กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





รถแก้วจักรพรรดิ
จากซ้ายไปขวา พระยาบุษรถ (ฟ้อน ศิลปี), ท้าววรจันทร์, เจ้าคุณพระประยูรวงศ์, ท่านผู้หญิงตลับ,
เจ้าจอมมารดาชุ่ม, เจ้าจอมมารดาโหมด, พระราชชายาเจ้าดารารัศมี, เจ้าจอมเลียม
ถ่ายเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2448



....................................................................................................................................................


เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
ภาพโดยความเอื้อเฟื้อจาก Tante-Marz



(๑)

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์(แพ) ปจ.,มวม., รัตนาภรณ์ มปร. ชั้นที่ ๕,จปร.ชั้นที่ ๒,วปร.ชั้นที่ ๑,ปปร.ชั้นที่ ๒ เป็นเจ้าคุณจอมมารดาร หัวหน้าพระสนมทั้งปวงในรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาเกียรติยศขึ้นเป็นเจ้าคณะพิเศษ มีสมญาว่า "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" ตัวท่านเกิดในวงศ์ราชินิกุลสาย "บุนนาค" อันเจ้าคุณพระอัยยิกานวล กนิตถภคินีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี กับเจ้าพระยาอัครมหาเสนา(บุนนาค) ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นบุตรพระยาจ่าแสนยากรครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นต้นสกุล สืบสายลงมาทางสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์(ดิส) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์(ช่วง) และเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์(วอน)โดยลำดับ ล้วนเกิดด้วยภรรยาหลวงถึงเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นชั้นที่ ๕ ท่านเกิดในรัชกาลที่ ๔ เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ปีขาล พ.ศ.๒๓๙๗ ดวงชะตาของท่านเป็นดังนี้




เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เกิดนั้น เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ บิดาของท่านยังเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นมหาดเล็ก มีภรรยาหลวง ๒ คนเป็นพี่น้องกันและต่อมาภายหลังได้มีบรรดาศักดิ์เป็นท่านผู้หญิงทั้ง ๒ คน

ท่านผู้หญิงอ่วมผู้เป็นพี่มีบุตร ๓ คน

บุตรคนที่ ๑ ชื่อ ชาย ได้เป็นพระยาประภากรวงศ์ วรวุฒิภักดี จางวางมหาดเล็กและบังคับการกรมทหารเรือเมื่อรัชกาลที่ ๕
บุตรคนที่ ๒ ชื่อ โต ในรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ นายพลโทสมุหราชองครักษ์
บุตรคนที่ ๓ ชื่อเล็ก ได้เป็นพระยาราชานุวงศื รับราชการในกระทรวงพระคลังฯเมื่อรัชกาลที่ ๖

ท่านผู้หญิงอิ่มผู้เป็นน้องมีบุตร ๔ คน ธิดา ๕ คน รวม ๙ คน ลำดับกันคือ

ที่ ๑ ธิดา ชื่อ เล็ก เป็นภรรยาพระยาศรีสรราชภักดี(หนูเล็ก)บุตรเจ้าพระยามหาศิริธรรม(เมือง ณ นคร)และคุณเผือก ธิดาสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศ์เป็นมารดา จึงตั้งนามสกุลว่า"โกมารกุล ณ นคร"
ที่ ๒ ธิดา ชื่อ ฉาง
ที่ ๓ ธิดา ชื่อ แพ คือ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์
ที่ ๔ บุตร ชื่อ เหมา ได้เป็นหลวงจักรยานานุพิจารณ์
ที่ ๕ บุตร ชื่อ หมิว ได้เป็นจ่ายวดยศสถิตย์
ที่ ๖ ธิดา ชื่อ โหมด ได้เป็นจอมมารดาพระสนมเอกในรัชกาลที่ ๕
ที่ ๗ ธิดา ชื่อ แม้น ได้เป็นหม่อมสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช
ที่ ๘ บุตร ชื่อ เมี้ยน
ที่ ๙ บุตร ชื่อ มิด

บุตรหญิงท่านผู้หญิงอิ่มมักตายเสียแต่อายุยังน้อย ไม่มีใครได้เกียรติยศถึงอย่างสูงศักดิ์ แต่ธิดาได้เป็นชนนีของเจ้านายในราชสกุลหลานพระองค์

ฉันเคยถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ว่าฉันเคยได้ยินเขาว่าท่านชื่อ"ม่วง"อยู่ก่อน ต่อเมื่อจะเข้าไปอยู่ในวังจึงเปลี่ยนชื่อว่า"แพ"จึงหรือ ท่านตอบว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น แล้วเลยเล่าถึงถิ่นฐานของท่านต่อไปว่าเดิมพวกสกุลของท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำทางฝั่งธนบุรีด้วยกันทั้งนั้น สร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ต่อๆกันลงมาตั้งแต่คลองใต้บ้านฝรั่งกุฎีจีน จนคลองขนอนทางเข้าไปวัดพิชัยญาตทั้ง ๒ ฟาก ข้างหลังบ้านขึ้นไปบนบกก็เป็นสวน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลังปู่ทวดของท่าน เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหาประยูรวงศฺ(เรียกกันว่าสมเด็จองค์ใหญ่) ทรงสถาปนาพระยาศรีพิพัฒน์ ปู่ทวดน้อยของท่านเป็น สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาต(เรียกกันว่าสมเด็จองค์น้อย) และทรงสถาปนาพระศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ปู่ของท่าน เป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เสนาบดีที่สมุหกลาโหม ทรงพระราชดำรัสว่าบ้านปู่ของท่านที่อยู่ต่อกับจวนสมเด็จองค์ใหญ่ทางข้างเหนือคับแคบนักไม่สมกับเป็นจวนของเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทเดชา(สิงหเสนี)สมุหนายก อันอยู่ทางฟากพระนครที่ริมคลองสะพานหัน(ครงเวิ้งนครเขษมบัดนี้) ซึ่งตกเป็นของหลวงเมื่อเจ้าของถึงอสัญกรรมในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นที่อยู่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์

เวลานั้นบิดาของท่านเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ก็อพยพครอบครัวไปอยู่กับบิดาที่บ้านนั้น แต่เหย้าเรือนไม่พอกันเพราะเรือนที่เจ้าพระยาบดินทเดชาสร้างไว้ชำรุดทรุดโทรมอยู่โดยมาก เมื่อแรกไปอยู่ครอบครัวของปู่และบิดาของท่านต้องเที่ยวหาที่อาศัยตามแต่จะอยู่ได้ บิดาของท่านไปอาศัยอยู่ที่ฉางข้าว พี่หญิงของท่านคลอดที่นั่นจึงได้ชื่อว่า"ฉาง" ต่อมาเมื่อซ่อมแซมเรือนแพที่ริมคลองแล้วย้ายมาอยู่ที่เรือนแพ ตัวท่นมาคลอดที่นั้นจึงได้ชื่อว่า"แพ" แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์อยู่ที่จวนเจ้าพระยาบดินทเดชาอยู่ ๔ ปี ถึงปีเถาะ พ.ศ.๒๓๙๘ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงพิราลัย ท่านต้องเป็นผู้ปกครองของวงศ์สกุลของบิดา จึงถวายคืนจวนเจ้าพระยาบดินทเดชาแล้วย้ายกลับไปอยู่ทางฟากธนบุรี แต่ไม่ได้อยู่ที่จวนสมเด็จเจ้าพระยาฯ ซึ่งท่านให้น้องผู้หญิงอยู่ด้วยกันอย่างเดิม ตัวท่านสร้างบ้านอยู่ใหม่ที่สวนกาแฟริมคลองหลังวัดประยูรวงศ์ บ้านของท่านอยู่ข้างใต้ให้สร้างบ้านเจ้าหมื่นไวยวรนาทผู้บุตรซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์จางวางมหาดเล็กต่อขึ้นไปทางข้างเหนือ ตัวท่าน(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์)อายุได้ ๒ ปี ก็ย้ายไปอยู่กับบิดามารดาที่บ้านใหม่ทางฟากข้างโน้น

ข้อที่กล่าวกันว่าท่านชื่อ "ม่วง" นั้นมีเรื่องเมื่อท่านเติบใหญ่ขึ้นจนวิ่งได้แล้ว มียายม่วงคนหนึ่งไปขายขนมที่บ้านเสมอ ท่านชอบกินขนมของยายม่วงจนเห็นว่าแกเป็นช่างทำขนมอย่างวิเศษ อยู่มาวันหนึ่งเวลาเด็กๆนั่งเล่นอยู่ด้วยกัน เกิดถามกันขึ้นว่าใครอยากเป็นอะไร คนนั้นก็ว่าอยากเป็นนั่นคนนี้ก็ว่าอยากเป็นนี่ไปต่างๆ เมื่อถามมาถึงตัวท่านๆตอบว่าอยากเป็นยายม่วง พวกเด็กๆพี่น้องเห็นขันก็เลยเรียกท่านว่า"ม่วง" ล้อเล่นอยู่คราวหนึ่งหาใช่ชื่อจริงของท่านไม่


(๒)

เรื่องประวัติในตอนเลข ๒ นี้ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เคยเล่าให้พระยาสุรินทราชเสนี(สาย)น้องต่างมารดาฟังเมื่อท่านอายุได้ ๖๔ ปี ในพ.ศ.๒๔๖๑ สั่งให้จดไว้สำหรับเล่าให้ลูกหลานฟังเมื่อตัวท่านล่วงลับไปแล้ว พระยาสุรินทร์ฯก็ได้จดตามความประสงค์ของท่าน ฉันได้บันทึกของพระยาสุรินทร์ฯมาอ่านเมื่อแต่งประวัตินี้ แต่ตัวพระยาสุรินทร์ฯถึงอนิจกรรมเสียแล้ว พิจารณาข้อความก็ตรงกับท่านเล่าให้ฉันฟังเมื่ออายุท่านได้ ๖๘ ปีในพ.ศ.๒๔๖๕ ต่างกันบ้างแต่ที่เป็นพลความ แต่มีเรื่องในบัทึกของพระยาสุรินทร์ฯมากกว่าฉันจำไว้ได้ฉันจึงเอาบันทึกของพระยาสุรินทร์ฯเป็นโครงเขียนเรื่องประวัติในตอนนี้ เพิ่มเติมตัดทอนและแก้ไขบ้างแต่ตรงที่คาดวันคืน และผิดกับความที่ฉันรู้แน่ว่าเป็นอย่างอื่น

เรื่องประวัติตอนเมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นเด็กก่อนโกนจุก ท่านเล่าว่าบิดามารดาเมตตาปราณีด้วยตัวท่านมีอุปนิสัยสงบเสงี่ยม ไม่ชอบทะเลาะเบาะแว้งวิวาทกัยผู้หนึ่งผู้ใดให้บิดามารดาเดือดเนื้อร้อนใจ ในข้อนี้ท่านไม่เคยถูกบิดามารดาว่ากล่าวโดยโกรธขึงสักครั้งเดียวเห็นจะเป็นเพราะเหตุนี้เองเจ้าคุณปู่ก็เลยเมตตาท่านด้วย ชอบให้ท่านไปอยู่รับใช้สอยที่จวนเมื่อยังเป็นเด็ก ท่านจึงได้อยู่กับเจ้าคุณปู่และบิดามารดาไปมาจนคุ้นทั้ง ๒ สำนักนั้น

เรื่องที่ท่านเล่าเริ่มพิศดารตั้งแต่เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ฉันถามท่านว่าด้วยเหตุอันใดท่านจึงเข้าไปอยู่ในวัง ท่านว่าเหตุที่ผู้ใหญ่ในสกุลให้ท่านเข้าไปอยู่ในวังนั้นท่านทราบต่อภายหลังมาช้านาน ว่าเมื่อปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙แล้วนั้น ท่านโกนจุกแล้วอายุได้ ๑๒ ปียังไว้ผมทรงดอกกระทุ่ม(เห็นจะเป็นเมื่อตกลงจะแต่งงานคุณเล็กพี่สาวคนใหญ่) เจ้าคุณปู่ปรารภกับบิดาของท่านว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูลและเคยมีลูกหญิงถวายทำราชการฝ่ายในมาทุกชั้น ตั้งแต่เจ้าคุณพระอัยยิกานวลก็ถวายเจ้าคุณวังหลวง เจ้าคุณวังหน้า และเจ้าคุณปราสาทเมื่อรัชกาลที่ ๒ สมเด็จเจ้าพระยาก็ถวายเจ้าคุณตำหนักใหม่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยก็ถวายเจ้าคุณตำหนักเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๓ มาถึงตัวท่านมีคุณกลางเป็นลูกหญิงคนเดียวก็ได้ให้แต่งงานกับพระยาสีหราชฤทธิไกร(แย้ม)บุตรเจ้าพระยาภูธราภัยเสียแต่เมื่อรัชกาลที่ ๓ ท่านไม่มีลูกจะถวายตามประเพณีในวงศ์ตระกูล จะขอตัวท่าน(เจ้าคุณพระประยูรวงศ์)ถวายทำราชการฝ่ายในแทนลูกสักคนหนึ่ง บิดาท่านก็ไม่ขัดขวาง แต่เรียนเจ้าคุณปู่ว่าตัวท่านเกิดมาก็อยู่แต่ที่บ้านกิริยามารยาทของชาวนอกวังไม่เรียบร้อย จะส่งเข้าไปฝากเจ้าจอมมารดาเที่ยงพระสนมเอกซึ่งชอบพอกันให้ฝึกอบรมเสียก่อนเมื่อกิริยามารยาทเรียบร้อยแล้วจึงค่อยถวายตัว เจ้าคุณปู่ก็เห็นชอบด้วยแต่มิได้มีใครบอกให้ตัวท่านทราบ

อยู่มาวันหนึ่งบิดาของท่านปรารภกับท่านเปรยๆว่า"แม่หนูโตแล้ว อยู่แต่กับบ้านก็จะเป็นคนป่าเถื่อน ไม่รู้ขนบธรรมเนียมเข้าเฝ้าเจ้านายกับเขาบ้าง พ่อคิดจะส่งเข้าไปไว้ในวัง" แล้วถามท่านว่า"อยากไปหรือไม่" ท่านตอบว่า"ดิฉันไม่อยากไป อยู่ในวังไม่เห็นว่าจะสบายเหมือนอยู่กับบ้าน" บิดาท่านได้ฟังก็หัวเราะ แล้วพูดต่อไปว่าที่จะให้เข้าไปอยู่ในวังนั้นเพราะตัวท่านต้องเป็นราชทูตไปเมืองฝรั่งเศสพี่สาวใหญ่ก็แต่งงานมีเหย้ามีเรือนไป ไม่มีใครอยู่เป็นเพื่อนทิ้งไว้ที่บ้านเป็นห่วง เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ยังตอบยืนคำอยู่ว่าไม่สมัครจะเข้าไปอยู่ในวัง จนบิดาบอกให้เข้าใจว่ามิใช่จะส่งเข้าไปถวายตัวอยู่ในวังที่เดียว เป็นแต่จะให้ไปอยู่กับเจ้าจอมมารดา(เที่ยง)ให้ฝึกสอนกิริยามารยาท เมื่อบิดากลับจากยุโรปก็จะรับกลับไปอยู่บ้านอย่างเดิม ท่านเข้าใจเช่นนั้นจึงยอมเข้าไปอยู่ในวัง บิดาก็ให้ท่านผู้หญิงอ่วมผู้เป็นป้าพาเข้าไปฝากต่อเจ้าจอมมารดาเที่ยง(เห็นจะราวเมื่อเดือนยี่ปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ ใกล้ๆกับเมื่อเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ออกจากกรุงเทพฯไปยุโรป) เจ้าจอมมารดาเที่ยงก็รับอุปการะด้วยความยินดี แต่ปรารภว่าถ้าให้อยู่ด้วยกันกับท่านที่ตำหนัก ท่านเป็นผู้ใหญ่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องเกรงใจท่านอยู่เสมอก็จะไม่สบาย ก็ในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯใช้สอยพระองค์หญิงโสมาวดี พระธิดาองค์ใหญ่ของท่านซึ่งเรียกกันว่า"พระองค์ใหญ่โสม"เป็นอุปถาก ดำรัสสั่งให้ขึ้นไปอยู่ ณ พระที่นั่งมูลมณเฑียร ใกล้กับที่เธอเสด็จประทับในบริเวณพระอภิเนาวนิเวศ

เจ้าจอมมารดาเที่ยงจึงให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปอยู่ด้วยกันกับพระองค์ใหญ่โสมที่พระที่นั่งมูลมณเทียร เพราะเห็นว่ารุ่นราวคราวเดียวกันพระองค์ใหญ่โสมพระชันษาแก่กว่า ๒ ปี พออยู่ด้วยกันไม่ช้าก็ชอบชิดสนิทสนมกัน พระองค์ใหญ่โสมทรงฝึกสอนกิริยามารยาท และเมื่อเสด็จไปสู่ที่สมาคมฝ่ายในก็ให้ถือหีบหมากเสวยตามเสด็จไปด้วย เพื่อให้รู้เห็นคุ้นเคยกับประเพณีในพระบรมมหาราชวังมาเสมอ แต่ไม่ได้อยู่วังเสมอไปทีเดียวมีเวลามารดาคิดถึงให้มารับออกไปอยู่บ้านบ้างอยู่ในวังบ้าง จะกล่าวแทรกลงตรงนี้ตามที่ฉันรู้เห็นเองเมื่อภายหลังว่า เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านมิได้ลืมพระคุณของกรมหลวงสมรรัตน์ฯซึ่งได้มีแก่ท่านเมื่อยังเป็นพระองค์ใหญ่โสม แม้ในเวลาเมื่อท่านมีบุญวาสนาแล้ว ถึงปีใหม่ท่านอุตส่าห์มาถวายรดน้ำกรมหลวงสมรรัตน์ฯด้วยตนเองเสมอทุกปีมิได้ขาดจนตลอดพระชนมายุ


(๓)

เรื่อประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผิดกับนักสนมนารีคนอื่นๆในรัชกาลที่ ๕ ด้วยตัวท่านกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รักใคร่ติดพันกันเองอยู่ก่อน แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตรัสขอมาเป็นสะใภ้หลวง พระราชทานสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แล้วอยู่ด้วยกันมาจนเสวยราชย์ เรื่องประวัติตอนนี้ท่านจำไว้มั่นคงราวกับฝังอยู่ในใจของท่านเป็นนิจ เป็นตอนที่ท่านปรารถนาจะให้ลูกหลานรู้เมื่อตัวท่านล่วงลับไปแล้ว แต่ฉันขอยั้งไว้ไม่พรรณนาที่ตรงนี้ ไปกล่าวถึงประวัติของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อก่อนเสวยราชย์ ให้ผู้อ่านรู้ต้นเรื่องอีกฝ่ายหนึ่งเสียก่อน

พระบาทสมเด็จพระจุลเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสมภพเมื่อปีฉลุ พ.ศ.๒๓๙๖ แก่กว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หนึ่งปี สมเด็จพระชนนีเสด็จสวรรคตเสียก่อนแต่โสกันต์ สมเด็จพระมาตามไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร เมื่อยังทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าหญิงละม่อมทรงบำรุงเลี้ยงมาด้วยกันกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธออีก ๓ พระองค์ ประทับอยู่พระตำหนักเดิม(ตรงที่สร้างหมู่พระที่นั่งจักรี)จนพระชันษาได้ ๑๓ ปี โสกันต์เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๔๐๘ แล้วผนวชเป็นสามเณรอยู่ ๖ เดือน ลาผนวชเมื่อเดือนยี่ปีขาล พ.ศ.๒๔๐๙ เห็นจะใกล้ๆกับเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เข้าไปในพระราชวัง เมื่อลาผนวชแล้วตามประเพณีมีมาแต่โบราณ ต้องเสด็จออกจากพระราชวังชั้นในไปประทับอยู่ที่ตำหนักแห่งใดแห่งหนึ่งในบริเวณพระราชวังชั้นนอก จนกว่าจะสร้างวังต่างหากเสร็จแล้วจึงเสด็จออกไปอยู่วัง

แต่เมื่ออยู่ตำหนักในบริเวณชั้นนอกนั้นถึงจะมีบริวารเป็นผู้หญิงแม้จนถึงมีหม่อมห้ามอยู่ด้วยก็ได้ เป็นแต่ถ้าจะมีพระหน่อก่อนออกวังต่างหากต้องไปคลอดที่อื่น เพราะประเพณีถือว่าสมควรจะเกิดในพระราชวังแต่พระโอรสธิดาของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลาผนวชจากสามเณร สมเด็จพระบรมชนกนาถโปรดฯให้เสด็จประทับอยู่ ณ ตำหนักสวนกุหลาบ อันเป็นบริเวณอยู่ต่อพระที่นั่งพุทไธยสวรรค์ไปทางข้างใต้(ยังรักษาพระตำหนักไว้จนบัดนี้) กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯก็เสด็จออกไปอยู่ด้วย จัดตำหนักทางข้างเหนือเป็นข้างหน้าที่ผู้ชายอยู่ ทางข้างใต้เป็นฝ่ายในที่ผู้หญิงอยู่ ตัวตำหนักที่เสด็จประทับอยู่กลาง เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จไปประทับที่ตำหนักสวนกุหลาบนั้นพระชันษาได้ ๑๕ ปีสมเด็จพระบรมชนกนาถเคยทรงใช้สอยเป็นราชูปถากในการฝ่ายผู้ชายแต่เมื่อก่อนทรงผนวชเหมือนอย่างใช้สอยพระองค์ใหญ่โสมในการฝ่ายผู้หญิง ฉันใดเมื่อลาผนวชแล้วก็ทรงใช้สอยเช่นนั้นต่อมา เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จไปประทับอยู่ตำหนักสวนกุหลาบเวลามีกิจการก็เสด็จเข้าออกนอกในได้เสมอ และเวลาสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จไปไหน ก็ต้องตามเสด็จติดพระองค์ไปด้วยเสมอเป็นนิจ

