วยพระองค์เจ้าบุตรีเป็นพระราชธิดาพระองค์น้อย ได้รับหน้าที่ราชูปัฏฐากในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงได้เสด็จขึ้นไปช่วยรับหน้าที่ทำการอุปัฏฐากสนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมอัยยิกาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้รับพระราชทานนามว่า "รำเพย" เพราะถวายอยู่งานพัดถูกพระราชอัธยาศัย พระองค์ทรงปฏิบัติสมเด็จพระอัยกาธิราชมาจนสิ้นรัชกาลที่ ๓ มาในรัชกาลที่ ๔ เมื่อได้เป็นพระนางเธอ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีรับสั่งให้เสด็จมาประทับที่พระตำหนักตึก และต่อมาโปรด ให้สร้างพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ เป็นที่เสด็จไปประทับในบริเวณพระตำหนักนั้น(๗)องค์ ๑
 พระองค์เจ้าบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชปิโยรสของสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแต่ทรงพระเยาว์ โปรด ให้เสด็จอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ ถึงแม้เวลาเสด็จประพาสหัวเมือง จะเป็นทางใกล้หรือไกลก็โปรดให้ไปโดยเสด็จทุกครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ เวลานั้นพระชันษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ๕ ปี สมเด็จพระบรมชนกนาถพาไปทรงรถ เกิดเหตุรถพระที่นั่งล่มถึงต้องบาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเล่าเรื่องในพระราชหัตถเลขาถึงทูตไทยที่ไปประเทศอังกฤษ ดังนี้
เมื่อ ณ วันอังคารขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ (ปีมะโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๓๙๙) เวลาเย็นมีเหตุบังเกิดขึ้นเป็นที่ตกใจมากในพระบรมมหาราชวังนี้ เวลาบ่ายวันนั้นข้าออกไปดูนาที่ท้องสนามหลวง ตัวข้าขี่ม้าออกไป แต่ลูกข้า ๔ คน ยิ่งเยาวลักษณ์ ทักษิณชา โสมาวดี ชายจุฬาลงกรณ์ ไปบนรถที่ข้าเคยขี่(๘) ครั้นไปถึงที่ท้องสนามหลวง ลงดูนาดูสวนที่นั้นแล้ว เมื่อกลับมาตัวข้าไปขึ้นรถกับลูก ๔ คนด้วยกัน ขับรถกลับเข้ามาแล้วหาได้เข้าประตูวิเศษไชยศรีไม่ เลยลงไปดูการที่โรงทานนอก(๙) และดูการที่ป้อมอินทรังสรรค์จะก่อแท่นเป็นที่ยิงปืน ไปหยุดอยู่ที่โน่นนานจนเย็นจวนค่ำ

 พระองค์เจ้าทักษิณชา - พระองค์เจ้าโสมาวดี
ข้าขับรถกลับมา ลูกข้า ๔ คนนั่งบนที่นั่งเต็มหมดจนไม่มีที่นั่ง ตัวข้าเอาข้างหลังยันเบาะ เท้าทั้งสองยันพนักหน้ารถ นั่งลอยมาเพราะข้าวของเล็กๆ น้อยๆ ลูก ๔ คนหาประทุกมาเต็มชานหน้ารถ ไม่มีที่นั่งที่ยืน และทางที่ไปนั้นมีแต่จะชักรถเลี้ยวข้างขวาอย่างเดียว ไม่มีทางที่จะชักรถเลี้ยวข้างซ้าย เพราะฉะนั้นสายถือข้างซ้ายชำรุดอยู่ด้วยด้ายที่เย็บหนังแถบสายถือ ที่คล้องเหนี่ยวประวินที่ปากบังเหียนม้าข้างซ้ายนั้น เปื่อยผุมานักแล้ว หามีใครสังเกตไม่ ตัวข้าก็ไม่รู้เลย
เมื่อรถตรงเข้ามาตามถนนประตูวิเศษไชยศรี ม้าก็เร็วเข้ามาตามตรง ข้าก็ถือสายถือรวบเข้าทั้งสองสายมือเดียวหน่วงไว้เบาๆ ครั้นกระบวนมาถึงที่เลี้ยวจะไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พวกทหารแห่เลี้ยวเข้าไปข้างนั้น แล้วยืนอยู่ตามเคย ครั้นรถมาถึงมุมทิมสงฆ์ก็เป่าแตรตีกลองตามเคย ม้าก็กระโชกวิ่งหนักเข้า ข้าเห็นกระโชกหนักกลัวลูกนั่งบนรถจะคะมำลง จึงรั้งสายถือพร้อมกันทั้งสองสายรวบอยู่ในมือเดียวกันนั้นหนักเข้ามา ม้าก็เดินเลี่ยงเฉไปข้างซ้ายไม่รอช้าดังประสงค์ เพราะสายถือหนักไปข้างซ้ายข้างเดียว ข้างขวาขาดเสียแล้ว ข้าหาเห็นไม่ ด้วยหนังยังเกี่ยวอยู่
ข้าเห็นม้าเดินเชือนไปผิดทางข้างซ้าย จึงแก้บังเหียนข้างขวาชักหนักมาสายเดียว ปลายสายแถบก็หลุดออกมา ข้าเห็นแล้วก็ร้องให้คนช่วย ก็ไม่มีใครช่วยทัน ข้างรถก็กระทบกับแท่นปากกลางตันชัยพฤกษ์ และรั้วล้อมกงข้างซ้ายก็ปีนขึ้นไปบนแท่นก่อด้วยอิฐ หลังคาประทุนรถกระทบปลายรั้วล้มเทมาข้างซ้าย ข้าก็สิ้นที่พึ่งเพราะสายถือขาดเสียแล้ว ไม่รู้ที่จะทำอย่างไร ตัวข้าก็นั่งลอยนัก แก้ตัวไม่ทัน พลัดตกหกตะแคงลงมากับทั้งลูก ๔ คน ตัวข้ากลัวรถจะทับตาย เอามือขวาดันไว้ รถจึงทับได้ที่ตะคาก(๑๐)ข้างขวา แต่แขนซ้ายนั้นตัวทับลงไปยกขึ้นไม่ได้ รถทับข้างขวากดลงไปกลับอิฐเสือกไป แขนซ้ายและตะคากก็ถลอกช้ำชอกเป็นแผลเจ็บหลายแห่ง แต่ตะคากข้างขวาช้ำบวมห้อโลหิต กับชายโครงขวานั้น โสมาวดีพลัดตกทับลงจึงเจ็บช้ำยอกเสียดไป
แต่ลูก ๔ คนที่ตกลงมาด้วยกันนั้น ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่เล็กน้อย ลางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ด ห้อยยืนในเวลานั้นไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแผลเล็กน้อย โสมาวดีก็มีแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง แต่ทักษิณชาป่วยมาก จะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยิน โลหิตตกมากทีเดียว ขณะนั้นลูกก็ร้องไห้วุ่นทั้ง ๔ คน แต่เดชะบุญคุณเทวดาช่วย ม้าก็หยุดไม่วิ่งไป คนวิ่งตามช่วยยกรถที่ล่มขึ้นได้ ข้าก็ลุกวิ่งมาได้ในขณะนั้น ลูก ๔ คนก็มีคนมาอุ้มขึ้นได้
