กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว





พระราชชายา เจ้าดารารัศมี



.........................................................................................................................................................



พระราชชายา เจ้าดารารัศมี


ในจำนวนเจ้าจอมมารดา ซึ่งเป็นพระสนมเอกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มีอยู่มากด้วยกัน แต่ผู้ที่ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษและเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ไมตรีอันดีระหว่างเจ้านายทางเหนือ และเจ้านายของราชวงศ์จักรีให้สนิทสนมด้วยกันแล้ว เจ้านายพระองค์นั้นได้แก่ เจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นผู้มีพระเกียรติสูงพระองค์หนึ่งของเจ้านายฝ่ายเหนือ และได้รับสถาปนาเป็นพระราชชายาในตอนปลายรัชกาลที่ ๕

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงเมืองนครเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยในปัจจุบันนี้ พระองค์เป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าแม่ทิพเกสร เมื่อยังทรงพระเยาว์นั้นศึกษาอักษรไทยเหนือไทยใต้ ทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมวัตรประเพณีอย่างดียิ่ง

ครั้น ณ วันจันทร์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้ตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรัชกาลที่ ๕ ณ กรุงเทพฯ จึงได้อยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเป็นเจ้าจอม สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเป็นการรับรองในครั้งนี้ด้วย และเมื่อประสูติพระราชธิดา คือพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี แล้ว โปรดเกล้าฯให้เป็นพระสนมเอก

ตอนปลาย พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อพระองค์เสด็จไปเยี่ยมนครเชียงใหม่เป็นครั้งแรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น “พระราชชายา”

เจ้าดารารัศมีทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นอย่างดีตลอดมา นอกเหนือไปจากนั้นก็ยังทรงสนิทสนมกับพระบรมวงศ์เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์ เป็นที่รักใคร่ในประดาเจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมอื่นๆ ตลอดจนกระทั่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วไปด้วยพระอัธยาศัยละมุนละม่อม เต็มไปด้วยไมตรีต่อบุคคลทั่วไปนั่นเอง ซึ่งช่วยให้ความสัมพันธ์อันดีงาม และเชื่อมโยงระหว่างทางกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่ให้ใกล้ชิดต่อกันโดยปริยาย

เจ้าดารารัศมีมีพระวรกายค่อนข้างสูง วงพักตร์อันงดงามนั้นแย้มสรวลอยู่เนืองนิตย์ เมื่อดำรงตำแหน่งพระสนมเอก และประทับอยู่ในวังดุสิตนั้น ทรงไว้พระเกศายาว ปรากฏว่าพระเกศาของพระองค์เมื่อปล่อยแล้วจะสยายยาวถึงข้อพระบาททีเดียว ทรงเกล้าตามแบบฉบับเมืองเหนือ และรักษาประเพณีการแต่งพระองค์ไว้อย่างเคร่งครัด จึงทรงฉลองพระองค์ตามแบบเจ้านายฝ่ายเหนือทุกประการ บรรดาพวกข้าหลวงที่ติดตามพระองค์มาจากเมืองเหนือ คงแต่งกายตามแบบชาวเชียงใหม่ กล่าวคือนุ่งซิ่นและไว้ผมยาวเกล้ามวย

การแบ่งลำดับชั้นของเจ้าจอมนั้น ได้จักไว้ดังนี้ เช่นเจ้าจอมซึ่งทรงเลือกไว้ใช้ใกล้ชิดประจำพระองค์ เมื่อได้รับพระราชทานหีบหมากทองคำจะมีศักดิ์เป็น “เจ้าจอม” ส่วนชั้นสูงขึ้นไปอีกคือชั้น “เจ้าจอมมารดา” ซึ่งทรงพระเมตตายกย่องถึงชั้น “พระสนม” ได้พระราชทานหีบทองคำลงยาราชาวดี ส่วนชั้นสูงที่ ๑ ซึ่งเรียกว่า “พระสนมเอก” ได้รับพระราชทานพานทองเพิ่มหีบหมากลงยาราชาวดี เป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำ กับกระโถนทองคำ

มีเรื่องเล่าลือกันว่าพระราชธิดาของพระองค์ คือพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนสีพี ซึ่งประสูติเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒ และสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้เพียง ๔ พรรษาเท่านั้น ได้ถูกพระพี่เลี้ยงลอบวางยาพิษ เพื่อขโมยเครื่องแต่พระองค์


เจ้าจอมมารดาดารารัศมี กับ พระธิดา พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
(ไฟล์ภาพด้วยความเอื้อเฟื้อจากพี่นิค NickyNick)


ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนถามถึงเรื่องนี้ต่อท่านเจ้าจอมมารดาอ่อนในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๙๕ ปีแล้วนั้นว่า ความจริงเรื่องเล่าลือเกี่ยวกับพระราชธิดาพระองค์หญิงวิมลนาคนพีสีเป็นความจริงเช่นนั้นหรือ ท่านเจ้าจอมมารดาอ่อน ซึ่งยังมีความทรงจำแม่นยำ เรื่องราวในอดีตและคุ้นเคยกับพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเป็นอย่างดี ได้ตอบว่า ไม่เป็นความจริงเลย พระองค์ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์โดยมิได้ถูกวางยา แต่การสูญสิ้นพระธิดาอันเป็นที่รักดังดวงใจ ก็ทำให้พระราชชายาเศร้าพระทัยอย่างใหญ่หลวง เพราะกำลังน่ารัก แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสลดพระราชหฤทัยในการสิ้นของพระราชธิดาพระองค์นี้อย่างยิ่ง ได้รับสั่งเป็นการปลอบพระราชชายาในยามที่ได้รับความทุกข์ร้อนสาหานั้นว่า พระองค์หวังว่าจะมีพระราชโอรสหรือพระราชธิดากับพระราชชายาอีก แต่ก็ไม่ทรงมีจนตลอดพระชนมายุของพระองค์


เสด็จเจ้าน้อย พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี
(ไฟล์ภาพด้วยความเอื้อเฟื้อจากพี่นิค NickyNick)


ชีวิตของพระราชชายามีพระประวัติอันงดงาม แม้เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๕ ก็ยังคงประทับอยู่ ณ สวนดุสิต ตำหนักนั้นมีชื่อเรียกว่า “ตำหนักฝรั่งกังไส” ความคุ้นเคยระหว่างท่านเจ้าจอมมารดาอ่อนกับพระราชชายามีต่อกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อประทับอยู่อยู่ในสวนดุสิต พระราชชายาจะเสด็จไปเยี่ยมพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภาเป็นประจำ และได้ประทับอยู่จนกระทั่งดึก

ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชชายาซึ่งเสด็จจากเมืองเหนือมาช้านานแล้ว จึงได้กราบถวายบังคมลาขึ้นมาพร้อมกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เพื่อเยี่ยมเยียนมาตุภูมิและประยูรญาติ เพราะจากมาเป็นเวลาถึง ๒๓ ปี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้มีสนมกรมวัง พระตำรวจ คุณท้าวเถ้าแก่ จ่าโขลนตามเสด็จ และพระราชทานวอช่อฟ้า กับพระกลดเป็นเกียรติยศ ก่อนที่จะเสด็จก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยงส่ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรละครปรีดาลัย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จจากพระราชวังดุสิตมาส่งพระราชชายา ณ สถานีรถไฟสามเสน เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๓๔๕๑ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กับพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดีได้เสด็จส่งถึงปากน้ำโพ เพราะทางรถไฟสายเหนือเพิ่งวางรางไปถึงเพียงแค่นั้น

เจ้าดารารัศมี พระราชชายาต้องเสด็จต่อโดยทางเรือ โดยใช้เรือพระที่นั่งเก๋งประพาส ติดตามด้วยเรือแม่ปะ เรือสีดอ และเรื่ออื่นๆ อีกมากมายกว่า ๕๐ ลำ นับเป็นขบวนเรือที่ยาวเหยียดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เรือทุกลำนั้นเล่าต่างก็ตกแต่งประดับประดาด้วยธงทิวปลิวไสว ยังความชื่นตาชื่นใจให้แก่ชาวเหนือที่คอยเฝ้ารับเสด็จกันด้วยความปลาบปลื้มปิติยินดีสองฝากฝั่งลำน้ำ เมื่อเรือเจ้าดารารัศมีผ่านไปและหยุดยั้งเพื่อพักแรมยังตำบลใดอำเภอใด จังหวัดแต่ละแห่งนั้นก็จะมีเจ้าหน้าที่เจ้าพนักงานแห่งเมืองนั้นได้ให้การรับรองอย่างแข็งแรง ได้ปลูกพลับพลาประทับร้อนประทับแรม เตรียมไว้คอยรับเสด็จด้วยความพร้อมเพรียงเป็นอย่างดีทุกแห่งไป

เรือที่นั่งเก๋งประพาสได้บรรลุมาสู่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ รวมเวลาสองเดือน กับ เก้าวัน

เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ ข้าหลวงใหญ่มณฑลพายัพ กับเจ้าแก้วนวรัฐฯ เมื่อดำรงตำแหน่งเจ้าอุปราช พร้อมด้วยเจ้านายและข้าราชการทุกฝ่าย ตลอดจนพ่อค้าและบรรดาชาวต่างประเทศคหบดีทั้งหลาย ต่างจัดขบวนแห่ของตนมาต้อนรับกันอย่างครึกครื้นรื่นเริงกันอย่างเต็มที่

การรับรองพระราชชายา เจ้าดารารัศมีครั้งนี้ นับว่าเอกเกริกมโหฬารยิ่ง เป็นประวัติการที่จะจดจำกันไปชั่วกาลนาน เพราะตลอดระยะเส้นทางที่เสด็จผ่านไปนั้น ชาวเหนือได้แห่แหนกันมาเฝ้าอย่างคับคั่ง

ทหารและข้าราชการขี่ม้าเป็นแถวนำ กับแต่เป็นภาพสีต่างๆ มีภาพคนสมัยโบราณ คนป่า เรื่องชาดก รามเกียรติ์ เช่นเรื่องพระยามังราย ละวะ เจ้าหงส์หิน พระลักษณ์ พระราม พระเวสสันดร เมขลาล่อแก้ว กลองชนะ กลองสะบัดไชย แตรวง กลองเมือง กลองมองเซ้ง อุเจ่ กลองพม่า ล่อโก๊ะ ฯลฯ

การรับเสด็จในเชียงใหม่ได้เป็นไปอย่างกว้างขวาง และสนุกสนานที่สุด ตามรายทางเสด็จตั้งเครื่องบูชา ตั้งขบวนแห่จากที่ทำการป่าไม้ภาคเชียงใหม่ มาตามถนนเจริญประเทศ เลี้ยวถนนท่าแพ ปละถนนพระปกเกล้าฯ ออกประตูช้างเผือก เลี้ยวถนนราชวงศ์ถึงที่ประทับ ณ คุ้มหลวง ซึ่งจัดเป็นข้างหน้าข้างในอย่างมิดชิด ผู้ใดจะเข้าจะออกต้องมีสนมกรงวังกำกับ ทำนองเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง มีทหารกองเกียรติยศประจำหน้าที่ประทับ เวลาเสด็จผ่านทหารเป่าแตรถวายคำนับทุกครั้ง วันเสด็จถึง ข้าราชการแต่งเต็มยศขาว

ก่อนเสด็จถึงเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหีบทองคำลงยา หลังหีบมีอักษรพระบรมนามาภิไธย จ.ป.ร. ประดับเพชร ในหีบมีคำจารึกดังนี้

“หีบบรรจุคำอวยพรและความคิดถึงของจุฬาลงกรณ์ ป.ร. ส่งให้แก่
ดารารัศมี ผู้เป็นที่รัก เมื่ออายุครบสามรอบบริบูรณ์ ในสมัยเมื่อ
กลับขึ้นไปเยี่ยมนครเชียงใหม่ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ – ๘ ”


หีบทองคำลงยาประดับเพชร ได้ถูกส่งล่วงหน้ามาทางบก และหีบนั้นถึงก่อนเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ลงไปรับเสด็จที่สบแจ่ม ซึ่งตามระยะเรืออีกเจ็ดคืนจึงจะถึงเชียงใหม่ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯ ได้อัญเชิญหีบนั้นไปถวายด้วย

ระหว่างที่ประทับอยู่เชียงใหม่ เจ้าดารารัศมีเสด็จไปเยี่ยมเจ้าผู้ครองนครลำพูน ลำปาง และพระประยูรญาติในจังหวัดนั้นๆ โดยขบวนช้างและม้าเป็นจำนวนนับร้อย มีพลับพลาประทับร้อนประทับแรมตามระยะทางเสด็จ

เมื่อเสด็จกลับจากลำปางแล้ว ได้ทรงสร้างกู่ หรือ อนุสาวรีย์ที่วัดสวนดอก แล้วอัญเชิญพระอัฐิพระญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งบรรจุไว้ตามกู่ตามที่ใกล้ตลาดวโรรสและที่อื่นๆ ไม่เป็นหมวดหมู่และเป็นที่ไม่เหมาะ ไปบรรจุไว้ดังที่ปรากฏต่อมาคือ
๑. พระอัฐิพระเจ้าบรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์ องค์อินทรสรุศักดิ์ สมญามหาขัติยราช ชาติราชาไชยสวรรค์ (พระเจ้ากาวิละ) พระเจ้าขัณฑเสมานครเชียงใหม่ ที่ ๑
๒. อัฐิเจ้าช้างเผือก เจ้านครเชียงใหม่ ที่ ๒
๓. อัฐิเจ้าหลวงเศรษฐี (คำฝัน) เจ้านครเชียงใหม่ ที่ ๓
๔. อัฐิเจ้าหลวงแผ่นดินเย็น (พุทธวงศ์) เจ้านครเชียงใหม่ ที่ ๔
๕. พระอัฐิอัฐิพระเจ้ามโหตรประเทศฯ พระเจ้านครเชียงใหม่ ที่ ๕
๖. อัฐิเจ้าแม่คำแผ่น ในพระเจ้ามโหตรประเทศฯ
๗. พระอัฐิพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ พระเจ้าเชียงใหม่ ที่ ๖
๘. อัฐิเจ้าแม่อุสาห์ ในพระเจ้ากาวิโลรสฯ
๙. พระอัฐิพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่ ที่ ๗
๑๐. อัฐิเจ้าแม่ทิพเกสร ในพระเจ้าอินทวิชยานนท์
พร้อมกับอัฐิเจ้านายอื่นๆ อีกมาก

เมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการฉลองเป็นงานใหญ่โตมโหฬารกันว่าเป็นงานเกียรติยศเป็นระเบียบ ยังความรื่นเริงบันเทิงใจแก่ผู้ได้มาร่วมในงานนี้อย่างมากที่สุดในเชียงใหม่ มีการมหรสพต่างๆ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๕ ถึงวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ รวม ๑๕ วัน ๑๕ คืน ได้ปลูกพลับพลาประทับแรม และที่พักเจ้านาย ข้าราชการ โรงพิธี โรงหนัง โรงละคร สนามมวย โรงเลี้ยง หมวดรักษาการทหารตำรวจ สถานีอนามัยประจำอยู่ที่นั่นพร้อมพรัก ย้ายตลาดขายของสดตามไปด้วย

เจ้านครลำปาง เจ้านครลำพูน แพร่ น่าน เชียงราย ตลอดถึงเจ้านายญาติพี่น้องของข้าราชการทุกแผนกได้เข้าร่วมช่วยเหลือในงานนี้กันทั่วหน้า มีสวดแจงแสดงพระธรรมเทศนา ปฐมสังคายนา พระสงฆ์ ๕๐๐ รูปสวดอภิธรรมและถวายของไทยทาน

พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญ อ.ด. ไขว้ ด้วยทองคำ กาไหล่ทองแลเงิน กับทำแหนบทองคำ และลงยาพระราชทานเป็นของแจกในงานนี้ด้วย