ฉันเคยได้ยินท่านผู้ใหญ่ที่ได้เคยอยู่ในวังเมื่อรัชกาลที่ ๔ พูดว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระเมตตาพระราชบุตรธิดามาก มักตามพระหฤทัยมิใคร่ปกครองพระเจ้าลูกยาเธอที่ยังทรงพระเยาว์กวดขันเหมือนเมื่อรัชกาลก่อนๆ ตัวฉันก็เกิดไม่ทันเห็นว่าพระเจ้าลูกเธอแต่ก่อนได้รับความอบรมอย่างไรเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้แต่คิดดูเห็นว่าน่าจะผิดกัน ด้วยพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลแต่ก่อนๆได้เสวยราชย์เมื่อมีพระราชธิดาทรงพระเจริญวัยเป็นสาวแล้วหลายพระองค์ มีพระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่เมื่อเสวยราชย์แล้ว เจ้าพี่ดูแลควบคุมฝึกสอนเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ติดต่อกันมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีแต่พระราชบุตรเมื่อรัชกาลที่ ๒ สองพระองค์ แล้วเสด็จไปทรงผนวชอยู่ถึง ๒๖ ปี เมื่อเสวยราชย์ไม่มีพระราชธิดา พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆก็เปลี่ยนฐานะเป็นพระเจ้าพี่นาง น้องนาง หรือพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ ไม่มีตำแหน่งเฝ้าเหมือนอย่างพระราชบุตรและธิดา พระเจ้าลูกเธอประสูติใหม่เมื่อเสวยราชย์มีทุกปี ไม่มีเจ้าพี่จะคอยดูแล เมื่อยังเป็นทารกก็เป็นแต่ขึ้นเฝ้ากับพระชนนีหรือเจ้าจอมมารดา เมื่อทรงเจริญวัยพอจะทำอะไรได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ทรงใช้สอยฝึกหัดด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้พระเจ้าลูกเธอรับใช้อยู่ใกล้ชิดสนิทกับสมเด็จพระบรมชนกนาถนี้อย่างหนึ่ง ซึ่งผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นเพราะทรงพระเมตตาผิดกันกับพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อนๆ ยังมีเหตุอีกอย่างหนึ่งซึ่งทำให้ผิดกันด้วยในรัชกาลก่อนๆพระเจ้าอยู่หัวมิใคร่เสด็จไปไหนนอกพระราชวัง เจ้านายเป็นแต่ขึ้นมาเฝ้าบนพระราชมณเทียรตามเวลาแล้วก็กลับตำหนัก

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จประพาสนอกราชวังทั้งที่ในกรุงเทพฯและแปรสำนักเสด็จไปประทับตามหัวเมืองต่างเนืองๆ พระเจ้าลูกเธอที่เป็นชั้นผู้ใหญ่ก็ตามเสด็จไปรับใช้สอย ที่เป็นชั้นเล็กเวลาเสด็จไปหัวเมืองก็ติดไปกับเจ้าจอมมารดา เวลาเสด็จประพาสนอกพระราชวัง เจ้าพี่ที่เป็นชั้นใหญ่ก็ต้องว่ากล่าวเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ ฝ่ายเจ้าน้องที่ยังทรงพระเยาว์ก็ต้องยำเกรงในโอวาทของเจ้าพี่ เป็นอย่างปกครองกันตามประสาเด็กก็เลยสนิทสนมกันทุกชั้นตั้งแต่ยังไว้พระเกษาจุกด้วยกัน พระเจ้าลูกเธอรัชกาลที่ ๔ เห็นจะผิดกับพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลก่อนๆด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชกุมารพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ ๔ พระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กลงมาเช่นตัวฉันตั้งแต่จำความได้ก็เลยนับถือยำเกรงด้วย รู้สึกว่าพระองค์เป็นผู้ดูแลควบคุมเติบใหญ่ขึ้นก็เกิดรักใคร่เพิ่มขึ้น ด้วยเห็นทรงพระกรุณาแก่น้องด้วยประการต่างๆ พวกชั้นเล็กๆก็ยินดีด้วยประทานของแจกเป็นต้น ที่เป็นชั้นเจ้าพี่ก็ได้เล่นหัวและตามเสด็จเที่ยวเตร่ เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จประทับอยู่ตำหนักสวนกุหลาบๆจึงเป็นที่ประชุมสำหรับเจ้านายพี่น้องเสมอเป็นนิจ เลยเป็นปัจจัยให้ทรงชอบชิดสนิทสนมกับพระเจ้าน้องเธอ ต่อมาเมื่อเสวยราชย์ในรัชกาลที่ ๕ จึงได้พระเจ้าน้องยาเธอเป็นกำลังราชการมากกว่าที่ปรากฏมาในรัชกาลก่อนๆ


(๔)

จะกล่าวถึงเรื่องประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ต่อความที่ได้กล่าวในตอนเลขที่ ๒ ต่อไป ฉันถามท่านว่าฉันได้ยินเขาว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯแรกทอดพระเนตรเห็นท่านเมื่อออกไปดูงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวง โปรดติดพระหฤทัยตั้งแต่ยังไม่ทรงรู้จักว่าใคร แล้วจึงสืบรู้ชื่อและสกุลของท่านเมื่อภายหลังจริงหรืออย่างไร ท่านว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรื่องจริงนั้นครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นไปประทับอยู่วังหน้าดำรัสสั่งให้ลครวังหลวงขึ้นไปเล่นให้ชาววังหน้าดู(ฉันสันนิษฐานว่าเห็นจะเป็นเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ.๒๔๑๐)เวลานั้นท่านออกไปอยู่บ้าน พระองค์ใหญ่โสมมีรับสั่งให้คนไปรับท่านเข้ามาดูลคร วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นท่าน มือถือหีบหมากเสวยตามพระองค์ใหญ่โสมไปวังหน้า

เวลาดูลครตัวท่านนั่งอยู่ใกล้ๆกับคนบอกบทตรงหน้าพลับพลา เห็นมักทอดพระเนตรมาทางตัวท่านบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่รู้ว่าทรงมุ่งหมายที่ตรงตัวท่าน ดูลครแล้วก็กลับออกไปบ้านในเย็นวันนั้น แต่ประหลาดอยู่ที่ในค่ำวันนั้นจะเป็นด้วยบูรพนิมิตสังหรณ์หรืออย่างไรไม่ทราบ พอนอนหลับก็ฟันไปว่ามีงูตัวหนึ่งโตใหญ่ หัวเหมือนพญานาคที่เขาเขียนไว้ ตัวมีเกล็ดสีเหลืองทั้งตัว ตรงเข้ามาคาบที่กลางตัวท่านแล้วเลื้อยพาไปทิ้งไว้ตรงหน้าเรือนเก่าที่ท่านเคยอยู่ ความฝันนั้นยังจำได้มั่นคง แต่เวลานั้นตัวท่านยังไม่รู้เรื่องบูรพนิมิตที่เขาถือกัน พอเช้าขึ้นไปที่บ้านคุณเล็กพี่สาวซึ่งแต่งงานใหม่ ไปเล่าความฝันให้พวกผู้ใหญ่ฟังตามซื่อด้วยเห็นว่าแปลกประหลาดไม่เคยฝันเช่นนั้นมาแต่ก่อน พวกผู้ใหญ่ที่เขาได้ฟังเขาแลดูกันแล้วหัวเราะขึ้นฮาใหญ่ ท่านก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาเห็นขันอย่างไรจึงหัวเราะฮากันเช่นนั้น

ท่านทราบภายหลังว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทอดพระเนตรเห็นท่านก็โปรด แต่ไม่ทรงทราบว่าเป็นใครเข้าพระทัยแต่ว่าอยู่กับพระองค์ใหญ่โสม วันรุ่งขึ้นตรัสถามพระองค์ใหญ่โสม จึงทรงทราบแล้วตรัสขอให้พระองค์ใหญ่โสมทรงคิดอ่านให้ได้ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ครั้นวันกลางเดือนหกปีเถาะนั้นพระองค์ใหญ่โสมตรัสชวนท่านให้ไปดูงานพิธีวิสาขบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวท่านไม่รู้เรื่องอะไรก็ยินดีที่จะไปพระองค์ใหญ่โสมตรัสให้พระพี่เลี้ยงพาท่านไปนั่งดูเดินเทียนที่ตรงบันไดข้างพระอุโบสถ เวลาเดินเทียนค่ำวันนั้น ท่านเห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงเดินเทียนถึงที่ท่านนั่งอยู่ทีไรก็ทรงเพ่งพิศแต่ที่ตัวท่านทุกรอบจนผิดสังเกต จึงเริ่มรู้สึกว่าชะรอยจะโปรดตัวท่านมาตั้งแต่ค่ำวันนั้น

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯพอเสร็จงานวิสาขบูชาแล้ว ตรัสกระซิบขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต่อพระองค์ใหญ่โสม พระองค์ใหญ่โสมก็ยอมถวายไม่ขัดขวางแล้วตรัสบอกให้ท่านรู้ตัวด้วย ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดจะใคร่ได้เป็นหม่อมห้าม ตรงนี้คิดดูก็ชอบกล หากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่รักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อพระองค์ใหญ่โสมตรัสบอกให้รู้ตัว ก็คงบอกแก่ผู้ใหญ่ในวงศ์สกุลให้มารับไปบ้านเสียให้พ้นภัย ที่รู้แล้วอยู่นิ่งชวนให้เห็นว่าฝ่ายท่านก็เกิดรักใคร่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯตั้งแต่วันเดินเวียนวิสาขบูชาเหมือนกัน จึงเริ่มเรื่องติดพันกันมาลักษณะการติดพันกันนั้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านเล่าแต่เป็นเรื่องๆ ไม่ได้เล่าติดต่อจนปลายถึงกระนั้นก็น่าฟัง

เรื่องหนึ่งว่าพอตรัสขอแล้วสักสองสามวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดฯให้พระพี่เลี้ยงชื่อ กลาง นำหีบน้ำอบฝรั่งเข้าไปประทานหีบหนึ่ง ด้วยในสมัยนั้นน้ำอบฝรั่งเพิ่งมีเข้ามาขายในเมืองไทยคนกำลังชอบกันมาก หีบน้ำอบฝรั่งที่ประทานนั้นทำเป็นสองชั้นเปิดฝาออกถึงชั้นบนมีพระรูปถ่ายวางไว้บนนั้น เปิดชั้นล่างต่อไปมีน้ำอบสองขวดกับสบู่หอมก้อนหนึ่งวางเรียงกันอยู่ พระพี่เลี้ยงส่งให้ท่านๆไม่ยอมรับอ้อนวอนท่านก็ไม่รับ จนคนที่พระองค์ใหญ่โสมให้เป็นพี่เลี้ยงท่านชื่อ สุ่น อดรนทนไม่ได้ต้องรับแทน ฉันสันนิฐานว่าจนพระพี่เลี้ยงกลางไปแล้วท่านจึงรับ และปรากฏในเรื่องต่อมาภายหลังว่าพระพี่เลี้ยงกลางกับนางสุ่นนั้นเองเป็นตัวแม่สื่อแต่เริ่มติดพันกัน

ท่านเล่าอีกเรื่องหนึ่งว่าต่อมาไม่ช้า วันหนึ่งพระพี่เลี้ยงกลางเข้าไปชวนท่านให้ไปดูซ้อมแห่โสกันต์ของพระเจ้าลูกเธอ ตรงนี้ต้องพรรณนาถึงการแห่โสกันต์ในสมัยนั้นเสียก่อน คือตั้งกระบวนแห่พระเจ้าลูกยาเธอจากเกยต้นชมพู่ ที่ริมประตูกลมทางเข้าพระอภิเนาวนิเวศน์ข้างด้านตะวันตก แห่ออกประตูราชสำราญเดินกระบวนไปทางถนนริมกำแพงวัง จนถึงประตูวิเศษไชยศรี แล้วเลี้ยวเข้าประตูพิมานไชยศรีไปยังเกยหน้าพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ ริมบริเวณมหาปราสาท ขากลับย้อนตามทางเดิมแต่กระบวนผู้ชายที่แห่นำหน้า อยู่เพียงข้างนอกประตูราชสำราญ เข้าไปในวังแต่กระบวนเด็กและกระบวนผู้หญิง ดูที่ในวังไม่เห็นแห่หมดกระบวนจึงต้องออกมาดูข้างนอก อีกประการหนึ่งในเวลานั้นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นแต่ลูกผู้ดีที่เข้าไปอาศัยอยู่ในวัง ยังไม่ได้ถวายตัวเป็นนางใน จะออกนอกวังถ้ามีผู้ใหญ่ไปด้วยก็ออกไปได้ ท่านจึงรับชวนไปดูซ้อมแห่ในบ่ายวันหนึ่ง พระพี่เลี้ยงกลางพาออกประตูราชสำราญไปคอยดูแห่ที่บริเวณสวนกุหลาบ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จมาคอยอยู่ที่นั่นก็ได้พบกับท่านเป็นครั้งแรก

ยังมีเรื่องกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรตรัสเล่าอีกเรื่องหนึ่ง ดูเหมือนจะต่อกับครั้งที่ไปดูซ้อมแห่โสกันต์ เวลานั้นกรมหมื่นราชศักดิ์ฯยังไว้พระเกศาจุก ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้ากมลาศเลอสรรค์เป็นพระอนุชาร่วมเจ้าจอมมารดากับพระองค์ใหญ่โสม ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯที่พระตำหนักสวนกุหลาบ เหมือนอย่างเจ้านายพี่น้องพระองค์อื่นอยู่เสมอ ฉันสันนิษฐานว่าสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเห็นจะทรงนัดให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปพบอีก แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่าเดินทางประตูราชสำราญประเจิดประเจ้อนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯจึงตรัสให้กรมหมื่นราชศักดิ์ฯเข้าไปรับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่พระที่นั่งมูลมณเฑียร พาเดินทางประตูแถลงราชกิจไม่ต้องออกนอกพระอภิเนาวนิเวศน์ ไปพบกันบริเวณสวนกุหลาบอีกครั้งหนึ่ง กรมหมื่นราชศักดิ์ฯตรัสเล่าว่า ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมีน้ำอบฝรั่งไปประทานอีกขวดหนึ่ง แต่เมื่อยื่นประทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อายไม่ยอมรับจากพระหัตถ์ จึงประทานให้กรมหมื่นราชศักดิ์ส่งไปให้ท่าน ท่านจะรับก็มิใช่จะไม่รับก็มิเชิง กรมหมื่นราชศักดิ์ฯสำคัญว่าท่านรับก็ปล่อย ขวดน้ำอบเลยตกแตก ทั้งสองฝ่ายเลยกริ้วโกรธโทษเอาพระองค์ท่านว่าทำให้เสียของ

เจ้าคุญพระประยูรวงศ์เล่าอีกเรื่องหนึ่งว่าเย็นวันหนึ่งท่านไปอาบน้ำที่อื่น กลับมาถึงพระที่นั่งมูลมณเฑียรพอพลบค่ำเห็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาจักรพรรดิพงศ์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุวงศ์วรเดชกับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯยังไว้พระเกศาจุกทั้ง ๓ พระองค์ คอยอยู่ที่นั่นตรัสว่าวันนี้จะมีการมหรสพที่พระตำหนักสวนกุหลาบน่าดูนัก ชวนให้ท่านไปดูด้วยกัน พระองค์ใหญ่โสมก็ตรัสวานให้ท่านช่วยถือขวดน้ำดอกไม้เทศของเจ้านายทั้งสามพระองค์ไปด้วย ท่านก็ไปตามรับสั่ง แต่จะเป็นเพราะเวลาค่ำประตูแถลงราชกิจปิดหรืออย่างไรอย่างหนึ่ง คราวนี้เจ้านายทั้งสามพระองค์นั้น พาท่านเดินทางบนพระราชมณเทียรเรียกให้เปิดพระทวารที่พระที่นั่งอนันตสมาคม(องค์เดิม)แล้วออกมาข้างหน้าด้วยกัน แต่พอลงไปชาลาหน้าพระที่นั่งฯ ท่านเห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จคอยอยู่ที่นั่นกับพระพี่เลี้ยงกลาง ท่านก็ตกใจรู้ตัวในทันทีว่าท่านไม่ควรจะออกไปในเวลาค่ำเช่นนั้น จึงรีบส่งขวดน้ำดอกไม้เทศให้พระพี่เลี้ยงกลาง แล้ววิ่งหนีกลับขึ้นพระที่นั่งอนันตสมาคม มาเรียกเฝ้าที่ให้เปิดทวารรับแล้วเลยหนีมายังพระที่นั่งมูลมณเฑียร เจ้านายทั้งสามพระองค์กลับเข้ามาอ้อนวอนอีกสักเท่าใดท่านก็ไม่ยอมไป คงมีเรื่องอื่นอีก แต่เล่าเพียงที่กล่าวมา และข้ามไปเล่าว่าการติดพันนั้น หลายวันมามีคนรู้มากขึ้นก็เลยรู้ไปถึงเจ้าจอมมารดาผึ้ง เจ้าจอมมารดาของกรมหลวงพิชิตปรีชากรและกรมหลวงสรรพประสิทธิประสงค์ บอกออกไปให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ทราบ ก็สั่งท่านผู้หญิงอิ่มมารดาให้รับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ กลับไปไว้บ่านเสียอย่างเดิม

เหตุใดเจ้าจอมมารดาผึ้งจึงเป็นผู้บอกเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ อธิบายข้อนี้ต้องเล่าย้อนขึ้นไปถึงเมื่อกรมหลวงพิชิตปรีชากรยังทรงพระเยาว์ ทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าคัคนางคยุคล พระชันษาเพียงห้าหกขวบ กรมหลวงพิชิตฯกับกรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์ฯเมื่อยังทรงพระนามว่าพระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ ประสูติปีเดียวกัน เมื่อทรงเจริญขึ้นพอตามเสด็จได้มักตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเสด็จออกขุนนางด้วยกันทั้งสองพระองค์ ก็เจ้าจอมมารดาตลับของกรมหมื่นภูธเรศฯเป็นธิดาของเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เวลาเสด็จออกขุนนางกรมหมื่นภูธเรศฯมักเสด็จไปหาเจ้าคุณตาในที่เฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าฯก็ไม่ทรงห้ามปราม กรมหลวงพิชิตฯรู้สึกว่าเลวไปกว่าเจ้าน้อง กราบทูลสมเด็จพระบรมชนกนาถตามประสาเด็กว่าอยากมีคุณตาบ้าง ตรัสถามว่าชอบใครที่จะให้เป็นคุณตา ท่านกราบทูลว่าอยากได้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นคุณตา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงเห็นขัน ตรัสเล่าให้เจ้าพระยาศรีสุรยวงศ์ฟัง ท่านก็กราบทูลว่าจะรับเป็นคุณตาตามพระประสงค์ของกรมหลวงพิชิตฯ แล้วอุปการะรักใคร่ ต่อมาถึงเคยพาไปเมืองสิงคโปร์ด้วย และรับจัดการสร้างวังถวายเมื่อภายหลัง เจ้าจอมมารดาผึ้งจึงชอบกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเป็นหูเป็นตาอยู่ในวังด้วยประการฉะนี้

คิดดูเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องกลับออกไปอยู่บ้าน คงเป็นตอนปลายเดือน ๗ หรือต้นเดือน ๘ ปีเถาะ เมื่อก่อนจะออกไปพอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงทราบข่าว ก็ตรัสให้พระพี่เลี้ยงกลางเข้าไปทูลพระองค์ใหญ่โสม ว่าขอให้ทรงช่วยให้ได้พบกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกสักครั้งหนึ่งก่อน พระองค์ใหญ่โสมจึงตรัสให้นางสุ่นข้าหลวง ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงไปเป็นเพื่อนกับพระพี่เลี้ยงกลาง เป็นสามคนด้วยกัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์กล่าว่าเมื่อไปพบกัน เป็นแต่รันทดกำสรดโศก หาได้ปรึกษาหารือคิดอ่านกันอย่างไรไม่ แต่ตัวท่านเองเมื่อกลับไปอยู่บ้านได้ตั้งใจมั่นคงว่าจะมิให้ชายอื่นเป็นสามีเด็ดขาด ถ้าหากผู้ใหญ่ในสกุลจะเอาไปยกให้ผู้อื่นท่านจะหนีตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมา จะเป็นอย่างไรก็ให้เป็นไป

แต่ข้างฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯนั้น พวกชาววังที่รู้เห็นการครั้งนั้นเล่ากันมาแต่ก่อน ว่าพอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องกลับไปอยู่บ้านก็เฝ้าแต่ทรงเศร้าโศกไม่เป็นอันเสวยหรือเข้าเฝ้าแหน เสด็จเข้าไปปรึกษาเจ้าจอมมารดาเที่ยงว่าควรทำอย่างไร เจ้าจอมมารดาเที่ยงมีความรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯมาแต่ยังทรงพระเยาว์จึงออกไปที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ทูลปลอบว่าอย่าให้ทรงเป็นทุกข์ไปเลย ท่านจะไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ตรัสขอพระราชทานแล้วก็ไปกราบทูลตามที่รับนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงสงสาร และทรงพระราชดำริใคร่ควรเห็นว่าเเป็นการดีด้วย จึงตรัสขอต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในที่ระโหฐาน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ยอมถวายแล้วจึงมีพระราชหัตถเลขา ให้พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงโสมาวดี เชิญไปยังเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ด้วยกันกับท้าววรจันทร์(มาลัย)กับท้าวสมศักดิ์(เนย) ตรัสขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อย่างเปิดเผยเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ทูลถวายตามพระราชประสงค์ เป็นอันตกลงด้วยความยินดีทั้งสองฝ่าย

แต่ยังต้องคอยให้พระยาสุรวงศ์ฯกลับจากยุโรป และหาฤกษ์กับเตรียมการถวายตัวอีกหลายเดือน ในระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้คนไปมาและส่งของให้กันก็ไม่มีใครห้ามปราม พระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์กลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อเดือน ๑๐ ปีเถาะนั้น ถึงเดือน ๑๒ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ก็ให้ท่านผู้หญิงพันกับคุณเล็กพี่สาว พาเจ้าคุรพระประยูรวงศ์เข้าไปถวายตัวต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วพักอยู่กับเจ้าจอมมารดาเที่ยงจนถึงฤกษ์พระราชทาน