แต่ทักษิณชานั้นอาการน่ากลัวมาก โลหิตไหลไม่หยุดสักชั่วทุ่มหนึ่ง ต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตก เป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้นให้ชักให้กระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น แต่ยิ่งเยาวลักษณ์นั้นเอาน้ำมันนวดก็หายแล้ว โสมาวดีอาเจียนออกมาในเวลากลางคืนเป็นแต่เสมหะ ไม่มีโลหิต ให้กินยาก็หายเป็นปกติแล้ว ชายจุฬาลงกรณ์เป็นแต่หัวแตกสามแห่งแผลเล็กๆ แต่ตัวข้านั้นป่วยบ้าง ที่ตะคากขวาบวมช้ำห้อโลหิตแห่งหนึ่ง ชายโครงขวายอกเสียดช้ำไปแห่งหนึ่ง แต่แขนซ้ายชายสะบักซ้ายข้างลงดิน เป็นแผลช้ำบ้าง ถลอกบ้างหลายแห่ง แต่มีแผลใหญ่สองแผล ช้ำมาก เดี๋ยวนี้เป็นบุพโพขาวข้นไหล แต่ค่อยยังชั่วแล้วไม่เป็นอะไร
ในเหตุอันนี้ข้ากลัวคนจะตื่นไปต่างๆ ก็ไม่ได้บอกป่วย ออกมาตามเวลาเสมอทุกวัน และให้มีงายทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระสงฆ์ หล่อพระพุทธรูป มีละคร ข้าก็ฟังสวดมนต์ ไปเลี้ยงพระ และดูละครตามปกติ ไม่ได้บอกป่วย แผลหลายแผลก็ใส่เสื้อซ่อนเสีย หน้าตาและหัวดีอยู่แล้ว และเดินได้อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นอะไรดอก

พอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเจริญขึ้น ก็ได้รับหน้าที่เป็นราชูปฐาก และทรงใช้สอยการงานต่างพระเนตรพระกรรณมาจนตลอดรัชกาลที่ ๔ ส่วนการศึกษาวิชาทั้งปวงนั้น เมื่อทรงพระเจริญพระชันษาสมควรแก่การศึกษาอักขรสมัย ได้ทรงเล่าเรียนในสำนักพระเจ้าราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบุตรี อันเป็นขัติยราชนารี ทรงรอบรู้ทั้งอักขรสมัยและโบราณราชประเพณีเป็นปฐมาจารีย์ และทรงศึกษาวิชาการต่างๆซึ่งนับถือกันในสมัยนั้นว่า สมควรแก่พระราชกุมารทุกอย่าง เป็นต้นว่า ภาษาบาลี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้หลวงราชาภิรมย์ (เปี่ยม เมื่อบวชเป็นพระครูวินัยธร ฐานานุกรมในพระองค์)(๑๑) กรมราชบัณฑิตย์เป็นพระอาจารย์ เสด็จออกไปทรงศึกษาที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นเวลา
การยิงปืนไฟทรงศึกษาในสำนักพระยาอภัยศรเพลิง(ศรี) วิชามวยปล้ำ กระบี่กระบอง ทรงศึกษาต่อหลวงมลโยธานุโยค (รุ่ง) วิชาอัศวกรรม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงครอบพระราชทาน แล้วโปรดเกล้า ให้ทรงศึกษาในสำนักหม่อมเจ้าสิงหนาถ(๑๒)ในกรมพระพิทักษ์เทเวศร์ต่อมา คชกรรม ทรงศึกษา (เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว) ในสำนักสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระบำราบปรปักษ์ แต่ส่วนวิชารัฐประศาสตร์ ราชประเพณีและโบราณคดีทั้งปวงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาทฝึกสอนเองตลอดมา
 สมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์
ถึงปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ พ.ศ. ๒๔๐๔ สมเด็จพระชนนีทรงประชวร สวรรคตเมื่อ ณ วันจันทร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลานั้นสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจริญพระชนมายุได้ ๙ พรรษา แต่นั้นพระองค์เจ้าลม่อมก็ทรงอุปการะทำนุบำรุงแทนสมเด็จพระชนนีสืบมา ตลอดจนถึงเวลาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกไปประทับข้างฝ่ายหน้า พระองค์เสด็จออกไปอยู่ด้วย

ในปีระกาตรีศกนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจริญพระชันษาถึงกำหนดรับพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามตามจารีตเจ้าฟ้าในโบราณราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๔แรม ๕ ค่ำ มีกระบวนแห่อย่างโสกันต์กระบวนใหญ่ ตั้งแต่พระราชมณเฑียรข้างในออกประตูราชสำราญ เดินกระบวนตามถนนริมกำแพงพระบรมมหาราชวัง มาจนประตูวิเศษไชยศรี เลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรี ไปยังพระมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์สวดพระปริต(๑๓) กระบวนแห่ครั้งนั้นปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร ซึ่งเจ้าพระยาทิพากรวงศ์แต่งไว้ว่า บรรดาข้าผู้ซึ่งเป็นคู่เคียง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกสรรข้าราชการผู้ใหญ่ในตระกูลซึ่งบรรพบุรุษได้เคยเป็นคู่เคียง ครั้งพระองค์ทรงรับพระสุพรรณบัฏเมื่อในรัชกาลที่ ๒ โดยมาก คือ