นอกจานนี้ พระองค์ยังได้เสด็จไปนมัสการและทำบุญพระธาตุพระบาท และปูชนียสถานสำคัญๆ หลายแห่ง ประทับอยู่ที่นครเชียงใหม่ ๖ เดือน ๘ วัน เสด็จกลับจากเชียงใหม่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ เสด็จลงเรือที่หน้าที่ทำการไปรษณีย์ รวมเรือในขบวนเสด็จกลับนี้ ๑๐๐ ลำเศษ เมื่อถึงเมืองอ่างทอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเรือยนต์มารับเสด็จที่นั่น แล้วพาไปประทับแรมที่พระราชวังบางปะอินสองราตรี พระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญในโอกาสเสด็จกลับมานี้ด้วย

กลับสู่พระนครวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๒

วันที่ ๑ ธันวาคม ขึ้นตำหนักที่โปรดเกล้าให้สร้างใหม่ในพระราชวังดุสิต พระราชทานเงิน ๒๐๐ ชั่ง (หมื่นหกพันบาท) กับพระราชทานเลี้ยงอาหาร โปรดเกล้าฯ ให้เจ้านาย ข้าราชการที่ลงไปเสด็จร่วมโต๊ะเสวย แล้วพระราชทานประถมาภรณ์มงกุฎสยามแก่เจ้าแก้วนวรัฐฯ เมื่อยังเป็นเจ้าอุปราช ซึ่งไม่เคยพระราชทานแก่เจ้าอุปราชใดๆ กับพระราชทานหีบบุหรี่ทองคำแก่เจ้าแก้วนวรัฐฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์

พระราชชายา เจ้าราดารัศมีมีเชษฐาและเชษฐภคินีดังนี้
๑. เจ้าน้อยโตน บิดาเจ้ารถแก้ว
๒. เจ้าราชวงศ์ (น้อยขัติยะ) บิดาเจ้าบุษบา
๓. เจ้านางคำต่าย
๔. เจ้าแก้วผาบเมือง บิดาเจ้าอุ่นเรือน
๕. เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (น้อยสุริยะ) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ที่ ๘
๖. เจ้าแก้วนวรัฐ (เจ้าแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ที่ ๙
๗. เจ้าจอมจันทร์
๘. เจ้านางคำห้าง
๙. เจ้านางจันทรโสภา
๑๐. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงประวัติความเป็นมาโดยละเอียดของเจ้าดารารัศมี ผู้เป็นมิ่งขวัญของชาวเหนือและความรักของพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่มีต่อพระองค์นั้น ลึกซึ้งห่วงใยเพียงใด พระราชหัตถเลขาที่โปรดเกล้าฯถึงพระราชชายาฯ เมื่อเสด็จเชียงใหม่นี้นับว่ามีค่าควรแก่การศึกษาอันจะได้ทราบถึงความสัมพันธ์ ที่มีลักษณะเสมือนพระราชกิจรายวันที่ทรงบันทึกไว้ แต่ได้นำลงพิมพ์ไว้ในหนังสือแจกในงานพระราชทานเพลิงพระราชชายาฯ ๑๓ ฉบับ


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



ดารา

นั่งนึกว่าป่านนี้คงจะไปถึงที่พักแล้ว เพราะบ่าย ๕ โมงตรง ได้นึกจะส่งของไปทำบุญแต่รุงรังนัก ก็จะพาไปลำบาก จะสั่งก็เผอิญมีการชุลมุน บัดนี้ได้ให้กรมสมมติฯ จัดไตรแพร ๙ ไตรส่งขึ้นมา ขอให้บังสุกุลพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ๓ ไตร พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ๓ ไตร เจ้าทิพเกสร ๓ ไตร ขอให้นิมนต์พระราชาคณะพระครูและครูบาที่เป็นผู้ใหญ่ชักผ้าไตรนี้ อุทิศให้ท่านทั้ง ๓ ผู้ได้มีความรักใคร่คุ้นเคยกันมา

การที่จะไปครั้งนี้เป็นระยะทางไกลให้เป็นห่วง ด้วยเป็นเวลาต่อฤดูกำลังจะเปลี่ยนใหม่ ถ้าเจ็บไข้ขอให้เร่งรักษาก่อน อย่าทอดทิ้งไว้มากแล้วจึงรักษา กันเสียก่อนดีกว่ารักษาเมื่อเป็นมากแล้ว

ขออำนวยพรซ้ำอีกให้เป็นสุขสบายอย่างเจ็บไข้ ขอฝากความอาลัยที่กำลังผูกอยู่ในใจเวลานี้มาด้วย ถ้าจะมีความปรารถนาอันใด ฤๅไปดีประการใด ขอให้บอกข่าวมาให้ทราบตามที่บอกได้ด้วย.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



.
..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



ดารา

ด้วยความคิดถึง มีช่องที่ยังจะถึงกันได้ง่าย จึงหาเหตุว่าจะทำอะไรดี นึกได้ว่ามีหีบหนังจระเข้ซื้อมาเมื่อไปยุโรปคราวนี้ซึ่งลืมเสียแล้วนั้นมีอยู่ เรียกมาดูเห็นงามดี น่าจะใช้ใส่ผ้าตั้งไปในเรือปิกนิคได้ แต่มันเป็นหรั่งๆ อยู่หน่อย จะแก้ไขใช้ได้ ฤๅไม่ก็ตาม เป็นของเขานับถือกันว่าดีมีราคาและงามมาก จึงให้เอาตามขึ้นมาให้

ค่ำวันนี้ได้เอาแผนที่มากะที่จะทำเรือน(๑) เห็นว่าจะขยายได้มาก ยกนางวาด และนางเหม มาอยู่เสียที่เรือนทำใหม่ในเกาะ เอาสามบ้านนั้นมารวมเป็นบ้านเดียว เรือนจะทำให้ใหญ่กินที่สวนเดิมและสวนนางวาดหมด ส่วนนางเหมจะรอไว้ทำเป็นสวนผสมกับที่เดิมจะได้สวนใหญ่ขึ้นมาก เห็นจะเป็นอันตรายพอเพียงได้ ตัวอย่างจะให้ฝรั่งคิด แต่พระยาวรวงศ์ฯ ได้รับแข็งแรงมากว่าจะทำให้แล้วทัน.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



....................................................................................................................................................


(๑) ตำหนักที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำไว้คอยท่าพระราชชายาฯ ในพระราชวังดุสิต

..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



ดารา

ได้รับหนังสือลงวันที่ ๑๓ ฉบับหนึ่ง วันนี้กรมดำรงฯ นำมาส่งอีกฉบับหนึ่ง กับแกงปลาเทโพด้วย ได้ทราบตามหนังสือและทราบจากกรมดำรงฯ ตลอดมีความสงสารเจ้าเป็นอันมาก ตั้งแต่ไปแล้วยังไม่เคยลืมนึกถึงสักเวลาหนึ่งเลย

เรือปิกนิคมันเห็นจะโตและอาละวาดจึงไม่ใคร่ขึ้นไปถึง เรือสุวรรณวิจิกเคยไปกำแพงเพ็ชร์คราวหนึ่งแล้ว ร้อนเต็มทีไม่สบาย กลางวันเก๋งเหมือนอั้งโล่ด้านหนึ่ง จนต้องลงเรือเล็กไปเสียจนเย็น จึงขึ้นนอนเรือลำนั้นได้ กรมดำรงฯ ว่าเจ้าอินทฯ จะเปลี่ยนเรือของแกให้ แกจะไปเรือปิกนิคเห็นจะดี

ทราบว่าปากน้ำโพโทรมลงกว่าเมื่อไปเห็นปีกลายนี้ ได้ทักแล้วว่าจะโทรม แต่งยังมีคนแก้อยู่ บัดนี้กรมดำรงฯ รับว่าถูกเสียแล้วเพราะรถไฟมันฆ่าเสียเท่านั้น

เรื่องเรือนที่บอกไม่ได้ไปดูเอง หลับตาเชื่อแผนที่พระยาวรวงศ์ฯ แกผิดทั้งนั้น รุ่งขึ้นไปดูเองจึงต้องแก้ไขใหม่ เรือนที่จะรวมนั้น คือ สวนนางวาดข้างหนึ่ง จะไปทำครัวและอะไรๆ ให้ที่เก๋งพร้อม พิสมัยสวนหนึ่งจะให้ย้ายไปอยู่เรือนนางเหม ฤานางจัน เพราะสองคนนั้นจะได้เรือนใหม่ ที่ตำหนักกรมหลวงวรเสรษฐ์ฯ และเรือนอรทัย เรือนนั้นกำลังลงมือเขียนอย่างคะเนจะเป็น ๙ ห้อง แต่จะมุขฤๅเฉลียงโถงอะไรให้สบายกว่าเก่า เขารับว่าจะทำให้ทัน แต่อย่างไรจวนกลับก็คงต้องเร่ง ได้เห็นลำดวนของรักแล้ว งามดีไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะไม่ถูกเรือน ดินต่ำมากจริงจะต้องถม นึกเห็นว่าถ้าเขียนหนังสือถึงพระยาสุรสีห์ฯ ฉบับหนึ่งจะดี จึงได้เขียนส่งมาในซองนี้ ต่อพบพระยาสุรสีห์ฯ จึงส่ง

กับเห็นตำรวจเจ้านายไปในเมืองอื่น เขาเคยจอตราให้คนที่ได้รับอุปการะ แต่ในเมืองเราเองไม่เคยมี แต่ครั้งนี้เจ้าเป็นเมียผิดกับคนอื่น จะถึงให้บัตรตรามันเกินไป จึงได้จัดของเป็นส่วนสำหรับพระราชทานมอบขึ้นมา ไม่ใช่จะให้แจกแก่ใครๆ ที่มารับรองทั่วไป จะเป็นการฟั่นเฝือไปไม่เก๋ ไว้ให้ใครที่ทำความดีไว้เป็นพิเศษกว่าปกติ เลือกขอให้ตามควรแก่ฐานานุรูป โดยอ้างว่าเป็นของพระราชทานขึ้นมาสำหรับให้แก่ผู้ได้อุปการะขอให้เขา ถือว่าเป็นของพระราชทานเพราะมีอักษรพระนามเป็นสำคัญ ชาวเหนือที่ควรจะให้ก็ให้ได้ ไม่ใช่ตั้งใจสำหรับให้แก่ชาวใต้ จะได้เป็นเกียรติยศแก่ตัวเจ้า ได้สอดบัญชีของมาในซองนี้ด้วย

กรมนราธิปฯ ส่งบทละครพระลอตอนปลายมาให้ดู ยังมีผิดอยู่ที่บอกไปให้แก้อยู่บ้าง แต่เห็นว่าเจ้ามาวังเวงไม่มีอะไรทำ จึงเก็บท่อนต้นละท่อนกลางเติมมา ๒ เล่ม รวมเป็น ๓ เล่ม จะได้อ่านเล่นพอเพลินๆ ปีใหม่นี้ วันที่ ๓๑ มีนาคม กรมนราฯ จะเล่นพระลอตอนต้นให้ดูคืนหนึ่ง แต่บอกว่าจะกินเวลา ๙ ชั่วโมง เล่นสองทุ่มตีสิบเอ็ดเลิก ถ้ารับสั่งให้ตัดถึงจะตัดลงมาเลิก ๘ ทุ่ม

วันที่ ๑ เมษายน จะเล่นพงศาวดารตอนพระยาจักรีโรงฆ้องไปตีกัมพูชา มีพระยาโกษาจีนและนักแก้วฟ้าสัดจอง เขมรงุ่มง่ามอะไรต่างๆ แกว่าจะเล่นให้ตรงข้ามกับตอนพระยารามเดโช ตอนนั้นร้องไห้มากันแล้ว ตอนนี้ให้หัวเราะยังรุ่งอีก คิดถึงเจ้าล่วงหน้าเสียแต่ยังไม่ได้เห็นแล้ว แต่แกยังจะมีเก่งอีก เดี๋ยวนี้กำลังลงมือซ้อมโขน จะเล่นตอนล้างพิธีน้ำทิพย์ เป็นพากย์รับพิณพาทย์ไม่ใช่ละคร เรื่องนี้เห็นจะรอไว้เล่นต่อเจ้ากลับได้ เพราะแกยังต้องทำไมตรีกับแม่เขียนให้สอนนางช้อยเป็นทศกรรฐ์ เพราะแม่เขียนให้สอนนางช้อยเป็นทศกรรฐ์ เพราะแม่เขียนทำท่าลิ้นจี่ทศกรรฐ์ของทูลกระหม่อมได้ดีกว่าขุนระบำมาก ตึงตังทำนองเดียวกัน แต่ลิ้นจี่ท่าทางเป็นผู้ดีกว่า ขุนระบำก็ต่อจากยายลำไยน้องลิ้นจี้นั่นเอง แต่ยายลำไยแกเป็นนางไม่ใคร่เอาใจใส่มาก

ทราบว่าจะได้ออกเรือวันที่ ๑๘ จึงขออำนวยพรอีกครั้งหนึ่งให้ไปเป็นสุขสบายดี อย่าเจ็บไข้จนกลับมา จะมีความระลึกถึงเจ้าอยู่เสมอเป็นนิจ.


พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)


วันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



ดารา

ด้วยวันนี้ดิลกฯ(๑) ลาว่าจะขึ้นไปส่ง เผอิญพอฝรั่งให้เอารูปถ้ำมองมาขาย จึงนึกว่าไปตามทางจะเปล่าเต็มที อ่านหนังสือตาลายเผื่อจะหยุดดูรูปเป็นการแก้รำคาญ แต่เสียดายเวลาไม่พอที่จะได้จดชื่อตำบลลงเป็นหนังสือไทย นอกจากเมืองจีนและญี่ปุ่น เป็นที่ซึ่งเคยไปเที่ยวแล้วโดยมาก ที่เล่าถึงหนังสือไกลบ้านก็มีหลายตำบล ยังมีสวิซเซอร์แลนด์ เบลลเยี่ยม และฮอลแลนด์ที่ได้ไป แต่เห็นว่าที่ส่งมาถึง ๗๙๘ เต็มทีอยู่แล้ว จะไม่มีเอาไป แต่เท่านี้ก็หนักพออยู่แล้ว ไม่แน่ใจว่าจะชอบฤๅไม่ เพราะมันหนัก เรือกีดที่เต็มที แต่ถ้าเป็นเรือมีชั้วสมุดจะเรียงแทนก็ได้ ดุ๊ก(๒)และเจ้าชาย(๓)ว่าคงจะชอบจึงได้ส่งมา แต่ถ้าพะรุงพะรังนักส่งให้ดิลกฯคืนมาเสียก็ได้ มันยังมีช่องที่จะส่งถึงได้ก็ส่งด้วยความคิดถึงเท่านั้น

ขออำนวยพรอีกครั้งพร้อมกับความรัก.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



....................................................................................................................................................