วันนั้นเวลากลางวันเจ้าจอมมารดาเที่ยงพาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ขึ้นเฝ้ากราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดฯพระราชทานพรแลสิ่งของต่างๆมีขันทองกับพานทองรองขันสำรับหนึ่ง เงินตรา ๕ ขั่ง กับเครื่องนุ่งห่มแต่งตัวอีกหีบหนึ่ง ในค่ำวันนั้นถึงเวลาทุ่ม(๒๐ นาฬิกา) เจ้าจอมมารดาเที่ยงกับเถ้าแก่ก็พาไปส่งตัว ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านพรรณนาว่าเดินออกไปทางประตูราชสำราญเหมือนกับกระบวนแห่พระนเรศวรพระนารายณ์ มีคนถือเทียนนำหน้าและถือคบรายสองข้าง มีคนตามหลังเป็นพรวน พวกชาววังก็พากันมานั่งดูแน่นสองข้างทาง ท่านอายจนแทบจะเดินไม่ได้(เรื่องที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เล่าให้พระยาสุรินทร์ฯจดไว้มีเพียงเท่านี้ แต่ที่ท่านเล่าให้ฉันฟังยังมีต่อไปถึงตอนเมื่อเป็นเจ้าจอมอีกบ้าง ดังจะเล่าต่อไปข้างหน้า แต่พื้นเรื่องนี้ต้องอาศัยความรู้เห็นได้จากที่อื่นเป็นพื้น)

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ออกไป อยู่พระตำหนักสวนกุหลาบได้สามเดือนเริ่มทรงครรภ์ ต้องคิดหาที่สำนักซึ่งจะคลอดพระหน่อเพราะจะคลอดในพระราชวังไม่ได้ ด้วยผิดพระราชประเพณีดังกล่าวมาแล้ว วังใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าก็ยังไม่ได้สร้าง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานวัง อันทรงสร้างเป็นที่ประพาส ณ สวนนันทอุทยานที่ริมคลองมอญทางฝั่งธนบุรี แก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯไว้แต่ก่อน จึงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตึกซึ่งสร้างเป็นพระราชมณเฑียรในสวนนั้นเป็นที่สำนัก เมื่อถึงเวลาที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต้องไปอยู่ที่สวนนันทอุทยาน กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ก็เสด็จไปอยู่ด้วย

ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯนั้นทรงมีหน้าที่รับราชการมาก ต่อเมื่อเสร็จการปฏิบัติสมเด็จพระบรมชนกนาถแล้วจึงเสด็จลงเรือข้ามฝากไปในเวลาค่ำ เคยตรัสเล่าว่าบางคืนน้ำในคลองแห้ง ต้องเสด็จขึ้นบกทรงพระดำเนินไต่สะพานยาวไปตามริมคลองก็มีบ่อยๆ ไปถึงได้บรรทมต่อเมื่อจวนดึก พอเช้าก็ต้องเสด็จข้ามกลับมารับราชการทุกวัน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ทรงครรภ์ครั้งแรก พอได้ ๗ เดือนก็ประสูติ(กรมขุนสุพรรณภาควดี)เมื่อวันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อคลอดพระองค์ยังอยู่ในกระเพาะ หมอและพยาบาลพากันเข้าใจว่าสิ้นพระชนม์เสียแล้วแต่ในครรภ์ ให้หาหม้อขนันจะใส่เอาไปถ่วงน้ำตามประเพณี หากเจ้าคุณตาพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์อยากรู้ว่าจะเป็นพระองค์ชายหรือพระองค์หญิง ใหฉีกกระเพาะดู เห็นยังหายพระทัยจึงรู้ว่ามีพระชนม์ชีพอยู่ ก็ช่วยประคบประหงมเลี้ยงมาจนรอดได้

เมื่อพระหน่อประสูติแล้วได้ ๑๕ วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็ต้องตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ ไปทอดพระเนตรสุริยปราคาหมดดวงที่ตำบลหว้ากอ แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ ทรงมอบเจ้าคุณพระประยูรวงศ์กับพระหน่อให้พระยาสุรวงศ์ฯกับท่านผู้หญิงอื่มเป็นผู้พิทักษ์รักษาอยู่ทางนี้ เสด็จไป ๑๙ วันกลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันศุกร์เดือน ๑๐ ขึ้น ๔ ค่ำ ก็พาเจ้าคุณพระประยูรวงศืกับพระหน่อย้ายเข้ามาอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม


(๕)

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่หว้ากอครั้งนั้น เมื่อเสด็จกลับมาถึงพระนครคนที่ไปตามเสด็จเจ็บเป็นไข้ป่ากันมากทั้งข้างหน้าข้างในที่ถึงตายก็มี เพราะที่ตำบลหว้ากออันอยู่ตรงทางโคจรของดวงอาทิตย์ที่ดูสุริยุปราคาเป็นดงใหญ่อยู่ริมทะเล ไปถากถางขุดดินทำเป็นพลับพลาเชื้อไข้ที่อยู่ในดินฟุ้งขึ้นมาถูกใครติดตัว ก็มาเกิดเป็นพิษไข้จับขึ้น แม้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯได้ห้าวันก็ประชวรเป็นไข้ป่าเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ตั้งแต่แรกประชวรทรงสังเกตเห็นพิษไข้แรง ก็ทรงระแวงพระราชหฤทัยเห็นว่าอาจจะสิ้นพระชนมายุสังขารในครั้งนั้น ตรัสแก่สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงทราบ แล้วดำรัสสั่งสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์เมื่อยังเป็นกรมขุนกับกรมขุนวรจักรธรานุภาพให้เสด็จไปประจำกำกับหมออยู่ที่ท้องพระโรง สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯก็เสด็จเข้าไปพยาบาลอยู่ข้างที่

แต่พยาบาลอยู่ได้เพียงวันเดียว ถึงวันที่สองสมเด็จพระบรมชนกนาถยกพระหัตถ์ลูบพระพักตร์ได้สัมผัสร้อนผิดปกติ ก็ทรงทราบว่าพระราชโอรสประชวรไข้ป่าด้วยเหมือนกัน จึงดำรัสสั่งให้เสด็จกลับออกไปพักรักษาพระองค์ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ อย่าให้เป็นกังวลถึงการที่จะเข้าไปพยาบาลอีกเลย ให้เร่งรกษาพระองค์ให้หายเถิด พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเสด็จกลับมาก็ประชวรในวันนั้นอาการไข้กำเริบขึ้น ในวันต่อมาจนถึงประชวรหนักอยู่หลายวัน พอแก้พระอาการไข้ป่าค่อยคลายก็เกิดพระยอดมีพิษขึ้นที่พระศอ พระอาการกลับทรุดลงไปอีกจนถึงประชวรเพียบใกล้จะเป็นอันตรายอยู่หลายวัน ถึงท่านห้ามมิให้ทูลพระบาทสมเด็นพระจอมเกล้าฯทรงทราบพระอาการ เมื่อตรัสถามก็กราบทูลแต่ว่าพระอาการค่อยคลายขึ้นบ้างแล้ว ทั้งปิดมิให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงทราบว่าพระอาการของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถประชวรหนักลงด้วย รักษาโรคพระยอดอยู่อีกพักหนึ่งพระอาการจึงกลับค่อยคลายขึ้นเป็นแต่พระกำลังยังอ่อนเพียบมาก

พิเคราะห์เหตุการณ์ที่ปรากฏดังกล่าวมาในเวลานั้นดูเหมือนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์จะได้ประสบความทุกข์ร้อนอย่างแสนสาหัสเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดมา ด้วยพระธิดาก็ยังเป็นลูกอ่อนพระสามีก็ประชวรหนัก ไหนจะต้องรักษาพยาบาลพระสามีไหนจะเป็นห่วงพระธิดาอยู่ตลอดเวลานั้นเห็นจะมีคนสงสารกันมากได้ยินว่าพระยาสุรวงศ์ฯบิดาก็ปช่วยดูแลอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบเนืองนิจเพราะเป็นห่วงนั้นเอง

ถึงเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ อันเป็นวันพิธีถือน้ำประจำปี เวลาเมื่อเจ้านายกับข้าราชการไปประชุมพร้อมกันที่พระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นหัวหน้าข้าราชการ แถลงความในที่ประชุมว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรพระอาการมากอยู่ ทั้งสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ก็ประชวรอยู่ด้วยเหมือนกันไม่ควรจะประมาท แล้วสั่งให้พิทักษ์รักษาพระราชวังกวดขันขึ้นกว่าปกติ และสั่งให้ตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบแต่วันนั้น เจ้านาบเสนาบดีกับข้าราชการผู้ใหญ่ก็เข้าไปประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ที่สั่งให้ตั้งกองล้อมวงที่พระตำหนักสวนกุหลาบด้วยเมื่อครั้งนั้น เป็นการแสดงโดยเปิดเผยว่าสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ จะได้รับรัชทายาทเป็นพระเจ้าแผ่นดินต่อไป แต่ก็ไม่เป็นการประหลาดหลากใจผู้ใด เพราะตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว คนไทยทั้งหลายและชาวต่างประเทศก็นิยมกันว่า สมเด็จพระราชโอรสองค์ใหญ่เป็นรัชทายาท ผู้ที่วิตกมากมีแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ด้วยทรงปรารภว่าพระชันษาของพระองค์ก็กว่า ๖๐ ปีแล้วถ้าหากเสด็จสวรรคตแต่สมเด็จพระราชโอรสยังทรงเยาว์วัย ไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้เมื่อได้รับรัชทายาทอาจจะไม่ปลอดภัย เพราะตัวอย่างที่พระเจ้าแผ่นดินเสวยราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์ยังไม่เคยมีในกรุงรัตนโกสินทร์ฯนี้ ที่เคยมีในกรุงศรีอยุธยา ๕ ครั้ง พระเจ้าแผ่นดินที่ยังทรงพระเยาว์ก็ต้องถูกปลงพระชนม์บ้าง ถูกเอาออกจากราชสมบัติบ้างไม่เคยรอดอยู่ได้แต่สักพระองค์เดียว

จึงทรงพระราชดำริให้สร้างวังสราญรมย์ขึ้น หมายว่าพอสมเด็จพระราชโอรสเจริญชันษาครบ ๒๐ ปี พอทรงผนวชแล้วจะทรงมอบเวนราชสมบัติพระราชทาน ส่วนพระองค์เองจะเป็น "พระเจ้าหลวง" เสด็จออกไปอยู่วังสราญรมย์ เป็นที่ปรึกษาทรงแนะนำสมเด็จพระราชโอรสให้ว่าราชการบ้านเมืองไปจนทรงชำนิชำนาญ แต่เผอิญมาประชวรลงในเวลาสมเด็จพระราชโอรสเจริญพระชันษาได้เพียง ๑๖ ปีถ้าหากพระองค์สวรรคตลงก็จะเป็นอย่างที่ทรงพระวิตกด้วยสมเด็จพระราชโอรสยังว่าราชการบ้านเมืองไม่ได้ต้องมีผู้อื่นว่าราชการแทนพระองค์ไปอีก ๕ ปีจะดีร้ายอย่างไรรู้ไม่ได้ ทรงพระราชดำริหาทางที่จะให้ปลอดภัยเห็นว่าสมเด็จพระราชโอรสได้ทรงครองราชสมบัติด้วยพระราชวงศ์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จเหมือนกับรับสัญญาว่าจะช่วยทำนุบำรุง ดีกว่าได้ราชสมบัติด้วยพระองค์ทรงมอบเวนแต่อำเภอพระราชหฤทัย

ถึงวันพฤหัสบดีเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลากลางวันจึงมีรับสั่งให้หากรมหลวงวงศาฯ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายกเข้าไปเฝ้าถึงข้าที่บรรทม ตรัสบอกว่าพระองค์เห็นจะเสด็จสวรรคตในวันนั้นแล้ว ท่านทั้งสามได้ประคับประคองกันมาแต่ก่อน จะขอลาและขอฝากพระราชโอรสธิดาด้วย ท่านทั้งสามพากันร้องไห้สะอึกสะอื้น ตรัสห้ามว่าอย่าร้องไห้ อันความตายเป็นธรรมดาของสัตว์ทั้งหลายทั่วไป ผิดกันแต่ตายก่อนกับตายที่หลังกันไม่อัศจรรย์อันใด เมื่อตรัสแล้วดำรัสว่าจะทรงสั่งราชการบ้านเมืองต่อไป จึงทรงสมาทานศีลให้ท่านทั้งสามเชื่อในความสุจริตเสียก่อน แล้วตรัสว่าผู้ซึ่งจะครองราชสมบัติสืบพระวงศ์ต่อไปนั้น จงปรึกษากันเลือกเจ้านายซึ่งทรงพระปรีชาสามารถอาจจะรักษาบ้านเมืองได้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ หรือพระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ หรือพระเจ้าหลานยาเธอก็ได้ อย่าหันเหียนเอาตามเห็นว่าชอบพระราชหฤทัยของพระองค์ท่านเป็นสำคัญเลย จงเอาแต่ประโยชน์และความปลอดภัยของบ้านเมืองเป็นประมาณเถิด ตรัสเท่านั้นแล้วก็มิได้ตรัสสั่งต่อไป ถึงเวลายามหนึ่ง (๑๒ นาฬิกา) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภานุมาศจำรูญ ในพระอภิเนาวนิเวศน์ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันที่ ๑ ตุลาคม)ปีมะโรงพ.ศ. ๒๔๑๑ พระชันษา ๖๕ ปี เสวยราชย์ได้ ๑๘ ปี

ในคืนวันนั้นถึงเวลาเที่ยงคืนพระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการผู้ใหญ่ประชุมพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม และให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะเข้ามานั่งเป็นสักขีพยานในที่ประชุมด้วย เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวคำประกาศในที่ประชุมว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแผ่นดินว่างอยู่ และประเพณีการสืบพระราชวงศ์ ซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนนั้น เมื่อรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมอบเวนพระราชสมบัติแก่สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯประชวรตรัสไม่ได้ ไม่ได้ทรงมอบเวนพระราชสมบัติแก่เจ้านายพระองค์ใด พระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการทั้งปวงจึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯพระราชทานเวนคืนราชสมบัติแก่พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการ จึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตไว้ ให้พระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการปรึกษาหารือกัน ว่าเจ้านายพระองค์ใดจะเป็นพระเจ้าน้องยาเธอก็ดี พระเจ้าลูกยาเธอก็ดี พระเจ้าหลานยาเธอก็ดี สมควรจะปกครองบ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุขได้ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้น ท่านผู้ใดเห็นว่าเจ้านายพระองค์ไหนสมควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ก็ให้ว่าขึ้นในที่ประชุม ขณะนั้นกรมหลวงเทเวศวัชรินทร์ซึ่งเป็นอาวุโสในราชวงศ์ ตรัสเสนอต่อที่ประชุมว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระเดชพระคุณแก่พระราชวงศ์และข้าราชการทั้งปวงอย่างเหลือล้น ไม่มีอันใดที่จะทดแทนให้ถึงพระเดชพระคุณได้ ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมก็เห็นชอบพร้อมกัน

เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์กล่าวต่อไปในที่ประชุม ว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรอยู่นั้น ท่านได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ว่าปรึกษากันจะถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถ สมเด็จพระจอมเกล้าฯตรัสว่าทรงพระวิตกอยู่ ด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระชันษายังทรงพระเยาว์จะไม่ทรงว่าราชการแผ่นดินได้ดังสมควร กระแสซึ่งพระวิตกนี้จะคิดอ่านกันอย่างไร กรมหลวงเทเวศฯตรัสเสนอต่อไป ว่าขอให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าราชการแผ่นดินไปจนกว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯจะทรงผนวชพระ (เมื่อพระชันษาครบ ๒๐ ปีในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖) เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามความข้อนี้แก่ที่ประชุมก็เห็นสมควรพร้อมใจกัน เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงว่า ส่วนตัวท่านเองนั้นจะรับสนองพระเดชพระคุณโดยเต็มสติปัญญา แต่ในเรื่องการพระราชพิธีต่างๆท่านไม่สู้เข้าใจ ขอให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ช่วยในการส่วนการพระราชนิเวศน์ด้วยอีกพระองค์หนึ่ง ที่ประชุมก็เห็นชอบ

เมื่อเสร็จการปรึกษาถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมขุนพินิตประชานาถแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงกล่าวขึ้นอีกว่าแผ่นดินที่ล่วงมาแล้วแต่ก่อนๆมา มีพระมหากษัตริย์แล้วต้องมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าเป็นเยี่ยงอย่างมาทุกๆแผ่นดิน ครั้งนี้ที่ประชุมจะเห็นควรมีพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าด้วยหรือไม่ กรมหลวงเทเวศฯตรัสว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยูหัวได้มีพระเดชพระคุณมาทั้งสองพระองค์ ควรจะคิดถึงพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกกรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระราชโอรสองค์ใหญ่ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล จะได้ปกครองพวกข้าไทยฝ่ายพระราชวังบวรต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ถามในที่ประชุมเรียงตัวต่อไปดังแต่ก่อน โดยมากรับว่า"สมควร" หรือให้อนุมัติโดยนิ่งอยู่ไม่คัดค้าน มีแต่กรมขุนวรจักรฯกล้าตรัสคัดค้านพระองค์เดียว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ขัดเคืองว่ากล่าวกรมขุนวรจักรฯต่างๆ กรมขุนวรจักรฯก็ต้องยอม การก็เป็นตกลงเป็นอันที่ประชุมเห็นสมควรที่กรมหมื่นบวรวิชัยชาญจะเป็นพระราชวังบวรสถานมงคล

เจ้าพระยาศรสุริยวงศ์กล่าวในที่ประชุมต่อไป ว่าสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา กรมขุนบำราบปรปักษ์ทรงพระสติปัญญารอบรู้ราชกาชแผ่นดิน ด้วยได้ทำราชการในตำแหน่งกรมวังมาช้านานถึงสองแผ่นดินขอให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนบำราบปรปักษ์สำเร็จราชการพระคลังมหาสมบัติ และพระคลังต่างๆและสำเร็จราชการในสถานราชสำนัก เป็นผู้อุปถัมภ์ในส่วนพระองค์พระเจ้าแผ่นดินด้วย ที่ประชุมเห็นชอบพร้อมกัน ครั้นเสร็จการประชุมเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้อาลักษ์จดรายนามผู้นั่งประชุมกับทั้งข้อความที่ได้ลงมติพร้อมกันอัญเชิญ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสนองพระองค์สม้เด็จพระบรมชนกนาถนั้น เขียนถวายกราบทูลให้พระองค์ทรงทราบ

เรื่องที่พรรณนามาในตอน ๕ นี้ ที่จริงอยู่นอกเรื่องประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ แต่เป็นมูลของกิจการต่างๆซึ่งเนื่องต่อเรื่องประวัติที่จะกล่าวต่อไปข้างหน้า จึงพรรณนาไว้ตรงนี้ให้ทราบเหตุไว้ก่อน





Create Date : 22 มีนาคม 2550
Last Update : 15 กรกฎาคม 2550 8:59:14 น. 10 comments
Counter : 10723 Pageviews.  
 
 
 
 
(๖)

รัชกาลที่ ๕ ตั้งต้นเมื่อ ณ วันศุกร์เดือน ๑๑ แรมค่ำ ๑ (ที่ ๒ ตุลาคม) ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ถึงเวลาเช้าเมื่อพระราชวงศานุวงศ์กับข้าราชการประชุมพร้อมกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้พระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ เป็นผู้ไปเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเจ้าฟ้าฯกรมขุนพิชิตประชานาถ(จะเรียกแต่นี้ไปว่า"พระเจ้าอยู่หัว")ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ แต่ในเวลานั้นพระเจ้าอยู่หัวยังทรงปลกเปลี้ยนักด้วยประชวรมากว่าเดือนและซ้ำประสบโศกศัลย์แรงกล้า ไม่สามารถจะทรงพระราชยานได้ ต้องเชิญเสด็จขึ้นประทับบนพระเก้าอี้เบาะนวมผูกคานหาม แห่จากพระตำหนักสวนกุหลาบไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้อ่านบันทึกทูลอัญเชิญเสด็จเสวยราชย์ให้ทรงทราบ แล้วให้หามพระเก้าอี้เชิญเสด็จขึ้นไปยังห้องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯสวรรคตในพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ เพื่อจะได้ทรงสรงสักการะพระบรมศพ อันเป็นหน้าที่ของรัชทายาทจะต้องกระทำก่อนราชกิจอย่างอื่น แต่พอพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นพระบรมศพสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้แต่ยกพระหัตถ์ขึ้นถวายบังคมเท่านั้นแล้วก็ทรงสลบแน่นิ่งไป

หมอประจำพระองค์ช่วยกันแก้ไขให้ฟื้นคืนสติสมปฤดี แต่ไม่สามารถจะเคลื่อนพระองค์ลงจากพระเก้าอี้ได้จึงตรัสแก่สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ ขอให้ทรงสักการะพระบรมศพแทนพระองค์ ขณะนั้นเจ้านายผู้ใหญ่เห็นกันว่า ถ้าพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่นั่นต่อไปอาการประชวรจะกำเริบขึ้นอีก จึงสั่งให้หามพระเก้าอี้เชิญเสด็จไปยังพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยซึ่งจัดห้องในพระฉากทางเฉลียงด้านตะวันออกเตรียมไว้เป็นที่ประทับ ไปจนพิธีราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเทียรแล้วเหมือนครั้งเปลี่ยนรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ทางโน้นก็เชิญพระบรมศพเข้าพระโกศ แห่ไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิมหาปราสาท

ทางพระตำหนักสวนกุหลาบ กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ซึ่งเปลี่ยนฐานะเป็นเจ้าจอมมารดา และพระธิดาซึ่งฐานะเปลี่ยนเป็นพระเจ้าลูกยาเธอก็ย้ายเข้าไปอยู่ในพระราชวังในวันแรมค่ำหนึ่งนั้น กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯเสด็จกลับไปอยู่ที่พระตำหนักเดิม แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์กับพระธิดานั้นไปอยู่ที่เรือนเจ้าจอมมารดาผึ้ง คงเป็นตามพระประสงค์ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เพราะข้างในเวลานั้นกำลังชุลมุนด้วยพระสนมรัชกาลก่อนแม้จนเจ้าจอมมารดาเที่ยงพระสนมเอก ก็หลุดพ้นตำแหน่งหน้าที่ อย่างว่าสิ้นบุญเหมือนดับไฟตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต จะช่วยอุปการะอย่างใดดังแต่ก่อนไม่ได้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงให้ไปอยู่กับเจ้าจอมมาดาผึ้ง ซึ่งคุ้นเคยกันจนกว่าจะมีตำหนัก แต่การไปอยู่ที่นั้นที่จริงก็เพียงให้พระเจ้าลูกยาเธอเสด็จไปอยู่กับผู้คนบ่าวไพร่