คู่ที่ ๑ ๑. เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค ซึ่งภายหลังพระราชทานนามเปลี่ยนเป็น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ) ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง เมื่อยังเป็นที่พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก ๒. เจ้าพระยายมราช (นุช บุณยรัตพันธุ์ ซึ่งภายหลังได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาภูธราภัย ที่สมุหนายก) เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย) ซึ่งเคยเป็นคู่เคียง เมื่อยังเป็นเจ้าพระยายมราช
 เจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์)
คู่ที่ ๒ ๓. เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) ๔. เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์)
คู่ที่ ๓ ๕. พระยาราชภักดี (ช้าง เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ๖. พระยามหาอำมาตย์ (บุญศรี ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาธรรมา แล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี)
คู่ที่ ๔ ๗. พระอมรินทรฦๅชัย (กุ้ง วงศาโรจน์) ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี บุตรเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง) ซึ่งเคยเป็นคู่เคียง ๘. พระราชพงศานุรักษ์ (กุญ ณ บางช้าง) ผู้ว่าราชการเมืองสมุทรสงคาม บุตรพระยาอุไทยธรรม (กลาง) ซึ่งเคยเป็นคู่เคียง
คู่ที่ ๕ ๙. พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค ภายหลังได้เป็นเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์) บุตรสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง เมื่อเป็นที่พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ๑๐. พระยาประชาชีพ บุตรเจ้าพระยาพลเทพ ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง
 พระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค)
คู่ที่ ๗ ๑๑. พระยาโบราณบุรานุรักษ์ (ผึ้ง ภมรสูตร) ราชินิกุล ๑๒. พระยาวิชิตสรไกร (กล่อม ณ นคร) บุตรเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ซึ่งได้เคยเป็นคู่เคียง
ครั้น ณ วันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ เวลาเช้า แห่เสด็จมายังพระมหาปราสาท ครั้นได้พระฤกษ์เสด็จสู่ที่สรง ทรงเครื่องแล้วเสด็จประทับบัลลังก์ในที่มณฑลพิธี จึงพระศรีสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณ์อ่านประกาศพระบรมราชโอการ มีคำประกาศดังนี้
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๐๔ พรรษา ลุศักราช ๑๒๒๓ ปัตยุบันกาลกุกุฏสังวัจฉรผคุณมาศ กาลปักษ์ ฉัฐยดิถี ศุกรวาร บริเฉทกาลกำหนด
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ เมื่อเวลาประสูติใหม่ ท่านเสนาบดีทั้งปวงได้พร้อมกันกราบทูล ขอยกย่องให้เป็นพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เพื่อรักษาแบบอย่างบุราณราชประเพณีไว้ ไม่ให้เสื่อมสูญ(๑๔) แต่ยังหาได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนามไม่ ครั้งนี้จึงมีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้เลื่อนเฉลิมพระนามพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่นั้น ให้เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร และให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม มีนามกรมว่า กรมหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ ได้ทรงศักดินา ๔๐๐๐๐ ตามพระราชกำหนดอย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า ขออาราธนาเทพยดา ผู้มีมเหศวรศักดิ์อันประเสริฐ ซึ่งสถิตดำรงอยู่ในภูมิพฤกษอากาศ กาญจนรัตนพิมานทั่วทุกแหล่งหล้าเป็นอาทิ คือเทพยอันทรงนามสยามเทวาธิราช ซึ่งเป็นอธิบดีได้บริรักษ์บำรุงกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ และเทพยเจ้าผู้อภิบาลรักษานพปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตนราชราไชสวริย และเทพยอันรักษารัตนบัลลังก์พระที่นั่งบรมอาสน์ใหญ่น้อย ในพระราชนิเวศน์บรมมหาสถานทุกตำบล ทั้งเทพยเจ้าอื่นๆ ผู้มีทิพยานุภาพมหิทธิฤทธิ์ สิงสถิตในภูมิลำเนาแนวพฤกษบรรพตากาศพิมาน ทุกสถานทั่วพระราชอาณาจักร บรรดาซึ่งมีไมตรีจิตได้ผดุงบริรักษ์พระบรมราชวงศ์นี้สืบมาจนกาลบัดนี้ จงได้ทำนุบำรุงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ ให้ทรงเจริญพระทฤฆชนมายุ พรรณ สุข พล ปฏิภาณ สิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเกียรติยศอิสริยศักดิเดชานุภาพทุกประการ ทำราชการสนองพระเดชพระคุณ โดยสมควรแก่ความเป็นในพระราชตระกูลอันสูงศักดิ์ในบรมราชวงศ์นี้ ขอให้พระเกียรติคุณอดุลยยศปรากฏไปสิ้นกาลนานเทอญ.