(๑) พระเจ้าพระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสวรรควิสัยนรบดี โอรสเจ้าทิพเกสร
(๒) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพศาสตร์ศุภกิจ
(๓) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช

..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



ดารา

ด้วยนึกถึงอายุเจ้าเต็มสามรอบ ได้คิดไว้แล้วว่าจะให้ของขวัญ เผอิญประจวบเวลาไม่อยู่ จะให้ก่อนขึ้นไปทำไม่ทัน จึงได้จัดของส่งขึ้นมาด้วย หวังว่าจะได้รับที่เชียงใหม่ ไม่ช้ากว่าวันไปถึงเท่าใด ขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาวหายเจ็บไข้ กลับลงมาโดยความสุขสบายทุกประการ ขอให้ดูหนังสือที่เขียนไว้ข้างหลังหีบหน่อย เผลอไปจะไม่ได้อ่าน ขอบอกความคิดถึงอยู่เสมอไม่ขาด ตัวไปเที่ยวเองทิ้งอยู่ข้างหลังไม่ห่วง แต่ครั้นเวลาเจ้าจากไปรู้สึกเป็นห่วงมากจริงๆ.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



ดารา

ได้รับโทรเลข จะต้องการรูปเข้ากรอบแล้วไปติดบ้านเจ้าอุปราชนั้น ได้ส่งมากับหนังสือนี้ รูปนี้เป็นรูปถ่ายใหม่ เขาว่ากันว่าเหมือน

เรื่องเรือนทำเป็นรูปกงฉากทำนองนี้ ห้องนอนอยู่ตะวันออก ไม่ถูกแดดบ่าย รูปร่างพอใช้ได้ ถ้านับขื่อเป็น ๙ ห้อง ถ้านับฝากั้นเป็นห้อง เป็นข้างบน ๕ ห้อง ข้างบนคือห้องนอน ห้องนั่ง ห้องเก็บของ ห้องกระได ห้องรับแขก ข้างล่างห้องเหมือนกัน ตามแต่จะจัดอย่างไร มีศาลากลาง สวนตะพานเดินไปถึงด้วย มีเฉลียงด้านตะวันออกและด้านเหนือตลอด แต่ตะวันตกไม่มีมุข นึกว่าคงจะสบายดี กลัวแต่ต้องเร่งกันลาตาย ถ้านิ่งเข้าก็จะโอ้เอ้

นึกว่าจะรอต่อปีใหม่จึงจะส่งหนังสือ ก็กลัวจะถึงช้าจึงรีบส่งเสียก่อน หนังสือทวนน้ำไม่ทันใจเลย.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๒๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



ดารา

ด้วยได้รับโทรเลขว่า จะต้องการศิลาจารึกติดที่กู่ สอบถามกว้างยาวได้ความว่ากว้าง ๑๖ นิ้ว ยาว ๓ ฟุตนั้น ได้ศิลามาโตไปหน่อย จึงให้เลื่อยได้ขนาดแล้ว วันนี้ได้มอบให้กรมหลวงดำรงฯ ขอให้ส่งขึ้นไป แต่เป็นของหนักจะเดินบกลำบาก จึงคิดจะให้ส่งขึ้นไปทางเรือ แต่จะให้เร็วกว่าปกติ

ข้างบางกอกเวลานี้สนุกอยู่ ไม่มีเหตุการณ์อะไร อากาศร้อน แต่มีลมมาก ดูเหมือนจะเย็นกว่าทุกปี กำลังคิดทำนาที่ปลายถนนซางฮี้ในทุ่ง ได้ลงมือซื้อควายเสร็จแล้ว แต่แรกนาของเราต้องเป็นเดือน ๗ แรกนาสำหรับเมืองพรุ่งนี้ ในการเล่นละครขึ้นเรือน องสร้อย(๑)และคุณโหมด(๒) กรมนราฯ ส่งบทมาให้แล้ว ได้เอาส่งมาให้อ่านในซองนี้ด้วย เรื่องขวดแก้วเจียระไนเป็นเรื่องที่แกเคยเล่นที่วิมานนฤมิตร์ วัดสระเกษ แต่ก่อนแล้ว แต่เรื่องเครือฟ้าเป็นเรื่องมาดัมบัตเตอไฟล ซึ่งเขียนไว้ในหนังสือไกลบ้านตอนเมืองปารีส เปลี่ยนญี่ปุ่นเป็นลาว ฝรั่งเป็นไทยเท่านั้น ที่แกทำคำร้องเช่นนี้ เอาอย่างออปฝรั่ง เพราะเคยได้ชมเมื่อเจ้าเขมรร้อง ละครกรมนราฯ ดูค่อยเฟื่องฟูขึ้น แต่กระนั้นคนยังดูน้อย จนผู้ดีก็ไม่ใคร่ดู เพราะเป็นเรื่องใหม่ ไม่เข้าอกเข้าใจ และต้องฟังมากดูมาก แลไปอื่นไม่ได้ ต่อไม่ติด ด้วยธรรมดาคนเราไปดูละครชอบไปนั่งพูดกัน พอให้เห็นตัวละครเตะตาไปเตะตามา เสียงร้องพิณพาทย์เตะหูแล้วก็พอเท่านั้น ต้องการแต่จะพูดอย่างเดียว จึงไม่ใคร่ชอบ

มีความรำคาญด้วยเจ้าเชียงใหม่เจ็บออดแอดนัก ควรจะคิดอ่านรักษาป้องกันให้ดีอีก

รู้สึกคิดถึงมาก เมื่อมีงานครั้งใด ใครๆ ก็บ่นถึงอยู่ทุกคราว.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



....................................................................................................................................................


(๑) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอาง
(๒) เจ้าจอมมารดาโหมด

..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๒๙ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



เจ้าดารารัศมี เชียงใหม่

ดาวกาไหล่ทองที่จะประดับพระธาตุดอยสุเทพเขียนอย่างงามดี แต่ตามขนาดที่บอกมาโตมาก อยากทราบว่าที่ซึ่งจะติดนั้นแบนหรือรูปโก่งกลม จะติดปูนหรือจะได้ให้มีแกน คำจาฦกนั้นดังนี้ “เจ้าดารารัศมี อันเป็นราชธิดาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ และแม่เจ้าทิพเกสร ซึ่งได้ครองนครเชียงใหม่ อันได้ลงเป็นพระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานครศรีอยุธยา ถ้วน ๒๒ พรรษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาเยี่ยมพระนคร เมื่อจุลศักราช ๑๒๗๑ ได้เสด็จมานมัสการพระธาตุดอยสุเทพ ทรงศรัทธาแผ่หิรัญจำหลักรูปดาราทาสุวรรณอันวิจิตร์แผ่นนี้ ประดับบูชาพระมหาธาตุเจ้าไว้เป็นที่ตั้งแห่งกุศลสมภาร” จบเท่านี้ จะเอาตามนี้หรือขอแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง จะรีบส่งขึ้นไปให้ทันกันฉลองกู่


(พระบรมนามาภิธัย) สยามมินทร์



..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๒ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



ดารา

ด้วยเมื่อไปเที่ยวทะเลครั้งนี้ ถึงเกาะพงันได้รับหนังสือ ๒ ฉบับ ฉบับหนึ่งลงวันที่ ๑๖ เมษายน ฉบับหนึ่งลงวันที่ ๒๘ เล่าถึงออกท่าทำยศทำศักดิ์สนุกดี เจ้าจะเรียนน้อยกว่าคนอื่น เพราะเคยออกหน้ามาตั้งแต่พ่อยังอยู่ ถ้าหากว่าเป็นข้างในตามเคยเห็นจะเกือบตาก คำรับรองที่อ่านนั้นแต่งดีจริงๆ ได้ให้กรมหลวงนริศฯ ดู ตอบมาว่าได้เห็นเข้าก็ใจหาย กลัวในเรื่องแต่งหนังสือเช่นนี้เราจะแพ้เขาเสียในภายหน้า เชียงใหม่ยังไม่สิ้นรู้

ใบเมี่ยงที่ส่งลงมาใช้ได้ ฟังเล่าก็นึกอยากจะไป ข้อที่ต้องการจะเห็นมากนั้น คือ ห้วยแก้ว ดอยสุเทพ

ได้ให้ลงมือเขียนอย่างดาว(๑)ที่จะประดับพระเจดีย์ กันในทะเลนั้นเอง แต่ประดักประเดิดด้วยเรื่องขนาด เพราะเหตุที่เขาดัดเลข ๘ เป็นเลข ๒ ไป ยังนึกวิตกอย่างเดียวว่าจะติดที่ไหน ถ้าต่ำๆ กลัวมันจะไม่อยู่ ถ้าสูงนักใครจะอ่านหนังสือเห็น เพราะหนังสือนั้นบรรจุลงไปมาก จึงทำให้ตัวเล็ก แต่เห็นดีเช่นนั้น ถ้าจะนึกหน้ารูปร่างอย่างไร ก็คือดวงตราสะตาร์ตราจักรีนั้นเอง เว้นไว้แต่ไม่มีสามง่ามออกไปคั้น อยู่ในระหว่างแฉก ช่างเขาว่าจะแล้วสำเร็จส่งได้ในกลางเดือน ๘ อุตราสารท จะรีบให้เดินบกขึ้นไปให้ทันเดือน ๙

การที่ไปทะเลครั้งนี้ เหตุด้วยไม่สบายให้ตึงเมื่อยไป จึงได้ประคบลูกประคบพลาดที่ท้องข้างซ้าย คราวนี้เลยปวดเป็นลำยันอยู่ข้างใน ขี้ก็คั่ง เลยลุกลามปวดไปจนถึงข้างขวา เดินก็ไม่ถนัด ต้อๆ แต้ๆ นอนจะพลิกตัวก็โอย ลุกขึ้นจะนั่งก็โอย แต่ข้าวกินได้ นอนหลับอยู่จึงไม่เป็นอะไรมาก เป็นแต่ไม่มีความสุขและดูงุ่มง่ามไป ที่จริงเหตุที่เกิดทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยราชการชุกชุมหมู่ใหญ่ทรมานตัวประมาณสักสองเดือนเต็มๆ รู้สึกเมื่อยฟกเต็มที ได้แก้ไขเท่าไรไม่ยักหาย กลัวจะจับไข้จึงได้คิดอ่านหลบออกไปทะเล การไป ก็ไปเที่ยวอย่างตาแก่ คือนอนอืดอยู่แต่ในเรือ ขึ้นบกน้อย ด้วยเดินไม่ใคร่ไหว รีดน้ำมันร้อยอย่างตลอดทุกวัน แต่ก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร ไม่ยักหาย

จนกลับมาก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น จนทีหลังสุดนี้อ่านอาการเจ็บ ใครๆ เห็นชื่อพระยาอมรสาตร์ฯ คือ สิทธิสารเก่า บ่อยๆ นึกว่าลองเอาแกมารักษาดูสักที เผอิญพอมาให้กินยาก็ถูกต้อง ค่อยยังชั่วขึ้นทุกวัน จนเดี๋ยวนี้ยังเหลืออยู่สองแห่งที่ตะโพกข้างซ้ายแห่งหนึ่ง กับที่ใต้รักแร้ข้างขวาแห่งหนึ่ง ตึงอยู่เท่านั้น ยาที่กินนั้นก็ขนานเดียว เรียกว่าสิทธิสารประสิทธิ์ ของพระยาอมรสาตร์ฯ บ้านปูน เดี๋ยวนี้ยานั้นเลยเก่งใหญ่ เพราะเขาเห็นหายได้เร็ว ใครๆ ก็กินกัน ซื้อไว้คนละมากๆ ตาอมรสาตร์ฯ ออกจะรวยๆ ในครั้งแรกที่ให้กินสองเมล็ด รุ่งขึ้นแกมาถามว่าเป็นอย่างไร บอกว่าเอาไปเถิดเมล็ดละ ๑๐๐ บาท ส่งเงินไปให้ ๒๐๐ บาท สรรพยานั้น ใบสมอกับโกศน้ำเต้ากินเวลาก่อนจะนอน ไม่ไซ้ไม่เซาะอย่างหนึ่งอย่างใด นิ่งๆ ตื่นขึ้นก็ไปหมดท้อง เว้นไว้แต่ถ้าท้องเสียจึงจะเหลวมาก กินทีละ ๒ เมล็ด สำหรับธาตุหนัก ถ้าธาตุเบาบางทีเมล็ดเดียวจะพอกระมัง ไม่รู้ว่าจะถูกกับโรคภัยของเจ้าหรือไม่ แต่ตั้งใจว่าอะไรเป็นแฟแช่นที่ออกใหม่ในวัง จะส่งขึ้นมาให้เช่นนั้นเอง ถ้าดีอยู่แล้วขออย่าให้กิน ถ้ากินขออย่าให้ทุกวันจะเคยท้องเสีย

ของแฟแช่นเนบอลในวังเดี๋ยวนี้มีอีกอย่างหนึ่ง คือ ถุงตีนสี แฟแช่นอันนี้ได้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อกลับจากยุโรปใส่ถุงตีนและเกือกหนังสี ก็มีความปรารถนาที่จะใส่กันขึ้นมาบ้างจนความรั่วรู้ไปถึงอ้ายพวกห้างสั่งมาขาย เกือกนั้นมาประเดี๋ยวเดียวหมดไม่ทันรู้ แต่ถึงรู้ก็ไม่รู้จักขนาดตีนคงไม่กล้าส่ง จึงได้แต่ถุงตีนส่งขึ้นมาสีละคู่ ที่เขาใช้กันอยู่เวลานี้แฟแช่นอื่นยังไม่สู้เดิน

คราวนี้ว่าด้วยเรื่องคลั่ง ชาววังคลั่งละครกรมนราฯ ทุกรูปทุกนาม ตั้งแต่เจ้านายลงไปจนถึงขี้ข้า ตั้งแต่เจ้าไปแล้วยิ่งมีหลายหนเข้า และตามแบบที่เจ้าตั้งไว้ไม่ให้ผู้ชายมาดู แต่นั้นมาก็ไม่มีผู้ชายมาดูอีกเลย ผลที่ผู้ชายไม่ได้ดูนั้น ทำให้เกิดทุรนทุราย สุดแต่กรมนราฯ มาเล่นอะไรในวังแล้วกลับเอาไปเล่นที่ปรีดาลัยคนก็ไปดูมาก แต่ก่อนโรงละครกรมนราฯ ได้เคยไปคนไม่เกิน ๕๐ ตั้งแต่มาเล่นในวังแล้วคราวนี้ เล่นวันใดที่นั่งไม่พอเสมอ แต่เพียงเรื่องที่มาเล่นในวังแล้ว ไปเล่นข้างนอก ได้ส่วนเงินข้างนอกถึงหมื่นบาทกว่าแล้ว กรมนราฯ ร้องว่า เดชะบารมี

สังเกตความนิยมของคนชั้นหลังนี้ เห็นจะนิยมเรื่องสาวเครือฟ้ายิ่งกว่าเรื่องอื่นๆ จนได้รับหนังสือไปรษณีย์ขอให้เล่นซ้ำในวิกนี้ ข้อที่นิยมเห็นจะเป็นด้วยเหตุหลายอย่างๆ หนึ่งนั้นเป็นเรื่องละครฝรั่ง อีกอย่างหนึ่งนั้นคงจะโปรด จึงได้เล่าไว้ในหนังสือไกลบ้าน แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้นเป็นสาวเครือฟ้า เข้ามาเล่นในวังทำเหมือนเชือดคอตายได้รางวัลครั้งเดียวถึง ๑๐๐ บาท มีผู้ปรารภกันว่าถ้าเจ้ากลับมาควรจะมีสมโภชเสีย ๓ วัน นึกวิตกกลัวแต่จะต้องซ้ำ เพราะเจ้าไม่ได้เห็น ๓ วัน เพราะเจ้าไม่ได้เห็นมากเรื่อง เขาทายกันว่าเจ้าจะขอให้ซ้ำเรื่องสาวเครือฟ้านี้

การที่เล่นละครแล้วไม่ได้เขียนเล่าเรื่องขึ้นมา เหตุด้วยกำลังปวดเหลือเกิน บทที่เตรียมไว้จะส่งก็เลยค้างไปไม่ได้ส่งไปด้วย บัดนี้ได้ส่งขึ้นมา ๙ เล่ม แต่จะซ้ำไปเล่มหนึ่งฤๅอย่างไรไม่ทราบ จำไม่แน่จึงเห็นว่าเหลือไว้ดีกว่าขาด

การที่ตั้งพยายามไปซ้อมละครเล่นพระลอแก้ขัด ใจคอก็เด็ดหนักหนา คนที่จะเล่นละครมันต้องเป็นคนคิดได้ทั้งบทและคุมเรือให้ท่า จำต้องคิดเรื่องคิดใหม่ประกอบกับตัวคนที่มีอยู่ จึงจะเล่นได้ดี เพราะฉะนั้นคนที่เล่นละครดีมาแต่ก่อนๆ พระพุทธเลิศหล้า ตาเจ้ากลับ นายเนตร นายต่าย เจ้าพระยามหินทร เหล่านี้เขานึกของเขาเองทั้งนั้น ถ้าเล่นละครมีผู้มาคอยติว่าที่นี่ต้องอย่างนั้น ที่นั่นต้องอย่างนี้จึงจะถูก แล้วเล่น อย่างไรๆ ก็สู้เมื่อกระนั้น คือ คนที่เล่นแรกไม่ได้