แต่ส่วนตัวเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เองท่านไปอยู่ปฏิบัติพระเจ้าอยู่หัวและนอนค้างอยู่ในห้องพระฉากที่พระที่นั่งอมรินทร์ฯ แม้กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯก็เสด็จไปอยู่ด้วยเสมอทุกวัน แต่ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยเป็นท้องพระโรงมีเวลาต้องใช้ราชการฝ่ายหน้า เช่นเจ้านายผู้ใหญ่และข้าราชการเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประทับอยู่ในพระฉากจึงต้องกำหนดเวลาแบ่งกันเป็นเวลาฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ถึงเวลาฝ่ายหน้าผู้หญิงก้เข้าไปอยู่ในวังเวลาในระยะนี้ที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้ลงมาตำหนัก จนสิ้นกิจฝ่ายหน้าแล้วก็กลับออกไปอยู่ในพระฉากเสมอทุกวัน พระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่ในพระฉากเพื่อรักษาพระองค์และทรงบำรุงพระกำลังกว่าเดือน จนถึงเดือน ๑ จึงได้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เสด็จเข้าไปประทับพระราชมณเฑียรข้างฝ่ายใน

ในระหว่างที่เสด็จประทับอยู่ในพระฉากก่อนราชาภิเษกนั้น เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ผู้สำเร็จราชการราชสำนัก ปรึกษากันว่าพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระเจริญเป็นหนุ่มแล้ว อาจจะทรงบำเพ็ญพระราชกิจอย่างอื่นได้โดยมาก เว้นแต่ที่จะว่าราชการแผ่นดินอย่างเดียว ซึ่งยังต้องมีผู้อื่นทำแทน เพราะฉะนั้นเมื่อราชาภิเษกแล้วควรจะทรงบำเพ็ญพระราชกิจอย่างอื่นๆ เหมือนพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อน ให้ทรงทราบกิจการในหน้าที่พระเจ้าแผ่นดินยิ่งขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระชันษาถึงเวลาทรงว่าราชการแผ่นดินเองก็จะได้ชำนิชำนาญราชการหมดทุกอย่าง แล้วปรึกษากันต่อไปว่า ควรจะเอา"พระราชานุกิจ" (คือระเบียบเวลาทรงทำการต่างๆ) อย่างพระเจ้าอยู่หัวองค์ไหนตั้งเป็นแบบ เห็นกันว่าพระราชานุกิจครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯเวลาไม่แน่นอนเพราะพระองค์ทรงมีพระราชธุระมาก ควรจะเอาพระราชานุกิจของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นแบบ แต่จะต้องเสด็จมาประทับที่พระมหามณเทียรเหมือนอย่างครั้งวพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯจึงจะเป็นการสะดวก กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดเพราะไม่อยากเสด็จอยู่ร่วมพระราชมณเทียรของสมเด็จพระบรมชนกนาถ และทรงเจตนาจะถวายพระอภิเนาวนิเวศเป็นที่ประดิษบานพระบรมอัฐิอยู่แล้ว ก็ทรงบัญชาตาม

แต่ผู้ที่จัดราชานุกิจครั้งนั้นเข้าใจผิดกัน ทางฝ่ายหน้าสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ให้เปลี่ยนพระราชานุกิจอย่างรัชกาลที่ ๓ แต่ที่ขัดกับสมัย อย่างใดที่ที่ไม่ขัดให้คงไว้หมดทุกอย่าง แต่กรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯซึ่งสำเร็จราชการฝ่ายในเข้าพระทัยว่าจะเพิกถอนพระราชานุกิจอย่างรัชกาลที่ ๔ เอาแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ ใช้แทนทั้งหมด จึงให้เจ้าจอมมารดาและท้าวนางในครั้งรัชการที่ ๓ มาเป็นผู้ดูแลจัดการราชสำนักข้างฝ่ายใน ก็เกิดความลำบากต่างๆตั้งแต่เสร็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ตรงนี้จะพรรณนาแต่ประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก่อน พิเคราะห์ดูเหมือนเมื่อแรกท่านได้เป็นพระสนมเอก แทนที่จะอิ่มใจกลับได้พบความลำบากใจมิใช่น้อย เริ่มต้นแต่การบรมราชาภิเษกก็ถวายนักสนมนารีสำหรับปฏิบัติบำเรอพระเจ้าอยู่หัวเป็นหมู่ใหญ่ ตัวท่านติดกับพระองค์มาเหมือนอย่างพระจันทร์โคจรอยู่รอบมนุษย์โลกแต่ดวงเดียว มากลายเป็นแต่ดาวดวงหนึ่งในจักรวาล อันรายล้อมดวงพระจันทร์อยู่ในท้องฟ้า นอกจากนั้นยังมีท้าวนางบังบัญชาฝึกหัดให้เข้าแบบแผนนางในครั้งรัชกาลที่ ๓ ตัวท่านเองเคยฝึกหัดอบรมมาแต่แบบแผนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยอยู่ในบังคับท้าวนางเหล่านั้นมาแต่ก่อน คงรังเกียจและเกิดความลำบากใจเป็นธรรมดา ตัวท่านมีพระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่ง ก็ได้แต่กราบทูลปรับทุกข์ร้อน

ถ้าหากว่าเรื่องตามที่ฉันเคยได้ยินมาตรงตามความจริง น่าสรรเสริญเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่ท่านสามารถแก้ไข ให้พ้นความลำบากด้วยสติปัญญาของท่านในครั้งนั้น เขาเล่าว่าท่านกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว ว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ท่านก็ไม่เคียดขึ้งหึงหวง และไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้สนองพระเดชพระคุณเพียงเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพรดังท่านประสงค์ ตรัสห้ามมิให้ท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์และทรงสร้างพระที่นั่งเย็นเป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถขึ้นหลังหนึ่งทางด้านตะวันออกพระที่นั่งมณเทียร ให้แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์คนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติเมื่อเสด็จอยู่พระที่นั่งเย็นนั้น ท่านเล่าว่ามีแต่ตัวท่านคนเดียวที่นุ่งโจงขึ้นเฝ้าได้เสมอ มิต้องเปลี่ยนเป็นนุ่งจีบตามแบบรัชกาลที่ ๓

นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดฯให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่พระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกแห่งหนึ่ง ข้างหลังพระมหามณเทียรตรงที่เคยเป็นพระตำหนักพระสนมเอกครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ ผู้ที่เป็นนางในที่ทันได้รู้เห็นเขาเล่าว่าตั้งแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้พระราชทานพรดังกล่าวมาแล้ว ท่านถือเป็นหน้าที่ของท่านที่จะปฏิบัติพระเจ้าอยู้หัวแต่ในบางเวลาคือเวลาเช้าเมื่อตื่นบรรทมท่านถวายเครื่องพระสำอางอย่างหนึ่ง ตั้งเครื่องต้มพระกระยาหารต้มอย่างหนึ่ง เมื่อเสวยเสร็จเสด็จออกจากห้องบรรทมก็เป็นสิ้นหน้าที่ของท่านในตอนเช้า กลับลงไปตำหนักเสียครั้งหนึ่ง ถึงเวลากลางวันเมื่อนักสนมตั้งเครื่องถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวยเสร็จแล้ว สิ้นเวลาคนเฝ้าแหนท่านจึงขึ้นไปคอยรับใช้ในเวลาทรงพักพระราชอิริยาบถอีกเวลาหนึ่ง เมื่อเสด็จออกตอนบ่ายท่านก็กลับตำหนัก ไม่ขึ้นไปพระมหามณเฑียรจนเวลากลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าบรรทม ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องที่บรรทมอยู่จนเช้าตั้งเครื่องพระสำอางเหมือนอย่างวันหลัง นอกจากกิจตามเวลาที่กล่าวมาเขาว่าท่านไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในหน้าที่ของผู้อื่น ใครจะเฝ้าแหนหรือพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหน ท่านก็ไม่เข้าไปกีดขวาง

ส่วนพระราชานุกิจของพระเจ้าอยู่หัวที่จัดขึ้นครั้งนั้น พอบรมราชาภิเษกแล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติราชกิจต่างๆตามเวลามีกำหนดดังนี้

พอเวลา ๙ นาฬิกา(เสวยพระกระยาหารต้มในที่แล้ว)เสด็จลงทรงบาตรแล้วเสด็จขึ้นบูชาพระในหอแพระสุราลัยพิมาน ออกจากหอพระทรงพระราชดำเนินทางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เจ้านายผู้หญิงคอยเฝ้าอยู่ในทางที่เสด็จผ่านไป เสด็จไปบูชาพระบรมอัฐิในหอพระธาตุมณเทียร แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยเหมือนอย่างครั้งรัชกาลที่ ๓ เวลาเช้าสิบนาฬิกา เสด็จประทับในที่พระฉากเจ้านายผู้ใหญ่เช่นกรมหลวงวงศาฯหรือสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์เข้าเฝ้า ทรงศึกษาด้วยสนทนาโบราณคดี หรือแบบแผนขนบธรรมเนียนและการพระราชพิธีต่างๆ ถ้าไม่มีเจ้านายพวกข้าหลวงเดิมเฝ้า ตอนนี้คิดขึ้นใหม่

เวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา เสด็จออกประทับราชอาสน์ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงฟังรายงานการรับจ่ายเงินแผ่นดิน แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนาง พระราชวงศ์รวมทั้งกรมพระราชวังบวรฯและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย(เว้นแต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์)เข้าเฝ้าพร้อมกันเหมือนอย่างรัชกาลที่ ๓ เพิ่มแบบใหม่เมื่ออกขุนนางแล้วเสด็จไปประทับในพระฉากอีกครั้ง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้ากราบทูลราชการแผ่นดินที่เกิดขึ้น และที่สั่งไปให้ทรงทราบ

เสด็จออกในพระฉากตอนนี้เคยมีเรื่องเกล็ดเรื่องหนึ่งซึ่งออกจะขบขันและเกี่ยวกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จะเล่าฝากไว้ด้วย วันหนึ่งเมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เข้าไปเฝ้าที่พระฉาก พระเจ้าอยู่หัวตรัสบอกว่า เซอร์เยมส์ บรุ๊ก(Sir James Brooke)ซึ่งเป็นทูตอังกฤษเข้ามาขอแก้หนังสือสัญญาเมื่อปลายรัชการที่ ๓ และคุ้นเคยกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แต่เมื่อยังเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถนั้น ไปเป็น"ราชา"อยู่เมืองสรวัค มีหนังสือมาถวายพระพรชัยมงคล จะพระราชทานให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ดู จึงตรัสสั่งให้เจ้าพระยานรรัตน์ราชมานิต(โต)ข้าหลวงเดิม เมื่อยังเป็นนายพินิจราชกิจหุ้มแพรมหาดเล็ก ให้บอกเข้าไปยังเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ให้หยิบหนังสือ เซอร์ เยมส์ บร๊ก ซึ่งอยู่ในห้องบรรทมส่งออกมา เจ้าคุณนรัตน์ฯหายไปนานกลับไปกราบทูลว่า"คุณจอมมารดาว่าค้นไม่พบ"ก็เป็นอันนิ่งกันไปในเวลานั้น แต่เมื่อเสด็จขึ้นพระมหามณเทียรไปทอดพระเนตรเห็นหนังสือ เซอร์เยมส์ บรุ๊ก อยู่ในที่ ตรัสถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่าหนังสือเซอร์เยมส์ บรุ๊ก ก็อยู่ที่นี้ ไฉนจึงบอกไปว่าไม่พบ เจ้าคุณฯกราบทูลว่า คุณเพียรเถ้าแก่เข้าไปบอกว่าต้องพระราชประสงค์"หนังสือครือคะรึ"ได้ค้นดูจนทั่วแล้วไม่เห็นมีหนังสือครือคะรึ จึงได้บอกไปว่าไม่พบ ครั้นวันรุ่งขึ้นเมื่อเสด็จออกท้องพระโรง ตรัสต่อว่าเจ้าพระยานรรัตน์ฯว่าไฉนจึงไปเรียกชื่อหนังสือซึ่งต้องพระราชประสงค์เมื่อวานนี้ว่า"หนังสือครือคะรึ" เจ้าพระยานรรัตน์ฯกราบทูลปฏิเสธว่า"ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้เรียกผิดเช่นนั้น ได้ไปบอกคุณเพียรเถ้าแก่ว่าต้องพระราชประสงค์"หนังสือซีจำปลุ๊ก" พระเจ้าอยู่ได้ทรงฟังก็กลั้นพระสรวลไว้ไม่อยู่ หนังสือซีจำปลุ๊กจึงเป็นเรื่องสำหรับหัวเราะกันต่อมาอีกนาน

เวลาบ่าย ๑๓ นาฬิกา เสด็จขึ้นข้างใน เสวยกลางวันแล้วพักพระอิริยาบถ

เวลาบ่าย ๑๕ นาฬิกา เสด็จประพาสที่พระมหามณเทียรด้วนนักพระสนม บางวันก็หัดทหารเล็กไล่กาซึ่งเลยเป็นทหารมหาดเล็กเมื่อภายหลัง

เวลาบ่าย ๑๖ นาฬิกา เสด็จออกข้างหน้าทอดพระเนตรช่างก่อเขาบ้าง ทอดพระเนตรหัดทหารมหาดเล็กบ้าง เสด็จออกประพาสหรือรับฎีการาษฎรนอกพระราชวัง(เหมือนในรัชกาลที่ ๔)บ้าง จนเวลาค่ำเสด็จขึ้นข้างใน

เวลา ๑๙ นาฬิกาเมื่อเสวยแล้วเสด็จลงประทับที่ช่องบันไดพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ท้าวนางฝ่ายในเฝ้สาฯตรัสประกาศราชการฝ่ายในเหมือนอย่างรัชกาลที่ ๓ หรือมิฉะนั้นก็เสด็จเข้าไปเฝ้าและเสวยกับกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯที่พระตำหนักเดิม

เวลา ๒๐ นาฬิกา เสด็จพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยประทับราชอาสน์ ทรงฟังพนักงานคลังกราบทูลราบจ่ายของต่างๆ และมหาดเล็กกราบทูลรายงานการก่อสร้างและอาการประชวรของเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ ต่อนั้นทรงสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์ ๑ แล้วเสด็จขึ้นพระแท่นออกขุนนางอีกครั้งในวันนั้น ตามตำราว่าเวลาเช้าทรงพิพากษาคดี เวลาค่ำทรงพิพากษาการเมือง เสร็จพระราชานุกิจเสด็จขึ้นข้างในราวเวลา ๒๒ นาฬิกา

รุ่งขึ้นก็ตั้งต้นใหม่ดังพรรณนามาเสมอทุกวัน ประเพณีในราชสำนักก็เป็นเช่นกล่าวมาตลอดเวลา ๕ ปี แต่มีการเสด็จไปประพาสหัวเมืองเป็นครั้งเป็นคราว เหมือนครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เสด็จอยู่แต่ในกรุงเทพฯเหมือนเมื่อรัชกาลที่ ๓ เสด็จไปหัวเมืองครั้งใด เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ตามเสด็จไปทุกครั้ง


(๗)

ในระหว่างปีมะโรงกับมะเส็งนั้น ท่านผู้ใหญ่ปรึกษากันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรงปรารภจะเสด็จไปสิงคโปร์เพื่อทรงพิจารณาหาวัฒนธรรมอย่างฝรั่งมาใช้ในการทำนุบำรุงบ้านเมือง แต่ยังไม่ได้เสร็จไปก็สวรรคตเสียก่อน เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เสด็จไปอาจจะตรัสกับพวกฝรั่งได้ไม่ต้องมีล่าม ควรจะจัดให้เสด็จไปทอดพระเนตรบ้านเมืองและกิจการต่างๆในวิธีปกครองเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษ กับเมืองชวาของฮอลลันดาเป็นส่วนหนึ่งในการทรงศึกษา กราบทูลความคิดนั้นแด่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงยินดีเต็มพระราชหฤทัยที่จะเสด็จไป ไปบอกรัฐบาลอังกฤษและฮอลันดารัฐบาลทั้งสองนั้นก็ยินดีรับจะจัดการรับเสด็จให้สมพระเกียรติยศ และให้ทอดพระเนตรวัฒนธรรมในเมืองนั้นๆตามพระราชประสงค์ ครั้นถวายเพลิงพระบรมศพแล้ว

ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ ก็เตรียมการเสด็จไปต่างประเทศเรียกกันเป็นสามัญในสมัยนั้นว่า"เสด็จไปสิงคโปร์" จัดกระบวนเสด็จให้พระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์เสนาบดีกระทรวงกลาโหมกับพระยาเพทประชุน(ท้วม บุนนาค)ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดีเสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ใหญ่ไปตามเสด็จกับเจ้านายและข้าราชการในราชสำนักรวม ๒๗ คน ทรงเรือรบชื่อ พิทยัมรณยุทธ เป็นเรือพระที่นั่ง มีเรือรบล่วงหน้าลำหนึ่งออกจากกรุงเทพฯเมื่อเดือน ๔ แรม ๔ ค่ำปีมะแมนั้น การที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ปรากฏในพงศาวดารว่าพระเจ้าแผ่นดินประเทศทางฝ่ายตะวันออกนี้เสด็จออกประพาสถึงต่างด้าว เสด็จถึงเมืองไหนก็จัดการรับเสด็จอย่างใหญ่โตและเชิญเสด็จทอดพระเนตรวัฒนธรรมต่างๆทั้งที่เมืองสิงคโปร์และที่เมืองบาเตเวีย กับเมืองสุมารังในชวา เสด็จประพาสอยู่ ๔๗ วัน กลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อวันเสาร์เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำปีมะแม เวลานั้นพระเจ้าอยู่หัวพระชันษาด้ ๑๘ ปี

ตั้งแต่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์กลับมา พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเริ่มจัดการต่างๆเช่น สร้างสวนสราญรมย์ และให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์เป็นแม่กองสร้างตึกแต่งถนนบำรุงเมืองเป็นต้น ทั้งเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมต่างๆเป็นลำดับมา อย่างอื่นจะยกไว้กล่าวถึงแต่ที่เนื่องกับประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ทรงปรารภกับท่านผู้ใหญ่ว่าที่ไทยเรายังไว้ผมมหาดไทยอย่างโบราณใช้โกนผมรอบหัวไว้แต่บนกลางกบาลนั้น ทำให้ฝรั่งดูหมิ่นไทยว่าเป็นชาวป่าเถื่อน ข้อนี้รู้กันอยู่แต่ก่อนแล้วเพราะฉะนั้นทูตไทยไปเมืองฝรั่งครั้งไรหรือแม้แต่เมื่อพระองค์เสด็จไปเมืองสิงคโปร์ครั้งนี้ ก็ต้องให้ผู้ไปเลิกตัดผมมหาดไทยไว้ผมยาวเสียก่อนทุกคน เมื่อกลับมาจึงกลับไว้ผมมหาดไทยอีกอย่างเก่า ทรงพระราชดำริว่าบ้านเมืองเจริญขึ้นคงมีฝรั่งเข้ามามากขึ้นถ้าไว้ผมมหาดไทยอยู่ ฝรั่งก็จะเข้ามาดูหมิ่นถึงบ้านเมือง ควรเลิกประเพณีตัดผมมหาดไทยเสีย ไว้ผมยาวตัดเป็นทรงเดียวกันทั้งหัวเหมือนอย่างฝรั่ง และการที่จะเลิกตัดผมมหาดไทยนั้นทรงดำริเห็นว่าไม่จำเป็นต้องตั้งพระราชกำหนดกฎหมายอันใด เพียงแต่พระองค์เองไม่ไว้เกศามหาดไทยและพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ข้าเฝ้าเปลี่ยนไว้ผมยาวตามใจสมัคร ไม่ช้าคนก็พากันตามอย่างเลิกไว้ผมมหาดไทยได้หมดท่านผู้ใหญ่ก็เห็นชอบตามพระราชบริหาร

อันที่จริงในเวลานั้นพวกข้าเฝ้าที่เป็นชั้นชายหนุ่มก็อยากไว้ผมยาวอย่างฝรั่งอยู่โดยมากแล้ว แต่พอเห็นพระเจ้าอยู่หัวไว้พระเกศายาวและพวกข้าราชการในราชสำนักก็ไว้ผมยาวได้ ต่างก็พากันไว้ยาวตามเสด็จโดยมิต้องมีใครตักเตือนแม้พวกผู้ใหญ่สูงอายุที่ยังมีใจรักหรือไม่รังเกียจไว้ผมมหาดไทยก็จำต้องผันแปรไปไว้ผมยาว ในไม่ช้าเจ้านายและข้าราชการก็เลิกไว้ผมมหาดไทยหมด แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่งจะเป็นด้วยช่างตัดผมในเวลานั้นหันเหียนไปไม่ทันหรือใจตัวเองยังไม่สิ้นอาลัยเรือนผมมหาดไทยก็เป็นได้ (พึงสังเกตดูรูปถ่ายในสมัยนั้นเถิด) ทรงผมยาวที่ตัดกันในชั้นแรกเรือนผมที่ตรงท้ายทอยขึ้นไปเป็นปึกคล้ายกับทรงผมมหาดไทยเรียกกกันว่า "ผมรองทรง" เห็นงามกันอยู่พักหนึ่ง แต่ต่อมาก็กลายเป็นเช่นตัดกันทุกวันนี้

