กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว


...............................................................................................................................................

พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุธามณี ตรีพิธเพ็ชรรัตนาลงกฎ อรรคราโชรสวรยศวิบุลย อดุลยเดชมหาสุขุมาลย์ วงศวโรดม บรมราชกุมาร คือพระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศรมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จเฉลิมพระราชมนเทียรในพระบวรราชวัง นับตามพระราชวงศ์นี้นั้น พระองค์เป็นพระราชบุตรที่ ๕๐ หรืออีกแอย่างหนึ่ง เป็นที่ ๒๗ ตามจำนวนนับแต่พระองค์ที่เป็นพระราชกุมาร ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ ๒ ในพระบรมราชวงศ์นี้ และเป็นพระโอรสที่ ๓ ตามจำนวนซึ่งประสูติเป็นพระองค์ หรือเป็นที่ ๕ ตามจำนวนซึ่งตั้งพระครรภ์ ในกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ตั้งพระครรภ์มาแต่เดือนอ้าย ปีเถาะนักระษัตรนพศก จุลศักราช ๑๑๖๙ เป็นปีที่ ๒๖ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรในแผ่นดินนั้นอยู่ ครั้นเมื่อพระราชบุตรพระองค์นี้ตั้งพระครรภ์ขึ้นได้ ๔ เดือน ก็ได้เลื่อนฐานันดรราชอิสริยยศ อุปราชาภิเษกเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในแผ่นดินนั้น

ครั้นพระครรภ์ถ้วนทศมาสก็ประสูติในวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีมะโรงนักระษัตรสัมฤทธิศก จุลศักราช๑๑๗๐ เป็นปีที่ ๒๗ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เวลา ๕ นาฬิกาแต่เที่ยงคืนวันนั้น พระอาทิตย์สถิตราศีสิงห์ พระพุทธ พระเสาร์ พระลักขณาอยู่ราศีสิงห์ พระเคราะห์ทั้ง ๓ อยู่ร่วมราศีกัน พระจันทร์ พระพฤหัสบดี ๒ พระเคราะห์อยู่ราศีกุมภ์เล็งพระลักขณา พระอังคาร พระราหู ๒ พระเคราะห์อยู่ราศีดุลย์เป็นโยคแก่พระลักขณา แต่พระเสาร์อยู่ราศี การประสูติครั้งนี้เป็นไปตามกาลตามสมัย ที่พระราชวังเดิมปากคลองบางกอกใหญ่ ครั้งนั้นเรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ อยู่ในกำแพงกรุงธนบุรีโบราณ

เมื่อพระชนมายุพระราชกุมารได้ ๑๓ เดือนหย่อนอยู่ ๗ วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถ ซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลอยู่ในเวลานั้น ก็ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชบรมราชาภิเษก ในวันอาทิตย์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเส็งเอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พระราชกุมารพระองค์นี้ ราชบริพารก็ได้เชิญเสด็จตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถมาในพระบรมมหาราชวัง แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ก่อนแต่วันพระบรมราชาภิเษกขึ้นไปได้ ๑๐ วัน ทรงพระเจริญอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนพระชนมายุได้ ๑๒ ขวบกับ ๖ เดือน ก็ได้รับมงคลการโสกันต์ในพระราชพิธีใหญ่ อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต แต่วันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอกฉศก จุลศักราช ๑๑๘๖ พระราชกุมารพระองค์นี้มีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีหน่อยอยู่เดือนหนึ่ง ได้เสด็จกลับคืนไปอยู่พระราชวังเดิม

ได้ทำราชการในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความชอบจึ่งโปรดทรงตั้งให้เป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ปรากฏพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ได้บังคับบัญชาว่ากล่าวกรมทหารแม่ปืนหน้า ปืนหลัง และญวนอาสารบ แขกอาสาจาม แต่งกำปั่นเป็นเรือรบบางลำ และได้รับอาสาราชการเป็นแม่ทัพออกไปรบญวนครั้งหนึ่ง เมื่อปีฉลูนักระษัตรตรีศก จุลศักราช ๑๑๒๓ เป็นปีที่ ๑๙ ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประชวรตั้งแต่เดือนอ้ายปีจอโทศก จุลศักราช ๑๒๑๒ มาเสด็จสวรรคตในวันพุธ เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ปีกุนยังเป็นโทศก

พระราชวงศานุวงศ์ และท่านเสนาบดี และข้าราชการเป็นอันมาก ปรึกษาพร้อมกันถวายราชสมบัติและแผ่นดิน แด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ เพื่อว่าพระองค์ใหญ่จะได้พระบรมราชาภิเษกในพระบรมมหาราชวัง และพระองค์น้อยจะได้รับพระบวรราชภิเษกในพระบวรราชวัง พระองค์ใหญ่นั้นคือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระองค์น้อยนั้น คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ท่านทั้งปวงพร้อมกันเชิญเสด็จพระองค์ใหญ่เข้ามารักษาพระบรมมหาราชวังอยู่แต่ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนยังเป็นโทศก พระองค์น้อยได้เสด็จไปอยู่ในพระบวรราชวัง แต่ ณ วันศุกร์ เดือน ๖ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓

พระองค์ใหญ่เสด็จเถลิงถวัลยราชรับพระบรมราชาภิเษก ในวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จุลศักราช ๑๒๑๓ ทรงพระนามในพระสุพรรณบัฎว่าสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธสมมติเทพยพงศ วงศาอิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาธรรมราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามใหญ่ที่ ๔ ในพระบรมราชวงศ์นี้ จึงโปรดให้ตั้งการพระบวรราชาภิเษกในพระบวรราชวัง และพระราชทานพระบวรราชาภิเษก มีพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ มหันตวรเดโชไชย มโหฬารคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจักรพรรดิราช บวรนาถบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รับพระราชบวรราชโองการอย่างสมเด็จพระเจ้าเอกาทศรถ ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเจ้าเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเก่า

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อได้พระบวรราชาภิเษกแล้ว ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระบวรราชวัง ซึ่งชำรุดทรุดโทรมอยู่แต่ก่อน แก้ไขให้งามดีเป็นปรกติดังเก่าบ้าง ยิ่งกว่าเก่าบ้าง ได้จัดการทหารและเครื่องศัสตราวุธสรรพรณยุทโธปการขึ้นสำหรับแผ่นดินเป็นอันมาก ได้ทรงสร้างเรือรบกลไฟชื่ออาสาวดิรศลำหนึ่ง ชื่อยงยศอโชฌิยาลำหนึ่ง ขึ้นสำหรับพระนคร เป็นความชอบแก่แผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ทรงพระเจริญวัยมาจนถึงปีวอกโทศก จุลศักราช ๑๒๒๒ มีพระบุตรพระราชธิดาเป็นอันมาก นับถึง ๖๓ พระองค์ แต่สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังพระเยาว์ ๓๓ พระองค์ ยังคงอยู่ ๓๐ พระองค์ พระองค์เจ้าชาย ๑๖ พระองค์ พระองค์เจ้าหญิง ๑๔ พระองค์

ตั้งแต่ปลายปีระกาตรีศก จุลศักราช ๑๒๒๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรมีพระอาการต่างๆไปไม่เป็นปรกติ ไม่สบายพระองค์สืบๆ มา จนถึงเดือน ๖ ปีฉลูสัปตศก จุลศักราช ๑๒๒๗ ทรงพระประชวรมาก พระกายทรุดโทรมพระกำลังหย่อนลง แพทย์หลวงหลายพวกหลายเหล่าถวายพระโอรสแก้ไข พระอาการคลายบ้างแล้วทรุดไปเล่า จนถึงวันอาทิตย์ เดือน ๒ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก เวลาเช้า ๓ โมง คือ ๙ นาฬิกาเที่ยงคืน เสด็จสวรรคตเมื่อเวลาพระอาทิตย์สถิตย์ราศีธนูองศา ๒๕ สิริพระชนมายุตามจันทรคติอย่างชาวสยามใช้ ได้ ๕๗ ปีกับ ๕ เดือนกับ ๕ วัน นับเป็นวันได้ ๒๐๙๔๓ กับเศษอีก ๔ ชั่วโมง

เมื่อทรงพระประชวรหนักใกล้จะเสด็จสวรรคต ไม่ได้ทรงสั่งการอันหนึ่งอันใดให้ลำบากพระราชหฤทัย ไว้วางพระราชอัธยาศัยแสดงการทรงเชื่อถือเป็นหนึ่งว่า สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชซึ่งดำรงยุติธรรม จะทรงพระราชดำริแล้วดำรัสการทุกสิ่งทุกอย่างสมควรแก่เหตุผลโดยยุติธรรม และราชการแผ่นดิน ไม่ต้องทรงพระวิตก เพราะเคยเห็นการที่ชอบเป็นมาแล้วแต่หลังนั้นเป็นอันมาก

ท่านทั้งปวงอ่านเรื่องนี้แล้วจงปลงธรรมสังเวชเถิด ว่าสมบัติวิบัติทั้งปวงเป็นความทุกข์สำหรับสงสารวัฏ ความตัดอาลัยและความกำหนัดในของทุกอย่าง เพื่อออกจากทุกข์ทั้งปวงเป็นความดีแท้แล.


ราชสกุลในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว




Create Date : 19 กันยายน 2550
Last Update : 19 กันยายน 2550 11:29:38 น. 0 comments
Counter : 3460 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com