อนึ่งเมื่อทรงพระกรุณาโปรดให้มีอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมพระองค์นึ่งแล้ว ดังนี้ ให้ทรงตั้งเจ้ากรม เป็นหมื่นพิฆเณศวรสุรสังกาศ ถือศักดินา ๘๐๐ ให้ทรงตั้งปลัดกรม เป็นหมื่นวรราชบุตรารักษ์ ถือศักดินา ๖๐๐ ให้ทรงตั้งสมุหบัญชี เป็นหมื่นอนุรักษาพลสังขยา ถือศักดินา ๓๐๐ ให้ผู้ที่ได้รับตำแหน่ง ๓ นี้ ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณโดยผาสุกสวัสดิ์ทุกประการเทอญ
Create Date : 03 ตุลาคม 2550 |
Last Update : 4 ตุลาคม 2550 15:55:49 น. |
|
14 comments
|
Counter : 17321 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: กัมม์ วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:17:06:03 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:17:07:26 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:17:18:38 น. |
|
โดย: null (รักดี ) วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:18:48:48 น. |
|
โดย: กระจ้อน วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:18:52:06 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 4 ตุลาคม 2550 เวลา:8:54:53 น. |
|
โดย: ลีลากวนกวน (ลีลากวนกวน ) วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:1:37:37 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:8:51:06 น. |
|
โดย: ลุงนายช่าง วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:14:17:06 น. |
|
โดย: ลีลากวนกวน วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:20:13:44 น. |
|
โดย: ลีลากวนกวน (ลีลากวนกวน ) วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:20:22:53 น. |
|
โดย: Darksingha วันที่: 8 ตุลาคม 2550 เวลา:11:48:09 น. |
|
โดย: ตัวหนอน (sawkitty ) วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:6:27:55 น. |
|
โดย: กัมม์ วันที่: 12 ตุลาคม 2550 เวลา:15:21:30 น. |
|
|
|
|
กัมม์ |
 |
|
 |
|
เมื่ออาลักษณ์อ่านประกาศแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานอภิเษก ด้วยน้ำพระมหาสังข์ และทรงเจิมแล้ว จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏจารึกพระนาม และพระราชทานเครื่องยศทองคำลงยาราชาวดีอย่างเจ้าฟ้าต่างกรม อันเป็นพระอัครราชวโรรส คือพานพระศรี พระเต้าน้ำ พระสุพรรณศรี พระมาลากับเครื่องทรงอย่างเทศ นอกจากนั้น มีของพระขวัญซึ่งพระราชทานเป็นสิ่งพิเศษครั้งนั้น คือพระสังวาลพระนพองค์น้อย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเคยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จเป็นจอมพลไปเตรียมสู้พม่าที่เมืองกาญจนบุรี ๑ พระธำมรงค์นพเก้าเครื่องต้น ๑ พระแสงกระบี่ทรงเดิมเครื่องทองลงยาราชาวดีศีรษะนาคส้นปรุ เรียกกันว่ากระบี่อิเหนา ๑ พระแสงกั้นหยันฝักทองลงยาราชาวดี ๑ พระวอประเวศวังของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเมื่อยังเป็นกรม ๑
แล้วเสด็จลงมาแต่งพระองค์ที่พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ทรงฉลองพระองค์กับพระมาลาสำหรับยศซึ่งได้พระราชทาน และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดพระราชทาน พระมหาสังวาลนพรัตนราชวราภรณ์เครื่องต้นเฉียงซ้าย ทรงพระสังวาลเพชรของเดิมเฉียงขวา เหน็บกระบี่กั้นหยันซึ่งได้พระราชทาน แห่กลับคืนเข้าพระราชวังชั้นใน ครั้นเวลาบ่ายแต่งพระองค์ทรงเครื่องต้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมงกุฎดอกไม้ไหว และพระแสงตรีเพชรให้ทรงเหน็บ(๑๕)แห่มาสมโภช และพระราชทานของขวัญที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอีกเวลา ๑ จึงเป็นเสร็จพิธี
การพระราชพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามเช่นนี้ ถ้าทำเต็มตำราทำพร้อมกับพิธีลงสรง ได้ทำเต็มตำเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริว่า การพิธีใหญ่สำหรับราชประเพณีที่เคยทำสืบมาแต่โบราณ ตำรับตำราสูญหายไปเสียเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาเป็นอันมาก เมื่อในรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้สืบหาตำรับตำราเดิม และสอบถามผู้รู้แบบแผนการพระราชพิธีครั้งกรุงเก่า ทรงตั้งแบบแผนราชประเพณี ตลอดจนพระราชกำหนดกฎหมายให้กลับมีขึ้นอย่างเดิม ส่วนการพิธีใหญ่ได้ทำให้ปรากฏเป็นแบบแล้วแต่ในรัชกาลที่ ๑ บางอย่าง เป็นต้นว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้ทำเต็มตำราเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ พิธีอุปราชภิเษก ได้ทำเต็มตำราเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๔๙ ครั้งพระองค์ทรงรับอุปราชาภิเษก พิธีโสกันต์เจ้าฟ้าได้ทำเต็มตำราเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๔๑ ครั้งโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี
แต่พิธีลงสรงเฉลิมพระนามเจ้าฟ้า เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ยังหาได้ทำไม่ มีพระราชประสงค์จะให้ปรากฏแบบอย่างไว้สำหรับพระนคร จึงโปรดให้ทำพิธีลงสรงเฉลิมพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๕ ได้ทำเต็มตำรามาครั้งเดียวเท่านั้น ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระชนมายุครบกำหนดรับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม ก็ไม่ได้ทำพระราชทานพระสุพรรณบัฏอีก ตลอดทั้งรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ เว้นแต่เมื่อตั้งกรม ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่าจะเป็นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ลงสรงในรัชกาลที่ ๒ ครั้งนี้จึงมิได้ทำพิธีลงสรงเนื่องในพิธีพระราชทานพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม
ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าลูกยาเธอชายหญิงอีกหลายพระองค์ พระชันษาสมควรจะทรงเล่าเรียนความรู้ชั้นสูงขึ้นไปได้ ทรงพระราชดำริเห็นแน่ในพระราชหฤทัยว่า ความรู้ภาษาฝรั่งเป็นวิชาซึ่งจำเป็นสำหรับราชการต่อไปภายหน้า แต่ยังมิใคร่มีใครเอาใจใส่ให้ลูกหลานเล่าเรียน จึงมีรับสั่งให้สืบหาครูฝรั่งที่เมื่อสิงคโปร์ ได้หญิงอังกฤษชาวแคนาดาคนหนึ่งชื่อนางลิโอโนเวนซ์ เป็นครูสอนลูกผู้ดีอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ รับจะเข้ามาสอนภาษาอังกฤษแก่พระเจ้าลูกเธอ จึงโปรดให้ว่าจ้าง เข้ามาถึงกรุงเทพ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๐๕ โปรดให้นางลิโอโนเวนซ์เข้ามาสอนที่พระที่นั่งทรงธรรม ในพระบรมมหาราชวัง(๑๖) สอนเฉพาะเวลาก่อนเจ้านายเสด็จขึ้นเฝ้า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียนภาษาอังกฤษในสำนักนางลิโอโนเวนซ์อยู่จนทรงผนวชเป็นสามเณร(๑๗) ครั้นเมื่อเสด็จออกไปอยู่ฝ่ายหน้าแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้หมอจันดเลอ อเมริกันมาเป็นครู ทรงเล่าเรียนภาษาอังกฤษต่อมาจนสิ้นรัชกาล(๑๘)
ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ พระชันษาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึงกำหนดโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้จัดการพระราชพิธี มีเขาไกรลาสและกระบวนแห่เต็มตามตำราอย่างโสกันต์เจ้าฟ้า พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งต้น ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แห่เสด็จมาสดับพระพุทธมนต์ ๓ วัน ถึงวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๓ ค่ำ เวลาเช้า โสกันต์แล้ว โปรดให้ทรงพระมาลาเพชรน้อยเครื่องต้น และพระราชยานไปยังที่สรง ณ สระอโนดาตที่เขาไกรลาส เสร็จสรงทรงเครื่องแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก จูงพระกรขึ้นเขาไกรลาส สมมตตามพิธีพราหมณ์ว่าขึ้นไปเฝ้าพระอิศวร แต่รัชกาลก่อนเคยโปรดให้พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ทรงทำพิธีเป็นพระอิศวร แต่ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสมมตเป็นพระอิศวรเอง ครั้นโสกันต์แล้ว เวลาบ่ายแห่ไปสมโภชที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทอีกสามวัน ในการแห่สมโภชนั้นโปรดให้ทรงพระที่นั่งพุดตาน และมีกลองชนะทองเงิน แห่เหมือนกระบวนเสด็จพยุหยาตรา
การโสกันต์ใหญ่มีเขาไกรลาสเคยมีมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งที่ ๑ ทำเมื่อโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีในรัชกาลที่ ๑ ครั้งที่ ๒ เมื่อโสกันต์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ทำเมื่อโสกันต์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๒ ถึงรัชกาลที่ ๓ ไม่ได้ทำเลย ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ ๔
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์
ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชวรวัณโรคเรื้อรังมาหลายปี พระอาการทรุดหนักลงเมื่อจวนงานโสกันต์คราวนี้ แต่แรกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะรองานพระราชพิธีโสกันต์ แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทูลขอให้คงงานไว้ ด้วยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลานเธอซึ่งพระองค์ทรงพระเมตตามาก(๑๙) กราบทูลว่าถ้างดงานโสกันต์ไว้ พระองค์จะมิได้มีโอกาสสมโภช
ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้คงมีงานโสกันต์ตามกำหนดฤกษ์ เมื่อถึงวันงาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้ลงมากราบทูลว่า จะเสด็จลงมาจรดพระไกรกรรประทานเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบอยู่ว่า พระอาการเพียบคงเสด็จมาไม่ได้ แต่ก็ต้องดำรัสสั่งให้ทอดที่ราชอาสน์เตรียมไว้ ด้วยเกรงพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พอเสร็จงานถึงวันลอยพระเกศา เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต เป็นเหตุสำคัญในเรื่องพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ ด้วยก่อนนั้นมาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จอยู่ในฐานเป็นรัชทายาท ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวคงเสด็จขึ้นครองแผ่นดินโดยไม่มีปัญหา แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงเตรียมการไว้อย่างนั้น โดยไม่ทรงประมาท
การที่โปรดให้สร้างพระราชวังนันทอุทยาน ก็ด้วยทรงพระราชปรารภว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองราชสมบัติ ถ้าพระราชโอรสธิดาของพระองค์คงประทับอยู่ที่ในพระบรมมหาราชวังบางทีจะกีดขวาง จึงทรงกะแผนผังพระราชวังนันทอุทยาน ให้สร้างตึกเป็นพระที่นั่งหมู่หนึ่งต่างหาก หมายจะพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระกนิษฐาด้วยกันต่อไป และพื้นที่ต่อออกไปในเขตนันทอุทยานโปรดให้สร้างตำหนักข้างในอีกหลายหมู่ หมู่หนึ่งหมายจะพระราชทานให้เป็นที่ประทับของพระเจ้าลูกเธอในเจ้าจอมมารดาคนหนึ่ง เตรียมไว้ดังนี้
การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เปลี่ยนฐานะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาอยู่ในที่รัชทายาท ด้วยเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ เพราะฉะนั้นบรรดาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริเตรียมไว้แต่เดิม ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นหมด เมื่อพิเคราะห์ดูตามทางพระราชปฏิบัติของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งปรากฏสมัยต่อมา ดูเหมือนครั้งนั้นความที่ทรงยินดีอันย่อมบังเกิดโดยธรรมดา ด้วยสมเด็จพระปิยราชโอรสจะเป็นรัชทายาท จะไล่เลี่ยกับพระปริวิตกที่เกิดขึ้น
เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเยาว์ และส่วนพระองค์เองพระชันษากว่า ๖๐ ปี เข้าเขตทรงพระชราแล้ว เห็นจะทรงพระราชดำริเป็นยุติมาแต่แรก ว่าถ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับรัชทายาทได้โดยมั่นคง จึงจะทรงมอบเวนพระราชสมบัติพระราชทาน ถ้าหากจะไม่ทรงสามารถปกครองแผ่นดินได้มั่นคงไซร้ อย่าเพ่อให้ทรงครองราชสมบัติจะดีกว่า แต่ในเวลานั้นยังไม่จำเป็นจะต้องประกาศสถาปนาตำแหน่งรัชทายาท จึงเป็นแต่ทรงเตรียมการต่อมาโดยลำดับ
ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๐๙ เป็นกำหนดซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงผนวชเป็นสามเณรตามราชประเพณี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้จัดการตามแบบเจ้าฟ้าทรงผนวช เหมือนอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรในรัชกาลที่ ๒ คือ เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น๖ ค่ำ ทำพระราชพิธีสมโภชที่พระที่นั่งอนันตสมาคม และตรงที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับหน้าบายศรีนั้น ให้ทำเพดานระบายดอกไม้สดมีเสาตั้ง ๔ เสา ตั้งเครื่องยศ ๒ ข้าง และให้เชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ไปประดิษฐานบนพระที่นั่งเศวตฉัตรเป็นส่วนพิเศษด้วย
รุ่งขึ้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ โปรดให้แต่งพระองค์ทรงเครื่องต้นอย่างขัตติยราชกุมาร ทรงพระชฎาห้ายอด ทรงพระยานมาศจากพระที่นั่งอนันตสมาคมออกประตูเทวาพิทักษ์แห่ไปทางถนนเจริญกรุง ถนนเฟื่องนคร เลี้ยวกลับทางถนนบำรุงเมือง เข้าประตูสวัสดิโสภา ประทับพลับพลาเปลื้องเครื่องหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ผลัดเครื่องทรงและทรงโปรยทานแล้ว เสด็จเข้าในพระอุโบสถ ทรงพระเสลี่ยงกงผูกหาม ๔ คน เข้าไปจนกำแพงแก้ว แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจูงพระกรเข้าในพระอุโบสถ ทรงสักการบูชาพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตแล้ว