เมื่อผู้ชายเลิกไว้ผมมหาดไทยเปลี่ยนไปไว้ผมยาวก็เกิดปัญหาขึ้นว่าผู้หญิงจะคงไว้ผมปีกอยู่อย่างเดิมหรือเปลี่ยนไปไว้ผมยาวตามอย่างฝรั่งบ้าง ที่เรียก"ผมปีก"นั้นก็ไว้ผมยาวกลางกบาลหัวอย่างผมมหาดไทยของผู้ชายผิดกันแต่ใช้ตัดผมรอบหัวแทนโกน และมี"ไรจุก"คือถอนผมให้มีรอยเป็นวงรอบผมปีกที่เอาไว้บนกบาลกับไว้ผมเป็นพู่ตรงชายผมตก ที่ริมหูทั้งสองข้างเรียกว่า"ผมทัด"สำหรับห้อยดอกไม้ นอกนั้นก็เป็นเพศเดียวกับผมมหาดไทยนั้นเอง แต่ผิดกันเป็นข้อสำคัญอยู่ที่ผู้หญิงชอบแต่งผมเป็นเครื่องอวดสวยงามที่ยังเป็นสาวก็ไม่อยากทิ้งสวยงามง่ายๆ ที่เป็นผู้ใหญ่สูงอายุเคยไว้ผมปีกมาจนเคยชินแล้วก็ชอบจะให้คงอยู่จึงไม่มีผู้หญิงที่อยากเลิกไว้ผมปีก ครั้งนั้นพระเจ้าอยู่หัวตรัสชวนอย่างไรไม่ทราบ ปรากฏแต่ว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ทูลรับอาสา แล้วเอาตัวออกหน้ากล้าเลิกตัดผมปีกไว้ผมยาวก่อนผู้อื่น เห็นจะถูกคนดุและบางทีจะถูกค่อนอยู่สักพักหนึ่ง แต่ไม่ช้าก็มีพวกนางในเอาอย่างไปทำตามกันมากขึ้นโดยลำดับ จนผมปีกสูญไปด้วยกันกับผมมหาดไทย เพราะเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ตั้งต้นเลิกก่อนผู้อื่น

ยังมีประเพณีอย่างอื่นอีกบ้างอย่างซึ่งทรงปรารภว่าขายหน้าฝรั่ง เช่นประเพณีที่คลุกคลานหมอบเฝ้ากับพื้น ให้ฝรั่งแขกเมืองเดินกรายหัวเข้ามายืนค้ำเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในที่เฝ้า(เช่น ปรากฏรูปภาพทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น) กับทั้งที่แต่งตัวออกแขกไม่มีถุงน่องรองเท้าก็ชวนให้ฝรั่งดูหมิ่น น่าอายเช่นเดียวกัน แต่เป็นประเพณีที่ยังใช้กันกว้างขวางเลิกยากกว่าตัดผมจึงทรงพระราชดำริแก้ไขด้วยกำหนดประเพณีเข้าดฝ้า ให้เป็นสองอย่างต่างกัน คือ"เฝ้าอย่างเดิม"อย่างหนึ่ง "เฝ้าอย่างใหม่"อย่างหนึ่ง(คือเฝ้าอย่างไทยกับเฝ้าอย่างฝรั่งนั่นเอง) เวลาเสด็จออกขุนนางในท้องพระโรงตามพระราชานุกิจก็ดีให้ใช้ธรรมเนียมหมอบคลายเฝ้ากับพื้นและแต่งตัวไม่ใส่ถุงน่องรองเท้าอยู่อย่างเดิม ถ้าเฝ้าแห่งใดซึ่งโปรดฯให้เฝ้าอย่างใหม่เช่นเวลารับแขกเมืองเป็นต้น ให้ยืนเฝ้าและถวายคำนับอย่างฝรั่งแม้โปรดฯให้นั่งก็นั่งเก้าอี้ด้วยกันหมด แต่งตัวก็ให้ใช้เครื่องแบบหรือเสื้อเปิดอกผูกผ้าผูกคอและใส่ถุงน่องรองเท้าอย่างฝรั่ง คงแต่นุ่งผ้าไหมม้วนโจงแบบไทยอย่างเดียว (ไม่นุ่งกางเกงทั้งทหารพลเรือน)

เนื่องกับจะจัดประเพณีเฝ้าเป็นสองอย่างดังว่ามานี้ พระเจ้าอยู่หัวโปรดถวายพระที่นั่งพิมานรัตยากับพระปรัสว์เป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระสุดารัตน์ฯ แล้วโปรดฯให้เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯเป็นนายงานรื้อพระตำหนักเดิมสร้างพระที่นั่งใหม่ขึ้นอีกหมู่หนึ่ง( อยู่ข้างหลังพระที่นั่งจักรีเดี๋ยวนี้) ทำเป็นตึกสองชั้นอย่างฝรั่ง มีที่เสด็จอยู่ ที่พระราชทานเลี้ยงและที่รับแขก ต่อไปการเข้าเฝ้าที่พระที่นั่งใหม่จะใช้ประเพณียืนคำนับและนั่งเก้าอี้อย่างฝรั่งทั้งนั้น ในเวลากำลังสร้างพระที่นั่งใหม่อยู่นั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มจัดการเฝ้าอย่างใหม่ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ให้ทำฝากั้นปันเป็นแบบ ๓ ห้อง ทางด้านตะวันตกตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นที่รับแขก ห้องทางด้านตะวันออกตั้งโต๊ะยาวมีเก้าอี้ล้อมสัก ๒๐ ตัวเป็นที่เสวย ห้องกลางคงเป็นทางเดินออกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยตามเดิม แล้วแก้กำหนดเวลาพระราชานุกิจ เมื่อเสด็จขึ้นจากท้องพระโรงตอนกลางวันประทับที่ห้องรับแขก ให้เจ้านายกับข้าราชการในสำนักซึ่งเวลานั้นแต่งตัวใส่ถุงน่องรองเท้าสวมเสื้อเปิดคอผูกผ้าผูกคอเข้าเฝ้าอย่างใหม่ และไปนั่งร่วมโต๊ะเสวยกลางวัน แล้วจึงเสด็จขึ้นพระมหามณเทียร ถึงเวลาบ่ายเมื่อเสด็จออกข้างหน้าและประพาสนอกพระราชวัง ก็ให้ผู้โดยเสด็จเข้าเฝ้าอย่างใหม่ เสวยเวลาค่ำก็เสวยที่พระที่นั่งไพศาลฯอย่างเดียวกับครั้งกลางวัน การรับแขกเมืองเข้าเฝ้าก็ให้เปลี่ยนเป็นเฝ้าอย่างใหม่ ยืนถวายคำนับเหมือนกันทั้งไทยและฝรั่ง การรับฝรั่งอย่างนั้นก็เลยใช้เป็นแบบต่อไปถึงวังเจ้านายและจวนเสนาบดีแต่ในตอนปีมะแมนี้ นอกจากเลิกตัดผมปีกข้างฝ่ายข้างในยังหาแก้แบบเครื่องแต่งตัวและประเพณีเข้าเฝ้าเป็นอย่างใหม่ไม่ นางในยังนุ่งจีบห่มสไบเฉียงหมอบเฝ้าอยู่อย่างเดิม



...................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:14:48:28 น.  

 
 
 
(ต่อ)


เมื่อปรากฏว่าการที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปสิงคโปร์ทรงนำความเจริญมายังเมื่อไทยหลายอย่าง คนก็พากันนิยมซื้อหาของต่างๆเช่น เครื่องแต่งตัวและรถฝรั่งมาใช้กันในกรุงเทพฯ พวกช่างที่ทำของเหล่านั้นมาตั้งโรงงานหรือตั้งร้านสั่งของเข้ามาขาย ตัวฉันเองแรกหัดขี่ม้าเมื่อยังเป็นเด็กไว้ผมจุกต้องขี่เครื่องเบาะหัวโตแบบโบราณอย่างไม่มีโกลนเพราะหาอานฝรั่งไม่ได้ จนเสด็จกลับจากสิงคโปร์แล้วจึงได้หัดขี่อานฝรั่ง พระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่าคนทั้งหลายนิยมการที่ทรงเปลี่ยนแปลงกันมาก จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศอีก เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯท่านเคยเล่าให้ฉันฟังว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงปรารภกับท่านว่า ที่ได้ไปเห้นเมืองต่างๆได้ประโยชน์มาก แต่เมืองที่ได้ไปยังเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษและฮอลันดา อยากเห็นตัวเมืองหลวงของฝรั่งในยุโรป ทำอย่างไรจึงจะไปดูได้เพราะเวลาที่พระองค์ทรงว่างอยู่โดยมิต้องว่าราชการก็ยังเหลืออยู่เพียงอีกสองปี เมื่อราชาภิเกทรงว่าราชการบ้านเมืองเองแล้วที่ไหนจะมีเวลาว่างพอเสด็จไปได้ จะทำอย่างไรดี ท่านกราบทูลรับไปปรึกษาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เห็นว่าเหลือวิสัยที่จะให้สมพระราชประสงค์ได้ ด้วยหนทางที่จะไปยุโรปไกลนัก ทั้งจะต้องผ่านทะเลใหญ่ไปหลายแห่งเรือที่จะทรงไปให้ปลอดภัยก็ไม่มี จะเสด็จโดยสารเรือเมล์ของพวกพ่อค้าไปอย่างคนสามัญก็จะเสียพระเกียรติยศ เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯคิดใคร่ครวญดูแล้วกลับมากราบทูลว่าถ้าเสด็จไปเพียงอินเดียเห็นจะจัดการให้สำเร็จได้ด้วยหนทางมิสู้ไกลนัก และอินเดียก็ใหญ่โตคล้ายประเทศอันหนึ่งในยุโรปคงได้ทอดพระเนตรเห็นการต่างๆที่ดีกว่าเมืองสิงคโปร์และชวามาก

ส่วนเรือพระที่นั่งที่จะทรงไปนั้นท่านเห็นอุบายที่จะจัดมิให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์รังเกียจได้มีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยห้างนะกุดาอิสไมล์พ่อค้าชาวอินเดียที่วัดเกาะสั่งเรือรับคนโดยสารมาลำหนึ่งให้ชื่อว่า"เรือบางกอก" สำหรับจะให้เดินเมล์ในระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองสิงคโปร์ เรือนั้นจวนจะมาถึงอยู่แล้ว ท่านคิดว่าจะซื้อเรือบางกอกมาเป็นเรือหลวงสำหรับใช้เป็นเรือพระที่นั่งเสด็จไปอินเดีย เมื่อเสด็จกลับจึงขายคืนให้เจ้าของเดิมไป ลดราคาขายให้แทนค่าเช่า ท่านได้ลองว่ากัลนายห้างก็ยอมแล้ว พระเจ้าอยู่ทรงเห็นด้วยท่านไปบอกเจ้าพระศรีสุริยวงศ์ก็ไม่ขัดขวางต่อไป จึงบอกแก่รัฐบาลอังกฤษๆยินดีเหมือนหนหลัง ก็ได้เสด็จไปอินเดีย เมื่อปีวอกพ.ศ. ๒๔๑๕ กระบวนเสด็จครั้งนี้ก็โปรดฯให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์กับเจ้าพระยาภานุวงศ์ฯเป็นผู้ใหญ่ไปเหมือนครั้งก่อน เจ้านายและข้าราชการที่ตามเสด็จก็มากขึ้นกว่าครั้งก่อนและทรงเลือกสรรเอาผู้มีแววที่จะสามารถทำการงานไปทั้งนั้น เสด็จทรงเรือบางกอกออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีวอกพ.ศ. ๒๔๑๕ มีเรือพิทยัมรณยุทธตามเสด็จ ไปถึงอินเดียรัฐบาลอังกฤษก็รับเสด็จอย่างใหญ่โต เชิญเสด็จไปถึงเมืองต่างๆที่ในอินเดียหลายแห่ง และจัดให้ทอดพระเนตรกิจการต่างๆหลายอย่างทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เสด็จไปอินเดียครั้งนั้นได้ทั้งความรู้วัฒธรรมและสิ่งของอย่างฝรั่งที่ต้องการใช้ มีเครื่องแต่งตัวและพาหนะเป็นต้น เพิ่มเติมมามากเป็นอุปกรณ์ให้จัดการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมก้าวหน้าได้ยิ่งกว่าแต่ก่อน เสด็จประพาสอยู่เกือบ ๓ เดือน กลับมาถึงกรุงเทพฯเมื่อว้นที่ ๑๕ มีนาคม ก่อนขึ้นปีระกาไม่ถึงเดือน เวลานั้นพระชันษาได้ ๒๐ ปี

ถึงปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖เป็นกำหนดหมดเขตเวลาที่ต้องมีผู้อื่นว่าราชการบ้านเมืองแทนพระองค์ จะทรงว่าราชการได้เองเหมือนอย่างพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลก่อนๆต่อไป เมื่อเดือน ๑๑ จึงเสด็จออกจากราชสมบัติไปทรงผนวชเป็นพระภิกษุที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดพระพุทธรัตนสถาน ๑๕ วันเป็นพิธีแสดงให้ปรากฏว่าพระชันษาพ้นวัยเยาว์แล้ว ฉันเคยได้ยินว่าเมื่อเสด็จออกผนวชนั้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์กราบทูลขอพระราชทานพระให้ได้ตักบาตรถวายพอได้เห็นพระองค์ทรงผนวชแม้เพียงสักครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จรับบาตรเจ้านายฝ่ายใน จึงมีแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์คนเดียวในเหล่านักสนม ที่ได้รับอนุญาตให้ไปตักบาตร

ครั้งถึงเดือน ๑๒ ปีระกา ทำการพิธีพระบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ ถวายพระนามว่า " พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อราชาภิเษกครั้งนี้การที่ทำพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกใหม่อีกครั้งหนึ่งนั้นเพราะเหตที่พระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเสียเมื่อออกทรงผนวชจึงต้องถวายใหม่ แต่อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงว่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงว่าราชการบ้านเมืองเองต่อไป เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มิได้เป็นผู้ว่าราชการแผ่นดินเหมือนอย่างแต่ก่อน ยังมีพระราชประสงค์จะทรงแสดงให้เห็นด้วย ว่าเมืองไทยตั้งใจจะก้าวหน้าไปในทางที่ฝรั่งนิยมเป็นว่าวัฒนธรรม จึงโปรดฯให้เพิ่มรายการอย่างหนึ่งเข้าในวันพระบรมราชาภิเษก

เมื่อเดือน ๑๒ แรม ๓ ค่ำ เวลาเสด็จออกมหาสมาคมในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้านายและข้าราชการทั้งปวงล้วนแต่งเต็มยศใหญ่ ใส่เสื้อเยียระบับเข้มขาบกับเสื้อครุย หมอบเฝ้าอยู่เต็มทั้งท้องพระโรง พระเจ้าเสด็จประทับบนพระแท่น เมื่อเสนาบดีกราบทูลถวายราชสมบัติตามประเพณีแล้ว โปรดฯให้อาลักษณ์อ่านประกาศว่า ประเพณีหมอบคลานเข้าเฝ้าเช่นใช้มาแต่โบราณไม่สมควรกับสมัยบ้านเมืองเสียแล้ว ให้เลิกประเพณีหมอบคลานเสียเปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าและเคารพด้วยการถวายคำนับต่อไป พออาลักษณ์อ่านประกาศจบเหล่าข้าเฝ้านับแต่กรมพระราชวังบวรฯเป็นต้น บรรดาที่หมอบอยู่เต็มท้องพระโรงก็ลุกขึ้นยืนถวายคำนับพร้อมกัน ดูเหมือนกับเปลี่ยนฉากรูปภาพอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่งในทันทีน่าพิศวงอย่างยิ่ง เวลานั้นตัวฉันอายุได้ ๑๒ ปียังไว้ผมจุก ได้เห็นยังจับใจไม่ลืมอยู่จนบัดนี้ เมื่อเสด็จขึ้นข้างในไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐที่พระที่นั่ง ไพศาลทักษิณ เจ้านายและข้าราชการผู้หญิงเฝ้าก็อ่านประกาศและลุกขึ้นยืนเฝ้า เปลี่ยนรูปภาพเหมือนอย่างข้างหน้าอีกครั้งหนึ่ง ก็เป็นอันเพิกถอนระเบียบการเฝ้าอย่างเก่า ซึ่งเคยใช้มาหลายร้อยปี เปลี่ยนระเบียบใหม่ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๕ แต่นั้นไป

เนื่องในงานบรมราชาภิเษกนั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และโปรดฯให้เลื่อนกรมเจ้านายหลายพระองค์ คือเลื่อนกรมพระสุดารัตน์ฯ เป็นกรมสมเด็จ และเลื่อนสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนบำราบปรปักษ์ เป็นกรมพระเป็นต้น ทั้งเลื่อนยศขุนนาง คือ เลื่อนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นต้น แล้วทรงจัดการต่างๆต่อมา การอย่างอื่นจะยกไว้กล่าวถึงแต่เรื่องเปลี่ยนเครื่องแต่ตัวเข้าเฝ้า ซึ่งเปลี่ยนเป็นแบบใหม่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เมื่อต่องานพระบรมราชาภิเษกครั้งนี้ ด้วยเรื่องเนื่องไปถึงประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีก อันเป็นการเปลี่ยนแบบเครื่องแต่งตัวไปตามแบบฝรั่งนั้น ที่จริงเริ่มมาแต่เมื่อเสด็จไปเมืองสิงคโปร์ในปีมะเมียแล้ว กระบวนเสด็จที่ไปครั้งนั้น เต็มยศก็แต่งเครื่องแบบเสื้อติวนิกอย่างฝรั่ง เวลาปรกติก็ใส่เสื้อเปิดอกผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่คงนุ่งผ้าโจงไม่เปี่ยนไปนุ่งกางเกง เมื่อเสด็จกลับจากเมืองสิงคโปร์ เวลาเสด็จออกอย่างใหม่ ก็ใช้เครื่องแต่งตัวเช่นว่ามา เวลาเสด็จไปอินก็ใช้เครื่องแต่งตัวเช่นนั้น แต่ที่อินเดียมีช่างชาวยุโรปทำเครื่องแต่งตัวได้เหมาะดีขึ้นยิ่งไปอีก จึงทำเครื่องแต่งตัวใหม่ที่อินเดีย

และมีเรื่องเกล็ดเล่ามาอีกเรื่องหนึ่ง ว่าเมื่อพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ช่างตัดเสื้อทำเครื่องแต่งพระองค์ที่เมืองกัลกัตตานั้น ทรงปรารภว่าเสื้อเปิดอกแบบฝรั่งต้องมีเสื้อเชิ้ตชั้นในและต้องมีคอเสื้อผ้าผูกคอ ในฤดูร้อนใช่เวลามีการงานก็พอทนแต่จะเอาไปใช้ในเวลาเที่ยวเล่นโดยลำลองจะร้อนทนไม่ไหว จึงตรัสสั่งให้ช่างฝรั่งทำเสื้ออีกอย่างหนึ่ง ให้รูปเหมือนอย่างเสื้อใส่เที่ยวเล่นแต่ให้ปิดคอมีดุมกลัดตลอดอก มิให้ต้องใส่เสื้อเชิ้ตหรือผูกผ้าผูกคอ เมื่อช่างฝรั่งไปทำเสื้ออย่างรับสั่งมาถวายก็โปรด แต่เป็นแบบเสื้อแปลกเพิ่งมีขึ้นใหม่ยังไม่มีชื่อจะเรียกว่ากระไร เวลานั้นพระยาภาสกรวงศ์ยังเป็นนายราชานัตยานุหาร ว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์เป็นราชเลขานุการอาสาคิดชื่อเสื้อแบบนั้นด้วยเอาภาษามคธคำหนึ่ง กับภาษาอังกฤษคำหนึ่งผสมกันว่า"ราชแปตแตน" Raj Pattern แปลว่า "แบบหลวง" ต่อมาเราเรียกและใช้เสื้อราชแปตแตนแพร่หลายกันมาก ฉันเคยได้ยินเรื่องเดิมจึงเอามาจดไว้มิให้สูญเสีย

ส่วนเครื่องแต่งตัวผู้หญิงนั้น เมื่อครั้งเสด็จกลับมาจากสิงคโปร์มิได้โปรดฯให้แก้ไขอย่างใด นางในยังคงนุ่งจีบและห่มสไบเฉียงกับตัวเปล่าอยู่อย่างเดิม จนถึงงานบรมราชาภิเษกครั้งหลังจึงดำรัสสั่งให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัวผู้หญิงแบบใหม่ คือให้คงแบบนุ่งจีบอย่างเดิมไว้แต่สำหรับแต่งห่มตาดเมื่อเต็มยศใหญ่ โดยปกติให้เลิกนุ่งจีบเปลี่ยนเป็นนุ่งโจงอย่างเดิม และให้ใส่เสื้อแขนยาวชายเสื้อเพียงบั้นเอวแล้วห่มสไบเฉียงบ่านอกเสื้อ และให้สวมเกือกบู๊ตกับถุงเท้าหุ้มตลอดน่องด้วย แต่เครื่องแต่งตัวผู้หญิงยังแก้ไขต่อมาอีก ฉันเข้าใจว่าเกิดเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหัวเมืองบางเวลาโปรดให้นักสนมขี่ม้าตามเสด็จเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ยินว่าเมื่อรัชกาลที่ ๔ นางในที่ขี่ม้าตามเสด็จแต่งเครื่องแบบเหมือนอย่างผู้ชาย

แต่ครั้งนี้ไม่โปรดเช่นนั้นตรัสสั่งให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์นำนางในขี่ม้าตามเสด็จ ด้วยท่านเคยหัดขี่ม้ามาแต่ยังเด็กจึงเป็นผู้หัดนางในให้ขี่ม้าและตัวท่านออกนำหน้าตามเสด็จประพาสด้วย เวลาขี่ม้าจำต้องแก้ไขเครื่องแต่งตัวบ้าง เช่นห่มแพร ถ้าห่มสไบเฉียงขี่ม้าถูกลมพัดก็ปลิวไปไม่อยู่กับตัว จึงต้องสะพายแพรแทนห่มสไบเฉียง อีกอย่างหนึ่งขี่ม้าไปกลางป่ากลางทุ่งตากแดดร้อนนัก จึงต้องใส่หมวกใช้หมวกอย่างผู้หญิงฝรั่งใส่มาแต่แรก เครื่องแต่งตัวอย่างว่านี้เดิมแต่งแต่นางในที่ขี่ม้าตามเสด็จไม่กี่คน แต่การที่นางในขี่ม้าตามเสด็จนานๆจะมีสักครั้งหนึ่งพวกนางในเหล่านั้นเองและผู้อื่นอีกอยากแต่งตัวอย่างนั้นในเวลาออกแขกโดยปกติ เพราะสะพายแพรไม่ปิดเสื้อมากเหมือนห่มสไบเฉียงอาจจะทำให้เสื้องามขึ้น ฉันเข้าใจว่ามูลเหตุจะเป็นเช่นว่า เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ออกหน้านำใช้แบบแต่งตัวสะพายแพรเหมือนเช่นเคยนำเลิกตัดผมปีกอีกครั้งหนึ่ง แล้วเลยปล่อยปลายผมยาวลงมาถึงชายบ่าด้วย สมัยนั้นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงได้เป็นผู้นำแบบแต่งตัว Leader of Fashion ของนางในอยู่นาน ก็คงเพราะท่านอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าอยู่หัว อาจทูลปรึกษาหารือพระราชนิยมได้ผิดกับผู้อื่น ท่านออกแบบอบย่างใดคนอื่นก็ทำตามโดยไม่รังเกียจ