พูดถึงกรมนราฯ มามากแล้ว คราวนี้เอาเรื่องอื่นเสียที มียายฝรั่งคนหนึ่งเป็นชาวอิตาเลียน ชื่อบัวซอนี คิดตั้งโรงละครที่ถนนพาหุรัด ลงพิมพ์ประกาศมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ว่าจะเล่นละครเรื่องอิตาเลียนแปลเป็นไทย คนไทยเล่นแต่ตัวเป็นฝรั่ง จะได้เล่นในเดือนเมษายนเป็นแน่ คำประกาศนั้นลงพิมพ์ทุกวันจนถึงเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม จนถึงเดือนพฤษภาคมแล้วก็ยังลงพิมพ์ว่าจะได้เล่นเดือนเมษายนเป็นแน่ มันช้าเช่นนี้ ได้มาเล่นต่อเดือนมิถุนายน เชิญเสด็จด้วย แต่ไม่เสด็จ ครั้งแรกคนตื่นกันไปดูมาก โรงละครว่าทำดีกว่าโรงไหนๆ ในบางกอกทั้งหมด ตัวละครแต่งตัวเป็นฝรั่งอย่างดี ฝรั่งโบราณชั้น ๑๕๐ ปีมาแล้วเสื้อแสงหรูมาก เรื่องที่เล่นออกจะสนุกๆ แต่ตัวละครนั้นเก็บเอาพวกละครปรีดาลัยบ้าง นักสวดบ้าง ยี่เกบ้าง ผู้ชายก็เป็นผู้ชาย ผู้หญิงก็เป็นผู้หญิง แต่มันเล่นพูดเป็นฝรั่งพูดไทยอีกโย่งโก้งเก้ง เห็นจะมีคนดูเต็มแต่วันแรกวันเดียว แล้วเล่นต่อมาอีกครั้ง ๒ – ๓ วัน กลายเป็นเล่นแต่วันเสาร์วันอาทิตย์ วันอื่นๆ เอาหนังเข้าไปเล่น เมื่อวิกก่อนนี้หนังสือพิมพ์กล่าวว่าต้องเลิกเพราะไม่มีคนดู มันกล้าเล่นมีเงิน ๓,๐๐๐ บาทเท่านั้น เที่ยวซื้อของเชื่อ กว้านของซื้อให้หมดตลาดแล้วกลับขายกรมนราฯ ครางอู้หาซื้อช้องไม่ได้ เดี๋ยวนี้เจ้าหนี้ตอมนุงทีเดียว

จรูญฯ ต้องรียกกลับเข้ามาเป็นรองเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อแรกนี้กรมนเรศฯ ได้ขออนุญาตที่จะถามขึ้นไปถึงเจ้าว่าเรื่องหลาน(๒)จะจัดการอย่างไรต่อไป แต่ภายหลังนี้ตกลงเป็นบวรเดชจะไปเป็นทูตแทนแล้วก็เป็นสิ้นเรื่อง ไม่มีเปลี่ยนแปลงอันใด

ที่เรื่องนั้นพระยาวรพงศ์ฯ แกเรี่ยมาก เหตุที่ไม่เคยเข้าใจผิดถึงเพียงนั้น จึงได้เขม้นขะมักทำ บัดนี้ได้มุงหลังคาและถือปูนแล้ว ไม่ได้ไปดูมานาน แต่นางเอิบ(๓) บอกว่าถ้าทางดูเหมือนจะโต มีห้องหับมากกว่าเรือนในวัง กำลังคิดอ่านให้เข้าไปถ่ายรูปจะส่งขึ้นไปให้ดู

นางชุ่ม(๔)ไปเที่ยวถึงเพ็ชรบุรี กลับมาฟื้นขึ้นมาก เห็นจะยังไม่เป็นไร องค์อัจฉร(๕)นั้นขึ้นมาจากปากน้ำอยู่บ้านระพี(๖)อาการโทรมลงมาก นอนราบลงไปไม่ได้ทีเดียว แต่แกรักษาตัวแกเก่งไม่มีใครสู้ กินยาเกือบทุกชั่วโมง อาหารก็อุตส่าห์ทำเอง พยายามมาก บวมแล้วยุบเล่า เห็นจะยังไปได้อีกหลายเดือน แต่หญิงเล็กเยาวมาลย์(๗)นั้นไม่มีฟื้นเลย แกชักให้เร็วที่ธาตุเอาไว้ไม่อยู่ อย่างไรๆ ก็คงจะตามกันไปในสองคนนี้

พระที่นั่งอนันตสมาคมก่อผนังขึ้นมาเกือบถึงขื่อแล้ว ที่สวนดุสิตหน้าตาแปลก ก็ที่แลเห็นพระที่นั่งนี้ตั้งโตอยู่กลางสวนแง่เต๋ง จะเป็นซึ่งเจ้าจะกลับมาเห็นแปลก นอกนั้นก็คงที่อยู่อย่างเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลงอันใด หนังสือนี้เขียนมายาวมากแล้วจึงขอจบไว้เสียที คิดถึงทุกเวลาที่มีอะไรสนุก และมีคนบ่นถึงเสมอด้วย

ในที่สุดนั้น ต้นลำดวนยังอยู่ดีไม่ตาย เขากั้นคอกเสียแน่นหนา


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



....................................................................................................................................................


(๑) รูปดาวที่พระราชชายาขอพระราชทานมาติดที่พระธาตุดอยสุเทพ
(๒) เจ้ากาวิละวงศ์ เวลานั้นอยู่เมืองนอก
(๓) เจ้าจอมเอิบ
(๔) เจ้าจอมมารดาชุ่ม
(๕) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอัจฉรพรรณิรัชกัญญา
(๖) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์
(๗) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล

..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๕ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



ดารา

ตามโทรเลขซึ่งว่าไม่คาดว่าหญิงเล็กจะตายก่อนองค์อัจฉรนั้น ถูกอยู่ตามเวลาเจ็บ แต่การรักษาผิดกันมาก มันเป็นเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายอยู่บ้าง องค์อัจฉรแกรักษาตัวเรียกว่าอย่างเคราะห์ดี คือมีที่คลาดแคล้ว แต่หญิงเล็กนี้ไม่มีที่คลาดแคล้วเลย มีแต่ไม่พอ ที่จะหนักก็หนัก มันเป็นทั้งความคิดและน้ำใจร่างกายคนดีคนไข้ประกอบกัน ยังไงๆ เรื่องละครนั้นเป็นหย่ากัน คนทั้งวังเห็นจะมีความเสียใจในการที่ตายไปครั้งนี้ยิ่งกว่าทุกครั้งทุกคราว จนถึงเด็กลือกันว่ากลับฟื้นจะได้ดูละคร

ได้ส่งรูปเรือนอันถ่ายยากเสียจริง เพราะมันมีแต่กระชั้นไปเสียทั้งนั้น แผนที่หมายเลข ๑ ด้วยดินสอแดงถ่ายข้ามปากคลอง จึงเห็นด้านตรงหน้า แผนที่หมายเลข ๒ ถ่ายริมคลองเยื้องคูเรือนข้างตะวันออกเฉียงใต้ ที่หมายเลข ๓ ถ่ายในรั้วแลไปข้างตะวันออก หมายเลข ๔ ด้านตะวันออกซึ่งเป็นห้องนอน รากที่แลเห็นอยู่นั้นเป็นรากศาลานั่งเล่นที่ในสวน รูปที่ ๕ ถ่ายบนถนนแลไปข้างตะวันออก เรือนกายเป็นล่อมป้อมเช่นนี้ เพราะแลเห็นแต่มุขที่ต่อกับตัวเรือน ที่ถ่ายนี้ชั่วแต่ด้านหนึ่งซึ่งไม่มีเฉลียงโถง เฉลียงได้เอาไว้ด้านเหนือเป็นทางสำหรับบ่าวเดิน

การซึ่งพระยาวรพงศ์ฯ ทำผิดนั้น คือผิดกลับหน้าเรือนอย่างนี้ไปไว้ข้างหลัง เอาข้างหลังมาเป็นข้างหน้าจึงได้เกิดความใหญ่ต้องรื้อกลับใหม่ แต่เมื่องานร่วมถึงเพียงนี้แล้วเชื่อว่าจะแล้วทันเวลากลับ หมู่นี้ฝนชุกอยู่สักหน่อย ไว้แล้วไปเร่งกวดเอาเอาให้สำเร็จจงได้

ได้ส่งรูป ๕๐ รูปขึ้นมากับหนังสือนี้.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๒๐ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



ดารา

ด้วยความรู้สึกเมื่อครั้งไปยุโรปขาดกะปิ น้ำปลา เดือดร้อนประการใด จึงทำให้นึกถึง ได้จัดบรรจุขวดเป็นส่วนเล็กน้อยส่งขึ้นมา เพื่อจะให้ได้รับเร็ว แต่ปิดไม่ให้ใครรู้ บางทีเขาจะหมายว่าหีบเครื่องเงินเครื่องทอง

หมู่นี้ฝนชุกหาเวลาเที่ยวนาก แต่เรือโมเตอร์ซึ่งบัญญัติใหม่ให้เรียกว่าเรือยนต์ ลำใหญ่พึ่งมาถึง ตั้งชื่อสุพรรณหงส์ จะได้ตั้งชื่อในวันที่ ๒๕ วันที่ ๓๑ จึงขึ้นไปลองไปถึงบางปะอิน แล้วเลยไปเยี่ยมองค์บุรฉัตร ซึ่งขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการทหารอยู่กรุงเก่า ในเดือนสิงหาคมคิดจะไปกาญจนบุรี ราชบุรี และเพ็ชรบุรี สอนกินปลาทูเสียใหม่อีกสักที เพราะเหตุที่หมู่นี้กินไม่ได้ เหม็นคาว

ชาววังเวลานี้กำลังพลุ่งพล่านบ่นปากฉีกปากแหกด้วยเรื่องอยากดูละคร แต่งยังไม่สมปรารถนา ต้องการจะหนีออกไปดูที่ปรีดาลัยด้วยส่งไป ได้ผัดวันไว้ว่าครบสี่วิกแล้วเมื่อใดจะพิจารณาคำขอนั้น

ได้ฝากหนังสือให้พระยาอนุชิตฉบับหนึ่ง ให้ท้าวโสภานิเวศน์ฉบับหนึ่ง ขอให้ส่งให้ด้วย.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



..........................................................................


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



ที่ ๒๖

วันที่ ๒๖ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



เจ้าดารารัศมี เชียงใหม่

ลูกเลาแก้ว(๑)ที่ขอชื่อนั้น ชื่อประกายแก้ว(๒) ประกายแปลว่าดาว ขออำนวยพรให้มีอายุยืนนาน และมีความเจริญทุกประการ ข่าวน้ำเชียงใหม่เติมความวิตกกลัวน้ำมากขึ้นอีก น้ำต้นมือเข้าทุ่งจนไถนาไม่ได้มากกล้าลอย เวลานี้น้ำกำลังลดลง กลัวว่าจะกระแทกใหญ่มาอีก วันเสาร์หน้าจะขึ้นไปบางปะอิน ลงเรืองใหม่ ค้าง ๒ คืน ได้สั่งให้ทำเหรียญรูปดาว หน้าหนึ่งเป็นอักษรไขว้ หน้าหนึ่งบอกงานฉลองกู่ เป็นเครื่องห้อยนาฬิการูปอัพภันตร คล้ายตราจุลจอมเกล้าฯ กำหนดให้ทำ ๑,๐๐๐ ดวง ได้สั่งให้ทำทอง ๕๐ กาไหล่ ๒๕๐ นอกนั้นเป็นเงิน ช่างว่า ๑๕ วันจะแล้ว จะได้รีบส่งขึ้นไปให้ทันงาน อยากให้ดูว่าอย่างทองและกาไหล่เท่าที่กำหนดจะพอหรือไม่พอ จะต้องการอย่างใดเท่าใดให้บอก.


(พระบรมนามาภิธัย) สยามินทร์



....................................................................................................................................................


(๑) เจ้าราชวงศ์เชียงใหม่เดี๋ยวนี้
(๒) บุตรีเจ้าราชวงศ์

..........................................................................




Create Date : 23 มิถุนายน 2550
Last Update : 23 มิถุนายน 2550 12:47:51 น. 12 comments
Counter : 18313 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


(สำเนาพระราชหัตเลขา)



วันที่ ๑๑ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



ดารา

บัดนี้เป็นเวลาที่เหรียญแจกในงานฉลองกู่แล้วสำเร็จตามกำหนด ได้สั่งทำหีบบรรจุ คงจะได้ส่งในวันสองวันนี้ เหตุที่ทำให้เขียนหนังสือฉบับนี้ล่วงหน้าเสียก่อน เพราะวันนี้เป็นวันหนังสือน้อยกว่าทุกวัน รอไปบางทีเวลาจะไม่เหมาะ

เมื่อแลดูรูปพระเจดีย์ดอยสุเทพ เห็นที่กะว่าจะติดดาว นึกน่าเสียดายเต็มที่ที่ไม่มีใครจะอ่านหนังสือได้ถึงแล้ว แต่นึกไปอีกทีหนึ่งติดสูงๆ เช่นนั้นก็ดี ติดต่ำอาจจะหายได้ เพราะทำด้วยเงินจริงๆ มันก็มากอยู่

เหรียญนี้แลเห็นรอยพิมพ์เป็นรอยตีพิมพ์ไม่สู้เรียบร้อยหน่อยหนึ่ง เพราะเหตุที่มันก็ตีพิมพ์จริงๆ จะทำอย่างอื่นก็ไม่ทัน แต่ถ้าตัวอย่างเดิมได้ลดวงในให้เล็กลงไปเสียอีกหน่อยหนึ่ง รัศมีกว้างออกจะงมกว่า แต่พึ่งนึกเดี๋ยวนี้ การที่ไม่ได้นึกแต่แรกไปมัวอี๋กรมหลวงนริศฯ ว่าตาดีเขียนเล็กๆ ก็ยังเห็น มัวพูดเปื่อยไปทางนั้น ที่ตั้งวงในโตนั้นมาตามรอยของดาวติดพระเจดีย์ เร่งรัดมากด้วยกลัวจะไม่ทัน แต่บัดนี้เห็นว่าน่าจะเกินทัน