ทรงบรรพชาตามพระวินัยบัญญัติต่อคณะสงฆ์ ๓๐ รูป มีพระเจ้าบวรวงศ์เธอ กรมหมื่นรังษีสุริยพันธุ์(๒๐)เป็นพระอุปัชฌาย์ ทั้งส่วนทรงรับพระสมณาคม และรับศีล และเริ่มรับนิสัยเป็นครั้งแรกที่จะมีในการบรรพชาสามเณร อนึ่งโปรดให้ยกเพดานระบายดอกไม้สดเมื่อสมโภชนั้นมาตั้งถวายพระสงฆ์ในที่ทรงบรรพชาด้วย ครั้นทรงผนวชแล้ว โปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอแต่งพระองค์อย่างราชกุมาร ทรงรำกระบี่ กระบอง ง้าว ดาบสองมือ เป็นคู่ๆ กันเป็นการสมโภชที่หน้าพระอุโบสถ เจ้านายที่ทรงกระบี่กระบองครั้งนั้น คือ
คู่ที่ ๑ รำกระบี่
เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี (สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระจักรพรรดิพงศ์) - พระองค์เจ้ากมลาสนเลอสรรค์ (กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร)
คู่ที่ ๒ รำกระบอง
พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล (กรมหลวงพิชิตปรีชากร) - พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ (กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์)
คู่ที่ ๓ รำง้าว
พระองค์เจ้าศุขสวัสดี (กรมหลวงอดิศรอุดมเดช)
พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ (กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม)
คู่ที่ ๔ รำดาบสองมือ
พระองค์อุณากรรณอนันตนรไชย
พระองค์เจ้าชุมพลรัชสมโภช (กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์)
กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์
แล้วเสด็จประทับอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีศาสดารามคืนหนึ่ง ด้วยเย็นวันนั้นมีการฉลองพระสงฆ์ ๓๐ รูปที่นั่งหัตถบาสสวดมนต์ที่ในพระอุโบสถ
รุ่งขึ้น ณ วันศุกร์ เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ เลี้ยงพระแล้ว จึงทรงรถพระที่นั่งกับสมเด็จพระชนกนาถ มีกระบวนแห่ไปส่งเสด็จ ณ วัดบวรนิเวศ โปรดให้เสด็จประทับอยู่ที่พระปั้นหยา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประทับอยู่เมื่อครั้งทรงผนวช ทรงรับโอวาทและเล่าเรียนพระธรรมวินัยในสำนักกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ต่อมา และโปรดให้หลวงราชาภิรมย์ (ชู ซึ่งภายหลังได้เป็นพระมหาราชครูมหิธร) เป็นอาจารย์ หัดทำนองเทศน์มหาชาติกัณฑ์สักบรรพ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่โดยเฉพาะ
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ครั้น ณ เดือน ๑๑ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทำกระจาดใหญ่บูชากัณฑ์เทศน์ เหมือนอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรถวายเทศน์กัณมัทรี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เชิญเสด็จไปเทศน์ที่วังและทรงทำกระจาดใหญ่ถวายบูชากัณฑ์เทศน์(๒๑) กระจาดที่กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาสทำครั้งนั้น ตั้งที่สนามไชยตรงหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ทำเป็นรูปสำเภาโตเท่าลำสำเภาจริงๆ จัดของไทยธรรมอย่างสินค้ำของต่างๆ ซึ่งเอาออกวางขายบนปากเรือสำเภาเมื่อเข้ามาจากเมืองจีน ส่วนผลไม้และเครื่องอาหารแต่งประดับทำเป็นสัตว์น้ำอยู่ตามลูกคลื่นรอบสำเภา กระจาดใหญ่ครั้งนี้เป็นการครึกครื้นใหญ่โตมาก มีเทศน์มหาชาติที่พระที่นั่งทรงธรรม เมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๔ ค่ำ
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส
เมื่อออกพรรษาแล้วเสด็จไปบูชาพระปฐมเจดีย์ และครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสเล่าความหลังให้ทรงทราบ ว่าเมื่อครั้งพระองค์ยังทรงผนวชอยู่นั้น ทรงเลื่อมใสในพระปฐมเจดีย์ว่าเป็นพระมหาเจดียสถานเก่าก่อนพระเจดีย์ทั้งหลายในประเทศสยามนี้ ได้ถวายพระพรทูลแนะนำแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขอให้ทรงปฏิสังขรณ์ แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ไม่ได้เสด็จไปบูชา) มีพระราชดำรัสว่า พระปฐมเจดีย์อยู่ในป่าเปลี่ยว ทรงปฏิสังขรณ์ก็จะไม่มีใครรักษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงตั้งปฏิญาณแต่เมื่อครั้งนั้น ว่าถ้าหากพระองค์ทรงมีกำลังสามารถจะทำได้เมื่อใด จะทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ให้จงได้
ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงทรงปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้ แต่การยังไม่สำเร็จ ทรงพระวิตกว่า ถ้าหากพระองค์สวรรคตเสียก่อน การก็จะเริดร้างค้างไป พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพต่อพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมชนกนาถ รับจะสนองพระเดชพระคุณในเรื่องปฏิสังขรณ์พระปฐมเจดีย์ จึงโปรดให้เสด็จออกไปปฏิญาณพระองค์ที่พระปฐมเจดีย์ เหมือนอย่างพระองค์เองได้เคยปฏิญาณมาแต่หนหลัง(๒๒)
ในปีขาลนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือถึงเมืองพิษณุโลก โปรดให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงผนวชเป็นสามเณร โดยเสด็จไปในเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชด้วย เสด็จออกจากกรุงเทพ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ ในสมัยนั้นลำแม่น้ำทางเมืองเหนือยังกว้าง เมื่อขาขึ้นเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดชจักรข้าง ๒ ปล่อง เป็นเรือไฟขนาดยาว ๓๐ วา ยังเข้าปากน้ำเกยไชยขึ้นทางลำน้ำเมืองพิจิตรเก่าได้ถึงเมืองพิษณุโลก แต่ขากลับน้ำลดต้องล่องทางคลองเรียง ที่เป็นลำน้ำเมืองพิจิตรทุกวันนี้
และเมื่อขาเสด็จขึ้นไปนั้น เสด็จประทับทอดพระเนตรวัดโพธิประทับช้างในลำน้ำเมืองพิจิตรเก่า ซึ่งเป็นวัดของพระเจ้าเสือทรงสร้างไว้แต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กล่าวกันว่าเพราะเสด็จสมภพ ณ ที่นั่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นประพาสวัดโพธิประทับช้าง อาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นสามเณรทรงผ้ากาสาวพัสตร์ จึงมีรับสั่งให้ทรงพระราชยานต่างพระองค์ และโปรดให้ข้าราชการแห่นำตามเสด็จเหมือนกระบวนเสด็จพระราชดำเนิน ส่วนพระองค์เองนั้นทรงพระราชดำเนินตามไปโดยลำพังทั้งขาขึ้นขาลง
และเมื่อสมโภชพระพุทธชินราช ณ เมืองพิษณุโลกนั้น โปรดให้ทรงกำกับทหารมหาดเล็ก ซึ่งเป็นพนักงานการมหรสพด้วย(๒๓) และครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชศรัทธาสร้างวิหารพระเหลือ (หลังนอก) ที่ในวัดพระศรีมหาธาตุ และโปรดให้ทำศิลาจารึกติดไว้ที่วิหารนั้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองครั้งนั้น เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพ เมื่อ ณ วันอาทิตย์ เดือน ๑๑ แรม ๑๑ ค่ำ โปรดให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ต่อมา เพื่อประโยชน์ในการทรงศึกษา จนถึงเดือนยี่ ปีขาลนั้นจึงได้ลาผนวช รวมเวลาทรงผนวชอยู่ ๖ เดือน
ก็ในสมัยเมื่อก่อนทรงผนวชเป็นสามเณรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับอยู่ที่ "พระตำหนักตึก" ข้างในพระบรมมหาราชวัง ถึงเวลาเสด็จออกมาประพาสข้างหน้า ย่อมประทับที่โรงช้างเผือกซึ่งสร้างขึ้นไว้ครั้งรัชกาลที่ ๒ โรงสุดทางตะวันออก(๒๔) เป็นที่ให้ข้าในกรมและผู้อื่นได้เฝ้าแหน ครั้นเมื่อลาผนวชจากสามเณร ถึงเวลาจะต้องเสด็จออกมาประทับอยู่ข้างหน้าตามประเพณีราชกุมารที่ทรงเจริญวัย
ก็ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์ขึ้นทางด้านตะวันออกพระบรมมหาราชวัง และเสด็จประทับอยู่ที่นั้นเป็นปกติ มีพระราชประสงค์จะให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ใกล้พระองค์ เพื่อจะได้ทรงฝึกหัดราชการได้สะดวก จึงโปรดให้แก้ไขคลังเก่าซึ่งสร้างครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่ในสวนกุหลาบ แปลงเป็นพระตำหนักที่ประทับ(๒๕) แล้วโปรดให้ซื้อบ้านเจ้าพระยาพลเทพ (หลง) เตรียมไว้สำหรับสร้างวังสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระอนุชา ๒ พระองค์ด้วย แต่หาทันได้สร้างวังไม่ เป็นแต่โปรดให้ข้าในกรมไปปลูกเรือนรักษาอยู่(๒๖) จนตลอดรัชกาลที่ ๔
ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาผนวชมาประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฝึกหัดราชการกวดขันขึ้น คือนอกจากที่เสด็จไปเฝ้าและตามเสด็จโดยปกติ เวลากลางคืนถ้าทรงพระราชวินิจฉัยข้อราชการ หรือทรงประพฤติพระราชกรณีย์โดยลำพัง ก็มีรับสั่งให้หาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าไปปฏิบัติประจำพระองค์ ให้ทรงฟังพระบรมราโชวาทและพระบรมราชาธิบายในราชการและราชประเพณีต่างๆ เสมอ เฝ้าอยู่จนราวเที่ยงคืนบ้าง บางทีก็ดึกกว่านั้น จึงได้เสด็จกลับออกมายังพระตำหนัก นอกจากนั้นมักโปรดให้เป็นผู้เชิญกระแสรับสั่งแจ้งพระราชประสงค์ หรือทรงหารือข้อราชการไปยังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เวลาเช้าต้องทรงเสด็จข้ามไปบ้านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เนืองๆ