(๘)

เครื่องยศนักสนมเมื่อก่อนรัชกาลที่ ๔ จะเป็นอย่างไรฉันไม่รู้แน่แต่เมื่อรัชกาลที่ ๔ นั้นมี ๕ ชั้นเป็นลำดับกัน ล้วนเป็นเครื่องใส่หมากกินทั้งนั้น

ชั้นที่ ๔ ซึ่งเป็นชั้นต่ำกว่าเพื่อน เป็นหีบหมากเงินกาไหล่ทองสำหรับพระราชทาน " นางอยู่งาน" แต่โบราณดูเหมือนจะเรียกว่า "นางกำนัล" ซึ่งทรงใช้สอยในพระราชมณเทียร ได้แต่บางคนที่ทรงพระเมตตาในหมู่นางอยู่งาน แต่การที่ได้รับพระราชทานหีบหมากยังไม่นับว่าเป็นเจ้าจอม

ชั้นที่ ๓ เป็นหีบหมากทองคำ สำหรับพระราชทานนางอยู่งานซึ่งทรงเลือกไว้ใช้ใกล้ชิดประจำพระองค์ ใครได้พระราชทานหีบหมากทองคำจึงมีศักดิ์เป็น"เจ้าจอม" เรียกว่าเจ้าจอมนำหน้าชื่อทุกคน ฉันเข้าใจว่าในชั้นนี้ที่เรียกว่า "เจ้าจอมอยู่งาน"

ชั้นที่ ๒ เป็นหีบหมากทองคำลงยาราชาวดีสำหรับพระราชทานเจ้าจอมมารดา หรือเจ้าจอมอยู่งานซึ่งทรงพระเมตตายกย่องขึ้นเป็นชั้นสูง ฉันเข้าใจว่าเรียก"พระสนม"แต่ชั้นนี้ขึ้นไป

ชั้นที่ ๑ เรียกว่า"พระสนมเอก" ได้พระราชทานพานทองเพิ่มหีบหมากลงาที่กล่าวมาแล้ว เป็นพานทองมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำด้วยใบหนึ่ง เป็นเทือกเดียวกับพานทองเครื่องยศที่พระราชทานเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ แต่ขนาดย่อมกว่าพานทองเครื่องยศฝ่ายหน้า

ชั้นพิเศษ สำหรับพระราชทานพระมเหสัเทวี ซึ่งเรียกในกฎมณเทียรบาลว่า "พระภรรยาเจ้า" มีทั้งหีบหมากและพานหมากเสวยล้วนทำด้วยทองคำลงยาราชาวดี เครื่องยศนางใน ๕ นั้นเช่นพรรณนามาดูเหมือนจะตั้งเป็นกำหนดขึ้นเมื่อรัชกาลที่ ๔

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้เป็นพระสนมเอก มีแต่ท่านคนเดียวได้พระราชทานเครื่องยศพระสนมเอกตามแบบรัชกาลที่ ๔ ทั้งพานทองและหีบหมากลงยาหลังประดับเพชรใบหนึ่ง แล้วโปรดฯให้ทำขึ้นใหม่เขื่องกว่าใบเก่า ประดับเพชรทั้งขอบฝาและเป็นตราพระเกี้ยวยอดอยู่บนพานสองชั้นกับฉัตรสงองข้างบนหลังหีบพระราชทานเพิ่มอีกใบหนึ่ง ครั้นจำเนียรกาลนานมาเมื่อมีพระสนมเอกขึ้นเป็นหลายคน พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะทรงยกย่องเจ้าคุญพระประยูรวงศ์ให้สูงศักดิ์กว่าคนอื่นที่เป็นพระสนมเอกด้วยกัน โปรดฯให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเครื่องยศของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นลงยาราชาวดี มีแต่ของท่านคนเดียวจึงมียศสูงกว่านักสนมกำนัลทั้งปวง เครื่องยศที่พรรณนามานี้เมื่อล่วงรัชการที่ ๕ มาแล้วพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลภายหลังดำรัสสั่งมิให้เรียกคืนตามประเพณีเก่า ด้วยทรงเคารพนับถือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ท่านจึงได้ครองเครื่องยศหมดทุกอย่างที่ได้พระราชทานมาจนตลอดอายุ

รัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างเครื่องยศผู้หญิงขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เนื่องกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าซึ่งทรงประดิษฐานเมื่องานบรมราชภิเษกครั้งหลัง ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ด้วยในชั้นนั้นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแต่ผู้ชาย จึงโปรดฯให้ทำกล่องหมากกับหีบหมากเครื่องยศมีรูปดวงตราจุลจอมเกล้าอยู่บนฝา ต่างกันเป็น ๔ ชั้น เหมือนอย่างตราจุลจอมเกล้า

ชั้นที่ ๑ กล่องหมากกาไหล่ทองจำหลักลงยาสีขาบกับตลับเครื่องใน ๔ ใบ บนหลังกล่องมีรูปดาราปฐมจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานผู้หยิงที่มียศชั้นสูงเทียบกับเจ้าต่างกรมและเจ้าพระยาเสนาบดี

ชั้นที่ ๒ กล่องหมากเหมือนกับชั้นที่ ๑ ผิดกับแต่บนหลังกล่องเป็นรูปดาราทุติยจุลจอมเกล้า และตลับเครื่องใน ได้เป็นพิเศษสำหรับพระราชทานผู้หญิงที่มียศเทียบกับเจ้า และขุนนางที่ได้พระราชทานพานทอง

ชั้นที่ ๓ หีบหมากกาไหล่ทองจำหลักลงยาสีขาบเหมือนกล่องหมากที่กล่าวมาแล้ว แต่บนฝาหีบเป็นรูปดวงตราจุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานผู้หญิงที่มียศชั้นรองลงมา แต่พระราชทานตามฐานะของตัวบุคคลมิใช่ได้ด้วยสืบสกุลอย่างตราตติยจุลจอมเจ้าเกล้า

ชั้นที่ ๔ หีบหมากเงินจำหลักบนหลังหีบ มีรูปตราจุลจอมเกล้าเป็นชั้นต่ำกว่าเพื่อน เทียบกับตราตติยานุจุลจอมเกกล้า สำหรับพระราชทานผู้มียศชั้นต่ำในพวกที่ได้รับเครื่องยศจุลจอมเกล้า

กล่องและหีบหมากจุลจอมเกลล้าที่กล่าวมานี้ พระราชทานทั้งเจ้านายและข้าราชการฝ่ายใน กับหม่อมห้ามเจ้านายและภรรยาข้าราชการผู้ใหญ่ มิได้เป็นเครื่องยศสำหรับนางในเหมือนอย่างเครื่องยศครั้งรัชกาลที่ ๔ ซึ่งกล่าวมาก่อน

เจ้าคุญพระประยูรวงศ์ ก็ได้พระราชทานกล่องหมากเครื่องยศชั้นปฐมจุลจอมเกล้าตั้งแต่แรกสร้าง ต่อมาอีก ๒๐ ปี ถึงปี พ.ศ.๒๔๓๖ เมื่อรัชกาลที่ ๕ ครบ ๒๕ ปี มีพระราชพิธิรัชดาภิเษกสมโภชราชสมบัติ พระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้แก้พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าให้ผู้หญิงได้รับด้วย เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้พระราชทานดวงดารากับสายสะพายชั้นปฐมจุลจอมเกกล้าในครั้งนั้น เครื่องยศจุลจอมเกล้าของผู้หญิงจึงมีเป็น ๒ อย่างขึ้น คือตราและกล่องหรือหีบหมาก ในชั้นแรกใครได้รับตราชั้นไหน ก็ได้กล่องหรือหีบหมากชั้นนั้นด้วย หีบและกล่องหมากก็กลายเป็นเครื่องอุปกรณืของตราไป ต่อมาโปรดฯให้งดพระราชทานกล่องและหีบหมากจุลจอมเกล้า ก็เลิกเครื่องยศอย่างนั้นแต่นั้นมา

ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากประพาสเมืองชวาครั้งที่ ๓ ทรงปรารภถึงความชอบของผู้ที่ไปตามเสด็จ ด้วยไปต้องตกยากตรากตรำ รักษาพยาบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ ซึ่งประชวรหนักอยู่พักหนึ่ง จึงทรงสร้างเหรียญรัตนาภรณ์ขึ้นสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็ดแก่ผู้มีความชอบในพระองค์ มีต่างกันเป็น ๕ ชั้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่ได้ไปตามเสด็จครั้งนั้น แต่ทรงรำลึกความชอบของท่านแต่หนหลังก็พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ชั้นที่ ๒ อันประกอบเพชรรอบขอบเหรียญแก่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ด้วย

ถึงรัชกาลภายหลัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเหรียญรัตนภรณ์รัชกาลที่ ๖ ในปีแรกเสวยราชย์เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๕๓ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้พระราชทาน ฉันเข้าใจว่าชั้นที่ ๒ เหมือนอย่างได้พระราชทานเมื่อรัชกาลที่ ๕ ก่อน แล้วจึงพระราชทานเลื่อนขึ้นเป็นชั้นที่ ๑ ซึ่งประดับเพชรทั้งตัว เมื่อท่านฉลองอายุครบ ๖๐ ปี ในปีขาลพ.ศ. ๒๔๕๗

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสาถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์ "มหาวชิรมงกุฎ" ประดับเพชรเป็นชั้นยอดเพิ่มขึ้นในเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม พระราชทานน้อยตัวทั้งผู้ชายผู้หญิง ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ด้วย

ถึงรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๗ ขึ้น ในปีเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเหรียญนั้นชั้นที่ ๒ แก่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์แต่แรกสร้างเหมือนสมเด็จพระบรมชนกนาถ และสมเด็จพระเชษฐาธิราชเคยพระราชทานแต่ก่อนมา ที่พรรณนามานี้ไม่ได้กล่าวถึงเหรียญพระราชทานในงานต่างๆ ตามบรรดาศักดิ์ยังมีอีกหลายอย่าง

ยังมีของพระราชทานนางในคล้ายกับเครื่องยศในรัชกาลที่ ๕ อีกอย่างหนึ่งเรียกกันว่า "หีบสามสิบปี" เมื่อเจ้าจอมคนไหน(นับทั้งพระมเหสีเทวีด้วย)รับราชการสนองพระเดชพระคุณมาได้ถึง ๑๐ ปี ได้พระราชทานตลับเครื่องในกล่องหมากชุดหนึ่ง ๓ ใบเป็นบำเหน็จ เมื่อรับราชการได้ถึง ๒๐ ปี ได้พระราชทานกล่องหมากสำหรับใช้กับเครื่องในที่ได้พระราชทานแล้วนั้น เมื่อรับราชการถึง ๓๐ ปี ได้รับพระราชทานหีบหมากซึ่งสร้างขึ้นโดยเฉพาะพร้อมด้วยตลับเครื่องในสำหรับหีบนั้นด้วยอีก ๓ ใบ "หีบสามสิบปี"มีต่างกันเป็น ๒ ชั้น พระราชทานต่างกันตามเกียรติยศของนางใน ชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ชั้นที่ ๒ ทำด้วยเงินกาไหล่ทอง แต่หีบหมากพระราชทานเมื่อครบ ๓๐ ปีเป็นเงินลงยา เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้พระราชทานตลับสิบปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๐ ได้พระราชทานกล่องหมากยี่สิบปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๐ และได้พระราชทานหีบหมากสามสิบปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๐ ได้ชั้นที่ ๑ ทุกครั้ง ถ้าว่าโดยย่อเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อย่างใดอันนางในจะพึงได้พระราชทาน ท่านได้รับพระราชทานหมดทุกอย่าง


เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มีพระเจ้าลูกยาเธอ ๓ พระองค์ แต่เป็นพระองค์หญิงทั้งนั้น พระองค์ใหญ่ประสูติที่สวนนันทอุทยานในรัชกาลที่ เมื่อ ณ วันศุกร์เดือน ๙ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ ดังได้เล่ามาแล้ว เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสวยราชย์ พระราชทานนามว่า "พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิ์กัลยาวดี" พระองค์กลางประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ก่อนงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ๖ เดือน ได้พระราชทานนามว่า "พระองค์เจ้าสุวพักตร์พิไลพรรณ" พระองค์เล็กประสูติในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้พระราชทานนามว่า "พระองค์เจ้าบรรณทรวรรณวโรภาส" แต่ประหลาดอยู่ที่ที่พวกชาววังไม่มีใครเรียกพระนามตามที่ได้พระราชทาน เรียกกันแต่ว่า "พระองค์ใหญ่" "พระองค์กลาง" "พระองค์เล็ก" แม้ในเหล่าเจ้านายพี่น้องที่พระชันษาแก่กว่าก็ตรัสเรียกหญิงบรรณทรวรรณว่า"องค์เล็ก" ที่พระชันษาอ่อนกว่าก็ตรัสเรียกว่า"พี่กลาง"และ"พี่เล็ก"ทุกพระองค์ แต่พระองค์ใหญ่(ศรีวิไลลักษณ์)นั้นมีพระนามอื่นอีก ด้วยสมเด็จพระบรมชนกนาถตรัสเรียกว่า "เจ้าหนู" มาตั้งแต่แรกประสูติเมื่อเสวยราชย์แล้ว ก็ตรัสเรียกว่า "เจ้าหนู" อยู่อย่างเดิม เลยเป็นเหตุให้พระเจ้าลูกเธอซึ่งประสูติเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์แล้วพากันเรียกตามเสด็จว่า"พี่หนู" ทุกพระองค์มาจนตลอดพระชนมายุ พระนามว่า"พระองค์ใหญ่"จึงเรียกแต่ผู้อื่นนอกจากที่เป็นเจ้าน้อง

ในการที่เรียกชื่อยังมีแปลกประหลาดต่อไปอีกชื่อหนึ่ง ซึ่งควรจะเล่าด้วยเพราะ "พระองค์ใหญ่" เป็นผู้ริขึ้นเองตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ตรัสเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า "แม่ป๊ะ" และเรียกอย่างนั้นมาจนทรงพระเจริญ ฉันเข้าใจว่าจะเป็นเพราะเจ้าคุณพระประยูรวงศ์พอใจให้เรียกอยู่อย่างนั้น จึงเรียก"แม่ป๊ะ"จนติดพระโอษฐ์ เลยเป็นเหตุให้บรรดาพระเจ้าลูกเธอพากันเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า " แม่ป๊ะ" ทั้งหมด เว้นแต่ที่เป็นเจ้าฟ้านั้น สมเด็จพระชนนีตรัสสอนให้เรียกว่า "คุณป้า" ทุกพระองค์ เมื่อฉันเขียนเรื่องประวัตินี้นึกอยากรู้ว่าคำ"ป๊ะ"นั้น พระองค์ใหญ่ทรงหมายความว่ากระไร ไต่ถามผู้ที่เคนอยู่กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็บอกได้แต่ว่าเคยได้ยินแต่ไม่รู้แปลว่ากระไร จนนึกเสียดายที่ไม่ได้ถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไว้

แม้พระเจ้าอยู่หัวก็ตรัสเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ผิดกับเรียกเจ้าจอมอื่นๆ ซึ่งตรัสเรียกตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า"นาง"นำหน้าชื่อ เช่นเรียกเจ้าจอมมารดาเที่ยงว่า"นางเที่ยง" เป็นต้น แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า"นางแพ" ถ้าตรัสเรียกแก่ตัวเองเรียกว่า"แม่แพ" ถ้าตรัสแก่ผู้อื่นตรัสเรียกว่า"คุณแพ" ดังนี้เป็นนิจ แต่เมื่อคิดดูเห็นมูลเหตุคงเป็นเพราะเคยตรัสเรียกอย่างนั้นเมื่อเสด็จประทับอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบ ครั้นเสวยราชย์ก็ตรัสเรียกอยู่อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลงเพราะทรงเกรงใจ

พระราชธิดาของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ทั้ง ๓ พระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระเมตตาพระองค์ใหญ่ศรีวิไลลักษณ์มาก ดำรัสว่าเป็นพระเจ้าลูกเธอคู่ทุกข์คู่ยากมาแต่เดิม เมื่อเสวยราชย์แล้วจึงทรงยกย่องพระเกียรติยศยิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่น เช่นเมื่อโสกันต์โปรดฯให้ทำพิธีเขาไกรลาสใหญ่เหมือนอย่างเจ้าฟ้าเป็นต้น ในส่วนพระองค์เองก็มีพระอุปนิสัยโอบอ้อมอารี และเป็นผู้ใหญ่กว่าพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติ"ในเศวตฉัตร"ทั้งนั้น จึงได้เป็นหัวหน้าดูแลพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์และเป็นที่เคารพนับถือของเจ้าน้องทุกพระองค์ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๖ สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงสถาปนาเป็น กรมขุนสุพรรณภาควดี แต่เป็นกรมอยู่ปีเดียว พอถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๔๗ พระชันษาได้ ๓๗ ปี ก็ประชวรสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยมากถึงทรงพระภูษาขาวในงานพระศพ ตามเยี่ยงอย่างครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเคยทรงภูษาขาว ในงานพระศพสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงศรีสุนทรเทพ โดยตรัสว่า "ลูกคนนี้รักมาก ต้องนุ่งขาวให้" ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงพระภูษาขาวในงานพระศพพระเจ้าลูกเธอได้ยินว่าเคยมีแต่ ๒ ครั้งเท่านั้น



........................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:14:51:59 น.  

 
 
 
(ต่อ)


พระองค์กลางนั้น ฉันเห็นว่าต้องที่อาภัพเพราะเป็นพระองค์กลางเหมือนอย่างคนอื่นๆที่มี ๓ คนพี่น้อง คนกลางก็มักอาภัพเช่นเดียวกัน เพราะคุณวิเศษและลาภผลอันใดมาข้างหน้าก็ถึงพี่คนใหญ่ก่อน ถ้ามาข้างหลังก็ถึงน้องคนเล็กก่อน คนกลางคงได้ที่หลังหรือได้น้อยกว่าพี่และน้องเป็นธรรมดาดังนี้ แต่พระองค์กลางสุวพัตร์วิไลพรรณท่านมีพระสกุลสมภารอย่างหนึ่ง ด้วยพพระชันษายืนยิ่งกว่าพระองค์ใหญ่และพระองค์เล็ก ได้เสด็จอยู่อุปถากสนองคุณพระชนนีแต่พระองค์เดียว มาถึงรัชกาลที่ ๗ จนพระชันษาได้ ๕๗ ปี ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๗๓ แต่ที่ด่วนสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนได้รับทายาท และปลงศพสนองคุณพระชนนี ก็ต้องนับเนื่องอยู่ในความอาภัพด้วย

พระองค์เล็กบรรณทรวรรณวโรภาสนั้น ประสูติเมื่อเจ้าคุณพระชนนีมีบารมีเต็มเปี่ยม พระอุปนิสัยก็สมกับสมัยที่ประสูติ ตั้งแต่พอรู้ความก็ติดสมเด็จพระบรมชนกนาถกับทั้งเจ้าคุณพระชนนียิ่งกว่าเจ้าพี่ทั้งสองพระองค์ เมื่อยังทรงพระเยาว์พวกชาววังเขาเล่าว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ขึ้นไปเฝ้าเมื่อใดก็ตามติดไปด้วยเสมอ แม้นอนค้างบนพระราชมณเฑียรก็ไปบรรทมด้วยใครห้ามก็ทรงพระกันแสง แต่ที่ฉันเห็นเองนั้นตั้งแต่พระชันษาได้สัก ๓ ขวบก็ตามเสด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกเป็นนิจ ใครๆก็อุ้มไม่ได้ขี้ตระหนี่พระองค์ แต่พอคุ้นก็เล่นหัวด้วย โปรดไว้พระเกศาเปลือยและแต่งองค์เครื่องกระโปงอย่างเด็กฝรั่งเช่นเดียวกับพระองค์ใหญ่เมื่อยังทรงพระเยาว์ ถ้าทรงรถหรือทรงราชยานก็ขึ้นด้วย ถ้าทรงดำเนินก็วิ่งตาม เมื่อฉันเป็นราชองค์รักษ์เคยอุ้มตามเสด็จอยู่บ่อยๆ เมื่อพระองค์เล็กทรงพระเจริญถึงเวลาโสกันต์พอประจวบเวลาเจ้าพี่ชั้นใหญ่เป็นสาว ไม่ตามเสด็จออกข้างหน้าเหมือนแต่ก่อน พระองค์เล็กก็ได้เป็นผู้ควบคุมพระเจ้าลูกเธอชั้นเล็กแทนเจ้าพี่พระองค์ใหญ่ต่อมา มีรูปถ่ายรูปหนึ่งซึ่งเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ถ่ายด้วยกันกับพระธิดาเมื่อกำลังเป็นสาวทั้ง ๓ พระองค์ ดูรูปนั้นชวนให้นึกว่าเมื่อถ่ายรูปท่านคงชื่นใจ ด้วยได้เลี้ยงพระธิดามาจนเติบใหญ่เป็นสาวด้วยกันหมด

ถ้านึกอย่างนั้นท่านก็ชื่นใจเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อรูปนั้น อมาไม่ช้าพอพระองค์เล็กพระชันษาได้ ๑๗ ปี ก็ประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีเถาะ พ.ศ.๒๔๓๔ ผู้ที่อยู่กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในเวลานั้นเขาเล่าว่า เมื่อพระองค์เล็กสิ้นพระชนม์เจ้าคุณพระประยูรวงศ์วิโยคโศกศัลยมาก พระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงไปทอดพระเนตรเห็นถึงตกพระทัย เสด็จเข้าพยาบาลพระราชทานยาด้วยพระหัตถ์อยู่จนอาการค่อยคลายจึงเสด็จขึ้น แต่คิดดูก็เห็นเป็นธรรมดาด้วยตั้งแต่เกิดมาท่านเพิ่งประสบวิโยคทุกข์อย่างแรงกล้าสาหัส เมื่อพระองค์เล็กสิ้นพระชนม์นั้นเป็นครั้งแรก อาจเป็นเพราะถูกความทุกข์ประหารอย่างหนักในครั้งนั้น เป็นเหตุให้ท่านปลงตกหรือคิดเห็นอย่างไร