หมู่นี้กำลังวุ่นด้วยเรื่องชายอุรุพงศ์ฯ เจ็บ เรื่องจะเป็นไส้ตัน เห็นหนองอย่างลูกโต วันแรกและวันที่สองตกใจมาก คะเนว่าจะต้องถึงตัดถึงผ่า ถ้าไม่ได้เห็นตัวอย่างผู้ที่รอดมาเป็นหลายคน คงจะไม่เตรียมตัวที่จะยอม นี่ทำให้เตรียมตัวยอมได้ทันที มีข้อวิตกอยู่แต่หัวใจอ่อน พอตั้งต้นเป็นขึ้นก็รวนจะหอบเสียแล้ว แก้ไขกันด้วยเอาน้ำเย็นปะ ยาที่กินนั้นก็ไม่มีอะไร นอกจากถ่านที่ให้ไล่ลมกับยาแก้ปวดก็เทือกเมาๆ ไม่หลับได้เลย และกินอะไรไม่ได้เลยสองวันสองคืน จึงได้กินยานอน คราวนี้หลับด้วยยานอนทอดหนึ่ง ต่อมาดูเหมือนพิษเสื่อมซาไปหมด ปล่อยให้นอนหลับได้จึงมีกำลังขึ้น เขากำหนดว่าวันที่ ๔ คือวันนี้เป็นวันที่จะตั้งหนองฤๅไม่ตั้งหนอง และเป็นวันที่จะผ่านั้นวันพรุ่งนี้ มีความยินดีที่จะกล่าวว่าเห็นจะไม่ต้องผ่าแน่ สังเกตดูพิษถอย วันแรกปรอทขึ้นถึง ๑๐๔ ขาเหยียดไม่ได้ทั้งสองขา นอนตะแคงก็ไม่ได้ ปวดจนเหงื่อแตก หายใจหอบเหนื่อยเสมอ วันที่สองตั้งแต่บ่ายมาปรอท ๑๐๓ ออกจะเชื่อมแต่ขาพอเหยียดออกได้บ้าง ใจจวนรุ่งวันที่ ๒ นี้ได้หลับ วันที่ ๓ ปรอทลดลงอยู่ ๑๐๐ ถ้วน ๑๐๐ เศษ ๒ ค่อยคลายปวด รู้สึกหิว พอกินน้ำซุบได้เล็กน้อย ขาเหยียดคล่องขึ้น แต่ท้องแข็งคงอยู่ วันนี้ปรอท ๙๙ ยังค่ำไม่ใคร่รู้สึกปวด เป็นแต่รู้สึกเต็มอยู่ในท้อง นอนตะแคงขวาพอลงได้ ข้างซ้ายไม่ได้เลย เห็นว่าอาการพิษถอยลงทุกวัน แต่เพราะไส้ที่บวมนั้นยังแข็งอยู่ หมอว่าที่จะกล่าวว่าพ้นอันตรายยังไม่ได้ ต่อ ๘ วันเป็นอย่างน้อยล่วงไปแล้วจึงจะไว้ใจได้ ที่หมอว่าเช่นนี้ก็เป็นความจริง เมื่อลำไส้ยังแข็งอยู่เช่นนั้น ก็อาจจะกลัดเป็นหนองได้จึงต้องระวัง

การที่ลูกเจ็บคราวนี้ได้ความเดือดร้อนเต็มที เพราะยังเหลืออยู่ด้วยคนเดียวเท่านั้น นอกนั้นก็ต่างคนต่างแยกกันไปแล้ว เวลากำลังไม่ไม่สบายนึกอะไรไม่ค่อยออก จนนึกกลัวว่าถ้าเป็นอย่างไรจะเลยหลงเสียดอกกระมัง

ได้ส่งหนังสือเรื่องละครกรมนราฯ ซึ่งออกใหม่อีก ๕ เรื่อง เวลานี้แกอยู่ข้างจะเฟื่องมาก เพราะชินในการตกแต่งและเชิงที่เล่น ทำให้เห็นท่าทางง่าย และละครของแกก็เห็นจะซ้อมง่าย เพราะมันรู้ทีเสียหมดทั้งนั้น สังเกตดูคนเห็นจะชอบเรื่องใหม่ๆ แปลกๆ มากกว่าเรื่องพงศาวดาร เพราะไม่รู้ไม่เคยอ่าน ไม่ชอบอย่างเก่า เพราะกลัวจะเป็นเร่อร่า อยากให้เก๋เกี่ยวเป็นฝรั่งมังค่าบ้าง ถ้าเป็นเรื่องใหม่ๆ แล้วดูเข้าใจ ถ้าเรื่องเก่าๆ ดูมันห่างนมห่างเนยและไม่เห็นพระฤกษ์ที่จะได้ดูละครกรมนราฯ อีก เรื่องที่ชอบชมว่าดีแกยังไม่เล่น รอไว้ถวายตัวก่อน

บางกอกเวลานี้ฝนตกชุกเกือบจะไม่เว้นวัน เรื่องสนุกของชาววังนั้น คือ กำลังคลั่งทำนา ตั้งแต่แม่เล็กเป็นต้นลงดำนาเอง เลี้ยงดูกันเป็นหลายวัน ข้อที่เกลียดโคลนเลนนั้นหายหมด ทำได้คล่องแคล่ว ที่โรงนาเป็นที่สบาย องค์อัจฉรถึงเดินได้ไกลๆ เจ้านายที่เจ็บไข้ออดแอดอยู่ต่างคนต่างสบายขึ้น เห็นจะเป็นด้วยได้เดินได้ยืนมากนั้นเอง

ได้ให้จัดเสบียงส่งอีกครั้งหนึ่ง ด้วยหวังว่าจะไปถึงก่อนเรือขึ้นไป จะได้แก้ความขัดสนไปจนถึงเวลานั้น

ในหนังสือมีว่าพวกพ้องลืมเสียไม่ได้รับรับหนังสือจากใครนั้น ได้บอกนางเอิบ ๆ ว่าเจ้าเองลืม ไม่มีหนังสือถึงเลย มีขึ้นไปเป็นหลายฉบับ

น้ำเชียงใหม่เวลานี้ลั่นลงมาถึงนครสวรรค์แล้ว น่าจะลงมาถึงกรุงเทพฯ แต่หวังว่าจะลดเร็ว ไม่ค้างเติ่งอย่างปีกลายนี้ การที่จะได้กลับดูไม่ช้าเท่าไรแล้ว ได้เขียนใบตั้งชื่อประกายแก้วส่งขึ้นมาในหนังสือนี้ด้วย


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.



..........................................................................



(สำเนาพระราชโทรเลข)



ที่ ๑๐

จากปากน้ำโพ
วันที่ ๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



เจ้าดารารัศมี เชียงใหม่

ได้รับโทรเลขวันที่ ๕ แล้ว ที่จริงอยากจะให้ลงมาก่อนขึ้นเรือน จะได้มีเวลาตกแต่งอะไรสะดวก ขัอข้องอย่างที่จะให้พัก เพราะถ้าจะอยู่เรือนใหม่ทีเดียว การขึ้นเรือนกำลังคิดหาอยู่ พักเรือนต้นเอาหรือไม่ บ่าวผู้หญิงไปอยู่เรือนได้ทีเดียว บ่าวผู้ชายสั่งให้พระยาวรพงศ์ฯ จัดโรงใหญ่ที่ท่าซางฮี้ไว้สำหรับจะได้อาศัย และเอาข้าวของขึ้น ถ้าจะเอาเช่นนั้นให้ถึงวันที่ ๒๓ ก็ดี จะได้สวดมนต์รดน้ำกันเสียก่อนที่หนึ่ง เงียบๆ ขึ้นเรือนจึงสวดอีก อยากรู้อีกอย่างหนึ่งว่า การครัวสำหรับจะเลี้ยงพระและผู้คน จะให้ใครทำดี ถ้าหากว่าเห็นใครควรจะวานได้ จะรับบอกเองและจัดการให้ตลอด ถ้าเช่นนี้มีเวลาแต่งเรือน ๒ วัน สิ้นสนุกเต็มทีเสียแล้ว กำลังชายเพ็ญ(๑)จะตายอีกคนหนึ่ง ศพชายอุรุพงศ์จะเผาเดือน ๔ ถ้าหากจะช่วยอื่นๆ มีครบหมดแล้ว เป็นคนโทดิน โอครอบ เห็นจะดี เพราะพระใช้เจ้าอธิการหัวเมืองทั้งนั้น สังเค็ด ๗๐


(พระบรมนามาภิธัย) สยามมินทร์



.......................................................................................................................................


(๑) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม

..........................................................................



(สำเนาพระราชโทรเลข)



ที่ ๑๒

จากปากน้ำโพ
วันที่ ๗ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



เจ้าดารารัศมี เชียงใหม่

ได้รับโทรเลขแล้ว เสียดายที่มีเหตุขัดข้อง ไม่มีวันก่อนขึ้นเรือนที่จะได้ตกแต่งห้อง จะล่องได้เมื่อใดขอให้โทรเลขให้ทราบ มีความยินดีที่ครูบาให้พระพุทธรูป อยากทราบว่าหน้าตักหรือขนาดฐานกว้างเท่าใด จะได้จัดที่ตั้งไว้รับที่เรือน พระนี้เป็นศิริสำหรับตัว จะมาทางเรือหรือทางบก ขอให้พามาถึงพร้อมกับตัว จะได้ทันแต่งในการขึ้นเรือน จะได้บอกแม่เล็ก(๑)ให้ตระเตรียมในการที่จะเลี้ยงดู ฝนกรุงเทพฯ เวลานี้ชุกนัก น่ากลัวน้ำจะมากอย่างปีกลาย แต่อย่าวิตก ที่เรือนน้ำไม่ท่วม


(พระบรมนามาภิธัย) สยามมินทร์



.......................................................................................................................................


(๑) สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง

.............................................................




เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๗ เจ้าแก้วนวรัฐฯ ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชชายา เจ้าดารารัศมีได้กราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อกลับคืนสู่ยังนครเชียงใหม่ ได้มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า ถ้าหากเจ้าแก้วนวรัฐฯ รับรองจะให้ความสุขความปลอดภัยได้ ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นมา เจ้าแก้วนวรัฐฯ รับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชประสงค์ จึงได้รับพระราชทานบรมราชานุญาต

วันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เสด็จออกเดินทางจากกรุงเทพฯ โดยขบวนรถไฟ ซึ่งเวลานั้นถึงเด่นไชย แต่กรมรถไฟหลวงได้จัดรถพิเศษถวายจนถึงสถานีผาคอ การเดินทางต่อจากผาคอโดยขบวนช้างม้านับจำนวนเป็นร้อย คนหาบหามมากกว่าพันคน ซึ่งเจ้านาย ข้าราชการทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ได้จัดไปคอยรอรับเสด็จ ถึงเชียงใหม่วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๔๕๗ ครั้งนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สนม กรมวัง คุณท้าวเถ้าแก่ จ่าโขลน ตามเสด็จเหมือนอย่างครั้งแรก และโปรดเกล้าฯ ให้มหาเสวกโทพระยาเวียงนฤบาล เป็นผู้กำกับการอยู่ประจำพระองค์ ได้ ๕ เดือนจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยานิพนธ์ราชกิจขึ้นมาเปลี่ยน แต่ผลัดเปลี่ยนกันอยู่ได้ประมาณปีเศษ เจ้าดารารัศมีทรงเห็นว่าโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย คุณท้าวเถ้าแก่ และสนมกรมวัง ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาอภิบาลเช่นนั้น ย่อมเป็นการลำบาก จึงขอพระราชทานให้งดเสีย โดยขอให้เจ้าแก้วนวรัฐฯ กีบเจ้านายนครเชียงใหม่ซึ่งเป็นพระญาติ รับผิดชอบแทน

การเสด็จมาครั้งที่ ๒ นี้ พระประยูรญาติสมณชีพราหมณ์ ตลอดจนถึงพ่อค้า คฤหบดี และประชาชนเป็นอันมาก ต่างชื่นชมยินดี โดยจะได้พระองค์มาเป็นศรีแก่วงศ์สกุลแก่บ้านเมือง จึงพากันรับรองและสมโภชอย่างครึกครื้น เจ้าแก้วนวรัฐฯ ถวายที่วังท่าเจดีย์กิ่วเป็นที่ประทับ

นับตั้งแต่พระราชชายาได้เสด็จมาประทับยังนครเชียงใหม่อันเป็นมาตุภูมิของพระองค์ ก็ได้ทรงอุปการะพระประยูรญาติทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และจังหวัดอื่น ตลอดจนสมณชีพราหมณ์ตลอดจนประชาชนทั่วไป เนื่องจากเหตุนี้ จึงรับสั่งให้คนไปสืบสวนหาเครือญาติถึงลำพูน ลำปาง พะเยา เชียงราย หลายครั้งหลายหน เมื่อทรงทราบว่า ผู้ที่มีอายุคนใดรู้จักเครือญาติมาก ก็ให้เชิญตัวมาซักไซ้ไล่เรียงด้วยพระองค์เอง โดยยอมเสียค่าใช้จ่าย และยังได้ประทานรางวัลอีกด้วย ซึ่งพระองค์ต้องสิ้นเปลืองและเสียเวลาไปในการนี้มากอยู่ นับว่าพระองค์ได้บันทึกรวบรวมเครื่องญาติไว้ได้เกือบหมด หากแต่ไม่ทันจะได้พิมพ์เป็นเล่ม ก็มาสิ้นพระชนม์เสียก่อน

พระองค์ทรงอุปถัมภ์บำรุงพระบวรพุทธศาสนา และทรงพระเมตตากรุณาเผื่อแผ่แก่พ่อค้าประชาชนอย่างกว้างขวาง ได้แสดงพระอัธยาศัยไมตรีต่อคนทั่วไป ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน นอกจากนี้พระองค์ยังเอาพระทัยใฝ่ในการช่วยเหลืองานของรัฐบาล เพราะทรงรอบรู้ระเบียบแบบแผนราชการเป็นอย่างดี ทรงชำนาญในวิชาประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ นาฏศาสตร์ หัตถศาสตร์ ทรงคุ้นเคยกับเจ้านายและข้าราชการ เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาเจ้านายพระองค์ใด หรือข้าราชการผู้ใดมาสู่นครเชียงใหม่ พระองค์ก็ทรงเอื้อเฟื้อให้การรับรอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ก็ได้เสด็จเสวยพระกระยาหารที่วังของพระองค์ท่าน

พระองค์เป็นขัติยนารีพิเศษพระองค์หนึ่ง มีพระวรกายแข็งแรง พระทัยกล้าหาญ ทรงรู้จักค้นคว้าหาเหตุผลจากสิ่งต่างๆ ดังจะได้เห็นเมื่อเสด็จมาประทับเชียงใหม่ในตอนแรกๆ เคยทรงม้าประพาสไป ณ ที่ต่างๆ พอพระทัยให้ม้าวิ่งเสมอ โปรดทอดพระเนตรภูมิประเทศต่างๆ แม้ว่าจะไกลและกันดาร ก็มิได้ย่อท้อ เช่นเสด็จจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประพาสตั้งแต่อำเภอปายถึงอำเภอขุนยวม ลงเรือล่องไปตามลำน้ำสาละวิน ซึ่งกว้างลึกน่ากลัวอันตรายมากเป็นเวลาถึงสามราตรี และได้เสด็จขึ้นประพาสบ้านใหม่ในเขตเมืองยางแดง เสด็จกลับทางอำเภอแม่สะเรียง ขึ้นประทับแรมบนยอดดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นภูเขาสูงที่สุดในเมืองไทย

ทางขึ้นยอดดอยที่สูงละลิ่วนี้ ทางแสนที่จะทุรกันดาร สัตว์ป่าที่ดุร้ายก็ชุกชุม ต้องแผ้วถางและใช้ม้าเป็นพาหนะ ความหนาวเย็นนั้นรุนแรงที่สุด แต่กระนั้นก็ประทับแรมอยู่สองราตรี พระองค์ได้จารึกเครื่องหมายไว้เป็นที่ระลึกบนยอดดอยอินทนนท์ไว้ด้วย นอกจากนี้ก็เสด็จอำเภอฝางด้วยขบวนช้างและม้า ประพาสบนดอยอ่างขาง ทอดพระเนตรไร่ฝิ่นของพวกแม้ว แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธรูปทองทิพย์ อำเภอแม่สรวย เสด็จเชียงราย ทอดพระเนตรการโพนช้างที่อำเภอเทิง และทอดพระเนตรการจับช้างในเพนียดที่เชียงแสน

เสด็จลงเรือล่องไปตามลำน้ำโขง ทอดพระเนตรการจับปลาบึก เสด็จขึ้นนมัสการพระธาตุดอยตุง เสด็จกลับเชียงใหม่ทางโหล่งกวง ต้องขึ้นเขาลงห้วยรอนแรมอยู่ในป่าดงพงไพรด้วยความลำบากเป็นเวลาหลายราตรี ซึ่งเป็นทางที่ไม่ค่อยจะมีใครบุกป่าฝ่าดงไปกันบ่อยครั้งนัก ได้เสด็จไปเยี่ยมทางอำเภอเถิน อำเภอลี้ แม่แจ่ม ฮอด พระบาทสี่รอย น้ำตกแม่กลาง แม่ยะ และพระบาท พระธาตุ ถ้ำ หุบห้วยเหวละหานอื่นๆ อีกมากแห่ง ทางปักษ์ใต้ได้เสด็จตั้งแต่ราชบุรีตลอดจนถึงปีนัง การเสด็จในสมัยนั้น ถนนหนทางยังไม่พัฒนาก้าวหน้าเหมือนปัจจุบัน จึงต้องประสบความยากลำบากมากโขอยู่ เมื่อเสด็จไปทางพื้นภาคไหนก็ทรงไต่ถามความเป็นอยู่ อาชีพและการทำไร่ทำสวน เมื่อปรากฏว่าทางหมู่บ้านใดอดอยากยากแค้นก็ประทานข้าวของเงินทอง


พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕


ในด้านการกุศล ทรงปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถาน ได้บริจาคไว้มากมาย และเฉพาะรายใหญ่ๆ นั้นก็คือ
๑. ปฏิสังขรณ์บรมธาตุ วิหาร ลาน โบสถ์ บนดอยสุเทพ แล้วมีการฉลองใหญ่
๒. สร้างและฉลองวิหารวัดชัยชนะมงคล (ป่ากล้วย) อำเภอสารภี
๓. สร้างและฉลองวิหารวัดขุนแสน อำเภอหางดง
๔. สร้างและฉลองวิหารพระบรมธาตุ อำเภอจอมทอง
๕. สร้างและฉลองวิหารวัดขี้เหล็ก อำเภอแม้ริม
๖. ยกตำหนักบนดอยถวายเป็นของพระธาตุดอยสุเทพ
๗. สร้างตึก “ณ เชียงใหม่” ในบริเวณโรงพยาบาลแม็กคอมิค
๘. บริจาคเงินซื้อรถยนต์ ประทานสถานีอนามัยเชียงใหม่ ๑ คัน

นอกจากที่กล่าวข้างต้น พระองค์ยังประทานที่ดินที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยเดี๋ยวนี้ กับประทานที่ดินให้เป็นที่ตั้งสโมสรคณะราษฎร์หรือสโมสรนวรัฐ

วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เริ่มประชวรด้วยพระปับผาสะพิการ ขณะนั้นประทับที่ตำหนักสวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม นายแพทย์ในเชียงใหม่ได้ช่วยกันรักษาพยาบาล แต่พระอาการก็ไม่ทุเลา เจ้าแก้วนวรัฐฯ จึงเชิญเสด็จมาประทับที่คุ้มริมแก้ว อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อแปรสถานและเป็นการสะดวกแก่การรักษา และบรรดาพระประยูรญาติก็จะได้เยี่ยมประชวร เจ้าแก้วนวรัฐฯ สั่งซื้อเครื่องเอ๊กซเรย์มาจากชวา โดยส่งมาทางเครื่องบินในราคา ๔,๒๐๐ บาท เพื่อนำมาฉายพระปับผาสะตามการแพทย์แผนปัจจุบัน แต่พระอาการก็คงมีแต่ทรงและทรุด

จนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๗๕ เวลา ๑๕.๑๔ น. ณ คุ้มแก้ พระองค์ก็ได้สิ้นพระชนม์ท่ามกลางนายแพทย์ไทยและต่างประเทศ พร้อมพระประยูรญาติ มีเจ้าผู้ครองนครเป็นประธาน

แม้ว่าพระราชชายา เจ้าดารารัศมีจะสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว แต่พระเกียรติคุณ คุณงามความดีที่ได้ทรงสร้างสมไว้ก็ยังผนึกอยู่ในความทรงจำของชาวเหนืออย่างไม่รู้ลืม.


.......................................................................................................................................


คัดจาก
เรื่อง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี
ในหนังสือ "สยามยุคเก่า" ของคุณ ชาลี เอี่ยมกระแสสินธุ์
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:12:51:13 น.  

 
 
 
แม่ศรีพิงคนคร
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี



ด้วยชาติกำเนิด ก็เป็นพระธิดาเจ้าประเทศราช ซึ่งทรงมีคำว่าพระเจ้านำหน้าพระนาม และสืบสายมาจากเจ้าผู้ครองนครหลายชั่วคนมาแล้ว

ด้วยปรีชาวุฒิ ก็เฉลียวฉลาดรอบรู้ทางกาพย์กลอนอักษรศาสตร์ สามารถแต่งคำประพันธ์ทั้งร้อยแก้วร้อยกรองได้อย่างไพเราะจับใจ

ด้วยรูปสมบัติ ก็ทรงโฉมพิลาศพิไล ขนาดเมื่อเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงชุบเลี้ยงเป็นพระสนม และโปรดเกล้าฯ เลื่อนฐานันดรขึ้นเป็นพระมเหสีเทวีในขั้นต่อมา

ด้วยจริตกิริยาอัธยาศัย ก็เป็นที่รักของคนทั่วไป ไม่ว่าผู้ใหญ่ผู้น้อย รวมทั้งผู้ที่ร่วมพระสวามีและผู้ที่อยู่ในฐานะ “ลูกเลี้ยง” อื่นๆ กอรปด้วยความเมตตากรุณา โอบอ้อมอารีแก่คนโดยทั่วไป

ท่านผู้นี้คือ พระราชายา เจ้าดารารัศมี แม่ศรีพิงคนคร ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระราชชายา พระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ประสูติ ณ วันอังคาร เดือน ๑๑ (ของทางภาคเหนือ ทางกรุงเทพฯ นับเป็นเดือน ๗) ขึ้น ๔ ค่ำ ปีระกา เวลา ๑๓.๐๐ น.เศษ ตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ที่คุ้มหลวงกลางนครเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีกุลกำเนิดเป็น ณ เชียงใหม่ ทั้งทางพระชนกและพระชนนี ทรงเป็นสายสืบมาจากพระเจ้าผู้ครองนครพิงค์ทั้งสองฝ่าย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายถึงพระประวัติของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีไว้ในพระนิพนธ์เรื่อง “สาส์นสมเด็จ” ดังนี้

“พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เดิมชื่อเจ้าน้อยอินทนนท์ สืบสายลงมาแต่เจ้าเชียงใหม่พุทธวงศ์ เดิมมีลูกกับภรรยาไพร่อยู่หลายคน แต่ที่หม่อมฉันรู้จักตัว ๓ คน คือ เจ้าราชวงศ์ (ชื่อตัวอย่างไรจำไม่ได้เสียแล้ว) คนหนึ่ง เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์คนหนึ่ง และเจ้าแก้วนวรัฐคนหนึ่ง ทั้ง ๓ คนนี้เมื่อเกิดเป็นนายทั้งนั้น ถึงรัชกาลที่ ๕ พระเจ้ากิวิโลรสสุริยวงศ์ได้ครองเมืองเชียงใหม่ มีแต่ลูกหญิง ๒ คน ชื่อเจ้าทิพเกสรคนหนึ่ง เจ้าอุบลวรรณาคนหนึ่ง เมื่อแต่งงานเจ้าทิพเกสร เจ้าทิพเกสรขอเลือกผัวเองตามชอบใจ พระเจ้าเชียงใหม่ยอมตามใจ เจ้าทิพเกษรชอบเจ้าน้อยอินทนนท์ พระเจ้าเชียงใหม่จึงเอามาแต่งงานกับเจ้าทิพเกสร ทั้งในเวลาเมื่อมีลูกมีเมียแล้ว และทูลขอให้เจ้าน้อยอินทนนท์เลื่อนเป็นเจ้าราชวงศ์และเจ้าอุปราช ต่อมาจึงได้เป็นเจ้าเชียงใหม่ต่อพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ มีลูกด้วยกันกับเจ้าทิพเกสรเป็นผู้หญิงทั้ง ๒ คน เมื่อเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เป็นข้าหลวงขึ้นไปอยู่เชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่กับเจ้าทิพเกสรนับถือ ขอให้ขนานนามธิดา เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์จึงตั้งนามว่า จันทรโสภาคนหนึ่ง ดารารัศมีคนหนึ่ง เจ้าจันทรโสภาถึงแก่กรรมเสียเมื่อรุ่นสาว เจ้าดารารัศมีนั้นไว้จุกเหมือนเด็กในกรุงเทพฯ เมื่อมารดาถึงแก่กรรมแล้ว บิดาให้พาลงมาเฝ้าในกรุงเทพฯ ครั้งหนึ่งครั้นกลับขึ้นไปโกนจุกแล้ว พอเป็นสาวส่งลงมาถวายตัวทำราชการฝ่ายใน....”

งานพิธีโสกันต์เจ้านางดารารัศมี พระธิดาของเจ้าหลวงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ นั้น เรียกว่าเป็นงานมหกรรมทีเดียว นอกจากจะมีมหรสพสมโภชอย่างใหญ่โตตามพื้นภูมิบ้านเมืองแล้ว ยังมีงานฉลองแบบเมืองใต้คือกรุงเทพฯ อีกด้วย ครั้งนั้นพระยาราชสัมภารากร เป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองเชียงใหม่ ท่านเจ้าคุณได้เป็นธุระดูแลช่วยเหลืองานโสกันต์เจ้านางดารารัศมีให้เป็นไปตามแบบแผนทุกประการ นอกจากนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ขึ้นมาทรงจัดตั้งตำแหน่งเสนาทั้งหก ก็โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระกุณฑล (ตุ้มหู) ประดับเพชรมาพระราชทานเป็นของขวัญแก่เจ้ายางดารารัศมี และโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์พี่เลี้ยงทั้งสองของเจ้านางด้วย คือ นางเต็มเป็นแม่นางกัลยารักษ์ และนายน้อยบุญตา เป็นพระยาพิทักษ์เทวี

ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๙ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์เสด็จลงไปกรุงเทพฯ เนื่องในวันพระราชพิธีลงสรงสนาน และรับพระปรมาภิไธยในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เจ้านางดารารัศมีได้ตามเสด็จพระบิดาลงมาด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงเป็นพระสนม โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเป็นการรับรอง และในโอกาสนั้นก็โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ด้วย ซึ่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นนี้ สมัยก่อนมีกฎเกณฑ์ไว้ว่า สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นหัวหน้าในราชตระกูล แลท่านอัครมหาเสนาบดีจัตุสดมภ์ แลหัวเมืองซึ่งเป็นเมืองเอกที่มีฐานันดรเป็นเจ้าพระยา แลท่านผู้ได้รับตรานพรัตนราชวราภรณ์จึงจะรับดวงตรานี้ได้

ตามธรรมเนียมผู้ที่เป็นพระสนม ถ้าหากอยู่ในข่ายพระมหากรุณายิ่งใหญ่ก็ย่อมได้พระราชทานตำหนัก ไม่ปะปนกับพระมเหสีหรือพระสนมอื่น แม้ว่าเจ้าดารารัศมีจะเป็นพระสนมธรรมดาในชั้นต้น แต่ด้วยความเป็นพระราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่ ก็ได้รับพระราชทานตำหนักอยู่เป็นอิสระด้วย ที่ตำหนักเจ้าดารารัศมีนั้นมีของแปลกก็คือ บรรดาผู้คนในตำหนักนั้นล้วนนุ่งซิ่นเกล้ามวย แตกต่างไปจากสตรีอื่นๆ ซึ่งนุ่งผ้าโจงกระเบนและไว้ผมตัดแบบผู้ชาย และพวกของกินของขบเคี้ยวก็เป็นของเมืองเหนือ เช่น เมี่ยง แหนม แค่บหมู น้ำพริกแดง เหล่านี้เป็นต้น องค์เจ้าดารารัศมีซึ่งชาววังเรียกว่า เจ้าน้อย ก็ทรงไว้พระเกศามวนตามประเพณีพายัพเรื่อยมา

เจ้าดารารัศมี ทรงดำรงตำแหน่งพระสนมอยู่ได้ปีเศษก็เริ่มทรงครรภ์ เป็นธรรมดาของผู้หญิงที่สังขารเริ่มจะเป็นมารดา ย่อมจะมีอาการวิปริตอยากจะบริโภคอาหารแปลกๆ ต่างๆ เจ้าดารารัศมีเมื่อทรงครรภ์ก็มิได้แตกต่างไปจากหญิงทั้งหลายในเรื่องนี้ แต่ทว่าสิ่งที่ทรงปรารถนาจะได้เสวยนั้นคือ งวงช้าง ซึ่งไม่ใช่ของที่จะหาได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อบุคคลผู้อยากบริโภคนั้นอยู่กรุงเทพฯ แต่เมื่อความทราบถึงพระเจ้าเชียงใหม่ ก็ไม่มีอันใดที่จะขัดข้อง สำหรับพระประสงค์ของพระธิดาองค์เดียว ดังนั้นในไม่ช้างวงช้างย่างก็ถูกส่งมาจากเมืองเหนือ เพื่อให้เจ้าดารารัศมีได้เสวยสมพระทัยปรารถนา และต่อจากนั้นไม่นานเดือนนัก เจ้าจอมดารารัศมีก็ประสูติพระธิดา ในวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๓๒

พระธิดาน้อยซึ่งได้พระราชทานพระนามว่า พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี เจริญพระชนมายุได้เพียง ๓ พรรษากับเศษ ๔ เดือน ก็สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ ละให้พระมารดาซึ่งได้รับการเลื่อนยศเป็นพระสนมเอก ทรงระทมอยู่กับความวิปโยค และต่อจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าเจ้าดารารัศมีทรงมีพระโอรสหรือพระธิดาอีกเลยตลอดจนพระชนม์ชีพ

พ.ศ. ๒๔๓๖ รุ่งขึ้นจากปีวิปโยคของเจ้าดารารัศมี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราจุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้น สำหรับพระราชทานแก่สตรีทั้งหลายตั้งแต่พระอัครมเหสี มเหสีเทวี พระราชธิดา มีพระญาติพระวงศ์ เจ้าจอมมารดา และข้าราชการสตรี แทนหีบหมาก กล่องหมาก ซึ่งแต่ก่อนเคนพระราชทานเป็นเครื่องยศสตรี และครั้งนี้เจ้าดารารัศมีก็ได้รับพระราชทานตราชั้นนี้ ก็ล้วนแต่เป็นสมเด็จพระมเหสี พระมเหสี พระราชธิดา พูดกันโดยภาษาสามัญ ก็ล้วนแต่เป็นเจ้านายทั้งนั้น มีพิเศษเพียงชั้นเจ้าจอมก็คือ เจ้าดารารัศมี และเจ้าคุณพระยูรวงศ์เท่านั้นที่ได้รับตราชั้นหนึ่ง คือ ปฐมจุลจอมเกล้า นี้

นับแต่เจ้าดารารัศมีเสด็จมาอยู่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. ๒๔๒๙ แล้วก็ไม่ได้เสด็จขึ้นไปเยือนนครเชียงใหม่อีกเลย จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๕๑ เจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ลงมาเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่กรุงเทพฯ เจ้าดารารัศมีจึงกราบบังคมลาขึ้นมาเยี่ยมเมืองเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าอินทรวโรรสฯ พระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระราชชายา และโปรดเกล้าฯ ให้มีพวกสนมกรมวัง คุณท้าวเฒ่าแก่ จ่าโขลนตามเสด็จ พระราชทานวอช่อฟ้ากับพระกลดเป็นเกียรติยศ และพระตำรวจเอก พระยาอนุชิตชาญชัย (สาย สิงหเสนี) เป็นพระอภิบาลควบคุมในการนี้ด้วย

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เสด็จจากรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาส่งถึงสถานีรถไฟสามเสน พระราชชายาเสด็จถึงเชียงใหม่ในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๑ มีขบวนรับเสด็จอย่างมโหฬาร ระหว่างทางที่เสด็จผ่านราษฎรก็ตั้งโต๊ะบูชารับเสด็จ และมีขบวนแห่แหนอย่างครึกครื้นใหญ่โตมาก พระราชชายาเสด็จเชียงใหม่จนถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงได้เสด็จกลับกรุงเทพฯ

ระหว่างเวลาที่เสด็จอยู่ห่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชหัตถเลขาและพระราชโทรเลขพระราชทานพระราชชายามิได้เว้นระยะ มิได้ทรงเว้นที่จะส่งโน้นส่งนี่ไปพระราชทาน แม้แต่ของเล็กๆ น้อยๆ แต่ทว่าเป็นของหายากในเมืองเชียงใหม่ เช่นกะปิน้ำปลา ก็ยังส่งไปพระราชทาน แต่ที่เด่นที่สุด มีราคาที่สุดในด้านวัตถุ มีค่าที่สุดในด้านจิต ก็คือหีบทองลงยา หลังหีบมีอักษรพระปรมาภิไธย จปร. ประดับเพชร ในหีบนั้นมีคำจารึกว่า

“หีบบรรจุคำอวยพรและความคิดถึงของจุฬาลงกรณ์ ป.ร. ส่งให้แก่
ดารารัศมี ผู้เป็นที่รัก เมื่ออายุครบสามรอบบริบูรณ์ ในสมัยเมื่อ
กลับขึ้นไปเยี่ยมนครเชียงใหม่ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ – ๘ ”


พร้อมกันนั้น ก็ได้มีพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗ ตามไปด้วยดังนี้


ดารา

ด้วยนึกถึงอายุเจ้าเต็มสามรอบ ได้คิดไว้แล้วว่าจะให้ของขวัญ เผอิญประจวบเวลาไม่อยู่ จะให้ก่อนขึ้นไปทำไม่ทัน จึงได้จัดของส่งขึ้นมาด้วย หวังว่าจะได้รับที่เชียงใหม่ ไม่ช้ากว่าวันไปถึงเท่าใด ขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาวหายเจ็บไข้ กลับลงมาโดยความสุขสบายทุกประการ ขอให้ดูหนังสือที่เขียนไว้ข้างหลังหีบหน่อย เผลอไปจะไม่ได้อ่าน ขอบอกความคิดถึงอยู่เสมอไม่ขาด ตัวไปเที่ยวเองทิ้งอยู่ข้างหลังไม่ห่วง แต่ครั้นเวลาเจ้าจากไปรู้สึกเป็นห่วงมากจริงๆ.