เขาว่าแต่นั้นมาถึงญาตและมิตรที่สนิทจะตายแม้จนพระองค์ใหญ่ (กรมขุนสุพรรภาควดี) สิ้นพระชนม์ภายหลังมา ๑๓ ปี ก็ไม่มีใครเห็นท่านร้องไห้ จนมีคนชั้นหลังเข้าใจว่า เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่รู้จักร้องไห้ถึงเห็นประหลาด แต่ท่านมาแพ้ธรรมชาติกลั้นร้องไห้ไว้ไม่อยู่เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ผู้ได้เห็นแก่ตาเขาเล่าให้ฉันฟังว่า เมื่อท่านออกไปเฝ้าพระบรมศพที่พระมหาปราสาท สังเกตเห็นแต่หน้าท่านเกรียมกรมระทมทุกข์ไปนั่งนิ่งอยู่ แต่น้ำตาหลั่งไหลลงอาบหน้าไม่ขาดสาย สักครู่หนึ่งก็เอาผ้าเช็ดน้ำตาเสียครั้งหนึ่งแล้วน้ำตาก็ไหลลงอีก และเช็ดอีกต่อไปไม่รู้ว่ากี่ครั้งจนกระทั่งกลับ ฟังพรรณนากิริยาที่ท่านร้องไห้ชวนให้เห็นว่า ความรักของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวเห็นจะตรึงแน่นอยู่ในใจลึกซึ้ง แม้ต่อมาอีกไม่ช้านานเมื่อฉันฟังท่านเล่าเรื่องประวัติของท่านเวลาท่านพูดถึงพระเจ้าอยู่หัว ก็รู้สึกว่าความรักของท่านยังตรึงแน่นอยู่ เห็นจะเป็นเช่นนั้นจนดับไปด้วยถึงพิราลับ

ปกติส่วนตัวเจ้าคุณพระประยูรวงศเมื่อท่านอยู่ในวังนั้น ผู้ที่อยู่กับท่านเขาเล่าว่าเมื่อสิ้นราชการในหน้าที่บนพระราชมณเฑียรแล้ว ท่านมักอยู่แต่ที่ตำหนักไม่ชอบเที่ยวพูดจาหาผู้ใดที่อื่น เว้นแต่จะต้องมีกิจการไปทำตามตำแหน่ง เช่นในการพระราชพิธีท่านไปเสมอไม่ขาด อีกอย่างหนึ่งถ้าพระเจ้าลูกเธอประสูติท่านเป็นไปเยี่ยมเสมอ ไม่เลือกว่าเจ้าจอมมารดาจะเป็นผู้ที่คุ้นกันมากหรือน้อย ด้วยท่านรักพระเจ้าลูกเธอของพระเจ้าอยู่หัวทั่วไปทุกพระองค์ แต่ถ้ามีใครไปมาหาสู่ถึงตำหนักท่านก็รับรองด้วยอัชฌาสัยไมตรีจิตทุกหมู่ ไม่ถือว่าใครเป็นเขาหรือเป็นเรา ถ้าเป็นญาตถวายตัวทำราชการฝ่ายในจะไปอยู่กับท่านๆก็รับให้อยู่ที่ตำหนักและช่วยอุปการะไม่เลือกหน้า

ส่วนการที่ออกไปนอกพระราชวัง ถ้าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสหรือแปรพระราชสำนักไปยังที่แห่งใด ท่านตามเสด็จไปเป็นนิจ แต่เวลาอยู่ในกรุงเทพฯท่านไปแต่ที่ ๓ แห่ง คือที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดชแห่งหนึ่ง ตั้งแต่เสด็จประทับอยู่ที่วังสราญรมย์จนเสด็จไปประทับอยู่วังบูรพาภิรมย์ ท่านมักไปเยี่ยมเยียนเนื่องๆเพราะท่านรักสนิทสนมมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯก็ทรงเคารพนับถือเรียกท่านว่า"คุณพี่"เป็นนิจ ที่ท่านไปนอกจากนั้นก็ที่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้ปู่อีกแห่งหนึ่ง กับบ้านเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์กับท่านผู้หญิงอิ่มบิดามารดาอีกแห่งหนึ่ง มีเรื่องเกล็ดที่เคยเล่าให้ฉันฟัง ว่าเมื่อท่านยังเป็นหม่อมอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบถ้าจะไปเยี่ยมท่านผู้ใหญ่ทั้งสองแห่งนั้น ท่านทูลลาพระเจ้าอยู่หัวแล้วให่ไปบอกท่านผู้ใหญ่ ก็ให้เรือกำปั้นเก๋งมารับท่านไปมาแต่กับบ่าวลำพังตัวเสมอ

ครั้นเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังเมื่อจะไปหาท่านผู้ใหญ่ครั้งแรก ท่านทูลลาแล้วบอกท้าวนางที่ในวัง ท้าวนางไปบอกกรมวังๆหมายรับสั่งให้จัดเรือประเทียบ มีสนมกรมวังจ่าโขลนห้อมล้อมไปเป็นหมู่ใหญ่จนรำคาญ ท่านกลับมาทูลถามพระเจ้าอยู่หัวว่า เมื่อยังเป็นหม่อมเคยทรงไว้พระราชหฤทัยให้ไปบ้านได้โดยลำพังตัว เดี๋ยวนี้เป็นเจ้าจอมไม่ไว้พระราชหฤทัยเหมือนแต่ก่อนหรืออย่างไรจึงต้องมีคนควบคุมไปเป็นกอง พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังก็ทรงพระสรวล ดำรัสสั่งท้าวนางว่าต่อไปท่านจะไปบ้านให้ไปได้โดยลำพังเหมือนอย่างเดิม อย่าให้มีพนักงานควบคุมตามแบบทางราชการ ท่านจึงไปเช่นนันได้แต่คนเดียว แต่ครั้นนานมาเมื่อพระธิดาของท่านทรงพระเจริญขึ้น ท่านเห็นว่าเป็นพระราชบุตรีจะพาติดตัวไปดดยลำพังหาควรไม่ คราวใดพระราชธิดาจะเสด็จไปด้วยท่านจึงขอให้มีหมายสั่งพนักงานไปด้วยทุกครั้ง

เครื่องบำรุงความเบิกบานสำราญใจ Hobby ของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในสมัยนั้น นอกจากเล่นหัวกับพระธิดาตามเวลา ท่านชอบการเล่น ๒ อย่างมาตั้งแต่อยู่ในพระบรมราชวังคือร้อยดอกไม้อย่างหนึ่ง กับเล่นละครอย่างหนึ่งท่านร้อยดอกไม้ในเวลาว่างเสมอทุกวันไม่ขาด ร้อยเป็นพวงมาลัยบ้าง เป็นบุหงารำไปต่างๆหรือเป็นเคื่องแต่งตัวอย่างอื่นบ้าง ถวายพระเจ้าอยู่หัวเป็นนิจ นอกจากนั้นก็ส่งไปถวายเจ้านายที่ท่านชอบพอเวียนกันไป ส่วนการละครนั้นเมื่อรัชกาลที่ ๕ ท่านเกรงพระเจ้าอยู่หัวจะไม่โปรด จึงเป็นแต่หาครูมาหัดข้าหลวงให้รำละครดูเล่น ผสมกันเป็นละครสักสองสามตัวแต่ไม่ให้ไปเล่นที่อื่น ได้ยินว่าเคยลอบไปเล่นถวายสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธ์วงศ์วรเดชทอดพระเนตรที่วังบูรพาแห่งเดียว จนถึงรัชกาลที่ ๖ ท่านจึงเล่นละครโดยเปิดเผย

เมื่อท่านเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อยู่ในวัง ท่านชอบอะไรเป็นอย่างประหลาดอย่างหนึ่ง คือ ชอบใช้บ้า ผู้อ่านอย่าตกใจบ้าที่ท่านใช้นั้นไม่ใช่บ้าอย่างที่เขาส่งโรงพยาบาล เป็นบ้าชนิดที่ยังเป็นคนรู้จักผิดชอบและการงาน อาจจะประกอบกิจธุระอย่างถูกต้อง เป็นแต่วิปลาสถลากไถลไปในอย่างอื่น ฉันเคยรู้จักบ้าคนแรกที่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ใช้ ท่านได้ตัวมาจากไหนไม่ทราบ ชื่อน้อยเรียกกันว่า"ยายบ้าน้อย" อายุสัก ๔๐ ปี สมัยนั้นฉันยังเป็นนักเรียนนายร้อยอยู่กับเจ้าพี่พระองค์กาพย์กนกรันตร์ ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ท่านใช้ให้ยายน้อยบ้าไปเฝ้าด้วยกิจธุระบ่อยๆ ฉันจึงรู้จักอาการบ้าของยายน้อยคนนั้นอยู่ข้างประหลาด แต่พอแกรู้จักใครแกก็ตั้งชื่อใหม่ แล้วเรียกชื่อที่แกตั้งนั้นทุกคนไม่เลือกหน้า

พอแกรู้จักฉัน แกก็ตั้งชื่อว่า"พระองค์น้อยโหน่ง" แต่นั้นมาแกพบที่ไหนก็เรียกว่าพระองค์น้อยโหน่งเสมอไม่รู้จักลืม ดูน่าพิศวงที่แกตั้งชื่อคนตั้งร้อยแล้วเรียกถูกตัวอยู่เสมอไม่ไขว้เขวหรือหลงลืมเลย เมื่อเขียนประวัตินี้ฉันสืบหาชื่อต่างๆที่ยายน้อยตั้ง มีคนเก่าของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ยังจำได้แต่ ๔ ชื่อ แกเรียกพระเจ้าอยู่หัวว่า "เจ้าฟ้าล้นดิน" เรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า "คุณจำปาฉายวิสูตร" เรียกสมเด็จเจ้าพระยาฯว่า "เจ้าคุณฉัตรแก้ว" เรียกเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัธน์ว่า "เจ้าคุณฉัตรเพชร" เวลาออกชื่อใครที่แกรู้จักต่อหน้าหรือลับหลังก็ตามแกเรียกชื่อที่แกตั้งอย่างหน้าตาเฉย ไม่ยอมเรียกชื่อเดิมถ้าคนอื่นไม่รู้ว่าใครก็ต้องถามกันเอง

ที่เจ้าคุณชอบใช้ยายน้อยบ้า บางทีจะเป็นด้วยสำเร็จกิจธุระได้ง่ายกว่าใช้คนดีเพราะไปถึงไหนเขารู้ว่าแกบ้าก็ไม่มีใครห้ามปรามอาจจะพบปะ และเร่งให้ผู้หลักผุ้ใหญ่รับธุระได้รวดเร็วก็เป็นได้ คนรู้จักยายน้อยบ้าทั้งข้างนอกข้างในทั่งทั้งวัง ท่านใช้อยู่หลายปีแล้วแกล้มตายหายจากไปอย่างไรฉันหาทราบไม่ ต่อมายังมีคนสัญญาวิปลาสเป็นผู้รับใช้ของเจ้าคุณฯอีกคนหนึ่ง แต่คนที่ ๒ ดูเป็นเพียง "เบาเต็ง" ไม่ประหลาดถึงยายน้อยบ้า แต่ก็ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยเมื่อลาออกจากเจ้าคุณนไปแล้ว ไปได้เป็น"คุณหญิง"อยู่นาน แล้วจึงเงียบหายไป

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มีความบกพร่องอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างแปลกประหลาดเมื่อเขียนประวัตินี้ คือพิจารณาดูกลับเห็นเป็นอัศจรรย์จึงกล่าวไว้ด้วย คือตัวท่านก็เป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ไหว้พระทำบุญให้ทานตามจารีตพุทธศาสนิกชนเป็นนิจ แต่ไมนิยมศึกษาพระธรรม ไม่พอใจไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่ไหนตั้งแต่เป็นสาวจนแก่ ข้อนี้แปลกประหลาดแต่อัศจรรย์ที่ท่านไม่ไร้คุณธรรมของพระพุทธศาสนาในอุปนิสัย ราวกับกุศลหนหลังบันดาลให้ "พระธรรม" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า"ธรรมชาติ" คือ Nature ก็ตาม ที่ปรับปรุงตัวท่านเมื่อก่อนเกิดได้บำบัดเอาธาตุอคติออกเสียจากตัวท่านหมดหรือโดยมาก แล้วจึงมาเกิด

อธิบายความที่กล่าวนี้พึ่งเห็นจากคำที่ตัวท่านเล่าเองดังกล่าวมาแล้วข้างตอนต้นของเรื่องประวัตินี้ ว่าเมื่อท่านยังเล็กบิดามารดาเมตตาปราณี เพราะท่านมีอุปนิสัยสงบเสงี่ยมไม่ชอบวิวาทบาดทะเลาะกับผู้อื่นข้อนี้แสดงว่าท่านไร้ "โทษาคติ" มาแต่กำเนิด และคุณสมบัตินั้นยังติดตัวท่านอยู่จนถึงเวลามีบุญวาสนาเพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครเกลียดชังท่าน มีแต่คนชอบทั่วไปทั้งวัง ลองคิดค้นต่อไปถึง "ฉันทาคอติ" คือความโลภ ก็เคยได้ยินแต่คนชมเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ว่าท่านไร้โลภ คบใครก็ไม่เอาเปรียบผู้อื่นมีแต่จะให้ปันบางที่ก็ถึงถูกนินทาว่าเกินไป ข้อที่ไร้ "ภยาคติ" คือความกลัวนั้น ยากที่จะหาอุทาหรณ์ในระหว่างบุคคลมาชี้แจงดังเช่นว่าท่านกลัวพระเจ้าอยู่หัวสักเพียงใดเป็นต้น แต่มีการอย่างอื่นซึ่งอาจยกมาเป็นอุทาหรณ์ ว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไร้ความกลัวด้วยเหมือนกัน อันพึงเห็นได้ในการที่ท่านเที่ยวเตร่ไปยังที่ต่างๆ แม้เมื่ออายุถึง ๘๐ ปีแล้วยังกล้าไปเมืองไกลถึงต่างด้าว และที่สุดกล้าขึ้นเครื่องบินโดยไม่เกรงกลัวภัยอันตราย ก็ควรนับว่าปราศจาก "ภยาคติ" ได้ แต่อีกข้อหนึ่งซึ่งไร้ "โมหาคติ" คือความหลงนั้น ดูเป็นข้อสำคัญในคุณวุฒิของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์มากที่เดียว ด้วยท่านมีบุญจนได้เป็นตำแหน่งพระสนมเอก พระเจ้าอยู่หัวก็โปรดปรานอย่างยิ่งมาช้านาน น่าที่จะหลงเพลิดเพลินในยศศักดิ์และความสุขสำราญ

แต่สังเกตตามเรื่องประวัติของท่าน ดูความสุขสำราญที่ท่านได้ประสบนั้นเองทำให้ท่านเป็น "ผู้รู้ประมาณ" ซึ่งเรียกในพระบาลีว่า "มัตตัญญู" สังเกตดูอายุขัยของท่านอยู่เป็นนิจเมื่อเห็นว่าอายุของท่านสูงเกินขนาดหน้าที่อย่างใด ก็ทูลขอเปลื้องหน้าที่อย่างนั้นให้ผู้อื่นที่ยังเยาว์สมกับหน้าที่ทำอย่างอื่นแทนมาโดยลำดับ และตัวท่านเองก็สมัครรับหน้าที่ตามสมควรแก่ขัยวัยของท่านตามลำดับมา ดังเช่นรับเป็นผู้เบิกพระโอษฐ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ(คือถวายน้ำนมให้ทรงประเดิมดูดเมื่อแรกประสูติ)เป็นต้น และเป็นผู้ประสิทธิ์สิริมงคลต่างๆต่อมา ท่านจึงสมบูรณ์ด้วยเกียรติยศและเป็นที่เคารพนับถือของคนทั้งหลาย มิรู้เสื่อมคลายจนตลอดอายุ

ต่อมาถึงสมัยพระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังดุสิตที่ประทับ ทรงปรารภถึงกาลภายหน้า ว่าเมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว เจ้าจอมที่มีพระเจ้าลูกเธอพระองค์ชายก็คงออกไปอยู่วังกับพระโอรส เจ้าจอมมารดาที่ไม่มีพระเจ้าลูกเธอก็เป็นอิสระแก่ตัว อยู่ไหนอยู่ได้ตามชอบใจ แต่เจ้าจอมที่มีพระเจ้าลูกเธอแต่พระองค์หญิง ก็ตกยากเพราะไม่มีวังพระราชโอรสจะอยู่และไม่มีอิสระที่จะอยู่ไหนอยู่ได้เหมือนเจ้าจอมอยู่งาน จะต้องจำใจอยู่แต่ในพระราชวัง จึงโปรดฯให้ซื้อที่ดินตามริมคลองสามเสนทางฝั่งใต้อันต่อกับบริเวณสวนดุสิต ปันเป็นที่บ้านพระราชทานเป็นสิทธิ์แก่เจ้าจอมที่มีแต่พระราชธิดาคนละบ้านเพื่อจะได้เป็นที่อยู่ในภายหน้า

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้พระราชทานก่อนคนอื่นท่านทูลขอสร้างเรือนและย้ายออกไปอยู่ที่สวนนอกตั้งแต่รัชขกาลที่ ๕ ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชทานอนุญาตตามประสงค์ ท่านจึงออกจากพระบรมมหาราชวัง ย้ายไปอยู่บ้านที่บ้านสวนนอกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๔๗ เวลานั้นอายุท่านได้ ๕๐ ปี เมื่อวันทำบุญขึ้นเรือนพระเจ้าอยู่หัว้เสด็จไปพระราชทานน้ำสังข์มงคลแล้ว ดำรัสสั่งให้สถาปนาท่านเป็น "เจ้าคุณจอมมารดา" ด้วยประกาศพระราชโองการดังนี้


ประกาศ



วังดุสิต
วันที่ ๒๑ เมษายน รัตนโกสินศก ๑๒๓



มีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าราชประเพณีแต่ก่อนมา เจ้าจอมมารดาฝ่ายในที่เป็นผู้ใหญ่แลราชนิกุลบางท่าน มีพระชนมายุแลเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย แลเป็นที่นับถือของคนในพระบรมมหาราชวังโดยมาก ยกย่องให้เรียกว่าเจ้าคุณ

บัดนี้ทรงพระราชดำริว่า เจ้าจอมมารดาแพ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณมาถึง ๓๗ ปี เป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่และเป็นบุตรีท่านอัครมหาเสนาบดี มีตระกูลสูงเนื่องในราชนิกุล สมควรจะมียศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณได้

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสั่งว่า แต่นี้ไปให้เรียกเจ้าจอมมารดาแพว่า เจ้าคุณจอมมารดา

พระบรมราชโองการตรัสสั่ง ณ วันพฤหัสบดีที่ ๒๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓


(พระปรมาภิไธย) สยามินทร




..........................................................................



นอกจากนั้นพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ท่านใช้รถหลวงและเรือหลวงไปเที่ยวเตร่ไหนๆได้ตามอำเภอใจ และดำรัสสั่งกรมทหารเรือซึ่งเป็นพนักงานรักษาเรือพาหนะของหลวงอยู่ด้วยในสมัยนั้นว่า ถ้าเจ้าคุณฯจะไปไหนก็ให้จัดพาหนะของหลวงให้ใช้ทุกเมื่อ ท่านก็อยู่ที่สวนนอกเป็นสุขสำราญสืบมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕


.....................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:14:54:21 น.  