(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ป.ร.




ในระหว่างที่พระราชชายา เสด็จขึ้นมาเชียงใหม่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักต่างๆ สำหรับพระมเหสีขึ้นในบริเวณพระราชวังสวนดุสิต แต่ละตำหนักมีนามขึ้นต้นว่า สวน และนามต่อไปเป็นชื่อลายในเครื่องลายคราม เช่นสวนนกไม้ สวนหงส์ สวนสี่ฤดู สวนภาพผู้หญิง สวนบัว สำหรับตำหนักของพระราชชายานั้นได้รับพระราชทานนามว่า สวนฝรั่งกังไส รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงบรรยายลักษณะตำหนักนี้ไปยังพระราชชายาว่า

“เรื่องเรือนทำเป็นรูปกงฉากทำนองนี้ ห้องนอนอยู่ตะวันออก ไม่ถูกแดดบ่าย รูปร่างพอใช้ได้ ถ้านับขื่อเป็น ๙ ห้อง ถ้านับฝากั้นเป็นห้อง เป็นข้างบน ๕ ห้อง ข้างบนคือห้องนอน ห้องนั่ง ห้องเก็บของ ห้องกระได ห้องรับแขก ข้างล่างห้องเหมือนกัน ตามแต่จะจัดอย่างไร มีศาลากลาง สวนตะพานเดินไปถึงด้วย มีเฉลียงด้านตะวันออกและด้านเหนือตลอด แต่ตะวันตกไม่มีมุข นึกว่าคงจะสบายดี”

ก่อนหน้าปลูกตำหนักสวนฝรั่งกังไสนั้น พระราชชายาเสด็จอยู่ที่ตำหนักหนึ่งต่างหากในบริเวณพระราชวังดุสิต เมื่อพระองค์เสด็จเชียงใหม่ ตำหนักนั้นก็ว่าง พระปิยมหาราชทรงมีพระราชหัตถเลขาไปยังพระองค์เจ้านภาพรประภา ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีฝ่ายใน เกี่ยวด้วยการดูแลตำหนักพระราชชายาดังข้อความนี้


(สำเนาพระราหัตถเลขา)


สวนดุสิต
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๗



นภาพร

เรือนนางดารานั้นเจ้าของไม่อยู่ ขออายัติไว้ให้จัดการรักษา อย่าให้กลายเป็นที่สำหรับสกปรก อนึ่ง ต้นไม้ย่อมเป็นที่หวงแหนแลแย่งทึ้งกัน ขอให้รักษา อย่าให้ผู้ใดขุดตัดเด็ด แต่จะได้ทำงานแก้ไขซ่อมแปลง จะต้องให้คนเข้ามาทำ นอกจากนั้นอย่าให้ใครเข้าไปล่วงเกินในที่นั้น การรดน้ำต้นไม้ได้มอบให้พระยาเวียงไนย


สยามมินทร์




การรับเสด็จพระราชชายาจากเชียงใหม่นั้นเรียกได้ว่าเป็นการใหญ่ได้ ขบวนเสด็จประกอบด้วยเรือนับร้อย และเป็นเรือบรรทุกกล้วยไม้ต่างๆ เสียลำหนึ่งเต็มๆ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมารับถึงเมืองอ่างทอง แล้วททรงพาไปประทับแรมที่พระราชวังบางปะอิน ๒ คืน พร้อมกับพระราชทานสร้อยพระกรเพชรเป็นของขวัญ เมื่อเสด็จมาถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายนแล้ว ในวันที่ ๑ ธันวาคม ก็มีงานขึ้นตำหนักสวนฝรั่งกังไส ซึ่งงานขึ้นตำหนักนี้พระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จอธิบดีฝ่ายใน คือ พระองค์เจ้านภาพร จักการทำขวัญพระราชชายา โดยมีพระราชหัตถเลขาล่วงหน้าว่า


(สำเนาพระราชหัตถเลขา)


สวนดุสิต
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



นภาพร

ฉันขอช่วยจัดการทำขวัญนางดารา เพราะเขาทำกันมาทุกแห่งแล้ว การที่จะทำนั้นคือ ขอให้ตั้งบายศรีเงินทองสำรับเล็ก มีเทียนทองเทียนเงินเสียบเชิงตั้ง แต่ไม่ต้องมีเหมแว่นเวียนเทียน ให้ท้าวนางไปว่าให้ศีลให้พร แล้วดับเทียนเจิมผูกมืออย่างสมองราชเจ้านายเด็กๆ ถ้ามีบายศรีปากชามจัดลงข้างพานตั้งแทนเหมแว่นเห็นจะเข้าที เทียนที่จะตั้งจะได้ใช้เทียนที่ติดปากข้าวดับด้วยใบพลูตามเคย ที่ตั้งบายศรีนั้นเอาในห้องนอน ที่ทางเป็นเช่นนี้

ฉันได้สั่งท้าวทรงกันดาล ให้เอาเงินมากองข้างที่นั่งข้างละ ๑๐ ถุง ขอให้ช่วยชี้ที่ให้วางด้วย ทำขวัญนี้จะได้ทำต่อเมื่ออาบน้ำแล้ว แต่ขอให้ตั้งไว้พร้อมก่อนเวลาสวดมนต์ หวังว่าจะไม่มีความรังเกียจที่เป็นเจ้าไปทำให้ไพร่ เพราะฉันจะกลับมาในวันนั้นเสียเองด้วย


สยามมินทร์




นอกจากนี้ ในการรับเสด็จพระราชชายา ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งตามปรกติจะพระราชทานกันเมื่อในอภิลักขิตมงคล เช่นงานเฉลิมพระชนมพรรษา แต่คราวนี้พระราชทานเนื่องในโอกาสที่เจ้าดารารัศมีเสด็จกลับจากเมืองเชียงใหม่ ผู้ได้รับพระราชทานตราคือ เจ้าแก้วนวรัฐฯ ซึ่งเวลานั้นยังเป็นอุปราช เจ้าหญิงจามรี ชายาเจ้าอุปราช ท้าวสุภัติการภักดี (ปริก) ซึ่งมาส่งเสด็จพระราชชายายังกรุงเทพฯ และยังพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมาภรณ์มงกุฎสยามแก่เจ้าแก้วนวรัฐฯ อีกด้วย

พระราชชายากลับลงมาถึงกรุงเทพฯ ได้ไม่ถึงปี ก็สิ้นรัชกาลที่ ๕ แม้เมื่อสิ้นศักดิ์นางในแล้วก็ตาม แต่พระองค์ท่านก็ยังคงเสด็จอยู่กรุงเทพฯ ต่อไป จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐฯ ลงมากรุงเทพฯ พระราชชายาก็กราบถวายบังคมลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับมาประทับยังนครพิงค์ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต แลโปรดเกล้าฯ ให้มีท้าวนาง เฒ่าแก่ กรมวัง จ่าโขลน ตามเสด็จ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาเวียงไนยนฤบาลเป็นผู้กำกับการอยู่ประจำ ได้ ๕ เดือน รัชกาลที่ ๖ ก็โปรดเกล้าฯ ให้พระยานิพัทธ์ราชกิจ (อ้น นรพัลลภ) ขึ้นมาเปลี่ยน ต่อมาเมื่อพระราชชายาทรงเห็นว่า เป็นความลำบากแก่ข้าราชการเหล่านั้น จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้งดเสีย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสมณฑลพายัพในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชชายาก็ได้ทรงเป็นพระองค์หนึ่ง ในผู้อาวุโสในราชสกุลพายัพที่กระทำพิธีผูกพระกรเชิญพระขวัญพระเจ้าอยู่หัว และพระราชินี และยังได้เสด็จไปเสวยพระกระยาหารเช้าเป็นการส่วนพระองค์ยังตำหนักพระราชชายา เจ้าดารารัศมี อีกด้วย

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ดำรงพระชนม์ชีพจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ก็ประชวรด้วยพระปับผาสะพิการ ประชวรเพียง ๕ เดือนก็สิ้นพระชนม์ คงเหลือแต่พระนามของพระองค์เท่านั้น ที่จารึกอยู่ในฐานะ “แม่ศรีพิงคนคร”


.......................................................................................................................................



คัดจาก
หนังสือ "รัดเกล้า" ของ ลาวัณย์ โชตามระ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:12:59:48 น.  

 
 
 
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕


เมื่อเด็กๆ เคยถามย่าว่า ทำไมปู่ท่านไม่ตั้งชื่อให้หลานเพราะๆ ยาวๆ สักสี่พยางค์ ห้าพยางค์ เพราะรู้สึกว่าชื่อยาวๆ นั้นไพเราะและฟังดูโก้เก๋ดี

ย่าว่า ไฮ้...เราเป็นไพร่ จะไปทำเทียมเจ้านายท่านได้ยังไง ต้องเจ้านายชั้นสูงๆ ท่านจึงจะทรงมีพระนามกันยาวๆ ขนาดเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า ท่านยังตั้งชื่อกันสั้นๆ พยางค์เดียว ไม่มีศัพท์แสงอะไร ดัง พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนาฏฯ แรกทีเดียวท่านก็ทรงมีพระนามว่า หม่อมเจ้าสาย ทั้งๆ ที่เจ้านายระดับหม่อมเจ้าแทบทุกพระองค์ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่ละรัชกาล

ถามนิดเดียว ย่าอธิบายเสียยาว เป็นอย่างนี้เสมอ

ตอนนั้นรู้สึกว่าคำว่า “ไพร่” นั้นไม่สบอารมณ์นัก แย้งย่าว่า ก็หนูเป็นหม่อมหลวง ทำไมมาว่าเป็นไพร่

ย่าหัวร่อน้ำหมากหก (ตอนนั้นหรือตอนไหนก็ตาม ที่เขาเกิดห้ามกินหมากขึ้นมา ก็เห็นย่ากินหมากอยู่ไม่ขาด ผู้เขียนอุตส่าห์จีบพลูเจียนหมากเป็นกับเขานิดหน่อย) แล้วย่าก็ว่า หม่อมหลวงเขาก็เรียกไพร่ หม่อมราชวงศ์เขาก็เรียกไพร่ ย่าเองก็เป็นไพร่ คนธรรมดาสามัญที่ไม่ได้เป็นเจ้านายเข้าเรียกไพร่ทั้งนั้น

ย่าสอนต่อไปอีกว่า หนูอย่าคิดว่าไพร่ เป็นคำดูถูกดูแคลน เพราะไพร่ก็คือคนที่ไม่ได้เป็นเจ้า ทันก็เท่านั้นเอง หม่อมราชวงศ์ หม่อมหลวง มีศักดิ์ติดตัวโดยกำเนิด แต่ไม่ใช่เจ้า ก็ต้องเรียกไพร่

รื้อฟื้นเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะในปัจจุบันดูเหมือนจะมีผู้พยายามเน้นคำว่า “ไพร่” ให้เกิดความรู้สึกแสลงใจขึ้นในสังคมบางกลุ่ม เลยนึกถึงคำพูดของย่าขึ้นมาได้

ย่านั้นท่านทันสมัยนัก เพราะเคยเรียนหนังสือหนังหามาบ้าง และปู่เองท่านก็เคยเป็นนักเรียนโรงเรียนแรฟเฟลในสิงคโปร์รุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๑๔ ; ๑๑๗ ปีมาแล้ว) ย่าคงจะได้ความรู้ ความคิดอะไรๆ มาจากปู่หลายอย่างหลายประการเหมือนกัน

ย่าเคยพูดกับผู้เขียนเสมอ เวลาได้ยินพวกหัวสมัยใหม่ในเวลานั้นติเตียนถึงการมีเจ้านาย

ย่าว่าแต่ก่อนนี้ ถ้าไม่ตั้งตัวเป็นเจ้า เป็นสมมุติเทพ ใครมันจะมาเกรงกลัว มาเคารพนับถือ เก่งรบทัพจับศึกอย่างเดียวพอเมื่อไร ต้องหาทางให้คนนับถือ กลัวบารมีด้วย คนใหญ่คนโตสมัยนี้ หากเกิดมากู้บ้านกู้เมืองตอนนั้น ก็ต้องตั้งตัวเป็นเจ้าให้เป็นหลักเป็นฐานเหมือนกันนั่นแหละ สมัยโบราณเขาก็ปกครองกันมายังงั้นทั้งนั้น ไม่ว่าเมืองไทย เมืองจีน เมืองฝรั่งมังค่า อย่างหนึ่งก็เหมาะสำหรับสมัยหนึ่ง จะอวดฉลาด อวดเก่ง ติเตียนสมัยเก่าไปทำไม เจ้านายส่วนใหญ่ท่านไม่ดี ท่านก็คงไม่รักษาบ้านรักษาเมืองให้ตลอดรอดฝั่งมาได้จนยุคนี้หรอก

ย่าบอกว่าแม้ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระธิดาเจ้าหลวงเชียงใหม่ แต่แรกท่านก็ยังนับว่าเป็น ไพร่ เหมือนกัน ความหมายของท่ารนก็คือไม่ได้เป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี ต่อเมื่อโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระราชชายาแล้ว จึงนับว่าเป็นเจ้านายในราชวงศ์

พระราชชายาฯ เข้ามารับราชการแต่แรกทรงเป็นเจ้าจอม เจ้าดารารัศมี พระสนมเอก ต่อมาอีก ๒๒ ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระราชชายาฯ ในวาระที่พระราชชายาฯ กราบถวายบังคมลงขึ้นไปเยี่ยมนครเชียงใหม่

ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายัง พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา ผู้ทรงเป็นเสด็จอธิบดีฝ่ายใน เรื่องทำพระขวัญพระราชชายาฯ มีข้อความปรากฏว่า

สวนดุสิต
วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๘



นภาพร

ฉันขอช่วยจัดการทำขวัญนางดารา เพราะเขาทำกันมาทุกแห่งแล้ว (หมายถึงทุกแห่งที่พระราชชายาเสด็จผ่าน ขณะทรงเดินทางกลับจาดเชียงใหม่ – จุลลดา) การที่จะทำนั้นคือ ขอให้ตั้งบายศรีเงินทองสำรับเล็ก มีเทียนทองเทียนเงินเสียบเชิงตั้ง แต่ไม่ต้องมีเหมแว่นเวียนเทียน ให้ท้าวนางไปว่าให้ศีลให้พร แล้วดับเทียนเจิมผูกมืออย่างสมองราชเจ้านายเด็กๆ ถ้ามีบายศรีปากชามจัดลงข้างพานตั้งแทนเหมแว่นเห็นจะเข้าที เทียนที่จะตั้งจะได้ใช้เทียนที่ติดปากข้าวดับด้วยใบพลูตามเคย ที่ตั้งบายศรีนั้นเอาในห้องนอน ที่ทางเป็นเช่นนี้

ฉันได้สั่งท้าวทรงกันดาล ให้เอาเงินมากองข้างที่นั่งข้างละ ๑๐ ถุง ขอให้ช่วยชี้ที่ให้วางด้วย ทำขวัญนี้จะได้ทำต่อเมื่ออาบน้ำแล้ว แต่ขอให้ตั้งไว้พร้อมก่อนเวลาสวดมนต์ หวังว่าจะไม่มีความรังเกียจที่เป็นเจ้าไปทำให้ไพร่ เพราะฉันจะกลับมาในวันนั้นเสียเองด้วย


สยามมินทร์






เสด็จอธิบดีฝ่ายใน
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา กรมหลวงทิพยรัตนกิริฎกุลินี



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงเรียกเจ้าจอมของพระองค์เจ้าว่า “นาง” ทุกคน ในสมัยนั้นมิใช่คำดูถูกดูแคลนอย่างใด แม้หม่อมราชวงศ์ท่านก็ถูกเรียกว่านาง เช่นนางสดับ นางอ่อน นางเอิบ นางชุ่ม เว้นแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) ทรงเรียกว่า “คุณแพร” เพราเป็นหลานปู่ของสมเด็จเจ้าพระยา เรียกขานกันว่าคุณอยู่แล้ว

พระราชชายาฯนั้น แม้จะโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าในภายหลัง ย่าก็ว่าเป็นที่นับถือของชาววังได้โดยสนิทใจ เพราะท่านเป็นผู้ที่มีพระอัชฌาสัยงดงาม เป็นที่รักของคนทั่วไปอยู่แล้ว ตลอดเวลายี่สิบปีที่เสด็จเข้ามาเป็นชาววังหลวง รวมทั้งโดยชาติตระกูล ท่านก็เป็นธิดาเจ้าผู้ครองนคร แต่ประการสำคัญที่สุดคือคุณความดีของท่านในการสนองพระเดชพระคุณพระราชสวามี ช่วยมิให้เชียงใหม่ตลอดจนหัวเมืองเหนือใกล้เคียงตกไปเป็นของอังกฤษ

เรื่องราวเล่ากันมาดังนี้ เมื่อครั้งอังกฤษได้พม่าไว้ในอำนาจ รวมทั้งเชียงตุงด้วย ต่อมา อังกฤษพยายามจะผนึกเชียงใหม่เข้าไว้ในปกครอง เจ้านายฝ่ายเหนือแบ่งแยกความเหก็นออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการอยู่ใต้บังคับอังกฤษ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการเช่นนั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระบิดาของพระราชชายาฯ จึงทรงมีหนังสือเล่าความถึงพระธิดา ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าจอมพระสนมเอก

พระราชชายาฯ ได้ทูลเกล้าถวายหนังสือฉบับนั้น แล้วทรงมีหนังสือทูลตอบพระเจ้าอินทวิชยานนท์ไปว่า หากเชียงใหม่ยอมเซ็นสัญญาอยู่ใต้บังคับอังกฤษ ก็ให้พระบิดาเตรียมการรับศพลูกกลับไปเชียงใหม่

เพราะฉะนั้น เชียงใหม่จึงอยู่เป็นไทยตลอดมาจนทุกวันนี้

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ กับแม่เจ้าทิพเกสร มีพี่นางร่วมชนนีอีกองค์หนึ่ง คือ เจ้าจันทร์โสภา พระเชษฐาและพระเชษฐภคินีนอกนั้นล้วนแต่ต่างมารดา ยิ่งเมื่อเสด็จมาเป็นพระมเหสีในราชวงศ์จักรี ก็ยิ่งทรงได้รับความเคารพยำเกรงจากเจ้านายฝ่ายเหนือทุกพระองค์ แม้แต่เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าครองนครต่อจากพระบิดา ผู้เป็นพระเชษฐา ก็ทรงเกรงพระทัยพระขนิษฐามาก

พวกชาววังนั้น เมื่อตอนที่พระราชชายาฯ ยังทรงเป็นพระสนมเอกอยู่ ต่างเรียกท่านว่า “เจ้าน้อย” ต่อเมื่อขึ้นเป็นพระราชชายาฯ แล้ว เจ้านายชั้นสูงยังคงเรียกว่า “เจ้าน้อย” อยู่ แต่ผู้อื่นต้องเอ่ยถึงท่านตามอิสริยยศพระมเหสีว่า “พระราชชายา”

ในหนังสือพระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในรัชกาลที่ ๕ มีข้อความตอนหนึ่งว่า

....ถ้าผู้ใดขึ้นไปเฝ้าที่เมืองเชียงใหม่ ผู้นั้นจะได้เฝ้าเจ้าหญิงผู้เป็นหลักของบ้านเมือง ประทับอยู่ในระหว่างข้าราชการทั้งฝ่ายใต้ฝ่ายเหนือ เวลาตรัสกับพวกใต้ก็ตรัสภาษาใต้อย่างชัดเจน ถ้าหันไปตรัสทางฝ่ายเหนือก็ชัดเป็นฝ่ายเหนือ ไม่มีแปร่ง ตรัสไต่ถามทุกข์สุขและแนะนำทั้งในทางราชการและส่วนตัว ด้วยความเหมาะสมกับพระเกียรติยศ ทรงชนะใจผู้ที่ได้เฝ้าแล้วได้เกือบหมดไม่เว้นตัว ข้าราชการฝ่ายใต้ถวายความเคารพและใช้คำเพ็ดทูลว่าข้าพระพุทธเจ้า ใต้ฝ่าพระบาท แล พ่ะย่ะค่ะ เช่นเดียวกับทูลเจ้านายฝ่ายใต้ในพระราชวงศ์จักรี แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสสั่งพระธิดาว่า

กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก เพราะไม่มีสิ่งใดควรจะรังเกียจ แม้กำเนิดท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน



.......................................................................................................................................

คัดจาก
หนังสือ “เลาะวัง เล่ม ๒” ของจุลลดา ภักดีภูมินทร์
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:13:05:52 น.  

 
 
 




ขอบพระคุณมากค่ะ ชอบอ่านจริงๆ
มีประโยชน์มากทั้งยังมีความสุขทุกครั้งที่ได้อ่านบล็อคนี้

 
 

โดย: รอยคำ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:16:05:32 น.  

 
 
 
ชื่นใจเช่นกันครับ ที่รอยคำมาเยี่ยมเยือน

เป็นความรักของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
ซึ่งรักนั้นผูกพันสองแผ่นดินให้เป็นหนึ่ง

เรื่องนี้น่าจะเหมาะจะเหมาะกับ Blog รอยคำนะครับ
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:16:45:09 น.  

 
 
 
เข้ามาขอบพระคุณอีกหนค่ะ ที่กรุณาทำงลิ้งค์ไปให้อ่านสะดวก
เพราะที่จริงก็ออกจะหลงทางในบล็อคหลายครั้งนะคะ เคยเข้ามาหาเจอ พอกลับมาอีกก็จำไม่ได้ว่าอยู่หมวดไหนๆ

เรื่องที่กรุณาแนะนำ เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจ เพราะช่วงนี้เกิดมองเรื่องการรวมพระราชอาณาจักร เอามาเปรียบเทียบกับทางยุโรปในหลายอาณาจักรด้วยกัน
ยิ่งมองเห็นพระราชปรีชาของล้นเกล้ารัชกาลที่๕

อ่านแล้วรู้สึกดีมากที่การรวมแผ่นดินนั้น แม้จะเป็นการเมือง หากก็เป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยความจงรัก และยินยอมพร้อมใจในพระมหากรุณาธิคุณ จากพระราชชายาด้วย เป็นที่ปิติกับคนไทยทั้งประเทศมาก

เคยอ่านพบว่า สยามเอาเปรียบ..หากจะรวมแผ่นดินเพื่อป้องกันการล่าอาณานิคมจากฝรั่งจริง ระบบสาธารณรัฐก็น่าจะเพียงพอแล้วท้อใจค่ะ

คนวิเคราะห์วิจารณ์ อาจลมมองยุคสมัย ความเหมาะสม และ กระแสในช่วงเวลานั้นๆ..

เข้ามาอ่านอะไรๆที่นี่แล้วแตกยอดความรู้ ความคิดออกไปได้อีกไกลมาก

รู้สึกและคงต้องเรียนอีกครั้งว่าดีใจที่กรุณารวบรวมไว้ ให้คนรุ่นหลังหาอ่านได้ง่ายและไม่สูญหายไปเหมือนเอกสารอื่นๆ ที่จะอ่านก็ต้องไปค้น และ อาจมีไม่ครบน่ะค่ะ

สำหรับบล็อคหน้านี้สะกิดใจเรื่องที่เคยสงสัยมานานแล้วหลายหนแต่ไม่แน่ใจในคำตอบเสียทีว่า รัชกาลที่ ๕ ทรงประชวรด้วยพระโรคอะไรน่ะค่ะ

รวมถึงอาการป่วยของพระองค์ชายอุรุพงศ์ฯ(ไม่ทราบพิมพ์ถูกหรือเปล่าค่ะ) ว่าถ้าป็นโรคที่แพทย์แผนปัจจุบันเรียกจะเรียกโรคอะไร


มาเขียนความเห็น..ที่จริงน่าจะเรียกว่าคำถามมากกว่า เสียยาว
เพราะชอบอ่านและวนเวียนหาอ่านได้บ่อยแทนการคิดถึงบ้านได้มากค่ะ ปรกติอยู่บ้านมีหนังสือพอหาอ่านได้เอง มาอยู่ไกลแบบนี้ต้องอาศัยอ่านจากอินเทอร์เนท

ขอบพระคุณอีกครั้งนะคะ
 
 

โดย: รอยคำ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:17:28:35 น.  

 
 
 
สวัสดีครับ รอยคำ

ในหนังสือเลาะวังของ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เขียนไว้ว่า

พระองค์อุรุพงศ์ฯ เสด็จอย่พระตำหนักใหม่เพียงปีครึ่ง ก็ทรงประชวรพระโรคที่เรียกกันว่า "ไส้ตัน" เพียงเดือนเดียวก็สิ้นพระชนม์ ตรงกับวันพระราชสมภพในพระบรมราชชนก คือวันที่ ๒๐ กันยายน

ลองค้นใน Google "โรคไส้ตัน"

คุณพี่นิค ท่านตอบไว้ดังนี้ครับ
เกร็ดกระทู้ – ตอน พระองค์เจ้าชายอุรุพงศ์รัชสมโภช ลูกรักที่สุด สุดท้ายของ ร.๕

โรคไส้ตัน ในความหมายของสมัยก่อน ผมคงไม่ทราบเท่าใดครับ เพราะเป็นความหมายรวมๆ กันไปหมด ทั้งการแพทย์สมัยก่อนก็ยังไม่รุดหน้าเท่าปัจจุบัน

แต่เท่าที่พออนุมาน กับสอบถามผู้รู้มา ไม่เป็นการตีความเข้าใจไปเพียงคนเดียว น่าจะเป็นกลุ่มโรคอักเสบในช่องท้องใดๆ ก็ได้ แต่โรคช่องท้องที่ฮิตติดอันดับมาโดยตลอด ก็เป็นกลุ่มไส้ติ่งอักเสบ ทำให้เกิดฝีหนองในช่องท้องได้ และทำให้เกิดไส้ตันได้


สำหรับสมเด็จพระปิยมหาราช

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายพระอาการประชวร จนกระทั่งเสด็จสวรรคต และเหตุการต่อเนื่องในการเสด็จสวรรคตไว้แล้วผมคัดพระนิพนธ์ของพระองค์ท่าน มาไว้ที่ Blog นี้ครับ

๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ เมื่อแผ่นดินสยามร้องไห้
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 23 มิถุนายน 2550 เวลา:18:37:27 น.  

 
 
 
มากราบขอบพระคุณค่ะ ที่จริงเจ้าของบล็อคก็ทำทางให้หาอ่านมากแล้ว ยังหาเองไม่เจออยู่นั่นเอง..แย่จริงๆค่ะ

แต่อ่านแล้วก็ให้งงพร้อมกับแอบสันนิษฐานเองว่า ทรงประชวรมานานแล้ว และเรื้อรัง อ่านจากที่มีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชชายา ก้เป็นเรื่องพระนาภี การปวดเมื่อยตามตัว แต่ทรงอดทนที่สุดจริงๆ

มาล้มเอาเมื่อวันสุดท้ายเท่านั้นเองนะคะ

เดาเอาเองเห็นจะไม่เหมาะทั้งลองถามผู้ใหญ่ในครอบครัวที่เป็นแพทย์ ไม่กล้าเดากัน แต่ก็ยังแอบสันนิษฐานว่าใกล้เคียงโรคไตมาก
ต้องนับว่าพระองค์ท่านทรงอดกลั้นความทรมานพระวรกายมานานมากจริงๆค่ะ

ต้องหาเวลามานั่งไล่อ่านให้ครบทุกบล็อคแล้วล่ะค่ะ
 
 

โดย: รอยคำ วันที่: 25 มิถุนายน 2550 เวลา:7:30:44 น.  

 
 
 
สวัสดีในเช้าวันจันทร์ครับ รอยคำ
เรื่องโรคไส้ตันตัวผมเองก็ไม่มีความรู้ครับ ต้องอาศัยผู้อื่น
หากได้คำตอบที่ชัดเจน ช่วยแจ้งผมทราบด้วยนะครับ
ผมเองก็สงสัยมานาน ในหนังสือเก่าได้ยิน โรคไส้ตัน หลายครั้งหลายหน


แม่ศรีพิงค์

 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 25 มิถุนายน 2550 เวลา:9:00:25 น.  

 
 
 
แม้พระองค์จะทรงสิ้นลับดับล่วงจากฟ้าฟากแห่งนครพิงค์ไปนานเพียงใด แต่ลูกหลานไม่เคยลืมพระองค์
//www.lannaphotoclub.com/smf108/index.php?topic=9104.15
 
 

โดย: ดาราภิรมย์ วันที่: 21 ธันวาคม 2550 เวลา:22:47:11 น.  

 
 
 
 
 

โดย: ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายพระราชชายาฯ (ดาราภิรมย์ ) วันที่: 21 ธันวาคม 2550 เวลา:22:55:07 น.  

 
 
 
ขอบพระคุณสำหรับรูปครับ
ช่วยเพิ่มคุณค่ากระทู้ขึ้นอีก
แต่ต้องขออนุญาตคุณ ดาราภิรมย์
จัดรูปแบบใหม่ในความคิดเห็นนี้นะครับ

โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีบำเพ็ญพระกุศลอุทิศถวายพระราชชายาฯ
















โดย: ดาราภิรมย์ วันที่: 21 ธันวาคม 2550 เวลา:22:56:42 น.
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 12 มกราคม 2551 เวลา:8:48:26 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com