 
 
 
(๙)

พอสิ้นรัชกาลที่ ๕ เจ้าคุรพระประยูรวงศ์ก็สิ้นศักดิ์พระสนมเอก คงแต่ยศเจ้าคุณจอมมารดาเหมือนอย่างกิติมศักดิ์ แต่เป็นบุญที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเคยทรงเห็นการแต่หนหลัง ได้จัดการอุปถัมภ์สำรองไว้ด้วยพระราชทานที่บ้านและเงินเลี้ยงชีพ เจ้าจอมจึงไม่ต้องเดือดร้อนเหมือนอย่างนักสนมเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ และบุญของท่านยังมีมาค้ำชูอีกทางหนึ่งด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทรงนับถือมากมาแต่ยังทรงพระเยาว์ ได้เสวยราชย์ก็ทรงอุปการะท่านด้วยประการต่างๆเป็นต้นแต่พระราชทานเครื่องยศศักดิ์ เช่นเข็มข้าหลวงเดิม เหรียญรัตนาภรณ์ เข็มพระปรมาภิไธย เข็มพระบรมรูป เสมาพระปรมาภิไธย ล้วนชั้นที่ ๑ ประดับเพชร กับเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คงใช้รถหลวงและเรือหลวง เหมือนอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถได้พระราชทานมาแต่ก่อน

นอกจากนั้นโปรดฯให้เข้าเฝ้าแหนในราชสำนักเช่นเวลามีลครสมัคร ก็โปรดฯให้เชิญท่านเข้าไปดูเนืองนิจด้วยทราบว่าท่านชอบลคร ข้างฝ่ายเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็มีความสวามิภักดิ์รักใคร่ในพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยิ่งขึ้น การอันใดซึ่งท่านจะสนองพระเดชพระคุณได้ตามกำลังของท่านๆก็ทำถวายทุกอย่าง แม้จนเคยร้อยดอกไม้ถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาแต่ก่อนอย่างไร ท่านก็ร้อยถวายสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อมาเสมอเป็นนิจ ส่วนการลครนั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ท่านได้ช่องไม่เกรงความผิด ก็ขยายออกเป็นลครโรงใหญ่ให้เล่นออกงานโดยเปิดเผย แต่ไม่เล่นหาผลประโยชน์เป็นแต่เล่นดูเองและชอบเอาไปช่วยงานของเจ้านาย และผุ้อื่นที่ท่านนับถือมาเสมอ

ถึงปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อายุครบ ๖๐ ปี มีงานแซยิดฉลองอายุที่บ้านสวนนอก ก็มีผู้คนยินดีพากันไปช่วยมากในงานนั้น ทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระเจ้าพี่น้องเธอมีสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นต้น ก็ทรงรับช่วยจัดการต่างๆจนเป็นงานใหญ่นานๆจะมีสักครั้ง

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๖๔ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯให้เลื่อนเกียรติยศท่านขึ้นเป็นเจ้าคุณชั้นพิเศษเฉพาะตัวประกาศพระบรมราชโองการในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ดังนี้


ประกาศ


เลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพ ขึ้นเป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์



มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดำรัสเหนือเกล้าฯสั่งว่าเจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นผู้ได้มีความดีความชอบมาเป็นอันมาก เริ่มต้นสมเด็จพระอัยกาธิราชได้ดำรัสขอมาพระราชทานเป็นบาทบริจาริกาในสมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขตลอดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯชุบเลี้ยงไว้ในตำแหน่งพระสนมเอกเป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณด้วยความซึ่อตรงจงรักภักดีสุจริตเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งยั่งยืนตลอดมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯยกย่องให้มียศบรรดาศีกดิ์เป็นเจ้าคุณจอมมารดา เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๗ มีความดีความชอบแจ้งอยู่ในกระแสพระบรมราชโองการนั้นแล้ว เจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นผู้มีหฤทัยสัตย์ซื่อมั่นคงอยู่ในความกตัญญูกตเวทีต่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอมาตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ ๕

แต่ส่วนความดีความชอบของเจ้าคุณจอมมารดาแพ ซึ่งได้มีมาแล้วเฉพาะในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เริ่มแต่พระบรมราชสมภพ ได้เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์ปฐมฤกษ์แห่งความเจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลเป็นเบื้องต้นสืบมา และทั้งเจ้าคุณจอมมารดาแพมีความจงรักภักดีเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มาเป็นอย่างนิ่ง จนได้ทรงคุ้นเคยสนิทแต่ดั้งเดิมมา ครั้นได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่าเจ้าคุณจอมมารดาแพมีความจงรักสวามิภักดิ์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยั่งยืนเสมอ มีกมลจิตซื่อสัตย์สุจริตนับถือพระบรมราชวงศ์ และโอบอ้อมอารีแก่ญาติวงศ์ตลอดจนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั่วไป ประกอบทั้งมีอัชญาสัยและมารยาทเรียบร้อยเป็นอันดี สมกับที่เป็นผู้ที่ได้เนื่องอยู่ในราชนิกูลอันมีศักดิ์ เป็นที่ทรงเคารพนับถือนัก สมควรจะเลื่อนยศบรรดาศักดิ์เพิ่มเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็น "เจ้าคุณพระประยูรวงศ์" จงเจริญชนมายุพรรณสุขพลศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลธรสารสมบัติบริวาร สมบูรณ์ทุกประการเทอญ

พระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯดำรัสสั่ง ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้


..........................................................................



เมื่อทรงตั้งเจ้าคุณพระประยูรวงศ์แล้ว ต่อมาอีก ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ อายุท่านครบ ๗๐ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดฯให้ทำพิธีฉลองอายุ เป็นของพระองค์ทำพระราชทานที่ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง เริ่มงาน ณ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พระสงฆ์สวดณวคหายุสมธรรม และมีการเลี้ยงผู้ไปช่วยงานที่ในศาลาสหทัยนั้น แล้วมีลครของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เล่นที่โรงปลูกขึ้นใหม่ในสนามหน้าศาลาสหทัยคืนหนึ่ง วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พระสงฆ์เท่าจำนวนอายุสวดพระปริตรในศาลาสหทัยและมีการเลี้ยงเหมือนวันก่อนแล้วมีโขนหลวงอีกคืนหนึ่ง ถึงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน เวลาเช้าเลี้ยพระสงฆ์ที่ได้สวดมนต์ทั้งสองวันในศาลาสหทัย เวลาค่ำมีลครบรรดาศักดิ์เล่นที่สวนศิวาลัย ในการเลี้ยงเฉพาะแต่ญาติและมิตรที่สนิทของท่านผู้เป็นเจ้าของงาน ในงานฉลองอายุเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ครบ ๗๐ ปีครั้งนั้น ทรงพระกรุณาโปรดฯให้พิมพ์หนังสือเรื่องประชุมบทลครดึกดำบรรพ์ พระราชทานแจกเป็นมิตรพลีด้วย

ถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อพระนางเจ้าสุวัฒนาทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสมอบหน้าที่ ให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นผู้รับและเบิกพระโอษฐ์ กับทั้งรับเสด็จพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติใหม่เมื่อสมโภช ๓ วัน แต่ถึง พ.ศ.๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรหนักเมื่อเวลาพระเจ้าลูกเธอประสูติ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็เข้าไปประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวังตามรับสั่ง ครั้นถึงวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ประสูติเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตน์ฯท่านรับและเบิกพระโอษฐ์ถวายแล้ว รุ่งขึ้นก็อุ้มพาขึ้นไปเฝ้าสมเด็จพระบรมชนกนาถบนพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้วยแพทย์คาดกันว่าจะเสด็จสวรรคตในไม่ช้า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทอดพระเนตรเห็นพระราชธิดาเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น แล้วก็เสด็จสวรรคตเมื่อเวลา ๑ นาฬิกา วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน สิ้นรัชกาลที่ ๖ เพียงนั้น

ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเคารพนับถือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์มาก แต่พระองค์ไม่ทรงคุ้นเคยกับท่านเหมือนอย่างพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเพราะเมื่อท่านอยู่ในวังยังทรงพระเยาว์นัก อีกประการหนึ่งเมื่อเปลี่ยนรัชกาลใหม่ในราชสำนักแก้ไขขนบธรรมเนียมและเปลี่ยนตัวพวกราชเสวกชั้นผู้ใหญ่ที่ท่านเคยคุ้นออกจากตำแหน่งไปเสียหายคนๆใหม่ที่เป็นแทนท่านไม่รู้จักโดยมาก เพราะเหตุนั้นในรัชกาลที่ ๗ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงเหินห่างจากราชสำนักมิใคร่ได้เฝ้าแหนเหมือนแต่ก่อน

ในตอนนี้ที่ท่านเพิ่มการเที่ยวเข้าในกิจวัตรที่ท่านชอบอีกอย่างหนึ่งนอกจากร้อยดอกไม้กับเล่นลคร ที่จริงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ได้พระราชทานอนุญาตไว้ตั้งแต่แรกท่านออกไปอยู่สวนนอกว่าจะไปเที่ยวเตร่ที่ไหนก็ได้ และให้ใช้รถหลวงและเรือหลวงได้ด้วย แต่ในชั้นนั้นท่านเป็นแต่ชอบลงเรือพายไปเที่ยวตามเรือกสวนในกรุงเทพฯ เพราะตัวท่านยังเป็นพระสนมเอกจะออกไปเที่ยวถึงหัวเมืองลำบาก ด้วยต้องรักษายศศักดิ์ของนางใน ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อท่านพ้นจากเป็นนางในและอายุล่วง ๖๐ ปีแล้วมีมูลเหตุเกิดขึ้นด้วยตัวท่านป่วยอาการมากครั้งหนึ่ง หมอแก้ไขพอค่อยคลายแล้วแนะให้ไปเที่ยวทางทะเลหาอากาศบริสุทธิ์บำรุงตัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯให้เรือหลวงรับท่านไปเที่ยวทางชายทะเลตะวันออกถึงเมืองจันทบุรี ท่านไปหายป่วยมีกำลังเป็นปกติอย่างเดิมกลับมา

แต่นั้นท่านก็เลื่อมใสในการแปรสถานเที่ยวหาอากาศบริสุทธิ์รักษาตัว พอรู้สึกไม่สบายเมื่อไรก็ลงเรืออย่างมีเก๋งเป็นที่อยู่ให้เรือไฟจูงไปจอดสำนักอยู่ตามที่มีอากาศดีหลายๆวันจนสบายแล้วจึงกลับ ชั้นแรกมักชอบไปสำนักที่เมืองสมุทรปราการ หรือมิฉะนั้นก็ที่วัดเสาทองเหนือเมืองปากเกร็ด แขวงจังหวัดนนทบุรี ถึงตอนนี้ท่านได้เจ้าพระยารามราฆพกับพระยาอนิรุธเทวาเมื่อพ้นจากหน้าที่ในราชสำนักมาช่วยอุปการะ เจ้าพระยารามฯเอาเป็นธุระในการเที่ยว พระยาอนิรุธฯรับดูแลฝึกซ้อมลคร พอประจวบสมัยเมื่อพวกผู้ดีชาวกรุงเทพฯพากันไปสร้างที่สำนักสำหรับแปรสถานที่หัวหิน ท่านก็ลงไปเที่ยวดูตามชายทะเลทางนั้น

แต่ไม่ชอบหัวหินไปชอบอ่าวเกาะหลักตรงที่ตั้งเมืองประจวบคีรีขันธ์ จึงซื้อที่ดินแห่งหนึ่งแล้วสร้างบ้านเรือนอย่างถาวรขึ้นไว้ สำหรับแปรสถานลงไปสำนัก ส่วนการเที่ยวเตร่ตามหัวเมืองใกล้กรุงเทพฯท่านก็สร้างพาหนะทั้งเรือที่อยู่และเรือใช้ กับทั้งเรีอไฟและเรือยนต์เป็นของท่านเองไม่ต้องอาศัยใช้ของหลวงต่อไป การเที่ยวเตร่และแปรสถานของท่านก็เป็นกำหนดแน่นอน พอขึ้นปีใหม่เมื่อท่านรดน้ำในเดือนเมษายนเสร็จแล้ว พอถึงเดือนพฤษภาคมก็แปรสถานลงไปเมืองประจวบคีรีขันธ์ชอบไปมาด้วยเรือเมล์ไม่ใช้รถไฟ ด้วยท่านขนครัวและพวกลครลงไปด้วย ไปอยู่ ๔ เดือนเต็มจนถึงปลายเดือนสิงหาคมจึงกลับกรุงเทพฯ อยู่ในกรุงเทพวฯจนสิ้นฤดูฝน หรือถ้าจะเที่ยวในตอนปลายฤดูฝนก็ไปตามหัวเมืองชั้นใน ที่เหมาะแก่การเที่ยวในฤดูน้ำ ถึงฤดูหนาวไปเที่ยวถึงหัวเมืองไกลบ้าง มิฉะนั้นก็ไปเที่ยวตามเมืองดอนชั้นในที่รายรอบกรุงเทพฯ

ท่านเคยไปเที่ยวหัวเมืองไกลถึงเมืองเชียงราย เชียงแสน เชียงใหม่ แล้วลงเรือล่องแก่งกลับมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ ครั้งหนึ่ง เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านปรารภจะใคร่ไปเยี่ยมเจ้านายที่เสด็จอยู่ต่างด้าว ขึ้นรถไฟที่เมืองประจวบคีรีขันธ์ไปยังเมืองปีนัง เวลานั้นฉันอยู่ที่นั่น เที่ยวเมืองปีนังแล้วลงเรือไปเมืองสิงคโปร์ แล้วเลยไปเฝ้าเยี่ยมเยียนสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิตที่เมืองบันดุงในเกาะชวา ก็เมืองบันดุงนั้นอยู่บนเขาลึกเข้าไปในกลางเกาะ ทางไปจากเมืองบาเตเวียซึ่งเป็นเมืองหลวง ถ้าไปรถไฟหรือรถยนต์ราว ๓ ชั่วโมงจึงถึง แต่ถ้าใช้เครื่องบินไปมาได้ใน ๔๕ นาที เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไป ไปรถยนต์ ขากลับทูลกระหม่อมท่านตรัสถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ว่าจะลองขึ้นเครื่องบินหรือไม่ เวลานั้นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อายุ ๘๐ ปี แต่ไม่กลัวภัยใคร่จะลองขึ้นเครื่องบิน ทูลกระหม่อมจึงทรงจัดให้กลับจากบันดุงด้วยเครื่องบินมาจนถึงเมืองบาเตเวีย เขาว่าท่านชอบด้วย

กลับจากชวาครั้งนั้นยังเลยไปเที่ยวถึงเกาะสุมาตราด้วย แล้วจึงกลับกรุงเทพฯดูเป็นที่น่าพิศวง ที่ท่านอายุถึง ๘๐ แล้ว ยังมีกำลังทนทานการเที่ยวได้ถึงอย่างนั้น และยังไม่เข็ดด้วยต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ เมื่อท่านอายุได้ ๘๓ ปีไปยังเที่ยวทางไกลอีก ครั้งนี้ขึ้นรถไฟไปเมืองนครราชสีมา แล้วเลยขึ้นไปถึงเมืองหนองคาย เมื่ออยู่ที่เมืองหนองคายเลยออกนอกพระราชอาณาเขตข้ามไปดูเมืองเวียงจันทร์ด้วยแล้วจึงกลับมา ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๓ เมื่อท่านอายุได้ ๘๖ ปี ยังไปเที่ยวทางไกลจนถึงเมืองจันทบุรีอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่สุดในการเที่ยวทางไกลของท่านเพียงนั้น

เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๗ อายุเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ๘๐ ปี ท่านประสงค์จะฉลองอายุด้วยบำเพ็ญการกุศลเกื้อกูลสาธารณประโยชน์ แทนมีงานอย่างเมื่อครั้งฉลองอายุครบ ๖๐ ปี และ ๗๐ ปี ท่านทราบว่านรัฐบาลใคร่จะสร้างสุขศาลาสำหรับช่วยรักษาราษฎให้พ้นความไข้เจ็บ และจะสร้างสุขศาลานั้นตรงที่จวนของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ปู่ของท่าน ก็มีความยินดีรับบริจาคทรัพย์ให้สร้างตึก ๒ ชั้น อันเป็นตัวสุขศาลาหลังหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องใช้สำหรับสุขศาลา เช่นไฟฟ้าและท่อน้ำประปาเป็นต้น ตลอดจนทำถนนในบริเวณและรั้วรอบ และสร้างเรือนพักพนักงานภารโรงรักษาสถานด้วยอีกหลังหนึ่ง การสร้างสุขศาลานี้ดูเหมือนท่านประสงค์จะให้สร้างที่ตรงเรือนสมเด็จเจ้าพระยาฯอยู่ด้วย ที่ตรงนั้นมีเรือนไม้ของโรงเรียนศึกษานารีปลูกอยู่หลังหนึ่ง ท่านยอมบริจาคทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกโสตหนึ่งเพื่อให้รื้อเรือนไม้นั้นย้ายไปปลูกที่อื่น จำนวนเงินที่ท่านบริจาคจึงรวม ๑๘,๓๔๔ บาทด้วยกัน สร้างสำเร็จเมื่อเริ่มรัชกาลที่ ๘ กระทรวงมหาดไทยให้มีงานเปิดสุขศาลาเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ เชิญเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไปเป้นประธานรับความขอบคุณ และขอขนานนามสุขศาลานั้นว่า "ศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์"แล้วรัฐบาลจัดการให้เป็นสุขศาลาสืบมาปรากฎอยู่จนทุกวัน

แม้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์แก่ชราใกล้จะถึง ๙๐ ปี ถ้าท่านเห็นว่าสามารถจะทำอะไรให้เป็นคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง หรือแม้แก่บุคคลอื่นได้ ก็ยังไม่เพิกเฉยจะกล่าวพอให้เป็นตัวอย่างแต่เรื่องหนึ่ง ดังเช่นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ นายยกรัฐมนตรีประกาศชักชวนสตรีไทยให้เปลี่ยนเครื่องแต่งตัว เช่นเปลี่ยนตัดผมสั้นเป็นไว้ยาว เปลี่ยนนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งถุง และให้ใส่เกือกใส่หมวกเป็นต้น ได้ยินว่าไปชวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ให้เป็นผู้นำสตรีที่มีบรรดาศักดิ์ให้เปลี่ยนแปลง ท่านนายกฯจะเคยรู้เรื่องต้นหนหลังอย่างไรฉันไม่ทราบ แต่เห็นน่าชมที่เลือกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในการเช่นนั้นเป็นเหมาะกว่าใครหมด เพราะท่านเป็นคนกล้าเคยออกหน้านำเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวมาแล้วตั้งแต่ยังเป็นสาว ดังได้เล่ามาข้างตอนต้นประวัตินี้ ท่านก็ยินดีรับช่วยและเอาตัวของท่านเองออกหน้าเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวตามอย่างที่ต้องการ ก็มีผลให้ผู้อื่นทำตามแพร่หลายเพราะฉะนั้นท่านจึงได้รับความนับถือของรัฐบาล และได้รับเชิญไปเข้าสมาคมและไปเป็นประธานในการให้รางวัลต่อมาเนืองๆ เมื่อท่านถึงพิราลัยพวกคณะวัฒนธรรมสตรีก็ไปทำบุญที่หน้าศพสนองคุณท่านที่ได้มีมาแต่หนหลัง

เรื่องประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ตอนใกล้จะถึงพิราลัย ปรากฏว่าท่านอพยพลงเรือแปรสถานขึ้นไปจอดสำนักที่วัดเสาธงทองตั้งแต่เดือธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อเดือนมกราคมป่วยไปครั้งหนึ่งด้วยมีอาการคลื่นไส้และบวมที่ท้อง รักษาพยาบาลกันมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็หายป่วย ครั้นเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ผู้ที่อยู่ด้วยสังเกตเห็นว่าท่านอ่อนเพลียลงผิดปกติ จะให้ท่านกลับมารักษาตัวในกรุงเทพฯแต่แรกท่านไม่สมัครจะกลับ แต่อ้อนวอนกลับลงมาได้เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม มาจอดเรืออยู่ที่บ้าน มล.อนิรุธเทวา หมอแก้ไขอาการที่อ่อนเพลียก็ไม่คลายขึ้น ถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม เกิดมีอาการไข้ ปรอทขึ้นถึง ๑๐๓ จึงเชิญให้ท่านขึ้นจากเรือย้ายไปอยู่เรือนแพ ใครไปเยี่ยมท่านก็พูดจาปราศรัยได้แต่อาการอ่อนเพลียนั้นหนักขึ้น ถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ตอนเช้าอาการดูแจ่มใสดีขึ้น ถึงพูดเล่นกับเด็กๆได้ แต่ตกบ่ายกลับอ่อนเพลียหนักลงจนถึงเวลา ๒๐ นาฬิกาก็สิ้นใจ เหมือนกับผลไม้ที่งอมหล่นไปด้วยไม่มีทุขก์เวทนาอย่างหนึ่งอย่างใด

เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ถึงพิราลัยอายุ ๙๐ ปีหย่อนอยู่ ๔ เดือน เชิญศพกลับไปยังบ้านสวนสุพรรณในค่ำวันนั้น รุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ มีการพิธีหลวงอาบน้ำและเชิญศพเข้าโกศ ได้พระราชทานโกศประกอบรองกุดั่นน้อยเป็นเกียรติยศเสมอศักดิ์สมเด็จเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดฯให้ทำการศพเป็นงานหลวงตั้งแต่วันนั้น มีทำบุญสัตมวารและปัญญาสมวารที่หน้าศพเป็นต้นไปจนพระราชทานเพลิงศพที่พระเมรุในสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ด้วยทรงยกย่องเกียรติยศและคุณงามความดีของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่ได้มีมาแต่หนหหลัง สิ้นประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เพียงเท่านี้

ฉันใคร่จะขอขอบคุณผู้ได้ช่วยฉันในการแต่งเรื่องประวัตินี้ แถลงไว้ให้ปรากฏ คือ มล.รามราฆพ พึ่งบุญ คนหนึ่ง มล.อนิรุธเทวา พึ่งบุญ คนหนึ่ง คุณท้าวภัณฑสารนุรักษ์(เพิ่ม)ซึ่งเคยเป็นนางในร่วมสมัยกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์คนหนึ่ง คุณเชย บุนนาค ธิดาพระยาประภากรวงศ์(ชาย)ซึ่งเป็นหลานรักเคยอยู่กับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์มาตั้งแต่ในวังคนหนึ่ง ทั้ง ๔ นี้ฉันได้เชิญมาซักไซ้ไต่ถามคนละหลายครั้งได้ให้ความรู้เรื่องประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นประโยชน์แก่ฉันมาก ที่สุดต้องขอบคุณท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งเลื่อนกำหนดงานศพเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ออกไป เพื่อให้ฉันมีเวลาแต่งเรื่องประวัติได้สำเร็จ มิฉะนั้นท่านทั้งหลายก็เห็นจะไม่ได้อ่านเรื่องประวัตินี้



(เซ็นพระนาม) ดำรงราชานุภาพ



วังวรดิศ
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๘๖



...........................................................................................................................................................


เพชรพระมหามงกุฎ - เจ้าคุณพระประยูรงวงศ์ (แพ)
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:14:55:30 น.  

 
 
 
มาอ่าน อิอิอิ
 
 

โดย: NickyNick วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:10:55:25 น.  

 
 
 
มาอ่านก๊าบ โห ตาลาย
 
 

โดย: orcahappy (orcahappy ) วันที่: 23 มีนาคม 2550 เวลา:19:05:52 น.  

 
 
 
สวัสดีครับพี่นิค
สวัสดีครับ คุณ orcahappy

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 29 มีนาคม 2550 เวลา:13:21:37 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ
เข้ามาอ่านนะครับ
ขอบคุณที่เอาประวัติศสตร์น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง
จะตามอ่านต่อไปนะครับ
 
 

โดย: Monsieur Histoire วันที่: 18 พฤษภาคม 2550 เวลา:1:12:00 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ คุณ Monsieur Histoire

ขออภัยนะครับ เพิ่งเช็คคอมเม้นท์
ยินดีครับ "วิชา ความรู้ จะมีค่าก็ต่อเมื่อถูกถ่ายทอด" ครับ
บุญกุศลที่เกิดขึ้น เป็นส่วนของผู้ประพันธ์ครับ
ใน Blog นี้ถวายเป็นพระกุศลในองค์สมเด็จฯ
ผมเป็นแค่พนักงานหยิบหนังสือเท่านั้น
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 31 พฤษภาคม 2550 เวลา:17:00:27 น.  

 
 
 

สุดยอดค่ะ..
 
 

โดย: Tante-Marz วันที่: 15 กรกฎาคม 2550 เวลา:19:09:31 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com